ปฐมกำเนิดของปรัชญาจีน

กระแสธารแห่งคติความคิดทางปรัชญาของจีนที่สำคัญสองสายคือ ปรัชญาเต๋าและปรัชญาขงจื๊อ ที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่หกก่อนคริสต์ศักราช  โดยการสอนของเล่าจื๊อและขงจื๊อตามลำดับ  แต่ถึงแม้ว่าปรัชญาทั้งสองจะมีความสำคัญและมีปฐมกำเนิดก่อนปรัชญาอื่น แต่ปรัชญาทั้งสองก็หาเป็นตัวแทนของปรัชญาดั้งเดิมของปรัชญาจีนไม่ เพราะเราทราบว่าทั้งขงจื๊อ และเล่าจื๊อได้ศึกษาและนำเอาปรัชญาที่มีมาก่อนหน้าสมัยของเขามาใช้ในคำสอนของปรัชญาของตน

ในบรรดางานทางปรัชญาของสมัยโบราณที่สำคัญนั้น สิ่งที่ถือกันว่าเป็นบ่อเกิดของปรัชญาจีนนั้นคือ ความคิดเรื่อง ปา กว้า (Pa Kua) หรือเส้นตรงสามเส้นแปดชนิด (Eight Trigrams) ประกอบด้วยเส้นตรงสามเส้น จัดเข้ากันเป็นกลุ่มมีจำนวนแปดกลุ่ม แล้ววางเรียงกันเป็นวงกลม  สันนิษฐานกันว่าคติความคิดเรื่อง ปา กว้า นี้ วิวัฒนาการขึ้นมาจากรอยแตกบนกระดองเต่า ซึ่งพระเจ้า ฝูซี (Fu His) ซึ่งเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์พระองค์หนึ่ง ในสมัยปรัมปราเป็นผู้คิดขึ้น เส้นตรงสามเส้นนั้นมีลักษณะสองแบบ คือเป็นแบบเส้นตรงติดต่อกันไม่มีรอยแยก (——-) แบบหนึ่ง เรียกว่า หยัง เหย่า (Yang-Yao) เป็นสัญลักษณ์ของเพศชายหรือฝ่ายบวก เส้นตรงอีกแบบหนึ่งเป็นเส้นตรงมีรอยแยกตรงกลางเส้น (- -) ยิน เหย่า (Yin-Yao) เป็นสัญลักษณ์ของเพศหญิง หรือฝ่ายลบ ตามตำนานเล่าว่าพระเจ้าเหวิน (King Wen) ผู้สถาปนาราชวงศ์โจว (Chou) และพระมหาอุปราชแห่งแคว้นโจว (the Duke of Chou) เป็นผู้จัดรวบรวมเส้นตรงสามเส้นแปดกลุ่มนี้ให้เป็นระบบแห่งความคิดขึ้นมา ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาความคิดเรื่องปา กว้า นี้จึงกลายเป็นพื้นฐานของวิชาอภิปรัชญาและวิชาไสยศาสตร์ ตามที่มีบันทึกอยู่ในหนังสือ ยิ จิง (Yi Ching) หรือบทนิพนธ์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลง (Book of changes)

เส้นตรงสามเส้นแปดกลุ่มนี้ เป็นสัญลักษณ์ของธาตุหลัก หรือองค์ประกอบอันสำคัญของโลกจักรวาลแปดอย่าง ได้แก่ สวรรค์ ดิน ฟ้าร้อง น้ำ ภูเขา ลม ไฟ และหนองบึง ซึ่งมีลักษณะด้านนามธรรมของธาตุทั้งแปดนั้นประกอบอยู่ด้วยธาตุแต่ละธาตุด้วย ต่อมา เส้นตรงสามเส้นแปดกลุ่มนี้ ถูกนำมาผสมกันเป็น เส้นตรงหกเส้นหกสิบสี่กลุ่ม แต่ละกลุ่มสมมติว่าเป็นสัญลักษณ์ของปรากฏการณ์ของโลกจักรวาลอย่างหนึ่งๆ ทั้งที่เป็นปรากฎการณ์ของธรรมชาติและของมนุษย์ เส้นตรงหกเส้นหกสิบสี่กลุ่ม (Sixty-four Hexatrams) นี้สมมติกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่บังเกิดขึ้นในโลกจักรวาลนี้ทั้งหมด

ความสำคัญของสัญลักษณ์ของเส้นตรงดังกล่าวนี้  ไม่ได้เป็นการกล่าวที่เกิดความเป็นจริงเลย ก่อนสมัยของขงจื๊อ มีคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์บันทึกเรื่องสัญลักษณ์นี้ไว้ คัมภีร์นี้มีชื่อว่า ยิ (Yi) ใช้สำหรับการพยากรณ์และอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ของธรรมชาติ ตลอดทั้งความยุ่งยากซับซ้อนทั้งหลายในกิจการต่างๆ ๆ ของมนุษย์ ต่อมาภายหลัง สานุศิษย์ของปรัชญาขงจื๊อและปรัชญาเต๋า ได้ใช้คัมภีร์ ยิ นี้ เป็นเครื่องมืออธิบายคติความคิดทางปรัชญาของตน คัมภีร์ ยิ จิง นี้ยังเป็นประดุจสะพานที่เชื่อมโยงคำสอนที่แตกต่างกันของปรัชญาเต๋า และปรัชญาขงจื๊อ

หนังสือหรือคัมภีร์เก่าแก่ที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากอีกเล่มหนึ่ง คือ คัมภีร์ ซู จิง (Shu Ching) หรือ คัมภีร์แห่งประวัติศาสตร์ (Book of History) เอกสารต่างๆ ที่ประกอบเป็นคัมภีร์เล่มนี้ตั้งแต่เริ่มแรกเป็นเอกสารทั้งหมดมีจำนวนหนึ่งร้อยเรื่อง ควบคุมระยะเวลานานถึงสิบหกศตวรรษ คือตั้งแต่ 2400 ถึง 800 ปีก่อน ค.ศ. คัมภีร์นี้นับเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่ดีที่สุดเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน ในการศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และคติความคิดต่างๆ ของจีนในสมัยโบราณ

ข้อสังเกตอันหนึ่งที่ควรจะกล่าวถึงเกี่ยวกับปฐมกำเนิดของปรัชญาจีน นอกเหนือไปจากภาวการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญดังกล่าวแล้ว ปรัชญาตะวันตกนั้นโดยทั่วไปแล้วเป็นผลผลิตของกรีกในศตวรรษที่หกก่อนคริสตศักราช ในสมัยก่อนหน้านั้นพวกกรีกที่อยู่บนทวีปใหญ่ ได้อพยพลงมาอยู่ในเกาะต่างๆ รอบบริเวณนั้น ที่อยู่ในทะเลอีเจียน (Aegian) ไปจนถึง ซิชิลี อิตาลีตอนใต้ เอเชียไมเนอร์ พูดให้สั้นก็คือ ไปอยู่ทั่วโลกที่รู้จักกันในสมัยนั้นทั้งหมด สภาพเช่นนี้เป็นธรรมดาอยู่เองย่อมก่อให้เกิดความอยากรู้เกี่ยวกับโลก และบทบาทของมนุษย์ผู้อยู่ในโลกจึงเกิดเป็นการเสาะแสวงหาข้อเท็จจริง  และกฎเกณฑ์ต่างๆ ของธรรมชาติขึ้น การเสาะแสวงหาความรู้แบบนี้นำไปสู่ความสัมพันธ์ของปรัชญากับวิทยาศาสตร์ ซึ่งทำให้นักปรัชญาของกรีกในสมัยนั้นต้องเป็นบุคคลที่สนใจในวิทยาศาสตร์ไปด้วยในขณะเดียวกัน เช่นไพทากอรัส เปลโต และอริสโตเติล เป็นต้น

แต่สภาพการณ์ในประเทศจีนในสมัยโบราณนั้นแตกต่างไปจากกรีก ประเทศจีนสมัยนั้นตั้งอยู่ในตอนกลางของดินแดนผืนใหญ่ของเอเซียตะวันออก ครอบครองอาณาจักรอันกว้างใหญ่ ซึ่งไม่ทำให้เกิดความจำเป็นอันใดที่จะต้องค้นหาผืนแผ่นดินนอกอาณาจักรของตน  ฉะนั้นจึงไม่เป็นการแปลกที่คนจีนจะเห็นว่า โลกของมนุษย์นั้นไม่มีความสำคัญสำหรับคนจีนสมัยนั้นยิ่งกว่าโลกของธรรมชาติ คติความคิดต่างๆ ของคนจีนจึงมุ่งไปที่ปัญหาของการเมือง แทนที่จะมุ่งไปสู่ปัญหาของวิทยาศาสตร์ ผลก็คือว่าในขณะที่นักปราชญ์ของกรีกเป็นนักวิทยาศาสตร์ และนักปรัชญานั้น นักปราชญ์ของจีนเป็นนักทฤษฎีการเมืองและนักปรัชญา ความสนใจในเรื่องสถาบันทางสังคมและทางการเมือง ตามที่เริ่มมีขึ้นตั้งแต่กษัตริย์ผู้เป็นปราชญ์ตั้งแต่สมัยบุรพกาลโน้น  ถึงแม้ว่าจะไม่ได้สร้างสรรค์เป็นระบบของปรัชญาที่เหมาะสม แต่ก็ได้ประกอบกันเป็นสาระสำคัญของคัมภีร์ ซู จิง (Shu Ching) หรือคัมภีร์แห่งประวัติศาสตร์ ความสนใจในแขนงการเมืองและสังคมนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นอันแท้จริงของปรัชญาจีน

ปรัชญาจีนในยุคสมัยมาตรฐาน (The Classical Age)
สมัยราชวงศ์ โจว (The Dhou Period) ระยะเวลาระหว่าง 1122-256 ก่อน ค.ศ. นั้น นักประวัติศาสตร์แห่งวัฒนธรรมจีนถือกันว่าเป็นยุคสมัยแห่งมาตรฐาน (Classical Age) ถ้าจะเปรียบเทียบกับกรีกก็คือ สมัยทองของกรีก เพราะว่ามีลักษณะคล้ายกับวัฒนธรรมของกรีก คือเป็นสมัยที่ได้สร้างมาตรฐานทางวัฒนธรรมขึ้นไว้ในสังคม ปรัชญาจีนในสมัยหลังจากนั้นเป็นต้นมา ต่างถือเอาคำสอนของนักปรัชญาในสมัยราชวงศ์โจวเป็นหลักทั้งสิ้น

ประมาณปี 900 ก่อน ค.ศ. อาณาจักรศักดินาของราชวงศ์โจว เริ่มแสดงอาการของความเสื่อมโทรม  เจ้าผู้ครองนครของแคว้นเล็กแคว้นน้อยทั้งหลายเริ่มมีอำนาจแข็งขึ้น และทำการรบพุ่งต่อสู้กันเอง ทำให้แคว้นที่มีกำลังอ่อนเสื่อมอำนาจสูญสิ้นไปเป็นจำนวนมาก แคว้นที่เหลือคือแคว้นที่มีกำลัง แคว้นเหล่านี้ก็เริ่มแสดงอำนาจแข็งกระด้างต่ออาณาจักรราชวงศ์โจว ด้วยการยุยงเจ้าผู้ครองแคว้นต่างๆ ที่มีอำนาจขึ้นมานี้ ถึงแม้จะไม่เป็นในลักษณะที่ช่วยเหลืออย่างเปิดเผยก็ตามทำให้เผ่าคนป่าจากทิศตะวันตกของประเทศจีน ซึ่งมีวัฒนธรรมยังไม่เจริญ ยกพวกลงมาโจมตีแคว้นโจวบุกรุกเข้าอาณาจักรของราชวงศ์ โจว ซึ่งปัจจุบันนี้คือ มณฑลชานสี (Shansi) ใกล้กับเมืองซีอาน (Sian) ประมาณปี 771 ก่อน ค.ศ. ราชวงศ์โจวได้ย้ายเมืองหลวงไปทางทิศตะวันออกของเมืองโล้หยี (Loyi) ปัจจุบันคือเมืองโล้หยัง (Loyang) อยู่ในแคว้นโฮหนัน (Honan) นับตั้งแต่นั้นมาราชวงศ์นี้จึงมีชื่อเรียกว่า ราชวงศ์โจวตะวันออก หลังจากนั้นก็ถึง ยุคสมัยชุนชิว (Ch’un Ch’in) หรือสมัยฤดูใบไม้ผลิ และฤดูใบไม้ร่วง ระหว่างปี 722-481 ก่อน ค.ศ. หลังจากนั้นก็เป็น ยุคสมัย จั้นกว๋อง (Chan-Kuo) หรือยุคแห่งการสงครามระหว่างแคว้นต่างๆ ระหว่างปี 480-222 ก่อน ค.ศ. ซึ่งเป็นสมัยที่แคว้นต่างๆ มีบทบาทและอำนาจมากขึ้น ส่วนประเจ้าเหนือหัวของราชวงศ์โจวนั้นเสื่อมอำนาจลงมีฐานะเป็นแต่เพียงในนามเท่านั้นเอง

ในสมัยจั้นกว๋อนี้ เป็นสมัยที่เต็มไปด้วยการเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงทั้งในด้านการเมืองการสังคม และสติปัญญา เป็นช่วงสมัยที่สถาบันเก่าๆ และขนบธรรมเนียมเก่าๆ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างแหลกลาน สภาพการณ์ของยุคสมัยนี้เลวร้ายอย่างที่สุด จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์การขัดแย้งขึ้นอย่างมากมาย ทำให้เกิดเป็นสำนักคิดทางปรัชญาขึ้นเป็นจำนวนมาก การอุบัติขึ้นของปรากฏการณ์ แห่งการวิพากษ์วิจารณ์อันนี้ของชาวจีนนั้น คือการตื่นตัวของสิ่งที่ทวีปยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่สิบแปดเรียกกันว่า วิญญาณแห่งสมัยใหม่ วิญญาณแห่งเสรีภาพนิยม วิญญาณแห่งการแสวงหาความจริง วิญญาณแห่งสมัยใหม่ของจีนเป็นตัวผลักดันให้เกิดความคิดความเห็นต่างๆ ขึ้น แพร่หลายไปอย่างมากมาย จิตใจของคนจีนซึ่งแต่ก่อนนั้นเคยอยู่แต่ในกรอบของประเพณี ดูเหมือนจะระเบิดพลุ่งออกมาจากขอบเขตที่คุมขังขึ้นโดยฉับพลัน  ก่อให้เกิดเป็นความโกลาหลวุ่นวายในอิสรภาพใหม่ของตน คนจีนเริ่มมองสิ่งต่างๆ ใหม่ในแง่มุมใหม่ตามที่ตนต้องการ และแสวงหาความคิดใหม่ตามที่ตนชอบ ความอิสรภาพอันนี้แหละที่เป็นผลทำให้เกิดความเคลื่อนไหวในทางสติปัญญาอย่างใหญ่หลวง ชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของจีน

ยุคสมัยนับตั้งแต่ศตวรรษที่หก ตลอดไปจนถึงศตวรรษที่สามก่อนคริสตศักราชนั้น เป็นยุคสมัยที่ปรัชญาจีนในสมัยโบราณกำลังเบ่งบาน ก่อให้เกิดสำนักคิดทางปรัชญาขึ้นเป็นจำนวนมาก เรียกกันว่า สมัยปรัชญาร้อนสำนัก ในบรรดาปรัชญาร้อยสำนักนี้มีปรัชญาขงจื๊อ และปรัชญาเต๋าเป็นสำนักปรัชญาที่สำคัญยิ่ง ปรัชญาร้อยสำนัก (Hundred school) โดยทั่วไปแล้วจัดจำแนกออกเป็นสำนักปรัชญากลุ่มใหญ่ๆ ได้หกกลุ่ม คือ
1. เต้า เจีย (Tao Chia) หรือ ปรัชญาเต๋า
2. หยู เจีย (Ju Chia) หรือ ปรัชญาแห่งผู้มีความรู้ (School of Literati) หรือ ปรัชญาขงจื๊อ
3. ม่อ เจีย (Mo Chia) หรือ ปรัชญามอจื๊อ
4. ฝ่า เจีย (Fa Chia) หรือ ปรัชญานิติธรรม (Legalism)
5. ยิน-หยัง เจีย (Yin-Yang Chai) หรือ ปรัชญา ยิน-หยัง ปรัชญาไสยศาสตร์
6. หมิง เจีย (Ming Chia) หรือ ปรัชญาแห่งชื่อ (Names) หรือปรัชญาแห่งวาทศาสตร์ (Sophism)

ในบรรดาปรัชญาหกสำนักใหญ่นี้ เฉพาะสี่สำนักใหญ่แรกเท่านั้นที่มีผลงานสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนปรัชญา ยิน-หยัง และปรัชญาหมิงเจีย นั้น ไม่อาจอ้างเอาว่ามีผลงานสืบมาถึงทุกวันนี้ ถึงแม้ว่าปรัชญาทั้งสองนี้จะได้ทำประโยชน์แก่การค้นคว้าและการค้นพบความรู้ในทางวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมากก็ตาม

ปรัชญา ยิน-หยัง นั้นแตกหน่อออกมาจากปรัชญาเต๋า มีความเชื่อในภาวะของ ยิน หรือ สตรีเพศ และภาวะของ หยัง หรือบุรุษเพทศ ว่าเป็นหลักสองประการของจักรวาล ปฏิกิริยาต่อกันและกันของหลัก ยินและหยัง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายทั้งปวงขึ้นในสากลจักรวาล ปรัชญานี้บางทีก็เรียกกันว่า ปรัชญาหวู่สิง (Wu Hsing) หรือ ปรัชญาแห่งธาตุทั้งห้า เพราะว่าปรัชญานี้มีทฤษฎีว่า ยุคหนึ่งๆ ของประวัติศาสตร์นั้นจะมีธาตุใดธาตุหนึ่งของธาตุทั้งห้านี้เป็นสิ่งที่ให้อิทธิพลครอบงำอยู่ ธาตุทั้งห้านี้คือ ดิน ไม้ โลหะ ไฟ และน้ำ งานนิพนธ์ทั้งหลายของปรัชญาสำนักนี้ศูนย์หายไปหมด ต่อมาภายหลังปรัชญานี้ได้มามีความสัมพันธ์กับไสยศาสตร์ เวทย์มนตร์ คาถา จึงไม่อาจพัฒนาขึ้นเป็นระบอบความคิดที่เป็นปรัชญาอันอิสระได้ ส่วนปรัชญาแห่งวาทศาสตร์นั้น วิวัฒนาการขึ้นมาจากปรัชญาม่อจื๊อ สมาชิกของปรัชญาสำนักนี้เป็นนักพูดและนักโต้วาที พวกนี้เป็นนักการเมือง มีความชำนาญในศิลปะของการพูด แต่ไม่อาจอ้างตนเองว่าเป็นนักปรัชญาได้

ฉะนั้น ในแง่ของความสำคัญที่มีต่อวิถีชีวิตของชาวจีนแล้ว สำนักคิดที่สำคัญสี่สำนักนี้ ประกอบกันเป็นอาณาจักรของปรัชญาจีน คือ ปรัชญาขงจื๊อ ปรัชญาเต๋า ปรัชญาม่อจื๊อ และปรัชญานิติธรรมหรือฝ่าเจีย ปรัชญาทั้งสี่สำนักนี้มีนักปรัชญาแปดท่านของยุคสมัยแห่งราชวงศ์โจวเป็นตัวแทนที่สำคัญ หรือ เป็นอาจารย์เจ้าลัทธิ นักปรัชญาแปดท่านนี้คือ เล่าจื๊อ ขงจื๊อ ม่อจื๊อ หยางจื๊อ เม่งจื๊อ จวงจื๊อ ซุ่นจื๊อ และ ฮั่นเฟยจื๊อ นักปรัชญาทั้งแปดนี้ แต่ละท่านนั้นเราอาจถือเอาได้ว่า คติความคิดต่างๆ ของท่านคือปฏิกริยาที่แสดงต่อปัญหาและความทุกข์ยากที่มีอยู่ในยุคสมัยของท่านนั้นเอง

เล่าจื๊อ  และสานุศิษย์ของเล่าจื๊อ มีความเห็นว่า ความโกลาหลวุ่นวายที่เกิดขึ้นในยุคของเขานั้นเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่า มีบางสิ่งบางอย่างที่ผิดพลาดจนถึงรากถึงแก่น อยู่ในเนื้อแท้ และโครงสร้างของสังคมและวัฒนธรรมของยุคนั้น มนุษย์ได้เคยมีดินแดนสวรรค์มาแล้ว แต่บัดนี้เขาได้สูญสิ้นดินแดนสวรรค์นั้นไปสิ้น ทั้งนี้เพราะความผิดพลาดบกพร่องของมนุษย์เอง อันประกอบด้วยการที่มนุษย์พยายามจะสร้างอารยธรรมจอมปลอมขึ้นมาเป็นประการสำคัญ  ด้วยเหตุนี้หนทางแก้ไขทางเดียวที่มีอยู่ก็คือการถอนตนออกจากสิ่งที่เรียกว่าเป็นอารยธรรมอยู่ในขณะนี้ แล้วกลับคืนไปสู่ยุคสมัยแห่งบุรพกาล-กล่าวคือ ถอนตัวออกจากสภาพแห่งวัฒนธรรมไปสู่สภาพแห่งธรรมชาติ ทรรศนะปรัชญาลักษณะธรรมชาตินิยมนี้คือ หัวใจของปรัชญาเต๋า

ถึงแม้ว่า สานุศิษย์ของปรัชญาเต๋าจะมีความเห็นในหลักการสำคัญว่า อุดมคตินั้นคือการถอนตนกลับเข้าไปสู่ธรรมชาติเหมือนกันก็ตาม แต่ในการแปลความหมายของความคิดอันเป็นหัวใจของปรัชญาคือ เต๋านั้น ได้แตกต่างกันออกไปเป็นสองทรรศนะ เต๋านั้น เล่าจื๊อถือว่าเป็นพลังสร้างสรรค์ของโลกจักรวาลทรรศนะที่หนึ่ง มี จวงจื๊อ เป็นเจ้าของทรรศนะ ท่านผู้นี้ถือว่า เต๋านั้น คือ ภาวะที่เป็นไปเองตามธรรมชาติอย่างบริสุทธิ์บริบูรณ์ยิ่งของสรรพสิ่งทั้งปวงในสากลจักรวาล เป็นพลังหรือความคิดที่ปล่อยให้ทุกสิ่งทุกอย่างพัฒนาไปด้วยตัวของมันเองตามธรรมชาติ ตามลักษณะอันแท้จริงของมัน ทรรศนะนี้อาจจัดว่าเป็นปรัชญาเต๋าในรูปแบบของจิตนิยม (idealism) หรือจินตนาการ อิสรนิยม (romanticism)

อีกทรรศนะหนึ่ง มี หยางจื๊อ เป็นเจ้าของทรรศนะ ท่านผู้นี้คิดว่า เต๋านั้นเป็นพลังทางธรรมชาติที่มืดบอดที่ก่อกำเนิดโลกขึ้นมาโดยไม่มีความมุ่งหมายหรือเจตน์จำนงอันใด แต่โลกเกิดขึ้นมาเพราะโดยธรรมชาติของมันหรือโดยเหตุบังเอิญเท่านั้น ทรรศนะนี้อาจจัดว่าเป็นปรัชญาเต๋าในรูปแบบของปรัชญาสสารนิยม (materialism) หรือ ปรัชญาสุขสำราญนิยม (hedonism)

ปฏิกิริยาทางความคิดอีกอันหนึ่ง ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นปฏิกิริยาที่มีอิทธิพลอย่างที่สุด ที่มีต่อความปั่นป่วนระส่ำระสายของยุคสมัยนั้น คือ ปรัชญาของขงจื๊อ และสานุศิษย์ของขงจื๊อ ตรงกันข้ามกับทรรศนะของปรัชญาเต๋า ปรัชญาขงจื๊อไม่ได้สอนเรื่องการถอนตนออกจากวัฒนธรรมแล้วกลับไปสู่ธรรมชาติ แต่สอนให้กลับคืนไปสู่วัฒนธรรมขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีที่มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยที่มีอยู่ในสมัยต้นของราชวงศ์โจว ความสำเร็จของขงจื๊อ อยู่ในแนวทางของทรรศนะนี้ ขงจื๊อเป็นบุคคลที่ถ่ายทอดวัฒนธรรมอันดีงามของจีนในสมัยโบราณมาสู่บุคคลร่วมยุคสมัยเดียวกับตน และคนชั้นรุ่นหลังสืบต่อมา เขาเปลี่ยนแปลงจารีตประเพณีของศักดินามาเป็นระบบจริยธรรม ปรัชญามนุษยธรรมของขงจื๊อมีลักษณะขัดแย้งกันอย่างเด่นชัดกับปรัชญาธรรมชาตินิยมของเล่าจื๊อ ขงจื๊ออุทิศชีวิตของตนให้แก่การสร้างสังคมที่มีระเบียบที่มีอุดมคติ โดยมีการเน้นความสำคัญของความสัมพันธ์อันเหมาะสมของบุคคลผู้มีวัฒนธรรมอันดีงาม

อิทธิพลของปรัชญาขงจื๊อที่มีอยู่เหนือประชาชนชาวจีนมาตลอดเวลากว่ายี่สิบห้าศตวรรษนั้น สืบเนื่องมาแต่อัฉริยภาพ ส่วนบุคคลของนักปราชญ์อมตะ คือ ขงจื๊อเป็นประการสำคัญ ขงจื๊อได้วางพื้นฐานทางปรัชญาให้แก่ เม่งจื๊อ และ ซุ่นจื๊อ เพื่อสถาปนาวิหารอันมโหฬารที่ทำให้สติปัญญาและวัฒนธรรมของชาวจีน เจริญงอกงามได้อย่างเต็มที่นับตั้งแต่สมัยนั้นเป็นต้นมา เม่งจื๊อนั้นคือบุคคลสำคัญที่เป็นผู้พิทักษ์รักษาปรัชญาขงจื๊อไว้ เพราะว่าในยุคสมัยที่มีแต่อนาธิปไตยทางสติปัญญา และความคิดเห็นที่นอกรีตนอกรอยนานาประการนั้น เม่งจื๊อเป็นผู้ที่ปกป้องปรัชญาขงจื๊อไว้ด้วยความเข้มแข็ง และกล้าหาญ ทำให้ปรัชญาขงจื๊อคงความเป็นเลิศของตนไว้ได้ ยิ่งกว่านั้น เม่งจื๊อยังเป็นผู้ที่ได้ขยายความคิดของปรัชญาขงจื๊อไปในทางที่มีความสำคัญอย่างยิ่งอีกด้วย

ส่วน ซุ่นจื๊อ นั้น แม้จะยึดหลักปรัชญาขงจื๊ออย่างมั่นคงก็มีทรรศนะที่ขัดแย้งกันกับเม่งจื๊อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรรศนะที่เกี่ยวกับทฤษฎีของธรรมชาติของมนุษย์ เม่งจื๊อนั้นเป็นนักอุดมคติมีศรัทธาอย่างสูงส่งว่ามนุษย์นั้นมีความดีงามเป็นธรรมชาติของตน ส่วนซุ่นจื๊อนั้นมีศรัทธาในธรรมชาติอันดีงามของมนุษย์น้อยมาก ผลของทรรศนะนี้ทำให้เขาหันไปยกย่องคุณค่าของหน้าที่และสิทธิพิเศษของรัฐ ทรรศนะของเขาเป็นทรรศนะที่นำทางทรรศนะของนักคิดผู้ยิ่งใหญ่ในสำนัก ปรัชญานิติธรรม ของศตวรรษที่สามก่อน ค.ศ. สองท่านนักคิดสองท่านแห่งปรัชญานิติธรรมนั้นคือ ฮั่น เฟย จื๊อ และ หลี ซู่ (Li Ssu) บุคคลทั้งสองนี้ แม้ว่าจะเป็นนักปรัชญาในสำนักนิติธรรม แต่ในสาระสำคัญแล้ว ท่านก็เป็นสานุศิษย์ของบรมครูขงจื๊ออยู่ ซุ่นจื๊อนั้นอาจจะประเมินลักษณะได้อย่างดีว่าเป็นบุคคลที่สามารถสรุปปรับญาของขงจื๊อแล้วถ่ายทอดมาสู่คนรุ่นหลังต่อไป

ปฏิกิริยาทางความคิดอันที่สามของสมัยนั้น คือ ปรัชญาของม่อจื๊อ และสานุศิษย์ของม่อจื๊อ ม่อจื๊อเป็นบุคคลที่มาจากกลุ่มชนชั้นต่ำของสังคม ม่อจื๊อสอนปรัชญาแห่งชีวิตที่ตรงตามความปรารถนาของสามัญชน ฉะนั้นทรรศนะของเขาจึงขัดแย้งกับทรรศนะของคนชั้นสูงของขงจื๊อและของเล่าจื๊อ ขณะที่เล่าจื๊อและขงจื๊อ มองย้อนหลังไปสู่อดีต-เล่าจื๊อเป็นผู้รื้อทิ้ง ซึ่งอารยธรรมที่มีมาแต่เดิม ขงจื๊อเป็นผู้พิทักษ์รักษาวัฒนธรรมราชวงค์โจวนั้น-ม่อจื๊อถือเอาทรรศนะปรัชญาที่มุ่งประโยชน์ โดยการแสวงหาความสุขจากอนาคตที่ให้ความหวังที่ดีงามแก่ชีวิต  โดยสร้างโลกนี้ให้ดีกว่าเดิมให้แตกต่างไปกว่าเดิม

นอกจากปฏิกิริยาทางความคิดที่สำคัญของสำนักปรัชญาทั้งสามนี้แล้ว ก็ยังมีนักปรัชญากลุ่มนิติธรรม ซึ่งได้กล่าวถึงแล้ว ที่ได้สร้างอิทธิพลขึ้นในศตวรรษที่สามก่อน ค.ศ. อันเป็นสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงจากราชวงศ์โจว ไปสู่ราชวงศ์ จิ๋น (Ch’in) ฮั่น เฟย จื๊อ (มรณะในปี 223 ก่อน ค.ศ.) เป็นนักคิดคนสำคัญของปรัชญานี้ และท่านเป็นเชื้อสายของเจ้านายราชวงศ์ฮั่น (Han) คติปรัชญาของท่านเกิดขึ้นจากคำสอนต่างๆ ที่มีอยู่แล้วในสมัยนั้น คือจากความคิดเรื่อง ซี่ (Shih) หรือ อำนาจของนักปรัชญาชื่อเชน เต๋า (Shen Tao) ความคิดเรื่องซู่ (shuh) หรือ รัฐศาสตร์ของนักปรัชญาชื่อ เซน ปู ไฮ (Shen Pu-hai) และความคิดเรื่องฝ่า (Fa) หรือกฎหมายของนักปรัชญาชื่อ ซ้อง หยาง (Shang Yang) ฮั่น เฟย จื๊อ ยังได้นำเอาทฤษฎีเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ของซุ่นจื๊อ มาสนับสนุนข้อโต้แย้งของตนว่า การมีกฎหมายนั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการผดุงรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง นักปรัชญากลุ่มนิติธรรมซึ่งมี ฮั่น เฟย จื๊อ เป็นเจ้าของทรรศนะนั้น สนับสนุนให้มีการปกครองที่มั่นคง แบบใช้อำนาจ แม้กระทั่งถึงอำนาจเผด็จการ และสนับสนุนให้มีการใช้กฎหมายอันเฉียบขาด เพื่อเป็นกรอบของการรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม ฉะนั้นปรัชญาของ ฮั่น เฟย จื๊อ จึงขัดแย้งกับปรัชญาของขงจื๊อโดยเฉพาะ และขัดแย้งกับปรัชญาอื่นๆ โดยทั่วไป ที่ย้ำความสำคัญของเกียรติศักดิ์ของปัจเจกชน และอัจฉริยภาพส่วนบุคคลของผู้ปกครองบ้านเมือง

ความขัดแย้งของปรัชญา ฮั่น เฟย จื๊อ กับปรัชญาอื่นๆ นั้น ได้นำไปสู่พระปกาศิตอันสำคัญแห่งปี 213 ก่อน ค.ศ.ของพระเจ้าจักรพรรดิ์จิ๋น ซี ฮ่องเต้ (Ch’in Shih Huang ti) อันสืบเนื่องมาจากคำปรึกษาที่เสนาบดียุติธรรมของพระองค์ คือ หลี ซู่ เป็นผู้ถวายให้พระองค์จึงมีพระปกาศิตให้ทำลายวรรณคดีโบราณทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทนิพนธ์ทั้งหลายของปรัชญาขงจื๊อ ผลของปกาศิตครั้งนี้ทำให้ความเคลื่อนไหวทางสติปัญญาทั้งปวงในสมัยก่อนมาต้องประสบกับวาระอันเป็นจุดจบลงอย่างฉับพลัน

นี้คือ ความเป็นมาอย่างคร่าวๆ ของปรัชญาที่สำคัญของจีนสี่สำนักด้วยกัน ในยุคสมัยของราชวงศ์โจว โดยมีนักปรัชญาแปดท่านด้วยกัน เป็นเจ้าของทรรศนะ คำสอนและคติความคิดต่างๆ ของนักปรัชญาทั้งแปดนี้มีอิทธิพลเหนือชีวิตจิตใจของประชาชนชาวจีน ถึงแม้ว่าปรัชญาทั้งสี่สำนักนี้ จะแตกต่างกันอย่างกว้างขวาง แต่ปรัชญาที่สี่สำนักนี้ก็มีบทบาทที่หล่อหลอมบุคลิกภาพของปรัชญาจีนโดยส่วนรวมขึ้นมา เรื่องราวของวิวัฒนาการของคติความคิดของปรัชญาทั้งสี่นี้คือเรื่องราวของปรัชญาจีน

ที่มา:สกล  นิลวรรณ