ลักษณะแห่งคำ

การเขียน คือการแสดงความคิด ความรู้สึกและความรู้ ซึ่งอยู่ในใจออกให้ผู้อื่นรู้ เช่นเดียวกับการพูดเหมือนกัน ฉะนั้นสื่อแห่งความเข้าใจก็คือ ถ้อยคำ หรือจะเรียกสั้นๆ ก็ว่า คำ คำนี้คือสมบัติของนักเขียน นักเขียน รู้คำมากเท่าใด วงที่เขาจะพูดก็กว้างยิ่งขึ้น นักเขียนจะต้องเป็นนักสะสมคำ เพียงแต่คำที่เราใช้พูดกันตามธรรมดา ไม่เพียงพอสำหรับนักประพันธ์จะใช้บรรยายเรื่องได้ เพียงแต่รู้คำว่า เดิน คำเดียว ยังไม่พอที่จะแสดงกิริยาของ การไป ได้ เพราะมี ย่าง ก้าว ย่อง คลาน กระดิบ นวยนาด เหล่านี้ ย่อมให้ภาพแห่ง การไป ต่างกันทั้งสิ้น

เมื่อเราสะสมคำแล้ว เราต้องพิจารณาคำนั้นให้รู้ความหมายอันแท้จริง ของมัน แม้ว่าคำบางคำจะมีความหมายเหมือนกันก็จริง แต่ทุกคำมีความหมายโดยเฉพาะของมัน แม้คำว่า หัตถ์ จะแปลว่า มือ ถ้าท่านใช้รวมเข้าเป็นข้อความแล้ว คำว่า หัตถ์ และ มือ ก็มีความหมายโดยเฉพาะของมัน ถ้า ในที่ควรใช้ หัตถ์ ท่านไปใช้ มือ ข้อความที่ท่านกล่าวอาจทรามไป แต่ ถ้าในที่ควรใช้ มือ ท่านไปใช้ หัตถ์ ก็เก้อ ดูรุ่มร่ามเหมือนคนแต่งตัวไม่เป็น

ผู้ที่เริ่มฝึกหัดเขียน ถ้าหมั่นอ่านวรรณกรรมของนักประพันธ์ที่คนนิยม แล้วสังเกตคำที่เขาใช้ พิจารณาว่าเขาใช้คำอะไรในที่อย่างไร คำนั้นๆ มีความหมายอย่างไร แล้วจะรู้จักคำดีขึ้น

ในการใช้คำ จงอย่าใช้อย่างประมาท จงพิจารณาคำที่ท่านต้องการใช้ให้ถ่องแท้ ถ้านึกคำอะไรได้ก็เขียนลงไปอย่างลวกๆ ท่านจะไม่ทำให้ ผู้อ่านเข้าใจและรู้สึกอย่างที่ท่านต้องการได้เลย บรรดาภาพต่างๆ จะเป็นภาพกิริยาท่าทาง ภาพบุคคล สัตว์ สิ่งของ ภาพของอาการแห่งความเศร้า ความดีใจ ล้วนมีคำพูดประจำ และเมื่อท่านกล่าวคำนั้นๆออกมา ท่านจะทำให้ผู้ฟังหรือผู้อ่านนึกเห็นภาพ เราเรียกว่า ภาพพจน์ (Image-Making Words)

ในการใช้คำให้ตรงกับความหมายที่ท่านต้องการนั้น ย่อม
๑. เป็นการประหยัด ไม่ต้องใช้คำอธิบายจนยืดยาวฟุ่มเฟือย ไม่ เสียเวลาของท่านและของผู้อ่าน

๒. จะทำให้เข้าใจได้ทันที

๓. จะทำให้ข้อความเด่นชัด

อนึ่งควรเข้าใจด้วยว่า คำ มีลักษณะประจำตัวของมันเช่นเดียวกับ มนุษย์ บางคำงุ่มง่าม บางคำแก่คร่ำเครอะ บางคำทะมัดทะแมง บางคำสะสวยงดงาม บางคำมีสง่า บางคำมีลักษณะเป็นไพร่ บางคำจืดไม่มีรส บางคำเผ็ดร้อน บางคำอ่อนหวาน ลักษณะเหล่านี้จะอธิบายให้ท่านเข้าใจทันทีได้ยาก แต่จะได้ชี้ให้ท่านเห็นต่อไป

ลักษณะคำที่ใช้ในภาษาไทย
อาจารย์กวีแต่โบราณกล่าวไว้ว่า ผู้ที่จะเป็นกวีพึงรู้พากย์ คือคำต่างๆ ดังนี้ สยามพากย์ กัมพุชพากย์ (ภาษาเขมร) ชวาพากย์ มคธพากย์ ตะเลงพากย์ พุกามพากย์ สันสกฤตพากย์ หริภุญไชยพากย์ คำสยามพากย์นั้นเป็นคำของไทยเราเอง ส่วนพากย์อื่นๆ เป็นคำที่ไทยนำมาใช้ เหตุสำคัญที่เรานำคำของชาติอื่นมาใช้ ก็เพราะคำของเรามีไม่พอที่จะแสดงความหมายให้ครบถ้วน แต่พากย์เหล่านี้ท่านบัญญัติไว้สำหรับผู้เป็นกวี คำเขมร คำชวา คำมอญ คำหริภุญไชย นั้นเราใช้ในกวีนิพนธ์เป็นส่วนมาก เกี่ยวกับร้อยแก้ว คำที่เรานำมาใช้มากที่สุด คือ มคธและสันสกฤต

คำกับความหมาย
คำ มีความหมาย ๒ อย่างคือ ความหมายโดยตรง กับ ความหมาย โดยนัยยะ ถ้าเปิดปทานุกรมดู ท่านจะพบคำอธิบายความหมายของคำต่างๆ ซึ่งเป็นความหมายโดยตรง เช่นคำว่า เสือ ท่านจะได้คำแปลว่าสัตว์สี่เท้า รูปคล้ายแมว แต่ตัวใหญ่กว่า กินสัตว์เป็นอาหาร มีหลายชนิด เช่น เสือโคร่ง เสือดาว ฯลฯ นี่เป็นความหมายโดยตรง แต่เรายังพูดกันอีกว่า ทหารเสือ เสือผู้หญิง มือชั้นเสือ แล้วก็อ้ายเสือ คำว่า “เสือ” ในตัวอย่างหลังนี้เป็นความหมายโดยนัยยะทั้งสิ้น และความหมายของคำโดยนัยยะนี่แหละเป็นสิ่งสำคัญของนักประพันธ์ เพราะจะช่วยให้คำพูดของเขามีรสน่าฟัง

ทีนี้ถ้าท่านพลิกดูคำว่า สงสาร ท่านจะทราบว่าเป็นคำว่า มคธ เป็น คำนาม แปลว่า การไป การท่องเที่ยวไป ทางไป การผ่านไป การเวียนตาย เวียนเกิด ดังนี้ แต่ที่เราใช้นั้น หมายความว่า ปรานี เอ็นดู ดังนี้เป็นความหมายโดยนัยยะ และความหมายเดิมของคำได้เปลี่ยนไปเสียแล้ว ถ้าท่านใช้ คำภาษามคธ สันสกฤต ท่านต้องให้แน่ใจเสียก่อนว่า ท่านเข้าใจคำนั้นถูกต้อง ถ้าท่านสามารถรู้ว่าคำศัพท์นั้นๆ เดิมเป็นอย่างไร เปลี่ยนมาอย่างไรแล้ว เท่ากับว่าท่านรู้จักคำนั้นลึกซึ้งยิ่งขึ้น เช่นคำว่า วรรณคดี ถ้าท่านรู้ว่า มาจากคำว่า วรรณ รวมกับ คดี วรรณ แปลว่า ตัวอักษร คดี มาจากคำว่า คติ คติ มา จาก คต และ คต มาจาก คม ซึ่งแปลว่า ไป เช่นนี้ก็เท่ากับว่าท่านเข้าใจ คำลึกซึ้งยิ่งขึ้น

การสะสมคำ
ได้พูดมาแต่ตอนต้นว่า นักประพันธ์พึงสะสมคำ ฉะนั้นทางที่ดีที่สุด ท่านควรมีสมุดบันทึกสักเล่มหนึ่งจดคำแปลกๆ ที่ท่านพบ หรือที่ท่านยังไม่รู้ แล้วศึกษาให้เข้าใจคำที่ท่านควรรู้ คือ

คำสามานยนาม ได้แก่ ซื่อสัตว์ ดอกไม้ เครื่องใช้ สี เครื่องเรือน ส่วนต่างๆ ของเรือ ของบ้าน และอะไรอีกจิปาถะ เพราะนักเขียนย่อมมี โอกาสจะต้องใช้คำ โดยไม่ได้คาดหมายไว้ก่อน เช่น ท่านต้องการวางฉากของเรื่องในวัด ซึ่งมีการเทศน์มหาชาติ ถ้าท่านไม่รู้จักชื่อสิ่งของต่างๆ ในวัด หรือในบริเวณที่มีเทศน์แล้ว ท่านก็จะพูดอะไรไม่ถูก ถ้าท่านจะพรรณนาเครื่องแต่งกายของบุคคลในเรื่อง ถ้าท่านไม่รู้ชนิดของเสื้อ หมวก สี และ ผ้า ฯลฯ แล้วท่านจะให้ผู้อ่านแลเห็นภาพที่ท่านพรรณนาได้อย่างไร

คำกริยา ซึ่งเป็นคำที่แสดงกิริยาอาการต่างๆ

คำอาการนาม อันเกี่ยวกับนามธรรม คือสิ่งที่ไม่เห็นด้วยตา ต้อง นึกเห็นเอาเอง

คำวิเศษณ์ อันเป็นคำแต่งให้ข้อความแตกต่างพิสดารออกไป

คำพวกที่มีข้อความคล้ายคลึงกัน เช่น เคารพ นับถือ ยำเกรง เกลอ มิตรสหาย เพื่อน ใหญ่ โต ขนบ ธรรมเนียม ประเพณี ระเบียบ ข้อบังคับ กฎ คำเหล่านี้ให้ท่านสังเกตจากหนังสือที่รับรองกันว่าเป็นหนังสือชั้นดี เช่น เวตาล และเรื่องของ น.ม.ส. พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๕ และที่ ๖ เป็นต้น

การเก็บสะสมคำนี้ ท่านอาจจะรู้สึกลำบาก แต่ไม่ต้องวิตก เพียงแต่ท่านจะจดคำที่ท่านพบใหม่วันละ ๕ คำก็พอแล้ว ข้อสำคัญยิ่งก็คือ นักประพันธ์ชั้นเยี่ยมทุกคนล้วนเป็นคนสนใจใน คำ ทั้งนั้น คำ นี่แหละเป็นเครื่องมือของนักประพันธ์ เปรียบเหมือน สิ่ว ขวาน เป็นเครื่องมือของช่างไม้ ช่างไม้ ซึ่งมีแต่สิ่วขวานจะสร้างเรือนให้ใหญ่โตไม่ได้ฉันใด นักประพันธ์ที่รู้คำน้อยจะสร้างวรรณกรรมเอกหาได้ไม่

ตัวอย่าง
๑. คน ซื่อกล่าวคำ ไม่ไพเราะหู แต่เป็นประโยชน์แก่กาลภายหน้า ให้สังเกตว่า ซื่อ นี่แปลว่าอย่างไร ถ้าเอาคำ จริง มี ความสัตย์ หรือ สุจริต ใส่แทนจะได้ความหมายดีเท่าเดิมหรือไม่

กล่าวคำ แปลว่า พูด แต่ถ้าใช้ พูด จะจืดไปมาก เพราะ พูด นั้น เป็นคำกว้างเกินไป
๒. คำโบราณกล่าวไว้แต่ก่อนว่า ถ้าผู้ใดจะเป็นเจ้าบ้านผ่านเมือง ให้ เกลี้ยกล่อม ซ่องสุม ผู้คนซึ่งมีสติปัญญา และทหารที่มี ฝีมือ ให้จงมาก

ให้สังเกตคำว่า เกลี้ยกล่อม ซ่องสุม ฝีมือ ท่านคิดว่าจะหาคำใดที่ดีกว่านี้ได้หรือไม่

๓. ลิ้นคนนั้น ตัด คอคนเสียมากต่อมากแล้ว
ถ้าท่านใช้คำว่า เชือด หรือ ฟัน ก็ไม่กระชับเท่าคำว่า ตัด

๔. (ก) พักตร์นางเหมือนพระจันทร์ยามเพ็ญ ผมเหมือนหมู่ผึ้งอันเกาะห้อยอยู่บนช่อดอกไม้ ปลายโขนงยาวจดถึงกรรณ โอบฐ์มีรสเหมือนจันทรามฤต

(ข) นางนั้นมีหน้าเหมือนพระจันทร์วันเพ็ญ มีผมเหมือนเมฆสีนิลโลหิต ซึ่งอุ้มฝนอยู่ในท้องฟ้า มีผิวซึ่งเย้ยดอกมะลิให้ได้อาย มีตาเหมือนเนื้อทรายระแวงภัย ริมฝีปากเหมือนดอกทับทิม

การพรรณนาของ ก. และ ข. คล้ายกัน แต่ข้อ ก. ใช้คำศัทพ์มาก ส่วน ข. นับว่าไม่มีคำศัพท์เลย การใช้คำต่างกันดังนี้ ท่านอ่านได้ผลอย่างไร
ก. ทำให้เห็นภาพเป็นความฝัน ส่วน ข. ให้เห็นภาพชัดกว่า

๕. คนที่ สำรวม ความยินดียินร้ายไม่ได้นั้น มีชีวิต ป่วยการ เปล่า
คำ สำรวม นี้เหมาะที่สุด ท่านจะหาคำอื่นมาแทนให้ได้ความดีเท่านี้ ไม่ได้ คำว่า ป่วยการ ก็เข้าใจง่าย สนิทหูกว่า “เสียเวลา”

๖. บุรุษควรมีความรักเป็นเครื่องนำความมีภริยา ไม่ใช่มีภริยาเป็น เครื่องนำความรัก

ถ้าใช้คำว่า ชาย และ เมีย จะทำให้รู้สึกว่าต่ำไป และดูดาดๆ ไม่ เป็นหลักฐาน

๗. อันธรรมดาเกิดมาเป็นชาย ครั้นมิได้มีแม่เรือน จะทำการสิ่งใด ก็มักขัดขวางไม่ใคร่จะสำเร็จ เหมือนเรือนไม่มีพื้น

ท่านคิดว่าถ้าใช้ ขัดข้อง จะดีกว่า ขัดขวาง ไหม คำว่า ขัดขวาง นี้ นอกจากมีความหมายโดยตรงแล้ว ยังมีความหมายโดยนัยยะอีกด้วย

๘. จากทัศนียภาพในทัศนวิสัยที่ปรากฏแล้วเมื่อวานนี้ โดยที่อาณาประชาราษฎรได้สโมสรสันนิบาตเฝ้าเสด็จ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เพื่อชมบุญญาธิการ ตามท้องแถวราชมารค ที่พระองค์เสด็จผ่านไปอย่างคับคั่ง เนืองนองมิขาดสาย แสนจะมเหาฬารยิ่งใหญ่กว่าทุกๆงาน เท่าที่ประจักษ์กันในยุคนี้

ท่านเห็นว่าอย่างไร ไม่มีรส ไม่ให้ความเข้าใจชัดเจนอะไร คำที่ใช้ ก็เก้อๆ และแลดูรุ่มร่าม

ที่มา:เปลื้อง ณ นคร