เครื่องดนตีประเภท:เครื่องเป่า

เครื่องเป่า

ขลุ่ย

ขลุ่ย  คงจะเป็นเครื่องเป่าดั้งเดิมของไทยคิดทำขึ้นเอง  แต่รูปร่างไปเหมือนกับ “มุราลี” ของอินเดีย  ขลุ่ยของเราทำด้วยไม้รวกปล้องยาว ๆ ไว้ข้อทางปลายแต่เจาะทะลุข้อและใช้ไฟย่างให้แห้งตบแต่งผิวให้ไหม้เกรียมเป็นลวดลายสวยงาม  ด้านหน้าเจาะรูกลม ๆ เรียงแถวกัน ๗ รู  สำหรับนิ้วปิดเปิดเพื่อเปลี่ยนเสียง ตรงที่ใช้เป่าไม่มีลิ้นอย่างลิ้นปี่  เขาทำไม้อุดเต็มปล้องแต่ปาดด้านล่างไว้ ด้านหนึ่งให้มีช่องไม้อุดนั้นเรียกกันว่า “ดาก” ด้านหลังใต้ดากลงมาปากตอนล่างเป็นทางเฉียง  ไม่เจาะทะลุตรงเหมือนด้านข้างและด้านหน้า รูนี้เรียกว่า “รูปากนกแก้ว” ใต้รูปากนกแก้วลงมาเจาะรูอีก ๑ รู เรียกว่า “รูนิ้วค้ำ” เพราะเวลาเป่า  ต้องเอานิ้วหัวแม่มือค้ำปิดเปิดที่รูนั้น  เหนือรูนิ้วค้ำเบื้องหลังและเหนือรูบนของ ๗ รูด้านหน้าแต่ อยู่ทางด้านขวาเจาะรูอีกรูหนึ่งเรียกว่า “รูเยื่อ” เพราะโดยปรกติ แต่ก่อนใช้เยื่อในปล้องไม้ไผ่ ปิดรูนั้น ทางปลายเลาของขลุ่ย มีรูอีก ๔ รู เจาะตรงกันข้าม แต่เหลื่อมกันเล็กน้อย รูหน้ากับรูหลังตรงกันแต่อยู่สูงขึ้นมานิดหน่อย รูขวารูซ้ายเจาะตรงกันอยู่ใต้ลงไปเล็กน้อย  รูขวากับรูซ้ายนี้ โดยปรกติใช้ร้อยเชือกสำหรับแขวนเก็บหรือคล้องมือถือ  จึงเลยเรียกกันว่า “รูร้อยเชือก” รวมทั้งหมดขลุ่ยเลาหนึ่งมี ๑๔ รูด้วยกัน

ขลุ่ย  นอกจากเป่าเล่นเป็นการบันเทิงแล้ว  ยังใช้เป่าร่วมในวงเครื่องสายและวงมโหรีกับในวงปี่พาทย์  ไม้นวมและวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์อีกด้วย

ขลุ่ยมี ๓ ชนิด คือ

ก.  ขลุ่ยหลีบ

ข.  ขลุ่ยเพียงออ

ค. ขลุ่ยอู้

ปี่

ปี่  เห็นจะเป็นเครื่องดนตรีของไทยแท้  ชาวไทยเรารู้จักประดิษฐ์ขึ้นใช้มาแต่ก่อนเก่า  เพราะวิธีเป่าและลักษณะการเจาะรู  ไม่เหมือนหรือซ้ำแบบกับเครื่องเป่าของชาติใด ๆ ตามปรกติทำด้วยไม้แก่นหรือไม้จริง เช่น ไม้ชิงชัน และไม้พะยุง  กลึงให้เป็นรูปบานหัวบานท้ายและตรงกลางป่องเจาะภายในกลวงตลอดเวลา  ทางหัวที่ใส่ลิ้นเป็นช่องรูเล็ก ทางปลายปากรูใหญ่ตอนหัวและตอนท้ายนี้เขาเอาชันหรือวัตถุอย่างอื่นมาหล่อเสริมขึ้นอีกราวข้างละครึ่ง ซม. เรียกว่า “ทวน” ทางหัวเรียกว่า “ทวนบน” และทางท้ายเรียกว่า “ทวนล่าง”  ตอนป่องกลางนั้นเจาะรูนิ้วสำหรับเปลี่ยนเสียงเรียงลงมาตามข้างเลาปี่ ๖ รู คือ รูตอนบนเจาะเรียงลงมา ๔ รู แล้วเว้นระยะเล็กน้อยเจาะรูล่างอีก ๒ รู  ตอนกลางเลาตรงป่องกลางมักกลึงขวั้นเป็นเกลียวคู่ ๑๔ คู่ไว้ระยะพองามที่รูเป่าตอนทวนบนใส่ลิ้นปี่สำหรับเป่าลิ้นปี่ทำด้วยใบตาลซ้อน ๔ ชั้น  ตัดกลมผูกติดกับท่อลมเล็ก ๆ ซึ่งเรียกว่า “กำพวด” เรียวยาวสัก ๕ ซม. กำพวดนี้ทำด้วยทองเหลือง หรือด้วยเงิน ด้วยนาคหรือโลหะอย่างอื่น

ปี่ชนิดนี้ แต่เดิมคงจะใช้เป่านำวงดนตรีสำหรับบรรเลงประกอบการเล่นหนัง(ใหญ่) ประกอบการแสดงโขนและละครนอก เรียกปี่นอกมีระดับเสียงสูง  ต่อมาเมื่อมีการปรับปรุงละครใน จึงแก้ไขเครื่องดนตรีให้เหมาะสมกับผู้หญิงแสดง เรียก ปี่ใน มีระดับเสียงต่ำ ส่วนปี่ที่ใช้เป่าประกอบการเล่นหนัง (ใหญ่) ซึ่งมีขนาดและสำเนียงอยู่กลางระหว่างปี่นอกกับปี่ในนั้น เรียกว่า “ปี่กลาง”

ปี่อ้อ

ปี่อ้อ เป็นปี่โบราณของไทยอย่างหนึ่ง ตัวปี่(เลา) ทำด้วยไม้รวกปล้องเดียวไม่มีข้อยาวประมาณ ๒๔ ซม. เขียนลวดลายด้วยการลนไฟให้ไหม้เกรียม เฉพาะที่ต้องการหัวท้ายเลี่ยมด้วยทองเหลืองหรือเงินเพื่อป้องกันมิให้แตกเจาะรูสำหรับปิดเปิดนิ้วเรียงตามลำดับด้าน ๗ รู และมีรูนิ้วค้ำด้าน หลัง ๑ รู เช่นเดียวกับขลุ่ย  ลิ้นทำด้วยไม้อ้อลำเล็ก ๆ เป็นเครื่องดนตรีที่ร่วมอยู่ในวงเครื่องสายมาก่อน  ขลุ่ยเพียงออและขลุ่ยหลีบ

ปี่ซอ

ปี่ซอ ทำด้วยลำไม้รวก มีขนาดยาวสั้นและเล็กใหญ่ต่าง ๆ ตามแต่เสียงที่ต้องการสำหรับหนึ่ง ๆ มี ๓ เล่ม, ๕ เล่ม หรือ ๗ เล่ม (เรียก “เล่ม” ไม่เรียก “เลา”) ปี่ซอขนาดเล็กยาวประมาณ ๔๕ ซม. ขนาดอื่น ก็โตขึ้นไป

ปี่ซอที่ใช้ ๓ เล่มนั้น เล่มเล็กเป็นปี่เอก เรียกว่า ปี่ต้อย เล่มต่อไปเรียกว่าปี่กลาง  ส่วนเล่มใหญ่ก็เรียกว่า ปี่ใหญ่  ลักษณะของการเล่นอาจแบ่งออกตามทำนองเพลงได้เป็น ๕ อย่าง คือ ๑. ใช้กับทำนองเชียงใหม่มักใช้ “ซึง” ซึ่งเป็นเครื่องดีดชนิดหนึ่ง บรรเลงร่วมด้วย ๒.  ใช้กับทำนองเพลงเงี้ยว จะใช้ปี่ ๓ เล่มล้วนก็ได้ แต่ตามปรกติเขาใช้ปี่เอก หรือปี่ต้อยเล่นร่วมกับ “ซึง” ตัดปี่กลางกับปี่ใหญ่ออก ๓.  ใช้กับเพลงจ๊อย เป็นเพลงรำพันรักสำหรับไปแอ่วสาวใช้สี “สะล้อ” เข้ากับปี่เล็กคือปี่เอกเป็นเครื่องบรรเลงคลอ นิยมเล่นในตอนค่ำ ๆ เวลามีอากาศสดชื่น พวกชายหนุ่มก็พากันไปตามบ้านที่มีสาว แล้วบรรเลงขับร้องหรือไม่ก็พากันเดิน “จ๊อย” ไปตามทางในละแวกบ้าน เพลงจ๊อยนี้เล่นกันเฉพาะแต่หมู่ผู้ชาย  ผู้หญิงไม่ต้องตอบ ๔. ใช้กับทำนองพระลอเป็นการใช้ประกอบในการขับเรื่องพระลอ โดยเฉพาะอีกแบบหนึ่ง  ถ้ายักย้ายนำไปใช้กับเรื่องอื่นมักขัดข้อง ๕. ใช้กับเพลงทำนองพม่า เช่นมีสร้อยเพลง “เซเลเมา”

ปี่ชนิดนี้ เรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า “ปี่จุม” หรือ ปี่ “พายัพ” ชาวไทยในท้องถิ่นจังหวัดลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ และเชียงราย ซึ่งเป็นภาคพายัพของประเทศไทย  นิยมเล่นกันมาก

แคน

แคน  เป็นเครื่องเป่าของชนชาวไทยนิยมเล่นกันมาแต่โบราณ ทำด้วยไม้ซางลำขนาดสักเท่านิ้วมือ  ใส่ลิ้นตรงกลางลำ  และทำลิ้นแบบเดียวกับลิ้นปี่ซอแล้วเอามาเรียงลำดับผูกติดกันเข้าเป็น ๒ แถว ๆ ละ ๗ ลำ เรียงลำใหญ่ไว้เป็นคู่หน้า ลำย่อมไว้เป็นคู่ถัด ๆ ไปรวม ๗ คู่ แคนเลาหนึ่งก็ใช้ไม้ซาง ๑๔ ลำ ทุกลำเจาะข้อทะลุตลอด และต้องเรียงให้กลางลำ ตรงที่ใส่ลิ้นนั้นอยู่ระดับเดียวกัน  แล้วเอาไม้จริงมาถากเจาะรูสำหรับเป่า เรียกว่า “เต้า” หรือ “เต้านม” เอาลำไม้ซางที่เรียงไว้ ๗ คู่นั้น สอดให้เต้าประกบอยู่ตรงที่ใส่ลิ้นไว้  แล้วเอาชันหรือรังแมงขี้สูด หรือขี้ผึ้ง พอกมีให้ลมที่เป่าออกและสูดเข้ารั่ว

แคนของไทยเราอาจเรียกได้ว่า MOUTH ORGAN มีรูปลักษณะตลอดจนวิธีเป่าคล้ายกับของญี่ปุ่น คือ ใช้อุ้งมือทั้งสองประคองตรงเต้าและใช้นิ้วมือปิดเปิดรูไม้ซาง เอาปากเป่าตรงหัวเต้าที่เจาะรูไว้ ชาวไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และพี่น้องชาวลาวในประเทศลาว นิยมใช้เป่าประกอบการเล่นพื้นเมือง ที่เรียกว่าหมอลำหมอแคน

ปี่ไฉน

ปี่ไฉน ทำเป็น ๒ ท่อน ถอดออกจากกันได้  ท่อนบนเรียวยาวเรียกว่า “เลาปี่” ท่อนล่างบานปลายเรียกว่า “ลำโพง” เมื่อนำมาสวมกันเข้า จะมีรูปร่างเรียวบานปลายคล้ายดอกลำโพง ทำด้วยไม้และงาก็มี ยาวประมาณ ๑๙ ซม. ลิ้นปี่ไฉนก็ทำเหมือนลิ้นปี่ไทย คือมีกำพวดปลายผูกลิ้นใบตาล  ตอนที่สอดใส่ในเลาปี่เคียนด้วยเส้นด้าน  แต่เหนือเส้นด้ายที่เคียนนั้น เขาทำ “กระบังลม” แผ่นกลม ๆ บาง ๆ ด้วยโลหะ หรือกะลาสำหรับรองริมฝีปากเพื่อเวลาเป่าจะได้ไม่เมื่อยปาก

ปี่ไฉนนี้ เข้าใจว่า เราได้แบบอย่างมาจากเครื่องดนตรีของอินเดียพบในหนังสือเก่าของเรา เช่น ในโคลงนิราศหริภุญชัย เรียกเครื่องเป่าชนิดนี้ว่า “สละไนย” และในลิลิตยวนพ่าย เรียกว่า “ทรไน”  ส่วนในไตรภูมิพระร่วงพูดถึง “ปี่ไฉนแก้ว” แสดงว่าเราคงรู้จักและนำมาใช้ตั้งแต่สมัยสุโขทัย หรือก่อนนั้น

ปี่ไฉน ที่ไทยนำเอามาใช้ อาจนำไปใช้ในการประโคมคู่กับแตรสังข์ เช่น เวลาพระมหากษัตริย์เสด็จออกในพระราชพิธีนำไปใช้ในกระบวนแห่ซึ่ง “จ่าปี่” ใช้เป่านำกลองชนะในกระบวนแห่พระบรมศพ และศพเจ้านายคู่กับปี่ชวา

ปี่ชวา

ปี่ชวา  ทำเป็น ๒ ท่อนเหมือนปี่ไฉน รูปร่างลักษณะก็เหมือนปี่ไฉนทุกอย่าง แต่มีขนาดยาว ทำด้วยไม้จริงหรืองา ที่ทำต่างจากปี่ไฉนก็คือตอนบนที่ใส่ลิ้นปี่ ทำให้บานออกเล็กน้อยลักษณะของลิ้นปี่มีขนาดยาวกว่าปี่ชวาเล็กน้อย เรานำเอาปี่ชวามาใช้แต่เมื่อไรไม่อาจทราบได้  แต่คงจะนำมาใช้คราวเดียวกับกลองแขก  และเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น  เช่นมีกล่าวถึงใน “ลิลิตยวนพ่าย” ว่า

สรวญศรัพทคฤโฆษฆ้อง

กล้องไชย

ทุมพ่างแตรสังข์ ชวา

ปี่ห้อ

ซึ่งคงจะหมายถึง ปี่ชวา และปี่ห้อหรือปี่อ้อ  ปี่ชวาใช้คู่กับกลองแขก เช่น เป่า ประกอบการเล่นกระบี่กระบองและประกอบการแสดงละครเรื่องอิเหนาตอน รำกริช และใช้ในวงปี่พาทย์นางหงส์  กับใช้ในวงดนตรีที่เรียกว่าวง “ปี่ชวากลองแขก” หรือ วง “กลองแขกปี่ชวา” วงเครื่องสายปี่ชวา และวง “บัวลอย”  ทั้งนำไปใช้เป่าในกระบวนแห่ ซึ่ง “จ่าปี่” เป่านำกลองชนะในกระบวนพยุหยาตราด้วย

ปี่มอญ

ปี่มอญ ทำเป็น ๒ ทอ่นเหมือนปี่ชวา แต่ขนาดใหญ่กว่าและยาวกว่าคอท่อน “เลาปี่” ทำด้วยไม้จริงกลึงจนเรียว ยาวประมาณ ๕๐ ซม. ตอนใกล้หัวเลาปี่ระยะสัก ๖ ซม. กลึงเป็นลูกคั่น ด้านบนเจาะรูเรียงนิ้ว ๗ รู กับมีรูค้ำ ๑ รูด้วย ส่วนท่อน “ลำโพง” ยาวประมาณ ๒๓ ซม. ทำด้วยทองเหลืองหรือโลหะอย่าง  ช่องปากลำใหญ่กว้าง 10 ซม.  ปี่มอญ ใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์มอญ  หรือ  ที่ ปรากฏในหมายรับสั่ง แต่ก่อนเรียกไว้ว่า “ ปีพาทย์รามัญ ”  และบรรเลงร่วมกับกลองแอว์ บางกรณีด้วย

แตร

แตร  เป็นชื่อที่ใช้เรียกเครื่องเป่าชนิดที่ทำด้วยโลหะทั่ว ๆ ไป แตรที่ใช้ในงานพระราชพิธีของไทยแต่โบราณมามี ๒ ชนิดคือ

ก.  แตรงอน

แตรงอนนี้เข้าใจว่าเราได้แบบอย่างมาจากอินเดีย  เพราะอินเดียมีแตรรูปนี้ใช้สำหรับเป่าเป็นสัญญาณในกระบวนแห่และในงานพระราชพิธี  แตรงอนใช้อยู่ในพระราชพิธีของเราทำด้วยโลหะชุบเงิน  และทำเป็น ๒ ท่อน สวมต่อกัน ท่อนเป่าหลอดเป่าลมโค้งเรียวเล็กยาวประมาณ ๒๒ ซม.  ปากตรงที่เป่าทำบานรับริมฝีปาก วัดผ่านศูนย์กลางราว ๓ ซม. ท่อนลำโพงยาวประมาณ ๒๘ ซม. ปากกว้างราว ๗ ซม. มีเส้นเชือกหรือริบบิ้นผูกโยงท่อนเป่ากับท่อนลำโพงไว้ด้วยกัน

ในหนังสือสมุทรโฆษคำฉันท์เรียกแตรงอนว่า “กาหล”  และใช้ประโคมในกระบวนรบ เช่นกล่าวว่า

กึกก้องด้วยกาหลและสังข์

ขประนังทั้งเภรี

และในหนังสือปุณโณวาทคำฉันท์  ก็เรียกว่า “กาหฬ”  ใช้บรรเลงในขบวนพยุหยาตรา ทางชลมารค เช่นกล่าวว่า

เสด็จดลฉนวนพระอรณพ

ขนานน่าวาสุกรี

แตรสังข์ประโคมดุริยดนตรี

มหรธึกและกาหฬ

ข.  แตรฝรั่ง

แตรฝรั่งนั้น  ในหนังสือกฎมนเทียรบาลโบราณเรียกว่า แตรลงโพง ปรากฎในหมายรับสั่งครั้งรัชกาลที่ ๑ เรียกว่า แตรวิลันดา  คงจะเป็นแตรที่ฝรั่งฮอลันดาเป็นชาติแรก  นำเข้ามาให้เรารู้จัก แตรที่ระบุชื่อไว้ว่า แตรลำโพงก็ดี  แตรฝรั่งก็ดี แตรวิลันดาก็ดี คงหมายถึงแตรอย่างเดียวกันนั่นเอง

สังข์

สังข์  เป็นหอยทะเลชนิดหนึ่งเปลือกขรุขระ  ต้องเอามาขัดให้เกลี้ยงเกลาเสียก่อนแล้วเจาะก้นหอยให้ทะลุ เป็นรูเป่า ไม่มีลิ้น ต้องเป่าด้วยริมฝีปากของตนเอง  ปรากฎว่า ในอินเดียนำมาใช้เป็นเครื่องเป่ากันแต่ดึกดำบรรพ์  และนับถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์

เครื่องหนัง: เครื่องตีที่ทำด้วยหนัง

เครื่องหนัง

กลองทัด

เครื่องตีที่ขึงด้วยหนังแทบทุกชนิดของไทย  ดูเหมือนจะเรียกกันว่า “กลอง” แทบทั้งนี้น กลองที่ชาวไทยทำขึ้นใช้ดั้งเดิมเห็นจะเป็นกลองที่ขึงด้วยหนังสองหน้าตรึงหมุดอย่างที่เรียกกันในบัดนี้ว่า “กลองทัด” ตัวกลองทำด้วยไม้แก่นเนื้อแน่นแข็ง ใช้กลึงคว้านข้างในจนเป็นโพรง  ตรงกลางป่องออกนิดหน่อย  ขึ้นหน้าทั้งสองข้างด้วยหนังวัวหรือหนังควายตึงด้วยหมุดซึ่งเรียกว่า “แส้” ทำด้วยไม้หรือด้วยงา หรือกระดูกสัตว์หรือโลหะ  ตรงกลางหุ่นกลองด้านหนึ่งมีห่วงสำหรับแขวน เรียกกันว่า “หูระวิง”  ซึ่งคงจะเพี้ยนมาจาก “กระวิน” กลองชนิดนี้ คงจะเป็นกลองที่ชนชาวไทยนิยมกันมาแต่โบราณคู่กับ “ฆ้อง(โหม่ง)” สร้างขึ้นใช้ในสถานที่และในโอกาสต่าง ๆ กันด้วย  ขนาดใหญ่ เช่นกลองตามวัดวาอารามและตามปูชนียสถาน  และบางแห่งก็แขวนไว้ บางแห่งก็วางนอนไว้บนขาตั้ง เพื่อให้ตีได้ทั้งสองหน้าที่บัญญัติเรียกชื่อเฉพาะขึ้นไว้สำหรับตีเป็นสัญญาณในการนั้น ๆ ก็มี เช่น ที่บัญญัติชื่อไว้ลงท้ายด้วยคำว่า “เภรี” และที่เรียกไปตามประเภทที่ประกอบการแสดงก็มี เช่น กลองโขน กลองหนังแต่ก็คงเป็นกลองรูปร่างอย่างเดียวกัน “กลองทัด” มีขนาดหน้ากว้าง แต่ละหน้าวัดผ่านศูนย์กลางประมาณ ๔๖ ซม. เท่ากันทั้ง ๒ หน้า ตัวกลองยาวประมาณ ๕๑ ซม. รูปทรงกระทัดรัดพองามเวลาใช้บรรเลงตีเพียงหน้าเดียว หน้าหนึ่งติดข้าวสุกผสมกับขี้เถ้าปิดตรงใจกลาง แล้ววางกลองทางหน้านั้นคว่ำตะแคงขอบไว้บนหมอนหนุน  และมีขาหยั่งสอดค้ำตรงหูระวิง  ให้หน้ากลองอีกข้างหนึ่งตะแคงลาดมาทางผู้ตี  ใช้ตีด้วยท่อนไม้ ๒ อัน ทำด้วยซอไม้รวกยาว ๕๐-๕๔ ซม.  แต่ก่อนปีพาทย์วงหนึ่งก็คงใช้กลองเพียงลูกเดียว  แต่ต่อมาในราวรัชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร์นิยมใช้ ๒ ลูก ลูกหนึ่งเสียงสูงเรียกว่า “ตัวผู้” ตีดังเสียง “ตูม” ลูกหนึ่งเสียงต่ำเรียกว่า “ตัวเมีย” ตีเสียงดัง “ต้อม”

ท่านจะสังเกตเห็นหน้ากลองเกือบทุกชนิด  มักจะมีวงดำตรงกลางและทาขอบกลองเป็นสีดำโดยรอบ  นั่น คือ ทาด้วยยางรัก เพื่อเป็นที่หมายตรงศูนย์กลางและเพื่อรักษาหนัง

กลองชาตรี

กลองชาตรี  รูปร่างลักษณะและการตี  เช่นเดียวกับกลองทัดทุกอย่างแต่ขนาดเล็กกว่ามาก  ใช้บรรเลงร่วมในวงปี่พาทย์ประกอบการแสดงละครชาตรี  ที่เรียกว่าปีพาทย์ชาตรีแต่มีชื่อเรียกตามเสียงอีกอย่างหนึ่งว่า “กลองตุ๊ก” มีหน้ากว้างวัดผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒๐ ซม. ยาวประมาณ ๒๔ ซม. แต่ก่อนคงใช้กลองใบเดียว  แต่ต่อมาในตอนหลังนี้ใช้ ๒ ใบ ในครั้งโบราณมีแพร่หลายในจังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย เดี๋ยวนี้ก็ยังคงมีอยู่

ตะโพน

ตะโพน  ในหนังสือเก่าเรียก “สะโพน” รูปร่างคล้ายมุทิงค์ หรือมัททละของอินเดีย

ตะโพนมอญ

ตะโพนมอญ  เหมือนตะโพนไทยทุกอย่าง แต่ใหญ่กว่า “หน้าแท่ง” วัดผ่านศูนย์กลางประมาณ ๔๒ ซม.

“หน้ามัด” ประมาณ ๓๕ ซม. หุ่นยาวประมาณ ๗๐ ซม. และตรงกลางหุ่นไม้ป่อง  ใช้บรรเลงเพลงมอญ  และใช้ในวงปี่พาทย์มอญ

กลองตะโพน

กลองตะโพน คือ ตะโพน ที่กล่าวมาในแล้ว แต่นำมาตีอย่างกลองทัด  โดยใช้ไม้นวมที่ตีระนาดเป็นไม้ตี  มิได้ใช้ฝ่ามือตีอย่างตะโพน  จึงเรียกกันว่า “กลองตะโพน” สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  ทรงนำมาใช้คราวทรงปรับปรุงวงปี่พาทย์สำหรับ ประกอบการแสดงละครดึกดำบรรพ์ขึ้นเมื่อปลายรัชกาลที่ ๕

โทน หรือ ทับ

โทนหรือทับเป็นเครื่องตีขึงหนังหน้าเดียว มีสายโยงเร่งเสียงจากขอบหนังถึงคอมีหางยื่นออกไป  ตอนปลายบานเป็นดอกลำโพง  โทนที่กล่าวนี้บางทีจะเรียกชื่อกันอีกอย่างหนึ่งว่า “ทับ” จึงเรียกควบคู่กันไปเสียเลยว่า “โทนทับ”

ก.  โทนชาตรี

โทนชาตรี  ตัวโทนทำด้วยไม้ เช่น ไม้ขนุน ไม้สัก หรือไม้กระท้อน ขนาดกว้างประมาณ ๑๗ ซม. ยาวประมาณ ๓๔ ซม. สายโยงเร่งเสียงใช้หนังเรียดตีด้วยมือหนึ่ง ส่วนอีกมือหนึ่งคอยปิดเปิดลำโพง  เพื่อช่วยให้เกิดเสียงต่าง ๆ ตามที่ต้องการ  ใช้ตีร่วมในวงปีพาทย์ชาตรี แต่ก่อนคงใช้ลูกเดียวแต่ต่อมาใช้ ๒ ลูก ตี ๒ คน คนละ ๑ ลูก ใช้ตีประกอบการแสดงละครโนห์ราชาตรีและหนังตะลุงและใช้ตีประกอบจังหวะในวงปี่พาทย์หรือวงเครื่องสาย หรือวงมโหรี ที่เล่นเพลงภาษาเขมรหรือตะลุง

ข.  โทนมโหรี

โทนมโหรี ตัวโทนทำด้วยดินเผาด้านที่ขึ้นหนังโตกว่าโทนชาตรี  ขนาดหน้ากว้างประมาณ ๒๒ ซม. ยาวประมาณ ๓๘ ซม.  สายโยงเร่งเสียงใช้ต้นหวายผ่าเหลาเป็นเส้นเล็กหรือใช้ไหมฟั่นเป็นเกลียว  หนังที่ขึ้นหน้าใช้หนังลูกวัว หนังแพะ หนังงูเหลือม หรือหนังงูงวงช้างตีด้วยมือหนึ่ง และอีกมือหนึ่งทำหน้าที่ปิดเปิดทางลำโพงเช่นเดียวกับโทนชาตรี  ใช้บรรเลงในวงเครื่องสายและวงมโหรี เรียกกันว่า โทนมโหรีใช้ลูกเดียว  แต่ตีขัดสอดสลับคู่กับรำมะนา
โทนทั้งสองชนิดดังกล่าวนี้  ใช้ตีประกอบการเล่นพื้นเมืองของไทยอย่างหนึ่ง ตีประกอบการขับร้องและใช้เป็นจังหวะในการฟ้อนรำ เรียกกันว่า “รำโทน”

รำมะนา

รำมะนา  เป็นกลองขึงหนังหน้าเดียวชนิด Tambourinc ขนาดไล่เลี่ยกันเว้นแต่ไม่มี Jingles หรือฉาบคู่ติดตามขอบ หน้ากลองที่ขึ้นหน้าบานผายออก ตัวกลองสั่น รูปร่างคล้ายชามกะละมัง รำมะนาของเรามี ๒ ชนิด คือ รำมะนามโหรี กับ รำมะนาลำตัด

ก.  รำมะนามโหรี

รำมะนาขนาดเล็ก  หน้ากว้างประมาณ ๒๖ ซม. ตัวรำมะนายาวประมาณ ๗ ซม.  หนังที่ขึ้นตรึงด้วยหมุดโดยรอบจะเร่งหรือลดเสียงให้สูงต่ำไม่ได้ แต่มีเชือกเส้นหนึ่งเรียกกันว่า “สนับ” สำหรับใช้หนุนข้างในโดยรอบของหน้า ช่วยให้เสียงสูงและไพเราะได้  ตีด้วยฝ่ามือใช้บรรเลงร่วมในวงมโหรีและเครื่องสาย เป็นเครื่องตีคู่กันกับโทนมโหรี

ข.  รำมะนาลำตัด

รำมะนาอีกชนิดหนึ่ง เป็นขนาดใหญ่หน้ากว้างประมาณ ๔๘ ซม. ตัวรำมะนายาวประมาณ ๑๓ ซม. ขึ้นหนังหน้าเดียว  ใช้เส้นหวายผ่าซีกโยงระหว่างขอบหน้ากับวงเหล็ก  ซึ่งรองกันใช้เป็นขอบของตัวรำมะนา และใช้ลิ่มหลาย ๆ อันตอกเร่งเสียงระหว่างวงเหล็กกับก้นรำมะนา รำมะนาชนิดนี้แต่เดิมใช้ประกอบการร้องเพลง “บันตน” ในตอนหลังนี้ยังใช้ประกอบการเล่น “ลำตัด” และ “ลิเกรำตัด” หรือ “ลิเกรำมะนา” เดี๋ยวนี้รู้จักแพร่หลายที่ใช้ประกอบการเล่นลำตัด วงหนึ่ง ๆ จะมีรำมะนาสักกี่ลูกก็ได้ คนตีนั่งล้อมวงและร้องเป็นลูกคู่ไปด้วย

กลองแขก

กลองแขก  รูปร่างยาวเป็นกระบอกแต่หน้าหนึ่งใหญ่ เรียกว่า “หน้ารุ่ย” กว้างประมาณ ๒๐ ซม. อีกหน้าหนึ่งเล็กเรียกว่า “หน้าต่าน” กว้างประมาณ ๑๗ ซม. หุ่นกลองยาวประมาณ ๕๗ ซม. ทำด้วยไม้จริง หรือไม้แก่น เช่นไม้ชิงชัน หรือไม้มะริด ขึ้นหนัง ๒ หน้า ด้วยหนังลูกวัวหรือหนังแพะ  ใช้เส้นหวายผ่าซีกเป็นสายโยงเร่งเสียง โยงเส้นห่าง ๆ แต่ต่อมาใช้สายหนังโยงก็มี  สำรับหนึ่งมี ๒ ลูก ลูกเสียงสูง เรียกว่า “ตัวผู้” ลูกเสียงต่ำเรียกว่า “ตัวเมีย” ตีด้วยฝ่ามือทั้งสองหน้าให้เสียงสอดสลับกันทั้งสองลูก กลองแบบนี้เรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า “กลองชวา”  ไทยเราคงจะนำกลองชนิดนี้มาใช้ในวงดนตรีของไทยมาแต่โบราณใช้ในขบวนแห่นำเสด็จพระราชดำเนินและใช้บรรเลงร่วมกับปี่ชวา  ประกอบการเล่นกระบี่กระบองเป็นต้น  แล้วภายหลังจึงนำมาใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์ของไทย  ใช้ตีกำกับจังหวะแทนตะโพน ในวงปี่พาทย์ และใช้แทนโทนกับรำมะนาในวงเครื่องสายด้วย

กลองมลายู

กลองมลายู  รูปร่างอย่างเดียวกับกลองแขก  แต่ตัวกลองสั้นกว่าและอ้วนกว่าหน้ากลองก็กว้างกว่า  หน้าด้านใหญ่ กว้างประมาณ ๒๐ ซม.  หน้าด้านเล็ก กว้างประมาณ ๑๘ ซม. ตัวกลองหรือหุ่นยาวประมาณ ๕๔ ซม. สายโยงเร่งเสียงทำด้วยหนัง หน้าใหญ่ใช้ตีด้วยไม้งอ ๆ ส่วนหน้าเล็กตีด้วยฝ่ามือ

ไทยเรานำเอากลองมลายูใช้ในกระบวนแห่ เช่น แห่คเชนทรัศวสนาน แห่พระบรมศพและศพเจ้านาย บรรเลงประโคมศพโดยจัดเป็นชุด ชุดหนึ่งมี ๔ ลูก แล้วภายหลังลดเหลือ ๒ ลูก ลูกที่เป็นเสียงสูง เรียกว่า “ตัวผู้” และลูกเสียงต่ำ เรียกว่า “ตัวเมีย” ใช้บรรเลงในวง “บัวลอย” ในงานศพ และใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์นางหงส์

กลองชนะ

กลองชนะ  เหมือนกลองมลายู แต่ตัวกลองสั้นกว่าและอ้วนกว่า หน้าด้านใหญ่กว้างประมาณ ๒๖ ซม. หน้าด้านเล็ก กว้างประมาณ ๒๔ ซม. ตัวกลองยาว ๕๒ ซม. สายโยงเร่งเสียงใช้หวายผ่าซีกเหมือนกลองแขก แต่ใช้ไม้งอโค้งตีเหมือนกลองมลายู ตัวกลองทาสีปิดทองเขียนลายหน้ากลองก็เขียนหรือปิดด้วยทองหรือเงิน  ทำเป็นลวดลายใช้เป็นเครื่องประโคมในกระบวนเสด็จพยุหยาตรา  และใช้ประโคมพระบรมศพและศพเจ้านาย  โดยใช้กลองชนะหลายลูก  แต่มีกฎเกณฑ์กำหนดจำนวนและชนิดของกลอง ตามฐานันดรศักดิ์ ของศพ และของงานจำนวนกลองชนะที่ใช้บรรเลงตั้งแต่ ๑ คู่ คือ ๒ ลูก ถึง ๒๐๐ ลูก ก็มี

เปิงมาง

เปิงมาง ว่าเป็นคำมอญ เรียกเครื่องหนังชนิดหนึ่ง  ซึ่งแต่เดิมคงเป็นเครื่องดนตรีของมอญ  รูปร่างยาวเหมือนกระบอก แต่ป่องกลางนิดหน่อย หุ่นกลองทำด้วยไม้จริง ขึ้นหนังทั้ง ๒ หน้า ใช้สายโยงเร่งเสียงทำด้วยหนังเรียด ร้อยจากหนัง “ไส้ละมาน” เรียงกันถี่ ๆ จนไม่เห็นไม้หุ่นกลอง และบางทีก็ทำหนังรัดอกเช่นเดียวกับตะโพนหน้าทั้ง ๒ ด้านมีขนาดเกือบเท่ากัน นักดนตรีไทยได้นำเอาเปิงมางมาใช้และสร้างขึ้นมีขนาดหน้าข้างหนึ่งกว้างประมาณ ๑๗ ซม. ต้องติดข้าวสุกบดผสมขี้เถ้า เพื่อให้ได้เสียงที่ต้องการ  ส่วนอีกหน้าหนึ่งกว้างประมาณ ๑๖ ซม. ไม่ต้องติดข้าวสุกผสมขี้เถ้า  ทำตัวกลองรูปยาวกว่าที่ใช้ในวงปี่พาทย์มอญคือยาวประมาณ ๕๔ ซม. มีห่วงหนังผูกโยงสายสำหรับคล้องคอ ใช้เดินตีก็ได้ เช่น ใช้ตีนำกลองชนะ ในขบวนเสด็จพยุหยาตรา หรือตีประโคมประจำพระบรมศพพระศพ และศพเจ้านาย คนตีเปิงมางนำกลองชนะนี้ เรียกว่า “จ่ากลอง” คู่กับคนเป่าปี  ซึ่งเรียกกันว่า “จ่าปี่” แล้วภายหลังนำมาใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์สำหรับตีขัดจังหวะกับตะโพน

ภาพจิตรกรรมในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ  ครั้นกรุงศรีอยุธยามีเปิงมางมาใช้บรรเลงร่วมกับตะโพนอยู่ในวงปี่พาทย์แล้ว

เปิงมางคอก

เปิงมางที่ใช้กันอยู่ในวงปี่พาทย์มอญ  ใช้เปิงมางจำนวน ๗ ลูก มีขนาดลดหลั่นกันลงไป และติดข้าวสุกปสมขี้เถ้า ปิดหน้ากลองแต่ละลูก เทียบเสียงต่ำสูง  แขวนเรียงลำดับไว้เป็นราวล้อมตัวคนตี เรียกกันว่า “เปิงมางคอก” และคอกที่ทำสำหรับแขวนเปิงมางนั้นมีขนาดสูงประมาณ ๖๖ ซม. ความกว้างของวงวัดผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑๑๖ ซม. เปิงมางคอกในวงปี่พาทย์มอญนี้  ใช้ตีขัดสอดประสานกับตะโพนมอญ

สองหน้า

สองหน้า  ก็คือเครื่องหนังอย่างเดียวกับเปิงมาง แต่ขยายให้โตขึ้นกว่าเปิงมาง หน้าข้างหนึ่งกว้างประมาณ ๒๑-๒๔ ซม.  ตีด้วยมือซ้าย  อีกข้างหนึ่งกว้างประมาณ ๒๐-๒๒ ซม. ตีด้วยมือขวายาวประมาณ ๕๕-๕๘ ซม. ติดข้าวสุกผสมขี้เถ้าเพิ่มขึ้นเพื่อถ่วงเสียงให้ต่ำจนคล้ายตะโพนหน้าเท่ง  ปรับปรุงขึ้นใช้แทนตะโพน  ใช้ใบเดียวตีประกอบจังหวะในวงปี่พาทย์ที่บรรเลงประกอบการขับเสภา หรือร้องส่งอย่างสามัญ

ตะโล้ดโป๊ด

ตะโล้ดโป๊ด  เป็นกลองขึ้นหนังสองหน้า  หุ่นกลองทำด้วยไม้แก่นเนื้อแข็งใช้สายหนังโยงเร่งเสียง มีรูปร่างลักษณะและขนาดเช่นเดียวกับเปิงมาง แต่ตัวกลองยาวราวสัก ๗๘ ซม. ซึ่งยาวกว่าสองหน้าประมาณ ๒๐ ซม. หน้ากลองตะโล้ดโป๊ดข้างหนึ่งใหญ่ มีขนาดกว้างประมาณ ๒๐ ซม. ส่วนอีกข้างหนึ่งเล็ก  วัดผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑๗ ซม.  มีหูผูกห้อยทำด้วยหนังอยู่ตรงขอบทางหน้าเล็ก และใช้ตีทางหน้าเล็กนี้

นิยมใช้กันในจังหวัดภาคเหนือของประเทศ  ใช้ตีคู่กับกลองแอว์ สำหรับเข้ากระบวนแห่  ใช้ตีประกอบการฟ้อนกับใช้บรรเลงในการเล่นเพลงพื้นเมืองทางภาคเหนือ เสียงของกลองตะโล้ดโป๊ดต้องเทียบให้เข้ากับฆ้องหุ่ย และเมื่อบรรเลงเคลื่อนที่ในกระบวนแห่เขาใช้ร้อยหูหิ้วที่ขอบหน้ากลองทางด้านหน้าเล็กผูกห้อยติดกับกลองแอว์  ซึ่งมีคนห้ามและคนเดินตีไปด้วย

บัณเฑาะว์

ดนตรีชนิดนี้มาจากอินเดีย บัณเฑาะว์ของไทยตัวกลองทำด้วยไม้จริงขนาดเล็กพอมือถือ หัวและท้ายใหญ่ตรงกลางคอด รูปเหมือนพานแว่นฟ้ายาวราว ๑๕ ซม.  หน้ากว้างประมาณ ๑๔ ซม. มีสายโยงเร่งเสียง ใช้เชือกร้อยโยงห่าง ๆ มีสายรัดอกตรงคอดและตรงสายรัดอกนั้นมีหลักยาวอันหนึ่ง รูปเหมือนยอดเจดีย์ทำด้วยไม้หรืองายาวประมาณ ๑๓ ซม. ตรงปลายหลักใช้เชือกผูก ปลายเชือกอีกข้างหนึ่งผูกลูกตุ้ม กลองชนิดนี้ไม่ใช้ตีด้วยไม้หรือด้วยมือแต่ใช้มือถือไกว คือ พลิกข้อมือกลับไปกลับมาให้ลูกตุ้มที่ปลายเชือกโยนตัวไปมากระทบตรงหนังหน้ากลองทั้งสองข้าง  ใช้เป็นจังหวะในการบรรเลงประกอบ “ขับไม้” ในงานพระราชพิธี เช่น ขับกล่อมสมโภชพระมหาเศวตฉัตร สมโภชพระยาช้างเผือกและช้างสำคัญ เป็นต้น

กลองยาว

กลองยาว  เป็นกลองขึ้นหนังหน้าเดียว  ตัวกลองทำด้วยไม้จริง เช่นไม้มะม่วง ตอนหน้าใหญ่ ตอนท้ายมีลักษณะเรียว แล้วบานปลายเป็นรูปดอกลำโพง  มีหลายขนาด  ตรงกลางของหน้ากลองติดข้าวสุกบดผสมขี้เถ้าถ่วงเสียง  ตัวกลองยาวนั้นมักนิยมตบแต่งกันให้สวยงามด้วยหุ้มผ้าสีหรือผ้าดอกเย็บจีบย่น ๆ และปล่อยเชิงเป็นระบายห้อยลงมาปกตัวกลอง  มีสายสะพายผูกข้างหนึ่งที่หูห่วงริมขอบกลองอีกข้างหนึ่งผูกไว้ที่หางสำหรับคล้องสะพายบ่า  ใช้ตีด้วยมือ  แต่ผู้เล่นโลดโผนใช้กำปั้นตี ศอกถอง ศีรษะโหม่ง เข่ากระทุ้ง ส้นเท้ากระแทกก็มี  ชาวไทยเรานิยมนำมาเล่นในงานที่มีกระบวนแห่ เช่น บวชนาค และทอดกฐิน เป็นต้น  และนิยมเล่นเป็นที่รื่นเริงสนุกสนานในเทศกาลสงกรานต์ วงหนึ่ง ๆ จะใช้กลองหลายลูกก็ได้ เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงร่วมมีฉิ่ง ฉาบเล็ก กรับ และโหม่ง เรียกการเล่นชนิดนี้ว่า “เถิดเทิง” หรือ “เทิงบ้องกลองยาว”

กลองแอว์

กลองแอว์  เป็นกลองขึ้นหนังหน้าเดียว  ตอนที่เป็นตัวกลองตลอดถึงหน้ากลองที่ขึ้นหนังกว้างใหญ่ เอวคอด ตอนท้ายเรียวและบานปลาย คล้ายดอกลำโพง แต่กลึงควั่นตอนหางกลองเป็นปล้อง ๆ ให้ดูสวยงามและที่เรียกว่ากลองแอว์ ก็หมายความว่า กลองมีสะเอวนั่นเอง แอว์ก็คือเอว มีขนาดใหญ่และยาวกว่า “กลองยาว” มาก บางลูกมีขนาดยาวถึง ๓ เมตรเศษ มีประจำตามวัดในจังหวัดภาคเหนือเกือบทุกอาราม  คงจะใช้ตีเป็นสัญญาณประจำวัด เช่นตีเป็นกลองเพล ตีเป็นสัญญาณชุมนุมสงฆ์ในพิธีสังฆกรรมและนอกจากใช้ในวัดดังกล่าวข้างต้น  โดยปกติก็ใช้บรรเลงร่วมกับกลองตะโล้ดโป๊ด และเครื่องดนตรีอื่น ๆ ประกอบการเล่นพื้นเมือง เช่น ฟ้อนเทียน ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเมือง และใช้ตีเข้ากระบวนแห่เคลื่อนที่ในงานพิธีที่เรียกว่า “ปอยหลวง” มีงานแห่ครัวทานเป็นต้น และในงาน “ปอยลูกแก้ว” คืองานบวชเณรซึ่งถือเป็นงานสำคัญมาก

กลองมริกัน

กลองมริกันเข้าใจว่าเรียกเพี้ยนมาจากกลองอเมริกันได้แก่ Bass Drum และพวกคณะละครได้นำมาตีในการเล่นละคร  เรื่องพระอภัยมณี ตอนอุศเรนและนางละเวง วัณฬยกทัพ เมื่อสมัยปลายรัชกาลที่ ๕ แต่นั้นยี่เกก็นำไปใช้จึงเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายต่อมา

มโหระทึก

มโหระทึกเป็นชื่อของกลองชนิดหนึ่ง  แต่เป็นกลองหน้าเดียวและหล่อด้วยโลหะ  มิใช่กลองขึงด้วยหนัง เช่นกล่าวมาข้างต้น  กลองชนิดนี้ใช้โลหะผสม ประกอบด้วยทองแดง ตะกั่ว และดีบุก ผสมอย่างละมากน้อยตามเกณฑ์ที่ช่างกำหนด  แล้วหลอมให้เข้ากันหล่อลงในแบบที่ทำไว้  แบบเก่าที่สุดพบในประเทศเขมรและท้องที่ใกล้เคียง กลองแบบนี้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติของเราก็มีอยู่หลายลูกและหลายขนาด หน้ากว้างวัดผ่านศูนย์กลาง ๖๕ ซม. ตัวกลองสูง ๕๓ ซม. ก้นกว้าง ๗๐.๕ ซม. และเอว ๕๐ ซม. คอดเป็นเส้นโค้ง (มิใช่เป็นเส้นตั้ง) บนหน้ากลองแถบใกล้ขอบมีหอยโข่ง ๔ ตัว ประจำ ๔ ทิศ แต่กลองมโหระทึกของเราที่ใช้ตีกันอยู่ในงานพิธีต่าง ๆ ทั้งในงานหลวงและงานราษฎร์ เป็นกลองที่มีกบอยู่บนหน้ากลองประจำ ๔ ทิศ

บนหน้ากลองเหล่านี้ ตรงกลางทำเป็นรูปดาวมีแฉก บางชนิดก็ทำดาวนูนกลาง ขอบดาวลาด

กังสดาล

คือ ระฆังวงเดือนทำด้วยโลหะทองเหลืองแบน ๆ รูปเสี้ยวดวงจันทร์ ปัจจุบันพบทั่วไปตามวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือ สมัยโบราณจัดเข้าเป็นเครื่องประโคมอย่างหนึ่งในราชพิธี วิธีที่ใช้ไม้สำหรับตี ตีที่ใบระฆัง ให้หมุนเป็นลูกข่างตีเป็นระยะ ๆ ห่าง ๆ เสียงแหลมเล็ก

เครื่องตี:เครื่องตีที่ทำด้วยโลหะ

เครื่องตีที่ทำด้วยโลหะ

ฉิ่ง

ฉิ่ง  เป็นเครื่องดนตรีที่ทำด้วยโลหะ หล่อหนา เว้ากลางปากผายกลม รูปคล้ายถ้วยชาไม่มีก้น  สำรับหนึ่งมี ๒ ฝา แต่ละฝาวัดผ่านศูนย์กลาง ประมาณ ๖ ซม. ถึง ๖.๕ ซม. เจาะรูตรงกลางเว้นสำหรับร้อยเชือก ฉิ่งที่กล่าวนี้ สำหรับใช้ประกอบวงปีพาทย์ ส่วนฉิ่งที่ใช้สำหรับเครื่องสายและวงมโหรี มีขนาดเล็กกว่านั้น คือ วัดผ่านศูนย์กลางเพียง ๕.๕ ซม.

ฉาบ

ฉาบ เป็นเครื่องตีอีกชนิดหนึ่งทำด้วยโลหะเหมือนกัน  รูปร่างคล้ายฉิ่งแต่หล่อบางกว่าฉิ่ง  มีขนาดใหญ่กว่าและกว้างกว่าตอนกลางมีปุ่มกลม ทำเป็นกระพุ้งขนาดวางลงในอุ้งมือ ๕ นิ้ว ขอบนอกแบราบออกไปโดยรอบ และเจาะรูตรงกลางกระพุ้งไว้ร้อยเส้นเชือกหรือเส้นหนังสำหรับถือวัดผ่าศูนย์กลาง รวม ๑๒-๑๔ ซม. ฉาบใหญ่วัดผ่านศูนย์กลางราว ๒๔-๒๖ ซม. ใช้ขนาดละ ๒ อัน หรือขนาดละคู่ ตีกระทบกันให้เกิดเสียงตามจังหวะที่ต้องการ

ฆ้อง

ฆ้อง  เป็นเครื่องตีทำด้วยโลหะเหมือนกัน รูปร่างคล้ายฉาบ คือ มีปุ่มกลมตรงกลางและมีฐานแผ่ออกไปโดยรอบที่ต่างกับฉาบก็คือ หล่อโลหะหนากว่าฉาบ และมีหักงุ้มออกไปเป็นขอบคนละด้านกับปุ่มที่โป่งออกมา  ขอบที่หักงุ้มออกมานั้น เรียกว่า “ฉัตร” และที่ขอบหรือฉัตรนั้นเจาะรู 2 รู ไว้ร้อยเส้นเชือกหรือเส้นหนังสำหรับห้อย  มีไม้ตีต่างหาก ตรงหัวไม้ตีพันผ้าห่อหุ้มและถักหรือรัดด้วย  ใช้ตีตรงปุ่มกลางฆ้องให้เกิดเสียง

ก.  ฆ้องโหม่ง

ฆ้องของเรามีหลายขนาด ขนาดที่มีหน้ากว้างวัดผ่านศูนย์กลางราว ๓๐ ซม. ถึง ๔๕ ซม. ตีได้ยินเสียงเป็น “โหม่ง-โหม่ง” เรียกชื่อตาม เสียงว่า “ฆ้องโหม่ง” หรือ โหม่ง

ข.  ฆ้องชัย

ฆ้องที่สร้างขึ้นเป็นขนาดใหญ่  วัดผ่านศูนย์กลางประมาณ ๘๐ ซม. ก็มีเมื่อตีก็เกิดเสียงก้องกระทบหึ่มเป็นกังวานได้ยินแต่ไกล  ฆ้องชนิดนี้เรียกตามเสียงครวญครางว่า “ฆ้องหมุ่ย” หรือ “ฆ้องหุ่ย” แต่ฆ้องขนาดนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ฆ้องชัย เดี๋ยวนี้ยังนิยมใช้ตีในงานพิธีมงคลต่าง ๆ

นอกจากนี้  ยังมีฆ้องขนาดเล็ก หล่อบาง เรียกกันว่า “ฆ้องกระแต” สำหรับตีขานยามหรือประกาศป่าวร้องอย่างที่เรียกว่า “ตีฆ้องร้องป่าว”  ฆ้องขนาดต่าง ๆ ดังกล่าวมานี้ เป็นฆ้องลูกเดียวที่เรียกว่า “ฆ้องเดี่ยว”

ฆ้องเหม่ง

“ฆ้องเหม่ง” นั้น ใช้เรียกชื่อฆ้องชนิดหนึ่ง ซึ่งหล่อโลหะหนาเกือบ ๑ ซม. หน้ากว้างประมาณ ๑๙ ซม. ฉัตรสูงประมาณ ๖ ซม. ใช้ไม้จริงท่อนกลม ๆ ยาวประมาณ ๑๕ ซม. ตีเดี่ยวในวง การบรรเลงที่เรียกว่า “บัวลอย”

ฆ้องคู่

ฆ้องคู่ คือฆ้อง ๒ ใบ ขนาดเล็กเท่าฆ้องกระแต แต่เนื้อโลหะหนา และขอบฉัตรคุ้มกว่า ใบหนึ่งเสียงสูง อีกใบหนึ่งเสียงต่ำ ไม่แขวนหรือหิ้วตีแต่เจาะรูที่ขอบข้างละ ๒ รู เป็นใบละ ๔ รู ร้อยเส้นเชือกผูกคว่ำเป็นคู่ไว้บนราง  ซึ่งทำด้วยไม้เป็นรูปหีบไม้ สี่เหลี่ยมผืนผ้าฝาปิด ตีตรงปุ่มได้ยินคล้ายเสียงว่า “โหม่ง-เม้ง ๆๆ” เข้าใจว่าประดิษฐ์ขึ้นจากฆ้องเดี่ยว ฆ้องคู่ประเภทนี้ ใช้บรรเลงร่วมวงปี่พาทย์ประกอบการเล่นโนห์ราและละครชาตรี  ซึ่งสันนิษฐานกันว่า  มีมาก่อนหรือร่วมสมัยต้นของกรุงศรีอยุธยาและใช้บรรเลงในการเล่นหนังตะลุงด้วย

ฆ้องราว

ฆ้อง ๓ ใบ มีขนาดลดหลั่นกัน  ใช้แขวนราวเรียงไปตามขนาด เมื่อตีเรียงไปตามลำดับลูกแล้วย้อนกลับ จะได้ยินเป็นเสียง  “โหม่ง-โมง-โม้ง,โม้ง-โมง-โหม่ง”  ใช้บรรเลงในการเล่นมหรสพโบราณชนิดหนึ่งเรียกว่า “ระเบง” หรือเรียกตามคำร้องของกลอน ซึ่งขึ้นต้นวรรคด้วยคำว่า “โอละพ่อ” เลยเรียกฆ้องราว ๓ ใบ ชนิดนี้ว่า “ฆ้องระเบง” เล่นในงานพระราชพิธี

ฆ้องราง

ฆ้องราง เข้าใจว่า ประดิษฐ์มาจากฆ้องคู่  โดยทำรางผูกลูกเรียงหนึ่งไปตามความยาวของราง  และเพิ่มจำนวนลูกให้ครบ ๗ ลูก หรือ ๘ ลูกก็มี  เทียบเสียงเรียงต่ำสูงลดหลั่นกันครบ ๗ เสียง เป็น hoptatonic บรรเลงเป็นทำนองเพลงได้ ฆ้องรางที่กล่าวนี้ บัดนี้ไม่ใช้บรรเลงในวงดนตรีไทย

ฆ้องวงใหญ่

ฆ้องวง เป็นเครื่องตีที่คิดประดิษฐ์สร้างให้วิวัฒนาการมาโดยลำดับ จากฆ้องเดี่ยว(๑๐) และฆ้องคู่(๑๒)แล้วฆ้องราง(๑๔) วงฆ้องใช้ต้นหวายโป่งทำเป็นร้านสูงประมาณ ๒๔ ซม. หวายเส้นนอกกับเส้นในห่างกันประมาณ ๑๔-๑๗ ซม.  ดัดโค้งเป็นวงล้อมไปเกือบรอบตัวคนนั่งตี  เปิดช่องไว้สำหรับทางเข้าด้านหลังคนตี ห่างกันราว ๒๐-๓๐ ซม. พอให้คนตีนั่งขัดสมาธินั่งตีได้สบาย  แล้วเจาะรูลูกฆ้องทางขอบฉัตร ลูกละ ๔ รู ใช้เชือกหนังร้อยผูกกับเรือนฆ้องให้ปุ่มลูกฆ้องหงายขึ้น ผูกเรียงลำดับขนาดลูกต้นไปหาลูกยอดตั้งแต่ใหญ่ไปหาเล็ก เรียงลำดับเสียงตั้งแต่ต่ำไปหาสูง  ฆ้องวงหนึ่งมีจำนวน ๑๖ ลูก ลูกต้นวัดผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑๗ ซม.อยู่ทางซ้ายมือด้านหลังผู้ตี ลูกยอดวัดผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑๒ ซม. อยู่ทางขวามือด้านหลังผู้ตี และใช้ตีด้วยไม้ตีทำทำด้วยแผ่นหนังดิบตัดเป็นวงกลมเจาะกลาง สอดด้ามไม้สำหรับมือถือ วงหนึ่งใช้ไม้ตี ๒ อัน ถือตีข้างละมือ

การประดิษฐ์ฆ้องวงคงเกิดขึ้นก่อนระนาด เพราะมีภาพแกะสลักวงปีพาทย์แต่โบราณมีฆ้องวงแต่ไม่มีระนาด เช่นในครั้งกรุงศรีอยุธยาฆ้องวงคงมีขนาดเดียว  ใช้บรรเลงผสมวงปี่พาทย์

ฆ้องวงเล็ก

ฆ้องวงเล็ก  ปรากฎว่าสร้างกันขึ้นเมื่อรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์  โดยได้มีคณาจารย์ทางดุริยางคศิลป คิดประดิษฐ์ฆ้องวงขึ้นอีกขนาดหนึ่งเหมือนกับวงก่อนทุกอย่าง  แต่ขนาดย่อมกว่าเล็กน้อย  ใช้บรรเลงร่วมในวงปี่พาทย์แต่นั้นมาปี่พาทย์วงหนึ่ง ๆ จะใช้ฆ้อง ๒ วง ก็ได้เรียกฆ้องวงขนาดใหญ่แต่เดิมว่า “ฆ้องวงใหญ่” และฆ้องวงขนาดเล็กที่ประดิษฐ์สร้างขึ้นใหม่นี้เรียกว่า “ฆ้องวงเล็ก” ต่อมาได้ย่อขนาดสร้างขึ้นให้ย่อมลงอีกและใช้บรรเลงในวงมโหรีด้วย

ฆ้องมอญ

“ฆ้องมอญ”  เป็นฆ้องวงตั้งโค้งขึ้นไปทั้งสองข้าง ไม่วางราบไปกับพื้นเหมือนฆ้องไทยร้านฆ้องวงมอญมักประดิษฐ์แต่งกันอย่างสวยงาม เช่นแกะสลักเป็นลวดลายปิดทองประดับกระจกฆ้องมอญวงหนึ่ง ๆ มีจำนวน ๑๕ ลูก สำหรับใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์รามัญหรือปี่พาทย์มอญวงฆ้องมอญนั้นต่อมาก็ได้มีผู้คิดสร้างวงฆ้องมอญขึ้นเป็น ๒ ขนาดเหมือนกัน  คือมีทั้งวงใหญ่และวงเล็ก

วงฆ้องชัย

เมื่อรัชกาลที่ ๕ กรุงรัตนโกสินทร์สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ได้ทรงปรับปรุง วงปี่พาทย์สำหรับประกอบการแสดงละคร “ดึกดำบรรพ์” ได้ทรงนำเอาฆ้องหุ่ย หรือ ฆ้องชัย ๗ ลูก มาปรับเสียงใหม่ให้มีสำเนียงเป็น ๗ เสียง แล้วทำที่แขวนเสียงรอบตัวคนตี  สำหรับตีเป็นจังหวะต่าง ๆ ตามเสียงของทำนองเพลง ประกอบในวงปีพาทย์และเลยเรียกวงปี่พาทย์ที่ทรงปรับปรุงขึ้นสำหรับละครนั้นว่า “ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์”

ฆ้องเดี่ยวก็ดี  ฆ้องคู่ก็ดี ฆ้องราวหรือฆ้องระเบงก็ดี เป็นเครื่องตีให้จังหวะแต่การประดิษฐ์ฆ้องรางและฆ้องวงขึ้น เป็นเหตุให้สามารถเล่นเป็นทำนองได้และฆ้องทุกชนิดถ้าตีแล้วยังเกิดเสียงไม่ได้ที่เขาใช้ขี้ผึ้งผสมกับตะกั่วติดตรงปุ่มกลางด้านในเป็นการถ่วงให้ได้เสียงตามแต่จะต้องการ

เครื่องตี:เครื่องตีที่ทำด้วยไม้

เครื่องตีที่ทำด้วยไม้

เกราะ

เกราะ โดยปกติทำด้วยกระบอกไม้ไผ่  ตัดกระบอกไม้ไผ่มาทั้งปล้องไว้ข้อหัวท้ายแล้วคว้านกระบอกผ่าบากท้องปล้องยาวไปตามลำ  และใช้ตีด้วยไม้ตีอีกอันหนึ่ง  ทำด้วยซีกไม้ไผ่หรือไม้แก่น มือหนึ่งถือเกราะ  อีกมือหนึ่งถือไม้ตี  ใช้ถือตีเหมือนตีกระบอกหรือเคาะไม้ก็ได้อย่างที่พูดกันว่า “ตีเกราะเคาะไม้”

โกร่ง

โกร่ง ทำด้วยลำไม้ไผ่เหมือนกันจะเรียกว่าเกราะยาวก็ได้  เพราะใช้ลำไม้ไผ่ยาวประมาณวาหนึ่งหรือสองวา ปาดเป็นรูปยาวไปตามปล้องไม้ไผ่หรือเว้นตรงข้อก็ได้ ปากทั้งสองข้างหรือข้างเดียว แต่สลับปล้องกันก็ได้ เพื่อให้ตีเกิดเสียงดังก้องขึ้น  เวลาตีใช้วางลำราบไปตามพื้น มีไม้รองหัวท้าย ไม้ตีจะใช้ซีกไม้ไผ่เหลาให้เกลี้ยงเกลา  ขนาดยาวราวสัก ๓๐-๔๐ ซม.

กรับคู่

ก.  กรับทำด้วยไม้ไผ่ผ่าซีก เหลาให้เรียบและเกลี้ยงเกลา รูปร่างแบนตามซีกไม้ไผ่และหนาตามขนาดของเนื้อไม้ เช่น หนาสัก ๑.๕ ซม. กว้างสัก ๓-๔ ซม. และยาวประมาณ ๔๐ ซม. ทำเป็น ๒ อัน หรือคู่ ใช้ตีให้ผิวกระทบกันทางด้านแบน เกิดเสียงได้ยินเป็น “กรับ-กรับ-กรับ”

ข.  กรับพวง กรับอีกชนิดหนึ่งตอนกลางทำด้วยไม้บาง ๆ หรือด้วยแผ่นทองเหลือง  หรือด้วยงาหลาย ๆ อัน และทำไม้แก่นหรืองา ๒ อัน เจาะรูตอนหัว ร้อยเชือกประกบไว้สองข้างอย่างด้ามพัด  เมื่อตีใช้มือหนึ่งถือตรงหัวทางเชือกร้อย แล้วฟาดอีกข้างหนึ่งลงบนอีกฝ่ามือหนึ่ง  กรับพวงนี้ ที่สร้างขึ้นแต่เดิมด้วยมีความมุ่งหมายมาอย่างไรไม่ปรากฎ  แต่คงใช้เป็นอาณัติสัญญาณ เช่นในการเสด็จออกเป็นพระราชพิธีของพระเจ้าแผ่นดิน อย่างที่เรียกว่า “รัวกรับ” และต่อมาก็ใช้กรับพวงตีเป็นจังหวะในการขับร้องเพลงเรือ, ดอกสร้อยสักวา และใช้ในการบรรเลงมีขับร้องและในการแสดงนาฏกรรมด้วย

ค.  กรับเสภา กรับเสภา ทำด้วยไม้แก่น และโดยปกติทำด้วยไม้ชิงชันยาวประมาณ ๒๐ ซม.  หนาประมาณ ๕ ซม. เหลาเป็นรูป ๔ เหลี่ยม แต่ลบเหลี่ยมเสียนิดหน่อยเพื่อให้สามารถกลิ้งตัวของมันเองกลอกกระทบกันได้สะดวกใช้ประกอบในการขับเสภา  ซึ่งผู้กล่าวขับคนหนึ่ง  จะต้องใช้กรับจำนวน ๔ อัน หรือ ๒ คู่ ถือเรียงไว้ในฝ่ามือของตนข้างละคู่กล่าวขับไปพลางมือทั้งสองแต่ละข้างก็ขยับกรับแต่ละคู่ในมือ  แต่ละข้างให้กลอกกระทบกันเข้าจังหวะกับเสียงขับไปพลาง

ระนาด(เอก)

ระนาด เป็นเครื่องตีชนิดหนึ่งวิวัฒนาการมาจากกรับ คือ ทำอย่างกรับหลาย ๆ อัน  ประดิษฐ์ให้มีขนาดลดหลั่นกัน  และทำรางรองให้อุ้มเสียงได้แล้วใช้เชือกร้อย “ไม้กรับ” ขนาดต่าง ๆ นั้นให้ติดกัน ขึงแขวนไว้บนราง ใช้ไม้ตีเกิดเสียงกังวานลดหลั่นกันตามต้องการ ใช้เป็นเครื่องบรรเลงทำนองเพลงได้  ต่อมาก็ประดิษฐ์แก้ไขตัดแต่งและใช้ขี้ผึ้งกับตะกั่วผสมกันติดหัวท้ายของไม้กรับ ถ่วงเสียงให้เกิดไพเราะยิ่งขึ้น “ไม่กรับ” ที่ประดิษฐ์ขึ้นเป็นขนาดต่าง ๆ เรียกว่า “ลูกระนาด” และเรียกลูกระนาดที่ร้อยเชือกเข้าไว้เป็นแผ่นเดียวกันว่า “ผืน” ลูกระนาดชนิดที่ทำด้วยไผ่บงนั้น นิยมกันมากว่าได้เสียงเพราะดี ทำรางเพื่อให้อุ้มเสียงเป็นรูปคล้ายลำเรือ ทางหัวและท้ายโค้งขึ้น เรียกว่า “ราง(ระนาด)” เรียกแผ่นไม้ปิดหัวและท้ายรางระนาดว่า “โขน” และเรียกรวมทั้งรางและผืนรวมกันเป็นลักษณะนามว่า “ราง”

ระนาดเอกในปัจจุบันมีจำนวน ๒๑ ลูก ลูกต้น ขนาดยาวราว ๓๙ ซม. กว้างราว ๕ ซม. และหนา ๑.๕ ซม. ลูกต่อมาก็ลดหลั่นกันลงไปจนลูกที่ ๒๑ หรือลูกยอด มีขนาดยาว ๒๙ ซม. ลูกระนาดเหล่านั้นร้อยเชือกแขวนบนรางและรางนั้นวัดจาก “โขน” หัวรางข้างหนึ่งถึง “โขน” อีกข้างหนึ่ง ประมาณ ๑๒๐ ซม. มีเท้ารองรางตรงส่วนโค้งตอนกลางเป็นเท้าเดี่ยวรูปอย่างพานแว่นฟ้า

ระนาดทุ้ม

ระนาดทุ้ม  เป็นเครื่องดนตรีที่คิดสร้างกันขึ้นในรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์เลียนแบบระนาดเอก  แต่เหลาลูกระนาดให้มีขนาดกว้างและยาวกว่า และประดิษฐ์รางให้มีรูปร่างต่างจากรางระนาดเอก คือมีรูปคล้ายหีบไม้  แต่เว้นกลางเป็นทางโค้งมี “โขน” ปิดทางด้านหัวและด้านท้าย  วัดจากปลายโขนทางหนึ่งไปยังอีกทางหนึ่ง ยาวประมาณ ๑๒๔ ซม. ปากรางกว้างประมาณ ๒๒ ซม. มีเท้าเตี้ย ๆ รอง ๔ มุมราง ลูกระนาดทุ้มมีจำนวน ๑๗ หรือ ๑๘ ลูก  ลูกต้นยาวประมาณ ๔๒ ซม. กว้าง ๖ ซม. และลูก ยอดมีขนาดยาว ๓๔ ซม. กว้าง ๕ ซม. ไม้ตีก็ประดิษฐ์แตกต่างออกไปด้วย  เพื่อต้องการให้มีเสียงทุ้มเป็นคนละเสียงกับระนาดเอก

ระนาดทอง หรือระนาดเอกเหล็ก

ระนาดทอง หรือระนาดเอกเหล็กนี้มีตำนานว่า คณาจารย์ทางดุริยางค์ศิลปคิดประดิษฐ์ขึ้นในรัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร์ ลูกระนาดแต่เดิมทำด้วยทองเหลือง จึงเรียกกันมาว่า ระนาดทอง ต่อมามีผู้ทำลูกระนาดด้วยเหล็กจึงเรียกว่า ระนาดเอกเหล็ก ทั้งระนาดทองและระนาดเหล็ก  ใช้วางเรียงบนรางไม้มีผ้าพันไม้  หรือใช้ไม้ระกำวางดาดไปตามขอบรางสำหรับรองหัวท้ายลูกระนาด แทนร้อยเชือกผูกแขวนอย่างลูกระนาดที่ทำด้วยไม้ ระนาด ๒ ชนิดนี้ทั้งที่ทำลูกด้วยทองเหลืองและเหล็ก  มีจำนวน ๒๐ หรือ ๒๑ ลูก ลูกต้นยาวประ ๒๓.๕ ซม. และกว้างประมาณ ๕ ซม. ลูกยอดยาวประมาณ ๑๙ ซม. และกว้างประมาณ ๔ ซม. รางไม้ที่ใช้วางลูกระนาดนั้น ทำเป็นรูปหีบสี่เหลี่ยมแต่ยาวประมาณ ๑ เมตร ปากรางแคบกว่าส่วนยาวของลูกระนาด มีขอบกั้นหัวท้ายลูกระนาด  ถ้านับความกว้างรวมทั้ง ๒ ข้างด้วยก็ราว ๑๘ ซม. เบื้องล่างของรางทำเท้ารอง ๔ เท้า ติดลูกล้อ

ระนาดทุ้มเหล็ก

ระนาดทุ้มเหล็ก  เป็นเครื่องตีที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  สมเด็จพระอนุชาธิราชในรัชกาลที่ ๔ ได้ทรงพระราชดำริให้สร้างเพิ่มเติมอีกแบบหนึ่ง  โดย “ถ่ายทอดมาจากหีบ เพลงฝรั่งอย่างเป็นเครื่องเขี่ยหวีเหล็ก” ลูกทำเขื่องกว่าระนาดทองหรือระนาดเอกเหล็กเพื่อเป็นเสียงทุ้มเลียนอย่างระนาดทุ้ม มีจำนวน ๑๖ หรือ ๑๗ ลูก ลูกต้นยาวประมาณ ๓๕ ซม. กว้างประมาณ ๖ ซม. ลูกอื่นก็ย่อมลงไปตามลำดับ จนถึงถูกยอดยาวประมาณ ๒๙ ซม. กว้างประมาณ ๕.๕ ซม. ตัวรางระนาด ยาวประมาณ ๑ เมตรปากกว้างประมาณ ๒๐ ซม. มีชานยื่นออกไป ๒ ข้างราง ถ้านับส่วนกว้างรวมทั้งชาน ๒ ข้างด้วย ก็ประมาณ ๓๖ ซม. มีเท้ารองติดลูกล้อ ๔ เท้า ตัวรางสูงจากพื้นถึงขอบบน (รวมทั้งเท้าด้วย) สูง ๒๖ ซม.

โปงลาง:เครื่องดนตรีพื้นบ้านภาคอีสาน

โปงลาง เป็นเครื่องดนตรีที่เล่นกันในภาคอีสานโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่กาฬสินธุ์  ขอนแก่น  และอุบลราชธานี โปงลางเป็นเครื่องดนตรีทำด้วยท่อนไม้ร้อยต่อกันเหมือนกับระนาดประกอบด้วยท่อนไม้ยาวประมาณ ๑ ฟุตเศษ ๑๒ ท่อน(๑๒ เสียง) แต่ไม่มีราง  เวลาจะตีก็เอาสายเชือกแขวนที่ต้นเสาหรือต้นไม้  ให้อีกด้านหนึ่งห้อยลง  เวลาเลิกก็ม้วนเก็บเหมือนม้วนเสื่อ  ดนตรีชนิดนี้เริ่มบริเวณภูพานก่อนที่อื่น  จากนั้นจึงค่อย ๆ แพร่หลายไปยังจังหวัดต่าง ๆ ของอีสาน  ยังสืบหาประวัติดั้งเดิมไม่ได้ว่า โปงลางเริ่มขึ้นเมื่อสมัยใดได้มีผู้สนใจสืบเสาะหาประวัติหลายต่อหลายท่าน แต่ยังไม่สามารถจะยืนยันได้  ทุกท่านก็ได้ข้อมูลมาใกล้เคียงกัน ทั้งนี้เพราะอาศัยหลักฐานปากคือจากคำบอกเล่าของคนแก่คนเฒ่า  จึงใช้วิธีสันนิษฐานเอาเป็นส่วนใหญ่  แต่ก็เป็นข้อสันนิษฐานที่มีเหตุผลเชื่อได้

กำเนิดโปงลาง โปงลางเดิมเป็นชื่อของโปงที่แขวนหรือตั้งบนต่างวัว หมากโปงลางก็เรียก โปงหรือกระดิ่งทำด้วยโลหะหรือไม้  ใช้แขวนคอสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย ม้า เป็นต้น ก็เรียกโปง(ชนิดเล็กเรียกขิก)  ที่เรียกว่าโปงเพราะส่วนล่างปากมันโต  หรือพองออก โป่งออก (หำโปง=หำโต) โปงสำริด พบที่บ้านเชียงมีอายุประมาณ ๕,๐๐๐ – ๖,๐๐๐ ปี มาแล้ว สัตว์ตัวเล็กใช้กระดิ่งแขวน สัตว์ตัวใหญ่ใช้โปงแขวน

นอกจากโปงที่ใช้แขวนคอสัตว์แล้ว โปงยังใช้แทนระฆังในวัดอีกด้วย  โปงของวัดนี้ใหญ่มาก  ขนาดเท่าตัวคน  เจาะขอนไม้ใหญ่ ๆ เป็นโปง  ตีเป็นสัญญาณในวัดทางอีสานทุกวัดเลย ส่วนมากเคาะบอกสัญญาณเวลาเย็น  ส่วนโปงที่ใช้แขวนคอสัตว์เลี้ยงนั้นมีประโยชน์หลายอย่างคือ

๑.  เพื่อเป็นสัญญาณให้เจ้าของรู้ว่า วัว ควายของตนอยู่ที่ไหน  สะดวกในการติดตามหรือต้อน  เมื่อวัว ควาย เข้าป่า ลงน้ำ หรือปะปนไปกับฝูงอื่น ๆ ป้องกันการสูญหายได้เป็นอย่างดี เมื่อข้าพเจ้าเป็นเด็กเลี้ยงควายเคยจำเสียโปงควายของตน เวลาควายหากิน อยู่ชายป่า ไม่ต้องตามไปดู  ฟังแต่เสียงก็รู้ว่าควายเราอยู่

๒.  เพื่อกันความแตกตื่น เวลาวัว ควายอยู่ชายป่าหรือชายทุ่ง  หากได้ยินเสียงต่าง ๆ เช่น เสียงคน เสียงวัวควายตัวอื่น มันมักจะหยุดหรือตื่น แต่ถ้ามีเสียโปงกล่อมหูมันอยู่เสมอมันก็จะมีสมาธิในการหากิน  หรือแม้แต่เวลาใช้ลากเกวียน  ลากล้อ ก็ให้ประโยชน์ในข้อนี้ได้

๓.  เพื่อเป็นสัญญาณจ่าฝูง โปงที่เสียงดัง ๆ ใช้แขวนคอที่เป็นจ่าฝูง  เวลาจ่าฝูงไปทางไหน  ลูกน้องหรือตัวเมียก็จะตามไปด้วย  คือมีสัญชาตญาณตามผู้นำไม่ว่าวัวหรือควายถ้าตัวเล็กกระโดดหรือวิ่ง ตัวโตหรือจ่าฝูงกระโดดบรรดาตัวเล็กตัวน้อยจะกระโดดโลดเต้นตาม ๆ กัน ดังนั้นเขาจึงให้มีจ่าฝูง ๆ ละ ๑ ตัว

เดิมทีเดียวเจ้าของก็คงจะมีจุดมุ่งหมายเพียงเท่านี้  คงมิได้มุ่งหมายที่จะให้มันกลายมาเป็นเครื่องดนตรี คราวนี้หันมาถึงเรื่องโปงลางว่ามันมาอย่างไร  เนื่องจากประชาบนในบริเวณประเทศลาวและภาคอีสาน ไม่ค่อยมีแม่น้ำและทุ่งราบมากเหมือนท้องที่ภาคกลางของไทย  อาชีพในการค้าขายจึงต้องอาศัยวัวต่างและเกวียนเป็นส่วนใหญ่  ถ้าในที่ราบเกวียนไปได้สะดวกก็ใช้เกวียน แต่ถ้าแห่งใดที่มีป่าและเหวห้วย  เกวียนไปไม่ได้ก็ต้องใช้วัวและต้องใช้ครั้งละหลาย ๆ ตัวด้วย เพื่อบรรทุกสินค้าไปขายต่างแดน ในการควบคุมวัวต่างข้ามป่าเขานี้เจ้าของจะต้องรู้ศิลปะในการควบคุมวัว เช่น ต้องคัดเอาจ่าฝูงเป็นตัวนำเป็นต้น  และเพื่อจะให้ตัวนำมีสัญญาณในการนำฝูงก็ต้องใช้โปงใหญ่ ๆ เสียงดี แต่การใช้โปงลูกเดียวคงไม่มีเสียงพอ เจ้าของจึงนำเอาโปงหลายลูกมารวมกัน  ทำเป็นเหมือนต่างพาดหลังวัวเลย  เท่าที่เคยเห็นเป็นรูป ๔ เหลี่ยมเหมือนกล่องชอล์ค  มีโปงสำริด ๔ ลูก แขวนอยู่ข้างในใช้วางบนหลังวัว(เข้าใจว่าอันใหญ่อาจจะมี ๒ ลูก ก็ได้ คือข้างละ ๓ ลูก) ใช้เฉพาะตัวจ่าฝูง  ในขบวนที่มีวัวต่างเป็นจำนวนมาก  ขบวนยาว วัวที่อยู่ท้ายกระบวนก็จะมีโปงลางด้วย เป็นการปิดท้ายขบวน และโปงลางของตัวปิดท้ายขบวนนี้  เสียงจะเล็ก (เสียงแหลม) กว่าเสียงตัวหน้า  เพื่อให้เป็นที่สังเกตง่าย ว่าหัวขบวนอยู่ทางไหนหางขบวนอยู่ทางใด  ส่วนประโยชน์ของโปงลางที่ใช้กับวัวต่างนี้มีมากกว่าโปงที่แขวนคอธรรมดา  คือนอกจากประโยชน์ ๓ ข้อข้างต้นนั้นแล้ว โปงลางยังใช้เพื่อ

๔.  เสียงสัญญาณจราจร เมื่อเวลาเข้าป่า เข้าดงที่เปลี่ยว ต้องคอยฟังเสียงโปงลางตัวหน้าและตัวหลัง ถ้าเสียงยังดังปกติไม่มีอันตราย

๕.  เป็นการโฆษณาสินค้า เมื่อเสียงโปงลางดังไปถึงชาวบ้านต่างถิ่น เขาก็รู้ทันทีว่ามีสินค้าต่างแดนมาถึง – เขาก็จะออกมาซื้อหาแลกเปลี่ยนสินค้ากับพวกพ่อค้าทันที

นอกจากนี้เสียงของโปงลางตัวหน้าและตัวหลังสลับกันไปเช่นนั้น ก็ย่อมทำให้เจ้าของเดินไปฟังไป  เกิดความเพลิดเพลินและมีกำลังเดินต่อไปอีกด้วย  เพราะเสียงโปงลางมันดังไม่ซ้ำเสียงเก่า  คือดังสม่ำเสมอเฉพาะทางที่เรียบ แต่พอขึ้นที่สูงหรือลงที่ต่ำหรือที่ขรุขระวัวเดินไม่สะดวก การโยกตัวของมันไม่สม่ำเสมอเสียงโปงลางก็ดังขึ้นอีกจังหวะหนึ่ง  คือตอนขึ้นเสียงจะช้า ตอนลงเสียงจะถี่เร็ว ที่ขรุขระเสียงจะถี่บ้างช้างบ้าง ค่อยบ้างดังบ้างสลับกันไป  จากต้นกำเนิดของเสียงนี้แหละต่อมากลายเป็นโปงลางดนตรีที่เล่นกันอยู่ในปัจจุบันด้วย

อีกเหตุผลหนึ่งมีผู้สันนิษฐานว่าต้นกำเนิดโปงลางมาจากการตีเกราะของชาวนาชาวไร่  ถึงฤดูการทำนาทำไร่ก็มักจะขนย้ายวัวควายและอุปกรณ์ต่าง ๆ ไปอยู่ประจำที่นาไร่ของตน ปลูกโรงนา(เถียงนา)อยู่เฝ้าตลอดฤดูกาล ผู้นอนเฝ้าโรงนาก็จะมีเกราะไว้ประจำ  พอตอนหัวค่ำก็เคาะเกราะเป็นสัญญาณว่ามีคนอยู่  เพื่อนฝูงจะเดินไปคุยบ้างก็ได้ นอกจากนั้นเกราะยังใช้เป็นสัญญาณอันตรายได้อีกด้วย  คือถ้ามีโจรขโมยมาจี้หรือปล้น  หรือเกิดเจ็บป่วยกระทันหัน ชาวนาก็จะรัวเกราะบอกเพื่อนที่อยู่ใกล้เคียงให้ไปช่วยเหลือได้ทันท่วงที  เกราะที่ใช้นิยมทำด้วยลำไม้ไผ่ปล้องเดียวเจาะรู ๑ ด้านตามทางยาว ตีเสียงก้องดี  แต่บางคนก็นิยมทำด้วยไม้แก่นเป็นแท่ง  เจาะรูตรงกลางท่อนไม้เป็นที่แขวน  เคาะด้วยฆ้อนหรือท่อนไม้อีกท่อนหนึ่ง  ไม้แก่นที่นิยมทำเกราะคือไม้มะหาดและไม้หนามเลี้ยบ(หมากเหลื้อม) เพราะเสียงกังวานดี จากเสียงเกราะที่ทำด้วยไม้แก่นนี้เองที่ชาวนาชาวไร่เคาะเวลาเช้าหรือเย็น ๆ ทำให้มีเสียงต่าง ๆ กันสูงบ้างต่ำบ้าง เลยทำให้ผู้ได้ยินเกิดความไพเราะจับใจแล้วเอาท่อนไม้แก่นเหล่านั้นมาผูกเรียงกันตามลำดับเสียง เคาะเป็นดนตรีต่อมา

อย่างไรก็ตาม  ก็มีเหตุผลควรฟังว่าต้นเหตุเดิมน่าจะมาจากเสียงโปงวัว แล้วชาวบ้านนำเอาเสียงนั้นมาเป็นต้นคิด พอดีกับได้ยินเสียงเกราะท่อนไม้  ซึ่งมีความไพเราะกังวาน  จึงเกิดมีความคิดใหม่ที่จะทำเสียงเกราะเลียนแบบเสียงโปงลางขึ้นในที่สุดการเลียนแบบเสียงก็สำเร็จ  นั่นคือเกิดมีโปงลางขึ้น เพราะคำ “โปงลาง” นี้เป็นชื่อเรียกโปงแขวนวัวต่างจริง ๆ ซึ่งทราบจากอาจารย์จารุบุตรว่าทางเชียงใหม่ก็มีโปงลางเหมือนกัน  แต่เรียกชื่อว่า “ผังฮาง” วัตถุประสงการใช้ก็คงจะเหมือน ๆ กัน  ส่วนบางท่านให้คำอธิบายว่า คำว่า “ลาง” หมายถึงสิ่งบอกเหตุร้าย เช่น ลางดีลางร้าย เป็นต้น

ดังนั้น โปงลางจึงมีความหมายว่า โปงที่บอกเหตุดีเหตุร้ายให้ชาวนาชาวไร่รู้ เช่น เกิดโจรหรือสัตว์ร้ายมาทำอันตรายดังกล่าวมาแล้วนั้น ข้อนี้ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย เพราะเหตุผลยังอ่อนไป คำว่า “ลาง” น่าจะเพี้ยนมาจาก “ราง” เพราะอีสานไม่ใช้ตัว “ร”

สำหรับไม้ที่ทำโปงลางนิยมกันอยู่ ๒ ชนิด คือไม้มะหาด(หมากหาด และไม้หนามเลี้ยบ หมากเหลื้อม) ทราบว่าบางคณะใช้แก่นไม้ยูงก็มี  ไม้เหล่านี้เหนียวและมีเสียงก้อง ส่วนลักษณะของท่อนลูกโปงลางนั้นคล้าย ๆ กับลูกระนาด แต่ว่าหนากว่าและยาวกว่ามีน้ำหนักประมาณ ๓๐ กิโลกรัม  หนักกว่าลูกระนาดประมาณ ๓ เท่า (น้ำหนัก ๑๒ ท่อน)

วิวัฒนาการโปงลาง ดังกล่าวมาแล้วว่า ดนตรีชนิดนี้เลียนแบบเสียงมาจากโปงลางวัวต่าง ๆ ครั้นกลายมาเป็นเครื่องดนตรี  ครั้งแรกก็ดีหรือเคาะเดี่ยว ๆ เล่นอยู่ตามสวนตามโรงนาต่อมาก็มีผู้นำมาดัดแปลงให้เป็นเครื่องดนตรีชาวบ้าน  เคาะเล่นเพลงต่าง ๆ ซึ่งชาวอิสานเรียกว่าลาย เช่น ลายกาเต้นก้อน ลายลมพัดพร้าว เป็นต้น (เอาอย่างลายแคน) ซึ่งชาวอีสานเรียกว่า ลายกาเต้นก้อน  ต่อมามีผู้ประยุกต์ใช้(ทราบว่าคุณประชุม อินทรดุล จ.กาฬสินธุ์) คือให้มีแคนกลองประกอบเป็นวงขึ้น  ต่อมาอีกก็ให้มีเด็กสาว ๆ มารำหรือเซิ้งตามจังหวะของลายนั้น ๆ เลยกลายเป็นวงสมบูรณ์ขึ้นมา  ปัจจุบันนี้มีหลายวงที่แสดงเป็นอาชีพ  แต่อีกหลายวงเป็นของธนาคารบ้าง ของสโมสรบ้าง ของร.พ.ช.บ้าง ของกรมทางหลวงบ้าง

โปงลางอันดั้งเดิมกำลังจะสูญ ปัจจุบันนี้ โปงลางที่ใส่วัวต่างเริ่มจะหายากจะมีอยู่ก็เฉพาะในหมู่บ้านเก่าแก่ที่บรรพบุรุษเขาเป็นพ่อค้าวัวต่างเท่านั้น  บางบ้านก็เอาไปขายเป็นเศษทองเหลืองสำริดไปก็มี  จากข้อเขียนของอาจารย์จารุบุตรว่า  การหล่อโปงลางนี้ ทำอยู่ทั่วไปในแหลมทอง  โดยเฉพาะทางภาคอีสานฝีมือเยี่ยมเป็นพิเศษ  ซึ่งทำทั้งขนาดเล็กและโตเท่าระฆังใบเขื่องก็มี  มีทั้งรูปทรงกลมและทรงเหลี่ยม  ถ้าจะให้เสียงไพเราะกังวาน  ต้องผสมโลหะเงิน  ทองหรือทองคำลงในเบ้าหลอมทองสำริดด้วย  เพราะฉะนั้น ลูกโปงลางจึงเป็นของมีค่าที่คนปัจจุบันมองไม่เห็น แต่ไปเห็นราคาของมันแล้วนำออกไปขาย  ให้เขาเอาไปหลอมเป็นอย่างอื่นน่าเสียดาย อย่างไรก็ตาม คนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ถ้าหากต้องการจะดูของจริง  ก็อาจจะขอดูได้ที่บ้านอาจารย์จารุบุตร เรืองสุวรรณ (เลขที่ ๒ ถนนพิษณุโลก กรุงเทพมหานคร) ท่านมีอยู่หนึ่งอัน

 

เครื่องสักการบูชา:ศิลปะของไทยที่สวยงาม

เครื่องสักการบูชา


เครื่องสักการคือเครื่องที่นำมาแสดงความเคารพบูชาประกอบด้วยพวงดอกไม้หรือพุ่มดอกไม้ รูปเทียนแพ

ดอกไม้ที่จัดเป็นพิ่มใส่พานเป็นศิลปะของไทยที่สวยงาม และดูจะมีเฉพาะเมืองไทยเท่านั้น  เรียกว่ามีแห่งเดียวในโลก เป็นศิลปะพิเศษเพราะไม่มีชาติไหนที่เขาจัดเครื่องสักการบูชาแบบเรา

สมพงษ์  ทิมแจ่มใส

กาน้ำลายน้ำทองสมัยรัชกาลที่ ๕

กาน้ำลายน้ำทอง


กาน้ำลายน้ำทอง  ตกแต่งด้วยลายพุ่มข้าวบิณฑ์  ดอกไม้ ผีเสื้อ  ตรงกลางตกแต่งเป็นลายพระมหามงกุฎอยู่เหนือช้างเผือก เป็นของสั่งเข้ามาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ วัดมัชฌิมาวาส จังหวัดสงขลา

สมชาย  วรศาสตร์  ถ่ายภาพ

ประวัติดวงตราเงินบาท

ประวัติดวงตราเงินบาท

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ฟ. รุ่งอดิเรก

จำเดิมแต่ปี  พ.ศ. ๒๓๒๕  ซึ่งเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงสถาปนากรุงเทพพระมหานคร เป็นราชธานีแห่งกรุงสยามมาจนกระทั่งถึงปรัตยุตบันนี้ นับเป็นเวลาได้ ๑๔๗ ปี ดวงตราเงินบาทก็ได้ถูกผลัดเปลี่ยนกันเรื่อยมาตามยุคตามกาลสมัยเป็นแผ่นดิน ๆ ตลอดมา  ในที่นี้ได้เก็บรวบรวมมากล่าวไว้แต่เพียง ๔ รัชกาลเท่านั้น  คือ  ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ จนถึงรัชกาลที่ ๔  ซึ่งนับว่าเป็นยุคที่ค่อนข้างเก่าสำหรับสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้อยู่บ้าง  กับอีกประการหนึ่งเชื่อแน่ว่าคงมีบางท่านที่ได้พบเห็นดวงตราเงินบาทแต่ก่อน ๆ นี้ น้อยเต็มที

ในรัชกาลที่ ๑ มีการประดิษฐ์ดวงตราเงินบาทขึ้น ๒ คราว  คราวหนึ่งเริ่มให้ใช้แต่จุลศักราช ๑๑๔๔  ปีขาล จัตวาศก(พ.ศ.๒๓๒๕) เป็นปีที่ ๑ ในรัชกาลที่ ๑ จนถึงจุลศักราช ๑๒๖๙ ปีมะแม นพศก(พ.ศ.๒๔๕๐) รวมเป็นเวลา ๑๒๖ ปี  ดวงตราชนิดนี้ มีชื่อว่า ตราพระแสงจักรี ดังในรูป


อีกคราวหนึ่งเริ่มใช้เมื่อจุลศักราช ๑๑๔๗ ปีมะเส็ง สัปตศก(พ.ศ.๒๓๒๘) เป็นปีที่ ๔ ในรัชกาลที่ ๑ จนถึงจุลศักราช ๑๒๖๙ ปีมะแม นพศก (พ.ศ. ๒๔๕๐) รวมเป็นเวลา ๑๒๓ ปี ดวงตราชนิดนี้มีชื่อว่า ตราบัวอุณาโลม ดังในรูป

ในรัชกาลที่ ๒ เริ่มใช้เมื่อจุลศักราช ๑๑๗๑ ปีมะเส็ง เอกศก(พ.ศ.๒๓๕๒) เป็นปีที่ ๑ ในรัชกาลที่ ๒ จนถึงจุลศักราช ๑๒๖๙ ปีมะแม นพศก (พ.ศ.๒๔๕๐) รวมเป็นเวลา ๙๙ ปี ดวงตราชนิดนี้มีชื่อว่า ตราครุฑ ดังในรูป

ในรัชกาลที่ ๓ เริ่มใช้เมื่อจุลศักราช ๑๑๘๖ ปีวอก ฉศก (พ.ศ. ๒๓๖๗) เป็นปีที่ ๑ ในรัชกาลที่ ๓ จนถึงจุลศักราช ๑๒๖๙ ปีมะแม นพศก (พ.ศ.๒๔๕๐) รวมเป็นเวลา ๘๔ ปี ดวงตราชนิดนี้มีชื่อว่า ตราปราสาท ดังในรูป

กับยังมีดวงตราเงินสลึงและเงินเฟื้อง ซึ่งทำขึ้นในรัชกาลที่ ๓ นี้อีกเรียกว่า ดวงตรารูปพรรณดอกไม้ ดังในรูป

ในรัชกาลที่ ๔ เริ่มใช้เมื่อจุลศักราช ๑๒๑๓ ปีกุน ตรีศก (พ.ศ.๒๓๙๔) เป็นปีที่ ๑ ในรัชกาลที่ ๔ จนถึงจุลศักราช ๑๒๖๙ ปีมะแม นพศก (พ.ศ.๒๔๕๐) รวมเป็นเวลา ๕๗ ปี ดวงตราชนิดนี้มีชื่อว่า ตรามหาพิชัยมงกุฏ ดังในรูป

 

กับทั้งยังมีดวงตราเงินสลึงและเงินเฟื้อง ซึ่งทำขึ้นในรัชกาลที่ ๔ นี้อีกเรียกว่า ดวงตรารูปพรรณคนโฑ ดังในรูป

พระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ ๙

พระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ ๙

เป็นตรางา ลักษณะรูปไข่ กว้าง ๕ เซนติเมตร สูง ๖.๗ เซนติเมตร รูปพระที่นั่งอัฏทิศ  ประกอบด้วยวงจักร กลางวงจักรมีอักขระเป็น อุ หรือเลข ๙ รอบ ๆ มีรัศมี แปลความหมายว่า ทรงมีพระบรมเดชานุภาพในแผ่นดิน  โดยที่วันบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณีได้เสด็จประทับพระที่นั่งอัฏทิศ  ราชบัณฑิตเป็นผู้ถวายน้ำอภิเษก ๘ ทิศ และทิศกลางอีก ๑ ทิศ  แต่ในรัชกาลนี้เปลี่ยนจากราชบัณฑิตเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถวายน้ำอภิเษกเพื่อความเป็นเจ้าเป็นใหญ่ในแผ่นดินคือพระมหากษัตริย์  นับเป็นครั้งแรกในระบอบประชาธิปไตยที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ถวายน้ำอภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พระราชลัญจกรนี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อวันบรมราชาภิเษก  สำหรับใช้กำกับพระปรมาภิไธยในต้นเอกสารสำคัญส่วนพระองค์ซึ่งไม่เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน  เช่น ใช้ประทับกำกับพระปรมาภิไธยในประกาศนียบัตรเหรียญรัตนาภรณ์ของพระองค์  ใช้ประทับเป็นสัญลักษณ์ในเหรียญราชอิสริยาภรณ์บรมราชาภิเษก แต่มีพระปรมาภิไธยย่อ ภปร.อยู่กลาง ใช้ประทับในเหรียญราชอิสริยาภรณ์รัชดาภิเษก และได้ประทับในเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๓ รอบ ชนิดราคา ๑ บาท เป็นต้น

พระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ ๘

พระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ ๘

เป็นตรางา  ลักษณะกลม  ศูนย์กลางกว้าง ๗ เซนติเมตร  รูปพระโพธิสัตว์ประทับบนบัลลังก์ดอกบัว ห้อยพระบาทขวาเหยียบบัวบาน  หมายถึงแผ่นดิน  พระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัวตูม และมีเรือนแก้วด้านหลังแทนรัศมี  มีแท่นรองรับ ตั้งฉัตรบริวาร ๒ ข้าง เป็นสัญลักษณ์ของพระปรมาภิไธยว่า อานันทมหิดล  ซึ่งแปลความหมายว่า เป็นที่ยินดีของแผ่นดิน เพราะพระองค์ได้เถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยโดยความยกย่องยินดีของเอนกนิกรชาวไทย  ประหนึ่งพระโพธิสัตว์เสด็จมาประทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ทวยราษฎร์ทั้งมวล

พระราชลัญจกรนี้พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นสำหรับใช้ประทับกำกับพระปรมาภิไธยในต้นเอกสารสำคัญส่วนพระองค์ซึ่งไม่เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน  เช่น ใช้ประทับกำกับพระปรมาภิไธยในประกาศนียบัตรเหรียญรัตนาภรณ์ของพระองค์ เป็นต้น