เอกรรถประโยค

เอกรรถประโยค คำพูดในภาษาไทยเราที่พูดออกมาตอนหนึ่งๆ นั้น บางทีก็ใช้พูดออกมาคำหนึ่งก็มี หรือบางทีพูดออกมาเป็นวลีเท่านั้นก็มี การที่ผู้ฟังได้ฟังเพียงคำหนึ่งก็ดี หรือ วลี บทหนึ่งก็ดี ย่อมเข้าใจความหมายของผู้พูดบริบูรณ์ได้ ก็เพราะเป็นด้วยความเคยชินกัน เช่นตัวอย่างมีผู้เห็นช้าง ก็พูดออกมาว่า ช้าง คำเดียวเท่านั้น ก็ทำให้ผู้ฟังเข้าใจได้ว่า เขาเห็นช้าง หรือ ช้างมา เป็นต้น ซึ่งเป็นการรู้ความหมายกันในใจ

ความหมายที่ครบบริบูรณ์ จะต้องพูดเป็นประโยค ดังจะกล่าวต่อไปนี้ แต่ประโยคนั้นมีหลายชนิดด้วยกัน ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะเอกรรถประโยคก่อนดังนี้

ที่เรียกว่า เอกรรถประโยค นั้น หมายถึงประโยคเล็กๆ ที่มีความหมาย อย่างเดียว คำ เอกรรถ (เอก+อรรถ) แปลว่า มีเนื้อความอย่างเดียว เอา ความว่ามีความหมายเฉพาะอย่างหนึ่งๆ เอกรรถประโยคนี้เรียกว่า ประโยคเล็กก็ได้ หรือเรียกว่า ประโยคสามัญ ก็ได้ แต่ในที่นี้จะใช้ว่า เอกรรถประโยคชื่อเดียวเท่านั้น

จริงอยู่ คำพูดในภาษาไทยเรามักใช้คำกริยาซ้อนกันได้ เช่น ตาสีไปนอน สูบบุหรี่ ซึ่งมีเนื้อความเป็น ๓ อย่างคือ ตาสีไป อย่างหนึ่ง ตาสีนอน อย่างหนึ่ง และ ตาสีสูบบุหรี่ อย่างหนึ่ง เป็นต้น เช่นนี้ชื่อว่าประโยคที่มีเนื้อความรวมกันหลายอย่าง จะอธิบายในภายหลัง ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะประโยคที่มีเนื้อความอย่างเดียว เช่น ตาสีไป เป็นต้น ที่เรียกว่าเอกรรถประโยกก่อน ดังต่อไปนี้

ภาคของประโยค แปลว่าส่วนของประโยค เอกรรถประโยคย่อมแบ่งเป็นภาคสำคัญได้ ๒ ภาค คือ

(๑) ภาคประธานของประโยค หมายถึงส่วนเบื้องต้นที่กล่าวขึ้นก่อน เช่น คน, บ้าน, สัตว์, ความคิด, ผู้ร้าย, ขนม, ฉัน เป็นต้น ซึ่งผู้พูดต้องการจะกล่าวอะไร ก็กล่าวขึ้นเป็นสำคัญก่อน และต่อไปก็คือ:-

(๒) ภาคแสดงของประโยค หมายถึงส่วนที่แสดงของกิริยาอาการของ ประธานข้างบนนี้ ว่ามันแสดงกิริยาอาการอย่างไร เช่น คำเส้นหนา ท้ายภาคประธานต่อไปนี้ “คน นอน” “บ้าน พัง” “สัตว์ กินนํ้า” “ความคิด เฉียบแหลม” “ผู้ร้าย ถูกตำรวจจับ” “ขนม ขายดี” “ฉัน ถูกหมอให้กินยา” เป็นต้น

เมื่อถ้อยคำมีครบ ๒ ภาคดังกล่าวนี้แล้ว จึงจะได้ความเต็มว่า ใคร-ทำอะไร สิ่งไร-เป็นอย่างไร หรือ ใคร-ถูกทำอะไร อันได้ชื่อว่าเป็นเอกรรถประโยคที่กล่าวนี้ได้ และภาคของเอกรรถประโยคทั้ง ๒ ภาคนี้ ถ้าใช้พูดจากัน จนเคยชินผู้พูดมักจะละภาคใดภาคหนึ่งไว้ในฐานะที่เข้าใจกันก็ได้ เช่นตัวอย่างในการตอบคำถามต่อไปนี้

ก. ถาม-ใครมา?        ตอบ-ผม (ผม มา)
ข. ถาม-เธอทำอะไร?    ตอบ-กินข้าว (ผม กินข้าว)
ดังนี้เป็นต้น ซึ่งมีชุกชุมในภาษาไทยเรา

ในภาคทั้ง ๒ ของประโยคข้างบนนี้ในภาคหนึ่งๆ ยัง-จำแนกเป็นส่วนย่อย ซึ่งเรียกว่า บท ออกไปอีก ดังนี้

(๑) ภาคประธาน จำแนกเป็น ๒ ส่วน คือ
ก. บทประธาน คือส่วนสำคัญของภาคประธาน
ข. บทขยายประธาน คือ ส่วนขยายประธานให้พิสดารออก

(๒) ภาคแสดง จำแนกเป็น ๔ ส่วน คือ:-
ก. บทกริยา คือส่วนสำคัญของภาคแสดง
ข. บทขยายกริยา คือส่วนขยายกริยาให้พิสดารออกไป
ค. บทกรรม คือส่วนที่ถูกกริยาทำ
ฆ. บทขยายกรรม คือส่วนที่ขยายกรรมให้พิสดารออกไป

ดังนั้น เอกรรถประโยค จึงแบ่งเป็นภาคได้ ๒ ภาค และแบ่งเป็นส่วนย่อยได้ ๖ บท ดังจะได้ทำตารางแบ่งภาคและบทไว้ให้ดูเป็นตัวอย่างต่อไปนี้

เอกรรถประโยค-สามีดีย่อมนับถือ ซึ่งภรรยาดีเป็นอย่างดี

silapa-0211 - Copy

รูปประโยคภาษาไทย ตารางที่แบ่งส่วนของเอกรรถประโยคข้างต้นนี้มีรูปโครงทั่วๆ ไป แต่รูปประโยคในภาษาไทยเรา หามีระเบียบเรียงลำดับส่วนของประโยคเช่นนี้เสมอไปไม่ ตัวอย่างที่ทำไว้ให้ดูนั้น ทำไว้เพียงให้เข้าได้กับรูปโครงเท่านั้น ข้อสำคัญของไวยากรณ์ไทยเรา อยู่ที่การเรียง ลำดับคำพูดเป็นหลักวินิจฉัยชนิดของคำ และหน้าที่ต่างๆ ของคำในการบอกสัมพันธ์ของประโยคด้วย ฉะนั้นผู้ศึกษาจึงควรสังเกตรูปประโยคที่ใช้ในภาษาให้แม่นยำเสียก่อน ซึ่งมี ๔ รูปด้วยกัน ดังต่อไปนี้

(๑) ประโยคกรรตุ ส่วนสำคัญของประโยคที่จะยกขึ้นพูดมีอยู่ ๓ ส่วน กรรตุการก(ผู้ทำ) กริยา และกรรมการก (ผู้ถูกทำ) ถ้าเราต้องการจะให้ กรรตุการก เด่น เราก็เรียงเอากรรตุการกขึ้นเป็นประธานคือ เรียงไว้ข้างหน้า เช่น ประโยกว่า เสือกินตามี เร่าอยากจะพูดให้เสือเด่น เราก็ยกเสือขึ้นพูดก่อนว่า เสื้อตัวนั้น ตัวนี้ กินตามี เป็นต้น ประโยคที่พูดถึงกรรตุการกก่อนเช่นนี้ เรียกว่าประโยคกรรตุและกริยา กิน ก็เป็นกรรตุวาจก คือแสดงว่ากรรตุการก เป็นประธาน

(๒) ประโยคกรรม บางคราวเราต้องการจะให้กรรมการก คือผู้ถูก เด่น เช่นประโยค เสือกินตามี นั้น เราต้องการจะให้เขารู้เรื่องกรรมคือ ตามี ก่อน เราก็เอาคำ ตามี ขึ้นพูดก่อนว่า ตามีถูกเสือกิน หรือพูดว่า ตามีผู้ใหญ่บ้านของเรา เสือ กิน เสีย แล้ว ดังนี้เป็นต้น ประโยคที่เอากรรมเป็นประธาน คือพูดขึ้นก่อนเช่นนี้เรียกว่า ประโยคกรรม และกริยา ถูกกิน หรือ กิน (เปล่าๆ) ในประโยคเช่นนี้เป็นกรรมวาจก คือแสดงว่ากรรมการกเป็นประธาน กริยากรรมวาจกเช่นนี้ บางทีก็มีคำ ถูก นำหน้า เช่น ถูกตี ถูกด่า ฯลฯ บางทีก็มีกริยาเปล่าๆ ดังอธิบายมาแล้ว แต่ข้อที่สังเกตนั้น อยู่ที่มีกรรมการกเป็นประธาน คือเรียงอยู่ข้างหน้า

(๓) ประโยคกริยา  ในข้อความบางแห่ง ผู้กล่าวต้องการจะให้กริยาเด่น จึงพูดกริยาขึ้นก่อนแทนบทประธาน แล้วเอาบทประธานมาไว้ข้างหลัง เช่น เกิดอหิวาตกโรค ขึ้นที่เชียงใหม่ ซึ่งในภาษาบาลีเรียกว่า ประโยคภาพ กริยาที่ใช้เรียงไว้หน้าประโยคชนิดนี้ มีกำหนดเฉพาะกริยาที่มีความหมายดังนี้ คือ เกิด มี ปรากฏ โดยมากเช่น เกิดตีกันขึ้นที่นี่ มีโรคติดต่อขึ้นที่นี้ ปรากฏการโกงขึ้นที่นี่ เป็นต้น

ประโยคกริยานี้ ผู้พูดต้องการจะให้กริยาเด่นกว่าประธานเท่านั้น ส่วนวิธีสัมพันธ์ก็บอกทำนองเดียวกับประโยคกรรตุ คือกลับเอาประธานมาไว้หน้าเป็น ตีกัน เกิดขึ้นที่นี่, โรคติดต่อ มีขึ้นที่นี่ และ การโกงปรากฏขึ้นที่นี่ และกริยาก็เป็นกรรตุวาจกเช่นเดียวกัน ประโยคชนิดนี้ยังต้องการบทประธานอยู่จึงเรียงไว้หลังกริยา ผิดกับประโยคกรรตุที่ละประธานไว้ในที่เข้าใจ เช่น ห้ามการเดินรถ จงระวังรถไฟ ซึ่งเมื่อเวลาบอกสัมพันธ์ก็จะต้องหาประธานเติมลงไปให้ครบ เป็น (เขา) ห้ามการเดินรถ (ท่าน) จงระวังรถไฟ ดังนี้เป็นต้น

(๔) ประโยคการิต ประโยคชนิดนี้ก็เป็นทำนองเดียวกับประโยคกรรตุ หรือ ประโยคกรรมนั่นเอง แต่มีผู้รับใช้ ซึ่งเรียกว่า การิตการก แทรกเข้ามา เช่นตัวอย่าง ครูให้ศิษย์อ่านหนังสือ ดังนี้ ครู เป็นกรรตุการกของกริยา ให้-อ่าน ศิษย์ เป็นการิตการกของกริยา ให้-อ่าน (ตามบาลีเรียก การิตกรรม เพราะรูปคำของเขาเหมือนกรรมการก) และ หนังสือ เป็นกรรมการกของกริยา ให้-อ่าน ตามปกติ และกริยา ให้-อ่าน ก็คงเป็นกรรตุวาจกของประธาน คือ ครู อย่างประโยคกรรตุธรรมดานั่นเอง เพราะประธานเป็นกรรตุการก แต่ถ้าเอาการิตการก คือ ศิษย์ เป็นประธาน เช่น ประโยคว่า ศิษย์ถูกครูให้อ่านหนังสือ เป็นต้นแล้ว บทกริยา ถูกให้อ่าน ก็เป็น การิตวาจก ตามประธานไป เพราะวาจกต้องตามประธาน

ข้อสังเกต  ประโยคการิตนี้ จะสังเกตแต่เพียงมีการิตการกเป็นประธานเท่านั้นไม่ได้ เพราะการกอื่นก็เป็นประธานได้ ดังนี้

ก. กรรตุการก-ครูให้ศิษย์อ่านหนังสือ หรือ ครูยังศิษย์ให้อ่านหนังสือ ก็ได้ (ยังศิษย์ เป็นบุพบทวลีการิตการก)

ข. การิตการก-ศิษย์ถูกครูให้อ่านหนังสือ หรือ ศิษย์ถูกให้อ่านหนังสือ ก็ได้

ค. กรรมการก-หนังสือถูกครูให้ศิษย์อ่าน หรือ หนังสือถูกครูให้อ่าน หรือ หนังสือถูกให้อ่าน หรือจะละคำ “ถูก” เสีย เหลือไว้แต่ “ให้อ่าน” เช่นกล่าวว่า หนังสือนี้ให้อ่านเสมอๆ ก็ได้  ดังนั้นจึงควรถือเอากริยาซึ่งมีคำ “ให้” นำหน้าเป็นหลักสังเกต

อีกประการหนึ่ง ส่วนขยายของประโยคเหล่านี้ก็ไม่ตรงตามช่องตารางที่ จัดไว้เสมอไป ส่วนที่จะต้องวินิจฉัยมากนั้นก็คือบทขยายกริยา เพราะบทนี้เอาไว้หน้าประโยคก็ได้ เช่นตัวอย่าง – “ เขาไป พรุ่งนี้ ” หรือจะพูดว่า “ พรุ่งนี้ เขาไป” ก็ได้ ถ้าเป็นประโยคมีบทกรรม บทขยายกริยาก็ต้องไปอยู่ท้ายประโยคทีเดียว ซึ่งทำให้พ้องกับบทกรรมหรือบทขยายกรรมก็ได้ เช่นตัวอย่าง “จีน หาบน้ำแข็ง” คำ แข็ง อาจเป็นบทขยายกริยา หาบ หมายถึงหาบ เก่ง ก็ได้ ดังนี้เป็นต้น

เพราะฉะนั้น ในการที่จะวินิจฉัยชนิดของคำและหน้าที่ของคำตลอดจน เพื่อประโยคในไวยากรณ์ไทยเรา นอกจากจะสังเกตลำดับที่เรียงหน้าหลังแล้ว ยังต้องสังเกต ใจความ ของประโยคเป็นข้อสำคัญอีกส่วนหนึ่งด้วย จึงขอให้ผู้ศึกษาสำเหนียกไว้

ต่อไปนี้จะอธิบายถึงส่วนของเอกรรถประโยคเป็นลำดับไป แต่จะยก ตัวอย่างเฉพาะประโยคกรรตุเท่านั้นขึ้นเป็นหลัก ถ้าบทใดเกี่ยวกับรูปประโยค จะแสดงเพิ่มเติมไว้ในบทนั้นๆ ให้พิสดารต่อไป

บทประธาน  ในภาคทั้ง ๒ ของประโยคที่แบ่งเป็นส่วนย่อยออกไป ๖ บทด้วยกันนั้น บทประธานนับว่าเป็นส่วนสำคัญของประโยค ซึ่งผู้พูดต้องการจะให้เด่น จึงได้ยกขึ้นมากล่าวก่อน ดังนั้นบทประธานของประโยค จึงต้องเป็นคำนาม หรือสรรพนาม หรือบทอื่นๆ ที่ทำหน้าที่เช่นเดียวกับ มีประเภทดังจะรวบรวมมาไว้เพื่อให้สังเกตพร้อมด้วยตัวอย่างต่อไปนี้:-

(๑) คำนาม ย่อมใช้เป็นประธานได้ทั้ง ๕ พวก ดังตัวอย่างต่อไปนี้
ก. สามานยนาม    เช่น-“คน-นอน”
ข. วิสามานยนาม เช่น-“เชียงใหม่-เจริญ”
ค. สมุหนาม  เช่น -“สงฆ์-ทำสังฆกรรม”
ฆ. ลักษณนาม    เช่น-“ลำ๑ นี้ (เรือ)-แล่นเร็ว”
ง. อาการนาม    เช่น – “การนอน -เป็นของจำเป็น” “ความตาย – เป็นของเที่ยง ”

(๒) คำสรรพนาม คำพวกนี้มีหน้าที่ใช้แทนคำนามอยู่แล้ว ดังนั้นจึงใช้เป็นบทประธานได้เช่นเดียวกับนาม ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ก. บุรุษสรรพนาม    เช่น-“เขา-ทำดี”
ข. ประพันธสรรพนาม เช่น-“ที่๒-ทำดี”
ค. วิภาคสรรพนาม เช่น-“ต่าง-ยินดี”
ฆ. นิยมสรรพนาม เช่น-“นี่-ไม่ดี”
ง. อนิยมสรรพนาม เช่น “ใคร-มาก็ได้”
จ. ปฤจฉาสรรพนาม เช่น “ใคร-มา? ”
………………………………………………………………………………………….
๑ คำ ลำ เป็นลักษณนาม บอกลักษณะของเรือ ดังนั้นจึงต้องมีคำ เรือ กล่าวอยู่ข้างหน้าก่อน จึงจะกล่าวลักษณนามของเรือได้ เช่น“เรือ”ลำนี้, เรือสอง ลำ เป็นต้น ตัวอย่างข้างบนนี้ก็ต้องมีคำเรืออยู่ในประโยคหน้าก่อน เช่น ฉันมีเรือ ๕ ลำ ลำนี้แล่นเร็ว ดังนั้นจึงควรสังเกตว่า ลักษณะนามทั้งหมดต้องกล่าวนามที่เป็นเจ้าของลักษณะเช่นคำ เรือ ขึ้นก่อนทั้งสิ้น

๒ คำประพันธสรรพนาม จะต้องอยู่ติดกับนามข้างหน้า ดังนั้นคำ ที่ ในตัวอย่างข้างบนนี้ ต้องอยู่ท้ายคำคนหรือคำใดๆ ในประโยคข้างหน้า เช่น “เขาชมคน ที่ ทำดี” ดังนี้เป็นต้น จึงควรสังเกตว่าประโยคที่ใช้สรรพนามเป็นประธานจะต้องเป็นประโยคขยายของประโยคอื่นอีกทีหนึ่ง ซึ่งอยู่ข้างหน้า
………………………………………………………………………………………….

(๓) บทกริยาสภาวมาลา กริยาพวกนี้ได้อธิบายไว้ในวจีวิภาคแล้วว่า “ไมใช่เป็นกริยาของประโยคอย่างมาลาอื่นๆ เป็นแต่ส่วนของประโยค” ดังนั้นพวกกริยาสภาวมาลานี้จึงใช้เป็นบทประธานได้เช่นเดียวกับนามเหมือนกัน ดังจะอธิบายพอเป็นที่สังเกตต่อไปนี้

ในจำพวกกริยาทั้ง ๔ นั้น เป็นกริยาสภาวมาลาได้เพียง ๓ พวกเท่านั้น คือ อกรรมกริยา สกรรมกริยา และ วิกตรรถกริยา ส่วนกริยานุเคราะห์มิด้ใช้ เป็นกริยาโดยลำพังตัว มีหน้าที่ช่วยกริยาพวกอื่นเพื่อบอก มาลา กาล วาจก เท่านั้น จึงมิได้แยกออกทำหน้าที่ใดๆ อย่างกริยาพวกอื่น ดังอธิบายแล้วใน วจีวิภาค ส่วนกริยาอื่นที่เป็นสภาวมาลาได้นั้น ย่อมมีหน้าที่เป็นประธานได้ทั้ง ๓ พวก ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ก. อกรรมกริยา เช่น “นอน-เป็นประโยชน์”’
ข. สกรรมกริยา เช่น “กินข้าว-ดี”
ค. วิกตรรถกริยา เช่น “เป็นพาล-ไม่ดี”

ข้อสังเกต ตามตัวอย่างข้างบนนี้ ถ้าใช้คำกริยาสภาวมาลาโดดๆ เช่น นอน ในข้อ ก. ก็นับว่า คำกริยาสภาวมาลา เป็นบทประธาน แต่ถ้ามีคำอื่น เข้ามาประกอบ เช่นบท กินข้าว และ เป็นพาล ในข้อ ข. และ ค. ก็นับว่า เป็นบทกริยาวลีสภาวมาลา อย่างเดียวกับข้อ (๕) ค. ข้างหน้า ถึงคำกริยา สภาวมาลาเช่นคำ นอน ในข้อ ก. ถ้าหากว่าจะมีผู้พูดใช้กริยานุเคราะห์ประกอบหน้ากริยาว่า ต้องนอน-ไม่ดี หรือหน้าวิเศษณ์ที่ทำหน้าที่กริยาว่า ต้องโง่-ไม่ดี เช่นนี้เป็นต้น ก็ต้องนับว่าเป็นบทกริยาวลีสภาวมาลา เช่นข้อ ข. และ ค. เหมือนกัน

และคำกริยา หรือ กริยาวลี ที่เป็นสภาวมาลานี้ ถ้ามีคำอื่นนำหน้าก็ต้อง เรียกชื่อเป็นอย่างอื่นไป เช่นคำข้างบนนี้มีคำ การ และ ความ นำหน้าเป็น การนอน ความโง่ ก็กลายเป็นคำนามไป ถ้ามีบุพบทนำหน้าเป็น เพื่อจะนอน สำหรับนั่ง ก็กลายเป็นบุพบทวลีไป ให้ผู้ศึกษาสังเกตไว้

(๔) คำวิเศษณ์ คำวิเศษณ์โดดๆ ก็ใช้เป็นบทประธานได้ อย่างกริยาสภาวมาลาเหมือนกัน เช่น ฉลาด-ดี หรือ โง่-ไม่ดี เป็นต้น

ข้อสังเกต ถ้ามีคำอื่นมาประกอบหน้าคำวิเศษณ์เหล่านี้ เช่น ผู้ฉลาด หรือ ความโง่ เป็นต้น ก็เป็นคำนามไป และถ้ามีคำกริยานุเคราะห์ประกอบหน้า เช่น พูดว่า “ต้องโง่ตลอดชาติ เป็นผลแห่งบาป” เป็นต้น ดังนี้ บท ต้องโง่ตลอดชาติ ก็เป็นบทกริยาวลีไป อย่างเดียวกับคำกริยาที่กล่าวแล้วเหมือนกัน

(๕) บทวลีต่างๆ บทวลีต่างๆ ที่ใช้เป็นประธานนั้น มีตัวอย่างดังนี้:-
ก. นามวลี
ที่มีนามชนิดย่อยพ่วง เช่น “นกเขาชวา-ขันเพราะ”
“กระทรวงศึกษาธิการ-ดี” ฯลฯ

ที่มีวิสามานยนามพ่วง เช่น “นายสด รักธรรม-พูดดี”
“จังหวัดนนทบุรี-เจริญขึ้น” ฯลฯ

ที่มีคำช่วยพ่วง เช่น “ความเป็นโรค-ไม่ดี” ฯลฯ

ที่มีบทกรรมพ่วง เช่น “การเกี่ยวหญ้าช้าง-ไม่ดี” ฯลฯ

ข. สรรพนามวลี ที่ใช้เป็นบทประธาน โดยมากมักเป็นคำประพันธ์ เช่น-ข้าใต้บาทบงกช-ประณตบาทยุคล ฯลฯ

ค. กริยาวลี ที่เป็นบทประธานนี้ก็เหมือนกับกริยาสภาวมาลา เป็นประธาน ดังอธิบายให้ตัวอย่างไว้ในข้อ (๓) ข้างต้นนี้แล้ว

(๖) บทพิเศษต่างๆ ในข้อนี้จะได้รวบรวมบทพิเศษต่างๆ ซึ่งมิได้ใช้ทั่วไปในภาษาไทย แต่ถ้ามีขึ้นก็นับว่าเป็นคำประธานของประโยคได้ ดังต่อไปนี้

ก. รูปเครื่องหมายต่างๆ
รูปพยัญชนะ เช่น ก เป็นพยัญชนะ ฯลฯ
รูปสระ เช่น ะ เป็นรูปสระ ฯลฯ
๑ เป็นเครื่องหมายการนับ ฯลฯ
= เรียกว่า สมพล ฯลฯ
△ เรียกว่า รูปสามเหลี่ยม ฯลฯ

ข้อสังเกต เมื่อเอาเครื่องหมายเหล่านั้นไปใช้แทนคำพูดชนิดใด หรือ ส่วนใดของประโยค ก็ให้พิจารณาเหมือนอย่างที่ใช้เป็นตัวหนังสือ เช่น ตัวอย่าง

△ นี้มีพื้นที่ ๕ ตารางเซนติเมตร ใช้อย่างเดียวกับตัวหนังสือว่า รูปสาม เหลี่ยมนี้ มีพื้นที่ห้าตารางเซนติเมตร ดังนี้เป็นต้น

ข. คำและวลีชนิดต่างๆ ที่ว่านี่เฉพาะคำชนิดต่างๆ และวลี ชนิดต่างๆ อาจจะเป็นประธานของประโยคได้ทั้งนั้น ดังตัวอย่างต่อไปนี้:-

คำชนิดต่างๆ คือ
จะ  เป็นกริยานุเคราะห์
ด้วย เป็นคำบุพบท ฯลฯ

วลีชนิดต่างๆ คือ:-
ยาวห้าวาสองศอก เป็นวิเศษณ์วลี
ในเมืองสวรรค์ เป็นบุพบทวลี ฯลฯ

หมายเหตุ ตัวอย่างบทประธานที่แสดงข้างบนนี้ ล้วนแต่บทประธานที่ เป็นกรรตุการกของประโยคกรรตุทั้งนั้น ส่วนบทประธานที่เป็น กรรมการก ก็ดี เป็น การิตการก ก็ดี ให้สังเกตอนุโลมตามตัวอย่างข้างบนนี้

บทขยายประธาน บทขยายประธานนี้ คือบทที่ใช้ประกอบประธานให้ได้ความชัดเจนยิ่งขึ้น มีได้ทั้ง คำ วลี และประโยค แต่ประโยคนั้น  จะได้กล่าวต่อไปในข้อที่ว่าด้วยสังกรประโยค ในที่นี่จะกล่าวเพียงบทขยาย ประธานของเอกรรถประโยค ดังต่อไปนี้

(๑) คำวิเศษณ์ คำวิเศษณ์ต่างๆ ทั้งแผนกขยายนามและสรรพนาม และพวกขยายกริยาและวิเศษณ์ด้วยกัน ย่อมเป็นบทขยายประธานได้ทั้งนั้น ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ลักษณวิเศษณ์:-
‘‘คน ชั่ว ไม่ดี”
“ปลา ตาย ไม่ดี”
“ม้า เร็ว ใช้ในการส่งข่าว”
“ความคิด ว่องไว เป็นประโยชน์”
“ปัญญา เชื่อมซึม เกิดแต่โรค”
“นอน มาก ไมดี” ฯลฯ

กาลวิเศษณ์– “คน ภายหลัง จะนินทา”
“ชาติ หน้า ไม่แน่นอน” ฯลฯ

สถานวิเศษณ์– “บ้าน ใต้ เงียบเหงา”
“คน นอก เข้าไม่ได้” ฯลฯ

ประมาณวิเศษณ์– “คน มาก มีกำลังมาก”
“คน เดียว ไปเที่ยวไม่สนุก”
“คน ที่หนึ่ง ดี” ฯลฯ

นิยมวิเศษณ์– “คน นั้น ทำไม่ดี”

อนิยมวิเศษณ์– “คน ใด จะโง่เช่นนี้”

ปฤจฉาวิเศษณ์ “คนไหนทำผิด?” ดังนี้เป็นต้น

(๒) บทวิกัติการก ภาษาไทยนิยมใช้คำนาม หรือสรรพนามประกอบข้างท้ายกันต่อๆ ไป ซึ่งเรียกว่า บทวิกัติการก และมักใช้เป็นบทช่วยนาม หรือสรรพนามที่อยู่ข้างหน้านั้นเป็นพื้นของภาษาทีเดียว และบทวิกัติการกของบทประธานบางบทก็รวมเป็นวลีอยู่ในบทประธาน แต่บางบทก็แยกออกไปเป็นบทขยายประธาน ทั้งนี้ย่อมเป็นด้วยบทวิกัติการกนั้นๆ บางบทก็มีเนื้อความสนิทสนมกับบทประธาน บางบทก็มีเนื้อความแยกออกเป็นหน้าที่บทขยายประธาน ดังจะสังเกตได้ตามตัวอย่างต่อไปนี้

ก. นก ขุนทอง๑ สัตว์เลี้ยง๒ ของฉันดีมาก
ข. มิตร สหาย๑ เพื่อนตาย๒ จริงๆ มีน้อย
ค. สามเณร จ้อย รักเกียรติ๑ นักธรรมโท๒ เทศน์ดี

ขอให้สังเกตบทที่พิมพ์ด้วยอักษรตัวหนาในประโยคทั้ง ๓ นี้ ล้วนเป็นวิกัติการกทั้งนั้น แต่บทที่หมายเลข ๑ มีเนื้อความกลมเกลียวกับบทประธาน จึงนับว่าเป็นวลีรวมอยู่ในบทประธาน แต่บทที่หมายเลข ๒ มีเนื้อความบอกหน้าที่อีกส่วนหนึ่งต่างหาก จึงเป็นบทขยายประธาน ดังตัวอย่างคำที่พิมพ์ด้วยตัวอักษรตัวหนาต่อไปนี้

ก. นาม-“นายสี กำนัน เป็นคนดี”
“นางคำ ภรรยา ของนายสี เป็นคนดี”
“กรุงเทพฯ เมืองหลวง ของไทยมีอากาศร้อน”
“ เขา คนใช้ ประพฤติไม่ดี ”
“ท่าน ชาวนา ควรประพฤติดี’’ ฯลฯ

ข. สรรพนาม-“นายสีสงวนทรัพย์ เขา เป็นคนดี”
“พระภิกษุพงศ์ เผ่าพ่อค้า เธอ เทศน์ดี”
“รัฐมนตรี ท่าน สั่งสอนดี”
“พระนเรศวร พระองค์ เป็นนักรบเลิศ”
“แม่ครัว แก ทำกับข้าวดี’’ ฯลฯ

ข้อสำคัญที่ไทยเราใช้สรรพนาม เป็นบทวิกัติการกนั้น เพื่อแสดงชั้นสูงต่ำ ของนามหรือสรรพนาม ที่อยู่ข้างหน้า ซึ่งเป็นระเบียบของภาษาไทยเราส่วนหนึ่ง

ค. ส่วนวลีที่เป็นบทวิกัติการกด้วยนั้น ดูต่อไปในข้อ ๓ ที่ว่าด้วยบทวลี

(๓) บทวลี บทวลีที่ใช้เป็นบทขยายประธานนั้น มีได้ทั้งวลี วิกัติการก และวลีอื่นๆ ดังนี้

นามวลี บทนามวลีที่ใช้เป็นบทขยายประธานนั้น โดยมากก็เป็นนามวิกัติการกนั่นเอง แต่มีคำอื่นประกอบมากออกไปกลายเป็นนามวลีวิกัติการกขึ้น ตัวอย่าง
“นายสี กำนันหนุ่ม เป็นคนดี”
“ท่าน ชาวนาสำคัญ ควรประพฤติดี’’ ฯลฯ

สรรพนามวลี ก็คือบทสรรพนามวลีเช่นเดียวกัน ตัวอย่าง
“หลวงพ่อ ท่านสมภารใหญ่ มาโน่นแน่”
“พระนเรศวร พระองค์ผู้วีรบุรุษ เป็นกษัตริย์ผู้ทรงเกียรติ” ฯลฯ

วิเศษณ์วลี บทวิเศษณ์วลีก็เป็นทำนองเดียวกันกับนามวลีที่กล่าวแล้ว ตัวอย่าง
“นางสลวย ธรรมรัต งามสมชื่อ เดินมาโน่น”
“ความเร็ว ๑ ชั่วโมง เป็นเวลาเหมาะแล้ว”
“การกินข้าว-จุ ตั้ง ๒- ๓ ชาม ไม่ดี”

กริยาวลี บทกริยาที่เป็นบทขยายประธานนั้นก็เป็นทำนองเดียวกับวิเศษณ์วลีนั่นเอง ต่างกันเฉพาะที่มีคำกริยาขึ้นต้นเป็นแม่บทเท่านั้น ดังตัวอย่าง:-
“คน สวมเสื้อรุงรัง ไม่ดี”
“การเที่ยว คนหาความรู้ ดี” ฯลฯ

ข้อสังเกต บทกริยาวลีในที่นี้ หมายถึงกริยาที่ใช้เป็นสภาวมาลานำหน้า พวกเดียวเท่านั้น ถ้ามีคำอื่นนำหน้ากริยาเหล่านี้เข้า ก็กลายเป็นรูปอื่น หาใช่ กริยาวลีไม่ ดังตัวอย่าง

“คน ผู้สวมเสื้อรุงรัง ไม่ดี” คำ ผู้สวม เป็นนาม จึงกลายเป็นนามวลีไป

“การเที่ยว เพื่อหาความรู้ ดี” คำ เพื่อ เป็นบุพบท จึงกลายเป็นบุพบทวลีไป

“คน ที่สวมเสื้อรุงรัง ไม่ดี” คำ ที่ เป็นสรรพนาม เลยเป็นประธานของ กริยา สวม จึงกลายเป็นประโยคเล็กขึ้นอีกประโยคหนึ่ง ซึ่งจะกล่าวต่อไปข้างหน้า ดังนี้เป็นต้น

บุพบทวลี บุพบทวลีทุกประเภทย่อมเป็นบทขยายประธานได้ทั้งนั้น และ
คำที่มีบุพบทนำหน้าที่เรียกว่าบุพบทวลีนั้น ก็มี นาม สรรพนาม และกริยาสภาวมาลาเท่านั้น ตัวอย่าง
“ คน ในบ้าน กินข้าว ”
“คน ของฉัน กินข้าว”
“การเที่ยว เพื่อหาความรู้ ดี” ฯลฯ

บทขยายประธานนอกจากนี้ก็มีแต่ประโยค ซึ่งจะกล่าวต่อไปข้างหน้า

ข้อสังเกตเรื่องคำประสมบางพวกกับวลี มีคำประสมที่เป็นคำสมาสใน ภาษาบาลีและสันสกฤต ซึ่งมีคำติดต่อกันยืดยาวชวนให้เห็นเป็นวลีไปก็ได้ เช่น คำราชาศัพท์ที่มี พระ นำหน้า เช่น พระหัตถ์ พระบาท ฯลฯ ทั้งนี้ให้ถือว่าเป็นคำประสม คือคำสมาสอย่างเดียวกับ วรหัตถ์ วรบาท ไม่ใช่วลี คือ พระคำหนึ่ง หัตถ์ และ บาท อีกคำหนึ่ง ถึงจะมีคำบาลี หรือสันสันสกฤตติดต่อกันยืดยาวออกไปในทำนองนี้ เช่น พระบรมโอรสาธิราช พระบรมสารีริกธาตุ เป็นต้นก็ดี ให้ถือว่าเป็นคำสมาสคำเดียวเท่านั้นไม่ใช่วลี

คำ พระ ที่นำหน้าศัพท์ชนิดนี้เป็นคำนำหน้าสมาส เช่นเดียวกับคำ วร บรม บวร ฯลฯ ซึ่งต่างกับคำ พระ นามตำแหน่งบรรดาศักดิ์ (พระ เสนานุรักษ์) พระ ภิกษุ (พระ ก. พระ ข.) และ พระ สรรพนาม เช่น “พระ เสด็จโดยแดนชล” เป็นต้น

บทกริยา  ได้กล่าวแล้วว่าภาคแสดงของประโยคย่อมจำแนกเป็นส่วนย่อยออกไปอีก ๔ บท คือ บทกริยา บทขยายกริยา บทกรรม และบทขยายกรรม ต่อไปนี้จะได้นำเอาบททั้ง ๔ นี้มาอธิบายทีละบท แต่จะอธิบายเฉพาะที่ใช้ในเอกรรถประโยคก่อน

ในที่นี้จะยกบทกริยาขึ้นอธิบายก่อน เพราะเป็นส่วนสำคัญของภาคแสดงที่บอกอาการของบทประธานให้ได้ความครบเป็นเอกรรถประโยค และเพื่อให้ผู้ศึกษาเข้าใจแจ่มแจ้ง จึงควรแยกบทกริยาออกเป็นประเภทๆ ต่างกันดังนี้

(๑) คำกริยา  ได้แก่กริยาที่ใช้เป็นบทกริยาได้ คือ
ก. อกรรมกริยา  หมายถึง คำที่เป็นอกรรมกริยาแท้ ตัวอย่าง “คน นอน” “นก บิน” และ “น้ำ ไหล” ฯลฯ และคำวิเศษณ์ที่ทำหน้าที่เป็นอกรรมกริยา ตัวอย่าง “คนนี้ ฉลาด” “ม้านี้ งาม” และ “หญิงนี้ แก่” ฯลฯ

ข. สกรรมกริยา ตัวอย่าง- “คน กิน ข้าว” “เด็ก ชัก ว่าว” และ “คน ตี กัน” ฯลฯ

ค. วิกตรรถกริยา ตัวอย่าง “คนนี้ เป็น ครู” “หญิงนั้น เป็น ใบ้ และ“คนนี้ เหมือน ฉัน’’ ฯลฯ

หมายเหตุ กริยานุเคราะห์ใช้เป็นบทกริยาของประโยคไม่ได้ เพราะมี หน้าที่ช่วยกริยาอื่นๆ เพื่อแสดง มาลา กาล วาจก ของกริยาอื่นๆ จึงนับเป็นบทช่วยกริยาเท่านั้น ไม่ใช่เป็นบทกริยาของประโยค

(๒) กริยาวลี ที่ใช้เป็นบทกริยาของประโยคนั้น ก็คือกริยาต่างๆ ที่เอา กริยานุเคราะห์ก็ดี  คำอื่นก็ดี เข้ามาช่วย จึงรวมกันเป็น กริยาวลี ขึ้น เพื่อแสดง มาลา กาล วาจก ดังกล่าวแล้ว ตัวอย่าง

ก. กริยาวลีบอกมาลา เช่น
“เขา ควรยินดี” “เขา ชะรอยจะไม่อยู่” และ “เจ้า ต้องไป” ฯลฯ

ข. กริยาวลีบอกกาล เช่น- “เขา กำลังนอนอยู่” “เขา ได้มา ที่บ้าน” และ “เขา จะไป พรุ่งนี้” ฯลฯ

ค. กริยาวลีบอกวาจก เช่น-“บิดายังบุตร ให้นอน” (ให้นอน เป็น กรรตุวาจก) “นายสี ถูกใส่ความ (ถูกใส่ความเป็นกรรมวาจก) และ “ตามี ถูกให้เฝ้า บ้าน” (ถูกให้เฝ้า เป็นการิตวาจก) ฯลฯ

กริยาวลีบอกวาจกนี้ ควรศึกษาต่อไปอีก

บทกริยาของเอกรรถประโยครูปต่างๆ บทกริยาทั้งที่เป็นคำ และเป็นกริยาวลีที่บอกวาจก ซึ่งอ้างตัวอย่างไว้นั้นเกี่ยวกับบทกริยาของเอกรรถประโยครูปต่างๆ จึงขออธิบายเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย ดังนี้

(๑) บทกริยาของประโยคกรรตุ บทกริยารูปนี้ได้แสดงไว้ในตัวอย่าง
ทั่วไปแล้วเช่น “คน นอน” “คน กิน ข้าว” ฯลฯ และบทกริยา เช่น กิน นอน ในรูปนี้บอกสัมพันธ์ว่าเป็นกริยากรรตุวาจก จึงไม่ต้องอธิบายต่อไปอีก

(๒) บทกริยาของประโยคกรรม บทกริยาของประโยคกรรมทั้งหลาย บอกสัมพันธ์ว่าเป็น กรรมวาจก ทั้งนั้น มี ๒ ประเภทด้วยกันดังนี้

ก. คือเป็นกริยาวลีที่มีคำกริยานุเคราะห์ ถูก นำหน้า เช่น “ลูก ถูก แม่ ตี” ดังนี้คำ ลูก เป็นบทประธานแต่เป็นกรรมการก

และคำ แม่ เป็นกรรตุการกช่วยกริยาวลี ถูก-ตี และกริยาวลี ถูก-ตี เป็นกรรมวาจกของคำ ลูก หรือจะกล่าวย่อๆ ว่า “ลูก ถูกตี” ก็ได้

หมายเหตุ กริยาวลีมีคำ ถูก นำหน้านี้ เป็นประเพณีนิยมใช้เฉพาะในข้อความที่ไม่ดี ซึ่งผู้ถูกไม่พอใจ เช่น ถูกจองจำ ถูกตี ถูกตรากตรำ ถูกบังคับ เป็นต้น ไม่นิยมในข้อความที่ดีซึ่งผู้ถูกพอใจ เช่นจะใช้ว่า ถูกชม ถูกยกย่อง ถูกเชิญ ฯลฯ ไม่ได้ นอกจากผู้ถูกไม่พอใจที่จะถูกเช่นนั้น ดังตัวอย่างกล่าวว่า ฉันเบื่อจะตายไปแล้ว ไปไหนก็ถูกเชิญให้กินข้าวร่ำไป ดังนี้เป็นต้น และในความอื่น ไม่ใช้คำ ถูก นำหน้าเลย ดูต่อไป

ข. ไม่ต้องใช้คำ “ถูก” นำหน้า บทกริยาของประโยคกรรมในภาษาไทยที่ไม่เป็นวลี คือใช้คำกริยาโดดๆ โดยไม่ใช้คำ “ถูก” นำหน้า ก็มีเป็นอันมาก คือ เป็นแต่เราเอาบทกรรมการกมาเป็นประธานและเอาเรียงไว้หน้าบทกริยาเท่านั้นก็ได้ เช่นตัวอย่าง “วัดนี้ สร้าง แต่ ครั้งไหน?” “ขนมนี้กิน ดี’’ “ของนี้ ขาย ยาก” ฯลฯ คำกริยา สร้าง กิน ขาย ในที่นี้เป็นกรรม วาจก เช่นเดียวกับวลีว่า “ถูกสร้าง ถูกกิน ถูกขาย” โดยยึดเอาการเรียงบทกรรมการกไว้หน้ากริยาเป็นหลัก

(๓) บทกริยาของประโยคกริยา ประโยคกริยานี้ได้กล่าวแล้วว่ามีวิธี บอกสัมพันธ์เป็นอย่างเดียวกับประโยคกรรตุทั้งนั้น ต่างกันเพียงเรียงบทกริยาไว้หน้าบทประธาน เพื่อต้องการให้กริยาเด่นชัดเท่านั้น และบทกริยาก็ใช้เฉพาะที่ มีความว่า เกิด มี ปรากฏ เท่านั้น

หมายเหตุ ประโยคกริยานี้มีลักษณะคล้ายกับ “ประโยคภาพ” ในภาษา บาลี ซึ่งของเขามีแต่บทกริยา เอาบทประธานไปเป็นบทช่วยกริยาเสียจึงไม่มีบทประธาน

(๔) บทกริยาของประโยคการิต บทกริยานี้ต้องใช้กริยานุเคราะห์ ให้ นำหน้าเป็นวลีมี ๓ ประเภทดังนี้

ก. กรรตุวาจก เช่น-ให้อ่าน หรือ ให้-อ่าน ตัวอย่างประโยคว่า
“ครูยังศิษย์ ให้อ่าน หนังสือ” “ครู ให้ ศิษย์ อ่าน หนังสือ” หรือว่า “ครู ให้อ่าน หนังสือ ” เป็นต้น

ข. กรรมวาจก เช่น-ถูก-ให้-อ่าน ถูกให้อ่าน หรือ ให้อ่าน ตัวอย่าง ประโยคว่า “หนังสือ ถูก ครู ให้ ศิษย์ อ่าน” หรือ “หนังสือนี้ ถูกให้อ่านเสมอๆ” หรือ “หนังสือนี้ ให้อ่าน เสมอๆ” เป็นต้น

ค. การิตวาจก เช่น-“ถูก-ให้อ่าน” หรือ “ถูกให้อ่าน” ตัวอย่างประโยคว่า “ศิษย์ ถูก ครู ให้อ่าน หนังสือ” หรือ “ศิษย์ ถูกให้อ่าน หนังสือ” เป็นต้น

หมายเหตุ รูปกริยาวลีที่เป็นการิตวาจกนี้ ใช้กริยานุเคราะห์อื่น ประกอบ เป็นมาลาและกาลได้อย่างกริยากรรตุวาจกและกรรมวาจกเหมือนกัน

บทขยายกริยา คือ คำวิเศษณ์หรือวลีที่ใช้ขยายบทกริยาให้ได้ความชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ไม่ใช่คำช่วยประกอบกริยาให้เป็นกริยาวลี เช่นคำกริยา นุเคราะห์ดังกล่าวแล้ว บทขยายกริยานี้มีประเภทดังต่อไปนี้

(๑) บทขยายกริยาที่แต่งเนื้อความ ข้อนี้หมายถึงบทที่ทำหน้าที่แต่งบทกริยาให้มีเนื้อความพิสดารยิ่งขึ้น มีอยู่ ๒ ประเภทด้วยกันคือ:-

ก. คำวิเศษณ์ คำวิเศษณ์ย่อมมีหน้าที่แต่งคำอื่นให้มีความหมายแปลกไปจากคำเดิมได้ ดังนั้นจึงมีหน้าที่ขยายบทกริยาได้ทั้งหมด เพื่อให้มีเนื้อความพิสดารไปต่างๆ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

“เขาเดิน ไว”     ไว วิเศษณ์บอกลักษณะของกริยา เดิน
“เขามา ก่อน”     ก่อน วิเศษณ์บอกกาลของกริยา มา
“ฉันนอน กลาง”     กลาง วิเศษณ์บอกสถานของกริยา นอน
“เขากินขาว จุ”     จุ วิเศษณ์บอกประมาณของกริยา กิน
“ ผมอยู่ ขอรับ ”     ขอรับ วิเศษณ์บอกความรับรองของกริยา อยู่
“เขา ไม่ ทำงาน” ไม่ วิเศษณ์บอกปฏิเสธของกริยา ทำ ดังนี้เป็นต้น

ข. วลีต่างๆ ที่ทำหน้าที่วิเศษณ์ นอกจากคำวิเศษณ์ดังกล่าวแล้ว ยังมี บทวลีต่างๆ ที่ทำหน้าที่แต่งบทกริยาให้พิสดารขึ้นไปกว่าคำวิเศษณ์อีก ซึ่งมีชื่อต่างกันแล้วแต่คำชนิดใดนำหน้า แต่ก็รวมความว่าทำหน้าที่อย่างเดียวกับคำวิเศษณ์ทั้งนั้น ดังตัวอย่างบทที่มีตัวเส้นหนาต่อไปนี้

“เขาวิ่ง เร็วมากทีเดียว ” (วิเศษณ์วลีบอกลักษณะ)
“เขาเดิน เตะกระโถนหก” (วิเศษณ์บอกวลีลักษณะ)
“เขานอน สิบชั่วโมงเต็ม” (วิเศษณ์วลีบอกประมาณ)
“เขามา ช้า ๕ นาที” (วิเศษณ์วลีบอกกาล) ดังนี้เป็นต้น

หมายเหตุ วลีที่ทำหน้าที่ วิเศษณ์ ขยายบทกริยานี้ ย่อมเป็นวิเศษณ์วลี กับกริยาวลีเป็นพื้น เพราะถ้าเป็นนามวลีหรือบุพบทวลีก็จะต้องเป็นการกช่วยกริยา ดังจะแสดงต่อไปข้างหน้า

(๒) บทขยายกริยาที่เป็นการช่วยกริยาต่างๆ ได้แก่บทการกต่างๆ ที่ช่วยกริยาให้มีเนื้อความครบบริบูรณ์ก็ดี หรือให้มีเนื้อความพิสดารออกไปก็ดี มี ๔ ประเภทด้วยกันดังนี้

ก. บทวิกัติการกช่วยกริยา หมายถึงนาม สรรพนาม หรือ วลีทำหน้าที่ วิกัติการก ช่วยวิกตรรถกริยาให้ได้ความครบ ตัวอย่าง
“เขาเป็น ครู” (ครู เป็นวิกัติการกช่วยกริยา เป็น)
“เขาคล้าย ฉัน” (ฉัน เป็นวิกัติการกช่วยกริยา คล้าย)
“ท่านเป็น กรรมการศาลฎีกา” (กรรมการศาลฎีกา เป็นวลีวิกัติการก ช่วยกริยา เป็น) ดังนี้เป็นต้น

ข. บทกรรตุการก ช่วยกริยากรรมวาจกหรือกริยาการิตวาจก เช่น ตัวอย่าง:- “บุตรถูก บิดา ทำโทษ” บิดา เป็นกรรตุการกช่วยกริยา ถูกทำ โทษ “วัดนี้ ใคร สร้าง” ใคร เป็นกรรตุการกช่วยกริยา สร้าง “ศิษย์ถูก ครู ให้อ่านหนังสือ” ครู เป็นกรรตุการกช่วยกริยา ถูกให้อ่าน ดังนี้เป็นต้น

ค. บทการิตการก ที่ช่วยกริยาในประโยคการิตการก เช่นตัวอย่าง  “ครู ยังศิษย์ ให้อ่านหนังสือ” ยังศิษย์ เป็นบุพบทวลีการิตการกช่วยกริยา ให้อ่าน “ครู ให้ศิษย์ อ่านหนังสือ” ศิษย์ เป็นการิตการกช่วยกริยา ให้อ่าน
“หนังสือถูกครูให้ ศิษย์ อ่าน” ศิษย์ เป็นการิตการกช่วยกริยา ถูกให้อ่าน ดังนี้เป็นต้น

ฆ. วิเศษณการกต่างๆ ได้แก่วิเศษณการกที่ช่วยกริยาโดยบอกหน้าที่ต่างๆ ให้มีเนื้อความพิสดารออกไป เช่นตัวอย่าง

“เขาไป โดยเร็ว” โดยเร็ว บุพบทวลีวิเศษณการกช่วยกริยา ไป เพื่อ บอกลักษณะ

“เขาไป เมื่อเช้า” เมื่อเช้า บุพบทวลีวิเศษณการกช่วยกริยา ไป เพื่อ บอกกาล

“เขาอยู่ ที่บ้าน” ที่บ้าน บุพบทวลีวิเศษณการกช่วยกริยา อยู่ เพื่อบอกสถาน

“เขานอน ตลอดคืน” ตลอดคืน บุพบทวลีวิเศษณการกช่วยกริยา นอน เพื่อบอกประมาณ

“ฉันเห็น กับตา” กับตา บุพบทวลีวิเศษณการกช่วยกริยา เห็น เพื่อบอกเครื่องใช้

หมายเหตุ  วิเศษณการกนี้โดยมากมีบุพบทนำหน้า จึงเรียกบุพบทวลี แต่บางบทไม่นิยมใช้บุพบทนำหน้า ใช้แต่คำวิเศษณการกโดดๆ ต่อท้ายบทกริยาก็มี เช่นตัวอย่าง

“เขากิน ตะเกียบ เป็น” ตะเกียบ คำวิเศษณ์การกช่วยกริยา กิน เพื่อ บอกเครื่องใช้

“เด็กจม นํ้า ตาย” นํ้า คำวิเศษณการกช่วยกริยา จม เพื่อบอกสถาน เป็นต้น วิเศษณการกเช่นนี้มีมาก

ข้อสังเกต บทการกช่วยกริยาทั้ง ๔ ประเภทนี้ เป็นคำนามก็ได้ สรรพนามก็ได้ กริยาสภาวมาลาก็ได้ และเป็นวลีก็ได้ แล้วแต่รูปความจะเป็นไป ให้สังเกตตามตัวอย่างที่แสดงไว้ข้างต้นนี้

บทกรรม  บทกรรมนหมายความว่าบทที่ทำหน้าที่ผู้ถูกของสกรรมกริยา ได้กล่าวไว้แล้วว่า บทกริยาของภาคแสดงที่เป็นสกรรมกริยา จะต้องมีบทกรรมต่อท้ายจึงจะมีเนื้อความครบบริบูรณ์ ดังนั้น บทกรรมที่กล่าวนี้
ก็มีหน้าที่ช่วยสกรรมกริยา อย่างเดียวกับบทการกต่างๆ ที่ช่วยบทกริยาดังกล่าวแล้วนั่นเอง แต่ที่ท่านจัดไว้เป็นอีกแผนกหนึ่ง ไม่รวมไว้ในบทขยายกริยา อย่างบทการกช่วยกริยาต่างๆ เหล่านั้น ก็เพราะเป็นบทสำคัญยิ่งกว่ากัน อาจจะนำมาเป็นบทประธานของประโยคก็ได้ นับว่าเป็นบทสำคัญคล้ายคลึงกับบทประธานเหมือนกัน

บทกรรมมีลักษณะคล้ายคลึงกับบทประธานทุกอย่าง ต่างกันก็ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ถูกของสกรรมกริยาเท่านั้น บทใดที่เป็นประธานได้ก็ต้องเป็นบทกรรมได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นในที่นี้จะไม่อธิบายให้พิสดารอีก จะยกตัวอย่างมาแสดงไว้เพียงประเภทละประโยคพอเป็นเค้า ให้ผู้ศึกษาสังเกตและอนุโลมตามบทประธานเอาเอง ดังต่อไปนี้

(๑) คำนาม-“ฉันเห็น คน”
(๒) คำสรรพนาม – “ เขารัก ฉัน ”
(๓) บทกริยาสภาวมาลา-“เขาชอบ นอน”
(๔) คำวิเศษณ์-“เขาไม่รัก ดี”
(๕) บทวลีต่างๆ-นามวลี-“ฉันชอบ นกเขาชวา”
สรรพนามวลี-“พระองค์ทรงชุบเลี้ยง ข้าเบื้องบทมาลย์ ปานฉะนี้” (มักเป็นคำประพันธ์)

กริยาวลี-มีกริยานุเคราะห์ช่วย “ฉันไม่ชอบ ถูกบังคับ”

มีนามช่วย-“ฉันชอบ พายเรือ”
“ ฉันไม่ชอบ เป็นนักโทษ ”

มีกรรมช่วย-“เขาชอบ เล่นการพนัน”

(๖) บทพิเศษต่างๆ เช่น-เขาเขียน O ไม่ดี “O” อ่านว่ารูปวงกลม เป็นบทกรรมการกของกริยา เขียน “เขาแปล ‘ในเมืองสวรรค์’ ไม่ถูก” ในเมืองสวรรค์ เป็นบุพบทวลี กรรมการกของกริยา แปล

หมายเหตุ ในบทพิเศษนี้ หาได้ใช้ในภาษาไทยไม่ ที่นำมาแสดงไว้ใน ที่นี้ก็เพื่อจะให้ทราบไว้เป็นหลักแห่งความรู้เท่านั้น ส่วนบทกรรมที่เป็นประโยคนั้น จะแสดงต่อไปในสังกรประโยค

บทกรรมการกที่ช่วยบทกริยาในภาคแสดงนั้น ถ้าเอาไปเรียงไว้หน้าบท กริยา ก็ต้องนับว่าเป็นบทประธานกรรมการก และบทกริยาก็ต้องเป็นกริยาวาจก

บทขยายกรรม ได้กล่าวแล้วว่าบทกรรมคล้ายคลึงกับบทประธาน ฉะนั้นบทขยายกรรมก็คล้ายคลึงกับบทขยายประธานดุจกัน หรือจะว่าเป็นอย่างเดียวกันก็ได้ ต่างกันเพียงทำหน้าที่ขยายบทกรรมเท่านั้น จึงแสดงตัวอย่างไว้ ให้ดูประเภทละประโยค เพื่อทบทวนความสังเกตดังนี้

(๑) คำวิเศษณ์ แต่งนาม-“เขาจบช้าง ป่า”
แต่งกริยา-“เขาไม่ชอบเดิน เร็ว”

(๒) บทวิกัติการก นาม-“ฉันนับถือนายมี นายอำเภอ”
สรรพนาม- “ในข้อนี้ฉันต้องเชื่อลูก มัน”

(๓) บทวลี วลีวิกัติการก-“ฉันนับถือภิกษุดี สมภารหนุ่ม”
วลีอื่นๆ – “ฉันเห็นคน หนวดยาวรุ่มร่าม”
“ ตาสีกินข้าว สามชามกว่า ”
“ ฉันพบตามี สวมเสื้อรุงรัง ”
“ฉันรักคน ในบ้าน”

ทั้งนี้ให้ดูคำอธิบายในบทขยายประธานเป็นหลักอนุโลมตาม

วิธีบอกสัมพันธ์เอกรรถประโยค ได้กล่าวมาแล้วว่า ประโยคคำพูดย่อมต่างกับประโยคไวยากรณ์ เพราะประโยคคำพูดย่อมละส่วนต่างๆ ไว้ในที่เช้าใจ ฉะนั้น เมื่อเราจะบอกสัมพันธ์ประโยคคำพูด จึงต้องแปลงรูปเป็นประโยคไวยากรณ์เสียก่อน คือยกเอาส่วนที่ละไว้ที่เข้าใจมาใส่ไว้ในวงเล็บ ให้เต็มตามประโยคไวยากรณ์เสียก่อน แล้วจึงบอกสัมพันธ์ทีหลัง ดังตัวอย่างต่อไปนี้
silapa-0231 - Copy
เมื่อจะบอกสัมพันธ์ต้องบอกตามประโยคไวยากรณ์ ดังนี้
ประโยก ก. ภาคประธาน-เวลา
บทประธาน -เวลา
ภาคแสดง -กี่นาฬิกาแล้ว
บทกริยา -กี่นาฬิกาแล้ว (วิเศษณ์วลีทำหน้าที่เป็นบทกริยา) ดังนี้เป็นต้น

การเขียนอธิบายบอกสัมพันธ์ เช่นข้างบนนี้ ให้เฉพาะข้อความเล็กน้อย ดังตัวอย่างข้างบนนี้เท่านั้น ถ้ามีข้อความมากหรือมีหลายประโยคด้วยกัน ควรตีตารางบอกสัมพันธ์สะดวกกว่า ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ตัวอย่างตารางบอกสัมพันธ์
silapa-0232
บทเชื่อมความ เอกรรถประโยคนี้ ยังมีถ้อยคำที่ไม่ใช่ประโยคเข้ามาเชื่อมหน้าประโยคก็มี หรือหลังประโยคก็มี โดยมากเป็นบทอาลปน์ หรือบทอุทาน เช่น เออ! โอ๊ย! ตายละซี! เหล่านี้เป็นต้น เช่น ตัวอย่าง “นายแดงโว๊ย! ไฟไหม้บ้าน” หรือ “ตายละซี! เกิดขโมยขึ้นในบ้านเราแล้ว โว๊ย! นายแดง” เหล่านี้เป็นต้น

ในบทเชื่อมความนี้ ถ้าเป็นประโยคใหญ่ ก็มีคำสันธานสำหรับเชื่อมประโยคอยู่ด้วยดังจะแสดงต่อไปข้างหน้า ถ้ามีในเอกรรถประโยค ดังตัวอย่างข้างบนนี้ ก็ตีตารางไว้ถัดช่องประโยคเข้าไปดังนี้
silapa-0234

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร