ข้อวินิจฉัยการบอกสัมพันธ์ประโยค

ประโยคคำพูดกับประโยคไวยากรณ์   ได้กล่าวมาแล้วว่าประโยคคำพูด คือประโยคที่เราใช้พูดจากัน ตลอดจนใช้เขียนเป็นข้อความต่างๆ ในภาษาไทยเรา หาได้มีส่วนของประโยคครบอย่างประโยคไวยากรณ์ ดังที่ได้อธิบายมาแล้วนี้ไม่ เช่น ตัวอย่างประโยคคำพูดว่า บุหรี่นี้สูบไม่ดีเลย ซื้อมาเสียเงินเปล่าๆ ต่อไปต้องเลิกซื้อ ซื้ออย่างอื่นดีกว่า ทั้งนี้เพื่อบอกสัมพันธ์ เราจะต้องปรับปรุงให้ครบส่วนประโยคไวยากรณ์ตามหลักที่ได้อธิบายมาแล้วดังนี้

ก. บุหรี่นี้ (ถูก) สูบไม่ดีเลย ที่จริงคำ ถูก ไม่ต้องเติมก็ได้ เพราะกริยา กรรมวาจกของเราไม่จำเป็นต้องมีคำ ถูก เติมเสมอไป  เพียงแต่มีกรรมการก ขึ้นหน้าเป็นประธานก็พอแล้ว

ข. (เรา) ซื้อ (มัน) มาเสียเงินเปล่าๆ วลีว่า เสียเงินเปล่าๆ เป็นกริยาวลีแต่งคำ ซื้อ คำ เสีย ที่นี้เป็นกริยาสภาวมาลา ซึ่งมีหน้าที่ใช้เป็นคำชนิดไรก็ได้ ในที่นี้เป็นคำวิเศษณ์

ค. ต่อไป (เรา) ต้องเลิก (ซื้อ) คำ ต่อไป เป็นวิเศษณ์บอกกาลแต่ง เลิก คำ ซื้อ ที่ใส่เข้ามานั้น เป็นกริยาสภาวมาลา บทกรรมของกริยา เลิก

ฆ. (เรา) ซื้ออย่างอื่นดีกว่า (เราซื้อมัน) ประโยค เราซื้อมัน ที่ใส่เข้ามานั้น เป็นวิเศษณานุประโยคแต่ง ดี บอกความเปรียบเทียบ ซึ่งตามแบบบังคับให้เติม

หมายเหตุ  ประโยคคำพูดของไทยเป็นระเบียบภาษาภาคตะวันออก เช่น จีน เขมร ลาว เป็นต้น ครั้นต่อมาเราเรียนภาษาบาลี ซึ่งมีระเบียบไวยากรณ์อย่างภาคตะวันตก (คือชาวอินเดียตลอดจนฝรั่ง) ทำให้ภาษาไทยเราเอนมาทางบาลีมากเข้า เช่น ใช้บุพบท สันธาน มากขึ้นกว่าเก่าเป็นต้น ครั้นต่อมาเราตั้งรูปโครงไวยากรณ์ตามภาษาอังกฤษปนกับบาลีและสันสกฤตดังกล่าวมาแล้ว ดังนั้นรูปประโยคไวยากรณ์ที่ใช้อยู่จึงคล้ายคลึงกับอังกฤษ แต่ให้ผู้ศึกษาสังเกตไว้ว่า คล้ายคลึงกันเพียงรูปโครงเท่านั้น ส่วนระเบียบของภาอันแท้จริงนั้นต้องเป็นไปตามภาษาไทยเรา จะนำเอาภาอื่นมาใช้ไม่ได้ ขอให้ผู้ศึกษายึดไว้เป็นหลักต่อไป

หลักการบอกสัมพันธ์  การบอกสัมพันธ์ ตามตำราวากยสัมพันธ์ ก็ดี หรือการกระจายคำตามตำราวจีวิภาคที่กล่าวมาแล้วก็ดี ก็ต้องตั้งต้นด้วยการปรับปรุงประโยคคำพูดให้เป็นประโยคไวยากรณ์เสียก่อนทั้งนั้น แต่ในส่วนการวินิจฉันเรื่องความเกี่ยวข้องของส่วนต่างๆ ของประโยคตลอดจนบอกชนิดของคำในวจีวิภาคนั้น เราจะต้องสังเกตระเบียบของภาษาไทยเป็นหลัก อังจะรวบรวมมาไว้พอเป็นที่สังเกตต่อไปนี้

การเรียงเรื่องราวในสมัยโบราณ  ท่านใช้อย่างประโยคคำพูดติดต่อกันไปขึ้นต้นครั้งแรกใช้เครื่องหมายฟองมัน “๏” เป็นที่สังเกต แล้วก็ใช้เว้นวรรคเป็นระยะไป ซึ่งอย่างมากก็กะให้ผู้อ่านกลั้นหายใจทอดหนึ่งๆ เมื่อจบตอนหนึ่งก็ใช้เครื่องหมายคั่นรูปดังนี้ “ฯ” เป็นตอนๆ ไป เมื่อจบข้อความส่วนใหญ่ ก็ใช้เครื่องหมายคั่น ๒ ขีด ดังนี้ “๚” และคำประพันธ์ก็ขึ้นต้นบทด้วยเครื่องหมายฟองมัน และใช้เครื่องหมายคั่นเมื่อจบบทของคำประพันธ์นั้นๆ หมดคำประพันธ์ตอนหนึ่งก็ใส่เครื่องหมายคั่น ๒ ขีด และใช้เครื่องหมายฟองมันขึ้นต้นไปใหม่ ซึ่งจะแสดงพิสดารในบทเครื่องหมายวรรคตอนข้างหน้าต่อไป

ส่วนการสังเกตว่าแค่ไหนเป็นประโยคหนึ่งนั้น จะต้องสังเกตบทเชื่อมเป็นข้อใหญ่ คือถ้าประโยคใดไม่มีบทเชื่อมต่อไป ก็นับว่าหมดประโยคเพียงประโยคนั้น แต่ถ้ายังมีบทเชื่อมประโยคติดต่อยืดยาวเพียงใด ก้องนับว่าเป็นประโยคเดียวกันไปจนหมดบทเชื่อมประโยค เว้นแต่บทเชื่อมชนิดอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับประโยค

อนึ่ง การผูกประโยคของภาษาไทยนั้น มีการเรียงลำดับคำเป็นหลักสำคัญข้อแรก และต้องยึดเอาเนื้อความเป็นหลักสำคัญของข้อสองรองลงมา เพราะบางแห่งมีตำแหน่งคำซ้ำกัน เช่น “จีนหาบน้ำ แข็ง” คำ แข็ง ที่นี้ หมายถึง น้ำแข็ง ก็ได้ หาบแข็ง ก็ได้ ดังนั้นการเกี่ยวข้องของคำเราจะต้องเอาเนื้อความของข้อความนั้นๆ มาเป็นหลักวินิจฉัยด้วย จึงขอให้ผู้ศึกษายึดไว้เป็นหลักในการวินิจฉัยการบอกสัมพันธ์ด้วย

อีกประการหนึ่ง ชนิดของคำในภาษาไทยเรา มีรูปเหมือนๆ กัน คือจะเป็นนาม หรือกริยา หรือวิเศษณ์ ฯลฯ ก็ใช้รูปเดียวกันทั้งนั้น ขอให้ผู้ศึกษาสังเกตตามหลักต่อไปนี้

ก. สังเกตการณ์เรียงคำนั้นๆ ไว้ในตำแหน่งต่างๆ กัน เช่น “คน ดี ซึ่งรัก ดี และ นับถือวินัย ดี คงรัก ดี อยู่เสมอ” เช่นนี้ คำ ดี ทั้ง ๔ แห่งนี้ ถึงชนิดเดิมของมันเป็นคำวิเศษณ์ก็จริง  แต่เมื่อเอามาเรียงเข้าลำดับกับคำอื่นเข้า ก็กลายเป็นคำชนิดอื่นไป โดยไม่ต้องแปลงรูปอย่างภาษาอื่นเขา คือ คำต้น (คน ดี) เป็นวิเศษณ์แต่ง คน ดี. คำที่สอง (รัก ดี) เป็นกริยาสภาวมาลาบทกรรมของกริยา รัก หรือใช้เป็น อาการนาม โดยเติมให้เป็น ความดี ก็ได้ แต่ไม่จำเป็น. ดี คำที่สาม นับถือวินัยดี เป็นวิเศณ์แต่งกริยา นับถือ และ ดี คำที่สี่ (คงรัก ดี) เป็นกริยาของ คน ดังนี้ ถึงจะมีคำภาษาอื่นติดมาในภาษาไทยเรา เช่น สันสกฤตพิบูล เป็นวิเศษณ์ว่าเต็ม ไพบูลย์ เป็นนามว่าความเต็ม ดังนี้เป็นต้นก็ดี เราก็ไม่นิยมใช้ตามชนิดคำของเขา แต่เราถือเอาการเรียงลำดับเป็นข้อสำคัญตามระเบียบของเราโดยมาก

ข. การบอกหน้าที่ของคำตามวจีวิภาค เช่น ลึงค์ พจน์ เป็นต้น ถึงจะมีคำที่บอกลึงค์อยู่แล้ว เช่น ปู่ ย่า ตาและ ยาย เป็นต้นก็ดี แต่ก็มีไม่ทั่วไป เพราะบางคำมีรูปเหมือนกัน จึงต้องสังเกตเนื้อความเป็นข้อใหญ่ เช่น

ไก่นอน ดังนี้ ไก่ เป็นอลึงค์ อพจน์ เพราะไม่รู้ว่าไก่นั้นเป็นตัวผู้หรือตัวเมีย และไม่รู้ว่ากี่ตัวด้วย

ไก่นั้นขัน  ดังนี้ ไก่ เป็นปุลลึงค์ เพราะขันได้ และเป็นเอกพจน์ เพราะคำนั้น บอกกำหนดว่าตัวเดียว ถ้าหลายตัวจะต้องว่า ไก่เหล่านั้น เป็นต้น

ทั้งนี้ได้อธิบายไว้ชัดเจนในวจีวิภาคแล้ว ที่นำมาอธิบายในที่นี้อีกเพื่อจะให้สังเกตรวมเข้าเป็นหลักเดียวกัน เพราะการบอกสัมพันธ์และกระจายคำ มักจะนำติดต่อกันไปเสมอ

ตัวอย่างข้อวินิจฉัยการบอกสัมพันธ์ ได้อธิบายมาแล้วว่า การบอกสัมพันธ์ภาษาไทย จะต้องยึดเอาการเรียงลำดับของคำเป็นหลักสำคัญ และจะต้องยึดเอาเนื้อความของคำมาเป็นหลักสนับสนุนด้วย ดังอธิบายมาแล้ว ต่อไปนี้จะได้รวบรวมตัวอย่างในการวินิจฉัยการบอกสัมพันธ์ ตลอดถึงการกระจายคำในวจีวิภาคด้วยบางประการมาให้ดูเป็นที่สังเกตดังต่อไปนี้

(๑) ประโยคที่พ้องตำแหน่งและชนิดคำ มีส่วนของประโยคบางส่วนเรียงไว้พ้องกัน เช่น

ก. “ตาสีชักว่าว ดี” คำ ดี ที่นี้แสดงว่าแต่ง ว่าว ว่า ว่าวดี ก็ได้ แต่ตำแหน่งบทขยายกริยาก็อยู่ตรงนี้เช่นกัน จึงหมายถึงแต่งกริยา ชัก ว่า ชักดี ก็ได้ ดังนั้นถ้าเป็นประโยคลอยๆ เพียงนี้ ต้องเป็นได้ ๒ทาง คือ คำ ดี เป็นบทขยายกรรมก็ได้(ว่าว ดี) หรือเป็นบทขยายกริยาก็ได้ (ชัก ดี คือชักเก่ง) นับว่าถูกทั้งคู่ แต่ถ้ามีความอื่นเข้ามาประกอบด้วย เราจะต้องวินิจฉัยตามเนื้อความอีกชั้นหนึ่ง เช่น ประโยคว่า

ข. ตาสีไม่ใช่นักเลงว่าว และแกเผยอจะชักว่าว ดี กับเขาด้วย ดังนี้บทว่า ไม่ใช่นักเลงว่าว แสดงว่าแกชักว่าวไม่ชำนาญนักจึงไม่ใช่ ชักดี ต้องเป็นว่าวดี คือ ดี ขยายกรรม (ว่าว) จึงจะสมกับบทว่า เผยอจะชักว่าวดี แต่ถ้ามีประโยคว่า

ค. “ตาสีแกชักว่าว ดี แกจึงชักว่าวเลวๆ เช่นนี้ได้” ดังนี้บทว่า ว่าวเลวๆ เช่นนี้ แสดงอยู่แล้วว่าว่าวไม่ดี ฉะนั้น คำ ดี จึงต้องเป็นวิเศษณ์ ขยายกริยา ชัก ว่า ชักดี และประโยคเช่นนี้มีมาก เช่น “จีนหาบน้ำ แข็ง” และ “เขาตีคน ตาย” เป็นต้น ให้วินิจฉัยทำนองนี้

(๒) อนุประโยคที่ทำหน้าที่พ้องกัน  เช่น “บุตรนายสีซึ่งบวชปีกลายนี้ตายแล้ว” ดังนี้คุณานุประโยค ซึ่งบวชปีกลายนี้ มักจะใช้กันหลวม ๆ ว่าขยาย บุตร ก็ได้ ขยาย นายสี ก็ได้ ถ้าจะรู้ให้แน่ว่าแต่งคำไหน ก็ต้องอาศัยเนื้อความอื่นๆ เข้าช่วยดังกล่าวมาแล้ว แต่ควรจะถือหลักในการแต่งประโยคว่า

คุณานุประโยคที่มี ที่ ซึ่ง อัน ฯลฯ เป็นบทเชื่อม ติดอยู่กับบทใดต้องขยายบทนั้น ดังนั้นบทว่า ซึ่งบวชปีกลายนี้ จึงควรเป็นบทขยาย นายสี ซึ่งเรียงอยู่ติดกัน ถ้าจะให้เป็นบทขยายคำ บุตร จะต้องให้ติดกับคำบุตรว่า บุตรซึ่งบวชปีกลายนี้ของนายสีตายแล้ว ดังนี้ ขอให้ผู้ศึกาถือเป็นหลักในการผูกคุณานุประโยคทั่วไปตามหลักนี้

(๓) ประโยคที่มีความหมายของคำบ่งถึง  กล่าวคือ เราจะต้องถือเอาความหมายของศัพท์ที่มีอยู่ในประโยคนั้นๆ มาเป็นเครื่องวินิจฉัยในการบอกสัมพันธ์และกระจายคำด้วย เช่นตัวอย่างดังกล่าวมาแล้วว่า

ไก่ไข่สามฟอง  ดังนี้ในเรื่องพจน์ คำ ไก่ จะต้องเป็นอพจน์ เพราะพูดไว้กลางๆ ไม่ปรากฏว่ามีกี่ตัว จะเป็นตัวเดียวก็ได้เพราะมันไข่วันละฟอง ๓ วัน ก็ได้ ๓ ฟอง ดังนี้เป็นต้น แต่ในเรื่องลึงค์นั้นต้องเป็นสตรีลึงค์ เพราะความหมายของคำ ไข่ บ่งให้รู้ว่าเป็นไก่ตัวเมียจึงไข่ได้ ส่วนในเรื่องกาลของคำกริยาไข่ ต้องเป็นอนุตกาล เพราะไม่รู้ว่ามันไข่เวลาไร แต่ถ้ากล่าวว่า วานนี้ไก่ไข่สามฟอง จึงได้รู้ว่า ไข่ เป็นอดีตกาล เพราะความหมายของคำ วานนี้ บ่งว่าเป็นอดีตกาล หรือประโยคว่า คนตีกัน ดังนี้ความหมายของคำ กัน บ่งให้รู้ว่าคนหลายคน เป็นพหูพจน์ จึงตีกันได้ ดังได้กล่าวมาแล้วในวจีภาค

(๔) ประโยครวมภาคแสดง คือประโยคที่มีบทกริยารวมกันนั้น แม้จะได้ให้สังเกตไว้ในวจีวิภาคแล้วก็ดี แต่บอกไว้เพียงหน้าที่ของคำที่ประกอบกันเท่านั้น ส่วนที่นำมากล่าวในที่นี้อีกก็เพราะจะให้เป็นหลักในการบอกสัมพันธ์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น คือ

ขึ้นชื่อว่าประโยครวมแล้วย่อมเป็นอเนกรรถประโยคทั้งนั้น เพราะอาจจะแยกเป็นเอกรรถประโยคได้ดังกล่าวแล้ว แต่ประโยครวมภาคแสดงนั้น มักจะมีเอกรรถประโยคที่มีบทกริยาติดต่อกันเป็นกริยาวลี พ้องกันอยู่มาก ดังจะยกมาเทียบกันไว้ให้ดูเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้

ก. ประโยครวมภาคแสดง เช่น “เขา มานั่งนอน ที่นี่เสมอ” จะต้องแยกออกเป็นไวยากรณ์ เขามาที่นี่เสมอ (และ) เขามานั่งที่นี่เสมอ (และ) เขานอนที่นี่เสมอ และประโยคว่า ตาสีทุบ ตีเมีย ก็ต้องแยกเป็น ตาสีทุบเมีย (และ) ตาสีตีเมีย ดังนี้เป็นต้น

ข. ส่วนเอกรรถประโยคที่มีภาคแสดงเป็นกริยาติดต่อกันเป็นวลี เช่น
“เขา คงจะต้องตาย ที่นี่” เช่นนี้บทกริยานุเคราะห์ว่า คงจะต้อง เป็นกริยานุเคราะห์ประกอบกริยา ตาย รวมกันเป็นกริยาวลีว่า คงจะต้องตาย เป็นภาคแสดงของประธาน เขา ซึ่งเป็นเอกรรถประโยคเดียวเท่านั้น แยกอย่างข้อ ก. ไม่ได้

และประโยคว่า “เขา ฝันเห็น ช้าง” ก็ดี หรือ “เขา บอกขาย เรือ” ก็ดี เป็นต้น ดังนี้ บทกริยา เห็น ที่ตามหลังกริยา ฝัน ก็ดี หรือบทกริยา ขาย ที่ตามหลังกริยา บอก ก็ดี ย่อมเป็นบทวิเศษณ์ขยายกริยาทั้งนั้น ซึ่งถ้าติดต่อกับกริยาเข้าก็รวมเป็นกริยาวลี จะแยกออกเป็นกริยาของประโยคว่า เขาฝัน (และ) เขาเห็นช้าง ฯลฯ ไม่ได้ ต้องนับว่าประโยคชนิดนี้เป็นเอกรรถประโยคเหมือนกัน

ค. เอกรรถประโยค  ซึ่งภาคแสดงมีบทกริยาเป็นคำประสม เช่น
“ฉัน ว่ากล่าว เขาไม่ได้” ดังนี้ คำ ว่ากล่าว เป็นคำประสมคำเดียวแปลว่าตักเตือนหรือสั่งสอน และไม่ใช่วลีดังข้างบนนี้ด้วย ให้ผู้ศึกษาสังเกตไว้ว่า คำประสมนี้มีความหมายต่างกับคำกริยาที่เรียงกันอยู่เป็นประโยครวมกันมาก ดังกล่าวแล้วในวจีวิภาค และคำประสมเช่นนี้มีชุกชุมในภาษาไทย เช่น –ดูแล สู่ขอ รวบรัด ข่มขืน เหล่านี้เป็นต้น

(๕) การสังเกตเนื้อความ  ได้กล่าวแล้วว่า การบอกสัมพันธ์ก็ดี การบอกหน้าที่ของคำก็ดี ในไวยากรณ์ไทยเราต้องสังเกตเนื้อความเป็นหลักด้วย ทั้งนี้อาจจะทำความยุ่งยากให้แก่ผู้ศึกษา เกินความมุ่งหมายของการเรียนไวยากรณ์ไปก็ได้ จึงขอให้ ข้อสังเกตไว้ ดังต่อไปนี้

ก. ข้อที่ว่าให้สังเกตเนื้อความนั้น หมายความเฉพาะที่กล่าวไว้ในเรื่องนั้น ไม่จำเป็นจะต้องพิสูจน์ถึงข้อเท็จจริงในทางอื่น เช่นมีคำกล่าวว่า พระอาทิตย์เทพบุตร ดังนี้ คำว่า พระอาทิตย์ ที่นี้เราต้องบอกลึงค์ว่าเป็น ปุลลึงค์ เพราะคำ เทพบุตร(เทวดาผู้ชาย) บ่งให้ทราบ แต่ถ้าในท้องเรื่องนั้นกล่าวว่า พระอาทิตย์เป็นดวงไฟใหญ่ ดังนี้คำ พระอาทิตย์ ในที่นี้ก็เป็น นปุงสกลึงค์ เพราะคำ ดวงไฟใหญ่ บ่งให้ทราบ

ข. ถ้าไม่มีข้อความใดๆ บ่งให้ทราบว่าเป็นลึงค์อะไรในที่นั้น เช่น หนุมาน พระชาลี พระกัณหา ดังนี้เป็นต้น เราต้องบอกลึงค์โดยใช้ความรู้ในท้องเรื่องว่าเขาเป็นชายหรือเป็นหญิง ถ้าไม่ทราบท้องเรื่องว่าเป็นชายหรือหญิง ก็ต้องบอกว่า “เป็น อลึงค์ เพราะไม่ทราบเพศ” ทั้งนี้หมายถึงคำที่ไม่มีเครื่องหมายอะไรบอกให้รู้เพศได้เท่านั้น ถ้าเป็นคำที่ทราบเพศกันอยู่แล้วแพร่หลาย เช่น พระพุทธเจ้า พระอินทร์ พระพรหม ฯลฯ เราก็ต้องบอกลึงค์ตามที่รู้กันนั้น

หมายเหตุ  ในการบอกสัมพันธ์ก็ดี กระจายคำก็ดี ถ้าเราบอกตามเนื้อความบ่งหรือรู้จากไหนก็ดี เราจะต้องบันทึกหมายเหตุไว้ว่า เพราะอะไรด้วย เช่น พระมัทรีเป็นสตรีลึงค์ เพราะในเรื่องเป็นหญิง หรือ ไก่ตัวนี้ขันเพราะ คำ ไก่ ต้องบอกพจน์ว่า เอกพจน์ เพราะคำ ตัวนี้ บ่งลึงค์ว่าเป็น ปุลลึงค์ เพราะคำ ขัน บ่งดังนี้เป็นต้น

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร