ประติมากรรมรูปเคารพในบางลัทธิของพราหมณ์

พระกฤษณะ
ไวษณพนิกาย
ลัทธินี้ชื่อลัทธิดัดแปลงมาจาก ชื่อพระวิษณุซึ่งแต่เดิมเป็นชื่อเทพแห่งสวรรค์ในศาสนายุคพระเวท (เทพแห่งพระอาทิตย์ คำว่า “ไวษณพ” ปรากฏในคัมภีร์มหาภารตะว่า หมายถึงชื่อลัทธิที่เป็นที่รู้จักกันในนามต่างๆ เหล่านี้ คือ สูริ สุหฤต ภควตะ สัตตวตะ ปัญจกาลวิท เอกานติกะ ตันมายะ และปาญจราตริกะ แต่ที่นิยมใช้มากคือ ภควตา
คำว่า “ภควตา” นี้แต่เดิมเป็นชื่อลัทธิที่บูชาเทพวสุเทวะ-กฤษณะ ต่อมาเทพวสุเทวะ-กฤษณะ ได้กลายเป็นอวตารปางหนึ่งของพระวิษณุ คือ กฤษณวตาร ภควตาเป็นลัทธิของพวกสัตตวะ (ชาวท้องถิ่นในมถุรา) วสุเทวะ-กฤษณะ นี้แต่เดิมเป็นชื่อของกษัตริย์ผู้ปรีชาสามารถเป็นวีรบุรุษ ต่อมาเมื่อประชาชนนับถือมากก็กลายเป็นเทพเจ้า ลัทธิภควตา ซึ่งนับถือสุทวะ-กฤษณะ เป็นเทพสูงสุดได้รับความนิยมมาก ในต้นคริสตกาล และต่อมาก็ได้ผสมกลมกลืนเข้ากับบุคลิกลักษณะของเทพวิษณุและนารายณะ ของศาสนายุคพระเวท หลักฐานทางใบราณคดีที่เก่าแก่ที่สุดที่กล่าวถึงลัทธินี้ คือ จารึกอักษรพราหมี (อายุราว ๒๐๐ ปีก่อนคริสตกาล) บนเสาหินที่เมืองเบสนคร (ใกล้สาญจี ในมัธยมประเทศปัจจุบัน คือ เมืองภวิสะ (จารึกนี้บอกถึงการสร้างเทวสถานและรูปเคารพในลัทธินี้ ถัดจากนั้นก็มีหลักฐานทางเอกสารกล่าวถึงลัทธินี้มากมาย จารึกก่อนคริสตกาลหลายแห่งกล่าวถึงความเกี่ยวข้องกันระหว่างพระวสุเทวะ กับครุฑ วิษณุ กฤษณะ นารายณะ และก้อนหินศักดิ์สิทธิ์ แสดงถึงการขยายตัวของ ลัทธินี้จากลัทธิของชนกลุ่มเล็กๆ เป็นลัทธิใหญ่ ในราวพุทธศตวรรษที่ ๘ ลัทธิภควตา ได้แผ่ขยายลงไปทางใต้ ถึงอาณาจักรของพวกปาณฑยะ ซึ่งอยู่ตอนใต้สุด เกี่ยวกับอวตารของพระวิษณุนั้นมีมากมายบางคัมภีร์กล่าวว่ามี ๓๙ อวตาร และบางคัมภีร์ก็ว่ามี ๙ อวตาร เพราะอวตารที่ ๑๐ คือพุทธะนั้นเพิ่มเข้าภายหลัง ส่วนชื่อลัทธิว่า “ภควตา” ยังคงเป็นที่นิยมใช้กันจนถึงสมัยคุปตะ (พ.ศ. ๑๑๐๐-๑๓๐๐) แม้คำว่า “ไวษณวะ” จะเป็นที่รู้จักกันแล้วตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๑ แต่เพิ่งจะนิยมใช้ในพุทธศตวรรษที่ ๑๔ เมื่อลัทธิภควตา กลายเป็นไวษณพนิกายนั้นได้เน้นหนักไปในทางความสำคัญของอวตาร และที่นิยมที่สุด คือ ปางวราหะ นรสิงห์และ วามนะตรีวิกรม ส่วนพระนางลักษมี ชายาของพระวิษณุนั้นเริ่มรู้จักกันมากในสมัยคุปตะและหลังคุปตะ

พระศิวะ
ไศวนิกาย
ลัทธินี้มีความเก่าแก่กว่าไวษณพนิกาย กล่าวคือ มีร่องรอยที่ สามารถสืบสาวได้ว่าเก่าแก่ถึงยุคกึ่งก่อนประวัติศาสตร์ เพราะการขุดค้นอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ (๓,๐๐๐- ๑,๕๐๐ ปีก่อนคริสตกาล) ได้พบรูปเทพนั่งขัดสมาธิอยู่ท่ามกลางสัตว์ป่า (บนที่ประทับตรา) สันนิษฐานว่าเป็นต้นแบบของรูปพระศิวะ นอกจากนี้ยังพบลึงค์ทำด้วยหินและในยุค ประวัติศาสตร์ลึงค์นี้ได้มีความสัมพันธ์กับการบูชาพระศิวะ โดยกลายเป็นสัญลักษณ์ของพระศิวะ คือ ศิวลึงค์ เหรียญต่างๆ ที่ทำขึ้นเมื่อ ๒๕๐-๓๐๐ ปีก่อนคริสตกาลก็ปรากฏรูปพระศิวะและศิวลึงค์ มีวัดจำนวนมากสร้างไว้ประดิษฐานพระศิวะ และศิวลึงค์ ส่วนใหญ่ศิวลึงค์มักจะได้รับการประดิษฐานไว้ในวัดเป็นองค์ประธานของวัด ส่วนรูปปั้นของพระศิวะปางต่างๆ จะประดิษฐานอยู่ตามส่วนต่างๆ ของวัด กลายเป็นเครื่องประดับวัดไป ศิวลึงก์ที่เก่าแก่และสำคัญที่สุด คือศิวลึงค์ที่ประดิษฐานอยู่ในวัดในหมู่ บ้านคุฑิมัลลัมในมัทราส เป็นลึงค์ที่มีลักษณะเหมือนธรรมชาติมาก สูง ประมาณ ๕ ฟุต ยอดเป็นรูปพระศิวะ มี ๒ กร แบกแกะ และหม้อน้ำไว้ในพระกรข้างขวา ส่วนพระกรซ้ายถือขวาน ประทับยืนอยู่บนบ่าของคนแคระ สวมเครื่องประดับ มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๔ การสลักรูปพระศิวะกับคิวลึงค์ติดเป็นชิ้นเดียวกันนับเป็นที่นิยมมาก และมีการดัดแปลงไป ในแบบต่างๆ หลายแบบด้วยกัน แบบที่ปรากฏมาก คือ แบบที่เรียกว่า มุขลึงค์ คือ ศิวลึงค์ที่มียอดเป็นพระพักตร์ของพระศิวะ ที่พบมากมีพระพักตร์เดียว เรียกว่า เอกมุขลึงค์ (พักตร์เดียว) หรือมี ๔ พักตร์เรียกว่า จตรมุขลึงค์ (๔ พักตร์) (โดยสลักพระพักตร์รอบลึงค์ทั้ง ๔ ด้าน ด้านละ ๑ พักตร์)

พระแม่ธรณี

ศักติ
ลัทธิศักติเจริญขึ้นในยุคกลาง แต่เป็นลัทธิที่เก่าแก่ไม่แพ้ลัทธิไศวนิกายเพราะพัฒนามาจากการบูชาอิตถีพละ (Female energy) ในรูปของพระแม่ธรณี เป็นลัทธิที่เก่าแก่มากของชนชาวพื้นเมือง ก่อนหน้าที่อารยธรรมพระเวทจะปรากฏในอินเดีย การขุดค้นอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุก็ได้ พบหลักฐานทางโบราณคดียืนยันถึงกวามเก่าแก่ของลัทธินี้ เพราะพบ รูปสตรีดินเผาที่มีลักษณะเป็นพระแม่ (Mother Goddess) หรือแม่พระธรณี (Earth-Mother) ผู้มีอำนาจประสาทความอุดมสมบูรณ์แก่พืชพันธุ์ธัญญาหาร นอกจากพบรูปพระแม่จำนวนมากแล้วการขุดค้นดังกล่าวยังได้พบหินเจาะรูซึ่งมีลักษณะอวัยวะเพศหญิง (โยนี) การบูชาอิตถีพละ อัน เป็นลัทธิเก่าแก่ที่ปรากฏ ในกลุ่มชนที่มีอาชีพหลักในการกสิกรรมได้วิวัฒนาการมาเป็นลัทธิศักติและแพร่หลายในยุคกลาง แม้ในสมัยพระเวทลัทธินี้ก็ยังแพร่หลายโดยทั่วไปในชนพื้นเมือง เพราะได้พบหลักฐานของลัทธินี้กระจัดกระจายทั่วไป เช่น ในอุตตร ประเทศมถุรา ตักษิลา และภิตา เป็นต้น
พระแม่มีชื่อเรียกต่างๆ กัน เช่น เทวี ศักติ ทุรคา ปารวตี อุมา อัมพิกา อปรรณา กาลี และเคารี เป็นต้น ซึ่งเทพีทั้งหมดนี้ได้รับยกย่องให้เป็นชายาของพระศิวะทั้งสิ้น ชื่อต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นชื่อที่บูชาในชนเผ่าต่างๆ กัน เทพีเหล่านี้จึงกลายเป็นภาคหนึ่งของชายาของพระศิวะ อันเป็นเทพสูงสุด ของลัทธิไศวนิกาย ชื่อต่างๆ มีความหมายดังนี้
เทวี หมายถึง เทวีผู้ประเสริฐ
ศักติ หมายถึง พลัง คือ พลังก่อให้เกิดการสร้าง และพลังควบคุมและจัดระเบียบจักรวาล บางทีคำว่า ศักติ ใช้เรียกอวัยวะเพศหญิงที่บูชาโดยพวกที่นับถือลัทธิศักติ
ทุรคา และ ปารวตี แสดงถึงความสัมพันธ์กับภูเขาหิมาลัย ซึ่งตามความเชื่อของชาวอินเดียถือว่า พระแม่ของพวกตนถือกำเนิดมาจากภูเขาหิมาลัย และแสดงว่าชื่อทั้งสองนี้ เป็นชื่อของเทพีผู้ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของชนชาวเขา (เพราะชื่อศิวะมีชื่อหนึ่งที่ว่าศิริศะ ก็หมายถึงผู้อาศัยอยู่บนเขา)
อุมา และอัมพิกา มาจากภาษาดราวิเดียน โดยมาจากคำว่า อัมมา (แม่) แปลว่า แม่ ในความหมายของแม่แห่งจักรวาล
อปรรณา หมายถึง เทพีผู้เปลือยกาย ไม่สวมเสื้อผ้า อันเป็นลักษณะพิเศษของพระแม่ (เปลือยกาย)
กาลี เป็นเทพีที่มีผิวดำ น่าจะเป็นเทพีของพวกชนพื้นเมืองที่มีผิวสีดำ แต่ชื่อกาลีอาจจะมีความหมายว่า กาล (เวลา หรือ ความตาย) ซึ่งเป็นคุณลักษณะของพระศิวะ
เคารี เป็นเทพีที่มีผิวขาว เป็นเทพีของชนชาวมงโกลอยด์แห่งภูเขาหิมาลัย
จากหลักฐานที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า การบูชาพระแม่ เป็นลัทธิพื้นเมือง และถูกดูดกลืนเข้าผสมกับศาสนาฮินดูในยุคหลัง เมื่อลัทธิศักติเข้ามามีบทบาทในศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไวษณพนิกาย และไศวนิกายแล้ว ศาสนาพราหมณ์จึงมีแนวโน้มในการบูชาเทพี เทพีมีอำนาจมาก และเป็นพละกำลังของเทพ เทพจะสร้างโลกได้ก็ต่อเมื่อเทพีช่วย หากขาด เทพีอันเป็นส่วนพลังและอำนาจของเทพเสียแล้ว เทพจะไม่สามารถทำอะไรได้เลย อย่างไรก็ตามจุดมุ่งหมายสำคัญของลัทธิ ศักติก็คือการรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพรหมัน เช่นเดียวกับลัทธิอื่นๆ ในศาสนาพราหมณ์ วิธีการที่จะนำไปสู่จุดหมายปลายทางดังกล่าวคือ การทำสมาธิจิต หากทำ ไม่ได้ก็สวดมนต์สรรเสริญ หรือบูชาเทพอันเป็นตัวแทนของพรหมัน
ที่มาโดย:ปรีชา  นุ่นสุข ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้
วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช