การเริ่มพิธีลากพระของชาวปักษ์ใต้


วันที่ทำกันมาแต่ครั้งโบราณนั้นคือ วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑  คือวันปวารณาออกพรรษาเสมอ  ก่อนจะถึงวันลาก ๗ วัน  คือตั้งแต่เดือน ๑๑ ขึ้น ๘ ค่ำ  วัดไหนที่จะลากพระก็ตีกลองประจำให้มีเสียงดังคล้ายกับประกาศว่า วัดนี้จะมีการลากพระ  ชาวบ้านจะได้ทราบวิธีเช่นนี้  คนพื้นเมืองเรียกว่า “การคุมพระ”  วิธีที่ตีคุมพระนั้นคือใช้กลอง ๒ ใบ  เล็กใบหนึ่งเรียกว่า “กลอง” ใหญ่ใบหนึ่งรูปคล้ายกลองเหมือนกันแต่คนพื้นเมืองเรียกว่า “โพน” (ตะโพน)  ซึ่งไม่ผิดอะไรกับกลองเลย  วิธีตีคือตีกลองใบเล็กเป็น ๑ คู่  มีคนตีกลองใหญ่ซ้ำอีก ๑ ที  เป็นเช่นนี้สลับเรื่อย ๆ กันไป  และบางครั้งตีรัวพร้อม ๆ กันไปตลอดวัน  ที่ไหนมีวัดที่มีการลากพระมาก  จะได้ยินแต่เสียงกลองสนั่นหวั่นไหววันยังค่ำ แถมในเวลากลางคืนพวกชาวบ้านและพวกศิษย์วัดนัดตีกลองแข่งขันกันว่าของใครจะดังมากกว่ากัน  นัดแนะกันไปแข่งขันให้ไกลออกไปจากวัด  การแข่งขันกันนี้เป็นเหตุให้ประกวดการสร้างกลองให้แข็งแรงและมีเสียงดัง  จะได้มีชื่อว่า  มีกลองดังชนะวัดนั้น ๆ  ครั้งก่อน ๆมา ในการแข่งขันกันนี้มีวิธีแปลก ๆ มาก  โดยหาวิธีจะทำให้กลองคู่แข่งขันทะลุ และยังเตรียมกลองหนา ๆ กันมาไว้อีก เพื่อเสียงแพ้แล้ว จะได้ชวนเอากลองโดนกันอีก  เพื่อว่าของใครจะทนทานกว่ากันเป็นการสนุกมาก  แต่บัดนี้วิธีเช่นนี้ไม่ค่อยจะมีเสียแล้ว  เพราะทางบ้านเมืองห้าม กลัวจะเกิดวิวาทกันขึ้น  บางอำเภอวัดไหนจะมีการลากพระต้องของอนุญาตต่ออำเภอ นายอำเภออนุญาตให้ลากจึงลากได้

ในระหว่างที่คุมพระอยู่นี้วัดที่มีการลากพระก็เตรียมการ คือทำที่สำหรับลากพระ

นอกจากแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ แล้ว ยังมีการลากพระเดือน ๕ อีก เริ่มคุมพระแต่ขึ้น ๘ ค่ำเดือน ๕ จนถึงวันแรม ๑ ค่ำ ก็ถึงวันลาก  พิธีคุมพระและอย่างอื่นเหมือนกันกับเดือน ๑๑

ส่วนลากพระทางเรือนั้นเดือน ๕ ไม่ค่อยมีเพราะน้ำแห้ง  นานมา ๆ จนทุกวันนี้  บางแห่งลากพระทางบกก็ดี  ลากพระทางเรือก็ดี  ทำกันไมมีข้อยุติ  ใครนึกจะลากเมื่อใดก็ลากกัน  เป็นการทำเพื่อต้องการทำบุญและการรื่นเริง