ขอบเขตและอาคารพักอาศัยลานนา

ขอบเขตของลานนา และอาคารพักอาศัยลานนา
อาณาเขตของลานนา ได้แก่ พื้นที่อันเป็นที่อยู่อาศัยของคนไทยในภาคเหนือซึ่งเป็นคนไทยที่มีลักษณะทางอนุวัฒนธรรมแตกต่างไปจากคนไทยภาคอื่นๆ หากจำแนกตามพื้นที่ทางวัฒนธรรม (Culture Area) แล้วย่อมได้แก่ ประชาชนที่อยู่ในจังหวัดเชียงราย (พะเยา) เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน และประชาชนบางท้องที่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน จํงหวัดตาก สุโขทัย กำแพงเพชร และอุตรดิตถ์ มีศูนย์วัฒนธรรมอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ภาษาทางราชการเรียกว่าไทยเหนือ แต่ทางชาติพันธุ์วิทยาเรียกว่า ไทยยวน ซึ่งพวกไทยใหญ่ก็เรียกเช่นเดียวกัน คือ เรียกว่า ไทยยวนหรือไตโยนตามสำเนียงของชาวไทยใหญ่ที่เพี้ยนไป และเนื่องจากพวกไทยเหนือหรือไทยยวนนั้นแต่เดิมคงมีการไว้ทรงผมพิเศษกว่าคนไทยเผ่าอื่นๆ จนเผ่าใกล้เคียงโดยเฉพาะเผ่าไทยลื้อจึงได้ขนานนามว่า “ยวน หัวธาตุ” (ยวนศรีษะเจดีย์) ซึ่งปัจจุบันคนไทยยวนนั้นกลับเรียกตนเองว่าคนเมือง ซึ่งจะเรียกมาแต่ครั้งไหนนั้นไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดได้ค้นคว้าไว้แต่พวกไทยยวนเมืองเชียงแสนที่ถูกกวาดต้อนมาอยู่แถบตำบลเสาไห้ในจังหวัดสระบุรีสมัยตอนต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งสืบต่อเชื้อสายมาจนสมัยปัจจุบันยังคงเรียกตนเองว่าเป็น “ยวน” อยู่ เพราะผู้เขียนเคยพบปะพูดคุยกับภิกษุที่เป็นพวกไทยยวนที่อาศัยอยู่ที่จังหวัดสระบุรี เรียกตัวเองว่าเป็นพวก “ยวน” และสำเนียงที่พูดก็ยังคงใช้ภาษา สำเนียงของไทยเหนือ หากมองในแง่ของความต่อเนื่องทาง ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมแล้ว คำว่า “ลานนา” ได้แก่วัฒนธรรมของคนเมืองตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์อันเริ่มแต่สมัยที่คนเมือง (ไทยยวน) มีอาณาจักรของตนเองเป็นอิสระ เรียกว่า อาณาจักรลานนา ซึ่งพระเจ้าเม็งรายเป็นผู้ทรงสถาปนาขึ้นในราวๆ พุทธศตวรรษที่ ๑๘ จนกระทั่งรวมเป็นอาณาจักรของไทยในสมัยปัจจุบัน ซึ่งแบ่งเป็นจังหวัดต่างๆ ตามที่ได้กล่าวแล้ว
ฉะนั้นคำจำกัดความของ “อาคารพักอาศัยลานนา” ในหัวข้อของการศึกษานี้จึงได้แก่อาคารหรือเรือนของประชาชนที่อาศัยอยู่ในท้องที่ต่างๆ ที่ได้กล่าวถึง เป็นอาคารพักอาศัยประเภทสถาปัตยกรรมพื้นบ้านที่แสดงให้เห๊นถึงความต่อเนื่องของรูปแบบทางกายภาพจากรูปแบบดั้งเดิม ในที่นี้จะขอจำกัดว่าในช่วงก่อนได้รับอิทธิพลและแนวความคิดสมัยใหม่
ข้อสังเกตุบางประการเกี่ยวกับรูปแบบของการตั้งถิ่นฐานลานนา และคติความเชื่อบางประการตามแนวของพงศาวดาร และตำนาน
ลักษณะภูมิศาสตร์กายภาพของบริเวณอันเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของพวกไทยยวนที่เป็นเจ้าของของวัฒนธรรมลานนานั้น มีลักษณะเป็นหุบเขา หรือแอ่งระหว่างเขา (intermontane Basins) เป็นที่ราบสูงชัน พื้นที่มีความลาดชันมากและไม่เสมอกัน ประกอบด้วยแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ไหลมารวมกันจนเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณลุ่มน้ำตอนต้นๆ นี้ถึงแม้จะมีเนื้อที่เล็กๆ ไม่กว้างขวาง ลักษณะเป็นที่ราบระหว่างหุบเขาแต่ประกอบด้วยดินที่อุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยปุ๋ยอินทรีย์ที่น้ำพัดพามาจากบริเวณที่สูงโดยรอบ จึงเป็นแหล่งที่มีคนมาตั้งบ้านเรือนทำการเพาะปลูกพืชผลต่างๆ และก่อตัวเป็นชุมชนระดับเมืองมาก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๘ แล้วต่อมาสถาปนาเป็นอาณาจักรเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๘ โดยไทยยวนและในช่วงกลางของพุทธศตวรรษที่ ๑๙ นั้น พระเจ้าเม็งรายแห่งเชียงแสนได้เข้าครอบครองที่ราบลุ่มเชียงราย เมืองฝาง และเมืองอีกหลายเมืองในที่ราบระหว่างหุบเขาของสายน้ำที่ไหลลงน้ำโขง ซึ่งต่อมาได้เข้าครอบครองที่ราบลุ่มลำปิง ซึ่งเป็นต้น้ำสาขาตอนเหนือของแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจัยสำคัญของการก่อตัวเป็นบ้านเมือง จนกระทั่งเป็นอาณาจักรขึ้นได้ก็เนื่องจากผลของการปฏิวัติหรือการพัฒนาการเกษตรจากการปลูกข้าวแบบเลื่อนลอยหรือข้าว
ไร่มาสู่การเพาะปลูกข้าวแบบ Wet Rice Cultivation คือ การทำนาข้าวซึ่งต้องอาศัยน้ำท่วมเพื่อหล่อเลี้ยง เพราะการปลูกข้าวแบบนี้อาจจะได้ ผลเก็บเกี่ยวปีละครั้งหรือสองครั้งสลับด้วยการปลูกในฤดูแล้งโดยอาศัยพื้นดินที่ได้เลือกในบริเวณลุ่มแม่น้ำสำคัญๆ ต่างๆ ซึ่งได้แก่บริเวณต่างๆ ที่ได้ปุ๋ยธรรมชาติจากแม่น้ำเป็นประจำทุกปี ฉะนั้นดินแดนราบลุ่มจึงเป็นที่ที่เหมาะสมในการตั้งหลักแหล่งของชุมชนเกษตรกรรม ซึ่งสามารถเพิ่มจำนวนพลเมืองโดยอาศัยการปรับปรุงคุณภาพของดินต่อเนื่องกันไป นอกจากนั้นความจำเป็นต้องทำการระบายน้ำและการชลประทานซึ่งเป็นงานที่มีลักษณะต้องทำร่วมกัน เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันได้เป็นเครื่องช่วยให้พลเมืองกลุ่มต่างๆ สามารถก่อตัวรวมกันเข้า โดยมีอำนาจเป็นแกนกลางอันเป็นลักษณะเบื้องแรกที่ทำให้เกิดมีรัฐ (เมือง) ที่มีระเบียบขึ้นนั่นเอง กระบวนการดังกล่าวถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงจากระดับ สังคมและวัฒนธรรมไปสู่อีกระดับหนึ่งอันเป็นวัฒนธรรมที่เด่นชัดและสำคัญของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมแบบที่ราบลุ่ม  อีกทั้งเป็นลักษณะของการก่อเกิดลักษณะรูปแบบของตั้งถิ่นฐานแบบเมืองในระยะแรกเริ่ม อันเป็นผลจากเงื่อนไขทางสภาพแวดล้อมและการพัฒนาการทางเทคนิควิทยา ก็การก่อตัวเป็นชุมชนระดับเมืองของลานนาไทยขึ้นมาได้นั้นแสดงให้เห็นว่าคนไทยยวนได้พัฒนาการ เพาะปลูกข้าวในระบบนี้มาก่อนพระเจ้าเม็งรายแล้ว และอันลักษณะเมืองของชาวไทยในที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ระหว่างหุบเขาทางภูมิภาคของยุนนานตอนใต้ ลาว และเวียดนามในแดนพม่านั้น จากรายงานการค้นคว้าของ Tamusugi และ Tanabe นั้น กล่าวว่าลักษณะของเมืองเหล่านี้มักเป็นบริเวณที่พำนักอาศัยของเจ้านายที่เป็นเจ้าของที่ดินและหัวหน้า (ผู้บริหาร) หรืออาณาเขตการบริหาร ประกอบด้วยเมืองเล็กๆ เป็นบริวารและมีหมู่บ้านที่ชาวนาเช่าที่นาของเจ้านายทำ การเพาะปลูกข้าวในนาที่รายล้อมหมู่บ้านต่างๆ เหล่านั้น ที่นาทั้งหมด
เป็นของเจ้าเมือง  ซึ่งลักษณะของเมืองของลานนาไทยเดิมก็มีลักษณะเช่นว่านี้เช่นกัน โดยแบ่งเขตการปกครองออกเป็นพันนา และเรียกอาณาจักรของตนว่า “ล้านนา” มาแต่เดิมมาเพี้ยนเป็น “ลานนา” ในระยะหลังเพราะปรากฏในจารึกของพระไชยเชษฐา พ.ศ. ๒๐๙๖ ได้ใช้ คำว่าล้านนา หาใช่ลานนาไม่ (ในจารึกอ้างว่าพระองค์ได้เป็นกษัตริย์แห่งล้านนา และล้านช้างอยู่ ดังมีข้อความว่า “สมเด็จบรมบพิตรตนสถิตเสวยราชพิภพทั้งสองแผ่นดินล้านช้างล้านนา” จารึกหลักนี้สันนิษฐานว่าเดิมอยู่แถวเชียงรายเชียงแสน) ตำแหน่งของเมืองในอาณาจักรล้านนานั้นจะตั้งอยู่ในระหว่างกลางของที่ดินที่อุดมสมบูรณ์ทางเกษตรกรรมซึ่งตามทฤษฎีของการตั้งถิ่นฐานของเมืองเรียกตำแหน่งที่ตั้งของเมืองแบบนี้ว่า “central Situation” ซึ่งการก่อตัวและการเจริญเติบโตของเมืองจะเกิดขึ้นในบริเวณศูนย์กลางของที่ดินเกษตรกรรม เป็นหลักตัวเมืองมีคูเมืองและกำแพงล้อมรอบอย่างแข็งแรง ประกอบด้วยประสาทราชวังอันเป็นที่ประทับของเจ้าผู้ครอง นครดังตัวอย่างจากโคลงในเรื่องท้าวฮุ่งท้าวเจืองได้พรรณนาเมืองของขุนเจื่องผู้เป็นบรรพบุรุษของพระเจ้าเม็งรายว่า
คูจอดล้อมเป็นเขื่อน    ขนงเมือง
โงงๆ เสียงผ่านพิน    พานส้าง
โฮงฮาชถ้องสาวถ่าว    ถนอมพู
บุรีเท้าเมืองเม็ง        มนุสสโลก
หอช่อฟ้าเฮืองลิ้ว        เฮื่อคำ
เฮืองเฮื่อช้างงาซ้อง    หยู่โฮง
เนื่องจากบริเวณที่ราบลุ่มระหว่างหุบเขามีขนาดจำกัดเมื่อที่ดิน ทำกินไม่พอกับประชากรที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจำต้องขยายอาณา¬เขตเมืองออกไป บางครั้งต้องโยกย้ายไปตั้งยังหุบหรือแอ่งเขาอีกแห่งหนึ่งโดยเจ้าผู้ครองนครจะมอบหมายให้บุตรหลานเกณฑ์ไพร่พลออกไปจัดตั้งชุมชนใหม่ขึ้นดังตัวอย่างจาก ตำนานสิงหนวัติกุมารก็ได้กล่าวถึงการตั้งชุมชนขึ้นใหม่ในลักษณะนี้
การเลือกทำเลและตำแหน่งจะตั้งเมืองนั้น ชนชาวโยนก หรือไทยยวนโบราณย่อมมีวิชาที่จะสังเกตลักษณะบริเวณที่เป็นชัยภูมิอันเป็นคติความเชื่ออำนาจเหนือธรรมชาติ และการถือโชคลาง คตินี้เป็นคติที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมานานแล้ว แม้กระทั่งอินเดียโบราณการจะเลือกตำแหน่งที่ตั้งของเมืองก็จำต้องอาศัยผู้ชำนาญในการดูทำเลที่จะตั้งเพื่อให้เกิดศิริมงคล และความอยู่เย็นเป็นสุขของชุมชนและเชื่อว่าสามารถป้องกันการรุกราน จากข้าศึกศัตรูที่จะมารุกรานได้ ซึ่งตาม คัมภีร์ อรรถกถาปัญจปสูทนี เรียกบุคคลที่ชำนาญการเลือกทำเลที่
ตั้งเมืองว่า “วัตถุวิชาจารย์” คือ อาจารย์ผู้สอนวิชาว่าด้วยพื้นที่ วัตถุวิชาจารย์นั้นไปดูพื้นที่ที่จะสร้างเมือง พิจารณาให้ละเอียดแล้ว ก็ชี้ตำแหน่ง ของที่ตั้งของเมืองแก่พวกราชตระกูล  และการเลือกบริเวณสร้างเมืองเชียงใหม่ครั้งพระเจ้าเม็งรายนั้น การจะย้ายเมืองจากเวียงกุมกามมาสร้างใหม่นั้นก็ถือนิมิตในการเลือกชัยภูมิโดยที่พระองค์ทรงช้าง มงคลแวดล้อมด้ยบริวารประพาสยังเชิงดอยสุเทพ และให้พรานป่าทั้งหลายไปไล่เนื้อแถบเชิงเขาจนกระทั่งพระองค์ไปพบ “ลอมคา,’ ที่หนึ่งที่พระองค์เห็นว่าเป็นอัศจรรย์เพราะสุนัขไล่เนื้อของนายพรานได้ไล่ฟาน (อีเก้ง) ๒ ตัว แม่ลูก เมื่อฟานทั้ง ๒ หลบเข้าสู่บริเวณลอมคานั้นแล้ว สุนัขไล่เนื้อไม่สามารถบุกเข้าไปได้ มิหนำซ้ำฟาน ๒ แม่ลูกก็เกิดความ กล้าวิ่งออกมาต่อสู้กับหมาล่าเนื้ออีกด้วย พระเจ้าเม็งรายเห็นดังนั้นถึงกับรำพึงว่า “กูมาแอ่วหาที่อันจักตั้งเวียงก็หลายแห่งแล้ว บ่พบสักแห่งจึงมาพบที่นี้เป็นชัยภูมิควรสร้างเวียงกวมที่นี้ หื้อเป็นชัยนครควรแลในลอมคานี้ กูจัดตั้งคุ้มวังมณเฑียรหอนอนได้อยู่หื้อทรงหื้อเป็นสุขสวัสดีแลว่าอั้น”  ลักษณะของชัยภูมิที่พระเจ้าเม็งรายทรงเลือกนั้นนอกจากพระเจ้าเม็งรายเห็นนิมิตอันกล้าหาญของฟาน ๒ แม่ลูกแล้ว ลักษณะลอมคานั่นเองมีลักษณะพิเศษ ที่ถือเอาเป็นนิมิตหมายของที่ มั่นคงได้กล่าวคือ “ภายนอกแห่งลอมคา เป็นอันหมดใส เป็นทุ่งราบเพียงยิ่งนัก พระยาเหลือบไปก็ซ้ำหันลอมคาอันน้อยหนึ่งอยู่ภายในที่นั้นเล่า ถัดลอมคาน้อยนั้นออกมาเป็นคุ้มหนามใหญ่น้อยเป็นถ้อยเป็นชั้นแน่นหนายิ่งนัก ในท่ามกลางลอมคานั้น เป็นช่วงราบเพียง ประกอบด้วยหยุงมวย คำม่าน (ภาษาพม่า) คำไทยว่า หญ้ามุงกระต่าย เกี้ยว แวดล้อมกกกล้าทุกฝ่ายดังนี้ ดังนั้นพระเจ้าเม็งรายได้ทรงนำลักษณะที่พระองค์ได้เห็นมานั้นไปปรึกษากับผู้ชำนาญในการดูทำเล ของชัยภูมิ ซึ่งตำนานเรียกว่า “แสนเฒ่าเค้าเมือง” ซึ่งคงจะคล้ายกับตำแหน่ง “วัตถุวิชาจารย์” ของอินเดียโบราณนั่นเองซึ่งในตำนานกล่าวว่ามีหลายคนอาจจะเป็นพวกขุนนางที่ดี อันเรียกว่า “ขุนธรรม” ผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติต่างๆ หลายประการ เช่น มีความรู้ดีทางคดีโลก คดีธรรมและประเพณีต่างๆ ด้วย นอกจากการเลือกชัยภูมิแล้วคติเรื่องโหราศาสตร์ก็มีส่วนเข้ามามีบทบาทเพื่อใช้เป็นฤกษ์ในการสร้างเมือง ดังเช่น การโยกย้ายเข้าไปตั้ง ณ ที่ ชัยภูมินั้นพระเจ้าเม็งรายเลือกเอาวัน “พฤหัสบดีเดือน ๗ (เหนือ) (ตรงกับเดือนห้าของภาคกลาง) ขึ้น ๘ ค่ำ ดิถี ๘ ตัว (นาที) อินทาดิถี ๓๐ ตัว พระจันทร์เสวยนักขัตฤกษ์กัด (กรกฏ) ตัวถ้วน ๗ ชื่อบุณณรวสุอุตตรภัททอาโปราษียาม แถรรุ่ง ๓ ลูกอินทาปลาย ๒ บาตรนํ้าไว้ลัดนาในมีนอาโปราษี ยามศักราชขึ้นวันพญาวันศักราชขึ้นแถมตัวหนึ่งเป็น ๖๕๔ ปีเต่าสีแล
คติการเลือกชัยภูมิโดยศึกษาจากสภาพทางกายภาพที่มีลักษณะพิเศษ และช่วงเวลาของการโยกย้ายเข้าอยู่อาศัยโดยถือเอาฤกษ์ทางโหราศาสตร์นั้น หากพิจารณาดูจากตำนานแล้วมิใช่ว่าเพิ่งมีแต่สมัยพระเจ้าเม็งรายเท่านั้น การเลือกตั้งเมืองโดยเลือกดูทำเลที่ต้องด้วยลักษณะของชัยภูมินั้นได้ดำเนินมาก่อนหน้านั้นแล้ว แม้สมัยขุนจอมธรรมเชื้อสายลาว จังกราชอันเป็นต้นตระกูลของพระเจ้าเม็งราย ครั้งเมื่อลาวเงินผู้บิดาแบ่งราชสมบัติให้ขุนจอมธรรม โยกย้ายไปสร้างเมืองใหม่โดยพาพลโยธาพาหนะออกจากเมืองนครเงินยาง เข้าสู่แคว้นภูกามยาวนั้น พ่อขุนจอมธรรมก็ทรงเลือกสถานที่ๆ มีลักษณะเป็นชัยภูมิโดยให้อำมาตย์ราชครูโหราเข้าไปตรวจดูภูมิสถานเมืองภูกามยาว (พะเยา) ว่าถูกต้องตามศุภนิมิตชัยมงคลสถานควรจะตั้งเมืองหรือไม่เช่นกัน จึงนับว่าเป็นคติเก่าแก่โบราณของลานนาที่วิวัฒนาการมาจากความคิด จากอินเดีย ผสมผสานกับคติดั้งเดิมก่อเป็นความรู้เฉพาะตัวขึ้น
นอกจากลักษณะลอมคาอันถือเป็นชัยภูมิและใช้เป็นเกณฑ์ตัดสินใจในการสร้างนครเชียงใหม่ของพระเจ้าเม็งรายแล้ว พระเจ้าเม็งรายยังเชิญพระร่วงและพระยางำเมือง อันเป็นพระสหายมาช่วยปรึกษา ปรากฏว่าขณะที่ไปสู่บริเวณชัยภูมินั้นมีหนูเผือกตัวเท่าดุมเกวียนมีบริวาร ๔ ตัวแล่นตามกันออกมาจากชัยภูมิไปหนบูรพาแล้วไปหนอาคเนย์ ไปลงรูแห่งหนึ่งภายใต้ต้นไม้ “พกเรือก” คือ ไม้นิโครธ หรือไทร พระยาทั้งสามจึงเอาเครื่องสักการะข้าวตอกดอกไม้ ธูปเทียน ไปบูชาไม้นิโครธต้นนั้น ถือว่าเป็นไม้ ‘‘ศรีหลวงเจนเมือง” (ไม้เสื้อเมือง หรือ ไม้ศรีเมือง) และได้ถือเอาบริเวณดังกล่าว เป็นศูนย์กลางเมือง (สะดือเมือง) และเป็นเสื้อเมืองด้วย คติถือสะดือเมืองเป็นศูนย์กลางเมืองนี้มีมาเดิมก่อนพระเจ้าเม็งรายแล้วเพราะเดิมบริเวณที่ราบลุ่มน้ำปิงบริเวณเมืองเชียงใหม่ จากตำนานกล่าวว่าเคยเป็นเมืองนพบุรีของพวกลัวะมาก่อน จากตำนานสุวรรณคำแดงกล่าวว่า พวกลัวะได้สร้างเสาหลักเมืองตรงบริเวณสะดือเมือง เพื่อเป็นศูนย์กลางหลักชัยของบ้านเมืองเรียกว่า “เสาอินทขีล” (เพราะเป็นเสาที่พระอินทร์ประทาน) เสานี้เป็นเสาที่มีอานุภาพมากเพราะจากตำนาน อินทขีลกล่าวว่า เนื่องจากมีเสาอินทขีลนี่เอง ข้าศึกที่ยกทัพมาชิงเมืองไม่สามารถช่วงชิงเอาเมืองได้โดยอิทธิฤทธิของเสาหลักเมืองได้บันดาลให้ข้าศึกกลับกลายเป็นพ่อค้าไปทั้งสิ้น และเสาหลักเมืองก็สามารถบันดาลให้พวกที่มาสักการะและ อธิษฐานขอเอาแก้วแหวนเงินทองก็ได้ตามปรารถนาตามที่ได้อธิษฐานขอไว้จากเสาหลักเมือง อันเป็นนิยายปรัมปรา (Myth) เล่าสืบต่อๆ กันมาและชนลานนารุ่นหลังได้ยึดเอาไปปฏิบัติ คือ เมื่อสร้างเมืองต้องปักเสาหลักเมืองเสมอ แต่จากตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวถึงสมัยที่ พระเจ้าเม็งรายสร้างเมืองนั้นไมได้กล่าวถึงว่าพระองค์ได้ทรงสร้างเสาหลัก-เมืองแต่ประการใด คงจะใช้ไม้ศรีเมืองนั้นเองเป็นหลักของเมือง แต่ในพงศาวดารโยนกกล่าวว่าพระเจ้าเม็งรายและพระสหาย คือ พระร่วงและพระยางำเมืองตั้งพิธีกลปบาท “ฝังนิมิตหลักเมืองในเวลาพิชัยฤกษ์ พร้อมกันกับขุดคูเมือง และสร้างนิเวศน์ ตลอดจนตั้งภาค (ตลาด) เสาหลักเมืองคงอยู่ตรงบริเวณเดียวกันกับต้นไม้ศรีเมือง และไม้ศรีเมืองนี้ถูกโค่นตัดลงโดยพระพุกามมังลุงหลวงภิกษุชาวพม่าเพราะถือเป็น “นิโครธนามเมือง” เพื่อทำลายกำลังเมืองในสมัย พระเจ้าติโลกราช และตามพงศาวดารโยนกที่พระเจ้าเม็งราย ทรงวางนิมิตหลักเมืองขึ้นก็คงอาศัยนิยายปรัมปราของชาวลัวะนั้นเองเป็นมูลเหตุของการสร้างเสาหลักเมือง ซึ่งคตินี้ยังสืบต่อถ่ายทอดมาสู่ชาวไทยยวน ก่อนหน้าสมัยพระเจ้าเม็งรายแล้ว โดยอาศัยจากพงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสนกล่าวถึงลาวเคียงผู้สืบเชื้อสายมาจากลาวจังกราชมารำพึงว่า บ้านใด เมืองใดไม่มีรั้วบ้านกำแพงเมืองแน่นหนานั้นหาเป็นราชธานีใหญ่ไม่ ดังนั้นเจ้าลาวเคียงจึงลงมือสร้างเมืองโดยเกณฑ์ราษฎรทั้งหลายมาปรับที่ให้ราบเสมอกันแล้วนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาสวดเพื่อสวัสดิมงคลในบริเวณที่จะสร้างวัง ส่วนที่ใจกลางเมือง (สะดือเมือง) ให้ขุดหลุมฝังเสาอินทขีล คำว่า อินทขีลนี้มีมูลเหตุมาจากตำนานของพวกลัวะดังได้ กล่าวแล้ว การนิยมสร้างหลักเมืองนี้กล่าวกันว่าเป็นที่นิยมสร้างกันใน หมู่คนไทยหลายเผ่าเช่นไทยขาว ไทยดำที่อาศัยอยู่ในบริเวณเวียดนามในปัจจุบันตลอดจนพวกไทยลื้อและลาวในยูนนานเช่นกัน ในหมู่พวกไทยดำและไทยขาวนั้นได้มีการปกครองกันแบบชุมชนเมืองมีหัวหน้าปกครองเป็น “ท้าว” ระบบการปกครองของพวกไทยดำและไทยขาวเหล่านี้ การปกครองมักเกี่ยวพันกับคติความเชื่อทางศาสนาเพราะนอกจากเจ้าผู้ปกครองแคว้นแล้วยังมี “ผีเมือง” ซึ่งมีลำดับความสำคัญลดหลั่นกันมาตามลำดับ ด้วยขนาดและอำนาจของเมืองแต่ละเมืองซึ่งแต่ละเมืองจะมี “ผีเมือง” ที่มีอำนาจสูงสุดคอยควบคุมดูแลเมืองใหญ่น้อยทั้งหมด และสิงสถิตอยู่กับต้นไม้ใหญ่ ตรงบริเวณทางเข้าบริเวณคุ้มของหัวหน้าหรือเจ้าเมือง คตินี้ตรงกันกับคติความเชื่อสมัยพระเจ้าเม็งราย ที่ยึดเอาไม้ศรีเมืองเป็นแกนของเมืองนั่นเอง นอกจากนี้พวกไทยดำยังเชื่อว่ามีผีหรือเทวดาประจำเจ้าผู้ครองแต่ละเมือง ซึ่งมีหน้าที่คอยปกป้องคุ้มครองเจ้านายและวงศ์สกุล ตลอดถึงประชาชนแต่ละเมือง ผีหรือเทวดาประจำเมืองนั้นจะสิงสถิตอยู่ที่เสาไม้ หรือเสาหลักเมืองเรียกว่า “หลักเสื้อ” หลักเสื้อหรือหลักเมืองจะเลือกปักในบริเวณที่เห็นว่าเป็นบริเวณที่มั่นคง และปลอดภัย
ส่วนเทวดา หรือผีที่คอยคุ้มครองประจำอาณาจักรลานนานั้น ที่ถือว่ามีศักดิ์สูงสุดนั้นมีอยู่องค์หนึ่งโดยเฉพาะ แต่มิได้สถิตอยู่ที่ต้นไม้ใหญ่แบบผีเมืองของพวกไทยดำ และเป็นผีที่มีศักดิ์สูงกว่าผีที่สิงสถิตที่ “ไม้ศรีหลวงเจนเมือง” กลางเมืองเชียงใหม่ ได้แก่ “อารักษ์เจ้าหลวงคำแดง” สถิตอยู่ดอยเชียงดาว มีลักษณะเป็นผีวีระบุรุษที่คอยปกปักรักษา อาณาจักรลานนา โดยเฉพาะเมืองเชียงใหม่อันเป็นราชธานีของลานนา แม้พระเจ้าเม็งรายเองครั้นเมื่อสวรรคตลง ชาวลานนาก็ถือว่าพระองค์ได้ทรงมาเป็นผีอารักษ์คอยคุ้มครองบ้านเมืองเพิ่มขึ้นอีกองค์หนึ่ง ได้มีการสร้างศาลให้เป็นที่สิงสถิต ศาลนี้สันนิษฐานว่าคงอยู่แถบกลางเมืองเชียงใหม่นั่นเองเพราะในนิราศหริภุญไชย อันเป็นนิราศเก่าแก่ฉบับหนึ่ง เขียนขึ้นในสมัยที่พระแก้วมรกตยังประดิษฐานอยู่ที่เชียงใหม่ ได้กล่าวพรรณนาถึงศาลแห่งนี้ว่า
“เห็นหอ (ศาล) มังรายเจ้า     สูงศักดิ์
ยังบ่ลืมอารักษ์            ราชไหว้
อัญเชิญช่วยพิทักษ์        เทียมที่คนึงรา”
ส่วนคตินับถือเสาหลักเมืองนั้นปรากฏว่า ชุมชนระดับเมืองลานนาแทบทุกเมืองก็นิยมสร้างเสาหลักเมืองไว้ประจำเมืองแม้สมัยต้นรัชกาลที่ ๕ ในการตั้งเมืองเชียงรายขึ้นใหม่นั้น ก็มีการวางเสาหลักเมืองอีกดังบันทึกไว้ว่า “สักราช ๑๒๓๖ ตัว (พ.ศ.๒๔๑๗) ปีกาบเสศเทิน (เดือน) 6 ออก (ขึ้น) ๑๒ ค่ำ ในพายนอกพอมกันฝังสทีเมิง (ฝังหลักเมือง) ดังนี้ ความเชื่อเกี่ยวกับหลักเมืองของชาวไทยยวนนั้นเชื่อกันไปว่า เป็นเสาที่เคารพสักการะและนับถือเพราะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่รวมของวิญญาณของชาวเมืองและบรรพบุรุษในอดีต ทั้งยังเป็นนที่สิงสถิตของเทพยดาอารักษ์ผี (เสื้อ) บ้านและ (เสื้อ) เมือง หรือเรียกอย่างภาษาพื้นเมืองว่า ‘‘เจนบ้านเจนเมือง” ซึ่งเป็นคติความเชื่อเช่นเดียวกับ “หลักเสื้อ” ของไทยดำนั่นเอง อันเป็นคติความเชื่อที่ได้วิวัฒนาการมาจากการนับถือภูตผีปีศาจในยุคดึกดำบรรพ์ของกลุ่มชนชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้ยึดเอาทะเลสาบ แม่น้ำ ภูเขา ต้นไม้ที่ขึ้นโดดเดี่ยวและป่าทึบบางส่วนว่าเป็นที่สิงสถิตของภูตผีที่คอยปกปักคุ้มครองมนุษย์ที่ได้เซ่นสรวงบูชาภูตผีเหล่านั้น (และยังคงยึดถือต่อมาจนปัจจุบัน) ก่อนที่จะได้รับอิทธิพลของพระพุทธศาสนา จัดเป็นลัทธิที่ได้วิวัฒนาการมาจากลัทธิ Animism ซึ่งเป็นสิทธิหรือความเชื่อที่เป็นมูลเหตุอย่างหนึ่ง ให้เกิดศาสนาของสังคมมนุษย์แต่โบราณ
สรุปคติความเชื่อเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานของไทยยวน จากตำนานและการสืบต่อคติความเชื่อนั้นมาถึงปัจจุบัน
จากข้อสังเกตการตั้งถิ่นฐานของชุมชนระดับเมืองของลานนาจากพงศาวดารและตำนาน ตั้งแต่สมัยพระเจ้าเม็งรายมานั้นจะพบว่า คติความเชื่อในเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาตินั้น พอสรุปได้ว่า
ก) ชาวไทยยวนมีความเชื่อเรื่องตำแหน่งที่ตั้งของเมืองจากการสังเกตลักษณะทางภูมิประเทศที่มีลักษณะพิเศษว่ามีอำนาจหรือพลังพิเศษที่จะอำนวยความสวัสดีแก่ผู้อยู่อาศัย และสามารถป้องกันภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นให้สงบหรือมลายหายไป
ข) การตั้งเสาหลักเมือง อันถือว่าเป็นหลักแกนของศูนย์กลางเมืองโดยมีพิธีกรรมที่จะทำให้เสาหลักเมืองนั้นศักดิ์สิทธิ์สามารถให้ความสุขความสบายแก่ชาวเมืองเพราะมีผีอารักษ์สิงสถิตอยู่คอยคุ้มครองรักษา
ค) ความเชื่อเกี่ยวกับอำนาจของภูตผีที่มีฐานะเป็นเสื้อเมืองคุ้ม ครองชาวเมืองและภายหลัง เมื่อรับคติความเชื่อจากอินเดียก็จะกลายเป็นเทวดาประจำเมือง
ง) การเชื่อโหราศาสตร์ เชื่อฤกษ์ยาม ซึ่งเป็นศาสตร์ที่รับมาจากอินเดีย
คติดังกล่าวนี้มีอิทธิพลต่อชาวบ้านอย่างมากและยังถือเป็นข้อ ปฏิบัติ โดยเฉพาะในการเลือกทำเลที่จะตั้งหมู่บ้านและบริเวณสร้างเรือนต่อเนื่องกันมาจนถึงสมัยปัจจุบันโดยเฉพาะชุมชนในภาคเหนือตามท้องที่ที่อิทธิพลและวัฒนธรรมแผนใหม่ยังแพร่ระบาดไปไม่ถึง คติความเชื่อต่างๆ ของโบราณ ตกทอดมาสู่ชนรุ่นหลังโดยการสืบต่อของผู้รู้ซึ่งมักจะเป็นพระ หรือผู้ที่บวชเรียนแล้ว และทำหน้าที่เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมให้แกชุมชนโดยบันทึกหลักการ พิธีกรรมต่างๆ เอาไว้รวมเป็นตำราไว้ในสมุดข่อยโดยเฉพาะ บางตำราได้กล่าวถึงการเลือกทำเลที่ตั้งที่จะสร้างเมืองซึ่งชาวบ้านจะใช้เป็นข้อสังเกต ในการจะเลือกที่ๆ สร้างบ้าน หรือทำเลที่จะตั้งหมู่บ้าน
ที่มาโดย:วิวัฒน์  เตมียพันธ์