ตำนานของพระขันทกุมาร

Socail Like & Share

พระขันทกุมาร

ขันทกุมาร, พระ
พระขันทกุมาร บางทีก็เขียนเป็น ขันธกุมาร คือเขียนได้ทั้งสองอย่างนั่นแหละ

พระขันทกุมาร นัยว่าเป็นชื่อหนึ่งของ พระการตติเกยะ เป็นเทพแห่งสงคราม ในมหากาพย์ภารตะและมหากาพย์รามายณะว่า เป็นโอรสของพระศิวะ หรือรุทระ (เล่าไว้ในเรื่องอิศวร) และเกิดขึ้นโดยไม่ต้องมีแม่ คือพระศิวะหรือพระอิศาวรทรงขว้างเชื้อของท่านลงไปในไฟ แล้วพระคงคาเทวีรับเอาไปเลี้ยงไว้เป็นลูก ได้นามว่า พระการตติยะ หรือพระขันทกุมาร ซ้ำยังมีอีกชื่อหนึ่งว่า อัคนิภู (เกิดแต่ไฟ) หรืออีกชื่อว่า คงคาชา (เกิดจากคงคา) ต่อมานัยว่านางกฤติกาทั้ง ๖ (เทวีประจำดาวลูกไก่) เอาไปเลี้ยงไว้ พระขันทกุมารจึงได้ชื่อว่า การตติยะ คือ (เนื่องด้วยนางกฤติกา) และพระขันทกุมารพลอยมีหกเศียรตามจำนวนนางกฤติกาซึ่งเป็นผู้เลี้ยงดู บางคัมภีร์ว่ามารดาของพระขันทกุมารคือพระอุมา บางทีว่าบิดาของพระขันทกุมารคือพระอัคนีก็มี ยุ่งสับสนไปหมด

บางทีก็ว่าพระขันทกุมารนั้นเกิดจาก พระอิศวรลืมตาดวงที่สามที่อยู่บนหน้าผากซึ่งลืมขึ้นทีไรเกิดเป็นไฟเมื่อนั้น พระองค์ลืมตาดูไปในสระซึ่งชื่อว่า สรวัน ทันทีนั้นก็เกิดเป็นกุมาร ๖ คน ธิดาฤาษี ๖ คนเก็บเอาไปเลี้ยงไว้ ภายหลังนางอุมากอดกุมารทั้งหกแรงไปหน่อย ร่างของกุมารทั้งหกก็รวมเป็นร่างเดียวกัน แต่มีหกหัว

เรื่องกำเนิดพระขันทกุมารยังไม่ยอมจบ ยังมีฝอยอีก เช่นมีเรื่องเล่าว่าทวยเทพได้รับความเดือดร้อน เพราะท้าวตารกาสูร ผู้ครองนครตรีปุระ บำเพ็ยตบะจนมีฤทธิ์มีเดชมาก บรรดาเทวดาเกรงว่าจะเที่ยวรังแกเทวดาและมนุษย์ เทวดาเหล่านั้นลงมติว่าผู้ที่จะปราบได้ต้องเป็นเทือกเถาเหล่ากอของพระศิวะกับพระอุมาเท่านั้น แต่ในขณะนั้นพระศิวะกำลังบำเพ็ญตบกิจอยู่ เพราะเสียใจที่พระสตีสิ้นชนม์ไป แต่พวกเทวดาก็รู้ว่ากลับชาติมาเป็นพระอุมาแล้ว จึงให้กามเทพช่วย ดังที่ได้เล่าไว้ในเรื่องกามเทพแล้ว ในที่สุดก็เกิดโอรส คือพระขันทกุมาร ซึ่งต่อมาก็สามารถปราบตารกาสูรได้สำเร็จ บรรดาเทวดาและมนุษย์ก็พากันดีใจโดยทั่วกัน

บ้างก็ว่า พระขันทกุมารกับพระคเณศเป็นเทพองค์เดียวกัน (ซึ่งผมจะเล่าไว้ในเรื่องพระคเณศแยกแยะให้ละเอียดอีกที)

นามที่เรียกพระขันทกุมารมีหลายนาม เช่น มหาเสนา (คือเทพเจ้าแห่งสงคราม) สิทธิเสน (ผู้นำสิทธา) ยุทธรงค์ (รบเก่ง) มยุรอาสน์ หรือ มยุรรถ (ขี่นกยูง) มยุรเกตุ (นกยูงเป็นธง) ศักดิธร (พระผู้ทรงหอก) คงคาบุตร (บุตรพระคงคา) ศรภู (เกิดในรถ) ตารกชิต (ผู้ชนะตารกะ) ทวาทศกร (๑๒ แขน) ทวาทศกษะ (๑๒ ตา) ฤชุกาย (มีกายตรง) มีชายาชื่อว่า เกาเมารี หรือ เสนา

รูปเขียนของพระขันทกุมาร เป็นเด็กขี่นกยูง (นกยูงนี้ชื่อว่า ปรวาณิ และรูปที่เขียนมักจะเป็นนกยูงคาบงู) มีร่างกายงดงาม สีกายเป็นสีนวลขาวมี ๖ เศียรสิบสองมือ มีอาวุธประจำคือ หอก ธนู และศร บางทีก็ว่าถือพระวชิระคู่พระขรรค์และตรีศูล

ที่มา:รองศาสตราจารย์ประจักษ์  ประภาพิทยากร