ความแตกต่างระหว่างเครื่องถ้วยไทยและเครื่องถ้วยจีน

Socail Like & Share

คราวนี้จะได้พูดเปรียบเทียบถึงรูปร่างลักษณะของเครื่องปั้นดินเผาของไทยและเครื่องเคลือบดินเผาที่ขุดพบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือที่เรียกกันว่า ศิลปขอม หรือสมัยลพบุรี แต่ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องนี้ จะยกข้อแตกต่างระหว่างเครื่องปั้นดินเผาของจีนและของไทยว่าแตกต่างกันอย่างไรมากล่าวเสียก่อน เพื่อสะดวกแก่การที่จะเปรียบเทียบระหว่างเครื่องเคลือบสุโขทัยเราและของสมัยลพบุรีต่อไปเครื่องถ้วยไทย

พระยานครพระราม ผู้ที่สะสมเครื่องถ้วยคนหนึ่ง ได้เล่าเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างเครื่องถ้วยไทย และเครื่องถ้วยจีนไว้ว่า

๑. วิธีปั้นภาชนะปากเล็กหรือค่อนข้างเล็กของจีนโดยมากทำต่อกันที่ส่วนกลางกำล่ง แต่ของไทยไม่ทำต่อแม้ปากเล็กเท่าเล็ก

๒. ภาชนะของจีนในยุคถังหรือซ้องมักจะทำโดยวิธีพิมพ์รูปสำเร็จแทนการปั้นของไทยไม่ปรากฏว่าทำด้วยพิมพ์สำเร็จเลย

๓. ลวดลายที่ขุดขีดในภาชนะของจีนแทบทั่วไปใช้ปาดหรือฝานมีส่วนเส้นกว้างมีรอยข้างหนึ่งลึกข้างหนึ่งตื้นไม่เท่ากัน ของไทยมีเส้นลึกเป็นสามเหลี่ยมหรือโค้งกลมมีส่วนเส้นเสมอกัน

๔. นํ้ายาชนิดเล่งจั้วหรือสีลาดอนของจีนแข็งแต่ขุ่นทึบ ของไทยอ่อนกว่าแต่หนาใส เว้นแต่ของจีนสมัยเหม็งต่อมาทำอย่างใสคล้ายของไทย

๕. รอยแตกหรือแคร๊กของจีนมีเพราะทำขึ้น ของไทยเป็นด้วยน้ำยาเคลือบแตกปริขึ้นเอง ของใหม่จึงไม่ใคร่เป็นรอย ของใช้แล้วมีรอยชัด

๖. หูของจีนนอกจากของเลวใช้ทำเป็นวงแหวนติด ของไทยทำเกาะอย่างตัวปลิง เว้นแต่เตาเวียงกาหลงทำหูภาชนะเล็กคล้ายของจีน ของนิดใหญ่ไม่มีหูทำเป็นปุ่มอย่างเดือยไก่ เครื่องถ้วยจีน

๗. การเขียนลายของจีนแม้แต่สมัยเหม็งตอนต้นก็มีเขียนเส้นเป็นร่างลงแล้วจึงระบายสีทับ ฉะนั้นตำราเครื่องถ้วยซึ่งมีผู้เขียนไว้จึงกล่าวว่า ลอกแบนจากภาพมาเขียน แต่ของไทยเขียนลายลงไปโดยไม่มีเส้นร่างอย่างเดียวกับของจีนสมัยหลังๆ

๘. ของจีนส่วนมากมีเครื่องหมายเตาและศักราช ซึ่งจะหาไม่ได้เลยในของไทย

๙. ของจีนต้องมีลายฮกลกซิ่วพร้อมหรือแต่ละอย่าง

นี่เป็นข้อแตกต่างระหว่างของไทยและของจีนเท่าที่พระยานครพระรามค้นคว้าเทียบเคียงไว้เป็นข้อใหญ่ๆ

เมื่อพูดถึงลาย ฮกลกซิ่วแล้ว ก็จะขอพูดถึงลายชนิดนี้ ซึ่งปรากฏอยู่ที่เครื่องด้วยหรือเครื่องปั้นดินเผาของจีนเพื่อท่านผู้อ่านที่ยังไม่เคยอ่านจะได้มีความเข้าใจเสียด้วย

ลายฮก ลก ซิ่ว นั้น เขียนลายเป็นตัวหนังสือก็มี เขียนเป็นรูปภาพให้มีความหมายอย่างอักษรก็มีคำว่า ฮก หมายถึง วาสนา ลก หมายถึงความบริบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์และบริวารสมบัติ ซิ่ว หมายถึง ความยั่งยืนหรือมีอายุยืน แต่คำว่า ฮกลกซิ่วนี้ไม่ใช่เขียนเป็นตัวหนังสือเสมอไป เขียนเป็นรูปภาพก็มี เช่น ฮก เขียนเป็นรูปขุนนางสวมหมวก มีใบหูกาง ๒ ข้าง มีมือถืออยู่อี่ แสดงถึงวาสนา ลก เขียนเป็นรูปเศรษฐี สวมหมวกมีเล้าข้างหลังสูง มีผ้าคลุมลงไปเบื้องหลัง แสดงถึงโภคสมบัติ มีมืออุ้มเด็ก แสดงถึงบริวารสมบัติ และซิ่ว เขียนเป็นรูปคนแก่ ถือไม้เท้ามือหนึ่ง ถือผลท้อมือหนึ่ง แสดงความเป็นผู้มีอายุยืน และมั่นคง ถ้าท่านเห็นรูปภาพดังที่กล่าวมานี้ที่เครื่องถ้วยหรือเครื่องปั้นดินเผาของจีนละก็ พึงรู้เถิดว่านั่นคือลายฮกลกซิ่วดังกล่าวแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นมงคลแก่ผู้ที่ได้ใช้สอย คนเราถ้าได้มีวาสนาดีมีทรัพย์สมบัติมาก และมีอายุยืนปราศจากโรคภัยแล้ว ก็เรียกได้ว่ามีบุญที่สุดแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ปรารถนาไม่เฉพาะแต่คนจีนที่เป็นต้นคิดทำเครื่องหมายนี้ขึ้นเท่านั้น

ที่กล่าวถึงลักษณะเครื่องปั้นดินเผาสุโขทัยข้างตนนั้นเป็นคำอธิบายของพระยานคร พระราม เรื่องเครื่องปั้นดินเผามีผู้สนใจค้นคว้ากันมาก เพราะแสดงถึงความเจริญอย่างหนึ่งของไทยเรา สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์เรื่องนี้ไว้ตอนหนึ่งว่า “เนื้อหิน ที่เอามาบดปั้นเป็นเครื่องสังคโลกไทย สังเกตดูที่อย่างดีเป็นหินสีขาวเจือดำอย่าง ๑ สีขาวเจือเหลืองอย่าง ๑…….เครื่องสังคโลกไทย พิเคราะห์ดูทำลักษณะต่างกันเป็น ๓ อย่างคือทำเนื้อด้านไม่เคลือบ (ที่ฝรั่งเรียกบิสคิต) อย่าง ๑ เคลือบเนื้อหยาบอย่างอ่างมังกร อย่าง ๑ เคลือบเนื้อละเอียดอย่างเครื่องถ้วยของจีนอย่าง ๑….

ของสังคโลกที่เคลือบหยาบอย่างอ่างมังกรนั้น มักพบที่ทำเป็นตุ่มใหญ่ๆ ขนาดตั้ง ๏๕-๑๖ กำ แต่ของเล็กจนกระทั่งกาน้ำที่เคลือบอย่างนี้ก็มี แต่ของชนิดนี้พบน้อย

ของเคลือบอย่างละเอียดนั้น เป็นของที่ช่างจีนของสมเด็จพระร่วงมาทำเป็นแน่ ทำได้หลายอย่างสังเกตตามตัวอย่างที่ได้พบ ทำเคลือบพื้นเกลี้ยงอย่างหนึ่ง เคลือบผิวราน (สังคโลก) อย่างหนึ่ง ทำลายในกระบวนปั้นอย่างหนึ่ง ทำลายกระบวนแกะอย่างหนึ่ง ลายเขียนอย่างหนึ่ง สีที่เคลือบเคลือบสีเขียวไข่กาสีหนึ่ง สีเหลืองสีหนึ่ง สีขาวสีหนึ่ง แต่สีขาวต้องเคลือบด้วยยาขาว เพราะเนื้อหินไทยไม่ขาวบริสุทธิ์ถึงหินจีน จะเคลือบยาใสอย่างกังใสไม่ได้ สีที่เขียนพบสีดำสีหนึ่ง สีเหลืองสีหนึ่ง ข้าพเจ้ายังไม่เคยพบสังคโลกไทยที่เขียนคราม แต่ได้พบเศษชิ้นชามลายครามจีนก่อนไต้เหม็งที่เตาทุเรียงเมืองสวรรคโลกชิ้นหนึ่ง เห็นได้ว่า วิชาเขียนลายครามปรากฏแล้วในครั้งนั้น แต่เห็นจะเป็นเพราะยังไม่รู้วิธีประสมสีครามให้เหมือนของจีนจึงไม่ปรากฏว่าเครื่องสังคโลกไทยมีเขียนลายคราม’’

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี