วากยสัมพันธ์

เมื่อเราเรียนเรื่องคำในภาษาไทยรู้ถี่ถ้วนตามตำราไวยากรณ์ไทยวจีวิภาคแล้ว ก็ควรจะรู้ลักษณะการเกี่ยวข้องของคำต่างๆ ที่เรียนมาแล้วนั้นต่อไป

ตำราไวยากรณ์ไทยวากยสัมพันธ์นี้ เป็นตำราที่บรรยายลักษณะการเกี่ยวข้องของคำต่างๆ ต่อจากตำราไวยากรณ์ไทยวจีวิภาคขึ้นไป นับว่าเป็นขั้นที่ ๓ ของตำราไวยากรณ์ไทย

วากยสัมพันธ์ ในที่นี้เป็นภาษาบาลี แปลเอาความว่า ความเกี่ยวข้องของคำพูดต่างๆ ในภาษาไทยเรา เพราะข้อความที่เราใช้พูดจากันก็ดี หรือเขียนเป็น เรื่องราวก็ดี ย่อมต้องเอาคำต่างๆ มาเรียงติดต่อกันไป จนได้ความอย่างหนึ่งๆ และคำต่างๆ ที่เรานำมาเรียงเป็นข้อความนั้น ล้วนมีความสัมพันธ์คือมีความเกี่ยวข้องกันทั้งนั้น เปรียบเหมือนคนในครอบครัวหนึ่งๆ ย่อมมีความสัมพันธ์กัน ซึ่งเรียกว่า กุลสัมพันธ์ คือมีผู้หนึ่งเป็นสามี ย่อมเป็นประธานของครอบครัว และมีหญิงผู้เป็นภรรยา และมีบุตรชายหญิง หรือมีคนใช้อยู่ด้วยกันมากน้อยแล้วแต่จะเป็นครอบครัวใหญ่หรือเล็ก คนในครอบครัวนี้ล้วนมีสัมพันธ์กัน คือ ฝ่ายหนึ่งเป็นพ่อเรือน คือเป็นประธาน ฝ่ายหนึ่งเป็นภรรยาของพ่อเรือน ฝ่ายหนึ่งเป็นบุตรธิดา และเป็นคนใช้ของพ่อเรือนดังนี้เป็นต้น คำพูดตอนหนึ่งๆ ก็มีความสัมพันธ์เช่นเดียวกัน เช่น คำพูดว่า ตามี นอน คำ ตามี ย่อมแสดง อาการนอน นับว่าเป็นประธานของคำ นอน และคำ นอน ก็เกี่ยวข้องเป็นอาการของ ตามี ดังนี้เป็นต้น

ความเกี่ยวข้องของคำต่างๆ ในถ้อยคำตอนหนึ่งๆ เช่นนี้ เรียกว่า วากยสัมพันธ์ ซึ่งคล้ายกับ กุลสัมพันธ์ ความเกี่ยวข้องของตระกูลหรือครอบครัว ดังกล่าวแล้วฉันนั้น

ถ้อยคำ หรือ ข้อความ หมายถึงคำพูดที่ผู้พูดตั้งใจจะกล่าวออกมาครั้งหนึ่งๆ จะน้อยคำหรือมากคำไม่มีกำหนด แต่กำหนดเอาความต้องการของผู้พูดเป็นเกณฑ์ ซึ่งจัดไว้เป็น ๓ อย่าง คือ:-

(๑) กล่าวเป็นคำ คือ ผู้พูดต้องการให้รู้เฉพาะคำ เช่น กล่าวอุทานโดย เปล่งเสียงว่า วู้ๆ! เป็นต้นก็ดี หรือกล่าวถึงชื่อต่างๆ เช่น กล่าวร้องเรียกว่า ตำรวจ เป็นต้นก็ดี หรือจะกล่าวเป็นตัวหนังสือว่า ก ข ค ฯลฯ ก็นับว่ากล่าวเป็นคำ คือเป็นชื่อของตัวหนังสือก็ดี ทั้งนี้นับว่ากล่าวเป็นคำประการหนึ่ง

(๒) กล่าวเป็นวลี คือกล่าวคำหลายคำติดต่อกัน แต่ยังไม่ได้ความครบ เช่น ร้องขายของว่า ข้าวมันร้อนๆ จ้ะ! เป็นต้น หรือกล่าวรำพึงต่างต่างๆเช่น ความรักบ้าๆ เอ๋ย! เป็นต้นก็ดี ซึ่งยังไม่มีข้อความครบว่า ข้าวมันร้อนๆ เป็นอย่างไร หรือความรักบ้าๆ เป็นอย่างไร เช่นนี้ย่อมเป็นการกล่าวบอกความเพียงกลุ่มเดียวตอนเดียวเท่านั้น จึงนับว่ากล่าวเป็นวลี คือยังไม่มีเนื้อความครบถ้วน

(๓) กล่าวเป็นประโยค คือกล่าวข้อความครบถ้วน เช่น
กล่าวรำพึงว่า เราโง่มาก ก็ดี
กล่าวถามว่า ท่านไปไหน? ก็ดี
กล่าวบอกเล่าว่า ฉันไปเที่ยว ก็ดี
กล่าวบังคับว่า ท่านอย่าไปเที่ยวเลย ก็ดี

ทั้งนี้นับว่ากล่าวเป็นประโยค เพราะได้ความครบถ้วน ให้ดูคำอธิบายต่อไปข้างหน้า

วลีกับประโยค ในการที่จะอธิบายถึงวลีกับประโยคว่าต่างกันอย่างไรนั้น จำต้องอธิบายเรื่องประโยคก่อน จึงจะเข้าใจง่ายดังนี้:-

(๑) ประโยค คือ ถ้อยคำที่มีเนื้อความครบบริบูรณ์ ประโยคหนึ่งๆ แบ่งออกเป็นสองภาคดังนี้
(ก) ภาคประธาน หมายความว่าส่วนที่ผู้กล่าวอ้างขึ้นก่อน เมื่อผู้ฟังรู้ว่าอะไรเป็นข้อสำคัญของข้อความ ภาคนี้โดยมากมักเป็นคำนาม หรือสรรพนามเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งผู้พูดหรือผู้เขียนกล่าวขึ้นก่อน เช่น ตาสี บ้าน ฉัน เขา เป็นต้น ซึ่งทราบได้แต่เพียงว่าเป็นใคร หรืออะไรเท่านั้น

(ข) ภาคแสดง หมายถึงคำที่แสดงอาการของภาคประธานให้ได้ความครบว่า แสดงอาการอย่างนั้นอย่างนี้ เช่น ตาสี-นอน บ้าน-งาม ฉัน-
กินข้าว เขา-เป็นนายอำเภอ ฯลฯ ภาคที่อยู่ท้ายประธาน เช่นคำ นอน งาม กินข้าว เป็นนายอำเภอ นี้เรียกว่า ภาคแสดง

ข้อความใดๆ ถ้ามีความหมายครบ ๒ ภาคบริบูรณ์เช่นนี้แล้ว ก็ได้ชื่อว่า ประโยค

ในภาคแสดงนี้ มีบทช่วยกริยาอยู่ ๒ ประเภท คือ:
(ก) บทกรรม ที่ช่วยกริยาชนิดที่ไม่มีความเต็มในตัว ซึ่งเรียกว่า สกรรมกริยา (แปลว่า กริยาที่ต้องมีกรรมรับ) ดังตัวอย่างที่อ้างไว้ข้างต้นว่า ฉันกินข้าว คือคำ กิน เป็นสกรรมกริยา มีใจความไม่ครบต้องอาศัยบทกรรม คือคำ ข้าว ช่วยพ่วงท้าย จึงจะได้ความครบเป็นประโยค

(ข) บทวิกัติการก ที่ช่วยบทกริยาชนิดที่เรียกว่า วิกตรรถกริยา ซึ่งไม่มีเนื้อความในตัว ต้องอาศัยบทวิกัติการกพวกนี้เข้าช่วย จึงจะได้ความครบภาคแสดง ดังตัวอย่างข้างต้นว่า “เขาเป็นนายอำเภอ” คือคำ เป็น เป็นวิกตรรถกริยา ต้องอาศัยคำ นายอำเภอ เป็นวิกัติการกช่วยพ่วงท้าย จึงจะได้ความครบเป็นประโยคบริบูรณ์

รวมความว่า ข้อความที่เรียกว่าประโยคนั้นต้องมีภาคประธาน และภาค แสดงครบริบูรณ์ และใน ๒ ภาคนี้ ย่อมมีส่วนสำคัญ ที่เป็นใจความอยู่คือ:-
ก. ในภาคประธาน ก็มีบทประธาน เช่น ตาสี บ้าน ฉัน ฯลฯ ดังกล่าวแล้วเป็นส่วนสำคัญ

ข. ในภาคแสดง ก็มีบทอกรรมกริยา หรือถ้าเป็นสกรรมกริยา ก็มีบท กรรมช่วยด้วย ถ้าเป็น  วิกตรรถกริยา ก็มีบทวิกัติการกช่วยด้วยดังกล่าวแล้ว เป็นส่วนใจความสำคัญ ซึ่งจะอธิบายโดยพิสดารต่อไปข้างหน้า

(๒) วลี คือ คำที่ติดต่อกันตั้งแต่ ๒ คำขึ้นไป ซึ่งมีความหมายติดต่อเป็นเรื่องเดียวกัน แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งๆ ของประโยค และไม่มีเนื้อความครบถ้วน เป็นประโยคดังกล่าวแล้ว ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ก. “นกเขาชวา บินเร็ว” เป็นประโยค แต่ นกเขาชวา เป็นวลีที่มี สามายนามติดต่อกัน ๓ คำ คือ นก เขา และ ชวา

ข. “สมภาร วัดบางประทุนใน เทศน์ดี” เป็นประโยค แต่ วัดบางประทุนใน เป็นวลี

ค. “ข้าว ในหม้อทองเหลือง นั้นกินไม่ดี” เป็นประโยค แต่ ในหม้อ ทองเหลือง เป็นวลี

ฆ. “การนอนกลางวันบ่อยๆ ไม่ดี” เป็นประโยค แต่ การนอน กลางวันบ่อยๆ เป็นวลี ดังนี้เป็นต้น

ข้อสังเกต มีคำประสมบางพวกที่มีลักษณะคล้ายวลี เช่น คำประสม ในวจีวิภาค คือ:- “คน ขาหัก, เขา ร้อนใจ ฯลฯ” คำ ขาหัก และ ร้อนใจ เป็นคำประสมซึ่งแยกออกจากกันไม่ได้ เพราะทำให้เสียความ จึงจัดว่าเป็นคำเดียวเท่านั้น ส่วนวลีนั้น ถึงจะแยกออกเป็นคำๆ ก็ได้ความเท่าเดิม
ดังตัวอย่างข้างบนนี้ ธรรมเนียมในภาษาไทย เรามักนิยมพูดเป็นวลีโดยมาก

ส่วนปรุงข้อความ ข้อความที่เราใช้พูดจากันโดยมากเป็นประโยค ซึ่งแบ่งเป็น ๒ ภาค และมีบทประธานกับบทกริยา หรือบทช่วยกริยาบางบท เบป็ส่วนสำคัญดังกล่าวแล้วนั้น และในภาคทั้ง ๒ นั้น นอกจากส่วนสำคัญดังกล่าวนี้ ยังมีคำบางวลีบ้าง หรือมีประโยคด้วยกันบ้าง เข้ามาแทรกประสม เป็นส่วนปรุงข้อความให้ได้ความชัดเจนขึ้นบ้าง ให้ติดต่อเป็นเรื่องเดียวกันบ้าง ดังจะจำแนกไว้พอเป็นที่สังเกตต่อไปนี้:-

(๑) บทขยายข้อความ ได้แก่คำก็ดี วลีก็ดี ประโยคก็ดี ที่นำมาใช้เป็น
บทขยายส่วนสำคัญแห่งภาคทั้ง ๒ ของประโยค ดังกล่าวแล้วนั้น ให้ได้ความชัดเจนขึ้น เช่นตัวอย่างประโยคว่า “เสือ-กัด-เด็ก” นี้ เราจะเอาบทขยายมาต่อคำ “เสือ” ซึ่งเป็นบทประธานให้ได้ความชัดเจนขึ้นก็ได้ดังนี้:-

ก. “เสือ ใหญ่ กัดเด็ก” คำ ใหญ่ เป็นบทขยาย เสือ
ข. “เสือ ในป่าใหญ่ กัดเด็ก” วลี ในป่าใหญ่ เป็นบทขยาย เสือ
ค. “เสือ ตัวกินไก่ กัดเด็ก” ประโยคว่า ตัวกินไก่ เป็นบทขยาย เสือ และภาคแสดงก็มีบทขยายได้เช่นเดียวกัน  ซึ่งจะจำแนกและอธิบายโดยละเอียดต่อไปข้างหน้า

(๒) บทเชื่อมข้อความ ในส่วนปรับปรุงข้อความนั้น นอกจากบทขยายข้อความดังกล่าวแล้ว ยังมีบทเชื่อมข้อความสำหรับเติมลงหน้าประโยคบ้าง ท้ายประโยคบ้าง และในระหว่างประโยคบ้างเพื่อให้ข้อความติดต่อเป็นเรื่องเดียวกัน และบทเชื่อมข้อความนี้จำแนกออกได้เป็น ๒ ประเภทคือ:-

ก. ประเภทเครื่องเกี่ยว ที่เชื่อมประโยคให้ติดต่อเป็นเรื่องเดียวกัน เช่น “น้ำขึ้น แต่ ลมลง ” หรือ “ เขาพูด ให้ ฉันเสียใจ ” คำ แต่ กับ ให้ เป็นเครื่องเกี่ยวให้ประโยคติดต่อกัน ซึ่งจะอธิบายโดยพิสดารต่อไปข้างหน้านี้ประเภทหนึ่ง

ข. ประเภทเบ็ดเตล็ดอื่นๆ ยังมีคำอื่นๆ อีกที่ปรับปรุงข้อความให้เชื่อมติดต่อกันคือ:-

บทอาลปน์ คือคำเรียกร้องชื่อของผู้ที่พูดด้วย เช่น นายสี ดังตัวอย่างว่า “นายสี เธอไปไหน” ก็ดี หรือบทอาลปน์ที่มีบุพบทนำหน้า เช่น ดูก่อน นายสี ข้าแต่ท่านทั้งหลาย ดังตัวอย่างว่า “ดูก่อน นายสี เธอไปไหน” เป็นต้น ก็ดี บทว่า นายสี หรือ ดูก่อนนายสี ฯลฯ ก็นับเข้าใน บทเชื่อมข้อความ เหมือนกัน

บทอุทานต่างๆ ก็อยู่ในพวกเชื่อมข้อความเหมือนกัน ตัวอย่าง “เหม่ๆ! เจ้านี่จองหองนัก เฮ้ย! ไม่ช้าเจ้าจะรู้สำนึกตัว” คำอุทาน เหม่ๆ! ก็ดี คำเฮ้ย! ก็ดี นับว่าอยู่ใน บทเชื่อมข้อความ ทั้งนั้นดังนี้เป็นต้น

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร