หน้าที่เกี่ยวข้องของคำ

คำพูดทั้งหลาย ทั้งที่ใช้ต่างกันตามระเบียบดังอธิบายแล้วก็ดี หรือที่ไม่ต้องใช้ตามระเบียบก็ดี เมื่อนำมาใช้พูดจากันเป็นเรื่องความ ย่อมมีหน้าที่เกี่ยวเนื่องติดต่อกันแทบทั้งนั้น เช่น คำนี้มีหน้าที่เป็นผู้กระทำของกริยานั้น คำนี้มีหน้าที่เป็นผู้ถูกกริยานั้นกระทำ และคำนั้นมีหน้าที่ขยายเนื้อความของคำนั้น ดังนี้เป็นต้น ลักษณะที่คำพูดเกี่ยวข้องกันเช่นนี้เรียกว่า ‘หน้าที่เกี่ยวข้องของคำ’ นับว่าเป็นข้อสำคัญมากในไวยากรณ์ไทย เพราะคำในภาษาไทยย่อมมีลักษณะไม่แน่นอน อาจจะเป็นชนิดนั้นก็ได้ ชนิดนี้ก็ได้ และวิธีกระจายคำในวจีวิภาค ย่อมจะต้องวินิจฉัย คำพูดต่างๆ ว่าเป็นชนิดไร ลึงค์อะไร พจน์อะไร และทำหน้าที่อะไร เป็นต้น จึงจำเป็นต้องรู้หน้าที่เกี่ยวข้องของคำในข้อความนั้นๆ เสียให้แน่นอนก่อน จึงจะวินิจฉัยได้ถูกต้อง จะรวบรวมมาอธิบายทีละชนิดๆ เพื่อสังเกตง่าย ดังต่อไปนี้

หน้าที่เกี่ยวข้องของนาม  หน้าที่อันสำคัญของนามที่จะต้องใช้เกี่ยวข้องกับคำอื่น ก็คือใช้เป็นการกต่างๆ ดังอธิบายต่อไปนี้

(๑) เป็นกรรตุการก คือ เป็นผู้กระทำกริยา ย่อมมีหน้าที่เป็น ๒ อย่าง
คือ:-
ก. อยู่หน้าข้อความ คือ เป็นประธาน เช่นคำ ‘ครู’ ต่อไปนี้
ทำเอง-‘ครู อ่านหนังสือ’ เป็นต้น
เป็นผู้ใช้-‘ครู ให้ศิษย์อ่านหนังสือ’ เป็นต้น

ข. อยู่หลังคำ ‘ ถูก ’ ทำหน้าที่ช่วยกริยา เช่นคำ ‘ ครู ’ ต่อไปนี้
ทำเอง-‘หนังสือถูก ครู อ่าน’
เป็นผู้ใช้ – ‘ หนังสือถูก ครู ให้ศิษย์อ่าน’
-‘ศิษย์ถูก ครู ให้อ่านหนังสือ’ ดังนี้เป็นต้น

อนึ่ง กรรตุการกพวกนี้ ใช้บุพบท ‘โดย’ นำหน้าก็มี แต่เรียงไว้หลังข้อความดังตัวอย่างประโยคที่แปลงมาจากภาษาอังกฤษ เช่น คำ ‘ครู’ ต่อไปนี้ ‘หนังสือที่แต่งโดย ครู’ เป็นต้น

(๒) เป็นกรรมการก คือเป็นผู้ถูกกริยาทำ มีหน้าที่เป็น ๒ อย่าง คือ:-
ก. อยู่หน้าข้อความ คือเป็นประธาน เช่นคำ ‘หนังสือ’ ต่อไปนี้
ถูกกรรตุการกทำ-‘หนังสือ ถูกครูอ่าน’ เป็นต้น
ถูกการิตการกทำ-‘หนังสือ ถูกครูให้ศิษย์อ่าน’ เป็นต้น

ข. อยู่หลังสกรรมกริยา เพื่อช่วยกริยาให้มีเนื้อความเต็ม เช่น คำ ‘หนังสือ’ ต่อไปนี้
ถูกกรรตุการกทำ- ‘ครูอ่าน หนังสือ’ เป็นต้น
ถูกการิตการกทำ- ‘ครูให้ศิษย์อ่าน หนังสือ’ เป็นต้น

(๓) เป็นการิตการก คือเป็นผู้รับใช้ให้ทำกริยา มีหน้าที่เป็น ๒ อย่าง
คือ
ก. อยู่หน้าข้อความ คือเป็นบทประธานเช่น คำ ‘ศิษย์’ ต่อไปนี้ ‘ศิษย์ ถูกครูให้อ่านหนังสือ’ เป็นต้น

ข. อยู่กลางข้อความหลังกริยา ‘ให้’ ทำหน้าที่รับใช้ช่วยกริยา ‘ให้อ่าน’ เช่น คำ ‘ศิษย์’ ต่อไปนี้ (ก) ประธานใช้ ‘ครูให้ศิษย์อ่านหนังสือ’ เป็นต้น (ข) ไม่ใช่ประธานใช้ ‘หนังสือถูกครูให้ ศิษย์ อ่าน’ เป็นต้น

(๔) เป็นวิเศษณการก ซึ่งมีบุพบทนำหน้าเป็นพื้น ใช้ประกอบหน้าบท เพื่อบอกหน้าที่ เช่นตัวอย่างต่อไปนี้ ‘เสื้อของฉัน’ คำ ‘ฉัน’ เป็น วิเศษณการกประกอบ ‘เสื้อ’ บอกหน้าที่เจ้าของ ‘เขาอยู่ที่ บ้าน’ คำ ‘บ้าน’ เป็นวิเศษณการกประกอบ ‘อยู่’ บอกสถานที่ซึ่งล้วนแล้วแต่คำบุพบทข้างหน้าจะบ่งความ ดังกล่าวแล้วในข้อ- ‘ชนิดบุพบท และระเบียบของคำที่ว่าด้วยการก’

(๕) เป็นวิกัติการก ย่อมทำหน้าที่เป็นส่วนขยายบทหน้า ทั้งนามและ กริยาได้หลายสถาน ดังต่อไปนี้

ก. ขยายนาม คำวิกัติการกขยายนามนี้ คล้ายกับนามที่นำมาใช้เป็นวิเศษณ์ เพราะไม่มีบุพบทนำหน้า ต้องสังเกตเนื้อความเป็นหลักคือคำนามที่ใช้เป็นวิเศษณ์นั้น บอกลักษณะของนามข้างหน้าอย่างเดียวกับคำวิเศษณ์ เช่น ‘คนป่า’ ดังนี้คำ ‘ป่า’ แสดงลักษณะของคำ ‘คน’ว่ามีลักษณะอาการอย่างชาวป่าจึงเป็นคำวิเศษณ์ แต่คำว่า ‘คน แขก’ ดังนี้ คำ ‘แขก’ เป็นชื่อชนิดย่อยของคำคนอีกทีหนึ่ง ถึงจะทิ้งคำ ‘คน’ เสีย พูดแต่คำ ‘แขก’ คำเดียว ก็ได้ความอย่างเดียวกัน จึงเรียกว่าวิกัติการกของคำ ‘คน’ มีต่างๆ กันดังนี้

(ก) เป็นสามานยนามบอกชนิดย่อยของนามข้างหน้า เช่นนก กระจอก ส้ม โอ คน ลาว ธาตุ ทองแดง เป็นต้น
(ข) เป็นสามานยนาม บอกตำแหน่งของนามข้างหน้า เช่น ทหาร ลูกแถว เด็ก นักเรียน พระ สมภาร นายสี อำเภอ ชาย สามี หญิง แม่เรือน เป็นต้น
(ค) เป็นวิสามานยนาม คือเป็นชื่อเฉพาะของนามข้างหน้า เช่น นายสอน นางสี ขุน จำนงภักดี ประตู เทวาพิทักษ์ เป็นต้น
(ฆ) เป็นลักษณนาม สำหรับบอกลักษณะของนามข้างหน้า ว่าจะร้อง เรียกอย่างนั้นอย่างนี้ ดังแสดงไว้ในลักษณะนาม เช่น เรือสาม ลำ พระ รูปนี้ ม้า ตัวที่อาบน้ำ ข้าว ๕ เกวียน ควาย ฝูง นี้ เป็นต้น

ข. ขยายกริยา คือวิกัติการกที่ช่วยวิกตรรถกริยา ให้มีเนื้อความเต็มที่ เช่น เขาเป็น อำเภอ เขาเป็น บ้า เป็นต้น วิกัติการกพวกนี้บางทีก็เป็นลักษณนาม เช่น พระ ก เป็น รูป แรก คนเป็น อัน มาก เป็น ส่วน น้อย เป็นต้น

ข้อสังเกต นามการกต่างๆ ที่มีบุพบทนำหน้า บางทีก็ละคำบุพบทนี้ ใช้แต่นามลอยๆ ข้อนี้ให้สังเกตเนื้อความเป็นหลัก เช่นตัวอย่าง ‘เขา อยู่บ้าน’ คือ ‘เขาอยู่ (ที่) บ้าน’ ‘บ้าน’ เป็นวิเศษณการกบอกสถานที่ ‘ฝูงนก’ คือ ‘ฝูง (ของ) นก’ ‘นก’ เป็นวิเศษณการกบอกหน้าที่เจ้าของ ดังนี้เป็นต้น

คำนามที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องเป็นการกต่างๆ นั้น ได้แก่ นามอาลปน์ คือ คำร้องเรียก เช่น ‘นายแดง แก ไปไหน’ ดังนี้เป็นต้น

หน้าที่เกี่ยวข้องของสรรพนาม คำสรรพนามย่อมมีหน้าที่ใช้แทนนาม เพราะฉะนั้นจึงมีหน้าที่เกี่ยวข้องเป็นการกต่างๆ อย่างเดียวกับคำนาม ให้สังเกตเช่นเดียวกัน  แต่มีคำสรรพนามบางพวกที่ใช้ในหน้าที่แปลก ออกไปซึ่งควรจะสังเกต คือ:-

(๑) คำประพันธสรรพนาม มักมีหน้าที่สำคัญอยู่ ๓ อย่าง คือ:-
ก. เป็นวิกัติการกของนามในประโยคใหญ่ที่อยู่ข้างหน้า
ข. ใช้เป็นบทเชื่อมของประโยคทั้งสองนั้นด้วย
ค. ทำหน้าที่เป็นการกต่างๆ ของประโยคเล็กอีกด้วย เช่นตัวอย่าง ‘ม้า ที่ ฉันเลี้ยงตาย’ ดังนี้ “ที่” เป็นวิกัติการกของ “ม้า” และเป็นบทเชื่อมของประโยคใหญ่ ‘ม้า…..ตาย’ กับประโยคเล็ก ‘ที่ฉันเลี้ยง’ และคำ ‘ที่’ ยังทำหน้าที่เป็นกรรมการกของประโยคเล็กนี้ด้วย คือ ‘ที่ฉันเลี้ยง = ม้าฉันเลี้ยง แต่บางทีก็ใช้เพียงเป็นวิกัติการกของนามในประโยคใหญ่ และเป็นเครื่องเกี่ยวกับประโยคเล็กที่อยู่ข้างหลังเท่านั้น มิได้เกี่ยวข้องอย่างไร กับประโยคเล็กก็มี เช่นตัวอย่าง ‘พระรูป ที่ศิษย์ของท่านดื้อต้องลำบาก’ ดังนี้คำ ‘รูป’ เป็นลักษณนามวิกัติการกของ ‘พระ’ และ ‘ที่’ เป็นวิกัติการกของ ‘รูป’ และเป็นบทเชื่อมของประโยค ‘พระรูป….ต้องลำบาก’ กับ ‘ศิษย์ของท่านดื้อ ’ เท่านั้น ดังนี้เป็นต้น

(๒) คำวิภาคสรรพนาม ‘ต่าง’ กับ ‘บ้าง’ มักใช้เป็นวิกัติการกของนามข้างหน้า เช่น ‘คน ต่าง กินข้าว คน บ้าง กินข้าว’ แต่แปลกกับวิกัติการก อื่นๆ ที่เติมคำอื่นลงในระหว่างก็ได้ เช่น ‘คนในบ้านต่างกินข้าว คนในบ้าน บ้างนอน บ้างนั่ง’ ดังนี้เป็นต้น และแสดงให้รู้ว่าคำข้างหน้าเป็นพหูพจน์ด้วย

และวิภาคสรรพนาม ‘กัน กันและกัน’ มีหน้าที่เป็นการกต่างๆ ได้ แต่ ไม่ใช้เป็นบทประธานและวิกัติการก และใช้เป็นพหูพจน์ทั้งนั้น

หน้าที่เกี่ยวข้องของกริยา ได้อธิบายแล้วว่าคำในภาษาไทย ย่อมเปลี่ยนแปลงเป็นชนิดต่างๆ ได้ แล้วแต่การเกี่ยวข้องของมัน คำกริยาย่อมเป็นเช่นนี้โดยมาก จึงต้องอธิบายไว้พอเป็นที่สังเกตในที่นี้ คือ คำกริยาทั้งหลาย ที่จะใช้เกี่ยวข้องกับนามโดยฐานเป็นคำกริยานั้น ต้องเป็นคำแสดงอาการต่างๆ ของนามนั้น เล็งถึงอาการของนามที่แสดงขึ้นหรือปรากฏขึ้น เช่น คน ตี ทอง จีน ตี เหล็ก คน นอน เป็น คน แต่ถ้าคำเหล่านี้ไม่เล็งถึงอาการของนามดังกล่าวแล้ว เป็นแต่บอกลักษณะประจำตัวคนว่า เขาเป็นคนเคยตีทอง ตีเหล็กมา เขาพูดว่า ‘คน ตีทอง ต้องเป็นคนแข็งแรง’ ดังนี้คำ  ‘ตีทอง’ ในที่นี้เป็นแต่บอกลักษณะของคนว่าเป็นคนชนิดนั้น จึงต้องเป็นวิเศษณ์หาใช่กริยาไม่ แต่ถ้า คำ ‘ตีทอง’นั้นเรียกกันจนชินเข้า ไม่ปรากฏลักษณะของนาม เป็นแต่หมายถึงคนหรือสัตว์หรือของชนิดหนึ่งเท่านั้น ดังนี้ก็ต้องนับว่าเป็นคำนาม เช่น นก ตีทอง ถนน ตีทอง เป็นต้น กริยาที่เปลี่ยนแปลงเป็นชนิดอื่นเช่นนี้ ก็ต้อง เข้าในพวกคำชนิดนั้นๆ หาใช่กริยาไม่ ให้สังเกตไว้ เพื่อจะได้เป็นหลักวินิจฉัยต่อไป คำกริยาที่มีกรรตุการกหรือกรรมการก พ่วงอยู่ด้วย ถ้านำมาใช้เป็นคำวิเศษณ์ มักจะรวมกันเป็นคำประสม เช่น คน ตาบอด คน ขาหัก คน เลี้ยงม้า เป็นต้น ต่อไปนี้จะพูดถึงลักษณะเกี่ยวข้องของกริยาต่อไป คือ

(๑) คำกริยาทั้งหลายนอกจากกริยานุเคราะห์ ย่อมเกี่ยวข้องเป็นวาจกต่างๆ ของนามและสรรพนามได้ทั้งนั้น ดังตัวอย่างต่อไปนี้
silapa-0146 - Copy
(๒) เกี่ยวข้องเป็นการก หรือบทขยายของนาม สรรพนาม และกริยา กริยาพวกนี้ได้แก่ กริยาสภาวมาลา ที่ใช้เป็นการกต่างๆ บ้าง เป็นบท ขยายกริยาบ้าง ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ก. เป็นกรรตุการก เช่น ‘นอน มาก ไม่ดี’ เป็นต้น
ข. เป็นกรรมการก เช่น ‘ฉันอยากจะพบท่าน’ เป็นต้น
ค. เป็นวิเศษณการก เช่น ‘ศาลาสำหรับ พัก ชั่วคราว, เขามาเพื่อจะดู ละคร’ เป็นต้น
ฆ. เป็นบทขยายกริยา เช่น ‘ตาสีฝัน เห็นช้าง’ เป็นต้น

(๓) ใช้ควบกับนามหรือวิเศษณ์ เพื่อให้มีเนื้อความเต็มที่ กริยาพวกนี้ ได้แก่วิกตรรถกริยา ที่ต้องใช้นามหรือวิเศษณ์ประกอบข้างหลังเพื่อช่วยให้ได้ความเต็ม เช่น
ก. ควบกับนาม ‘เขา เป็น อำเภอ เขา คล้าย โจร’ เป็นต้น
ข. ควบกับวิเศษณ์ ‘เขาเป็นใหญ่ อยู่ได้ เป็นดี’ เป็นต้น

(๔) ใช้ช่วยกริยาด้วยกัน ได้แก่ กริยานุเคราะห์ซึ่งใช้ช่วยกริยาพวกอื่น ให้ได้ความครบตามระเบียบ ดังจะคัดมารวบรวมไว้ พอเป็นตัวอย่างต่อไปนี้

ก. บอกมาลา
นิเทศมาลา ควร น่า พึง ฯลฯ
ปริกัลปมาลา เห็น จะ ชะรอย ดูเหมือน คูที คูท่า ทีจะ ท่าจะ ฯลฯ
ศักดิมาลา คง ต้อง จำต้อง จำเป็นต้อง ฯลฯ
อาณัติมาลา จง ขอจง อย่า ขอจงอย่า จงอย่า โปรด ได้โปรด อย่าเพ่อ อย่าพึ่ง อย่าเพิก ฯลฯ โปรดอย่า เชิญ ขอเชิญ จง-เถิด จง-เทอญ โปรด-เถิด โปรด-เทอญ -เถิด -เทอญ -ซิ -เสีย -นะ ฯลฯ

สภาวมาลา ไม่ต้องมีกริยานุเคราะห์ช่วยโดยมาก เพราะกริยาสภาวมาลา มีหน้าที่คล้ายกับนามหรือวิเศษณ์ จะมีบ้างก็บางกริยา เช่น ‘ต้องอยู่ใต้บังคับ เขานั้นไม่ดี’ เป็นต้น

ข. บอกกาล
ปรัตยุบันกาล กำลัง กำลัง-อยู่ ยัง ยัง-อยู่ ฯลฯ
อดีตกาล ได้ เคย มา (เช่นเขาทำ มา นาน)
อนาคตกาล จะ จัก จะได้ จักได้
อนุตกาล ย่อม มัก ขี้มัก ได้ (ที่ไม่ใช่อดีต) ฯลฯ
กาลสมบูรณ์ -แล้ว -เสร็จ (ควบกับกริยานุเคราะห์บอกกาลสามัญ) เช่น กำล่ง -แล้ว ได้-แล้ว ฯลฯ
กาลซ้อน ใช้กริยานุเคราะห์บอกกาลต่างๆ ข้างบนนี้ซ้อนกัน เช่น กำลัง จะ จะกำลัง ยังจะ-อยู่ ฯลฯ

ค. บอกวาจก
กรรตุวาจก ไม่ต้องมี เพราะกรรตุการกอยู่หน้าข้อความ เป็นเครื่อง
หมาย

กรรมวาจก ถูก ถูกให้ หรือไม่ต้องมีโดยใช้กรรมการกอยู่หน้าข้อความเป็นเครื่องหมาย

การิตวาจก ถูกให้ ถูก-ให้ และการิตการกอยู่หน้าข้อความด้วย

ข้อสังเกต กริยานุเคราะห์ ‘ได้’ ใช้บอกอดีตกาลก็มี ไม่ได้บอกอดีตกาล เป็นแค่ช่วยกริยาให้ได้ความเต็มอย่างเดียวก็มี ซึ่งแปลว่า ‘มีโอกาส’ หรือ ‘มีช่อง’ เช่น ‘พรุ่งนี้จะได้กินขนม’ หรือ ‘ต่อไปเขาคงได้เป็นขุนนาง’ คำ ‘ได้’ ในที่นี้ไม่ได้บอกอดีตกาลเลย หมายความว่า จะมีโอกาสกินขนม และคงมีโอกาสเป็นขุนนางเท่านั้น ต้องสังเกตเนื้อความ

อนึ่งคำ ‘จะ’ กับ ‘จัก’ ใช้ต่างกันอยู่ คือ กำ ‘จะ’ บอกอนาคตใกล้ ปรัตยุบัน ตรงกับความว่า ‘เตรียม’ หรือ ‘เริ่ม’ เช่น ‘พอจะกินข้าวฝนก็ ตก’ ดังนี้หมายความว่า พอจะเริ่มกินข้าว คือเกือบ ‘กำลังกิน’ ซึ่งเป็นเวลาปรัตยุบันอยู่แล้ว และมักจะใช้ประกอบกับกริยาสภาวมาลา เช่น ‘คิดจะไป ตั้งใจ จะ นอน’ เป็นต้น และใช้ประสมกับกริยานุเคราะห์อื่นบอกปริกัลปมาลาด้วย เช่น เห็นจะ ดูเหมือนจะ ฯลฯ แสดงว่าเป็นการคาดคะเน ใช้ในกาลอื่นๆ ก็ได้ ส่วนคำ ‘จัก’ ใช้เป็นอนาคตกาลอย่างเดียว และไม่ใช้ในปริกัลปมาลาเลย

(๕) ใช้รวมกับกริยาพวกเดียวกัน คือเอากริยาหลายๆ กริยามาใช้รวม กัน อย่างเดียวกับที่ใช้นามหลายๆ คำรวมกัน เช่น ‘ตาสีไปนั่งสูบบุหรี่ที่นา’ ดังนี้คำ ‘ไป’ เป็นกริยาหัวหน้า ‘นั่ง’ เป็นกริยารองของกริยา ‘ไป’ และ ‘สูล’ เป็นกริยารองของกริยา ‘นั่ง’ อีกทีหนึ่ง คำกริยา ‘ไปนั่งสูบ’ เรียกว่ากริยารวม ซึ่งใช้ในประโยครวมในวากยสัมพันธ์ข้างหน้า วิธีใช้กริยารวมเช่นนี้ มีมากในภาษาไทย ในวิธีบอกสัมพันธ์ต้องแยกออกเป็นกริยาละประโยค คือ ‘ตาสีไปที่นา ตาสีนั่งที่นา ตาสีสูบบุหรี่ที่นา’ ดังนี้กริยารองเหล่านี้ก็นับว่าเป็นกริยาใหญ่ของประโยค เช่นเดียวกับกริยาหัวหน้าเหมือนกัน

ข้อสังเกต กริยารองเหล่านี้ ต่างกับกริยาสภาวมาลาที่ใช้เป็นกรรมการก หรือบทขยายของกริยาในข้อ ๒ นั้น คือ กริยารองอาจจะแยกออกเป็นประโยคๆ ล้วนเป็นกริยาที่บทประธานคนเดียวกันกระทำ ได้ความเป็นลำดับกันเรียบร้อยอย่างเดิม ส่วนคำกริยาสภาวมาลานั้นเป็นแต่กรรมการกหรือบทขยายของบทกริยาเท่านั้น หาได้เป็นกริยาของบทประธานไม่ เมื่อแยกออกเป็นประโยคๆ จึงไม่ได้ความคงเดิม เช่น ‘ตาสีอยากเห็นช้าง ตาสีบอก ขาย เรือ’ ดังนี้ จะเห็นได้ว่าแยกออกเป็นประโยคละคำ ‘เห็น’ กับ ‘ขาย’ จะไม่ได้ความคงเดิม คือ ตาสีไม่ได้แสดงกริยา เห็นช้าง และขายเรือจริงๆ จึงไม่นับว่าเป็นกริยารอง คือ ‘เห็น’ เป็นกรรมของบทกริยา ‘อยาก’ และ ‘ขาย’ เป็นบทขยาย กริยา ‘บอก’ เท่านั้น ให้สังเกตตามนัยนี้

หน้าที่เกี่ยวข้องของคำวิเศษณ์ คำวิเศษณ์ย่อมมีหน้าที่เกี่ยวข้องเป็นบทขยายของนาม สรรพนาม กริยา และคำวิเศษณ์ด้วยกันดังกล่าวแล้ว แต่การเรียงลำดับย่อมใช้ประกอบข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง มีระเบียบนิยมดังนี้

(๑) จำพวกประกอบนามและสรรพนาม มีดังนี้:-
ก. พวกประกอบข้างหน้า ได้แก่
ประมาณวิเศษณ์บางพวก เช่น บรรดา ทุก ต่าง บาง ละ (แปลว่า เฉพาะหนึ่งๆ เช่น ละสิ่ง ละคน) ฯลฯ

ประมาณวิเศษณ์ บอกจำนวนนับ คือ สังขยา นอกจากคำว่า ‘หนึ่ง เดียว’ เช่น สอง สิบ ร้อย พัน ฯลฯ

อนิยมวิเศษณ์ ปฤจฉาวิเศษณ์ บางคำ เช่น กี่ ตัวอย่าง กี่คน กี่ พวก ฯลฯ

หมายเหตุ คำประมาณวิเศษณ์ บอกจำนวนนับ ที่เรียกว่า ‘สังขยา’ เหล่านี้ มักใช้รวมกับ ลักษณนาม เป็น วิเศษณวลี เช่น ‘๒ รูป ๕ ตัว’ ฯลฯ หรือที่เรียกว่า นามวลี เช่น ‘รูป ๑ ตัวหนึ่ง ตัวเดียว’ ฯลฯ แล้วใช้ประกอบบทข้างหน้าอีกทีหนึ่ง เช่นความว่า ‘พระ ๒ รูป ม้าตัวเดียว’ เป็นต้น

ข้อสังเกต คำ ‘หนึ่ง’ ประกอบข้างหน้าก็มี แต่ไม่ใคร่นิยมใช้ มักใช้ใน การทำบัญชีเพี่อให้ตัวเลขตรงกัน แต่คำ ‘เดียว’ ต้องใช้ประกอบข้างหลัง

ข. ที่ประกอบได้ทั้งข้างหน้าข้างหลัง ได้แก่ประมาณวิเศษณ์ที่เป็นคำมูลโดยมาก เช่น มาก น้อย ผอง ปวง ฯลฯ ตัวอย่าง มาก คน คน มาก น้อยคน คนน้อย ผอง ชน ชน ผอง เป็นต้น

ค. พวกที่ประกอบข้างหลัง ได้แก่ คำวิเศษณ์อื่นๆ นอกจากที่กล่าวข้าง บนนี้ ถึงแม้คำวิเศษณ์ข้างบนนี้ ถ้าใช้รวมกับคำอื่น เป็นคำประสมแล้ว ก็ต้องใช้ประกอบข้างหลังเหมือนกัน เช่น ทั้งปวง ทั้งผอง ทั้งห้า ที่สาม ครบหก ทีแรก กี่มากน้อย เหล่านี้เป็นต้น

(๒) คำวิเศษณ์ที่ประกอบกริยาและวิเศษณ์ด้วยกัน คำพวกนี้ก็มักใช้ประกอบข้างหลังเป็นพื้น ที่ใช้ประกอบแปลกไปจากนี้ก็มีบ้าง ดังนี้
ก. พวกประกอบข้างหน้า คือ
ประมาณวิเศษณ์บางคำ เช่น จน จวน เกือบ แทบ พอ สัก เป็นต้น
ประติเษธวิเศษณ์ เช่น บ บ่ ไม่ มิ ฤ ฤๅ (เช่น ฤบังควร ฤๅเห็นสม) เป็นต้น

ข. พวกประกอบต่างๆ พวกนี้มักใช้ประกอบได้ทั้งข้างหน้าและข้างหลัง
ได้แก่

กาลวิเศษณ์ที่เป็นคำประสม เช่น บัดนั้น บัดนี้ เมื่อนั้น เมื่อนี้ เดี๋ยวนี้ ทันใดนั้น เป็นต้น

ปฤจฉาวิเศษณ์ เช่น ทำไม? เหตุไร? ไฉน? เป็นต้น

ประติเษธวิเศษณ์บางคำ เช่น มิได้ ฯลฯ ที่ใช้คร่อมกันก็มี เช่น หา- ไม่ ไม่-มิได้ ไม่-หามิได้ ตัวอย่าง หา ทำ ไม่ ไม่ ทำ มิได้ เป็นต้น

ประติชญาวิเศษณ์ เช่น จ้ะ เจ้าขา ขอรับ พระเจ้าข้า เป็นต้น

หน้าที่เกี่ยวข้องของคำบุพบท คำบุพบทมีหน้าที่เกี่ยวข้อง สำหรับนำหน้าคำบางพวก ดังกล่าวมาแล้ว แต่ยังมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับคำข้าง หน้าอีก เพราะบุพบทเป็นเหมือนสันธาน ซึ่งต้องเชื่อมคำข้างหน้ากับข้างหลัง ให้ติดต่อกัน ซึ่งเป็นข้อที่ควรสังเกต ดังคำประพันธ์ท่านกล่าวไว้ว่า “อยู่ใน และให้ แก่ กระแสนี้สัมพันธ์ถึง” ดังนี้ เพราะฉะนั้นในที่นี้จะนำมากล่าวแต่ข้อที่ควรสังเกต ดังต่อไปนี้

(๑) บุพบทที่ไม่เชื่อมกับบทอื่น ได้แก่บุพบทสำหรับใช้นำหน้า คำ อาลปน์ ไม่ได้ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับคำอื่น จึงไม่ต้องกล่าว

(๒) บุพบทที่เชื่อมกับบทอื่นย่อมมีเป็นพื้นในภาษาไทย แต่จะนำมา อธิบายเฉพาะคำที่ควรสังเกต ดังต่อไปนี้

ก. คำ ‘ซึ่ง’ ใช้นำหน้ากรรมการก ในสำนวนโบราณซึ่งติดมาจากภาษา บาลี เช่น พระแสดงซึ่งธรรม ฯลฯ จึงใช้เกี่ยวข้องกับสกรรมกริยาอย่างเดียว แต่ตามปรกติบทกรรมการกไม่ใช้บุพบทใดๆ นำหน้าเลย

ข. คำ ‘ถึง’ ใช้นำหน้าวิเศษณการกบอกสถานที่สุดท้ายคล้ายกับบุพบท ‘สู่ ยัง กระทั่ง’ เช่น ‘เขาไป ถึง บ้าน เขาไป สู่ บ้าน เขาไป ยัง บ้าน เขาไป กระทั่ง บ้าน’ เป็นต้น และใช้นำหน้าวิเศษณ์บอกลักษณะเป็นผู้รับกริยาคล้ายกรรมการก เช่น ‘ท่านเขียนหนงสือ ถึง ฉัน’ ด้วยเหตุที่คำ ‘ฉัน’ ทำหน้าที่คล้ายกรรมการกได้ จึงนำมาเป็นประธานในประโยคกรรมได้ เช่น ‘ฉันถูกท่านเขียนหนังสือถึง’ เมื่อเป็นเช่นนี้ให้ถือว่า ‘ฉัน’ ทำหน้าที่เป็นประธาน กรรมการก และกริยา ‘ถูก-เขียน’ ให้ถือว่าเป็น ‘กรรมวาจก’ และคำ ‘ถึง’ ในที่นี้ต้องเป็น ลักษณวิเศษณ์’ เพราะคำบุพบท ถ้าไม่มีนามมาเชื่อมต้องนับว่าเป็นวิเศษณ์ ตัวอย่างอื่นๆ เช่น ‘ฉันคิดถึงท่าน’ และ ‘ท่านถูกฉันคิดถึง’ เป็นต้น ก็ถือตามนัยนี้ แต่ ‘ถึง’ ที่ใช้เป็นกริยานั้น บนอีกอย่างหนึ่งไม่เกี่ยวด้วยข้อนี้

ค. คำ ‘ยัง’ นอกจากเป็นบุพบท เช่นเดียวกับ ‘ถึง’ ดังกล่าวแล้ว ยังเป็นบุพบทนำหน้าการิตการกอย่างประโยคบาลีอีก เช่น ‘ครูยังศิษย์ให้อ่าน หนังสือ’ ดังนั้น คำ ‘ยัง’ ที่นี้จึงเป็นบุพบทนำหน้าการิตการกบอกลักษณะเป็นบทรับใช้ ส่วนคำ ‘ยัง’ เป็นกริยาแปลว่า ‘มิ’ ว่า ‘ไม่แล้ว’ ไม่เกี่ยวด้วย ข้อนี้

ฆ. คำ ‘กับ’ โดยมากใช้ทำหน้าที่วิเศษณการกบอกลักษณะแสดงอาการ ตามบทหน้า ทั้งที่เป็นนามและเป็นกริยา เช่น ‘พ่อกับลูกไปด้วยกัน พ่อไปกับลูกด้วยกัน หรือ พ่อไปด้วยกันกับลูก’ คำ ‘กับ’ ทั้งหมดนี้ทำหน้าที่ เป็นบุพบทแปลว่า ‘พร้อมด้วย’ หรือ ‘ด้วย’ คล้ายกับ ‘with’ ของอังกฤษ แต่บางทีก็ใช้เป็นสันธานปนกับคำ ‘และ’ เช่นตัวอย่าง ‘นายมีเฝ้าบ้าน กับ ดูแลเด็ก’ ดังนี้เป็นต้น ซึ่งที่ถูกควรใช้ ‘และ’ ดีกว่า ส่วน ‘กับ’ ที่เป็นนาม เช่น กับดักหนู หรือ ‘กับ’ ที่เป็นอาหารไม่เกี่ยวในข้อนี้

ง. คำ ‘แก่ แด่ เพื่อ ต่อ เผื่อ สำหรับ’ ใช้นำหน้าวิเศษณการกบอก ลักษณะเป็นผู้รับทั้งสิ้น แต่วิธีใช้ต่างกัน คือ ‘แก่’ ใช้ในความว่ารับในเวลาให้ มักใช้ต่อกับคำ ‘ให้’ เช่น ‘ฉันเก็บเงินให้แก่บุตร’ ซึ่งหมายถึงเก็บมาได้ก็ให้ บุตร และบุตรได้รับทันที และคำ ‘แด่’ ใช้เหมือนคำ ‘แก่’ แต่ใช้นำหน้า ผู้มีบรรดาศักดิ์สูง เช่น พระเจ้าแผ่นดิน หรือเจ้าใหญ่นายโตชั้นสูง ตัวอย่าง ‘ของนี้ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย แด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว’ เป็นต้น คำ ‘เพื่อ’ ใช้ในความว่าต้องการให้รับภายหน้า เช่น ‘ฉันเก็บเงินไว้ เพื่อ บุตร’ ซึ่งหมายความว่าเก็บเงินมาได้ก็ยังไม่ให้ แต่จะให้ในภายหน้า คำ ‘ต่อ’ ใช้ในความว่า รับต่อหน้าธารกำนัลโดยผู้รับเป็นเจ้าหน้าที่ เช่น ‘ยื่นเรื่องราว ต่อ นายอำเภอ ร้องเรียน ต่อ ผู้ใหญ่ เสนอต่อ ที่ประชุม’ เป็นต้น คำ ‘เผื่อ’ ใช้คล้ายกับคำ ‘เพื่อ’ แต่ผู้รับไม่ได้รับเต็มที่เช่น ‘เขาเก็บเงินไว้เผื่อลูก’ คือลูกได้รับบางส่วนเป็นต้น คำ ‘สำหรับ’ ใช้คล้ายกับคำ ‘เพื่อ’ มาก แต่ ‘สำหรับ’ ผู้ให้ตั้งใจให้ไว้เป็นเครื่องใช้หรือประจำตัวของผู้รับด้วย เช่น ‘เขาเลี้ยงม้าไว้ สำหรับ ลูก’ ซึ่งหมายความว่าม้านั้นเหมาะที่จะเป็นพาหนะประจำตัวของลูกด้วย และ ความอื่นๆ ก็เป็นทำนองนี้ เช่น ‘เขาเลี้ยงนกไว้เพื่อชม’ ‘เลี้ยงนกไว้สำหรับชม’ฯลฯ ก็ต่างกันทำนองนี้ ทั้งนี้กล่าวไว้พอเป็นหลักผู้ศึกษาต้องเทียบเคียงเอาเอง

หมายเหตุ จริงอยู่ คำบุพบท ‘แก่’ นี้ย่อมนำหน้าวิเศษณการกบอก ลักษณะเป็นผู้รับทั้งนั้น แต่เชื่อมกับกริยาข้างหน้าแปลกๆ ตามนิยมของภาษาดังนี้

(ก) กริยาที่มีความว่า ‘ให้ บอก’ เช่น ‘เขาให้เงิน แก่ ฉัน บิดามอบหน้าที่ แก่ บุตร กษัตริย์เว้นราชสมบัติ แก่ พระโอรส เขาบอก แก่ ฉัน’ หรือบางทีก็ใช้กริยาเหล่านี้รวมกับกริยา ‘ให้’ ว่า ‘มอบเงินให้แก่ สละสิทธิ์ให้แก่’ ดังนี้เป็นต้น

(ข) กริยาที่มีความว่า ‘เกิด ปรากฏ มี อยู่ เจริญ เป็น’ เช่น ‘โรค เกิดแก่เขา ผลร้าย ปรากฏ แก่เขา ความดีจง มี แก่สาธุชน บาป อยู่ แก่คนทำ ลาภย่อม เจริญ แก่เขา ทำเช่นนี้ เป็น โทษแก่ตัว ’ เป็นต้น

(ค) กริยาที่มีความว่า ‘ถึง ลุ สำเร็จได้ อาศัย ตรัส ตรัสรู้ เห็น’ เช่น ‘พระภิกษุถึงแก่มรณภาพ เขาลุแก่ตัณหา ขันตีได้แก่ความอดทน พระพุทธองค์ อาศัยแก่วิหารเชตุวัน (โบราณ) พระพุทธองค์ ตรัส แก่พระโพธิญาณ หรือ ตรัสรู้ แก่พระโพธิญาณ เขา เห็น แก่หน้า’ เป็นต้น

(ฆ) กริยาที่มีความว่า ‘ทำโทษ ปรับไหม ทวงสิทธิ์’ เช่น ‘ครู ทำโทษ แก่ศิษย์ ศาลปรับไหม แก่ จำเลย เขาเรียกค่าเสียหาย แก่ ฉัน ท่านเรียกค่าเช่าเอา แก่ ฉัน’ เป็นต้น

(ง) กริยาที่มีความว่า ‘เหมาะ สม ควร’ เช่น ‘ทำเช่นนี้ เหมาะ แก่เขาแล้ว ทำเช่นนี้สมแก่เขาแล้ว พูดเท่านี้ ควร แก่ เวลาแล้ว’ ดังนี้เป็นต้น

ข้อสังเกต คำ ‘แก่’ คำ ‘กับ’ มักใช้ปนกัน ควรสังเกตตามหลักต่อไปนี้

บทที่มีคำ ‘แก่’ นำหน้า ย่อมทำหน้าที่เป็นผู้รับ ส่วนบทที่มีคำ ‘กับ’ นำหน้า ย่อมทำหน้าที่เป็นเครื่องใช้ หรือเป็นผู้ร่วมกัน จงสังเกตตัวอย่าง ต่อไปนี้

(ก) ‘เรื่องนี้เกี่ยวแก่รัฐบาล’ หมายความว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบ จัดการในฐานเป็นผู้ปกครอง ฯลฯ แต่ไม่ได้ร่วมมือทำด้วยเลย ‘เรื่องนี้เกี่ยว กับรัฐบาล’ หมายความว่ารัฐบาลร่วมมือด้วย

(ข) ‘ลักษณะนี้ได้แก่ ก’ หมายถึง ก ควรเป็นผู้รับลักษณะนี้ แต่ ‘ลักษณะนี้ได้แก่ ก หมายถึงลักษณะนี้ไปร่วมกับ ก เข้า ซึ่ง ก มีอยู่แล้ว หรืออีกอย่างหนึ่ง ‘ลักษณะนี้เหมาะแก่ ก’ ก็หมายถึง ก ควรได้รับลักษณะนี้ ส่วน ‘ลักษณะนี้ เหมาะกับ ก’ ก็หมายถึงลักษณะนี้ร่วมกับ ก หรืออย่างเดียวกับที่ ก มีอยู่แล้ว ดังนี้เป็นต้น

(ค) บทกรรมการกบางบทโบราณใช้ ‘แก่’ นำหน้าต้องบอกสัมพันธ์เป็นวิเศษณการกทำหน้าที่เป็นผู้รับ เช่น ‘อาศัยแก่- ถึงแก่- ตรัสแก่- เป็นต้นเพราะบทนี้มีความหมายเป็นผู้รับอยู่ด้วย กล่าวคือ ‘คนอาศัยแก่วิหาร’ เพราะวิหารเป็นที่รับคนซึ่งเข้าไปอาศัย ‘สัตว์ ถึงแก่ ความตาย’ เพราะความตายรับสัตว์ผู้ถึงไว้ ‘ พระองค์ ตรัสแก่  พระโพธิญาณ’ เพราะพระโพธิญาณรับพระองค์ไว้ให้อยู่ในภูมิโพธิญาณ ดังนี้เป็นต้น แต่เมื่อใช้‘ซึ่ง’ นำหน้า หรือ ใช้เฉยๆ ว่า ‘เขาอาศัยซึ่งกันและกัน’ หรือ ‘เขาอาศัยกันและกัน’ เป็นต้น จึงบอกสัมพันธ์ว่าเป็นกรรมการก ตามแบบ

(ฆ) บางทีคำ ‘แก่’ หรือ ‘กับ’ รวมอยู่กับกริยา มีความหมายไปอีกทางหนึ่ง เช่น คำ ‘ได้แก่’ หรือ ‘เท่ากับ’ ซึ่งแปลว่า ‘คือ’ ว่า ‘เป็น’ ด้วยกัน ทั้งคู่ เช่นนี้คำประสม ‘ได้แก่’ ‘เท่ากับ’ ต้องบอกสัมพันธ์เป็นวิกตรรถกริยา อย่างเดียวกับคำ ‘คือ’ หรือคำ ‘เป็น’ ดังนี้เป็นต้น ให้ผู้ศึกษาสังเกตหลักข้างบนนี้เป็นข้อวินิจฉัยในบทอื่นๆ ต่อไป

(จ) คำ ‘แต่’ กับคำ ‘จาก’ นี้เป็นบุพบทนำหน้าวิเศษณการกซึ่งบอก สถานที่เป็นแหล่งเดิม เป็นเค้าเดิมเหมือนกัน แต่เชื่อมกับบทหน้ามีความหมายต่างกัน คือ คำ ‘แต่’ ใช้ร่วมกันโดยร่วมกับบทหน้าที่มีความ เคลื่อนที่มาปรากฏทางมา เป็นผลมา โดยยังไม่ขาดกัน ตัวอย่าง ‘น้ำไหลมาแต่เขานั้น- มาจากเขานั้น ทางรถไฟนี้มา แต่ กรุงเก่า-มาจากกรุงเก่า โรคเกิด แต่ น้ำเค็ม- จากน้ำเค็ม เป็นต้น แต่คำ ‘จาก ย่อมใช้เชื่อมต่างออกไปอีก ซึ่งใช้ ‘แก่’ เชื่อมไม่ได้คือเชื่อมบทที่มีความว่า ห่างไกลออกไปพ้นกัน หรือพรากออกไปพ้นกัน เช่น ‘เขาไปจากศัตรู เขาอยู่ห่างจากศัตรู เขาพ้นจากศัตรู เขาถูกพรากจากเมีย เขารอดจากอันตราย’ ดังนี้เป็นต้น

หมายเหตุ คำ “แต่” โบราณใช้เชื่อมกับบทหน้า ที่มีความว่า ‘ กลัว ’ ตามแบบบาลี และบทหน้านั้นจะเป็นนามหรือกริยาก็ได้ ตัวอย่าง ‘ภัย แต่ โจร ความกลัวแต่โจรผู้ร้าย เขากลัวแต่อุทกภัย’ เป็นต้น ให้สังเกตไว้ด้วย เพราะ โบราณใช้มาก และคำ ‘แต่’ ยังคล้ายกับคำ ‘เฉพาะ’ ได้อีก ดูต่อไปนี้ในข้อ (ช)

(ฉ) คำ ‘ที่ ใน บน เหนือ’ เหล่านี้เป็นบุพบทนำหน้าวิเศษณการกบอก สถานที่ด้วยกันทั้งนั้นก็จริง แต่มีวิธีใช้ต่างกันอยู่ ควรสังเกตดังนี้
‘ที่’ บอกบริเวณสถานที่ซึ่งไม่จำกัดแน่นอน เช่น ของอยู่ที่หีบ หมาย ความว่าอยู่ที่บริเวณหีบ จะอยู่บนหีบ ใต้หีบ ริมหีบ หรือในหีบก็ได้ หมายความว่า คำ ‘ที่’ จะใช้แทนคำ บน ใต้ ริม หรือ ใน ก็ได้

‘ใน’ บอกภายในบริเวณอีกชั้นหนึ่ง เช่น ‘ในหีบ ในห้อง ในบ้าน ในเมือง ฯลฯ’ และมักใช้เชื่อมกับอกรรมกริยาที่เกี่ยวกับจิตใจ เช่น ‘เขากำหนัด ในกามคุณ เขาเพลิดเพลินในดนตรี เขาแค้นใจในคำพูดท่าน’ ดังนี้เป็นต้น

ถึงสกรรมกริยาที่เกี่ยวกับจิตใจทำนองนี้ เช่น ‘ เขารักเมีย เขาหลงเมีย เขาเชื่อเมีย เขาโกรธเมีย’ ฯลฯ ถ้าแปลงกริยาเหล่านี้มาเป็นอาการนาม แล้วบทกรรมข้างท้ายกริยานั้นๆ (เช่น ‘เมีย’) ก็มักกลายเป็นวิเศษณการกบอกสถานที่ไป ใช้ ‘ใน’ นำหน้า เช่น ความรักในเมีย ความหลงในเมีย ความ เชื่อในเมีย ความโกรธในเมีย เป็นต้น ทั้งนี้เนื่องมาจากแบบบาลี ถ้าจะใช้เป็นบทกรรมคงที่อยู่ เช่น ‘ความรักเมีย’ ฯลฯ ก็ได้ แต่ต้องนับเป็นนามวลีกลุ่มเดียวกัน

‘บน’ ‘เหนือ’ สองคำนี้ใช้ร่วมกันได้ก็มี เช่น ‘นั่ง บน เตียง นั่ง เหนือ เตียง เทินไว้ บน หัว เทินไว้ เหนือ หัว’ แต่ ‘บน’ ยังมีใช้ต่างออกไปอีก คือใช้ แทน ‘ใน’ สำหรับของที่อยู่สูง เช่น ‘เขาอยู่บนเรือน’ ซึ่งหมายความว่าเขาอยู่ ในเรือนนั้น แต่ผู้พูดอยู่ข้างล่างซึ่งต่ำกว่า ตัวอย่างอื่นๆ เช่น ‘ของอยู่บน ศาล พระภูมิ เทวดาอยู่ บน สวรรค์’ ฯลฯ ก็ทำนองเดียวกัน ซึ่งจะใช้คำ ‘เหนือ’ ว่าเขาอยู่เหนือเรือน ของอยู่เหนือศาลพระภูมิฯลฯ ไม่ได้

ข้อสังเกต มีผู้ใช้ตามสำนวนอังกฤษว่า เขียนบนกระดาษ ฯลฯ เช่นนี้
ไม่ถูกแบบภาษาไทย ต้องใช้ ‘เขียนที่กระดาษ’ ฯลฯ หรือใช้ ‘เขียนกับ กระดาษ’ ในความอีกทางหนึ่ง เช่นพู่กันจีน (ปิ้ก) ต้อง ‘เขียนกับกระดาษฟาง’ เป็นต้น ขอให้สังเกตไว้ว่าคำบุพบท จะใช้ตามภาษาอื่นไม่ได้ทั่วไป

(ช) คำ ‘เฉพาะ’ และ ‘แต่’ ซึ่งเป็นนิยมวิเศษณ์ดังกล่าวมาแล้วนั้น ย่อมทำหน้าที่เป็นบุพบทได้อีก เช่น ‘เขาให้เงิน เฉพาะ แก่ลูก เขาเห็น แต่ แก่
ลูกเท่านั้น ดังนี้คำ ‘เฉพาะ’ และ ‘แต่’ เป็นวิเศษณ์ดังกล่าวแล้ว แต่ถ้าละบุพบท ‘แก่’ เสีย เอากำ ‘เฉพาะ’ และ ‘แต่’ เป็นบุพบทแทน คำ ‘เฉพาะ’ และ ‘แต่’ ก็เป็นบุพบทนำหน้าวิเศษณการกบอกลักษณะเป็นผู้รับแทนคำ “แก่” ได้ ให้สังเกตทั่วไปในตัวอย่าง เช่น ‘เขานั่งแต่เก้าอี้นวม เขาชอบแต่เก่าอี้นวม คำ ‘แต่’ ย่อมเป็นบุพบทนำหน้าวิเศษณการกบอกสถานที่ และนำหน้ากรรมการกตามลำดับ ดังนี้เป็นต้น

หน้าที่เกี่ยวข้องของสันธานและอุทาน
(๑) คำสันธานย่อมมีหน้าที่เกี่ยวข้องเป็นเครื่องเกี่ยวข้องคำ ประโยค และเนื้อความ ไม่มีข้อพิเศษที่จะอธิบายในที่นี้

(๒) คำอุทานพวกต้น คือพวกอุทานบอกอาการนั้น มิได้เกี่ยวข้องกับคำใดๆ หมด แต่อุทานเสริมบทนั้น ย่อมมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับคำอื่นอยู่บ้างคือ

อุทานเสริมบท ก็มีหน้าที่เป็นบทขยายของคำเดิมที่กล่าวเลยออกมา ซึ่ง
อยู่ข้างหน้าหรือข้างหลัง และไม่เฉพาะต้องเกี่ยวข้องกับคำต่อคำ บางทีก็หลายคำ บางทีก็ทั้งประโยค เช่น:-

เฉพาะคำ เช่น กง การ รั้ว งาน แขน แมน ลูก เต้า เป็ต้น
หลายคำ เช่น ไม่ดิบ ไม่ดี ไม่รู้ ไม่ชี้ เป็นต้น
ทั้งประโยค เช่น ฉันไม่เข้าอกฉันไม่เข้าใจ ฉันไม่เห็นฉันไม่พบ เป็นต้น

ข้อสังเกต คำอุทานเสริมบทของคำหลายคำก็ดี หรือของประโยคก็ดี ไม่ ต้องกระจายออกเป็นคำๆ บอกรวมว่าเป็นอุทานเสริมบทของคำนั้น หรือประโยคนั้นก็พอ เช่นบอกว่า ‘ฉันไม่เข้าอก’ เป็นอุทานเสริมบทของประโยค ว่า ‘ฉันไม่เข้าใจ’ ดังนี้เป็นต้น

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร