อเนกรรถประโยค

อเนกรรถประโยค  ก่อนจะอธิบายถึงอเนกรรถประโยค จะขออธิบายถึงเอกรรถประโยคอีกเล็กน้อย พอให้เข้าใจความติดต่อกัน คือเอกรรถประโยคนั้น หมายถึงข้อความอย่างหนึ่งๆ เช่น คนกินข้าว  ซึ่งมีภาคประธาน คือ คน และภาคแสดง คือ กินข้าว ครบเป็นข้อความอย่างหนึ่ง แต่อเนกรรถประโยคที่จะอธิบายต่อไปนี้ ต่างกับเอกรรถประโยคคือเป็นประโยคที่มีข้อความเป็นเอกรรถประโยคนั้นหลายประโยคเกี่ยวเนื่องรวมอยู่ด้วยกันเป็นประโยคเดียว ดังนั้นท่านจึงเรียกประโยคชนิดนี้ว่า อเนกรรถประโยค ซึ่งแปลว่า ประโยค ที่มีเนื้อความไม่ใช่อย่างเดียว คือ มีเนื้อความหลายอย่าง (อน+เอก+อรรถ=อเนกรรถ)

ในตำราเก่าท่านจัดประโยคที่มีเอกกรรถประโยครวมอยู่หลายประโยคนี้ว่าประโยคใหญ่ เป็นคู่กับ ประโยคเล็ก หรือ ประโยคสามัญ ดังกล่าวแล้ว และท่านแบ่งประโยคใหญ่นี้ออกเป็น ๒ พวก คือ ประโยคความรวม  ซึ่งได้แก่ อเนกรรถประโยคที่จะกล่าวนี้พวกหนึ่ง และประโยคแต่ง คือ สังกรประโยคอีกพวกหนึ่ง ซึ่งจะกล่าวต่อไปข้างหน้า

แต่ที่นี้จะแบ่งออกเป็น ๓ พวก คือ เอกรรถประโยค ที่แสดงมาแล้วพวกหนึ่ง อเนกรรถประโยค ที่จะแสดงนี้พวกหนึ่ง และ สังกรประโยคที่จะแสดงต่อไปอีกพวกหนึ่ง เพื่อให้เข้าระเบียบกันเป็นพวกๆ เป็นการง่ายแก่ผู้ศึกษายิ่งขึ้น

รูปของอเนกรรถประโยค  อเนกรรถประโยคมีลักษณะรูปร่างที่จะสังเกตได้ทั่วไป ก็คือ มีเอกรรถประโยค ตั้งแต่ ๒ ประโยคขึ้นไปเรียงกัน และมีสันธานเป็นเครื่องเกี่ยวเชื่อมอยู่ในระหว่างเอกรรถประโยคนั้นๆ ให้ความติดต่อเป็นประโยคเดียวกัน เช่นตัวอย่าง น้ำขึ้นแต่ลมลง ดังนี้จะเห็นได้ว่า เอกรรถประโยค คือ น้ำขึ้น ประโยคหนึ่ง กับ ลมลง อีกประโยคหนึ่ง มีสันธาน แต่ เข้ามาเชื่อมให้ติดกันเป็น น้ำขึ้นแต่ลมลง ทำให้เป็นอเนกรรถประโยคขึ้น เพราะสังเกตสันธาน แต่ เป็นบทเชื่อม และอเนกรรถประโยคนี้จะมีเอกรรถประโยคมากกว่า ๒ ประโยคขึ้นไปเท่าไรก็ได้ แล้วแต่ข้อความที่ใช้พูดจากัน เช่นตัวอย่าง ฉันจะไปเที่ยว แต่ท่านจะอยู่บ้าน หรือท่านจะไปไหน? ทั้งหมดนี้นับว่าเป็นอเนกรรถประโยคเดียว เพราะมีสันธานเชื่อมให้ติดต่อกัน ถ้าประโยคใดมีประธานซ้ำกันจะละเสียบ้างก็ได้ เช่น ประโยกข้างบนนี้จะกล่าวว่า ฉันจะไปเที่ยว แต่ท่านจะอยู่บ้าน-หรือจะไปไหน? ดังนี้เป็นต้น และบางทีก็เอาบทเชื่อมไปไว้ผิดที่ เช่นตัวอย่าง เขาโกรธท่านเขาจึงไม่ไปบ้านท่าน ดังนี้ก็ได้ ดังจะอธิบายต่อไปข้างหน้า

อเนกรรถประโยคที่มีรูปดังตัวอย่างข้างบนนี้ นับว่าเป็นอเนกรรถประโยคธรรมดา ถึงจะละบทบางบทเช่นประธาน หรือเอาบทเชื่อมไปไว้ผิดที่บ้างก็ยังสังเกตได้ง่าย เมื่อได้เรียนเป็นลำดับไปแล้วก็จะเข้าใจได้แจ่มแจ้ง จึงไม่จำเป็นต้องอธิบายให้พิสดารในที่นี้

อเนกรรถประโยครวม ประโยคชนิดนี้ก็เป็นอเนกรรถประโยคเหมือนกัน แต่มีรูปผิดกัน เช่นเอา บทสำคัญ ของเอกรรถประโยคนั้นๆ มาเรียงให้ติดต่อกัน โคยเอาบทเชื่อมคั่นเข้าไว้และใช้บทกริยาบทเดียวกัน เช่นตัวอย่าง ตาและยายนั่งอยู่ที่บ้าน ซึ่งถ้าจะเรียงเป็นอเนกรรถประโยคธรรมดา ดังข้างบนนี้ จะต้องเรียงว่า ตานั่งอยู่ที่บ้าน และยายนั่งอยู่ที่บ้าน ดังนี้อย่างหนึ่ง และยังมีอเนกรรถประโยครวมอย่างอื่นอีก จึงควรจะอธิบายให้พิสดารยิ่งกว่านี้ เพื่อผู้ศึกษาจะได้ยึดถือเป็นหลักต่อไป และอเนกรรถประโยครวมที่จะกล่าวนี้ โดยมากมักใช้คำสันธาน-และ เป็นบทเชื่อมอย่างหนึ่ง และใช้คำสันธาน-หรือ เป็นบทเชื่อมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งนับว่ามีดาษดื่นทั่วไปในภาษาไทย นอกจากนี้ก็มีบทเชื่อมอื่นอีกบ้าง แต่ไม่สำคัญเท่าบททั้ง ๒ ที่กล่าวแล้วนั้น ดังจะอธิบายให้พิสดารต่อไปนี้

(๑) อเนกรรถประโยครวมที่ใช้คำ “และ” เป็นบทเชื่อม ประโยครวมชนิดนี้บางทีก็เอาภาคประธานของเอกรรถประโยคที่ต่างกันมาไว้กลุ่มเดียวกัน และมีสันธาน และคั่นภาคประธานเหล่านั้น และบางทีก็เอาภาคแสดงมารวมกันแล้วเอาคำ และ คั่นดุจเดียวกัน และส่วนใดที่ซ้ำกันในทุกเอกรรถประโยคก็ละเสีย เรียงไว้แต่เพียงบทเดียว เช่นบท นั่งอยู่ที่บ้าน ข้างบนนี้ถ้าเป็นประโยครวมสั้นๆ บางทีก็ละบทเชื่อมไว้ในที่เข้าใจด้วย ซึ่งผู้ศึกษาอาจจะทราบได้ในตัวอย่าง ต่อไปนี้

ก. รวมภาคประธานละภาคแสดง
เอกรรถประโยคเรียงกัน – ยายทำนา ตาทำนา
อเนกรรถประโยคธรรมดา-ยายทำนา และตาทำนา
อเนกรรถประโยครวม – ยายและตาทำนา
อเนกรรถประโยคละบทเชื่อม-ยาย ตา ทำนา

ข. รวมภาคแสดงละภาคประธาน:-
เอกรรถประโยคเรียงกัน- ตาสีไปที่โรงนา ตาสีนั่งที่โรงนา
อเนกรรถประโยคธรรมดา-ตาสีไปที่โรงนา และตาสีนั่งที่โรงนา
อเนกรรถประโยครวม-ตาสีไปและนั่งที่โรงนา
อเนกรรถประโยคละบทเชื่อม – ตาสีไปนั่งที่โรงนา

ข้อสังเกต ๑ ในเรื่อง บทสำคัญ ที่ใช้ในอเนกรรถประโยกข้างบนนี้ ควร สังเกตไว้เป็นหลัก คือ

ก. บทสำคัญของภาคประธานได้แก่ บทประธาน
ข. บทสำคัญของภาคแสดงได้แก่

๑. บทกริยาต่างๆ (นอกจากวิกตรรถกริยาซึ่งจะกล่าวต่อไป) คือ
อกรรมกริยาต่างๆ ทั้งที่เป็นอกรรมกริยาแท้ เช่น นั่ง นอน ยืน , เดิน ฯลฯ ทั้งที่เอาคำวิเศษณ์ เช่น สวย งาม ดี ชั่ว ฯลฯ มาทำหน้าที่แทนกริยา และสกรรมกริยา เช่น กิน ทุบ ตี ฯลฯ

๒. วิกตรรถกริยากับบทวิกัตการกช่วยวิกตรรถกริยา คำวิกตรรถกริยา ทั้งหลายเช่นคำ เป็น เป็นต้น นี้สักว่าเป็นกริยาเท่านั้น ไม่มีความหมาย อย่างไรเลย ส่วนความหมายนั้นไปอยู่ที่ บทวิกัติการก ช่วยกริยาพวกนี้อีกทีหนึ่ง เพราะฉะนั้นผู้ศึกษาจะต้องสังเกตไว้เป็นพิเศษว่า บทสำคัญ ของภาคแสดงที่มีบทกริยาเป็นวิกตรรถกริยานั้น ต้องรวมบทวิกัติการก ช่วยวิกตรรถกริยาเข้าด้วย เช่น บุตรของฉันเป็นนายอำเภอ บทสำคัญในภาคประธาน คือ บุตร และบทสำคัญในภาคแสดงนั่นคือ เป็นนายอำเภอ และในอเนกรรถประโยครวมก็ต้องถือเอาบทวิกตรรถกริยา พร้อมด้วยบทวิกัติการกช่วยกริยานั้น เป็นบทสำคัญของภาคแสดงเช่นเดียวกันด้วย ดังตัวอย่างต่อไปนี้

อเนกรรถประโยคธรรมดา -เขาเป็นภรรยาดี และเขาเป็นมิตรดี
อเนกรรถประโยครวมคงกริยาไว้-เขาเป็นภรรยา และเป็นมิตรดี
อเนกรรถประโยครวมละกริยา-เขาเป็นภรรยา และมิตรดี

(๒) อเนกรรถประโยครวมที่ใช้ “หรือ” เป็นบทเชื่อม อเนกรรถประโยค
รวมที่มีสันธาน หรือเป็นบทเชื่อมนั้นก็มีลักษณะคล้ายกับประโยคที่มีสันธาน และเป็นบทเชื่อมโดยมาก แต่บางประโยคก็มีรูปแปลกออกไปบ้าง ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ก. รวมภาคประธานละภาคแสดง
เอกรรถประโยครวมกัน-นายแดงอยู่บ้าน นายดำอยู่บ้าน
อเนกรรถประโยคธรรมดา-นายแดงอยู่บ้าน หรือนายดำอยู่บ้าน
อเนกรรถประโยครวม-นายแดง หรือนายดำอยู่บ้าน

ข. รวมภาคแสดง ละภาคประธาน
เอกรรถประโยคเรียงกัน-นายดำนั่ง นายดำนอน
อเนกรรถประโยคธรรมดา –นายดำนั่ง หรือนายดำนอน
อเนกรรถประโยครวม-นายดำนั่งหรือนอน

หมายเหตุ ประโยคชนิดนี้ถ้ามีเนื้อความรับกับเนื้อความปฏิเสธเป็นคู่กันแล้ว มักจะละประโยคท้ายเสีย คงไว้แต่คำ หรือไม่ เท่านั้น บางทีก็ละคำ ไม่ ออกเสีย คงไว้แต่คำสันธาน หรือคำเดียวเท่านั้น เช่นนี้ย่อมมีโดยมาก เช่นตัวอย่าง
เอกรรถประโยคเรียงกัน-ท่านจะนอน ท่านจะไม่นอน
อเนกรรถประโยคธรรมดา-ท่านจะนอน หรือท่านจะไม่นอน?
อเนกรรถประโยครวม-ท่านจะนอน หรือไม่ ?
อเนกรรถประโยครวมคงไว้แต่คำ หรือ – ท่านจะนอนหรือ ?

ถ้าประโยคขื่างท้ายมีวิเศษณ์บอกความโต้ตอบกัน เช่น เปล่า หามิได้ ก็ดี หรือกริยานุเคราะห์ ยัง ก็ดี ก็ละประโยคท้ายเสีย เหลือไว้แต่คำสันธาน หรือกับคำวิเศษณ์และกริยานุเคราะห์ ยัง ว่า หรือเปล่า หรือหามิได้ หรือยัง ดังตัวอย่างต่อไปนี้

อเนกรรถประโยคธรรมดา-เขาจะมา หรือเปล่า-เขาจะไม่มา, เขา จะมา หรือ หามิได้-เขาจะไม่มา เขาจะมา หรือ เขายังไม่มา

อเนกรรถประโยครวม-เขาจะมาหรือเปล่า, เขาจะมาหรือ หามิได้ เขาจะมาหรือยัง ดังนี้เป็นต้น

แต่ถ้าประโยคหน้ามีความปฏิเสธ และประโยคหลังมีเนื้อความรับ เช่นนี้ มักละประโยคหลังทั้งหมด เหลือแต่สันธาน หรือ เท่านั้น เช่น ตัวอย่าง

อเนกรรถประโยคธรรมดา – เจ้าจะไม่ไปหรือ เจ้าจะไป
อเนกรรถประโยครวม – เจ้าจะ ไม่ไปหรือ ?
ดังนี้เป็นต้น

ข้อสังเกต ๒ ในการละประโยคท้ายนี้ อยู่ที่ความมุ่งหมายของผู้พูด คือ ถ้าผู้พูดต้องการคำใดให้เป็นคำสำคัญก็เหลือคำนั้นไว้เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจแจ่มแจ้ง เช่นตัวอย่าง

อเนกรรถประโยคธรรมดา-ฉันไม่ต้องทำงานดึกหรือฉันต้องทำงานดึก อเนกรรถประโยครวม-ฉันไม่ต้องทำงานดึกหรือ แต่ถ้าผู้พูดประสงค์จะให้คำ ต้อง เป็นคำสำคัญ ก็เอาคำ ต้อง คงไว้ว่า ฉันไม่ต้องทำงานดึก หรือต้อง ดังนี้เป็นต้น

หมายเหตุ อเนกรรถประโยคที่มีบทเชื่อมเป็นอย่างอื่นนอกจากคำ และ กับคำ หรือ ดังแสดงมาแล้ว ยังมีอีกมาก แต่มักจะไม่ใช่อเนกรรถประโยครวม ดังที่แสดงมาแล้ว คือเป็นอเนกรรถประโยคธรรมดา ซึ่งโดยมากมักจะละบางส่วนที่ซ้ำกันเสีย อันเป็นไปตามระเบียบของประโยคคำพูด ดังได้อธิบายมาแล้ว ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องอธิบายในที่นี้๑

ข้อสังเกต ๓  อเนกรรถประโยครวมข้างบนนี้ อาจจะเป็นเอกรรถประโยคได้ในลักษณะต่อไปนี้

ก. ถ้าย่อคำ หรือ กับคำ ไม่ เข้าเป็นคำ ไหม คำเดียว เช่น เขาจะนอนไหม? เขาจะกินข้าวไหม? เป็นต้น ประโยคเหล่านี้ก็เป็นเอกรรถประโยคไปและคำ ไหม ก็เป็นวิเศษณ์ขยายกริยาบอกความถามไป

ข. ถ้าคำ หรือ ข้างท้ายประโยคนั้น มีความหมายเพียงเป็นคำวิเศษณ์บอกความถาม ไม่ใช่ใช้เป็นบทเชื่อมประโยคข้างท้าย เช่น ประโยคว่า “อ้อ! ท่านต้องการเท่านี้ แหละหรือ?” และว่า “ฉันสู้ท่านไม่ได้ฉะนั้น หรือ? เป็นต้น ประโยคเช่นนี้นับว่าเป็นเอกรรถประโยค และคำว่า แหละหรือ กับ หรือ ข้างท้ายประโยคนั้นนับว่าเป็นวิเศษณ์บอกความถาม หาใช่เป็นสันธานไม่ เพราะคำ หรือ ในที่นี้มีความหมายบอกให้ทราบว่าเป็นคำถามเท่านั้น หาได้เชื่อมความต่อไปอีกอย่างอเนกรรถประโยครวมข้างบนนั้นไม่

ค. อเนกรรถประโยคที่รวมภาคแสดงนั้น มีที่สังเกตต่างกับเอกรรถประโยคที่มี กริยา หรือ กริยาวลี เป็นบทขยายกริยาของประโยคดังนี้ คือ อเนกรรถประโยครวมภาคแสดงนั้น จะเอาสันธานแทรกลงในระหว่างกริยาที่เขาเรียงกันอยู่ก็ได้ความเช่นกัน เช่นตัวอย่างอเนกรรถประโยคว่า เขาไปนั่งสูบบุหรี่ที่นา และอเนกรรถประโยคว่า ใครจะนั่งนอนก็ได้ ดังนี้ ถ้าเอาคำสันธาน และแทรกระหว่างกริยาของประโยคต้นเข้าเป็น เขาไป และนั่งสูบบุหรี่ที่นา
………………………………………………………………………………………….
๑ ตำราเก่าท่านจัด อเนกรรถประโยค ที่ย่อส่วนต่างๆ รวมกันเข้าเป็นประโยคเดียวที่เรียกว่าประโยครวมในตำรานี้ เป็นประโยคพวกหนึ่งเรียกว่า สังเขปาเนกรรถประโยค และจัดประโยคทีละส่วนไว้ในที่เข้าใจเป็นอีกพวกหนึ่ง ให้ชื่อว่า บูรยาลาเนกรรถประโยค และ ให้บอกชื่อประโยคเหล่านี้ในการบอกสัมพันธ์ด้วย เป็นการยุ่งเหยิงเกินจำเป็น ในที่นี้ จะอธิบายให้ทราบว่า รูปประโยคของภาษาไทยย่อมเป็นประโยครวมกัน และบางส่วนที่ซ้ำกันดังที่กล่าวข้างบนนี้เท่านั้น และไม่ต้องบอกสัมพันธ์ถึงรูปประโยคว่าเป็นสังเขปฯ หรือ บูรยาลาฯ ให้ยุ่งเหยิงใช่เหตุ เพราะประโยคในภาษาไทยย่อมเป็นเช่นนี้เป็นพื้นอยู่แล้วแทบทั้งหมด
………………………………………………………………………………………….
และเอาสันธาน หรือ แทรกกริยาประโยคท้ายเข้าเป็น ใครจะนั่งหรือนอนก็ได้ ดังนี้เป็นต้น ก็ยังคงได้ความอยู่เช่นเดิม จึงนับว่าประโยคทั้ง ๒ นี้เป็นอเนกรรถประโยครวม

แต่อเนกรรถประโยคที่มี กริยา หรือ กริยาวลี เป็นบทขยายกริยาของ ประโยคนั้น ถ้าเอาสันธาน และ ก็ดี สันธาน หรือ ก็ดี มาแทรกเข้าระหว่าง กริยา ของประโยค กับ กริยา หรือ กริยาวลี ที่ขยายกริยาของประโยคนั้นแล้ว ความหมายก็จะผิดไปจากเดิม เช่น ตัวอย่างประโยคว่า ฉันฝันเห็นช้าง ดังนี้ก็ดี หรือประโยคว่า เขาบอกขายเรือ ดังนี้ก็ดี จะเห็นได้ว่าบทกริยาของประโยค ทั้ง ๒ นี้อยู่ที่คำ ฝัน และคำ บอก ส่วนบทว่า เห็นช้าง ก็ดี หรือ ขายเรือ ก็ดี เป็นเพียง บทกริยาวลี ขยายกริยาของประโยคคือ ฝัน และ บอก เท่านั้น หาใช่เป็น บทกริยารวม ของอเนกรรถประโยคดังข้างบนนั้นไม่ เพราะถ้าจะเอาสันธานแทรกเข้าเป็น –ฉันฝัน และ ฉันเห็นช้าง ก็ดี เป็น-เขาบอก และ เขาขายเรือ ก็ดี ความหมายก็ผิดไปจากเดิม ดังนั้นประโยคทั้ง ๒ นี้ จึงนับว่าเป็นเอกรรถประโยค ถึงจะเปลี่ยนรูปประโยคเป็นประโยคกรรม คือเอา ช้าง และ เรือ มาเป็นประธานดังนี้ ช้าง ถูกฉันฝันเห็น และ เรือ ถูกเขาบอกขาย คำว่า เห็น และ ขาย ก็ต้องเป็นบทแต่งกริยาของประโยก ซึ่งรวมกันเป็น บทกริยาวลี ว่า ฝันเห็น และ บอกขาย อยู่นั่นเอง จะแยกออกเป็นกริยา ๒ บทอย่างอเนกรรรถประโยครวมหาได้ไม่

แต่ถึงกระนั้นก็ดี ขอให้ผู้ศึกษาสำเหนียกไว้เสมอว่า ประโยคภาษาไทย ต้องอาศัยความ คือความมุ่งหมายของผู้พูดเป็นใหญ่ ดังนั้นประโยคข้างบนนี้อาจจะเป็นอเนกรรถประโยครวมไปบ้างก็ได้ เช่น นาย ก. เดินเตะกระโถนเล่น ซึ่งผู้พูดหมายความว่า นายก.เดินไปด้วย และเตะกระโถนเล่นด้วย ดังนี้เป็นต้น แต่ถ้าบท เตะกระโถน นั้น ผู้พูดต้องการจะให้เป็นบท กริยาวลีแต่งกริยา เพื่อแสดงความซุ่มซ่ามของผู้เดินแล้ว ประโยคนั้นก็ต้องนับว่าเป็นเอกรรถประโยคดังชี้แจงมาแล้ว

ลักษณะคำ “กับ ”คำ “ และ” คำ กับ นี้เราเคยใช้เป็นสันธานเหมือนคำ และ อย่างเดียวกับคำ แอนด์ (and) ของอังกฤษ แต่คำ กับ ของเรายังมีหน้าที่ใช้เป็นบุพบทได้ด้วย ซึ่งมีความหมายว่า ร่วมด้วย หรือ ด้วย ซึ่งตรงกับบุพบท วิถ (with) ของอังกฤษ ดังในประโยคว่า “ฉันเห็น กับตา (ฉันเห็น ด้วยตา) หรือ เขาไป กับครู (เขาไป ร่วมด้วยครู) ดังนี้เป็นต้น
แต่ตามหลักภาษาไทยเราคำ กับ ที่ใช้เป็นสันธาน แทนคำ และ ก็มีบ้างแต่น้อยแห่ง ดังจะอธิบายต่อไปข้างหน้า นอกนั้นคำ กับ ย่อมเป็นบุพบทแทบทุกแห่ง ซึ่งจำเป็นจะต้องอธิบายให้พิสดารในที่นี้ คือ:-
ก. คำ และ ใช้ในที่มีความหมาย-พ้องกันอย่างกว้างๆ เช่น ยายและตาทำนา หมายความว่า ยายทำนาและตาก็ทำนาเหมือนกัน กล่าวคือ ยายก็ทำนาของยาย ตาก็ทำนาของตา เอาความว่า ภาคแสดง -ทำนา นั้นเป็นของยายต่างหาก และเป็นของตาก็ต่างหาก ไม่รวมกันมีความหมายเพียงว่าทำนาเหมือนกันเท่านั้น

แต่คำ กับ นั้นไม่ใช่เป็นสันธานเชื่อมประโยค ซึ่งจะแยกออกเป็นคนละ ประโยคได้ ย่อมมีหน้าที่เป็นบุพบทนำหน้าคำที่เรียกว่าบุพบทวลีทำหน้าที่เป็นวิเศษณการก แสดงความร่วมกิจการด้วยกันกับบทหน้า เช่น “ ยาย กับ ตา ทำนา” ก็หมายความว่า “ยาย ร่วมด้วยตา ทำนา” คำ กับตา เป็นบุพบทวลีวิเศษณการกแต่งคำ ยาย อย่างเดียวกับบุพบทวลีอื่นๆ เช่น “เสื้อ-ของตา” “เงิน-ที่ตา” เป็นต้น ฉะนั้น ถ้าจะแยก ยายกับตา ทำนา ออกเป็น ยายทำนา กับตาทำนา ดังเคยแยก ก็จะผิดอย่างเดียวกับแยก ยายของตาทำนา เป็นยายทำนา ของ ตาทำนา ฉะนั้น เพราะภาคแสดง ทำนา นี้เป็นของยาย ที่เป็นประธานบทเดียวเท่านั้น ส่วน กับตา นั้นเป็นบทประกอบคำ ยาย หมายความว่าร่วมกับ ตา เท่านั้น หาได้เป็นประธานด้วยไม่

ประโยค ยายกีบตาทำนา มีเนื้อความกว้าง พิสูจน์ให้เห็นชัดยาก จึงขอชักประโยคเช่นเดียวกันที่มีความแคบเข้ากว่านี้มาให้ดูอีกเพื่อให้เห็นว่าแยกออกเป็น ๒ ประโยคไม่ได้ เช่น สองกับสามเป็นห้า ควรเห็นว่า กับสาม เป็นบทแต่ง สอง อย่างเดียวกับบท กับตา แต่ง ยาย เหมือนกัน จะแยกเป็น ๒ ประโยคว่า สองเป็นห้า กับสามเป็นห้า ก็ไม่ได้เช่นกัน

ดังที่อธิบายมานี้ ประโยคเช่น ยายฉับตาทำนา จึงนับว่าเป็นเอกรรถประโยคอย่างเดียวกับประโยคว่า ยายทำนาร่วมฉับตา ฉะนั้น๑

หมายเหตุ ประโยคชนิดนี้มักใช้บุพบทวลี ด้วยกัน ประกอบ เข้าด้วย โดยมาก เช่น ยายฉับตาไถนาด้วยกัน กับตา เป็นบุพบทวลีวิเศษณการกแต่งคำ ยาย และบท ด้วยกัน ก็เป็นบุพบทวลีวิเศษณการกแต่งกริยา ไถ หรือ ยายไถนา ด้วยกันกับตา ดังนี้ บท ด้วยกัน ก็ดี กับตา ก็ดี ต่างเป็นบุพบทวลี วิเศษณการก แต่งกริยา ไถ ด้วยกันทั้งคู่

ข้อสังเกต ส่วนคำ กับ ที่ใช้เป็นสันธานแทนคำ และ นั้นก็มีเหมือนกัน ให้ผู้ศึกษาสังเกตดังนี้

คำ กับ ที่เป็นบุพบท จะต้องนำหน้าบทอื่น ซึ่งรวมกันเป็นบุพบทวลีอย่างเดียวกับบุพบทวลีอื่นๆ ซึ่งทำหน้าที่เป็นเครื่องใช้ เช่น “ฉันเห็น กับตา” และทำหน้าที่ร่วมด้วย เช่น ยายนั่ง กับตา (คือ ยายนั่งร่วมด้วยตา) หรือ ประโยคว่า “เขามา เพื่อนอนกับฉัน” บท นอนกับฉัน เป็นกริยาสภาวมาลาวลีซึ่งมีทำบุพบท เพื่อ นำหน้าเป็นบุพบทวลี และมีบุพบทวลี กับฉัน ประกอบท้าย หมายความว่า เพื่อนอนร่วมด้วยฉัน ที่นำมากล่าวซ้ำอีกนี้ก็เพื่อเทียบกันให้เห็นชัดขึ้น

แต่ยังมีคำ กับ ที่ใช้เชื่อมบทกริยาของภาคแสดง ซึ่งไม่ใช่ทำหน้าที่บุพบท อยู่บ้างในที่บางแห่ง เช่นตัวอย่างประโยคว่า เขาเขียนกับอ่านหนังสือเสมอ ดังนี้ย่อมสังเกตได้ว่า เขียน เป็นบทกริยาของประโยคและคำ หนังสือ ข้างท้ายเป็นกรรมการก ดังนั้น คำ อ่าน ก็ต้องเป็นบทกริยาของประโยค และมีหนังสือ เป็นกรรมการกร่วมกัน ในที่นี้คำ กับ ต้องทำหน้าที่สันธานอย่างเดียว กับคำ และ เพราะถ้า กับ เป็นบุพบทก็ใช้นำหน้ากริยาของประโยคไม่ได้ ดังนั้น ประโยคนี้จึงต้องเป็นอเนกรรถประโยค ซึ่งเป็นทำนองเดียวกับประโยคที่ใช้สันธาน และ ว่า เขาเขียนและอ่านหนังสือเสมอ และ คำ กับ ในที่นี้ต้องเป็นสันธานอย่างเดียวกับคำ และ และแยกประโยคออกเป็นดังนี้
………………………………………………………………………………………….
๑ ขอให้ผู้ข้องใจข้อนี้ ทราบด้วยว่า การที่แก้ไขข้อนี้ ย่อมเสียเวลาตรึกตรองทบทวนและสอบสวน ผู้ชำนาญทางนี้มากมายแล้วจึงได้ตกลงตั้งเป็นแบบได้ดังข้างบนนี้
………………………………………………………………………………………….
ก. สันธาน กับ-เขาเขียนหนังสือเสมอ กับ เขาอ่านหนังสือเสมอ
ข. สันธาน และ-เขาเขียนหนังสือเสมอ และ เขาอ่านหนังสือเสมอ

ทั้ง ๒ ประโยคนี้มีความหมายต่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น คือ ประโยคสันธาน กับ หมายความว่า เขาเขียนกับอ่านร่วมกันไปเสมอ แต่ประโยคสันธาน และ หมายความห่างออกไป คือบางครั้งเขาก็เขียน บางครั้งก็อ่าน ไม่จำเป็นเขียนแล้วต้องอ่านร่วมกันไปอย่างประโยคต้น ที่จริงผู้พูดย่อมพูดไปตามเคยชินทั้งนั้น หาพิเคราะห์ถึงความแตกต่างกันดังกล่าวนี้นักไม่

ข้อสำคัญที่จะสังเกตก็คือ กับ ที่เป็นบุพบทจะต้องนำหน้า นาม สรรพนาม และกริยาสภาวมาลา อย่างบุพบทอื่นๆ

ตำแหน่งสันธานทเชื่อมอเนกรรถประโยค สันธานที่ทำหน้าที่เชื่อมอเนกรรถประโยคนั้น มีตำแหน่งเรียงไว้ไม่เหมือนกัน คงจะจำแนกไว้เพื่อเป็นที่สังเกตดังนี้

ก. สันธานที่เรียงไว้ในระหว่างประโยค ซึ่งนับว่าถูกต้องตามหน้าที่ของบทเชื่อม เช่นตัวอย่าง:-

“น้ำขึ้น แต่ ลมลง”
“เขามีทรัพย์ และ เขามีปัญญา”
“เขานอน หรือ เขานั่ง” ดังนี้เป็นต้น

ข. สันธานที่เรียงไว้ผิดที่ คือไม่เรียงไว้ระหว่างประโยค มักเอาไปเรียง แทรกไว้ในประโยคท้าย เช่นตัวอย่าง
“เขาโกรธท่าน เขา จึง ด่าท่าน”
“เขาจะนอน เขา ก็ ไม่นอน”
“เขาทำคุณแก่ท่าน ท่าน ก็ ควรสนองคุณแก่เขา” ดังนี้เป็นต้น

ค. สันธานรวม ได้แก่สันธานหลายคำที่เชื่อมอเนกรรถประโยคเดียวกัน
ซึ่งเรียงไว้ห่างกันบ้าง ติดกันบ้าง ดังจะจำแนกต่อไปนี้

(๑) สันธานคาบ คือสันธานหลายคำเรียงอยู่ห่างกัน มีคำอื่นคั่นอยู่ใน ระหว่างกลาง แต่ความหมายของสันธานเหล่านั้นต่อกัน เช่นตัวอย่าง “เขาอยากได้ดี แต่ เขา ก็ ไม่ได้ดี”

ดังนี้สันธาน แต่-ก็ ย่อมคาบคำ เขา ซึ่งเรียงอยู่กลางไว้จึงเรียกว่า สันธานคาบ และสันธาน ๒ คำนี้ทำหน้าที่เชื่อมประโยคให้ติดต่อกันและยังมีตัวอย่างอื่นๆ อีกมาก

(๒) สันธานควบ คือสันธานหลายคำที่เรียงติดต่อกันเป็นกลุ่มเดียว ได้แก่ตัวอย่างประโยคข้างบนนี้ แต่เอามาย่อให้สั้นเข้าเป็นประโยคคำพูด คือ ละส่วนที่ซ้ำกันออกเสีย เหลือไว้แต่คำสันธานติดต่อกัน จึงนับว่าเป็น สันธานควบ ดังตัวอย่างประโยคข้างบนนี้ คือ:-

อเนกรรถประโยกธรรมดา-“เขาอยากได้ดี แต่ เขา ก็ ไม่ได้ดี”
ย่อเข้าเป็นประโยคคำพูด-“เขาอยากได้ดี แต่ ก็ ไม่ได้ดี”

ดังนี้ คำสันธาน แต่-ก็ ในประโยคข้างบนนั้นเป็น สันธานคาบ เพราะอยู่ห่างกันและคาบคำ เขา ไว้ และสันธาน แต่-ก็ ในประโยคล่างนั้นเป็น สันธานควบ เพราะรวมกันเข้าสองคำ ทำหน้าที่เป็นบทเชื่อมประโยค คล้ายกับวลีต่างๆ ที่ทำหน้าที่เป็นบทเชื่อมประโยคฉะนั้น ดังนี้เป็นต้น และยังมีตัวอย่างอื่นๆ ซึ่งจะแสดงต่อไปข้างหน้าอีก

ฆ. ละสันธานไว้ในที่เข้าใจ ในข้อนี้จะเห็นได้ในตัวอย่างประโยครวมที่ ละบทเชื่อมดังแสดงมาแล้ว เช่น-ยายตาทำนา หรือ ตาสีไปนั่งที่โรงนา ซึ่งละสันธาน และ ไว้ในที่เข้าใจ ซึ่งประโยคเต็มต้องมี และ คือ ยายและตา ทำนา หรือ ตาสีไปและนั่งที่โรงนา ดังนี้เป็นต้น

หรือบางทีมีคำวิเศษณ์บางพวกประกอบอยู่ ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นประโยครวม เช่น เขานั่งบ้าง และนอนบ้างตลอดคืน ดังนี้คำวิเศษณ์ บ้าง ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นประโยครวม ถึงจะละคำสันธาน และ ออกเสีย กล่าวเพียงว่า เขานั่งบ้างนอนบ้างตลอดคืน ก็ได้ ดังนี้เป็นต้น ประโยคที่ละสันธานโดยมี คำวิเศษณ์ประกอบทำหน้าที่คล้ายบทเชื่อมเช่นว่านี้ มีอยู่มากดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า

ชนิดของอเนกรรถประโยค อเนกรรถประโยคที่แสดงมานี้ ท่านแบ่งเป็น ๔ ชนิด และเรียกชื่อต่างกันโดยสังเกตเนื้อความของประโยคนั้นๆ เป็นสำคัญ ดังจะแยกอธิบายต่อไปนี้

ก. อันวยาเนกรรถประโยค คืออเนกรรถประโยคที่มีเนื้อความคล้อยไป ตามกัน อันวย (อนุ+อย) แปลว่าไปตามกัน คือหมายความว่าเอกรรถประโยคทุกๆ ประโยคที่รวมกันเข้าเป็นอเนกรรถประโยคนั้น ย่อมมีเนื้อความคล้อยตามกันทั้งนั้น ไม่มีเนื้อความขัดกันหรือแย้งกันเลย และประโยคชนิดนี้ย่อมสังเกตได้ด้วยมีคำสันธานดังต่อไปนี้ เช่น ก็ และ กับ (บางแห่ง) จึง เชื่อมอยู่ระหว่างประโยคบ้าง ปนอยู่ในประโยคท้ายบ้าง จำแนกออกได้เป็นพวกๆ ดังนี้

(๑) มีเนื้อความตามกันตามเวลา ประโยคพวกนี้มักมีกริยานุเคราะห์ แล้ว หรือคำวิเศษณ์-ครั้น พอ เมื่อ ประกอบอยู่ในประโยคหน้า เป็นเครื่องช่วยสันธาน เพื่อแสดงเวลาต่อเนื่องกัน หรือร่วมกัน ดังตัวอย่าง:- …“แล้ว-ก็” เช่น “เขาอาบนา แล้ว เขา ก็ นอน”
…“แล้ว-จึง” เช่น “เขากินข้าว แล้ว เขา จึง ไปโรงเรียน”
“ครั้น…ก็” เช่น “ครั้น เขาทำการแล้ว เขา ก็ กลับบ้าน”
“ครั้น…จึง” เช่น “ครั้น แขกไปแล้ว เขา จึง นึกได้” เป็นต้น

คำวิเศษณ์นอกจากนี้ เช่น พอ เมื่อ ฯลฯ ก็ช่วยคำสันธานทำนองนี้เหมือนกัน หรือจะใช้กริยานุเคราะห์และวิเศษณ์หลายคำก็ได้ เช่น ตัวอย่าง:-
“ครั้น-แล้ว-ก็” เช่น “ครั้น เขานอน แล้ว ฝน ก็ ตก”
“พอ-แล้ว-จึง” เช่น “พอ เขาหลับ แล้ว ไม่ช้า ฉัน จึงได้ไป”

(๒) มีเนื้อความตามกันหรือร่วมกันตามอาการ ประโยคพวกนี้ได้แก่อเนกรรถประโยครวมที่มีคำ และ เป็นสันธาน ดังแสดงมาแล้วนั่นเอง เช่น ยายและตาทำนา ก็แสดงว่ายายและตาแสดงอาการตามกันหรือร่วมกัน คือ ทำนา เช่นเดียวกัน หรือประโยคว่า ตาสีทุบและตีเมีย ก็แสดงว่า อาการทุบ ก็ดี อาการตีก็ดี ของตาสีนั้นนับว่าเป็นอาการคล้อยตามกัน คืออยู่ในอาการทำร้ายเขาเช่นกัน

(๓) มีเนื้อความตามกันโดยสังเกตคำวิเศษณ์ ประโยคพวกนี้ได้แก่อเนกรรถประโยครวมที่ละสันธาน และ ดังแสดงไว้ข้างต้น ซึ่งถึงแม้ว่าละสันธาน และ เสียแล้ว ก็ยังรู้ได้ว่าเป็นอันวยาเนกรรถประโยค
มีเนื้อความตามกันไค้ ก็เพราะมีคำวิเศษณ์ให้รู้ได้ว่าแสดงเนื้อความตามกันในที่นี้จะยกตัวอย่างมารวมเพิ่มเติมไว้ให้มากอย่าง เพื่อให้ได้สังเกตมากขึ้นดังนี้

เขานั่งบ้างนอนบ้าง คือ “เขานั่งบ้าง และ นอนบ้าง”

ทั้งคนทั้งสัตว์ต้องตาย คือ “ทั้งคน ก็ ต้องตาย และ ทั้งสัตว์ ก็ต้องตาย”

สัตว์ด้วย พืชด้วยย่อมมีชีวิต คือ “สัตว์ด้วยย่อมมีชีวิต และ พืชด้วย ย่อมมีชีวิต”

ทั้งนี้จะละคำวิเศษณ์เสียทั้งหมด และเอาสันธาน และ ใส่ไว้แทนก็คงได้ความเช่นเดียวกัน

หมายเหตุ ตัวอย่างอันวยาเนกรรถประโยคข้างต้นนี้ มีเพียง ๒ ประโยคเท่านั้น ที่จริงจะมีมากกว่านั้นขึ้นไปสักกี่ประโยคก็ได้ เช่น ตัวอย่างประโยครวมภาคประธานว่ นายดำ และ นายแดง นายดี นายสี เป็นคนไทย  ซึ่งแยกเป็น ๔ ประโยค คือ นายดำ เป็นคนไทย และนายแดงเป็นคนไทย และนายดีเป็นคนไทย และนายสีเป็นคนไทย และประโยครวมภาคแสดงว่า ตาสีทุบและตีด่าเมีย ดังนี้ ก็แยกเป็น ๓ ประโยคคือ ตาสีทุบเมีย และตาสีตีเมีย และตาสีด่าเมีย ดังนี้เป็นต้น

ถึงจะไม่ใช่ประโยครวม แต่มีสันธานเป็นบทเชื่อมติดต่อกันไปสักกี่ประโยคก็ตาม ซึ่งมีเนื้อความคล้อยตามกันทั้งนั้น ก็นับว่าเป็นอันวยาเนกรรถประโยคเดียวกันเหมือนกัน เช่นตัวอย่าง ตาสีมาถึงบ้านแล้วก็อาบน้ำ และ ซักผ้า รดต้นไม้ แล้วจึงกินข้าว ซึ่งแยกออกเป็นประโยคไวยากรณ์ได้ ๕ ประโยคดังนี้ “ตาสีมาถึงบ้านแล้ว (แก) ก็อาบนํ้าและ (แก) ซักผ้า และ (แก) รดต้นไม้แล้ว (แก) จึงกินข้าว” ดังนี้เอกรรถประโยคทั้ง ๕ ซึ่งมีสันธานเชื่อมให้ติดต่อกัน และมีเนื้อความคล้อยตามกันเช่นนี้ นับว่าเป็นอันวยาเนกรรถประโยคเดียวเท่านั้น ดังนี้เป็นต้น

(๔) มีเนื้อความตามกินเท่าที่แบ่งรับไว้ ข้อนี้ได้แก่อันวยาเนกรรถประโยค ที่ใช้บทเชื่อมแบ่งรับ เช่น-ถ้า ถ้าว่า ผิ ผิว่า แม้ แม้ว่า ฯลฯ รวมกันกับสันธาน-และ ก็ หรือ โดยใช้ควบกันบ้าง คาบกันบ้าง แล้วแต่จะเหมาะแก่ภา ดังตัวอย่าง

“ถ้าและ ฝนไม่ตกฉันจะไป” หรือ “ถ้า ฝนไม่ตก ฉัน ก็ จะไป”
และ สันธานอื่นก็เชื่อมกันทำนองนี้ได้ หรือจะให้ประโยคแบ่งรับนั้นมีมากขึ้นเท่าไรก็ได้ เช่นตัวอย่าง:-

ถ้าฉันสบาย และเมียฉันสบาย และฝนไม่ตก ฉันก็จะไป ทั้งนี้แล้วแต่ผู้พูดจะให้มีประโยคแบ่งรับอย่างไรบ้าง๑

ประโยคชนิดนี้โดยมากมักใช้พูดกันย่อๆ โดยละสันธานอื่นๆ เสียเหลือ ไว้แต่บทเชื่อมที่แสดงแบ่งรับเช่น ถ้า ผิ ฯลฯ ตัวอย่าง:- “ถ้า ฝนไม่ตก ฉันจะไป” หรือ “ผิ เขามีปัญญาดี เขาคงรู้” (โบราณใช้)

ประโยคแบ่งรับนี้เรามักใช้นำหน้า ถ้าจะเอาไว้ข้างหลังก็ได้ แต่ต้องเอา และ หรือ ว่า เติมบทเชื่อมเข้าเป็น ถ้าและ ผิและ เช่น ฉันจะไป ถ้าและ ฝนไม่ตก๒ ดังนี้เป็นต้น

ข้อสังเกต คำสันธาน และที่ใช้เชื่อมบทหลายบทนั้น เราหาได้เชื่อมทุกบทตามแบบไวยากรณ์ไม่ แต่เราเชื่อมเพียงบทเดียวเท่านั้น บทนอกนั้น ก็ละ คำ และ ไว้ในที่เข้าใจทั้งนั้น ถ้ามีหลายบทด้วยกันกลัวจะยุ่ง ก็เว้นวรรคไว้เป็นบทๆ พอเป็นที่สังเกตเท่านั้น วิธีสอดคำ และที่ใช้กันอยู่บัดนี้มี ๓ วิธีดังนี้

ก. วิธีโบราณ ใช้สอดคำ และ ลงหน้าบทที่สอง ดังนี้
“นายดำ และ นายแดง นายสี นายสา เป็นคนไทย”
“ตาสี ด่า และ ตบ ต่อย เตะ ถีบคนใช้”
………………………………………………………………………………………….
๑ ข้อความในประโยคแบ่งรับนี้ ในสำนวนกฎหมายใช้ ว่า ข้อไข บ้าง ข้อแม้ บ้าง  ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า คอนดิชั่น (Condition)

๒ ประโยคแบ่งรับชนิดนี้ ในภาษาอังกฤษเขาใช้เป็นสังกรประโยค เพราะบทเชื่อมคำ “ถ้า” (if) ของเขาเป็นวิเศษณ์ ผิดกับของเรา และเขาเอาไว้ท้ายประโยค อย่างประโยควิเศษณ์อื่นๆ จะเปรียบกับของเราไม่ได้ เพราะรูปประโยคของเราเป็นอเนกรรถประโยคโดยแท้ เพราะสันธาน “และ” “ก็” เชื่อมเป็นเครื่องหมายอยู่ ถึงบางแห่งไม่มี  “และ” “ก็” ก็รู้ได้ว่าละไว้ในที่เข้าใจ และต้องเรียงตามรูปประโยคของเราดังที่ชักมาไว้ข้างบนนี้ จึงจะเป็นภาษาไทยที่แท้จริง
………………………………………………………………………………………….
ข. วิธีใหม่ซึ่งใช้ตามแบบอังกฤษ แต่นับว่าใช้ทั่วไปจนเป็นภาษาไทยแล้วคือสอดคำ และ ลงหน้าบทสุดท้าย ดังนี้

“นายดำ นายแดง นายสี และ นายสา เป็นคนไทย”
“ตาสี ด่า ตบ ต่อย เตะ และ ถีบ คนใช้”

ค. มีบทเรียงกันหลายบท และบทหนึ่งๆ ก็ยาวยืดยาด ซึ่งจะใช้ตาม ๒ ข้อข้างบนนี้ไม่สะดวก ท่านมักเอาสันธานทำนองเดียวกับ และ เช่น กับ บ้าง ทั้ง บ้าง เข้าสอดสลับกันไปแล้วแต่จะสะดวกแก่ผู้อ่าน เช่นตัวอย่าง
“ตาสีเป็นคนขี้หึง และ ตระหนี่ทรัพย์ถือเงินเป็นพระเจ้า กับ ตระหนี่ตัวไม่อยากไปหาใคร ทั้ง ใครๆ เขาก็ไม่อยากมาหาแกด้วย”

ที่จริงประโยคข้างบนนี้จะใช้ และ เชื่อมทุกแห่งก็ได้ แต่ความไม่ใคร่สละสลวยอย่างที่ใช้คำอื่นสลับกันเช่นในตัวอย่างนั้น ดังนั้นขอให้ผู้ศึกษาสังเกตไว้เป็นพิเศษด้วยว่า ภาษาไทยไม่นิยมใช้คำคำเดียวกันซ้อนอยู่ในที่ใกล้ๆ กัน เช่น และ-และ-และ ดังกล่าวแล้ว ถึงคำอื่นๆ เช่น ของ-ของ ที่อยู่ใกล้กันก็นิยมใช้คำ แห่ง สลับกันเสียบ้าง หรือละคำ ของ เสียบ้าง เช่น ภรรยาของบุตรฉันเป็นหลานแห่งนาย ก. เป็นต้น เพื่อให้ผู้อ่านผู้ฟังเข้าใจสะดวกเป็นข้อใหญ่

ข. พยติเรกาเนกรรถประโยค คำ พยติเรก ออกจากศัพท์ วิ กับ อติเรก รวมแปลว่า มากขึ้นอย่างผิดปกติ ซึ่งหมายความถึงประโยคที่เอามาพ่วงเข้าตนั้นทำให้ความมากขึ้นโดยผิดปกติ คือไม่ตามกันอย่าง อันวยาเนกรรถประโยคที่อธิบายมาแล้ว เอาความในภาษาไทยเราว่า อเนกรรถประโยคซึ่งมีเนื้อความแย้งกัน หมายถึงเนื้อความของประโยคท้ายแย้งกับเนื้อความของประโยคหน้า ข้อสังเกตของประโยคชนิดนี้ อยู่ที่มีสันธาน แต่ หรือสันธานประสมที่เกี่ยวกับคำ แต่ เช่น แต่ว่า แต่-ก็ แต่ทว่า ฯลฯ เช่นตัวอย่าง
“น้ำขึ้น แต่ ลมลง”
“เขานอน แต่ว่า เขายังไม่หลับ หรือ แต่ทว่า ยังไม่หลับ”
“เขาอยากนอน แต่ เขา ก็ นอนไม่ได้”
“กายเขาสบาย แต่ทว่า ใจเขาไม่สบาย” ดังนี้เป็นต้น

ประโยคชนิดนี้ย่อมละบางส่วนที่ซ้ำกันออกเสียได้อย่างอเนกรรถประโยคอื่นๆ แต่บางทีก็ละสันธาน แต่ ไว้ในที่เข้าใจก็ได้ ข้อสำคัญนั้นอยู่ที่เนื้อความแย้งกัน และถึงจะเติมคำ แต่ ลงไปก็ได้ความดี เช่น ตัวอย่าง
ละ แต่- “ถึง เขาจะชมฉัน ฉัน ก็ ไม่ยินดี”
เติม แต่- “ถึง เขาจะชมฉัน แต่ ฉันก็ ไม่ยินดี”
ละ แต่- “กว่า ถั่วจะสุก งา ก็ ไหม้หมด”
เติม แต่- “กว่า ถั่วจะสุก แต่ งา ก็ ไหม้หมด” ดังนี้เป็นต้น

ข้อสังเกต ในประโยคที่ละสันธาน แต่ ตามตัวอย่างข้างบนนี้ให้ผู้ศึกษาสังเกตเนื้อความเป็นข้อใหญ่ ถ้าเห็นว่าแย้งกันจึงใช้สันธาน แต่ เติมลงได้ ถ้าเนื้อความคล้อยตามกันก็ไม่ควรเติมสันธาน แต่ ลงไปและประโยคนั้นต้องนับว่าเป็น อันวยาเนกรรถประโยค ดังกล่าวแล้ว ดังตัวอย่างคล้ายข้างบนนี้คือ
“ถึง เขาจะชมฉัน ฉัน ก็ ยินดี”
“กว่า ถั่วเขียวจะสุก ถั่วดำ ก็ สุกพอดี”

เช่นนี้ไม่ควรเติมสันธาน แต่ เพราะเนื้อความตามกันนับว่าเป็น อันวยาเนกรรถประโยค ทั้งนี้เพราะคำสันธานและวิเศษณ์ เช่น ถึง หรือ กว่า ที่ประกอบอยู่นั้น ไม่บอกเนื้อความแน่นอนจึงต้องอาศัยสันธาน แต่ หรือ ก็ ในประโยคท้ายเป็นเครื่องหมายบอกเนื้อความแย้งกันอีกชั้นหนึ่ง

ค. วิกัลป์ปาเนกรรถประโยค คำว่า วิกัลป แปลว่า กำหนด ดังนั้นวิกัลปาเนกรรถประโยคจึงหมายความว่า อเนกรรถประโยคที่มีเนื้อความกำหนดเอาข้อใดข้อหนึ่ง หรือเลือกเอาข้อใดข้อหนึ่งซึงหมายความง่ายๆ ว่า อเนกรรถประโยคที่มีเนื้อความให้เลือกเอาทางหนึ่ง ตัวอย่างเช่น นาย ก. หรือนาย ข. ต้องทำงาน ดังนี้หมายความว่า นาย ก. ทำงานก็ได้ หรือนาย ข. จะทำงานก็ได้ เลือกทำแต่คนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่ทำทั้ง ๒ คน

ประโยคชนิดนี้มีสันธาน หรือ เชื่อมอยู่ในระหว่างเป็นพื้น และบางทีก็ใช้คำวิเศษณ์วลีบอกความปฏิเสธ เช่น ไม่เช่นนั้น, ไม่อย่างนั้น, มิเช่นนั้น, มิฉะนั้น ฯลฯ เข้ามาช่วยประกอบบ้าง ใช้สันธาน ก็ เข้ามาช่วยประกอบบ้าง บางทีก็ละสันธาน หรือ ที่เป็นบทเชื่อมสำคัญออกเสียบ้าง แล้วแต่ภาษานิยม อนึ่ง วิกัลป์ปาเนกรรถประโยคนี้มีสันธาน หรือ เป็นบทเชื่อมทั่วไป ดังนั้นตัวอย่างของประโยคชนิดนี้ จึงเป็นอเนกรรถประโยครวม เช่นเดียวกับอันวยาเนกรรถประโยคเหมือนกัน ดังต่อไปนี้

วิกัลป์ปาเนกรรถประโยคธรรมดา-นาย ก. มา หรือ นาย ข. มา
วิกัลป์ปาเนกรรถประโยครวม-นาย ก. หรือ นาย ข. มา
ใช้บทวิเศษณ์วลีประติเษธ กับ ก็-นาย ก. หรือ ไม่ก็ นาย ข. มา
หรือรวมว่า – นาย ก. หรือไม่ก็ นาย ข. มา
ใช้บทวิเศษณ์วลีประติเษธ กับ ก็-นาย ก. หรือไม่เช่นนั้นก็ นาย ข. มา
หรือรวมว่า-นาย ก. หรือไม่เช่นนั้นก็ นาย ข. มา
ละสันธาน หรือ  ออกเสีย- นาย ก. ไม่เช่นนั้นก็ นาย ข. เป็นคนร้าย
ละสันธานทั้ง หรือ และ ก็-นาย ก. ไม่เช่นนั้น นาย ข. เป็นคนร้าย

หมายเหตุ ประโยคข้างบนนี้เป็นได้ทั้งคำถามและไม่ใช่คำถามแล้วแต่ผู้พูด คือถ้าจะให้เป็นคำถามก็ใส่เครื่องหมายปรัศนีไว้ท้ายประโยคดังต่อไปนี้

รวม-นาย ก. หรือนาย ข. เป็นนายอำเภอ?
แยก-นาย ก. เป็นนายอำเภอ หรือนาย ข. เป็นนายอำเภอ?
รวม-ท่านจะอยู่ หรือ จะไป?
แยก-ท่านจะอยู่ หรือ ท่านจะไป? เป็นต้น

ประโยกคำถามนี้มีใช้ชุกชุมในความรับ กับ ประติเษธ และโดยมากใช้เป็นประโยครวม เช่น ตัวอย่าง

เขาเป็นขโมยหรือเขาไม่? แยก-เป็นขโมย หรือ เขาไม่เป็นขโมย?
เขาอยู่หรือไม่? แยก-เขาอยู่ หรือ เขาไม่อยู่?
ท่านจะรักเมียหรือญาติ? แยก-ท่านจะรักเมีย หรือ ท่านจะรักญาติ? ท่านชอบคนขาวหรือดำ? แยก-ท่านชอบคนขาว หรือ ท่านชอบคนดำ?

อนึ่ง การใช้วิกัลปาเนกรรถประโยคนี้เป็นประโยครวมก็ดี หรือแยกออก เป็นอเนกรรถประโยคธรรมดาก็ดี หรือละบางส่วนเสียบ้างก็ดี ทั้งนี้แล้วแต่ผู้พูดจะเห็นเหมาะที่จะพูดในที่นั้น หาได้มีกฎเกณฑ์ไม่

ข้อสังเกต ตัวอย่างประโยคข้างบนนี้ ใช้คำ หรือ เป็นสันธาน ซึ่งบ่ง
ความว่าจะต้องเชื่อมกับความต่อไปอีก จึงนับว่าเป็นวิกัลปาเนกรรถประโยค แต่ถ้าประโยคที่ใช้คำ หรือ ที่เป็นกริยาวิเศษณ์บอกคำถามเหมือนกัน แต่ไม่บ่งความว่าจะเชื่อมความต่อไปอีก เช่นตัวอย่าง ท่านจะนอนหรือ? ท่านจะโกรธฉันเจียวหรือ? ดังนี้เป็นต้นก็ดี และประโยคที่ย่อคำ หรือไม่ เข้าเป็นคำวิเศษณ์ ไหม เช่นตัวอย่างว่า ท่านจะนอนไหม? ดังนี้เป็นต้นก็ดี ย่อมเป็นเอกรรถประโยคดังแสดงมาแล้วข้างต้น หาใช่เป็นวิกัลปาเนกรรถประโยคที่กล่าวนี้ไม่

หมายเหตุ  ประโยคที่มีสันธาน หรือ เชื่อมอยู่ ถ้าไม่ใช้เป็นคำถามแล้วจะต้องมีลักษณะคล้ายกับประโยคที่มีสันธาน และ หรือ กับ เชื่อมอยู่ คือ จะต้องเชื่อมเฉพาะบทประธาน บทกริยา หรือบทกริยารวมกับบทวิกัติการก ช่วยกริยาเท่านั้น จึงจะเป็นอเนกรรถประโยคได้ แต่ถ้าเชื่อมบทอื่นนอกจากนี้ก็นับว่าเป็นเอกรรถประโยคทั้งนั้น จงสังเกตตัวอย่างต่อไปนี้

นาย ก. หรือ นาย ข. ต้องนอน ก็ดี นาย ก. ต้องนอนหรือนั่ง ก็ดี เขาต้องเป็นนายอำเภอหรือครู ก็ดี เหล่านี้เป็นอเนกรรถประโยคทั้งนั้น แต่ถ้าเชื่อมบทอื่น เช่น เขาคิดถึงลูกหรือเมียเขา ก็ดี เขาคงซื้อม้าดำหรือขาว เป็นเอกรรถประโยค ไม่ต้องแยกออกเป็น เขาคิดถึงลูกเขาหรือเขาคิดถึงเมียเขา ฯลฯ ดังกล่าวแล้ว เว้นแต่ประโยคที่เชื่อมสันธาน หรือที่เป็นคำถาม จะต้องแยกเป็นวิกัลป์ปาเนกรรถประโยคทั้งนั้น ไม่ว่า หรือ จะเชื่อมกับบทไรๆ เช่น เขาจะซื้อม้าดำหรือขาว? ก็ต้องแยกเป็น เขาจะซื้อม้าดำ หรือเขาจะซื้อม้าขาว? เป็นต้น นอกจากจะมีคำถามกำกับอยู่ข้างหลังแล้วอีกชั้นหนึ่ง เช่น เขาจะซื้อม้าดำหรือม้าขาวไหม? ดังนี้ คำ ไหม เป็นคำถามอยู่แล้ว ดำหรือขาว พ้นหน้าที่เป็นคำถามจึงไม่ต้องแยก

ฆ. เหตวาเนกรรถประโยค (จากศัพท์ เหตุ-อเนกรรถประโยค) ซึ่งแปลเอาความว่า อเนกรรถประโยคที่เกี่ยวกับเหตุ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับอันวยากรรถประโยค ในข้อที่ว่ามีเนื้อความคล้อยตามเหมือนกัน ต่างกันก็แต่เหตวาเนกรรถประโยคนี้มีเนื้อความตามกันในทางเป็นเหตุผลแก่กัน กล่าวคือ ประโยคหน้าเป็นเหตุ ประโยคหลังเป็นผล และมีสันธาน จึง เชื่อมติดต่อกัน เช่น

“น้ำเน่า จึง ยุงชุม” คือประโยค น้ำเน่า เป็นเหตุ และประโยค ยุงชุม เป็นผล ประโยคชนิดนี้ ถ้าไม่คล้อยตามกันทางเหตุผล เช่น ครั้นถึง (วัง) จึง (ท่าน) เปลื้องเครื่องทรง ดังนี้เป็นต้น ก็นับว่าเป็นอันวยาเนกรรถประโยคดังกล่าวแล้ว

และเหตวาเนกรรถประโยคนี้ มักจะเอาบทวิเศษณ์หรือบทวลีทำหน้าที่ วิเศษณ์ เช่น ฉะนั้น ดังนั้น เพราะฉะนั้น ฯลฯ มาช่วยสันธาน จึง หรือ บางทีก็ละสันธาน จึง ไว้ในที่เข้าใจ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ใช้บทวิเศษณ์ช่วย- “น้ำเน่า ฉะนั้น ยุง จึง ชุม”
ใช้บทวลีทำหน้าที่วิเศษณ์ช่วย— “น้ำเน่า เพราะฉะนั้น ยุง จึง ชุม”
ดังนี้เป็นต้น

หมายเหตุ เหตวาเนกรรถประโยคต้องมีคำสันธาน จึง หรือมีบทวิเศษณ์ ช่วยดังกล่าวแล้วนั้น เป็นบทเชื่อมช่วยสันธาน จึง ซึ่งล้วนแต่เป็นบทเชื่อมประโยคผลอยู่ข้างท้ายทั้งสิ้น จึงจะนับว่าเป็นอเนกรรถประโยคดังตัวอย่างข้างบนนี้

แต่ถ้าประดยคเหตุผลเหล่านั้นมีประโยคเหตุอยู่ข้างท้าย และมีบทเชื่อม เช่น-เพราะ, เพราะว่า, ด้วยว่า, เหตุว่า ฯลฯ อยู่หน้าประโยคเหตุ เช่นตัวอย่าง-ยุงชุมเพราะน้ำเน่า ก็ดี  ดังนี้ไม่ใช่เหตวาเนกรรถประโยค แต่เป็นสังกรประโยค  และประโยคข้างท้ายนั้นเป็นวิเศษณานุประโยค บอกเหตุของประโยคสังกร ดังจะแสดงต่อไปข้างหน้า

ข้อสังเกต เหตวาเนกรรถประโยคจะต้องมีประโยคเหตุอยู่ข้างหน้าและมีประโยคผลอยู่ท้าย จะมีบทเชื่อมดังกล่าวแล้วก็ได้ หรือจะมีบทเชื่อมอยู่หน้าประโยคเหตุด้วยก็ได้ แล้วแต่จะเหมาะกับสำนวน เช่นตัวอย่าง เพราะน้ำเน่ายุงจึงชุมนัก หรือ ด้วยเหตุว่าน้ำเน่า ดังนั้นยุงจึงชุม  ดังนี้เป็นต้น จึงจะนับว่าเป็นเหตวาเนกรรถประโยคดังกล่าวแล้ว

วิธีบอกสัมพันธ์อเนกรรถประโยค มีต่างออกไปอีก ๒ ข้อ คือต้องบอกบทเชื่อมความและบอกชื่อชนิดของประโยคด้วย ถ้ามีเล็กน้อยจะไม่ต้องใช้ตีตารางก็ได้ ดังตัวอย่าง

ก. ตัวอย่างเขียนบอกสัมพันธ์
ประโยคว่า-หนูเอ๋ย ! จงดูเยี่ยงกาไว้ แต่อย่าจำอย่างกาเลยพ่อคุณ ประโยคไวยากรณ์-หนูเอ๋ย (เจ้า) จงดูเยี่ยงกาไว้ แต่ (เจ้า) อย่าจำอย่างกาเลยพ่อคุณ

แบบบอกสัมพันธ์
silapa-0256 - Copy
ถ้ามีมากหลายประโยคด้วยกัน ควรตีตารางบอกสัมพันธ์ดีกว่าและบทที่เติมเข้ามาเพื่อให้ครบรูปประโยคไวยากรณ์ก็ให้เขียนในวงเล็บ กรอกลงไว้ในตารางบอกสัมพันธ์ทีเดียวเพื่อทุ่นเวลา

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร