กระบวนความเชิงอธิบาย

ในหลักแห่งกระบวนความเชิงพรรณนา มุ่งหมายให้ท่านเข้าใจวิธีวาดภาพด้วยตัวอักษร ท่านจะเขียนเรื่องบันเทิงคดี บทความเรียง เรื่องเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ย่อมจำต้องใช้กระบวนความพรรณนาประกอบทั้งสิ้น คำบรรยายนี้จะได้กล่าวถึงกระบวนความอีกอย่างหนึ่งซึ่งเห็นว่าเป็นสิ่งที่นักประพันธ์ควรรู้ เพราะในบางโอกาสท่านอาจจะต้องเขียนบทนำในหนังสือพิมพ์ชี้แจงเรื่องบางอย่างแก่ผู้อ่าน

กระบวนความเชิงอธิบาย
กระบวนความเชิงอธิบายได้แก่การเรียบเรียงข้อความชี้แจงเรื่องหนึ่ง เรื่องใด ให้ผู้อ่านเข้าใจแจ่มแจ้ง และให้ข้อความนั้นน่าอ่านน่าฟัง สมมุติ ว่าท่านเป็นนักหนังสือพิมพ์ แล้วท่านต้องการให้ผู้อ่านรู้เรื่อง “ยูโน” ท่าน จะเขียนอย่างไรถึงจะให้คนทั่วๆ ไปอ่านเข้าใจ บางคนรู้เรื่องอะไรดีแต่ พูดให้ผู้อื่นเข้าใจไม่ได้ ท่านจะพูดอย่างไรให้คนธรรมดาสามัญเข้าใจว่า อะตอมมิกบอมบ์สร้างขึ้นอย่างไร แน่ละท่านต้องมีความรู้เรื่องอะตอมมิกบอมบ์เสียก่อน บางคนแม้จะรู้เรื่องอะตอมมิกบอมบ์ดี แต่ก็อธิบายให้คนอื่นเข้าใจไม่ได้ สมมุติว่าท่านเป็นนายอำเภอเป็นครู หรือเป็นทหาร เผอิญท่านได้รับมอบให้อธิบาย “การปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ” ให้ตาสีตาสาเข้าใจ ท่านจะพูดอย่างไร ท่านอาจเคยรู้สึกกับตนเองว่า “เรื่องนี้ข้าพเจ้ารู้ แต่พูดไม่ถูก” นี่แหละ ท่านควรศึกษาหลักแห่งกระบวนความเชิงอธิบาย

ลักษณะสำคัญแห่งกระบวนความเชิงอธิบายก็คือ
๑. เรื่อง เมื่อจะพูดเรื่องอะไรก็ให้เพ่งเฉพาะเรื่องนั้นจริงๆ อย่าเอาเรื่องอื่นมาปน

๒. ความคิดเห็น ต้องเป็นไปตามความรู้ความเข้าใจของท่านเอง อย่าไปยืมความคิดเห็นของคนอื่นมาพูด ท่านจะอ้างความเห็นความเข้าใจ ของคนอื่นบ้างก็ได้ แต่อย่าให้ความเห็นของคนอื่นอยู่เหนือความคิดความเห็นของท่าน

๓. ความรู้ เมื่อท่านจะพูดอะไร ท่านต้องรู้เรื่องนั้นโดยละเอียดเสียก่อน ถ้าท่านไม่รู้เรื่องที่จะพูดแจ่มแจ้ง ท่านก็จะเขียนให้คนอื่นเข้าใจแจ่มแจ้งไม่ได้ ถ้าท่านรู้สึกว่าท่านรู้เรื่องที่จะพูดไม่พอ ท่านต้องค้นคว้าหา หลักฐาน หาตำรับตำราอ่านและย่อเรื่องที่ท่านอ่านจนซึมซาบเสียก่อน ไม่ใช่หยิบเอาของเขามาทั้งดุ้น

๔. ความน่าอ่านน่าฟัง คือต้องเรียบเรียงความ ใช้ถ้อยคำอันเป็นที่สนใจของคนอ่าน ต้องเข้าใจว่า การอธิบายนี้มิใช่ครูอธิบายบทเรียน หรือผู้เชี่ยวชาญอธิบายความรู้ทางเทคนิค ต้องพยายามเว้นคำบัญญัติ ที่เรียกว่า เทคนิกัล เทอม (Technical Term)

๕. ต้องให้เข้าใจง่าย

๖. ต้องมีข้อความเป็นลำดับติดต่อกัน

ในการที่จะเขียนนั้น มีหลักที่ท่านควรรู้ดังต่อไปนี้

๑. นิยาม
สมมุติว่าท่านจะเขียนเรื่อง อารยธรรม ปัญหาข้อแรกก็คือ จะพูดว่า กระไร ท่านอาจต้องนิ่งอึ้งอยู่เป็นนาน ไม่ทราบว่าจะเริ่มพูดอย่างไร จะถามว่า ท่านรู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับอารยธรรมบ้างไหม ท่านมีความคิดความรู้สึกอย่างไร ท่านตอบว่า “รู้บ้างเล็กน้อย เพราะไม่ค่อยได้เอาใจใส่นัก” รู้บ้างเล็กน้อยนั่นแหละ เขียนลงไปเถิด พอให้ปากกาเดินเสียหน่อย แล้วก็เขียนต่อไปได้เอง อย่างไรก็ตาม ความไม่รู้นี้เป็นอุปสรรคสำคัญ วิธีที่จะแก้ความไม่รู้ก็คือ ต้องทำตัวให้เป็นพหูสูต หมั่นอ่าน ฟัง จำ สังเกตแล้วคิด นี่เป็นคุณสมบัติของนักเขียน เมื่อท่านมีความรู้รอบตัวพอแล้ว การที่จะเขียนก็สะดวก และวิธีเปิดเรื่องเชิงอธิบายนี้ ทางที่ดีและง่ายคือ การให้นิยาม

นิยาม คือการกำหนดความหมาย บางทีก็เรียกว่า คำจำกัดความ (Definition) เป็นการให้ความหมายของเรื่องที่จะพูด เป็นการวางขอบเขต และแนวทางที่ท่านจะพูดต่อไป เช่น ถ้าท่านจะพูดเรื่อง “อารยธรรมทำให้ คนเป็นสุขขึ้นหรือไม่? ” ดังนี้ ถ้าท่านไม่เข้าใจความหมายของคำอารยธรรม ท่านก็คงจะเขียนอะไรต่อไปให้ถูกต้องไม่ได้ การให้นิยามนี้แบ่งอย่างกว้างๆ เป็น ๒ ประเภท คือ

ก. นิยามสิ่งซึ่งเป็นนามธรรม ท่านอาจให้ความหมายได้ตามความรู้สึกนึกคิด และความเข้าใจของท่านเอง เช่น ความทะเยอทะยาน ความรัก ความสัตย์ ความยุติธรรม

ยกตัวอย่าง นิยาม “ความรัก”
“ความรักเป็นงานของคนเกียจคร้าน เป็นเครื่องหย่อนใจของคนขยัน เป็นความล่มจมของผู้เป็นใหญ่”
(นโปเลียน)

“ความรักคือความบ้าอย่างหนึ่งนั้นเอง”
(เช็กสเปียร์)

“ความรักนี้เป็นของน่าพิศวงมาก เป็นแสงจากฟ้า ฉายความสุขมายังแผ่นดินอันมืดและเต็มไปด้วยความซึมเซา เป็นมนต์ซึ่งทำให้เรารำลึกถึงความมีชาติสูงกว่านี้เป็นความสุขในขณะนี้และเป็นทางให้คิดถึงความสุขในเบื้องหน้า ทำให้ความขี้ริ้วกลับเป็นความงาม ทำให้ความโง่กลับเป็นความฉลาด ทำให้ความแก่กลายเป็นหนุ่ม ทำให้บาปเป็นบุญ ทำให้ความซึมเซาเป็นความแช่มชื่น ทำให้ใจแคบเป็นใจกว้าง ความรักนี้เป็นโอสถอย่างเอก”
(นิทานเวตาล ของ น.ม.ส.)

ท่านจะเห็นว่า นิยามชนิดนี้ ไม่ต้องการความรู้เท่าใด แต่ท่านต้องมีความรู้สึกประณีตลึกซึ้ง มิฉะนั้นความที่ท่านเขียนลงไปจะดาดๆ ตื้นๆ และไม่ชวนฟัง

ข. นิยาม ซึ่งเกี่ยวกับหลักความรู้หรือหลักวิชาการ เช่น รัฐธรรมนูญ ชาติ วัฒนธรรม เป็นต้น แม้ท่านจะพูดตามความรู้สึกนึกคิดของท่านเอง ท่านจะต้องเข้าใจเรื่องราวของสิ่งเหล่านี้ให้แจ่มแจ้งเสียก่อน การให้คำนิยาม ต้องกระชับ รัดกุม และมีหลัก

ตัวอย่าง
“อันคำว่า ต่างภาษา นั้นคืออะไร
เมื่อแลดูเผินๆ ก็ดูไม่น่าจะเป็นปัญหาที่ยากเย็นอะไร แต่ถึงเช่นนั้น ก็ดี ข้อความซึ่งข้าพเจ้าได้ตอบปัญหานี้ในครั้งก่อนนั้น เป็นเหตุให้คนจำพวกหนึ่งร้องคัดค้าน และแสดงความเห็นต่างๆ เป็นอันมาก ข้าพเจ้าจึงต้องยกเหตุนี้ขึ้นเป็นข้อแก้ตัวในการที่จะกล่าวในเรื่องนี้อีกในที่นี้

คำตอบปัญหาที่กล่าวข้างบนนี้ ควรเราจะหารือพจนานุกรมดูว่า เขาจะแปลว่าอย่างไร

๑. พจนานุกรมอังกฤษ ของ เชมเบอร์ อธิบายคำ ต่างภาษา ว่าดังนี้

“ต่างภาษา” (คุณศัพท์) แปลว่า “ต่างประเทศ ต่างกันด้วยนิสัย และลักษณะ (นาม) คนหรือสิ่งที่เป็นของต่างประเทศ คนที่ไม่มีความชอบ ธรรมโดยเต็มแห่งพลเมือง”

เพราะฉะนั้น ถ้าจะว่ากันให้ตรงแท้สำหรับคนไทยแล้ว คำนี้ต้องแปลว่า คนอื่นๆ ทุกคน ซึ่งมิใช่ไทย ก็เป็นคนต่างภาษาทั้งสิ้นหรืออีกนัยหนึ่ง ถ้าท่านจะพอใจมากกว่า จะเรียกว่าชาวต่างประเทศก็ได้”
(จากเรื่อง ชาวต่างภาษา ปกิณกคดี ของ อัศวพาหุ)

ตั้งแต่หมายเลข ๑ เป็นคำนิยาม จะเห็นว่ามีการอ้างหลักฐาน แต่ หลักฐานเท่านั้นยังไม่พอ ต้องสรุปความตามที่ผู้เขียนเข้าใจแสดงไว้ด้วย

๒. การจัดหัวข้อเรื่อง
การจัดหัวข้อเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะมันจะป้องกันมิให้ข้อความ สับสนกันทั้งจะเป็นจุดหมายที่ท่านจะพูดขยายเรื่องให้ได้แจ่มแจ้ง มีข้อความต่อเนื่องกัน เช่น ถ้าท่านจะเขียนอธิบายเรื่องการปกครองโดยมีคณะพรรคการเมือง ท่านก็อาจจัดหัวเรื่องดังนี้

การปกครอง โดยมีคณะพรรคการเมือง
๑. ความหมายของการปกครองโดยมีพรรค
๒. ประวัติ
๓. หลักการ
๔. ประโยชน์
๕. ทางเสีย
๖. สรุปความเห็นของท่าน

กระบวนความเชิงอธิบายที่ท่านจะถือเป็นแบบฉบับได้ก็คือ พระนิพนธ์ ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทุกเรื่อง พระราชนิพนธ์ในรัชกาล ที่ ๕. เรื่อง พระราชพิธี ๑๒ เดือน หนังสือนี้กรรมการวรรณคดีสโมสร ซึ่งตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ ใน พ.ศ. ๒๔๕๗ ได้ประชุมเห็นพร้อมกันว่า เป็นยอดของความเรียงเชิงอธิบาย หนังสือที่กล่าวนี้ อย่าว่าแต่ผู้อยู่ต่างจังหวัดเลย แม้คนในพระนครก็คงหาอ่านได้ไม่ง่ายนัก เพราะหนังสือเหล่านี้ไม่ได้ตีพิมพ์แพร่หลาย เมื่อเอ่ยอ้างหนังสืออะไร รู้ว่าผู้ศึกษาคงยากใจที่จะหาอ่านหนังสือที่อ้างนั้นมาอ่านได้ มีอยู่ทางเดียวที่พอจะทำได้ก็คือตัดตอนเรื่องมาเสียเลยทีเดียว แต่การทำดังนี้ก็ทำได้เพียงส่วนน้อย พอให้ผู้ศึกษาได้แลเห็นแนวทาง

ในที่นี้จะนำข้อความตอนหนึ่งในเรื่อง ตำราฟ้อนรำ พระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มาเป็นตัวอย่าง

อธิบายตำนานการฟ้อนรำ
ก. ๑. การฟ้อนรำย่อมเป็นประเพณี มีในเหล่ามนุษย์ทุกชาติทุกภาษา ไม่เลือกว่าจะอยู่ ณ ประเทศถิ่นสถานที่ใดในพิภพนี้ คงมีวิธีฟ้อนรำตาม วิสัยชาติของตนด้วยกันทั้งนั้น ๒. อย่าว่าแต่มนุษย์เลย ถึงแม้สัตว์เดรัจฉาน ก็มีวิธีฟ้อนรำ ๓. ข้อนี้จะพึงสังเกตเห็นโดยง่าย ดังเช่นสุนัขและไก่กา เป็นต้นน เวลาใดสบอารมณ์ของมัน เท้ามันก็เต้นโลดกรีดกรายทำกิริยาท่าทางได้ต่างๆ ก็คือ การฟ้อนรำตามวิสัยสัตว์นั้นเอง ๔. ปราชญ์ผู้คิดค้นหามูลเหตุแห่งการฟ้อนรำ จึงลงเนื้อเห็นเป็นยุติว่า การฟ้อนรำนี้มูลรากเกิดแต่วิสัยสัตว์ เมื่อเวทนาเสวยอารมณ์จะเป็นสุขเวทนาก็ตาม หรือทุกขเวทนาก็ตาม ถ้าเสวยอารมณ์แรงกล้าไม่กลั้นไว้ได้ ก็แล่นออกมาเป็นกิริยาให้ปรากฏ ๕. ยกเป็นนิทัศน์อุทาหรณ์ ดังเช่นธรรมดาทารก เวลาอารมณ์เสวยสุขเวทนา ก็เต้นแร้งเต้นแฉ่งสนุกสนาน ถ้าอารมณ์เสวยทุกขเวทนาก็ดิ้นโดยโหยไห้ แสดงกิริยาปรากฏออกให้รู้ว่าอารมณ์เป็นอย่างไร ยิ่งเติบใหญ่รู้เดียงสาขึ้นเพียงใด กิริยาที่อารมณ์แล่นออกมาก็ยิ่งมากมายหลายอย่างออกไป จนถึงกิริยาที่แสดงความกำหนัดยินดีมีในกามารมณ์ และกิริยาซึ่งแสดงความอาฆาต โกรธแค้น เป็นต้น ๖. กิริยาอันเกิดแต่เสวยอารมณ์นี้นับเป็นขั้นต้นของการฟ้อนรำ

ข. ๗. ต่อมาอีกขั้นหนึ่ง เกิดแต่คนรู้ความหมายของกิริยาต่างๆ เช่น กล่าวมา ก็ใช้กิริยาเหล่านั้น เช่น ภาษาอันหนึ่ง เมื่อประสงค์จะแสดงให้ ปรากฏแก่ผู้อื่น โดยจริงใจก็ดีหรือโดยมายา เช่นในเวลาเล่นหัวก็ดี ว่าตนมีอารมณ์อย่างไร ก็แสดงกิริยาอันเป็นเครื่องหมายอารมณ์อย่างนั้น ๘. เป็นต้นว่า ถ้าจะแสดงความเสน่หา ก็ทำกิริยายิ้มแย้มกรีดกราย จะแสดงความรื่นเริง บันเทิงใจก็ขับร้องฟ้อนรำ จะขู่ให้ผู้อื่นกลัวก็ทำหน้าตาถมึงทึงแลโลดเต้น คุกคาม ๙. จึงเกิดเป็นแบบแผนท่าทางที่แสดงอารมณ์ต่างๆ อันเป็นต้นของกระบวนฟ้อนรำขึ้นด้วยประการฉะนี้ นับเป็นขั้นที่สอง

ค. ๑๐. ต่อมาอีกขั้นหนึ่ง เกิดแต่มีผู้ฉลาดเลือกเอากิริยาท่าทาง ซึ่ง แสดงอารมณ์ต่างๆ นั้นมาเรียบเรียงสอดคล้องติดต่อกันเป็นกระบวนฟ้อนรำ ให้เห็นงาม ก็ต้องตาติดใจคน จึงเกิดมีกระบวนฟ้อนรำขึ้น นับเป็นขั้นที่สาม ๑๑. ความเช่นกล่าวมานี้เป็นสามัญแก่มนุษย์ทั้งปวงทั่วทุกชาติทุกภาษา จึงเกิดมีประเพณีการฟ้อนรำตามกระบวนซึ่งพวกของตนเห็นว่างามด้วยกันทุกประเทศ

คำอธิบาย
ในการเขียนเรื่องไม่ว่าเรื่องใด ท่านจะต้องนึกถึงหลัก ๓ ประการ ที่ได้กล่าวแล้ว คือ เอกภาพ (Unity) สัมพันธภาพ (Coherence) และ สารัตถภาพ (Emphasis)

ตอน ก. กล่าวถึงมูลเหตุแห่งการฟ้อนรำ มีใจความสำคัญคือ กิริยา อันเกิดแต่เวทนาเสวยอารมณ์อันเป็นขั้นต้นของการเต้นรำ

ตอน ข. ค. กล่าวถึงการเรียงท่าทางเข้าเป็นกระบวนฟ้อนรำ ท่านจะเห็นว่าทั้งสามตอนนี้มีใจความเกี่ยวโยงกันเป็นลำดับ ขณะที่ท่านอ่านห้วงความคิดเชื่อมกันไม่ขาดตอนเลย

ทีนี้ขอให้ท่านพิจารณาตอน ก. ในประโยคหมายเลข ๑-๒ เป็น ความนำ เป็นการบอกเล่าอ้างความเป็นจริง (Statement of Fact) ในประโยค ๓ ยกตัวอย่างสนับสนุนประโยค ๑-๒ ประโยคหมายเลข ๔ สรุปความให้ นิยามของการฟ้อนรำ ประโยคในหมายเลข ๕ อธิบายคำนิยามนั้นให้ชัดเจน ครั้นแล้วก็ถึงประโยคสุดท้ายของตอน ก. คือสรุปความที่กล่าวมาแล้วตั้งแต่ประโยค ๑-๒-๓-๔-๕ ให้ท่านสังเกตว่าความเชื่อมติดต่อกันโดยตลอด ที่ของสารัตถภาพคือประโยคหมายเลข ๖ อันอยู่ตอนสุดท้ายของตอน ก. และความในประโยคอื่นล้วนสนับสนุนความในประโยคหมายเลข ๖ ทั้งสิ้น

ท่านอาจนำคำอธิบายสำหรับตอน ก. ไปใช้กับตอน ข. และค. ได้ เช่นเดียวกัน

ก็การที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงเรียบเรียงคำ อธิบายไว้ดังนี้ พระองค์ท่านต้องทรงสืบค้นหลักฐานตำรับตำรา (Authority) เสียก่อน ดังที่ได้ทรงชี้แจงไว้ในคำนำว่า

“ในการเรียบเรียงหนังสือตำราฟ้อนรำเล่มนี้ได้จัดเรื่องเป็น ๓ ตอน ตอนที่ ๑ ว่าด้วยตำนานการฟ้อนรำ ในตอนนี้ได้ให้ศาสตราจารย์ เซเดส์ บรรณารักษ์ใหญ่หอพระสมุดช่วยค้นเรื่องในหนังสือซึ่งมีแปลเป็นภาษาฝรั่ง ให้พราหมณ์ กุปปุสสวามี อาจารย์ภาษาสันสกฤตในหอพระสมุดฯ ช่วยค้น ตำราภาษาสันสกฤตที่มีอยู่ในหอพระสมุดฯ เอาเรื่องมาเรียบเรียง ฯลฯ”

เมื่อทรงได้หลักฐานต่างๆ แล้วก็ทรงใคร่ครวญจับเอาใจความสำคัญมาเรียบเรียง โดยพระดำริของพระองค์เอง นี่คือหลักอันหนึ่งในการเขียน ความเชิงอธิบาย “อย่ายกเอาหลักฐานต่างๆ มาอ้างทั้งดุ้น ท่านต้องพินิจพิเคราะห์ใคร่ครวญเสียก่อนแล้วเขียนตามความเข้าใจของท่าน”

อนึ่ง ในการเขียนความเชิงอธิบายนี้ คือการบอกเล่าเรื่องราวจาก
ก. ความรู้ที่ท่านได้มาจากการสังเกตพิจารณาหรือ
ข. ความรู้ที่ท่านได้มาจากการศึกษาสืบค้นหรือ
ค. ความคิดอ่านอย่างหนึ่งอย่างใด อันเกิดในใจของท่าน

ลักษณะสำคัญของการอธิบาย คือความแจ่มแจ้งชัดเจน กับความน่าอ่าน และในการเขียนนั้น ท่านจะใส่อารมณ์ของท่านลงไปด้วยไม่ได้ ท่านต้องเขียนอย่างมีอุเบกขา เพราะความมุ่งหมายของความเชิงอธิบายนี้ คือการให้ความรู้

ที่มา:เปลื้อง ณ นคร