วรรณคดียุคกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

อิเหนา
พ.ศ.๒๒๗๕-พ.ศ.๒๓๑๐
นับตั้งแต่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช    เสด็จสวรรคตแล้ว บ้านเมืองไม่สู้จะสงบสุขนัก เนื่องจากมีการแย่งราชสมบัติกัน ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองอยู่เรื่อยๆ จนถึง พ.ศ. ๒๒๗๕

ต่อจาก พ.ศ. ๒๒๗๕-พ ศ. ๒๓๑๐ บ้านเมืองอยู่ในปกติสุขขึ้น ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ จึงมีวรรณคดีเกิดขึ้นหลายเรื่อง ได้แก่ วรรณคดีประเภทบทละคร กลอนแปด เล่นเป็นเพลงยาว ดอกสร้อย สักวา อันเป็นแบบอย่างแพร่หลายมาจนทุกวันนี้

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ ทรงสนพระทัยในด้านอักษรศาสตร์ ด้านศาสนา จึงทำให้เกิดกวีเอกขึ้นหลายท่าน ทั้งที่เป็นคฤหัสถ์และบรรพชิต วงวรรณคดีได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นอีกวาระหนึ่ง

จนถึง พ ศ. ๒๓๑๐ อันเป็นการสูญเสียเอกราชของชาติไทย และสูญเสียวรรณคดีลํ้าค่าหลายเรื่อง เพราะผลจากการศึกสงครามชนิดล้างชาติบ้านเมือง กรุงศรีอยุธยาถูกไฟเผา วัดวาอารามถูกไฟไหม้ สิ่งของต่างๆ ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ต้องพลอยสาปสูญไปด้วย

โคลงชะลอพระพุทธไสยาสน์
เป็นพระราชนิพนธ์ ของสมเด็จพระบรมโกษฐ์ ครั้งเป็นกรมพระราชวังบวร ในแผนดินพระเจ้าท้ายสระ

แต่งขึ้นเพื่อสดุดี เทิดเกียรติของพระเจ้าท้ายสระ กล่าวถึงการชะลอพระพุทธไสยาสน์ให้พ้นจากการถูกน้ำ เซาะ มีโคลง ๖๙ บท แต่งเป็นโคลงสี่สุภาพ เดิมอยู่ภายในพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมก อ่างทอง

สมเด็จพระปิยมหาราชเสด็จไปพบเข้า    จึงทรงโปรดให้เจ้าหน้าที่หอสมุดทำการคัดลอก โคลงเหล่านั้นเอาไว้

มีถ้อยคำที่ไพเราะ พรรณนาโดยละเอียด ให้ความรู้ในด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ตัวอย่างเช่น
เชือกใหญ่ใส่รอกร้อย         เรียงกระสัน
กว้านยึคชลอผันขัน        ยึดยื้อ
ลวดหนังรั้งพลันวัน        พวนเพิ่ม
โห่โหมประโคมอึงอื้อ        จากเจ้าประโคมไป

ในด้านความรู้ ในสมัยนั้นใช้เชือกหนัง จะเป็นหนังวัว หนังควายก็ได้ นำมาทำเป็นเชือกแน่นหนาทนทานดี

ตะวันลงตรงทิศถตุ้ง        แทงสาย
เซาะฝั่งฟังระหุยระหาย    รอดน้ำ
ขดเขื่อนเลื่อนทล่มทลาย    ริมราก
ผนังแยกแตกแตนซ้ำ        รูปร้าวปฏิมา
แสดงว่าน้ำเซาะเขื่อน        ทำให้บางส่วนพังทลาย

ไม่อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยทำให้พระร้าว จึงต้องมีการชลอพระพุทธไสยาสน์ ให้อยู่ในสภาพปกติ

เป็นความรู้ให้แง่ประวัติศาสตร์ สมัยนั้นว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ในทางภูมิศาสตร์

โคลงนิราศเจ้าฟ้าอภัย
มีลักษณะโคลงสี่สุภาพ ทำนองนิราศ
ทรงนิพนธ์เพื่อแสดงว่า พระองค์ก็ทรงเป็นนักกวีมือหนึ่งเหมือนกัน

โคลงนิราศเจ้าฟ้าอภัยนี้  พระยาตรังเป็นผู้รวบรวมไว้ ตัวอย่างเช่น
เห็นวังวาริศร้าง        ริมแคว น้ำนา
พระนครหลวงแล    เปล่าสร้อย
วังราชฤมาแปร        เป็นป่า
เกรงจะแปรใจเจ้า    ห่างแล้วลืมเรียม

นันโทปนันทสูตรคำหลวง
เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ทรงนิพนธ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๒๗๘ ขณะที่ทรงผนวชอยู่วัดโคกแสง ทั้งถือกันว่าเพื่อลบล้างมลทินทั้งหลายที่กระทำไว้ คือการลอบทำร้ายพระภิกษุ

เดิมเป็นภาษาบาลี อยู่ในคัมภีร์ทีฆนิกาย ชื่อนันโทปนันทสูตร พระมหาพุทธสิริเถระเป็นผู้แต่ง เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าตรัสให้พระโมคคัลลานอัครสาวกเบื้องซ้าย ไปปราบพยศพญานาคเกเร ชื่อนันโทปนันท ให้ละทิฐิ ต่อมาก็ยอมรับนับถือพระองค์

เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ กับพระพันวัสสาใหญ่ ประสูติเมื่อ พ.ศ. ๒๒๕๘ สิ้นพระชนม์ เมื่อ พ.ศ. ๒๒๙๘ ได้เป็นเจ้าฟ้าต่างกรม พระนามว่า ขุนเสนาพิทักษ์

เมื่อลาผนวชแล้ว ได้เป็นพระมหาอุปราชแต่ถูกกล่าวหาว่าเป็นชู้กับเจ้าฟ้าสังวาลย์ และเจ้าฟ้านิ่ม พระสนมของพระราชบิดา เมื่อชำระความแล้วจึงให้โบย ๑๘๐ ที เจ้าพาสังวาลย์ ๓๐ ที แล้วจำไว้ ๓ วัน ก็สิ้นพระ ชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๒๙๘

มาลัยคำหลวง
เดิมเป็นภาษาบาลีชื่อ มาเลยยสูตร ภิกษุลังกาเป็นผู้แต่งก่อนตั้งกรุงสุโขทัยประมาณ ๑๐๐ ปี ต่อมาพระพุทธวิลาศ พระเชียงใหม่ได้ขยายความไห้ชื่อว่า “ฎีกามาลัย”

เจ้าฟ้า ธรรมาธิเบศร์ ทรงนิพนธ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๒๘๐ หลังจากที่ได้นิพนธ์ นันโทปนันทสูตรแล้ว ๑ ปี

ลักษณะเป็นภาษาบาลีสั้นๆ แต่งเป็นร่ายสุภาพ ภาพย์ยานี และโคลงสี่สุภาพ เป็นวรรณคดีที่รู้จักกันมาก ทั้งนี้อาจจะเพื่อแข่งกับกาพย์มหาชาติ เพราะมีทำนองแต่งเหมือนกัน คือวางคาถาขึ้นต้นบท แล้วแปลเป็นร่าย ขยายความเป็นตอนๆ

มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับทางศาสนา พระอรหันต์ชื่อ พระมาลัย อยู่ ณ โลหชนบท ในลังกาทวีป ได้ลงไปโปรดสัตว์นรก และเหาะขึ้นไปนมัสการพระธาตุจุฬามณีบนสวรรค์ ได้พบพระศรีอาริย์ แล้วกลับมาเล่าให้ประชาชนฟัง บอกให้รู้เรื่องราวเกี่ยวกับ นรก สวรรค์ เป็นอย่างไร

เป็นการสั่งสอนมิให้คนทำบาป ทำแต่บุญ มีสำนวนภาษาบาลี และสันสกฤตปนมาก พรรณนาโวหารอย่างละเอียด อ่านเข้าใจง่าย ในปัจจุบันนี้มีสวดน้อย ตัวอย่างเช่น
อิติ วตฺนา ปน ปาปมนุสสฺสานํ

พระเมตไตรยวรนาถ จึงมีราชบรรหาร แสดงสื่อสารอนุสนธ์ ว่าฝูงชนทั้งหลาย ทำบาปหมายมากมั่น อันจะมิทันศาสนา…

กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง
เป็นวรรณคดี ที่ให้ความรู้ทางธรรมชาติอย่างชัดแจ้งในขณะเสด็จประพาสธารทองแดงของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ เพื่อแข่งกับโคลงของพระศรีมโหสถ

แต่งเมื่อระหว่าง พ.ศ. ๒๒๘๔ ถึง พ.ศ. ๒๒๙๘

ตัวอย่างชมขบวนติดตาม
เกลื่อนกรูหมู่จัตุรงค์        เป็นกันกงเรียบเรียงไป
ทรงช้างระวางใน            เทพลีลาหลังคาทอง

เกลื่อนกรูหมู่แห่ห้อม        เรียงไสว
เสด็จพุดตานหลงไคล        หว่างเขรื้อง
ทรงช้างระวางใน            มีชื่อ
เทพลีลาเยื้อง            ย่างแหนหลังดี

ชมสัตว์
งูเหลือมกินสุกร            อึ้งทึ้งนอนห่อนเลื้อยไป
หน่อไม้ขึ้นมาไช            แทงท้องตลอดรอดคลานคลืน

งูเหลือมกินลมั่งเนอ        กวางฟาบ
บห่อสุดคลาคลาด        อิ่มอึ้ง
นอนใกล้กอไผ่สาน        แซมหน่อ
แทงตลอดหลังขาดขรึ้ง    เมื่อเลื้อยคลานไป

ไก่ป่าขันเจื้อยแจ้ว         กลางดิน
ลูกเมียเขี่ยหากิน            กกหลับ
เห็นคนก่นวิ่งบิน            ยามตื่น
ซอกซอนซ่อนตัวเร้น        พุ่มไม้สูญหาย

วรรณคดีเรื่องนี้ จึงให้ความรู้ตามทางเสด็จผ่าน มีการชมนกชมไม้ ชมความสวยงามตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นวรรณคดีที่น่าอ่านเรื่องหนึ่งของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์

กาพย์เห่เรือ
เป็นพระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ทรงนิพนธ์ในสมัยพระเจ้าบรมโกษฐ์ นิพนธ์ขณะที่ตามเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท เป็นกาพย์สำหรับฝีพายเห่ในขบวนเรือเสด็จ

ลักษณะเป็นกาพย์เห่    แต่งโคลงสี่สุภาพนำบท แล้วแต่งกาพย์ยานีตาม เมื่อขึ้นเรื่องใหม่ก็แต่งโคลงใหม่แล้วตามด้วยกาพย์ยานีเรื่อยไป

เนื้อเรื่อง มีการชมเรือ ชมปลา ชมนก ชมไม้ และเห่เรื่องกากีแทรก

เป็นที่ยอมรับแล้วว่า เป็นกาพย์เห่เรือเรื่องแรกของไทย และมีความไพเราะที่สุด ตัวอย่าง
รอนรอนสุริยคล้อย        สายัณห์
เรื่อยเรื่อยเรื่อแสงจันทร์    ส่องฟ้า
รอนรอนจิตรกระสัน        เสียวสวาท แม่เอย
เรื่อยเรื่อยเรียมคอยถ้ำ        ที่นั้นห่อนเห็น

เรื่อยเรื่อยมารอนรอน        สุริยาจรเข้าสายัณห์
เรืองรองส่องสีจันทร์        ส่องแสงกล้าน่าพิศวง

ริ่วริ่วจันทร์แจ่มฟ้า        เหมือนพักตราหน้านวลผ่อง
สูงสวยรวยรูปทรง        ส่องสีเจ้าเท่าสีจันทร์

ชมปลา
พิศพรรณปลาว่ายเคล้า    คลึงกัน
ถวิลสุดาดวงจันทร์        แจ่มหน้า
มัศยายังพัวพัน            พิศวาส
ควร ฤ พรากน้องช้า        ชวดเคล้าคลึงชม ฯ

พิศพรรณปลาว่ายเคล้า    คิดถึงเจ้าเศร้าอารมณ์
มัศยายังรู้ชม            สมสาใจไม่พามา ฯ

นวลจันทร์เป็นนวลจริง        เจ้างามพริ้งยิ่งนวลปลา
คางเบื้อนเบื้อนหน้ามา    ไม่งามเท่าเจ้าเบือนชายฯ
เทียนทองงามดั่งทอง        ไม่เหมือนน้องห่มตาดพราย
กระแหแหห่างชาย        ดังสายสวาทคลาดจากสมรฯ

ชมนก
รอนรอนสุริยะโอ้            อัสดง
เรื่อยเรื่อยลับเมรุลง        ค่ำแล้ว
รอนรอนจิตรจำนง        บุญพี่ เพียงแม่
เรื่อยเรื่อยเรียมคอยแก้ว        คลับคล้ายเรียมเหลียว ฯ

เรื่อยเรื่อยมารอนรอน            ทิพากรจะตกต่ำ
สนธยาจะใกล้ค่ำ            คำนึงหน้าเจ้าตราตรู ฯ

เรื่อยเรื่อยมาเรียงเรียง            นกบินเฉียงไปทั้งหมู่
ตัวเดียวมาพลัดคู่            เหมือนพี่อยู่ผู้เดียวดายฯ

เห็นฝูงยูงรำฟ้อน                คิดบังอรร่อนรำกราย
สร้อยทองย่องเยื้องชาย        เหมือนสายสวาทนาดนวยจร ฯ

กาพย์ห่อโคลงนิราศพระบาท
(นิราศธารโศก)
เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ทรงนิพนธ์ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์

เนื้อเรื่องคล้ายจะแข่งกับทวาทศมาส    เพราะพรรณนาในบทสวาทเป็นยามๆ ไปจนสว่าง แล้วรำพันไปตามวัน สัปดาห์ เดือน ฤดู และปี เป็นการแสดงฝีปากตามวิสัยของกวี
เป็นนิราศเรื่องเดียวที่แต่งเป็นกาพย์ห่อโคลง
เป็นถ้อยคำสำนวนไพเราะ พรรณนาละเอียดดี
นางเอกในวรรณกรรมเรื่องนี้ เป็นเพียงภาพฝัน จะเห็นได้จากกาพย์บทหนึ่งว่า
จบเสร็จครํ่าครวญกาพย์     บทพิลาปถึงสาวศรี
แต่งตามประเวณี        ใช่เมียรักจักจากจริง…
ตัวอย่าง
ชมผม
ผมเผ้าเจ้าดำขลับ        แสงยับยับกลิ่นหอมรวย
ประบ่าอ่าสละสลวย        คือมณีสีแสงนิล

ชมรูปร่าง
เอวอรอ่อนระทวย        สะอาดสวยรวยรูปจริง
น้องอ่ากว่าหญิง            งามแต่เจ้าเล่าฤาโฉม

ยาม
ยามหนึ่งเคยคลึงเคล้า        จูบกอดเจ้าเฝ้าชมกัน
เวลามาตามทัน            ให้ไกลข้างร้างแรมสองปี
ปีชวดชวดเชยช้า            โฉมหลอกหล้าน่าเอ็นดู
ปีชวดเป็นชื่อหนู            พอเรียมร้างอ้างกาลปี

เพลงยาวเจ้าฟ้ากุ้ง
เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ทรงนิพนธ์ ลักษณะเป็นกลอนเพลงยาว สำหรับเป็นสื่อความรัก นัยว่าเป็นการคร่ำครวญถึงความรักที่มีต่อเจ้าฟ้านิ่มเจ้าฟ้าสังวาลย์ ซึ่งพระองค์ต้องสิ้นพระชนม์เพราะความรักนี้ ตัวอย่างเช่น
ปางพี่มาดสมานสุมาลย์สมร
ดั่งหมายเดือนหมายดวงดารากร        อันลอยพื้นอัมพรโพยมพราย
แม้นพี่เหิรเดินได้ในเวหาส            ถึงจะมาดก็ไม่เสียซึ่งแรงหมาย
มิได้ชมก็พอได้ดำเนินชาย            เมียงหมายรัศมีพินมนทอง
นี่สุดหมายที่จะมาดสุมาลย์สมาน        สุดจะหาญที่จะเหิรเวหาสห้อง
สุดที่คิดจะเข้าเคียงประคอง            สุดสนองใจสนิทเสน่ห์กัน

เป็นกลอนเพลงยาว ที่มีความไพเราะเป็นอย่างยิ่ง ทั้งสัมผัสและการเล่นอักษร ทำให้อ่านแล้วซึ้งและจับใจ

ด้วยความรักอันร้อนแรง และอยู่ในขอบเขตประเพณีในสมัยนั้น จึงทำให้เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ต้องสูญสิ้นชีวิต เช่นเดียวกับนักกวีชื่อดัง คือ ศรีปราชญ์

วรรณกรรม ที่เกิดจากมันสมองของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ดังได้กล่าวมาแล้วก็ล้วนแล้วแต่เป็นวรรณกรรมที่ดีเด่นน่าอ่าน มีโวหารคมคายและมีความไพเราะทั้งสิ้น ซึ่งเป็นแบบฉบับของนักกวีรุ่นหลังได้ยึดเป็นแบบฉบับใช้กันมาทุกวันนี้ ซึ่งเรียกว่าเป็นวรรณกรรมที่ไม่ตาย แม้พระองค์จะสิ้นพระชนม์มานานแล้วก็ตาม ทว่า วรรณคดีของพระองค์ยังคงเด่นอยู่ในวงวรรณคดีมาจนทุกวันนี้

อิเหนาดาหลัง
เจ้าฟ้ามงกุฎทรงนิพนธ์ ในรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์

ดังนั้นเรื่องอิเหนา ซึ่งมีอยู่ในพงศาวดารของชวา ประมาณปี พ.ศ. ๑๘๐๐ อิเหนาเป็นกษัตริย์ที่รูปงาม ชาวชวายกย่องว่าเป็นมหาราช เรื่องราวตอนหลังๆ มักจะเพิ่มเติมขึ้นมาก และได้เข้ามามีบทบาทในวรรณคดีไทย สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ สาเหตุที่ได้เรื่องนี้ก็ เนื่องจากได้เชลยชาวมลายู และได้พระราชทานเชลยนี้ให้เป็นนางข้าหลวงของเจ้าฟ้าหญิงกุณฑล และเจ้าฟ้าหญิง มงกุฎ นางเชลยผู้นี้จึงได้เล่าเรื่องอิเหนาให้ฟัง เจ้าฟ้าหญิงทั้งสองจึงทรงนิพนธ์เบป็บทละครขึ้น ต่างพระองค์ต่างนิพนธ์แข่งกัน

เจ้าฟ้าหญิงกุณฑลทรงนิพนธ์ให้ชื่อว่า “ดาหลัง” ตามชื่อเดิม ส่วนเจ้าฟ้าหญิงมงกุฎทรงนิพนธ์ให้ชื่อว่า “อิเหนา” คนทั้งหลายจึงเรียกดาหลังว่าอิเหนาใหญ่ เรียก อิเหนาว่า อิเหนาเล็ก

ข้อเปรียบเทียบ
อิเหนาใหญ่ของเจ้าฟ้าหญิงกุณฑล ดำเนินเรื่องตามเรื่องเดิม แม้แต่ชื่อตัวละครชื่อต่างๆ ก็คงเดิมเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้จดจำได้ยาก คนอ่านก็ไม่สู้จะนิยม

อิเหนาเล็กของเจ้าฟ้าหญิงมงกุฎ ได้ดัดแปลงให้เข้ากับรสนิยมของคนไทย ทำให้เข้าใจง่าย ทำให้คนนิยมอย่างแพร่หลาย

เรื่องอิเหนา ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในวงวรรณคดีของไทย จนมีนักกวีรุ่นหลังๆ ได้จดจำเป็นแบบอย่าง แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ต้นฉบับเดิมขาดหายไปมาก รัชกาลที่ ๑ ได้โปรดให้แต่งจนครบบริบูรณ์ ทั้งนี้ก็โดย ชาวมลายูที่ชื่อยายะโวได้เล่าให้ฟัง

ปุณโณวาทคำฉันท์
พระมหานาค วัดท่าทราย เป็นผู้แต่ง แต่งไว้ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐN

เนื้อเรื่อง กล่าวถึงตำนานพระพุทธบาท ทรงโปรดให้ทำมณฑปสวมพระบาท พรรณนาบริเวณพระพุทธบาท และการสมโภชพระพุทธบาท ในสมัยนั้นใช้สำนวนไพเราะ แต่ไม่สู้จะเคร่งครัดฉันทลักษณ์นัก

พรรณนาโดยละเอียด เห็นภาพพจน์ได้ชัดเจน เป็นฉันท์เรื่องเดียวในสมัยอยุธยาตอนปลาย มีผู้นิยมอ่านจนติดปาก ได้ความรู้ในด้านภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ ตัวอย่าง
ใบโพธิ์สุวรรณห้อย         ระยาบย้อยบ่รุงรัง
ลมพัดกระดึงดัง            เสนาะศัพท์อลเวง
เสียงดุจเสียงคีต             อันดึงดีดประโคมเพลง
เพียงเทพบรรเลง            ระเรื่อยขับระบำถวายฯ

การเล่น
โขนหนังระดับช่อง         ระทาหุ่นและรามัญ
รำเล่นบ่เป็นฉัน            ทิจะสุนทราแล

เหล่าหกคะเมนเมิล         จรลีวละลานแด
ยกบาทกลับแปร            ศิรลงก็เสียวสยอน

ไต่ลวดแลกุมหาง         มยุรย่างพเนจร
แล่นเล่นบ่อาทร            ดุจเหาะจะเหินหาว

แนมนิทรลวดแลบ         ก็กระแหนบทิหนวดคราว
ห้อยหันคือค้างคาว        ชนเสียวแสยงแทน
เราจะรู้เรื่องราว แม้แต่การเล่นในการสมโภชพระพุทธบาทในสมัยนั้นว่ามีอะไรบ้าง พระมหานาคนี้ยังได้แต่งนิราศพระบาท คู่กับปุณโณวาทคำฉันท์ เป็นการชมความงามของพระพุทธบาทอีกด้วย มีความไพเราะอยู่มาก

กลบทศิริวิบูลย์กิติ
วรรณคดีเรื่องนี้ เป็นชาดกรวมอยู่ในปัญญาสชาดก ซึ่งหลวงศรีปรีชา (เซ่ง) เป็นผู้แต่ง แต่งในสมัยสมเด็จพระเจ้ำอยู่หัวบรมโกษฐ์ ดังจะเห็นได้จากคำว่า
“ข้าชื่อเซ่งเขียนชื่อซร้องจองนามหมาย
ลํ้าไว้ชื่อลือว่าชายไว้ศักดิ์ศรี
พระบัณฑูรภูลบันเทิงพระทัยทวี
ตั้งยศแสงแต่งยศศรีหลวงปรีชา
พินิจดูภูวนาถได้ให้ศักดิ์แสง
ตามทำนองต้องตำแหน่งเป็นโหรา
แจ้งซึ่งอรรถจัดซึ่งองค์ชาดกมา
ยกคาถังยังคาถาซัดบาฬี…

แสดงว่าหลวงศรีปรีชานี้ มิใช่เพียงเป็นนักกวีเท่านั้น ยังมีความรู้ทางโหรอีกด้วย
ลักษณะ เป็นกลอนกลบท ความมุ่งหมายเพื่อจะได้รู้เรื่องราวชาดกเรื่องนี้ เป็นการส่งเสริมพระศาสนา และแสดงความสามารถในเชิงกวีให้โลกเห็น ดังคำว่า
“ล้ำไว้ชื่อลือว่าชายไว้ศักดิ์ศรี”
มีเรื่องย่อว่า
ท้าวยศกิติ กับพระนางศิริมดี ครองนครจำปาก ประชาชนได้ทูลเชิญให้ทำพิธีขอราชโอรส เนื่องจากไม่มีรัชทายาท พระนางศิริมดีทรงบำเพ็ญศีลจนร้อนถึงพระอินทร์ ทูลเชิญพระโพธิสัตว์มาจุติ พระยาพาลราช ยกทัพมารบ ทั้งสองพระองค์พากันหนีไปที่วิบูลย์บรรพต ท้าวยศกิติถูกจับไปทรมาน

ครั้นพระกุมารศิริวิบูลย์กิติเจริญวัยขึ้น จึงไปช่วยพระราชบิดาซึ่งกำลังจะถูกประหาร ด้วยการขอตายแทน แต่ไม่มีใครฆ่าพระราชกุมารได้ พระยาพาลราชจึงถูกธรณีสูบ ตอนท้ายมีการกล่าวถึงการกลับชาติเกิดด้วย

ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ มีนักกวีฝีปากยอดเยี่ยมอยู่หลายท่าน แต่ละท่านได้ฝากผลงานเอาไว้เป็นแบบฉบับ    นับเป็นสิ้นสมัยยุคปลายของกรุงศรีอยุธยา

ที่มา:โฆฑยากร