นิราศเมืองแกลง

Socail Like & Share

โอ้สังเวชวาสนานิจจาเอ๋ย
จะมีคู่มิได้อยู่ประคองเชย
ต้องละเลยดวงใจไว้ไกลตา
ถึงทุกข์ใครในโลกที่โศกเศร้า
ไม่เหมือนเราภุมรินถวิลหา
จะพลัดพรากจากกันไม่ทันลา
ใช้แต่ตาต่างถ้อยสุนทรวอน
โอ้จำใจไกลนุชสุดสวาท
จึงนิราศเรื่องรักเป็นอักษร
ให้เห็นอกตกยากเมื่อจากจร
ไปดงดอนแดนป่าพนาวัน
กับศิษย์น้องสองนายล้วนชายหนุ่ม
น้อยกับพุ่มเพื่อนไร้ในไพรสัณฑ์
กับนายแสงแจ้งทางกลางอารัญ
จะพากันแรมทางไปต่างเมือง

ท่านผู้อ่านคงสังเกตเห็นว่ากลอนนิราศของท่านสุนทรภู่และกอลนนิราศของกวีอื่นๆ ที่แต่งตามแบบอย่างของท่านสุนทรภู่ทุกเรื่อง มีรูปแบบการแต่งที่สำคัญ คือ ขึ้นต้นด้วยกลอนวรรคหรือวรรคที่สอง และจบเรื่องด้วยคำว่า “เอย” แบบเดียวกันกับกลอนเพลงยาววรรณคดีนิราศของไทย มีประวัติกำเนินมาช้านาน คือ เกิดมีขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ตามหลักฐานที่ปรากฎแน่ชัดในสมัยปัจจุบันบ่งว่าต้นแบบของนิราศทั้งปวงของไทยก็คือ “โคลงกำสรวล” ซึ่งเชื่อกันว่าผู้ทรงพระราชนิพนธ์ก็คือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ หรือ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง แต่นิราศตามเนื้อหาของไทยอันเก่าแก่ที่สุด เรื่องนี้มีรูปแบบลักษณะการแต่งเป็นโคลงสี่ดั้นบาทกุญชร การแต่งนิราศเป็นโคลงได้ยึดถือแนวของโคลงกำสรวลเรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เช่นมี โคลงนิราศนครสวรรค์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กาพย์ห่อโคลงนิราศพระบาท ของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศ โคลงนิราศพระยาตรัง และนายนรินทร์ธิเบศ ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ก่อนท่านสุนทรภู่ ไม่มีกวีคนใดเลยแต่งนิราศด้วยคำประพันธ์ประเภทกลอนมาก่อนเลย จนสุนทรภู่ท่านโอ่ของท่านไว้อย่างภาคภูมิว่า

“อย่างหม่อมฉันอันที่ดีแลชั่ว        ถึงลับตัวก็แต่ชื่อเขาลือฉาว
เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว    เขมรลาวลือเลื่องถึงเมื่องนคร”

เป็นที่น่าสังเกตว่าเมื่อท่านสุนทรภู่มีอายุย่างเข้าวัยชราแล้วและเป็นกวีที่โด่งดังที่สุดในสมัยรัชกาลที่ ๒ นั้น ท่านกล่าวประกาศว่าท่านเป็น “นักแต่งเพลงยาว” เรื่องนี้เห็นจะไม่ใช่เป็นเรื่องกล่าวอย่างธรรมดาสามัญแต่ท่านสุนทรภู่ต้องการเน้นว่าท่านเป็น “นักแต่งเพลงยาว” โดยแท้ กลอนสุภาพซึ่งท่านได้คิดขึ้น ให้วรรคหนึ่งมีแปดคำ มีสัมผัสนอกและสัมผัสในแน่ชัดที่เป็นแบบอย่างของกวีในยุคปัจจุบันนี้ ท่านคิดขึ้นเพื่อใช้แต่งเพลงยาวเป็นเบื้องต้น และต่อมาก็ได้แต่งเพลงยาวขนาดยาวผิดกว่าเพลงยาวแต่ครั้งสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา และที่นิยมแต่งกันในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ก็คือ กลอนนิราศ นั่นเอง

กลอนเพลงยาวเฟื่องฟูมากในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย นักแต่งกลอนเพลงยาวสมัยนั้นที่ปรากฎหลักฐานมีผลงานตกทอดมาถึงทุกวันนี้ก็มี เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศ หม่อมพิมเสน ท่านหลังคือ หม่อมพิมเสนได้แต่งเพลงยาวเมืองเพชรบุรี อันนับว่าเป็นเพลงยาวที่น่าจะเป็นต้นแบบของกลอนนิราศในยุคหลัง และเพลงยาวแบบนี้ก็มีปรากฎในสมัยรัตนโกสินทร์ คือเพลงยาวรบพม่าที่ท่าดินแดง พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

ท่านสุนทรภู่เกิดเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๒๙ ในรัชการที่ ๑ ภายหลังตั้งกรุงเทพฯ แล้ว ๔ ปี เกิดก่อนการปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศส ๓ ปี และสงครามอิสรภาพของสหรัฐอเมริกาเพิ่งเสร็จลงก่อนสุนทรภู่เกิดเพียง ๓ ปี การศึกษาของท่านบ่งชัดว่าเรียนที่สำนักวัดชีปะขาว(ศรีสุดาราม) แต่ไม่อาจค้นคว้าได้ว่า อาจารย์ผู้สั่งสอนด้านวรรณคดีและกาพย์กลอนแก่ท่านเป็นใคร แต่ชวนให้สงสัยว่าน่าจะเป็นกวีกลุ่มเพลงยาวที่สืบเนื่องมาจากกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

มีหลักฐานบางแห่งบอกว่าเมื่อรุ่นหนุ่มท่านสุนทรภู่เริ่มเป็นนักแต่งกลอนเพลงยาวและบอกดอกสร้อยสักวา เมื่อท่านอายุ ๒๐ ปี ท่านได้ปรับปรุงเอากลอนสุภาพของท่านที่คิดขึ้นใช้เพื่อแต่งเพลงยาวนี้เองแต่งกลอนนิราศเรื่องแรกของท่านและนับเป็นกลอนนิราศเรื่องแรกในวรรณคดีไทย คือ นิราศเมืองแกลง

จึงนับว่าเป็นเรื่องน่ายินดียิ่งที่เราจะได้ติดตามกวีเอกของชาติครั้งยังเป็นหนุ่มแน่นไปเที่ยวเมืองแกลง เพราะนอกจากจะได้รู้เห็นสภาพบางด้านของบ้านเมืองชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกเมื่อเกือบสองร้อยปีก่อนโน้นแล้ว เราจะได้พบเห็นอัจฉริยภาพด้านกวีนิพนธ์ของกวีเอกผู้เริ่มปรับปรุงนำเอากลอนสุภาพมาใช้แต่งนิราศเป็นครั้งแรกในวรรณคดีไทย

เมื่อเริ่มต้นนิราศเมืองแกลงนั้นท่านผู้ฟังย่อมได้รับทราบว่าท่านสุนทรภู่ขณะอายุ ๒๐ ปี เท่านั้น ท่านมีชื่อเสียงและความสามารถถึงขนาดมีผู้ฝากตนเป็นศิษย์รับใช้ใกล้ชิดแสดงว่าไม่เบาทีเดียว ในการเดินทางไปเมืองแกลงครั้งนี้ ท่านมีศิษย์สองคนชื่อ น้อย กับ พุ่ม ติดตามไป และจ้างคนนำทางชื่อ นายแสง ซึ่งเป็นคนสูงอายุร่วมทางไปอีกคนหนึ่ง

ถึงสามปลื้มพี่นี้ร่ำปล้ำแต่ทุกข์
สุดจะปลุกใจปลื้มให้ลืมหลัง
ขออารักษ์หลักประเทศนิเวศน์วัง
เทพทั้งเมืองฟ้าสุราลัย
ขอฝากน้องสองรามารดาด้วย
เอ็นดูช่วยปกครองให้ผ่องใส
ตัวข้าบาทจะนิราศออกแรมไพร
ให้พ้นภัยคลาคแคล้วอย่าแผ้วพาน
ถึงสำเพ็งเก๋งตั้งริมฝั่งน้ำ
แพประจำจอดเรียงเคียงขนาน
มีซุ้มซอกตรอกนางจ้างประจาน
ยังสำราญร้องขับไม่หลับลง
โอ้ธานีศรีอยุธยาเอ๋ย
นึกจะเชยก็ได้ชมสมประสงค์
จะลำบากยากแค้นไปแดนดง
เอาพุ่มพงเพิงเขาเป็นเหย้าเรือนฯ

จากบทกลอนในนิราศเมืองแกลงชั้นต้นนี้ ทำให้ท่านผู้อ่านสามารถทราบถึงชีวประวัติในวัยเยาว์ของท่านสุนทรภู่เพิ่มขึ้น คือ ที่เกิดและที่อาศัยของท่านอยู่ที่วังหลัง คือ สถานที่ซึ่งเป็นโรงพยาบาลศิริราชและสถานีรถไฟบางกอกน้อย ในปัจจุบันนี้ เมื่อท่านแรกเกิด บิดาของท่านหย่าขาดจากมารดา และบิดาไปบวชอยู่ที่เมืองแกลง นับเป็นเวลาถึงขณะที่กล่าวนี้ นานถึง ๒๑ ปี มารดาของท่านได้ถวายตัวเป็นข้าราชใช้ในสมเด็จกรมพระราชวังหลัง ซึ่งมีพระนามว่า เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ ทำให้ท่านสุนทรภู่กลายเป็นข้า และมหาดเล็กในกรมพระราชวังหลัง ต่อมามารดาได้แต่งงานใหม่ ทำให้ท่านสุนทรภู่มีน้องสาวต่างบิดา ๒ คน ชื่อ ฉิม กับ นิ่ม และในการเดินทางครั้งนี้ ความประสงค์ของท่าน ก็คือ เพื่อไปเยี่ยมกราบเท้าบิดาซึ่งไม่ได้พบกันนานแล้วประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งน่าจะรับอาสาเจ้านายไปทำกิจธุระอย่างใดอย่างหนึ่ง รำพันไว้ว่า

“โอ้คราวยากจากเมืองแล้วลืมมุ้ง    มากรำยุงเวทนาประดาหาย
จะกรวดน้ำคว่ำขันจนวันตาย    แม้ เจ้านาย ท่านไม่ใช้ แล้วไม่มา”

พวกเราซึ่งสมมติว่า ได้ร่วมทางไปในเรือลำเดียวกับท่านได้พบกับสถานที่อันน่าตื่นเต้นของกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อแรกตั้ง คือสถานที่ที่เรียกว่า สำเพ็งในสมัยนั้น เป็นที่อยู่ของพวกผู้หญิงงามเมือง และท่านสุนทรภู่ผู้กำลังอยู่ในวัยหนุ่มคะนอง ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้อย่างน่าฟัง

ถึงปากลัดแลท่าชลาตื้น            ดูเลื่อมลื่นเลนลากลำละหาน
เขาแจวจ้องล่องแล่นแสนสำราญ        มาพบบ้านระเจ้ายิ่งเศร้าใจ
อนาถนิ่งอิงเขนยคะนึงหวน            จนจวบจวนแจ่มแจ้งปัจจุสมัย
ศศิรรอ่อนอับพยับไพร                ถึงเชิงไทรศาลพระประแดงแรง
ขออารักษ์ศักดิ์สิทธิ์ที่สิงศาล            ลือสะท้านอยู่ว่าเจ้าห้าวกำแหง
ข้าจะไปทางไกลถึงเมืองแกลง        เจ้าจงแจ้งใจภัคินีที
ฉันพลัดพรากจากจรเพราะร้อนจิต    ใช่จะคิดอายอางขนางหนี
ให้นิ่มน้องครองรักไว้สักปี            ท่านสุขีเถิดข้าขอลาไป

การรำพึงรำพันของท่านสุนทรภู่ บางตอนที่ยกมานี้ ท่านเปิดเผยถึงความรักและคนรักคนแรกของท่าน พอจะลำดับความได้ว่าขณะท่านเป็นหนุ่มวัย ๑๘-๑๙ ปี อาศัยท่านมารดาอยู่ในวังหลัง ได้เกิดผูกสมัครรักใคร่กับหญิงสาวคนหนึ่ง ชื่อ จันทร์ หรือแม่จัน เป็นหลานของพระชายาของกรมพระราชวังหลัง แม่จันน่าจะเป็นลูกขุนนางผู้ดีที่ถวายตัวเข้ามาเป็นหญิงข้างในวังหลัง ดังที่นิยมทำกันในสมัยโบราณ การนำลูกสาวไปเป็นชาววังเพื่อการศึกษา จริยธรรม ระเบียบประเพณี และวิชาการของลูกผู้หญิงเพราะสมัยนี้โรงเรียนยังไม่มี นอกจากนั้นก็เพื่อแสดงความจงรักภักดีและความเป็นใหญ่ในวงราชการอีกด้วย สุนทรภู่ได้ติดต่อรักใคร่กันมาจนกระทั่งสมเด็จกรมพระราชวังหลังทรงทราบเรื่องนี้และคงจะได้ทรงว่ากล่าวตักเตือนให้เลิกกันแต่หนุ่มสาวทั้งสองไม่ปฏิบัติตามเพราะถือความรักเป็นอมตะ จึงทำให้กริ้วจนในที่สุดจึงให้ลงพระอาญาคนทั้งสองด้วยการเฆี่ยนและจองจำ แต่ท่านสุนทรภู่พ้นโทษมาได้เพราะมารดาของท่านกราบทูลขอพระราชทานอภัยโทษ แล้วขอร้องให้สุนทรคู่เดินทางไปเสียจากกรุงเทพฯ จึงทำให้ท่านสุนทรภู่ถือโอกาสไปเมืองแกลง เพื่อเยี่ยมท่านบิดาดังกล่าวไว้แล้ว

การเดินทางเป็นไปตามเส้นทางสมัยโบราณ ซึ่งท่านผู้ฟังก็ทราบดีว่า ในสมัยโบราณกรุงเทพ¬มหานคร และภาคกลางของประเทศไทยเต็มไปด้วยแม่น้ำลำคลอง เส้นทางคมนาคมทางน้ำที่กล่าวถึง ในนิราศเมืองแกลงได้สูญหายไปเสียแทบหมดแล้วในปัจจุบันนี้ แต่เราก็พอทราบถึงหมู่บ้านตำบลที่ท่านกล่าวไว้ เช่น เมื่อผ่านสำเพ็งมาแล้วก็กล่าวถึงว่า ไปถึงย่านดาวคนอง ต่อจากนั้นไปถึงบางผึ้ง ถึงปากลัด พระประแดงต่อไป เรือก็ล่องเข้าคลองสำโรง ที่ท่านพรรณนาไว้ว่า คลองนั้นตัดผ่านทุ่งอันกว้างใหญ่ มีสถานที่ที่ท่านกล่าวถึงแห่งหนึ่ง ชื่อทับนาง ณ ที่นี้มีกระท่อมที่อยู่ของชาวนาเป็นจำนวนมาก และปรากฎข้อความเป็นบทกลอนว่า

“ลงทับนางวางเวงฤทัยวับ    เห็นแต่ทับชาวนาอยู่อาศัย
นางชาวนาก็ไม่น่าจะชื่นใจ    คราบขี้ไคลคราคร่ำดังทาคราม
อันนางในนคราถึงทาสี    ดีกว่านางทั้งนี้สักสองสาม”

ข้อความตอนนี้มีผู้นำไปวิจารณ์กันเสมอว่า ท่านสุนทรภู่มีนิสัยใจคอ นิยมชนชั้นสูง ดูหมิ่นราษฎรชาวไร่ชาวนาสามัญ ซึ่งข้อนี้น่าจะนำมาคิดดูว่าขณะท่านแต่งข้อความนี้ ท่านอยู่ในวัยหนุ่มอายุน้อยมาก และเคยใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในรั้วในวัง จึงนิยมความสวยความงามของผู้หญิงชาววัง ยิ่งกำลังมีความรักฝังใจต่อคนรักซึ่งเป็นชาววังอยู่ด้วย จึงทำให้ท่านคิดออกมาอย่างนี้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ท่านลืมตัว ไม่เห็นคุณค่าของสามัญชน เรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ทัศนะของกวีนั้น จำเป็นเหลือเกินที่พวกเราซึ่งอยู่ต่างสมัย ต่างรสนิยม ต่างความคิด ตลอดจนสภาพสิ่งแวดล้อม จะต้องคิดถึงความถูกต้องเป็นธรรมต่อกวีผู้ไม่ได้อยู่ร่วมสมัยกับพวกเราให้มากๆ

การเดินทางในระยะต่อมา เต็มไปด้วยความยากลำบากเพราะเมื่อผ่านบางพลี ลำคลองมีน้ำตื้น บางตอนต้องใช้ควายลากเรือ

ตอนเดินทางไปสุพรรณของสุนทรภู่ คลองบางกอกน้อยตื้นต้องใช้เรือลาก สุนทรภู่พรรณนาไว้

“ทุกข์ใดใน โลกล้น    ล้ำเหลือ
ไม่เท่าควายลากเรือ    รับจ้าง
หอบฮักจักขุเจือ          เจิงชุ่ม ชลเอย
มนุษย์จติดค้าง        เฆี่ยนเจ้าเอาเงิน”

สุนทรภู่มองจุดนี้อย่างละเอียด ไม่เหมือนกวีอื่น

พอมาถึงตอนนํ้าตื้น น้อยกับพุ่มลูกศิษย์ของท่าน ต้องถ่อเรืออย่างยากยิ่งไปตามลำนํ้าอันยืดยาว จนล่วงพ้นมาถึงคลองซึ่งแยกออกเป็น ๒ ทาง มีศาลาเทพารักษ์ ณ ที่นั้น ท่านสุนทรภู่ต้องตื่นเต้นที่ได้เห็นหมู่จระเข้ ลอยไล่กินปลาอยู่นับร้อย เมื่อไปถึงคลองขวาง ท่านพบว่าบนบกมีลิงแสมอยู่มากมายท่านกล่าวเป็นถ้อยคำน่าคิดว่า

“คำโบราณท่านผูกถูกทุกสิ่ง            เขาว่าลิงจองหองมันพองขน
ทำหลุกหลิกเหลือกลานพาลลุกลน    เขาด่าคนว่าลิงโลนลำพอง”

ต่อจากนั้น ก็ถึงคลองซึ่งเป็นทางแยก คือ ปากตะครอง และบางเหี้ย ซึ่งคณะของท่านได้หยุดพักรับประทานอาหารตอนกลางคืน ยุงชุมมาก ต้องทนทุกข์ทรมาน เพราะยุงกัด เมื่องเดินทางต่อมาคณะของท่านก็ผ่าน บางบ่อ บ้านระกาด บางสมัคร ตำบลบ้านมะพร้าว ซึ่งท่านกล่าวว่า มาถึงที่นี้เมื่อตอนย่ำรุ่ง ต่อจากนั้น ผ่านบางวัว และหมู่บ้านสุดท้ายก่อนออกทะเลย ก็คือ บางมังกง ซึ่งคงจะเรียกขานกันเช่นนั้นในสมัยโน้น แต่ในปัจจุบัน ก็คือ บางปะกง นั่นเอง ต่อจากนั้น เรืองของคณะท่านสุนทรภู่ก็ออกทะเล ซึ่งเมื่อแจวไปได้ไม่นาน ก็ต้องผจญภัยเพราะคลื่นใหญ่อย่างน่ากลัว เมื่อพ้นอันตรายแล้ว คณะของท่านมาถึง บางปลาสร้อยชลบุรี ก็ได้หยุดพักหุงอาหารรับประทาน และค้างคืนที่นั่น

คณะของท่านสุนทรภู่ได้มาขึ้นฝั่งที่ตำบลบางปลาสร้อยนี้เอง ท่านกล่าว่า ขณะนั้น ตำบลนี้เป็นชุมนุมใหญ่ มีตลาดร้านค้าและบ้านเรือนมากมาย และกล่าวถึง่า คณะของท่านไปพักอยู่ที่บ้านเพื่อนชื่อ ขุนจ่าเมือง อยู่ ๓ วัน ต่อจากนั้นก็เดินเท้าไปต่างทุ่งนาป่าเขาผ่านบางพระ ก็ไปพบบ้านเพื่อนชื่อนายมา พักค้างคืน แล้วเดินเลียบทะเลไปตามชายหาดไปจนถึง ศรีมหาราช ศรีราชา แล้วเดินป่าต่อไปอีก ระยะทางเหล่านี้ ท่านพรรณนาถึงความสวยงามของธรรมชาติ ป่าเขา และนกชนิดต่างๆ จนกระทั่งไปถึง บางละมุง ซึ่งที่นี้ในตอนนั้นมีฐานะเป็นเมืองมีกรมการ ท่านสุนทรภู่และลูกศิษย์ทั้ง ๒ คน เหน็ดเหนื่อยมากและร่างกายก็บอบช้ำอย่างยิ่งได้พักผ่อนอาบน้ำในลำห้วย เสร็จแล้วเดินทางต่อไปอีก โดยเดินไปตามทางลัดเลียบชายทะเลทำให้พบเห็นอาชีพประมงของคนในยุคนั้น คือ การทำโป๊ะ เดินทางต่อไปอีก ไปพักรับประทานอาหาร และค้างคืนที่บ้านนาเกลือ รุ่งเช้าก็พากันเดินทางต่อไป จนกระทั่งมาถึงสถานที่ ซึ่งมีความสำคัญเหลือเกินในสมัยนี้ คือ พัทยา

ระยะทางอันกว้างขวางของดินแดนพัทยานั้น ทำให้ท่านสุนทรภู่กับคณะได้รับความลำบากเป็นอย่างยิ่ง ต้องเดินทางท่ามกลางอากาศร้อนจัดบางตอนต้องปีนเขา ทำให้หินบาดเอาร่างกายบาดเจ็บทุลักทุเลอยู่เป็นเวลานาน จนมาถึงริมทะเล ขณะนั้นทุกคนกระหายน้ำเป็นอย่างยิ่ง เพราะร้อนจัดและร่างกายบอบช้ำ ท่านพูดถึงน้ำทะเลที่ได้พบเห็นในขณะนั้น ด้วยการเปรียบเทียบกับความจริงในสภาพชีวิตของท่านไว้อย่างน่าฟังว่า

“น้ำก็นองอยู่ในท้องชลาสินธุ์        จะกอบกินเค็มขมไม่สมหวัง
เหมือนมีคู่อยู่ข้างกำแพงวัง            จะเกี้ยวมั่งเขาก็เฆี่ยนเอาเจียนตาย”

ก็พยายามฝืนใจเดินทางกันต่อไป ค่ำวันนั้นหยุดพักค้างคืนที่บ้านห้วยขวาง รุ่งเช้าเดินทางต่อไปอีก ระยะทางตอนนี้เต็มไปด้วยป่าไม้อันมีธรรมชาติสวยงาม ซึ่งท่านพรรณนาไว้อย่างละเอียดละออยิ่ง บางตอนพูดถึงเรื่องน่าขบขัน เช่นที่ห้วยพะยูน คณะของท่านไปหยุดพักร้อน มองเห็นสัตว์ใหญ่ตัวหนึ่งนอนอยู่ในดงไม้ ก็ชวนกันเข้าไปดูเพราะไม่เคยพบเห็นมาก่อน สัตว์ตัวมหึมานั้น นอนทำตาปริบๆ นิ่งอยู่ เมื่อพวกท่านสุนทรภู่พิจารณานานเข้า ก็รู้ว่าเป็นแรด จึงเกิดความกลัว ต้องวิ่งหนีกันอุตลุด

“ถึงโตรกตรวยห้วยพะยูนจะหยุดร้อน    เห็นแรดนอนอยู่ในดงให้สงสัย
เรียกกันดูด้วยไม่รู้ว่าสัตว์ใด            เห็นหน้าใหญ่อย่างจระเข้ตะคุกตัว
มันเห็นหน้าทำตากระปริบนิ่ง        เห็นหลายสิ่งคอคางทั้งหางหัว
รู้ว่าแรดกินหนามให้คร้ามกลัว        ขยับตัววิ่งพัลวันไป”

ต่อจากนั้นต้องเดินทางผ่านป่าที่เต็มไปด้วยตัวทาก สลับกับสถานที่ที่มีธรรมชาติห้วยธาร ดงดอกไม้สวยงามผลัดเปลี่ยนกันเช่นนี้เรื่อยมา จนกระทั่งมาถึงเมืองระยองในตอนกลางคืน ก็ได้พักหลับนอนที่บ้านน้องของนายแสงคนนำทาง วันรุ่งเช้า ท่านเองและศิษย์ทั้ง ๒ คน ได้รับทุกข์ทรมานอย่างหนัก เพราะเท้าบวมทั้ง ๒ ข้าง เดินไม่ไหว จึงต้องพักอยู่ต่อไปที่ระยองอีก ๒ วัน และจะพากันเดินทางต่อไปอีก ก็ประสบโชคร้ายอย่างยิ่ง เพราะนายแสงคนนำทางที่ท่านว่าจ้างมาจากกรุงเทพฯเกิดหลบหนีสูญหายไป ท่านกับศิษย์ทั้ง ๒ ก็ต้องพากันเดินทางต่อจากระยองกันไปตามประสาผู้ไม่รู้จักหนทาง แต่ก็ได้อาศัยถามไถ่พวกชาวบ้านไปเรื่อยๆ ผ่านตำบลนาตาขวัญ บ้านแลง ผ่านป่าเขาทางกันดารและชุมชนหลายหนแห่งก็ไปถึงบ้านแกลง อันเป็นเขตที่ท่านประสงค์จะมาให้ถึงในครั้งนี้

จากนั้นท่านได้บรรยายถึงสภาพความเป็นไปต่างๆ ของผู้คนในย่านบ้านกร่ำเมืองแกลง ตลอดจนหมู่บ้านตำบลใกล้เคียง ทั้งยังได้กล่าวถึงว่า ท่านกับศิษย์ทั้งสอง มักจะพากันไปชมทะเลอันสวยงามเสมอๆ ท่านผู้ฟังที่สนใจงานของท่านสุนทรภู่ จะพบว่า ในวรรณคดีหลายเรื่องของท่าน เช่น เรื่องพระอภัยมณี ท่านสุนทรภู่ได้บรรยายฉากและเหตุการณ์เกี่ยวกับทะเลไว้อย่างดีเด่นยอดเยี่ยม ยิ่งกว่ากวีคนใดๆ คงเป็นผลมาจากที่ท่านได้มาพบความสวยงามของทะเล ณ เมืองแกลง และฝังใจท่านมาตั้งแต่วัยหนุ่มนั่นเอง

เหตุการณ์ ณ ที่นี้ ก็คือ ท่านได้ประพฤติพรหมจรรย์ ถือศีลกินเพล ตามคำแนะนำของพระภิกษุผู้เป็นบิดาของท่าน ในประวัติวรรณคดีไม่มีนักวรรณคดีคนใดค้นพบนามหรือบรรดาศักดิ์ของบิดาของท่าน รวมทั้งชื่อของมารดาของท่านด้วย แต่ในนิราศเมืองแกลงนี้ เราพบข้อความเกี่ยวกับบิดาของท่านที่กำกวมอยู่ 2 นัย คือ บิดาของท่านอาจเป็นฐานานุกรมของท่านเจ้าอาวาสที่วัดบ้านกร่ำนั้น หรือมิฉะนั้นก็อาจจะเป็นท่านเจ้าอาวาสอันมีสมณศักดิ์เป็นพระครูอารัญธรรมรังษีอย่างใดอย่างหนึ่ง

นอกจากนี้ ก็มีเหตุการณ์อื่นๆ เช่น ท่านเกิดล้มเจ็บเป็นไข้ป่า เมื่อท่านหายป่วย ท่านก็ได้กราบลาท่านบิดากลับกรุงเทพฯ รวมความว่า ท่านได้ใช้เวลาเดินทางทั้งขาไปและขากลับรวมทั้งพำนักอยู่ที่บ้านกร่ำ
เมืองแกลง เป็นเวลาประมาณ 1 ปี และได้เรียนให้ท่านผู้ฟังทราบในตอนต้นแล้วว่า ท่านสุนทรภู่เป็นกวีไทยคนแรกที่ได้คิดปรับปรุงลักษณะกลอนเพลงยาวมาแต่งเป็นกลอนนิราศ ได้รับความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ จนกวีอื่นๆ ในยุคสมัยเดียวกับท่านและสมัยต่อมาจนกระทั่งทุกวันนี้ ได้ยึดเอาแบบแผนกลอนนิราศของท่าน แต่งตามอย่างกันตลอดมา เพื่อยืนยันว่า นิราศเมืองแกลงเป็นกลอนนิราศเรื่องแรกที่ท่านได้นำเอาแบบแผนของเพลงยาวสมัยก่อนขึ้นไป มาปรับปรุงใช้แต่งเป็นกลอนนิราศ จึงขอเสนอตอนจบของนิราศเมืองแกลงนี้ ซึ่งบ่งให้เห็นว่ายังมีลักษณะเป็นกลอนเพลงยาวอย่างชัดเจน

“พี่จากไปได้แต่รักมาฝากน้อง        มากกว่าของอื่นอื่นสักหมื่นแสน
พอเป็นค่าผ้าห่มที่ชมแทน            อย่าเคืองแค้นเลยที่ฉันไม่ทันลา
ด้วยเกิดความลามถึงเพราะหึงหวง    คนทั้งปวงเขาคิดริษยา
จึงหลีกตัวกลัวบุญคุณบิดา            ไปแรมป่าปิ้มชีวันจะบรรลัย
แม่อยู่ดีปรีดิ์เปรมเกษมสวัสดิ์        หรือเคืองขัดขุกเข็ญเป็นไฉน
หรือแสนสุขทุกเวลาประสาใจ        สิ้นอาลัยลืมหมายว่าวายวาง
หรือพร้อมพรักพักตร์เพื่อนที่เยือนยิ้ม    ให้เปรมปริ่มประดิพัทธ์ไม่ขัดขวาง
จะปราบปรามห้ามหวงพวงมะปราง     ให้จืดจางจำจากกระดากใจ
นิราศเรื่องเมืองแกลงแต่งมาฝาก         เหมือนขันหมากมิ่งมิตรพิสมัย
อยู่หมางหมองข้องขัดตัดอาลัย        ให้ชื่นใจเหมือนแต่หลังมั่งเถิดเอยฯ”

สุนทรภู่รักแม่จันมาก ได้เขียนนิราศอุทิศแก่แม่จันหลายเรื่อง เช่น นิราศเมืองแกลง นิราศพระบาท แม้เมื่อแม่จันตกไปเป็นของคนอื่นแล้ว สุนทรภู่ยังเขียนไว้อาลัยไว้ในนิราศสุพรรณอีกว่า

เสียดายสายสวาทโอ้        อาวรณ์
รักพี่มีโทษกรณ์            กับน้อง
จำจากพรากพลัดสมร        เสมอชีพ เรียมเอย
เสียนุชดุจทรวงต้อง        แตกฟ้าผ่าสลาย

และอีกตอนหนึ่งว่า

เดือนดับลับโลกคง        คืนค่ำ อีกเอย

จันพี่นี้ลับหน้า            นับสิ้นดินสวรรค์

อนึ่งสุนทรภู่เดินทางไปเมืองแกลงครั้งนี้ ปรากฎว่าได้พบญาติวงศ์พงศามากมาย แต่ได้รับเคราะห์คือไปเป็นไข้เกือบตาย เดชะบุญได้หลานสาวสองคนชื่อม่วงและคำพยาบาล หลานทั้งสองนี้มีเกียรติที่สุนทรภู่ได้ฝากอนุสรณ์ไว้ในนิราศเมื่อกลับว่า

”….จงพากเพียรเขียนคำเป็นสำคัญ    ให้สองขวัญเนตรนางไว้ต่างกาย
อย่าเศร้าสร้อยคอยพี่พอปีหน้า        จงจะมาทำขวัญเหมือนมั่นหมาย
ไม่ทิ้งขว้างให้เจ้าได้อาย            จงครองกายแก้วตาอย่าอาวรณ์…”

เป็นอนุสรณ์ที่เคลือบคลุม เข้าใจยาก เป็นปริศนา ในที่สุดพอหายไข้ สุนทรภู่ก็กลับกรุงเทพฯ (ภายหลังปรากฎว่าสุนทรภู่มีเมียชื่อม่วงคนหนึ่ง ทำให้น่าคิดว่าจะได้หลานคนนี้เป็นเมีย)

ศิลปะการประพันธ์

ก่อนอื่นขอเสนอศิลปะกระบวนกลอนของสุนทรภู่ในนิราศเมืองแกลง ผู้อ่านจะเห็นว่ากลอนของสุนทรภู่เรียบร้อย ไพเราะ และมากไปด้วยสัมผัสใน เช่น

”ลำพูรายพรายพร้อยหิ่งห้อยจับ        สว่างวับแวววามอร่ามเหลือง
เสมอเม็ดเพชรรัตน์จำรัสเรือง        ค่อยประเทืองทุกข์ที่สีน่าชม”

และ

“สงัดเงียบเย็นเยียบยะเยือกอก        น้ำค้างตกหยดเปาะลงเผาะผอย
พฤกษาสูงยูงยางสล้างลอย            ดูชดช้อยชื่นชุ่มขะอุ่มใบ…. ”

สุนทรภู่ได้ดำเนินนิราศของตนตามแบบฉบับของนิราศ คือผ่านที่ใดหรือพบอะไรสะดุดตาสะดุดใจก็นำมาพรรณนาตามอารมณ์ของกวี แสดงถึงประวัติบ้าง ความคิดเห็นบ้าง และครํ่าครวญทำนองพิศวาสบ้าง ในการพิจารณาศิลปะของนิราศเมืองแกลง จะพูดถึงหลักของนิราศ ๒ ประการ คือ บทพรรณนาและบรรยายลักษณะ กับบทพิศวาส

พูดถึงบทพรรณนาและบรรยายลักษณะ สุนทรภู่ทำได้เป็นอย่างดี ชมธรรมชาติพรรณนาถึงชีวิตคนอาชีพต่างๆ ท่านจะเพลิดเพลินตลอดเรื่องเพราะศิลปะอันแจ่มใสของสุนทรภู่ ท่านจะเห็นสาวบางปลาสร้อยเที่ยวเก็บหอย ผู้หญิงทอเสื่อที่เมืองแกลง ประวัตินางตะเคียน ลิงลำพอง และแมงดา จะคัดมาให้ชมสักสองตอน ดังนี้

ก. “คำโบราณท่านผูกถูกทุกสิ่ง        เขาว่าลิงจองหองมันพองขน
ทำหลุกหลิกเหลือกลานพาลลุกลน    เขาด่าคนสมจริง (ว่า) ลิงลำพอง”
นี่คือที่มาของคำ “จองหอง พองขน”

ข. โอ้คิดเห็นเอ็นดูหมู่แมงดา            ตัวเมียพาผัวลอยเที่ยวเล็มไคล
เขาจับตัวผู้ทิ้งไว้กลางนา            ระลอกซ้ำสาดซัดให้ตักษัย
พอเมียตายฝ่ายผัวก็บรรลัย…. ”
นี่คือที่มาชายแมงดา

ทีนี้จะว่าถึงบทพิศวาสซึ่งเป็นความคลี่คลายแห่งชีวิตรักของมหากวีนั่นเอง เราทราบประวัติของคุณจันน้อยเต็มที แต่จากนิราศเมืองแกลงนี้เราจะเห็นความสัมพันธ์ของสุนทรภู่กับคุณจันดีขึ้น เพราะสุนทรภู่ได้เปิดอกไว้หลายแห่งพอที่จะให้แสงสว่างได้บ้าง แต่ถ้าตาข้าพเจ้าบอดหรือมัวแสงนั้นก็ไม่มีประโยชน์ และต้องขอโทษถ้าจะนำท่านเข้าดงวรรณคดีอย่างผิดทาง

กีฬารักของสุนทรภู่คงจะคล้ายกับเรองของหนุ่มสาวที่อาภัพทั่วไป ตัวตํ่าแต่หวังสูง ผู้หลัก ผู้ใหญ่เขาไม่นิยมชมชื่น สุนทรภู่รำพึงไว้ว่า

“ดูเดือนเหมีอนดวงสุดาแม่ กระต่ายแลเหมือนฉันคิดพิสมัย” และ “เห็นแต่หมอนอ่อนแอบอุระตน เทราะคนจนเจียวจึงจำระกำใจ”

อีกประการหนึ่ง สุนทรภู่คงจะเจ้าชู้ กรุ้มกริ่ม ติดพันผู้หญิงหลายคน ตามวิสัยคนคะนอง แต่ที่มั่นหมายดูเหมือนจะเป็นคุณจันคนเดียว ความไม่สำรวมในเรื่องรักอีกอย่างหนึ่งที่อาจทำให้เกิดมีคนอิจฉา ยุให้รำตำให้รั่ว อาจเป็นหญิงที่สุนทรภู่เกาะแกะด้วยนั่นเองที่ใส่ร้าย จนสุนทรภู่ได้นามว่าเป็นคนเหลวไหล-เจ้าชู้ นี่อย่างหนึ่งทำให้ผู้หลักผู้ใหญ่ของคุณจันไม่ชอบ ดังคำสารภาพของสุนทรภู่ว่า

“…ด้วยเกิดความลามถึงเพราะหึงหวง    คนทั้งปวงเขาคิดริษยา
จึงปลีกตัวกลัวบุญคุณบิดา            ไปแรมป่าปิ้มชีวันจะบรรลัย”

ส่วนที่ว่าสุนทรภุ่ติดผู้หญิงหลายคนก็มีหลักฐาน ได้ความว่าคุณจันไม่ชอบ หึงทั้งๆที่ยังไม่ได้เป็นผัว สุนทรภู่ได้ขอร้องไว้ว่า

“…ถึงเจ็บไข้ไม่ตายไม่คลายรัก    มีแต่ลักลอบนึกรำลึกถึง
ช่วยยิ้มแย้มแช่มชื่นอย่ามึนตึง     ให้เหือดหึงลงเสียมั่งจงฟังคำ…”

เมื่อถึงตอนนี้พอจะรวมความได้ว่าสุนทรภู่มีปมด้อย ๒ ประการคือ จนและเจ้าชู้ ถ้าสุนทรภู่จะได้ทาบทามเรื่องคุณจันกับบิดาผู้หวังสูง ก็คงจะ ถูกปฏิเสธออกมาอย่างหน้าหงาย เต็มไปด้วยความเหยียดหยามและเย้ยหยัน จนสุนทรภู่เกรงเข้าไม่ติด แต่อย่างไรก็ตาม สุนทรภู่เชื่อมั่นในคุณจันว่า คุณจันรักอย่างสัตย์ซื่อและเสียสละ ความรักในวัยหนุ่ม อันเต็มไปด้วยความพยายาม มุมานะ เร่งเร้า และร้อนแรง ขาดสติ สุนทรภู่จึงหักหาญเข้าไป “ลอบรัก” คุณจันถึงในวัง อันเป็นเหตุให้ต้องรับโทษ เวรจำดังกล่าวแล้ว

ความรักระหว่างกวีเอกกับคุณจัน เป็นความรักที่หนุ่มสาวต้องบูชาด้วยความเห็นอกเห็นใจ ช่างเป็นความรักที่มั่นคงยืดเยื้อและเห็นอกเห็นใจอะไรเช่นนั้น เมื่อพ้นโทษแล้วคงมีจิตพิศวาสกันอยู่ทั้งสองฝ่าย แม้จะถูกกีดกันและพราก ทั้งสองคนมีสายสัมพันธ์กันทางจิตใจ สุนทรภู่ได้สะไบแพรดำผืนหนึ่งไว้ดูต่างหน้าจากคนรักของท่าน ซึ่งสุนทรภู่ “ได้ห่มกรำอยู่กับกายไม่วายตรอม” ตลอดการเดินทางไปเมืองแกลง

หลายครั้งหลายหนในนิราศเมืองแกลง สุนทรภู่ได้อธิษฐาน วิงวอนครํ่าครวญให้สมรัก และบางครั้งก็ดูเหมือนจะได้แสดงความน้อยใจออกมาด้วย เช่น

‘‘เหมือน ไร้คู่อยู่ข้างกำแพงวัง    เกี้ยวมั่งก็จะเฆี่ยนเอาเจียนตาย
ทั้งนี้เพราะเคราะห์กรรมทำไว้    นึกอะไรจึงไม่สมอารมณ์หมาย,,

และอีกตอนหนึ่งว่า

“ถึงชาตินี้ไม่ได้สมอารมณ์คิด    ด้วยองค์อิศรารักษ์จะหักหาญ
ขอให้น้องครองซึ่งปฏิญญาณ    ได้พบพานภายหน้าเหมือนอารมณ์…”

จะอย่างไรก็ตาม กวีหนุ่มผู้กำลังรัก หวังและฝันเสมอ เต็มไปด้วยความพยายามที่จะเอาชนะอุปสรรค ได้ขอร้องว่า

“ให้นมน้องครองรักไว้สักปี”

ได้ขอร้องประหนึ่งว่าจะมีลู่ทางทั้งๆ ที่ตัวจนไม่มีอะไร นอกจาก “ศิลปะแห่งถ้อยคำ” และได้จบนิราศของตนด้วยโวหารว่าตัวจนจริงๆ

“นิราศเมืองแกลงแต่งมาฝาก    เหมือนขันหมากมิ่งมิตรพิสมัย
อย่าหมางหมองข้องขัดตัดอาลัย    ให้ชื่นใจเหมือนแต่หลังมั่งเถิดเอย”

สถานที่กล่ววถึงในนิราศเมืองแกลง

๑. วัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม)
๒. วัดสามปลื้ม (วัดจักรวรรดิราชาวาส)
๓. สำเพ็ง (วัดปทุมคงคาราม)
๔. ดาวคะนอง
๕. วัดดอกไม้
๖. บางผึ้ง
๗. ปากลัด
๘. บางระเจ้า (บางกระเจ้า)
๙. ศาลพระประแดง
๑๐. คลองสำใรง
๑๑. ทับนาง
๑๒. บางพลี
๑๓. บางโฉลง
๑๔. บางกระเทียม
๑๕. หัวตะเข้
๑๖. ปากตะคลอง
๑๗. คลองบางเหี้ย
๑๘. บางบ่อ
๑๙. บ้านระกาด
๒๐. บางสมัคร
๒๑. บ้านมะพร้าว
๒๒. บางวัว
๒๓. บางมังกง (บางปะกง)
๒๔. เขาสำมุก (เขาสามมุข)
๒๕. บางปลาสร้อย (จังหวัดชลบุรี)
๒๖. บ้านไร่
๒๗. บางพระ
๒๘. ศรีมหาราชา (ศรีราชา)
๒๙. บางละมุง
๓๐. พัทยา
๓๑. ศาลเจ้าริมเขาขวาง
๓๒. นาจอมเทียน (หาดจอมเทียน)
๓๓. ห้วยขวาง
๓๔. หนองชะแง้ว
๓๕. บางไผ่
๓๖. พงค้อ
๓๗. พุดร
๓๘. ห้วยอีรัก
๓๙. ห้วยพะยูน
๔๐. ชากขาม
๔๑. ห้วยโป่ง
๔๒. ห้วยพร้าว
๔๓. ระยอง
๔๔. บ้านแลง
๔๕. บ้านตะพง
๔๖. คลองกรุ่น
๔๗. ศาลเจ้าชาวสมุทร
๔๘. บ้านแกลง
๔๙. ตะพานยายเหม
๕๐. แหลมทองหลาง
๕๑. ปากลาวน
๕๒. บ้านกร่ำ
๕๓. บ้านพงค้อ
๕๔. บ้านพงอ้อ

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด