ชีวิตและงานนิพนธ์ของเล่าจื๊อ

Socail Like & Share

เล่าจื๊อ
เมื่อบุคคลผู้เป็นปราชญ์กระทำกิจอันใด
เขาก็จะกระทำด้วยอาการอันเงียบสงบตามหลักของหวู เว่ย
เมื่อบุคคลผู้เป็นปราชญ์สอนสิ่งอันใด
เขาก็จะสอนด้วยการยึดหลักแห่งความเงียบฉันฉัน

บทนิพนธ์ เต๋า เต้อ จิง เล่ม 2 บทที่ 7

ชีวิตและงานนิพนธ์
บางคนยังคงถือว่าเล่าจื๊อ ซึ่งมีชื่อที่รู้จักกันอีกชื่อหนึ่งว่า เล่าตัน (Lao Tan) ว่าเป็นบุคคลในจินตนิยาย ที่มีเรื่องเล่าเป็นทำนองการพยากรณ์อย่างแปลกประหลาดมากมาย และมีเรื่องนิยายที่ไม่น่าเชื่อผูกพันกับชื่อของเขาอยู่เป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม จากชีวประวัติสั้นๆ ของเขาที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ ซี่ จี่ (Shih chi) หรือ บันทึกประวัติศาสตร์ของ สุมาเฉี๋ยน (Ssu-ma Ch’ien) ซึ่งถือกันว่าเป็น ฮิโรโดตัส (Herodotus) แห่งประเทศจีน ซึ่งมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่สองก่อน ค.ศ. นั้น มาในปัจจุบันนี้ บุคคลส่วนใหญ่เชื่อว่าเล่าจื๊อ เป็นบุคคลที่มีตัวจริงในประวัติศาสตร์ เพียงแต่ขาดข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เกี่ยวกับตัวเขาไปอย่างน่าเสียดายเท่านั้นเอง

คำว่า เล่าจื๊อ แปลว่า อาจารย์ผู้อาวุโส เพราะฉะนั้นจึงน่าจะเป็นคำยกย่องมากกว่าว่าจะเป็นชื่อตัว ชื่ออันแท้จริงของอาจารย์ผู้เฒ่านี้คือไหลตัน (Lai Tan) แต่เขาได้รับการเอ่ยถึงด้วยความเคารพว่า ไหลจื๊อ (Lai Txu) ต่อมาภายหลัง ได้มีการเพิ่มคำว่า เล่า (lao) หรือผู้เฒ่า ผู้อาวุโสเพิ่มเข้าไปกลายเป็น เล่า

เล่าจื๊อ (อาจารย์อาวุโส) เป็นนักปราชญ์คนแรกผู้มีชื่อเสียงเด่นที่สุดของ ปรัชญาเต๋า ที่จริงแล้ว เขาเป็นผู้สถาปนาลัทธิเต๋าขึ้น เขามีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่หก ก่อน ค.ศ. เป็นคนในยุคสมัยเดียวกันกับขงจื๊อ แต่เป็นผู้มีอายุสูงกว่าขงจื๊อ ในสมัยโบราณนั้น ชื่อเสียงของเล่าจื๊อโด่งดังเท่าเทียมกับชื่อเสียงของขงจื๊อ และคำสอนของเล่าจื๊อก็มีอิทธิพลไม่ด้อยไปกว่าของขงจื๊อเช่นกัน อย่างไรก็ตาม นักปรัชญาทั้งสองท่านนี้มีความแตกต่างกันอย่างมากมาย เหมือนกับที่เปลโตกับอริสโตเติลแตกต่างกัน ฉะนั้น อิทธิพลทางปรัชญาของเล่าจื๊อนั้น พิสูจน์ได้จากข้อเท็จจริงที่ว่า เมื่อเวลาล่วงไปเขาได้รับความเคารพนับถือจนกลายเป็นเทพเจ้าองค์สูงสุดของลัทธิเต๋า อันเป็นสภาพที่ขัดแย้งกับคติความคิดของ

เล่าจื๊อเป็นอย่างยิ่ง เพราะเล่าจื๊อนั้นเป็นผู้ไม่เชื่อในเรื่องพระเจ้า เขามีความคิดเห็นว่า การที่ปรัชญากลายเป็นศาสนา และการยกย่องนักปรัชญาว่าเป็นเทพเจ้านั้น เป็นสิ่งขัดแย้งกับคำสอนของเขาอย่างที่สุด

ไหลจื๊อ (Lao Lai Tzu) ชื่อนี้เรียกให้สั้นลงเป็นว่าเล่าจื๊อ หรือ เล่าตัน

เล่ากันว่า เหลาจื๊อ เป็นผู้ดูแลหอพระสมุดหลวงในเมืองหลวงที่เมืองโล้ (Lo) ตามที่เราได้ทราบ สันนิษฐานกันว่าเล่าจื๊อ คงจะได้พบปะกับขงจื๊อ เมื่อตอนที่ขงจื๊อไปเยี่ยมชมเมืองหลวงของราชวงศ์โจว ถ้าตามความเป็นจริง หากบุคคลทั้งสองได้พบกันจริงแล้ว อาจเป็นไปได้ว่า บุคคลทั้งสองต่างทราบเป็นอย่างดีว่า คนนั้นมีทรรศนะแตกต่างกันอย่างมากมาย ขงจื๊อเป็นนักนิยมมนุษยธรรมและสนใจเรื่องของความสัมพันธ์ทางสังคมของมนุษย์ ส่วนเล่าจื๊อนั้นสอนปรัชญาที่มีสาระสำคัญเป็นแบบธรรมชาตินิยมและต่อต้านสังคม เป้าหมายของปรัชญาของปรมาจารย์ขงจื๊อ นั้นคือ การพยายามชักจูงกษัตริย์ผู้มีความรู้แจ้งบางพระองค์ให้รับเอาปรัชญาของท่านไปใช้ ในการปกครองบ้านเมือง แต่เป้าหมายของปรัชญาเล่าจื๊อนั้นอยู่ที่การถอนตนให้พ้นไปจากแนวความคิดทั้งปวงของกษัตริย์และพ้นไปจากการปกครองบ้านเมืองโดยสิ้นเชิง

ความแตกต่างระหว่างนักปรัชญาคนสำคัญทั้งสองนี้ อาจอธิบายได้จากพื้นฐานทางภูมิศาสตร์ของบุคคลทั้งสอง เราได้สังเกตเห็นแล้วว่า อิทธิพลอันสำคัญของวัฒนธรรมราชวงศ์โจวในด้านจารีตประเพณีนั้น มีผลกระทบต่อขงจื้อเป็นอย่างมาก เพราะขงจื๊อเป็นชาวเมืองหลู ส่วนเล่าจื๊อนั้นเกิดอยู่ในแคว้นจัน (Chan) ปัจจุบันคือ โฮนัน (Honan) ซึ่งในสมัยต่อมาถูกกลืนเข้าไปผนวกเข้ากับแคว้นใหญ่บนฝั่งแม่น้ำหยังจื๊อ (Yang Tzu) คือแคว้น ฉู๋ (Ch’u) อันเป็นแคว้นที่มีอาจารย์ปรัชญาเต๋าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวแคว้นจันเป็นประชาชนของราชวงศ์หยิน (Yin) หรือชาง (Shang) อันเป็นราชวงศ์ที่มีมาก่อนหน้าราชวงศ์โจว ซึ่งมีวัฒนธรรมของตนเป็นแบบธรรมดาสามัญตามแบบธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้อาจกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า ความแตกต่างระหว่างปรัชญาขงจื๊อกับปรัชญาเต๋านั้น คือการขยายตัวของความแตกต่างที่มีมาแต่ดั้งเดิมระหว่าง วัฒนธรรมของราชวงศ์โจว กับวัฒนธรรมของราชวงศ์ซ้อง

ที่แตกต่างไปจากขงจื๊อ ผู้เดินทางจากแคว้นหนึ่งไปยังอีกแคว้นหนึ่ง เพื่อแก้ไขเรื่องการปกครองของบ้านเมืองนั้น คือ เล่าจื๊อชอบทำงานโดยไม่เปิดเผยตนเอง ยึดมั่นอยู่แต่ในการปฏิบัติตามหลักของเต๋า อันเป็นหลักแห่งโลกจักรวาล เรื่องเล่าว่า เล่าจื๊ออยู่ในตำแหน่งผู้ดูแล หอพระสมุดหลวงที่เมืองโล้อยู่เป็นเวลานานพอสมควร จนกระทั่งถึงสมัยที่เขาเห็นว่าราชวงศ์โจวกำลังจะเสื่อมสิ้นอำนาจลงอย่างแน่นอน ในตอนแรกเขาเพียงแต่ลาออกจากราชการ แต่ต่อมาได้เห็นความปั่นป่วนระส่ำระสายของบ้านเมืองทวีขึ้นอย่างน่าตกใจ เขาจึงเดินทางพเนจรออกไปจากเมือง มีเรื่องเล่าที่เชื่อสืบทอดกันมาว่าเมื่อเขาเดินทางมาถึงชายแดน มีผู้มารอให้เขายุติการเดินทางเพื่อเขียนปรัชญาของเขาไว้เพื่อประโยชน์ของคนรุ่นหลัง สันนิษฐานกันว่าเล่าจื๊อคงจะหยุดอยู่ ณ สถานที่แห่งนั้นเป็นเวลานานพอที่จะบันทึกปรัชญาของท่านได้ คำสอนที่ท่านบันทึกลงไว้นั้นแบ่งออกเป็นสองภาคคือ เต๋า (Tao) กับ เต้อ (Te) ซึ่งมีความยาวทั้งหมดประมาณห้าพันคำ หลังจากได้บันทึกคำสอนลงไว้แล้วเล่าจื๊อก้หายสาปศูนย์ไป ไม่มีผู้ใดทราบเรื่องเกี่ยวกับตัวเขาอีกเลย ถึงแม้จะสันนิษฐานกันว่า เล่าจื๊อได้ใช้ชีวิตอยู่อย่างสันโดษแต่ผู้เดียวจนถึงวัยสูงอายุมากก็ตาม

นี้คือ ทรรศนะที่เกี่ยวกับเล่าจื๊อ ตามที่เชื่อถือกันมาตามประเพณี ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เล่าจื๊อได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นิพนธ์งานทางปรัชญางานแรกที่สุดในประวัติศาสตร์ของจีนอีกทรรศนะหนึ่ง  อันเป็นทรรศนะที่ย้ำเรื่องความคลาดเคลื่อนของกาลเวลา และข้อความที่ซ้ำๆ ที่ปรากฏในบทนิพนธ์ของเล่าจื๊อที่จัดทำขึ้นในสมัยราชวงศ์ฮั่น ทรรศนะสุดท้ายคือทรรศนะของนักปราชญ์ในสมัยใหม่โดยเฉพาะผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการวิจารณ์ความหมายของข้อความในบทนิพนธ์นั้น มีความเห็นว่า ถึงแม้ว่าบุคคลในประวัติศาสตร์ผู้มีชื่อว่า เล่าจื๊อ จะมีชีวิตอยู่จริงในยุคสมัยของฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง (772-481ก่อน ค.ศ.) ก็ตามแต่เล่าจื๊อก็ไม่ได้เขียนบทนิพนธ์เรื่อง เต๋า เต้อ จิง (Tao Te Ching) เพราะว่าหลักฐานพยานที่ปรากฏอยู่ในบทนิพนธ์นี้ที่เกี่ยวกับเนื้อหาและลีลาการเขียนนั้นแสดงว่า เป็นบทนิพนธ์ในสมัยหลังจากนั้นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งน่าจะเขียนขึ้นในสมัยการรบพุ่งระหว่างแคว้นต่างๆ (480-222 ก่อน ค.ศ.) มากกว่า

ทรรศนะทั้งสามนี้ ยังไม่มีทรรศนะใดที่ถือเป็นหลักอันยุติได้ และในที่นี้การจะวิเคราะห์ ถึงข้อโต้แย้งต่างๆ ของทรรศนะเหล่านี้ก็อยู่นอกประเด็น แต่ก็เป็นสิ่งที่มีคุณค่าถ้าจะกล่าวถึงความยุ่งยากในเรื่องนี้บ้างในรูปของคำอธิบายแบบสามัญธรรมดา กล่าวคือ บทนิพนธ์เต๋าเต้อจิงนี้ ได้เรียบเรียงขึ้นในสมัยการรบพุ่งระหว่างแคว้นต่างๆ โดยสานุศิษย์ของเล่าจื๊อ โดยอาศัยบันทึกต่างๆ ที่มีอยู่อย่างมากมาย ที่เกี่ยวข้องกับเล่าจื๊อผู้เป็นอาจารย์ของพวกเขาตลอดทั้งคำสอนของเล่าจื๊อที่พวกตนได้ฟังมาจากอาจารย์เล่าจื๊อเองเป็นหลักประกอบการเรียบเรียง คำอธิบายนี้ดูเหมือนจะเป็นคำอธิบายที่มีเหตุผลอย่างที่สุด และแจ่มแจ้งที่สุด ถ้าหากเราจะระลึกว่าบทนิพนธ์เรื่องปกิณกะนิพนธ์ของขงจื๊อ (Analects) ตลอดทั้งวรรณกรรมในสมัยโบราณอื่นๆ นั้น ต่างรวบรวมและเรียบเรียงขึ้นในทำนองนี้ทั้งสิ้น ทฤษฎีนี้จะอธิบายได้เป็นอย่างดีถึงเหตุผลที่ว่า ทำไมวรรณกรรมโบราณเหล่านี้ จึงมีข้อความเป็นบทๆ ต่อเนื่องกัน และเหตุผลอีกประการหนึ่ง คือ ข้อความแต่ละบทมีลักษณะที่แสดงความสมบูรณ์ของมันในตัว ลักษณะดังกล่าวนี้คงจะเป็นไปได้ ถ้าหากบทนิพนธ์นี้เขียนขึ้นโดยบุคคลจำนวนหลายคนด้วยกัน

ดูเหมือนว่า สิ่งที่สอดคล้องกับบทนิพนธ์นี้อย่างที่สุด ที่นอกเหนือไปจากเรื่องผู้นิพนธ์แล้วก็คือ สิ่งที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าข้อความส่วนใหญ่ในบทนิพนธ์เต๋าเต้อจิงนั้น แสดงถึงทรรศนะปรัชญาอันแท้จริงของเล่าจื๊อ บทนิพนธ์เล่มนี้สอดคล้องกับความคิดเห็นต่างๆ ของปรัชญาเต๋าที่คาดคิดกันว่าน่าจะมีอยู่ก่อนสมัยของขงจื๊ออย่างแน่นอน นักปรัชญาในสมัยต้นๆ ของจีนทำนองเดียวกันกับนักปรัชญาในดินแดนอื่นๆ นั้น เป็นนักปรัชญาธรรมชาตินิยม ที่มองออกจากตนเองไปสู่โลกภายนอก แทนที่จะมองดูภายในตนเอง  จนกระทั่งถึงยุคสมัยประมาณศตวรรษที่หกก่อน ค.ศ. ที่ปรัชญาเริ่มหันมาสนใจเรื่องที่เกี่ยวกับปัญหาภายในจิตใจของมนุษย์ ชีวิตของมนุษย์ชะตากรรมและจริยธรรมของมนุษย์ การเริ่มต้นและการก่อตัวของทรรศนะปรัชญาอันนี้ กล่าวคือการเปลี่ยนแปลงจากปรัชญาธรรมชาตินิยมมาสู่มนุษยธรรมนั้น  อาจกำหนดเอาได้ว่าแฝงมาในรูปของปรัชญาของขงจื๊อนั้นเอง บทนิพนธ์เรื่องเต๋า เต้อ จิง นั้น ยืนอยู่ตรงธรณีประตูของการเริ่มต้นและการก่อตัวของการเปลี่ยนแปลงอันนี้ เพราะฉะนั้นเราอาจจะกล่าวถึงบทนิพนธ์ เต๋าเต้อจิงได้อย่างแน่นอนที่สุดว่า บทนิพนธ์นี้ไม่ใช่ผลงานของบุคคลคนเดียว แต่เป็นผลงานของบุคคลหลายคน และเป็นผลงานที่แสดงถึงทรรศนะอันถูกต้องของปรัชญาของเล่าจื๊อ ผู้มีชีวิตอยู่ในสมัยก่อนหน้า ของขงจื๊อถัดขึ้นไป

บทนิพนธ์เล่มนี้  ประกอบด้วยสองภาค คือ เต๋า กับ เต้อ จนกระทั่งลุมาถึงสมัยพระจักรพรรดิ จิ้ง (Ching) ปี 156-141 ก่อน ค.ศ. ของราชวงศ์ฮั่น (Han) ที่บทนิพนธ์ทั้งสองภาคนี้ถูกรวมกันเข้าเป็นบทนิพนธ์เล่มเดียวกัน ภายใต้ชื่อที่เรารู้จักกันในปัจจุบันว่า เต๋า เต้อ จิง อย่างไรก็ตาม พระจักรพรรดิ์ ซ่วน จุง (Hsuan Chung) ปี ค.ศ.713-755 ของราชวงศ์ถัง (T’ung) ได้แบ่งบทนิพนธ์เล่มนี้ออกเป็นเล่มใหม่อีกครั้งหนึ่ง คือ เต๋า จิง (Tao Ching) กับ เต้อ จิง (Te Ching) ถึงแม้ว่าบทนิพนธ์ในฉบับดั้งเดิมจะไม่มีการแบ่งตอนภายในเล่มแต่อย่างใด แต่ต่อมาในภายหลัง ได้มีการแบ่งข้อความภายในเล่มเป็นบทๆ จำนวนของบทนั้นมีแตกต่างไม่ตรงกัน มีตั้งแต่ห้าสิบห้าบทไปจนถึงแปดสิบเจ็ดบท

ที่มา:สกล  นิลวรรณ