การลากพระกลับวัดจะทำกันตอนไหน


เมื่อพระฉันเพลแล้ว  พลเมืองมาจากไหนต่อไหนประชุมกันอยู่มากมาย พวกพ่อค้าแม่ค้าต่างก็นำขนมมาขายคล้าย ๆ กับขนมที่ตั้งขายในงานต่าง ๆในกรุงเทพฯ  ลากพระหยุดพักอยู่จนเที่ยงวันไปแล้ว  แล้วจึงลากพระกลับเรียกว่า “ลากพระกลับหลัง”  พลเมืองนับถือเป็นคติกันมาว่า ฝนมักตก จนพูดติดปากกันมาว่า “พระให้หลังฝนตก”  แต่ถ้าฝนตกก็หมดสนุกถ้าฝนไม่ตกเมื่อพระที่ลากมาหยุดรวมกัน  ต่างก็แยกย้ายกันไปแล้ว ใครพอใจวัดไหนมากก็ตามไปลากพระวัดนั้น  พอลากจากที่หยุดจนเวลาประมาณ ๑๔ นาฬิกา  ก็หยุดเตรียมซัดข้าวต้มแข่งขันกัน  ที่ซัดข้าวต้มถือเอาหน้ารถลากเป็นเวทีใช้เชือกลากเป็นเขต  ของที่ใช้ซัดกันเรียกว่าลูกต้ม  ห่อด้วยใบตาลโตนด  ภายในบรรจุทรายหรือข้าวสุกที่แห้งแล้ว ซึ่งแช่น้ำให้พอง  ลูกต้มนี้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้จัดการลากพระจะต้องเตรียมทำมา

เมื่อตกลงคู่แข่งขันกันได้แล้ว แจกลูกต้มให้ข้างละ ๑๐ หรือมากกว่านั้น    ฝูงคนมาห้อมล้อมกันมองดูเป็นการสนุกยืนห่างกันประมาณ ๕-๖ วา  ข้างไหนมีฝีมือ  ก็ซัดแม่นอาจจะถูกอีกฝ่ายหนึ่งได้  เป็นการมีชัย  ถ้าทั้ง ๒ ฝ่ายมีฝีมือเหมือนๆ กัน ก็เสมอกันไป  ลูกต้มที่ใช้ซัดกันนี้มีน้ำหนักพอกับกำลัง  แต่พวกนักกีฬาจำพวกนี้แข็งแรง  ทั้งซัดและรับมิให้ถูกตัวได้ด้วยความสามารถ  เพราะต่างก็ได้ฝึกหัดมาจนกำลังแขนแข็งแรงมากแล้วทั้งนั้น

เมื่อซัดข้าวต้มกันพอเห็นฝีมือกันแล้ว  ก็ลากพระต่อไป  พอได้ระยะก็จัดคู่ซัดข้าวต้มใหม่  ลากไปซัดข้าวต้มไปเช่นนี้จนเกือบถึงวัดก็จวนเวลาย่ำค่ำ  จึงเลิกซัดข้าวต้มกัน  เป็นอันหมดวิธีลากพระบกเพียงนี้

ส่วนพระเรือก็ลากกลับวัดเหมือนการลากพระบก  ตอนกลับนี้จะได้เห็นการแข่งเรือกันเรื่อย ๆ ไป จนจวนจะค่ำ ลากพระถึงวัดแล้วจึงหยุดการแข่งเรือ หมดวิธีลากพระเรือเพียงเท่านี้เหมือนกัน

ต่อจากนี้  เจ้าหน้าที่ก็เชิญพระลากจากรถลากไปไว้ที่เดิม  ส่วนรถลากก็รื้อออก  เก็บไว้สำหรับจะได้ใช้ลากในปีต่อไปอีก