ความเป็นมาของรูปเคารพในศาสนาพราหมณ์

มรดกทางวัฒนธรรมของศาสนาพราหมณ์ในนครศรีธรรมราช
ในนครศรีธรรมราชได้มีการค้นพบมรดกทางวัฒน-ธรรมของศาสนาพราหมณ์อยู่ในหลายรูปแบบ เช่น ประติมากรรมรูปเคารพของศาสนาพราหมณ์ โบราณสถาน ศิลาจารึก และพิธีกรรมต่างๆ เป็นต้น ในที่นี้จะกล่าวถึงมรดกทางวัฒนธรรมของศาสนาพราหมณ์ในนครศรีธรรมราชโดย สังเขปดังนี้ คือ
ปฏิมากรรมรูปเคารพอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์
ความเป็นมาของปฏิมากรรมรูปเคารพของศาสนาพราหมณ์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ผาสุข อินทราวุธ ได้กล่าวถึงความเป็นมาของปฏิมากรรมรูปเคารพไว้อย่างละเอียด ในที่นี้จะสรุปมาลงไว้ดังนี้ คือ
นักปราชญ์หลายท่านมีความเห็นว่า ศิลปกรรมที่ผลิตขึ้นโดยมนุษย์ยุคแรกเริ่มนั้นจะเกี่ยวพันกับศาสนาเป็นส่วนใหญ่ และมีความเกี่ยวพันลึกซึ้งมากในกรณีของศิลปะอินเดีย เนื่องจากความเชื่อทางศาสนาฝังรากลึกเข้าไปในจิตใจประชาชนชาวอินเดีย ความเชื่อมั่นนั้นจึงสืบต่อไปยัง ศิลปกรรมของชาวอินเดียด้วย
ในประเทศอินเดียก่อนจะมีรูปเคารพนั้นได้มีการสร้างสัญลักษณ์ต่างๆ ขึ้นแทนรูปเคารพดังที่ปรากฏในศิลปกรรมทางพุทธศาสนาในยุคแรกๆ ที่สถูปที่ภารหุต และสาญจี ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่บรรจุพระอัฐิของพระพุทธเจ้า แต่ไม่ปรากฏว่ามีรูปปั้นของพระพุทธองค์อยู่เลย (พระพุทธรูปที่ปรากฏในปัจจุบันเป็นการนำมาต่อเติมขึ้นภายหลัง) กลับปรากฏเป็นภาพสลักเล่าเรื่อง และมีสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น สถูปแท่นมีฉัตร ปักอยู่ เป็นต้น สัญลักษณ์เหล่านี้เป็นตัวแทนของสิ่งต่างๆ เช่น ต้นไม้ที่มีรั้วรอบ มีแท่นที่ประทับรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าอยู่ใต้ต้นไม้ แท่นดังล่าวมักจะประดับตกแต่งด้วยพวงดอกไม้ และมีฉัตรปักอยู่เหนือแท่น แสดงว่าเป็นสัญลักษณ์ของพระศาสดาในพุทธศาสนา ส่วนภาพต้นไม้ที่ปราศจากเครื่องประกอบอันทรงเกียรติดังกล่าวและมีเพียงต้นไม้ธรรมดา แสดงว่าเป็นรุกขะ-เจติยะ หรือที่สิ่งสถิตย์ของรุกขเทวดา ส่วนภาพสถูปเป็นเนินดินหลุมศพย่อมเป็นสัญลักษณ์ของมหาปรินิพพานของพระพุทธองค์ (แต่เดิมเป็นสัญลักษณ์ของบรรดามหาบุรุษของอินเดีย) และภาพนาค ยักษา ยักษิณีและอื่นๆ ที่ปรากฏในภาพสลักนั้นแต่เดิมก็เป็นเทพที่เคารพบูชา ของประชาชนมาก่อน แต่ต่อมาเมื่อพุทธศาสนาเจริญเทพเหล่านั้นก็ลดฐานะลงมากลายเป็นบริวารของพระพุทธเจ้า ในยุคพระเวท (๑,๐๐๐ ปีก่อนพุทธกาล) ไม่ปรากฏว่ามีวัดหรืออาคารอันป็นที่สถิตของเทพเลย มีแต่กล่าวถึงไฟที่จุดในสภา แสดงว่ามีสภาที่ประดิษฐานกองไฟเพื่อประชาชน มาชุมนุมกันประกอบพิธีกรรมในบางโอกาสเท่านั้น ส่วนรูปปั้นนั้นไม่มีหลักฐานว่ามีการทำในยุคต้นๆ แต่ยุคหลังๆ มีบ้าง พิธีกรรมในศาสนาพระเวทส่วนใหญ่เป็นพิธีกรรมที่บ้านส่วนบุคคล ไม่ค่อยมีการประกอบที่สาธารณะ
ครั้นในยุคกาวยะ (๖๐๐ ปีก่อนคริสตกาลถึงคริสตศตวรรษที่ ๒) อันเป็นยุคที่มีวรรณกรรมที่จัดเป็นกาวยะหลายเรื่องด้วยกัน แต่ที่สำคัญ คือ รามายณะ และมหาภารตะนั้น ศาสนาพราหมณ์ เริ่มพัฒนาจากศาสนาพระเวทมาสู่ศาสนาพราหมณ์ยุคใหม่ คือ เป็นศาสนาที่ผสมผสานระหว่างศาสนาพระเวทและศาสนาของชาวท้องถิ่นเข้าด้วยกัน ในยุคนี้มีการทำรูปเคารพโดยเลียนแบบรูปมนุษย์ มีวัดสำหรับประดิษฐานรูปเคารพ ลัทธิศาสนาที่สำคัญในยุคนี้ คือ ลัทธิบูชานางทุรคา (เป็นต้นกำเนิดของลัทธิการบูชาศักติ และต่อมากลายเป็นชายาพระศิวะ คือ พระอุมา) ลัทธิบูชาปาศุปตะ (พระนามหนึ่งของพระศิวะ) และลัทธิบูชาวสุเทวะ-กฤษณะ (ต่อมากลายเป็นไวษณพนิกาย อันนับถือพระวิษณุเป็นเทพสูงสุด)
ในยุคปุราณะ และตันตระ (ยุคปุราณะ ราวคริสศตวรรษที่ ๒-๖ และยุคตันตระราวคริสศตวรรษที่ ๗-๑๒) วรรณกรรมในสมัยคุปตะอันเป็นยุคที่ศาสนาในยุคปุราณะ และตันตระเจริญนั้น ได้กล่าวถึงลัทธิต่างๆ ที่เจริญ ควบคู่กันไป คือ มีทั้งลัทธิการบูชาเทพยุคพระเวท เช่น พระอินทร์ และพระอัคนี เป็นต้น และมีการบูชาเทพในลัทธิศาสนาอื่นๆ เช่น การบูชาพระวิษณุ สุริย ศิวะ พุทธะ และชินะ เป็นต้น และยังกล่าวถึงการประกอบพิธีบูชาบรรดารูปเคารพดังกล่าวด้วย ดังนั้น ลัทธิต่างๆ ที่เจริญควบคู่กันในระยะนี้ คือ ลัทธิไวษณพนิกาย (ภควตา) ลัทธิบูชาพระอาทิตย์ (ได้รับอิทธิพลมาจากอิหร่าน) ลัทธิปาศุปตะ (ไศวนิกาย) ลัทธิศักติ (วิวัฒนาการจากการบูชาพระแม่ผู้ให้กำเนิด) ศาสนาชิน และพุทธศาสนา ในยุคตันตระ เน้นการบูชาเทพต่างๆ เช่น วิษณุ ศิวะ และพรหม เทพีได้รับยกย่องมีอำนาจเทียบเท่าเทพ มีลัทธิเป็นของตนเอง คือ ศักติ ซึ่งเป็นลัทธิที่นับถือเทพีว่าเป็นเทพเจ้าสูงสุด และมีการประกอบพิธีกรรมพิเศษแตกต่างไปจากยุคก่อนๆ ลัทธินี้เจริญมากในอินเดียในพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๘ นักปราชญ์ เห็นว่าลัทธินี้เก่าแก่มากนับถือกันมาตั้งแต่ยุคอารยธรรมลุ่มแม่นาสินธุ (ราว ๓,๐๐๐ ปีก่อนคริสตกาล) โดยสังเกตได้จากหลักฐานที่พบที่ประทับตรารูปคนนั่งขัดสมาธิ โยนิ และเครื่องรางของขลังต่างๆ ระยะแรกนับถือในกลุ่มคนน้อยๆ และมีพิธีกรรมลึกลับ แต่ต่อมาค่อยๆ ขยายออกไป ชาวฮินดูถือว่าสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของลัทธิตันตระมีอยู่ ๕๑ แห่ง เช่น บริเวณที่มีภูเขา หุบเขา ก้อนหิน บ่อน้ำ ที่มีรูปร่างคล้ายเครื่องเพศชาย หรือเครื่องเพศหญิง เป็นต้น ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๙ เป็นต้นมาจนปัจจุบันลัทธิตันตระมีอิทธิพลต่อศาสนาพราหมณ์ และพุทธศาสนามาก ทั้งในอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่รับอิทธิพลทางอารยธรรมจากอินเดีย บรรดารูปเคารพต่างๆ ในโบราณสถานของพราหมณ์ในยุคหลังๆ เกี่ยวพันกับหลักปฏิบัติของลัทธิ ตันตระเป็นส่วนมาก
จากหลักฐานทางโบราณคดี ปรากฏว่าศาสนาภควตา ซึ่งได้กลาย เป็นลัทธิไวษณพนิกายของศาสนาพราหมณ์ นั้น เป็นลัทธิแรกที่ได้นำเอาคติการบูชารูปเคารพมาให้ประชาชนวรรณะสูงผู้เคร่งครัดในศาสนาพราหมณ์ ตามคติความเชื่อในนิกายนี้เชื่อว่าพระเป็นเจ้าจะปรากฏกายลงมาให้มนุษย์เห็นในแบบต่างๆ กัน ดังนั้น เพื่อความสะดวกในการสักการะ บูชาซึ่งนิยมทำรูปแทนองค์เทพขึ้น จะเป็นรูปวาดหรือสลักขึ้นก็ได้ จารึกระบุว่าได้มีการสร้างวัดเป็นที่ประดิษฐานเทพเหล่านั้นนับตั้งแต่ก่อนคริสตกาล ในส่วนต่างๆ ของอินเดีย ตั้งแต่มถุราลงไป ถึงอินเดียตอนใต้แต่ รูปเคารพ ในระยะแรกๆ ไม่ค่อยพบอันอาจจะเป็นเพราะสร้างด้วยวัตถุไม่ถาวร ในตอนต้นคริสตกาลพบรูปเคารพที่สลักบนเหรียญ และที่ประทับตรา ส่วนใหญ่อยู่ในสมัยพระเจ้าหุวิษกะ แห่งราชวงศ์ กุษาณะ เป็นรูปพระวิษณุมี ๔ กร ถือ จักร สังฃ์ คทา และ รูปวงแหวน (แทนดอกบัว)
ที่มาโดย:ปรีชา  นุ่นสุข ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้ วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช