วรรณคดียุคธนบุรี

ลิลิตเพชรมงกุฎ
พ.ศ. ๒๓๑๐-๒๓๒๕
ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
แม้สมัยกรุงธนบุรีนี้จะมีระยะเวลาอันสั้น แต่ก็เกิดวรรณคดีหลายเรื่อง และมีนักกวีที่มีชื่อเสียงอยู่หลายท่าน ในชั่วระยะเวลาเพียง ๑๕ ปี และบ้านเมืองยังไม่สงบสุขนัก และเป็นวรรณคดีที่ปูพื้นฐานสำหรับวรรณคดี สมัยรัตนโกสินทร์ และบางท่านก็ยังมีผลงานมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์อีกด้วย เช่น หลวงสรวิชิต เป็นต้น

บทละครรามเกียรติ์
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นผู้แต่ง แม้พระองค์จะมีภารกิจอันยุ่งยากในการสร้างกรุง และการรบทัพจับศึก แต่ก็ทรงพระราชนิพนธ์บทละครขึ้นเป็นกลอนบทละคร แต่ใช้เล่นละครไม่สู้จะเหมาะ เพราะไม่มีการดัดแปลงให้เหมาะกับท่ารำ    ทั้งสำนวนโวหารก็สู้สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ไม่ได้ ทั้งนี้ก็คงจะเนื่องจากพระองค์ทรงถนัดรบมากกว่าถนัดอักษร โดยมีพระราชประสงค์ ปลุกใจประชาชน สั่งสอนศีลธรรม และรักษาวรรณคดีของชาติมิให้สูญหาย
แต่ง พ.ศ. ๒๓๑๓ ทรงแบ่งเป็น ๔ ตอน คือ

ตอนทศกัณฐ์ตั้งพิธีทรายกรด และพระลักษณ์ต้องหอกกบิลพัทธ์ จนผูกผมทศกัณฐ์

ตอนพระมงกุฎประลองศร (ทรงแผลงต้นไม้)

ตอนท้าวมาลีวราชว่าความ

ตอนหณุมานเกี้ยวนางวาริน

ตัวอย่างเช่น
ชิชะโอ้ว่าสีดาเอ๋ย        มางามกระไรเลยเลิศเลขา
ถึงนางสิงหกท้องฟ้า        จะเปรียบสีดาได้ก็ไม่มี
แต่กูผู้รู้ยศธรรม            ยังหมายมั่นมุ่งมารศรี
สาอะไรกับอ้ายอสุรี        จะมิพาโคติกาตาย

รามเกียรติ์ของไทยมี ๘ ฉบับ คือ
๑. รามเกียรติ์ บทพากย์ครั้งสมัยกรุงเก่า
๒. รามเกียรติ์ บทละครครั้งกรุงเก่า
๓. รามเกียรติ้ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
๔. รามเกียรติ์ รัชกาลที่ ๑
๕. รามเกียรติ์ บทละครรัชกาลที่ ๒
๖. รามเกียรติ์ สมเด็จพระจอมเกล้า ฯ
๗. รามเกียรติ์ สมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ
๘. โคลงภาพรามเกียรติ์ ที่วัดพระแก้ว
ทั้ง ๘ ฉบับ อยู่ในความนิยมและมีชื่อเสียงเพียง ๕ ฉบับ คือ

๑. รามเกียรติ์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
๒. รามเกียรติ์ รัชกาลที่ ๑
๓. รามเกียรติ์ บทละครในรัชกาลที่ ๒ (นิยมกันมาก)
๔. รามเกียรติ์ บทละครในรัชกาลที่ ๔
๕. รามเกียรติ์ บทร้อง บทพากย์ และเจรจา ในรัชกาลที่ ๖

อย่างไรก็ดี ก็ยังนับว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะ ที่จะรักษาวรรณคดีไทยเอาไว้ แม้เหตุการณ์บ้านเมืองจะไม่ปกติสุขนักก็ตาม แต่พระองค์ก็ได้ฝากผลงานในทางวรรณกรรมเอาไว้ เป็นแบบอย่างการแต่งรามเกียรติ์สมัยต่อๆ มา ใช่ว่าจะขาดอรรถ¬รสทีเดียวก็หาไม่ เป็นต้นว่าบทรักบทสวาท ก็ยังมีภาพพจน์ดี ชัดเจนอยู่ เช่น
ว่าพลางทางโอบอุ้มน้อง     คืนเข้าถํ้าทองคูหา
แสนสนิทพิศวาสตรึงตรา    เสน่หาอัดอั้นพันทวี
ก็รึงรัดตระบึงร่วมรส        ภุมรีจ้องจรดเกสรศรี
กลั้วเกลือกกลีบเกษรสุมาลี    ปรีดาผาสุกสนุกใจ

ลิลิตเพชรมงกุฎ
หลวงสรวิชิต (หน) เป็นผู้แต่ง
หลวงสรวิชิต เดิมชื่อหน เข้ารับราชการตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงธนบุรี ต่อมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาพิพัฒน์โกษา และเป็นเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เป็นต้นสกุล บุญ-หลง

ท่านผู้นี้ ได้สร้างวรรณคดีชั้นยอดเยี่ยมไว้หลายเรื่อง ทั้งในสมัยกรุงธนบุรี และสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

การแต่งลิลิตเพชรมงกุฎ เพื่อถวายราชโอรสของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี แต่เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๒

แต่งด้วยถ้อยคำเรียบร้อย แม้จะไม่ถึงขั้นลิลิตพระลอ หรือลิลิตตะเลงพ่าย    แต่ก็คงมีความดีเด่นไว้ไม่น้อยทีเดียว

เนื้อเรื่อง จากนิทานเวตาล อันเป็นนิทานของอินเดียว่า พระเจ้าวิกรมาทิตย์    จับเวตาลได้ เวตาลได้เล่านิทานเรื่องเพชรมงกุฎให้ฟัง และได้เวตาลเป็นข้าต่อไป ตัวอย่างเช่น
กรรณิกาการะเกดแก้ว        กาหลง
พุทธชาติลำดวนดง        ดกค้อม
จำปีบีบประยงค์            หอมกลิ่น มานา
ยี่สุ่นบุนนาคน้อม        กิ่งสร้อยร้อยกุสุมาลย์
เลียนแบบพระลอ

ลิลิตพระลอ
พระเอยอาบนํ้าขุ่น         เอาเย็น
ปลาผอกหมกเหม็นยาม    ยากเคี้ยว
รุกรุยราคจำเป็น            ยามเมื่อ แคลนนา
อดอยู่เดียวดิ้วเดี้ยว        อยู่ได้ฉันใด

ลิลิตเพชรมงกุฎ
พระเอยยามยากกลั้น        กระหาย
เสพย์สิ่งใดอย่าหมาย        อิ่มท้อง
รสใดจะหลงหลาย        ดุจรส ราคนา
พ่ออย่าหลงเสพย์ต้อง        วุ่นว้ายภายหลัง
อิเหนาคำฉันท์
หลวงสรวิชิต (หน) เป็นผู้แต่ง เมื่อ พ ศ. ๒๓๒๒ ลักษณะเป็นฉันท์สลับกาพย์

ความมุ่งหมายของผู้แต่ง คงจะเป็นการแสดงฝีปากในเชิงวรรณคดี ฉันท์ และกาพย์ แม้จะใช้คำไม่ลึกซึ้ง แต่ก็มีบางตอนที่ไพเราะ

เนื้อเรื่อง จับตอนอิเหนาเผาเมืองดาหา นำบุษบาไปไว้ในถํ้า จนจรกาออกไปหา อิเหนาทำทีโกรธจรกาเรื่องที่จรกาเล่า แต่ก็อดร้องไห้ไม่ได้ เมื่อนึกถึงความฝัน ตัวอย่างเช่น
น้ำนั้นแลดั้นพุ        ชลุขึ้นบนสานู
สาบสาดเป็นฝอยฟู    ดุจสายพิรุณปราย
สร้านเซ็นกระเด็นต้อง    ละอองบุษยกำจาย
สาโรซรำเพยผาย    รศฟุ้งชโลธาร์

โคลงยอพระเกียรติ
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
นายสวน มหาดเล็กในพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นผู้แต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๔ มีทั้งหมด ๘๕ บาท เป็นโคลงสี่สุภาพ

ความมุ่งหมาย เพื่อเฉลิมพระเกียติสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เพื่อบันทึกเหตุการณ์ในสมัยนั้น
เพื่อเป็นแนวทางในด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดีปราสาทราชวังความเป็นอยู่ของคนไทยในสมัยนั้น

ขึ้นต้นก็บอกชื่อผู้แต่ง วัน เดือน ปี ไม่มีบทไหว้ครู ตัวอย่างเช่น
ขอพรพระพุทธเรื้อง         สพัญญู
จงแผ่พระเดชชู            ปิ่นเกล้า
ตราบเสร็จโพธิญาณตรู    ตราโลก
ดัดเด็จปัญจขันธ์เจ้า        สู่ห้องนฤพาน

กฤษณาสอนน้องคำฉันท์
พระยาราชสุภาวดี และพระภิกษุอิน ช่วยกันแต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๒-๑๓๑๙

เป็นฉันท์และกาพย์ กฤษณาสอนน้องนี้ เข้าใจว่ามีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว ทว่าต้นฉบับได้สูญหายไป จึงมีผู้รวบรวมแต่งขึ้นใหม่ เป็นคำสุภาษิตสอนหญิง เกี่ยวกับการวางตัว ประพฤติตัวให้เป็นกุลสตรีที่ดี

วรรณคดีเรื่องนี้ มีสำนวนใกล้เคียงกับต้นฉบับ ของสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส แต่ของสมเด็จฯ มีคนนิยมอ่านอย่างกว้างขวางมากกว่า แม้แต่ในปัจจุบันนี้ก็ตาม ก็ยังนิยมของสมเด็จ ฯ มาก

นิราศพระยามหานุภาพไปเมืองจีน
เป็นนิราศเรื่องแรกที่เป็นกลอน
ความมุ่งหมาย เพื่อบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ในการเดินทาง ความอาลัยอาวรณ์ต่อหญิงที่ตนรักต้องจากไป ตามลีลาของนิราศทั้งหลาย

ให้ความรู้ในด้านภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมของจีน ที่ได้พบเห็นมา เมื่อท่านผู้แต่งนี้กับราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศจีน ณ กรุงปักกิ่ง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๔ ซึ่งตรงกับสมัยของพระเจ้าเขี้ยนหลง โดยเรือทั้งสิ้น ๑๑ ลำ

บรรยายโวหารได้ดี ทำให้ผู้อ่านเกิดภาพพจน์ เช่น
ครั้นเรือล่องคล้อยคลองตลาดเลี้ยว
ตลิ่งเหลียวแลชลนัยน์ไหล
จะจากเรือนจากเพื่อนภิรมย์ไกล
ถึงสายใจนี้จะขาดอาตมา
โอ้ความปรีเปรมเกษมสันต์
ตั้งแต่จะนับวันคอยหา
จะนับเดือนเคลื่อนสังวัจฉรา
จะก้มหน้านิ่งชํ้าระกำไป

การเดินทางของราชทูตครั้งนี้ มุ่งไปที่กวางตุ้งก่อน จากกลอนถวายพระเกียรติ และถวายพระพรว่า
สรวมชีพบังคมบรมนาถ
ด้วยภักดีชุลีลาบาท            อภิวาทขอเบื้องพระบารมี
เป็นร่มโพธิ์สุวรรณกั้นเกศ         ไปประเทศกวางตุ้งกรุงศรี
เป็นจดหมายถวายมาด้วยภักดี     ตามที่ได้สดับเดิมความ

การเดินทางของราชทูต มีอันตรายอย่างมากเพราะเรือโดยสารไม่มีความปลอดภัยเหมือนสมัยนี้ ที่มีเครื่องไม้เครื่องมือในการเดินทางและเรือก็ให้ความปลอดภัยน้อยเหลือเกิน ถ้าจะเทียบกับสมัยปัจจุบันนี้
อันตรายจึงมีรอบด้าน เช่น

จะดูโดยพิศใดก็ใจหวาด วิปลาสเห็นวาฬขึ้นข้างขวา ประมาณยาวราวสามสิบห้าวา ที่ท่อนหน้าไม่ตระหนักประจักษ์ใจ

สรุปแล้ว วรรณคดีในสมัยกรุงธนบุรี แม้จะเป็นราชธานีในชั่วระยะเวลาไม่กี่ปี แต่ก็มีวรรณคดีที่ปรากฏมาจนทุกวันนี้หลายเรื่อง    และเป็นการเริ่มต้น ทำให้เกิดวรรณคดีที่เป็นอมตะ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ปัจจุบันนี้

ที่มา:โฆฑยากร