ลักษณะทั่วไปของเรือนเครื่องผูก

เรือนเครื่องผูก2
เรือนเครื่องผูก เป็นเรือนที่ปลูกขึ้นเป็นหลังด้วยทัพสัมภาระชนิดที่เป็นวัสดุไม่สู้คงทนถาวร ถ้าจะเทียบกับวัสดุที่เป็นทัพสัมภาระในเรือนประเภทเครื่องสับแล้ว ย่อมจะแข็งแรง คงทนถาวรไปได้ไม่นานเท่าวัสดุที่นำมาใช้เป็นทัพสัมภาระสำหรับเรือนเครื่องผูกนั้น ส่วนใหญ่ได้แก่ ไม้ ไผ่ ไม้รวก ต้นหมาก ใบจาก หญ้าคา แฝก หวาย ทางมะพร้าว ฯลฯ วัสดุเหล่านี้ล้วนเป็นผลิตผลจากธรรมชาติที่มีเนื้ออ่อน ไม่อาจนำมาใช้สร้างเรือนให้มีขนาดกว้างใหญ่ได่ ทั้งนี้เนื่องด้วยคุณภาพของวัสดุรับน้ำ หนักทั้งในส่วนที่เป็นโครงสร้างในตัวเรือนเอง และผู้คนที่อาศัยไม่ได้มากนัก เรือนเครื่องผูกจึงมักปลูกขนาดย่อมๆ พอเหมาะเป็นที่อยู่ อาศัยสำหรับครอบครัวขนาดเล็ก
เรือนเครื่องผูกทั่วไปเป็นเรือนยกพื้นสูงขึ้นจากระดับผิวดินประมาณ ๑ เมตร ถึง ๑.๕๐ เมตร ตัวเรือนใหญ่หรือเรียกตามคนเก่าว่า เรือนประธาน มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดยาวของเรือนส่วนนี้มีขนาด ๒ ช่วงเสาบ้าง ๓ ช่วงเสาบ้างทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้เป็นเจ้าของเรือน ด้านข้างเรือนประธานทั้ง ๓ ด้านกั้นฝารอบ เปิดโล่งไว้ด้านหนึ่งออกไปสู่ระเบียงเรือนซึ่งต่อพื้นลดต่ำลงไปกว่าพื้นในเรือนประธาน พื้นระเบียงแล่นยาวตลอดด้านข้างเรือนประธาน พื้นส่วนหนึ่งของระเบียงจะกั้นเป็นครัวไฟ กั้นฝา หุ้มหัวระเบียงและข้างหน้าระเบียงไว้ครึ่งหนึ่งต่อจากหน้าระเบียงออกมาทำพื้นลดต่ำลงแล่นไปตามยาว เรียกว่า ชาน หัวชานด้านใดด้านหนึ่งทำบันไดทอดไว้ สำหรับขึ้นหรือ ลง เรือนประธานนั้นทำหลังคาคลุมเป็นทรงจั่ว ด้านหนึ่งต่อ
หลังคาลาดลงมาปกคลุมระเบียง เรียกว่า พาไล ส่วนชานเปิดโล่งโถง ไม่นิยมทำหลังคาคลุม พื้นเรือน พื้นระเบียง และพื้นชานทำด้วยไม้ไผ่ทั้งลำ นำมาผ่าและสับผิวให้แตก เป็นริ้วๆ จึงแผ่ออกเป็นแผ่นคล้ายแผ่นกระดานเรียกว่า ฟาก ใช้ปูเป็นพื้นเรือนเครื่องผูกทั่วไป แต่ในบางท้องถิ่น ใช้ไม้หมากหรือไม้เหลาชะโอนผ่าให้เป็นปื้นยาวๆ นำมาปูเรียงกันคล้ายลูกระนาดทำเป็นพื้นเรือนก็มี ฝาที่ใช้กั้นเรือนเครื่องผูกใช้วัสดุหลายชนิดด้วยกัน เช่น จากไม้ไผ่ แยง ใบ ตองตึง ทางระกำ ใบตาล แฝก เป็นต้น
พื้นที่ในเรือนเครื่องผูกแต่ละหลังประกอบด้วยพื้นที่ ซึ่งเจ้าของเรือนหรือผู้ที่อาศัยอยู่ในเรือนได้ใช้ประโยชน์ต่างๆ โดยลำดับต่อไปนี้
พื้นที่ภายในเรือนประธาน เป็นพื้นที่รูปปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดใหญ่กว่าส่วนอื่นๆ ของเรือน พื้นที่ส่วนนี้ถ้าเป็นเรือนยาวขนาด ๒ ห้องก็กั้นฝาประจันขวางเรือนเป็นห้องขึ้นไว้ห้อง ๑ สำหรับใช้เป็นที่หลับนอน เก็บทรัพย์สิน และของใช้มีราคาต่างๆ ฝาประจันเรือนนี้ทำช่องใส่บาน ประตูบานหนึ่ง เป็นทางเข้าออก และถ้าเป็นเรือนขนาดยาว
๓ ห้อง ก็มักจะกั้นฝาประจันทำเป็นห้องขึ้นในระหว่าง ๒ ช่วงเสาห้อง ๑ มีขนาดกว้างขึ้น และทำช่องประตูทางเข้าออกช่อง ๑ ดังที่ได้กล่าวแล้ว
พื้นที่ในเรือนประธานส่วนที่เหลือจากกั้นห้องต่อออกมาหน้าฝาประจัน ในเรือนบางหลังเปิดโล่งโถงไม่กั้นฝาตาย แต่ได้ทำพนักไว้สองด้าน คือ ด้านข้างตรงข้ามกับช่วงทางจะลงสู่ระเบียง กับด้านสกัดหัวเรือน ทำให้พื้นที่ส่วนนี้ไม่เป็นที่อับลมใช้สำหรับเป็นที่พักผ่อนของสมาชิกในครอบครัว และเป็นที่อาศัยหลับนอนในฤดูร้อนซึ่งมีลมโกรกเย็นกว่าจะนอนในห้องซึ่งกั้นฝาไว้ทุกด้าน เรือนบางหลังอาจทำฝาแผง แขวนกั้นด้านข้างเรือน และด้านสกัดล้อมพื้นที่ส่วนนี้ไว้ก็มี เวลากลางวันก็ใช้ไม้ค้ำ ตีนแผงฝาเปิดขึ้นไป เพื่อรับแสงสว่างและเปิดช่องให้ลมโกรกเข้ามาในเรือน ต่อเวลาค่ำหรือฝนตกจึงปลดไม้ค้ำหับแผงฝานี้ปิดลงมาเพื่อกันภัยหรือกันฝนสาด
พื้นเรือนส่วนที่ต่อออกมาจากด้านข้างตัวเรือนประธาน แล่นยาวไปตามขนาดยาวของเรือน แต่ลดระดับพื้นให้เตี้ยกว่าพื้นในเรือนประธาน พื้นที่ส่วนนี้เรียกว่า ระเบียง ข้างบนมีหลังคาต่อออกมาจากหลังคาเรือนประธานคลุมอยู่เรียกว่า พาไล พื้นระเบียงของเรือนเครื่องผูกทั่วไปมักแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งมีพื้นที่ขนาดยาวระหว่างช่วงเสาคู่หนึ่ง จะได้รับการกำหนดให้เป็นครัวไฟ เป็นที่สำหรับหุงหาอาหาร และเก็บเสบียงกรัง ตลอดจนภาชนะต่างๆ และเครื่องใช้ประจำครัว ครัวไฟมักจะกั้นฝาล้อมไว้สามด้าน คือ ด้านนอกที่ติดกับชานกั้นฝาไว้เพียงครึ่งความยาวของระเบียงด้าน ๑ แล้วกั้นอ้อมมาหุ้มด้านสกัดหัวระเบียงยาวเข้าไปต่อกับริมฝาด้านสกัดของเรือนประธาน ด้านในครัวที่ติดกับเรือนประธาน เป็นฝาของครัวอยู่ในตัว ส่วนด้านที่ออกมาสู่พื้นที่ระเบียงที่เหลืออยู่อีกส่วนหนึ่ง มักไม่กั้นฝาเปิดโล่งไว้ก็มี พื้นที่บน ระเบียงส่วนที่เหลือจากแบ่งปันไว้เป็นครัวแล้วนี้ ได้ใช้เป็นที่นั่งพักผ่อนรับรองแขกผู้มาเยือน และใช้เป็นที่ตั้งวงรับประทานอาหารของคนในเรือนนั้น
พื้นเรือนส่วนที่ต่อออกมาจากด้านข้างระเบียง แล่นขนานไปตามยาวของระเบียงแต่ลดพื้นต่ำลงเล็กน้อย เรียกว่า “ชาน” หรือ “นอกชาน” หรือ “ชานเรือน” ก็เรียกเป็นพื้นชนิดที่เป็นพื้นตาก คือ พื้นไม่มีหลังคาคลุม ปล่อยให้ตากแดดตากฝนอยู่ชั่วนาตาปี พื้นชานเป็นที่ได้ใช้ตากหรือผึ่งอาหารที่เตรียมทำเป็นของแห้งเก็บไว้กินค้างปี เช่น ปลา แห้ง เนื้อเค็ม บ้างตั้งไหน้ำปลา ไหปลาร้า หรือตากที่นอนหมอนมุ้งให้คลายกลิ่นบงอับบงราบ้าง และยังได้เปนที่ให้ลูกหลานในบ้านอาศัยวิ่งเล่นอีกด้วย
พื้นที่ใต้ถุนเรือนโดยเฉพาะส่วนที่อยู่ข้างใต้เรือนประธาน มักจะใช้เป็นที่เก็บเครื่องมือสำหรับทำนา ทำไร่ หรือทำสวน เครื่องมือดักหรือจับสัตว์ต่างๆ หรือในบางแห่งใช้เป็นที่เก็บพืชผลต่างๆ อีกด้วย
อนึ่งลักษณะของรูปแบบเรือนเครื่องผูกโดยทั่วไป ส่วนมากจะเป็นไปตามรูปแบบ ดังที่ได้พรรณามาโดยลำดับ แต่ก็มีเรือนประเภทนี้ปลูกเป็นแบบต่างๆ ออกไปบ้างก็มี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความประสงค์ในความเป็นอยู่และความพึงพอใจของผู้เป็นเจ้าของเรือน แบบของเรือน เครื่องผูกที่มีลักษณะต่างๆ ออกไปจากแบบที่ได้อธิบายมาแต่ข้างต้น ควรกล่าวถึงพอเป็นตัวอย่างได้ดังนี้
เรือนแบบแรก ทำเรือนประธานขึ้นหลังหนึ่ง ขนาดยาว ๒ ห้องบ้าง ๓ ห้องบ้าง แล้วกั้นฝาด้านรีหรือด้านข้างด้านหนึ่งร่นเข้าไปตามยาวของขนาดเรือนปล่อยพื้นเรือนประธานข้างหน้าฝาด้านนี้ให้เป็นทางเดินได้ยาวตลอดตัวเรือน ส่วนหัวและท้ายทำพื้นลดต่อออกมาทั้งสองด้าน กับต่อหลังคา ลาดเทออกมาจากตีนจั่วเป็นหลังเฉลียงคลุมพื้นลดทั้งด้านหัว และท้ายเรือน พื้นที่ด้านท้ายเรือนมักจะใช้เป็นที่ตั้งครัวไฟ ส่วนพื้นที่ทางหัวเรือนให้เป็นที่พักผ่อนและรับรองแขกเหรื่อ ในเรือนใช้เป็นที่หลับนอนตามปกติ
เรือนแบบที่ ๒ ทำเรือนประธานเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าดังเช่นเรือนเครื่องผูกทั่วไป ต่อพื้นระเบียงออกมาทางด้านข้าง แล้วทำหลังคาพาไลคลุมเหนือพื้นระเบียงและต่อให้ยาวพ้นออกมาจากตัวเรือน จึงทำเสานางเรียงขึ้นจากพื้นดินปักเป็นแนวขนานหน้าระเบียงขึ้นไปรับชายคา เรือนแบบนี้ไม่มีชาน พอลงจากระเบียงก็ถึงดินเลย นี่เป็นเรือนเครื่องผูกแบบหนึ่ง
เรือนแบบที่ ๓ ทำเรือนประธานตามธรรมดาของเรือนเครื่องผูก แล้วกั้นห้องขึ้นในเรือนประธานห้อง ๑ หรือ ๒ ห้อง ตามแต่ว่าเรือนประธานจะยาว ๒ ห้องหรือ ๓ ห้อง ห้องทางหัวเรือนประธานด้านหนึ่งจัดเป็นห้องโถงด้านสกัดของห้องนี้ทำพื้นลดเป็นเฉลียงต่อออกไปแล้วทำหลังคาลาดออกไปแต่ตีนจั่วด้านนี้กั้นฝาเสีย ๓ ด้าน ทำเป็นครัวไฟ ส่วนด้านข้างด้านหนึ่งทำเป็นพื้นลดแล่นไปตามยาวขนาดเรือน ปล่อยพื้นตากไว้เป็นชานเรือน ซึ่งเป็นเรือนเครื่องผูกอีกแบบหนึ่ง
เรือนแบบที่ ๔ คือ ตั้งเรือนประธานขึ้นเป็นหลัก กั้นฝาเรือนประธานเป็นห้อง ๑ หรือ ๒ ห้องตามขนาด ปล่อยห้อง ๑ ที่อยู่ทางหัวเรือนเป็นห้องโถงไว้ แล้วทำหลังคาลาดเทลงไปแต่ตีนจั่วอย่างหลังคาเฉลียง เว้นต่ไม่ต่อพื้นเฉลียงออกไป คงทำแต่ปักเสานางเรียงขึ้นมาเป็นแนวขนาน กับด้านสกัดหัวเรือนเพื่อตั้งรับชายคาเฉลียงหรือพะเพิง เรือนแบบนี้ไม่มีครัวอยู่บนเรือน การหุงข้าวต้มแกงทำบนแม่เตาไฟบนพื้นดินซึ่งอยู่ใต้พะเพิงดังกล่าว
เรือนแบบที่ ๕ ทำเป็นรูปเรือนประธานรูปทรงดั่งเช่นกล่องรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาทรงจั่ว กั้นฝาเรือนรอบสี่ด้าน ด้านสกัดหัวเรือนทำช่วงประตู ช่วงหนึ่งแล้วพาดบันไดลงดินเลยทีเดียวก็มี นี่ก็เป็นแบบเรือนเครื่องผูกอีกแบบหนึ่ง
รูปแบบของเรือนเครื่องผูกนี้ ถ้าจะเก็บมาพรรณนาให้ครบถ้วนก็จะเป็นเนื้อความยืดยาวและไม่เป็นที่สิ้นสุดยุติลงได้ง่าย อย่างไรก็ดีแบบอย่างของเรือนเครื่องผูกที่เป็นแบบปฐมบทพอสรุปได้ว่าเป็นเรือนที่มีทรวคทรงคล้ายกล่องรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาทรงจั่ว ผืนหลังคาลาดลงทางด้านข้าง เป็นเรือนที่ยกพื้นสูงให้พ้นน้ำท่วมพอสมควร แล้วทำ บันไดก่ายเกยชานไว้เป็นทางสำหรับขึ้นและลงเรือน ส่วนการจะต่อเติมระเบียงนอกชานเฉลียงนั้นเป็นไปตามความจำเบนที่จะให้ได้เนื้อที่เพิ่ม ขึ้นให้พอแก่ความเป็นอยู่ของคนในครอบครัว และการขยายตัวของสมาชิกในครัวเรือนโดยลำดับ
ที่มาโดย:จุลทัศน์ พยาฆรานนท์ คณะมนุษยศาสตร์ วิทยาเขตกลาง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ