ตำนาน:เรื่องที่กลายเป็นตำนาน

นฤมล  บุญแต่ง

คนไทยเราตั้งแต่โบราณมักมีเรื่องเล่าต่อกันมาปากต่อปาก จนมีคำพูดว่า “เรื่องนี้เล่าต่อๆ กันมาจนกลายเป็นตำนานไปแล้ว” คำว่า ตำนาน ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า legend ส่วนคำไทยนั้นมีอธิบายในพจนานุกรมศัพท์วรรณกรรมไทย  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ว่าหมายถึงเรื่องเล่า หรือนิทานสั้น ๆ ที่เล่ากันในท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่ง มีเนื้อหาที่เชื่อกันว่าเป็นเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง บางเรื่องเกิดขึ้นในอดีต และบางเรื่องก็เกิดขึ้นในปัจจุบัน ตำนานส่วนใหญ่จะมีขนาดไม่ยาวนัก  แต่มีเนื้อหาที่กว้างและหลากหลายมาก  เนื่องจากตำนานบางเรื่องก็มีเค้ามาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ๆ แล้วเล่ากันต่อ ๆ มา  ตำนานประกอบสถานที่บางแห่งบางเรื่องเกิดจากจินตนาการของผู้เล่า แต่ก็พยายามทำให้ผู้คนเชื่อว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง

เนื้อหาของตำนานส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ ความเชื่อ และสิ่งเหนือธรรมชาติ  ตำนานที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์มักกล่าวถึงบุคคลที่เป็นวีรบุรุษของชาติหรือของท้องถิ่น เช่น พระร่วง พระยาพิชัยดาบหัก นายขนมต้ม ชาวบ้านบางระจัน ตำนานบางเรื่องก็ผูกพันกับสถานที่  เช่น ตำนานพระปฐมเจดีย์ เล่าถึงที่มาของพระปฐมเจดีย์ว่าเป็นเรื่องของพระยากง พระยาพาน พระยาพานฆ่าบิดาจึงสร้างเจดีย์เพื่อล้างบาป ตำนานบางเรื่องอธิบายสถานที่ที่เป็นอยู่ตามธรรมชาติแล้ว  เพื่อให้ทราบที่มาของชื่อสถานที่นั้น ๆ เช่น วังบัวบานในจังหวัดเชียงใหม่ ผาวิ่งชู้ในจังหวัดลำพูน  บ่อพรานล้างเนื้อในจังหวัดสระบุรี  ตำนานที่มีเรื่องเหนือธรรมชาติเป็นส่วนประกอบสำคัญ เช่น เรื่องภูตผีปีศาจ นางไม้ อสุรกาย  สถานที่ที่สยองขวัญ เช่น ป่าช้า บ้านผีสิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องฝีจะมีเรื่องเล่ากันมาก  เช่น แม่นาคพระโขนง ผีกระสือ ผีกระหัง ผีปอบ ฯลฯ  ซึ่งจะมีรูปร่างลักษณะและอภินิหารแตกต่างกันไป ตำนานที่เล่ากันมากอีกประเภทหนึ่ง คือ ตำนานเกี่ยวกับสมบัติและการเสี่ยงอันตรายในการขุดหาสมบัติ เช่น ตำนานเรื่องปู่โสมเฝ้าทรัพย์ ตำนานส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวที่มาจากความทรงจำ ผู้คนมักจะเชื่อว่าเกิดขึ้นจริงและมุ่งให้ข้อเท็จจริงด้านบุคคล สถานที่ และเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีตที่ไม่ไกลตัว ไม่เหลือเชื่อจนเกินไป แม้จะมีเรื่องเหลือวิสัยเข้ามาเกี่ยวข้องแต่ก็ไม่แปลกพิสดารมากจนเกินไป