วิธีใช้นามและสรรพนาม

วิธีใช้นาม
คำนามทั้งหลายต้องใช้ต่างกันตามระเบียบทั้ง ๕ คือ บุรุษ๑ ลึงค์ ๑ พจน์๑ การก๑ ราชาศัพท์๑ แต่ใช้ไม่ได้ทั่วกัน มีนามบางพวกใช้ได้ทั่วไป ทั้ง ๕ ระเบียบนั้น บางพวกก็ไม่ทั่วไป จะอธิบายทีละระเบียบ ดังต่อไปนี้ แต่ราชาศัพท์นั้นจะยกไปอธิบายรวมกันในภายหลัง

บุรุษ ตามลักษณะการพูดจากันในภาษาไทย ผู้พูดไม่ได้ใช้คำสรรพนามแทนชื่อตัว ชื่อผู้ฟัง หรือชื่อผู้ที่กล่าวถึงเสมอไป ย่อมใช้คำนามตรงๆ ก็ได้ เพราะฉะนั้นคำนามจึงใช้เป็นบุรุษด้วย ดังนี้:-

(๑) บุรุษที่๑ ได้แก่คำนามที่เป็นชื่อของผู้พูด ซึ่งผู้พูดยกขึ้นกล่าวกับ ผู้ฟัง ตัวอย่าง
ก. สามานยนาม เครือญาติ เช่น ‘เสื้อของ พี่ ไปไหน’ เป็นต้น ตำแหน่ง ‘มานี่แน่ะ! ครู จะบอกอะไรให้’ เป็นต้น

ข. วิสามานยนาม เช่น ‘อิ่ม รู้แล้วว่าเขามาหา’ เป็นต้น

(๒) บุรุษที่ ๒ ได้แก่นามของผู้ฟัง ที่ผู้พูดยกขึ้นกล่าว ตัวอย่าง
ก. สามานยนาม เครือญาติ เช่น ‘น้อง อย่าซนไป’ เป็นต้น ตำแหน่ง เช่น‘คุณเจากรม จะไปไหน’ เป็นต้น

ข. วิสามานยนาม เช่น ‘อ่ำ อย่าซนไป’ เป็นต้น

(๓) บุรุษที่ ๓ ได้แก่นามอื่นๆ ที่ผู้พูดนำมากล่าวกับผู้ฟัง เช่นตัวอย่าง “ฉันเห็น นายสอน พา น้อง ไปเที่ยวที่ โรงเรียน” ดังนี้คำ ‘นายสอน น้อง โรงเรียน’ นับว่าเป็นบุรุษที่ ๓ ทั้งนั้น

ข้อสังเกต นามที่เป็นบุรุษที่ ๑ หรือบุรุษที่ ๒ นั้น มีแต่สามานยนาม กับ วิสามานยนามเท่านั้น แต่ส่วนบุรุษที่ ๓ นั้น เป็นได้ทุกชนิด ให้พึงเข้าใจ ว่า คำนามใดๆ ถ้าไม่เป็นบุรุษที่ ๑ หรือ บุรุษที่ ๒ แล้ว ต้องนับว่าเป็นบุรุษที่ ๓ ทั้งสิ้น

ลึงค์ คำนามทั้งหลายที่ใช้ต่างกันตามลึงค์ มีเป็น ๒ แผนกคือ:-

(๑) นามที่มีเพศพรรณ หมายความว่านามที่เป็นชื่อ คน สัตว์ หรือ ผี- สางเทวดา ที่นิยมว่ามีเพศเป็นชายเป็นหญิงได้ นามแผนกนี้ยังแบ่งออกได้เป็นพวกๆ ดังนี้

ก. นามคำไทยแท้ที่ใช้เฉพาะลึงค์ ดังตัวอย่างต่อไปนี้ เป็นต้น
silapa-0126 - Copy
ข. นามคำบาลีและสันสฤตที่ใช้เฉลาะลึงค์ นามพวกนีมักมีวิธีเปลี่ยน แปลงติดมาจากภาษาเดิม คือ นามปุลลึงค์เป็นรูปอย่างหนึ่งแล้วเอามาเปลี่ยนแปลงท้ายศัพท์ใช้เป็นสตรีลึงค์อีกรูปหนึ่ง มีวิธีควรสังเกตเป็นพวกๆ ดังต่อไปนี้ เช่นตัวอย่าง
(ก) นามปุลลึงค์ที่แปลงท้ายเป็น อี ใช้เป็นสตรีลึงค์
silapa-0126 - Copy1
(ข) นามปุลลึงค์ ที่แปลงท้ายศัพท์เป็น นี อานี อินี(หรือเป็น ณี อิณี เมื่ออยู่หลังตัว ร และ ษ) ใช้เป็นสตรีลึงค์
silapa-0127 - Copy
(ค) นามปุลลึงค์ส่วนท้ายเป็น ‘ก’ แปลงเป็น ‘อิกา’ ใช้เป็นสตรีลึงค์
silapa-0127 - Copy1
ค. นามที่ใช้เป็นอลึงค์ นามพวกนี้มักมีเป็นพื้นในภาษาไทย ทั้งที่เป็นคำ ไทยแท้และที่มาจากบาลีและสันสกฤต ถึงนามที่มาจากบาลีและสันสกฤตที่ใช้ เฉพาะลึงค์ ในข้อ ข. ข้างบนนี้บางคำ มีรูปเป็นปุลลึงค์บางทีก็นำมาใช้เป็นอลึงค์ เช่น ‘เขามีบุตร ๓ คน เป็นชาย ๑ เป็นหญิง ๒ คน’ ดังนี้คำ ‘บุตร’ ตามรูป ควรเป็นปุลลึงค์ แต่ในที่นี้เป็นอลึงค์เพราะฉะนี้ควรสังเกตเนื้อความประกอบด้วย

นามที่เป็นอลึงค์นี้ เมื่อต้องการจะใช้เป็นลึงค์อะไรแน่นอนก็ใช้คำอื่น ประกอบข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง ดังตัวอย่างต่อไปนี้ เป็นต้น
silapa-0127 - Copy2
(๒) นามที่ไม่มีเพศพรรณ คือนามที่ไม่ปรากฏเป็นเพศชายหรือหญิง ได้แก่นามที่ไม่มีวิญญาณ เช่น ต้นไม้ ผัก หญ้า บ้าน เมือง จิต วาจา เวลา ดิน  น้ำ มือ เท้า ตา หู ความคิด พระอาทิตย์ พระจันทร์ ดาว เหล่านี้เป็นต้น นามแผนกนี้ต้องเป็น นปุงสกลึงค์อย่างเดียวเท่านั้น

ข้อสังเกต ลึงค์ในภาษาไทยต้องสังเกตเนื้อความของศัพท์เป็นใหญ่ จะ สังเกตตามรูปศัพท์เท่านั้นไม่พอ เพราะรูปศัพท์เป็นลึงค์หนึ่งแต่เนื้อความเป็นลึงค์อื่นไปก็ได้ เช่น คำที่มาจากบาลีและสันสกฤต ซึ่งมีรูปเป็นปุลลึงก์ อาจจะนำมาใช้ในที่เป็นอลึงค์ก็ได้ ดังคำ ‘บุตร’ ที่กล่าวแล้ว ถึงคำไทยแท้ก็เหมือนกัน เช่นคำ ‘แม่กอง แม่ทัพ แม่คู่ นางแอ่น (นก) นางเห็น (สัตว์)’ เหล่านี้ต้องเป็นอลึงค์ และคำ กะลาตัวผู้ กะลาตัวเมีย กระเบื้องตัวผู้ กระเบื้องตัวเมีย อีลุ้ม แม่แคร่ เหล่านี้ต้องเป็นนปุงสกลึงค์ ดังนี้เป็นต้น อนึ่งคำบางคำที่นิยมกันเป็นต่างๆ เช่นคำ พระอาทิตย์ พระจันทร์ เป็นต้น ที่แท้ก็เป็นนปุงสกลึงค์ แต่ในที่บางแห่งนิยมให้เป็นเทวบุตร มีภรรยา มีบุตรได้ เช่นนี้ก็ต้องนับเป็นปุลลึงค์เฉพาะในเรื่องที่กล่าวนั้นๆ

การกำหนดลึงค์ในภาษาไทยเราต่างกับภาษาบาลีและสันสกฤต ซึ่งกำหนดตามรูปศัพท์ เช่น คำ ทาร (เมีย) มาตุคาม (หญิง) เขากำหนดเป็นปุลลึงค์, ตามรูปศัพท์ และคำ ศาลา ธรณี คงคา เป็นสตรีลึงค์ ตามรูปศัพท์เหมือนกัน ดังนี้เป็นต้น แต่คำเหล่านี้เมื่อตกมาในภาษาไทยแล้ว ต้องกำหนดลึงค์ตามเนื้อความดังกล่าวแล้ว

พจน์ คำนามในภาษาไทย ย่อมมีรูปศัพท์เป็นอพจน์ทั้งสิ้น และไม่มีวิธีเปลี่ยนแปลงรูปศัพท์ให้เป็นพจน์ต่างๆ อย่างภาษาอื่นด้วย ถ้าจะต้อง การให้เป็นเอกพจน์ก็ใช้วิเศษณ์ประกอบข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง เช่นคน หนึ่ง หนึ่ง คน คน เดียว คนนี้ คน นั้น เป็นต้น หรือจะให้เป็นพหูพจน์ ก็ใช้คำประกอบเช่นเดียวกัน เช่น คนมาก หลายคน คนเหล่านี้ คนสามคน ดังนี้เป็นต้น คำวิเศษณ์ที่ใช้ประกอบบอกพจน์ มักจะเป็นประมาณวิเศษณ์ แต่ประมาณวิเศษณ์ที่บอกจำนวนครบ (บุรณสังขยา) เช่น ที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม ฯลฯ เหล่านี้เป็นอพจน์ ถ้าจะให้เป็นพจน์อื่น ต้องมีคำประกอบเข้าอีก เช่น ‘คนที่หนึ่งเหล่านั้น’ หรือ ‘คนที่หนึ่ง ผู้นี้’ เป็นต้นนอกจากนี้ยังสังเกตเนื้อความของ ศัพท์เป็นการบอกพจน์ได้อีก เช่น ‘คนพูดกัน’ ดังอธิบายแล้ว

ข้อสังเกต คำนามที่เนื่องกันแยกไม่ออก เช่น น้ำ ลม เป็นต้น โดยปกติต้องนับเป็นอพจน์ ต่อเมื่อวิธีบอกให้รู้จำนวนของชนิดหรือจำนวนที่แบ่ง ออกไปเป็นส่วนๆ เช่น ลมชนิดหนึ่ง ลมหลายชนิด น้ำถวยหนึ่ง นํ้าหลายถ้วย ดังนี้ จึงต้องบอกเป็นเอกพจน์หรือพหูพจน์ตามเนื้อความที่กล่าว

อนึ่งคำนามที่อยู่รวมกันมากๆ โดยธรรมดา เช่น ทราย ข้าว เป็นต้น ถ้าพูดขึ้นลอยๆ ว่า สีเหมือนทราย เบาเหมือนข้าวเปลือก’ เช่นนี้ ก็ต้องนับ เป็นอพจน์ เพราะไม่นิยมจะต้องการรู้เป็นจำนวนเม็ดหรือเมล็ด ต่อเมื่อมีความบ่งว่าทรายเม็ดหนึ่ง หรือข้าวเปลือกเมล็ดหนึ่งก็ดี หลายเมล็ดก็ดี จึงต้องบอกพจน์ตามเนื้อความนั้น เช่นตัวอย่าง ‘ข้าวเปลือกเมล็ดหนึ่ง ทราย ๑๐ เม็ด’ ดังนี้ ข้าวเปลือกและทรายในที่นี้เป็นเอกพจน์ หรือพหูพจน์ตามจำนวน ดังนี้เป็นต้น

อีกประการหนึ่ง คำภาษาอื่น ที่เขามีรูปต่างกันตามพจน์ เช่น อังกฤษ ฟุต ไมล์ เป็นเอกพจน์ และฟีต ไมล์ เป็นพหูพจน์ หรือ บาลี ราชา ราชินี เป็นเอกพจน์ และราชาโน ราชินิโย เป็นพหูพจน์ เป็นต้น คำเหล่านี้เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทย ไม่ต้องกำหนดพจน์ตามวิธีของเขา ให้ถือเอาคำเอกพจน์ของเขา เช่น ฟุต ไมล์ ราชา ราชินี หรือคำกลางที่ยังไม่มีพจน์ เช่น ราชกุมาร โจร เป็นต้น เป็นหลัก และให้ถือว่าคำเหล่านั้นเป็นอพจน์ ถ้าจะให้คำเหล่านี้เป็นเอกพจน์ หรือพหูพจน์ ก็ใช้คำอื่นประกอบ เช่น ฟุตหนึ่ง สองฟุต หรือ พระราชาองค์หนึ่ง พระราชาสององค์ เป็นต้น ตามหลักไวยากรณ์ในภาษาไทยเรา

การก คำนามทั้งหลายย่อมมีหน้าที่เป็นการกทั้ง ๕ ดังได้อธิบาย แจ่มแจ้งแล้วในระเบียบของคำ ตามนิยมในภาษาไทยมักใช้นาม วิกัติการก ประกอบนามข้างหน้าอีกทีหนึ่ง เพื่อขยายนามข้างหน้าให้ชัดเจนขึ้น ทำนองเดียวกับวิเศษณ์ เช่นตัวอย่าง เด็ก นักเรียน เดินมา นก กระทา ขันเพราะ ฉันพบนายสี อำเภอ ดังนี้เป็นต้น และนามที่เป็นการกเหล่านี้ มีที่สังเกตดังนี้

(๑) กรรตุการก สังเกตลำดับที่เรียง คือที่เป็นประธาน (คือเป็นตัวแสดงอาการ) ใช้เรียงไว้หน้ากริยา กรรตุวาจก เช่น ‘พ่อ’ ในความว่า “พ่อ ตีฉัน” ซึ่งแสดงว่า พ่อ เป็นผู้ทำการตี เป็นต้น ที่ไม่ใช่ประธานใช้เรียงไว้ระหว่างกริยา กรรมวาจก หรือ ระหว่าง ประธานกับกริยา กรรมวาจก เช่นคำ ‘พ่อ’ และ ‘เศรษฐี’ ในความว่า “ฉันถูก พ่อ ตี วัดนี้ เศรษฐี สร้าง” ดังนี้ ‘พ่อ’ และ ‘เศรษฐี’ เป็นผู้ทำการตี การสร้างตามลำดับ นับว่าเป็น “กรรตุการก” ช่วยกริยา ‘ตี’ และ “สร้าง” แต่ไม่ใช่ประธาน เพราะประธานเขามีแล้ว คือ ‘ฉัน’ และ ‘วัด’ เป็นต้น

(๒) กรรมการก ที่เป็นประธาน เรียงอยู่หน้ากริยานุเคราะห์ ‘ถูก’ หรืออยู่หน้ากรรตุการก เช่น คำ ‘เด็ก’ และ ‘วัด’ ในความว่า ‘เด็กถูก พ่อตี วัด นี้เศรษฐีสร้าง วัด นี้เศรษฐีให้ช่างสร้าง ’ เป็นต้น ถ้าไม่ใช่ประธาน เรียง อยู่หลังสกรรมกริยาหรือหลังบุพบท ‘ซึ่ง’ เช่นคำ ‘ธรรม’ ในความว่า ‘พระ แสดง ธรรม พระให้ศิษย์แสดง ธรรม พระแสดงซึ่ง ธรรม’ เป็นต้น

(๓) การิตการก ที่เป็นประธานเรียงไว้หน้ากริยา ‘ถูกให้’ เช่นคำ ‘ศิษย์’ ในความว่า ‘ศิษย์ ถูกครูให้อ่านหนังสือ ศิษย์ ถูกให้อ่านหนังสือ’ เป็นต้น ถ้าไม่ใช่ประธานเรียงไว้หลังบุพบท ‘ยัง’ หรือหลังกริยานุเคราะห์ ‘ให้’ เช่น คำ ‘ศิษย์’ ในความต่อไปนี้ ‘ครูยัง ศิษย์ ให้เขียนหนังสือ ครูให้ ศิษย์ เขียนหนังสือ’ ดังนี้เป็นต้น

(๔) วิเศษณการก มักเรียงอยู่หลังบุพบทที่ใช้เป็นบทเชื่อม (นอกจาก ‘ซึ่ง’ ที่เชื่อมกรรม) เช่น ‘เสื้อของ ฉัน เขามายัง บ้าน เขากินด้วย ช้อน’ เป็นต้น ถ้าละบุพบทเสียก็อยู่ติดกับบทที่มันประกอบทีเดียว เช่น ‘เสื้อ ฉัน เขามา บ้าน เขากิน ช้อน’ ดังนี้เป็นต้น

(๕) วิกัติการก เป็นการกที่อธิบายตำแหน่งของบทการกข้างหน้าให้ชัดเจนยิ่งขึ้น จึงต้องเรียงอยู่หลังบทการกที่มันประกอบเสมอไป และต้องบอกชื่อเป็นวิกัติการกของบทการกข้างหน้าด้วย เช่น คำ ‘นักเรียน’ ในความต่อไปนี้ ‘เด็ก นักเรียน นอน’ ดังนี้ ‘นักเรียน’ เป็นบทวิกัติการกของ ‘เด็ก’ และประกอบบทการกอื่นๆ ทำนองนี้ด้วยเช่น ‘เสื้อของนาย ก นักเรียน ฉัน เห็นนก กระทา เขามากับตามี คนใช้’ ดังนี้ คำ ‘นักเรียน กระทา คนใช้’ ก็เบนบทวิกัติการกของนาย ก ของนก ของตามี ตามลำดับ

ยังมีวิกัติการกอีกพวกหนึ่งที่เป็นบทช่วยวิกตรรถกริยา ซึ่งเรียงไว้หลัง วิกตรรถกริยา เช่น เขาเป็น นาย เขาคือ นาย’ ดังนี้ คำ. ‘ นาย ’ เป็นวิกัติการก ช่วยกริยา ‘เป็น’ และกริยา ‘คือ’ ตามลำดับดังนี้เป็นต้น

วิธีใช้สรรพนาม
คำสรรพนามย่อมมีหน้าที่ใช้แทนนาม เพราะฉะนั้น จึงมีวิธีใช้ต่างกันตามระเบียบทั้ง ๕ อย่างเดียวกับนาม คือ บุรุษ ลึงค์ พจน์ การก และ ราชาศัพท์ดังกล่าวแล้ว แต่มีแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย ดังจะอธิบายต่อไปนี้:-

(๑) บุรุษ คำสรรพนามที่ใช้ต่างกันตามบุรุษนั้น มีอยู่พวกเดียว คือ บุรุษสรรพนาม และนิยมใช้มากกว่าคำนามในบุรุษหนึ่งๆ มีซ้ำกันหลายๆ คำ ผิดกับภาษาอื่น ซึ่งมักจะมีบุรุษละคำ ๒ คำเท่านั้น เช่นตัวอย่าง

ก. บุรุษที่ ๑ คือ ฉัน กู ข้า ข้าพเจ้า ผม กระผม เป็นต้น
ข. บุรุษที่ ๒ คือ เอ็ง มึง เจ้า สู ใต้ฝ่าพระบาท เป็นต้น
ค. บุรุษที่ ๓ คือ เขา มัน พระองค์ เป็นต้น

บุรุษสรรพนามที่มีซ้ำกันมากๆ เช่นนี้ ย่อมมีที่ใช้ต่างกันตามชั้นของบุคคล

(๒) ลึงค์ สรรพนามที่ใช้เฉพาะลึงค์นั้น มีอยู่บางคำ คือ‘ผม กระผม เกล้าผม เกล้ากระผม เจ้ากู’ เหล่านี้เป็นปุลลึงค์ และคำ ‘อีฉัน หล่อน’* นี้เป็นสตรีลึงค์ และคำ ‘อะไร’ เป็นนปุงสกลึงค์ นอกจากนี้ก็มีรูปเป็นอลึงค์ ทั้งนั้น ต้องสังเกตตามเนื้อเรื่องหรือรูปความที่กล่าว หรือสังเกตตามนามที่ใช้สรรพนามเหล่านี้แทน คือ นามเป็นลึงค์ใด สรรพนามเหล่านี้แทนก็เป็นลึงค์นั้น
………………………………………………………………………………………….
* คำ ‘หล่อน’ โบราณหมายถึง เพศชายก็ได้ เช่น‘…เจ้าเวสสันดร หล่อนกระทำละเมิด…’ เพราะเป็นคำย่อจาก ‘ลูก-อ่อน’ แต่บัดนี้นิยมใช้เบนเพศหญิงโดยมาก
………………………………………………………………………………………..

(๓) พจน์ สรรพนามที่เรามักใช้เป็นพหูพจน์นั้น คือคำ ‘เรา’ และ ‘กัน’ แต่ไม่ทั่วไปทีเดียว คำ ‘เรา’ โบราณใช้สำหรับผู้ใหญ่พูดกับผู้น้อย ใช้เป็นเอกพจน์ก็ได้ และคำ ‘กัน’ ที่ใช้เป็นวิภาคสรรพนามเช่น ‘ ผัวเมียตีกัน ’ เช่นนี้เป็นเอกพจน์ แต่ถ้าเอามาใช้เป็นบุรุษที่๑ เช่น ‘กัน คิดถึงแกมาก’ เช่นนี้เป็นเอกพจน์ นอกจากนี้ก็ใช้สังเกตตามคำนามที่ใช้สรรพนามเหล่านี้แทน ถ้าไม่มีนามก็ให้สังเกตเนื้อความอย่างเดียวกับลึงค์

(๔) การก สรรพนามทั้งหลายใช้เป็นการกอย่างเดียวกับนาม ให้สังเกตตามที่ได้อธิบายแล้วในนาม แต่มีข้อที่ควรสังเกตอยู่อย่างหนึ่ง คือ ใน ภาษาไทยมักใช้สรรพนามเป็นวิกัติการก เพื่อแสดงชั้นสูงต่ำของนามข้างหน้า ตามความนับถือของผู้พูด เช่นตัวอย่าง (ก) นายสี ท่าน บอกฉัน (ข)นายสี เขา บอกฉัน (ค) นายสี แก บอกฉัน (ฆ) นายสี มัน บอก ดังนี้เราอาจทราบได้ว่า นายสี ในความทั้ง ๔ ข้อนั้น ผู้พูดนับถือสูงต่ำต่างกันตามที่ใช้สรรพนาม วิกัติการก ‘ท่าน เขา แก มัน’ ประกอบข้างท้าย

อนึ่งคำวิภาคสรรพนาม ‘ต่าง’ ‘บ้าง’ นี้ มักใช้ในที่เป็นวิกัติการกเป็นพื้น เช่น ‘คนทั้งหลาย ต่าง กลับบ้าน คนทั้งหลาย บ้าง ทำนา บ้าง ทำสวน ดังนี้เป็นต้น

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร