นิราศภูเขาทอง

Socail Like & Share

“ถึงหน้าวังดังหนึ่งใจจะขาด
คิดถึงบาทบพิตรอดิศร
โอ้ผ่านเกล้าเจ้าประคุณของสุนทร
แต่ปางก่อนเคยเฝ้าทุกเช้าเย็น
พระนิพพานปานประหนึ่งศีรษะขาด
ด้วยไร้ญาติยากแค้นถึงแสนเข็ญ
ทั้งโรคซ้ำกรรมซัดวิบัติเป็น
ไม่เล็งเห็นที่ซึ่งจะพึ่งพา
จะสร้างพรตอตส่าห์ส่งส่วนบุญถวาย
ประพฤติฝ่ายสมถะทั้งวสา
เป็นสิ่งของฉลองคุณมุลิกา
ขอเป็นข้าเคียงบาททุกชาติไป”

การท่องเที่ยวเดินทางเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ หรือเพื่อการศึกษาหาความรู้ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงจากคนไทยยุคปัจจุบัน เพราะอาจกระทำได้อย่างง่ายดายยิ่ง ด้วยสภาพความเจริญหลายอย่างของบ้านเมือง โดยเฉพาะด้านการคมนาคม ซึ่งสมัยนี้ได้รับการพัฒนาทั่วทุกจังหวัดในประเทศไทย

สมมติว่าท่านผู้อ่านมีความประสงค์จะไปชมพระเจดีย์ภูเขาทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตามที่ท่านสุนทรภู่แต่งไว้ในนิราศภูเขาทอง ท่านก็อาจทำได้อย่างสะดวกสบายด้วยการเดินทางโดยรถประจำทางหรือรถยนต์ส่วนตัวไปยังตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา แล้วเดินทางต่อไปอีกเล็กน้อยตามถนน ด้านตะวันตกของเมืองนั้น ท่านก็จะไปถึงพระเจดีย์ภูเขาทองตามความปรารถนา

แต่การเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังพระเจดีย์ภูเขาทองเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๑ เป็นไปอย่างยากลำบากและต้องใช้เวลาเดินทางนานนับวันๆ เพราะการเดินทางสมัยนั้นที่สะดวกที่สุด ต้องใช้เส้นทางแม่นํ้าลำคลองอาศัยเรือแจวหรือพาย การเดินทางไกลไปตามเมืองไกลๆ นี้เอง ที่ทำให้เกิดวรรณคดีขึ้นประเภทหนึ่ง คือ “วรรณคดีนิราศ” ด้วยเหตุที่กวีผู้เดินทางมีเวลาว่างมาก จึงคิดแต่งกาพย์กลอนขึ้น เพื่อเล่าเรื่องการเดินทาง และระบายอารมณ์ทุกข์สุขต่างๆ ไว้ในกาพย์กลอนที่ตนแต่งขึ้นในระยะการ เดินทางไกลครั้งนั้นๆ

ก่อนที่เราจะเดินทางท่องเที่ยวแบบโบราณจากกรุงเทพฯ ไปยังพระนครศรีอยุธยา เพื่อนมัสการพระเจดีย์ภูเขาทอง ด้วยการร่วมทางไปกับท่านสุนทรภู่ในนิราศภูเขาทอง เราควรจะกล่าวถึงลักษณะ และความเป็นมาของวรรณคดีนิราศ ตลอดจนประวัติชีวิตของท่านสุนทรภู่ก่อนแต่งนิราศเรื่องนี้ พอเป็นพื้นฐานของการท่องเที่ยวครั้งนี้

คำว่า “นิราศ” มาจากคำว่า “นิร” ตามความหมายเดิมหมายถึง “ไม่มี” ครั้นมาแต่งคำด้วยวิธี ศ.เข้าลิลิตเป็น “นิราศ” ใช้กันในความหมายว่า “จากไป” ก็ตรงกับความหมายของชื่อวรรณคดี นิราศ ซึ่งเป็นเรื่องที่กวีแต่งเรื่องเล่าการเดินทางไปยังที่ใดที่หนึ่ง การตั้งชื่อวรรณคดีนิราศ ตั้งตามสถานที่สำคัญ อันเป็นจุดหมายที่กวีผู้แต่งจะเดินทางไป เช่น นิราศภูเขาทอง นิราศถลาง นิราศเมืองเพชรบุรี นิราศลอนดอน แต่ก็มีนิราศบางเรื่องที่ไม่มีสถานที่เดินทาง แต่เป็นนิราศแสดงความในใจของตัวละคร หรือสาระสำคัญของเรื่องที่จะแต่ง เช่น นิราศอิเหนา นิราศเดือน นิราศรบพม่าที่ท่าดินแดง เป็นต้น แม้ว่านิราศเป็นเรื่องที่กวีแต่ง เพื่อเล่าการเดินทางของตนก็จริง แต่เนื้อหาสำคัญที่สุดของวรรณคดีนิราศ ไม่ได้อยู่ที่การเล่าถึงสถานที่เหตุการณ์ที่ประสบพบปะแท้ๆ อย่างสารคดีท่องเทียวทั่วไป แต่กวีจะต้องแทรกบทครํ่าครวญเกี่ยวกับความรัก ความโศกเศร้า และบรรยายความรู้สึกอื่นๆ ลงไปด้วย ประเพณีสำคัญที่ยึดถือกันเป็นแบบแผนของการแต่งเรื่องนิราศมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ก็คือ กวีผู้แต่งนิราศจะต้องสร้างจุดสำคัญขึ้นว่าตนจะต้องจาก “นางในนิราศ” ซึ่งอาจจะเป็นภรรยา หรือคู่รักของตนไป แล้วแต่แต่งบทครํ่าครวญแสดงความรู้สึกให้เกี่ยวพันกับสถานที่ และเหตุการณ์ที่ตนพบเห็นขณะเดินทาง นางในนิราศนี้จะเป็นผู้คนจริงๆ หรือคิดฝันสมมติขึ้นก็ได้

ท่านสุนทรภู่ขณะแต่งนิราศภูเขาทอง เพื่อเล่าเรื่องการเดินทางไปนมัสการพระเจดีย์ภูเขาทอง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๑ นั้น ท่านมีอายุ ๔๒ ปี กำลังอยู่ในเพศบรรพชิต เพราะท่านบวชเป็นพระภิกษุจำพรรษาอยู่ที่วัดราชบูรณะ ท่านเคยเป็นขุนนางกรมพระอาลักษณ์ ที่มีวาสนาสูงส่งใกล้ชิดเบื้องพระยุคบาทพระบาทสมเด็จพระทุทธเลิศหล้านภาลัย แต่ในขณะที่แต่งนิราศภูเขาทองนี้ ท่านพ้นจากตำแหน่ง และหน้าที่การงานในกรมพระอาลักษณ์มาแล้ว เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๒ เสด็จสวรรคต ในรัชกาลที่ ๓ นี้ ท่านไม่มีบรรดาศักดิ์และหน้าที่ราชการใดๆ จึงได้ออกบวชและใช้เวลาบางช่วงเดินทางไปยังสถานที่หลายหนแห่ง และแต่งวรรณคดีนิราศไว้เป็นหลักฐานหลายเรื่อง

พวกเราเริ่มติดตามท่านสุนทรภู่กับคณะของท่านลงเรือประทุนลำใหญ่ คณะเดินทางของพระภิกษุสุนทรภู่ มีเด็กชายพัดบุตรชายคนโตของท่าน ลูกศิษย์ผู้ติดตามหลายคน รวมทั้งคนแจวเรือ 2 คน ผู้ประจำอยู่ทั้งหัวเรือและท้ายเรือ ท่านสุนทรภู่นั่งเอกเขนกอิงหมอนอยู่ในประทุนใต้หลังคาของเรือลำใหญ่นี้ ในมือของท่านมีดินสอและกระดานชนวนสำหรับร่างบทกลอน ท่านนั่งมองสองฟากฝั่ง ตั้งแต่เรือเคลื่อนจากท่าวัดราชบูรณะ นานๆ ครั้ง ท่านจึงก้มหน้าก้มตาเขียนข้อความบรรยายเรื่องการเดินทางด้วยการแทรกความในใจ ข้อคิดเห็นสร้างสรรค์ด้วยศิลปะด้านบทกลอนอันสูงส่ง

วันเวลาของการเดินทางครั้งนี้เป็นวันหนึ่งของเดือนสิบเอ็ด ภายหลังฤดูกาลออกพรรษา และรับกฐินแล้ว พระภิกษุสุนทรภู่จึงได้นำคณะลงเรือเดินทางจากท่าวัดราชบูรณะ ท่านเริ่มระบายความในใจของท่านว่าท่านจำพรรษาอยู่ ณ วัดนี้ ซึ่งเรียกกันโดยสามัญว่า “วัดเลียบ” มาครบ 1 ปี คือได้ ผ่านฤดูกาลสำคัญตามประเพณีไทยมาครบสามฤดูคือ ฤดูตรุษ ฤดูสาร์ท และฤดูกาลเข้าพรรษา เหตุที่ต้องจากไปไกลในครั้งนี้ ก็เพราะมีเรื่องคับข้องใจบางประการคือ ท่านถูกคนพาลบางคนกลั่นแกล้งรังแก และไม่สามารถพึ่งพาหาความยุติธรรมจากผู้มีอำนาจได้ จึงต้องจากวัดนี้ไปชั่วคราวเพื่อความสบายใจ

ถึงหน้าแพแลเห็นเรือที่นั่ง        คิคถึงครั้งก่อนมาน้ำตาไหล
เคยหมอบรับกับพระจมื่นไวย    แล้วลงในเรือที่นั่งบัลลังก์ทอง
เคยทรงแต่งแปลงบทพจนารถ    เคยรับราชโองการอ่านฉลอง
จนกฐินสิ้นแม่น้ำในลำคลอง        มิได้ข้องเคืองขัดหัทยา
เคยหมอบใกล้ได้กลนสุคนอ์ตลบ    ละอองอบรสรนขนนาสา
สิ้นแผ่นดินสิ้นรสสุคนธา        วาสนาเราก็สิ้นเหมือนกลิ่นสุคนธ์

เรือของคณะท่านสุนทรภู่ผ่านไปถึงหน้าพระบรมมหาราชวัง ทำให้ท่านคิดถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งเสด็จสวรรคตไปแล้ว ท่านสุนทรภู่รำลึกว่า เมื่อไม่นานมานี้เคยได้เข้าเฝ้า ทั้งเวลาเช้าเย็นการจากไปของพระองค์ ทำให้ท่านสุนทรภู่รู้สึกเหมือนว่าต้องศีรษะขาด
เพราะหมดสิ้นที่พึ่ง จึงได้ออกบวชเพื่อน้อมเกล้าฯ อุทิศถวายพระราชกุศลแด่พระองค์ท่าน และตั้งความปรารถนา ขอเกิดเป็นข้ารับใช้ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้นทุกๆ ชาติ

เมื่อผ่านตำหนักแพซึ่งอยู่ที่ท่าราชวรดิฐในทุกวันนี้ พระภิกษุสุนทรภู่รู้สึกสะเทือนใจมาก เพราะจำได้มั่นคงว่า ได้เคยเข้าเฝ้าใกล้ชิดใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทที่ตำหนักแพนี้ ตลอดฤดูกาลกฐิน สิ่งที่ท่านซาบซึ้งที่สุดก็คือ เมื่อหมอบเฝ้าใกล้ชิดพระองค์ในครั้งกระโน้น ท่านได้กลิ่นพระสุคนธรสจากพระวรกาย บัดนี้กลิ่นหอมของพระสุคนธรสได้จางหายไปหมดสิ้นแล้ว เช่นเดียวกับวาสนาของท่าน สุนทรภู่ในขณะนั้น

เมื่อมองไปยังพระบรมมหาราชวัง ก็ได้พบเห็นหอพระอัฐิยังคงประดิษฐานอยู่ ท่านจึงได้ตั้งจิตอธิษฐานถวายพระราชกุศลแด่พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศและถวายพระพรแด่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาล ปัจจุบันในขณะนั้นคือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จงทรงพระเกษมสำราญ

มาถึงบางธรณีทวีโศก                ยามวิโยคยากใจไห้สะอื้น
โอ้สุธาหนาแน่นเป็นแผ่นพื้น            ถึงสี่เหมือนสองแสนทั้งแดนไตร
เมื่อเคราะห์ร้ายกายเราก็เท่านี้        ไม่มีที่พสุธาจะอาศัย
ล้วนหนามเหน็บเจ็บแสบคับแคบใจ    เหมือนนกไร้รังเร่อยู่เอกา

นักประวัติศาสตร์และวรรณคดีอันสำคัญยิ่งของประเทศไทย คือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงให้ความเห็นว่า ในบรรดานิราศทั้งหมด ๘ เรื่องของท่านสุนทรภู่ที่ปรากฎอยู่ในทุกวันนี้ นิราศภูเขาทองเป็นนิราศที่แต่งดีที่สุด ทั้งนี้เป็นเพราะท่านสุนทรภู่แต่งขณะมี อารมณ์สับสน เศร้าโศก เพราะประสบความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตของท่านมาใหม่ๆ ทั้งขณะแต่งนิราศเรื่องนี้ ท่านอยู่ในสมณเพศ ถ้อยคำพรรณนาความในใจต่างๆ จึงเต็มไปด้วยความรู้สึกซึ้ง ด้านปรัชญา สุภาษิต และเต็มไปด้วยความสงบ สำรวม ไม่โลดโผนตามวิสัยฆราวาสเหมือนในนิราศเรื่องอื่นๆ ของท่าน

เรือของท่านสุนทรภู่ผ่านสถานที่ต่างๆ เหนือพระบรมราชวังขึ้นมาตามลำดับ มีวัดประโคน ซึ่งเล่าลือกันมาแต่ก่อนว่ามีเสาหินเป็นหลักปักปันเขตแดนครั้งโบราณ วัดนี้ไม่ปราฎในปัจจุบันเลย วัดประโคนมาก็มีเรือแพค้าขาย มีสิ่งของต่างๆ อันเป็นสินค้ายุคนั้นวางขายอยู่มากมาย

จากนั้นท่านได้ผ่านสถานที่สำคัญคือโรงกลั่นสุรา อันเรียกกันว่า “โรงเหล้า” ท่านสุนทรภู่กล่าวถึงสุราว่าเป็นนํ้านรกสำหรับท่าน เพราะเคยทำให้ท่านประสบความเสียหายหลายอย่างมาเมื่อครั้งยังไม่บวช บัดนี้ท่านบวชแล้ว ขอมุ่งเอาพระนิพพานเป็นจุดหมาย จะไม่ขอข้องแวะกับน้ำนรกนี้อีกต่อไป

สถานที่ต่อจากนั้นก็มี บางจาก, บางพลู, บางพลัด, บางโพธิ์ ซึ่งยังคงมีอยู่ในทุกวันนี้ ที่บางโพธิ์นั้น ท่านสุนทรภู่กล่าวถึงหมู่บ้านพวกญวนอันอพยพมาตั้งถิ่นฐานก่อนหน้าท่านแต่งนิราศเรื่องนี้ไม่นานนัก กล่าวว่าพวกญวนเหล่านี้สร้างโรงเรียนอยู่บนฝั่งแม่นํ้า และประกอบอาชีพทางด้านประมงนํ้าจืด คือ วางโพงพางจับปลาในแม่นํ้า มีข้อความน่าสนใจอยู่ตอนหนึ่งว่า

“จะเหลียวกลับลับเขตประเทศสถาน     ทรมานหม่นไหม้ฤทัยหมอง”

อันแสดงว่าพวกญวนเหล่านั้นอพยพมาใหม่ๆ เมื่อมายืนอยู่ พากันมองไปไม่เห็นประเทศถิ่นเกิดของตน ก็ต้องโศกเศร้า

เรือของท่านสุนทรภู่ ผ่านมาถึงวัดเขมาภิรตาราม ท่านก็รำพึงว่า เมื่อรัชกาลก่อนท่านเคยได้ตามเสด็จ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาผูกพัทธสีมาที่วัดนี้ แต่การฉลองวัดซึ่งเพิ่งผ่านไปเมื่อวานซืนนี้ ท่านไม่ได้มีโอกาสตามเสด็จมาร่วมงานด้วย เพราะต้องตกตํ่าหมดหน้าที่ราชการไปแล้ว จากนั้นท่านพบกับเหตุการณ์ที่น่าตกตื่นใจ เพราะเรือติดน้ำวน เมื่อเรือผ่านมาได้ก็มาถึงสถานที่ชื่อตลาดแก้ว ซึ่งทั้งสองฝั่งแน่นขนัดไปด้วยเรือกสวน จากนั้นก็มาถึงตำบลตลาดขวัญอันเป็นที่ตั้งเมืองนนทบุรีในสมัยนั้น จากนั้นก็มาถึงบางธรณีซึ่งทำให้ท่านคิดถึงความเชื่อเรื่องของโลกเรา ตามที่เชื่อกัน ตามหนังสือไตรภูมิพระร่วงว่า โลกทั้งสามกว้างขวางถึงสองแสนสี่หมื่นโยชน์ แต่ยามยากไร้ท่านไม่มี แม้แต่แผ่นดินเพียงเพื่อเป็นที่อยู่อากัย ต้องร่อนเร่ไปด้วยความเจ็บชํ้าเหมือนนกไร้รัง

ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า        พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี
ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี        ชื่อประทุมธานีเพราะมีบัว
โอ้พระคุณสูญลับ ไม่กลับหลัง        แต่ชื่อตั้งยังอยู่เขารู้ทั่ว
โอ้เรานี้ที่สุนทรประทานตัว            ไม่รอดชั่วเช่นสามโคกยิ่งโศกใจ

ต่อมาเรือของท่านมาถึง “เกร็ดย่าน” คือ “ปากเกร็ด” ในปัจจุบันนี้คำว่า “เกร็ด” เป็นภาษา มอญ แปลว่า “แม่นํ้าอ้อม” ท่านสุนทรภู่ให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์แก่เราว่า ดินแดนแถบนี้เป็นถิ่นอาศัยของพวกมอญมานานแล้ว ก่อนนี้หญิงมอญเคยเกล้ามวย แต่งตัวตามประเพณีของตน แต่เมื่อมาถึงระยะเวลาที่ท่านเดินทางผ่านมานั้น สาวมอญทิ้งประเพณีเดิมมาแต่งตัว และใช้วัฒนธรรมประเพณีแบบไทย จากนั้นเรือของท่านผ่าน บางพูด บ้านใหม่ เชียงราก ซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่า บางหลวง เชิงราก แล้วมาถึงสามโคก ซึ่งท่านได้เน้นให้เราทราบว่า ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนฐานะตำบลสามโคกแห่งนี้ขึ้นเป็นเมืองชั้นตรี ชื่อเมือง “ปทุมธานี” ตามความเป็นไปของสถานที่ ซึ่งมีบัวอยู่มากมาย ตอนนี้ท่านได้เน้นข้อความอันน่าคิดว่าล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๒ พระราชทานนาม ปทุมธานี ว่า สามโคก ครั้นล้นเกล้าฯ เสด็จสวรรคตแล้ว นามปทุมธานียังคงใช้เรียกขานกันอยู่ แต่นาม “สุนทรโวหาร” ที่ล้นเกล้าฯ พระองค์เดียวกันทรงพระราชทานแก่ท่านไม่อาจอยู่ยั่งยืนอย่าง “ปทุมธานี” อันเป็นนามแห่งสามโคก

เลยตำบลสามโคกมาก็มาถึงบ้านงิ้ว ซึ่งท่านได้ยกเรื่องหนามงิ้วในนรกสำหรับลงโทษคนทำผิดด้านประเวณี ตายไปจะต้องปีนต้นงิ้ว ตามความเชื่อที่กล่าวไว้ในไตรภูมิ จากนั้นก็มาถึงเกาะราชคราม แถบนั้นน่ากลัว เพราะเป็นแหล่งของพวกผู้ร้าย คอยซ่อนเร้นปล้นสะดมภ์เรือแพที่ผ่าน และในนํ้าก็ชุกชุมไปด้วยจระเข้ที่ดุร้าย

ขณะนั้นท้องฟ้ามืดครึ้มเพราะเมฆฝน เรือผ่านไปถึงทางวัด จึงเลี้ยวเข้าทางลัดผ่านไปทางทุ่งนาอันมีนํ้าท่วมเวิ้งว้าง คนเรือของท่านไม่ชำนาญการถ่อเรือ จึงทำให้เรือเข้าไปเกยตื้น ถอนตัวออกไปไม่ได้ ต้องค้างอยู่กลางทุ่ง

คืนนั้นท่านคิดถึงความหลัง ครั้งยังรํ่ารวยอุดมด้วยยศศักดิ์ว่า

“สำรวลกับเพื่อนรักสะพรักพร้อม        อยู่แวดล้อมหลายคมปรนนิบัติ
ยามยากเข็ญเห็นอยู่แต่หนูพัด        ช่วยนั่งปัดยุงให้ไม่ไกลกาย”

และเมื่อเดือนขึ้นมองเห็นร่องนํ้า ท่านก็ให้คนถ่อเรือเดินทางต่อไป จนบ่ายวันรุ่งขึ้นก็มาถึงพระนครศรีอยุธยา

มาทางท่าหน้าจวนจอมอยู่รั้ง        คิดถึงครั้งก่อนมาน้ำตา ไหล
จะแวะหาถ้าท่ามเหมือมเมื่อเป็นไวย    ก็จะได้รับนิมนต์ขึ้นบนจวน
แต่ยามยากหากว่าถ้าท่านแปลก        อกมิแตกเลยหรือเราเขาจะสรวล
เหมือนเข็ญใจใฝ่สูงไม่สมควร    จะต้องม้วนหน้ากลับอัประมาณ

ท่านผู้ว่าราชการพระนครศรีอยุธยาในขณะนั้นคือ พระยาไชยวิชิตมีนามเดิมว่า เผือก เป็นมิตรสหายใกล้ชิดกับท่านสุนทรภู่ มาตั้งแต่ครั้งเป็นหนุ่ม พระยาไชยวิชิตผู้นี้เป็นกวีคนสำคัญคนหนึ่งของยุครัชกาลที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓ เป็นผู้แต่งเพลงยาวและบทกวีไว้หลายชิ้น เมื่อท่านสุนทรภู่มีบรรดาศักดิ์เป็นขุนสุนทรโวหารในรัชกาลที่ ๒ นั้น ท่านเผือกเป็นพระจมื่นไวยวรนาถ มีตำแหน่งเฝ้าคู่กัน ครั้นถึงรัชกาลที่ ๓ สุนทรภู่ถูกปลดจากตำแหน่งงานในกรมพระอาลักษณ์ แต่ท่านเผือกกลับได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนเป็นพระยาไชยวิชิต มีตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการพระนครศรีอยุธยา การที่สุนทรภู่ไม่ยอมแวะหาท่านเจ้าคุณผู้เคยเป็นเพื่อนสนิทมาเนิ่นนานครั้งนี้ แสดงถึงอัธยาศัยของท่านว่า เป็นผู้เจียมตัวรู้จักประมาณสถานะของตนเองอย่างยิ่ง

คืนนั้นท่านสุนทรภู่กับคณะจอดเรือพักค้างคืนที่ท่าวัดหน้าพระเมรุ ขณะนั้นเป็นช่วงการทอดผ้าป่า มีเรือของคณะผ้าป่าเป็นอันมากมาชุมนุมกันจอดที่ท่าวัดนี้ ท่านสุนทรภู่กับพวกต้องนอนฟังการละเล่นต่างๆ เช่น เพลงครึ่งท่อนเสภาแทบทั้งคืน และตอนดึกเมื่องานฉลองผ้าป่าเลิกแล้ว มีขโมยมาย่องเบาทรัพย์สินในเรือของท่าน แต่ท่านสุนทรภู่หูไวได้ยินเสียงกุกกัก จึงร้องตะโกนขึ้น ทำให้โจรรีบดำน้ำหนีโดยไม่ได้อะไรติดมือไป

วันรุ่งขึ้นเป็นวันพระ ท่านสุนทรภู่กับคณะพากันไปยังพระเจดีย์ภูเขาทองซึ่งตั้งอยู่กลางทุ่งนา ที่มีน้ำท่วมอยู่รอบ สถานที่ตั้งพระเจดีย์นั้นเป็นวัด มีเจดีย์อื่นๆ วิหาร ตลอดจนกำแพงกั้นเขตพระเจดีย์ภูเขาทองใหญ่โตก่อสร้างเป็นสามชั้น

ท่านสุนทรภู่กับคณะพากันถือดอกไม้ธูปเทียน เดินขึ้นไปถึงชั้นสามของพระเจดีย์ภูเขาทองเวียนประทักษิณสามรอบ แล้วเข้าไปถวายสักการะบูชาที่ห้องถํ้า จากนั้นก็เดินชมพระเจดีย์ภูเขาทองจนทั่ว

ทั้งองค์ฐานรานร้าวถึงเก้าแสก    เผยอแยกยอดทรุดก็หลุดหัก
โอ้เจดีย์ที่สร้างยังร้างรัก        เสียดายนักนึกน่านํ้าตากระเด็น
กระนี้หรือชื่อเสียงเกียรติยศ        จะมิหมดล่วงหน้าทันตาเห็น
เป็นผู้ดีมีมากแล้วยากเย็น        คิดก็เป็นอนิจจังเสียทั้งนั้น

ท่านสุนทรภู่ได้กราบไหว้ตั้งจิตอธิษฐานต่อพระเจดีย์ภูเขาทอง แสดงความปรารถนาขอไว้หลายประการ ส่วนใหญ่เป็นไปตามค่านิยมของคนไทยสมัยนั้น คือ ปรารถนาจะขอเป็นผู้สำเร็จพระโพธิญาณในอนาคต ที่แปลกไปก็คือท่านสุนทรภู่ขอให้ตนเป็นผู้มีวิชาความรู้สูงเป็นนักปราชญ์ แตกต่างกับคนยุคเดียวกัน ที่ส่วนมากมักหวังจะเป็นคนรํ่ารวยหรือมียศศักดิ์สูง

เมื่อกราบพระท่านพบพระบรมสารีริกธาตุองค์หนึ่งในเกสรดอกบัว จึงอัญเชิญมาเก็บไว้ในขวดแก้ว แต่เมื่อรุ่งขึ้นปราฎว่า พระบรมสารีริกธาตุกระทำปาฏิหาริย์หายไป ท่านจึงเศร้าโศกไม่ยอมไปเที่ยวชมแหล่งอื่นในกรุงเก่าต่อไปอีก แต่พาคณะล่องเรือกลับถึงกรุงเทพฯ โดยใช้เวลาเพียงวันเดียว ก่อนจบนิราศภูเขาทอง ท่านสุนทรภู่แสดงเรื่องประเพณีการแต่งนิราศไว้ด้วยการเปรียบเทียบอย่างน่าฟัง

ใช่จะมีที่รักสมัครมาด            แรมนิราศร้างมิตรพิสมัย
ซึ่งคราญคร่ำทำทีพีรี้พิไร        ตามวิสัยกาพย์กลอนแต่ก่อนมา
เหมือนแม่ครัวคั่วแกงพะแนงผัด    สารพัดเพียญชนังเครื่องมังสา
อันพริกไทยใบผักชีเหมือนสีกา    ได้โรยหน้าเสียสักหน่อยอร่อยใจ
จงทราบความตามจริงทุกสิ่งสิ้น    อย่านึกนินทาแกล้งแหนงไฉน
นักเลงกลอนนอนเปล่าก็เศร้าใจ    จึงร่ำไรเรื่องร้างเล่นบ้างเอย

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด