วรรณคดีสมัยรัชกาลที่ ๖

นิทานเวตาล

พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
(พ.ศ.๒๔๓๒-๒๔๖๘)
ในรัชกาลที่ ๖ นี้ วรรณคดีไทยได้เจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านกวีและร้อยแก้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งร้อยแก้ว ได้มีนักเขียนนำบทประพันธ์ประเภทนวนิยายจากตะวันตกมาแปลเป็นไทย และได้ดัดแปลงเป็นละครไทย เรียกว่าละครพูด ละครพันทาง ละครร้อง เป็นที่นิยมกันทั่วไป ละครคณะต่างๆ ได้เกิดขึ้น และนำเรื่องราวของนักประพันธ์ออกแสดง เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง และได้ทรงให้เสรีภาพในการเขียน ในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีอีกด้วย

ในปี ๒๔๕๗ ทรงตราพระราขบัญญัติวรรณคดีสโมสรขึ้น ทั้งนี้โดยเพื่อจะยกมาตรฐานการแต่งหนังสือ ไทยให้ดีขึ้น และทรงตั้งกรรมการทำหน้าที่ตรวจพิจารณา หนังสือทั้งเก่าและใหม่ที่ควรยกย่อง แล้วประทับตราประจำสโมสร คือตราพระลัญจกร เป็นรูปพระคเณศไว้ด้วย

ร่ายยาวมหาเวสสันดรรัชกาลที่ ๖
มหาเวสสันดรมีหลายฉบับด้วยกัน เช่น มหาชาติคำหลวง กาพย์มหาชาติ ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก โดยที่มีการแต่งมหาชาติเพื่อใช้เทศน์ เพราะกาพย์มหาชาติเทศน์ไม่จบในวันเดียว จึงทำให้มีหลายสำนวน ต่อมากระทรวงศึกษาธิการ และหอพระสมุดวชิรญาณได้
พิจารณารวบรวมขึ้นเป็นเล่ม เรียกว่า ร่ายมหาเวสสันดรชาดก โดยได้ใส่เพลงหน้าพากย์ประจำกันด้วย ดังนี้
ทศพร     กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ         สาธุการ
หิมพานต์    กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ     ดวงพระธาตุ
ทานกัณฑ์     สำนักวัดถนน                พระยาโศก
วนปเวสน์     รัชกาลที่ ๔                    พระยาเดิน
ชูชก        สำนักวัดสังข์กระจาย            เซ่นเหล้า
จุลพน    รัชกาลที่ ๔                    ดุดพาทย์
มหาพน    พระเทพโมลี (กลิ่น)            เชิดกลอง
กุมาร        เจ้าพระยาพระคลัง            โอดเชิดฉิ่ง
มัทรี        เจ้าพระยาพระคลัง            ทะยอย
สักกบรรพ    รัชกาลที่ ๔                    กลม
มหาราช     กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ         กราวนอก
กษัตริย์    กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ         ตระนอน
ทศกัณฑ์    กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ         กลองโยน

เมื่อรวมแล้วสามารถเทศน์จบได้วันเดียว

หัวใจนักรบ
พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๖ พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถมาก ทรงพระราชนิพนธ์ไว้มากกว่า ๒๐๐ เรื่อง มีนามปากกา เช่น ศรีอยุธยารามจิตติ อัศวพาหุ พระขรรค์เพชร พันแหลม นายแก้ว นายขวัญ เป็นต้น

หัวใจนักรบ เป็นบทละครร้อยแก้ว มีจุดมุ่งหมายที่จะปลุกใจประชาชนให้เกิดความรักชาติ ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖

เนื้อเรื่อง พระภิรมย์วรากร ซึ่งคัดค้านการตั้งเสือป่า ต่อมาเกิดสงคราม ลูกชายคนโตได้เป็นทหารและเสียชีวิต ลูกชายคนเล็กเป็นลูกเสือ ภรรยาและลูกสาวเป็นพยาบาล ตอนสุดท้ายพระภิรมย์วรากรผู้มองไม่เห็นประโยชน์ในการช่วยชาติและตั้งเสือป่าก็กลับใจ เพราะ
มองเห็นประโยชน์ทำเพื่อประเทศชาติ นับว่าเป็นยอดแห่งบทละครพูด (วรรณคดีสโมสร)

การดำเนินเรื่องเรียบร้อย ถ่ายทอดลักษณะของตัวละครได้อย่างแนบเนียน

วิวาห์พระสมุทร
พระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๖ เป็นบทละครพูด สลับรำทรงพระราชนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ พระราชทานแก่คณะเสือป่า กองเสนาหลวงรักษาพระองค์ เพื่อเก็บเงินบำรุงราชนาวีสมาคม

เนื้อเรื่อง เป็นเรื่องของกองทัพเรืออังกฤษซึ่งแผ่อำนาจมาทางเอเชีย เป็นเรื่องรักบทร้องก็ไพเราะ เช่น
ถึงกลางวันสุริยันแจ่มประจักษ์    ไม่เห็นหน้านงลักษณ์ยิ่งมืดใหญ่
ถึงราตรีมีจันทร์อันอำไพ        ไม่เห็นโฉมประโลมใจยิ่งมืดมน
อ้าดวงสุรีย์ศรีของพี่เอย        ขอเชิญเผยหน้าต่างนางอีกหน
ขอเชิญจันทร์แจ่มกระจ่างกลางสกล     เพื่อให้พี่ยลเยือกอุรา

มัทนะพาธา
เป็นบทละครพูดคำฉันท์ รัชกาลที่ ๖ ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ วรรณคดีเรื่องนี้คณะกรรมการวรรณคดีสโมสร ได้ประชุมลงมติว่าเป็นหนังสือที่แต่งได้ดี เป็นบทพระราชนิพนธ์ที่ทรงพระราชดำริขึ้นเอง นับเป็นบทละครที่แปลก และเป็นเรื่องแรกของเมืองไทย ที่แต่งเป็นฉันท์

เนื้อเรื่อง
สุเทษณ์เทพบุตร ได้สาปนางฟ้าชื่อมัทนาซึ่งไม่รักตนให้ไปเกิดเป็นดอกกุหลาบในหิมวัน พระกาละทรรศิน นำกุหลาบ (กุพชก) ไปปลูก ท้าวชัยเสนออกล่าสัตว์พบมัทนาขณะที่กลายเป็นคนในวันเพ็ญ เกิดรักใคร่กัน ฤาษีได้อภิเษกให้

นางจัณฑีมเหสีเดิมหึงหวง ทำอุบายให้ชัยเสนฆ่ามัทนา เพชฌฆาตได้ปล่อยตัวไป ภายหลังได้ทราบความจริง จึงตามไปพบ แต่นางปฏิเสธไม่รับรัก ท้าวชัยเสนจึงนำกุหลาบไปปลูกไว้ในวัง

เป็นละครโศกนาฏกรรม มีถ้อยคำไพเราะ ได้รับประกาศนียบัตร เฉลิมพระเกียรติจากวรรณคดีสโมสร ลักษณะตามแบบนิยายสมัยภารตะของ อินเดีย ยังมีบทเจรจาที่ไพเราะ เช่น
ครั้นเมื่อสดับศัพท์        ทสำเนียงก็เยือกเย็น
ราวดื่มอุทกเพ็ญ            รสะรื่นระรวยใจ
เสียงเจ้าสิเพรากว่า        ดุริยางคดีดใน
ฟากฟ้าสุราลัย            สุรศัพทะเริงรมย์
ยามเดิรบ่เขินขัด            กละนัจจะน่าชม
การกรก็เร้ารม             ยะประหนึ่งระบำสวย
ยามนั่งก็นั่งเรียบ         และระเบียบบ่เขินขวย
แขนอ่อนฤาเปรียบด้วย     ธนุกงกระชับไว้
พอเห็นวรพักตร์            วนิดาวะรวางดี
บัดนั้นฤกมี             ฤดิท่วมสิเนหา
เหมือนโฉมดะรุณี         นะแหละยื่นสหัตถ์มา
ล้วงใจดนุคร่าห์             และกระลึงฤทัยไว้
แต่นั้นก็อนงค์             นะสิยังบ่คืนให้
กำดวงฤดีใน             วรหัตถะแน่นครัน
หากนางจะมิชอบ         และจะคืนหะทัยนั้น
ข้านี้ก็จะศัล             ยะพิลาปพิไรวอน

พระนลคำหลวง
พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๖ ทรงพระราชนิพนธ์ เมื่อ พ.ศ ๒๔๕๖ เสร็จ พ.ศ. ๒๔๕๙

ลักษณะ มี โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย ใช้คำประพันธ์ทุกประเภท เค้าโคลงเรื่องมาจากวรรณคดีสันสกฤต ในคัมภีร์มหาภารตะ ไม่เกี่ยวกับพุทธศาสนา แต่งแฝงคติธรรมเอาไว้ มีทั้งความรักและซื่อสัตย์

เนื้อเรื่อง ดำเนินเรื่องตามนโลมาขยานัม จาก มหาภารตะ ของกฤษณไทวปายมุนี มีเรื่องว่าพฤหัสวะฤษี เล่าเรื่องพระหลให้พี่น้องกษัตริย์ปาณฑพฟัง กล่าวถึงความรักอันแท้จริงของนางทมยันตี ที่มีต่อพระนล แห่งนครนิษัท ซึ่งแพ้พนันสกาจนเสียบ้านเมือง ได้รับทุกข์ทรมานต่างๆนาๆ    ต่อมาพระนลได้ไปเป็นสารถีของท้าวฤตบรรณ ได้ถูกพระยานาคพ่นพิษใส่ ต่อมาพระนลพนันสกาชนะได้บ้านเมื่องคืน และมีความสุขครองเมือง

ความมุ่งหมายทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า
นานาประเทศล้วน        นับถือ
คนที่รู้หนังสือ            แต่งได้
ใครเกลียดอักษรคือ        คนป่า
ใครเยาะกวีไซร้            แน่แท้คนดง

พระนลคำหลวง นอกจากเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และใช้คำประพันธ์ทุกชนิดมีคติสอนใจแล้ว ยังมีภาคผนวกอภิธานศัพท์ให้ประโยชน์ในการศึกษาอีกด้วย ตัวอย่าง
อ้าดูอโศกนี้        ศรีไสววิไลยตา
อยู่หว่างกลางพนา    เป็นสง่าแห่งแนวไพร
ชุ่มชื่นรื่นอารมณ์        ลมเพยพัดระบัดใบ
ดูสุขสนุกใจ        เหมือนแลดูจอมภูผา

นารายณ์สิบปาง
เป็นลิลิต รัชกาลที่ ๖ ทรงนิพนธ์
จุดมุ่งหมาย
เรื่องนี้ข้าแต่งให้            ราชินี
อินทรศักดิศจี            นิ่มน้อง
โดยเธอกล่าววาที        เชิญแต่ง
ซึ่งเฉพาะเหมาะต้อง        จิตข้าประสงค์

ขยมนามรามราชเรื้อง        จักรี วงศ์แฮ
วชิราวุธมง                กุฎเกล้า
เพียงแต่งลิลิตมี            จิตมุ่ง
ปริยายข้อเค้า            ตำนาน

ศกสองพันสี่ร้อย            หกห้า
มากราคมที่            สี่ไซร้
ได้เริ่มลิลิตนา            รายณ์สิบ ปางแล
ค่อยแต่งนิดหน่อยได้        ทุกวัน

สองพันสี่ร้อยหก            สิบหก
ที่เจ็ดพฤษภาคม            จบสิ้น
เกรงว่าจะมีบก            พร่องอยู่
โคลงเคอะร่ายขาดหวิ้น    อาจมี

โคลงพระราชนิพนธ์ดังกล่าว บอกจุดประสงค์ในการพระราชนิพนธ์ และวันเริ่มพระราชนิพนธ์ วันพระราชนิพนธ์จบไว้อย่างครบถ้วน

เป็นลิลิตที่มีความไพเราะ ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวของภารตะในนิยายพระราม ซึ่งเป็นตัวเรื่องสำคัญ นอกจากนี้ก็ยังทรงอธิบายไว้ตอนท้าย สะดวกในการค้นคว้าเรื่องศัพท์ และความรู้ต่างๆ กัน กับลัทธิของพราหมณ์อีกมากมาย

พระราชนิพนธ์ ของรัชกาลที่ ๖ นี้ แยกออกเป็นประเภท ได้ดังนี้

ประเภทบทละคร ได้แก่เรื่องพระร่วง หนามยอก เอาหนามบ่ง พระเกียรติรถ ฉวยอำนาจ วิวาห์พระสมุทร มหาตมะ เสียสละ เวนิสวานิส ตามใจท่าน วิไลเลือกคู่ เห็นแก่ลูก

บทพากย์ ชุดรามเกียรติ์
โบราณคดี เที่ยวเมืองพระร่วง สงครามสืบราชสมบัติโปแลนด์ เที่ยวเมืองไอยคุปต์ ตำนานชาติยังยืน

ศาสนา พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร เทศนา เสือป่า พระตุนหเศป
วรรณคดี บ่อเกิดรามเกียรติ์
ทหาร สงครามป้อมค่ายพระชิด พันแหลม
ปลุกใจ ปลุกใจเสือป่า ยิวแห่งบูรพาทิศ

โคลนติดล้อ
แพทย์ กันป่วย
กวีนิพนธ์ ลิลิตนารายณ์สิบปาง นิราศพระมเหลเถใถ กาพย์เห่เรือ ธรรมาธรรมสงคราม มงคลสูตรคำฉันท์

เรื่องแปล เวนิสวานิส โรเมโอกับจูเลียต ตามใจท่าน พระยาราชวังสันบทละคร แปลจากเรื่อง Othello

นับว่า พระองค์ได้สร้างวรรณคดีไทย ให้เป็นสมบัติของลูกหลานไว้เป็นอันมาก นับว่าพระองค์เป็นนักปราชญ์ ซึ่งยอดเยี่ยม มีความรู้แตกฉานผู้หนึ่งในวงวรรณคดีไทย

นิราศนครวัตร
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ พระองค์ทรงเป็น พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนามเดิม พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร เจ้าจอมมารดาชุ่มเป็นพระมารดา ประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๕ ทรงเชี่ยวชาญในด้านประวัติ ศาสตร์และโบราณคดีเป็นอย่างยิ่ง ทรงได้รับเกียรติเป็นพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย พระนิพนธ์ส่วนใหญ่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี

นิราศนครวัตรนี้ ความจริงมีลักษณะเป็นกลอน นิราศตอนต้นเพียง ๒๖ คำ นอกนั้นนิพนธ์ด้วยร้อยแก้ว ทรงนิพนธ์เมื่อเสด็จประพาสกรุงกัมพูชา เมื่อ พ ศ. ๒๔๖๗ พรรณนาถึงการเดินทางเรือ ชมเมืองพนมเปญ และเรื่องราวเกี่ยวกับกษัตริย์กัมพูชา พระราชพิธี การปกครอง ชมปราสาทหิน ได้ความรู้ทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี เป็นอย่างมาก

สาส์นสมเด็จ
เป็น วรรณคดี ที่เป็นลายพระหัตถ์ของสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ กับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งทรงโต้ตอบกัน มีความรู้ทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ศิลปกรรม และอักษรศาสตร์

นิทานโบราณคดี
พระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์จบเมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๔๘๕ ด้วยร้อยแก้ว นิทานโบราณคดีนี้ หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุล(พระธิดา) กราบทูลขอให้ทรงพระนิพนธ์เป็นนิทาน
โบราณ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องจริง ๒๑ เรื่องที่ประสบมา และมีผู้บอกเล่ามา อ่านสนุกเหมือนนิทานทั่วไป แต่ให้ความรู้ในด้านโบราณคดี ด้านประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และขนบประเพณีไทยเป็นอันมาก

บทละครเรื่อง สาวเครือฟ้า
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงนิพนธ์ดัดแปลงมาเป็นละคร จากเรื่องมาดาม บัตเตอร์ไฟล ของบุชชินี เป็นเรื่องของสาวชาวเหนือ กับนายทหารหนุ่มชาวกรุงเทพฯ

กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงเป็นพระโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดาเขียน ประสูติเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๔ พระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าวรวรรณากร ทรงเป็นต้นสกุล “วรวรรณ”

บทละครเรื่องนี้มีชื่อเสียงมาก เป็นนิยายชีวิตคล้ายจะเป็นจริง เกิดจากชีวิตสาวชาวเหนือ ละครคณะต่างๆ ในสมัยนั้นได้นำไปแสดง มีคนติดใจร้องไห้กันมาก เพราะสงสารเครือฟ้า นับว่าพระองค์ได้นำมาดัดแปลงให้เข้ากับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยได้เป็นอย่างดี

บทละครร้อง เรื่องพระลอ
เป็นพระนิพนธ์ของ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ที่มีชื่ออีกเรื่องหนึ่ง โดยทรงเอานิยายเรื่อง พระลอ ซึ่งเป็นนิยายทางเมืองเหนือ มานิพนธ์เป็นบทละครร้อง ใช้เพลงยาว และการแต่งกายแบบไทยเหนือ จึงทำให้ดูเด่นขึ้น

คำร้อง
โอ้พระชนนีศรีแมนสรวง         จะโศกทรวงเสียวรู้สึกรำลึกถึง
ไหนทุกข์ถึงบิตุรงค์ทรงรำพึง     ไหนโศกซึ้งถึงกูคู่หทัย
ร้อยชู้ฤาเท่าเนื้อเมียตน        เมียร้อยคนฤาเท่าพระแม่ได้
พระแม่อยู่เยือกเย็นไม่เห็นใคร     ฤากลับไปสู่นครก่อนจะดี

พระองค์ทรงนิพนธ์หนังสือไว้ทุกชนิด เป็นผู้ให้กำเนิดละครร้อง นับว่าเป็นบรมครูแห่งการละคร นอกจากนี้ก็ทรงนิพนธ์เฉลิมพระเกียรติ กษัตริย์ลิลิตพระมหา-มกุฎราชคณานุสรณ์  ลิลิตตำนานพระแท่นมนังคศิลาบาท พระราชพงศาวดาร พม่า นิราชนราธิป พงศาวดารไทย อาหรับราตรี ฯลฯ

จดหมายจางวางหร่ำ
เป็นพระนิพนธ์ของ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์

พระนามเดิมว่า พระองค์เจ้ารัชนี แจ่มจรัส เป็นพระโอรสองค์ที่ ๒๒ ในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญกับเจ้าจอมมารดาเลี่ยม ประสูติเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๐ ทรงใช้นามปากกาว่า น.ม.ส. ทรงเป็นอัจฉริยบุรุษในทาง ประพันธ์ผู้หนึ่ง ทรงสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๘

เป็นเรื่องลงพิมพ์ในหนังสือ ทวีปัญญา แต่งด้วยร้อยแก้ว เป็นรูปจดหมายจากพ่อ (จางวางหร่ำ) ถึงบุตร (นายสนธิ์ รวม ๗ ฉบับ เป็นเรื่องเกี่ยวกับตักเตือน สั่งสอน และให้คติสอนใจ แม้แต่ในสมัยปัจจุบันนี้ซึ่งนิยมส่งลูกหลานไปเรียนเมืองนอก ก็ให้คติเตือนใจได้เป็นอย่างดี วิธีสั่งสอนแบบเทศนาโวหาร เป็นลักษณะพิเศษไม่เหมือนใคร

นิทานเวตาล
กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทรงนิพนธ์ ได้เค้าเรื่องมาจากภาษาอังกฤษของ เซอร์ ริชาร์ด ฟรานซิส เมอร์ตัน

ทรงนิพนธ์เป็นร้อยแก้ว เป็นนิทานโดยเล่าถึงนิทานเวตาล สัตว์ประหลาดชนิดหนึ่ง ให้พระเจ้าวิกรมาทิตย์ฟังรวม ๑๐ เรื่อง (เดิมมี ๒๕ เรื่อง) ในตอนท้ายมักแทรกข้อคิดเป็นคำถาม ให้ท้าววิกรมาทิตย์เผลอ ตอบทุกครั้ง ต้องพยายามไปจับเวตาลใหม่ จนนิทานที่ ๑๐ พระองค์ทรงจนปัญญาตอบไม่ได้  จึงได้เวตาลไปทรงแทรกคติเตือนใจไว้อย่างน่าฟัง เช่น

“ถ้ายังไม่สิ้นชีวิต ชีวิตก็มิใช่อื่น คือความทุกข์ที่ยืดยาวออกไปนั่นเอง”

“ชายใดที่เดินไปในทางแห่งความรัก  ชายนั้นจะรอดชีวิตไปมิได้”

พระนลคำฉันท์
เป็นพระนิพนธ์ของ น.ม.ส. ดำเนินเรื่องเช่นเดียวกับพระนลคำหลวง ใช้คำฉันท์ กาพย์ มีความยาว ๒๖ บท น.ม.ส. ทรงนิพนธ์เรื่องนี้พร้อมกับพระนลคำหลวง ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๖ แต่ใช้คำง่ายกว่าพระนลคำหลวงและมีศัพท์แปลกๆ ปนอยู่มาก ตัวอย่าง เช่น
เหินห่างพระนางตรู         อุรตูก็กรมเกรียม
บุบผาจะหาเทียม        นุชเนื้อก็เหลือแล
ซ่อนกลิ่นถวิลว่า            สติบ้าจะแข่งแข
หมายเดือนบ่เหมือนแด    ก็จะเดือดอุราตาย

เมื่อพิจารณาดูแล้วคล้ายกับว่า พระนลคำฉันท์ จะแข่งกับพระนลคำหลวง

กนกนคร
เป็นพระนิพนธ์ประเภทนิทานของ น.ม.ส. ทรงนิพนธ์ด้วยกลอนหก และกาพย์ กลอนหกที่ใช้มีลักษณะเป็นพิเศษ คือสัมผัสกันเป็นคู่ๆ จากเค้าโคลงหนังสือสันสกฤตชื่อ กถาสธิตสาคร ซึ่งพราหมณ์ชื่อ โสมเทวะ เป็นผู้รวบรวมไว้ ทรงนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘

ทรงนิพนธ์แบบละคร แต่มิได้เล่นละคร คือใช้ลำนำ เมื่อนั้น บัดนั้น มีเนื้อความกล่าวถึงการผจญเคราะห์กรรมของพญากมลมิตร และนางอนุศยินี นางฟ้าที่มาเกิดเป็นมนุษย์ ตามคำสาปของฤษีตนหนึ่ง จนพ้นคำสาป ที่ว่าทรงนิพนธ์กลอนหกสัมผัสเป็นคู่ๆ เช่น
โสภาอาภรณ์อ่อนช้อย     ดังย้อยจากแคว้นแดนสรวง
ผิวทองผ่องเพ็ญเห็นยวง    นางปวงงามใกล้ไม่มี
งานกรรณงามแก้มแย้มยิ้ม     พักตร์พริ้มเพราองค์ทรงศรี
งามพระนัยนานารี        รังสียิ่งจันทร์วันเพ็ญ

สามกรุง
เป็นพระราชนิพนธ์ของ น.ม.ส. เรื่องสุดท้าย เรื่องทำนองประวัติศาสตร์ เริ่มตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาตอนปลายเสียให้แก่พม่า พระเจ้าตากสินตั้งกรุงธนบุรี จนถึงสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่๑ ถึงรัชกาลที่๔ โดยนิพนธ์ โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน มีสำนวนคมคาย เช่น
วังเวียงเพียงป่าช้า        เยิงยล
แทบบ่มีที่พล            พักได้
ควบคุมประชุมชน        คับแคบ
เมื่อศัตรูสู่ใกล้            เศิกกล้ามากวน

อิลราชคำฉันท์
พระยาศรีสุนทรโวหาร (ผัน สาลักษณ์) ท่านเป็นบุตรของพระยาศรีสุนทรโวหาร (กมล สาลักษณ์) เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๔ ได้รับการศึกษาจากบิดา และเข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์

การแต่งอิลราชคำฉันท์ แต่งเพื่อสนองพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ ๖ ที่ทรงมุ่งส่งเสริมการประพันธ์ แต่งเป็นฉันท์และกาพย์ แต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ ขณะที่เป็นหลวงสารประเสริฐ โดยเอานิทานเรื่อง “อิลราช” ซึ่งเป็นบ่อเกิดรามเกียรติ์ ที่รัชกาลที่ ๖ ทรงพระราชนิพนธ์ เมื่อแต่งเสร็จแล้ว ร. ๖ ทรงให้ตรวจแก้ไขและทรงพระราชทานคำนำในหนังสือนั้น

ใช้ศัพท์ที่ใกล้เคียงสมัยใหม่ เข้าใจได้ง่าย เช่น บทเริ่มต้นประณามพระรัตนตรัย

ข้าขอเทิดทศนัมประฯมคุณพระศรี
สรรเพชรพระผู้มี            พระภาค
อีกธรรมาภิสมัยพระไตรปิฎกวากย์
ทรงคุณคะนึงมาก        ปริมาณ

แบบเรียนธรรมจริยา
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นผู้แต่ง ท่านเป็นบุตรของพระยาไชย สุรินทร์ (เจียม เทพหัสดิน ณ อยุธยา) และท่านผู้หญิงอยู่ เกิดเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๑๙ ถึงอสัญกรรมเมื่อ วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๖ รวมอายุได้ ๖๖ ปี ตำแหน่งสูงสุดในทางราชการ เป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการในสมัยนี้) ท่านใช้นามปากกาว่า ครูเทพ ท่านได้นิพนธ์เรื่องต่างๆ ไว้หลายเรื่อง เป็นตำราทางวิชาการก็มาก เป็นบทละครเรื่องสั้น บทเพลง ได้แก่เพลงกราวกีฬา เรื่องดอนเจดีย์ เรื่องยิ้มเถิด นอกจากนยังมีนามปากกาอีกหลายนาม เช่น จิงโจ้ และเขียวหวาน เป็นต้น

แบบเรียนธรรมจริยานี้ ใช้สำหรับอ่านสอนเด็กให้มีความประพฤติดี มีจรรยาดี

ตัวอย่างซึ่งนิพนธ์เป็นโคลงได้แก่
ผิเราคิดโกรธแค้น    เคืองใคร ใครนา
จะพูดจะทำใด        เมื่อนั้น
ล้วนแต่จะทุจริตไป    เป็นโทษ
ทุกข์จะตามบีบคั้น    ชั่วสิ้น สงสาร

ปานดังจักรเต้า            ตามรอยโคฤา
โคจะเดินไปถอย            หยุดยั้ง
จักรเกวียนย่อมจักคอย    หมุนเคลื่อน ตามแฮ
โคหยุดจักรก็ตั้ง            แต่ต้อยตามเสมอ

ผิเรามีจิตแผ้ว            ผ่องใส
จักประกอบการใด        ใหญ่น้อย
ล้วนแต่สุจริตไพ            บูลย์เลิศ เหลือแล
ผลสุขจักเคลื่อนคล้อย        ติดเต้าตามสนอง

เปรียบเงาซึ่งติดต้อย        ตามตน นั้นฤา
คราวนั่งหรือยืนดล        ก่อนนั้น
คราวนอกออกเดินหน        ไปแห่ง ใดนา
เงาย่อมตามกระชั้น        ชิดเท้าทันเรา

พลเมืองดี
เป็นนิพนธ์ของเจ้าพระยาเสด็จสุเรนทราธิบดิ แต่งเป็นทำนองเทศนาโวหาร เรื่องนายเถื่อน เป็นนายเมือง นายเถื่อนเข้ามาอยู่ในเมือง ได้รับการอบรมสั่งสอน จนได้เป็นนายเมือง เป็นหนังสือสอนศีลธรรม ขนบประเพณีของไทยเรื่องหนึ่ง

นอกจากนี้ก็มีจรรยาแพทย์ เป็นหนังสือสอนความประพฤติของแพทย์เกี่ยวกับปฏิบัติหน้าที่ที่ดีต่อประชาชน

สมบัติผู้ดี เป็นหนังสือสอนวัฒนธรรม และสหธรรม เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านทั้งสามเรื่อง ให้คุณประโยซนมาก

วาสิฎฐี
พระสารประเสริฐ แต่งร่วมกับ เสฐียรโกเศศ พระสารประเสริฐ เดิมชื่อ ตรี นาคะประทีป เป็นบุตรหลวงพิพิธวิรัชการ (เทียน นาคะประทีป) เกิดที่จังหวัดพระนคร เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๓๒

กามนิด หรือวาสิฎฐี เป็นนิยายเบงคลี แปลจาก เรื่อง The Pilgrim Kamanita ของ John E. iogie ชาวอังกฤษ

ได้รับการยกย่องว่า เป็นร้อยแก้วที่มีชื่อเสียงกว่าเรื่องแปลใดๆ สำนวนโวหารก็ไพเราะจับใจ ให้คติทั้งทางพุทธและพราหมณ์ ให้ความรู้ในขนบประเพณีแขก มีทั้งภาคพื้นดิน และภาคบนสวรรค์

ภาคพื้นดิน กล่าวถึงความรักของกามนิต และวาสิฎฐี ต้องพบอุปสรรคนานาประการ แม้จะได้พบพระพุทธเจ้า แต่ก็ไม่ได้เกิดประโยชน์อันใด ตัวเองต้องตาย เพราะความเป็นมิจฉาทิฏฐิ

ภาคในสวรรค์ ระลึกชาติได้ทั้งคู่ได้พบกันเมื่อได้กลิ่นประวาลพฤกษ์ จึงเกิดสลดใจและบำเพ็ญความสงบทางใจ ในที่สุดก็เป็นดาว แตกลับไป

พระยาอนุมาน เดิมชื่อ ยง อนุมานราชธน ใช้นามปากกาว่า “เสฐียร โกเศศ” งานนิพนธ์ส่วนใหญ่ ร่วมกับ พระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป) โดยใช้นามปากกาคู่กันว่า “เสฐียรโกเศศ” และ ”นาคะ ประทีป”

หิโตประเทศ
เป็นงานแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ ได้เค้าจากคัมภีร์ ปัญจตรันตระ ของอินเดีย แปลเป็นร้อยแก้ว

เนื้อเรื่องเกี่ยวกับภาษิตต่างๆ มี ๔ ตอน คือผูกมิตร แตกมิตร สงคราม และสงบ สุภาษิตส่วนมากเป็นของจริง ฟังได้ทุกยุคทุกสมัย

คำประพันธ์บางเรื่อง
ผู้แต่งคือ พระยาอุปกิจศิลปสาร เดิมชื่อ นิ่ม กาญจนาชีวะ เป็นบุตรนายหว่าง และนางปลั่ง เกิดเมื่อ วันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๒๒

ท่านได้แต่งเรื่องไว้หลายเรื่อง เช่น คำประพันธ์บางเรื่อง สงครามภารตะคำกลอน แบบเรียนสยาม ไวยากรณ์ อักขรวิธี วจีวิภาค วากยสัมพันธ์ ฉันทลักษณ์

คำประพันธ์บางเรื่องแต่งเป็นโคลงฉันท์ กาพย์ กลอน และร่าย ทำนองกวิวัจนะไทย ดอกสร้อย รำพึง ในป่าช้า ใช้นามแฝงว่า “อ.น.ก. “อุนิกา” “อนึก คำชูชีพ” บทดอกสร้อย เช่น
วังเอ๋ยวังเวง                หง่างเหง่งย่ำค่ำระฆังขาน
ฝูงวัวควายพ่ายลาทิวากาล        ค่อยค่อยผ่านท้องทุ่งมุ่งถิ่นตน
ชาวนาเหนื่อยอ่อนต่างจรกลับ     ตะวันลับอับแสงทุกแห่งหน
ทั้งทุ่งให้มืดมัวทั่วมณฑล         และทิ้งตนตูเปลี่ยวอยู่เดียวเอย

ความพยาบาท
ผู้แต่งคือ พระยาสุรินทราชา (นกยูง วิเศษกุล) เป็นบุตรพระอินทราชา และคุณหญิงนุ่ม

ความพยาบาทเป็นเรื่องแปล ใช้นามปากกาว่า “แม่วัน” เป็นแบบนวนิยาย กล่าวถึงความรักของฟามิโอ โรมานี ผู้มั่งคั่ง ต่อมาได้ป่วยเป็นโรคป่วงอย่างร้ายแรง จนหมดความรู้สึก ถูกนำไปเก็บไว้ในที่ฝังศพประจำตระกูล

ครั้นฟื้นขึ้น ได้พบสมบัติโจร ความตกใจกลัว จนทำให้ผมหงอก ได้เข้าไปซุ่มอยู่ในสวนหลังบ้าน และได้พบมีนนาภรรยา กำลังพรอดรักอยู่กับกีโค เฟอร์รารี เพื่อนผู้ไว้วางใจ

ฟามิโอโรมานี จึงเกิดความพยาบาทอย่างร้ายแรง จนปลอมตัวเป็นเคาต์โอลีวา พยายามผูกมิตรกับคนทั้งสอง จนกระทั่งได้แก้แค้นกีโด แล้วเข้าพิธีแต่งงานกับมีนนาแล้วชวนเธอไปที่สุสาน แล้วแสดงตัวให้มีนนารู้ว่าเขาเป็นใคร ทำให้มีนนาตกใจจนเสียสติ พอดีเกิดแผ่นดินไหว เพดานอุโมงค์พังทับมีนนาถึงแก่ความตาย ส่วนฟามีโอหนีออกมาได้

เรื่องนี้ “แม่วัน” ได้แปลไว้ด้วยถ้อยคำที่สละสลวย คมคาย ทำให้ชวนอ่านมาก นับเป็นเรื่องแปลที่ดีเรื่องหนึ่ง

สามัคคีเภทคำฉันท์
ชิต บุรทัต เป็นผู้แต่ง ปัจจุบันใช้เป็นแบบเรียน วรรณคดี แต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ โดยเอาเค้าเรื่องมาจากสุมังคลวิลาสินี อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค ว่าด้วยโทษของการแตกความสามัคคี

ชิต บุรทัต เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ เป็นบุตรนาย ชู นางปริก มีนามปากกาว่า “เอกชน” นามสกุล. “บุรทัต” รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานให้     ชิต บุรทัต ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕

สามัคคีเภทคำฉันท์ ใช้ฉันท์และกาพย์ด้วยถ้อยคำที่ไพเราะมาก

ที่มา:โฆฑยากร