พิธีกรรม

Socail Like & Share

ทำขวัญนาค

ก่อนที่จะทำความเข้าใจความหมายของพิธีกรรม จำเป็นจะต้องทำความเข้าใจ ความหมายของศาสนาหรือความเชื่อเป็นเบื้องต้นก่อน นักมานุษยวิทยาได้ให้ความสนใจและถกเถียงกันมากถึงความหมายของศาสนา หรือระบบความเชื่อของมนุษย์ ฉลาดชาย รมิตานนท์ ได้สรุปคำจำกัดความเอาไว้อย่างรัดกุมแล้วว่าศาสนาต่างๆ ของมนุษย์หลากหลายมาก ไม่ว่าจะในด้านของอำนาจและรูปแบบขององค์กรของ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีตำแหน่งแห่งที่ในจักรวาล และรวมทั้งวิถีทางต่างๆ ที่มนุษย์สืบความสัมพันธ์กับอำนาจและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น ในศาสนาของมนุษย์บางศาสนาอาจประกอบด้วยเทพเจ้าหรือเทวดามากมายหลายองค์ บางศาสนาก็องค์เดียว หรือไม่มีเลย บางศาสนาก็มีเพียงผีหรือวิญญานและขอบขีดของอำนาจก็อาจลดหลั่นจนน้อยนิด สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือสิ่งที่มีอำนาจเหนือมนุษย์เหล่านี้อาจเขามายุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตของมนุษย์อยู่เสมอๆ หรือบางทีก็อาจจะอยู่ห่างๆ ไม่เข้ามายุ่งเกี่ยว สิ่งเหล่านี้อาจให้โทษหรือให้คุณแก่มนุษย์ได้ เพราะฉะนั้นในการเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านี้ มนุษย์อาจรู้สึกเกรงขามและเกรงกลัว แต่กระนั้นมนุษย์ก็ยังอาจต่อรองกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรืออำนาจเหนือธรรมชาติทั้งหลาย หรือบางครั้งก็พยายามเอาชนะทางปัญญา หรือว่าให้ถึงที่สุดคือ “ลวง” หรือ “ต้ม” สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติเสียด้วยซ้ำไป ซึ่งก็อาจสรุปได้ว่า หากพิจารณาในแง่มุมทางมานุษยวิทยาแล้ว ความเชื่อถือในผีสาง เทวดา ก็ย่อมถือได้ว่าเป็นความเชื่อทางศาสนานั่นเอง
อย่างไรก็ตามลักษณะของความเชื่อดังกล่าวนี้ บางครั้งมักเรียกกันว่าเป็น magic ซึ่งเข้าใจกันว่าเป็นความเชื่อที่งมงายของสังคมดั้งเดิมที่แตกต่างกับ religion อันเป็นความเชื่อที่มีความเป็นเหตุเป็นผลมากกว่า และเกี่ยวข้องกับศีลธรรมจรรยาในการดำรงชีวิตของสังคมที่มีระดับความเจริญสูงกว่าสังคมดั้งเดิม แต่จากการศึกษาเปรียบเทียบสังคมต่างๆ ของนักมานุษยวิทยา ก็ยังไม่สามารถสรุปชี้ชัดได้ว่า พฤติกรรม ๒ รูปแบบนี้แยกกันอย่างเด็ดขาดอย่างไร สำหรับรายละเอียดในเรื่องนี้มีมากเกินกว่าจะกล่าวถึงในที่นี้ได้ แต่ในรายงานนี้ เมื่อกล่าวถึงความเชื่อ จะหมายถึงพฤติกรรมที่เป็นทั้ง ๒ แบบ รวมๆ กันไป
นอกจากนี้แล้ว ศาสนายังครอบคลุมถึงความเชื่อในระบบจักรวาล (cosmology) และค่านิยม (value) ซึ่งมักปรากฏในรูปของนิทานปรัมปราคติ (myth) ต่างๆ อันเป็นเรื่องที่แสดงถึงกำเนิดของสิ่งต่างๆ กระทั่งถึงคติที่เกี่ยวกับ นรก สวรรค์ การเกิด การตาย ตลอดถึงเรื่องวิญญาณทั้งที่ดีและเลวของมนุษย์และสัตว์
มนุษย์จะแสดงออกให้เห็นซึ่งความเชื่อทางศาสนาโดยดูได้จากพิธีกรรม เพราะการที่มนุษย์ทั้งหลายสร้างพิธีกรรมต่างๆ ขึ้นมา มนุษย์เหล่านั้นก็ย่อมจะต้องมีวัตถุประสงค์ และมีความหมายตามความเข้าใจอันเกิดจากพื้นฐานความเชื่อทางศาสนาของตน กล่าวอย่างสั้นๆ ก็คือตัวพิธีกรรมเองนั้น แท้ที่จริงแล้วก็คือพฤติกรรมที่มนุษย์พึงปฏิบัติต่อความเชื่อทางศาสนาของตน ดังนั้น พิธีกรรมในที่นี้ จึงหมายถึง พฤติกรรมที่เป็นรูปธรรมของศาสนาความเชื่อนั่นเอง
พิธีกรรมที่ปฏิบัติกันโดยทั่วๆ ไปในสังคมไทย ภายในรอบปีหนึ่งอาจจำแนกได้เป็น ๓ ประเภทด้วยกันคือ (๑) พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำมาหากิน (๒) พิธีกรรมที่เกี่ยวกับชีวิต และ (๓) พิธีกรรมที่เกี่ยวกับชุมชนหรือสังคม
พิธีกรรมประเภทต่างๆ เหล่านี้ มีส่วนสำคัญทำให้เกิดเทศกาลต่างๆ ขึ้นมา และมีส่วนสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการละเล่นชนิดต่างๆ ขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับพิธีกรรมทั้งนี้ เพราะส่วนประกอบสำคัญของพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนาจะมีการเซ่นสรวงบูชาหรือทำบุญหรือทำทาน การกินเลี้ยง การสนุกสนานรื่นเริงที่เป็นพิธีกรรม หรือที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรม
เราอาจพิจารณาพิธีกรรมประเภทต่างๆ ได้ดังนี้
(๑) พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำมาหากิน
ในสังคมแบบชนเผ่าและสังคมที่ยังเป็นชมรมกสิกรรม หรือสังคมเกษตรกรรมนั้น การทำมาหากินอันเกี่ยวเนื่องกับธรรมชาติเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะมนุษย์ยังต้องพึ่งพา ผลผลิตของธรรมชาติและปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอันเป็นวิถีชีวิตที่สำคัญของมนุษย์ในสังคมแบบนี้
เมื่อวิถีชีวิตที่สำคัญของมนุษย์เกี่ยวเนื่องสำคัญกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ มนุษย์ก็จะต้องประกอบพิธีกรรมขึ้นมาตามคติความเชื่อทางศาสนาที่คล้ายคลึงและแตกต่างกันออกไป ตัวอย่างคติหนึ่งของมนุษย์ก็คือ “ถ้าเราจำลองเลียนแบบธรรมชาติขึ้นแล้ว ก็จะบันดาลหรือบังคับให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นได้จริงดังใจปรารถนา” ดังนั้น ชาวนาแต่ก่อนเมื่อจะลงมือดำนา จะต้องสร้างนาจำลองขนาดสักหนึ่งตารางเมตรขึ้นก่อน แล้วดำกล้าลงในนานั้นห้าหกกอ นาจำลองนั้นเรียกว่า “ตาแรก” หรือ “ตาแฮก’, (ตา คือ ตาราง-แรก คือ แรกเริ่มดำ) ถ้าบำรุงข้าวในตาแรกนั้นได้งาม ข้าวในนาทั้งหมดก็จะงามตามไปด้วย นี่คือตัวอย่างหนึ่งของความเชื่อถือดั้งเดิมที่เชื่อว่ามนุษย์สามารถ “บังคับ” ธรรมชาติได้ด้วยการจำลองแบบธรรมชาติย่อส่วนลงมาทำด้วยมือมนุษย์เองก่อน ยังมีพิธีกรรมอีกหลายอย่างในชีวิตจริงของชาวนาไทย-ลาวที่ใช้วิธีจำลองแบบธรรมชาติเพื่อบังคับให้ธรรมชาติเป็นไปตามแบบที่จำลอง พิธีกรรมเหล่านี้เป็นการ “บงการ” (command) มิใช่เป็นการ “วิงวอน” (implore) ต่อธรรมชาติ
พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำมาหากิน ดูจะเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และจะมีอยู่เกือบตลอดทั้งปี แต่ช่วงของความสำคัญจะอยู่ระหว่างหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต และก่อนจะเริ่มฤดูการผลิตใหม่ นี่เป็นการกำหนดช่วงเวลาอย่างกว้างๆ ตามลักษณะสังคมชาวนาที่ผูกอยู่กับธรรมชาติเท่านั้น และดังที่ยกกรณีชนชาติไทย-ลาวจะทำพิธีกรรมตาแรกมานั้นจะเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นเรื่องของพิธีกรรมก่อนจะเริ่มฤดูการผลิตใหม่ ซึ่งยังติดอยู่กับชาวนาในชนบทสืบมาช้านาน และนั่นคือ “ประเพณีราษฎร์”
จากพิธีกรรมของประเพณีราษฎร์เรื่อง “ตาแรก” ซึ่งน่าจะเริ่มขึ้นจากชมรมกสิกรรมของสังคมมนุษย์เมื่อยังรวมกัน อยู่เป็นแบบชนเผ่า ครั้นเมื่อสังคมมีพัฒนาการมากขึ้นกระทั่งเป็นบ้านเป็นเมือง เป็นแว่นแคว้นมีกษัตริย์หรือพระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นเจ้าของแผ่นดินทั้งประเทศ พิธีกรรมก็จะได้รับการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมเมืองดังกรณีที่พระเจ้าแผ่นดินในสมัยกรุงศรีอยุธยาจะต้องทรงทำพิธีกรรมนี้ด้วยดังปรากฏระเบียบอยู่ในกฎหมายตราสามดวงในหมวด “กฎมณเฑียรบาล” ว่าเดือนหก “จรดพระราชอังคัล” (หรือ-จรดพระราชนังคัล) ซึ่งกระทำติดต่อกันมาจนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลทุกวันนี้
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระราชนิพนธ์ในหนังสือ “พระราชพิธีสิบสองเดือน” เอาไว้ว่าจรดพระนังคัลเป็นพิธีลงมือไถ ซึ่งก็เป็นที่รู้กันว่าพิธีการไถนาของพระเจ้าแผ่นดิน นั่นเอง หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งในความหมายรวมๆ ว่า “แรกนาขวัญ” และอันคำว่า “แรกนา” ก็ย่อมมีความหมายเดียวกันว่า “นาแรก” และดูจะไม่แตกต่างอะไรกันกบ “ตาแรก” ที่กล่าวมาแล้ว และรัชกาลที่ ๕ ทรงอธิบายต่อไปอีกว่า ‘’…การแรกนาที่ต้องเป็นธุระของผู้ซึ่งเป็นใหญ่ในแผ่นดินเป็นธรรมเนียม มีมาแต่โบราณ เช่น ในเมืองจีน สี่พันปีล่วงมาแล้ว พระเจ้าแผ่นดิน ก็ทรงลงไถนาเองเป็นคราวแรก พระมเหสีเลี้ยงตัวไหม ส่วนจดหมายเรื่องราวอันใดในประเทศสยามนี้ที่มีปรากฏอยู่ในการแรกนานี้ก็มีอยู่เสมอเป็นนิตย์ ไม่มีเวลาเว้นว่าง ด้วยการซึ่งผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินลงมือทำเองเช่นนี้…. เป็นต้นเหตุของความตั้งมั่นและความเจริญไพบูลย์แห่งพระนครทั้งปวง แต่การซึ่งมีพิธีเจือปนต่างๆ …ก็ด้วยความหวาดหวั่นอันตราย คือน้ำฝน น้ำท่ามากไป น้อยไป ด้วงเพลี้ยและสัตว์ต่างๆ จะบังเกิดเป็นเหตุอันตราย ไม่ให้ได้ประโยชน์เต็มภาคภูมิ และมีความปรารถนาที่จะให้ได้ประโยชน์เต็มภาคภูมิเป็นกำลัง จึงได้ต้องแส่หาทางที่จะแก้ไขและทางที่จะอุดหนุน…. จึงต้องอาศัยคำอธิษฐานเอาความสัตย์เป็นที่ตั้งบ้างทำการซึ่งไม่มีโทษ นับว่าเป็นการสวัสดิมงคลตามซึ่งมาในพระพุทธศาสนาบ้าง บูชาเซ่นสรวงตามที่มาทางไสยศาสตร์บ้าง ให้เป็นการช่วยแรงและเป็นที่มั่นใจตามความปรารถนาของมนุษย์ซึ่งคิดไม่มีที่สิ้นสุด”

นอกเหนือจากนี้ พระเจ้าแผ่นดินยังมีพระราชภาระทำพระราชพิธีพิรุณศาสตร์คือขอฝน พระราชพิธีไล่เรือหรือไล่น้ำซึ่งเชื่อกันว่าจะทำให้น้ำลด ทำให้ชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวได้ และพระราชพิธีอื่นๆ อีกมาก พระเจ้าแผ่นดินยังมีหน้าที่ที่จะต้องรักษาฝูงสัตว์อันเป็นประโยชน์ในการเกษตร และในทางอื่นๆ ที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดิน เช่น ฝูงควายป่าแถวเมืองกาญจนบุรี ฝูงโคแถวเมืองโคราช และโขลงช้างป่าซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ วัวและควายป่านั้นจับมาฝึกใช้งานและจ่ายให้แก่ราษฎรเพื่อทำไร่ไถนาในยามที่ขาดแคลน ส่วนช้างเป็นสัตว์ที่มีประโยชน์ทางสงครามและเศรษฐกิจมาก ฝูงสัตว์เหล่านี้จึงมีกรมกองราชการคอยอนุรักษ์ดูแล และต้องกราบบังคมทูลถวายรายงานถึงจำนวนสัตว์ในโขลงและในฝูงต่างๆ ให้ทรงทราบอยู่เป็นนิจ
การที่พระมหากษัตริย์ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจด้านนี้ด้วยพระราชพิธีต่างๆ นั้น สาระสำคัญก็คือการรักษาและส่งเสริมความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดิน ที่ว่าเป็น “พระราชพิธี” ก็คือ “พิธีกรรม” อันเนื่องมาจากความเชื่อทางศาสนานั่นเอง และเป็นสิ่งที่เคยกระทำมาแต่เริ่มแรกเมื่อมนุษย์ยังชมรมกันอยู่เป็นชนเผ่า ครั้นเมื่อเป็นบ้านเป็นเมืองเป็นแว่นแคว้นขึ้นก็ได้รับการพัฒนาพิธีกรรมให้ซับซ้อนมากขึ้น มีการ ละเล่นที่เป็นลักษณะ “ประเพณีหลวง” เข้ามาประกอบซึ่งก็โดยมีพื้นฐานมาจากการละเล่นของ “ประเพณีราษฎร์” ทั้งสิ้น
(๒) พิธีกรรมที่เกี่ยวกับชีวิต
ในเวลาชั่วชีวิตของคนตั้งแต่เกิดไปจนกระทั่งตาย ย่อมจะต้องผ่านเหตุการณ์ที่ถือกันว่าสำคัญเป็นระยะๆ มา
เมื่อแรกเกิด ก็ต้องทำพิธีกรรมเกี่ยวกับการเกิดเพื่อให้แน่ใจเป็นประกันว่าเด็กเกิดมานั้นจะมีชีวิตรอดได้ไม่ตาย เสียใน ๓ วัน ๗ วัน และมีความเจริญเติบโตจนกว่าจะย่างเข้าเขตระยะที่จะเป็นผู้มีวัยรุ่นจึงทำพิธีตัดจุก เพื่อแสดงว่าพ้นจากวัยเด็กแล้ว จะได้เป็นคนมีกำลังใจมั่นคงประพฤติแต่สิ่งที่ชอบที่ควร ว่าเฉพาะผู้ชายยังจะต้องเข้าพิธีบวชเรียนอีกระยะหนึ่ง แล้วถึงระยะที่เหย้าเรือนซึ่งต้องเข้าพิธีแต่งงาน เพื่อความสุขสบายความเจริญแก่ครอบครัว และในที่สุดก็ถึงพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการตายเพื่อให้มีชีวิตอยู่เป็นสุขในโลกหน้า พิธีกรรมเหล่านี้เมื่อทำสืบต่อกันมาก็เกิดเป็นประเพณีเกี่ยวกับชีวิตขึ้น ฝรั่งเรียกประเพณีอย่างนี้เป็นคำเฉพาะว่า rite of passage ซึ่งมีอยู่ด้วยกันทุกชาติทุกภาษาทั้งที่ยังป่าเถื่อนอยู่ และที่เจริญแล้ว พิธีกรรมที่ทำถ้าว่าด้วยความเจตนาที่กระทำก็ลงรอยเดียวกันคือเพื่อความสุขความเจริญ แต่ถ้าว่าด้วยรายละเอียดก็มีต่างๆ ที่คล้ายคลึงกันก็มี ที่ไม่เหมือนกันก็มี ทั้งนี้ก็มีมาแต่เหตุทางวัฒนธรรมและสังคมเป็นส่วนใหญ่
พิธีกรรมที่เกี่ยวกับชีวิตนี้มีความสำคัญในระดับครอบครัวญาติมิตรในหมู่บ้าน มีบทบาทสำคัญในการย้ำความเป็นสมาชิกของกลุ่มญาติ และรักษาความสัมพันธ์ของผู้คนในครัวเรือน เช่นระหว่างคนแก่กับคนหนุ่มสาว หรือในระหว่างญาติมิตรเป็นต้น
การละเล่นที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมของความเชื่อทางศาสนาที่เกี่ยวกับชีวิตนี้มีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย และจะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันบ้างแตกต่างกันบ้างไปทั่วทุกท้องถิ่นของประเทศไทยเป็นต้นว่าการทำขวัญ ไม่ว่าจะเป็นทำขวัญเด็ก ทำขวัญโกนจุก ทำขวัญบวชนาค และตลอดถึงทำขวัญบ่าวสาวในการแต่งงาน ฯลฯ นอกจากนั้นก็มีการละ เล่นดนตรี โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับพิธีกรรมของงานศพ ซึ่งทางภาคใต้จะมีวงกาหลอ ทางภาคอีสาน แถบชนชาติเขมร แถบจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ จะมีวงตุ้มโมง หรือทุ่มโมง เป็นต้น
(๓) พิธีกรรมที่เกี่ยวกับชุมชนหรือสังคมหรือประเทศ
พิธีกรรมนี้จะเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า เทวดา และผีทุกชนิด และจะเป็นพิธีกรรมที่ชาวบ้านทุกครัวเรือนจะมาร่วมงานได้ทั้งหมด
ในสังคมแบบชนเผ่า พิธีกรรมเลี้ยงผีบ้านผีเรือนซึ่งเป็นประเภท “ผีดี” จะมีความสำคัญ และยังปรากฏอยู่ในชนเผ่าต่างๆ ที่ยังล้าหลังทางเทคนิควิทยาในทุกวันนี้ หรือแม้กระทั่งในสังคมที่ก้าวหน้าพอสมควร แต่ยังยึดมั่นอยู่ในขนบเก่าอย่างสังคมชาวนาก็จะยังคงมีอยู่ด้วย (การกล่าวถึงสังคมกลุ่มที่ยังนับถือผี และมีความล้าหลังทางเทคนิควิทยานี้ มิได้มีจุดประสงค์จะยกย่องหรือเหยียดหยามแต่ประการใด) ในจารึกพ่อขุนรามคำแหงมีข้อความตอนหนึ่งว่า-“พระขพุง ผีเทพดาในเขาอันนั้นเป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้ ขุนผู้ใดถือเมืองสุโขทัยนี้แล้ไหว้ดีพลีถูก เมืองนี้เที่ยง เมืองนี้ดี ผีไหว้บ่ดี พลีบ่ถูก ผีในเขาอั้นบ่คุ้มบ่เกรง เมืองนี้หาย”- แสดงให้เห็นว่าในคราวแคว้นสุโขทัยนั้นมีการนับถือผีที่เชื่อกันว่าสิงสถิตย์อยู่บนภูเขาทางด้านทิศใต้ซึ่งเป็นใหญ่ที่สุด และเป็นผีดีที่คุ้มครองเมืองสุโขทัย เชื่อกันถึงขนาดว่ากษัตริย์สุโขทัยจะต้องทำพิธีกรรมบวงสรวงผีเทพดานี้ให้ดีเป็นประจำ หากทำไม่ถูกต้องแล้วบ้านเมืองก็จะล่มจม
แต่การนับถือผีของสังคม แคว้นสุโขทัยก็ควบคู่ไปกับการนับถือพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ ด้วย เฉพาะในด้านที่เกี่ยวกับ พระพุทธศาสนานั้นจะเห็นได้จากข้อความอีกตอนหนึ่งที่ว่า-“…ฝูงท่วยมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน เมื่อออกพรรษากรานกฐินเดือนณึ่งจึ่งแล้ว เมื่อกรานกฐิน มีพนมเบี้ย มีพนมหมาก มีพนมดอกใม้ มีหมอนนั่งหมอนโนน บริพารกฐินโอยทานแล่ปี แล้ญิบล้านไปสูดญัติกฐินเถิงอรัญญิกพู้น เมื่อจักเข้ามาเวียงเรียงกันแต่ อรัญญิกพู้นเท้าหัวลาน ดํบงํคกลองด้วยเสียงพาดเสียงพิณ
เสียงเลื้อนเสียงขับ ใครจักมักเล่น เล่น ใครจักมักหัว หัว ใครจักมักเลื้อน เลื้ยน เมืองสุโขทัยนี้มีสี่ปากประตูหลวงเที้ยร ย่อมคนเสียดกันเข้ามาดูท่านเผาเทียน ท่านเล่นไฟ เมืองสุโขทัยนี้มีดั่งจักแตก”-ความข้อนี้เห็นได้ชัดเจนว่า เป็นพิธีกรรมของชุมชนหรือของสังคมหรือของประเทศเขตแคว้นสุโขทัยที่นับถือพระพุทธเจ้าหรือนับถือพระพุทธศาสนา เมื่อถึงเทศกาลออกพรรษาก็มีพิธีกรรมสำคัญกล่าวคือมีการทอดกฐินในเวลาหนึ่งเดือนจึงหมดเทศกาล งานกฐินสำคัญที่ไปทอด ณ วัดอรัญญิกทางทิศตะวันตกของเมืองสุโขทัยนั้นทำให้มีการละเล่นหลายชนิดดังได้ระบุไว้ชนิดหนึ่งว่าการละเล่น “เผาเทียน-เล่นไฟ” แล้วยังมีการเล่นดนตรี การเล่น ร้องเพลง การเล่นระบำด้วย
นอกจากนี้ยังมีพิธีกรรมอื่นๆ อีก เป็นต้นว่าพิธีกรรม เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ เข้าพรรษา ฯลน เป็นต้น
พิธีกรรมของความเชื่อทางศาสนาที่เกี่ยวข้องกับชุมชนฯ เหล่านี้ จะมีบทบาทสำคัญในการที่ทำให้ชาวบ้าน ต่างมีความรู้สึกร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทั้งเป็นโอกาสที่ชาวบ้านจะได้ร่วมกันทำบุญทำทาน กินเลี้ยง และรื่นเริง สนุกสนานด้วยกัน หนุ่มสาวก็จะมีโอกาสพบปะกัน อีกทั้ง ยังเป็นเหตุให้มีการรวมญาติรวมมิตรที่อาศัยอยู่ห่างไกลได้มา ร่วมสังสรรกันอีกครั้งหนึ่ง ทั้งหมดนี้คือ พิธีกรรมที่จะทำให้ชาวบ้านทุกคนรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนหรือสังคมหรือประเทศนั้นๆ
ที่มาโดย:ปรานี วงษ์เทศ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *