ชนิดของคำบาลีและสันสกฤต

ชนิดของคำไทยที่อธิบายมาแล้ว มีรูปโครงคล้ายคลึงกับภาษาอังกฤษ ส่วนชนิดคำบาลีและสันสกฤตนั้น มีรูปโครงไปอีกอย่างหนึ่ง จะยกมากล่าวเป็นเลาๆ พอเป็นหลักแห่งความรู้ เพราะภาษาไทยเราใช้คำบาลีและสันสกฤตเป็นพื้น จึงควรรู้รูปโครงของภาษาเขาไว้บาง ดังนี้

คำบาลีและสันสกฤต กล่าวโดยย่อมี ๓ ชนิด คือ:-
(๑) นาม (๒) อัพยศัพท์* (๓) กริยา

(๑) นาม นั้นเขานับทั้งคำวิเศษณ์ประกอบนามและสรรพนามรวมเข้า ด้วย เรียกชื่อต่างกันเป็น ๓ คำ คือ นามนาม ตรงกับคำนามภาษาไทยพวกหนึ่ง คุณนาม ตรงกับ คำวิเศษณ์ ประกอบนามภาษาไทยพวกหนึ่ง และสรรพนาม ตรงกับสรรพนามภาษาไทยพวกหนึ่ง คำนามนาม และคุณนามนั้น โดยมากมักมาจากรากศัพท์ ที่เขาเรียกว่า ‘ธาตุ’ เขามีตำราที่ว่าด้วยวิธีเปลี่ยนคำธาตุนี้เป็นนามบ้าง เป็นวิเศษณ์บ้าง เป็นกริยาบ้าง ตำรานี้เรียก ‘ตำรากิตก์’ คำที่เปลี่ยนแปลงตามตำรานี้เรียกว่า ‘คำกิตก์’ จักนำมาแสดงไว้ข้างท้ายนี้ พอเป็นตัวอย่าง เพราะเรานำมาใช้ในภาษาไทยมาก ส่วนคำกิตก์ก็ใช้เป็นนามนามหรือเป็นคุณนามนั้นเขาเรียกว่า ‘นามกิตก์’ ที่ใช้เป็นกริยานั้นเขาเรียกว่า ‘กริยากิตก์’ ตามวิธีของเขา คำนามทั้ง ๓ พวกนี้มีวิธีเปลี่ยนแปลงรูปตาม ลึงค์ พจน์ การก อย่างเดียวกัน เขาจึงได้จัดไว้พวกเดียวกัน
…………………………………………………………………………………………
*อัพยศัพท์ อ่าน “อับ-พยะ-สับ” แปลว่า ศัพท์ไม่ฉิบหาย เอาความว่า ไม่เปลี่ยนรูป คือ ใช้คงที่
…………………………………………………………………………………………
(๒) อัพยศัพท์ คำพวกนี้ไม่มีวิธีเปลี่ยนแปลงรูปเป็นอย่างอื่นได้อย่าง นาม มี ๒ พวก คือ อุปสรรค คำประกอบหน้าศัพท์คล้ายคำวิเศษณ์ ดังอธิบายแล้วพวกหนึ่ง คำนิบาต สำหรับเชื่อมคำหรือความให้ติดต่อกัน มีลักษณะคล้ายกับคำสันธานในภาษาเราพวกหนึ่ง

(๓) กริยา คำพวกนี้เปลี่ยนแปลงมาจากคำธาตุ จัดเป็น ๒ พวก คือ กริยาอาขยาต เป็นกริยาใหญ่ของประโยคซึ่งมีวิธีเปลี่ยนแปลงรูป ยุ่งยากมาก เราไม่ใคร่ได้นำมาใช้ในภาษาไทยนัก ถึงจะมีบ้างก็มักจะทิ้งวิภัตติ ปัจจัย ที่ประกอบข้างท้าย เช่น ‘โจเทติ โจทยติ (ฟ้อง)’ ใช้แต่เพียงว่า ‘โจท’ หรือ ‘โจทย’ เป็นต้น พวกหนึ่ง กำ กริยากิตก์ ที่กล่าวแล้วในข้อนามอีกพวกหนึ่ง คำกริยากิตก์นี้ มีวิธีเปลี่ยนรูปอย่างเดียวกับคำนาม ซึ่งผิดกับกริยาอาขยาตมาก แต่ใช้เป็นกริยาได้อย่างเดียวกัน

คำบาลีและสันสกฤตที่เรานำมาใช้ในภาษาไทยโดยมากนั้น คือ

(๑) นามนาม (นาม) พวกหนึ่ง (๒) คุณนาม (คำวิเศษณ์ประกอบนาม หรือคุณศัพท์ ) พวกหนึ่ง (๓) คำกิตก์ ทั้งที่เป็นนามกิตก์และกริยากิตก์อีกพวกหนึ่ง นอกจากนี้ก็มีคำกริยาอาขยาตบ้างเล็กน้อยดังกล่าวแล้ว คำเหล่านี้ เมื่อตกมาในภาษาไทย มักจะลดวิภัตติที่ประกอบข้างท้ายออกเสีย เช่น ‘ชโน ชนา ชนํ ชเน ฯลฯ’ ใช้แต่รูปศัพท์เดิมว่า ‘ชน’ เท่านั้น

(๑) นามนาม นั้นเรานำมาใช้ดาษดื่น เช่น บุรุษ สตรี กษัตริย์ เป็นต้น ที่ใช้คงเป็นนามตามเดิมก็มี ที่ใช้เป็นคำวิเศษณ์หรือกริยาก็มี แต่โดยมากมักจะเป็นคำกิตก์ ดังจะกล่าวข้างหน้า

(๒) คุณนาม นั้น เรานำมาใช้เป็นคำวิเศษณ์ประกอบนาม แต่มักจะ ใช้ติดกันเป็นคำนาม ซึ่งรวมกันเป็นคำสมาส ดังตัวอย่างคุณนาม ‘ธรรมิก เศวต สุนทร ลามก’ ฯลฯ มักจะใช้ควบนามว่า ‘ธรรมิกราช เศวตพัสตร์ สุนทรพจน์’ ดังนี้เป็นต้น ถ้าเป็นดังนี้ก็ต้องนับว่าเป็นคำสมาสคำเดียว ไม่ต้องแยกอย่างคำวิเศษณ์ ที่ใช้โดดๆ ในภาษาไทยก็มีบ้างแต่น้อย เช่น คนลามก สารเศวต เป็นต้น ดังนี้จึงควรแยกออกเป็นคำวิเศษณ์อย่างภาษาไทย

(๓) คำกิตก์ คำพวกนี้เรามักนำมาใช้เป็นนามบ้าง เป็นวิเศษณ์บ้าง เป็นกริยาบ้าง บางทีก็ไม่ตรงกับชนิดเดิมของเขา เช่น คำ ‘โทษ’ ของเขาเป็น นาม เรานำมาใช้เป็นนามก็มี เช่น ‘ เขามี โทษ ’ เป็นวิเศษณ์ก็มี ‘ เขาปล่อยคน โทษ’ เป็นกริยาก็มี เช่น ‘อย่า โทษ ฉัน’ ดังนี้เป็นต้น คำเช่นนี้ต้องสังเกตวิธีใช้ตามภาษาไทย แต่มีบางคำที่ท่านใช้ตามรูปศัพท์ เช่น ‘สุทธ (หมดจดแล้ว) ชาต (เกิดแล้ว)’ ดังนี้เป็นวิเศษณ์และสุทธิ (ความหมดจด) ชาติ (ความเกิด)’เป็นนาม เป็นต้น เหล่านี้สังเกตได้ตามรูปศัพท์เดิม

ต่อไปนี้จะคัดคำกิตก์มาไว้เพื่อให้สังเกตว่าไทยใช้อย่างไร
silapa-0114 - Copy

 

silapa-0115

silapa-0116 - Copy
ยังมีคำอื่นๆ อีกมาก ควรสังเกตตามหลักข้างต้นนี้

ยังมีข้อควรสังเกตอีกอย่างหนึ่ง คือบาลีและสันสกฤต ที่ไทยนำมาใช้เป็นกริยานั้น มักจะเป็นคำนามในภาษาเดิมของเขา เพราะคำกริยาของเขามีเครื่องประกอบรุงรัง ดังกล่าวแล้ว จึงไม่ใคร่นำมาใช้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

silapa-0116 - Copy1

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร