เรื่องราวของพระยายมราช

Socail Like & Share

พระยายมราช
ขอคัดความจากหนังสือไตรภูมิพระร่วง ซึ่งมีสำนวนขลังชวนให้สยองขวัญยิ่งนัก

“เมืองพระญายมราชนั้นใหญ่นัก และล้อมรอบประตูนรกทั้ง ๔ ประตูนรกนั้นแล พระยายมราชนั้นทรงธรรมนักหนา พิจารณาถ้อยความอันใดๆ และบังคับโจทก์และจำเลยนั้นด้วยสัจซื่อ และชอบธรรมทุกวันทุกเมื่อ ผู้ใดตายย่อมไปไหว้พระญายมราชก่อนฯ พระญายมราชจึงถามผู้นั้น ยังมึงได้กระทำบาปฉันใด แลมึงเร่งคำนึงดูแลมึงว่าโดยสัจโดยจริงฯ เมื่อดังนั้นเทวดาทั้ง ๔ องค์อันแต่งมาซึ่งบัญชีบุญและบาปแห่งคนทั้งหลายก็ได้ไปอยู่ในแห่งนั้นด้วย แลถือบัญชีอยู่แห่งนั้น ผู้ใดกระทำบุญอันใดไซร้เทพยดานั้นเขียนชื่อผู้นั้นในแผ่นทองสุกแล้วทูนใส่เหนือหัวไปถึงพระญายมราชๆ ก็จับใส่หัวแล้วก็สาธุการอนุโมทนายินดี แล้วก็วางไว้บนแท่นทองอันประดับด้วยแก้วสัตตพิธีรัตนะและมีอันเรืองงามแล ผู้ใดอันกระทำบาปไซร้ เทวดานั้นตราบัญชีลงในแผ่นหนังหมาแลเอาไว้แห่ง ๑ เมื่อพระญายมราชถามดังนั้น ผู้ใดกระทำบุญด้วยอำนาจบุญแห่งผู้นั้น หากรำพึงรู้ทุกอันแลกล่าวแก่พระญายมราชว่า ข้าได้ทำบุญธรรมดังนั้นเทพยดาถือบัญชีนั้นก็หมายบัญชีในแผ่นทองนั้น ก็ดุจความอันเจ้าตัวกล่าวนั้น พระญายมราชก็ชี้ให้ขึ้นไปสู่สวรรค์อันมีวิมานทองอันประดับนี้ด้วยแก้ว ๗ ประการ แลมีนางฟ้าเป็นบริวาร แลมีบริโภคเทียรย่อมทิพย์ แลจะกล่าวเถิงความสุขนั้นบ่มิได้เลนฯ ผิแลผู้ใดกระทำบาปนั้นบันดาลตู่ตนมันเองนั้น แลมันมิอาจบอกบาปได้เลย จึงเทพยดานั้นเอาบัญชีในแผ่นหนังหมามาอ่านให้มันฟัง มันจึงสารภาพว่าจริงแล้ว พระญายมราชแลเทพยดา ก็บังคับแก่ฝูงยมบาลให้เอามันไป โดยบาปกรรมมันอันหนาและเบานั้นแลฯ บังคับอันควรในนรกอันหนักแลเบานั้นแลความทุกขเวทนาแห่งเขานั้นจะกล่าวบ่มิถ้วนได้เลยฯ ผู้กระทำบุญก็ได้กระทำ บาปก็ได้กระทำ เทพยดานั้นจะซักบุญและบาปนั้นมาดูทั้งสองฝ่ายๆ ใดหนักไปฝ่ายนั้น แล้วแม้ว่าผู้บุญหนักแลไปสวรรค์ก็ดี เมื่อภายหลังยังจะมาใช้บาปตนนั้นเล่าบ่มิอย่าเลย ผู้สร้างผู้บาปหนักแลไปในนรกก่อน แลเมื่อภายหลังนั้นจึงจะได้เสวยบุญแห่งตนนั้นบ่มิอย่าแลฯ อันว่าคนผู้กระทำบุญกระทำบาปเสมอกันดังนั้นไซร้พระญายมราชแลเทพยดาถือบัญชีนั้นบังคับให้เป็นยมราช ยมบาล ๑๕ วัน มีสมบัติทิพย์ดุจเทพยดาแลตกนรก ๑๕ วันนั้น ต่อสิ้นบาปมันนั้นแลฯ ฯลฯ”

ครับ ผมตัดมาเพียงแค่นี้ เดี๋ยวจะเป็นนิยายสยองขวัญของ คุณจินตวีร์  วิวัธน์ เข้า

เรื่องราวของพระยมนั้นสับสนอลหม่านยุ่งยากเหมือนกับเทพองค์อื่นๆ นั่นแหละ ผมอ่านหลายเล่มราว ๒๐ เล่ม ความตีกันในสมองของผมยุ่งไปหมด จะพยายามบรรจงเล่าให้ได้เนื้อกระทงความครับ

คำว่า “ยม” แปลว่า ผู้ยับยั้ง หมายถึงยับยั้งผู้ประกอบกรรมชั่วนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีนามอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ยมราช ธรรมราช มัจจุราช มฤตยูกาล อนฺตก กฤตนฺต ศมน ทัณฑี ทัณฑธาร ภิมศาสน ปาศี ปิตฤปติ เปรตราช ศราทเทวะ ในคัมภีร์พระเวทออกนามพระยมว่า สํ คมโน ชนานาม แปลว่า ผู้รวบรวมคน และว่าเป็นใหญ่ในปิตฤทั้งหลาย คือเป็นต้นโคตรแห่งคนที่ล่วงลับไปแล้ว

พระยมมีหน้าที่พิพากษาผู้ตายอย่างเที่ยงธรรม จึงมีนามว่า “ธรรม” หรือ “ธรรมราช”  และมีที่อยู่เรียกว่า “ยมปุระ” เพราะเมื่อคนเราตายไป มโนหรือวิญญาณก็จะไปสู่ยมปุระ เพื่อให้พระยายมราชตัดสินลงโทษตามความผิด โดยมี จิตรคุปต์ (ภาษาบาลีว่า จิตฺตตคุตฺโต และภาษาชาวบ้านว่า เจ็ตคุก) เป็นผู้อ่านประวัติผู้ตาย อันจดไว้ในสมุดรายชื่อ อัครสันธานา แล้วพระยายมราชก็พิพากษา ดังนั้นพระยายมราชจึงมีอำนาจนิกรชน จึงได้นามว่า ทัณฑธร แปลว่า ผู้มีอำนาจลงโทษ อ้อ ปราสาทที่พำนักของพระยมมีชื่อว่า กาลีจี มีบัลลังก์ชื่อ วิจารภู ส่วน จิตรคุปต์ หรือบางแห่งก็เรียกว่า จันทรคุปต์ นี้มีผู้ชายสองคน คือ จันท์ หรือ มหาจันท์ และ กาลบุรุษ คนเดินหนังสือพระยมราชชื่อยมทูต คนเฝ้าประตูปราสาทชื่อ ไวธยต แต่บางตำนานว่าผู้เฝ้าทางที่จะไปสู่สำนักพระยมนั้นเป็นหมา ๒ ตัว ชื่อ สามะ(ดำ) และสวละ (ด่าง) สุนัขนี้มีรูปร่างประหลาด มีถึง ๔ ตา รูจมูกกว้างมาก ทั้งยังมีนกฮูกด้วย ถ้าส่งไปหาใครก็เป็นสัญญาณแห่งความตายละ

พระยายมถือกำเนิดจาก วิวสฺวตฺ หรือ วิวัสวัต คือ พระอาทิตย์ ด้วยเหตุนี้พระยมจึงได้ชื่อว่า ไววัสวัต แปลว่าผู้เกิดจากวิวัสวัตนั่นแหละ พระยมมีน้องสาวฝาแฝดชื่อ ยมี หรือ ยมุนา ซึ่งต่อมาเป็นชายาของพระยมเอง สามีภรรยาคู่นี้นัยว่าเป็นต้นกำเนิดของมวลมนุษย์คล้ายกับเรื่องอดัมกับอีฟของศาสนาคริสต์

บางคัมภีร์ว่าพระยมเป็นมนุษย์คนแรกในมนูยุคที่ ๗ คือเป็นโอรสพระวิวัสวัต (พระอาทิตย์ป กับนางสรัญยู บางแห่งก็ว่านางสังชญา หรือสัญญา แปลว่าผู้มีสติยั้งคิด ความสังเกตหรือความจำได้

ตรงนี้ต้องกล่าวถึงคำว่า มนูยุคที่ ๗ ก่อนครับ ผมเป็นเป็นเกร็ดน่ารู้นี่นา แต่ก็ออกจะเข้าใจยากอยู่ ผมคัดจากหนังสือ ชุมนุมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของหลวงสารานุประพันธ์ เลย ถ้าต้องการขยายความอีกก็อ่านศาสนาสากลของหลวงวิจิตเอาเองเถอะ

หลังจากการสร้างโลกแล้ว พระพรหมก็เริ่มสร้างมนุษย์ให้เป็นพลโลก มนุษย์คนแรกที่พระพรหมสร้างเรียกว่า “มนู” เป็นประชาบดีของคนในโลกนี้ทั้งหมด และสร้างต่อๆ มาตามยุคของโลกที่ทำลายลงและสร้างใหม่รวม ๑๔ องค์ดังต่อไปนี้

มนูยุคหนึ่งๆ หรือเรียกตามภาษาสันสกฤตของพราหมณ์ว่า “มันวันตร” หนึ่งมีกำหนด ๓๑๑,๐๔๐,๐๐๐ ปี

พระมนูที่ได้มาบังเกิดแล้วในโลกนี้มี ๗ องค์ คือ

๑. พระมนูสวายัมภูวะ เป็นโอรสพระสวยัมภู(พรหม) เป็นประชาบดีผู้สร้างฤาษี ๑๐ ตน มีพระริจิเป็นต้น เป็นผู้แต่งตำรับมานวธรรมศาสตร์ หรือกฎหมายพระมนู
๒. พระมนูสวาโรจิษะ
๓. พระมนูเอาตฺตมิ
๔. พระมนูตามะสะ
๕. พระมนูไรวตะ
๖. พระมนูจากษมะ
๗. พระมนูไววัสวัต

พระมนูองค์ที่ ๗ นี้ โดยโอรสแห่งพระอาทิตย์ เป็นผู้ทรงคุณธรรมอันประเสริฐจึงได้ฉายาว่า “สัตยพรต” เป็นมหาชนกแห่งมนุษย์ที่ยังคงอยู่ในโลกทุกวันนี้ ตามเรื่องราวมีมา ซึ่งพราหมณ์เก็บมารวมไว้ในคัมภีร์ปุราณะหลายแห่งว่า เมื่อสิ้นมนูยุคที่ ๖ เริ่มยุคที่ ๗ นั้น โลกนี้เต็มไปด้วยบาปพระเป็นเจ้าจึงบันดาลให้เกิดมหาอุทกนองมาท่วมโลก คนและสัตว์ในพื้นดินก็ตายสิ้น แต่ส่วนพระมนูนั้น พระพิษณุเป็นเจ้าเห็นว่าเป็นผู้ทรงคุณธรรมประเสริฐจึงได้อวตารเป็นปลา (ปางมัตสยาวตาร ซึ่งเป็นปางหนึ่งของการอวตารอันจะกล่าวต่อไป) ลงมาบอกพระมนูให้ต่อแพใหญ่ จัดหาสัตว์ลงในแพนั้น แล้วพระมัตสยาวตารก็จงแพลอยไป จนเมื่อน้ำลดแล้ว พระมนูจึงได้เป็นเจ้าแผ่นดินองค์แรกของมนุษยโลก และเป็นมาหชนกของคนสืบมา

พระมนูลูกพระอาทิตย์นี้แล ตำรับว่าเป็นผู้สร้างกรุงอโยธยานครหลวงแห่งแคว้นโกศลราษฎ์(ในอินเดีย) และเป็นปฐมชนกแห่งวงศ์กษัตริย์ “สุริยวงศ์” นางอิลาบุตรีเป็นชายาแห่งพระพุธผู้เป็นโอรสพระจันทร์ ซึ่งได้ตั้งวงศ์กษัตริย์อีกวงศ์หนึ่ง เรียกว่า จันทรวงศ์ เพราะฉะนั้นกษัตริย์สุริยวงศ์กับจันทรวงศ์จึงนับว่ามีต้นสกุลร่วมกัน

สมเด็จพระมหาธีรราชมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานอรรถาธิบายไว้ว่า คำฝรั่งว่า “Man” กับ “มนู” นั้น สันนิษฐานว่าจะมาจากมูลเดียวกัน เพราะในตำรับศาสนาโบราณกล่าวว่า มหาชนกคนแรกแห่งมนุษย์ในโลกนี้มีนามว่า มันนะ (Manna) หรือ ตามภาษาเยอรมันโบราณว่า มันนุส (Mannus) และคำว่า “คน” ของภาษาเยอรมันเดี๋ยวนี้ เรียกว่า “มันน์” (Mann) ซึ่งตกไปถึงอังกฤษเป็น “แมน” (Man) ดังนี้

ส่วนพระมนูที่จะมีมา ณ เบื้องหน้าอีก ๗ องค์นั้นมีนามปรากฎดังนี้
๘. พระมนูเสาวรณี
๙. พระมนูทักษะสาวรณี
๑๐. พระมนูพรหมเสาวรณี
๑๑. พระมนูธรรมเสาวรณี
๑๒. พระมนูรุทรสาวรณี
๑๓. พระมนูเราจะยะ หรือเทวสาวรณี
๑๔. พระมนูเภาตยะ หรืออินทรสาวรณี

“เมื่อพระมนูสวายัมภูวะ องค์ที่ ๑ ซึ่งเป็นโอรสพระสวยัมภู (พรหม) เกิดแล้ว ท่านก็สร้างมนุษย์สืบพันธุ์ต่อมาในฐานเป็นประชาบดี (ผู้สร้างมนุษย์) มนุษย์รุ่นแรกที่สืบพันธุ์จากพระมนูสวายัมภูวะเป็นฤาษี ๑๐ ตน เรียกกันว่าทศฤาษี นับเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง มีนามดังนี้คือ มริจิ อัตริ อังคีรส ปุลัสตยะ ปุละหะ กระตุ วสิษฐ์ ทักษะ ภฤดู นารถ”

พระมริจิมีลูกชื่อ พระมาริจี หรืออีกนามหนึ่งว่าพระกัศยปๆ องค์นี้เป็นเทพมุนีผู้ศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นผู้สร้างทั้งมนุษย์และสัตว์ต่อมาอีกมากหลาย ดังจะกล่าวต่อไปพระกัศยปเป็นบิดาพระมนูไววัสวัต ผู้เป็นมหาชนกแห่งมนุษย์ในโลกเวลานี้ พระกัศยปได้พระอทิติ พระเทพมารดาเป็นชายา ก็ได้เป็นชนกแห่งพระอาทิตย์และทั้งเป็นชนกพระอินทร์ด้วย นอกจากพระอทิติแล้ว พระกัศยปยังได้พระธิดาพระทักษะประชาบดีอีก ๑๒ องค์เป็นชายา ตอนนี้เองเลยมีลูกเป็นสัตว์ประหลาดต่างๆ เช่น ครุฑ นาค รากษส แทตย์ ทานพ ฯลฯ

ครับ ก็เป็นเรื่องเกี่ยวพันกัน และเป็นความรู้ในเรื่องเกี่ยวกับเทพและมนุษย์ ผมก็เลยคัดมาแทรกไว้ตอนนี้ด้วย เข้าใจยากหน่อยก็เป็นไรไปครับ เข้าทำนอง “รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม”

เรื่องของพระยม บางกระแสก็ว่าเดิมเป็นกษัตริย์ครองนครเวศาลี ในขณะออกศึกอย่างกล้าหาญนั้นได้อธิษฐานว่า ถ้าตายไปขอให้ได้เป็นเจ้านรก ก็สมความปรารถนาตามที่อธิษฐาน คือแม่ทัพ ๑๘ คน กับทหาร ๘๐,๐๐๐ คน ได้ตายตามไปเกิดในนรกด้วยและแบ่งหน้าที่ต่างๆ กัน แต่พระยมก็ยังมีกรรมติดตัวตามสนองอยู่ คือในระยะ ๒๔ นาฬิกา จะมีปีศาจมากรอกน้ำทองแดงลงไปในปาก ๓ ครั้งเสมอๆ ไปจนกว่าจะสิ้นกรรม และเมื่อสิ้นกรรมก็จะได้ไปเกิดเป็นท้าวสมันตราช

พระยมมีชายา ๑๓ นาง ล้วยเป็นธิดาของพระทักษะประชาบดี มีนามดังต่อไปนี้

๑. นางศรัทธา มีบุตรชื่อ กาม (ใคร่ป
๒. นางลักษมี มีบุตรชื่อ ทรรป (หยิ่ง)
๓. นางธฤติ มีบุตรชื่อ นิยม (ขีดขั้น)
๔. นางดุษฎี มีบุตรชื่อ สันโดษ (พอใจ)
๕. นางปุษฎ มีบุตรชื่ โลภ (อยากได้)
๖. นางเมธา มีบุตรชื่อ ศรุต (เรื่องที่สดับ)
๗. นางกิริยา มีบุตรชื่อ ทัณฑ์ (แก้ไข)
๘. นางพุทธิ มีบุตรชื่ โพธ (เข้าใจ)

๙. นางลัชชา มีบุตรชื่อ วินัย (มรรยาทดี)
๑๐. นางวปุ มีบุตรชื่อ พยัพสาย (ขยัน)
๑๑. นางศานติ มีบุตรชื่อ โลภ (อยากได้)
๑๒. นางสิทธิ มีบุตรชื่อ สุข (สบาย)
๑๓. นางเกียรติ มีบุตรชื่อ ยศ (ชื่อเสียง)

ตามคัมภีร์มหากาพย์ว่าพระยมยังมีบุตรเกิดแต่นางกุนตีมเหสีท้าวปานฑุอีกองค์หนึ่ง ชื่อ ยุธิษเฐียร เป็นโอรสองค์แรกในเหล่าปาณฑพทั้ง ๕ ต่อมาเมื่อทำสงครามมีชัยชนะแก่พวกโกรพแล้วได้เป็นราชาธิราชครองนครหัสดิน ทรงนามว่ามหาธรรมราชา ชาวอินเดียนับถือพระยุธิษเฐียรธรรมราชาว่าเป็นกษัตริย์นักปกครองในคัมภีร์นี้พรรณนารูปร่างพระยมเป็นที่น่าสะพรึงกลัวมาก คือหน้าตาดุร้าย รูปร่างใหญ่โต สีกายเลื่อมประภัสสร (สีเหมือนพระอาทิตย์แรกขึ้น) ใสอย่างแก้ว หรือนัยหนึ่งว่าสีเขียว นัยน์ตาวาว ทรงมงกุฎ นุ่งห่มสีแดงเลือด มีกระบือเป็นพาหนะ (กระบือนี้ในลิลิตโองการแช่งน้ำว่าชื่อ ทุณพี) ถือคทาใหญ่เรียกว่า กาลทัณฑ์ หรือ ยมทัณฑ์ มีนัยน์ตาเป็นอาวุธ เรียกว่า นยนาวุธ มีบ่วงสำหรับคล้องวิญญาณผู้ตาย เรียกว่า ยมบาศ วิมานล้วนไปด้วยทองแดงและเหล็ก และมักเขียนกันมี ๔ กร

มีเกร็ดเรื่องพระยมในปุราณะ (คำนี้ต้องหาโอกาสแทรกให้จนได้ละครับ เพราะกล่าวถึงหลายครั้งแล้ว) ว่าพระยมทะเลาะกับนางฉายา ซึ่งเป็นสาวใช้ของบิดาของพระยม พระยมโกรธเลยเตะนางฉายาเข้าให้ นางฉายาแม้จะเป็นสาวใช้ก็มีฤทธิ์เหมือนกัน เลยสาปพระยมให้เท้าเป็นแผลมีหนอนยั้วเยี้ย พระอาทิตย์รู้สึกสงสารพระยมมาก จึงเนรมิตไก่ตัวผู้ตัวหนึ่งให้ไปรักษา โดยให้ไก่จิกหนอนในแผลจนหนอนหมด แผลจึงหายเป็นปกติ และด้วยเหตุนี้แหละพระยมจึงได้มีชื่ออีกว่า ศีรฺณปาท แปลว่า เท้าเน่า

หน้าที่ของพระยมนั้นเป็นโลกบาลทิศทักษิณ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นที่สถิตของพระยมก็น่าจะเป็นสวรรค์ชั้นจตุมหาราชิก สวรรค์ชั้นหนึ่งในฉกามาพจร ดังที่กล่าวไว้ในเรื่องจัตุโลกบาลแล้ว แต่ในไตรภูมินั้น พระยมนั้นมีที่อยู่เป็นเมืองใหญ่โตมาก อยู่ใต้แผ่นดินที่เราอยู่กันนี้ เรียกว่า ยมโลก หรือ ยมปุระ ก็คือเมืองนรกนั่นแหละ นรกนั้นมีหลายขุมนัก ที่สำคัญและใหญ่ๆ ก็ ๘ ขุม เรียงลำดับเป็นชั้นๆ คือ
๑. สัญชีพนรก
๒. กาลสูตรนรก
๓. สังฆาฎนรก
๔. โรรุพนรก
๕. มหาโรรุพนรก
๖. ดาปนรก
๗. มหาดาปนรก
๘. มหาอเวจีนรก

นรกใหญ่ทั้ง ๘ ขุมนี้มีนรกย่อยหรือนกบ่าวอีกมากจนนับไม่ถ้วน
เรื่องไตรภูมิพระร่วงไม่ได้พรรณนาความดุร้ายของนรกขุมใหญ่ไว้หรอก พรรณนาแต่ขุมย่อย เฉพาะขุมย่อยก็เหลือกินแล้ว คือมหาโหด ถ้าจะพรรณนาขุมใหญ่คงจะไม่รู้ว่าจะสรรหาอะไรที่มหาโหดมากกว่านี้ จะขอยกมาสักขุมนะครับ สยดสยองพิลึกละ

“ครั้นตายได้ไปเกิดในนรกอันชื่อเวตรณีนั้น ยมบาลอยู่ในเวตรณีนั้นเทียรย่อมถือไม้ค้อน มีดพร้า หอกดาบ หลาว แหลน เครื่องฆ่า เครื่องแทง เครื่องยิง เครื่องตีทั้งหลาย ฝูงนั้นย่อมเหล็กแดงและมีเปลวพุ่งขึ้นไปดังไฟลุก ดังนั้นบมิวายแล ยมบาลจึงถือเครื่องทั้งนั้นไล่แทงไลตีฝูงคนนรกด้วยสิ่งนั้น เขาก็เจ็บปวดเวทนานักหนาอดทนบมิได้เลย ในนรกนั้นมีแม่น้ำใหญ่อันชื่อว่าไพตรณีและน้ำนั้นเค็มนักหนา ครั้นว่าเขาแล่นหนีน้ำนั้นเล่า หวายเครือหวายดาษไปมา แลหวายนั้นมีหนามอันใหญ่เท่าจอบเทียรย่อมเหล็กแดงเป็นเปลวไฟลุกทุกเมื่อแล ลงน้ำนั้นก็ขาดดังท่านเอามีดกรดอันคมมาแล่มากันเขาทุกแห่ง แลเครือหวายเทียรย่อมขวากใหญ่ แลยาวย่อมเหล็กแดงลุกเป็นเปลวไฟไปไหม้ตัวเขา ดังไฟไหม้ต้นไม้ในกลางป่า ครั้นว่าตัวเขาตระหลอกตกลงหนามหวายนั้นลงไปยอกขวากเหล้กอันอยู่ใต้นั้น ตัวเขานั้นก็ขาดห้อย ณ ทุกแห่ง เมื่อขวากเหล็กนั้นยอกตัวเขาดังท่านเสียบปลานั้นแล บัดเดี๋ยวหนึ่งเปลวไฟไหม้ขาวขึ้นมาแล้ว ลุกขึ้นเป็นไฟไหม้ตนเขาหึงนานนักแล ตนเขานั้นสุกเน่าเปื่อยไปสิ้น ใต้ขวากเหล็กในน้ำเวตรณีนั้นมีใบบัวหลวงและใบบัวนั้นเทียรย่อมเหล็กเป็นคมรอบนั้นดังคมมีด และใบบัวนั้นเป็นเปลวลุกอยู่บมิดับเลยสักคาบ ครั้นว่าตนเขานั้นตระหลอดจากขวากเหล็กนั้นตกลงเหลือใบบัวเหล็กแดงนั้น ใบบัวเหล็กแดงอันคมนั้น ก็บาดขาดวิ่นทุกแห่งดังท่านกันขวางกันยาวนั้นไซร้ เขาตกอยู่ในใบบัวเหล็กแดงนั้นช้านานแล้วจึงตระหลอดตกลงไปในน้ำๆ นั้นเค็มหนักหนา แสบเนื้อแสบตัวเขาสาหัสดังปลาอันคนตีที่บนบกนั้น บัดเดี๋ยวนั้นแมน้ำนั้นก็กลายเป็นเปวไฟไหม้ตนเขานั้น ดูควันฟุ้งขึ้นทุกแห่งรุ่งเรืองเทียรย่อมเปลวไฟในพื้นแม่น้ำเวตรณีนั้นเทียรย่อมคมมีดหงายขึ้นทุกแห่งคมนักหนา เมื่อคนนรกนั้นร้อนด้วยเปลวไฟไหม้ดังนั้นเขาจึงคำนึงใฝ่ใจว่ามากูจะดำน้ำนี้ลงไปชะรอยจะพบน้ำเย็นภายใต้โพ้นและจะอยู่ได้แรงใจสะน้อยเขาจึงดำน้ำลงไปในพื้นน้ำนั้น จึงถูกคมมีดอันหลายอยู่ใต้น้ำนั้นตัวเขาก็ขาดทุกแห่งดังท่านแสร้งกันเขานั้นยิ่งแสนสาหัส…”

ครับ นี่เป็นแต่ขุมย่อยขุมหนึ่งนะครับ มีที่มหาโหดกว่านี้ก็มี อ้อ แทรกอีกนิดเถอะ เสฐียรโกเศศเขียนไว้ในเล่าเรื่องไตรภูมิพระร่วงว่า

“เพียงแต่สัตว์นรกขุมแรกก็มีอายุยืนได้ ๕๐๐ ปีเมืองนรก วัน ๑ กับคืน ๑ ของเมื่องนรกได้ ๙ ล้านปีของเมืองมนุษย์ ส่วนสัตว์นรกขุมอื่นที่อยู่ถัดไป มีอายุยืนนับทวีคูณจำนวนปีของนรกขุมแรก หรือสองเท่าตัวเป็นลำดับไปจนนับไม่ถ้วน เรื่องนับปีเดือนนรกเปรียบเทียบกับปีเมืองมนุษย์นี้ที่พูดติดปากกันในพวกชาวบ้าน มักพูดกล่าวว่า ๑๐๐ ปีเมืองมนุษย์เท่ากับวัน ๑ กับคืน ๑ ของเมืองสวรรค์ ๑๐๐ ปีเมืองสวรรค์เท่ากับ ๑ วัน ๑ คืนของเมืองนรก”

หันมาสู่เรื่องพระยมอีก เรื่องพระยมเกี่ยวข้อกับวรรณคดีไทยหลายเรื่อง แต่เรื่องที่สำคัญที่สุดคือเรื่อง “สาวิตรี” ของ ร.๖ ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ตามเค้าใน “ปติวรตามาหตฺมฺยบรรพ” ใน วนฺธรรม แห่งคัมภีร์มหาภารตะ คัมภีร์มหากาพย์ภารตะนับเป็นคัมภีร์ที่สำคัญคู่กับรามายณะมหาภารตะ ผู้รจนาคือฤาษีวยาสหรือวยาสกฤษณไทวปายนะ และถือกันเป็นคัมภีร์อิติหาส คือเป็นพงศาวดารของอินเดีย ชาวอินเดียถือกันว่า ใครได้ฟังได้อ่านจบได้กุศลแรง ตายไปแล้วได้ไปสวรรค์ เรื่องสาวิตรีเป็นเรื่องย่อยที่อยู่ในมหาภารตะ เป็นเรื่องที่ฤาษีพฤหทัศวะเป็นผู้เล่าให้กษัตริย์ปาณฑพฟัง ขอเล่าพอเป็นสังเขป

ท้าวอัศวบดีราชาแห่งแคว้นมัทรนคร ต้องทำพิธีพลีกรรมอยู่นานจนได้บุตรีชื่อสาวิตรี มีสิริโฉมงามมาก ต่อมาเธอเลือกคู่เอง และเลือกพระสัตยวาน โอรสท้าวทยุมัตเสน ซึ่งถูกแย่งราชสมบัติและพระเนตรเสียต้องหนีไปประทับในป่า พระสัตยวานนั้น “มีศักดิ์แม้พระอาทิตย์ มีปัญญาแม้นพระพฤหัสบดี มีความกล้าแม้นท้าวอมรินทร์ ความกรุณาแม้พระธรณี” อย่างไรก็ตามพระนารถฤาษีได้ทูลว่า พระสัตยวานจะสิ้นพระชนมายุภายใน ๑ ปี แต่นางสาวิตรีไม่ยอมเปลี่ยนใจ ในที่สุดก็อภิเษกกัน และครั้นถึงกาลที่พระสัตยวานจะสิ้นอายุ ด้วยความฉลาดและมีวาจาอันไพเราะของเธอจึงขอชีวิตพระสัตยวานต่อพระยมได้ วาจาอันไพเราะที่สาวิตรีทูลพระยมนั้นมีหลายตอนครับ และเธอก็ได้พรเป็นข้อๆ ผมขอคัดมาประกอบบางตอนครับ

“อนึ่งใกล้พระองค์ผู้ทรงคุณ    เป็นจอมบุญแท้จริงทุกสิ่งสรรพ์
การคบผู้ซื่อตรงทรงคุณธรรม์    ย่อมมีผลอนันต์อันเลิศดี
เสวนากับผู้ประพฤติธรรม    คือคบมิตรเลิศล้ำและเป็นศรี
หม่อมฉันชอบคนธรรมจารี    จึงสู้ลีลาตามเสด็จมา”
ตอนนี้เธอได้พรจากพระยมให้พระราชบิดาได้ครองราชย์ตามเดิม

“พรงองค์เป็นโอรสอาทิตย์ไซร้    จึงเรียกไววัสวัตบดีศรี
ประสาทธรรมสม่ำเสมอดี    จึงมีนามว่าธรรมราชา
อันผู้ใดทรงธรรมเที่ยงสถิต    ชนย่อมอยากเป็นมิตรเป็นนักหนา
ความใจดีมีจิตมากเมตตา    ย่อมแนะสัตว์นานาไว้วางใจ”
ตอนนี้เธอได้พร “โอรสเรืองฤทธิ์ถึงร้อยคน”

“การดำเนินร่วมทางอย่างเป็นมิตร        กับผู้สุจริตย่อมเป็นศรี
พระองค์เป็นยอดธรรมจารี        หม่อมฉันนี้จึงตามเสด็จจร
เสวนาบัณฑิตเป็นกิจชอบ        ประกอบด้วยกุศลสโมสร
อันธรรมจารีศรีสุนทร            นรากรได้พึ่งจึงเย็นใจ”
พอพระยมทรงอนุญาตให้ขอพรนางก็ว่า
“อ้าพระผู้ประสาทศรีสวัสดิ์        พรพิพัฒน์ประทานแก่ตูข้า
ไหนจะได้สมถวิลจินตนา        แม้ไร้พระภรรดาผู้ยาใจ
ฉะนั้นจึงจำต้องขอประทาน        ชีวิตพระสัตยวานคืนขึ้นใหม่
ดำรงพระวาทีที่ลั่นไว้            สมที่ได้เป็นธรรมราชา”
ครับ ก็ได้ชีวิตสามีคืนมาตอนนี้ละครับ เป็นอันว่าจบเรื่องพระยมก็แล้วกัน

ที่มา:รองศาสตราจารย์ประจักษ์  ประภาพิทยากร