หัวล้าน:ลักษณะของหัวล้าน ๗ ประเภท ๗ ชนิด

เมื่อปีกลายราว ๆ กลางปีมีจังหวัดหนึ่งจำไม่ได้ว่าเป็นจังหวัดใด (เพราะฟังจากวิทยุ) และมีงานอะไร แต่ในงานนั้นได้ประกาศว่ามีประกวดหัวล้าน ไม่ทราบว่าเขาประกวดอย่างไร มีกฎเกณฑ์ในการตัดสินเป็นไฉน ว่ากันมั่ว ๆ ไปสักแต่ว่าเห็นหัวไหนสวยก็ให้รางวัลหรือว่าแยกเป็นประเภท ชนิด ถ้าแยกเป็นประเภท-ชนิดละก็ รางวัลที่ ๑ เห็นจะต้องมีถึง ๗ รางวัล เพราะว่าหัวล้านนั้นมีอยู่ถึง ๗ แบบ ๗ ชนิด และจะหาคนหัวล้านจากที่ไหนมาประกวดได้ครบ

บางท่านอาจจะค้านว่า “อ้าว-ก็ว่ามีถึง ๗ ประเภท ๗ ชนิด แล้วทำไมถึงจะว่าหาไม่ได้ครบล่ะ”

ถูกละครับ มันมี ๗ แบบ ๗ ชนิด แต่ว่าในพื้นที่แคบ ๆ ระดับเมือง ระดับจังหวัดนั้นจะหาครบได้ที่ไหน มันต้องระดับโลกหรือระดับประเทศนั่นแหละครับ จะพอควานหากันได้

ในเมื่อเป็นเรื่องเอิกเกริกฮือฮากันถึงขนาดจัดประกวดกันแล้ว ก็ต้องเขียนตำรากันหน่อยเผื่อว่าใครเห็นงามจะจัดประกวดกันขึ้นอีกจะได้เอาเป็นแนวทางวินิจฉัย และหากประกวดกันครึกโครมจริง ๆ ฝรั่งก็เห็นจะต้องมาถ่ายวิดีโอไปออกข่าว เพราะฝรั่งเองก็ยังไม่มีตำราหัวล้านเหมือนกัน ทั้ง ๆ ที่คนหัวล้านเต็มเมือง หาได้ง่ายกว่าเมืองไทยหลายเท่า

เท่าที่ได้ยินได้ฟังมาท่านว่ากันว่ามี ๗ ชนิด ได้พยายามสังเกตสังกามาตลอดก็ยังไม่เห็นมีเพิ่มมาเกินกว่าที่ท่านว่า ทั้งหัวฝรั่ง หัวไทย ๗ ชนิดที่ท่านว่านั้นมีดังนี้

๑. ทุ่งหมาหลง

๒.  ดงช้างข้าม

๓.  ง่ามเทโพ

๔.  ชะโดตีแปลง

๕.  แร้งกระพือปีก

๖.  ฉีกขวานฟาด

๗.  ราชคลึงเครา

เห็นไหมละครับ ท่านว่าของท่านเป็นบทเป็นกลอนเสียด้วย นี่ละครับคนไทย

เพลงร้องก็เคยมี แต่เนื้อเพลงจาระไนไม่สู้จะได้ความนัก เนื่องจากคนแต่งมือไม่ถึง และยังไม่เข้าใจลักษณะหัวล้านดีพอ จึงไม่ถ่องแท้ในชื่อที่เขาตั้ง

ลักษณะ

ทุ่งหมาหลง นั้นลักษณะก็คือ ล้านเกลี้ยง บนหัวไม่มีผมสักเส้น เปรียบเหมือนทุ่ง ซึ่งไม่มีต้นไม้ใบหญ้าให้สังเกตสังกาเอาเลย หมาจึงหลง เจ้าคุณไชยยศสมบัติไงล่ะครับ ลักษณะนี้ อดีตรัฐมนตรีกลาโหมของอาจารย์เสนีย์  ปราโมช  สมัยหลังสุดนี่ก็อีกท่านหนึ่ง

ดงช้างข้าม คือเลี่ยนเป็นทางตรงช่องกลางตั้งแต่หน้าผากจรดท้ายทอย เปรียบเสมือนป่า ที่ช้างมันข้ามมันเดินกันเป็นประจำ จนเป็นเทือกเป็นทาง ต้นไม้มันเลยไม่ขึ้น ไม่ว่าแต่ช้างหรอกครับ คนก็เหมือนกัน-ถ้าเดินทางใดเป็นประจำทางนั้นหญ้าก็ไม่ขึ้น เพราะเช่นนั้นจึงต้องมีการปักป้าย “ห้ามเดินลัดสนาม” ไงล่ะครับ เพราะลงได้หญ้าตายเป็นทางเสียแล้วคนก็ต้องเดินกันเรื่อยละ แล้วหญ้าจะโผล่ขึ้นมาได้อย่างไร

ลักษณะนี้เราได้เห็นกันอยู่ทุกวันทั้งทางหน้าหนังสือพิมพ์และในโทรทัศน์ ก็โฆษกเอกของทำเนียบไงละครับ แต่ของท่านถ้าประกวดขณะนี้คงยังไม่ได้รางวัล เพราะยังมีหญ้าอยู่บาง ๆ

ง่ามเทโพ แหลมเข้าไปสองข้างตรงรอยแสก-ลักษณะเหมือนเงี่ยงปลาเทโพแทงเข้าไป แต่ถ้าปลายแหลมงุ้มเข้าหากันกลางศีรษะเขาเรียก “ง่ามถ่อ” ใครที่เคยเห็นง่ามถ่อคงหายสงสัย เพราะเป็นง่ามงุ้มเข้าหากันเหมือนเขาควาย อีนี่หาตัวอย่างให้ดูไม่ได้ มีครับ เยอะด้วยแต่มันไม่มีในบรรดาท่านที่ดัง ๆ ที่ได้เห็นหน้าหนังสือพิมพ์

ชะโดตีแปลง ลักษณะเป็นวงกลมข้างหลัง-เหมือนปลาชะโดที่มันดิ้นตีแปลงอยู่ในปลักตม มีตัวอย่างพอยกให้เห็นได้ครับอีนี่คุณสุประวัติ  ปัทมสูตร ไงล่ะ

แร้งกระพือปีก อีนี่เลี่ยนกลางจากข้างหน้าเข้าไปท้ายทอย ลักษณะก็เหมือนดงช้างข้าม ทว่าผมสองข้างพองออกเป็นปีก เหมือนปีกนกที่กำลังกระพือ จึงเรียก “แร้งกระพือปีก”

ฉีกขวานฟาด อีนี่เถลิกหน้าเข้าไปเป็นแหลม เป็นรูปสามเหลี่ยม เหมือนดินที่ถูกขวานฟัน ลองเอาขวานฟันดินที่หมาด ๆ หนึก ๆ ดูเถอะครับ จิกคมขวานลงไปตรง ๆ ดินตรงโคนขวานจะเบอะออกไปรับกับตรงปลายขวานเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว พอมีตัวอย่างบุคคลสำคัญครับลักษณะนี้ แต่เดี๋ยวนี้ลักษณะกลายไปเสียแล้ว อ้างไปก็มองไม่เห็นเว้นแต่คนที่เคยเห็นเมื่อก่อนนี้

ลักษณะนี้กลายง่ายครับ เมื่อเป็นใหม่ ๆ จะเป็นรูป ๓ เหลี่ยม แต่ไป ๆ พอมีอายุเข้าหน่อยจะกินวงกว้างออกไป และถ้าหากมีชะโดตีแปลงอยู่ข้างหลังด้วย ก็จะกินวงจดกันกลายเป็นดงช้างข้ามไป

ราชคลึงเครา อีนี่ก็ลักษณะของดงช้างข้ามหรือแร้งกระพืปีก แต่ว่ามีเคราตั้งแต่จอนหูลงมาจนจดถึงคาง ถ้าดก ๆ หนา ๆ และตัดแต่งให้ดีแล้ว อื้อฮื้อ งามชะมัด อีนี่คนไทยมักไม่ค่อยมี แขก ฝรั่ง มีเยอะและเขาเห็นว่าเป็นบุคลิกที่เข้ม จึงมักเอามาแสดงหนังให้เราได้เห็นกันอยู่บ่อย ๆ

วิสัชชนาเรื่องหัวล้านมา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้แล

เช็งเม้ง : ประเพณีไหว้บรรพบุรุษของชาวจีน

เช็ง แปลว่า สะอาด แจ่มใส

เม้ง แปลว่า สว่าง

เมื่อรวมกันแล้วก็แปลว่า แจ่มใส หรือปลอดโปร่ง ซึ่งเป็นสภาพอากาศของประเทศจีนในฤดูใบไม้ผลิ ชาวจีน โดยเฉพาะสุภาพสตรี จึงอาศัยสภาพที่ปลอดโปร่งนี้เองเดินทางไปเที่ยวตามหลุมศพของบรรพบุรุษ เพื่อบูรณะบำรุงไม้ใบไม้ดอกซึ่งโทรมไปเมื่อตอนฤดูหนาว

ผู้หญิงนั้นเสมือนน้ำ ผู้ชายเปรียบเสมือนปลา น้ำถึงไหนปลาก็ถึงนั่น โบราณท่านว่าไว้ ฉะนั้นเมื่อมีผู้หญิงหรือจะไร้ซึ่งผู้ชาย ของมันชอบ ๆ กันอยู่แล้ว ก็ต้องตามไปตื๊อกัน ก็เลยกลายเป็นขบวนและกลายเป็นประเพณีไหว้บรรพบุรุษไปอีกอย่าง

เทศกาลนี้มักตรงกับวันที่ ๕ เมษายน (ตามระบบสุริยคติ) แต่ก็มีอยู่ปีหนึ่ง คือ พ.ศ. ๒๕๒๗ ที่ตรงกับวันที่ ๔ ทั้งนี้ก็เนื่องจากปฏิทินของเขาเป็นปฏิทินทางจันทรคติ ซึ่งปีหนึ่งวันขาดไปตั้ง ๑๑ วัน ต้องมีอธิกมาส ๓ ปีหน เหมือนของเราเหมือนกัน และเมื่อเพิ่มแล้วก็ยังอาจขาดได้อีก เพราะเขาไม่มีอธิกวาร ฉะนั้นนาน ๆ ไปจึงอาจคลาดเคลื่อนได้ อนึ่งการกำหนดวันเช็งเม้งนั้นเขานับต่อแต่เทศกาลตงจื้อมา ๑๐๖ วัน ถ้าวันตงจื้อคลาดเคลื่อน ก็ต้องเคลื่อนตามกันมา

การละเล่นพื้นเมืองของภาคอีสาน

การละเล่นเป็นกิจกรรมที่ปฏิบัตินอกเหนือจากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เป็นกิจกรรมเพื่อความสนุกสนาน เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด เป็นนันทนาการ เป็นกิจกรรมที่เล่นกันในเวลาว่าง มีกติกาหรือวิธีเล่นที่ง่าย ไม่สลับซับซ้อน ทำให้เกิดความสนุกสนาน เพลิดเพลิน ส่งเสริมความสามัคคีในหมู่คณะเป็นอย่างดี

การละเล่นของภาคอีสานส่วนใหญ่เป็นการละเล่นของพวกเด็ก ๆ แต่ผู้ใหญ่ก็สามารถจะเล่นได้ กลับได้รับความสนุกสนานได้ออกกำลังกาย ไม่แพ้เด็กเหมือนกัน

ม้าหลังโปก

ม้าหลังโปก เป็นการละเล่นที่มีมานานแล้ว ชอบเล่นในพวกเด็กและหนุ่มสาววัยรุ่น เป็นการเล่นเพื่อความสนุกสนาน เป็นการออกกำลังกาย

สถานที่เล่น ลานกว้าง เช่น ลานวัด โรงเรียน หรือสนาม

อุปกรณ์การเล่น ผ้าขาวม้าม้วนเป็นก้อนกลม หรือลูกบอลขนาดเล็ก

จำนวนผู้เล่น เล่นได้ทั้งชาย-หญิง ประมาณ ๑๐ คู่

วิธีการเล่น ผู้เล่นยืนเป็นคู่ ๆ เป็นวงกลมห่างกันประมาณ ๑-๒ วา คนที่เป็นม้าก้มลงมือทั้งสองจับเข่า อีกคนหนึ่งขี่ข้างหลัง เมื่อทุกคู่พร้อมแล้ว คู่ที่ถือลูกบอลหรือผ้าขาวม้าเริ่มโยนไปรอบ ๆ ให้คนที่ขี่ข้างหลังรับ ถ้าบอลหรือผ้าขาวม้าตกให้ผู้เป็นม้า (คนที่ถูกขี่หลัง) แย่งลูกบอลหรือผ้าขาวม้านั้นขว้างคนที่ขี่ คนที่ขี่ต้องรีบลงจากหลังวิ่ง ถ้าขว้างถูกคนขี่ต้องเป็นม้า และม้ากลับเป็นคนขี่

โค้งตีนเกวียน

โค้งตีนเกวียน เป็นการละเล่นของเด็กและพวกหนุ่มสาวอีกอย่าง                            หนึ่งซึ่งมีการเล่นมาช้านาน เป็นการเล่นเพื่อทดสอบสมรรถภาพทางกาย เพื่อความสนุกสนานเพื่อออกกำลังกายในเวลาว่าง

สถานที่เล่น ลานกว้าง เช่น ลานวัด ลานบ้าน สนาม

อุปกรณ์การเล่น ไม่มี ใช้คนเล่นทั้งหมด

จำนวนผู้เล่น ไม่จำกัดจำนวน เล่นได้ทั้งชาย-หญิง เล่นด้วยกันได้ทั้งชาย-หญิง

วิธีการเล่น แบ่งผู้เล่นออกเป็น ๒ พวก พวกที่หนึ่งยืน อีกพวกหนึ่งนั่ง

พวกที่หนึ่ง  เอาเท้ายันกันไว้ตรงกลางและเอามือจับคนที่ยืน ซึ่งยืนสลับกับคนนั่งระหว่างคน ๒ คน การจับมือให้จับเป็นมัดข้าวต้มทั้งมือซ้ายและขวา แล้วพวกยืนพาเดินหมุนไปรอบ ๆ เป็นวงกลมคล้ายกับล้อเกวียนเวลาหมุน ถ้าฝ่ายนั่งทำมือหลุดหรือแยกออกจากกันจะเป็นฝ่ายแพ้ เปลี่ยนให้ฝ่ายยืนมานั่งแทน แล้วเล่นกันต่อไป

การเล่นบัก “อี”

บักอี เป็นการเล่นประเภททีม เพื่อความสนุกสนานเพื่อเป็นการออกกำลังกาย เพื่อฝึกไหวพริบ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น และฝึกการตัดสินใจที่เด็ดขาดรวดเร็วไม่ลังเล เป็นการละเล่นที่นิยมของพวกผู้ชายวัยรุ่นและเด็ก ๆ

สถานที่เล่น สนาม ลานวัดกว้าง ๆ

อุปกรณ์การเล่น

จำนวนผู้เล่น ไม่จำกัดจำนวน

วิธีเล่น ๑.  แบ่งผู้เล่นออกเป็น ๒ ฝ่าย เท่า ๆ กัน

๒.  ฝ่ายใดชนะเสี่ยงฝ่ายนั้นเริ่มก่อน

๓.  ฝ่ายเล่นก่อน อี เข้าไปก่อนทีละคน โดยสลับกันฝ่ายตรงข้าม โดยพยายามอี เข้าไปแตะฝ่ายตรงข้ามให้ได้

กติกา ๑.  การ อี นั้นจะต้องมีเสียงตลอดและจะต้องไม่เห็นฟัน

๒.  ถ้าฝ่ายรับถูกแตะยังไม่พ้นเขตมีสิทธิ์ที่จะจับคน อี ได้ ถ้าคนอี พ้นเขตไปถือว่าคนที่ถูกแตะต้องออกจากการแข่งขันไป

๓.  ถ้าคน อี ถูกจับและหยุดเสียง อี อยู่ในแดนรุกหรือเห็นฟันถือว่าตาย

๔.  เล่นประมาณ ๕-๑๐ นาที ฝ่ายใดเหลือมากเป็นฝ่ายชนะ หรือเล่นไปจนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะหมดหรือยอมแพ้

 

 

 

“ชนวัว” กีฬาของชาวไทยภาคใต้

ผู้เขียนเรื่องนี้เป็นผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้ วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช

“การชนวัว” หรือ “การชนโค” เป็นกีฬาประเภทการต่อสู้ที่น่าตื่นเต้นสนุกสนานและสร้างความประทับใจแก่ผู้ชมที่รักการต่อสู้เป็นอย่างยิ่ง กีฬาชนวัวได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางมาก โดยเฉพาะชาวภาคใต้ถือเป็นกีฬาพื้นบ้านหรือกีฬาประจำถิ่นอันสำคัญอย่างหนึ่งที่ได้สืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านาน นับได้หลายศตวรรษทีเดียว กีฬาชนวัวหาได้นิยมเฉพาะแต่ในภาคใต้ของประเทศไทยเท่านั้นไม่ ในต่างประเทศ เช่น ประเทศโคลัมเบียในทวีปอเมริกากลางก็นิยมกีฬาประเภทนี้เป็นอย่างมากเช่นกัน

กีฬาชนวัวเริ่มมีในสมัยใด มีความเป็นมาอย่างไร และทำไมจึงนิยมกันมากในจังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย ไม่มีผู้ใดทราบแน่ชัด แต่มีท่านผู้รู้บางท่านให้ความเห็นว่า ชาวไทยภาคใต้น่าจะได้กีฬาประเภทนี้มาจากพวกโปรตุเกส คือในสมัยพระเจ้าเอมมานูแอลแห่งโปรตุเกส ได้แต่งฑูตเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีกับไทย ในปี พ.ศ.๒๐๖๑ ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ แห่งกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระรามาธิบดีพระองค์นั้นได้ทรงอนุญาตให้ชาวโปรตุเกสเข้ามาทำการค้าขาย กรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระรามาธิบดีพระองค์นั้น ได้ทรงอนุญาตให้ชาวโปรตุเกสเข้ามาทำการค้าขายในเมืองไทย อันนับเป็นฝรั่งชาติแรกที่ได้เข้ามาค้าขายกับไทยโดยทางเรือและทำการค้าขายใน ๕ เมือง คือ ที่กรุงศรีอยุธยา นครศรีธรรมราช ปัตตานี และเมืองมะริด นอกจากการค้าขายแล้ว ชาวโปรตุเกสบางพวกยังได้เผยแพร่ขนบธรรมเนียมของเขาไว้หลายอย่าง เช่น การคิดตลาดนัด การทำเครื่องถม และการชนวัวรวมอยู่ด้วย

ในระยะแรกของการชนวัวนั้น เชื่อว่าคงเอาวัวมาชนกันเล่น เพื่อความสนุกสนานเพียงอย่างเดียว แต่ต่อมาได้มีการพนันขันต่อกันด้วยตามวิสัยของมนุษยชาติ กีฬาชนวัวจึงได้กลายมาเป็นการพนันประเภทหนึ่งขึ้นด้วยเหตุนี้ เมื่อเป็นกีฬาที่มีการพนันแทรกเข้ามาโดยมีการได้เสียกันเป็นเงินเรือนหมื่นเรือนแสนทางราชการก็จำเป็นต้องเข้าไปควบคุมการเล่นประเภทนี้ให้เป็นไปตามกฎหมายของบ้านเมืองเพื่อป้องกันมิให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยใด ๆ ขึ้น โดยจัดให้มีบ่อนชนวัวที่ถูกต้องตามกฎหมาย เรียกว่า “สนามชนโค” (โดยทางราชการได้กำหนดให้ขออนุญาตในการตั้งบ่อน และขออนุญาตทุกครั้งที่จะจัดให้มีการชนวัว) หรือเรียกกันอย่างสามัญว่า “บ่อนชนวัว” หรือ “บ่อนวัวชน” และเพื่อขจัดความอยุติธรรมต่าง ๆ ที่จะ เกิดขึ้นกับกีฬาชนโคดังกล่าว ทางสนามชนโคจึงได้จัดทำกติกาสำหรับกีฬานี้โดยตรงขึ้น  โดยให้ใช้เหมือน ๆ กันเกือบทุกแห่งในเวลาต่อมา

การชนวัว มักจัดให้มีขึ้นในงานเทศกาลต่าง ๆ เช่น งานเทศกาลสารทเดือนสิบที่จังหวัดนครศรีธรรมราช งานฉลองรัฐธรรมนูญเดิม หรืองานเฉลิมพระชนมพรรษาในปัจจุบันที่จังหวัดตรัง เป็นต้น ในช่วงปกติจะชนได้เดือนละ ๑ ครั้งเท่านั้น โดยกำหนดให้ชนได้ในวันเสาร์หรือวันอาทิตย์หนึ่งใดของเดือน แต่ถ้าวันเสาร์ใด วันอาทิตย์ใดตรงกับวันธรรมสวนะหรือวันพระก็ต้องเลื่อนไปชนกันในวันเสาร์อื่นอาทิตย์อื่น ในปัจจุบันจังหวัดต่าง ๆ ในภาคใต้ที่นิยมกีฬาประเภทนี้กันมาก คือ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ตรัง สงขลา พัทลุง ปัตตานี ยะลา สตูล นราธิวาส ในบางอำเภอของจังหวัดกระบี่และที่อำเภอบ้านนาสารจังหวัดสุราษฎร์ธานี ขณะนี้กีฬาชนวัวยังได้แพร่หลายขึ้นไปทางจังหวัดภาคเหนือบางจังหวัด คือ จังหวัดกำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก แต่ก็ไม่นิยมกันจริงจังเหมือนในจังหวัดภาคใต้

การชนวัวในจังหวัดภาคใต้นั้นส่วนมากจะไม่จัดให้ตรงกัน คือหมุนเวียนกันชนในจังหวัด หรืออำเภอที่ใกล้ ๆ กัน เช่น บ่อนหนึ่งชนวันเสาร์ อีกบ่อนหนึ่งชนวันอาทิตย์หรืออาจจะทำการชนกันคนละสัปดาห์ของเดือนหนึ่ง ๆ ก็มี ทั้งนี้เพื่อให้นักเลงชนวัวได้มีโอกาสได้เล่นพนันกันอย่างทั่วถึง อันเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้นักเลงชนวัวในจังหวัดภาคใต้ได้รู้จักและคุ้นเคยกันเป็นส่วนมาก

วัวที่ใช้ชนหรือทำเป็นวัวชนนั้นต้องเป็นพันธุ์วัวชนโดยเฉพาะถึงจะดี วัวใช้งานธรรมดาหรือวัวเนื้อไม่ค่อยจะนิยมใช้เป็นวัวชนกันนัก วัวชนต้องเป็นวัวตัวผู้ อายุระหว่าง ๔-๖ ปี ซึ่งเรียกว่า “ถึก” อันเป็นระยะเวลาของอายุที่ทำการชนได้ ถ้าไม่แพ้หลายครั้งหรือเสียวัวเสียก่อนก็อาจจะชนได้ถึงอายุ ๑๔-๑๕ ปี แต่ในระยะอายุ ๑๔-๑๕ ปี ดังกล่าววัวจะเริ่มแก่แล้วก็ต้องเลิกชนไปในที่สุด

วัวชนที่ดีต้องมีคุณสมบัติบางอย่างในการต่อสู้ คือ ต้องมีน้ำใจทรหดอดทน มีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์หลายอย่างตามความเชื่อ เท่าที่มีผู้กล่าวไว้ในอดีต ถ้าจะประมวลมากล่าวเฉพาะที่สำคัญได้ดังนี้

ตาม “ตำราดูลักษณะโค” ซึ่งนายพร้อม  รัตโนภาศ เป็นผู้รวบรวมจากหนังสือบุด หรือสมุดข่อย ที่พบในจังหวัดนครศรีธรรมราช และได้ลงพิมพ์ในหนังสืองานประจำปีนครศรีธรรมราช เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ กล่าวถึงลักษณะของวัวทั่วไปและลักษณะของวัวชนไว้ว่า วัวหรือโคจะดีจะชั่วจะเป็นโภคทรัพย์ สิริมงคลหรืออัปรีย์จัญไร ท่านโบราณาจารย์กล่าวว่า มีลักษณะที่จะพึงสังเกตได้อยู่ ๓ ประการคือ

๑.  ขวัญ

๒.  สีหรือชาติพันธุ์

๓.  เขา

ขวัญ

ลักษณะของขวัญที่เป็นอยู่ตามตัววัวนั้นท่านบรรยายไว้ดังนี้ คือ

๑)  ขวัญที่เรียกว่า “ขวัญเดิม” คือเป็นอยู่ตรงหน้าผาก ขวัญนี้ไม่ดีไม่ชั่ว

๒)  ขวัญที่เรียกว่า “สูบสมุทร” นั้นอยู่เบื้องบนและตรงกับจมูก (แต่ไม่ถึงหน้าผาก) ขวัญนี้ท่านว่าร้ายนัก วัวตัวใดมีขวัญชนิดนี้ท่านห้ามมิให้เลี้ยงรักษา จะนำความเดือดร้อนมาให้

๓)  ขวัญที่อยู่ตรงขากรรไกรนั้นดีควรเลี้ยงไว้

นอกจากนี้ยังมีวัวสีอื่น ๆ อีกที่จัดอยู่ในจำพวกสีดำได้แก่

“สีหมอก” หรือ “สีขี้เมฆ” คือ สีเทาที่ค่อนไปทางขาว

“สีเขียว”หรือ “กะเลียว” เป็นสีเขียวอมดำ เช่น วัวเขียวไฟแห่งอำเภอปากพนังในอดีตเป็นสีวัวที่หายากอย่างหนึ่ง

ชาติวัวโหนดหัวแดง เป็นวัวที่มีสีตัวดังนี้คือ มีสีแดง (น้ำตาลปนแดงหรือสีเหลือง) ที่หน้าผากหรือที่เรียกว่า “หน้าหัว” คอสีดำ กลางตัวแดงเหมือนสีที่หน้าผาก ส่วนที่ท่อนท้ายของลำตัวเป็นสีดำ

วัวโหนดหัวแดงนี้ตามตำรากล่าวไว้ว่าชนะวัวบิณฑ์น้ำข้าว

วัวโหนดที่นิยมเป็นวัวชน ได้แก่

“โหนดร่องมด” คือร่องกลางหลังมีสีแดงหรือเหลืองดังทางเดินหรือแถวของมดคันไฟ

“โหนดคอหม้อ” บางทีเรียกว่า “คอหม้อ” หรือ “คอดำ” คือหัวดำ คอดำ กลางตัวสีน้ำตาลไหม้ ส่วนท้ายของลำตัวสีดำ ที่เรียกว่า  “คอหม้อ” เพราะที่คอสีดำเหมือนดินหม้อนั่นเอง

“โหนดหัวดำ” สีตัวส่วนอื่น ๆ เหมือนโหนดหัวแดง เว้นเฉพาะที่หน้าผากเป็นสีดำ

สีโหนด เป็นสีของวัวสีหนึ่งที่มีในภาคใต้ โดยเรียกสีชนิดนี้จากการเทียบกับสีของลูกตาลโหนดคลุกนั่นเอง

อนึ่ง  วัวสีโหนดตัวใดที่มีข้อเท้าขาวทั้งสี่เท้าบางคนก็จะเรียกว่า “สีลางสาด” อีกสีหนึ่งก็เรียก

ชาติวัวบิณฑ์น้ำข้าว เป็นวัวสีขาวดุจสีน้ำข้าวหรือสีสังข์

วัวสีบิณฑ์น้ำข้าวนี้ท่านว่าชนะวัวสีแดง

วัวสีขาวมีหลายชนิด แต่ที่นิยมเป็นวัวชนได้แก่ วัวสีบิณฑ์น้ำข้าวดังกล่าวแล้ว นอกจากนั้นก็มีสีขาวชนิดอื่น ๆ เช่น

“ขาวลางสาด” คือสีขาวที่เหมือนสีเปลือกผลลางสาดทั้งตัว หรืออาจจะมีสีขาวเฉพาะตรงกลางแล้ว ส่วนที่หัว คอ และส่วนท้ายสีดำก็เรียก “ลางสาด” เช่นกัน

ฉะนั้น “วัวสีลางสาด” หรือ “วัวลางสาด” มี ๓ จำพวก คือ

(๑)  มีสีขาวเหมือนสีเปลือกผลลางสาดทั้งตัว

(๒)  มีสีขาวเหมือนสีเปลือกผลลางสาดเฉพาะกลางตัว ส่วนที่หัว คอ และส่วนท้ายดำหมด

(๓)  วัวสีโหนดทุกชนิดที่มีสีตรงข้อเท้าลงมาเป็นสีขาวหมดทั้งสี่เท้า ส่วนวัวสีขาวบางชนิดที่ตำราห้ามมิให้ใช้เป็นวัวชน คือ “ขาวชี” หรือ “ขาวเผือก” คือวัวที่มีสีตัวเป็นสีขาวใส

ชาติวัวแดงหงส์ เป็นวัวสีแดงสะอาด คือแดงไม่เข้มหรือไม่จางจนเกินไป วัวตัวนี้จึงสีแดงตลอดทั้งตัว แม้แต่สีเขาและเล็บก็เป็นสีแดง

วัวสีแดงชนิดอื่น ๆ ที่นิยมรองลงมา ได้แก่

“แดงไฟ” คือสีแดงเหมือนเปลวเพลิง แดงเข้มกว่าแดงหงส์เล็กน้อย

“แดงพังพอน” คือสีแดงอย่างสีพังพอน

“แดงลั่นดา” คือสีแดง เหมือนสีกุ้งแห้งหรือสีออกแดงจัดจนเป็นกำมะหยี่ แต่จมูกขาวหรือลาย

กล่าวกันว่า วัวสีแดงลั่นดา ชนเดิมพันมากแล้วมักจะไม่ชนะคู่ต่อสู้ แต่ถ้าชนเดิมพันน้อยก็แพ้ยาก ฉะนั้นจึงมีคำกล่าวในหมู่นักเลงชนวัวเป็นทำนองเตือนใจเอาไว้ว่า “วัวลั่นดา ปลาโดงแดง อย่าแทงมาก” แต่ถ้าเป็นวัวสีแดงลั่นตาหางดอก (ขนหางสีขาวหรือสีขาวแซมสีอื่น) ที่เรียกตามภาษานักเลงชนวัวว่า “ผ้าร้ายห่อทอง” กลับเป็นวัวที่มีลักษณะดีอย่างหนึ่งเสียด้วยซ้ำไป

อนึ่ง วัวชนที่มีลักษณะไม่ดี เช่น หางสั้นมากจนผิดปกติ หรือหางยาวมากจนเกินไป ๑ เขากางมาก ๑ เป็นวัวหลังโกง ๑ เหล่านี้ล้วนเป็นลักษณะที่ไม่ดีทั้งสิ้น แต่ถ้าทั้ง ๓ ลักษณะดังกล่าวมารวมอยู่ในวัวตัวเดียวกัน คือ “เขากาง หางเกิน และหลังโกง” ก็กลับถือว่าเป็นลักษณะที่ดีอย่างหนึ่งไป เช่น วัวแดงไพรวัลย์ วัวชนที่มีชื่อเสียงลือนามในอดีตก็มีลักษณะเช่นนี้เหมือนกัน ในภาษาถิ่นใต้ที่ออกชื่อว่า “ลั่นดา” หรือ ลันดา” มีอยู่ ๓ ชื่อคือ

–         ของใช้คือเลื่อยชนิดหนึ่งเรียกว่า “เลื่อยลั่นตา”

–         พืชคือกล้วยชนิดหนึ่งเรียกว่า “กล้วยลั่นดา” บางท้องถิ่นเรียกว่า “กล้วยกุ้ง” ก็เรียก

–         สัตว์คือวัวที่สีแดงดังกล่าวเรียกว่า “วัวลั่นดา”

สำหรับข้อแรกคนปักษ์ใต้เข้าใจเอาว่า เลื่อยชนิดนี้คงเป็นของชาติวิลันดาหรือฮอลันดามาก่อน ส่วยอย่างหลังทั้งสองชื่อเข้าใจว่าคงจะเรียกชื่อตามสีผิวของคนฝรั่งชาติวิลันดาที่คนปักษ์ใต้พบเห็นมาแต่ก่อนก็ได้

สำหรับ “วัวลาย” แม้ในตำราห้าม แต่ถ้ามีลักษณะอื่น ๆ ดีก็อาจจะเป็นวัวชนที่ดีได้เหมือนกัน ฉะนั้นปัจจุบันจึงมีวัวลายที่ใช้เป็นวัวชนอยู่เหมือนกัน สีลาย หรือ ลาย หมายถึงสีที่ตามลำตัวหรือส่วนอื่น ๆ จะเป็นสีอะไรก็ได้ แต่ต้องมีสีขาวปน จึงจะเรียกว่า “ลาย”

นอกจากนั้นก็มีลักษณะสีพิเศษอย่างอื่นอีก เช่น “หน้าโพธิ์” “หน้าจุด” (บางทีเรียกว่า “หัวกัว” คือ หัวมีจุดคล้ายหัวปลาหัวตะกั่ว) “หน้าปิ้ง” (คือหน้าโพธิ์นั่นเอง แต่เป็นหน้าโพธิ์ที่ไม่อยู่ในความนิยม คือ เป็นรูปสามเหลี่ยมฐานขึ้นหรือเอายอดลงล่างคล้ายจะปิ้ง) ส่วนหน้าโพธิ์ที่อยู่ในความนิยมนั้นมักจะเอายอดเหลี่ยมขึ้นข้างบน ซึ่งเป็นลักษณะสีที่หายากมาก และเป็นส่วนหนึ่งของลักษณะของวัวชาติศุภราช ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

“แซม” หมายถึง มีขนสีขาวแซมขนสีอื่น ๆ ที่เป็นพื้นสี ส่วนมากพื้นสีมักจะเป็นสีดำหรือนิล เรียกว่า นิลแซม เช่น วัวนิลแซมใจสิงห์ ของนายอรุณ  สุไหง-โกลก

“ดาว”  หมายถึงมีขนสีขาวเป็นจุด ๆ ประอยู่ตามตัว ส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งตัวของวัวที่มีพื้นสีขนเป็นสีอื่น แต่ส่วนมากมักเป็นสีแดง เช่น วัวดาวประกายของนายบ่าว บ้านทานพอ เป็นต้น

“ดอก” หมายถึงวัวหางดอก คือวัวที่มีสีขนหางขาวหรือสีขนหางขาวแซมสีอื่น ส่วนสีตัววัวนั้นจะเป็นสีอะไรก็ได้ บางทีเป็นสีนิล สีโหนด ฯลฯ เช่น วัวโหนดดอกอาฆาต ของนายวิศิษฐ์  ฉวาง เป็นต้น

“เขาวง” มีลักษณะโค้งเข้าหากันเป็นวง

“เขาโนรา” มีลักษณะคล้ายเขาวงแต่เขายกขึ้นสูงจากหัวตั้งแต่โคนเขาจนถึงปลายเขาเหมือนแขนของมโนราห์เมื่อยามรำท่าเขาควาย

“เขากุบ”  มีลักษณะคล้ายเขารอมแต่ปลายเขาหุบงอเข้าหากันมากกว่าเขารอม

“เขาพรก”  มีลักษณะคล้ายเขากุบแต่เขาสั้นกว่าเขากุบ ปลายเขาหรือยอดหุบเข้าหากันมากกว่าเขากุบ

“เขากาง”  มีลักษณะเขาถ่างออกจากกัน

“เขาแบะ”  มีลักษณะเขาถ่างออกจากกันมากจนปลายเขาอยู่กันคนละด้าน

“เขาตรง” หรือ “เขาแทง”  มีลักษณะพุ่งตรงไปข้างหน้า

“เขาบิด”  มีลักษณะคล้ายเขาวงแต่ปลายเขาข้างใดข้างหนึ่งบิดเบี้ยวขึ้นบนหรือลงต่ำเล็กน้อย

“เขาแจ๊ง”  มีลักษณะเขาเล็ก สั้น แต่ปลายเขาแหลม

“เขาหลั้ว”  มีลักษณะโคนเขาใหญ่แต่สั้น และปลายไม่แหลม วัวที่มีเขาชนิดนี้ บางท้องถิ่น เรียกว่า “วัวหัวหลั้ว” ก็เรียก

“เขาหลุบ”  มีลักษณะเขาสั้นมากคล้าย ๆ เขาหลั้ว คือยาวไม่เกินนิ้วชี้

“เขาแห็ก”  คือมีลักษณะเขางามข้างหนึ่งอีกข้างหนึ่งจะเป็นเขาแบะหรือเขาห้อยลงมา

ลักษณะของเขาวัวนี้สามารถบ่งบอกถึงวิธีการชนของวัวแต่ละตัวได้ เว้นแต่วัวตัวนั้นจะไม่ใช้ยอดหรือเขา ให้เป็นไปในทางที่ถูกต้อง เรียกว่า “ชนไม่สมยอด” คืออาจจะเลวหรือดีกว่าที่คาดหมายไว้ก็ได้ เช่น วัวที่มีลักษณะเขาเป็น “เขาตรง” หรือ “เขาแทง” แต่ไม่แทง “เขาบิด” แต่ไม่บิด “เขาวง” หรือ “เขารอม” แต่ไม่จับ อย่างนี้เรียกว่าชนไม่สมยอด เป็นต้น

วัวที่มีเขายาวแลดูสวยงามและน่ากลัวหรือน่าหวาดเสียวในขณะเดียวกัน ได้แก่ เขาวง เขารอม เขากุบ หรือเขาแทง เหล่านี้ บางทีเรียกว่า “เขารก” ก็เรียก โดยเฉพาะ “เขาวง” นั้นสามารถใช้ปลายเขาแทงเข้าตา เข้าหูคู่ต่อสู้ได้ง่าย หรือเพียงแต่ตั้งรับเฉย ๆ คุ่ต่อสู้ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ส่วนที่ว่าวัวเขาชนิดไหน ควรจะใช้ชนกับวัวที่มีเขาชนิดไหน หรือวัวที่มีชั้นเชิงอย่างไรนั้น เจ้าของวัวและนักเลงวัวชนจะต้องศึกษาวิธีการชนให้จงดี และจะต้องเคยเห็นวิธีการชนของวัวแต่ละตัวมาแล้ว เช่น วัวเขาวง หรือเขารอม มักจะได้เปรียบคู่ต่อสู้ที่มีชั้นเชิงการชนเกือบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น วัวแทง วัวทุบ วัวดอก หรือวัวฟัน แต่จะเสียเปรียบ วัวขี่ หรือ “วัวเหง” อย่างเดียวเท่านั้น

ลักษณะทั่ว ๆ ไปของวัวชน

วัวชนที่ดีต้องมีลักษณะ ดังต่อไปนี้

๑)  คร่อมอกใหญ่ ให้หาคร่อมอกใหญ่ ๆ อย่างคร่อมอกเสือถึงจะดีมีดำลังมาก

๒)  ท้องใหญ่ มีกำลังมากชนได้นานกว่าวัวท้องเล็ก

๓)  กระดูกใหญ่ เช่น กระดูกเท้าใหญ่เหมือนควายจะดีมาก

๔)  คอยาวใหญ่ จะเป็นวัวที่แข็งแรงและแก้เพลียงได้ดีกว่าและเร็วกว่าวัวคอสั้น แต่คอยาวเหมือนคอกวางก็ไม่ดี

๕)  หนอก  หรือโหนก รูปก้อนเส้าถึงจะดี ถ้าแบนเป็นใบพัดไม่ดี

๖)  เขา  ให้หาเขาใหญ่ ๆ ถึงจะดีและถ้ามีขนงอกปิดโคนเขาก็จะดีมาก

๗)  หน้าหัวแคบ คือระหว่างเขาแคบถึงจะดี เพราะถ้าหน้าหัวแถบส่วนมากจะเขาใหญ่

๘)  คิ้ว  ให้หาคิ้วหนานัยน์ตาไม่ถลนถึงจะดี

๙)  ตาเล็ก ดี

๑๐) ใบหูเล็ก ให้หาที่ใบหูเล็กเหมือนหูม้าถึงจะดีและถ้ามีขนในหูมากก็ยิ่งดี

๑๑) หน้าตาคมคายเกลี้ยงเกลา ถึงจะดี

๑๒) หน้าผาก หรือหน้าหัวถ้ามีขนมาก หรือขนรกถึงจะดี

๑๓) ข้อเท้า ให้เลือกหาข้อเท้าสั้น ๆ จะดีมาก ถ้าข้อเท้ายาวไม่ดี

๑๔) เล็บ ให้เลือกหาเล็บใหญ่ที่เรียกว่า “เล็บพรก” (เล็บคล้ายกะลามะพร้าวคว่ำ) ถึงจะดี เล็บยาว หรือเล็บตรงไม่ดี

๑๕) ให้เอาที่หางเล็กเรียวจะดีมาก ถ้าหางใหญ่ไม่ดี แต่โคนหางใหญ่ดี

๑๖) ขนหาง ให้หาขนหางเล็ก ๆ เหมือนเส้นด้าย เส้นไหมและถ้าขนหางบิดนิด ๆ จะดีมาก ขนหางยาวถึงน่องไม่ดี ขนหางหยาบ หรือขนหางเป็นพวงหงิกงอที่เรียกว่า “หางโพ่ย”ไม่ดี

๑๗) อัณฑะ  ให้หาที่มีลูกอัณฑะเล็ก และปลายอัณฑะบิดนิด ๆ หรือยานตวัดไปข้างหน้าจะดีเลิศ ยิ่งถ้ามีลูกอัณฑะเพียงลูกเดียวก็ยิ่งดีเลิศ เรียกว่า “อ้ายหน่วย” หรือ “ทองแดง” เป็นวัวที่หายาก

๑๘) ลึงค์ ให้หาที่ลึงค์ยาว ๆ ใหญ่ ๆ ถึงจะดี ถ้าลำลึงค์ยาวตั้งแต่ลูกอัณฑะ จนถึงกลางท้องแสดงถึงการมีพลังมาก ถ้ามีขนที่ปากลำลึงค์ดกมาก แสดงถึงความมีใจสู้ไม่ค่อยยอมแพ้คู่ต่อสู้ง่าย ๆ

๑๙) ขน  ให้หาที่ขนละเอียด เลี่ยน จึงจะดี ถ้าขนแห้ง คือไม่เป็นมันก็จะดีมาก (สำหรับข้อนี้ยกเว้นเฉพาะวัวนิลเพชรเท่านั้น เพราะวัวนิลเพชรจะมีขนดำเป็นมันหรือขนเปียก)

ลำเลิกอดีต:สถานที่ในอดีต


ยักษ์วัดแจ้ง แร้งวัดสระเกษ เปรตวัดสุทัศน์

ประตูที่ดังคู่กับประตูสามยอดคือประตูสำราญราษฎร์ แต่ปากชาวบ้านเรียกกันว่า “ประตูผี” เพราะเป็นทางที่เอาศพออกไปวัดสระเกษ และถนนบำรุงเมืองคือถนนสายที่ออกประตูนี้ก็พลอยเรียก “ถนนประตูผี” กันไปด้วย

แต่ก่อนนี้วัดในเมืองเผาผีไม่ได้ ถึงเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่มี เพราะฉะนั้นใครจะว่าคูเมืองอยู่ที่ไหนนอกจากดูกำแพงเมืองแล้วดูวัดเอาก็ได้ ถ้าวัดอยู่ในกำแพงเมืองแล้วจะไม่มีเมรุเผาศพ

บรรดาคนทั้งหลายที่ตายกันในเมืองต้องเอาศพออกไปเผานอกเมืองทั้งนั้น และส่วนมาก็วัดสระเกษ จนวัดสระเกษมีชื่อในเรื่องแร้งชุม

เมรุเผาศพแต่ก่อนนี้ไม่ได้ทันสมัยอย่างเดี๋ยวนี้ เป็นเพียงตะแกรงเหล็กแล้วเอาไฟใส่ข้างใต้เท่านั้น การจะเผาก็ต้องแล่เอาเนื้อออกเสียก่อน แล้วเอากระดูกห่อผ้าขึ้นตั้งบนตะแกรง ถ้ายกขึ้นตั้งกันสด ๆ ก็มีหวังไฟดับ

และเมื่อแล่แล้วจะเอาเนื้อไปไว้ไหนล่ะ แร้งรออยู่เป็นฝูง ๆ จะมัดไปฝังให้เสียแรงเสียเวลาทำไม ก็เฉือนแล้วก็เหวี่ยงให้แร้ง ไปทีละก้อนสองก้อน ฉะนั้นจะหาแร้งที่ไหนขึ้นชื่อลือชาเท่าวัดสระเกษเป็นไม่มี

มีคำพูดคล้องจองกันอยู่ ๓ ประโยคว่า “ยักษ์วัดแจ้ง-แร้งวัดสระเกษ-เปรตวัดสุทัศน์”

ยักษ์วัดแจ้งนั้นก็รู้ละว่าเป็นยักษ์หิน แร้งวัดสระเกษก็ได้เห็นละจากกรณีนี้ แต่เปรตวัดสุทัศน์นี่ยังไม่ประประจักษ์ เพราะวัดสุทัศน์เองก็ไม่ได้มีเมรุเผาผี แต่มีเสียงว่ากันว่า เนื่องพราหมณ์โล้ชิงช้าตกมาตาย และว่ากันว่าวันดีคืนดีคนแถวนั้นจะได้ยินเสียงเปรตร้องเป็นการขอส่วนบุญ ไม่รู้ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องหลอกกันเล่นเพื่อให้คนทำบุญ ได้พยายามอ่านจดหมายเหตุเก่า ๆ ก็ไม่เคยพบกล่าวถึงว่าเคยมีพราหมณ์โล้ชิ้งช้าตกมาตาย

หัวเม็ด สะพานหัน

เลี้ยวขวาจากสามยอดมาก็เป็นย่านวังบูรพาภิรมณ์ เมื่อ ๓๐ ปีก่อนที่ยังไม่ศูนย์การค้านั้น ตรงนี้กลิ่นแรงชะมัด เพราะตอนกลางคืนอัตคัดไฟ ใครไปธุระแถวนั้นพอมีทุกข์เบาก็หันเข้าไปปลดเปลื้อง

สะพานหัน เมื่อก่อนท่านว่าเป็นสะพานไม้หันได้

ก็ต้องแน่ละ เพราะเมื่อก่อนนี้คลองเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญ เรือแพนาวาผ่านไปผ่านมาทั้งวัน ถ้าจะทำสะพานก็ต้องทำให้สูง เพื่อให้เรือลอดได้ ถ้าเตี้ยก็ต้องหันหรือหกได้ เพื่อให้เรือผ่าน

แต่สะพานหันนี้ได้ยินว่ามีตัวอาคารคร่อมสะพานด้วย ได้ยินว่ามาสองปากแล้ว เห็นจะพอเชื่อถือได้

ข้ามสะพานหันไป ตรงทางจะข้ามถนนจักรวรรดิไปฝั่งโน้น ได้ยินท่านบอกว่ามีเสาหัวเม็ดทรงมัณพ์ปักอยู่ แต่ไม่ได้ซักท่านว่ามีไว้ทำไม จึงเรียกที่ตรงนั้นว่า “หัวเม็ด”

สำเพ็งอยู่ที่ไหน?

ถ้าเราจะดูพระราชพงศาวดารตอนสร้างกรุงจะพบข้อความว่า “พระราชวังใหม่ให้ตั้งในที่ ซึ่งพระยาราชาเศรษฐีและพวกจีนอาศัยตั้งบ้านเรือนอยู่แต่ก่อน โปรดให้พระยาราชาเศรษฐีและพวกจีนย้ายไปตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ ที่สวน ตั้งแต่คลองวัดสามปลื้มไปจนถึงคลองวัดสามเพ็ง”

วัดสามปลื้มนั้นเราก็รู้กันแล้วคือ วัดจักรวรรดิ แต่วัดสามเพ็งล่ะ ก็คือวัดประทุมคงคาปัจจุบัน โน่นอยู่หัวลำโพงโน่น

ว่าที่จริงแล้วย่านสำเพ็งน่าจะอยู่แถว ๆวัดประทุมคงคา วัดเกาะ หรืออย่างจะลาม ๆ มาก็ไม่ควรเกินวัดสามปลื้ม แต่ก็กินมาจนยันสะพานหัน

ถนนสายสะพานหันไปยันวัดเกาะนั้นแต่ก่อนเรียกกันถนนสำเพ็ง แต่เดี๋ยวนี้ทาง กทม.ท่านเปลี่ยนเป็นถนนวาณิชไปเสียแล้ว ฉะนั้นถ้าใครไปอ่านหนังสือเก่า ๆ เป็นต้นว่าทำเนียบนาม พบความว่า “ราชวงศ ถนนจดลำน้ำเจ้าพระยาผ่าน “ถนนสำเพ็ง…” ก็อย่าไปงง ก็คือถนนวาณิช ปัจจุบันนี่เอง

สำเพ็งมีอะไร?

สินค้าในสำเพ็งแต่ก่อนนี้ นอกจากของกินของใช้ของคนจีนแล้วสิ่งที่จะขาดเสียมิได้ก็คือสำนักอย่างว่าสุนทรภู่ท่านบอกไว้ในนิราสเมืองแกลงว่า

“ถึงสำเพ็งเก๋งตั้งริมฝั่งน้ำ

แพประจำจอดเรียงเคียงขนาน

มีซุ้มซอกตรอกนางจ้างประจาน

ยังสำราญร้องขับไม่หลับลง”

ตรอก “นางจ้าง” หรือที่ชาวอีสานเรียก “แม่จ้าง” ของสุนทรภู่นี้ไม่ทราบว่าอยู่ตรงไหน หรือจะเป็นที่ที่นายมีหมื่นพรหมสมพัตสรแกว่าไว้ในนิราสเดือนว่า

“ที่เต็มอัดกลัดมันกลั้นไม่หยุด

ก็รีบรุดเร็วลัดไปวัดเกาะ”

สำนักหลังวัดเกาะนี้ดังมาก ยังมีชื่อเป็นอนุสรณ์อยู่จนบัดนี้ นั้นก็คือ “ตรอกน่ำแช”

น่ำแช แปลว่า โคมเขียว แต่ก่อนนี้สำนักโสเภณีตั้งแขวนโคมเขียวไว้หน้าสำนัก เป็นสำนักของคนจีน สินค้าก็เป็นจีนล้วน ๆ เรียกว่า “เพื่อคนจีนโดยคนจีน” อายุแค่ 10-12 เท่านั้น รับแต่คนจน คนไทยไม่รับ เพราะนิสัยคนไทยชอบบรรเลงเพลงเถา กว่าจะออกลูกหมดหางเครื่องได้แต่ละเพลงละแหม เอื้อนอยู่นั่นแล้วสู้คนจีนไม่ได้มีแต่เพลง ๒ ชั้น ชั้นเดียว หรือบางทีก็มีแต่ชั้นเดียวออกออกลูกหมดเลย

คนไทยที่จะเข้าไปได้ก็ต้องเป็นผู้มีบรรดาศักดิ์ และคนจีนที่เจ้าสำนักรู้จักพาไป แต่ราคาที่นี่แพงกว่าที่อื่น อย่างที่อื่นสองสลึง ที่นี่ต้องหกสลึง

คำที่ว่า “เดี๋ยวจับนมเดี๋ยวดมหน้าหกสลึงแอ็คหกท่า” ไปจากที่นี่ แสดงถึงความเป็นเจ้าบทบาทของพี่ไทยเรา

เคยถามว่า อายุ ๑๑-๑๒ เท่านั้นน่ะจะรับแขกไหวหรือ

“ไหวซี ก็แม่เล้ามันเอาผิวไม้ไผ่เข้าไปถ่างอยู่ทุกวัน ๆ “

ผู้ตอบคำถามนี้คือตาแบน บ้านพระยาสีหราชฤทธิไกร คือก่อนที่จะเอามาหาเงินนั้น เจ้าสำนักเขาจะเอาไม้ไผ่เหลาขี้ออกให้เหลือแต่ผิวและไม่ให้มีคม แล้วก็โค้งเอาเข้าสอดช่องคลอดไว้ให้ไม้ไผ่มันค่อย ๆ ถ่างออกมาทีละน้อย ๆ และทำอยู่เป็นเดือน ๆ

นี่เป็นวิธีการของคนจีนเขา

นอกจากนั้นสิ่งที่สำเพ็งมีพิเศษกว่าที่อื่นก็คือ ไส้หู้ คือช่างโกนหัว

คนจีนแต่ก่อนนั้นไว้เปียกัน และรอบ ๆ เปียจะต้องโกน ฉะนั้นจึงต้องมีคนรับจ้างโกนผม

มีดโกนของไส้หู้นั้นว่ากันว่าคมนัก ขนาดเส้นผมตกลงมากระทบยังขาด คำบอกเล่านี้เป็นของพระถมหรือหลวงตาแดงจำไม่ได้แน่ เพราะท่านนั่งคุยกันเป็นกลุ่ม

สำเพ็งแปลว่าอะไร?

จากพระราชพงศาวดารที่คัดมาข้างต้นนั้นจะเห็นว่า สำเพ็ง นั้นเดิมเขาคือ สามเพ็ง แต่ภายหลังเราเรียกกันเร็ว ๆ เสียงสามก็เลยหดสั้นเข้ามาเป็นสำ เหมือนอย่างถนนซังฮี้ เดิมก็เป็น ซางฮี้ แล้วหดมาเป็น ซังฮี้ แต่ปัจจุบันเปลี่ยเป็นราชวิถี

“สาม” คำนี้จะเป็นจำนวน ๓ ใช่หรือเปล่าข้าพเจ้าไม่แน่ใจ ในกลุ่มนี้มี ๓ สาม คือสามปลื้ม สามเพ็ง สามจีน แต่วัดสามจีนก็เปลี่ยนเป็นไตรมิตรไปแล้ว จะเป็นเพราะความเมาความหรือเปล่าไม่ทราบ ถ้าสามจีนหมายถึง จีน ๓ คนช่วยกันสร้าง ก็ถ้ายังงั้นสามปลื้มและสามเพ็งล่ะ ตาเพ็ง ๓ คน และยายปลื้ม ๓ คนยังงั้นรึ

ถ้าวัดสามพระยาละก็ใช่ เพราะพระยา ๓ ท่านช่วยกันสร้าง คือ พระยาเทพอรชุน พระยายมราช และพระยานครไชยศรี

สามแยกต้นประดู่

ถัดจากน่ำแชไปนิดก็สามแยกต้นประดู่ เคยมีนักจัดรายการของกรมประชาสัมพันธ์ท่านหนึ่งเอาหนังสือเรื่องความรู้ต่าง ๆ ของพระยาอนุมานราชธนมาอ่าน ในหนังสือเล่มนั้นท่านเอ่ยถึง “สามแยกต้นประดู่” ผู้จัดรายการก็สันนิษฐานทีเดียว “ต้นประดู่คงจะเรียงราย…”

ผมขอแก้อรรถให้เสียเลยว่า มีต้นเดียวครับ แต่เป็นต้นใหญ่ อยู่ตรงที่ที่เป็นธนาคารเอเซียอยู่ในปัจจุบันนั้นแหละ แล้วตรงเบื้องหน้าธนาคารมาทางซ้าย คือตรงปากตรอกโรงหนังเฉลิมบุรีนั่นน่ะ มีร้านลอดช่องสิงคโปร์อยู่ร้านหนึ่ง ชื่อสิงคโปร์ ขายมานมนาน กินกันมาตั้งแต่เด็กตั้งแต่แก้วละ ๓ สตางค์จนเดี๋ยวนี้ ๓ บาทแล้วมัง ก็ยังขายอยู่ เป็นต้น ตำหรับของลอดช่องสิงคโปร์ ก่อนที่จะระบาดไปตามหาบเร่และรถเข็น

หัวลำโพงวิทยุ

ไหน ๆ ก็ได้เหยียบย่างเข้ามาในย่านหัวลำโพงแล้วก็ฝอยเรื่องหัวลำโพงสักหน่อย

ว่ากันมาว่าสถานีรถไฟและบริเวณรอบ ๆ นั้น แต่ก่อนเป็นทุ่ง เรียก “ทุ่งวัวลำพอง” แล้วเจ๊กลากรถ พูดไทยไม่ชัด เรียกว่าวัวลำพองเพี้ยนเป็นหัวลำโพง ก็เลยกลายเป็น “หัวลำโพง” ไป

อีนี่เห็นจะเป็นความจริง เพราะเคยพบในจดหมายเหตุจำไม่ได้ว่าชื่อหนังสืออะไร กล่าวว่าในสมัยก่อนใช้ทุ่งวัวลำพองเป็นที่หัดทหาร และในทำเนียบนามภาค ๔ ก็กล่าวว่า ถนนสุรวงษ์ซึ่งพระยาสีหราชเดโชไชยสร้างนั้น ตั้งแต่ถนนเจริญกรุงมาจรดคลองวัวลำพอง

คลองวัวลำพองนั้นก็คือคลองที่เริ่มต้นแต่คลองผดุงกรุงเกษมตรงข้างสะพานเคียงขนานกันไปกับถนนพระรามที่ ๔ โดยมีทางรถไฟสายปากน้ำคั่นกลางไปจนจรดคลองเตย แต่ภายหลังรถไฟก็เลิก คลองก็เลยถมขยายเป็นถนนพระรามที่ ๔ ไปหมด

วัดหัวลำโพงนั่นแหละเป็นวัดอยู่ริมคลองฝั่งโน้นและวัดนี้ก็แสดงว่าเป็นวัดเพิ่งสร้าง เมื่อภาษามันวิบัติมาแล้ว

ตำบลวิทยุก็เป็นตำบลที่ตั้งขึ้นใหม่ เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่แถวนี้ยังเป็นตำบลศาลาแดง ทุกเช้าจะได้ยินเสียงจากวิทยุว่า “ที่นี่วิทยุศาลาแดงแบ็งข็อก”

ที่ทำการวิทยุก็คือโรงเรียนเตรียมทหารปัจจุบัน

แต่ก่อนที่จะเป็นโรงเรียนเตรียมทหาร เป็นกองสัญญาณทหารเรือมาก่อน อาศัยที่เป็นที่ทำการของสถานีวิทยุ รถรางสายบางกระบือก็มาสุดสายที่นี่และขึ้นป้ายว่าวิทยุ-บางกระบือ หรือบางกระบือ-วิทยุ ก็เลยวิทยุ ๆ กันเรื่อยมาจนกลายเป็นตำบล

คลองผดุง นางเลิ้ง

คลองผดุงกรุงเกษมนี้ใคร ๆ มักเข้าใจผิดว่าเป็นคลองหัวลำโพง

ไม่ใช่ คลองหัวลำโพงคือคลองวัวลำพองดังกล่าวแล้ว

คลองนี่ปากชาวบ้านแถวนั้นเขาเรียกคลองวัดตะเคียน เพราะตรงปากคลองมันย่านหน้าวัดตะเคียนมา

วัดตะเคียนคือวัดมหาพฤฒาราม ปากคลองมันเริ่มต้นแต่แม่น้ำเจ้าพระยาตรงท่าสีพระยาข้ามไปคลองสานแล้วก็ไหลผ่านมาหลังโรงน้ำแข็งนายเลิด หน้าวัดมหาพฤฒาราม เฉียดสถานีหัวลำโพง นพวงศ์ หน้าวัดเทพศิรินทร์ แล้วไปออกแม่น้ำด้านเหนือตรงวัดเทวราชกุญชรเทวเวศม์

คลองนี้ก็เหมือนกับคลองอื่น ๆ เช่น คลองหลอด หรือคลองสะพานหัน คือมีหลายชื่อ ปากคลองด้านใต้เรียกคลองวัดตะเคียนดังกล่าวแล้ว ส่วนปากคลองด้านเหนือก็เรียก “คลองวัดสมอแคลง” บางคนเดาะเข้า “สมอแคลงสมอราย” นั่นแน่ะ

อีนี่เห็นจะผิด เพราะวัดสมอรายไม่ได้อยู่ในคลองนี้ อยู่แต่วัดสมอแคลง วัดสมอแคลงคือวัดเทวราชกุญชร วัดสมอรายคือ วัดราชาธิวาส นี่เป็นเรื่องของคนรุ่นเก่า คนรุ่นใหม่เรียกคลองเทเวศร์

ตรงกลางคลองบางคนก็เดาะเรียกคลองมหานาค น้อยนักที่จะเรียกคลองผดุง ฯ

คลองมหานาคคือคลองตรงโบ๊เบ๊เฉียดข้างภูเขาทองมาทะลุคลองผ่านฟ้าตรงป้อมมหากาฬ

ตรงกลางคลองผดุงกรุงเกษมนี้มีตำบล ๆ หนึ่งซึ่งน่าจะพูดถึง นั่นคือ “นางเลิ้ง”

“นางเลิ้ง” เป็นคำประดิษฐ์ขึ้น เพื่อให้สุภาพสำหรับทูลเจ้า คำที่แท้ของมันคือ “อีเลิ้ง”

“อีเลิ้ง” แปลว่าอะไร จะขอยกกลอนนิราสวัดเจ้าฟ้าของสุนทรภู่ขึ้นมาแสดง

“ชาวบ้านนั้นเป็นอีเลิ้งใส่เพิ่งพะ

กะโถนกะทะอ่างโอ่งกระโถงกะถาง

เขาวานน้องร้องถามไปตามนาง

ว่าบางขวางหรือไม่ขวางพี่นางมอญ”

อีเลิ้งคือโอ่งดินเผา ถิ่นอีสาน อีเลิ้ง หมายถึงเครื่องดินเผาทุกชนิด ถ้าเป็นโอ่งก็เรียก “โอ่งอีเลิ้ง” ถ้าเป็นชามก็เรียก “ชามอีเลิ้ง” แต่ในในภาคกลางเราเรียกอีเลิ้งหมายเพียง โอ่งเท่านั้น

ที่ตรงนี้เรือมอญขายโอ่งมาจอดประจำจนเป็นทำเล จึงเรียก “อีเลิ้ง” แล้วตกแต่งเป็น “นางเลิ้ง” ดังกล่าว

หัวลำโพงก็เหมือนกัน เคยได้ยินหลายท่านใช้ “ศีรษะลำโพง” ชะรอยจะเห็นว่า “หัว” เป็นคำไม่สุภาพกระมัง ถ้าเช่นนั้นก็หันกลับไปใช้ “วัวลำพอง” อย่างเดิมไม่ดีหรือเป็นการรักษาตำนานสถานที่ดีด้วย

ในบทนี้ผมได้เขียนคำ เทวเวศม์ ไว้คำหนึ่ง ไม่ใช่เขียนผ่านแต่เป็นการจงใจเขียน เพราะตำบลนี้ได้ชื่อตามวังของสมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ และวังของท่านมีชื่อตามที่เขียนเป็นตัวปูนปั้นไว้ที่เสาประตูว่า “เทวะเวศม์”

ชาวบ้านสมัยแม่ผมว่างี่เง่าแล้ว เขาก็ยังเรียกกัน เทว-เวด แต่คนชั้นหลังนี้กลับออกเสียง เท-เวด และสะพานชั้นหลังนี้ก็มาตั้งชื่อ เท-เวศร์นฤมิตร เข้าด้วย ก็โข่งกันไปใหญ่

 

เครื่องดนตรีประเภท:เครื่องดีด

เครื่องดนตรีประเภท:เครื่องดีด

เครื่องสายมีกะโหลกเสียง  และใช้นิ้วมือหรือไม้ดีด  ดีดสายให้สั่นสะเทือนเกิดเสียงเป็นเครื่องดนตรีประเภทหนึ่ง ซึ่งนักประวัติศาสตร์ยืนยันว่ามีกำเนิดขึ้นในตะวันออกก่อน  เครื่องสายที่ใช้ดีดเหล่านี้เราเรียกตามคำบาลีและสันสกฤตว่า”พีณ” พีณโบราณที่เรียกว่า พีณน้ำเต้าที่มีกล่าวถึงพีนไว้ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง สมัยสุโขทัย

พีณน้ำเต้า

พีณน้ำเต้า  เป็นพีณสายเดียว คงจะเป็นของพราหมณ์ทำขึ้นเล่นกันมาก่อนยังมีเพลงร้องเพลงหนึ่งชื่อว่า “พราหมณ์ดีดน้ำเต้า” พีณชนิดนี้ชาวอินเดียคงจะนำมาเล่นแพร่หลายอยู่ในดินแดนแหลมอินโดจีนนี้ก่อน และขอมโบราณ  หรือมอญเขมร  ได้รับช่วงไว้ก่อนที่ชนชาวไทยจะอพยพลงมา  ที่เรียกชื่อว่า พีณน้ำเต้า  เพราะเอาเปลือกผลน้ำเต้ามาตัดครึ่งลูก แล้วเอาทางจุกหรือทางขั้วไว้เจาะตรึงติดกับไม้คันพีณ  ซึ่งเรียกว่า “ทวน” เพื่ออุ้มเสียงให้เกิดกังวาน

วิธีเล่นพีณน้ำเต้า ผู้เล่นจะต้องไม่สวมเสื้อ ใช้มือซ้ายจับทวนแล้วเอากะโหลกพีณประกบติดกับเนื้อตรงอกเบื้องซ้ายของผู้เล่น  ใช้มือขวาดีดสายผู้เล่นที่ชำนาญจะขยับกะโหลกน้ำเต้าเปิดปิดอยู่ตรงทรวงอก  เพื่อให้เกิดเสียงก้องกังวานตามต้องการ  และใช้นิ้วมือซ้ายช่วยกดหรือเผยอเพื่อให้สายดึงหรือหย่อนดีดประสานกับเสียงขับร้องของผู้เล่นเอง

พีณเพียะ

พีณเพียะ  หรือพีณเปี๊ยะ หรือบางทีก็เรียกแต่ว่า เพียะหรือ เปี๊ยะ มีกล่าวถึงในพงศาวดารลานช้าง เป็นทำนองว่า พระมหากษัตริย์ของชนชาวไทยในสมัยโบราณเมื่อครั้งยังตั้งอาณาจักรไทยอยู่ในประเทศจีนตอนใต้  ได้ส่งนักดนตรีนักกลอน และครูละครฟ้อนรำ  ลงมาฝึกสอนคนไทยด้วยกัน  ซึ่งอพยพแยกย้ายกันลงมาตั้งอาณาจักรไทยอยู่ในแหลมอินโดจีน และได้ส่งครูมาสอนให้รู้จักทำและรู้จักเล่นพีณเพียะด้วย  มีกล่าวถึงในกาพย์ขับไม้เรื่องพระรถเสน เรียกว่า “พีณเพลีย” ในหนังสือนิรุทธคำฉันท์  จะเรียก พีณเพียะว่า “เพยีย” เช่น “จำเรียงสานเสียง ประอรประเวียง กรกรีดเพยียทอง เต่งติงเพลงพิณ ปี่แคนทรลอง สำหรับลบอง ลเบง เฉ่งฉันทร์”  แต่ในโคลงกำศรวลศรีปราชญ์ เรียกไว้ว่า “เพลี้ย” เช่นที่ว่า

สายาเข้าคว้าเล่น หลายกล

เดอรดีดเพลี้ยพาล รยกชู

พีณเพียะ  ลักษณะคล้ายพีณน้ำเต้า แต่พีณเพียะทำเพิ่มขึ้นเป็น ๒ สาย และ ๔ สายก็มี  กะโหลกก็ทำด้วยเปลือก ลูกน้ำเต้าตัดครึ่งลูกก็มี ทำด้วยกะลามะพร้าวก็มี  เวลาดีดก็เอากะโหลกประกบติดไว้กับหน้าอกขยับเปิดปิด  เพื่อให้เกิดเสียงก้องกังวานตามต้องการ เช่นเดียวกับดีดพีณน้ำเต้า ตามที่ปรากฎในท้องถิ่นภาคเหนือ  ผู้เล่นมักจะดีดคลอขับร้องของตนเอง

กระจับปี่

กระจับปี่ ก็คือพีณ ๔ สายชนิดหนึ่งนั่นเอง  ตัวกะโหลกกระจับปี่ทำแบนทั้งด้านหน้าและหลังอย่างตัว GUITAR แต่รูปกลมรี หนาประมาณ ๗ ซม.  ด้านยาวของกะโหลกประมาณ ๔๔ ซม. ด้านกว้างประมาณ ๔๐ ซม.  ทำคันหรือทวนเรียวยาว ตอนปลายทวนทำแบนและบานปลายแบะผายออกไป  มีลิ่มสลักเป็นลูกบิดสำหรับขึ้นสาย  ๔ อัน สาย ๔ เส้นนั้นใช้สามเอ็น  มีตะพานหรือนมรับนิ้วสำหรับกดสาย ๑๑ อัน ตรงกะโหลกด้านหน้าทำแผ่นไม้บาง ๆ ค้ำสายให้ตุงออก แผ่นไม้บาง ๆ นี้เรียกว่า “หย่อง” เวลาเล่นใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้จับไม้ดีดเขี่ยสายให้สั่นสะเทือนเกิดเสียง  ไม้ดีดนั้นทำด้วยเขา ด้วยกระดูกสัตว์ หรือ กระ

“กระจับปี่” ว่ากันว่า เพี้ยนมาจากา “กัจฉปิ”  ซึ่งเป็นคำชวา และว่า “กัจฉปิ” ก็เพี้ยนมาอีกต่อหนึ่งจากคำในภาษาบาลีและสันสกฤตว่า “กัจฉปะ” ซึ่งแปลว่า เต่า

ซึง

ซึง เป็นเครื่องดีดมี ๔ สาย รวมทั้งคันทวนและกะโหลกยาวประมาณ ๘๑ ซม. กะโหลกกลม ตัวกะโหลกและคันทวนของซึงมักทำด้วยไม้แก่นเนื้อแข็งชิ้นเดียวกัน ขุดคว้านตอนที่เป็นกะโหลกให้เป็นโพรง และใช้ไม้ตัดกลมเจาะรูกลางแผ่นทำเป็นฝาปิดด้านหน้า เพื่ออุ้มเสียงให้เกิดกังวาน  คันทวนทำเป็นเหลี่ยมด้านหน้าแบน ตอนปลายทำโค้งและขุดให้เป็นร่อง เจาะรูสอดลูกบิดข้างละ ๒ อัน รวม ๔ อัน สายทั้ง ๔ สาย นี้ใช้เส้นลวดขนาดเล็ก ๒ สาย ใหญ่ ๒ สาย มีหย่องสำหรับหนุนสายตรงกลางกะโหลกด้านหน้า และมีตะพานหรือนมรับนิ้ว ๙ อัน

ซึง  เป็นเครื่องดีด ที่ชาวไทยในภาคเหนือของประเทศไทย  นิยมใช้ถือแนบหน้าอกด้วยมือซ้าย และมือขวาถือไม้ดีดซึ่งทำด้วยเขาหรือกระดูกสัตว์ดีดใช้ดีดเดี่ยวและใช้บรรเลงร่วมกับปี่ซอ

จะเข้ เป็นเครื่องดีด เข้าใจว่าแก้ไขมาจากพีณ  ทำให้วางราบไปตามพื้น รูปร่างอย่างจระเข้ ขุดให้กลวงเป็นโพรงข้างในเพื่อช่วยให้เกิดเสียงก้องกังวาน  ตัวจะเข้ทำเป็น ๒ ตอน ตอนตัวและหัวเป็นกระพุ้งใหญ่ทำด้วยไม้แก่นขนุน ยาวประมาณ ๕๒ ซม. กว้างประมาณ ๒๙ ซม. ตอนหางยาวประมาณ ๗๘-๘๐ ซม. กว้างประมาณ ๑๑.๕ ซม. รวมทั้งท่อนหัวและท่อนหางยาวประมาณ ๑๓๐-๑๓๒ ซม. มีแผ่นไม้ปิดท้องเบื้องล่าง จะเข้ตัวหนึ่งมีเท่ารองตอนตัว ๔ และปลายหาง ๑ สูงจากปลายเท้าวางพื้นถึงหลังประมาณ ๑๙ ซม. ทำหลังนูนกลาง สองข้างลาดลง ขึ้นสายโยงเรียดไปตามหลังตัวจะเข้จากทางหัวไปทางหางสามสาย สาย ๑ ใช้เส้นลวดทองเหลือง อีก ๒ สายเป็นสายเอ็น

มีลูกบิดประจำสาย ๆ ละ ๑ อัน สำหรับเร่งเสียง มี “หย่อง” รับสายทางหาง ใช้ดีดด้วยไม้ดีดกลมปลายแหลมทำด้วยกระดูกสัตว์หรือด้วยงา  ยาวประมาณ ๕-๖ ซม. เครียนด้วยเส้นด้ายติดกับปลายนิ้วชี้ของผู้ดีด

ไทยเราเห็นจะรู้จักเล่นจะเข้มานานไม่น้อยกว่าสมัยแรกาตั้งกรุงศรีอยุธยาจึงมีกล่าวถึงในกฎมนเทียรบาลครั้งกรุงศรีอยุธยา  แต่ปรากฎว่า เพิ่งนำเข้าผสมวงเครื่องสายและวงมโหรีเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง

เครื่องดนตีประเภท:เครื่องเป่า

เครื่องเป่า

ขลุ่ย

ขลุ่ย  คงจะเป็นเครื่องเป่าดั้งเดิมของไทยคิดทำขึ้นเอง  แต่รูปร่างไปเหมือนกับ “มุราลี” ของอินเดีย  ขลุ่ยของเราทำด้วยไม้รวกปล้องยาว ๆ ไว้ข้อทางปลายแต่เจาะทะลุข้อและใช้ไฟย่างให้แห้งตบแต่งผิวให้ไหม้เกรียมเป็นลวดลายสวยงาม  ด้านหน้าเจาะรูกลม ๆ เรียงแถวกัน ๗ รู  สำหรับนิ้วปิดเปิดเพื่อเปลี่ยนเสียง ตรงที่ใช้เป่าไม่มีลิ้นอย่างลิ้นปี่  เขาทำไม้อุดเต็มปล้องแต่ปาดด้านล่างไว้ ด้านหนึ่งให้มีช่องไม้อุดนั้นเรียกกันว่า “ดาก” ด้านหลังใต้ดากลงมาปากตอนล่างเป็นทางเฉียง  ไม่เจาะทะลุตรงเหมือนด้านข้างและด้านหน้า รูนี้เรียกว่า “รูปากนกแก้ว” ใต้รูปากนกแก้วลงมาเจาะรูอีก ๑ รู เรียกว่า “รูนิ้วค้ำ” เพราะเวลาเป่า  ต้องเอานิ้วหัวแม่มือค้ำปิดเปิดที่รูนั้น  เหนือรูนิ้วค้ำเบื้องหลังและเหนือรูบนของ ๗ รูด้านหน้าแต่ อยู่ทางด้านขวาเจาะรูอีกรูหนึ่งเรียกว่า “รูเยื่อ” เพราะโดยปรกติ แต่ก่อนใช้เยื่อในปล้องไม้ไผ่ ปิดรูนั้น ทางปลายเลาของขลุ่ย มีรูอีก ๔ รู เจาะตรงกันข้าม แต่เหลื่อมกันเล็กน้อย รูหน้ากับรูหลังตรงกันแต่อยู่สูงขึ้นมานิดหน่อย รูขวารูซ้ายเจาะตรงกันอยู่ใต้ลงไปเล็กน้อย  รูขวากับรูซ้ายนี้ โดยปรกติใช้ร้อยเชือกสำหรับแขวนเก็บหรือคล้องมือถือ  จึงเลยเรียกกันว่า “รูร้อยเชือก” รวมทั้งหมดขลุ่ยเลาหนึ่งมี ๑๔ รูด้วยกัน

ขลุ่ย  นอกจากเป่าเล่นเป็นการบันเทิงแล้ว  ยังใช้เป่าร่วมในวงเครื่องสายและวงมโหรีกับในวงปี่พาทย์  ไม้นวมและวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์อีกด้วย

ขลุ่ยมี ๓ ชนิด คือ

ก.  ขลุ่ยหลีบ

ข.  ขลุ่ยเพียงออ

ค. ขลุ่ยอู้

ปี่

ปี่  เห็นจะเป็นเครื่องดนตรีของไทยแท้  ชาวไทยเรารู้จักประดิษฐ์ขึ้นใช้มาแต่ก่อนเก่า  เพราะวิธีเป่าและลักษณะการเจาะรู  ไม่เหมือนหรือซ้ำแบบกับเครื่องเป่าของชาติใด ๆ ตามปรกติทำด้วยไม้แก่นหรือไม้จริง เช่น ไม้ชิงชัน และไม้พะยุง  กลึงให้เป็นรูปบานหัวบานท้ายและตรงกลางป่องเจาะภายในกลวงตลอดเวลา  ทางหัวที่ใส่ลิ้นเป็นช่องรูเล็ก ทางปลายปากรูใหญ่ตอนหัวและตอนท้ายนี้เขาเอาชันหรือวัตถุอย่างอื่นมาหล่อเสริมขึ้นอีกราวข้างละครึ่ง ซม. เรียกว่า “ทวน” ทางหัวเรียกว่า “ทวนบน” และทางท้ายเรียกว่า “ทวนล่าง”  ตอนป่องกลางนั้นเจาะรูนิ้วสำหรับเปลี่ยนเสียงเรียงลงมาตามข้างเลาปี่ ๖ รู คือ รูตอนบนเจาะเรียงลงมา ๔ รู แล้วเว้นระยะเล็กน้อยเจาะรูล่างอีก ๒ รู  ตอนกลางเลาตรงป่องกลางมักกลึงขวั้นเป็นเกลียวคู่ ๑๔ คู่ไว้ระยะพองามที่รูเป่าตอนทวนบนใส่ลิ้นปี่สำหรับเป่าลิ้นปี่ทำด้วยใบตาลซ้อน ๔ ชั้น  ตัดกลมผูกติดกับท่อลมเล็ก ๆ ซึ่งเรียกว่า “กำพวด” เรียวยาวสัก ๕ ซม. กำพวดนี้ทำด้วยทองเหลือง หรือด้วยเงิน ด้วยนาคหรือโลหะอย่างอื่น

ปี่ชนิดนี้ แต่เดิมคงจะใช้เป่านำวงดนตรีสำหรับบรรเลงประกอบการเล่นหนัง(ใหญ่) ประกอบการแสดงโขนและละครนอก เรียกปี่นอกมีระดับเสียงสูง  ต่อมาเมื่อมีการปรับปรุงละครใน จึงแก้ไขเครื่องดนตรีให้เหมาะสมกับผู้หญิงแสดง เรียก ปี่ใน มีระดับเสียงต่ำ ส่วนปี่ที่ใช้เป่าประกอบการเล่นหนัง (ใหญ่) ซึ่งมีขนาดและสำเนียงอยู่กลางระหว่างปี่นอกกับปี่ในนั้น เรียกว่า “ปี่กลาง”

ปี่อ้อ

ปี่อ้อ เป็นปี่โบราณของไทยอย่างหนึ่ง ตัวปี่(เลา) ทำด้วยไม้รวกปล้องเดียวไม่มีข้อยาวประมาณ ๒๔ ซม. เขียนลวดลายด้วยการลนไฟให้ไหม้เกรียม เฉพาะที่ต้องการหัวท้ายเลี่ยมด้วยทองเหลืองหรือเงินเพื่อป้องกันมิให้แตกเจาะรูสำหรับปิดเปิดนิ้วเรียงตามลำดับด้าน ๗ รู และมีรูนิ้วค้ำด้าน หลัง ๑ รู เช่นเดียวกับขลุ่ย  ลิ้นทำด้วยไม้อ้อลำเล็ก ๆ เป็นเครื่องดนตรีที่ร่วมอยู่ในวงเครื่องสายมาก่อน  ขลุ่ยเพียงออและขลุ่ยหลีบ

ปี่ซอ

ปี่ซอ ทำด้วยลำไม้รวก มีขนาดยาวสั้นและเล็กใหญ่ต่าง ๆ ตามแต่เสียงที่ต้องการสำหรับหนึ่ง ๆ มี ๓ เล่ม, ๕ เล่ม หรือ ๗ เล่ม (เรียก “เล่ม” ไม่เรียก “เลา”) ปี่ซอขนาดเล็กยาวประมาณ ๔๕ ซม. ขนาดอื่น ก็โตขึ้นไป

ปี่ซอที่ใช้ ๓ เล่มนั้น เล่มเล็กเป็นปี่เอก เรียกว่า ปี่ต้อย เล่มต่อไปเรียกว่าปี่กลาง  ส่วนเล่มใหญ่ก็เรียกว่า ปี่ใหญ่  ลักษณะของการเล่นอาจแบ่งออกตามทำนองเพลงได้เป็น ๕ อย่าง คือ ๑. ใช้กับทำนองเชียงใหม่มักใช้ “ซึง” ซึ่งเป็นเครื่องดีดชนิดหนึ่ง บรรเลงร่วมด้วย ๒.  ใช้กับทำนองเพลงเงี้ยว จะใช้ปี่ ๓ เล่มล้วนก็ได้ แต่ตามปรกติเขาใช้ปี่เอก หรือปี่ต้อยเล่นร่วมกับ “ซึง” ตัดปี่กลางกับปี่ใหญ่ออก ๓.  ใช้กับเพลงจ๊อย เป็นเพลงรำพันรักสำหรับไปแอ่วสาวใช้สี “สะล้อ” เข้ากับปี่เล็กคือปี่เอกเป็นเครื่องบรรเลงคลอ นิยมเล่นในตอนค่ำ ๆ เวลามีอากาศสดชื่น พวกชายหนุ่มก็พากันไปตามบ้านที่มีสาว แล้วบรรเลงขับร้องหรือไม่ก็พากันเดิน “จ๊อย” ไปตามทางในละแวกบ้าน เพลงจ๊อยนี้เล่นกันเฉพาะแต่หมู่ผู้ชาย  ผู้หญิงไม่ต้องตอบ ๔. ใช้กับทำนองพระลอเป็นการใช้ประกอบในการขับเรื่องพระลอ โดยเฉพาะอีกแบบหนึ่ง  ถ้ายักย้ายนำไปใช้กับเรื่องอื่นมักขัดข้อง ๕. ใช้กับเพลงทำนองพม่า เช่นมีสร้อยเพลง “เซเลเมา”

ปี่ชนิดนี้ เรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า “ปี่จุม” หรือ ปี่ “พายัพ” ชาวไทยในท้องถิ่นจังหวัดลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ และเชียงราย ซึ่งเป็นภาคพายัพของประเทศไทย  นิยมเล่นกันมาก

แคน

แคน  เป็นเครื่องเป่าของชนชาวไทยนิยมเล่นกันมาแต่โบราณ ทำด้วยไม้ซางลำขนาดสักเท่านิ้วมือ  ใส่ลิ้นตรงกลางลำ  และทำลิ้นแบบเดียวกับลิ้นปี่ซอแล้วเอามาเรียงลำดับผูกติดกันเข้าเป็น ๒ แถว ๆ ละ ๗ ลำ เรียงลำใหญ่ไว้เป็นคู่หน้า ลำย่อมไว้เป็นคู่ถัด ๆ ไปรวม ๗ คู่ แคนเลาหนึ่งก็ใช้ไม้ซาง ๑๔ ลำ ทุกลำเจาะข้อทะลุตลอด และต้องเรียงให้กลางลำ ตรงที่ใส่ลิ้นนั้นอยู่ระดับเดียวกัน  แล้วเอาไม้จริงมาถากเจาะรูสำหรับเป่า เรียกว่า “เต้า” หรือ “เต้านม” เอาลำไม้ซางที่เรียงไว้ ๗ คู่นั้น สอดให้เต้าประกบอยู่ตรงที่ใส่ลิ้นไว้  แล้วเอาชันหรือรังแมงขี้สูด หรือขี้ผึ้ง พอกมีให้ลมที่เป่าออกและสูดเข้ารั่ว

แคนของไทยเราอาจเรียกได้ว่า MOUTH ORGAN มีรูปลักษณะตลอดจนวิธีเป่าคล้ายกับของญี่ปุ่น คือ ใช้อุ้งมือทั้งสองประคองตรงเต้าและใช้นิ้วมือปิดเปิดรูไม้ซาง เอาปากเป่าตรงหัวเต้าที่เจาะรูไว้ ชาวไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และพี่น้องชาวลาวในประเทศลาว นิยมใช้เป่าประกอบการเล่นพื้นเมือง ที่เรียกว่าหมอลำหมอแคน

ปี่ไฉน

ปี่ไฉน ทำเป็น ๒ ท่อน ถอดออกจากกันได้  ท่อนบนเรียวยาวเรียกว่า “เลาปี่” ท่อนล่างบานปลายเรียกว่า “ลำโพง” เมื่อนำมาสวมกันเข้า จะมีรูปร่างเรียวบานปลายคล้ายดอกลำโพง ทำด้วยไม้และงาก็มี ยาวประมาณ ๑๙ ซม. ลิ้นปี่ไฉนก็ทำเหมือนลิ้นปี่ไทย คือมีกำพวดปลายผูกลิ้นใบตาล  ตอนที่สอดใส่ในเลาปี่เคียนด้วยเส้นด้าน  แต่เหนือเส้นด้ายที่เคียนนั้น เขาทำ “กระบังลม” แผ่นกลม ๆ บาง ๆ ด้วยโลหะ หรือกะลาสำหรับรองริมฝีปากเพื่อเวลาเป่าจะได้ไม่เมื่อยปาก

ปี่ไฉนนี้ เข้าใจว่า เราได้แบบอย่างมาจากเครื่องดนตรีของอินเดียพบในหนังสือเก่าของเรา เช่น ในโคลงนิราศหริภุญชัย เรียกเครื่องเป่าชนิดนี้ว่า “สละไนย” และในลิลิตยวนพ่าย เรียกว่า “ทรไน”  ส่วนในไตรภูมิพระร่วงพูดถึง “ปี่ไฉนแก้ว” แสดงว่าเราคงรู้จักและนำมาใช้ตั้งแต่สมัยสุโขทัย หรือก่อนนั้น

ปี่ไฉน ที่ไทยนำเอามาใช้ อาจนำไปใช้ในการประโคมคู่กับแตรสังข์ เช่น เวลาพระมหากษัตริย์เสด็จออกในพระราชพิธีนำไปใช้ในกระบวนแห่ซึ่ง “จ่าปี่” ใช้เป่านำกลองชนะในกระบวนแห่พระบรมศพ และศพเจ้านายคู่กับปี่ชวา

ปี่ชวา

ปี่ชวา  ทำเป็น ๒ ท่อนเหมือนปี่ไฉน รูปร่างลักษณะก็เหมือนปี่ไฉนทุกอย่าง แต่มีขนาดยาว ทำด้วยไม้จริงหรืองา ที่ทำต่างจากปี่ไฉนก็คือตอนบนที่ใส่ลิ้นปี่ ทำให้บานออกเล็กน้อยลักษณะของลิ้นปี่มีขนาดยาวกว่าปี่ชวาเล็กน้อย เรานำเอาปี่ชวามาใช้แต่เมื่อไรไม่อาจทราบได้  แต่คงจะนำมาใช้คราวเดียวกับกลองแขก  และเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น  เช่นมีกล่าวถึงใน “ลิลิตยวนพ่าย” ว่า

สรวญศรัพทคฤโฆษฆ้อง

กล้องไชย

ทุมพ่างแตรสังข์ ชวา

ปี่ห้อ

ซึ่งคงจะหมายถึง ปี่ชวา และปี่ห้อหรือปี่อ้อ  ปี่ชวาใช้คู่กับกลองแขก เช่น เป่า ประกอบการเล่นกระบี่กระบองและประกอบการแสดงละครเรื่องอิเหนาตอน รำกริช และใช้ในวงปี่พาทย์นางหงส์  กับใช้ในวงดนตรีที่เรียกว่าวง “ปี่ชวากลองแขก” หรือ วง “กลองแขกปี่ชวา” วงเครื่องสายปี่ชวา และวง “บัวลอย”  ทั้งนำไปใช้เป่าในกระบวนแห่ ซึ่ง “จ่าปี่” เป่านำกลองชนะในกระบวนพยุหยาตราด้วย

ปี่มอญ

ปี่มอญ ทำเป็น ๒ ทอ่นเหมือนปี่ชวา แต่ขนาดใหญ่กว่าและยาวกว่าคอท่อน “เลาปี่” ทำด้วยไม้จริงกลึงจนเรียว ยาวประมาณ ๕๐ ซม. ตอนใกล้หัวเลาปี่ระยะสัก ๖ ซม. กลึงเป็นลูกคั่น ด้านบนเจาะรูเรียงนิ้ว ๗ รู กับมีรูค้ำ ๑ รูด้วย ส่วนท่อน “ลำโพง” ยาวประมาณ ๒๓ ซม. ทำด้วยทองเหลืองหรือโลหะอย่าง  ช่องปากลำใหญ่กว้าง 10 ซม.  ปี่มอญ ใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์มอญ  หรือ  ที่ ปรากฏในหมายรับสั่ง แต่ก่อนเรียกไว้ว่า “ ปีพาทย์รามัญ ”  และบรรเลงร่วมกับกลองแอว์ บางกรณีด้วย

แตร

แตร  เป็นชื่อที่ใช้เรียกเครื่องเป่าชนิดที่ทำด้วยโลหะทั่ว ๆ ไป แตรที่ใช้ในงานพระราชพิธีของไทยแต่โบราณมามี ๒ ชนิดคือ

ก.  แตรงอน

แตรงอนนี้เข้าใจว่าเราได้แบบอย่างมาจากอินเดีย  เพราะอินเดียมีแตรรูปนี้ใช้สำหรับเป่าเป็นสัญญาณในกระบวนแห่และในงานพระราชพิธี  แตรงอนใช้อยู่ในพระราชพิธีของเราทำด้วยโลหะชุบเงิน  และทำเป็น ๒ ท่อน สวมต่อกัน ท่อนเป่าหลอดเป่าลมโค้งเรียวเล็กยาวประมาณ ๒๒ ซม.  ปากตรงที่เป่าทำบานรับริมฝีปาก วัดผ่านศูนย์กลางราว ๓ ซม. ท่อนลำโพงยาวประมาณ ๒๘ ซม. ปากกว้างราว ๗ ซม. มีเส้นเชือกหรือริบบิ้นผูกโยงท่อนเป่ากับท่อนลำโพงไว้ด้วยกัน

ในหนังสือสมุทรโฆษคำฉันท์เรียกแตรงอนว่า “กาหล”  และใช้ประโคมในกระบวนรบ เช่นกล่าวว่า

กึกก้องด้วยกาหลและสังข์

ขประนังทั้งเภรี

และในหนังสือปุณโณวาทคำฉันท์  ก็เรียกว่า “กาหฬ”  ใช้บรรเลงในขบวนพยุหยาตรา ทางชลมารค เช่นกล่าวว่า

เสด็จดลฉนวนพระอรณพ

ขนานน่าวาสุกรี

แตรสังข์ประโคมดุริยดนตรี

มหรธึกและกาหฬ

ข.  แตรฝรั่ง

แตรฝรั่งนั้น  ในหนังสือกฎมนเทียรบาลโบราณเรียกว่า แตรลงโพง ปรากฎในหมายรับสั่งครั้งรัชกาลที่ ๑ เรียกว่า แตรวิลันดา  คงจะเป็นแตรที่ฝรั่งฮอลันดาเป็นชาติแรก  นำเข้ามาให้เรารู้จัก แตรที่ระบุชื่อไว้ว่า แตรลำโพงก็ดี  แตรฝรั่งก็ดี แตรวิลันดาก็ดี คงหมายถึงแตรอย่างเดียวกันนั่นเอง

สังข์

สังข์  เป็นหอยทะเลชนิดหนึ่งเปลือกขรุขระ  ต้องเอามาขัดให้เกลี้ยงเกลาเสียก่อนแล้วเจาะก้นหอยให้ทะลุ เป็นรูเป่า ไม่มีลิ้น ต้องเป่าด้วยริมฝีปากของตนเอง  ปรากฎว่า ในอินเดียนำมาใช้เป็นเครื่องเป่ากันแต่ดึกดำบรรพ์  และนับถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์

เครื่องหนัง: เครื่องตีที่ทำด้วยหนัง

เครื่องหนัง

กลองทัด

เครื่องตีที่ขึงด้วยหนังแทบทุกชนิดของไทย  ดูเหมือนจะเรียกกันว่า “กลอง” แทบทั้งนี้น กลองที่ชาวไทยทำขึ้นใช้ดั้งเดิมเห็นจะเป็นกลองที่ขึงด้วยหนังสองหน้าตรึงหมุดอย่างที่เรียกกันในบัดนี้ว่า “กลองทัด” ตัวกลองทำด้วยไม้แก่นเนื้อแน่นแข็ง ใช้กลึงคว้านข้างในจนเป็นโพรง  ตรงกลางป่องออกนิดหน่อย  ขึ้นหน้าทั้งสองข้างด้วยหนังวัวหรือหนังควายตึงด้วยหมุดซึ่งเรียกว่า “แส้” ทำด้วยไม้หรือด้วยงา หรือกระดูกสัตว์หรือโลหะ  ตรงกลางหุ่นกลองด้านหนึ่งมีห่วงสำหรับแขวน เรียกกันว่า “หูระวิง”  ซึ่งคงจะเพี้ยนมาจาก “กระวิน” กลองชนิดนี้ คงจะเป็นกลองที่ชนชาวไทยนิยมกันมาแต่โบราณคู่กับ “ฆ้อง(โหม่ง)” สร้างขึ้นใช้ในสถานที่และในโอกาสต่าง ๆ กันด้วย  ขนาดใหญ่ เช่นกลองตามวัดวาอารามและตามปูชนียสถาน  และบางแห่งก็แขวนไว้ บางแห่งก็วางนอนไว้บนขาตั้ง เพื่อให้ตีได้ทั้งสองหน้าที่บัญญัติเรียกชื่อเฉพาะขึ้นไว้สำหรับตีเป็นสัญญาณในการนั้น ๆ ก็มี เช่น ที่บัญญัติชื่อไว้ลงท้ายด้วยคำว่า “เภรี” และที่เรียกไปตามประเภทที่ประกอบการแสดงก็มี เช่น กลองโขน กลองหนังแต่ก็คงเป็นกลองรูปร่างอย่างเดียวกัน “กลองทัด” มีขนาดหน้ากว้าง แต่ละหน้าวัดผ่านศูนย์กลางประมาณ ๔๖ ซม. เท่ากันทั้ง ๒ หน้า ตัวกลองยาวประมาณ ๕๑ ซม. รูปทรงกระทัดรัดพองามเวลาใช้บรรเลงตีเพียงหน้าเดียว หน้าหนึ่งติดข้าวสุกผสมกับขี้เถ้าปิดตรงใจกลาง แล้ววางกลองทางหน้านั้นคว่ำตะแคงขอบไว้บนหมอนหนุน  และมีขาหยั่งสอดค้ำตรงหูระวิง  ให้หน้ากลองอีกข้างหนึ่งตะแคงลาดมาทางผู้ตี  ใช้ตีด้วยท่อนไม้ ๒ อัน ทำด้วยซอไม้รวกยาว ๕๐-๕๔ ซม.  แต่ก่อนปีพาทย์วงหนึ่งก็คงใช้กลองเพียงลูกเดียว  แต่ต่อมาในราวรัชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร์นิยมใช้ ๒ ลูก ลูกหนึ่งเสียงสูงเรียกว่า “ตัวผู้” ตีดังเสียง “ตูม” ลูกหนึ่งเสียงต่ำเรียกว่า “ตัวเมีย” ตีเสียงดัง “ต้อม”

ท่านจะสังเกตเห็นหน้ากลองเกือบทุกชนิด  มักจะมีวงดำตรงกลางและทาขอบกลองเป็นสีดำโดยรอบ  นั่น คือ ทาด้วยยางรัก เพื่อเป็นที่หมายตรงศูนย์กลางและเพื่อรักษาหนัง

กลองชาตรี

กลองชาตรี  รูปร่างลักษณะและการตี  เช่นเดียวกับกลองทัดทุกอย่างแต่ขนาดเล็กกว่ามาก  ใช้บรรเลงร่วมในวงปี่พาทย์ประกอบการแสดงละครชาตรี  ที่เรียกว่าปีพาทย์ชาตรีแต่มีชื่อเรียกตามเสียงอีกอย่างหนึ่งว่า “กลองตุ๊ก” มีหน้ากว้างวัดผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒๐ ซม. ยาวประมาณ ๒๔ ซม. แต่ก่อนคงใช้กลองใบเดียว  แต่ต่อมาในตอนหลังนี้ใช้ ๒ ใบ ในครั้งโบราณมีแพร่หลายในจังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย เดี๋ยวนี้ก็ยังคงมีอยู่

ตะโพน

ตะโพน  ในหนังสือเก่าเรียก “สะโพน” รูปร่างคล้ายมุทิงค์ หรือมัททละของอินเดีย

ตะโพนมอญ

ตะโพนมอญ  เหมือนตะโพนไทยทุกอย่าง แต่ใหญ่กว่า “หน้าแท่ง” วัดผ่านศูนย์กลางประมาณ ๔๒ ซม.

“หน้ามัด” ประมาณ ๓๕ ซม. หุ่นยาวประมาณ ๗๐ ซม. และตรงกลางหุ่นไม้ป่อง  ใช้บรรเลงเพลงมอญ  และใช้ในวงปี่พาทย์มอญ

กลองตะโพน

กลองตะโพน คือ ตะโพน ที่กล่าวมาในแล้ว แต่นำมาตีอย่างกลองทัด  โดยใช้ไม้นวมที่ตีระนาดเป็นไม้ตี  มิได้ใช้ฝ่ามือตีอย่างตะโพน  จึงเรียกกันว่า “กลองตะโพน” สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  ทรงนำมาใช้คราวทรงปรับปรุงวงปี่พาทย์สำหรับ ประกอบการแสดงละครดึกดำบรรพ์ขึ้นเมื่อปลายรัชกาลที่ ๕

โทน หรือ ทับ

โทนหรือทับเป็นเครื่องตีขึงหนังหน้าเดียว มีสายโยงเร่งเสียงจากขอบหนังถึงคอมีหางยื่นออกไป  ตอนปลายบานเป็นดอกลำโพง  โทนที่กล่าวนี้บางทีจะเรียกชื่อกันอีกอย่างหนึ่งว่า “ทับ” จึงเรียกควบคู่กันไปเสียเลยว่า “โทนทับ”

ก.  โทนชาตรี

โทนชาตรี  ตัวโทนทำด้วยไม้ เช่น ไม้ขนุน ไม้สัก หรือไม้กระท้อน ขนาดกว้างประมาณ ๑๗ ซม. ยาวประมาณ ๓๔ ซม. สายโยงเร่งเสียงใช้หนังเรียดตีด้วยมือหนึ่ง ส่วนอีกมือหนึ่งคอยปิดเปิดลำโพง  เพื่อช่วยให้เกิดเสียงต่าง ๆ ตามที่ต้องการ  ใช้ตีร่วมในวงปีพาทย์ชาตรี แต่ก่อนคงใช้ลูกเดียวแต่ต่อมาใช้ ๒ ลูก ตี ๒ คน คนละ ๑ ลูก ใช้ตีประกอบการแสดงละครโนห์ราชาตรีและหนังตะลุงและใช้ตีประกอบจังหวะในวงปี่พาทย์หรือวงเครื่องสาย หรือวงมโหรี ที่เล่นเพลงภาษาเขมรหรือตะลุง

ข.  โทนมโหรี

โทนมโหรี ตัวโทนทำด้วยดินเผาด้านที่ขึ้นหนังโตกว่าโทนชาตรี  ขนาดหน้ากว้างประมาณ ๒๒ ซม. ยาวประมาณ ๓๘ ซม.  สายโยงเร่งเสียงใช้ต้นหวายผ่าเหลาเป็นเส้นเล็กหรือใช้ไหมฟั่นเป็นเกลียว  หนังที่ขึ้นหน้าใช้หนังลูกวัว หนังแพะ หนังงูเหลือม หรือหนังงูงวงช้างตีด้วยมือหนึ่ง และอีกมือหนึ่งทำหน้าที่ปิดเปิดทางลำโพงเช่นเดียวกับโทนชาตรี  ใช้บรรเลงในวงเครื่องสายและวงมโหรี เรียกกันว่า โทนมโหรีใช้ลูกเดียว  แต่ตีขัดสอดสลับคู่กับรำมะนา
โทนทั้งสองชนิดดังกล่าวนี้  ใช้ตีประกอบการเล่นพื้นเมืองของไทยอย่างหนึ่ง ตีประกอบการขับร้องและใช้เป็นจังหวะในการฟ้อนรำ เรียกกันว่า “รำโทน”

รำมะนา

รำมะนา  เป็นกลองขึงหนังหน้าเดียวชนิด Tambourinc ขนาดไล่เลี่ยกันเว้นแต่ไม่มี Jingles หรือฉาบคู่ติดตามขอบ หน้ากลองที่ขึ้นหน้าบานผายออก ตัวกลองสั่น รูปร่างคล้ายชามกะละมัง รำมะนาของเรามี ๒ ชนิด คือ รำมะนามโหรี กับ รำมะนาลำตัด

ก.  รำมะนามโหรี

รำมะนาขนาดเล็ก  หน้ากว้างประมาณ ๒๖ ซม. ตัวรำมะนายาวประมาณ ๗ ซม.  หนังที่ขึ้นตรึงด้วยหมุดโดยรอบจะเร่งหรือลดเสียงให้สูงต่ำไม่ได้ แต่มีเชือกเส้นหนึ่งเรียกกันว่า “สนับ” สำหรับใช้หนุนข้างในโดยรอบของหน้า ช่วยให้เสียงสูงและไพเราะได้  ตีด้วยฝ่ามือใช้บรรเลงร่วมในวงมโหรีและเครื่องสาย เป็นเครื่องตีคู่กันกับโทนมโหรี

ข.  รำมะนาลำตัด

รำมะนาอีกชนิดหนึ่ง เป็นขนาดใหญ่หน้ากว้างประมาณ ๔๘ ซม. ตัวรำมะนายาวประมาณ ๑๓ ซม. ขึ้นหนังหน้าเดียว  ใช้เส้นหวายผ่าซีกโยงระหว่างขอบหน้ากับวงเหล็ก  ซึ่งรองกันใช้เป็นขอบของตัวรำมะนา และใช้ลิ่มหลาย ๆ อันตอกเร่งเสียงระหว่างวงเหล็กกับก้นรำมะนา รำมะนาชนิดนี้แต่เดิมใช้ประกอบการร้องเพลง “บันตน” ในตอนหลังนี้ยังใช้ประกอบการเล่น “ลำตัด” และ “ลิเกรำตัด” หรือ “ลิเกรำมะนา” เดี๋ยวนี้รู้จักแพร่หลายที่ใช้ประกอบการเล่นลำตัด วงหนึ่ง ๆ จะมีรำมะนาสักกี่ลูกก็ได้ คนตีนั่งล้อมวงและร้องเป็นลูกคู่ไปด้วย

กลองแขก

กลองแขก  รูปร่างยาวเป็นกระบอกแต่หน้าหนึ่งใหญ่ เรียกว่า “หน้ารุ่ย” กว้างประมาณ ๒๐ ซม. อีกหน้าหนึ่งเล็กเรียกว่า “หน้าต่าน” กว้างประมาณ ๑๗ ซม. หุ่นกลองยาวประมาณ ๕๗ ซม. ทำด้วยไม้จริง หรือไม้แก่น เช่นไม้ชิงชัน หรือไม้มะริด ขึ้นหนัง ๒ หน้า ด้วยหนังลูกวัวหรือหนังแพะ  ใช้เส้นหวายผ่าซีกเป็นสายโยงเร่งเสียง โยงเส้นห่าง ๆ แต่ต่อมาใช้สายหนังโยงก็มี  สำรับหนึ่งมี ๒ ลูก ลูกเสียงสูง เรียกว่า “ตัวผู้” ลูกเสียงต่ำเรียกว่า “ตัวเมีย” ตีด้วยฝ่ามือทั้งสองหน้าให้เสียงสอดสลับกันทั้งสองลูก กลองแบบนี้เรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า “กลองชวา”  ไทยเราคงจะนำกลองชนิดนี้มาใช้ในวงดนตรีของไทยมาแต่โบราณใช้ในขบวนแห่นำเสด็จพระราชดำเนินและใช้บรรเลงร่วมกับปี่ชวา  ประกอบการเล่นกระบี่กระบองเป็นต้น  แล้วภายหลังจึงนำมาใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์ของไทย  ใช้ตีกำกับจังหวะแทนตะโพน ในวงปี่พาทย์ และใช้แทนโทนกับรำมะนาในวงเครื่องสายด้วย

กลองมลายู

กลองมลายู  รูปร่างอย่างเดียวกับกลองแขก  แต่ตัวกลองสั้นกว่าและอ้วนกว่าหน้ากลองก็กว้างกว่า  หน้าด้านใหญ่ กว้างประมาณ ๒๐ ซม.  หน้าด้านเล็ก กว้างประมาณ ๑๘ ซม. ตัวกลองหรือหุ่นยาวประมาณ ๕๔ ซม. สายโยงเร่งเสียงทำด้วยหนัง หน้าใหญ่ใช้ตีด้วยไม้งอ ๆ ส่วนหน้าเล็กตีด้วยฝ่ามือ

ไทยเรานำเอากลองมลายูใช้ในกระบวนแห่ เช่น แห่คเชนทรัศวสนาน แห่พระบรมศพและศพเจ้านาย บรรเลงประโคมศพโดยจัดเป็นชุด ชุดหนึ่งมี ๔ ลูก แล้วภายหลังลดเหลือ ๒ ลูก ลูกที่เป็นเสียงสูง เรียกว่า “ตัวผู้” และลูกเสียงต่ำ เรียกว่า “ตัวเมีย” ใช้บรรเลงในวง “บัวลอย” ในงานศพ และใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์นางหงส์

กลองชนะ

กลองชนะ  เหมือนกลองมลายู แต่ตัวกลองสั้นกว่าและอ้วนกว่า หน้าด้านใหญ่กว้างประมาณ ๒๖ ซม. หน้าด้านเล็ก กว้างประมาณ ๒๔ ซม. ตัวกลองยาว ๕๒ ซม. สายโยงเร่งเสียงใช้หวายผ่าซีกเหมือนกลองแขก แต่ใช้ไม้งอโค้งตีเหมือนกลองมลายู ตัวกลองทาสีปิดทองเขียนลายหน้ากลองก็เขียนหรือปิดด้วยทองหรือเงิน  ทำเป็นลวดลายใช้เป็นเครื่องประโคมในกระบวนเสด็จพยุหยาตรา  และใช้ประโคมพระบรมศพและศพเจ้านาย  โดยใช้กลองชนะหลายลูก  แต่มีกฎเกณฑ์กำหนดจำนวนและชนิดของกลอง ตามฐานันดรศักดิ์ ของศพ และของงานจำนวนกลองชนะที่ใช้บรรเลงตั้งแต่ ๑ คู่ คือ ๒ ลูก ถึง ๒๐๐ ลูก ก็มี

เปิงมาง

เปิงมาง ว่าเป็นคำมอญ เรียกเครื่องหนังชนิดหนึ่ง  ซึ่งแต่เดิมคงเป็นเครื่องดนตรีของมอญ  รูปร่างยาวเหมือนกระบอก แต่ป่องกลางนิดหน่อย หุ่นกลองทำด้วยไม้จริง ขึ้นหนังทั้ง ๒ หน้า ใช้สายโยงเร่งเสียงทำด้วยหนังเรียด ร้อยจากหนัง “ไส้ละมาน” เรียงกันถี่ ๆ จนไม่เห็นไม้หุ่นกลอง และบางทีก็ทำหนังรัดอกเช่นเดียวกับตะโพนหน้าทั้ง ๒ ด้านมีขนาดเกือบเท่ากัน นักดนตรีไทยได้นำเอาเปิงมางมาใช้และสร้างขึ้นมีขนาดหน้าข้างหนึ่งกว้างประมาณ ๑๗ ซม. ต้องติดข้าวสุกบดผสมขี้เถ้า เพื่อให้ได้เสียงที่ต้องการ  ส่วนอีกหน้าหนึ่งกว้างประมาณ ๑๖ ซม. ไม่ต้องติดข้าวสุกผสมขี้เถ้า  ทำตัวกลองรูปยาวกว่าที่ใช้ในวงปี่พาทย์มอญคือยาวประมาณ ๕๔ ซม. มีห่วงหนังผูกโยงสายสำหรับคล้องคอ ใช้เดินตีก็ได้ เช่น ใช้ตีนำกลองชนะ ในขบวนเสด็จพยุหยาตรา หรือตีประโคมประจำพระบรมศพพระศพ และศพเจ้านาย คนตีเปิงมางนำกลองชนะนี้ เรียกว่า “จ่ากลอง” คู่กับคนเป่าปี  ซึ่งเรียกกันว่า “จ่าปี่” แล้วภายหลังนำมาใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์สำหรับตีขัดจังหวะกับตะโพน

ภาพจิตรกรรมในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ  ครั้นกรุงศรีอยุธยามีเปิงมางมาใช้บรรเลงร่วมกับตะโพนอยู่ในวงปี่พาทย์แล้ว

เปิงมางคอก

เปิงมางที่ใช้กันอยู่ในวงปี่พาทย์มอญ  ใช้เปิงมางจำนวน ๗ ลูก มีขนาดลดหลั่นกันลงไป และติดข้าวสุกปสมขี้เถ้า ปิดหน้ากลองแต่ละลูก เทียบเสียงต่ำสูง  แขวนเรียงลำดับไว้เป็นราวล้อมตัวคนตี เรียกกันว่า “เปิงมางคอก” และคอกที่ทำสำหรับแขวนเปิงมางนั้นมีขนาดสูงประมาณ ๖๖ ซม. ความกว้างของวงวัดผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑๑๖ ซม. เปิงมางคอกในวงปี่พาทย์มอญนี้  ใช้ตีขัดสอดประสานกับตะโพนมอญ

สองหน้า

สองหน้า  ก็คือเครื่องหนังอย่างเดียวกับเปิงมาง แต่ขยายให้โตขึ้นกว่าเปิงมาง หน้าข้างหนึ่งกว้างประมาณ ๒๑-๒๔ ซม.  ตีด้วยมือซ้าย  อีกข้างหนึ่งกว้างประมาณ ๒๐-๒๒ ซม. ตีด้วยมือขวายาวประมาณ ๕๕-๕๘ ซม. ติดข้าวสุกผสมขี้เถ้าเพิ่มขึ้นเพื่อถ่วงเสียงให้ต่ำจนคล้ายตะโพนหน้าเท่ง  ปรับปรุงขึ้นใช้แทนตะโพน  ใช้ใบเดียวตีประกอบจังหวะในวงปี่พาทย์ที่บรรเลงประกอบการขับเสภา หรือร้องส่งอย่างสามัญ

ตะโล้ดโป๊ด

ตะโล้ดโป๊ด  เป็นกลองขึ้นหนังสองหน้า  หุ่นกลองทำด้วยไม้แก่นเนื้อแข็งใช้สายหนังโยงเร่งเสียง มีรูปร่างลักษณะและขนาดเช่นเดียวกับเปิงมาง แต่ตัวกลองยาวราวสัก ๗๘ ซม. ซึ่งยาวกว่าสองหน้าประมาณ ๒๐ ซม. หน้ากลองตะโล้ดโป๊ดข้างหนึ่งใหญ่ มีขนาดกว้างประมาณ ๒๐ ซม. ส่วนอีกข้างหนึ่งเล็ก  วัดผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑๗ ซม.  มีหูผูกห้อยทำด้วยหนังอยู่ตรงขอบทางหน้าเล็ก และใช้ตีทางหน้าเล็กนี้

นิยมใช้กันในจังหวัดภาคเหนือของประเทศ  ใช้ตีคู่กับกลองแอว์ สำหรับเข้ากระบวนแห่  ใช้ตีประกอบการฟ้อนกับใช้บรรเลงในการเล่นเพลงพื้นเมืองทางภาคเหนือ เสียงของกลองตะโล้ดโป๊ดต้องเทียบให้เข้ากับฆ้องหุ่ย และเมื่อบรรเลงเคลื่อนที่ในกระบวนแห่เขาใช้ร้อยหูหิ้วที่ขอบหน้ากลองทางด้านหน้าเล็กผูกห้อยติดกับกลองแอว์  ซึ่งมีคนห้ามและคนเดินตีไปด้วย

บัณเฑาะว์

ดนตรีชนิดนี้มาจากอินเดีย บัณเฑาะว์ของไทยตัวกลองทำด้วยไม้จริงขนาดเล็กพอมือถือ หัวและท้ายใหญ่ตรงกลางคอด รูปเหมือนพานแว่นฟ้ายาวราว ๑๕ ซม.  หน้ากว้างประมาณ ๑๔ ซม. มีสายโยงเร่งเสียง ใช้เชือกร้อยโยงห่าง ๆ มีสายรัดอกตรงคอดและตรงสายรัดอกนั้นมีหลักยาวอันหนึ่ง รูปเหมือนยอดเจดีย์ทำด้วยไม้หรืองายาวประมาณ ๑๓ ซม. ตรงปลายหลักใช้เชือกผูก ปลายเชือกอีกข้างหนึ่งผูกลูกตุ้ม กลองชนิดนี้ไม่ใช้ตีด้วยไม้หรือด้วยมือแต่ใช้มือถือไกว คือ พลิกข้อมือกลับไปกลับมาให้ลูกตุ้มที่ปลายเชือกโยนตัวไปมากระทบตรงหนังหน้ากลองทั้งสองข้าง  ใช้เป็นจังหวะในการบรรเลงประกอบ “ขับไม้” ในงานพระราชพิธี เช่น ขับกล่อมสมโภชพระมหาเศวตฉัตร สมโภชพระยาช้างเผือกและช้างสำคัญ เป็นต้น

กลองยาว

กลองยาว  เป็นกลองขึ้นหนังหน้าเดียว  ตัวกลองทำด้วยไม้จริง เช่นไม้มะม่วง ตอนหน้าใหญ่ ตอนท้ายมีลักษณะเรียว แล้วบานปลายเป็นรูปดอกลำโพง  มีหลายขนาด  ตรงกลางของหน้ากลองติดข้าวสุกบดผสมขี้เถ้าถ่วงเสียง  ตัวกลองยาวนั้นมักนิยมตบแต่งกันให้สวยงามด้วยหุ้มผ้าสีหรือผ้าดอกเย็บจีบย่น ๆ และปล่อยเชิงเป็นระบายห้อยลงมาปกตัวกลอง  มีสายสะพายผูกข้างหนึ่งที่หูห่วงริมขอบกลองอีกข้างหนึ่งผูกไว้ที่หางสำหรับคล้องสะพายบ่า  ใช้ตีด้วยมือ  แต่ผู้เล่นโลดโผนใช้กำปั้นตี ศอกถอง ศีรษะโหม่ง เข่ากระทุ้ง ส้นเท้ากระแทกก็มี  ชาวไทยเรานิยมนำมาเล่นในงานที่มีกระบวนแห่ เช่น บวชนาค และทอดกฐิน เป็นต้น  และนิยมเล่นเป็นที่รื่นเริงสนุกสนานในเทศกาลสงกรานต์ วงหนึ่ง ๆ จะใช้กลองหลายลูกก็ได้ เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงร่วมมีฉิ่ง ฉาบเล็ก กรับ และโหม่ง เรียกการเล่นชนิดนี้ว่า “เถิดเทิง” หรือ “เทิงบ้องกลองยาว”

กลองแอว์

กลองแอว์  เป็นกลองขึ้นหนังหน้าเดียว  ตอนที่เป็นตัวกลองตลอดถึงหน้ากลองที่ขึ้นหนังกว้างใหญ่ เอวคอด ตอนท้ายเรียวและบานปลาย คล้ายดอกลำโพง แต่กลึงควั่นตอนหางกลองเป็นปล้อง ๆ ให้ดูสวยงามและที่เรียกว่ากลองแอว์ ก็หมายความว่า กลองมีสะเอวนั่นเอง แอว์ก็คือเอว มีขนาดใหญ่และยาวกว่า “กลองยาว” มาก บางลูกมีขนาดยาวถึง ๓ เมตรเศษ มีประจำตามวัดในจังหวัดภาคเหนือเกือบทุกอาราม  คงจะใช้ตีเป็นสัญญาณประจำวัด เช่นตีเป็นกลองเพล ตีเป็นสัญญาณชุมนุมสงฆ์ในพิธีสังฆกรรมและนอกจากใช้ในวัดดังกล่าวข้างต้น  โดยปกติก็ใช้บรรเลงร่วมกับกลองตะโล้ดโป๊ด และเครื่องดนตรีอื่น ๆ ประกอบการเล่นพื้นเมือง เช่น ฟ้อนเทียน ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเมือง และใช้ตีเข้ากระบวนแห่เคลื่อนที่ในงานพิธีที่เรียกว่า “ปอยหลวง” มีงานแห่ครัวทานเป็นต้น และในงาน “ปอยลูกแก้ว” คืองานบวชเณรซึ่งถือเป็นงานสำคัญมาก

กลองมริกัน

กลองมริกันเข้าใจว่าเรียกเพี้ยนมาจากกลองอเมริกันได้แก่ Bass Drum และพวกคณะละครได้นำมาตีในการเล่นละคร  เรื่องพระอภัยมณี ตอนอุศเรนและนางละเวง วัณฬยกทัพ เมื่อสมัยปลายรัชกาลที่ ๕ แต่นั้นยี่เกก็นำไปใช้จึงเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายต่อมา

มโหระทึก

มโหระทึกเป็นชื่อของกลองชนิดหนึ่ง  แต่เป็นกลองหน้าเดียวและหล่อด้วยโลหะ  มิใช่กลองขึงด้วยหนัง เช่นกล่าวมาข้างต้น  กลองชนิดนี้ใช้โลหะผสม ประกอบด้วยทองแดง ตะกั่ว และดีบุก ผสมอย่างละมากน้อยตามเกณฑ์ที่ช่างกำหนด  แล้วหลอมให้เข้ากันหล่อลงในแบบที่ทำไว้  แบบเก่าที่สุดพบในประเทศเขมรและท้องที่ใกล้เคียง กลองแบบนี้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติของเราก็มีอยู่หลายลูกและหลายขนาด หน้ากว้างวัดผ่านศูนย์กลาง ๖๕ ซม. ตัวกลองสูง ๕๓ ซม. ก้นกว้าง ๗๐.๕ ซม. และเอว ๕๐ ซม. คอดเป็นเส้นโค้ง (มิใช่เป็นเส้นตั้ง) บนหน้ากลองแถบใกล้ขอบมีหอยโข่ง ๔ ตัว ประจำ ๔ ทิศ แต่กลองมโหระทึกของเราที่ใช้ตีกันอยู่ในงานพิธีต่าง ๆ ทั้งในงานหลวงและงานราษฎร์ เป็นกลองที่มีกบอยู่บนหน้ากลองประจำ ๔ ทิศ

บนหน้ากลองเหล่านี้ ตรงกลางทำเป็นรูปดาวมีแฉก บางชนิดก็ทำดาวนูนกลาง ขอบดาวลาด

กังสดาล

คือ ระฆังวงเดือนทำด้วยโลหะทองเหลืองแบน ๆ รูปเสี้ยวดวงจันทร์ ปัจจุบันพบทั่วไปตามวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือ สมัยโบราณจัดเข้าเป็นเครื่องประโคมอย่างหนึ่งในราชพิธี วิธีที่ใช้ไม้สำหรับตี ตีที่ใบระฆัง ให้หมุนเป็นลูกข่างตีเป็นระยะ ๆ ห่าง ๆ เสียงแหลมเล็ก

เครื่องตี:เครื่องตีที่ทำด้วยไม้

เครื่องตีที่ทำด้วยไม้

เกราะ

เกราะ โดยปกติทำด้วยกระบอกไม้ไผ่  ตัดกระบอกไม้ไผ่มาทั้งปล้องไว้ข้อหัวท้ายแล้วคว้านกระบอกผ่าบากท้องปล้องยาวไปตามลำ  และใช้ตีด้วยไม้ตีอีกอันหนึ่ง  ทำด้วยซีกไม้ไผ่หรือไม้แก่น มือหนึ่งถือเกราะ  อีกมือหนึ่งถือไม้ตี  ใช้ถือตีเหมือนตีกระบอกหรือเคาะไม้ก็ได้อย่างที่พูดกันว่า “ตีเกราะเคาะไม้”

โกร่ง

โกร่ง ทำด้วยลำไม้ไผ่เหมือนกันจะเรียกว่าเกราะยาวก็ได้  เพราะใช้ลำไม้ไผ่ยาวประมาณวาหนึ่งหรือสองวา ปาดเป็นรูปยาวไปตามปล้องไม้ไผ่หรือเว้นตรงข้อก็ได้ ปากทั้งสองข้างหรือข้างเดียว แต่สลับปล้องกันก็ได้ เพื่อให้ตีเกิดเสียงดังก้องขึ้น  เวลาตีใช้วางลำราบไปตามพื้น มีไม้รองหัวท้าย ไม้ตีจะใช้ซีกไม้ไผ่เหลาให้เกลี้ยงเกลา  ขนาดยาวราวสัก ๓๐-๔๐ ซม.

กรับคู่

ก.  กรับทำด้วยไม้ไผ่ผ่าซีก เหลาให้เรียบและเกลี้ยงเกลา รูปร่างแบนตามซีกไม้ไผ่และหนาตามขนาดของเนื้อไม้ เช่น หนาสัก ๑.๕ ซม. กว้างสัก ๓-๔ ซม. และยาวประมาณ ๔๐ ซม. ทำเป็น ๒ อัน หรือคู่ ใช้ตีให้ผิวกระทบกันทางด้านแบน เกิดเสียงได้ยินเป็น “กรับ-กรับ-กรับ”

ข.  กรับพวง กรับอีกชนิดหนึ่งตอนกลางทำด้วยไม้บาง ๆ หรือด้วยแผ่นทองเหลือง  หรือด้วยงาหลาย ๆ อัน และทำไม้แก่นหรืองา ๒ อัน เจาะรูตอนหัว ร้อยเชือกประกบไว้สองข้างอย่างด้ามพัด  เมื่อตีใช้มือหนึ่งถือตรงหัวทางเชือกร้อย แล้วฟาดอีกข้างหนึ่งลงบนอีกฝ่ามือหนึ่ง  กรับพวงนี้ ที่สร้างขึ้นแต่เดิมด้วยมีความมุ่งหมายมาอย่างไรไม่ปรากฎ  แต่คงใช้เป็นอาณัติสัญญาณ เช่นในการเสด็จออกเป็นพระราชพิธีของพระเจ้าแผ่นดิน อย่างที่เรียกว่า “รัวกรับ” และต่อมาก็ใช้กรับพวงตีเป็นจังหวะในการขับร้องเพลงเรือ, ดอกสร้อยสักวา และใช้ในการบรรเลงมีขับร้องและในการแสดงนาฏกรรมด้วย

ค.  กรับเสภา กรับเสภา ทำด้วยไม้แก่น และโดยปกติทำด้วยไม้ชิงชันยาวประมาณ ๒๐ ซม.  หนาประมาณ ๕ ซม. เหลาเป็นรูป ๔ เหลี่ยม แต่ลบเหลี่ยมเสียนิดหน่อยเพื่อให้สามารถกลิ้งตัวของมันเองกลอกกระทบกันได้สะดวกใช้ประกอบในการขับเสภา  ซึ่งผู้กล่าวขับคนหนึ่ง  จะต้องใช้กรับจำนวน ๔ อัน หรือ ๒ คู่ ถือเรียงไว้ในฝ่ามือของตนข้างละคู่กล่าวขับไปพลางมือทั้งสองแต่ละข้างก็ขยับกรับแต่ละคู่ในมือ  แต่ละข้างให้กลอกกระทบกันเข้าจังหวะกับเสียงขับไปพลาง

ระนาด(เอก)

ระนาด เป็นเครื่องตีชนิดหนึ่งวิวัฒนาการมาจากกรับ คือ ทำอย่างกรับหลาย ๆ อัน  ประดิษฐ์ให้มีขนาดลดหลั่นกัน  และทำรางรองให้อุ้มเสียงได้แล้วใช้เชือกร้อย “ไม้กรับ” ขนาดต่าง ๆ นั้นให้ติดกัน ขึงแขวนไว้บนราง ใช้ไม้ตีเกิดเสียงกังวานลดหลั่นกันตามต้องการ ใช้เป็นเครื่องบรรเลงทำนองเพลงได้  ต่อมาก็ประดิษฐ์แก้ไขตัดแต่งและใช้ขี้ผึ้งกับตะกั่วผสมกันติดหัวท้ายของไม้กรับ ถ่วงเสียงให้เกิดไพเราะยิ่งขึ้น “ไม่กรับ” ที่ประดิษฐ์ขึ้นเป็นขนาดต่าง ๆ เรียกว่า “ลูกระนาด” และเรียกลูกระนาดที่ร้อยเชือกเข้าไว้เป็นแผ่นเดียวกันว่า “ผืน” ลูกระนาดชนิดที่ทำด้วยไผ่บงนั้น นิยมกันมากว่าได้เสียงเพราะดี ทำรางเพื่อให้อุ้มเสียงเป็นรูปคล้ายลำเรือ ทางหัวและท้ายโค้งขึ้น เรียกว่า “ราง(ระนาด)” เรียกแผ่นไม้ปิดหัวและท้ายรางระนาดว่า “โขน” และเรียกรวมทั้งรางและผืนรวมกันเป็นลักษณะนามว่า “ราง”

ระนาดเอกในปัจจุบันมีจำนวน ๒๑ ลูก ลูกต้น ขนาดยาวราว ๓๙ ซม. กว้างราว ๕ ซม. และหนา ๑.๕ ซม. ลูกต่อมาก็ลดหลั่นกันลงไปจนลูกที่ ๒๑ หรือลูกยอด มีขนาดยาว ๒๙ ซม. ลูกระนาดเหล่านั้นร้อยเชือกแขวนบนรางและรางนั้นวัดจาก “โขน” หัวรางข้างหนึ่งถึง “โขน” อีกข้างหนึ่ง ประมาณ ๑๒๐ ซม. มีเท้ารองรางตรงส่วนโค้งตอนกลางเป็นเท้าเดี่ยวรูปอย่างพานแว่นฟ้า

ระนาดทุ้ม

ระนาดทุ้ม  เป็นเครื่องดนตรีที่คิดสร้างกันขึ้นในรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์เลียนแบบระนาดเอก  แต่เหลาลูกระนาดให้มีขนาดกว้างและยาวกว่า และประดิษฐ์รางให้มีรูปร่างต่างจากรางระนาดเอก คือมีรูปคล้ายหีบไม้  แต่เว้นกลางเป็นทางโค้งมี “โขน” ปิดทางด้านหัวและด้านท้าย  วัดจากปลายโขนทางหนึ่งไปยังอีกทางหนึ่ง ยาวประมาณ ๑๒๔ ซม. ปากรางกว้างประมาณ ๒๒ ซม. มีเท้าเตี้ย ๆ รอง ๔ มุมราง ลูกระนาดทุ้มมีจำนวน ๑๗ หรือ ๑๘ ลูก  ลูกต้นยาวประมาณ ๔๒ ซม. กว้าง ๖ ซม. และลูก ยอดมีขนาดยาว ๓๔ ซม. กว้าง ๕ ซม. ไม้ตีก็ประดิษฐ์แตกต่างออกไปด้วย  เพื่อต้องการให้มีเสียงทุ้มเป็นคนละเสียงกับระนาดเอก

ระนาดทอง หรือระนาดเอกเหล็ก

ระนาดทอง หรือระนาดเอกเหล็กนี้มีตำนานว่า คณาจารย์ทางดุริยางค์ศิลปคิดประดิษฐ์ขึ้นในรัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร์ ลูกระนาดแต่เดิมทำด้วยทองเหลือง จึงเรียกกันมาว่า ระนาดทอง ต่อมามีผู้ทำลูกระนาดด้วยเหล็กจึงเรียกว่า ระนาดเอกเหล็ก ทั้งระนาดทองและระนาดเหล็ก  ใช้วางเรียงบนรางไม้มีผ้าพันไม้  หรือใช้ไม้ระกำวางดาดไปตามขอบรางสำหรับรองหัวท้ายลูกระนาด แทนร้อยเชือกผูกแขวนอย่างลูกระนาดที่ทำด้วยไม้ ระนาด ๒ ชนิดนี้ทั้งที่ทำลูกด้วยทองเหลืองและเหล็ก  มีจำนวน ๒๐ หรือ ๒๑ ลูก ลูกต้นยาวประ ๒๓.๕ ซม. และกว้างประมาณ ๕ ซม. ลูกยอดยาวประมาณ ๑๙ ซม. และกว้างประมาณ ๔ ซม. รางไม้ที่ใช้วางลูกระนาดนั้น ทำเป็นรูปหีบสี่เหลี่ยมแต่ยาวประมาณ ๑ เมตร ปากรางแคบกว่าส่วนยาวของลูกระนาด มีขอบกั้นหัวท้ายลูกระนาด  ถ้านับความกว้างรวมทั้ง ๒ ข้างด้วยก็ราว ๑๘ ซม. เบื้องล่างของรางทำเท้ารอง ๔ เท้า ติดลูกล้อ

ระนาดทุ้มเหล็ก

ระนาดทุ้มเหล็ก  เป็นเครื่องตีที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  สมเด็จพระอนุชาธิราชในรัชกาลที่ ๔ ได้ทรงพระราชดำริให้สร้างเพิ่มเติมอีกแบบหนึ่ง  โดย “ถ่ายทอดมาจากหีบ เพลงฝรั่งอย่างเป็นเครื่องเขี่ยหวีเหล็ก” ลูกทำเขื่องกว่าระนาดทองหรือระนาดเอกเหล็กเพื่อเป็นเสียงทุ้มเลียนอย่างระนาดทุ้ม มีจำนวน ๑๖ หรือ ๑๗ ลูก ลูกต้นยาวประมาณ ๓๕ ซม. กว้างประมาณ ๖ ซม. ลูกอื่นก็ย่อมลงไปตามลำดับ จนถึงถูกยอดยาวประมาณ ๒๙ ซม. กว้างประมาณ ๕.๕ ซม. ตัวรางระนาด ยาวประมาณ ๑ เมตรปากกว้างประมาณ ๒๐ ซม. มีชานยื่นออกไป ๒ ข้างราง ถ้านับส่วนกว้างรวมทั้งชาน ๒ ข้างด้วย ก็ประมาณ ๓๖ ซม. มีเท้ารองติดลูกล้อ ๔ เท้า ตัวรางสูงจากพื้นถึงขอบบน (รวมทั้งเท้าด้วย) สูง ๒๖ ซม.

ศาลหลักเมือง:ประวัติความเป็นมาของศาลหลักเมือง

ศาลหลักเมือง


เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงรับอัญเชิญเสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติ  เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ แล้ว  ก็โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระนครมายังฝั่งตรงข้ามกับกรุงธนบุรี  มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระยาธรรมาธิกรณ์และพระยาวิจิตรนาวี  เป็นแม่กองก่อสร้างพระมหานคร  และพระบรมมหาราชวัง  ได้มีพิธียกเสาหลักเมืองขึ้นเมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕  เวลาย่ำรุ่ง ๕๔ นาที

การฝังเสาหลักเมืองมีพิธีตามตำรา  เรียกว่า  พระราชพิธีนครสถานโดยเฉพาะ  เอาไม้ชัยพฤกษ์มาทำเป็นเสาหลักเมือง  เอาไม้แก่นประดับนอก  กำหนดให้ความสูงของเสาเมื่ออยู่พ้นดินแล้ว ๑๐๘ นิ้ว  ฝังลงไปในดิน ๗๙ นิ้ว  มีเม็ดยอดสวมลงบนยอดหลังคาลงรักปิดทอง  ล้วงภายในไว้เป็นช่องสำหรับบรรจุดวงพระชันษา(ชะตา) พระนคร (เมือง)

หลักเมืองในสมัยต้น ๆ ไม่ได้มีสิ่งก่อสร้างปกคลุมเหมือนอย่างทุกวันนี้  คงเป็นเพียงศาลาปลูกไว้กันแดดกันฝนเท่านั้น  และมีแต่เสาหลักเมืองอย่างเดียว  ไม่มีเทวดาต่าง ๆ เข้ารวมอยู่เหมือนปัจจุบันคงจะปล่อยกันตามบุญตามกรรมไม่ได้ซ่อมแซมหลายรัชกาล  ปรากฎชำรุดมากในสมัยรัชกาลที่ ๔  จึงโปรดเกล้าฯ ให้ทำขึ้นใหม่  ประกอบพิธีพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม  แล้วบรรจุดวงพระชาตาเมืองให้เรียบร้อย  ลงด้วยแผ่นทองคำหนัก ๑ บาท  แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ก่อศาลาขึ้นใหม่ให้เป็นยอดปรางค์ตามแบบอย่างศาลาที่พระนครศรีอยุธยา  คือแบบที่เห็นกันในปัจจุบัน