การใช้คำ

เมื่อเราอ่านเรื่องของนักประพันธ์ต่างๆ เรามักเพ่งเล็งเฉพาะเนื้อเรื่อง หรืออย่างมากก็สังเกตสำนวนโวหารของเขา น้อยครั้งทีเดียวที่เราจะได้สังเกตไปถึงถ้อยคำที่เขาใช้ แปลว่าเราได้รับแต่รสของเนื้อเรื่องและสำนวนโวหาร ส่วนรสของถ้อยคำนั้นเราหาได้รู้สึกไม่ ผู้ที่ฝึกเป็นนักประพันธ์จะต้องสร้างอุปนิสัยในการสังเกตคำที่ผู้อื่นใช้ มิใช่ว่าจะอ่านเผินๆ ไปเท่านั้น นักประพันธ์สำคัญๆ หรือผู้ที่เป็นอาจารย์ทางอักษรศาสตร์ ย่อมมีความระวังในการใช้คำ คำทุกคำที่เขาเขียนลงไปล้วนเป็นคำที่มีประโยชน์ต่อข้อความที่เขาต้องการแสดง และเป็นคำที่มีความหมายโดยเฉพาะ เขาย่อมไม่ใช้คำที่มีความหมาย พร่าหรือใช้คำผิดๆ ถูกๆ เป็นอันขาด

ในหนังสือเรื่อง “ชีวิตพระสารประเสริฐที่ข้าพเจ้ารู้’’ เสฐียรโกเศศ ได้เล่าถึงการแปลหนังสือเรื่อง “กามนิต’’ จากภาษาอังกฤษ ตอนหนึ่งใน หน้า ๑๔๓ มีข้อความที่ผู้เริ่มประพันธ์พึงสังเกตว่านักประพันธ์สำคัญๆ ย่อม ใช้คำโดยความตั้งใจอย่างไร

“การแปลภาคบนพื้นดิน ตอนที่กามนิตโต้ตอบกับพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้า จงใจแปลให้เป็นคำดาดๆ ง่ายๆ ให้มีคำศัพท์แสงน้อยที่สุด และขอร้องไม่ให้ พระสารประเสริฐแก้เป็นคำศัพท์ นอกจากจำเป็นจริงๆ ส่วนภาคบนสวรรค์ จะใช้ศัพท์สูงๆ อย่างไรก็ได้ เพราะฉะนั้นท่านที่เคยอ่านเรื่องกามนิต จะเห็นข้อความตอนภาคสวรรค์แพรวพราวไปด้วยศัพท์เพราะๆงามๆ ข้าพเจ้าจำได้ว่า แปลคำว่า Mat ในภาษาอังกฤษว่า อาสนะ เพราะเป็นเรื่องพระพุทธเจ้าทรงลาดอาสนะลง พระสารประเสริฐเห็นแล้วก็หัวเราะ บอกว่าที่รองนั่งของพระพุทธเจ้าเขาไม่เรียกว่า อาสนะ เขามีคำใช้เฉพาะเรียกว่า นิสีทนสันถัด ต่างหาก แล้วก็กล่าวต่อไปว่า จะติก็ติไม่ลง เพราะเป็นเรื่องของศาสนา ถ้าไม่ได้เรียนก็ไม่รู้ อย่างไรก็ดี หนังสือกามนิตสำเร็จเป็นภาษาไทยได้อย่างงดงาม เป็นเพราะพระสารประเสริฐเลือกหาคำมาใช้ได้เหมาะๆ เป็นอย่างที่ในภาษาอังกฤษว่า คำเหมาะอยู่ในที่เหมาะ”

ในการใช้คำ ขอให้ท่านระลึกถึงหลักต่อไปนี้
๑. จงพยายามหาคำที่ตรงกับความหมายที่ต้องการ

๒. จงใช้คำที่คนส่วนมากควรจะเข้าใจ คือ คำที่เรานิยมใช้กันอยู่ ในปัจจุบัน ไม่ใช่คำที่เก่าเกินไป หรือใหม่เกินไป

๓. พึงหลีกเลี่ยงคำต่างประเทศ

๔. พึงใช้คำสามัญ เว้นคำศัพท์

๕. พึงใช้คำสั้นๆ เว้นคำที่ยืดยาว

๖. อย่าใช้คำฟุ่มเฟือยโดยไม่จำเป็น หรือไม่ให้ความหมายอันใด

๗. เมื่อจะใช้คำศัพท์บาลี สันสกฤต ควรรู้ความหมายของคำนั้นให้ แน่นอนเสียก่อน

เพื่อให้ท่านรู้ว่าคำใดควรและไม่ควร ผิด ถูก อย่างไร ขอให้สังเกตจากตัวอย่างต่อไปนี้

๑. เวลานี้ รัฐบาลโซเวียตได้ดำริก่อสร้างยุทธาคารตามพรมแดน ระหว่างโซเวียตและแมนจูเกา

คำว่า ยุทธาคาร เป็นคำรวมของ ยุทธ กับ อาคาร อาคาร แปลว่า บ้านเรือนสถานที่ ยุทธ แปลว่า สงคราม คำ ยุทธาคาร นี้เป็นคำศัพท์ซึ่ง ยังไม่อยู่ในความนิยมและไม่ให้ความเข้าใจแก่ผู้อ่านชัดเจน

๒. กลองนั้นตีด้วยมือบ้าง เอาศอกกระทุ้งบ้าง บางทีสบท่าเหมาะอย่างอุกฤษฏ์เข้า ลงนอนกลิ้งตีไป

คำ อุกฤษฏ์ แปลว่า เลิศลอย วิเศษ ยิ่งใหญ่ มักใช้ในข้อความ
ที่สำคัญกว่านี้ ในที่นี้คำว่า “อย่างอุกฤษฏ์” ไม่ต้องใช้เลยก็ได้ความดีแล้ว แต่คำว่า “กระทุ้ง” เป็นคำกริยาที่เหมาะกับคำ “ศอก” ซึ่งเป็นประธานอย่างยิ่ง จะใช้คำกริยาอื่นไม่ดีกว่านี้

๓. ถ้าเราใช้ความสังเกตสังกาให้ถี่ถ้วน เราก็จะพบความจริงที่มีอยู่ว่า งานของผู้ที่ประสบความสำเร็จนั้น เริ่มต้นขึ้นด้วยการตัดสินใจภายในเวลาอันฉับพลัน

“สังกา” ไม่มีความหมายอันใดเลย ฟุ่มเฟือยเปล่าๆ ทั้งทำให้ข้อความที่กล่าวหย่อนความหนักแน่น ภาษาไทยเรามีสร้อยบทเช่นนี้อยู่มาก เช่น ถ้วยชามรามไหม ลูกเต้า แขนแมน ลำเลิกเบิกชา ถ้าไม่ใช่เป็นคำพูดของตัวละครแล้ว ผู้เริ่มฝึกเขียนควรเลี่ยง เพราะจะใช้คำเช่นนี้ให้เหมาะสมได้ยาก

๔. ข้าพเจ้าขอวิงวอนให้ท่านทั้งหลายร่วมสมานฉันท์กับข้าพเจ้า ในอันจะตั้งสัตย์อธิษฐาน ขอคุณพระศรีรัตนตรัยได้ช่วยอภิบาลประเทศชาติ ของเรา

คำ วิงวอน ถ้าผู้เขียนตั้งใจใช้ให้หมายว่า พร่ำขอร้องก็นับว่าถูก แต่การอธิษฐานเพื่อชาตินี้ จำเป็นจะต้องวิงวอนด้วยหรือ ถ้าใช้คำว่า เชิญชวน จะดีกว่า

๕. ท่านสวมรองเท้าแตะ นุ่งกางเกงแพร และสวมเสื้อแพร กลัดกระดุมทั้งห้าเมล็ด เป็นพัสตราภรณ์ห่อร่างอันสมบูรณ์ของท่าน

ที่จริงควรใช้ขัดกระดุม เมล็ด ใช้สำหรับเมล็ดพันธุ์ที่เพาะให้งอกได้ ถ้าเป็นกระดุมต้องใช้ เม็ด คำ พัสตราภรณ์ เร่อร่า ไม่สมกับความ ใช้คำ สามัญดีกว่า

๖. แทนที่จะแนะนำว่า ท่านควรมีความพยายาม (วายามะ) ท่านควรมีความเพียร (วิริยะ) ข้าพเจ้าขอแนะนำว่า ท่านควรมีความบากบั่น ซึ่ง เป็นคำไทยที่มีความหมายแรงดี

ท่านรู้สีกว่า ความพยายาม ความเพียร ความบากบั่น สามคำนี้ คำไหนที่ให้ท่านเข้าใจชัดเจนที่สุด ความบากบั่น ชัดและมีนํ้าหนักดี

๗. เมื่อเขากลับมาถึงปารีสไม่นานนัก บลุมได้ปราศรัยกับข้าราชการ ที่เป็นคณะพรรคด้วยสุนทรกถาเกี่ยวกับการเมืองอย่างสำคัญ คำปราศรัยของเขายังคงเผยให้เห็นความเฉียบขาดอย่างเก่าในการวินิจฉัย และท่วงท่าอันสูงส่งซึ่งเคยมี

“ภารกิจ ซึ่งเผชิญหน้าคณะพรรคอยู่บัดนี้เป็นภาระยุ่งยากยิ่งนัก”
บลุมว่า

คำ “สุนทรกถา” และ “ท่วงท่า” ยังพร่า ลองถามตัวท่านเองว่า หมายความว่าอย่างไร คงตอบให้ถูกยาก ส่วนคำ “ภารกิจ” เป็นคำผูกขึ้นใหม่ตรงกับคำอังกฤษ Mission เป็นคำทางการเมือง ยิ่งกว่าคำทางการประพันธ์

๘. ตอนต่อไปนี้คัดจากเรื่องไกลบ้าน พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๕ เป็น ตอนที่ทรงกล่าวถึงคนที่อยู่ในเมืองเอเดน

“คนที่เมืองนี้ดูชอบกล ฝรั่งก็มี แขกเต๊อกก็มี แขกอาหรับก็มี กิริยา อาการมันคล้ายกันหมด คือ เสือกเข้ามาพูดอะไรต่ออะไร ชวนแลกเงิน ขอทาน รับนำทาง รับขนของ เดินโดนหัวไหล่ แทรกเบียดพร้อมทุกอย่าง ถ้าทำงานแล้วเหมือนไม่มีวิญญาณ เป็นต้นว่าเรือกระเชียงเน่าเฟอะ คนตีกระเชียงไม่เหมือนกันสักคนเดียว อ้ายบ้างก็นุ่งกางเกงไม่มีเสื้อ อ้ายบ้างก็มีเสื้อนุ่งขัดเตี่ยว อ้ายบ้างก็ห่มดองนุ่งผ้าขาว เหมือนพระพอลงเรือแล้วอ้ายบางคนตี อ้ายบางคนหยุด จนเรือไม่เดินเลย”

ให้สังเกตว่าคำต่างๆ ในที่นี้เป็นคำไทยสามัญๆ ที่เรารู้และเข้าใจกัน ทั้งนั้น และเป็นคำสั้นๆ จะมีที่เป็นคำศัพท์ก็คือคำกิริยาอาการ วิญญาณ แต่ถ้าจะพูดไปก็คุ้นกับหูเราแล้ว และคำต่างๆ ที่ใช้ในตอนนี้ ล้วนเป็นคำที่ทำให้เราคิดเห็นภาพได้ทั้งสิ้น

การหลากคำ
ถ้าเราใช้คำใดบ่อยครั้งก็มักจืดหู ขัดหู ฉะนั้นนักประพันธ์จึงต้องมีวิธีหาคำที่มีความหมายคล้ายคลึงกันมาสับเปลี่ยน หลักข้อนี้เรียกในวิธีประพันธ์ว่า “การหลากคำ” หรือ Elegant Variation นักเขียนบางคนยึดถือมั่นว่า ภายในประโยคชิดๆ กัน จะมีคำซ้ำกันไม่ได้ ตามปกติ คำที่จะต้องสับเปลี่ยนนั้นคือคำนาม เช่น ถ้าเราจะเขียนเรื่องประวัติของสุนทรภู่ ก็มีความจำเป็นจะต้องใช้คำสุนทรภู่บ่อยๆ ซึ่งทำให้เฝือและไม่น่าฟัง จึงต้องหาคำสรรพนามมาใช้แทน แต่คำสรรพนามนี้ถ้าใช้ติดๆ กันก็ขัดหูอีก หรือบางทีทำให้เกิดเข้าใจกำกวม ฉะนั้นจึงต้องคิดคำชื่อสมญาให้ เช่นเรียกสุนทรภู่ว่า บรมครู แห่งกลอนตลาด ดังนี้ การหลากคำมีหลักอันควรยึดถือดังนี้

๑. ควรทำเมื่อประโยคที่เราเขียนนั้นมีคำซ้ำกันจนอ่านขัดหู

๒. ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ควรหลากคำเฉพาะคำนาม ซึ่งใช้คำสรรพนาม สับเปลี่ยนเท่านั้น

ตัวอย่าง
๑. เกือบจะเป็นสิ่งที่เหลือเชื่อ เมื่อได้ทราบว่าสมรจะหมั้นกับหมอ มานิต รักประยูร ชายหนุ่มคนนี้เข้าเรียนแพทย์พร้อมกับข้าพเจ้า ชายหนุ่มคนนี้ ใช้แทน หมอมานิต

๒. ความเป็นสุภาพบุรุษอย่างน่าเคารพของเขา ก่อให้เกิดความเคารพ ขึ้นในใจของหญิงสาว

ประโยคนี้ฟังค่อนข้างขัดหู เคารพ อยู่ชิดๆ กันสองคำ

๓. มาร์คแอนโตนีเป็นสหายสนิทของซีซาร์ เมื่อซีซารัถึงแก่กรรมลง มาร์คแอนโตนีก็ได้ประกาศตนว่าจะเป็นผู้แก้แค้นแทนซีซาร์ และได้เข้าทำสงครามกับผู้กระทำฆาตกรรมซีซาร์

ประโยคข้างบนนี้มีคำนามซ้ำมาก และจะเปลี่ยนใช้สรรพนามแทน ความก็คงจะไม่ชัดเจน ถ้าอยู่ในลักษณะเช่นนี้จะต้องวางรูปประโยคใหม่

การประหยัดคำ
ถึงแม้คำพูดเป็นสิ่งที่ไม่ต้องซื้อหา แต่นักเขียนที่ดีย่อมเป็นผู้รู้จัก เสียดายคำ ใช้คำโดยการประหยัด การประหยัดคำ (Economy) ย่อมทำให้เนื้อความกระชับรัดกุม อันเป็นลักษณะที่ดีของการประพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชนิดใด ฉะนั้นเมื่อท่านจะเขียนเรื่องจงระวังอย่าใช้คำที่ไม่จำเป็น ซึ่งได้แก่คำที่ไม่มีความหมาย หรือไม่ให้ความชัดเจนอันใดเป็นพิเศษ เช่นคำว่า ใหญ่โตมหึมา พิศวงสงสัย ในภาษาไทยคำที่มักใช้เกินไปโดยไม่จำเป็นคือ คำบุพบท เช่นในประโยคที่ว่า เขาให้เงินแก่ลูก เขาสั่งแก่ฉัน คำว่า “แก่” ไม่จำเป็นเลย

ไวยากรณ คือหลักแห่งภาษา ไวยากรณ์ได้วางระเบียบวิธีใช้คำไว้ หลายอย่าง นักประพันธ์ควรระวัง ที่มักเห็นเขียนผิดๆ กันอยู่ก็คือ

๑. อาการนาม ได้แก่คำที่มี การ และ ความ นำหน้า เช่น
ความสุข ความทุกข์ ความเร่าร้อน ความกังวล การพักผ่อน การบำรุง การโฆษณา การแต่งกาย

หลักเบื้องต้นของการใช้ การ และ ความ มีดังนี้
“เมื่อจะเปลี่ยนคำกริยาเป็นอาการนาม ให้ใช้คำการนำ ถ้าเปลี่ยน คำวิเศษณ์เป็นอาการนาม ใช้ความ แต่ถ้าคำกริยาที่มีความหมายเกี่ยวกับ จิตใจ มี เป็น เกิด ดับ เจริญ เสื่อม ให้ใช้ความ”

แต่บางคราวท่านจะพบคำว่า “การดี” ซึ่งตามหลักข้างต้นก็ใช้ไม่ได้ แต่ทั้งนี้เป็นความตั้งใจของผู้เขียนที่ต้องการให้คำมีลักษณะชี้ไปในทางการ กระทำ คำว่า การทุกข์ การสุข นี้ก็ใช้ได้ แต่มีความหมายต่างกับ ความทุกข์ ความสุข

๒. ลักษณะนาม คำนามในภาษาไทยย่อมมีลักษณะนามเป็นคู่ ฉะนั้น ต้องระวังใช้ให้ถูกคู่ เช่น คัน ใช้กับ รถ แร้ว ไถ เบ็ด ปาก ใช้กับ แห อวน สวิง ตน ใช้สำหรับ ยักษ์ อสุรกาย ถ้าพูดถึง ขลุ่ย ปี ก็ว่า ขลุ่ยสองเลา สามเลา

๓. คำบุพบท มีคำ กับ แก่ แต่ ต่อ เป็นคำที่ต้องใช้บ่อยๆ จงระวัง คำ กับ และ แก่ ซึ่งมักใช้ปะปนกันจนความหมายคลาดเคลื่อน

๔. คำราชาศัพท์ ไม่ใช่คำศัพท์ที่ใช้กับพระราชาเจ้านาย แต่หมายถึง คำประเพณีซึ่งเขานิยมใช้กันว่าเป็นคำสุภาพและถูกภาษา เช่น ถ้าให้พระสงฆ์ ใช้คำแทนตนเองว่า ฉัน ก็ผิดระเบียบ

คำเหล่านี้ นับว่าเป็นความรู้เบื้องต้นของนักเรียนสามัญ แต่นักประพันธ์ ก็ต้องเอาใจใส่

ที่มา:เปลื้อง ณ นคร