เครื่องหนัง: เครื่องตีที่ทำด้วยหนัง

เครื่องหนัง

กลองทัด

เครื่องตีที่ขึงด้วยหนังแทบทุกชนิดของไทย  ดูเหมือนจะเรียกกันว่า “กลอง” แทบทั้งนี้น กลองที่ชาวไทยทำขึ้นใช้ดั้งเดิมเห็นจะเป็นกลองที่ขึงด้วยหนังสองหน้าตรึงหมุดอย่างที่เรียกกันในบัดนี้ว่า “กลองทัด” ตัวกลองทำด้วยไม้แก่นเนื้อแน่นแข็ง ใช้กลึงคว้านข้างในจนเป็นโพรง  ตรงกลางป่องออกนิดหน่อย  ขึ้นหน้าทั้งสองข้างด้วยหนังวัวหรือหนังควายตึงด้วยหมุดซึ่งเรียกว่า “แส้” ทำด้วยไม้หรือด้วยงา หรือกระดูกสัตว์หรือโลหะ  ตรงกลางหุ่นกลองด้านหนึ่งมีห่วงสำหรับแขวน เรียกกันว่า “หูระวิง”  ซึ่งคงจะเพี้ยนมาจาก “กระวิน” กลองชนิดนี้ คงจะเป็นกลองที่ชนชาวไทยนิยมกันมาแต่โบราณคู่กับ “ฆ้อง(โหม่ง)” สร้างขึ้นใช้ในสถานที่และในโอกาสต่าง ๆ กันด้วย  ขนาดใหญ่ เช่นกลองตามวัดวาอารามและตามปูชนียสถาน  และบางแห่งก็แขวนไว้ บางแห่งก็วางนอนไว้บนขาตั้ง เพื่อให้ตีได้ทั้งสองหน้าที่บัญญัติเรียกชื่อเฉพาะขึ้นไว้สำหรับตีเป็นสัญญาณในการนั้น ๆ ก็มี เช่น ที่บัญญัติชื่อไว้ลงท้ายด้วยคำว่า “เภรี” และที่เรียกไปตามประเภทที่ประกอบการแสดงก็มี เช่น กลองโขน กลองหนังแต่ก็คงเป็นกลองรูปร่างอย่างเดียวกัน “กลองทัด” มีขนาดหน้ากว้าง แต่ละหน้าวัดผ่านศูนย์กลางประมาณ ๔๖ ซม. เท่ากันทั้ง ๒ หน้า ตัวกลองยาวประมาณ ๕๑ ซม. รูปทรงกระทัดรัดพองามเวลาใช้บรรเลงตีเพียงหน้าเดียว หน้าหนึ่งติดข้าวสุกผสมกับขี้เถ้าปิดตรงใจกลาง แล้ววางกลองทางหน้านั้นคว่ำตะแคงขอบไว้บนหมอนหนุน  และมีขาหยั่งสอดค้ำตรงหูระวิง  ให้หน้ากลองอีกข้างหนึ่งตะแคงลาดมาทางผู้ตี  ใช้ตีด้วยท่อนไม้ ๒ อัน ทำด้วยซอไม้รวกยาว ๕๐-๕๔ ซม.  แต่ก่อนปีพาทย์วงหนึ่งก็คงใช้กลองเพียงลูกเดียว  แต่ต่อมาในราวรัชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร์นิยมใช้ ๒ ลูก ลูกหนึ่งเสียงสูงเรียกว่า “ตัวผู้” ตีดังเสียง “ตูม” ลูกหนึ่งเสียงต่ำเรียกว่า “ตัวเมีย” ตีเสียงดัง “ต้อม”

ท่านจะสังเกตเห็นหน้ากลองเกือบทุกชนิด  มักจะมีวงดำตรงกลางและทาขอบกลองเป็นสีดำโดยรอบ  นั่น คือ ทาด้วยยางรัก เพื่อเป็นที่หมายตรงศูนย์กลางและเพื่อรักษาหนัง

กลองชาตรี

กลองชาตรี  รูปร่างลักษณะและการตี  เช่นเดียวกับกลองทัดทุกอย่างแต่ขนาดเล็กกว่ามาก  ใช้บรรเลงร่วมในวงปี่พาทย์ประกอบการแสดงละครชาตรี  ที่เรียกว่าปีพาทย์ชาตรีแต่มีชื่อเรียกตามเสียงอีกอย่างหนึ่งว่า “กลองตุ๊ก” มีหน้ากว้างวัดผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒๐ ซม. ยาวประมาณ ๒๔ ซม. แต่ก่อนคงใช้กลองใบเดียว  แต่ต่อมาในตอนหลังนี้ใช้ ๒ ใบ ในครั้งโบราณมีแพร่หลายในจังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย เดี๋ยวนี้ก็ยังคงมีอยู่

ตะโพน

ตะโพน  ในหนังสือเก่าเรียก “สะโพน” รูปร่างคล้ายมุทิงค์ หรือมัททละของอินเดีย

ตะโพนมอญ

ตะโพนมอญ  เหมือนตะโพนไทยทุกอย่าง แต่ใหญ่กว่า “หน้าแท่ง” วัดผ่านศูนย์กลางประมาณ ๔๒ ซม.

“หน้ามัด” ประมาณ ๓๕ ซม. หุ่นยาวประมาณ ๗๐ ซม. และตรงกลางหุ่นไม้ป่อง  ใช้บรรเลงเพลงมอญ  และใช้ในวงปี่พาทย์มอญ

กลองตะโพน

กลองตะโพน คือ ตะโพน ที่กล่าวมาในแล้ว แต่นำมาตีอย่างกลองทัด  โดยใช้ไม้นวมที่ตีระนาดเป็นไม้ตี  มิได้ใช้ฝ่ามือตีอย่างตะโพน  จึงเรียกกันว่า “กลองตะโพน” สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  ทรงนำมาใช้คราวทรงปรับปรุงวงปี่พาทย์สำหรับ ประกอบการแสดงละครดึกดำบรรพ์ขึ้นเมื่อปลายรัชกาลที่ ๕

โทน หรือ ทับ

โทนหรือทับเป็นเครื่องตีขึงหนังหน้าเดียว มีสายโยงเร่งเสียงจากขอบหนังถึงคอมีหางยื่นออกไป  ตอนปลายบานเป็นดอกลำโพง  โทนที่กล่าวนี้บางทีจะเรียกชื่อกันอีกอย่างหนึ่งว่า “ทับ” จึงเรียกควบคู่กันไปเสียเลยว่า “โทนทับ”

ก.  โทนชาตรี

โทนชาตรี  ตัวโทนทำด้วยไม้ เช่น ไม้ขนุน ไม้สัก หรือไม้กระท้อน ขนาดกว้างประมาณ ๑๗ ซม. ยาวประมาณ ๓๔ ซม. สายโยงเร่งเสียงใช้หนังเรียดตีด้วยมือหนึ่ง ส่วนอีกมือหนึ่งคอยปิดเปิดลำโพง  เพื่อช่วยให้เกิดเสียงต่าง ๆ ตามที่ต้องการ  ใช้ตีร่วมในวงปีพาทย์ชาตรี แต่ก่อนคงใช้ลูกเดียวแต่ต่อมาใช้ ๒ ลูก ตี ๒ คน คนละ ๑ ลูก ใช้ตีประกอบการแสดงละครโนห์ราชาตรีและหนังตะลุงและใช้ตีประกอบจังหวะในวงปี่พาทย์หรือวงเครื่องสาย หรือวงมโหรี ที่เล่นเพลงภาษาเขมรหรือตะลุง

ข.  โทนมโหรี

โทนมโหรี ตัวโทนทำด้วยดินเผาด้านที่ขึ้นหนังโตกว่าโทนชาตรี  ขนาดหน้ากว้างประมาณ ๒๒ ซม. ยาวประมาณ ๓๘ ซม.  สายโยงเร่งเสียงใช้ต้นหวายผ่าเหลาเป็นเส้นเล็กหรือใช้ไหมฟั่นเป็นเกลียว  หนังที่ขึ้นหน้าใช้หนังลูกวัว หนังแพะ หนังงูเหลือม หรือหนังงูงวงช้างตีด้วยมือหนึ่ง และอีกมือหนึ่งทำหน้าที่ปิดเปิดทางลำโพงเช่นเดียวกับโทนชาตรี  ใช้บรรเลงในวงเครื่องสายและวงมโหรี เรียกกันว่า โทนมโหรีใช้ลูกเดียว  แต่ตีขัดสอดสลับคู่กับรำมะนา
โทนทั้งสองชนิดดังกล่าวนี้  ใช้ตีประกอบการเล่นพื้นเมืองของไทยอย่างหนึ่ง ตีประกอบการขับร้องและใช้เป็นจังหวะในการฟ้อนรำ เรียกกันว่า “รำโทน”

รำมะนา

รำมะนา  เป็นกลองขึงหนังหน้าเดียวชนิด Tambourinc ขนาดไล่เลี่ยกันเว้นแต่ไม่มี Jingles หรือฉาบคู่ติดตามขอบ หน้ากลองที่ขึ้นหน้าบานผายออก ตัวกลองสั่น รูปร่างคล้ายชามกะละมัง รำมะนาของเรามี ๒ ชนิด คือ รำมะนามโหรี กับ รำมะนาลำตัด

ก.  รำมะนามโหรี

รำมะนาขนาดเล็ก  หน้ากว้างประมาณ ๒๖ ซม. ตัวรำมะนายาวประมาณ ๗ ซม.  หนังที่ขึ้นตรึงด้วยหมุดโดยรอบจะเร่งหรือลดเสียงให้สูงต่ำไม่ได้ แต่มีเชือกเส้นหนึ่งเรียกกันว่า “สนับ” สำหรับใช้หนุนข้างในโดยรอบของหน้า ช่วยให้เสียงสูงและไพเราะได้  ตีด้วยฝ่ามือใช้บรรเลงร่วมในวงมโหรีและเครื่องสาย เป็นเครื่องตีคู่กันกับโทนมโหรี

ข.  รำมะนาลำตัด

รำมะนาอีกชนิดหนึ่ง เป็นขนาดใหญ่หน้ากว้างประมาณ ๔๘ ซม. ตัวรำมะนายาวประมาณ ๑๓ ซม. ขึ้นหนังหน้าเดียว  ใช้เส้นหวายผ่าซีกโยงระหว่างขอบหน้ากับวงเหล็ก  ซึ่งรองกันใช้เป็นขอบของตัวรำมะนา และใช้ลิ่มหลาย ๆ อันตอกเร่งเสียงระหว่างวงเหล็กกับก้นรำมะนา รำมะนาชนิดนี้แต่เดิมใช้ประกอบการร้องเพลง “บันตน” ในตอนหลังนี้ยังใช้ประกอบการเล่น “ลำตัด” และ “ลิเกรำตัด” หรือ “ลิเกรำมะนา” เดี๋ยวนี้รู้จักแพร่หลายที่ใช้ประกอบการเล่นลำตัด วงหนึ่ง ๆ จะมีรำมะนาสักกี่ลูกก็ได้ คนตีนั่งล้อมวงและร้องเป็นลูกคู่ไปด้วย

กลองแขก

กลองแขก  รูปร่างยาวเป็นกระบอกแต่หน้าหนึ่งใหญ่ เรียกว่า “หน้ารุ่ย” กว้างประมาณ ๒๐ ซม. อีกหน้าหนึ่งเล็กเรียกว่า “หน้าต่าน” กว้างประมาณ ๑๗ ซม. หุ่นกลองยาวประมาณ ๕๗ ซม. ทำด้วยไม้จริง หรือไม้แก่น เช่นไม้ชิงชัน หรือไม้มะริด ขึ้นหนัง ๒ หน้า ด้วยหนังลูกวัวหรือหนังแพะ  ใช้เส้นหวายผ่าซีกเป็นสายโยงเร่งเสียง โยงเส้นห่าง ๆ แต่ต่อมาใช้สายหนังโยงก็มี  สำรับหนึ่งมี ๒ ลูก ลูกเสียงสูง เรียกว่า “ตัวผู้” ลูกเสียงต่ำเรียกว่า “ตัวเมีย” ตีด้วยฝ่ามือทั้งสองหน้าให้เสียงสอดสลับกันทั้งสองลูก กลองแบบนี้เรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า “กลองชวา”  ไทยเราคงจะนำกลองชนิดนี้มาใช้ในวงดนตรีของไทยมาแต่โบราณใช้ในขบวนแห่นำเสด็จพระราชดำเนินและใช้บรรเลงร่วมกับปี่ชวา  ประกอบการเล่นกระบี่กระบองเป็นต้น  แล้วภายหลังจึงนำมาใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์ของไทย  ใช้ตีกำกับจังหวะแทนตะโพน ในวงปี่พาทย์ และใช้แทนโทนกับรำมะนาในวงเครื่องสายด้วย

กลองมลายู

กลองมลายู  รูปร่างอย่างเดียวกับกลองแขก  แต่ตัวกลองสั้นกว่าและอ้วนกว่าหน้ากลองก็กว้างกว่า  หน้าด้านใหญ่ กว้างประมาณ ๒๐ ซม.  หน้าด้านเล็ก กว้างประมาณ ๑๘ ซม. ตัวกลองหรือหุ่นยาวประมาณ ๕๔ ซม. สายโยงเร่งเสียงทำด้วยหนัง หน้าใหญ่ใช้ตีด้วยไม้งอ ๆ ส่วนหน้าเล็กตีด้วยฝ่ามือ

ไทยเรานำเอากลองมลายูใช้ในกระบวนแห่ เช่น แห่คเชนทรัศวสนาน แห่พระบรมศพและศพเจ้านาย บรรเลงประโคมศพโดยจัดเป็นชุด ชุดหนึ่งมี ๔ ลูก แล้วภายหลังลดเหลือ ๒ ลูก ลูกที่เป็นเสียงสูง เรียกว่า “ตัวผู้” และลูกเสียงต่ำ เรียกว่า “ตัวเมีย” ใช้บรรเลงในวง “บัวลอย” ในงานศพ และใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์นางหงส์

กลองชนะ

กลองชนะ  เหมือนกลองมลายู แต่ตัวกลองสั้นกว่าและอ้วนกว่า หน้าด้านใหญ่กว้างประมาณ ๒๖ ซม. หน้าด้านเล็ก กว้างประมาณ ๒๔ ซม. ตัวกลองยาว ๕๒ ซม. สายโยงเร่งเสียงใช้หวายผ่าซีกเหมือนกลองแขก แต่ใช้ไม้งอโค้งตีเหมือนกลองมลายู ตัวกลองทาสีปิดทองเขียนลายหน้ากลองก็เขียนหรือปิดด้วยทองหรือเงิน  ทำเป็นลวดลายใช้เป็นเครื่องประโคมในกระบวนเสด็จพยุหยาตรา  และใช้ประโคมพระบรมศพและศพเจ้านาย  โดยใช้กลองชนะหลายลูก  แต่มีกฎเกณฑ์กำหนดจำนวนและชนิดของกลอง ตามฐานันดรศักดิ์ ของศพ และของงานจำนวนกลองชนะที่ใช้บรรเลงตั้งแต่ ๑ คู่ คือ ๒ ลูก ถึง ๒๐๐ ลูก ก็มี

เปิงมาง

เปิงมาง ว่าเป็นคำมอญ เรียกเครื่องหนังชนิดหนึ่ง  ซึ่งแต่เดิมคงเป็นเครื่องดนตรีของมอญ  รูปร่างยาวเหมือนกระบอก แต่ป่องกลางนิดหน่อย หุ่นกลองทำด้วยไม้จริง ขึ้นหนังทั้ง ๒ หน้า ใช้สายโยงเร่งเสียงทำด้วยหนังเรียด ร้อยจากหนัง “ไส้ละมาน” เรียงกันถี่ ๆ จนไม่เห็นไม้หุ่นกลอง และบางทีก็ทำหนังรัดอกเช่นเดียวกับตะโพนหน้าทั้ง ๒ ด้านมีขนาดเกือบเท่ากัน นักดนตรีไทยได้นำเอาเปิงมางมาใช้และสร้างขึ้นมีขนาดหน้าข้างหนึ่งกว้างประมาณ ๑๗ ซม. ต้องติดข้าวสุกบดผสมขี้เถ้า เพื่อให้ได้เสียงที่ต้องการ  ส่วนอีกหน้าหนึ่งกว้างประมาณ ๑๖ ซม. ไม่ต้องติดข้าวสุกผสมขี้เถ้า  ทำตัวกลองรูปยาวกว่าที่ใช้ในวงปี่พาทย์มอญคือยาวประมาณ ๕๔ ซม. มีห่วงหนังผูกโยงสายสำหรับคล้องคอ ใช้เดินตีก็ได้ เช่น ใช้ตีนำกลองชนะ ในขบวนเสด็จพยุหยาตรา หรือตีประโคมประจำพระบรมศพพระศพ และศพเจ้านาย คนตีเปิงมางนำกลองชนะนี้ เรียกว่า “จ่ากลอง” คู่กับคนเป่าปี  ซึ่งเรียกกันว่า “จ่าปี่” แล้วภายหลังนำมาใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์สำหรับตีขัดจังหวะกับตะโพน

ภาพจิตรกรรมในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ  ครั้นกรุงศรีอยุธยามีเปิงมางมาใช้บรรเลงร่วมกับตะโพนอยู่ในวงปี่พาทย์แล้ว

เปิงมางคอก

เปิงมางที่ใช้กันอยู่ในวงปี่พาทย์มอญ  ใช้เปิงมางจำนวน ๗ ลูก มีขนาดลดหลั่นกันลงไป และติดข้าวสุกปสมขี้เถ้า ปิดหน้ากลองแต่ละลูก เทียบเสียงต่ำสูง  แขวนเรียงลำดับไว้เป็นราวล้อมตัวคนตี เรียกกันว่า “เปิงมางคอก” และคอกที่ทำสำหรับแขวนเปิงมางนั้นมีขนาดสูงประมาณ ๖๖ ซม. ความกว้างของวงวัดผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑๑๖ ซม. เปิงมางคอกในวงปี่พาทย์มอญนี้  ใช้ตีขัดสอดประสานกับตะโพนมอญ

สองหน้า

สองหน้า  ก็คือเครื่องหนังอย่างเดียวกับเปิงมาง แต่ขยายให้โตขึ้นกว่าเปิงมาง หน้าข้างหนึ่งกว้างประมาณ ๒๑-๒๔ ซม.  ตีด้วยมือซ้าย  อีกข้างหนึ่งกว้างประมาณ ๒๐-๒๒ ซม. ตีด้วยมือขวายาวประมาณ ๕๕-๕๘ ซม. ติดข้าวสุกผสมขี้เถ้าเพิ่มขึ้นเพื่อถ่วงเสียงให้ต่ำจนคล้ายตะโพนหน้าเท่ง  ปรับปรุงขึ้นใช้แทนตะโพน  ใช้ใบเดียวตีประกอบจังหวะในวงปี่พาทย์ที่บรรเลงประกอบการขับเสภา หรือร้องส่งอย่างสามัญ

ตะโล้ดโป๊ด

ตะโล้ดโป๊ด  เป็นกลองขึ้นหนังสองหน้า  หุ่นกลองทำด้วยไม้แก่นเนื้อแข็งใช้สายหนังโยงเร่งเสียง มีรูปร่างลักษณะและขนาดเช่นเดียวกับเปิงมาง แต่ตัวกลองยาวราวสัก ๗๘ ซม. ซึ่งยาวกว่าสองหน้าประมาณ ๒๐ ซม. หน้ากลองตะโล้ดโป๊ดข้างหนึ่งใหญ่ มีขนาดกว้างประมาณ ๒๐ ซม. ส่วนอีกข้างหนึ่งเล็ก  วัดผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑๗ ซม.  มีหูผูกห้อยทำด้วยหนังอยู่ตรงขอบทางหน้าเล็ก และใช้ตีทางหน้าเล็กนี้

นิยมใช้กันในจังหวัดภาคเหนือของประเทศ  ใช้ตีคู่กับกลองแอว์ สำหรับเข้ากระบวนแห่  ใช้ตีประกอบการฟ้อนกับใช้บรรเลงในการเล่นเพลงพื้นเมืองทางภาคเหนือ เสียงของกลองตะโล้ดโป๊ดต้องเทียบให้เข้ากับฆ้องหุ่ย และเมื่อบรรเลงเคลื่อนที่ในกระบวนแห่เขาใช้ร้อยหูหิ้วที่ขอบหน้ากลองทางด้านหน้าเล็กผูกห้อยติดกับกลองแอว์  ซึ่งมีคนห้ามและคนเดินตีไปด้วย

บัณเฑาะว์

ดนตรีชนิดนี้มาจากอินเดีย บัณเฑาะว์ของไทยตัวกลองทำด้วยไม้จริงขนาดเล็กพอมือถือ หัวและท้ายใหญ่ตรงกลางคอด รูปเหมือนพานแว่นฟ้ายาวราว ๑๕ ซม.  หน้ากว้างประมาณ ๑๔ ซม. มีสายโยงเร่งเสียง ใช้เชือกร้อยโยงห่าง ๆ มีสายรัดอกตรงคอดและตรงสายรัดอกนั้นมีหลักยาวอันหนึ่ง รูปเหมือนยอดเจดีย์ทำด้วยไม้หรืองายาวประมาณ ๑๓ ซม. ตรงปลายหลักใช้เชือกผูก ปลายเชือกอีกข้างหนึ่งผูกลูกตุ้ม กลองชนิดนี้ไม่ใช้ตีด้วยไม้หรือด้วยมือแต่ใช้มือถือไกว คือ พลิกข้อมือกลับไปกลับมาให้ลูกตุ้มที่ปลายเชือกโยนตัวไปมากระทบตรงหนังหน้ากลองทั้งสองข้าง  ใช้เป็นจังหวะในการบรรเลงประกอบ “ขับไม้” ในงานพระราชพิธี เช่น ขับกล่อมสมโภชพระมหาเศวตฉัตร สมโภชพระยาช้างเผือกและช้างสำคัญ เป็นต้น

กลองยาว

กลองยาว  เป็นกลองขึ้นหนังหน้าเดียว  ตัวกลองทำด้วยไม้จริง เช่นไม้มะม่วง ตอนหน้าใหญ่ ตอนท้ายมีลักษณะเรียว แล้วบานปลายเป็นรูปดอกลำโพง  มีหลายขนาด  ตรงกลางของหน้ากลองติดข้าวสุกบดผสมขี้เถ้าถ่วงเสียง  ตัวกลองยาวนั้นมักนิยมตบแต่งกันให้สวยงามด้วยหุ้มผ้าสีหรือผ้าดอกเย็บจีบย่น ๆ และปล่อยเชิงเป็นระบายห้อยลงมาปกตัวกลอง  มีสายสะพายผูกข้างหนึ่งที่หูห่วงริมขอบกลองอีกข้างหนึ่งผูกไว้ที่หางสำหรับคล้องสะพายบ่า  ใช้ตีด้วยมือ  แต่ผู้เล่นโลดโผนใช้กำปั้นตี ศอกถอง ศีรษะโหม่ง เข่ากระทุ้ง ส้นเท้ากระแทกก็มี  ชาวไทยเรานิยมนำมาเล่นในงานที่มีกระบวนแห่ เช่น บวชนาค และทอดกฐิน เป็นต้น  และนิยมเล่นเป็นที่รื่นเริงสนุกสนานในเทศกาลสงกรานต์ วงหนึ่ง ๆ จะใช้กลองหลายลูกก็ได้ เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงร่วมมีฉิ่ง ฉาบเล็ก กรับ และโหม่ง เรียกการเล่นชนิดนี้ว่า “เถิดเทิง” หรือ “เทิงบ้องกลองยาว”

กลองแอว์

กลองแอว์  เป็นกลองขึ้นหนังหน้าเดียว  ตอนที่เป็นตัวกลองตลอดถึงหน้ากลองที่ขึ้นหนังกว้างใหญ่ เอวคอด ตอนท้ายเรียวและบานปลาย คล้ายดอกลำโพง แต่กลึงควั่นตอนหางกลองเป็นปล้อง ๆ ให้ดูสวยงามและที่เรียกว่ากลองแอว์ ก็หมายความว่า กลองมีสะเอวนั่นเอง แอว์ก็คือเอว มีขนาดใหญ่และยาวกว่า “กลองยาว” มาก บางลูกมีขนาดยาวถึง ๓ เมตรเศษ มีประจำตามวัดในจังหวัดภาคเหนือเกือบทุกอาราม  คงจะใช้ตีเป็นสัญญาณประจำวัด เช่นตีเป็นกลองเพล ตีเป็นสัญญาณชุมนุมสงฆ์ในพิธีสังฆกรรมและนอกจากใช้ในวัดดังกล่าวข้างต้น  โดยปกติก็ใช้บรรเลงร่วมกับกลองตะโล้ดโป๊ด และเครื่องดนตรีอื่น ๆ ประกอบการเล่นพื้นเมือง เช่น ฟ้อนเทียน ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเมือง และใช้ตีเข้ากระบวนแห่เคลื่อนที่ในงานพิธีที่เรียกว่า “ปอยหลวง” มีงานแห่ครัวทานเป็นต้น และในงาน “ปอยลูกแก้ว” คืองานบวชเณรซึ่งถือเป็นงานสำคัญมาก

กลองมริกัน

กลองมริกันเข้าใจว่าเรียกเพี้ยนมาจากกลองอเมริกันได้แก่ Bass Drum และพวกคณะละครได้นำมาตีในการเล่นละคร  เรื่องพระอภัยมณี ตอนอุศเรนและนางละเวง วัณฬยกทัพ เมื่อสมัยปลายรัชกาลที่ ๕ แต่นั้นยี่เกก็นำไปใช้จึงเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายต่อมา

มโหระทึก

มโหระทึกเป็นชื่อของกลองชนิดหนึ่ง  แต่เป็นกลองหน้าเดียวและหล่อด้วยโลหะ  มิใช่กลองขึงด้วยหนัง เช่นกล่าวมาข้างต้น  กลองชนิดนี้ใช้โลหะผสม ประกอบด้วยทองแดง ตะกั่ว และดีบุก ผสมอย่างละมากน้อยตามเกณฑ์ที่ช่างกำหนด  แล้วหลอมให้เข้ากันหล่อลงในแบบที่ทำไว้  แบบเก่าที่สุดพบในประเทศเขมรและท้องที่ใกล้เคียง กลองแบบนี้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติของเราก็มีอยู่หลายลูกและหลายขนาด หน้ากว้างวัดผ่านศูนย์กลาง ๖๕ ซม. ตัวกลองสูง ๕๓ ซม. ก้นกว้าง ๗๐.๕ ซม. และเอว ๕๐ ซม. คอดเป็นเส้นโค้ง (มิใช่เป็นเส้นตั้ง) บนหน้ากลองแถบใกล้ขอบมีหอยโข่ง ๔ ตัว ประจำ ๔ ทิศ แต่กลองมโหระทึกของเราที่ใช้ตีกันอยู่ในงานพิธีต่าง ๆ ทั้งในงานหลวงและงานราษฎร์ เป็นกลองที่มีกบอยู่บนหน้ากลองประจำ ๔ ทิศ

บนหน้ากลองเหล่านี้ ตรงกลางทำเป็นรูปดาวมีแฉก บางชนิดก็ทำดาวนูนกลาง ขอบดาวลาด

กังสดาล

คือ ระฆังวงเดือนทำด้วยโลหะทองเหลืองแบน ๆ รูปเสี้ยวดวงจันทร์ ปัจจุบันพบทั่วไปตามวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือ สมัยโบราณจัดเข้าเป็นเครื่องประโคมอย่างหนึ่งในราชพิธี วิธีที่ใช้ไม้สำหรับตี ตีที่ใบระฆัง ให้หมุนเป็นลูกข่างตีเป็นระยะ ๆ ห่าง ๆ เสียงแหลมเล็ก