วรรณคดีสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

หม่อมราโชทัย
ในสมัยรัชกาลของพระองค์ วรรณคดีก็ยังคงรุ่งเรืองสืบต่อกันมา เพราะนักกวีในสมัยรัชกาลยังมีโอกาสได้มาสร้างผลงานในรัชกาลที่ ๔ อยู่หลายท่าน เช่น สุนทรภู่ คุณพุ่ม คุณสุวรรณ วรรณคดีสมัยนี้เริ่มมีการซื้อขายต้นฉบับเป็นครั้งแรก คือ หมอบรัดเลย์ ซื้อลิขสิทธิ์นิราศลอนดอนจากหม่อมราโชทัย เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๕ เป็นเงิน ๔๐๐ บาท

บทละครรามเกียรติ์
ตอนพระรามเดินดง
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์เป็นกลอนบทละคร พระราชนิพนธ์เพื่อแสดงละคร

มีเนื้อความว่า นางไกยเกษี ทูลให้ท้าวทศรถขับพระรามออกป่า ๑๔ ปี มีพระลักษณ์และนางสีดาตามไปด้วย จนถึงถวายพระเพลิงพระบรมศพท้าวทศรถ มีความไพเราะมาก นับว่าพระองค์จะทรงแข่งกับกวีอื่นๆ ด้วย เช่น

ฝูงกวางย่างเยื้องเล็มสะบัด         สิงห์ผัดเผ่นผกดูหกหัน
ช้างสารซึมเซาเมามัน            เสือทะยานยืนยันคำรามรน
ไกรสรเดินกลางดงดูองอาจ        จามรีลีลาศถนอมขน
คชสีห์พาพวกจรดล            หมีเมินเดินบ่นงึมงำมา

ชมปลา
เป็นหมู่หมู่คู่เคล้าคลึงว่าย        บ้างคล้ายคล้ายตามมหาชลาสินธุ
ปลาสวายว่ายเล็มไคลกิน        บ้างโดดดิ้นลางมัจฉาพากันจร

นอกจากนี้ผลงานของพระองค์ท่าน ก็ยังมีร่ายยาว มหาเวสสันดรชาดก ๕ กัณฑ์ มีวนปเวสน์ จุลพน มหาพน สักกบรรพ และฉกษัตริย์ ร้อยแก้ว ก็มีกฎหมาย ประเพณี ศาสนา โหราศาสตร์ พระองค์ทรงเป็นนัก โหราศาสตร์ ดาราศาสตร์ยอดเยี่ยม

บทละครเรื่องพระมเหลเถไถ
คุณสุวรรณเป็นผู้แต่ง บางท่านก็จัดกวีหญิงผู้นี้อยู่ในรัชกาลที่ ๓ เพราะเป็นกวีสมัยนั้น

คุณสุวรรณเป็นธิดาของพระยาอุไทยธรรม ราชนิกุลบางช้าง ได้ถวายตัวทำราชการในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๔ อยู่กับกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ เป็นกวีที่อาภัพ เพราะสติไม่ค่อยจะดี ได้สร้างผลงานไว้ ๒-๓ เรื่อง เช่น พระมเหลเถไถ กับ อุณรุทร้อยเรื่อง เป็นต้น แม้จะมีลีลาที่ค่อนข้างจะแปลก แต่ก็ให้ความสนุกสนาน ขบขันดี

พระมเหลเถไถนี้แต่งเมื่อขณะสติวิปลาต ดังนั้นสำนวนโวหารก็พลอยวิปลาตไปด้วย แต่ก็ชวนให้อ่านเป็นการขบขันดี ตั้งชื่อตัวละครก็ชอบกลอยู่ เช่น
มาลีดวงพวงช่อมะลอชร     มาลีชาดมาดซ้อนมะรอนนา
มะรินชิงจิงจ้อมายอตา     มะยมเต็มเข็มสามะกาโล
มะกาลิงปิงปุ่มกระทุ่มท้อน     กะทิงถินกลิ่นขจรมะลอนโห
มะลิวันมันโมกกะโหลกโก     กุหลาบแกมแนมโยทกาลี

บทละครเรื่องอุณรุทร้อยเรื่อง
คุณสุวรรณ แต่งในคราวเดียวกับพระมเหลเถไถ เป็นบทละครตลก เอาตัวละครในเรื่องต่างๆ มารวมกัน จะเอาเนื้อความที่เป็นแก่นสารเรื่องราวไม่ได้ เพราะแต่ละเรื่องเข้ากันไม่ได้ หากแต่มีสำนวนกลอนสละสลวย อ่านเพลิดเพลิน ตลกขบขัน แสดงถึงผู้แต่งมีความรู้กว้างขวาง อยู่ไม่น้อยทีเดียว ยิ่งมีกลอนบทหนึ่งที่เรียกว่า จำแลงกาย ก็เป็นแนวคิดที่ขบขันและแปลก คือแปลงไปแปลงมาก็ยังคงเดิมอยู่ เช่น โกสีห์ แปลงเป็นท้าวหัสไนย (หมายความว่าพระอินทร์แปลงเป็นพระอินทร์) ที่เรียกว่าอุณรุทร้อยเรื่องนั้นก็เพราะขึ้นต้นก็กล่าวถึงอุณรุท แต่ต่อไปก็กล่าวถึงตัวละครเรื่องอื่นๆ

ตัวอย่าง จำแลงกาย
ว่าพลางนางแปลงกายา     เป็นองค์สุดาเยาวมาลย์
รี้พลให้กลายเป็นโยธา        ไอยราแปลงเป็นคชสาร
พาชีแปลงเป็นอาชาชาญ    พระพรหมมานแปลงเป็นท้าวธาดา
ไกรสรให้แปลงเป็นสิงหราช     สกุลชาติให้แปลงเป็นปักษา
พระราเมศแปลงเพศเป็นรามา     พยัคฆาแปลงเป็นพยัคฆี
พระยาครุฑแปลงเป็นสุบรรณจร     วานรแปลงเป็นกระบี่ศรี
นาคาเป็นพระยาวาสุกรี        โกสีห์แปลงเป็นท้าวหัสไนย…

เป็นบทกลอนที่แปลกประหลาดกว่านักกวีอื่นทั้งหลายที่แต่งมา ทั้งสำนวนก็ไพเราะด้วย

เพลงยาวจดหมายเหตุเรื่องกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพประชวร
คุณสุวรรณเป็นผู้แต่งในสมัยรัชกาลที่ ๓ ขณะที่กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ประชวร เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๖

ลักษณะเป็นกลอนเพลงยาว    ผู้แต่งเองเรียกว่านิราศยาว แต่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเรียกว่า เพลงยาว เพราะไม่มีลักษณะเป็นนิราศเลย

ความมุ่งหมายในการแต่ง ก็เพื่อรายงานการประชวรของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ซึ่งเป็นที่เคารพของผู้แต่งมาก

เริ่มด้วยบทไหว้ครูตามธรรมเนียม ต่อจากนั้นก็เล่าเรื่องอาการประชวรของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ตั้งแต่เดือน ๔ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ผู้ถวายการรักษา ได้เล่าอาการประชวรโดยละเอียด ครั้นมีอาการทุเลาลง ก็มีการฉลองกันอย่างเอิกเกริก
ตัวอย่างเช่น
พอเคลื่อนคลายหายพระโรคที่โศกเศร้า     พวกข้าเฝ้าปรีดิ์เปรมเกษมศรี ต่างตัดผมห่มผ้าขาวม้าดี         ยืนตระหนี่ใบกล้วยหนาทั้งผ้าบาง
สงสารจิตคิดไปก็ใจหาย         พระโรคคลายแต่ว่าใจไม่สุขา
เพราะริรักร่วมห้องต้องตำรา     อุประมาเหมือนจะสาวเอาดาวเดือน
โอ้วิตกอกร้อนเพราะศรรัก         ไม่ประจักษ์น้ำใจจนใหลหลง
เมื่อเดือนสิบขึ้นค่ำทำให้งง         พิศวงแลตลึงเหมือนหนึ่งตาย

นิราศเดือน
นายมี (หมื่นพรหม สมภักษร) เป็นผู้แต่ง

ลักษณะ เป็นกลอนนิราศ

ความมุ่งหมายของผู้แต่ง เพื่อบรรยายขนบประเพณี งานเทศกาลในรอบปีของชาวไทย ให้ความรู้เรื่องประเพณีได้เป็นอย่างดีของแต่ละเดือน มีคนเข้าใจว่า สุนทรภู่เป็นผู้แต่ง เพราะบทกลอนมีความไพเราะดี
ตัวอย่าง เช่น
ถึงเดือนห้าเศร้าสร้อยละห้อยหา         พระจันทราวันอับก็ดับสูญ
แต่โศกเศร้าเราเสริมขึ้นเพิ่มพูน         ไม่ดับสูญไปบ้างเหมือนอย่างเดือน
ไม่ได้ชมโฉมศรีไม่มีสุข                จะเปรียบทุกข์ดังอะไรก็ไม่เหมือน
ถึงจะมีข้าวสองสักห้องเรือน            ไม่ชื่นเหมือนคนรักสักราตรี
เดือนสิบสองล่องลอยกระทงหลวง     ชนทั้งปวงลอยตามอร่ามแสง
ดอกไม้ไฟโชติช่วงเป็นดวงแดง        ทั้งพลุแสงตึงตังดังสะท้าน
เสียงนกบินพราดพรวดกวดอ้ายตื้อ     เสียงหวอหวือเฮฮาอยู่ฉ่าฉาน
ล้วนผู้คนล้นหลามตามสะพาน        อลหม่านนาวาในสาคร

บรรยายให้เกิดเป็นภาพพจน์ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้นายมียังได้แต่งนิราศเป็นกลอน    เรียกว่านิราศสุพรรณ แต่การแต่งแปลกกับนักกวีคนอื่น คือ เมื่อพบเห็นอะไร ก็แสดงออกในเรื่องความรักของตนต่อผู้หญิงที่
ตนจาก

แต่นายมีกลับทำสิ่งที่พบเห็นมาผูกเป็นกลอนสอนใจคน และมีอีกเรื่องหนึ่งที่นายมีแต่ง คือ นิราศถลาง ซึ่งเป็นวรรณคดีนิราศที่ดีอีกเรื่องหนึ่ง

อิศริญาณภาษิต
ผู้แต่ง คือ หม่อมเจ้าอิศริญาณ ทรงนิพนธ์ด้วยความน้อยพระทัยที่รัชกาลที่ ๔ หาว่าบ้า พระภิกษุหม่อมเจ้าอิศริญาณ    จึงทรงนิพนธ์ระบายความน้อยพระทัย แสดงเป็นสุภาษิตสอนใจ ทั้งทางโลกทางธรรม มีโวหาร เผ็ดร้อนคมคาย และเหน็บแนมเอาไว้ นับว่าทรงนิพนธ์ได้ดี มีถ้อยคำไพเราะ มีสัมผัสดี ตัวอย่าง เช่น
คำเหน็บแนมด้วยความน้อยพระทัย
ของสิ่งใดเจ้าว่างามต้องตามเจ้า    ใครเลยเล่าจะไม่งามตามเสด็จ…
วาสนาไม่คู่เคียงเถียงท่านยาก     ถึงมีปากมีเสียงเปล่าเหมือนเต่าหอย

สุธนูคำฉันท์
ผู้แต่งคือพระพิพิธสาลี (พระยาอิศรานุภาพ อ้น) แต่งเป็นฉันท์

เป็นนิทานชาดก เพื่อส่งเสริมพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นการแสดงฝีปาก และเป็นการเฉลิมพระเกียรติของกษัตริย์ มีสำนวนไพเราะ มีความหมายลึกซึ้ง และถูกต้องตามฉันทลักษณ์ คล้ายจะแข่งกับสมุทรโฆษคำฉันท์

เนื้อเรื่อง พระเจ้าพรหมทัต มีมเหสีชื่อนางเกศนี พระโพธิสัตว์ได้จุติลงมาเกิด และเจริญเติบโตจนได้ราชสมบัติ เสด็จเลียบพระนคร ม้าคู่บารมีชื่อมณีกักขะ ได้พาเหาะไปสู่ปราสาทนางจิระประภา และได้เป็นมเหสี มีกษัตริย์อื่นที่หมายจะชิงนาง ยกทัพมารบ พระองค์ก็ต่อสู้จนได้ชัยชนะ แล้วเดินทางกลับไปแวะพักที่เมืองยักษ์ ม้าถูกยักษ์จับไปทั้งสองพระองค์ต้องอาศัยเรือพานิชกลับพระนคร แต่เรือมากลางทางถูกพายุทำให้เรือแตก จึงทำให้พลัดกัน เมื่อนางจิระประภาขึ้นฝั่งได้ก็สร้างศาลาโรงทาน พระสุธนูไปได้นางอัญชวดี น้องสาวยักษ์เป็นมเหสี ต่อมาจึงได้ม้าคืน และได้พบกับนางจิระประภา จึงเดินทางกลับ และมีการกลับชาติตามแบบของชาดก

สำนวนไพเราะ เช่น
สมเด็จพระกฤษณยุพิน         วรราชกัญญายล
หยิบพุทราผลวิมล            ก็เสวยวโรชา
แล้วทอดผลาพิมลเม็ด         ผลยังวสุนทรา
หนึ่งนางดุรงคจรมา            บริภุญชเดนตาย
บัดนั้นก็ดลบวรสิน            ธนครรภ์อันทาย
พร้อมองค์พธูสมรหมาย        บ่ มิล่วงทิวาการ ฯ

พระสุธนคำฉันท์
พระพิพิธสาลี (อ้น) (พระยาอิสรานุภาพ) เป็นผู้แต่ง ลักษณะเป็นฉันท์และกาพยN

เป็นเรื่องชาดก เป็นการเผยแพร่พระพุทธศาสนา และแต่งเพื่อความกตัญญูต่อพระมหากษัตริย์

เนื้อเรื่อง ได้จากปัญญาชาดก มีเรื่องว่า พระสุธนแห่งเมืองอุดรปัญจาล์เชี่ยวชาญทางศิลปศาสตร์ ปกครองบ้านเมืองให้รุ่งเรือง เพราะได้รับการอุปถัมภ์จากพญานาคชมภูจิตร

ท้าวนันทาธิราช แห่งปัญจาบุรีอิจฉาให้พราหมณ์ไปฆ่าพญานาค เพราะเห็นว่าบ้านเมืองของตนอดอยาก เกิดจากพญานาคตนนี้

นายพรานรู้จึงฆ่าพราหมณ์เสีย ด้วยอุบายกลของพญานาค พญานาคคิดตอบแทนนายพราน ต่อมานายพรานจับนางมโนห์ราได้ จึงนำไปถวายพระสุธน พระสุธนออกรบ ทางเมืองคิดจะฆ่านางมโนห์รา เพราะเห็นเป็นตัวกาลี นางมโนห์รารู้จะหนีกลับถิ่นของตน พระสุธนกลับมาไม่พบนางมโนห์รา จึงติดตามไปพบอุปสรรคนานาประการ ในที่สุดก็เดินทางไปถึงนางมโนห์ราแล้วพากลับมายังอุดรปัญจาล์ตามเดิม เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ นางมโนห์รานั่นเอง

ตัวอย่างบทเทิดเกียรติกษัตริย์
กล่าวกลอนสนองราชธานี             ภักดีโดยมีมโน
กตัญญูญาณผดุงเดชพิภพจักพาฬ    มอบเป็นอุปการพระเกียรติไตรชาติตรี

ตอนบรรยายดอกไม้
สารภีภิรมย์ราย            ขจรจายประอวนอร
กลกลิ่นอนงค์นอน        วรนุชแนบใน
บุนนากอเนกนันต์        มลิวันจรุงใจ
พุดจีบจำปาไน            บุลบุษบงบาน

อุเทนคำฉันท์
พระยาอิสรานุภาพ (พระพิพิธสาลี) เป็นผู้แต่ง เอาเค้าโครงจากนิทานในอรรถกถาธรรมบท แต่งได้ปราณีตกว่าสุธนคำฉันท์ เป็นการถวายสดุดีพระมหากษัตริย์ที่ได้ช้างแก้วมาสู่บารมี

เมื่อแต่งเสร็จแล้ว ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย และได้รับพระราชทานเงิน ๔ ชั่ง แต่งใช้ฉันท์มากกว่า ๒ เรื่อง ที่แต่งมาแล้ว

บางตอนเลียนแบบฉันท์เก่าๆ แต่ดัดแปลงใหม่ มีการเล่นอักษรไพเราะ มีโวหารดี เป็นตัวอย่างฉันท์ที่ดี

เนื้อเรื่อง ท้าวปรันตะประ ครองนครโกสัมพี วันหนึ่งได้พามเหสีทรงครรภ์เสด็จออกประพาส ถูกนกหัสดีจาร์โฉบเอาไป และได้ไปอาศัยฤาษีอยู่ จนกระทั่งคลอด โอรสชื่ออุเทน นางได้ฤาษีเป็นสามี
เมื่อพระอุเทน เรียนเวทมนตร์ บังคับช้างเสร็จแล้วก็คืนสู่โกสัมพี ได้ครองโกสัมพี และได้นางสามาวดี เป็นมเหสี

ต่อมาพระอุเทนลูกกษัตริย์แห่งอุชเชนี ทำอุบายใช้ช้างยนต์จับตัวไปได้สอนวิชาบังคับช้างให้

นางวาสุละทัตร ธิดาพระยาจันตประโชติ เกิดรักพระอุเทน จึงทำอุบายหนีกลับโกสัมพี

นางสามาวดีเคร่งในธรรม และบริจาคทานอยู่เสมอ แต่ก็ถูกนางคันฑิยพราหมณีแกล้งเอางูไปใส่ไว้ในพิณของพระอุเทนๆ คิดว่านางสามาวดีคิดฆ่า จึงแผลงศรไปประหาร แต่ไม่ตาย ภายหลังพระอุเทนจึงให้นางถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุได้ตามปรารถนา

ตัวอย่าง ถวายพระเกียรติ และนมัสการพระรัตนไตร
เบญจางค์วรางค์อภิวาท         ยติวันทกรรนุม
ด้วยกายวจีจิตประชุม            อภิปัตย์นมัสการ
โลเกศวสุนทรสยม            ภุวรุตมาจรรย์
เสร็จเถลิงสิงหาสน์วิมุตติมาร     วิชิตฉัตรชัย
บรรยายต้นไม้
เกตแก้วพิกุลกา        รณิกาสุกรมยม
เล็บนางอนงค์นม    สวรรค์สวัสดิ์สาวสวรรค์
ปริงปรางปรมปรุปริก     กรจับจิกขจรจันทร์
สลาสลับแสงพัน        พยอมโยธ กา กาญจน์

รอนรอนสุริยง วางแสงอัสดง ลับเหลี่ยมเมรุไกร
โขมดมายา โป่งป่าผีไพร กู่ก้องร้องไห้ ห้อยโหนโยนตัว

หลวงจักรปาณี (มหาฤกษ์)
เป็นกวีเอกคนสำคัญคนหนึ่งในรัชสมัยรัชกาลที่ ๔ เกิดที่แพหน้าวัด
พนัญเชิง อยุธยา ในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นกำพร้าบิดามารดามาตั้งแต่เล็กๆ อยู่กับป้า และในกาลต่อมาได้เรียนหนังสือที่วัดสุทัศน์ ในสำนักพระอริยวงศาคตญาณ (อู่) ได้เข้าศึกษาธรรมจนได้เปรียญ ๔ ประโยค เมื่อลาสิกขาเพศแล้ว ได้เข้ารับราชการในกรมอาลักษณ์ ในรัชกาลที่ ๔ ได้เป็น “หมื่นพากย์โวหาร” ในรัชกาลที่ ๕ ได้เป็นหลวงจักรปาณี ย้ายไปอยู่กรมลูกขุน

นิราศพระปฐม
หลวงจักรปาณี (มหาฤกษ์) เป็นผู้แต่ง หลังจากลาสิกขาออกมาใหม่ๆ ลักษณะเป็นกลอนนิราศ วัตถุประสงค์ เพื่อเป็นกุศลในการไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ และแผ่กุศลให้ผู้อ่าน และบรรยายความน้อยเนื้อต่ำใจในความอาภัพของตนเอง

เนื้อเรื่อง กล่าวถึงการเดินทางโดยทางเรือ ผ่านวัดสุทัศน์ คลองหลอดคลองบางกอกน้อย บางหว้า วัดชีปะขาว และตำบลอื่นๆ จนถึงนครปฐม

มีโวหารเผ็ดร้อน คมคายตามนิสัยของคนหนุ่ม ไม่เกรงใจใคร    ถืออารมณ์ของตนโดยระบายออกมาอย่างชัดแจ้ง

ตัวอย่าง เช่น
ศาสนาก็ดูเรียวแล้วเดี๋ยวนี้     กุมารีพจพรากจุกจากหัว
ดูคายคมหัวนมเท่าลูกบัว    พูดถึงผัวชอบใจกระไรเลย

เป็นการวิพากย์วิจารณ์ถึงสุภาพสตรี
ว่าเมียเขาเรารักทำควักค้อน     ขึ้นงิ้วอ่อนมือตีนปีนไม่ไหว
แม้สมัครรักเราไม่เป็นไร        จะปีนได้ทุกวันไม่ครั่นคร้าม
ด้วยหนามงิ้วเดี๋ยวนี้มีไม่มาก    เขาคอยถากอยู่ทุกวันอย่าหวั่นหวาม
จะทำบุญด้วยขวานตระหง่านงาม ไปถากหนามงิ้วบาดให้ขาดระยำ

เป็นคารมประชดประชันถึงเรืองมีชู้ คารมเผ็ดร้อน ยังมีบทที่น่ากลัวว่า
ดึกสงัดเงียบงอมทุกหย่อมหญ้า     โขมดป่าโหยหวนครวญกระหึ่ม
เห็นเงาไม้ดำดำดูคร้ำครึ้ม        เสียงพึมพำน่ากลัวขนหัวชัน
นกตื้อทื้อทั้งทูตมันพูดผิด        เสียงพี่ทิดกีทีไม่ขวัญ
ทั้งเค้าคู่กู่ก่นตะโกนกัน        ให้หวั่นหวาดกมลให้ขนพอง

แสดงถึงโวหารของคนหนุ่ม    มีลีลาโลดโผน อารมณ์ร้อน แม้กระนั้นก็ดี ยังมองเห็นทำให้เกิดภาพพจน์ได้อย่างชัดแจ้งน่าชมเชย

นิราศพระปถวี
พระมหาฤกษ์ (หลวงจักรปาณี) แต่งเป็นกลอนนิราศไปไหว้พระฉาย

เล่าเรื่องการเดินทางไปนมัสการพระฉาย มาทางเรือกับบ่าว ๓ คน และคนแก่ ๑ คน ผ่านดอนเมือง บางปะอิน คลองตะเคียน แควป่าสัก บ้านเสื่อ บ้านอรัญญิก ให้ความรู้ในด้านประวัติศาสตร์ เช่น มาถึงอรัญญิก ซึ่งเป็นดินแดนตีเหล็กทำมีดดาบ

“เบนพวกลาวชาวลิลัยมิใช่เจ๊ก     แต่ตีเหล็กเหลือสนุกเสียงกรุกกริก ผู้หญิงลาวสาวใหญ่ทำไพล่พลิก     ดูตุกติกเต่งตั้งอลั่งงาม”

รู้สึกสำนวนกลอนเรียบร้อยขึ้น ไม่ใช้อารมณ์ เพราะแต่งตอนอายุมากแล้ว มีลูกศิษย์มาก ต้องระมัดระวัง ถ้อยคำมีลีลาไพเราะน่าฟัง
โดยที่พระมหาฤกษ์เป็นชาวอยุธยา    เมื่อถึงวัดพนัญเชิงย่อมจะแวะจอดเรือเยี่ยมญาติพี่น้อง เช่น
“เที่ยวเยี่ยมเยือนญาติสหายเบนหลายวัน…”

มีการบรรยายตอนแก้ผ้าที่เรือผ่านบ้านลาว เข้าใจว่าเป็นพวกลาวที่ตกเป็นเชลย ว่า
เห็นหญิงลาวสาวแก่เขาแก้ผ้า     เมื่อเวลาอาบนํ้านั้นทำขัน
พอถกแผลวแววไว้ดูไม่ทัน        ผ้านุ่งนั้นเหนี่ยวขึ้นหัวแต่ตัวเปลือย
ยามจะขึ้นหยิบผืนผ้าสรวมหัว    สอดถึงตัวเต็มผืนลุกยืนเรื่อย
พวกเรือเราเขาเขม้นไม่เห็นเฟือย     เขาทำเฉื่อยเฉยไปจนใจจริง

บรรยายตอนนมัสการพระฉายว่า
ถึงเงื้อมเขาเข้าชลาตรงหน้าพระ        สาธุสะมิได้เสื่อมที่เลื่อมใส
น้อมประนมชมพระฉายพรายประไพ     อยู่ที่ในเงื้อมผายอดคีรี
พระสันฐานสูงประมาณหกศอกนะ     เป็นแปดศอกทั้งพระรัศมี
ก็สมควรส่วนมาในบาลี            ดูเหมือนที่อุ้มบาตรทรงยาตรา
ตามพระองค์ดุจทรงกาสาวพัสตร์    พระบาทหยัดเหยียบยืนกับพื้นผา
เขาปิดทองผ่องทับแทบลับตา    แต่พระชาณุชงฆ์นับลงไป

นิราศทวาราวดี
แต่งโดยหลวงจักรปาณี ลักษณะเป็นกลอนนิราศ แต่งเพื่อความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ

มหาฤกษ์ได้แต่งเล่าถึงการไปรับป้า ซึ่งป่วยอยู่ที่กรุงเก่า ไปโดยเรือจ้าง มีเด็กแจวไป ๒ คน ผ่านตำบลต่างๆ เช่น บ้านดอกไม้ บ้านปูน สามโคก วัดเชิงท่า มีสำนวนโวหารดี แต่งได้เรียบร้อยดีขึ้น บรรยายอย่างตรงไปตรงมา มีคติเตือนใจ

ตัวอย่างเตือนใจทางคติธรรม
ถึงบ้านงิ้วหิวจิตให้คิดขาม             เห็นแต่หนามเข้าประเดี๋ยวยังเสียวอก
ให้พรั่นใจไหวหวิวงิ้วนรก             แมนไปตกแล้วหนามคงตำตีน
เพราะรูปาวจรหล่อนทำเข็ญ         ใครเกิดเป็นบุรุษวิสุทธิ์ศีล
เห็นสาวสาวเข้าไม่ได้เหมือนใจจีน     จะพ้นปีนงิ้วนี้สักกี่คน

คติสอนใจในความรัก
เมื่อแรกรักน้ำผักก็ว่าหวาน         ครั้นเนิ่นนานน้ำอ้อยก็กร่อยขม
เหมือนคำหวานพาลนักมักเป็นลม แต่เขาชมกันว่าดีนี่กระไร
บอระเพ็ดนั้นเป็นยารักษาโรค    แต่ว่าโลกเขาว่าขมหาชมไม่
เหมือนคนชั่วพูดจาประสาใจ    ไม่มีใครชมปากมีอยากกิน

รำพึงถึงความรัก
หวนคะนึงถึงอนงค์เมื่อสงกรานต์     เคยพบพานโฉมเฉลาที่เขาทอง
ชวนเข้าถํ้าคลำพุ่มปทุมทิพย์        พลางกระซิบมิให้นางแม่หมางหมอง
มาจากชื่นคืนคํ่าให้ตรำตรอง    แลดูท้องฟ้าเกลื่อนด้วยเดือนดาว

บทกลอนบางบท เป็นที่ติดอกติดใจผู้อ่าน และจำได้มาก ดังเช่น เมื่อแรกรักน้ำผักก็ว่าหวาน ครั้นเนิ่นนานน้ำอ้อยก็กร่อยขม…

นิราศลอนดอน
แต่งโดย หม่อมราชวงศ์กระต่าย อิศรางกูร ณ อยุธยา
หม่อมราโชทัยนี้ เป็นบุตรของหม่อมเจ้าชอุ่ม ในเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๗ ได้รับการศึกษาด้านภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เป็นล่ามไปกับคณะราชทูตที่ไป อังกฤษ เพื่อถวายเครื่องราชบรรณาการแด่พระนางวิคตอเรีย ใน พ.ศ. ๒๔๐๐ ต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “หม่อมราโชทัย” ถึงแก่กรรม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๐ วรรณคดีเรื่องนี้หมอบรัดเลย์ ได้ซื้อกรรมสิทธิ์ไป จัดพิมพ์จำหน่ายในราคา ๔๐๐ บาท

นิราศลอนดอนนี้เป็นกลอนเพลง ทำนองนิราศ ได้บันทึกการเดินทางจากกรุงเทพ ฯ ถึงลอนดอนประเทศอังกฤษ ได้บรรยายถึงสิ่งที่พบเห็น เกี่ยวกับความรู้ เรื่องราวแปลกๆ ไว้น่าอ่านทีเดียว ใช้ถ้อยคำง่ายๆ ภาษาง่ายๆ ให้คนทั่วไปอ่านเข้าใจ นับว่าเป็นวรรณคดีที่ดีเด่นเรื่องหนึ่ง มีสำนวนกลอนดีเด่นพอๆ กับสุนทรภู่ และนายมี สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวิจารณ์ว่า เป็นกลอนนิราศที่แต่งได้เกลี้ยงเกลา รื่นด้วยสัมผัสเข้าใจง่าย มีกระบวนการพรรณนาละเอียดละออ

ควรจะกล่าวได้ว่า การกล่าวถึงเรื่องราวและสถานที่ซึ่งไม่เคยพบเห็นในเมืองไทยนั้น เป็นเรื่องลำบาก เพราะไม่ว่าอะไรเป็นมาอย่างไร    แต่ผู้แต่งก็สามารถบรรยายได้อย่างถูกต้อง นับว่าเป็นบุคคลที่เป็นอัจฉริยะ
ผู้หนึ่ง

เช่นเกี่ยวกับรถไฟ ซึ่งเป็นความรู้ใหม่ๆ
..ซึ่งเรียกหาปรากฏว่ารถไฟ         ใช้เป็นไฟทุกรถหมดด้วยกัน
อันเดียวใส่ไฟประจำไว้นำหน้า     ผูกรัดถาต่อล้วนล้อหัน
ถึงยี่สิบเศษได้ยังไวครัน        แรงขยันเหลือล้นพ้นกำลัง

เกี่ยวกับการใช้ไฟแก๊ส
ไฟที่นามตามอังกฤษร้องเรียกแก๊ส ดูแจ่มแจ๊ดกระจ่างสว่างศรี ประหลาดจิตคิดทำล้ำอัคคี         ไม่ต้องมีด้ายใส่ไส้น้ำมัน
เป็นแต่หลอดขึ้นไปไฟก็ติด         แปลกชนิดธรรมดาวิชาขยัน
เมื่อจะให้ไฟดับจับสำคัญ         ที่ควงขับปิดขวับพออับลม
เปลวอัคคีสีแสงที่แดงช่วง         ก็ดับดวงดังจำนงประสงค์สม
อันไฟแก๊สเมืองอังกฤษติดอุดม     ทุกนิคมใช้การในบ้านเรือน

นี่ก็เป็นความรู้ชนิดหนึ่งว่า สมัยนั้นอังกฤษใช้ไฟแก๊สกันตามบ้านเรือน ไฟฟ้าคงจะยังไม่มี หรือมีก็อยู่ในวงจำกัด

ความรู้เกี่ยวกับภาพยนตร์
อันรูปหนังดูงามตามวิสัย         เมื่อแลไปคล้ายคนชอบกลหนา
มีเรือนบ้านร้านตลาดดาษดา     บรรพตาต้นไม้ล้วนใหญ่ครัน
ที่จะเปลี่ยนตัวหนังคอยนั่งพิศ     ไม่แจ้งจิตหลากลํ้าทำขันขัน
ตัวนี้หายกลายเป็นตัวนั้น        ช่างเปลี่ยนกันแยบยลพ้นความคิด

เรื่องการค้า
ถ้าเงินทองเพียงสองสามร้อยชั่ง     อย่าคิดหวังว่าจะสร้างซึ่งห้างหอ
ต้องเช่าตึกเขาอาศัยคับใจคอ     ยังงอนหง่อเงียบฮือไม่ฤานาม

นิราศลอนดอน จึงเป็นนิราศเกี่ยวกับความรู้ในสมัยนั้น เป็นต้นว่า พูดถึงสวนสัตว์ อุโมงค์ใต้น้ำ เข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินี และผ่านเมืองต่างๆ บรรยายสิ่งที่พบเห็นไว้โดยละเอียด มีโวหารไพเราะ สำนวนกลอนกล่าว กันว่ามีความไพเราะเท่าสุนทรภู่ และนายมี

ที่มา:โฆฑยากร