คำวิเศษณ์

คำวิเศษณ์ คือคำจำพวกที่ใช้ประกอบคำอื่นให้มีเนื้อความแปลกออกไป ได้แก่คำว่า ดี ชั่ว ขาว ดำ ต่ำ สูง เร็ว ช้า เป็นต้น สำหรับประกอบคำอื่น คือ
๑. ประกอบนาม เช่น ‘ม้าเร็ว’ ฯลฯ
๒. ประกอบสรรพนาม เช่น ‘ใครบ้าง’ ฯลฯ
๓.ประกอบกริยาเช่น ‘เดินช้า’ ฯลฯ
๔. ประกอบ วิเศษณ์ด้วยกัน เช่น ‘เร็วมาก’ ฯลฯ
และนอกจากนี้ คำวิเศษณ์ทำหน้าที่เป็นอกรรมกริยาได้ด้วย เช่น ตัวอย่าง ‘เขาโง่, เขาจักดีต่อไป’ คำ ‘โง่’ และ ‘ดี’ นี้เป็นคำวิเศษณ์ ทำหน้าที่เป็นอกรรมกริยา ดังกล่าวมาแล้ว

หมายเหตุ คำวิเศษณ์นี้ ภาษาฝรั่งเช่น อังกฤษ ฯลฯ เขามีเป็น ๒ รูป คือ รูปหนึ่งใช้ประกอบนามและสรรพนาม เราเรียกว่า ‘คุณศัพท์’ และอีก รูปหนึ่งใช้ประกอบกริยา คุณศัพท์ และประกอบวิเศษณ์ด้วยกันอีกชั้นหนึ่ง เราเรียกว่า ‘กริยาวิเศษณ์’ เพราะในภาษาเขามีรูปต่างกัน เช่น รูปคุณศัพท์ ‘ดี’เบน ‘กูด’ (good)’ และ ‘ชั่ว’ เป็น ‘แบด (bad)’ แต่รูปกริยาวิเศษณ์ของเขาไปอีกอย่างหนึ่ง เช่น ‘ดี’ เป็น ‘เวล (well)’ และ ‘ชั่ว’ เป็น ‘แบดลี่ (badly)’ ดังนี้เป็นต้น ดังนั้นเขาจึงเรียกชื่อเป็น ๒ อย่างตามรูปของมัน แต่ในภาษาไทยมีรูปอย่างเดียวกันทั้งหมด จึงเรียกว่าคำ‘วิเศษณ์’ ทั่วไป เพื่อสะดวกแก่การศึกษา และเชิงวิชาของเรา คำจำพวกนี้ในภาษาบาลีท่านก็เรียก “วิเสสนะ” ทั่วไปเหมือนกัน

และคำวิเศษณ์ที่ทำหน้าที่เป็นอกรรมกริยานั้น ในภาษาอื่นเขาต้องใช้ วิกตรรถกริยา ‘เป็น’ ประกอบ เช่น ‘เขาเป็นโง่’ ‘เขาเป็นดี’ เป็นต้น แต่ ในภาษาไทยใช้ ‘ เป็น ’ ประกอบไม่ได้ ถ้าใช้ ‘ เป็น ’ ประกอบเข้า มีเนื้อความเป็นพิเศษไปทางอื่น เช่น ‘เขาเป็นใหญ่’ ความกลายไปว่าเขาเป็นคนมีอำนาจ วาสนา หาใช่ตัวเขาใหญ่ไม่ เป็นต้น และคำวิเศษณ์ที่ทำหน้าที่เป็นกริยานี้ ย่อมใช้คำกริยานุเคราะห์ประกอบได้เหมือนกริยา เช่น ‘เขาคงชั่ว’ ‘เขาจักดี’ เป็นต้น

คำวิเศษณ์ รวมทั้งพวกประกอบนาม สรรพนาม กริยา และประกอบ วิเศษณ์ด้วยกัน จำแนกออกเป็น ๑๐ จำพวก คือ
(๑) ลักษณวิเศษณ์ (๒) กาลวิเศษณ์ (๓) สถานวิเศษณ์ (๔) ประมาณวิเศษณ์ (๕) นิยมวิเศษณ์ (๖) อนิยมวิเศษณ์ (๗) ปฤจฉาวิเศษณ์ (๘) ประติชญาวิเศษณ์ (๙) ประติเษธวิเศษณ์ และ (๑๐) ประพันธวิเศษณ์ ดังจะอธิบายต่อไปนี้

ลักษณวิเศษณ์ (อ่าน ลักสะหนะวิเสด) คือ คำวิเศษณ์บอกลักษณะ ซึ่งหมายถึงคำวิเศษณ์ประกอบนาม หรือสรรพนามเป็นพื้น ที่ใช้ประกอบ ‘กริยา’ และ ‘วิเศษณ์’ มีไม่สู้มากนัก ‘ลักษณะ’ หมายถึงสิ่งสำคัญ ที่ให้เราสังเกตได้ เช่น ‘ขาว ดำ ต่ำ สูง โง่ ฉลาด เร็ว ช้า ตาบอด ผมยาว สีคราม’ เป็นต้น คำวิเศษณ์พวกนี้เอาคำชนิดอื่นมาใช้ก็ได้ เช่น ‘ช้างป่า ช้างบ้าน ช้างไม้ ช้างปั้น ช้างหล่อ ฯลฯ’ ดังนี้จะเห็นได้ว่า คำ ‘ป่า บ้าน  ไม้’ เดิมก็เป็นคำนามทั้งนั้น แต่เอามาเป็นคำวิเศษณ์ประกอบ ‘ช้าง’ บอกลักษณะว่าเป็นช้างชนิดไร และคำ ‘ปั้น หล่อ’ เดิมก็เป็นคำกริยานำมาใช้เป็นลักษณวิเศษณ์ บอกชนิดเช่นเดียวกัน ดังจะยกคำลักษณวิเศษณ์ต่างๆ มาไว้ให้ดูเป็นที่สังเกต ดังต่อไปนี้

(๑) บอกชนิด เช่น ‘ชั่ว ดี อ่อน แก่ หนุ่ม สาว หลวง (ม้าหลวง ต้น (ช้างต้น) ป่า (สัตว์ป่า) ทะเล (ปลาทะเล) จีน (ร่มจีน) ตัดผม
(คนตัดผม) หูหนวก (คนหูหนวก) เป็นต้น
(๒) บอกขนาด เช่น ‘ใหญ่ โต เล็ก กว้าง ยาว ย่อม เขื่อง เป็นต้น
(๓) บอกสัณฐาน เช่น ‘กลม แบน แป้น ทุย’ เป็นต้น
(๔) บอกสี ‘แดง ขาว ดำ เหลือง’ เป็นต้น
(๕) บอกเสียง เช่น ‘เพราะ เสนาะ ดัง ค่อย แหบ เครือ’ และเสียงสัตว์ร้อง เช่น เสียง เจี๊ยก เสียงของตก เช่น เสียง ตึง เป็นต้น
(๖) บอกกลิ่น เช่น ‘หอม เหม็น ฉุน เหม็นอับ เหมือนสาบ’ เป็นต้น
(๗) บอกรส เช่น ‘จืด เค็ม หวาน มัน เปรี้ยว ขม เผ็ด’ เป็นต้น
(๘) บอกสัมผัส เช่น ‘ร้อน เย็น อุ่น นุ่ม แข็ง’ เป็นต้น
(๙) บอกอาการ เช่น ‘เร็ว ช้า เซ่อ ว่องไว ฉลาด ประเปรียว กระฉับกระเฉง’ เป็นต้น

คำลักษณวิเศษณ์ที่บอกอาการนี้ มีใช้ประกอบนามหรือสรรพนามไม่มากนัก ดังข้างบนนี้ แต่ที่ใช้ประกอบกริยามีมาก เพราะคำกริยามีหน้าที่แสดงอาการของนามอยู่แล้ว เช่น นั่ง นอน วิ่ง เต้น ฯลฯ ฉะนั้น คำวิเศษณ์ ที่ประกอบกริยา จึงมีหน้าที่แสดงอาการให้แปลกๆ ออกไป เช่น นั่ง โงกเงก นอน คลุมโปง นอน ละเมอ กระโดด แผล็ว ลิงร้อง เจี๊ยก หมาเห่า โฮก เป็นต้น

หมายเหตุ ได้อธิบายแล้วว่า ‘ลักษณะ ’ คือเครื่องหมายที่ให้เราสังเกตได้ ว่าสิ่งนี้ต่างกับสิ่งนั้น ดังชี้แจงมาแล้ว แต่คำ ‘อาการ’ หมายถึงความประพฤติ ความเป็นไปของคนสัตว์หรือสิ่งของต่างๆ ซึ่งรวมอยู่ในลักษณะที่จะให้เราสังเกตเหมือนกัน จึงนับรวมกันเข้าในลักษณวิเศษณ์’ พวกเดียวกัน คือคำวิเศษณ์ บอกลักษณะก็ดี คำวิเศษณ์บอกอาการก็ดี ให้รวมเรียกว่า ‘ลักษณวิเศษณ์ทั้งนั้น เพื่อสะดวกแก่การศึกษา

กาลวิเศษณ์ (อ่าน กาน-ละวิเสด) คือคำวิเศษณ์บอกเวลา หมายความว่าคำวิเศษณ์ที่แสดงเวลาภายหน้าภายหลัง หรือเวลาปัจจุบัน หรือ เวลาเร็ว ช้า ก่อน หลัง ฯลฯ ตัวอย่าง

(๑) ประกอบนาม คน โบราณ คน ภายหลัง คน เดี๋ยวนี้ เวลา นาน เวลา ช้า เวลา เร็ว เวลา เช้า เวลา เย็น เวลา ค่ำ ฯลฯ
(๒) ประกอบกริยา นอน ช้า นอน นาน นอน ก่อน นอน ภายหลัง นอน เดี๋ยวนี้ นอน เย็น ตื่น เช้า ฯลฯ

คำวิเศษณ์ที่ประกอบคำสรรพนามหรือวิเศษณ์ ก็เป็นทำนองนี้เหมือนกัน

ข้อสังเกต ในที่นี้ยกมาแสดงเฉพาะคำกาลวิเศษณ์เท่านั้น แต่อย่าให้เอา บทวลีบอกกาลมาปน คือบทวลีบอกกาลนั้นเป็นคำหลายคำเรียงกัน เช่น วันนี้ เดือนนี้ ศก ๒๔๘๐ ปีกลายนี้ ฯลฯ ซึ่งจะแสดงในวากยสัมพันธ์ต่อไป

สถานวิเศษณ์ (อ่าน สะถาน-นะวิเสด) คือ คำวิเศษณ์บอกสถานที่ หมายถึงคำวิเศษณ์แสดงที่อยู่หรือระยะที่ตั้งอยู่ เช่น ใกล้ ไกล ใต้ เหนือ ฯลฯ เช่น ตัวอย่าง

(๑) ประกอบนาม บ้าน ใกล้ บ้าน ไกล บ้าน ใต้ บ้าน เหนือ สัตว์บก สัตว์ นํ้า ฯลฯ

(๒) ประกอบกริยา อยู่ ใกล้ อยู่ ไกล อยู่ ใต้ อยู่ เหนือ ฯลฯ ยังมี คำอื่นๆ อีกมาก ให้สังเกตตัวอย่างข้างบนนี้เป็นหลัก

ข้อสังเกต คำวิเศษณ์พวกนี้ย่อมทำหน้าที่เป็นบุพบทด้วย กล่าวคือ ถ้ามี นามหรือคำที่ทำหน้าที่นาม ต่อคำเหล่านี้ออกไปอีก คำเหล่านี้ก็กลายเป็นบุพบทบอกสถานที่ไป เช่น บ้านอยู่ไกลนาป่าอยู่ใกล้เขา ฯลฯ ‘ไกล’ และ ‘ใกล้’ ที่นี้ เป็นบุพบทบอกสถานที่ ซึ่งจะกล่าวต่อไป

ประมาณวิเศษณ์ (อ่านประมาน-นะวิเสด) คือคำวิเศษณ์ บอกจำนวนผิดแผกกัน เช่นคำ มาก น้อย หมด ครบ สิ้น ฯลฯ จำนวนนับที่เรียกว่า ‘ส่งขยา’ หรือ ‘จำนวนเลข’ เช่น หนึ่ง สอง สาม ที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม ครบหนึ่ง ครบสอง ฯลฯ และบอกจำนวนขาดเกิน ฯลฯ เหล่านี้ เป็นต้น คำวิเศษณ์เหล่านี้แบ่งออกเป็น ๔ ประเภทด้วยกัน คือ :-

(๑) บอกจำนวนไม่มีจำกัด กล่าวคือ เป็นแต่บอกคร่าวๆ ซึ่งไม่รู้จำนวนได้ชัดเจน เช่นคำ มาก น้อย หลาย ทั้งหลาย จุ กัน เช่นตัวอย่าง

ก. ประกอบนาม คน มาก คน หลาย เรือ จุ เรือไม่ จุ ฯลน

ข. ประกอบกริยา กิน มาก กิน หลาย กิน จุ กินไม่ จุ เขานอน กันแล้ว ฯลฯ

(๒) บอกจำนวนจำกัด ซึ่งหมายความว่า บอกกำหนดขีดขั้นให้รู้ได้ว่า เพียงนั้นเพียงนี้ เช่นกำ หมด ทั้งหมด ปวง ทั้งปวง ผอง ทั้งผอง ทุก บรรดา ฯลฯ

ก. ประกอบนาม คนหมด คนทั้งหมด ปวงคน ผองคน คนทั้งปวง คนทั้งผอง คนทุกคน บรรดา คน ฯลฯ

ข. ประกอบกริยา กิน หมด กิน ทั้งหมด ฯลฯ

(๓) บอกจำนวนแบ่งแยก คือหมายความว่าแสดงจำนวนแยกออกเป็น พากๆ เช่นคำ บาง บ้าง ต่าง ต่างๆ ฯลฯ และแสดงจำนวนเป็นรายตัว เช่น คนละ ละคน สิ่งละ ละสิ่ง ฯลฯ เช่นตัวอย่าง
ก. ประกอบนาม บาง คน ต่าง คน คน ต่างๆ สิ่งละ คน
ข. ประกอบกริยา กิน บ้าง ต่าง ทำ ทำ ต่างๆ ทำ ละครั้ง (โบราณ)
ฯลฯ

หมายเหตุ ส่วนประกอบกริยานี้ มักใช้ไปในทางวลีโดยมาก เช่น ทำ บางครั้ง ทำต่างเวลา ทำคนละครั้ง ทำคนละอย่าง ฯลฯ ซึ่งจะกล่าวใน วากยสัมพนธ์ต่อไป

(๔) บอกจำนวนนับ คือ หมายถึงกำหนดนับชัดเจนลงไปว่า เท่านี้ เท่านั้น มี ๒ พวก คือ
ก. บอกจำนวนเลขธรรมดา (บาลีเรียกว่าปกติสังขยา) ได้แก่ จำนวนเลข ๑, ๒, ๓, ๑๐, ๑๐๐, ๑๐๐๐ เป็นต้น ซึ่งประกอบนาม เช่น ๑ คน ๕ คน ๘ ครั้ง ฯลน

ข. บอกจำนวนเลขที่ (บาลีเรียกปูรณสังขยา) เช่นที่๑ ที่ ๒ ครบ ๕ ครบ๑ ฯลน มักใช้ประกอบนาม เช่น คนที่ ๑ วันครบ ๕ เป็นต้น

หมายเหตุ ประมาณวิเศษณ์นี้ ใช้ประกอบหน้าศัพท์ก็มี หลังศัพท์ก็มี ดังตัวอย่างที่อ้างข้างบนนี้ ประกอบทั้งข้างหน้าและข้างหลังศัพท์ก็มี เช่น มากคน น้อยคน คนมาก คนน้อย ฯลฯ ดังจะอธิบายข้างหน้าต่อไป

นิยมวิเศษณ์ (อ่าน นิยม-มะ-วิเสด) คือคำวิเศษณ์ที่บอก กำหนดเขตของความหมายชัดเจน ว่าเป็นสิ่งนี้สิ่งนั้นอย่างเดียว หรือเป็นเช่นนี้ เช่นนั้นอย่างเดียว ไม่แปรปรวนเป็นอย่างอื่น เช่นคำ นี้ นั้น โน้น ดังนี้ ดังนั้น ทีเดียว แท้จริง แน่นอน เป็นต้น คำพวกนี้แบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ:-

ก. บอกกำหนดแน่นอนเกี่ยวกับสถานที่ เช่น นี้ นั้น โน้น คือคำ ‘นี้’ หมายถึงสิ่งหรือกิจการที่อยู่ใกล้ เช่น คนนี้ ที่นี้ คนเหล่านี้ ทำเช่นนี้ ฯลฯ และคำ ‘นั้น’ หมายถึงห่างจากคำ ‘นี้’ ออกไป เช่น คนนั้น ที่นั้น คนเหล่านั้น ทำเช่นนั้น ฯลฯ และ ‘โน้น’ หมายถึงไกลจาก ‘นั้น’ ออกไปอีก เช่นคนโน้น ที่โน้น ทำเช่นโน้น ฯลฯ

หมายเหตุ คำ ‘นี้ นั้น โน้น’ ยังใช้เป็นคำประสม โดยเอาคำอื่นมา, ประกอบข้างหน้าอีกมากมาย เช่น อย่างนี้ อย่างนั้น อย่างโน้น ทั้งนี้ ทั้งนั้น หมดนี้ หมดนั้น และที่แผลงใช้ก็มี เช่น อะนี้ อะนั้น อันนี้ อันนั้น กระนี้ กระนั้น แล้วแต่ภาษานิยม ทั้งนี้นับว่าเป็นนิยมวิเศษณ์พวกเดียวกันทั้งนั้น

ข. บอกกำหนดแน่นอนเกี่ยวกับความหมาย (คือไม่เกี่ยวกับสถานที่)เช่น เอง ดอก เช่น ฉันเอง ฉันดอก ทำเอง พูดเล่นดอก ฯลน และคำวิเศษณ์ที่ แสดงความหมายมีกำหนดแน่นอน เช่น เทียว ทีเดียว เจียว แน่นอน แท้จริง แน่แท้ ฯลน นับว่าเป็นนิยมวิเศษณ์พวกนี้ทั้งนั้น

ยังมีคำวิเศษณ์พวกนี้ที่ควรสังเกตคือ ‘เฉพาะ’ และ ‘แต่’ เช่น ‘เขาให้เงินเฉพาะแก่ลูกเขา’ ‘เขาเห็นแต่แก่ตัวเขา’ คำ ‘เฉพาะ’ และ ‘แต่’ ที่นี้เป็น นิยมวิเศษณ์บอกกำหนดความหมาย เพราะมีบุพบท ‘แก่’ ประจำอยู่หน้า แต่ถ้าละบุพบทเสีย คำ ‘เฉพาะ’ และ ‘แต่’ ก็ทำหน้าที่เป็นบุพบท นำหน้าการก ต่างๆ ได้ เช่น ‘เขารักเฉพาะบุตรเขา’ หรือ ‘เขารักแต่บุตรเขา’ ดังนี้ คำ ‘เฉพาะ’ และ ‘แต่’ ก็เป็นบุพบทนำหน้ากรรมการกไป ดังจะกล่าวในข้อบุพบทอีก ขอให้สังเกตไว้

หมายเหตุ คำ ‘นี้’ ‘นั้น’.‘โน้น’ และคำประสมที่เกี่ยวกับ ๓ คำนี้บางที ก็ใช้เป็นนิยมสรรพนาม เช่น ‘นี้ของใคร’ ‘ทั้งนี้ของใคร’ ฯลน ก็มี และคำ ‘นี่ นั่น โน่น’ ซึ่งเป็นนิยมสรรพนาม บางทีก็ใช้เป็นนิยมวิเศษณ์ เช่น ‘ฉัน
ไม่ชอบนายแพทย์นั่น คำ ‘นั่น’ ในที่นี่เป็นนิยมวิเศษณ์ตามรูปประโยคดังนี้ก็มี เพราะฉะนั้นการสังเกตคำ ‘นี้ นั้น โน้น’ หรือ ‘นี่ นั่น โน่น’ และคำประสมซึ่งเกี่ยวด้วยคำพวกนี้ จึงจำเป็นต้องสังเกตรูปความว่า คำพวกนี้ทำหน้าที่อย่างไร ในข้อความนั้นด้วย

อนิยมวิเศษณ์ (อ่านอะ-นิ-ยม-มะ-วิเสด) คือคำวิเศษณ์แสดงความไม่กำหนดแน่นอนลงไป รวมย่อๆ เป็น ๒ พวกด้วยกัน คือ

ก. พวกตรงข้ามนิยมวิเศษณ์ เช่น อื่น อื่นๆ เหล่าอื่น อย่างอื่น พวกอื่น ดังตัวอย่าง คนอื่น คนเหล่าอื่น ทำอย่างอื่น คนพวกอื่น เหล่านี้เป็นต้น

ข. พวกที่บอกความไม่แน่ซึ่งไม่ใช่บอกความสงสัย หรือใช้เป็นคำถาม แต่นำมาใช้ในความไม่กำหนด เช่นคำ ใด ใดๆ อะไร อะไรๆ ไร ไรๆ ไหน ไหนๆ ไฉน ไย ทำไม ฯลฯ และคำประสมที่เกี่ยวกับคำ ‘ กี่ ’ หรือบางคำข้างต้นนั้น เช่น กี่คน กี่ครั้ง ฉันใด เช่นไร ฯลฯ ดังตัวอย่าง เขามาเวลาใดก็ได้  เขาห่มผ้าอะไรได้ทั้งนั้น เขาจะมาทำไมก็ตาม เจ้าทำไฉนได้ทั้งนั้น ไยมาด่าฉัน ไม่กลัวเลย จะกินข้าวกี่ชามก็ได้ มีอุปมาฉันใดก็มีอุปไมยฉันนั้น เหล่านี้เป็นต้น

ปฤจฉาวิเศษณ์ (อ่านปริค-ฉา-วิเสด) คือคำวิเศษณ์ที่แสดงความสงสัยหรือใช้ในคำถาม ได้แก่คำอนิยมวิเศษณ์ข้อ ข. (แต่เว้นบางคำที่ไม่แสดงความสงสัยหรือใช้ในคำถาม) เช่นคำ ใด อะไร ไหน ไย ทำไม กี่คน อย่างไร เหตุไร ฉันใด อันใด เหล่านี้เป็นต้น ดังตัวอย่าง คนใดหนอแกล้งเรา  นั้นเป็นสัตว์อะไร โกรธกันแล้วไยมาพูดกับฉัน ทำไฉนดีหนอ คนไหนเป็นบุตรท่าน ท่านมีบุตรกี่คน ท่านอายุเท่าไร เหล่านี้เป็นต้น

ข้อสังเกต คำวิเศษณ์พวกนี้ ต้องเกี่ยวกับบอกความสงสัย หรือใช้เป็น คำถาม ถ้าแสดงความอย่างอื่น ต้องเป็นอนิยมวิเศษณ์

ประติชญาวิเศษณ์ (อ่านประ-ติด-ยา-วิเสด) ได้แก่คำวิเศษณ์ที่แสดงการรับรองในเรื่องเรียกขานและโต้ตอบกัน เช่นคำ จ๋า เจ้าขา เจ้าค่ะ โว้ย (เช่น แดงโว้ย) ขอรับ ขอรับผม ขอรับกระหม่อม พระพุทธเจ้าขอรับเหล่านี้เป็นต้น

หมายเหตุ คำประติชญาวิเศษณ์เกี่ยวกับคำโต้ตอบกันโดยมาก ดังนั้นรูปคำจึงเพี้ยนจากคำเดิมไป เช่นคำเดิมเป็น ‘พระเจ้าข้า’ ผู้ชายพูดก็กลายเป็น เพ็ด ช่ะข้ะ พ่ะย่ะข้า ผู้หญิงพูดก็กลายเป็น ป้ะข้ะ เพคะ และคำเดเม  ‘จ้ะ’ ก็กลายเป็น จ๊ะ จ๋า ย๋ะ ย่ะ เป็นต้น และคำเหล่านี้ยังใช้แปลกกันไปตามยศอีกมากมาย

อนึ่ง คำพวกนี้ได้ชื่อว่าคำวิเศษณ์ ก็เพราะประกอบนามและกริยา ดังตัวอย่างต่อไปนี้

เกี่ยวกับความเรียกร้อง เช่น ‘หนูจ๋า คุณขอรับ แดงโว้ย ฯลฯ ดังนี้ คำ ‘จ๋า ขอรับ โว้ย’ ย่อมประกอบคำที่อยู่หน้าคือ ‘หนู คุณ แดง’ ถ้าเป็นคำ ขานตอบซึ่งกล่าวหวนๆ ว่า ‘จ๋า ขอรับ โว้ย’ ดังนี้ คำเหล่านี้ก็เรียกว่า ‘ประ¬ติชญาวิเศษณ์บอกเสียงขานรับ’ ไม่ต้องประกอบคำอะไร เพราะเมื่อบอกสัมพันธ์ คำเหล่านี้อยู่ในช่อง ‘บทเชื่อม’

แต่ถ้าเป็นความโต้ตอบกัน ซึ่งอยู่ต้นประโยคก็มี เช่นถาม ‘ท่านเป็นทหาร หรือ’ คำตอบ ‘ขอรับ ผมเป็นทหาร’ หรืออยู่ท้ายประโยคว่า ‘ผมเป็นทหาร ขอรับ ’ ดังนี้ คำ ‘ขอรับ’ ทั้ง ๒ ประโยคนี้ต้องกระจายคำว่า ‘ประติชญาวิเศษณ์ ประกอบกริยา เป็น’

ประติเษธวิเศษณ์ (อ่านประติ-เสด-ธะ-วิเสด) คือคำวิเศษณ์ ที่บอกความห้าม หรือความไม่รับรอง ได้แก่คำ ‘ใช่ (ที่หมายความว่า ไม่ใช่ ไม่ถูก) ไม่ มิ บ บ่อ หาไม่ มิได้ หามิได้ ไม่-หามิได้’ เป็นต้น คำพวกนี้ประกอบหน้าก็มี ประกอบหลังก็มี อยู่ทั้งข้างหน้าข้างหลังก็มี ดังตัวอย่างต่อไปนี้ ประกอบนาม ‘ใช่กิจของนักเรียน’ (ไม่ใช่กิจของนักเรียน) ประกอบกริยา ‘ไม่อยู่ มิอยู่ บอยู่ มิได้อยู่ อยู่หาไม่ หาอยู่ไม่ ไม่อยู่หามิได้’ เป็นต้น และประติเษธวิเศษณ์ ใช้ในการโต้ตอบก็มี เช่นคำ ‘เปล่า มิได้ หามิได้ เช่นถามว่า ‘ท่านหิวหรือ?’ ตอบว่า ‘ เปล่า มิได้ หามิได้ ’ แล้วแต่จะเหมาะกับยศซึ่งจะแสดงต่อไป คำพวกนี้ ถ้าบอกหน้าที่ของมันให้ละเอียดก็บอกว่าเป็น ‘ประติเษธวิเศษณ์ในความโต้ตอบกัน’ และใช้ควบกันไปกับคำประติชญาวิเศษณ์ ก็ได้ เช่นตอบคำถามข้างบนว่า ‘เปล่าขอรับ มิได้ขอรับ’ เป็นต้น

ประพันธวิเศษณ์ คือคำประพันธสรรพนามที่เอามาใช้เป็นคำวิเศษณ์ ได้แก่คำ ‘ที่ ซึ่ง อัน’ และคำประสมที่เกี่ยวกับคำพวกนี้ เช่น ‘อย่าง ที่’ฯลฯ ซึ่งนำมาให้ติดต่อกับคำวิเศษณ์หรือคำกริยา เช่นตัวอย่าง ‘เด็กคนนี้โง่แปลก คือโง่ ที่ อธิบายไม่ถูก’ หรือ ‘เป็นเวลาอันนานซึ่งประมาณไม่ได้’ หรือ ‘เป็นของมาก อัน ไม่สามารถคำนวณได้ หรือ ‘เขากินอย่างที่เรียกว่ายัดนุ่น’ เป็นต้น ดังนี้คำ ‘ที่’ ที่ต่อคำ ‘โง่’ คำ ‘ซึ่ง’ ที่ต่อคำ ‘นาน’ คำ ‘อัน, ที่ต่อคำ ‘มาก’ และคำ ‘อย่างที่’ ที่ต่อคำ ‘กิน’ ล้วนเป็นบทขยายคำวิเศษณ์ และกริยาทั้งนั้น จึงนับว่าเป็นประพันธวิเศษณ์

คำที่เป็นเหตุของความเบื้องต้น ได้แก่คำว่า ‘เพราะ’‘ด้วย’‘เหตุเพราะ’ ‘เหตุว่า’ ด้วยว่า’‘เพราะว่า’‘คำที่’ เป็นต้น ตัวอย่าง ‘เด็กเสียคน เพราะ ผู้ใหญ่สอนไม่ดี คนทำบุญด้วยกันอื่นชักชวน เขาทำผิดค่าที่เขาไม่รู้จักผิด’ ดังนี้เป็นต้น คำ ‘เพราะ’ ‘ด้วย’ ‘คำที่’ ล้วนเป็นบทขยายกริยาทั้งนั้น จึงนับว่าเป็นประพันธวิเศษณ์ด้วย

คำขยายบทเบื้องต้น ได้แก่คำต่อไปนี้ ‘เพื่อว่า เพื่อให้’ เป็นต้น ตัวอย่าง เขาพูดเพื่อให้เราเสีย เขาเลี้ยงเพื่อว่าลูกจะได้เลี้ยงเขา คำว่า‘เพื่อให้’ ‘เพื่อว่า ’ ล้วนเป็นบทขยายกริยา จึงนับว่าเป็นประพันธวิเศษณ์ด้วย

หมายเหตุ คำประพันธวิเศษณ์เหล่านี้ทำหน้าที่เป็นบทเชื่อมของวิเศษณานุประโยค ในวิธีบอกสัมพันธสังกรประโยคด้วย

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร