ลักษณะแห่งประโยค

บางทีจะเกิดความสงสัยว่า คำ ประพันธศาสตร์ นี้หมายถึงอะไร คำประพันธศาสตร์นี้ได้บัญญัติขึ้นแทนคำภาษาอังกฤษว่า Rhetoric ซึ่งหมายถึง วิชาแห่งการจัดคำพูดให้เหมาะสมกับ เรื่องและโอกาส หรืออีกนัยหนึ่งหมายถึง ศิลปะแห่งการใช้ถ้อยคำให้บังเกิดผลสมตามความมุ่งหมาย วิชานี้เป็นรากฐานของการประพันธ์ ไม่ว่าเราจะเขียนเรื่องอะไรต้องอาศัยหลักประพันธศาสตร์ทั้งสิ้น

คำว่า ประพันธศาสตร์ หรือ Rhetoric นี้ ฟังดูเป็นคำใหญ่โต แต่ตามธรรมดาศิลปะแห่งการเรียบเรียงถ้อยคำนี้ ย่อมมีอยู่ในตัวคนไม่มากก็น้อย ถ้าเราได้ฟังยายแก่ขอทาน เล่าประวัติของแก เราได้ฟังจนเราเปล่ง อุทานว่า “โธ่ น่าสงสาร” ดังนี้ แปลว่า ยายแก่ขอทานนั้นได้พูดปลุกอารมณ์อย่างหนึ่งขึ้นในจิตของเราแล้ว แต่แกจะเข้าใจหรือเคยเรียนวิชาประพันธศาสตร์ก็หาไม่ อย่างไรก็ดี สิ่งต่างๆ ที่เราปรารถนาจะให้เป็นหลักฐาน ให้มีลักษณะที่จะเจริญก้าวหน้า เราต้องจับเอาสิ่งนั้นมาพิจารณาแยกแยะตั้งเป็นหลักวิชาขึ้น อาจารย์ทางประพันธศาสตร์นับตั้งแต่อริสโตเติล (Aristotle) ซิเซโร (Cicero) เป็นต้นมา จึงได้พิจารณาวรรณคดีที่สำคัญๆ ศึกษาห้วงความนึกคิดของมนุษย์ แล้วตั้งเป็นหลักหรือกฎเกณฑ์ขึ้น แต่กฎนี้มิได้ตั้งขึ้นสำหรับบังคับ เป็นเพียงหลักแนะนำและชี้ให้เข้าใจเท่านั้น
บทวรรณกรรมต่างๆ ย่อมประกอบด้วย “คำ” เป็นหน่วยเล็กที่สุด นักประพันธ์เอาคำมาลำดับกันเข้าเป็นข้อความ เรียกในไวยากรณ์ว่า ประโยค แล้วก็เรียงประโยคต่างๆ ให้มีข้อความติดต่อกันเป็นสำดับ รวมเรียกว่า เนื้อความ หรือข้อความตอนหนึ่ง เนื้อความหลายๆ ตอนรวมกันเป็นเรื่องหนึ่ง บทวรรณกรรมต่างๆ จะพ้นไปจาก คำ ประโยค เนื้อความ ไปไม่ได้เลย สิ่งทั้งสามประการนี้ดูเผินๆ ก็เป็นธรรมดาสามัญ แต่ก็เปรียบเหมือนใบไม้ใบเดียว นักพฤกษศาสตร์ อาจให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่เราได้มิใช่น้อย

ต่อไปนี้จะได้แสดง หลักแห่งการนำถ้อยคำมารวมลำดับกันเป็นข้อความ ซึ่งเรียกว่า ประโยค

ลักษณะของประโยค
ประโยค คือคำหลายคำรวมกันแสดงข้อความจบลงเพียงข้อความเดียว

ตัวอย่าง
๑. ทรัพย์นั้นเป็นผลของความอยู่ในธรรม
๒. ความสุขเป็นผลของความมีทรัพย์

เมื่ออ่านตัวอย่างนี้ ท่านจะได้ข้อความสองอย่าง คือ ๑ และ ๒ ข้อ ผิดของนักเขียนในเรื่องนี้มักจะเกิดจากความเลินเล่อ คือ พูดข้อความไป ด้วนเสียเฉยๆ ผู้อ่านยังไม่ทราบเรื่องบริบูรณ์ก็ขึ้นข้อความใหม่ ฉะนั้นเมื่อเขียนเรื่องจงระวัง อ่านประโยคทุกประโยคที่เขียนลงไปว่าได้ความสมบูรณ์ หรือขาดห้วน

ถ้านำเอาประโยคต่างๆ มาพิจารณา จะเห็นลักษณะต่อไปนี้

ประโยคสามัญที่สุด ซึ่งเรียกในภาษาไวยากรณ์ว่า เอกัตถประโยค ประโยคชนิดนี้ย่อมมี

ก. ประธาน      กริยา
โจโฉ        โกรธ
แม่ฉวี       ยิ้ม
ข. ประธาน      กริยา   กรรม
เทา         ถอด    เสื้อ
นายบรรจง   ยิง     นก

ค. ประธาน      กริยา   คำประกอบกริยา
รถ          ตก     คลอง
นายขจร      เป็น    นักมวย

นี่เป็นแบบประโยคอย่างสามัญที่สุด เป็นความรู้ของนักเรียนชั้นประถม สามประถมสี่ แต่ที่พบเขียนผิดนั้นคือในข้อ ข. ซึ่งเกิดจากความไม่รอบคอบเป็นส่วนมาก ถ้าท่านใช้ ประธาน กับ กริยา แล้ว กริยานั้นยังไม่บอกความบริบูรณ์ก็ต้องหา กรรม หรือคำประกอบ มาเติมให้ได้ความ และถ้ามี กริยา ก็ต้องมี ประธาน

ประโยคที่ผู้เริ่มเขียนมักจะผิดเป็นดังนี้
๑. งานฉลองรัฐธรรมนูญ เจ้าหน้าที่ได้จัดให้มีทั่วพระราชอาณาจักร งานฉลองรัฐธรรมนูญเป็นกรรมของกริยา จัด ควรเอาไว้ติดหลัง จัด และการที่เอามาไว้ข้างต้นประโยคดังนี้ ก็ไม่ได้ทำให้ความเด่นขึ้นเลย

๒. รองเท้า มันเป็นเครื่องแต่งกายที่จำเป็น มัน เป็นประธานที่ใส่เข้าไปโดยไม่มีประโยชน์ เพราะคำ รองเท้า ก็มีอยู่แล้ว

๓. ความสุข ซึ่งเป็นของข้าพเจ้าสักครู่นี้ มันได้หายไปสิ้น ความสุข เป็นประธาน แต่ไม่มีกริยา ตัวกริยาของความสุข คือ ได้หาย แต่คำว่า มัน มาเป็นประธานซ้อนอยู่ เช่นนี้ผิด คำว่า มัน ไม่ต้องใช้

๔. ศรีปราชญ์ ที่คนทั้งหลายยกย่อง เขาเป็นปฏิภาณกวีที่รุ่งโรจน์ เช่นเดียวกับข้อ ๓ คำว่า “เขา” ไม่ต้องใช้

๕. เขานึกถึงเรื่องอิเหนาที่ได้คุยกับเพื่อนๆ เมื่อตอนเช้า ประโยคนี้ไม่ชัด ต้องเติม “เขา” ระหว่างคำว่า ที่ กับ ได้ เพราะคำ ได้คุย ไม่มีประธาน
แต่ประโยคสามัญย่อมไม่พอกับความต้องการของนักเขียน ที่จะบรรยายข้อความอย่างหนึ่งอย่างใด ฉะนั้นเราจึงขยายประโยคออกไป ซึ่งจะทำได้ ๒ วิธี คือ

ก. หาคำมาขยาย
ข. หาข้อความมาขยาย

คำ ที่มาขยายนั้นได้แก่คำวิเศษณ์ หรือที่เคยเรียกกันว่า คำคุณศัพท์ และกริยาวิเศษณ์ ส่วนข้อความที่มาขยายได้แก่ประโยคอื่นๆ ซึ่งมีเนื้อความเกี่ยวเนื่องกัน และการที่ความจะเกี่ยวเนื่องกันได้ก็ต้องอาศัยคำต่อ ซึ่งเรียก ในไวยากรณ์ว่า คำบุพบท สันธาน ประพันธสรรพนามและประพันธวิเศษณ์

เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้อความในประโยคก็จะซับซ้อน ถ้าไม่รู้จักวางรูป ประโยค ไม่เข้าใจการลำดับความ ก็จะทำให้เรื่องที่เราประสงค์จะกล่าว หย่อนรส ทำให้ความหมายคลุมเครือ หรือทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดไปจากความประสงค์ของเราก็ได้

สำหรับการตั้งประโยค มีหลักที่ควรยึดถือดังนี้

๑. หลักแห่งความใกล้ชิด
ข้อความใดที่จะต้องพูดรวมกัน ต้องพยายามเรียงข้อความนั้นให้อยู่ ใกล้ชิดติดกัน

ตัวอย่าง
๑. ไหมเป็นสินค้าสำคัญ ซึ่งได้มาจากตัวหนอนเล็กๆ

ประโยคนี้ ถ้าฟังเผินๆ ก็พอจะเข้าใจได้ แต่ทว่าไม่ชัดเจนเท่ากับ ไหม ซึ่งได้มาจากตัวหนอนเล็กๆ เป็นสินค้าสำคัญ “ซึ่งได้มาจากตัวหนอนเล็กๆ” เป็นข้อความที่จะขยายคำว่า “หนอน” ฉะนั้นต้องเรียงข้อความนี้ไว้ติดกับคำ “ไหม” การที่แยกห่างจากคำ “ไหม” ไปไว้ข้างหลัง “สินค้าสำคัญ” ทำให้คิดเขวไปได้ว่า “ซึ่งได้มาจากตัวหนอนเล็กๆ” นี้ ขยายคำว่า “สินค้าสำคัญ”

หลักข้อนี้เกี่ยวพันกับห้วงความคิด คือ ความอันใดที่คิดควบกัน ต้องให้ความนั้นอยู่ใกล้ชิดกัน ถ้าเราเอาความนั้นไว้เสียคนละที่แล้ว ห้วงความคิดก็ขาดระยะ ทำให้ความหมายเปลี่ยนไปได้

๒. จะมีสัปเปอร์ และเต้นรำต่อจากการเล่นรีวิวของนักเรียนไทย ซึ่งศึกษาในเมืองอังกฤษ ณ วันเสาร์ที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ที่โรงโขนหลวง

การลำดับความในประโยคนี้ ผิดหลักที่กล่าวแล้ว ที่ถูกควรลำดับความ ใหม่ดังนี้

ก. ณ วันเสาร์ที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ จะมีสัปเปอร์และเต้นรำที่โรงโขนหลวง ต่อจากการเล่นรีวิวของนักเรียนไทย ซึ่งศึกษาในเมืองอังกฤษ หรือ

ข. ณ วันเสาร์ที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ที่โรงโขนหลวงจะมีสัปเปอร์และเต้นรำ ต่อจากการเล่นรีวิวของนักเรียนไทยซึ่งศึกษาในเมืองอังกฤษ

๓. ก. นายแสงถูกฟ้องฐานวิ่งราวทรัพย์ในศาลอาญา

ข. นายแสงถูกฟ้องในศาลอาญา ฐานวิงราวทรัพย์

ความใน ก. และ ข. ต่างกันมาก ใน ก. “ในศาลอาญา” อยู่ชิด กับ “วิ่งราวทรัพย์” ฉะนั้นทำให้เข้าใจว่า “วิ่งราวทรัพย์ในศาลอาญา” แต่คนอ่านอาจฉงนว่า ท่านต้องการพูดว่า “วิ่งราวทรัพย์ในศาลอาญา” หรือ “ฟ้องในศาลอาญา”

ถ้าประโยคใดมีความกำกวมเช่นนี้ ท่านจะต้องตรวจรูปประโยคทันที เพราะท่านอาจเขียนประโยคโดยละเมิดหลักที่กล่าวแล้ว

๒. ฐานแห่งนํ้าหนัก
ในประโยคหนึ่งๆ อาจแบ่งได้เป็นสามตอน คือ ต้นประโยค กลาง ประโยค และปลายประโยค ทั้งสามตอนนี้มีนํ้าหนักยิ่งหย่อนกว่ากัน ปลายประโยคนํ้าหนักมากที่สุด ถัดมาต้นประโยค ตอนกลางน้ำหนักเบากว่าเพื่อน ฉะนั้นถ้าท่านต้องการจะเน้นความข้อใด ควรตั้งประโยคให้ความที่ต้องการเน้นอยู่ในตอนที่มีนํ้าหนักมากที่สุด

ตัวอย่าง
๑. ชนชาวร่วมชาติของข้าพเจ้าทั้งหลายจง ตื่นเถิด

๒. โคลนซึ่งติดล้อแห่งความเจริญของชาติเรา ก้อนที่หนึ่งและก้อนที่ ร้ายที่สุดนั้น คือ การเอาอย่างโดยไม่ตริตรอง

๓. การทำตนให้ตํ่าต้อย อนิจจา แม้แต่ชื่อก็เย้ยตัวเอง เราทั้งหลาย เรียกตัวว่า ไทย กลับเป็นทาสแห่งความประพฤติดุจทาสนั้นเอง คือ ความประพฤติที่ทำตนให้ต่ำต้อย
(ตัวอย่างทั้งสามนี้ ได้จากปกิณกคดี ของ อัศวพาหุ)

๓. การสรุปความ
ถ้ามีประธานหลายตัวอยู่ในกริยาอันเดียวกัน ควรให้มีคำรวมเสีย คำหนึ่ง จะทำให้ประโยคชัดเจนขึ้น

ตัวอย่าง
๑. พระราชาโง่ ผู้เย่อหยิ่งเพราะมีทรัพย์มาก เด็กอ่อนแอ ทั้งสามสิ่งนี้ ประสงค์สิ่งซึ่งไม่อาจได้มาดังประสงค์

๒. ชาวยุโรปก็ดี ญี่ปุ่นก็ดี อินเดียก็ดี ล้วน เป็นคนต่างภาษาทั้งสิ้น

๓. ความเกิด ๑ ความวิวาหะ ๑ ความตาย ๑ ทั้งสามนี้ ย่อมเป็นไป แล้วแต่เทวดาจะบัญญัติ

“ทั้งสามสิ่งนี้-ล้วน-ทั้งสามนี้” เป็นคำรวม นอกจากคำที่ยกมาเป็น ตัวอย่าง ท่านจะหาคำอื่นมาใช้อีกก็ได้

๔. การถ่วงความ
การที่จะทำให้ข้อความที่กล่าวนั้น มีนํ้าหนักหรือรสดีขึ้น อาจทำได้โดยการถ่วงความให้ห้วงความคิดเกี่ยวโยงกัน เพราะเมื่อพูดถึงสิ่งอันหนึ่ง ใจผู้ฟังย่อมอยากรู้ถึงสิ่งอีกอันหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวกับสิ่งอันต้น และการถ่วงความนี้ จะทำได้โดยใช้สันธานคู่ดังนี้

ตัวอย่าง
ก. สิ่งที่จะทำได้วันนี้เป็นดีที่สุด
ข. สิ่งใดที่จะทำได้วันนี้ สิ่งนั้นเป็นดีที่สุด

จะเห็นได้ว่า ความใน ข.ชวนให้คิด และน่าฟังกว่า ลักษณะเช่นนี้
ท่านจะพบตัวอย่างบ่อยๆ เช่น

๑. เมื่อใด ความเห็นแก่ประโยชน์ตนเข้าครอบงำคน เมื่อนั้น ขวาก็กลับเป็นซ้าย ซ้ายก็กลายเป็นขวา

๒. ชาย ใด มีความจำนงความไม่เปลี่ยนแปลงในโลกนี้ ชาย นั้น เป็นคนโง่

ข้อควรจำในการใช้ประโยคเช่นนี้คือ ระวังจะเป็นประโยคลุ่น คือมี ฉันใด แล้ว ไม่มี ฉันนั้น หรือมี ใด แล้วไม่มี นั้น เช่นว่า
ชายใดมีความจำนงความไม่เปลี่ยนแปลงในโลก เขาก็เป็นคนโง่ ดังนี้
ผิด

๕. การซ้ำคำ
ในบางประโยค บางข้อความ ถ้าเราต้องการเน้น จะใช้คำซํ้า ซ้อนกันสองคำก็ได้ เช่น

ข้าพเจ้า ไม่ยอม ไม่ยอม เป็นอันขาด

๖. การขัดความ
การตั้งประโยคให้เนื้อความขัดกัน จะทำให้ความที่กล่าวมีรสและชวนฟังยิ่งขึ้น เช่น

๑. ยาดี กินขมปาก แต่เป็นประโยชน์แก่คนไข้

๒. บุรุษควรมีความรักเป็นเครื่องนำความมีภริยา ไม่ใช่มีภริยาเป็น เครื่องนำความรัก

๗. แบบประโยค
มีแบบประโยคอยู่สองแบบ ที่ท่านควรเอาใจใส่ เรียกตามภาษาประพันธศาสตร์ว่า ประโยคกระชับ กับ ประโยคหลวม

ประโยคกระชับ คือประโยคที่เรียงความให้สิ้นกระแสความในตอนสุดของประโยค ผู้อ่านจะต้องอ่านไปจนจบประโยค มิฉะนั้นจะไม่เข้าใจ เรื่องประโยคลักษณะนี้เป็นประโยคที่ดี เพราะยึดความสนใจของผู้อ่านไว้ได้ ประโยคหลวม คือประโยคที่พูดใจความสำคัญจบเสียก่อน แล้ว ต่อไปกล่าวพลความ ประโยคนี้ไม่น่าฟัง ไม่มีรส

ตัวอย่างประโยคกระชับ
๑. ประเทศเบลเยียมนั้น มีกองทัพซึ่งเล็กก็จริงอยู่ แต่มีความกล้าหาญ เพราะทหารล้วนเป็นคนรักชาติบ้านเกิดเมืองนอนของเขาโดยแท้จริง ถึง แม้ว่ามีกำลังน้อยกว่าข้าศึกเป็นอันมาก ก็ยังได้กระทำการสำเร็จเป็นครั้งคราว

ตัวอย่างประโยคหลวม
๒. ประเทศเบลเยียม ได้ทำการสำเร็จเป็นครั้งคราว ถึงแม้ว่ามีกำลัง น้อยกว่าข้าศึกเป็นอันมาก และมีกองทัพซึ่งเล็กก็จริง แต่มีความกล้าหาญ เพราะทหารล้วนเป็นคนรักชาติบ้านเกิดเมืองนอนของเขาโดยแท้จริง

ให้สังเกตว่า ความตอนใช้ตัวเน้นนั้นอยู่ต่างที่กัน ท่านอ่านประโยคที่ ๑ จะต้องอ่านไปจนจบประโยคจึงจะได้กระแสความ แต่สำหรับประโยคที่ ๒ พอขึ้นต้นก็อ่านได้ความเสียแล้ว ความต่อจากนั้นเป็นเรื่องปลีกย่อย

ท่านลองอ่านข้อความในประโยคซึ่งคัดมาจากหนังสือเวตาล ต่อไปนี้

“ใครบ้างไม่เคยได้ทุกข์เพราะหญิง เหตุว่าหญิงนั้น ผู้ใดจะบังคับให้อยู่ในถ้อยคำก็บังคับไม่ได้ แม้จะบังคับด้วยให้ของที่ชอบ หรือบังคับด้วย ความกรุณา หรือบังคับด้วยปฏิบัติดีต่อ หรือบังคับด้วยรับทำการให้อย่างดีที่สุด หรือบังคับด้วยนิติธรรม หรือบังคับด้วยการลงโทษ ก็บังคับ
ไม่ได้ทั้งนั้น เพราะหญิง ไม่รู้จักผิดและชอบ”

ถ้าเอาความที่ใช้ตัวเน้นไปไว้เสียในตอนต้นๆ จะทำให้หย่อนรสไปเป็นอันมากทั้งนี้ตามธรรมดาของจิตใจ ถ้าเรารู้ความสำคัญเสียแล้วความ ย่อยๆ เราก็ไม่ค่อยติดใจ ฉะนั้นในการตั้งประโยคจึงควรจัดความย่อยไว้ก่อน ชักนำไปหาความสำคัญและพอถึงความสำคัญก็ควรจบประโยคทันที

๘. ประโยคสั้น ประโยคยาว
ประโยคสั้นอ่านเข้าใจง่าย แต่แสดงความไม่ได้เต็มที่ ส่วนประโยคยาวแสดงความหมายได้มาก แต่ถ้าหากไม่รู้จักลำดับความ จะพาให้สับสน วนเวียน ผู้เริ่มเขียนไม่ควรใช้ประโยคยืดยาวซับซ้อน

ประโยคที่ดีที่สุด จะเห็นตัวอย่างได้จากหนังสือสามก๊ก ขอให้ลองอ่านตอนต่อไปนี้

๑. เกนหวนคิดการครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก
๒. หากท่านรู้สึกตัวจึงรอดชีวิต
๓. ซึ่งฆ่าเกนหวนเสียนั้น เหมือนหนึ่งฟันต้นหญ้าจะให้ตาย
๔. ขันทีสิบคนเหมือนหนึ่งรากหญ้า
๕. ตายแต่ต้นนั้น เห็นไม่สิ้นเชิง รากกจะงอกขึ้นมา
๖. ภายหน้าเห็นอันตรายจะมีแก่ท่านเป็นมั่นคง

สำนวนใหม่ๆ มักจะใช้ประโยคยาว แต่อ่านรู้สึกอึดอัด และไม่ให้ความซัดในทันทีทันใด เช่น

ข้าพเจ้ากล้าพูดอย่างเปิดเผย ทั้งในส่วนตัวข้าพเจ้าและส่วนรวม คือในนามสยามนิกรว่า เราได้มีและได้รับจาก ซึ่งความรู้สึกของเพื่อน หนังสือพิมพ์ทั้งหลายเป็นอย่างดียิ่ง

เมื่อท่านได้อ่านถึงตอนนี้ บางทีจะรู้สึกอึดอัดใจอยู่บ้าง แต่หลักต่างๆ เหล่านี้เป็นเหมือนเครื่องนำทาง ไม่ใช่เครื่องบังคับท่าน แต่ถ้าเมื่อใดท่านต้องการรู้ว่าประโยคที่ท่านเขียนได้ความชัดหรือไม่ มีนํ้าหนักหรือไม่ เมื่อนั้นแหละ ท่านควรเอาหลักที่กล่าวแล้วมาเป็นเครื่องตัดสิน เมื่อท่านเขียน ท่านต้องนึกถึงใจคนอ่าน บางทีท่านนึกว่าท่านเข้าใจดีแล้ว แต่เมื่อให้คนอื่น อ่าน เขาอาจไม่เข้าใจก็ได้ ดังนี้จะต้องมีอะไรผิดสักอย่าง นี่เป็นข้อบกพร่องข้อหนึ่งที่สำนักหนังสือพิมพ์จะบอกว่าเรื่องของท่านยังอ่อนอยู่

ที่มา:เปลื้อง ณ นคร