คำกริยา

คำกริยา คือคำที่แสดงอาการของนามหรือสรรพนาม เพื่อให้รู้ว่า นามหรือสรรพนามนั้นๆ ทำอะไร หรือเป็นอย่างไร เช่นตัวอย่าง นกบิน คนนั่ง ไฟดับ ดังนี้ คำ ‘บินนั่ง ดับ’ เป็นคำกริยา แสดงอาการของนาม นก บิน และไฟ ปรากฏอาการคือ ดับ ดังนี้เป็นต้น

คำกริยานี้จำแนกเป็น ๔ พวก คือ
(๑) อกรรมกริยา
(๒) สกรรมกริยา
(๓) วิกตรรถกริยา(อ่าน “วิ-กะ-ตัด-ถะ-กริยา”)
(๔) กริยานุเคราะห์ ดังจะขยายต่อไปนี้

อกรรมกริยา คำ ‘อกรรม’ แปลว่า (ไม่มีกรรมคือผู้ถูก คำกริยาใดมีใจความครบบริบูรณ์ ไม่ต้องมีคำที่เป็นกรรม คือผู้ถูกรับข้างท้าย คำกริยานั้นเรียกว่า ‘อกรรมกริยา’ เช่นตัวอย่าง เขาไป เรามา คนนอน เป็นต้น คำ ‘ไป มา นอน’ ในที่นี้มีใจความครบบริบูรณ์ เรียกว่า อกรรมกริยา

หมายเหตุ ภาษาไทยเราใช้คำวิเศษณ์บางพวกเป็นอกรรมกริยาได้อีก เช่น เขาสวย เขาช้า ฯลฯ คำ ‘สวย ช้า’ ในที่นี้เป็น ‘วิเศษณ์ทำหน้าที่เป็นอกรรมกริยา ’

สกรรมกริยา คำว่า ‘สกรรม’ แปลว่า มีกรรมหรือมีผู้ถูก คำกริยามีใจความไม่ครบบริบูรณ์ในตัว ต้องมีคำที่เป็นกรรมรับข้างท้ายอีก กริยา นั้นเรียกว่า ‘สกรรมกริยา ’ เช่นตัวอย่าง เขา เห็น… เขา อยาก… ดังนี้ คำ ‘ เห็น, อยาก’ ในที่นี้มีใจความยังไม่ครบ คือไม่ทราบว่าเห็นอะไร และอยากอะไร ต่อเมื่อมีกรรมเข้ามารับข้างท้ายว่า ‘เขาเห็นคน, เขาอยากน้ำ’ หรือ ‘เขาอยากนอน’ ดังนี้จะได้ความเต็ม กริยาเช่นนี้เรียกว่า สกรรมกริยา

ข้อสังเกต คำกริยาบางคำเป็นได้ทั้งอกรรมกริยาและสกรรมกริยาก็มี เช่น ตัวอย่าง ‘หน้าต่างเปิด’ คำ ‘เปิด’ ในที่นี้มีความเต็ม หมายความว่า เผยออก นับว่าเป็น อกรรมกริยา แต่ถ้าพูดว่า ‘ คนเปิดหน้าต่าง ’ ดังนี้ คำ ‘เปิด’ ในที่นี้ ไม่ได้ความเต็ม คือไม่รู้ว่าเปิดอะไร ต้องมีคำ ‘หน้าต่าง’ เข้ามารับจึงจะได้ความเต็ม นับว่าเป็นสกรรมกริยา ดังนี้เป็นต้น ให้สังเกตเนื้อความของคำกริยานั้นๆ เป็นประมาณ

วิกตรรถกริยา คำวิกตรรถ (วิกต +อรรถ) แปลว่า เนื้อความของวิกัติการก วิกตรรถกริยา หมายความว่า กริยาที่มีเนื้อความอยู่ที่วิกัติการกกล่าวคือ กริยาพวกนี้ไม่มีเนื้อความในตัว ต้องอาศัยเนื้อความของศัพท์ วิกัติการกหรือการกอื่นที่อยู่ข้างท้ายเข้าช่วยจึงจะได้ความครบ ได้แก่คำว่า ‘เป็น’ เหมือน, คล้าย, เท่า’ เป็นต้น ตัวอย่าง ‘เขาเป็นหมอ เขาเป็นใหญ่ เขาเหมือนกับเด็ก เข้าคล้ายกับฉัน เขาเท่ากับลุงฉัน’ เป็นต้น ใจความสำคัญนี้ อยู่ที่คำพ่วงท้าย คือ ‘หมอ, ใหญ่, เด็ก, ฉัน, ลุงฉัน’ คำกริยาที่อยู่ขางหน้านั้น คล้ายกับเป็นทุ่นให้คำที่พ่วงท้ายเกาะพอให้สำเร็จรูปเป็นประโยคเท่านั้น บางคำก็ใช้บุพบท ‘กับ’ นำหน้า เช่น ‘เขาเท่ากับหมอ’ เป็นต้น

ข้อสังเกต คำวิกตรรถกริยาในภาษาอื่น เช่น อังกฤษ หรือ บาลี เขาใช้ เข้ากับคำนามหรือคำวิเศษณ์ก็ได้ แต่ในภาษาไทยมักจะใช้ประกอบกับคำนาม เป็นพื้น เช่น ‘เขาเป็นนายอำเภอ, เขาเป็นคนดี, เขาเหมือนกับบ้า, เขาเท่ากับ ใบ้’ ดังนี้เป็นต้น คำ ‘บ้า’ และ ‘ใบ้’ ถึงแม้จะเป็นคำวิเศษณ์ได้ก็ดี แต่ในที่นี้ต้องเป็นคำนาม เพราะคำทั้ง ๒ นี้เป็นนามก็ได้ เช่น ตัวอย่าง ‘อย่าคบบ้า, อย่าเล่นกับใบ้’ เป็นต้น ถ้าจะใช้กับวิเศษณ์ ต้องเติมนามเข้าข้างหน้าว่า ‘เขา เป็นคนดี’ หรือมิฉะนั้นก็ใช้แต่คำวิเศษณ์ว่า ‘เขาดี’ คำ ‘ดี’ ในที่นี้ใช้เป็นภาคแสดงของประโยคได้อย่างอกรรมกริยาทั้งหลาย และใช้กริยานุเคราะห์ประกอบไปด้วย เช่น ‘เขาคงดี ’ ‘ เขาจักดี ’ เป็นต้น ดังนั้นคำ ‘ ดี ’ ที่นี้นับว่า ทำหน้าที่เป็นอกรรมกริยา หาใช่เป็นวิเศษณ์ไม่

วิกตรรถกริยาที่ใช้กับวิเศษณ์มีอยู่บ้าง ก็มักประสงค์ความไปทางหนึ่ง เช่นพูดว่า ‘เขาเป็นใหญ่กว่าฉัน’ ดังนี้มิได้หมายความว่าเขาตัวใหญ่ หมายความว่าเขามีตำแหน่งใหญ่ ซึ่งผิดกับพูดว่า ‘เขาใหญ่กว่าฉัน’ ดังนี้เป็นต้น

กริยานุเคราะห์  คำ ‘อนุเคราะห์ แปลว่า ช่วยอุดหนุน กริยานุเคราะห์ หมายความถึงกริยาที่ใช้ช่วยกริยาอื่นให้ได้ความครบตามระเบียบของ กริยา (คือครบตาม มาลา กาล วาจก ดังจะกล่าวข้างหน้า) ได้แก่คำว่า ‘คง จะ ถูก อย่า’ เป็นต้น เช่น ตัวอย่างพูดว่า ‘เขาคงตีฉัน เขาจะตีฉัน เขาถูกฉันตี อย่าทำเขา ดังนี้เป็นต้น คำเหล่านี้มักใช้ประกอบข้างหน้ากริยา แต่บางพวกก็ใช้ประกอบข้างหลังกริยา เช่นคำว่า ‘ซิ, เถิด’ ตัวอย่าง ‘กินซิ, กินเถิด’ ดังนี้เป็นต้น และกริยานุเคราะห์นี้จำแนกตามลักษณะเป็น ๒ จำพวก คือ :-

(๑) พวกที่ใช้เป็นกริยานุเคราะห์อย่างเดียว ได้แก่คำว่า ‘คง พึง จง ซิ น่ะ เถอะ กำลัง ย่อม น่า อย่า อย่าเพ่อ จะ จัก ชะรอย เทอญ’ เหล่านี้เป็นต้น

(๒) พวกกริยาอื่นที่นำมาใช้เป็นกริยานุเคราะห์ ดังในความต่อไปนี้ เป็นต้น
silapa-0086 - Copy
ข้อสังเกต คำกริยานุเคราะห์ ต้องเป็นคำกริยา ๒ จำพวก ดังข้างบนนี้ ซึ่งนำมาใช้ช่วยกริยาอื่น ให้มีเนื้อความตามหน้าที่กริยา คือ มาลา กาล วาจก ดังกล่าวแล้ว ไม่ใช่คำกริยา หรือคำอื่น ที่นำมาใช้เป็นคำวิเศษณ์ประกอบกริยา ให้มีความแปลกออกไป เช่น ‘ตาสีกินข้าวหมด ตาสีตีแมวตาย ตาสีไม่มา เป็นต้น ดังนี้ คำ ‘หมด ตาย ไม่’ ในที่นี้ไม่ใช่กริยานุเคราะห์

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร