ระเบียบของคำ

วิธีใช้ถ้อยคำ
ระเบียบของคำ
คำที่จำแนกออกเป็นชนิดๆ ดังอธิบายนั้น คำนาม คำสรรพนาม คำกริยา และคำวิเศษณ์ รวม ๔ ชนิดนี้ ยังจะต้องมีวิธีใช้ให้ถูกต้องตามระเบียบอีก ระเบียบของถ้อยคำในภาษาไทยนั้นมี ๘ อย่าง คือ ๑. บุรุษ ๒. ลึงค์ ๓. พจน์ ๔. การก ๕. มาลา ๖. กาล ๗. วาจก ๘. ราชาศัพท์ ดังจะอธิบายต่อไปนี้

(๑) บุรุษ แปลว่า ชาย ในที่นี้หมายความถึงบุคคลที่ใช้ในการพูดจากัน จัดเป็น ๓ พวก คือ:-

ก. บุรุษที่หนึ่ง คือ คำที่ผู้พูดกล่าวถึงตัวของเขาเอง ตัวอย่าง คำนาม เช่น พี่, น้อง, อิ่ม, อ่ำ เป็นต้น ซึ่งเขาเรียกชื่อตัวของเขาเอง ดังตัวอย่าง ‘พี่ ลาก่อนล่ะน๋ะ, น้อง ลาก่อนนะค๋ะ, อิ่ม ลาก่อนนะจ๋ะ!’ เป็นต้น คำสรรพนาม เช่น ข้าพเจ้า, ผม, ข้า, กู ฯลฯ ดังตัวอย่าง ‘ข้าพเจ้า ลาก่อนละ, ผม ลา ก่อนละ’ เป็นต้น

ข. บุรุษที่สอง คือคำที่ผู้พูดใช้เรียกผู้ฟัง คำนาม เช่น สอน, คุณหลวง, เพื่อน ฯลฯ ตัวอย่าง ‘สอน อย่าเที่ยวนักเลย’ เป็นต้น คำสรรพนาม เช่น ใต้เท้า, ท่าน, เอ็ง, มึง ฯลฯ ตัวอย่าง ‘ใต้เท้าสบายดีหรือ? เป็นต้น

ค. บุรุษที่สาม คือคำที่ผู้พูดอ้างถึงในเวลาพูดจากัน ตัวอย่าง คำนามเช่น นายสอน, คน, ช้าง, บ้าน, น้ำ, ลม, ใจ ฯลฯ ตัวอย่าง ‘นายสอน ไม่อยู่นี่แล้ว’ เป็นต้น คำสรรพนาม เช่น เขา, มัน ฯลฯ ตัวอย่าง ‘เขา เป็นคนดีมาก’ เป็นต้น

(๒) ลึงค์ แปลว่าเพศ ในที่นี้หมายถึงคำที่ใช้ต่างกันตามเพศ จัดเป็น ๔ เพศด้วยกัน คือ:-
ก. ปุลลึงค์ คือเพศชาย เช่นคำ ราชา, พ่อ, ปู่ เป็นต้น
ข. สตรีลึงค์ คือเพศหญิง เช่นคำ ราชินี, แม่, ย่า เป็นต้น
ค. อลึงค์ คือเพศไม่กำหนด เช่นคำ เทวดา, คน, สัตว์ เป็นต้น
ฆ. นปุงสกลึงค์ คือคำที่ไม่มีเพศ เช่นคำ ดิน, น้ำ, ลม, ไฟ เป็นต้น

(๓) พจน์ แปลว่า คำพูด ในที่นี้หมายถึงคำที่ใช้ต่างกันตามกำหนดมาก และน้อย จัดเป็น ๓ พจน์ คือ :-

ก. เอกพจน์ คือคำที่มีกำหนดสิ่งเดียว เช่น คนผู้หนึ่ง, สัตว์ตัวเดียว ของสิ่งเดียว เป็นต้น

ข. พหูพจน์ คือคำที่มีกำหนดมาก (ตั้งแต่สองชั้นไป) เช่นคนทั้งสอง สัตว์ทั้งหลาย, ของทั้งปวง เป็นต้น

ค. อพจน์ คือคำที่ไม่กำหนด หมายความว่าคำที่ไม่รู้กำหนด เช่น คน, สัตว์, สิ่งของ เป็นต้น ที่ไม่บอกกำหนดว่าเป็นสิ่งเดียวหรือหลายสิ่ง

(๔) การก แปลว่าผู้กระทำ หมายถึงนาม คำสรรพนามหรือกริยา สภาวมาลาที่ใช้แทนนาม ซึ่งทำหน้าที่ต่างๆ เช่น เป็นผู้ทำก็ดี, เป็นผู้ถูกทำก็ดี, เป็นเจ้าของ, หรือบอกอาการ, บอกสถานที่ เป็นต้น ก็ดี เหล่านี้ท่านเรียกว่า ทารก จำแนกเป็น ๕ การกด้วยกัน ดังนี้

ก. กรรตุการก คือคำที่ทำหน้าที่เป็นผู้กระทำ เช่นคำ “ตาสี, เขา” ในความต่อไปนี้ ‘ตาสีนอน, เขากินข้าว’ เป็นต้น และคำกรรตุการกนี้ทำหน้าที่ ๒ อย่าง คือ (ก) เป็นประธานของประโยค ได้แก่คำที่อยู่หน้าข้อความ เช่น ‘ตาสี’ และ ‘เขา’ ข้างบนนี้อย่างหนึ่ง และ (ข) ใช้เป็นคำช่วยกริยา ซึ่งเรียงไว้หลังประธาน หรือหลังคำ ‘ถูก’ เช่นคำ ‘ครู’ ในความต่อไปนี้ “ศิษย์นี้ ครู ตีสามหนแล้ว, ศิษย์นี่ถูก ครู ตี, หรือศิษย์นี้ถูก ครู ให้อ่านหนังสือ” เป็นต้น

ฃ. กรรมการก คือคำที่ทำหน้าที่เป็นผู้ถูกกระทำของสกรรมกริยา และ ทำหน้าที่ ๒ อย่าง คือ (ก) ทำหน้าที่เป็นผู้ถูกตามธรรมดา คือเรียงไว้หลังกริยา เช่น คำ ‘ข้าว’ ในความว่า ‘เขากิน ข้าว’ ข้างบนนี้อย่างหนึ่ง และ
(ข) ทำหน้าที่เป็นประธาน คืออยู่หน้าข้อความเช่น คำ ‘ศิษย์’ ในความต่อไปนี้ “ศิษย์ ถูกครูตี, ศิษย์ ถูกตี” เป็นต้น อีกอย่างหนึ่ง

ค. การิตการก คือคำที่ทำหน้าที่เป็นผู้รับใช้ ซึ่งมีในข้อความซึ่งเรียกว่า ประโยคการิต คือข้อความที่มีคำ ‘ให้’ นำหน้ากริยา (ซึ่งจะมีข้างหน้า) เช่น คำศิษย์’ ในความต่อไปนี้ “ครูยัง ศิษย์ ให้อ่านหนังสือ”,หรือ “ครูให้ศิษย์ อ่านหนังสือ” เป็นต้น ย่อมทำหน้าที่ ๒ อย่างเหมือนกัน คือ (ก) ทำหน้าที่การิตการกธรรมดา ซึ่งอยู่หลังบุพบท ‘ยัง’ หรืออยู่หลังกริยานุเคราะห์ ‘ให้’ อย่างข้อความข้างบนนี้อย่างหนึ่ง และ (ข) ทำหน้าที่ประธานคล้ายกรรมการก เช่นคำ ‘ศิษย์’ ในความต่อไปนี้ ‘ศิษย์ ถูกครูให้อ่านหนังสือ’ หรือ ‘ศิษย์ ถูกให้ อ่านหนังสือ’ เป็นต้น อีกอย่างหนึ่ง

ข้อสังเกต คำ ‘ศิษย์’ ในความข้างบนนี้เป็น การิตการก เพราะเป็นผู้รับใช้ให้ทำกริยา ‘อ่าน’ และคำ ‘หนังสือ’ เป็น กรรมการก เพราะเป็นผู้ถูก กริยาอ่าน

ฆ. วิเศษณการก คือคำนาม สรรพนาม หรือกริยาสภาวมาลาที่ประกอบ บททั้งหลายเพื่อทำหน้าที่ต่างๆ คล้ายคำวิเศษณ์ เช่น ‘เสื้อของฉัน’ คำ ‘ฉัน’ เป็นวิเศษณการก ประกอบเสื้อทำหน้าที่เป็นเจ้าของ ดังนี้เป็นต้น วิเศษณการก นี้มักมีบุพบทนำหน้าที่เรียกว่า บุพบทวลี เช่น ‘สู่ บ้าน, ที่ บ้าน, แต่ บ้าน’ คำ ‘บ้าน’ เป็นวิเศษณการก ทำหน้าที่บอกสถานที่ ‘เขามาเมื่อเช้า’ คำ ‘เช้า เป็นวิเศษณการกบอกเวลา ดังนี้เป็นต้น ที่ไม่ใช่บุพบทนำหน้าก็มี เช่น นอน, เตียง, นั่งเก้าอี้ ฯลฯ ดังนี้ คำ ‘เตียง’ และ ‘เก้าอี้’ ก็เป็นวิเศษณการกบอกสถานที่เช่นเดียวกัน

ง. วิกัติการก คือคำที่ทำหน้าที่ต่างหรือแทน หมายถึงคำที่ทำหน้าที่ แทนการกข้างหน้า เช่น คำ ‘อำเภอ’ ในความ ‘ตามี อำเภอ กินข้าว’ คำ อำเภอ’ ทำหน้าที่อย่างเดียวกับ ‘ตามี’ หมายความว่า ถึงไม่มีคำ ‘ตามี’ อยู่คำ ‘อำเภอ’ ก็ทำหน้าที่ต่างตามี ได้ความเท่ากัน ดังนั้น คำ ‘อำเภอ’จึงเป็น วิกัติการกของตามี  วิกัติการกนี้ มี ๒ อย่าง คือ  (ก) วิกัติการกที่ประกอบการกข้างหน้าได้ทุกชนิด และทำหน้าที่อย่างเดียวกันด้วย เช่น คำ ‘อำเภอ’ ในความต่อไปนี้ ‘ฉันเห็นตามี อำเภอ เสื้อของตามี อำเภอ เขาไปกับตามี อำเภอ’ เป็นต้นอย่างหนึ่งและ (ข) วิกัติการกที่ช่วยวิกตรรถกริยาให้ได้ความเต็ม เช่นคำ ‘อำเภอ’ ในความต่อไปนี้ ‘เขาเป็นอำเภอ เขาเท่ากับอำเภอ เขาคืออำเภอ’ ดังนี้ คำ ‘อำเภอ’ เป็นวิกัติการกช่วยกริยา ‘เป็น’ กริยา ‘เท่ากับ’ และ ‘คือ เป็นต้นอีกอย่างหนึ่ง

(๕) มาลา แปลว่าระเบียบ ในที่นี้หมายความถึงระเบียบของกริยา แสดงออกมาเป็นความหมายต่างๆ จัดเป็น ๕ มาลา คือ:-

ก. นิเทศมาลา คือระเบียบของกริยาที่มีเนื้อความบอกเล่า เช่นบทกริยา ในความต่อไปนี้ ‘เขา นอน แล้ว ฝน ตก มาก’ เป็นต้น

ข. ปริกัลปมาลา คือระเบียบกริยาที่บอกเนื้อความคาดคะเน หรือแบ่ง รับแบ่งสู้ เช่นบทกริยาในความต่อไปนี้ ‘เขา ชะรอยนอน หลับ ถ้า ฝน ตก ฉันจะกลับบ้าน’ เป็นต้น

ค. ศักดิมาลา คือระเบียบกริยาที่บอกเนื้อความเชื่อแน่ และบังคับ เช่น บทกริยาในความต่อไปนี้ ‘เขา ต้องนอน ฝน คงตก’ เป็นต้น

ฆ. อาณัติมาลา คือระเบียบกริยาที่บอกเนื้อความบังคับ หรืออ้อนวอน เช่นบทกริยาในความต่อไปนี้ ‘แก จงนอน ท่านโปรดช่วย ฉันด้วย’ เป็นต้น

ง. สภาวมาลา คือระเบียบกริยาธรรมดา หมายความถึงกริยากลาง ไม่ เป็นรูปประโยค ใช้พูดลอยๆ เช่น กล่าวว่า ‘ไปเที่ยว ดูละคร, เพื่อ นั่งเล่น, สำหรับชมเล่น’ เป็นต้น กริยาเหล่านี้ใช้เป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของประโยคได้ คล้ายคำนาม

(๖) กาล แปลว่าเวลา หมายความถึงคำกริยาที่ใช้ต่างกันตามกาลต่างๆ จัดเป็นกาลสามัญ ๔ อย่าง คือ:-

ก. ปรัตยุบันกาล คือเวลาเดี๋ยวนั้น หรือเวลาที่กำลังเป็นไปอยู่ เช่น
ตัวอย่าง ‘ เขา กำลังกิน ข้าว ’ เป็นต้น

ข. อดีตกาล คือเวลาล่วงแล้ว เช่น ‘เขา ได้กิน ข้าว’ เป็นต้น

ค. อนาคตกาล คือเวลาภายหน้า เช่น ‘เขา จักกิน ข้าว’ เป็นต้น

ฆ. อนุตกาล คือเวลาที่ไม่กล่าวแน่นอน คือกล่าวทั่วไป จะเป็นเวลาไรก็ได้ เช่น ‘คนกินข้าว’ เป็นต้น

กาลสามัญเหล่านี้ยังจัดออกเป็น “กาลสมบูรณ์” ซึ่งหมายถึงเวลาที่ทำการนั้นๆ เสร็จแล้ว อีก ๔ อย่าง คือ:-

ก. ปรัตยุบันกาลสมบูรณ์ เช่น ‘เขา กำลังกิน ข้าว แล้ว’ เป็นต้น

ข. อดีตกาลสมบูรณ์ เช่น ‘เขา ได้กิน ข้าว แล้ว’ เป็นต้น

ค. อนาคตกาลสมบูรณ์ เช่น ‘เขา จักกิน ข้าว แล้ว’ เป็นต้น

ฆ. อนุตกาลสมบูรณ์ เช่น ‘เขา กิน ข้าว แล้ว’ เป็นต้น
กาลทั้ง ๘ นี้ยังมีซ้อนกันได้อีก ซึ่งเรียกว่า ‘กาลซ้อน’ มีชื่อตามกาลที่ใช้ ซ้อนกัน เช่นตัวอย่าง กาลปรัตยุบัน ถ้าเอาไปใช้ในเวลาล่วงแล้ว ดังกล่าวว่า ‘วานนี้เขา กำลังกิน ข้าวอยู่’ เช่นนี้ก็เรียกว่า ‘ปรัตยุบันในอดีต’ คำใช้ในเวลาภายหน้า ดังกล่าวว่า ‘พรุ่งนี้เขา จักกำลังกิน ข้าว’ เช่นนี้เรียกว่า ‘ปรัตยุบันกาลในอนาคต’ เป็นต้น หรือถ้าเป็นกาลสมบูรณ์ ดังกล่าวว่า ‘วานนี้เขากำลังกินข้างแล้ว’ ก็เรียกว่า ‘ปรัตยุบันกาลสมบูรณ์ในอดีต’ เป็นต้น ให้เปลี่ยนชื่อตามเนื้อความที่ใช้ประกอบตามหลักข้างบนนี้

(๗) วาจก แปลว่าผู้บอก ในที่นี้หมายถึงกริยาที่บอกประธานว่าเป็น การกอะไร มีเป็น ๓ วาจก คือ:-

ก. กรรตุวาจก คือกริยาที่บอกว่าประธานเป็นการก หรือผู้กระทำ จัด เป็น ๒ พวก คือ (ก) กริยาที่บอกประธานเป็นกรรตุการกธรรมดา เช่น‘คน กิน ข้าว’ คำกริยา‘กิน’ เรียก ‘กรรตุการก’ ดังนี้เป็นต้น (ข) กริยาที่ บอกประธานเป็นผู้ใช้ เช่น ‘คนให้เด็กกินข้าว’ คำกริยา ‘ให้-กิน’ เรียก ชื่อว่า ‘กรรตุวาจก’ เหมือนกัน

ข. กรรมวาจก คือกริยาที่บอกประธานเป็นกรรมการก หรือผู้ถูกกระทำ จัดเป็น ๒ พวกเหมือนกัน คือ (ก) กริยาในประโยคกรรมที่บอกประธานเป็น กรรม ธรรมดา เช่น “ข้าว ถูก คน กิน” คำกริยา ‘ถูก-กิน’ เรียกว่า ‘กรรมวาจก’ เป็นต้น (ข) กริยาในประโยคการิตที่มีกรรมการกเป็นประธาน เช่น ‘หนังสือ ถูก ครู ให้ ศิษย์ อ่าน’ คำกริยา‘ถูก-ให้-อ่าน’ ก็เรียกว่า ‘กรรมวาจก’ เหมือนกันดังนี้เป็นต้น

ค. การิตวาจก คือ กริยาที่บอกประธานเป็นการิตการก หรือผู้รับใช้ เช่น “ศิษย์ ถูก ครู ให้อ่าน หนังสือ” คำกริยา ‘ถูก-ให้-อ่าน’ เรียกว่า ‘ การิตวาจก ’ เป็นต้น

(๘) ราชาศัพท์ แปลว่าศัพท์หลวง หมายความถึงคำที่ใช้เกี่ยวข้องกับ พระราชา ตลอดลงไปถึงชั้นขุนนาง ข้อนี้นับว่าเป็นระเบียบสำคัญ

วิธีใช้ถ้อยคำตามระเบียบเหล่านี้ ในภาษาบาลีและสันสกฤตใช้ เปลี่ยนแปลงส่วนท้ายของคำเป็นพื้น เช่น ‘ชโน’ เป็น กรรตุการก ‘ชนํ’ เป็น กรรมการก หรือ ‘โจโร’ เป็น ปุลลึงค์ และ ‘โจรี, เป็น สตรีลึงค์ ดังนี้เป็นต้น แต่ในภาษาไทยไม่เป็นเช่นนั้น มีที่สังเกตวิธีใช้เป็น ๔ อย่าง คือ:-

(๑) มีคำสำหรับใช้เฉพาะเป็นคำๆ วิธีใช้สำหรับลึงค์ เช่น ปุลลึงค์ ก็มีคำพวกหนึ่ง เช่น ปู่ ตา ลุง อ้าย เป็นต้น สตรีลึงค์ก็มีคำพวกหนึ่ง เช่น ย่า ยาย ป้า อี เป็นต้น วิธีนี้ในภาษาบาลีและสันสกฤตก็มีเหมือนกัน เช่น ปุลลึงค์-บิดา บุรุษ สามี เป็นต้น สตรีลึงค์-มารดา สตรี ภรรยา เป็นต้น

(๒) ใช้คำอื่นประกอบ วิธีนี้ใช้เป็นพื้นในภาษาไทย เช่น คำ ‘ลูก, เด็ก’ เป็นอลึงค์ เมื่ออยากจะให้เป็นลึงค์อะไรหรือพจน์อะไรเป็นต้น ก็เอาคำ อื่นประกอบเข้า เช่น ปุลลึงค์-ลูกชาย เด็กชาย สตรีลึงค์-ลูกสาว เด็กหญิง และเป็นเอกพจน์-ลูกคนเดียว เด็กนี้ พหูพจน์-ลูกมาก เด็กเหล่านั้น ดังนี้ เป็นต้น

(๓) ใช้เนื้อความของคำบ่ง คือใช้เนื้อความของคำนั้นๆ เป็นเครื่อง หมายบอกระเบียบต่างๆ เช่นลึงค์ พจน์ ฯลฯ เช่นตัวอย่าง ‘ไก่ไข่’ และ ‘คนพูดกัน’ ดังนี้ คำว่า ‘ไข่’ บ่งความบอกลึงค์ว่าเป็นไก่ตัวเมีย และคำ ‘กัน’ บ่งความพหูพจน์ว่า คนหลายคน ดังนี้เป็นต้น

(๔) ใช้เรียงลำดับคำ วิธีใช้สำหรับกรรตุการกและกรรมการก เพราะ  การกทั้ง ๒ นี้มีรูปเดียวกัน ต้องอาศัยวิธีเรียงลำดับเป็นที่สังเกตว่าเป็นการกอะไร เช่น กล่าวว่า ‘สัตว์ กิน คน’ ดังนี้ต้องเข้าใจว่า ‘สัตว์’ เป็นกรรตุการก และ ‘คน’ เป็นกรรมการก แต่ถ้าเรียงกลับกันเสีย เป็น ‘คนกินสัตว์, ดังนี้ การกก็ย่อมเปลี่ยนไปตรงกันข้ามตามลำดับที่เรียงไว้

ข้อสังเกต ตามนิยมในภาษาไทย ถ้ามีวิธีใดใน ๔ วิธีข้างบนนี้บอกให้รู้ว่า เป็น ลึงค์ พจน์ หรือระเบียบใดๆ อยู่แล้ว ก็ไม่ต้องใช้วิธีอื่นบอก ลึงค์ พจน์ หรือระเบียบนั้นๆ ให้ซ้ำกันอีก เช่น ตัวอย่าง ‘ไก่ไข่ คนพูดกัน’ ดังข้อ (๓) ข้างบนนี้ เนื้อความของคำ ‘ไข่’ และ ‘กัน’ บอกลึงค์และพจน์อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องหาคำอื่นประกอบบอกลึงค์ว่า ‘ไก่ ตัวเมีย ไข่’ หรือ ‘คน ทั้งหลาย พูดกัน’ ก็ได้ ถึงระเบียบอื่นๆ ก็เหมือนกัน เช่น “วานนี้ ฉันนอนวันยังค่ำ” ดังนี้ คำ ‘วานนี้’ บอกอดีตกาลอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องใช้ว่า ‘ได้ นอน’ เพื่อบอก อดีตกาลซ้ำเข้ามาอีก เป็นต้น เพราะฉะนั้นการใช้ถอยคำตามระเบียบทั้ง ๘ นั้น ให้สังเกตตามวิธีทั้ง ๔ ข้างต้นนี้ จะสังเกตแต่เพียงรูปของคำหรือคำประกอบเท่านั้นไม่พอ

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร