คำโคลง ร่าย และลิลิต

ข้อบังคับคำโคลงทั่วไป  คำโคลงและร่ายนี้เป็นคำกานท์ดั้งเดิมของไทยเรา กล่าวคือ คำร่ายเป็นคำกานท์ที่ใช้กันแพร่หลายในสมัยโบราณ มีสัมผัสต้นวรรคปลายวรรคคล้องกันเรื่อยไป เช่น คำกาพย์พระมุนีของไทยเหนือ หรือแม้พระนามาภิไธยพระเจ้าแผ่นดิน นามขุนนางผู้ใหญ่ เป็นต้น ก็ใช้กัน ผิดกันที่มีวิธีแต่งยากกว่ากัน แต่ในสมัยต่อมา ท่านเอาร่ายกับโคลงมาแต่งเป็นเรื่องรวมกัน ซึ่งเรียกว่าลิลิต ดังจะกล่าวข้างหน้า

สมัยนี้คำโคลงเป็นของแต่งกันแพร่หลายมาก รองจากกลอนลงมา จึงขอยกคำโคลงขึ้นอธิบายก่อน ดังนี้

๑. คณะ  คณะของโคลงนั้นหาได้เป็นอย่างเดียวกันทั่วไปเหมือนคำกลอนไม่ กล่าวคือ จัดตามประเภทของโคลง ซึ่งมีประเภทใหญ่ ๒ ประเภท คือ โคลงสุภาพ และโคลงดั้น และทั้ง ๒ ประเภทนี้ยังมีประเภทย่อยลงไปอีก เช่น โคลง ๔, โคลง ๓ และโคลง ๒ เป็นต้น ดังนั้นข้อบังคับคณะจึงจำเป็นต้องกล่าวพร้อมกันไป ในข้ออธิบายโคลงประเภทนั้นๆ

๒. สัมผัส  สัมผัสนอกของโคลง  คือสัมผัสสระที่บังคับให้มีเฉพาะโคลงประเภทหนึ่งๆ จึงจำเป็นต้องนำไปกล่าวพร้อมกับประเภทของโคลงนั้นๆ ส่วนสัมผัสในนั้น ถึงแม้จะไม่เป็นข้อบังคับตายตัวก็จริง แต่ท่านก็นิยมใช้กันเป็นพื้น   ดังนั้นในที่นี้จะนำหลักที่ท่านใช้กันเป็นพื้นมากล่าวไว้พอเป็นที่สังเกตโดยทั่วๆ ไป ดังต่อไปนี้

สัมผัสในของโคลงนั้นท่านนิยมใช้อยู่ ๒ แห่ง คือ

ก. แห่งต้นคือ  ในวรรคที่มีคำ ๕ คำ ซึ่งโดยมากเป็นวรรคต้นๆ เพราะวรรคท้ายมักเป็น ๒ คำ หรือ ๔ คำทั้งนั้น  และใช้ได้ทั้งสัมผัสสระและสัมผัสอักษร และท่านนิยมสัมผัสอักษรมากกว่าสัมผัสสระ และนับว่าสัมผัสชิดกันสละสลวยดีกว่าสัมผัสคั่นกันทั้งสระและอักษร  ยิ่งได้สัมผัสชิดเคล้ากันทั้งสระและอักษรด้วยก็ยิ่งดี ดังตัวอย่าง
silapa-0378 - Copy
ทั้งนี้เสกสรรขึ้นให้เห็นเฉพาะอย่าง  ตามปกติท่านมักประพันธ์เพียงให้ได้สัมผัสกันไม่เลือกชนิด ถือเอาการใช้ถ้อยคำเหมาะเจาะเป็นเกณฑ์

ข. แห่งที่สองนั้น  คือคำสุดวรรคต้น กับคำต้นวรรคท้าย ท่านมักนิยมให้ได้สัมผัสอักษรกัน นอกจากจำเป็นคือ คำหลายพยางค์ต้องสุดวรรคลงกลางคำที่เรียกว่ายัติภังค์ หรือมิฉะนั้นก็เนื้อความบังคับให้จำเป็นต้องใช้คำอื่นจึงจะได้ความดี  นอกจาก ๒ ข้อนี้บังคับแล้ว ท่านมักใช้สัมผัสอักษรเชื่อมกันเป็นพื้น ถ้าหาสัมผัสอักษรไม่ได้ ก็ใช้สัมผัสสระแทนได้บ้างแต่ไม่ได้ทั่วไป เพราะถ้าไปพ้องกับสัมผัสนอกเข้าก็จะทำให้สัมผัสนอกเลือนเสียความไพเราะไป  ดังจะนำโคลงพระลอมาเป็นตัวอย่าง ทั้งข้อ (ก) และข้อ (ข) ต่อไปนี้
silapa-0378 - Copy1

 

silapa-0379 - Copy
๓. คำเอกโท  นับว่าเป็นข้อบังคับของโคลงเป็นพื้น จะกล่าวต่อไปเฉพาะท่านบังคับเป็นแบบตามชนิดของโคลง

๔. คำขึ้นต้นและลงท้าย
คำขึ้นต้น  ซึ่งเกี่ยวกับโคลงมีอยู่อย่างหนึ่ง คือท่านตั้งกระทู้ขึ้นต้นให้แต่งเป็นโคลงต่อไป ที่เรียกว่า “โคลงกระทู้”

ส่วนคำลงท้าย สำหรับโคลงทั่วไป ซึ่งจำเป็นจะกล่าวในที่นี้นั้น ก็คือ “คำสร้อย” ซึ่งท่านแต่งเติมท้ายบาทของโคลงตามข้อบังคับ เพื่อให้ได้ความครบ ถ้าได้ความครบแล้ว ก็ไม่จำเป็นจะต้องใส่สร้อยลงไป แต่ก็มีหลักควรสังเกตอยู่ คือ คำสร้อยโคลงทั่วไปนั้นมีอยู่ ๒ คำ คำต้นนั้นมีหน้าที่ต่อคำข้างหน้าให้ได้ความครบ  ส่วนคำท้ายนั้นเป็นคำเสริมขึ้นให้เต็ม สร้อยมีหน้าที่ทำให้ความไพเราะขึ้นหรือชัดเจนขึ้นเท่านั้น ดังจะยกตัวอย่างมาให้ดูเช่น “รังรูปเหมมฤคอ้าง ฤาควร เชื่อเลย” ดังนี้ “เชื่อเลย” เป็นคำสร้อย คำต้น “เชื่อ” จำเป็นต้องเติมเพื่อให้ความครบว่า “ไม่ควรเชื่อ” แต่คำท้าย “เลย” เพิ่มให้เพราะขึ้นว่า “ไม่ควรเชื่อทีเดียว” เท่านั้น ถึงจะไม่ใส่ก็ได้ความ แต่ใช้คำเดียวไม่ถูกแบบสร้อยโคลง และคำท้ายสร้อยโคลงนี้ท่านจำกัดใช้เป็นพวกหนึ่งต่างหาก บางคำก็ตรงกับที่ใช้อยู่ปัจจุบันนี้  บางคำก็ผิดเพี้ยนกันไป ดังจะรวบรวมมาชี้แจงไว้พอเป็นที่สังเกตต่อไปนี้

“พ่อ, แม่, พี่” ฯลฯ ใช้ในที่เป็นคำเรียกผู้ฟังเพื่อให้ทราบหรือให้ตอบ เช่นตัวอย่าง “เจ็บจิต จริงพ่อ” หรือ “อย่างไร ฤาแม่” เป็นต้น

“นา, รา หรือ ฮา, เฮย, แฮ” ใช้ในที่บอกเล่าทั่วๆ ไป เช่น “ใช่คนอื่นนา” “ฟังคำ หน่อยรา” หรือ “หน่อยฮา, หน่อยเฮย, หน่อยแฮ” ตามแต่จะเหมาะ

“เลย” มักใช้คู่กับความปฏิเสธ เช่น ไม่- – เลย, อย่า – – เลย, เปล่า – – เลย เป็นต้น

“เทอญ” ใช้ในความขอร้องหรืออ้อนวอน เช่น “ไปเทอญ” “โปรดเทอญ” เป็นต้น

“อา” ใช้ในความคิดวิตกส่วนตัว เช่น “โอ้อก เราอา” เป็นต้น

“เอย” ใช้ในความปลอบโยนผู้อื่นหรือรำพึงอย่างเดียวกับคำ “เอ๋ย” เช่น “น้องเอ๋ย” หรือ “อกเอ๋ย” เป็นต้น

“นอ” ใช้ในความวิตกวิจารณ์อย่างคำ “หนอ” เช่น “ไฉนนอ, อาภัพจริงนอ” เป็นต้น

“บารนี” เป็นคำโบราณใช้เป็นคำสร้อยครบ ๒ คำ อย่างเดียวกับ เช่นนี้ดังนี้ เช่น “เจ็บใจ บารนี” ก็เท่ากับ “เจ็บใจ เช่นนี้”

“ฤา, รือ” ใช้แทนคำ “หรือ” ซึ่งเป็นคำถามก็ได้, ใช้เชื่อมประโยคต่อกับอีกบาทหนึ่งก็ได้

“แล” ใช้ในที่สิ้นเนื้อความก็ได้ เช่น “ฉะนี้แล” หรือในความว่า “แน่” เช่น “จริงแล” ก็ได้ หรือใช้แทน “และ” เชื่อมกับบาทต่อไปก็ได้

“ก็ดี” ใช้เป็นสร้อยได้ครบ ๒ คำในความเช่นเดิม

ข้อสังเกต  ข้อสำคัญจะต้องให้สร้อยเหล่านี้มีเนื้อความเข้ากันกับเนื้อความของโคลงข้างต้นเป็นข้อใหญ่  ซึ่งอาจจะเป็นทางสังเกตจากหลักที่อธิบายไว้ข้างบนนี้ได้พอแล้ว ที่จริงถึงแม้ว่าจะไม่ใช้คำเสริมสร้อยเหล่านี้เลย คือจะใช้คำพูดตรงๆ ใส่เป็นคำสร้อย เช่น “รังรูปเหมมฤคอ้าง ฤาควร เชื่อเลย” จะใช้ว่า “-ฤาควร เชื่อถือ” หรือ “เอียงอกเทออกอ้าง อวดองค์ อรเอย” จะใช้ว่า “- – อวดองค์ อรทัย” เป็นต้น ก็ไม่มีข้อห้าม และอาจจะพบโคลงโบราณมีอยู่บ้าง แต่น้อยแห่งเหลือเกิน ซึ่งเห็นได้ว่าท่านไม่นิยม เพราะไม่ไพเราะ จึงควรใช้คำเสริมสร้อยตามแบบของท่าน

โคลงสุภาพต่างๆ ต่อไปนี้จะกล่าวโคลงสุภาพก่อน เพราะเป็นของแพร่หลายเป็นที่ ๒ รองจากคำกลอนลงมา โคลงสี่สุภาพเป็นของแพร่หลายมากที่สุด และโคลงสุภาพเหล่านี้มีลักษณะต่างกับพวกโคลงดั้น ที่เห็นได้ง่ายก็คือวรรคท้ายของบาทที่สุดมี ๔ คำด้วยกันทั้งนั้น นอกจากนี้ก็ต้องสังเกตข้อบังคับต่างๆ ดังจะอธิบายทีละชนิดต่อไปนี้

๑. โคลงสี่สุภาพ  โคลงสี่สุภาพนี้ ท่านอธิบายแบบไว้ดังนี้
คณะ  บท ๑ มี ๔ บาท และบาทที่ ๑, ที่ ๒, ที่ ๓ นั้นมี ๒ วรรค วรรคต้นมี ๕ คำ วรรคท้ายมี ๒ คำ เหมือนกันทั้ง ๓ บาท ส่วนบาทที่ ๔ นั้น วรรคต้นมี ๕ คำ วรรคท้ายมี ๔ คำ รวมทั้ง ๔ วรรคจึงมี ๓๐ คำ ท้ายบาท ๑ และ บาท ๓ ถ้าความไม่ครบยอมให้เติมสร้อยได้อีก ๒ คำ และคำทั้ง ๓๐ นี้จัดเป็น ๓ พวก คือ

คำสุภาพ  คือคำธรรมดาไม่กำหนดเอกโทจะมีหรือไม่มีก็ได้ ๑๙ คำ
คำเอก คือคำที่บังคับไม้เอก หรือจะใช้คำตายแทนเอกก็ได้ ๗ คำ
คำโท คือคำที่บังคับให้มีไม้โทมี ๔ คำ รวมเป็น ๓๐ คำ คำเอกและคำโทนั้นท่านบังคับให้มีที่ใดบ้างจะทำแผนไว้ให้ดู

สัมผัส  สัมผัสในได้กล่าวไว้แล้ว ส่วนสัมผัสสระที่เป็นสัมผัสนอกนั้น สัมผัสส่งอยู่ท้ายบาท ๑ สัมผัสรับอยู่ท้ายวรรคต้นบาท ๒ และสัมผัสรองอยู่ท้ายวรรคต้นบาท ๓ และมีสัมผัสโทอีกคู่หนึ่ง คือสัมผัสส่งอยู่ท้ายบาท ๒ และสัมผัสรับอยู่ท้ายวรรคต้นบาท ๔ จงดูแผนต่อไปนี้
silapa-0381 - Copy
หมายเหตุ  เอกโท ที่ ๔-๕ วรรคต้นบาท ๑ นั้นจะใช้เอก โท เรียงกัน เช่น “กล่าวแล้ว ปดโป้” ก็ได้ หรือจะกลับโทแล้วเอก เช่น “แล้วกล่าวโป้ปด” ก็ได้ไม่ห้าม แล้วแต่เหมาะ

คำลหุอยู่หน้า เช่น “กระทะ, ประการ” ฯลฯ ก็ดี คำอักษรนำเช่น “สละ, สมาน” ฯลฯ ก็ดี ใช้เป็นคำเดียวได้ แต่ถ้าจะให้เป็นคำเอกต้องให้คำท้ายเป็นเอกหรือคำตาย จึงจะใช้ได้ เช่นในวรรคต้นบาท ๒ ว่า “เป็นดิลกโลกลือชา เชิดด้าว” เว้นแต่คำท้ายไม่ใช่เอก หรือคำตายดังว่า “เป็นประธานโลกลือชา เชิดด้าว” เช่นนี้ใช้ไม่ได้ แต่ถ้าจะแยกออกเป็น ๒ คำ เอาคำ “ประ” เป็นเอก เช่น “เป็นประธานโลกปรา กฎแจ้ง” หรือ “สองสมาน มิตรผา สุกพร้อม” เช่นนี้ใช้ได้ และการใช้คำคู่เป็นคำเดียวเช่นนี้ ในวรรคต้นควรมีได้ ๒ คู่ และในวรรคท้ายควรมีได้คู่ ๑ เป็นอย่างมาก เช่นตัวอย่างในบาทต้นว่า “ข้าขอประดิษฐ์ประดับถ้อย ประเดิมกลอน” แต่ถ้าเป็นอักษรนำที่อ่านรวบรัดให้สั้นเข้าได้อีก ในวรรคท้ายก็ใช้ได้ ๒ คู่ เช่น “สนิทเสน่ห์, เสมอสมร” เป็นต้น

สัมผัส  รวดต้นคือ ส่ง, รับ, รอง นั้น ท่านห้ามคำที่บังคับ ไม้เอก ไม้โท๑ และไม้ตรี  แต่ไม้ตรีที่บังคับคำตาย เช่น โต๊ะ แป๊ะ ฯลฯ ใช้ได้อย่างเดียวกับคำตายเสียงตรี เช่น แนะ แคระ แพะ ฯลฯ ส่วนคำ บังคับไม้จัตวา เช่น จ๋า, เอ๋ย ฯลฯ ใช้ได้อย่างเดียวกับจัตวาอื่นๆ เช่น หนา, ขา, เสีย ฯลฯ

ส่วนเสียงวรรณยุกต์จะเป็นเสียงเดียวกันทั้ง ๓ เช่น จิต, กิจ, ติด หรือ ใส, ไหน, ไข ฯลฯ หรือจะสลับกันเช่น กิจ, มิตร, ติด, กัน, หัน, มัน ฯลฯ ไม่ห้ามเลย เว้นแต่คำซ้ำกันจะอยู่ติดกัน เช่น การ, สาร หรือ สงฆ์, สรง, ลง, กร, สอน, ศร ฯลฯ ใช้ไม่ได้ เว้นแต่จะสลับกันเสีย เช่น การ, สาร, การ หรือ สงฆ์, ลง, สรง ฯลฯ เช่นนี้ใช้บ้างแต่น้อยเต็มที๒
………………………………………………………………………………………….
๑ สัมผัส รับ, รอง, ส่ง  พบในนิราศนรินทร์แห่งหนึ่งคือ “ลิ่ว” ในลิลิตพระลอ สังเกตได้ ๒ คือ “ต่าง” และ “ทั้ง” เข้าใจว่าคำเดิมของท่านคงเป็น “ลิว”

๒ สัมผัสเช่นนี้  ในตะเลงพ่ายทั้งเล่ม พบแห่งเดียวเท่านั้น คือ อภิรุม, ชุม, รุม น่ากลัว จะเผลอยิ่งกว่าเป็นการขอไปที
………………………………………………………………………………………….
คำจบบท  คือคำสุดท้ายของบาทที่ ๔ ท่านนิยมใช้เสียงจัตวา หรือสามัญ ๒ เสียงเท่านั้นเป็นพื้น เพราะเป็นคำจบ จะต้องอ่านเอื้อนลากเสียงยาว๑

ข้อพิเศษ  ข้อบังคับข้างบนนี้ อธิบายตามที่ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบันนี้ แต่ยังมีข้อพิเศษซึ่งผิดจากที่อธิบายมาแล้วอยู่อีก นับว่าเป็นแบบพิเศษอีกแผนกหนึ่ง

สร้อยท้ายบาทสี่ ตามแบบข้างบนนี้ บังคับให้เติมสร้อยเฉพาะท้ายบาท ๑ กับบาท ๓ เท่านั้น แต่ในโคลง ๔ เข้าลิลิต เช่นลิลิตพระลอ ท่านใส่สร้อยลงท้ายบาท ๔ บ้างก็ได้ ทำนองเดียวกับสร้อยท้ายบทร่ายหรือท้ายบทโคลง ๒ และโคลง ๓ ซึ่งจะกล่าวข้างหน้าด้วย ดังตัวอย่างในลิลิตพระลอต่อไปนี้

บาท ๔ “สาวหนุ่มฟังเป็นบ้า อยู่แล้โหยหา ท่านนา”
และ “หมองดั่งนี้ข้าไว้ บอกข้าขอฟัง หนึ่งรา” เป็นต้น

โคลงโบราณ ท่านไม่ใคร่จะนิยมเคร่งครัดนัก ดังจะเห็นได้ในลิลิตพระลอ และโคลงกำสรวลศรีปราชญ์เป็นต้น  เพราะในสมัยต้นๆ คำเอกโทก็ยังไม่แน่นอนนัก  คำที่เราใช้เอกโทในสมัยนี้เช่น ต่าง ทั้ง โบราณท่านใช้ ตาง, ทัง อยู่มากมาย ดังนี้เป็นต้น

อนึ่งคำสระอำของคำแผลงเช่น กำแหง, จำเลย ฯลฯ ท่านมักใช้เป็นคำตายหรือคำเอกได้ มาจากท่านใช้ “เฉพาะ” หรือ “จำเพาะ”๒  เป็นอย่างเดียวกัน
………………………………………………………………………………………….
๑ คำที่สุดโคลง ๒ โคลง ๓ และร่ายมีใช้คำตาย เช่น กิจ นึก ฯลฯ อยู่บ้าง แต่โคลง ๔ นับว่าไม่นิยมใช้ทีเดียว

๒ เนื่องมาจากสูตรท่องครุ ลหุ โบราณว่า “เรากินแตง-โม” (คือ ม คณะว่า “เรากินแตง” ครุทั้ง ๓) “ผลอ้ายกะ-โต” (ต คณะ คือ “ผลอ้ายกะ” ครุ ๒ ลหุ ๑) “เฉพาะเจาะนาน” (น คณะว่า “เฉพาะเจาะ” ลหุ ๓) ครั้นต่อมาคำ “เฉพาะเจาะ” เลือนเป็น “จำเพาะเจาะ” จึงรวมเอาคำ “จำ” เป็นลหุไปด้วย เมื่อเป็นลหุก็เป็นคำตายได้และเป็นคำเอกได้ด้วย แต่ทางบาลีและสันสกฤตต้องเป็นครุ เพราะมีข้อบังคับว่า “นิคคหิตปราบโน” (คำมีนิคคหิตเป็นครุ)
………………………………………………………………………………………….
๒. โคลงสี่สุภาพจัตวาทัณฑี๑  โคลแบบนี้มีต่างกับโคลงสี่สุภาพอยู่แห่งเดียวเทานั้น คือ สัมผัสรับ ของโคลง ๔ สุภาพนั้นอยู่ที่คำที่ ๕ วรรคหน้าบาท ๒ แต่โคลงแบบนี้สัมผัสรับร่นมาอยู่คำที่ ๔ เท่านั้น  ข้อบังคับอื่นๆ อย่างเดียวกับโคลงสุภาพทั้งนั้น และท่านมักใช้แต่งคละกันไปกับโคลงสุภาพเป็นพื้น ดังตัวอย่าง
silapa-0384 - Copy
หมายเหตุ  แบบโคลงจัตวาทัณฑีที่ท่านวางไว้ในฉันทลักษณ์นั้นมีแปลกกับข้างบนนี้ คือ คำที่ ๓ ที่ ๔ ของวรรคหน้าบาทที่ ๒ และที่ ๓ ต้องให้ได้สัมผัสสระชิดกันด้วย ดังตัวอย่างที่ท่านแต่งกำกับไว้ต่อไปนี้
………………………………………………………………………………………….
๑ จัตวาทัณฑี  เป็นคำผูกขึ้นใช้ในภาษาไทย “จัตวา” ว่าสี่ “ทัณฑี” ว่ามีไม้เท้า หรือมีโทษ ที่นี้คงหมายถึงมีข้อบังคับ ‘จัตวาทัณฑี’ คงหมายความว่ามีบังคับให้รับกันในคำที่สี่นั้นเอง ส่วน “ตรีพิธพรรณ” ก็เช่นกัน-“ตรีพิธ” ว่าสามอย่าง “พรรณ” ว่าอักษร รวมความว่าให้รับกัน ในอักษรหรือคำที่สามนั้นเอง

๒ ลาญเข้า คงไม่ใช่ “แตกเข้า” แต่น่าจะเป็น “ลานเข้า” เอาความว่า ลานปลูกข้าว ที่เรียกเป็นสามัญ “ลานนา” นั้นเอง โปรดพิจารณาดู
………………………………………………………………………………………….
silapa-0385 - Copy
แบบต้นมีใช้มากทั้งลิลิตตะเลงพ่ายและลิลิตพระลอ  ดังตัวอย่างที่ยกมาให้ดูนั้น แต่แบบในฉันทลักษณ์นั้นน่าจะมีที่ใช้น้อย จึงไม่ค่อยพบ และสัมผัสสระชิดกันในบาท ๒ และ ๓ ก็มีเฉพาะโคลงจัตวาทัณฑีแบบนี้เท่านั้น  ส่วนโคลงตรีพิธพรรณ ซึ่งเป็นคู่กันก็ไม่มีอย่างนี้ ดังนั้นจึงนำมากล่าวไว้เป็นพิเศษ

๓. โคลงสี่สุภาพตรีพิธพรรณ  โคลงแบบนี้ก็มีทำนองเดียวกับโคลงสี่สุภาพ ต่างกันก็เพียงสัมผัสรับเลื่อนมาอยู่คำที่ ๓ วรรคหน้าบาทที่ ๒ เท่านั้นและท่านแต่งคละกันไปกับโคลงสี่สุภาพอย่างโคลงจัตวาทัณฑีเหมือนกัน แต่ท่านใช้น้อย ดังตัวอย่างต่อไปนี้
silapa-0385 - Copy1
หมายเหตุ  โคลงจัตวาทัณฑีและโคลงตรีพิธพรรณนี้  สังเกตดูท่านมิได้ตั้งใจจะแต่งไว้ที่นั้นที่นี้ ตามวิธีประพันธ์อื่นๆ เมื่อถ้อยคำบังเอิญเหมาะจะให้เป็นโคลงชนิดนี้เข้า ณ ที่ใด ท่านก็ใส่ลงที่นั้น  ปนไปกับโคลงสี่สุภาพธรรมดา ซ้ำท่านมิได้บอกชื่อไว้ด้วย

๔. โคลงสองสุภาพ คณะ  ของโคลงสองสุภาพนี้คือ บท ๑ มี ๒ บาท บาทต้นมีวรรคเดียวและมี ๕ คำ เรียกว่าบาทส่งโทก็ได้ และบาทท้ายเรียกว่า บาทรับโทก็ได้ มี ๒ วรรค วรรคหน้าคือ รับโทมี ๕ คำ และวรรคหลังมี ๔ คำ อย่างโคลงสี่สุภาพดังแผนต่อไปนี้
silapa-0386 - Copy
เอกโท  บังคับให้มีเอก ๓ แห่ง และโท ๓ แห่ง และคำตายแทนเอกได้เช่นเดียวกับโคลงสี่ทั้งหลาย

คำสร้อย  ยอมให้ใส่ได้ ๒ คำต่อวรรคหลังของบาทท้าย ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ลิลิตตะเลงพ่าย  “จำใจจรจากสร้อย อยู่แม่อย่าละห้อย ห่อนช้าคืนสม แม่แล”

ลิลิตพระลอ  “ทำนองนาสิกไท้ คือเทพนิรมิตไว้ เปรียบด้วยขอกาม”

ทั้งนี้เป็นแบบที่ใช้กันทั่วไปในปัจจุบัน  ส่วนแบบพิเศษนั้นจะอธิบายรวมกับโคลงสามข้างหน้า

๕. โคลงสามสุภาพ  คณะ ของโคลงสามนี้ก็เป็นทำนองเดียวกับโคลงสองทั้งนั้น ผิดกันก็แต่เติมบาทต้นข้างหน้าเข้าอีกบาทหนึ่งมี ๕ คำ รวมเป็น ๓ บาท ด้วยกัน จึงเรียกว่าโคลงสาม ข้อบังคับอื่นๆ อย่างเดียวกับโคลงสองทั้งสิ้น ผิดกันอยู่ก็แต่คำท้ายของบาทต้น ต้องเชื่อมสัมผัสกับคำที่ ๑, ๒, ๓ ของบาทต่อไป คือบาทที่ ๒ และสัมผัสคู่นี้ต้องส่งและรับอย่างเดียวกันด้วย คือส่งคำสุภาพ เอก โท ก็ต้องรับคำสุภาพ เอก โท เช่นกัน ดังแผนต่อไปนี้
silapa-0386 - Copy1
และสัมผัสคำท้ายบาทต้นกับคำที่ ๑, ๒, ๓ ของบาทที่ ๒ ที่ว่าต้องส่งและรับอย่างเดียวกันนั้น คือคำส่งสุภาพ เช่น “ฉัน กัน” ก็ต้องรับ “มัน ปัน” ถ้าส่งเอก เช่น “แม่ แน่น” หรือคำตายแทนเอก เช่น “ติด ชิด” ก็ต้องรับ “แผ่ แผ่น” หรือ “กิด ปิด” โดยลำดับ ถ้าส่งโท เช่น “ตั้ง พลั้ง” ก็ต้องรับโท เช่น “ทั้ง กั้ง” เป็นต้น นอกจากนี้ก็เช่นเดียวกับโคลงสุภาพทั้งนั้นดังตัวอย่างต่อไปนี้
silapa-0387 - Copy
หมายเหตุ  การเขียนเรียงให้ดูบาทละบรรทัดนี้ ก็เพื่อจะให้เห็นง่ายว่าการให้ชื่อโคลง ๒, ๓, ๔ นั้น ถือเอาจำนวนบาทของโคลง๑ นั้นๆ เป็นเกณฑ์ตามปกติโคลง ๒ โคลง ๓ นั้น  บทหนึ่งท่านเขียน ๒ บรรทัดเป็นพื้น คือ
………………………………………………………………………………………….
๑ โคลงโบราณยังมีอีกแบบหนึ่ง บท ๑ มี ๔ บาท แต่เรียกว่าโคลง ๕ เพราะบาท ๑ มี ๕ คำคล้ายโคลง ๒ โคลง ๓
………………………………………………………………………………………….
โคลง ๒ นั้นท่านเอาบาท ๑ กับบาท ๒ ไว้บรรทัดบน แล้วเอาวรรคท้ายไว้บรรทัดล่าง ส่วนโคลง ๓ นั้นเอาบาท ๑ กับบาท ๒ ไว้บรรทัดบน เอาบาทท้ายทั้งสองวรรคไว้บรรทัดล่าง เมื่อขึ้นบทใหม่ก็ย่อหน้าหรือใช้ฟองมันไว้หน้าตามระเบียบเขียนโคลง

ข้อพิเศษ  โคลง ๒ โคลง ๓ ที่อธิบายมาข้างบนนี้ เป็นแบบที่ใช้กันอยู่ปัจจุบันนี้ แต่แบบโบราณท่านยังใช้ผิดจากนี้ออกไปเป็นพิเศษบ้าง ดังนี้

บาทที่ ๑ ที่ ๒ ของโคลง ๓ ถ้าแต่งเข้ากับร่ายที่ใช้คำมากกว่า ๕ ในวรรคหนึ่งก็ได้ คำใน ๒ บาทนี้ท่านใช้เกินกว่า ๕ บ้างก็มี และสัมผัสเชื่อมรับก็เลื่อนออกไปได้เช่นกัน ดังตัวอย่างในลิลิตพระลอดังนี้
silapa-0388 - Copy
วรรคสุดท้ายของโคลง ๒ โคลง ๓ ถ้าแต่งเข้ากับร่ายโบราณซึ่งวรรคท้ายมี ๕ คำ ท่านก็ใช้ ๕ คำ บ้างก็มีแต่คำเอกต้องเลื่อนไปอยู่ที่ ๒ และมีคำโทอยู่ที่ ๓ เช่นตัวอย่างในลิลิตพระลอ ดังนี้
silapa-0388 - Copy1

 

silapa-0389 - Copy
………………………………………………………………………………………….
๑ ที่ค้นเอาโคลง ๒ มาให้ดู ๒ บาทติดกันนี้ เพื่อจะสังเกตว่าท่านตั้งใจใช้ ๕ คำจริงๆ ถึงบทต่อไปนี้ ท่านก็ใช้ ๕ คำเช่นกัน
………………………………………………………………………………………….
โคลงดั้นต่างๆ๒  โคลงดั้นทั้งหลายนับว่าเป็นประเภทใหญ่คู่กับโคลงสุภาพ  และมีหลายชนิดด้วยกัน เช่นเดียวกับโคลงสุภาพ และมีข้อแตกต่างกับโคลงสุภาพที่เห็นได้ง่าย ก็คือวรรคท้ายของบาทที่สุดมี ๒ คำ นอกจากนี้ก็ต่างกันตามข้อบังคับ ดังจะนำมาอธิบายทีละชนิดต่อไปนี้

๑. โคลงสี่ดั้นวิวิธมาลี๓  โคลงสี่ดั้นที่ใช้กันมี ๒ ชนิด คือ โคลงวิวิธมาลีนี้ชนิดหนึ่ง กับโคลงบาทกุญชร ซึ่งจะกล่าวข้างหน้าอีกชนิดหนึ่ง ทั้งสองชนิดนี้มีข้อบังคับคล้ายคลึงกันดังนี้

คณะโคลงสี่ดั้นวิวิธมาลี  บท ๑ มี ๔ บาท และบาท ๑ มี ๒ วรรค วรรคต้นมี ๕ คำ วรรคหลังมี ๒ คำ ทั้ง ๔ บาทจึงรวมเป็นบาทละ ๗ คำ บทหนึ่ง ๔ บาท มี ๒๘ คำ

สัมผัส  มีเป็นสัมผัสไขว้กัน ๒ คู่ คู่ส่งมาจากที่สุดของบทข้างต้นไปรับกับคำที่ ๕ บาท ๒ บทต่อมา และคู่ท้าย คือส่งอยู่ท้ายวรรคบาท ๑ ไปรับกับคำที่ ๕ บาท ๓ และสัมผัสคู่ท้ายนี้จะใช้สระเดียวมาตราเดียวกันเช่นคู่ต้นไม่ได้ ส่วนสัมผัสโทนั้นส่งที่วรรคท้ายบาท ๒ อย่างโคลงสุภาพ แต่ไปรับคำโทที่ ๔ ที่ ๕ ก็ได้ในบาท ๔ และคำที่สุดบทนี้ก็ไปรับคำที่ ๕ บาท ๒ ของบทต่อไป เช่นนี้ตลอดไป
………………………………………………………………………………………….
๑ กัน ขาดเอก สังเกตดูท่านไม่ใคร่กวดขันนัก จะอธิบายข้างหน้า
๒ โคลงดั้นนี้ น่าจะหมายถึงการแต่งดั้นๆ ไปไม่สู้เคร่งครัดตามแผนนัก สังเกตดูโคลงดั้นโบราณท่านไม่ใคร่นิยมเอกโทอย่างโคลงสุภาพ ยิ่งเป็นร่ายดั้นด้วย แม้คำวรรคหนึ่งๆ ก็น้อยบ้างมากบ้างไม่นิยมแน่นอน มาบัดนี้เรานิยมแน่นอนเข้ากลายเป็นแต่งยากกว่าโคลงสุภาพเสียอีก
๓ วิวิธมาลี แปลว่า มีระเบียบต่างๆ ชื่อนี้สังเกตดูไม่เกี่ยวกับลักษณะโคลงเลย หมายความเพียงให้เป็นชื่อเรียกโคลงแบบนี้เท่านั้น
………………………………………………………………………………………….
เอกโท  มีคำเอก ๗ และมีคำโท ๔ เช่นเดียวกับโคลงสุภาพ ต่างแต่คำโท คู่ในบาท ๔ นั้นมาอยู่คำที่ ๔ กับคำที่ ๕ ติดกันทั้งคู่และใช้รับสัมผัสโทได้ทั้งคู่ด้วย ข้อบังคับนอกจากนี้เป็นอย่างเดียวกับโคลง ๔ สุภาพ
silapa-0390 - Copy

ตัวอย่างจากโคลงดั้นพระราชพิธีแห่โสกันต์
silapa-0391
หมายเหตุ  ในข้อที่ว่าสัมผัสไขว้ ๒ คู่นั้น จะใช้สระเดียวมาตราเดียวกันทั้ง ๒ คู่ติดกันไม่ได้ จะเห็นได้จากสัมผัสคู่ต้นมือคือ “หาว” ท้ายบท ๑ กับ “ยาว” ที่ ๕ บาท ๒ ของบท ๑ ซึ่งเป็นสระอา มาตราเกอว และคู่สองคือคำ “ลา” ท้ายบาท ๑ กับคำ “ศา” ที่ ๕ บาท ๓ ของบท ๒ จะให้เป็นสระอามาตราเกอวเหมือนกันเช่น “ดาว, ขาว” ติดๆ กันไม่ได้  ถ้าเปลี่ยนมาตราเสียเช่น “ลา” กับ “ศา” ในตัวอย่าง หรือเป็น “ลาน, ขาน” ฯลฯ ก็ได้ทั้งนั้น แต่ถ้าจะเอาสัมผัสอื่นๆ มาคั่นเป็นคู่ท้ายเสียอย่างน้อยคู่ ๑ แล้วจะซ้ำกันก็ได้ท่านไม่ห้าม

อนึ่งสัมผัสรับโทในบาท ๔ นั้นรับได้ทั้งคำที่ ๔ หรือที่ ๕ ก็จริง แต่รับที่ ๕ เพราะกว่า ดังในตัวอย่าง “ฟ้า” กับ “จ้า” เป็นต้น

๒. โคลงสี่ดั้นบาทกุญชร๑  โคลงสี่ดั้นแบบนี้มีลักษณะเหมือนกับโคลงสี่ดั้นวิวิธมาลีที่กล่าวมาแล้วทุกอย่าง แต่เพิ่มสัมผัสเอกเข้าอีกคู่ ๑ เท่านั้น กล่าวคือคำเอกท้ายบาท ๓ บทต้น มาคล้องกับคำเอกที่ ๔ หรือที่ ๕ ในบาท ๑ ของบทต่อมา รวมความว่าคำท้ายบาทของโคลงแบบนี้ ย่อมเป็นสัมผัสส่งมาทั้ง ๔ บาท และต่างก็ไปรับสัมผัสกับคำที่ ๔ หรือที่ ๕ ของบาทที่ ๓ ซึ่งนับแต่บาทที่ส่งไปสลับกันเช่นนี้เรื่อยไป แต่ถ้าเป็นบาทที่ขึ้นต้น สัมผัสเอกบาทที่ ๑ และสัมผัสคำที่ ๕ บาทที่ ๒ ก็ไม่ต้องรับกับใคร ดังแผนต่อไปนี้

แผนโคลงสี่ดั้นบาทกุญชร

silapa-0393
………………………………………………………………………………………….
๑ บาทกุญชรแปลอย่างไทยว่ารอยเท้าช้าง ที่ให้ชื่อเช่นนี้ เพราะสัมผัสส่งกับสัมผัสรับอยู่เยื้องสลับกันไป เหมือนรอยเท้าช้างที่ก้าวเยื้องกัน
………………………………………………………………………………………….

ตัวอย่างเลือกจากโคลงกำสรวลศรีปราชญ์
silapa-0394 - Copy
๓. โคลงสี่ดั้นจัตวาทัณฑีและตรีพิธพรรณ  โคลงทั้งสองแบบนี้ก็มีลักษณะเช่นเดียวที่มีในโคลงสี่สุภาพนั่นเอง  กล่าวคือโคลงดั้นบทใดมีคำที่ ๔ ของบาท ๒ เป็นสัมผัสรับ โคลงบทนั้นก็เรียกว่า “จัตวาทัณฑี” แต่คำที่ ๓ ของบาท ๒ เป็นสัมผัสรับ ก็เรียกว่า “ตรีพิธพรรณ” ถ้าโคลงวิวิธมาลีมีลักษณะเช่นนี้ ท่านก็เรียกว่า โคลงวิวิธมาลีจัตวาทัณฑี หรือตรีพิธพรรณ และถ้าเป็นโคลงบาทกุญชร ท่านก็เรียกว่าโคลงบาทกุญชรจัตวาทัณฑี หรือตรีพิธพรรณเช่นกัน ตามสัมผัสรับดังกล่าวแล้วที่มีในโคลงชนิดนั้นๆ

ที่จริงโคลง ๒ แบบนี้ ท่านแต่งคละกันไปกับโคลงดั้น ๒ ชนิดที่กล่าวมาแล้ว เพื่อสะดวกแก่สัมผัสเป็นบางบทเท่านั้นและในโคลงโบราณมักใช้ปนกันโดยมาก ดังตัวอย่างในกำสรวลศรีปราชญ์ต่อไปนี้ แต่ยกมาเฉพาะบทที่เป็นจัตวาทัณฑีและตรีพิธพรรณเท่านั้น
silapa-0395 - Copy
๔. ข้อพิเศษสำหรับโคลงสี่ดั้น  ข้อบังคับโคลงดั้นวิวิธมาลี และโคลงดั้นบาทกุญชรที่วางไว้ข้างบนนี้ นำมากล่าวเฉพาะที่ท่านนิยมใช้ในปัจจุบันนี้ แต่โคลงดั้นโบราณยังมีใช้เป็นข้อพิเศษอีกหลายอย่าง แต่ข้อพิเศษบางอย่างที่โบราณใช้ในโคลงทั่วไปได้แสดงไว้ในข้อพิเศษสำหรับโคลงสี่สุภาพแล้ว ในข้อนี้จะคัดมาไว้เฉพาะโคลงดั้นเท่านั้น ดังนี้

โคลงดั้นมหาวิวิธมาลีและมหาบาทกุญชร  โคลง ๑ ชนิดนี้แปลกจากแผนที่วางไว้ข้างบนนี้บ้างเล็กน้อย คือตามธรรมดาโคลงดั้น ๒ ชนิดนี้มีวรรคท้ายของบาทสี่ ๒ คำ อย่างโคลงดั้นทั้งหลายดังแผน
silapa-0396 - Copy
แต่โคลงมหาวิวิธมาลีและมหาบาทกุญชรนี้ มีบาทสี่เหมือนโคลงสุภาพ คือวรรคท้ายมี ๔ คำ ดังแผน
silapa-0396 - Copy1
จึงมีชื่อเติม “มหา” ข้างหน้าอย่างเดียวกับโคลงแบบคัมภีร์กาพย์ทั้งหลาย ซึ่งจะกล่าวข้างหน้า๑ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

จากคำจารึกวัดพระเชตุพน
วิวิธมาลี  
“เรียงตัวบังอาจแกล้ง     กลึงหิน สิ้นแฮ
หินแห่งกัมโพชเพียง      ภาพปั้น
ปั้นปูนและมูลดิน           ดูเฉก นั้นนา
เฉกดั่งเทียนฝั้นทั้ง        ทั่วสถาน

มหาวิวิธมาลี
สถานบนสิมาเรียบไว้         หว่างแหวะ ช่องแฮ
แหวะใส่ประทีปนิจกาล       กอบสร้าง
สร้างสรรค์สิลาแกะ            การฉลัก แลพ่อ
ฉลักแฉละบัลลังก์ข้าง        เขตแคว้นสระบุรี”๒
………………………………………………………………………………………….
๑ โคลงตามแบบกาพย์วิลาสินีนั้นมีหลายแบบ เช่น วิวิธมาลี, และจิตรลดา เป็นต้น ซึ่งมีวรรคท้ายบาทสี่เป็น ๒ คำ ถ้าเติมคำมหาเป็น มหาวิชชุมาลี มหาจิตรลดา ฯลฯ ก็มีวรรคท้ายบาทสี่เป็น ๔ คำ ส่วนข้อบังคับอื่นๆ เหมือนกัน

๒ โคลงคู่นี้ท่านแต่งเป็นกลบทวัวพันหลัก (คือเอาคำสุดท้ายวรรคหน้ามาขึ้นต้นวรรคหลังด้วย)
………………………………………………………………………………………….
บาทกุญชร
“ศิลาลายขจิตแต่งตั้ง        ตามฉบับ บูรณ์พ่อ-
ไม้เม็ดทวาทศไทย           ทั่วแท้
ประตูละคู่สรรพ                เสร็จสลัก แลเฮย
บัวคว่ำหงายแล้แล้ว          ลาดผา

มหาบาทกุญชร
“หน้าขดานท้องไม้พนัก    เพนกเกย นั้นฤา
ประกอบศิลาลาย             เลื่อมคว้าง
อัฒจันทร์กั่นเลยลง         ลดหลั่น ล่างเลย
ระดับศิลาไศลข้าง          เขตแคว้นนครชล๑”

โคลงดั้นวิวิธมาลีเดี่ยว  ตามแบบที่ตั้งไว้ข้างบนนี้เป็นโคลงวิวิธมาลีคู่ คือ คำท้ายบทหน้าต้องส่งสัมผัสให้ คำที่ ๕ บาท ๒ ของบทหลังเกี่ยวกันเป็นคู่ๆ ตลอดไป  แต่ในที่นี้ท่านแต่งเฉพาะบท คือคำที่ ๕ บาท ๒ ไม่ต้องคล้องกับคำท้ายบทหน้าดังกล่าวไว้ในแผนนั้น อย่างเดียวกับโคลงสี่สุภาพ  ซึ่งแต่งเฉพาะไม่ต้องคล้องกับบทต่อไป ซึ่งเรียกว่าเข้าลิลิต๒  ดังจะกล่าวข้างหน้า ดังตัวอย่างในโคลงกำสรวลศรีปราชญ์

บทหน้า
“อยุธยาไพโรจน์ใต้           ตรีบูร
ทวารรุจีเรียงหอ                สรล้าย
อยุธยายิ่งแมนสูร              สุรโลก รังแฮ
ดุจสวรรค์คล้ายคล้าย        แก่ตา
………………………………………………………………………………………….
๑ โคลงมหาบาทกุญชรนี้ทั้งจัตวาทัณฑี(บาท ๓) และตรีพิธพรรณ (บาท ๒) ด้วย

๒ โคลง ๔ สุภาพที่แต่งติดๆ กันไปบางเรื่องท่านใช้ถ้อยคำท้ายบาทหน้าคล้องกับต้นบทหลังที่เรียกว่าเข้าลิลิต แต่บางแห่งท่านก็แต่งเฉพาะบทไม่ต้องคล้องกัน ส่วนโคลงดั้นนั้นต้องคล้องกันเพราะมีข้อบังคับไว้ในแผน  แต่โคลงดั้นโบราณท่านแต่งเป็นบทๆ ไม่คล้องกันมีเป็นข้อพิเศษ จึงควรสังเกตไว้เป็นความรู้
………………………………………………………………………………………….
บทหลัง
ยามพลบเสียงกึกก้อง        กาหล แม่ฮา
เสียงแฉ่งเสียงสาวทรอ     ข่าวชู้
อยุธยายิ่งเมืองทล            มาโนช กูเฮย
แตรตรลมข่าวรู้๑              ข่าวยาม

ดังนี้จะเห็นได้ว่าบทหลังนั้นเป็นโคลงดั้นวิวิธมาลีเดี่ยว คือคำที่ ๓-๔-๕ (เสียง,สาว,ทรอ) ในบทที่ ๒ ไม่ต้องรับกับคำท้ายของบทหน้า คือ “ตา” เลย ๒

สร้อยท้ายบาทสี่   โคลงดั้นโบราณท่านใช้คำสร้อยท้ายบาท ๔ เช่นเดียวกับโคลงสุภาพโบราณ  ซึ่งแสดงไว้ในข้อพิเศษโคลงสุภาพเหมือนกัน แต่ใช้สร้อยซ้ำเป็นพื้น กล่าวคือเติมสร้อยลงไปได้อีก ๒ คำ ให้คำท้ายสร้อยซ้ำกับคำสุดวรรคเสมอไป เช่นตัวอย่างบาท ๔ มีว่า “ไฉนจึงจักได้น้อง แนบทรวง” ดังนี้ และจะเติมลงไปอีก ๒ คำก็ได้ แต่ต้องให้ท้ายคำสร้อยเป็น “ทรวง” ซ้ำกับคำ “ทรวง” ท้ายบาท ๔ ดังนี้ เป็นต้น ดังตัวอย่างในโคลงดั้นต่อไปนี้

ลิลิตยวนพ่าย
“พระมาคฤโฆษเรื้อง           แรงบุญ ท่านนา
ทุกทั่วดินบุญเกรง              กราบเกล้า
พระมาเสด็จแสดงคุณ        ครองโลกย์ ไสร้แฮ
เอกษัตรซร้องเฝ้า              ใฝ่เห็น ขอเห็น”

โคลงกำสรวลศรีปราชญ์
“โฉมแม่จักฝากฟ้า            เกรงอินทร์ หยอกนา
อินทร์ท่านเทิดโฉมเอา      สู่ฟ้า
โฉมนางจะฝากดิน            ดินท่าน แล้วแฮ
ดินท่านขัดเจ้าหล้า           สู่สม สองสม”๓
………………………………………………………………………………………….
๑ “ข่าว” นี้ควรเป็นคำโทตามแผนโคลงดั้น  แต่ได้กล่าวมาแล้วว่าโคลงโบราณท่านไม่ใคร่นิยมเอกโทเคร่งครัดนัก

๒ ควรสังเกตไว้ด้วยโคลงดั้นบาทกุญชรเดี่ยวมีไม่ได้  เพราะมีข้อบังคับให้คำท้ายบาทบทหน้าทั้งสี่บาทต้องรับกับคำที่ ๓, ๔, ๕ ของ ๔ บาท ในบทหลังตามแบบจึงจะเรียกว่าบาทกุญชร ถ้าขาดไปก็ไม่ใช่โคลงบาทกุญชร

๓ ลิลิตยวนพ่ายและโคลงกำสรวลศรีปราชญ์มีคำสร้อยท้ายบาท ๔ เป็นสัมผัสซ้ำเช่นนี้ทั้งนั้น
………………………………………………………………………………………….
โคลงจัตวาทัณฑีและโคลงตรีพิธพรรณรับบาทสาม  ตามแผนที่วางไว้ว่า โคลงจัตวาทัณฑีมีสัมผัสคำที่ ๔ บาท ๒ และโคลงตรีพิธพรรณมีสัมผัสคำที่ ๓ บาท ๒ ทั้งโคลงสุภาพและโคลงดั้น ซึ่งใช้กันทั่วไปในปัจจุบันนี้แต่โคลงดั้นโบราณท่านใช้สัมผัสรับที่บาท ๓ ก็ได้ทั้ง ๒ ชนิด ดังตัวอย่างในโคลงดั้นต่อไปนี้

ลิลิตยวนพ่าย
บาท ๔ บทหน้า “เชิงชั่งเสียได้ผู้              รอบการย์
บทจัตวาทัณฑี  ลวงปล้นเมืองอาจอ้อม     ไพรี รอบแฮ
ลวงนั่งลวงลุกชาญ         ช่างใช้
ลวงลวงลาดหนีลวง        ลวงไล่ ก็ดี
พระดำ๑ รัสให้ให้            คอบความ”

บาท ๔ บทหน้า “คูควบสามชั้นซึ่ง          ขวากแขวง
บทตรีพิธพรรณ  เร่งหมั้นเหลือหมั้นยิ่ง    เวียงเหล็ก
มีกำ๒ แพงแลงเลือน     ต่อต้าย
หัวเมืองเต็กเสียงกล่าว  แก่บ่าว
ทังขวา๓ ทังซ้ายถ้วน    หมู่หมาย”

หมายเหตุ  บาทท้ายนี้มีทั้งจัตวาทัณฑี  และตรีพิธพรรณ แต่ข้อสำคัญที่ยกมาให้ดูนี้เพื่อให้ทราบว่า บาท ๓ ใช้รับอย่างตรีพิธพรรณก็ได้เท่านั้น

คำโทคู่ในบาท ๔  โคลงดั้นสมัยนี้นิยมคำโทคู่ในบาท ๔ อย่างเคร่งครัด
ตามแผนดังนี้silapa-0399 - Copy

โคลงโบราณก็นิยมเช่นนี้โดยมาก แต่ไม่เคร่งครัดนัก บางแห่งในวรรคต้นบาท ๔ ท่านก็ใช้โทเดี่ยวอย่างโคลงสุภาพ และมีมากแห่งด้วย ส่วนสัมผัสโทนั้น  ท่านถือเคร่งครัดก็คือคำโทท้ายบาท ๒ จะต้องมารับคำโทในบาท ๔ วรรคต้นนี้เป็นแน่นอนเท่านั้น ถ้ามีโทเดี่ยวก็รับคำ
………………………………………………………………………………………….
๑-๒ “ดำ” “กำ” โบราณใช้เป็นลหุได้ก็ต้องเป็นคำตาย ดังกล่าวแล้ว
๓ “ขวา” ขาดเอก เป็นด้วยท่านไม่นิยมนัก ดังกล่าวแล้ว
………………………………………………………………………………………….
ที่ ๕ ถ้ามีโทคู่ก็เลือกรับคำใดคำหนึ่งในคำที่ ๔ หรือ ๕ ๑ แต่มีแปลกอีกอย่างหนึ่ง คือ คำโทคู่นี้มีคำคั่นก็ได้ ดังแผนต่อไปนี้
silapa-0400 - Copy
ข้อที่สังเกตได้ว่าท่านเอาคำโทที่ ๓ เป็นโทคู่นั้นก็คือท่านใช้รับสัมผัสโทกับคำโทท้ายบาท ๒ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
silapa-0400 - Copy1
………………………………………………………………………………………….

๑ โคลงดั้นโบราณที่ไม่เคร่งครัดเรื่องเอก โท นี้ เป็นการสมกับความหมายที่ว่าแต่งดั้นๆ ไปเป็นการขอไปที่ดังกล่าวมาแล้ว ซึ่งต่างกับโคลงดั้นสมัยนี้ ซึ่งนิยมเคร่งครัดอย่างโคลงสุภาพ กลับแต่งยากกว่าโคลงสุภาพเสียอีกซ้ำไป
………………………………………………………………………………………….
๕. โคลง ๒ และโคลง ๓ ดั้น  โคลง ๒ ชนิดนี้ก็คล้ายกับโคลง ๒ และโคลง ๓ สุภาพที่กล่าวแล้ว  ต่างแต่วรรคท้ายบทเป็น ๒ คำเท่านั้น ส่วนคำโท ในบาทสุดนั้นรวมเอาเข้ามาไว้เป็นโทคู่ในคำที่ ๔ ที่ ๕ วรรคต้นและรับกับคำโทข้างบนอย่างเดียวกับโคลง ๔ ดั้นทั้งหลาย และจำนวนเอก ๓ โท ๓ ก็มีอย่างเดียวกัน ดังแผนต่อไปนี้
silapa-0401 - Copy
ตัวอย่างจากคำประพันธ์บางเรื่อง
silapa-0401 - Copy1
หมายเหตุ  โคลง ๒ โคลง ๓ ดั้นโบราณ ท่านก็นิยมใช้อย่างเดียวกับโคลง ๒ โคลง ๓ สุภาพโบราณซึ่งกล่าวมาแล้ว ให้สังเกตอย่างข้างต้นนั้น

โคลงพิเศษต่างๆ  นอกจากโคลงสามัญที่ได้แสดงมาแล้ว ยังมีโคลงแบบต่างๆ ซึ่งท่านนิยมแต่งกันมาแต่โบราณอีกหลายอย่าง ในที่นี้รวมเรียกว่าเป็นโคลงพิเศษ ดังจะรวบรวมมาไว้ต่อไปนี้

๑. โคลงกระทู้ต่างๆ  คือโคลงที่ต้องแต่งตามกระทู้ หมายความว่าเมื่อจะแต่งโคลงชนิดนี้ ซึ่งเป็นโคลง ๔ เป็นพื้น จะต้องตั้งคำที่นับว่าเป็นกระทู้ (หลัก) ไว้หน้าบาททั้ง ๔ บาทก่อน กระทู้นั้นจะเป็นคำๆ เดียวกัน เช่น ขอ, ขอ, ขอ, ขอ ดังนี้ก็ได้ หรือจะเป็นคำ ๔ คำ ซึ่งมีความหมายต่างๆ เช่น อย่า, ไว้, ใจ, ทาง ให้เรียงอยู่หน้าบาท บาทละคำ แล้วก็แต่งโคลงขยายความของกระทู้ให้ได้ความกว้างขวางออกไปก็ได้  ถ้าคำกระทู้อยู่หน้าบาทๆ ละคำ เรียกว่ากระทู้ ๑, ๒ คำ เรียกว่ากระทู้ ๒, ๓ คำเรียกว่ากระทู้ ๓ และ ๔ คำเรียกว่ากระทู้ ๔ แต่ตามธรรมดาเรียกว่ากระทู้ ๑, กระทู้ ๒ เป็นพื้น นอกนั้นก็มีเล็กๆ น้อยๆ ยิ่งกระทู้ ๔ ด้วยแล้วไม่ใคร่พบเลยทีเดียว ดังตัวอย่างต่อไปนี้

กระทู้ ๑ ๑  จูบ    จอมถนอมเกศเกล้า    บุตรา
ลูก    หลบสบนาสา           เสียดต้อง
ถูก    โฉมวรยุพา               ขวัญเนตร พี่เอย
แม่    อย่าถือโทษข้อง        ขุ่นแค้นเคืองเรียม

กระทู้ ๒ ๒     เพื่อนกิน     สิ้นทรัพย์แล้ว    แหนงหนี
หาง่าย        หลายหมื่นมี      มากได้
เพื่อนตาย   ถ่ายแทนชี        วาอาตม์
หายาก        ฝากผีไข้          ยากแท้จักหา

กระทู้ ๓ ๓    ป่าพึ่งเสือ         หมู่ไม้        มากมูล
เรือพึ่งพาย        พายูร        ยาตรเต้า
นายพึ่งบ่าว       บริบูรณ์        ตามติด มากแฮ
เจ้าพึ่งข้า          ค่ำเช้า        ช่วยสิ้นเสร็จงาน
………………………………………………………………………………………….
๑ ในแบบฉันทลักษณ์เดิม “อย่าเกียจอย่าคร้าน” การที่เอากระทู้ “จูบลูกถูกแม่” มาแทนนั้น เพราะเห็นว่าวิธีแต่งขยายความได้กว้างขวางและเหมาะดีสมควรเป็นแบบ

๒-๓ กระทู้ ๒, ๓ ตามแบบฉันทลักษณ์เดิมท่านคัดมาจากแบบสอนอ่านประถมมาลาอีกทีหนึ่ง
………………………………………………………………………………………….
กระทู้ ๔ ๑  ฝนตกแดดออก        แจ้          แจ่มแสง
นกกระจอกเข้ารัง      แฝง        ใฝ่เร้น
แม่ม่ายใส่เสื้อ           แดง        ดูฉาด
เอาเสื่อคลุมหลัง      เต้น         ต่อล้อหลอกฝน

หมายเหตุ  ข้อสำคัญของการแต่งโคลงกระทู้ต้องขยายความบทกระทู้ออกไปให้ได้ความแจ่มแจ้งและเหมาะเจาะไม่ซ้ำกัน เว้นไว้แต่กระทู้ที่ไม่มีความหมาย หรือมีความหมายกว้างเช่นนี้ ผู้แต่งเลือกหาความแต่งเอาเองตามแต่จะเห็นเหมาะ หรือบางทีผู้แต่งต้องการจะให้ขบขัน แต่งขยายความให้ต่างไปจากกระทู้ก็มีเป็นพิเศษ

อนึ่งในโคลงกระทู้นี้  ถึงจะตั้งกระทู้ไว้หน้าบาทไม่เท่ากันทุกบาท เช่น กระทุ้ “ช้าช้า, ได้, พร้าสองเล่ม, งาม”  ดังนี้ท่านก็ไม่ห้าม ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าต้องแยกกระทู้ออกให้ห่างกับเนื้อโคลง  และต้องให้ได้เอกโทของโคลงด้วย

และโคลงกระทู้นี้แต่งปนไปกับโคลง ๔ ได้ทุกชนิด แต่อย่าให้ก้าวก่ายชนิดกัน คือโคลงสุภาพก็ให้เป็นสุภาพด้วยกัน และโคลงดั้นก็ให้เป็นโคลงดั้นด้วยกัน

๒. ประเภทโคลงกลต่างๆ  โคลงกลต่างๆ นี้ ก็เป็นทำนองเดียวกับกลอนกลต่างๆ ที่อธิบายมาแล้ว กล่าวคือแบ่งออกเป็น ๒ ชนิด คือ

๑. โคลงกลบท  คือแบบโคลงที่ท่านกำหนดสัมผัสสระ สัมผัสอักษรหรือวางคำไว้ตรงนั้นตรงนี้เป็นแบบต่างๆ แล้วให้ชื่อต่างๆ กัน บางแบบก็เหมือนกลอนกลบท แล้วแตเหมาะ

๒. โคลงกลอักษร  คือแบบโคลงที่ท่านวางอักษรหรือถ้อยคำไว้ให้เป็นกลต่างๆ ซึ่งผู้อ่านจะต้องพยายามอ่านเอาเองให้ถูกต้องตามแบบโคลง และให้ชื่อต่างๆ เช่นกัน ดังจะยกตัวอย่างมาให้ดูพอเป็นที่สังเกตต่อไปนี้
………………………………………………………………………………………….
๑ กระทู้ ๔ นี้เคยได้ยินอยู่โคลงเดียวเท่านี้  จึงชักมาเป็นตัวอย่างเสียให้ครบ แต่ของเก่าบาท ๔ เป็น “สากกะเบือเหน็บหลัง” ดูไม่เหมาะจึงเปลี่ยนเสียใหม่ เพื่อให้เหมาะที่จะเป็นแบบ
………………………………………………………………………………………….
๑. โคลงกลบทจากศิลาจารึกวัดพระเชตุพน
โคลงกลบทอักษรสลับ๑ คือ ในบาทหนึ่งๆ กำหนดให้อักษร ๒ ตัวสลับกันไปจนจบบาท (สร้อยไม่นับ) ดังนี้

วิวิธมาลี
“ผายสารพงศ์ศาสน์ผู้         ส่ำผอง  มาตย์แฮ
เร่งเตรียมเร่งเตรียมริ          ตริร้น
ทกกิจทกกองทำ                กอบทั่ว  สถานเฮย
แผกแบบพู้นเบื้องพ้น         เบี่ยงผัน ฯลฯ”

โคลงกลบทกินนรเก็บบัว  คือในวรรคหน้าของทุกบาทแห่งโคลงสุภาพให้มีคำที่ ๒ ซ้ำกับคำที่ ๔ แต่สำหรับโคลงดั้นในบาท ๔ ให้คำที่ ๑ ซ้ำกับคำที่ ๓ ดังนี้

วิวิธมาลี
“เช็ด หน้า บาน หน้า วาด         วิจิตร อุไรฤา
แทตย์ แบก แท่น แบก พบู        ทายเทิด ขรรค์เอย
มุข นอก มุข หน้าห้อง               แห่งละสอง ฯลฯ”

โคลงนาคบริพันธ์  คือให้คำท้ายบาท ๒ คำ  ได้สัมผัสอักษรกับ ๒ คำของบาทต้นต่อไป และใน ๒ คำนั้นให้คำต้นซ้ำกันด้วย (สร้อยไม่นับ) ดังนี้

วิวิธมาลี
“ตำบลหนแห่งห้อง            หอ ธรรม์ นั้นแฮ
หอ เทศน์สถานการเปรียญ        แรก สร้าง
แรก ใส่ขดานสวรรค์            สบ ทั่ว พื้นพ่อ
สบ ที่ชำรุดรื้อมล้าง            มละ บูรณ์

บทต่อไป มละ เบื้อง ฯลฯ

หมายเหตุ  ตัวอย่างที่ยกมานี้เป็นโคลงดั้นวิวิธมาลีทั้งนั้น และยกเฉพาะบทต้นเท่านั้น บทต่อไปก็เช่นเดียวกัน ถ้าจะแต่งเป็นโคลงสุภาพก็แต่งได้เช่นกัน เว้นแต่บางแบบที่ติดขัดด้วยข้อบังคับ เช่นแบบกินนรเก็บบัว โคลงดั้นจะ
………………………………………………………………………………………….

๑ โคลงกลบทต่างๆ นี้ ในศิลาจารึกวัดพระเชตุพน ท่านเรียกว่า “กลอักษรสลับ” “กลกินนรเก็บบัว” ฯลฯ คงเป็นด้วยจะเรียกง่ายๆ ในที่นี้เรียกเต็มชื่อ ตามแบบกลอนกลบท
………………………………………………………………………………………….
ให้คำที่ ๒ ซึ่งเป็นเอกไปซ้ำกับคำที่ ๔ ซึ่งเป็นโทไม่ได้ จึงต้องร่นมาเป็นคำที่ ๑ ซ้ำกับคำที่ ๓ เป็นต้น และโคลงกลบทเหล่านี้ต่างแทรกเข้าในคำโคลงเรื่องยาวๆ ก็ได้ตามเหมาะแก่เรื่อง  แต่ต้องให้เป็นชนิดเดียวกับโคลงท้องเรื่อง คือสุภาพหรือดั้นก็ให้เป็นอย่างเดียวกัน

๒. โคลงกลอักษรจากศิลาจารึกวัดพระเชตุพน๑
โคลงกลอักษร  ชื่อ “ลักษณะซ่อนกล” คือโคลง ๔ แต่เขียนไว้ ๓ บรรทัด บรรทัดกลางเขียนควงกันไว้เป็นการซ่อนกล  ให้ผู้อ่านค้นอ่านเอาเองให้ถูกระเบียบการโคลงและให้ได้ความด้วย ดังนี้
silapa-0405 - Copy

วิธีอ่าน
“หะหายกระต่ายเต้น        ชมจันทร์
มันบ่เจียมตัวมัน             ต่ำต้อย
นกยูงหยั่งกระสัน           หาเมฆ
มันบ่เจียมตัวน้อย           ต่ำเตี้ยเดียรฉาน”

โคลงกลอักษร ชื่อ “ลักษณะซ่อนเงื่อน” คือโคลง ๔ แต่เขียนไว้ ๓ บรรทัดอย่างแบบข้างบน ต่างกันแต่เพียงอ่านคำในควงวรรคหน้าข้างล่างก่อน ซึ่งเป็นการตรงกันข้ามกับแบบข้างบนเท่านั้น ดังนี้

silapa-0406 - Copy
………………………………………………………………………………………….
๑ โคลงกลอักษรต่างๆ นี้ ในศิลาจารึกวัดพระเชตุพน ท่านเรียกว่า โคลงกลบทและโคลงกลบมต่างๆ ท่านเรียกว่าโคลงกล ส่วนกลอนกลบทนั้นท่านเรียกไว้ชัดเจนว่า กลอนกลบทพวกหนึ่ง กลอนกลอักษรพวกหนึ่ง ดังอธิบายมาแล้วตามแบบของท่าน ดังนั้นเพื่อให้ได้ระเบียบแบบแผนสมกับที่จะเป็นตำราต่อไป จึงจัดโคลงกลให้เป็น ๒ ชนิด คือ โคลงกลบทชนิดหนึ่ง โคลงกลอักษรชนิดหนึ่ง อนุโลมตามกลอนของท่าน
………………………………………………………………………………………….

วิธีอ่าน
“จรีกางห่มหอกเสื้อ        แทงเขน
สองประยุทธ์ยืนยัน        ย่องย้อง
นางอั้วเพ่งผัวเอน         ควายเสี่ยว
สองประจัญมือจ้อง        จ่อแทง”

โคลงกลอักษร  ชื่อว่า “จองถนน” คือบรรจุคำไว้ในตาราง ๔ ช่องๆ ละแถว กับช่องด้านสกัดหัวท้ายช่องละ ๒ แถว ให้คิดอ่านเอาเองให้ได้ถูกตามแบบข้อบังคับโคลงและให้ได้ความด้วย ดังรูปต่อไปนี้
silapa-0406 - Copy1
วิธีอ่าน
ศศิธรจรแจ่มเรื้อง               ศศิธร
ผ่องแผ้วกลางอัมพร           ผ่องแผ้ว
ดาษดาวประดับสลอน        ดาวดาษ
ล้อมแวดจันทราแพร้ว         แวดล้อมศศิธร

หมายเหตุ  โคลงกลอักษรนี้มีมากมาย แล้วแต่กวีโบราณจะคิดขึ้น และให้ชื่อไว้ต่างๆ อย่างเดียวกับแม่ครัวให้ชื่อของกินที่ประดิษฐ์ขึ้น ฉะนั้น และแต่งไว้เพียงเป็นเครื่องทดลองปัญญากันเล่นเท่านั้น หาได้ใช้แต่งแทรกแซงลงในบทกวีใดๆ ไม่ ที่นำตัวอย่างบางบทมาไว้ที่นี้ก็เพื่อให้รู้แบบแผนโบราณสิ่งละอันพรรณละน้อย พอให้เข้าระเบียบกลอนกล โคลงกล ครบวิธีเท่านั้น และสมัยนี้ก็ไม่มีผู้นิยมใช้แล้ว

๓. โคลงตามแบบคัมภีร์กาพย์  โคลงจำพวกนี้ได้แก่โคลง ๔ ไทยที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่อาจารย์ทางภาษาบาลีรวบรวมคำเทศน์ต่างๆ ของไทย คือ โคลง ร่าย และกาพย์ (เช่นยานี, ฉบัง, สุรางคนางค์ ฯลฯ) แต่งขึ้นเป็นภาษาบาลีให้ชื่อว่า “คัมภีร์กาพย์สารวิลาสินี” และ “คัมภีร์กาพย์คันถะ” ซึ่งที่จริงคำกานท์เหล่านี้ก็คล้ายกับคำกานท์ของเราทั้งนั้น แต่เพราะภาษาบาลีไม่นิยมวรรณยุกต์ คำโคลงเหล่านี้จึงไม่กำหนดวรรณยุกต์ด้วย เป็นแต่กำหนดคณะ และสัมผัส ตามที่ภาษาบาลีจะมีได้เท่านั้น

เพราะแบบโคลงเหล่านี้ มีในพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๖ มากแห่ง และมีผู้นิยมประพันธ์ตามเสด็จด้วย จึงนำแบบโคลงเหล่านี้มาไว้เพื่อให้เป็นความรู้ต่อไป  และโคลงเหล่านี้ท่านเรียกเป็นคำบาลีว่า “กาพย์” ทั้งหมด ถ้าวรรคท้ายบท ๒ คำอย่างโคลงดั้น ท่านให้ชื่อเฉยๆ เช่น “วิชชุมาลี, จิตรลดา ฯลฯ” ถ้าวรรคท้ายบท ๔ คำอย่างโคลงสุภาพ ท่านเติมคำมหาเข้าอีกเป็น “มหาวิชชุมาลี, มหาจิตรลดา” เป็นต้น ดังตัวอย่างต่อไปนี้

จากกาพย์สารวิลาสินีที่แต่งเป็นไทยเทียบไว้
silapa-0407 - Copy
ข. มหาวิชชุมาลี (ระเบียบสายฟ้าใหญ่) ทั้งสามบาทข้างต้นเหมือนวิชชุมาลี แต่วรรคท้ายบทเป็น ๔ คำ ตรงกับโคลงดั้นมหาวิวิธมาลี แต่ไม่กำหนดเอกโท

บาทสี่ “ตั้งกระหม่อมข้านิตย์    ต่อเท่าเมื่อมรณ์”

silapa-0408 - Copy
ฆ. มหาจิตรลดา (เถาวัลย์งามใหญ่) ก็เหมือนมหาวิวิธมาลีอย่างจัตวาทัณฑีนั้นเอง คือมีวรรคท้ายบทเป็น ๔ คำ ดังนี้

บาทสี่  “รัศมีเรืองกล้าแหล่ง        แห่งห้วงเวหา”

silapa-0408 - Copy1
จ. มหาสินธุมาลี (ระเบียบสายน้ำใหญ่) ต่างจากสินธุมาลีที่มีวรรคท้ายบาท ๔ เป็น ๔ คำ ซึ่งตรงกับโคลงสี่สุภาพธรรมดาที่ไม่กำหนดเอกโท ตัวอย่างบาท ๔ ท่านให้ไว้—“สัตบุรุษทั่วหล้า    ชมนิตย์ชื่อธรรม”
silapa-0409 - Copy
ช. มหานันททายี (ให้ความเพลินใหญ่) ๓ บาทต้นอย่างนันททายี แต่วรรคท้ายบทมี ๔ คำ ตรงกับโคลงสี่สุภาพที่จัตวาทัณฑีทั้งบาท ๒-๓ ตัวอย่างบาท ๔ ท่านให้ไว้

“เฉกพระพุทธเจ้า        เตือนโลกให้เห็นธรรม”
จากกาพย์คันถะที่แปลเทียบเป็นไทยไว้

ก. ทีฆปักษ์ (มีปีกยาว) ไม่เคยเห็นโคลงไทย มีคณะและสัมผัส ดังนี้
silapa-0409 - Copy1
ข. รัสสปักษ์ (มีปีกสั้น) ไม่เคยเห็นโคลงไทย มีคณะและสัมผัส ดังนี้
silapa-0410 - Copy
หมายเหตุ  ตามตัวอย่างภาษาไทยที่แต่งไว้นี้ ท่านพยายามให้ละม้ายโคลงไทย แม้เอกโทก็พยายามวางไว้ด้วย จึงปรากฏเป็นแบบโคลงเช่นนี้ ถ้าจะแต่งตามบาลีของท่านจริงๆ แล้ว จะไม่เห็นเป็นโคลงเลย และที่ท่านแต่งก็แต่งอย่างแบบตัวอย่างไทย

๔. โคลงโบราณชื่อมณฑกคติ (กบเต้น) โคลงห้า  โคลงแบบนี้เป็นของโบราณมีในประกาศแช่งน้ำพระพิพัฒน์สัตยา  ท่านนำมาอธิบายไว้ในฉันทลักษณ์เดิม เพื่อให้ครบแบบโคลงไทย ในที่นี้จึงอธิบายไว้ด้วยพอเป็นความรู้พร้อมกับนำตัวอย่าง ดังนี้

คณะ  ที่เรียกว่าโคลงห้าสำหรับโคลงนี้ หาได้เรียกตามจำนวนบาทอย่างโคลง ๒, โคลง ๓, โคลง ๔ ไม่  แต่กำหนดคำในบาทหนึ่งๆ มี ๕ คำ และมี ๔ บาทเป็น ๑ บท และในบาท ๔ นั้นเติมสร้อยได้ ๒ คำทั้ง ๔ บาท และคำสร้อยนั้นไม่ต้องลงท้ายสร้อยว่า “แล, แฮ, นา” ฯลฯ ดังโคลงธรรมดาเสมอไป จะลงห้วนๆ เป็นถ้อยคำธรรมดาก็ได้

สัมผัสและเอกโท  ส่วนสัมผัสนั้นเป็นโคลงบาทกุญชร  คือสัมผัสส่งอยู่ท้ายบท  ถ้ามีสร้อยก็อยู่ท้ายสร้อย  ส่วนสัมผัสรับนั้นต้องข้ามไปรับในบาทที่ ๒ คำใดคำหนึ่งในสี่คำต้น  ถ้ามีสร้อยคำที่ ๕ ก็รับได้และรับกันเหมือนร่าย คือคำเป็นรับคำเป็น คำตายรับคำตาย เอกรับเอก และโทรับโท ส่วนเอกโทนั้นบังคับแต่โทอยู่ท้ายบาท ๒  ถ้ามีสร้อยก็อยู่ท้ายสร้อยและสัมผัสโทรับที่ต้นบาท ๔ ได้ทั้ง ๔ คำ  ถ้ามีสร้อยรับโทคำที่ ๕ ก็ได้  ส่วนเอกนั้นไม่มีบังคับ ดังแผนต่อไปนี้

แผนโคลงมณฑกคติ
silapa-0411 - Copy

silapa-0412

silapa-0413
silapa-0414 - Copy

๕. โคลงที่แต่งเข้ากับกาพย์  คือ (ก) โคลง ๔ สุภาพที่แต่งเข้ากับกาพย์ยานี ซึ่งเรียกว่า “กาพย์ห่อโคลง” ซึ่งมีข้อบังคับเหมือนโคลง ๔ สุภาพนั่นเอง จะอธิบายในกาพย์ห่อโคลงต่อไป

(เขา) โคลงขับไม้ คือโคลง ๔ สุภาพที่ไม่นิยมเอก แต่งสลับกับกาพย์สุรางคนางค์ ซึ่งเรียกว่ากาพย์ขับไม้ จะอธิบายต่อไปในข้อกาพย์ขับไม้อีก

คำร่ายต่างๆ  คำร่ายเป็นคำกานท์เก่าแก่ของไทยเราคู่กับคำโคลง กล่าวคือ คำร่ายเป็นคำขับร้องกันสามัญทั่วไป  ส่วนคำโคลงนั้นเป็นคำกานท์ที่
………………………………………………………………………………………….
๑ โคลงแบบนี้เป็นของเก่าแก่มาก ท่องจำและคัดลอกกันหลายทอดจึงได้ตกหล่นและคลาดเคลื่อนไปมาก  ต่อเมื่อตรวจดูทั่วๆ ไปแล้วจัดวรรคตอนเสียใหม่เล็กน้อย ก็จะเห็นได้ว่าของท่านเป็นระเบียบเรียบร้อย ดังแผนที่วางไว้ข้างบนนี้ การที่นำตัวอย่างมาให้ดูมากๆ พร้อมด้วยวรรคตอนและบอกสัมผัสด้วยนี้ เพื่อจะให้สังเกตง่ายขึ้น แต่เพราะโคลงนี้ได้ใช้ท่องจำสวดอ่านเอื้อนจังหวะสั้นๆ ยาวๆ จึงตกหล่นไปบ้าง สังเกตได้ที่บางบทมี ๓ บาทเท่านั้น และสัมผัสก็ไม่รับกันตามที่เคยรับกันด้วย และบางแห่งก็แยกวรรคเคลื่อนคลาดเอาคำต้นวรรคท้ายมาเป็นสร้อยปลายวรรคต้น เลยทำให้ไม่คล้องจองกันดังแผนเลย เช่นคำ “ช่วยดู” ซึ่งเขียนไว้เป็นสร้อยของวรรคต้นต่อไปนี้

๑. “มารเฟียดไททศพลช่วยดู     แดนไตรจักรอยู่ค้อย
ธรมาครปรัตเยกช่วยดู               ห้าร้อยเฑียรแมนเดียว
๒. อเนกถ่องพระสงฆ์ช่วยดู        เชียวจรรยายิ่งได้(เขียวคือเชี่ยว)
ขุนหงส์ทองเกล้าสี่ช่วยดู           ชระอ่ำฟ้าใต้แผ่นหงาย”ฯ เป็นต้น

ดังนี้จะเห็นได้ว่าผิดระเบียบเดิมๆ หมด ถ้าเอาคำ “ช่วยดู” ไปไว้ต้นบทหน้า ก็จะเข้าระเบียบเดิมหมดดังนี้
“๑. มารเปียดไททศพล*๑
ช่วยดูแดนไตรจักร อยู่ค้อย*๒ (มีสร้อย)
ธรมาครปรัตเยก*๓ (ธรมาคร คงอ่านธนรมาก อย่างทรมานอ่านทนระมาน)
ช่วยดูห้าร้อย ๒ เฑียร แมนเดียว*๔
๒. อเนก๓ ถ่องพระสงฆ์*๕
ช่วยดูเชียวจรรยา ยิ่งได้๖ (มีสร้อย)
ขุนหงส์ทองเกล้าสี่*๗
ช่วยดูชระอ่ำฟ้าใต้ แผ่นหงาย*๘ (มีสร้อยจึงรับ ๕ ได้)
(*๗ และ *๘ ส่งต่อไปในบท ๓) และยังมีที่อื่นอีกมาก

อนึ่ง ข้อบังคับโทตรวจดูทั้งหมดมีรับตั้งแต่คำ ๒ ถึงคำ ๕ แต่รับคำ ๑ ไม่มี น่าจะเป็นบังเอิญ จึงตั้งแผนให้รับคำที่ ๑ ได้อย่างสัมผัสท้ายบาทอื่นด้วย
………………………………………………………………………………………………….
กวีประดิษฐ์ให้มีข้อบังคับพิสดารขึ้นไปอีกต่อหนึ่งดังกล่าวมาแล้ว คำร่ายต่างๆ ตามที่ตรวจค้นดูเห็นมีต่างๆ กัน แต่จะจำแนกประเภทตามฉันทลักษณ์เดิมซึ่งท่านจำแนกไว้เป้น ๔ ชนิด คือ ร่ายโบราณ, ร่ายสุภาพ, ร่ายดั้น และร่ายยาว จะได้แยกอธิบายข้างหน้าต่อไป

๑. ข้อบังคับทั่วๆ ไปของร่าย เพราะร่ายเป็นคำกานท์เก่าแก่ จึงมิได้มี ข้อบังคับมากมายนัก กล่าวทั่วไปก็มีดังนี้

คณะ บทหนึ่งจะมีกี่วรรคก็ได้ แต่มีตั้งแต่ ๕ วรรคขึ้นไปเป็นพื้น ส่วน ตอนจบนั้นบางชนิดก็จบลงห้วนๆ บางชนิดก็มีข้อบังคับซึ่งจะอธิบายข้างหน้า ส่วนคำในวรรคหนึ่งๆ นั้น โดยมากกำหนด ๕ คำ แต่บางชนิดน้อยกว่าหรือมากกว่าก็ได้ ดังจะแยกอธิบายข้างหน้าเช่นกัน

สัมผัส ที่เป็นพื้นของร่ายนั้น คือมีสัมผัสส่งท้ายวรรค และมีสัมผัสรับ เชื่อมต้นวรรคหน้าต่อไป เช่นนี้จนจบ และสัมผัสส่งและสัมผัสรับที่เชื่อมกับวรรคหน้าต่อๆ กันไปนี้ จะต้องเกี่ยวกับเสียงวรรณยุกต์ด้วย คือต้องส่งและรับ คำชนิดเดียวกัน เช่นส่งคำเป็นก็ต้องรับคำเป็น๑ ส่งคำตายก็ต้องรับคำตาย ส่งคำเอกก็รับคำเอก และส่งคำโทก็ต้องรับคำโท เป็นดังนี้เสมอไป และสัมผัสเชื่อมที่รับในวรรคต่อไปนั้น ถ้าเป็นร่ายวรรคละ ๕ คำ มักใช้รับคำที่ ๑-๒-๓ คำใดคำหนึ่ง แต่รับคำที่ ๓ นับว่าเพราะกว่าที่อื่น ถ้าคำในวรรคน้อยกว่าหรือมากกว่า ๕ คำก็รับร่นเข้ามาหรือยืดออกไปได้แล้วแต่จะเหมาะ  และสัมผัสส่งและรับดังอธิบายข้างบนนี้ต่อไปจะเรียกว่า “สัมผัสร่าย” และร่ายบางชนิดก็มีข้อบังคับในตอนจบอีก จะอธิบายไว้เฉพาะร่ายชนิดนั้นๆ ต่อไปข้างหน้า
………………………………………………………………………………………….
๑ คำเป็นในที่นี้ คือเสียงสามัญและเสียงจัตวา เช่น มา, หา, จ๋า, เขย, เผย เป็นต้น ส่วนคำตายนั้นได้แก่คำตายทั้งหมดตามอักขรวิธีแม้ที่มีไม้ตรีด้วย จะ, จ๊ะ, คะ, เคิด, จิต, มาด, อาจ, ขาด, ก๊ก, อ๊อด เป็นต้น ส่วนคำเอกโทคือคำที่มีไม้เอกโทบังคับข้างบน เช่น น่า, ผ่า, มั่น, หัน ฯลฯ และ น้า, ป้า, หมั้น, ครั้น เป็นต้น

อนึ่ง คำเป็นซึ่งบังคับไม้ตรี เช่น เก๊า, กุ๊ย เป็นต้น  ถึงแม้จะใช้ในที่บังคับเอกโทไม่ได้ก็ควรใช้รับกับเสียงตรีของอักษรต่ำ  ในที่ไม่มีบังคับเอกโทตามแผนได้ เช่น “น้า” “รับ” “ก๊า” และ ส่ง “กุ๊ย” “รับ” “คุ้ย” ดังนี้เป็นต้น
………………………………………………………………………………………….
๒. ร่ายโบราณ  ที่จริงคำร่ายทั้งหลายนับว่าเป็นของโบราณทั้งนั้น ที่เรียกว่า “ร่ายโบราณ” ในที่นี้หมายเฉพาะเป็นชื่อคำร่ายชนิดหนึ่งซึ่งมีชุกชุมในวรรณคดีโบราณ เช่น ลิลิตพระลอเป็นต้นเท่านั้น ซึ่งมีข้อบังคับดังนี้

คณะ  บทหนึ่งจะมีกี่วรรคก็ได้ แต่มักจะมีตั้งแต่ ๕ วรรคขึ้นไป เพราะถ้ามีสี่วรรคท่านก็มักแต่งเป็นโคลงสามเสียแทบทั้งนั้น และคำในวรรคหนึ่งๆ นั้น ท่านกำหนดไว้เป็นหลัก ๕ คำตลอดไปทุกวรรคจนจบ

คำสร้อย  ถ้าจะเติมสร้อยก็เติมได้อีก ๒ คำ อย่างสร้อยโคลงธรรมดา หรือจะเติมสลับไปทุกวรรคก็ได้ ซึ่งเป็นแบบที่ท่านแต่งเล่นเป็นพิเศษ

สัมผัส  มีสัมผัสส่งท้ายวรรค และสัมผัสเชื่อมรับคำที่ ๑-๒-๓ ของวรรคต่อไปอย่างสัมผัสส่งและรับของร่ายทั่วๆ ไปดังแสดงมาแล้ว และคำส่งวรรคท้ายบท คือคำจบบท ท่านห้ามคำบังคับไม้เอก, โท, ตรี, และคำตาย

แผนร่ายโบราณ
silapa-0416 - Copy
ตัวอย่างในลิลิตพระลอ (ตามฉันทลักษณ์เดิม)

“ชมข่าวสองพี่น้อง ต้องหฤทัยจอมราช พระบาทให้รางวัล ปันผ้าเสื้อสนอบ ขอบใจสูเอาข่าว มากล่าวต้องติดใจ บารนี”

หมายเหตุ  ระเบียบที่ว่าวรรคละ ๕ คำนั้น เป็นหลักที่ถูกต้องตามแผนที่ท่านวางไว้เท่านั้น แต่ของเก่าท่านใช้มากไปบ้าง น้อยไปบ้างก็มี ดังร่ายโบราณเบื้องต้นลิลิตพระลอต่อไปนี้

“ศรีสิทธิฤทธิชัย             ไกรกรุงอดุงเดชฟุ้งฟ้า
หล้าระรัวกลัวมหิมา          ระอาอานุภาพ
ปราบทุกทิศ ฤทธิรุกราน    ผลาญพระนคร
รอนลาวกาว ตาวตัดหัว     ตัวกลิ้งกลาดดาษดวน ฯลฯ”

ทั้งนี้ สังเกตได้ว่ามีลักษณะคล้ายร่ายดั้น ต่างกันก็เพียงร่ายนี้จบห้วนๆ ซึ่งผิดกับร่ายดั้น ซึ่งตอนจบมีข้อบังคับแปลกออกไป และบัดนี้ก็ไม่ใครนิยมแต่งกันแล้ว

๓. ร่ายสุภาพ  ร่ายแบบนี้ท่านนิยมแต่งกันแพร่หลายมาจนบัดนี้ และนิยมแต่งกันถูกต้องตามแบบแผน เช่นเดียวกับโคลงต่างๆ ที่แต่งกันในสมัยนี้ ข้อบังคับร่ายสุภาพนั้นมีดังนี้

คณะ  บทหนึ่งๆ มีตั้งแต่ ๕ วรรคขึ้นไป เพราะว่ามี ๓ วรรคหรือ ๔ วรรค ก็เป็นโคลง ๒ โคลง ๓ สุภาพดังกล่าวแล้ว และในวรรคหนึ่งๆ เบื้องต้นนั้นมีวรรคละ ๕ คำตลอดไป จะเป็นกี่วรรคก็ได้ไม่กำหนด แต่เมื่อจะจบนั้น ต้องเอาโคลงสุภาพเข้ามาต่อ

คำสร้อย มีได้ ๒ คำ ในที่สุดอย่างสร้อยโคลงธรรมดา หรือจะมีสลับวรรคอย่างร่ายโบราณก็ได้

สัมผัส มีสัมผัสส่งในท้ายวรรค และสัมผัสเชื่อมในวรรคต่อไป เป็นสัมผัสรับในคำที่ ๑-๒-๓ คำใดคำหนึ่ง ดังนี้เสมอไป  จนถึงวรรคสุดท้ายก็ให้สัมผัสส่งไปยังบาทต้นของโคลง ๒ สุภาพ  ซึ่งเป็นสัมผัสรับในคำที่ ๑-๒-๓ อย่างข้างต้น ส่วนสัมผัสส่งและรับที่เกี่ยวกับวรรณยุกต์ก็เช่นเดียวกับที่กล่าวไว้ ดังแผนต่อไปนี้

แผนร่ายสุภาพ
silapa-0417 - Copy
ตัวอย่างร่ายสุภาพจากลิลิตพระลอ
“ข้าไหว้ถวายชีพิต                เผือข้าชิดข้าเชื่อ
เขือดังฤาเหตุใด(โคลง ๒)     ธมิไว้ใจเท่าเผ้า
สองแม่ณหัวเจ้า                    มิได้เอ็นดู เผือฤา”

หมายเหตุ  ควรสังเกตว่าโคลง ๒ สุภาพ, โคลง ๓ สุภาพ และร่ายสุภาพมีข้อบังคับแบบเดียวกัน ต่างแต่จำนวนวรรคเท่านั้น คือ (๑) โคลง ๒ สุภาพ มี ๒ บาท ๓ วรรค (๒) ถ้าเติมข้างหน้าโคลง ๒ เข้าอีกวรรคหนึ่งเป็น ๔ วรรค (๓ บาท) และส่งรับกันอย่างร่ายก็เรียกว่าโคลง ๓ สุภาพ (๓) แต่ถ้าเติมข้างหน้าโคลง ๓ เข้าอีกสักกี่วรรคก็ตาม และส่งรับกันอย่างร่ายดังกล่าวแล้วก็ได้ชื่อว่า ร่ายสุภาพทั้งนั้น

๔. ร่ายดั้น  ร่ายแบบนี้ท่านก็นิยมแต่งกันมากเหมือนกัน แต่สังเกตดูคำ ในวรรคหนึ่งๆ มักใช้ ๕ คำ อย่างร่ายสุภาพโดยมาก แต่ข้อบังคับของท่านจะน้อยหรือมากกว่า ๕ คำก็ได้ ดังนี้

คณะ  บทหนึ่งๆ มีตั้งแต่ ๕ วรรคขึ้นไป เพราะ ๔ วรรคตอนจบนั้นต้องเป็นบาท ๓ และบาท ๔ ของโคลง ๔ ดั้นเสมอไป และวรรคต้นๆ ถัดไปนั้น ท่านกำหนดว่า ๕ คำเป็นเหมาะ แต่เพราะเป็นโคลงดั้นท่านจึงไม่กำหนดแน่นอนอย่างร่ายสุภาพ คืออย่างน้อยเพียง ๓ คำ อย่างมากเพียง ๗-๘ คำ แต่เมื่อจบต้องจบด้วยบาท ๓ บาท ๔ ของโคลง ๔ ดั้น ซึ่งมีข้อบังคับอย่างโคลง ๔ ด้วย

คำสร้อย  เติมสร้อยได้ที่สุดร่ายอีก ๒ คำ  หรือจะเติมสร้อยในระหว่างวรรคก็ได้ อย่างร่ายอื่นๆ ที่กล่าวแล้ว

สัมผัส  สัมผัสส่งและรับของร่ายดั้นนี้ ก็อย่างเดียวกับร่ายอื่นๆ ที่กล่าวมาแล้ว แต่เพราะร่ายดั้นมีคำในวรรคหนึ่งๆ ไม่เสมอกัน  คำรับสัมผัสเชื่อมจึงเลื่อนขึ้นลงตามจำนวนคำมากน้อย กล่าวคือ ถ้าเป็นวรรคละ ๕ คำ ก็ควรรับคำที่ ๑-๒-๓ ตามกล่าวมาแล้ว แต่เป็นวรรคละ ๓ หรือ ๔ คำ ก็ควรรับคำที่ ๑-๒ ถ้าเป็นวรรคละ ๖ คำ ก็เลื่อนไปรับได้ถึงคำที่ ๔ และถ้าเป็นวรรคละ ๗-๘ คำ ก็ควรเลื่อนไปรับได้ถึงคำที่ ๕ ข้อสำคัญก็คือไม่ให้คำรับต้นวรรคกับคำท้ายวรรค เป็นคำสัมผัสสระซ้ำกันเช่น “ขอเดชไตรรัตน์ จงขจัดภัยภิบัติ ให้ส่ำสัตว์สำราญ” ดังนี้ใช้ไม่ได้

และเมื่อตอนจบต้องเอาโคลงดั้น บาท ๓ บาท ๔ มาต่อท้ายดังแผนต่อไปนี้
silapa-0419 - Copy
ตัวอย่างร่ายดั้นจากฉันทลักษณ์
“ศรีสวัสดิวิวัฒนวิวิธ    ชวลิตโลกเลื่อง
เฟื่องฟูภูมิมณฑล    สกลแผ่นภพ     สบพิสัยสยาม
รามนรินทร์ภิญโญยศ    ปรากฏกระเดื่อง    เปื่องปราชญ์ปรีชาชาญ
(บาท ๓ โคลง ๔ ดั้น) ขานคุณทั่วทุกทิศ ขจรขจ่าง
(บาท ๔ โคลง ๔ ดั้น) ลือตระลอดฟ้าล้น แหล่งธรา”

หมายเหตุ  ตามตัวอย่างข้างบนนี้ คำสร้อยท้ายบาท ๓ และบาท ๔ เผอิญไม่มี แต่ถ้าจำเป็นจะให้มีก็ได้ตามแผนที่วางไว้ อนึ่งตามแผนข้างบนนี้เป็นแบบที่ใช้กันแพร่หลายมาจนบัดนี้ แต่ร่ายดั้นแบบโบราณท่านใช้แยกไปจากแผนนี้ก็มีบ้าง กล่าวคือตอนเมื่อเชื่อมกับบาท ๓ ของโคลง ๔ ดั้น ตามแผนวรรคต้นใช้ ๕ คำ มีเอกคำที่ ๓ และต้องให้คล้องกับวรรคร่ายข้างต้นด้วย แต่ร่ายดั้นโบรานบางแบบท่านใช้เหมือนวรรคร่ายดั้นธรรมดา จะน้อยกว่า ๕ คำ หรือเกินกว่า ๕ คำก็ได้  และคำเอกที่ ๓ ก็ไม่นิยม เป็นแต่ให้คล้องกับวรรคข้างต้นก็แล้วกันและวรรคต่อไปก็เช่นเดียวกัน ดังตัวอย่างร่ายดั้นเบื้องต้นโคลงศรีปราชญ์กำสรวลต่อไปนี้

“ศรีสิทธิ์วิวิธบวร    นครควรชม    ไกรพรหมรังสรรค์    สวรรค์แต่งแต้ม     แย้มพื้นแผ่นพสุธา    มหาดิลกภพ     นพรัตน์ราชธานี (บาท ๓) บุรีรมย์     เมืองมิ่ง    แล้วแฮ (สร้อย) (บาท ๔) ราเมศรไท้ต้องแต่งเอง”

ดังนี้จะเห็นได้ว่า “บุรีรมย์” ๓ คำท่านใช้เป็นวรรคหนึ่งและไม่กำหนดเอกด้วย เป็นแต่ให้คล้องกับ “ธานี” เท่านั้น

๕. ร่ายยาว  คือร่ายซึ่งท่านนิยมสัมผัสส่งท้ายวรรคและรับต้นวรรคคำใดๆ ก็ได้เป็นสัมผัสเชื่อมกันไปเช่นนี้จนจบ  ส่วนวรรณยุกต์เช่นเอกรับเอก โทรับโท ฯลฯ นั้น ท่านก็นิยมด้วยแต่ไม่เคร่งครัดอย่างร่ายอื่นๆ และร่ายยาวนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับร่ายโบราณมาก ต่างแต่ร่ายโบราณนั้น ท่านแต่งเข้ากับโคลงสุภาพทั้งหลายมีกำหนดคำในวรรคหนึ่งๆ ไว้ชัดเจนและมีสัมผัสและวรรณยุกต์ถูกต้อง ดังแผนที่วางไว้ข้างบนนี้ ส่วนร่ายยาวนั้นเป็นคำกานท์ ซึ่งท่านใช้ร้องและแต่ง เป็นคำสวดเรื่องต่างๆ เพื่ออ่านสู่กันฟังอย่างคำร้องเพลงหรือคำกล่อมลูกเป็นต้น แต่เพราะเขาใช้สัมผัสแบบร่ายดังกล่าวมาแล้ว จึงต้องนับเข้าในร่ายยาวส่วนคำในวรรคหนึ่งๆ จะใช้ ๕-๖ คำ หรือ ๖-๗ คำ หรือมากกว่านี้ก็ได้แล้ว แต่จะเหมาะ แม้สัมผัสก็ไม่เที่ยง จะรับที่ไหนก็ได้เป็นแต่ให้ห่างสัมผัสส่งต่อไป ยิ่งมากยิ่งดี แต่ส่งกับรับจะเป็นคำเดียวร่วมกันไม่ได้ ดังตัวอย่างคำร่ายยาวกาพย์พระมุนีของชาวอีสานต่อไปนี้

“พระมุนีอยู่หัวเป็นเจ้า          เว้าเมื่อหน้ายังกว้างกว่าหลัง
อนิจจังลูกหลานเต็มบ้าน     อย่าขี้คร้านประฮีตคลองธรรม
ให้บำเพ็ญภาวนาอย่าขาด    ให้ตักบาตรอย่าขาดวันศีล” เป็นต้น

อนึ่ง นามประตู, นามเมือง, นามขุนนางที่เป็นชุดกัน แม้จนพระปรมาภิไธยพระเจ้าแผ่นดิน ท่านก็ผูกให้คล้องกัน เป็นแบบร่ายยาวนี้เป็นพื้น ดังตัวอย่างย่อต่อไปนี้

นามประตู—วิเศษชัยศรี, มณีนพรัตน์, สวัสดิโสภา, เทวาพิทักษ์ เป็นต้น

นามกรุงเทพฯ “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยามหาดิลก ภพนพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต ศักรทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์”

นามขุนนางที่เป็นชุดกัน ประกอบวุฒิศาสน์ ประกาศวุฒิสาร ประการวุฒิสิทธิ์ ประกิตวุฒิสนธิ์ เป็นต้น

พระปรมาภิไธยรัชกาลที่ ๑ “พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราช รามาธิบดีศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราชรัตนากาศภาสกรวงศ์ องค์ปรมาธิเบศร์ ตรีภูวเนตรวรนาถนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวศัย สมุทัยดโรมนต์ สกลจักรวาลาธิเบนทร์สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทรธาดาธิบดี ศรีสุวิบุลคุณอักนิฐฤทธิราเมศวรมหันต์  บรมธรรมิกราชาธิราชเดโชชัย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมินทรปรมาธิเบศร์ โลกเชษฐวิสุทธิ รัตนมกุฎประเทศคตมหาพุทธางกูรบรมบพิตร”

อนึ่งร่ายยาวที่ท่านแต่งเป็นเรื่องใหญ่ ก็คือ “ร่ายยาวมหาชาติ ๑๓ กัณฑ์” ที่พระท่านเทศน์มหาชาติอยู่ทุกวันนี้ และนับว่าเป็นวรรณคดีสำคัญของชาวไทยเรา ซึ่งใช้เล่าเรียนอยู่ในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายทุกวันนี้ ข้อสำคัญของการประพันธ์ร่ายยาวไม่ได้อยู่ที่ข้อบังคับตามแผนที่ว่าไว้ แต่อยู่ที่ใช้สัมผัสอักษรใช้ถ้อยคำให้เหมาะแก่เนื้อเรื่อง เช่น โศก, เศร้า, โกรธ ฯลฯ และเหมาะแก่ฐานะของบุคคลในเรื่อง เช่น ไพร่ ผู้ดี ฯลฯ ซึ่งเป็นศิลปะของการประพันธ์อีกแผนกหนึ่ง จึงไม่นำมาอธิบายในที่นี้ แต่จะยกตัวอย่างมาให้เห็นพอเป็นที่สังเกตบ้างดังต่อไปนี้

ก. กัณฑ์มหาพน  พรรณนาเขา (ให้เห็นภาพเด่นชัด)
“(พฺรหฺเม) ดูกรมมหาพราหมณ์พรหมบุตรบวชบรรพชาชาติทิชงคพิสัย, (เอสเสโล) แลถนัดในเบื้องหน้าโน่นก็เขาใหญ่ยอดเยี่ยมโพยมอย่างพะยับเมฆมีพรรณเขียวขาวดำแดงดูดิเรกดั่งรายรัตนนพมณีแนมน่าใคร่ชม ครั้นแสงสุริยะส่องระดมก็ดูเด่นดั่งดวงดาววาวแวววะวาบๆ ที่เวิ้งวุ้ง วิจิตรจำรัสจำรูญรุ่งเป็นสีรุ้งพุ่งพ้นเพียงคัคนัมพรพื้นนภากาศ บ้างก็เกิดก่อก้อนประหลาดศิลาลายแลละเลื่อมๆ ที่งอกง้ำเป็นแง่เงื้อมก็ชะงุ้มชะโงกชะง่อนผา”

ข. ทานกัณฑ์  พระมัทรีตัดพ้อพระเจ้าศรีสญชัย (ใช้คำง่ายๆ แต่เหมาะ)
“พระพุทธเจ้าข้า ขึ้นชื่อว่าบุตรเป็นที่สุดแสนเสน่หา ถึงจะชั่วช้าประการใดใจสามารถ เป็นหนามเสี้ยนเบียนประชาราษฎร์ควรห้ามเฝ้า จะตัดจากลูกเต้านั้นไม่ขาด เกล้ากระหม่อมเหมือนฝ่าละอองธุลีพระบาท ก็คงจะตัดพระลูกขาดได้คล่องๆ ไม่รู้หรือว่าช้างเผือกขาวผ่องต้องพระประสงค์ จะสอยดาวสาวเดือนลงถวายได้ แกล้งเสือกส่งจงใจให้ข้าศึก นี้หากว่าชาวเมืองเขาคิดลึกจึงชวนกันทูลความ พระองค์ขับเจ้าลูกเสียก็งามต้องตามที่ ฯลฯ”

ค. กัณฑ์ชูชก  พราหมณ์ตีเมีย (แสดงสำนวนไพร่)
“(อยํ อมิตฺตตาปนา) เสมือนนางทองอมิตตดานั้นใครไปสอนสั่ง (มหลฺลกพฺราหฺมณํ) ได้ผัวแก่ยังแต่ว่าจะตาย (สมฺมา ปฏิชคฺคิ) แต่ว่าความดีของแม่แกนี่มากมายหมั่นปฏิบัติผัว ถึงรูปเจ้าก็ไม่ชั่วเฉิดกว่าเอ็งสักสิบเท่า (กึหมชฺชถ) เอ็งเอ่ยกระไรเลยมาประมาทเราไม่เกรงกลัว ทุกวันนี้มึงสำคัญกูนี่เป็นผัวหรือเป็นข้า หา! กูนี่เป็นผัวหรือเป็นข้า หรือว่ามึงช่วยกูมานี่สักกี่ชั่ง ฯลฯ”

ฆ. กัณฑ์กุมาร สรรเสริญเกียรติคุณ (เพื่อปลูกศรัทธา)
“(อสฺสโม) อันว่าพระอาศรมบรมนิเวศน์วงกต เป็นที่เจริญพรตพรหมวิหาร แสนสนุกรัมณิยรโหฐานทิพพาอาสน์ ดั่งชะลอบัณฑุกัมพลศิลาลาดเลิศแล้วมาลอยลง สี่กษัตริย์เสด็จดำรงสำรวมกิจ ทรงเพศผนวชเป็นนักสิทธิ์สืบโบราณ โดยอุปนิสสัยสมภารหน่อพุทธางกูร ท้าวเธอก็สู้เสียสละซึ่งมไหสูรย์ ศวรรยางค์ ออกมาก่อสร้างซึ่งพระสมดึงสบารมี น้ำพระทัยท้าวเธอโปร่งเปรมปรีดิ์ปราโมทย์ ฯลฯ”

หมายเหตุ  ศัพท์บาลีที่ท่านแทรกไว้ในคำประพันธ์ตัวอย่างข้างบนนี้ เป็นวิธีประพันธ์คำเทศนาทั่วๆ ไป โดยยกศัพท์บาลีขึ้นไว้แล้วก็อธิบายเป็นคำประพันธ์อีกต่อหนึ่ง ที่ใช้วงเล็บคั่นไว้นั้นแสดงว่าเอาศัพท์บาลีออกเสียก็ได้ ไม่ทำให้สัมผัสเสียไปเลย แต่บางแห่งท่านแต่งให้ศัพท์บาลีคล้องกับคำประพันธ์ เมื่อเป็นเช่นนี้จะยกคำบาลีออกเสียมิได้ เพราะจะทำให้เสียสัมผัสไป ซึ่งผู้อ่านอาจจะทราบได้เอง

(ง) อนึ่งคำร่ายยาวนี้บางตอนท่านทอดวรรคยืดยาว ดังตัวอย่างข้างบนนี้ แต่บางตอนท่านก็ทอดวรรคสั้นๆ อย่างร่ายธรรมดา เช่นตัวอย่างในกัณฑ์ชูชก ตอนซ่อมแซมเรือนว่า “- – โย้ให้ตรงกรานไม้ยัน ค้ำจดจันจุนจ้องไว้ เกลากลอนใส่ซีกครุคระ มุงจะจะจากปรุโปร่ง แลตะละโล่งลอดเห็นฟ้า ขึ้นหลังคาครอบจากหลบ โก้งโค้งกบกดซีกกรอบ ผ่าไม้ครอบคร่อมอกไก่- – – ”  ดังนี้เป็นต้น

อนึ่ง ถ้าสัมผัสส่งกับสัมผัสรับของร่ายยาวนี้อยู่ห่างกันมากเกินควรไป ท่านมักจะสอดสัมผัสสลับแทรกเข้าในระหว่างก็ได้ คล้ายกับสัมผัสของกลอนและกาพย์ เพื่อให้เป็นสัมผัสเชื่อมติดต่อกันจะเป็นกี่คู่ก็ได้ แล้วแต่เหมาะดังแผนต่อไปนี้
silapa-0423 - Copy
โยงข้างบนเป็นสัมผัสส่งรับร่ายยาว  โยงข้างล่างเป็นสัมผัสสลับแทรกเข้ามาเช่นตัวอย่าง
silapa-0423 - Copy1
ระรัว – – ฯลฯ” ดังนี้ โรย และโหย เป็นสัมผัสร่ายยาวธรรมดา ส่วนนาง กับ ยาง, โยน กับ โหน เป็นสัมผัสสลับ ซึ่งแทรกเข้ามาเพื่อเชื่อมให้คล้องจองติดต่อกัน

บางทีสัมผัสรับของร่ายยาว  ซึ่งควรอยู่ต้นของวรรคต่อไปนั้น เมื่อทอดวรรคยาวมากและมีสัมผัสสลับแทรกเข้า ท่านเลยเอาสัมผัสรับนี้ไปไว้วรรคท้ายต่อไป คล้ายสัมผัสรับของกลอนสุภาพบ้างก็มี และสัมผัสรับนี้ก็กลายเป็นสัมผัสส่งร่ายยาววรรคต่อไปด้วยดังแผนต่อไปนี้
silapa-0424 - Copy
โยงข้างบนเป็นสัมผัสส่งรับร่ายยาว  โยงข้างล่างเป็นสัมผัสสลับแทรกเข้ามา ตัวอย่างที่เห็นง่ายคือ สัมผัสเพลงสรรเสริญพระบารมี  ซึ่งนับว่าเป็นร่ายยาวเหมือนกัน ดังนี้

“พระสยามินทร์พระยศยิ่งยงเย็นศิระเพราะพระบริบาล ผลพระคุณธรักษา ปวงประชาเป็นสุขศาสติ์ ขอบันดาล – – -” คำ “ศานติ์” เป็นสัมผัสส่งของร่ายยาวต่อไปอีกด้วย “ดาล” และต่อจากนี้ไปก็มีสัมผัสสลับเช่นเดียวกันดังนี้
“ขอบันดาลธประสงค์ใด จงสิทธิ์ดังหวังพระราชหฤทัย ดุจถวายชัย ชโย”

๖. ร่ายพิเศษของเก่า  ร่ายนี้คือร่ายที่อยู่เบื้องต้นโคลงมณฑกคติ  ที่อ่านแช่งน้ำพระพิพัฒน์สัตยา  ถ้าพิจารณาดูตามลักษณะร่ายก็นับเข้าอยู่ในร่ายยาว แต่เมื่อจบร่ายจะเอาโคลงมณฑกคติมาต่อนั้น ท่านเอาคำสุดท้ายร่าย (เบศ) มาต่อกับคำที่ ๓ บาทต้นของโคลง (เรศ) อย่างร่ายสุภาพต่อกับโคลงสุภาพดังจะคัดมาให้ดูเต็มตามแบบของท่าน เพื่อจะพิจารณาดูให้ถ่องแท้ดังนี้

ร่ายต้นโคลงแช่งน้ำพระพิพัฒน์สัตยา๑
ก. “โอมสิทธิสรวงศรีแกล้ว แผ้วมฤตยู เอางูเป็นแท่น แกว่นกลืนฟ้ากลืนดิน บินเอาครุฑมาขี่ สี่มือถือสังข์จักร คทาธรณี ภีรุอวตาร อสุรแลงลาญทัก ททัคณีจรณาย

ข. โอมปรเวศวราย ผายผาหลวงอคร้าว ท้าวเสด็จเหนือวัวเผือก เอาเงือกเกี้ยวข้าง อ้างทัดจันทร์เป็นปืน ทรงอินทร์ชฎา สามตาพระแพร่ง แกว่งเพ็ชระกล้า ฆ่าภิฆน์จรรไร
………………………………………………………………………………………….
๑ ร่ายตัวอย่างนี้เป็น ๓ ร่ายด้วยกัน คือ (ก) ร่ายสรรเสริญพระนารายณ์ เมื่ออ่านจบแล้วเอาพระแสงศรปลัยวาตแทงน้ำ (ข) ร่ายสรรเสริญพระอิศวร เมื่ออ่านจบแล้วเอาพระแสงอัคนิวาตแทงน้ำ และ (ค) ร่ายสรรเสริญพระพรหม เมื่ออ่านร่ายนี้ก็ต่อโคลงมณฑกคติอีกบทหนึ่ง จึงเอาพระแสงศรพรหมาสตร์แทงน้ำ

ต้นฉบับเมของท่านบอกระยะแทงพระแสงนั้นๆ ไว้เป็นตอนๆ ที่มิได้คัดมาเต็มตามของท่านก็เพื่อจะให้เห็นลักษณะร่ายและโคลงล้วนๆ โดยชัดเจน
………………………………………………………………………………………….
ค. โอมชัยยะชัยโย โสฬสพรหมญาณ บานเศียรเกล้า เจ้าคลี่บัวทอง ผยองเหนือขุนห่าน ท่านรังก่อดินก่อฟ้า หน้าจตุรทิศ ไทมิตรดา มหากฤตราไตร อมไตยโลเกศ จงตรีศักดิ์ท่าน พิญาณปรมาธิเบศ
(ต่อโคลงมณฑกคติ)-ไทธเรศสุรสิทธิ
พ่อเสวยพรหมาณฑ์ ใช่น้อย
ประถมบุญภารดิเรก
บูรภพบรู้กี่ร้อย ก่อมา

ต่อนี้ไปก็ต่อกับบท ๑ ของโคลงมณฑกคติแช่งน้ำพระพิพัฒน์สัตยาที่อ้างมาแล้ว

คำลิลิต๑  คำประพันธ์ที่ท่านเอาร่ายต่างๆ และโคลงต่างๆ มาแต่งให้เข้าสัมผัสติดต่อกันไปจนจบเรื่องเรียกว่าลิลิต คำร่ายและที่แต่งเข้าลิลิตกันนั้น ท่านอธิบายไว้ว่าต้องให้ได้สัมผัสติดต่อกันไปจนจบเรื่อง และคำลิลิตนี้ท่านจัดเป็น ๒ ประเภท คือลิลิตสุภาพประเภท ๑ และลิลิตดั้นประเภท ๑ ดังจะแยกอธิบายต่อไปนี้

๑. ลิลิตสุภาพ  ได้แก่คำลิลิตที่เอาร่ายสุภาพและโคลงสุภาพต่างๆ มาแต่งเข้าสัมผัสติดต่อเป็นเรื่องเดียวกัน แต่มีข้อพิเศษออกไปจากนี้คือร่ายโบราณ ท่านใช้แต่งเข้าในลิลิตสุภาพด้วย และโคลงมหาวิวิธมาลี๒  คือโคลงวิวิธมาลีที่มีวรรคท้ายบาท ๔ เป็น ๕ คำ อย่างโคลงสุภาพ ท่านก็ใช้แต่งเข้าในลิลิตสุภาพได้ด้วย  แต่โคลงนี้ท่านแต่งเข้าในลิลิตดั้น ซึ่งจะกล่าวต่อไปก็ได้  เพราะสัมผัสข้างต้นเป็นทำนองดั้น  รวมความว่าลิลิตสุภาพมี ร่ายสุภาพ, ร่ายโบราณ, โคลงสุภาพต่างๆ และโคลงมหาวิวิธมาลี แต่งติดต่อเข้าสัมผัสกัน
………………………………………………………………………………………….
๑ คำลิลิต  ออกจากคำลิลิต ภาษาบาลีแปลว่า การรื่นรมย์ในอารมณ์ต่างๆ
๒ โคงบาทวิวิธมาลีนั้นท่านแต่งเข้ากับลิลิตสุภาพก็ได้ เพราะวรรคท้ายบาท ๔ เป็น ๔ คำ โคลงสุภาพ แต่งเข้ากับลิลิตดั้นก็ได้ เพราะสัมผัสรับเป็นอย่างโคลงดั้น แต่ถึงจะเข้ากับโคลงสุภาพท่านก็ใช้สัมผัสรับลิลิตอย่างโคลงดั้นนั้นเอง ดังตัวอย่างข้างบน
………………………………………………………………………………………….
วิธีเข้าสัมผัสลิลิตสุภาพ๑  ก็คือให้คำที่สุดร่ายหรือโคลงบทต้นไปเข้าสัมผัสกับคำที่ ๑-๒-๓ ของบทต่อไป ซึ่งจะเป็นร่ายหรือโคลงก็ตาม เป็นดังนี้เสมอไปจนจบลิลิตสุภาพ คำส่งสัมผัสลิลิตคือคำที่สุดร่ายและโคลงที่กล่าวมานี้ย่อมเป็นไปตามข้อบังคับ คือท่านนิยมใช้เสียงวรรณยุกต์สามัญ กับวรรณยุกต์จัตวาเป็นพื้น  แต่บางทีก็เป็นคำตายพลัดมาบ้าง เพราะท่านมิได้ห้าม ที่ห้ามเด็ดขาดนั้นคือ คำไม้เอก, โท, ตรี นับว่าใช้ไม่ได้ทีเดียว ส่วนสัมผัสรับลิลิตคือคำที่ ๑-๒-๓ ของร่ายและโคลงต่อไปนั้น  ก็เช่นเดียวกับสัมผัสร่ายซึ่งต้องเป็นเสียงสามัญหรือจัตวาตามสัมผัสส่ง คือส่งสามัญจะรับสามัญหรือจัตวาก็ได้ และส่งจัตวาจะรับจัตวาหรือสามัญก็ได้เช่นกัน และถ้าส่งคำตายก็ต้องรับคำตายอย่างสัมผัสร่ายดังกล่าวแล้ว

อนึ่งโคลงมหาวิวิธมาลีนั้น ท่านแต่งเข้ากับลิลิตสุภาพได้นั้นก็น่าจะเป็นด้วยวรรคท้ายของบาท ๔ มี ๔ คำ เข้าลักษณะโคลงสุภาพเท่านั้น ส่วนวิธีเข้าลิลิตท่านก็ใช้อย่างพวกโคลงดั้น คือสัมผัสรับลิลิต อยู่ที่คำที่ ๕ บาท ๒ หรือจะรับคำที่ ๓ ที่ ๔ ตามแผนโคลงตรีพิธพรรณและจัตวาทัณฑีก็ได้ ดังจะยกตัวอย่างลิลิตพระลอ ซึ่งเป็นลิลิตสุภาพมาไว้เป็นที่สังเกตต่อไปนี้

คำส่งท้ายบทร่าย  “- -อุดมยศโยคยิ่งหล้า         ฟ้าพื้นฝึกบูรณ์”
โคลงมหาวิวิธมาลี     “บุญเจ้าจอมโลกเลี้ยง     โลกา
ระเรื่อยเกษมสุขพูน         ใช่น้อย
แสนสนุกนิ์ศรีอโยธยา      ฤาร่ำ ถึงเลย
ทุกประเทศชมค้อยค้อย   กล่าวอ้างเยินยอ”

ดังนี้คำ บูรณ์ กับ พูน เป็นสัมผัสเข้าลิลิตกัน และถ้าบทต่อไปเป็นโคลงมหาวิวิธมาลีอีก ก็ใช้รับเช่นนี้เรื่อยไป จนถึงร่ายหรือโคลงสุภาพ จึงใช้รับคำที่ ๑-๒-๓ ของวรรคต้น ดังอธิบายมาแล้ว
………………………………………………………………………………………….
๑ วิธีเข้าลิลิตสุภาพที่อธิบายข้างบนนี้อธิบายตามแบบฉันทลักษณ์เดิม ซึ่งนิยมใช้กันแพร่หลายในสมัยนี้ แต่สังเกตดูลิลิตสุภาพโบราณ ท่านเข้าลิลิตแบบนี้ก็มี ไม่เข้าตามแบบนี้ก็มี คือบางแห่งท่านก็ปล่อยไว้เฉยๆ ไม่เข้าสัมผัสกับบทต่อไป บางทีสัมผัสส่งเป็นเสียงสามัญหรือเสียงจัตวา แต่สัมผัสรับในบทต่อไปเป็นเอกหรือโทก็มี รวมความว่าท่านไม่นิยมเข้มงวดในวิธีเข้าลิลิตนี้มากนักอย่างในสมัยนี้
…………………………………………………………………………………………๒. ลิลิตดั้น  ได้แก่บทลิลิตที่เอาร่ายดั้นกับโคลงดั้นต่างๆ มาแต่งเข้าสัมผัสติดต่อเป็นเรื่องเดียวกัน และโคลงมหาวิวิธมาลีก็แต่งเข้าในลิลิตดั้นนี้ด้วยดังกล่าวมาแล้ว

วิธีเข้าสัมผัสลิลิต  ดั้นก็เป็นทำนองเดียวกับลิลิตสุภาพทั้งนั้น และสัมผัสรับเข้าเป็นร่ายดั้น และโคลง ๒ โคลง ๓ ดั้นก็ใช้คำที่ ๑-๒-๓ ของวรรคต้นเช่นกัน เว้นไว้แต่โคลง ๔ ดั้นต่างๆ ๑    ต้องรับคำที่ ๕ ของบาท ๒ แห่งบทต่อไป หรือจะรับคำที่ ๓ ที่ ๔ ตามแบบโคลงตรีพิธพรรณและจัตวาทัณฑีอย่างดั้นก็ได้เช่นเดียวกับที่ได้อธิบายไว้ในวิธีเข้าลิลิตสุภาพของโคลงวิวิธมาลีข้างต้นนี้พร้อมตัวอย่างนั้นแล้ว

๓. วิธีสอดสร้อยท้ายวรรคของร่าย ร่ายที่เข้าลิลิตทุกชนิดจะสอดสร้อยซ้ำๆ กันลงไปในท้ายวรรคทุกวรรคก็ได้  ถ้าเป็นร่ายสุภาพก็สอดสร้อยมาถึงโคลง ๒ ท้ายร่าย แล้วก็สอดสร้อยตามข้อบังคับโคลง ๒ ต่อไป ดังตัวอย่างในพระลอ ซึ่งท่านชักมาไว้ต่อไปนี้

“- – – อายแก่คนไสร้ท่านหัว นะพี่, แหนงตัวตายดีกว่า นะพี่, สองพี่อย่าถามเผือ นะพี่(โคลง ๒) เจ็บเผือเหลือแพร่งพร้อง, โอ้เอ็นดูรักน้องอย่าซ้ำจำตาย หนึ่งรา”

ถ้าเป็นร่ายโบราณใช้จบลงห้วนๆ ไม่มีโคลง ๒ ต่อ ดังนั้นจึงสอดสร้อยได้จนจบ ดังตัวอย่าง ซึ่งท่านชักมาจากลิลิตพระลอต่อไปนี้

“หวังสิ้นชนม์ด้วยไข้ แก่แม่รา, สิ้นชีพไท้ด้วยผี แก่แม่รา, ในบุรีเราแม่ลูก แก่แม่รา, แม่จะยาหยูกจงเต็มใจ แก่แม่รา, ดังฤาพ่อไปตายเมืองท่านม้วย แก่แม่รา, ด้วยหอกตาวหลาวดาบ แก่แม่รา, ด้วยกำซาบปืนยาดังนี้”
………………………………………………………………………………………….๑ โคลง ๔ ดั้นต่างๆ ที่นี้ คือ โคลงวิวิธมาลี, มหาวิวิธมาลี, บาทกุญชร และโคลงดั้นจัตวาทัณฑีและตรีพิธพรรณ ซึ่งล้วนแต่มีแผนใช้รับกันอยู่แล้วทั้งนั้น ซึ่งทั้งนี้อธิบายตามที่ท่านนิยมใช้กันในสมัยนี้ แต่โคลงดั้นโบราณ การเข้าลิลิตท่านก็ไม่นิยมเข้มงวดเช่นเดียวกับการเข้าลิลิตสุภาพเหมือนกัน เช่นท่านสอดโคลงวิวิธมาลีเดี่ยวลงไว้บางแห่ง ซึ่งไม่คล้องกับบทหน้าก็ได้ และการเข้าลิลิตอื่นก็เป็นทำนองเดียวกับลิลิตสุภาพทั้งสิ้น
………………………………………………………………………………………….
ตัวอย่างข้างบนนี้เป็นลิลิตสุภาพ  ถ้าเป็นลิลิตดั้นก็สอดสร้อยเช่นเดียวกัน แต่ลิลิตดั้นจะใช้ร่ายดั้น ซึ่งลงท้ายด้วยบาทที่ ๓, ที่ ๔ ของโคลง ๔ ดั้น ดังจะผูกตัวอย่างพอเป็นที่สังเกตต่อไปนี้

“อ้า! ยุวชนทหาร พ่อเอย, เธอหวังการเกื้อชาติเด่นชัด พ่อเอย, จึงปฏิบัติบ่มคุณควรยิ่ง พ่อเอย

บาท ๓ โคลงดั้น  
จงกอบสิ่งเกื้อกูล     แก่ชาติ     เราพ่อ
เพื่อสืบต่อตั้งสร้าง     ชาติเรา     เทอญนา”

หมายเหตุ  สร้อยบาท ๓ ว่า “เราพ่อ” หรือบาท ๔ ที่สุดร่ายว่า “เทอญนา” นี้จะใช้ว่า “พ่อเอย” ทั้งหมดก็ได้ ข้อสำคัญอยู่ที่ให้เนื้อความเข้ากันได้ และสร้อยร่ายเบื้องต้นที่ซ้ำกันว่า “นะพี่ๆ” เป็นต้น ก็เป็นเพราะท่านใช้ในเรื่องที่รำพันซ้ำๆ กัน ถ้าเป็นโวหารอย่างอื่นจะใช้สร้อยต่างๆ เช่น “นะพี่, จริงนา, เจียวแม่” เป็นต้นก็ได้ แต่ต้องให้ความเข้ากันเหมาะกับเรื่องเป็นสำคัญ

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร