ภูมิหลังของเครื่องเรือนผูก

เรือนเครื่องผูก1
เรือนเครื่องผูกเป็นเรือนที่อยู่อาศัยของชาวบ้านทั่วไป มีอยู่ตามพื้นบ้านทั่วไปชนบทและแถบชานเมือง ความเป็นมาหรือภูมิหลังของเรือนเครื่องผูกมีโดยลำดับดังนี้
๑. ความหมายของเครื่องเรือนผูก เรือนประเภทนี้หมายถึงเรือนที่ระบุความหมายไว้ในพจนานุกรมว่า“เครื่องผูก น. เรียกเรือนที่ใช้ ผูกด้วยหวาย เป็นต้น คู่กับเรือนเครื่องสับ” การให้ความหมายในที่นี้ แสดงความจำกัดที่ว่าด้วยการปลูกเรือนขึ้นเป็นหลังด้วยการผูก โดยอาศัยหวายเป็นวัสดุสำคัญในการนี้โดยแท้ ซึ่งเป็นความหมายตรงไปตรงมา ตามความเป็นจริง แต่ค่อนข้างสั้นไปในความเข้าใจสำหรับคนทั่วไปที่ไม่เคยเห็นเครื่องเรือนผูก หรือแม้หากจะเคยพบ เห็นบ้างแต่ไม่สู้คุ้นเคย ย่อมไม่อาจเข้าใจหรือแม้แต่จะนึกเห็นเป็นภาพขึ้นในใจได้ ดังนี้จึงต้องมีความขยายความหมายของเรือนเครื่องผูกออกไปตามส่วนที่ควรทำความเข้าใจได้ คือ
เครื่องเรือนผูกทั่วไป ปลูกสร้างขึ้นด้วยทัพสัมภาระ ส่วนใหญ่คือไม้ไผ่ ซึ่งได้ใช้เป็นทั้งโครงส่วน ส่วนตัวเรือน หลังคากับพื้นและฝาเรือน ส่วนที่เป็นเครื่องมุงได้แก่ใบจาก หญ้าคา แฝก ใบดองดึง เป็นต้น ทัพสัมภาระดังกล่าวนี้มีธรรมชาติเป็นสิ่งที่เปราะแตกและฉีกขาดได้ง่าย ไม่เหมาะแก่การที่จะนำมาประกอบเป็นรูปทรงเรือนที่อยู่ได้ด้วย วิธีการเข้าปากไม้หรือต่อตัวไม้ ซึ่งจะทำเป็นเรือนให้ติดกันด้วยการเข้าลิ่มเข้าสลัก จึงต้องอาศัยวิธีการประกอบทัพสัมภาระต่างๆ เข้าด้วยกันเป็นรูปทรงเรือนด้วย การผูกมัด ถักรั้ง เป็นต้น โดยเหตุที่เรือนประเภทนี้ได้รับการปลูกและคุมทัพสัมภาระขึ้นเป็นเรือนได้ด้วยวิธีผูกเป็นสำคัญ จึงมีชื่อเรียกตามวิธีการว่า “เรือนเครื่องผูก”
อนึ่ง เรือนเครื่องผูกนี้ยังมีชื่อเรียกเป็นอย่างอื่นอีก คือ “กระท่อม” ซึ่งมีความหมายว่า เรือนเล็กๆ ทำพออยู่ได้ หรือ “ทับ” ก็เรียกกัน มีความหมายถึงเรือนที่อยู่ คำที่ใช้เรียกเรือนประเภทเครื่องผูกที่ต่างออกมาทั้งสองคำนี้ เป็นคำเก่าที่มักใช้คู่กันเนืองๆ ตัวอย่างนี้มีปรากฏในละครนอก เรื่องสังข์ทอง พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศ- หล้านภาลัย ตอนที่นางรจนาและเจ้าเงาะถูกขับออกไปจากวังว่า
“ครั้นถึงกระท่อมทับที่อยู่ แลดูสมเพชเป็นนักหนา
ไม่เคยเห็นเช่นนี้แต่เกิดมา ก็โศกาทรุดนั่งอยู่นอกชาน”
๒. เรือนเครื่องผูกเป็นเรือนพื้นฐานในสังคมไทย
โดยเหตุที่เมืองไทยอุดมด้วยผลิตผลทางธรรมชาติที่อาจนำมาใช้เป็นทัพสัมภาระในการปลูกสร้างบ้านเรือนขึ้นได้อย่างง่ายๆ โดยมิต้องอาศัยเครื่องมือพิเศษต่างๆ ที่จะอำนวยประสิทธิภาพสักเท่าใดและไม่พักกังวลต่อวิธีการอันสลับซับซ้อนซึ่งไม่ปรากฏมีเลยในวิธีการปลูกบ้านสร้างเรือนประเภทนี้ การปลูกเรือนเครื่องผูกโดยทั่วไปในชนบท ไม่ว่าจะได้ทำกันแต่อดีตที่ล่วงมาแล้ว หรือได้ปลูกต่อๆ กันมา จนกระทั่งปัจจุบันซึ่งยังมีการปลูกเรือนประเภทนี้ขึ้นเป็นลำดับ ล้วนแต่ทำให้สำเร็จได้โดยประสบการที่สืบเนื่องกันมาเป็นสำคัญ การปลูกเรือนเครื่องผูกแต่ละหลัง ไม่สู้จะปรากฏว่ามีการออกแบบ เขียนแบบ หรือทำแบบพิมพ์เขียว ขึ้นล่วงหน้า เพื่อเป็นสิ่งชี้นำในการปลูกสร้างเลย การทั้งนี้เห็นจะเป็นเพราะเรือนเครื่องผูกเป็นเรือนที่มีแบบเรียบง่าย ไม่สลับซับซ้อนทั้งด้านรูปแบบ และวิธีปลูกจึงเป็นการง่าย ที่คนในรุ่นถัดมาสามารถรับเอาความรู้ ความเข้าใจในการปลูกทำเรือนและสร้างเรือนได้ง่ายในเวลาต่อมา และยังมีเหตุผลอีกบางประการที่ควรกล่าว คือเรือนเครื่องผูกเป็น เรือนที่ไม่จำต้องใช้ทุนทรัพย์มากในการปลูก ทั้งนี้ก็เนื่องด้วยสามารถแสวงหาวัสดุที่ใช้เป็นทัพสัมภาระในการทำเรือนได้เปล่าจากผลิตผลทางธรรมชาติเองในพื้นถิ่นนั้นๆ นั่นเอง การเช่นนี้จะพึงเห็นได้จากบทละครเรื่องสังข์ทอง ตอนที่ท้าวสามลสั่งให้เสนาไปจัดการปลูกกระท่อมให้นางรจนาได้อาศัยอยู่ที่ปลายนา พวกเสนาก็หาวัสดุที่จะใช้ทำเรือนได้ในถิ่นนั่นเอง ดังความว่า
“ครั้นถึงจึงเที่ยวเกี่ยวแฝก ตัดไม้ไผ่แบกมาอึงอี่
บางกล่อมเสาเกลาฟากมากมี ปลูกกระท่อมลงที่ปลายนา”
ด้วยเหตุผลที่ควรกล่าวอีกประการหนึ่ง คือ เรือนประเภทนี้ได้รับการปลูกสร้างขึ้นด้วยวัสดุในพื้นถิ่น เป็นเรือนที่มีรูปแบบง่ายๆ ขนาด และส่วนสัดเหมาะสมกับสภาพพื้นถิ่นและฝนฟ้าอากาศ ย่อมเป็นที่อยู่อาศัยอันควร สบายสำหรับชาวบ้านส่วนมากดังนี้ “เรือนเครื่องผูก” จึง เป็นเรือนที่ได้รับความนิยมแพร่หลายตามพื้นบ้านในชนบททั่วไป เรือน ชนิดนี้ จึงควรกล่าวได้ว่าเป็นเรือนพื้นฐานของสังคมไทย
๓. เรือนเครื่องผูกวิถีชีวิตของคนไทย การที่จะรู้จักและทำความเข้าใจต่อนิสัย จิตใจ ความเชื่อ ตลอดจนพฤติกรรมของคนในพื้นถิ่นหนึ่งๆ ได้นั้น อาจจะกระทำได้ด้วยอาศัยการสังเกตจากสิ่งที่คนละแวกนั้นๆ แสดงออกมาให้ปรากฏออกด้วยลักษณะต่างๆ มีนานาประการ ทั้งใน ด้านที่เป็นรูปสมบัติและคุณสมบัติ เรือนเครื่องผูกนี้ก็เป็นประจักษ์พยานสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นและสังเกตเพื่อการที่จะรู้จักและเข้าใจนิสัย จิตใจ ความเชื่อ และพฤติกรรมของชาวบ้านซึ่งมีวิถีชีวิตเป็นไปในทางใดทางหนึ่งได้
ในกรณีของเรือนเครื่องผูกกับชีวิตของชาวบ้านนี้ คนไทยด้วยกันไม่สู้จะสนใจให้การสังเกตเพื่อการพิจารณา สาระในด้านนี้สักกี่มาก น้อย เพราะในระยะหลังมานี้คนจำนวนไม่น้อยต่างเกิดอุปทานว่า เรือนเครื่องผูกเป็นเรือนที่อยู่อาศัยสำหรับคนยากจนหรือคนต่ำศักดิ์ และต่อมาเมื่อเกิดเทศบัญญัติเกี่ยวกับความปลอดภัยของเคหะสถานที่จะ ปลูกขึ้นเป็นที่อยู่ภายในเขตเทศบาลแล้ว เรือนเครื่องผูกเป็นอาคารสถานต้องห้ามมิให้ปลูก เพราะมีทัพสัมภาระในการสร้างเรือนเป็นเชื้อติดไฟได้ง่าย เหตุผลอันทำให้เกิดอุปทาน และความเชื่อเช่นนี้มีมาอย่างน้อยก็เมื่อรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยมีข้อความตอนหนึ่งปรากฏในหนังสือเล่าเรื่องกรุงสยามของมงเซเญอร์ปาลเลกัวซ ว่า
“บ้านเรือนในบางกอกนั้น แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท
ประเภทหนึ่งก่ออิฐถือปูนและโอ่โถง อีกประเภทหนึ่ง เป็นเรือนไม้ ส่วนราษฎรที่ยากจนนั้นอยู่เรือนที่ปลูกด้วยไม้ไผ่ โดยเหตุนี้จึงมีไฟไหม้บ่อยๆ และก่อความเสียหายให้มาก เป็นเรื่องธรรมดาทีเดียวที่ไฟไหม้บ้านเรือนคราวละ ๔๐๐-๕๐๐ หลังคาเรือน”
ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ ในชั้นหลังเรือนเครื่องผูกจึงไม่สู้ปรากฏให้เห็นในเมืองหลวงและจังหวัดต่างๆ จะมีอยู่ก็แต่ในพื้นบ้าน ตามชนบทไกลเมือง อย่างไรก็ตามเมื่อมองย้อนกลับไปในอดีตที่เกี่ยวกับ “เรือนเครื่องผูก” ก็จะพบว่า เรือนประเภทนี้ได้แสดงให้เห็นวิถีชีวิตและความเชื่อของ ชาวบานที่มีต่อเรือนเครื่องผูกอย่างไร ต่างกว่าสมัยต่อมาเพียงใด หลักฐานที่จะนำมาแสดงเกี่ยวกับกรณีที่กล่าว เป็นที่น่าเสียใจที่จะต้องอ้างหลักฐานที่ชาวต่างประเทศซึ่งเดินทางเข้ามายังประเทศไทยตามโอกาสและเวลาต่างๆ กัน และได้ตั้งข้อสังเกตไว้ แทนที่จะเป็นข้อสังเกตที่ควรเกิดจากความสนใจในหมู่คนไทยกันเองและมีจดหมายเหตุไว้ ชาวต่างประเทศได้จดบันทึกการสังเกตเกี่ยวกับเรือนเครื่องผูก และ แสดงสาระสำคัญที่ยังให้สามารถหยั่งเห็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน แต่อดีต จากเรือนเครื่องผูกมีโดยลำดับต่อไปนี้
“ตั้งแต่บางกอกไปจนถึงสยาม (กรุงศรีอยุธยา) เราพบหมู่บ้านเป็นอันมากเกือบทั่วไปทั้งสองฟากฝั่งแม่น้ำ หมู่บ้านเหล่านี้ประกอบด้วยกระท่อมเป็นเรือนยกพื้นสูง เนื่องจากน้ำท่วม เป็นเรือนที่สร้างขึ้นด้วยไม้ไผ่ อันเป็นต้นไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งไม้ของมันนำไปใช้ประโยชน์ได้สารพัดอย่างในประเทศนี้ ลำต้นกับกิ่งใหญ่ใช้ทำเป็นเสากับคาน กิ่งเล็กใช้ทำหลังคาและสานทำเป็นฝาห้อง”
“ที่อยู่อาศัยของชาวสยามนั้นเป็นเรือนหลังย่อมๆ แต่มีอาณาบริเวณกว้างขวางพอใช้ พื้นเรือนนั้นก็ใช้ไม้ไผ่มาสับเป็นฟากและเรียงไว้ไม่ค่อยถี่นัก แล้วยังจักตอก ขัดแตะเป็นฝาและใช้เป็นเครื่องบนหลังคาเสร็จไปด้วยในตัว เสาตอหม้อที่ยกพื้นขึ้นสูงให้พ้นน้ำท่วม ก็ใช้ไม้ไผ่ ลำใหญ่กว่าขา และสูงจากพื้นดินราว ๑๓ ฟุต เพราะลางครั้งน้ำก็ท่วมขึ้นมาสูงเท่านั้น ตอหม้อแถวหนึ่งมีไม้มากกว่า ๔ หรือ ๖ ต้น แล้วก็เอาลำไม้ไผ่ผูกขวางเป็นรอด บันไดก็เป็นกระไดไม้ไผ่ ซึ่งทอดอยู่ข้างนอก ตัวเรือนเหมือนกระไดโรงสีลม คอกสัตว์ของสยามก็อยู่กลางแจ้งและยกพื้นเหมือนกัน มีตะพานไม้ทำด้วยไม้ไผ่ ฟากสำหรับสัตว์ปีนขึ้น
การที่เรือนแต่ละหลังออกไปตั้งอยู่โดดหลังเดียวห่างๆ กันนั้น ออกจะเป็นด้วยต้องการให้เป็นที่รโหฐาน สำหรับคนในครัวหนึ่งๆ ซึ่งความลับเฉพาะในครอบครัว จะได้ไม่แพ่งพรายออกไปเข้าหูเพื่อนบ้าน เนื่องจากที่มีฝาเรือนบางๆ กันไว้เท่านั้น และมิใช่เพราะกลัวว่าไฟจะไหม้ด้วย เพราะชาวสยามตั้งเตาหุงต้มกันกลางลานบ้าน มิใช่ในตัวเรือน แต่ก็มิได้สุมไฟอะไรกันมากนักในขณะที่เราอยู่ในพระนครนั้น เรือนได้ถูกไฟไหม้ถึง ๓๐๐ หลังคาเรือน แต่ก็กลับปลูกขึ้นใหม่แล้วเสร็จเพียงชั่วเวลา ๒ วันเท่านั้นเอง”
และทัศนคติของชาวต่างประเทศที่มีต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านชาวไทยผู้เป็นเจ้าของเรือนประเภทเครื่องผูก ยังมีต่อไปว่า
“สถาปัตยกรรมของชาวสยาม ผิดแปลกแตกต่างกว่าของเรา จึงมิพึงหวังว่าจะมีความงดงามและเรียบร้อยเท่าชาวประเทศนี้เห็นว่าไม่จำเป็นต้องสนใจนักในเรื่องสร้างตึกราม เพราะจะเอาวิชานี้ไปรับจ้างหากินที่ไหนๆ ก็ไม่ได้เขาเห็นเป็นการสะดวกกว่าจะไม่สิ้นเปลืองมากที่จะ สร้างเรือนหลังเล็กๆ ด้วยต้นไม้และไม้ไผ่ยกพื้นสูงจากระดับดินสัก ๗ หรือ ๘ ปิเอด์เท่านั้น จนรับไว้ด้วยตอหม้อเป็นเสาต้นใหญ่แทนที่จะก่ออิฐถือปูนอันเป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก จึงไม่ค่อยพ้นจากการถูกน้ำพัดพังลงมาอยู่บ่อยๆ เมื่อมีอุทกภัยมีแต่ชาวต่างประเทศเท่านั้นที่ปลูกตึกอยู่บ้าง ๒-๓ หลังซึ่งงามและแข็งแรงไม่แพ้ตึกในยุโรป และชวนให้คิดว่าคนชาวสยามนั้นก็น่าจะทำตามอย่างได้ ถ้าเขาคิดจะทำ”
เรือนเครื่องผูกของชาวไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่ชาวต่างประเทศได้ตั้งข้อสังเกตและจดหมายเหตุไว้ตามทัศนคติของเขาดังแสดงมาโดยลำดับนี้ บางสิ่งที่เขาได้พบเห็นอาจคิดเห็นไม่ตรงกันกับที่ชาวไทยเป็นอยู่ในสมัยนั้นก็มีแต่ก็ยังมีบางสิ่งที่อาจเห็นตรงกัน และ เป็นสิ่งที่จะปฏิเสธและมองข้ามไปเสียมิได้ในความเป็นจริง ดังที่ชาวต่างประเทศนั้นยอมรับ และจดหมายขึ้นไว้ว่า
“เราเที่ยวไปในลำคลองที่ยาวจนสึดหูสุดตา ในละเมาะไม้ อันเขียวชะอุ่มมีบ้านเรือนปลูกเรียงรายกันไปเป็นสองแถวอยู่ในระหว่างทิวไม้ มีนกหลายร้อยหลายพันอย่างส่งเสียงร้องระงมเซ็งแซ่อยู่ทั่วไป บ้านช่องเหล่านี้ ถ้าดูเผินๆ แต่ภายนอก ก็จะเห็นว่าไม่สะสวยเลย แต่ถ้าได้เห็นภายในแล้วจะเห็นว่าสะอาดสะอ้านดีมาก เวลาเข้าไปในเรือนนั้นก็คงคิดว่าจะได้พบชาวชนบทผู้เป็นเจ้าบ้านนั้นสกปรกเหลือทน แต่กลับเป็นการตรงกันข้าม กลับจะได้พบแต่สิ่งสะอาดเรียบร้อยเป็นสุขตาทุกอย่าง”
จดหมายเหตุของชาวต่างประเทศ ซึ่งได้จดข้อสังเกตเกี่ยวกับเรือนเครื่องผูกของชาวไทยแต่ในสมัยก่อนขึ้นไว้ตามทัศนคติของเขาเหล่านั้น ยังได้แสดงให้เราได้ทราบต่อไปอีกว่า เรือนเครื่องผูกนี้แท้ที่จริงมิได้เป็นเรือนที่อยู่สำหรับชาวบ้านจำพวกที่มีฐานะยากจน ดังที่คนไทยจำนวนไม่น้อยในปัจจุบันเข้าใจกัน หากแต่เรือนประเภทเดียวกันนี้ยังได้ใช้และมีฐานะเป็นเรือนที่พักสำหรับราชทูตที่เดินทางเข้ามาเจริญทางไมตรียังพระราชสำนักกรุงศรีอยุธยาเป็นเช่นนี้มาโดยลำดับ ซึ่งจะเห็นได้ด้วยข้อความที่คัดออกจากเอกสารจดหมายเหตุของชาวต่างประเทศคณะทูตที่เดินทางเข้ามาแต่ละคราวในเวลานั้นมาแสดงโดยลำดับในที่นี้
“เวลาเช้า ๘ นาฬิกาเราออกจากเรือฟริเกท ลงเรือหลวง เดินทางต่อไปด้วยขะบวนเดิม พอเที่ยงวันก็ถึงเรือนหลังแรกในบรรดา ๗ หลังที่สร้างไว้สำหรับรับรองท่านอัครราชทูต ทำด้วยไม้ไผ่ทุกหลัง มีห้องพัก ห้องประชุม ห้องพักสำหรับท่านราชทูต และสำหรับพวกในงบทูต
“วันรุ่งขึ้น เราออกเดินทางต่อไปถึงพระประแดง ซึ่งทางการเตรียมเรือนพักแรมหลังแรกไว้ให้อาคารหลังเล็กๆ เหล่านี้ แม้จะใช้เวลาปลูกสร้างเพียงแปดวันด้วยฝาเสื่อลำแพนและพื้นฟาก ก็แข็งแรงและน่าอยู่ พอสมควรและโดยที่หลังแรกนี้กับหลังต่อๆ ไปสร้างขึ้นเป็นแบบเดียวกันทั้งนั้น
“ศาลาที่พักทำด้วยไม้ไผ่ที่สร้างขึ้นตามระยะทางนั้น เคลื่อนที่ได้ พอท่านราชทูตและบริวารออกไปจากศาลาที่พักแล้ว เขาก็รื้อลง เพราะฉะนั้น ศาลาที่สร้างสำหรับเลี้ยงอาหารวันนี้ที่ถูกย้ายไปใช้ในวันรุ่งขึ้นและศาลาที่สร้างสำหรับพักนอนคืนนี้ ก็เอาไปเตรียมไว้สำหรับคืนพรุ่งนี้ เราย้ายที่พักเช่นนี้เรื่อยไปจนเข้าไปใกล้กรุงศรีอยุธยา”
อาศัยข้อความจากจดหมายเหตุของชาวต่างประเทศดังที่คัดมาแสดงโดยลำดับนี้คงจะพอเป็นสิ่งบ่งให้เห็นสาระสำคัญของเรือนประเภทเครื่องผูกได้บ้างว่าเรือนประเภทนี้มิได้เป็นที่อยู่อาศัยที่ไร้ความสำคัญ หรือสมควรแก่คนในสังคมที่มีฐานะยากจนเท่านั้น แต่ทว่าเรือนเครื่องผูกเป็นเคหะสถานประเภทหนึ่งที่แสดงให้เห็นวิถีชีวิตของชาวบ้านชาวไทยที่แสดงออกในความฉลาดที่จะใช้วัสดุในพื้นถิ่นให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตอย่างคุ้มค่า และแสดงออกถึงความเรียบง่าย ความ มักน้อย และความยินดีเฉพาะในสิ่งที่ตนจะพึงมีพึงได้ อันเป็นไปโดยวิถีแห่งชีวิตของผู้อยู่ในพระพุทธศาสนาโดยแท้
ที่มาโดย:จุลทัศน์ พยาฆรานนท์ คณะมนุษยศาสตร์ วิทยาเขตกลาง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ