นิราศวัดเจ้าฟ้า

อสุภธรรมกรรมฐานประหารเหตุ        หวนสังเวชว่าชีวังจะสังขาร์
อันอินทรีย์วิบัติอนัตตา                ที่ป่าช้านี่ก็เหมือนกับเรือนตาย
กลับเกลียดกลัวมัวเมาไม่เข้าบ้าน        พระนิพพานเพิ่มพูนเพียงสูญหาย
อันร่างเหมือนเรือนโรคให้โศกสบาย    แล้วต่างตายตามกันไปมั่นคง

อาจารย์ธนิต อยู่โพธิ์ เขียนคำนำอธิบายเรื่องนิราศวัดเจ้าฟ้าไว้ในฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ดังนี้

“นิราศวัดเจ้าฟ้านี้ ท่านสุนทรภู่ขึ้นต้นไว้เป็นทำนองว่าสามเณรพัด ผู้บุตรขาย เป็นคนแต่ง เมื่อคราวตามท่านสุนทรภู่ไปค้นหาสมบัติโบราณ ตามลายแทง คือกล่าวขึ้นต้นไว้ว่า

เณรหนูพัดหัดประดิษฐ์คิดอักษร
เป็นเรื่องความตามติดท่านบิดร
กำจัดจรจากนิเวศน์พระเชตุพน

ที่ดัดแต่งเป็นของสามเณรพัดนั้น คงจะเกิดความคิดลองแผลงให้เป็นสำนวนคนอื่นแต่งดูบ้าง หรือโดยเหตุที่เวลานั้น ท่านสุนทรภู่ยังบวชเป็นพระภิกษุครองสมณเพศอยู่ จะแต่งเป็นของตนเอง ถ้าว่ากลอนผาดโผนไป ก็เกรงจะเสียสมณสารูปจึงขึ้นต้นเป็นของสามเณรพัดบุตรชายของท่านเป็นผู้แต่งเสีย แต่เมื่อท่านผู้อ่านที่ช่างสังเกตลองอ่านไปให้ตลอด ก็ย่อมจะจับได้ว่าที่แท้นั้นเป็นบทกลอนของท่านสุนทรภู่แต่งขึ้นด้วยตนเอง เช้น พรรณนาถึงเรื่องราวบางอย่าง ความหลังบางตอน หญิงคนรักบางคน ล้วนเป็นเรื่องของท่านสุนทรภู่เองทั้งนั้น…

วัดเจ้าฟ้า หรือที่เรียกไว้ในนิราศนี้ว่า “วัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์” นั้น เดี๋ยวนี้อยู่ที่ไหน ยังไม่เคยพบว่ามีท่านผู้ใดสืบสวนไว้ ข้าพเจ้าลองอ่านนิราศแล้วกำหนดเส้นทางไว้ก่อน ครั้นเมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๔๐๔ จึงได้ชักชวนท่านที่สนใจและชอบสนุกในการค้นหาความรู้ทางนี้ พากันเดินทางไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขณะนั้นนํ้ากำลังท่วมทุ่งจึงจัดหาเรือหางยาวเล่นตัดทุ่งและเข้าลำคลองไป ตามแนวทางที่ระบุถึงในเรื่องนิราศ ไปจนถึงสถานที่ซึ่งมีกล่าวว่า

พอเย็นจวนด่วนเดินขึ้นเนินโขด    ถึงตาลโดดดินพูนเป็นมูนสูง
เที่ยวเลียบชมลมเย็นเห็นนกยูง    เป็นฝูงฟ้อนหางที่กลางทราย

และมีกล่าวถึง “ดินโขด” หรือ “โขดดิน” ไว้อีก ๒-๓ แห่ง เมื่อข้าพเจ้ากับคณะแล่นเรือไปถึงนั้น เป็นเวลาราวเที่ยงวัน และ “โขดดิน” ในฤดูนั้น สูงขึ้นมาเหนือน้ำ ซึ่งในปัจจุบันเป็นวัดมีกุฎีสงฆ์และศาลาการเปรียญตั้งอยู่เบื้องล่าง ในฤดูนํ้าท่วมทุ่ง กุฎีและศาลาการเปรียญก็หล่ออยู่ในนํ้า แต่ตัวพระอุโบสถตั้งอยู่บนโขดดิน พอดีวันนั้นมีงานทอดกฐิน ได้เรียนถามท่านเจ้าอาวาสและท่านผู้เฒ่า อายุ ๘๓ ปี ที่มาร่วมกุศลเทศกาล ท่านเล่าว่าวัดนั้นมีชื่อว่า วัดเขาดินขึ้นอยู่ในตำบลธนู อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่ซักไซ้เท่าไรก็ไม่มีใครเคยทราบว่าวัดนี้เคยมีชื่อว่า “วัดเจ้าฟ้าอากาศ” บอกได้แต่ว่าเดิมเป็นวัดร้าง ชาวบ้านใช้เป็นที่พักควายและเป็นบ่อนชนไก่ในฤดูนํ้าท่วม ต่อมาเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๔๗ ท่านอุปัชฌาย์ศรี วัดประดู่ทรงธรรมได้มาปฏิสังขรณ์และก่อสร้างกุฎีสงฆ์ ให้เป็นวัดมีพระภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษา แล้วมาปฏิสังขรณ์ใหญ่อีกครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ พระประธานในพระ อุโบสถแต่เดิมเป็นพระพุทธรูปศิลา ต่อมาได้ซ่อมพอกปูนปิดทองเสียใหม่ ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน และว่าเคยมีแผ่นจารึก แต่ไม่ได้อ่านกันไว้ซํ้าบอกจำหน่ายเสียด้วยว่า ในคราวปฏิสังขรณ์ครั้งหลัง ได้นำลงบรรจุไว้ใต้ฐานชุกชีพระประธาน เรื่องราวที่ฟังเล่าดังกล่าว ก็ดูตรงกับที่กล่าวไว้ในนิราศ และที่ว่ามีแผ่นศิลาจารึกนั้น ก็อาจเป็นจารึกบอกชื่อวัด เช่นที่ว่า

นามนั้นเขาเขียนแจ้งที่แท่งหิน
วัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์
ได้ทราบสิ้นสืบสายเพราะลายแทง
ท่านสุนทรภู่เดินทางไปในคราวแต่งนิราศวัดเจ้าฟ้านี้เมื่อปีใด จำต้องหาหลักฐานอื่นช่วยประกอบพิจารณา แต่เมื่อเรารู้กันว่า ท่านสุนทรภู่เคยเป็นข้าอยู่ในวังหลัง และท่านเจ้าครอกทองอยู่ พระอัครชายาในกรมพระราชวังหลังโปรดอุปการะทั้งท่านสุนทรภู่และบุตรของท่านตลอดมา จึงพอจะสังเกต กำหนดจากคำกลอน ๒ แห่งในนิราศได้คือตอนที่ผ่านหน้าวัดระฆัง กล่าวไว้ว่า

ถึงวัดระฆังบังคมบรมธาตุ
แทบพระบาทบุษบงองค์อัปสร

และมีกล่าวต่อไปอีกว่า

เห็นที่ปลงทรงสูญยังมูนทราย
แสนเสียดายดังจะดิ้นสิ้นชีวัน

ดูเป็นความว่า เมื่อเรือผ่านมาทางหน้าวัด ได้มองเห็นพระปรางค์วัดระฆังและเห็นเชิงตะกอนที่ วัดอัมรินทร์ รวมข้อความ ๒ คำกลอนนี้ คงจะหมายถึงว่าเห็นเชิงตะกอนที่ถวายเพลิงเจ้าครอกทองอยู่ที่วัด
อัมรินทร์ และได้นบไหว้อัฐิกับอังคารของท่านที่บรรจุไว้ในพระปรางค์วัดระฆัง ดังนี้ก็อาจเป็นได้ เวลาถวายเพลิงศพเจ้าครอกทองอยู่ เป็นข้างขึ้นเดือน ๑๑ ปีวอกอัฐศก ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๗๙ ด้วยเหตุนี้ จึงพอกำหนดได้ว่า ท่านสุนทรภู่คงจะเดินทางไปวัดเจ้าฟ้า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และแต่งนิราศวัดเจ้าฟ้านี้ขึ้นในปลายปีนั้นหรือปีถัดมา แต่ไม่ก่อนหน้านั้น ขณะนั้นพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ ซึ่งท่านสุนทรภู่เคยได้พึ่งพระบารมีอยู่ ก็สิ้นพระชนม์ไปเสียใน พ.ศ. ๒๓๗๘ แล้ว ท่านสุนทรภู่คง กำลังคิดหาที่พึ่งอื่นต่อไปอีก จึงมีความบอกไว้ในนิราศอีกแห่งหนึ่งว่า

อนึ่งเล่าเจ้านายที่หมายพึ่ง        ให้ทราบซึ้งสุจริตพิสมัย
อย่าหลงลิ้นหินชาติขาดอาลัย    น้ำพระทัยทูลเกล้าให้ยาวยืน

ซึ่งก็แสดงอยู่ว่าท่านสุนทรภู่คงจะได้มีโอกาสเริ่มติดต่อและหวังพึ่งพระบารมีกรมหมื่นอัปสร¬สุดาเทพ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่แล้ว จึงเผยความในใจออกมาตีแผ่ไว้อย่างน่ารู้ในกลอนนิราศเรื่องนี้ด้วย

ท่านสุนทรภู่เดินทางไปค้นหาสมบัติตามลายแทงคราวนี้ มีลูกชายไปด้วย ๒ คน คือสามเณรพัด กับ นายตาบและมีศิษย์ตามไปด้วยอีก ๔ คน ระบุไว้ในนิราศนี้มีชื่อ กลั่น (คือ สามเณรกลั่น ผู้ แต่งนิราศพระแท่นดงรัง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๖) จัน มาก และ บุนนาก กับมีคนแจวเรืออีก ๒ คน ซึ่งคงจะเป็นผู้ใหญ่ คือ ตามา และตาแก้ว แต่ไปทำการไม่สำเร็จ ว่าถูกอาถรรพณ์หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำแดงฤทธิ์ เป็นพายุฝนพัดเอาข้าวของเครื่องบัดพลีบวงสรวงตลอดจนผ้าห่มและตำราลายแทงปลิวหายไปหมด จึงพากันกลับ และแวะไปอาศัยพระยาชัยวิชิต (เผือก) ผู้รักษากรุงเก่า ซึ่งเป็นเพื่อนของท่านสุนทรภู่ มาแต่ครั้งรัชกาลที่ ๒ แล้วจึงเดินทางกลับกรุงเทพฯ ดังมีเรื่องราวพิสดารพรรณนาเป็นคำกลอนอันไพเราะ และน่าอ่านน่ารู้อยู่ในนิราศวัดเจ้าฟ้า”

อันอินทรีย์วิบัติอนัตตา ที่ป่าช้านี่แหละเหมือนกับเรือนตาย

หลังจากแต่งนิราศสุพรรณแล้ว สุนทรภู่ก็ย้ายจากวัดเทพธิดามาอยู่วัดพระเชตุพนฯ เป็นการนำให้สุนทรภู่เข้าใกล้จินตกวีแบบฉบับผู้สูงศักดิ์ คือสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส เป็นที่น่าเสียดายที่เราไม่ทราบความเกี่ยวข้องในระหว่างสองมหากวีสุนทรภู่คงจะได้รับพระเมตตาจากสมเด็จกรมพระปรมานุชิตเป็นอย่างดี อนึ่ง ที่วัดพระเชตุพนฯ นี้พระองค์เจ้าลักขณานุคุณกำลังทรงผนวชอยู่ คงจะได้ทรงอนุเคราะห์ช่วยเหลือสุนทรภู่ตามวิสัยของศิษย์กับครู ชีวิตตอนนี้ค่อยสงบและราบรื่นกว่าเดิม

นิราศวัดเจ้าฟ้าแต่งเมื่อสุนทรภู่อยู่วัดพระเชตุพนฯ และไปวัดเจ้าฟ้าแห่งกรุงศรีอยุธยาอีกครั้งหนึ่ง สุนทรภู่ไปกับสามเณรพัดและนายตาบผู้เป็นบุตรพร้อมกับศิษย์อื่นๆ มีข้อแปลกอยู่อย่างหนึ่งคือ นิราศเรื่องนี้สนุทรภู่เลี่ยงให้เป็นสำนวนของสามเณรพัด ไม่ทราบเหตุผลว่าทำไมจึงแฝงนามไว้เช่นนั้น แต่ตอนท้ายนิราศอดจะบอกไว้ไม่ได้ว่า “นี่กล่าวแกล้งแต่งเล่นเพราะเป็นหม้าย” ใครเป็นหม้าย? ต้องเป็นสุนทรภู่ไม่ใช่สามเณรพัด

เนื้อนิราศ

สาเหตุที่สุนทรภู่นิราศไปวัดเจ้าฟ้าคราวนี้เพื่อไปหายาอายุวัฒนะลายแทงที่ได้ตำรามาจากเมืองเหนือ สรรพคุณของยานี้มี “ว่ายากินรูปร่างงามอร่ามเรือง แม้ฟันหักจักงอกผมหงอกหาย แก่กลับกลายหนุ่มเนื้อนั้นเรื่อเหลือง….”การเดินทางคงไปทางเรือตามเคย พอผ่านวัดระฆังก็กราบพระธาตุของเจ้าครอกข้างใน (ทองอยู่) ซึ่งได้รับพระราชทานเพลิงใหม่ๆ “เห็นที่ปลงทรงสูญยังมูนทราย แสนเสียดายดังจะดิ้นสิ้นชีวัน ทั้ง หนูตาบกราบไหาร้องไห้ว่าจะคมลาลับไปในไพรสัณฑ์ เคยเวียนเฝ้าเกล้าจุกให้ทุกวัน สารพันพึ่งพาไม่อาทร’’ สุนทรภู่เดินทางไปถึงวัดพนัญเชิงก็จอดเรือที่หน้าศาลาวัดได้ขึ้นไปนมัสการพระนิราศดำเนินความ ตอนนี้ว่า “ท่านบิดรได้ประกาศว่าชาตินี้ ทั้งรูปชั่วตัวดำทั้งต่ำศักดิ์ ถวายรักไว้กับศีลพระชินสีห์ ต่อเมื่อไร ใครรักมาภักดี จงอารีรักตอบด้วยขอบคุณ” อีกตอนหนึ่งเป็นสำนวนเณรพัดอธิษฐานว่า “…อนึ่งเล่าเจ้านายที่หมายพึ่ง ให้ซาบซึ้งสุจริตพิสมัย อย่าหลงลิ้นหินชาติขาดอาลัย น้ำพระทัยทูลเกล้าให้ยาวยืน…” ข้อความนี้ล้วนเป็นสิ่งที่สุนทรภู่เคยประสบมาแล้วทั้งนั้น หลังจากนั้นก็เดินทางอย่างลำบากกรากกรำขึ้นบกที่วัดใหญ่ไปตามลายแทง กินเวลานาน จึงมาถึงวัดเจ้าฟ้าอันเป็นวัดร้างมาแต่โบราณ มีประวัติพิสดารและว่ามียาอายุวัฒนะอยู่ใต้องค์พระ สุนทรภู่ไปตั้งพิธีขุดในเวลากลางคืน พอเริ่มพิธีก็เกิดเหตุวิปริตต่างๆ นัยว่า เกิดด้วยอำนาจปีศาจเลยต้องเลิกไม่อาจขุด และ “ถวายวัดตัดตำราไม่อาลัย ขออภัยพุทธรัตน์ปฏิมา” แล้วก็ กลับ ขากลับได้แวะไปเยี่ยมพระยาไชยวิชิต (เผือก) ผู้รักษากรุง สุนทรภู่เคยไม่แวะเยี่ยมเมื่อคราวนิราศภูเขาทองเพราะเกรงว่าท่านจะรังเกียจเพราะตนตกยากแต่คราวหลังๆ ไปและได้รับการรับรองดีเสมอ เมื่อประจักษ์อัธยาศัยดังกล่าวนี้จึงอำนวยพรอย่างน่าฟัง หลังจากนั้นก็เดินทางกลับกรุงเทพฯ
ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด

สถานที่กล่าวถึงในนิราศภูเขาทอง

วัดราชบุรณราชวรวิหาร
โอ้อาวาสราชบูรณะ พระวิหาร        แต่นี้นานนับทิวาจะมาเห็น
เหลือรำลึกนึกน่าน้ำตากระเด็น        เพราะขุกเข็ญคนพาลมารานทาง
จะยกหยิบธิบดีเป็นที่ตั้ง            ก็ใช้ถังแทนสัดเห็นขัดขวาง
จึ่งอำลาอาวาสนิราศร้าง            มาอ้างว้างวิญญาณ์ในสาคร

วัดราชบุรณราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร เป็นวัดโบราณ เดิมชื่อว่าวัดเลียบ ตั้งอยู่ในเขตกำแพงพระนครแถบพาหุรัด พระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ ทรงปฏิสังขรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงช่วยในการปฏิสังขรณ์ด้วย เมื่อปฏิสังขรณ์เสร็จแล้ว รัชกาลที่ ๑ พระราชทานนามใหม่ว่า วัดราชบุรณะ ต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดให้ถอนสีมาเก่าแล้วทรงสร้างพระอุโบสถและพระวิหารใหม่ ถึงรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างพระปรางค์องค์ใหญ่ และในรัชกาลต่อๆ มาก็ทรงปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมอีกบ้าง

สุนทรภู่ก่อนออกเดินทางไปนมัสการเจดีย์ภูเขาทอง จำพรรษาอยู่ ณ วัดนี้ เพราะฉะนั้นจุดเริ่มต้นของนิราศภูเขาทองของท่าน จึงเริ่มออกเรือจากวัดราชบูรณะเป็นอันดับแรก

หน้าวัง (พระบรมมหาราชวัง)
ถึงหน้าวัง ดังหนึ่งใจจะขาด        คิดถึงบาทบพิตรอดิศร
โอ้ผ่านเกล้าเจ้าประคุณของสุนทร        แต่ปางก่อนเคยเฝ้าทุกเช้าเย็น
พระนิพพานปานประหนึ่งศีรษะขาด    ด้วยไร้ญาติยากแค้นถึงแสนเข็ญ
ทั้งโรคซ้ำกรรมซัดวิบัติเป็น            ไม่เล็งเห็นที่ซึ่งจะพึ่งพา
จะสร้างพรตอตส่าห์ส่งส่วนบุญถวาย    ประพฤติฝ่ายสมถะทั้งวสา
เป็นสิ่งของฉลองคุณมุลิกา            ขอเป็นข้าเคียงพระบาททุกชาติไป

หน้าวัง หรือพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างกรุงเทพมหานคร เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ มีอาณาบริเวณคิดเป็นเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ ๑๕๒ ไร่ มีกำแพงใบเสมาก่ออิฐถือปูนและป้อมปราการรายล้อมอยู่โดยรอบทั้ง ๔ ด้าน ภายในกำแพงพระบรมมหาราชวังแบ่งแยกอาณาบริเวณสำหรับปลูกสร้างอาคารไว้เป็นสัดส่วน คือ พื้นที่ตอนเหนือซึ่งเป็นด้านหน้าทางฟากตะวันออกเป็นวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่เรียกกันเป็นสามัญว่าวัดพระแก้วมรกต ฟากตะวันตกเป็นอาคารสถานที่ของทางราชการ พื้นที่ตอนกลางเป็น หมู่พระมหาปราสาทและพระราชมณเฑียรสถาน ส่วนพื้นที่ตอนในเบื้องหลังพระมหาปราสาทราชมณเฑียร เป็นเขตฝ่ายใน ซึ่งในสมัยก่อนใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระอัครมเหสี พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน และข้าบาทบริจาริกาในองค์พระมหากษัตริย์

หมู่พระมหาปราสาทราชมณเฑียรในพระบรมมหาราชวังนี้ ล้วนก่อสร้างขึ้นด้วยความประณีต วิจิตรบรรจง เป็นสมบัติทางศิลปวัฒนธรรมของชาติที่มีค่าประมาณมิได้ เป็นสถานที่สำคัญที่ชาวต่างประเทศนิยมเข้ามาชมมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย

อนึ่ง คำว่า “บพิตรอดิศร” ในกลอนข้างต้นนี้ หมายถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งทรงพระมหากรุณาชุบเลี้ยงสุนทรภู่ให้รับราชการอยู่ ในกรมพระอาลักษณ์และเป็นกวีที่ปรึกษาในราชสำนัก มีบรรดาศักดิ์เป็นที่ขุนสุนทรโวหาร เมื่อรัชกาลที่ ๒ สวรรคตแล้ว สุนทรภู่ก็ตกอับ กล่าวไว้ในนิราศภูเขาทองว่า

“แต่เรานี้ที่สุนทรประทานตัว        ไม่รอดชั่วเช่นสามโคกยิ่งโศกใจ
สิ้นแผ่นดินสิ้นนามตามเสด็จ    ต้องเที่ยวเตร็ดเตร่หาที่อาศัย
แม้นกำเนิดเกิดชาติใดใด        ขอให้ได้เป็นข้าฝ่าธุลี”

หน้าแพ (ตำหน้กแพ)
ถึง หน้าแพ แลเห็นเรือที่นั่ง        คิดถึงครั้งก่อนมาน้ำตาไหล
เคยหมอบรับกับพระจมื่นไวย    แล้วลงเรือที่นั่งบัลลังก์ทอง
เคยทรงแต่งแปลงบทพจนารถ    เคยรับราชโองการอ่านฉลอง
จนกฐินสิ้นแม่น้ำแลลำคลอง    มิได้ข้องเคืองขัดหัทยา
เคยหมอบใกล้ได้กลิ่นสุคนธ์ตลบ    ละอองอบรสรื่นชื่นนาสา
สิ้นแผ่นดินสิ้นรสสุคนธา        วาสนาเราก็สิ้นเหมือนกลิ่นสุคนธ์

หน้าแพ หรือตำหนักแพ ปัจจุบันคือ ท่าราชวรดิษฐ์ เดิมเป็นแพลอยอยู่ในนํ้าเรียกว่า “ตำหนักแพ” สำหรับพระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกประทับทอดพระเนตรงานซึ่งมีในลำแม่นํ้า เช่น การลอยพระประทีป เป็นต้น และเสด็จออกให้ข้าราชการเฝ้าแทนในเวลาเสด็จทางชลมารค ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จโปรดให้สร้างขึ้นใหม่เปลี่ยนจากแพของเดิมมาเป็นตั้งเสาบนบก แล้วพระราชทานนามว่า “พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย” ส่วนท่านั้นพระราชทานนามว่า “ท่าราชวรดิษฐ์”

อนึ่ง คำว่า “พระจมื่นไวย” ในกลอนข้างต้นนี้ คือ จมื่นไวยวรนารถ (เผือก) หัวหมื่นมหาดเล็กในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาธิเบศร์บดี จางวางมหาดเล็กแล้วเป็นพระยาไชยวิชิต สิทธิสาตรามหาประเทศราช ชาติเสนาบดี ผู้รักษากรุงเก่า พระยาไชยวิชิต (เผือก) นี้ เป็นผู้ปฏิสังขรณ์วัดหน้าพระเมรุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเป็นกวีมีชื่อเสียงปรากฏผลงานกวีนิพนธ์หลายเรื่อง เช่น โคลงและกลอนยอพระเกียรติ ๓ รัชกาล (รัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) โคลงฤาษีดัดตนท่าแก้แน่นหน้าอก (พิมพ์รวมอยู่ในหนังสือประชุมจารึกวัดพระเชตุพน) บททำขวัญนาค (ในหนังสือประชุม เชิญขวัญ) บทสักวาเรื่องอิเหนาเล่นถวายในรัชกาลที่ ๓

พระยาไชยวิชิต (เผือก) ถึงอนิจกรรมในสมัยรัชกาลที่ ๓

หอพระอัฐิ
ดูในวังยังเห็นหอพระอัฐิ        ตั้งสติเติมถวายฝ่ายกุศล
ทั้งปิ่นเกล้าเจ้าพิภพจบสกล        ให้ผ่องพ้นภัยสำราญผ่านบุรินทร์

หอพระอัฐิ คือ หอพระธาตุมณเฑียร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุรพการี คือ พระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระทุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระทุทธเลิศหล้านภาลัย พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมอัฐิสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๑ สมเด็จพระศรีสุริเยนทรา บรมราชินี ในรัชกาลที่ ๒ สมเด็จพระศรีสุลาลัย ในรัชกาล ที่ 2 และสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร์ อดุลยเดชวิกรม สมเด็จพระบรมราชชนก

วัดประโคนปัก
ถึงอารามนามวัด ประโคนปัก        ไม่เห็นหลักลือเล่าว่าเสาหิน
เป็นสำคัญปันแดนในแผ่นดิน        มิรู้สิ้นสุดชื่อที่ลือชา
ขอเดชะพระพุทธคุณช่วย            แม้นมอดม้วยกลับชาติวาสนา
อายุยืนหมื่นเท่าเสาศิลา            อยู่คู่ฟ้าดินได้ดังใจปอง

วัดประโคนปักคือ วัดดุสิตาราม กรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ริมแม่นํ้าเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เหนือปากคลองบางกอกน้อย เป็นวัดโบราณ เดิมชื่อวัดเสาประโคน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ ทรงสถาปนา สมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาเสนานุรักษ์ ทรงปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งหมด เสด็จแล้วพระราชทานนามใหม่ว่า วัดดุสิตาราม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมอีกบ้าง

โรงเหล้า   
ถึงโรงเหล้า เตากลั่นควันโขมง        มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา
โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา        ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย
ทำบุญชวชกรวดน้ำขอสำเร็จ        สรรเพชญ์โพธิญาณประมาณหมาย
ถึงสุราพารอดไม่วอดวาย            ไม่ใกล้กรายแกล้งเมินก็เกินไป
ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก        สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน
ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป            แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืน

โรงเหล้า คือ โรงงานสุราบางยี่ขัน ตั้งอยู่ริมแม่นํ้าเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก เหนือสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ตรงกันข้ามกับบางขุนพรหม อยู่ในท้องที่ตำบลบางยี่ขัน เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร มองเห็นปล่องได้เด่นชัดแต่ไกล เรียกกันติดปากมาจนทุกวันนี้ว่า “สุราบางยี่ขัน”

บางจาก
ถึงบางจากจากวัดพลัดพี่น้อง        มามัวหมองม้วนหน้าไม่ฝ่าฝืน
เพราะรักใคร่ใจจืดไม่ยืดยืน            จึงต้องขืนใจพรากมาจากเมือง

บ้านบางจาก อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่นํ้าเจ้าพระยาใต้วัดภคินีนาถ แขวงบางพลัด เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร มีคลองบางจาก ซึ่งแยกจากแม่นํ้าเจ้าพระยาตรงเขตวัดภคินีนาถด้านทิศใต้เป็นสำคัญ คลองนี้มีนํ้าตลอดทั้งปี

บางพลัด
ถังบางพลัดเหมือนพี่พลัดมาขัดเคือง        ทั้งพลัดเมืองพลัดสมรมาร้อนรน

บ้านบางพลัด อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่นํ้าเจ้าพระยา ตำบลบางพลัดนี้ เมื่อพ.ศ. ๒๔๕๘ มีฐานะเป็นอำเภอซึ่งตั้งที่ว่าการอำเภอที่ปากคลองบางพลัด ต่อมา พ.ศ. ๒๔๘๑ ถูกยุบรวมเข้ากับอำเภอบางกอกน้อย มีสะพานพระราม ๖ ข้ามแม่นํ้าทางรถไฟสายใต้ให้เดินเข้ารวมสถานีกรุงเทพฯ เมื่อพ.ศ. ๒๔๖๙ ปัจจุบันเป็นตำบลบางพลัด มีวัดบางพลัดใน (จันทาราม) และคลองบางพลัด เป็นสำคัญ ปาก¬กลองบางพลัดแยกจากแม่นํ้าเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ข้างวัดอาวุธวิกาสิตาราม (วัดบางพลัดนอก) คลองนี้ ยาว ๒ กิโลเมตร มีนํ้าตลอดทั้งปี

บางโพธิ์
ถึงบางโพธิ์โอ้พระศรีมหาโพธิ์        ร่มนิโรธรุกขมูลให้พูนผล
ขอเดชะอานุภาพพระทศพล            ให้ผ่องพ้นภัยพาลสำราญกาย

บ้านบางโพธิ์ อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าเจ้าพระยา ขึ้นตำบลบางซื่อ เขตดุสิต กรุงเทพ¬นหานคร เดิมเป็นชื่อตำบล เรียกตำบลบางโพธิ์ขึ้นเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันไม่ได้เป็นตำบลแล้ว แต่เรียกกันตามชื่อเดิมว่า บางโพธิ์ มีวัดบางโพโอมาวาสเป็นสำคัญ

บ้านญวน
ถึงบ้านญวนล้วนแต่โรงแลสะพรั่ง        มีข้องขังกุ้งปลาไว้ค้าขาย
ตรงหน้าโรงโพงพางเขาวางราย        พวกหญิงชายพร้อมเพรียงเขาเมียงมอง

บ้านญวน อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าเจ้าพระยา ขึ้นตำบลบางซื่อ เขตดุสิต กรุงเทพ¬นหานคร มีวัดอนัมนิกายาราม หรือที่เรียกกันว่า วัดญวนบางโพธิ์ เป็นสำคัญ

วัดเขมาภิรตาราม   
จะเหลียวกลับลับเขตประเทศสถาน    ทรมานหม่นไหม้ฤทัยหมอง
ถึงเขมาอารามอร่ามทอง            พึ่งฉลองเลิกงานเมื่อวานซืน
โอ้ปางหลังครั้งสมเด็จบรมโกศ        มาผูกโบสถ์ก็ได้มาบูชาชื่น
ชมพระพิมพ์ริมผนังยังยั่งยืน            ทั้งแปดหมื่นสี่พันได้วันทา
โอ้ครั้งนี้มิได้เห็นเล่นฉลอง            เพราะตัวต้องตกประดาษวาสนา
เป็นบุญน้อยพลอยนึกโมทนา        พอนาวาติดชลเข้าวนเวียน

วัดเขมาภิรตาราม อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าเจ้าพระยา เหนือวัดปากนํ้า ตรงกันข้ามกับปากคลองบางกรวย (คลองตลาดแก้ว) ขึ้นตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี เดิมชื่อวัดเขมา เป็นวัดโบราณสมัยอยุธยา พ.ศ. ๒๓๗๑ สมเด็จพระศรีสุ่ริเยนทราบรมราชินีในรัชกาลที่ ๒ ทรงปฏิสังขรณ์ และสร้างอัครเจดีย์ทั้ง ๔ ทิศ ไว้มุมพระอุโบสถ ต่อมาพ.ศ. ๒๓๙๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ปฏิสังขรณ์และสร้างพระมหาเจดีย์ใหม่สูง ๓๐ เมตร (๑๔ วา) และเลื่อนอัครเจดีย์ทั้ง ๔ องค์ไปตั้งอยู่ ๔ มุมของพระมหาเจดีย์ เสร็จแล้วโปรดให้อัญเชิญพระพุทธรูปโลหะ จากวังจันทรเกษม จังหวัดพระนครศรีอยุธยามาประดิษฐานไว้หน้าพระประธานในพระอุโบสถ แล้วพระราชทานนามวัดนี้ใหม่ว่า “วัดเขมาภิรตาราม” หลังจากปฏิสังขรณ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็โปรดให้มีงานฉลอง ปรากฏหลักฐานในประกาศรัชกาลที่ ๔ ว่า “… ก็ได้ทรงพระศรัทธาเสด็จไปทำมหกรรมการฉลอง ทรงบำเพ็ญพระกุศลในที่นั้นเป็นอันมาก ในปีชวด สัมฤทธิศก ศักราช ๑๑๙๐ (พ.ศ. ๒๓๗๑)”

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ขณะที่ทางวัดกำลังรื้อสิ่งสลักหักพังที่องค์พระมหาเจดีย์ เพื่อปฏิสังขรณ์นั้นได้พบพระบรมสารีริกธาตุ จึงได้ทำพิธีอัญเชิญไปบรรจุไว้ในองค์พระมหาเจดีย์

โบราณวัตถุสถานที่น่าสนใจภายในวัดเขมาภิรตาราม นอกจากที่กล่าวมาแล้วคือ

พระที่นั่งมูลมณเฑียร พระที่นั่งนี้เดิมสร้างเป็นตำหนักไม้อยู่ในพระบรมมหาราชวัง ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ต่อมารัชกาลที่ ๔ โปรดให้รื้อและแก้ไขเป็นตึก ปลูกขึ้นใหม่อยู่ระหว่างพระที่นั่งภาณุมาศจำรูญ กับบริเวณพระพุทธนิเวศน์ ในพระบรมมหาราชวัง ครั้นถึงรัชกาลที่ ๕ โปรดให้รื้อไปปลูกที่วัดเขมาภิรตาราม โดยทรงพระราชอุทิศให้เป็นโรงเรียน ปัจจุบันใช้เป็นห้องสมุดของโรงเรียนกลาโหมอุทิศ

ตำหนักแดง ปัจจุบันอยู่ภายในบริเวณวัดเขมาภิรตาราม จังหวัดนนทบุรี พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ อธิบายไว้ในประวัติวัดเขมาภิรตาราม ฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๗๗ ว่า

“ตำหนักแดงนั้น เดิมพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสร้างเป็นตำหนักหมู่ใหญ่ในวังหลวงถวายเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ คู่กับตำหนักเขียว ซึ่งทรงสร้างถวายสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี ที่เรียกว่าตำหนักแดงตำหนักเขียว ก็เพราะเหตุที่ทาสีแดง ตำหนัก ๑ ทาสีเขียวตำหนัก ๑ เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ สิ้นพระชนม์แล้ว กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ผู้เป็นพระธิดา ก็ได้ประทับอยู่ตำหนักแดงต่อมา ครั้นถึงรัชกาลที่ ๓ สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์เสด็จออกไปประทับอยู่พระราชวังเดิม กับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกอบกับได้มีการรื้อตำหนักเครื่องไม้ในวังหลวง สร้างเป็นตึก สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงโปรดเกล้าฯให้รื้อตำหนักแดงไปปลูกถวายสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ที่พระราชวังเดิม ต่อมาเมื่อกรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์สิ้นพระชนม์ลง สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ได้พระราชทานตำหนักตึกของกรมสมเด็จพระอมรินทร์ฯ แด่กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระตำหนักแดงก็ว่างอยู่ ครั้นเมื่อกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์สวรรคตลงอีก พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวก็โปรดให้รื้อไปปลูกถวายเป็นกุฎีพระราชาคณะวัดโมฬีโลก
เมื่อมาถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ย้ายจากวัดโมฬีโลกไปปลูกเป็นกุฎีเจ้าอาวาสวัดเขมาภิรตาราม เพื่อเป็นอนุสรณ์ สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ และทรงสร้างกุฎีตึกแทนพระตำหนักแดงของเดิมพระราชทานให้เป็นกุฎีพระราชา คณะวัดโมฬีโลก

ถึงแม้จะถูกรื้อถูกย้ายที่ตั้ง ๓ ครั้งแล้วก็ดี ตำหนักแดงที่ยังอยู่ในวัดเขมาภิรตารามเวลานี้ ยังคงเป็นรูปอยู่ได้ด้วยความอุตสาหะของเจ้าอาวาสและพระภิกษุสงฆ์ในวัดเขมาภิรตารามอุตส่าห์สงวนไว้ โดยก่ออิฐรองข้างล่างให้คงอยู่แต่ฝาและโครงไม้ชั้นบน ส่วนพื้นได้ถูกเปลี่ยนบ้าง คือเปลี่ยนเอาไม้ใหม่มาใส่แทนไม้เก่าที่ผุพัง และยกพื้นขึ้นให้เสมอกัน เพราะพื้นเดิมมีสูงตอนหนึ่ง ตํ่าตอนหนึ่ง อนึ่ง ตำหนักแดงนี้มีเสาจุนเชิงชายจากพื้นดินทำนองเดียวกับตำหนักแดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในเวลานี้ เสาจุนชิงชายเหล่านี้ต้องทิ้งเพราะผุพังจนเหลือวิสัยที่จะรักษาไว้ได้ ทางด้านเหนือได้สร้างมุขต่อเติมออกไป แต่อย่างไรก็ดี ถึงแม้ตำหนักแดงจะได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้ ส่วนที่ยังเหลืออยู่ก็ยังพอเป็นอาหารของนักประวัติศาสตร์ได้บ้าง เพราะเป็นชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นตัวอย่างปราสาทราชวังเมื่อร้อยห้าสิบปีมาแล้ว ซึ่งเป็นเรือนฝากระดานนี่เอง นับว่าเป็นเรือนไม้ที่รักษาไว้ได้นานที่สุดชิ้นหนึ่ง นักเรียนประวัติศาสตร์จะได้เห็นชีวิตของสมเด็จพระราชินีเมื่อ ๑๓๐ ปีมาแล้วว่าประทับอยู่ในที่เช่นไร เมื่อย่างเข้าไปในตำหนักแดงจะเห็นห้องกว้าง ซึ่งในครั้งกระนั้นคงเป็นห้องนั่งเล่น นั่งประชุมของพวกสาวสรรค์จับเขม่าถอนไรทาขมิ้นเหลืองไปทั้งตัว ตอนต่อไปมีฝากั้นห้อง แบ่งเป็น ๒ ตอน ตอนข้างซ้ายมือไม่ได้กั้นอย่างมิดชิด เป็นแต่มีรอยไม้ประกับเสา เข้าใจว่าคงใช้ม่านกั้นในตอนนั้น แต่ทางขวามือกั้นเป็นห้องบรรทม ประตูข้างบนเล็กข้างล่างโตตามแบบก่อสร้างของไทยโบราณ ห้องบรรทมไม่กว้างนัก ฝาตำหนักข้างนอกแลเห็นกรอบไม้ตามแบบเรือนฝากระดานอย่างดี แต่ข้างในกรุแผ่นไม้อีกชั้นหนึ่งสีแดงที่มีอยู่ แต่เดิมได้ถูกทับด้วยสีอื่น ยังคงเหลือสีแดงอยู่บางแห่ง รวมความว่าตำหนักแดงเป็นชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่ง ซึ่งจะต้องพยายามสงวนไว้ให้นานที่สุดที่จะอยู่ได้

ตำหนักแดงนี้มีหลังหนึ่งที่ถูกรื้อไปเสียเมื่อเร็วๆ นี้เอง เพราะหมดความสามารถที่จะรักษาไว้ได้แต่ส่วนตำหนักใหญ่ที่กล่าวถึงข้างต้นนี้ คงจะรักษาไว้ได้อีกนาน”

อนึ่ง คำว่า “สมเด็จบรมโกศ’, ที่กล่าวไว้ในกลอนข้างต้นนั้น หมายถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ตลาดแก้ว
ตลาดแก้วแล้วไม่เห็นตลาดตั้ง    สองฟากฝั่งก็แต่ล้วนสวยพฤกษา
โอ้รินรินกลิ่นดอกไม้ใกล้คงคา    เหมือนกลิ่นผ้าแพรดำร่ำมะเกลือ

บ้านตลาดแก้ว อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าเจ้าพระยา ตรงข้ามปากคลองบางสีทองขึ้นตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี คู่กับตลาดขวัญ ปัจจุบันคือที่ตั้งศาลากลางจังหวัดนนทบุรี ซึ่งย้ายมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ ในสมัยรัชกาลที่ ๗

ปากเกร็ด
ถึงเกร็ดย่านบ้านมอญแต่ก่อนเก่า        ผู้หญิงเกล้ามวยงามตามภาษา
เดี๋ยวนี้มอญถอนไรจุกเหมือนตุ๊กตา    ทั้งผัดหน้าจับเขม่าเหมือนชาวไทย
โอ้สามัญผันแปรไม่แท้เที่ยง            เหมือนอย่างเยี่ยงชายหญิงทิ้งวิสัย
นี่หรือจิตคิดหมายมีหลายใจ            ที่จิตใครจะเป็นหนึ่งอย่างพึงคิด

บ้าน ปากเกร็ด อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ขึ้นตำบลปากเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เดิมเป็นที่อยู่ของพวกมอญซึ่งอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ปัจจุบันคงมีชาวมอญอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เรียกกันติดปากว่า บ้านมอญ

บ้านใหม่
ถึงบ้านใหม่ใจจิตก็คิดอ่าน        จะหาบ้านใหม่มาดเหมือนปรารถนา
ขอให้สมคะเนเถิดเทวา        จะได้ผาสุกสวัสดิ์กำจัดภัย

บ้านใหม่ อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าเจ้าพระยา อยู่ในท้องที่ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง ปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี

บางเดื่อ
ถึงบางเดื่อโอ้มะเดื่อเหลือประหลาด    บังเกิดชาติแมลงหวี่มีในไส้
เหมือนคนพาลหวานนอกย่อมขมใน    อุปไมยเหมือนมะเดื่อเหลือระอา

บ้านบางเดื่อ หรือบางมะเดื่อ อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่นํ้าเจ้าพระยา อยู่ในท้องที่ตำบลบางเดื่อ อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี มีคลองบางเดื่ออยู่เหนือวัดนํ้าวนและอยู่ใต้วัดบางเดื่อ เป็นสำคัญ

บางหลวง
ถึงบางหลวงเชิงรากเหมือนจากรัก        สู้เสียศักดิ์สังวาสพระศาสนา
เป็นล่วงพ้นรนราคราคา            ถึงนางฟ้าจะมาให้ไม่ไยดี

บ้านบางหลวง อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่นํ้าเจ้าพระยา อยู่ในท้องที่ตำบลบางหลวง อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี มีวัดบางหลวงตั้งอยู่ปากคลองบางหลวงเป็นสำคัญ คลองนี้มีนํ้าตลอด

เชิงราก (เชียงราก)
ถึงบางหลวง เชิงราก เหมือนจากรัก    สู้เสียศักดิ์สังวาสพระศาสนา

บ้านเชิงราก ปัจจุบันเรียก “เชียงราก” มีคลองเชียงรากซึ่งแยกจากแม่นํ้าเจ้าพระยาทางฝั่งตะวันออก ที่เหนือปากคลองมีศาลเจ้าและวัดมะขามเป็นสำคัญ มีทั้งคลองเชียงราก (ใหญ่) และคลองเชียงรากน้อย นอกจากเชียงรากจะเป็นชื่อคลองแล้ว ยังเป็นชื่อตำบล ๒ ตำบล คือ ตำบลเชียงรากน้อย และตำบลเชียงรากใหญ่ ขึ้นอำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี

สามโคก
ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า        พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี
ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี        ชื่อปทุมธานีเพราะมีบัว
โอ้พระคุณสูญลับไม่กลับหลัง        แต่ชื่อตั้งก็ยังอยู่เขารู้ทั่ว
โอ้เรานี้ที่ สุนทร ประทานตัว            ไม่รอดชั่วเช่นสามโคกยิ่งโศกใจ
สิ้นแผ่นดินสิ้นนามตามเสด็จ        ต้องเที่ยวเตร็ดเตร่หาที่อาศัย
แม้นกำเนิดเกิดชาติใดใด            ขอให้ได้เป็นข้าฝ่าธุลี
สิ้นแผ่นดินขอให้สิ้นชีวิตบ้าง            อย่ารู้ร้างบงกชบทศรี
เหลืออาลัยใจกตรมระทมทวี            ทุกวันนี้ก็ซังกายทรงกายมา

สามโคก เป็นชื่อตำบลและอำเภอ ขึ้นจังหวัดปทุมธานี เดิมเป็นเมืองที่ตั้งของเมืองสามโคก เป็นชื่อเมืองเก่าของปทุมธานี มีชื่อปรากฏในพระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ฉบับองค์การค้าของคุรุสภาพิมพ์จำหน่าย พ.ศ. ๒๕๐๓ หน้า ๓๐ กล่าวว่า “เมื่อสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงสร้างวัดตองปุขึ้นใหม่ โปรดให้พระสงฆ์รามัญมาอยู่วัดตองปุ และให้พระมหาสุเมธาจารย์เป็นเจ้าอาวาส พระไตรสรณธัชนั้นมีพระราชโองการให้อยู่วัดบางหลวง เป็นเจ้าคณะรามัญ ในแขวงเมืองนนทบุรีและสามโคก พระสุเมธน้อยนั้น โปรดให้ครองวัดบางยี่เรือใน” ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พร้อมด้วยสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ได้เสด็จไปประทับที่พลับพลาริมแม่นํ้าเจ้าพระยาฝั่งซ้าย เยื้องกับเมืองสามโคก มีราษฎรนำดอกบัวมาทูนเกล้าฯ ถวายเป็นเนืองนิตย์ พระองค์จึงพระราชทานนามเมืองสามโคกเสียใหม่ว่า “เมืองปทุมธานี” โดยเหตุที่มีดอกบัวอยู่ทั่วไป ดังที่สุนทรภู่ได้กล่าวไว้ในนิราศภูเขาทองว่า

“ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี    ชื่อปทุมธานีเพราะมีบัว”

และให้ยกจวนกลางทำเป็นวัด เรียกว่า “วัดปทุม” ที่ตั้งเมืองปทุมธานี ปรากฎว่าย้ายหลายครั้ง ปัจจุบันคือจังหวัดปทุมธานี

อนึ่ง คำว่า “สุนทร” ที่กล่าวถึงในนิราศภูเขาทองนั้น หมายถึง “สุนทรภู่” ท่านมักจะใช้คำสรรพนามแทนตัวท่านว่า “สุนทร”

ส่วนคำว่า “พระโกศ” ที่กล่าวถึงในนิราศวัดเจ้าฟ้า หมายถึง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งโปรดให้เปลี่ยนชื่อเมืองสามโคกเป็น “เมืองปทุมธานี”

บ้านงิ้ว
ถึงบ้านงิ้วเห็นแต่วิ้งละลิ่วสูง        ไม่มีฝูงสัตว์สิงกิ่งพฤกษา
ด้วยหนามดกรกดาษระดะตา    นึกก็น่ากลัวหนามขามขามใจ
งิ้วนรกสิบหกองคุลีแหลม        ดังขวากแซมเสี้ยมแซกแตกไสว
ใครทำชู้คู่ท่านครั้นบรรลัย        ก็ต้องไปปีนต้นน่าขนพอง
เราเกิดมาอายุเพียงนี้แล้ว        ยังคลาดแคล้วครองตัวไม่มัวหมอง
ทุกวันนี้วิปริตผิดทำนอง        เจียนจะต้องปีนบ้างหรืออย่างไรฯ

บ้านงิ้ว หรือบ้านป่างิ้ว อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าเจ้าพระยา อยู่ในท้องที่ตำบลบ้านงิ้ว อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี มีวัดป่างิ้วเป็นสำคัญ

เกาะใหญ่ราชคราม
โอ้คิดมาสารพัดจะตัดขาด        ตัดสวาทตัดรักมิยักไหว
ถวิลหวังนั่งนึกอนาถใจ        ถึง เกาะใหญ่ราชคราม หอยามเย็น
ดูห่างย่านบ้านช่องทั้งสองฝั่ง    ระวังทั้งสัตว์น้ำจะทำเข็ญ
เป็นที่อยู่ผู้ร้ายไม่วายเว้น        เที่ยวซ่อนเร้นตีเรือเหลือระอา

เกาะใหญ่ เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกตำบลท้ายเกาะ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี มีคลองเกาะใหญ่ ซึ่งแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งตะวันตก ตรงข้ามกับวัดโพธิ์แตงเหนือ วัดโพธิ์แตงใต้ มีวัดท้ายเกาะใหญ่ ตำบลท้ายเกาะ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี เป็นสำคัญ
ส่วนคำว่า “ราชคราม” เป็นชื่อเดิมของอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบัน เป็นตำบลราชคราม อำเภอบางไทร ตั้งอยู่ตรงที่ร่วมของแม่นํ้าน้อย (แม่นํ้าสีกุก) กับลำแม่นํ้าใหญ่ คือ แม่นํ้าเจ้าพระยา ในสมัยรัชกาลที่ ๕ โปรดให้ตั้งเป็นอำเภอเรียกว่า อำเภอราชคราม ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้ย้ายที่ว่าการไปตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของลำนํ้าบางไทร (แม่นํ้าน้อย) ที่ตำบลราชคราม เมื่อพ.ศ. ๒๔๖๗. ถึงพ.ศ. ๒๔๘๑ กลับเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอบางไทร และเป็นชื่อที่เรียกกันต่อมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

ตำบลกรุงเก่า
พอรอนรอนอ่อนแสงพระสุริยน    ถึงตำบล กรุงเก่า ยิ่งเศร้าใจ

ตำบลกรุงเก่า หมายถึงกรุงศรีอยุธยา คำว่า “กรุงเก่า” เป็นชื่อเดิมของอำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอนี้เดิมมีชื่อว่า อำเภอรอบกรุง ครั้นต่อมาเมื่อเปลี่ยนชื่อจังหวัดและมณฑลในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอกรุงเก่า ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อ เป็นอำเภอพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๐๐

ท่าหน้าจวน
มาถึงท่าหน้า จวน จอมผู้รั้ง            คิดถึงครั้งก่อนมาน้ำตาไหล
จะแวะหาถ้าท่านเหมือนเมื่อเป็นไวย    ก็จะได้รับนิมนต์ขึ้นบนจวน
แต่ยามยากหากว่าถ้าท่านแปลก        อกมิแตกเสียหรือเราเขาจะสรวล
เหมือนเข็ญใจใฝ่สูงไม่สมควร        จะต้องม้วนหน้ากลับอัประมาณ

ท่าหน้าจวน คือจวนผู้รักษากรุงเก่าในสมัยนั้น เข้าใจว่าจะอยู่ในวังจันทรเกษม ผู้รักษากรุงเก่า คือ พระยาไชยวิชิต (เผือก) ซึ่งเคยสนิทสนมกับสนุทรภู่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ขณะมีบรรดาศักดิ์เป็น จมื่นไวยวรนารถ กล่าวไว้ในนิราศภูเขาทองว่า

“เคยหมอบรับกับพระจมื่นไวย    แล้วลงในเรือที่นั่งบัลลังก์ทอง”

วัดหน้าพระเมรุ
มาจอดท่าหน้า วัดพระเมระข้าม    ริมอารามเรือเรียงเคียงขนาน
บ้างขึ้นล่องสองลำเล่นสำราญ    ทั้งเพลงการเกี้ยวแก้กันแซ่เซ็ง
บ้างฉลองผ้าป่าเสภาขับ        ระบาดรับรัวคล้ายกับนายเส็ง
มีโคมรายแลอร่ามเหมือนสำเพ็ง    เมื่อคราวเคร่งก็มิใคร่จะได้ดู
อ้ายลำหนึ่งครึ่งท่อนกลอนมันมาก    ช่างยาวลากเลื้อยเจื้อยจนเหนื่อยหู
ไม่จบบทลดเลี้ยวเหมือนเงี้ยวงู    จนลูกคู่ขอทุเลาว่าหาวนอนฯ

วัดหน้าพระเมรุ อยู่ฝั่งขวาแม่นํ้าลพบุรีและริมคลองสระบัวตรงข้ามพระราชวังโบราณด้านเหนือ ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพระอารามหลวงสามัญ ชั้นตรี เป็นวัดโบราณที่สำคัญวัดหนึ่ง ตามตำนานกล่าวว่า พระองค์อินทร์ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ทรงสร้างเมื่อจุลศักราช ๘๖๕ พ.ศ. ๒๐๔๗ ประทานนามว่า “วัดพระเมรุราชิการาม” ต่อมาภายหลังเรียกกันทั่วไปว่า “วัดหน้าพระเมรุ” คงจะสร้างตรงที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระราชา พระองค์ใดพระองค์หนึ่งที่ครองกรุงศรีอยุธยา หรืออาจจะเอานามวัดพระเมรุซึ่งปัจจุบันเป็นวัดร้างอยู่ที่สวนนันทอุทยาน ทางตะวันออกเฉียงใต้ขององค์พระปฐมเจดีย์ ตำบลห้วยจระเข้ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม มาตั้งชื่อวัดนี้ก็ได้

ตามพงศาวดารกล่าวว่า ก่อนที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจะทรงทำสัญญาสงบศึกกับพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง เมื่อพ.ศ. ๒๐๙๒ ได้โปรดให้พนักงานออกไปปลูกราชสัณฐาคาร (พลับพลา) ณ ตำบลวัดพระเมรุราชิการามกับวัดหัสดาวาส ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ห่างจากวัดหน้าพระเมรุเล็กน้อย มีราชบัลลังกาอาสน์ ๒ พระที่นั่งสูงเสมอกัน ระหว่างพระที่นั่งห่าง ๔ ศอก แล้วให้แต่งรัตนตยาอาสน์สูงกว่าราชอาสน์อีกพระที่นั่งหนึ่ง ให้เชิญพระศรีรัตนตรัยออกไปไว้เป็นประธาน

ต่อมาภายหลังวัดนี้ได้ชำรุดทรุดโทรม ปรากฎว่าสมเด็จพระเจ้าบรมโกศได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ และต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระยาไชยวิชิต (เผือก) ผู้รักษาพระนครศรีอยุธยา ได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๘ และ พ.ศ. ๒๓๘๑ ในรัชกาลที่ ๓ และเมื่อวันเสาร์ เดือนอ้าย แรม ๔ ค่ำ พ.ศ. ๒๔๐๒ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้พระยาเพทราชา พระยาโบราณบุรานุรักษ์ กรมการเร่งให้ช่างรักช่างกระจก ลงรักประดับกระจกพระพุทธรูปวัดหน้าพระเมรุ และเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ ทางราชการได้ทำการบูรณะวัดนี้ โดยสร้างสะพานข้ามแม่นํ้าลพบุรี ตรงหน้าวัด และทำถนนเข้าวัดยาว ๑๑๘ เมตร ซ่อมพระอุโบสถและวิหารน้อย

เจดีย์ภูเขาทอง
ครั้นรุ่งเช้าเข้าเป็นวันอุโบสถ        เจริญรสธรรมาบูชาฉลอง
ไปเจดีย์ที่ชื่อ ภูเขาทอง            ดูสูงล่องลอยฟ้านภาลัย
อยู่กลางทุ่งรุ่งโรจน์สันโดษเด่น    เป็นที่เล่นนาวาคงคาใส
ที่พื้นลานฐานบัทม์ถัดบันได        คงคาลัยล้อมรอบเป็นขอบคัน
มีเจดีย์วิหารเป็นลานวัด        ในจังหวัดวงแขวงกำแพงกั้น
ที่องค์ก่อย่อเหลี่ยมสลับกัน        เป็นสามชั้นเชิงชานตระหง่านงาม

วัดภูเขาทอง เป็นวัดที่ตั้งอยู่นอกตัวเมืองพระนครศรีอยุธยาไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ ๒ กิโลเมตรเศษ ประวัติการสร้างวัดและองค์พระเจดีย์ประธาน ซึ่งพบหลักฐานจากพงศาวดาร ประกอบกับคำให้การชาวกรุงเก่ามีความเป็น ๓ ประการ ดังจะขอนำมาเสนอเพื่อเป็นแนวทางพิจารณาดังนี้

๑. พงศาวดารเหนือ กล่าวว่าสมัยหนึ่งพระนเรศวรหงสากษัตริย์มอญผู้ครองเมืองสะเทิม ได้ยกพยุหแสนยากร ๔๐ แสนมาล้อมกรุง ได้ตั้งค่ายอยู่ ณ ตำบลนนตรี เมื่อได้ทราบว่าพระนารายณ์ได้ครองราชสมบัติก็เกรงพระเดชานุภาพ จึงแต่งหนังสือแจ้งไปยังพระนารายณ์เป็นใจความว่า ที่ได้ยกพลมาครั้งนี้ เพื่อจะสร้างวัดพนันกันคนละวัด ฝ่ายพระนารายณ์ก็รับคำพนันนั้น โดยตรัสว่า “พระเจ้าพี่จะสร้าง ก็สร้างเถิด คนละมุมเมือง เจ้าพี่สร้างทางทิศพายัพ เราจะอยู่ข้างทิศหรดี” พระนเรศวรหงสาจึงสร้างพระเจดีย์กว้าง ๓ เส้น สูง ๗ เส้น ๔ วา ๒ ศอก ก่ออยู่ ๑๕ วัน ถึงบัวกลุ่มให้นามว่า “วัดภูเขาทอง” พระนารายณ์เห็นว่าจะแพ้จึงคิดเป็นกลอุบายทำโครงไม้เอาผ้าขาวคาด พระนเรศวรหงสาเห็นเช่นนั้นคิดกลัว ก็เลิกทัพกลับไป เจดีย์ที่พระนารายณ์ทรงสร้างพงศาวดารเหนือกล่าวว่า คือ เจดีย์วัดชัยมงคล

๒. จากพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวว่า สมเด็จพระราเมศวร ซึ่งเป็นราชโอรสของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (อู่ทอง) ปฐมกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา เป็นผู้สถาปนาวัดนี้ขึ้น ซึ่งมีความตามพงศาวดารว่า “ศักราช ๗๔๙ เถาะ นพศก (พ.ศ. ๑๙๓๐) สถาปนาวัดภูเขาทอง”

๓. สำหรับองค์พระเจดีย์ประธานของวัดนั้น ตามหนังสือคำให้การของชาวกรุงเก่าว่า พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองเป็นผู้สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๑๑๒ อันเป็นปีที่ไทยต้องเสียกรุงศรีอยุธยาแก่ข้าศึก ความในคำให้การของชาวกรุงเก่าเขียนไว้ดังนี้ “ในเวลาเมื่อพระเจ้าหงสาวดียังประทับอยู่พระนครศรีอยุธยานั้น ได้โปรดให้สร้างพระเจดีย์ใหญ่องค์หนึ่งที่ตำบลทุ่งภูเขาทอง ขนานนามพระเจดีย์นั้นว่า เจดีย์ภูเขาทอง ยังปรากฎอยู่จนทุกวันนี้”

เมื่อพิจารณาจากหลักฐาน ๓ ประการที่ยกมา และได้อ่านพงศาวดารฉบับอื่นๆ ประกอบ แล้วทำให้เชื่อได้ว่า สมเด็จพระราเมศวรทรงสถาปนาวัดภูเขาทองขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๑๙๓๐ แต่องค์พระเจดีย์ ซึ่งเป็นหลักของวัดนั้น ชั้นเดิมอาจเป็นได้ว่าสมเด็จพระราเมศวรสร้างไว้เพียงองค์ขนาดเล็ก ต่อมาเมื่อพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองมีชัยชนะเหนือกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. ๒๑๑๒ แล้วจึงโปรดให้สร้างเจดีย์ ทับหรือครอบเจดีย์เก่าของสมเด็จพระราเมศวรอีกชั้นหนึ่ง ส่วนความตามพงศาวดารเหนือนั้นถ้าจะพูดถึงศักราชและขนาดขององค์เจดีย์และกำลังพลทหารแล้ว ก็ไม่น่าเชื่อ อย่างไรก็ดีก็ยังมีเค้าซึ่งแสดงถึงความจริงสอดคล้องกับคำให้การชาวกรุงเก่าอยู่บ้าง ในข้อที่ว่าพระนเรศวรหงสาเป็นกษัตริย์หงสาวดียกพลมาล้อมกรุง ตั้งอยู่ที่ทุ่งนนตรี ซึ่งน่าจะหมายถึงกรุงศรีอยุธยา

มีข้อที่น่าคิดและน่าพิจารณาอยู่อีกประการหนึ่งว่า พระเจดีย์องค์ที่พระเจ้าหงสาวดีทรงสร้างนี้ กล่าวกันว่าจะเป็นแบบเจดีย์มอญว่าโดยหลักฐานทางเอกสารจะเป็นแบบนั้นจริงหรือไม่ ยังไม่พบหลักฐานที่แน่ชัด เมื่อค้นต่อไปก็ได้หลักฐานว่าหลังจากที่พระเจ้าหงสาวดีสร้างครอบไว้แล้ว ๑๒๑ ปี หมอแกมป์เฟอร์ชาวเยอรมัน ซึ่งเป็นหมอประจำคณะทูตของเนเธอร์แลนด์ ได้เดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่น และได้แวะเข้ามาพัก ณ กรุงศรีอยุธยา ๒๓ วัน (ตั้งแต่วันที่ ๑๒ มิถุนายน ถึงวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๒๓๓) ได้พรรณนาบรรยายภาพของพระเจดีย์ภูเขาทองไว้ รู้สึกว่าใกล้ชิดกับรูปทรงหรือแบบอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมาก หมอแกมป์เฟอร์ยังได้บันทึกไว้ว่า เจดีย์องค์นี้ไทยสร้างขึ้นเป็นที่ระลึกที่มีชัยชนะแก่กษัตริย์มอญอย่างใหญ่หลวง ณ ที่นั้นไทยได้เข่นฆ่าและตีทัพอันใหญ่หลวงของข้าศึกแตกพ่ายไป การที่แกมป์เฟอร์เขียนว่าไทยเป็นผู้สร้างนั้น พิจารณาแล้วเป็นได้ทั้งน่าเชื่อและไม่น่าเชื่อ ทว่าไม่น่าเชื่อ ก็เห็นจะมีอยู่เพียงประการเดียวคือ อาจได้รับคำบอกเล่าผ่านล่าม จึงไม่เข้าใจในภาษาอย่างซึ้ง หรืออาจได้รับคำบอกเล่าจากฝรั่งซึ่งเข้าใจเหตุการณ์ผิดพลาดก็ได้ ส่วนที่ว่าน่าเชื่อนั้นดูออกจะมีนํ้าหนักอยู่โดยเหตุผล ดังนี้

๑. พม่าจะสร้างเจดีย์เป็นที่ระลึกในชัยชนะครั้งนี้ขึ้นมาในประเทศไทย จนมีขนาดใหญ่ถึงปานนี้เชียวหรือ
๒. จากคำให้การชาวกรุงเก่าที่ว่า พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองโปรดให้สร้างนั้น คำให้การนี้ เกิดมีขึ้นก็เมื่อเสียกรุงแล้ว (หลัง พ.ศ. ๒๓๑๐) ไทยที่ตกเป็นเชลยในเวลานั้น อาจให้การไว้กับพม่า ในเรื่องที่ผ่านมาแล้วถึง ๗๗ ปี ผิดพลาดไปก็ได้ หรือบางทีจะให้การเสริมเกียรติพม่าเพื่อเอาใจในฐานะที่ตนตกเป็นเชลยก็ได้
๓. แกมป์เฟอร์รับฟังความจากคนไทยโดยผ่านล่ามหรือไม่ผ่านก็ตาม แต่คนไทยผู้นั้นก็ยังมีชีวิตอยู่ในปี ๒๒๓๓ ก่อนคำให้การชาวกรุงเก่าอย่างน้อยถึง ๗๗ ปี
๔. ในเรื่องรูปทรงแบบอย่างของเจดีย์นั้น แกมป์เฟอร์ได้พรรณนาไว้ละเอียดลออถี่ถ้วนใกล้เคียงกับของจริงที่เป็นอยู่ปัจจุบันมาก ดังจะยกข้อเขียนนั้นมาลงไว้เป็นแนวทางพิจารณาดังนี้

“    เจดีย์นี้ดูรูปป้อมๆ แต่งดงามมาก สูงราว ๔๐ ฟาทมเศษ ตั้งอยู่บนฐานจตุรัส ยาวประมาณด้านละ ๑๔๐ เพซ สูงราว ๑๒ ฟาทม เรียวเป็นเถาขึ้นไป ทุกด้านย่อมุมเป็น ๓ แฉกขึ้นไป จนถึงยอด ดูเป็นรูปหลายเหลี่ยม มี ๔ ชั้นซ้อนกัน ชั้นบนสอบแคบลงทำให้ยอดชั้นบนลงมามีที่ว่าง เหลือเป็นระเบียงเดินได้รอบทุกชั้น เว้นแต่ชั้นล่างสุดทำเป็นรูปงอนอย่างประหลาด และที่ริมระเบียงกั้นเป็นลูกกรง ยกหัวเม็ดที่มุมอย่างดงาม ที่มุมตอนกลางของทุกๆ ชั้นทำเหมือนกันอย่างหน้าตึก ประกอบด้วยความงามและการประดับประดายิ่งกว่าที่อื่นโดยเฉพาะชั้นยอดตรงปลายเรียวแหลมนั้นงามเป็นพิเศษ ตรงกลางมีบันไดแล่นจากพื้นขึ้นไปยังชั้นบนซึ่งเป็นบานของโครงชั้นที่ ๒ มีชั้นบันได ๗๔ ชั้นด้วยกัน (ปัจจุบัน ๗๕ ชั้น) ชั้นหนึ่งสูง ๙ นิ้ว (ปัจจุบันวัดได้ ๘ นิ้ว) ยาว ๔ เพซ (ปัจจุบันวัด ได้ ๒.๑๐ เมตร) โครงชั้นที่ ๒ สร้างขึ้นบนพื้นชั้นบนของโครงแรก เป็นโครงสี่เหลี่ยมจตุรัสเหมือนกัน ยาวด้านละ ๓๖ เพซ เรียวชะลูดขึ้นไป ตรงกึ่งกลางฐานทำให้ดูงาม มีลูกกรงล้อมรอบเหมือนกัน ปล่อยที่ว่างบนพื้นฐานราวด้านละ ๕ เพซ บันไดสุดลงตรงระเบียงนี้ ปากทางประกอบด้วยเสางามขนาบทั้ง ๒ ข้าง ฐานหรือชั้นล่างของโครงชั้นที่ ๒ เป็นรูป ๘ เหลี่ยม ทางด้านใต้ ด้านตะวันออก ด้านตะวันตก และด้านเหนือยาวด้านละ ๑๑ เพช ส่วนทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออกเฉียงใต้ และตะวันตก เฉียงเหนือยาวด้านละ ๑๒ เพซ มีหยักงอนเหมือนโครงเบื้องล่าง สูงราว ๒-๓ ฟาทม ถัดขึ้นไปไม่ต่างอะไรกับตึกยอดแหลม ซึ่งชั้นบนทำเป็นเสาสั้นๆ เว้นระยะห่างกันเล็กน้อยระหว่างแต่ละเสาปล่อยว่าง เสาเหล่านี้หนุนติดกับตัวเจดีย์สูงเรียวขึ้นไปเป็นที่สุดด้วยยอดแหลมยาว น่าพิศวงอย่างยิ่ง ที่ยอดแหลมนี้ ทนฟ้าทนลมเป็นเวลานานถึงเพียงนี้ได้อย่างไร นอกจากเจดีย์ที่กล่าวนี้แล้วก็มีโบสถ์ วิหาร การเปรียญของพระ ซึ่งกำแพงล้อมรอบก่อด้วยอิฐอย่างประณีต พระอุโบสถนั้นรูปร่างแปลก มีหลังคาหลายชั้นมีเสาจุนอยู่”

หลังจากที่หมอแกมป์เฟอร์ได้มาชม และพรรณนาลักษณะของเจดีย์องค์นี้แล้ว ได้พบหลักฐานจากพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาพอสรุปได้ความว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๒๘๗ สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ โปรดให้ปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์และพระอารามวัดภูเขาทอง ความในพงศาวดารฉบับนั้นเขียนไว้ว่า

“ในปีนั้น (หมายถึงจุลศักราช ๑๑๐๑ หรือ พ.ศ. ๒๒๘๗) ทรงพระกรุณาโปรดให้ปฏิสังขรณ์พระมหาเจดีย์และพระอารามภูเขาทอง ๑๐ เดือน จึงสำเร็จ “พิจารณาจากเอกสารที่ยกมา ๒ ประการข้างบนนี้ ประกอบกับแบบอย่างของพระเจดีย์ยุคต่างๆ ที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ทำให้เห็นว่าพระเจดีย์ องค์นี้เป็นเจดีย์แบบยุคที่ ๓ ของสมัยอยุธยาคือ นับตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองลงมาจนถึงพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ (พ.ศ. ๒๑๗๓ ถึง พ.ศ. ๒๒๗๕) ฉะนั้น หากเดิมเป็นเจดีย์ทรงไทย (พระราเมศวรโปรดให้สร้าง) แล้วพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองโปรดให้สร้างครอบไว้เป็นแบบมอญจริงแล้ว ข้อสันนิษฐานก็มีอยู่ว่า จะต้องมีการซ่อมแปลงแบบอย่างที่เป็นมอญมาเป็นแบบไทยอีกครั้งหนึ่งใน ระหว่างปี ๒๑๗๓ ลงมาซึ่งไม่เกิน พ.ศ. ๒๒๓๓ (ปีที่แกมป์เฟอร์มาสู่กรุงศรีอยุธยา) และที่พงศาวดาร ได้บันทึกไว้ว่า พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศปฏิสังขรณ์พระมหาเจดีย์นั้น สันนิษฐานว่า อาจเป็นเพียงปฏิ-สังขรณ์บางส่วนที่ชำรุด และแก้ไขลวดลายเท่าที่เห็นว่างามเท่านั้นหาใช่เปลี่ยนแปลงแบบอย่างจากมอญมาเป็นไทยไม่ ข้อนี้มีเหตุผลสนับสนุนอยู่ก็คือ ระยะเวลาที่หมอแกมป์เฟอร์เข้ามาแล้วบรรยายภาพไว้ (คือ ปี ๒๒๓๓) นั้นแบบอย่างเจดีย์ก็เป็นทรงเหลี่ยม ต่อมาอีก ๕๔ ปี ที่พงศาวดารกล่าวว่าสมเด็จพระเจ้าบรมโกศปฏิสังขรณ์ พระเจดีย์คงไม่ชำรุดทรุดโทรมหักพังลงมาถึงรากฐานเป็นแน่ ประจักษ์พยานยังเห็นอยู่ในปัจจุบันนี้อีกไม่น้อย ต่อจากนี้ยังไม่พบหลักฐานว่ามีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดที่ครองกรุงศรีอยุธยา โปรดให้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดหรือพระเจดีย์องค์นี้เลย ในส่วนที่สมเด็จพระเจ้าบรมโกศบูรณะ พระอาราม นอกจากองค์พระเจดีย์ประธานแล้ว อาจจะบูรณะพระอุโบสถและอื่นๆ อีก เป็นต้นว่าสร้างพระเจดีย์รายเพิ่มขึ้น เพราะลวดลายของพระเจดีย์รายบางองค์ส่อว่าทำอย่างประณีตบรรจง โดยเฉพาะลวดลายส่วนบนของเสาประตูซุ้มเข้าพระอุโบสถเป็นลายเฟื่องที่ประณีตบรรจงสวยงามมาก ยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ หลังจากเสียกรุงเวลาล่วงมาอีกราว ๖๓ ปี สุนทรภู่ได้มานมัสการ เมื่อปีขาล เดือน ๑๑ แรม ๘ ค่ำ พ.ศ. ๒๓๗๓ ได้เขียนนิราศภูเขาทองบรรยายภาพวัดและพระเจดีย์ไว้ มีความดังต่อไปนี้

“ครั้นรุ่งเช้าเข้าเป็นวันอุโบสถ    เจริญรสธรรมาบูขาฉลอง
ไปเจดีย์ที่ชื่อภูเขาทอง            ดูสูงล่องลอยฟ้านภาลัย
อยู่กลางทุ่งรุ่งโรจน์สันโดษเด่น    เป็นที่เล่นนาวาคงคาใส
ที่พื้นลานฐานบัทม์ถัดบันได        คงคาลัยล้อมรอบเป็นขอบคัน
มีเจดีย์วิหารเป็นลานวัด        ในจังหวัดวงแขวงกำเพงกั้น
ที่องค์ก่อย่อเหลี่ยมสลับกัน        เป็นสามชั้นเชิงชานตระหง่านงาม
บันไดมีสี่ด้านสำราญรื่น        ต่างชมชื่นชวนกันขึ้นชั้นสาม
ประทักษิณจินตนาพยายาม        ได้เสร็จสามรอบคำนับอภิวันท์
มีห้องถ้ำสำหรับจุดเทียนถวาย    ด้วยพระพายพัดเวียนอยู่เหียนหัน
เป็นลมทักขิณาวัฏน่าอัศจรรย์    แต่ทุกวันนี้ชราหนักหนานัก
ทั้งองค์ฐานรานร้าวถึงเก้าแสก    เผยอแยกยอดสุดก็หลุดหัก…

กลอนนิราศสุนทรภู่บรมครูกวีกลอน ได้ให้ภาพพจน์อย่างเห็นได้ชัด แสดงว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงแบบอย่างหนึ่งอย่างใด จนเมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ทางราชการได้บูรณะองค์พระเจดีย์ให้อยู่ในสภาพเดิมโดยต่อเติมปล้องไฉน ปลี และลูกแก้ว โดยเฉพาะลูกแก้วทำด้วยทองคำหนัก ๒,๕๐๐ กรัม ซึ่งอาจจะเป็นความหมายว่า ได้บูรณะขึ้นในคราวฉลองพุทธศตวรรษที่ ๒๕

ข้อคิดและเหตุผลต่างๆ ดังที่ได้เสนอมานี้ อาจเป็นแนวทางที่จะได้ค้นคว้าศึกษาและสันนิษฐาน ในทางโบราณคดีต่อไป

ตลอดระยะเวลาที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี วัดนี้มีฐานะเป็นพระอารามหลวง โดยมีเหตุผลสนับสนุน ดังนี้
๑. หนังสือบรรยาย ภูมิสถานกรุงศรีอยุธยา เขียนไว้ว่า พระอารามอันเป็นหลักของพระนคร นอกกรุงเทพมหานครศรีอยุธยามีวัดภูเขาทองรวมอยู่ด้วย ดังจะขอคัดมาลงไว้ ดังนี้

“อนึ่ง เป็นหลักกรุงเทพมหานครศรีอยุธยาราชธานีใหญ่นั้น คือพระมหาปราสาทสามองค์ กับพระมหาธาตุวัดพระราม ๑ วัดหน้าพระธาตุ ๑ วัดราชบูรณะ ๑ และพระมหาเจดีย์ฐานวัดสวนหลวง สพสวรรย์ ๑ วัดขุนเมืองใจ ๑ กับพระพุทธปฏิมากรวัดพระศรีสรรเพชญ ๑ วัดมงคลบพิตร ๑ และนอกกรุงเทพฯ นั้นคือ พระมหาเจดีย์ฐานวัดพระยาไทสูง ๒ เส้น ๖ วา ๑ วัดภูเขาทอง สูง ๒ เส้น ๕ วา กับประประธานวัดเจ้าพะแนงเชิงของพระเจ้าสามโปเตียน ๑”
๒. วัดนี้เป็นวัดที่พระราเมศวร พระมหากษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยาทรงสร้าง
๓. ทำเนียบวัดในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่าระบุไว้ว่า วัดนี้เป็นพระอารามหลวง รวมอยู่ด้วยเป็นอันดับที่ ๒๘

วัดนี้คงตกเป็นพระอารามราษฎร์หลังจากเสียกรุงไปแล้ว ต่อมาราว พ.ศ. ๒๔๗๑ วัดนี้ชำรุดทรุดโทรมจนไม่มีพระภิกษุพำนักอยู่ จึงกลายเป็นวัดร้างเรื่อยมา ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้บูรณะขึ้น จึงได้รับสถาปนาเป็นวัดมีพระสงฆ์อีกครั้งหนึ่ง

มีเรื่องตามพงศาวดารอันเกี่ยวกับพระภิกบุวัดนี้ได้ช่วยเหลือในการป้องกันพระนครศรีอยุธยา อยู่เรื่องหนึ่ง คือเมื่อ พ.ศ. ๒๐๘๖ พระเจ้าหงสาวดีได้ยกพลมาตีกรุงศรีอยุธยา พระมหานาคซึ่งบวชอยู่วัดนี้ได้สึกออกมาช่วยเหลือตั้งค่ายกันทัพเรือ ตั้งค่ายแต่วัดภูเขาทองลงมาจนถึงวัดป่าพลู ได้สะสมกำลังญาติโยมทาสชายหญิงช่วยกันขุดคู คือขุดจากคลองวัดภูเขาทองลงมาข้างใต้เลี้ยวมาทางตะวันตก ผ่านวัดขุนญวน วัดป่าพลู ไปออกแม่น้ำใหญ่ คลองนี้ยังมีร่องรอยอยู่เรียกว่าคลองมหานาค

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด

นิราศภูเขาทอง

“ถึงหน้าวังดังหนึ่งใจจะขาด
คิดถึงบาทบพิตรอดิศร
โอ้ผ่านเกล้าเจ้าประคุณของสุนทร
แต่ปางก่อนเคยเฝ้าทุกเช้าเย็น
พระนิพพานปานประหนึ่งศีรษะขาด
ด้วยไร้ญาติยากแค้นถึงแสนเข็ญ
ทั้งโรคซ้ำกรรมซัดวิบัติเป็น
ไม่เล็งเห็นที่ซึ่งจะพึ่งพา
จะสร้างพรตอตส่าห์ส่งส่วนบุญถวาย
ประพฤติฝ่ายสมถะทั้งวสา
เป็นสิ่งของฉลองคุณมุลิกา
ขอเป็นข้าเคียงบาททุกชาติไป”

การท่องเที่ยวเดินทางเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ หรือเพื่อการศึกษาหาความรู้ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงจากคนไทยยุคปัจจุบัน เพราะอาจกระทำได้อย่างง่ายดายยิ่ง ด้วยสภาพความเจริญหลายอย่างของบ้านเมือง โดยเฉพาะด้านการคมนาคม ซึ่งสมัยนี้ได้รับการพัฒนาทั่วทุกจังหวัดในประเทศไทย

สมมติว่าท่านผู้อ่านมีความประสงค์จะไปชมพระเจดีย์ภูเขาทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตามที่ท่านสุนทรภู่แต่งไว้ในนิราศภูเขาทอง ท่านก็อาจทำได้อย่างสะดวกสบายด้วยการเดินทางโดยรถประจำทางหรือรถยนต์ส่วนตัวไปยังตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา แล้วเดินทางต่อไปอีกเล็กน้อยตามถนน ด้านตะวันตกของเมืองนั้น ท่านก็จะไปถึงพระเจดีย์ภูเขาทองตามความปรารถนา

แต่การเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังพระเจดีย์ภูเขาทองเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๑ เป็นไปอย่างยากลำบากและต้องใช้เวลาเดินทางนานนับวันๆ เพราะการเดินทางสมัยนั้นที่สะดวกที่สุด ต้องใช้เส้นทางแม่นํ้าลำคลองอาศัยเรือแจวหรือพาย การเดินทางไกลไปตามเมืองไกลๆ นี้เอง ที่ทำให้เกิดวรรณคดีขึ้นประเภทหนึ่ง คือ “วรรณคดีนิราศ” ด้วยเหตุที่กวีผู้เดินทางมีเวลาว่างมาก จึงคิดแต่งกาพย์กลอนขึ้น เพื่อเล่าเรื่องการเดินทาง และระบายอารมณ์ทุกข์สุขต่างๆ ไว้ในกาพย์กลอนที่ตนแต่งขึ้นในระยะการ เดินทางไกลครั้งนั้นๆ

ก่อนที่เราจะเดินทางท่องเที่ยวแบบโบราณจากกรุงเทพฯ ไปยังพระนครศรีอยุธยา เพื่อนมัสการพระเจดีย์ภูเขาทอง ด้วยการร่วมทางไปกับท่านสุนทรภู่ในนิราศภูเขาทอง เราควรจะกล่าวถึงลักษณะ และความเป็นมาของวรรณคดีนิราศ ตลอดจนประวัติชีวิตของท่านสุนทรภู่ก่อนแต่งนิราศเรื่องนี้ พอเป็นพื้นฐานของการท่องเที่ยวครั้งนี้

คำว่า “นิราศ” มาจากคำว่า “นิร” ตามความหมายเดิมหมายถึง “ไม่มี” ครั้นมาแต่งคำด้วยวิธี ศ.เข้าลิลิตเป็น “นิราศ” ใช้กันในความหมายว่า “จากไป” ก็ตรงกับความหมายของชื่อวรรณคดี นิราศ ซึ่งเป็นเรื่องที่กวีแต่งเรื่องเล่าการเดินทางไปยังที่ใดที่หนึ่ง การตั้งชื่อวรรณคดีนิราศ ตั้งตามสถานที่สำคัญ อันเป็นจุดหมายที่กวีผู้แต่งจะเดินทางไป เช่น นิราศภูเขาทอง นิราศถลาง นิราศเมืองเพชรบุรี นิราศลอนดอน แต่ก็มีนิราศบางเรื่องที่ไม่มีสถานที่เดินทาง แต่เป็นนิราศแสดงความในใจของตัวละคร หรือสาระสำคัญของเรื่องที่จะแต่ง เช่น นิราศอิเหนา นิราศเดือน นิราศรบพม่าที่ท่าดินแดง เป็นต้น แม้ว่านิราศเป็นเรื่องที่กวีแต่ง เพื่อเล่าการเดินทางของตนก็จริง แต่เนื้อหาสำคัญที่สุดของวรรณคดีนิราศ ไม่ได้อยู่ที่การเล่าถึงสถานที่เหตุการณ์ที่ประสบพบปะแท้ๆ อย่างสารคดีท่องเทียวทั่วไป แต่กวีจะต้องแทรกบทครํ่าครวญเกี่ยวกับความรัก ความโศกเศร้า และบรรยายความรู้สึกอื่นๆ ลงไปด้วย ประเพณีสำคัญที่ยึดถือกันเป็นแบบแผนของการแต่งเรื่องนิราศมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ก็คือ กวีผู้แต่งนิราศจะต้องสร้างจุดสำคัญขึ้นว่าตนจะต้องจาก “นางในนิราศ” ซึ่งอาจจะเป็นภรรยา หรือคู่รักของตนไป แล้วแต่แต่งบทครํ่าครวญแสดงความรู้สึกให้เกี่ยวพันกับสถานที่ และเหตุการณ์ที่ตนพบเห็นขณะเดินทาง นางในนิราศนี้จะเป็นผู้คนจริงๆ หรือคิดฝันสมมติขึ้นก็ได้

ท่านสุนทรภู่ขณะแต่งนิราศภูเขาทอง เพื่อเล่าเรื่องการเดินทางไปนมัสการพระเจดีย์ภูเขาทอง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๑ นั้น ท่านมีอายุ ๔๒ ปี กำลังอยู่ในเพศบรรพชิต เพราะท่านบวชเป็นพระภิกษุจำพรรษาอยู่ที่วัดราชบูรณะ ท่านเคยเป็นขุนนางกรมพระอาลักษณ์ ที่มีวาสนาสูงส่งใกล้ชิดเบื้องพระยุคบาทพระบาทสมเด็จพระทุทธเลิศหล้านภาลัย แต่ในขณะที่แต่งนิราศภูเขาทองนี้ ท่านพ้นจากตำแหน่ง และหน้าที่การงานในกรมพระอาลักษณ์มาแล้ว เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๒ เสด็จสวรรคต ในรัชกาลที่ ๓ นี้ ท่านไม่มีบรรดาศักดิ์และหน้าที่ราชการใดๆ จึงได้ออกบวชและใช้เวลาบางช่วงเดินทางไปยังสถานที่หลายหนแห่ง และแต่งวรรณคดีนิราศไว้เป็นหลักฐานหลายเรื่อง

พวกเราเริ่มติดตามท่านสุนทรภู่กับคณะของท่านลงเรือประทุนลำใหญ่ คณะเดินทางของพระภิกษุสุนทรภู่ มีเด็กชายพัดบุตรชายคนโตของท่าน ลูกศิษย์ผู้ติดตามหลายคน รวมทั้งคนแจวเรือ 2 คน ผู้ประจำอยู่ทั้งหัวเรือและท้ายเรือ ท่านสุนทรภู่นั่งเอกเขนกอิงหมอนอยู่ในประทุนใต้หลังคาของเรือลำใหญ่นี้ ในมือของท่านมีดินสอและกระดานชนวนสำหรับร่างบทกลอน ท่านนั่งมองสองฟากฝั่ง ตั้งแต่เรือเคลื่อนจากท่าวัดราชบูรณะ นานๆ ครั้ง ท่านจึงก้มหน้าก้มตาเขียนข้อความบรรยายเรื่องการเดินทางด้วยการแทรกความในใจ ข้อคิดเห็นสร้างสรรค์ด้วยศิลปะด้านบทกลอนอันสูงส่ง

วันเวลาของการเดินทางครั้งนี้เป็นวันหนึ่งของเดือนสิบเอ็ด ภายหลังฤดูกาลออกพรรษา และรับกฐินแล้ว พระภิกษุสุนทรภู่จึงได้นำคณะลงเรือเดินทางจากท่าวัดราชบูรณะ ท่านเริ่มระบายความในใจของท่านว่าท่านจำพรรษาอยู่ ณ วัดนี้ ซึ่งเรียกกันโดยสามัญว่า “วัดเลียบ” มาครบ 1 ปี คือได้ ผ่านฤดูกาลสำคัญตามประเพณีไทยมาครบสามฤดูคือ ฤดูตรุษ ฤดูสาร์ท และฤดูกาลเข้าพรรษา เหตุที่ต้องจากไปไกลในครั้งนี้ ก็เพราะมีเรื่องคับข้องใจบางประการคือ ท่านถูกคนพาลบางคนกลั่นแกล้งรังแก และไม่สามารถพึ่งพาหาความยุติธรรมจากผู้มีอำนาจได้ จึงต้องจากวัดนี้ไปชั่วคราวเพื่อความสบายใจ

ถึงหน้าแพแลเห็นเรือที่นั่ง        คิคถึงครั้งก่อนมาน้ำตาไหล
เคยหมอบรับกับพระจมื่นไวย    แล้วลงในเรือที่นั่งบัลลังก์ทอง
เคยทรงแต่งแปลงบทพจนารถ    เคยรับราชโองการอ่านฉลอง
จนกฐินสิ้นแม่น้ำในลำคลอง        มิได้ข้องเคืองขัดหัทยา
เคยหมอบใกล้ได้กลนสุคนอ์ตลบ    ละอองอบรสรนขนนาสา
สิ้นแผ่นดินสิ้นรสสุคนธา        วาสนาเราก็สิ้นเหมือนกลิ่นสุคนธ์

เรือของคณะท่านสุนทรภู่ผ่านไปถึงหน้าพระบรมมหาราชวัง ทำให้ท่านคิดถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งเสด็จสวรรคตไปแล้ว ท่านสุนทรภู่รำลึกว่า เมื่อไม่นานมานี้เคยได้เข้าเฝ้า ทั้งเวลาเช้าเย็นการจากไปของพระองค์ ทำให้ท่านสุนทรภู่รู้สึกเหมือนว่าต้องศีรษะขาด
เพราะหมดสิ้นที่พึ่ง จึงได้ออกบวชเพื่อน้อมเกล้าฯ อุทิศถวายพระราชกุศลแด่พระองค์ท่าน และตั้งความปรารถนา ขอเกิดเป็นข้ารับใช้ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้นทุกๆ ชาติ

เมื่อผ่านตำหนักแพซึ่งอยู่ที่ท่าราชวรดิฐในทุกวันนี้ พระภิกษุสุนทรภู่รู้สึกสะเทือนใจมาก เพราะจำได้มั่นคงว่า ได้เคยเข้าเฝ้าใกล้ชิดใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทที่ตำหนักแพนี้ ตลอดฤดูกาลกฐิน สิ่งที่ท่านซาบซึ้งที่สุดก็คือ เมื่อหมอบเฝ้าใกล้ชิดพระองค์ในครั้งกระโน้น ท่านได้กลิ่นพระสุคนธรสจากพระวรกาย บัดนี้กลิ่นหอมของพระสุคนธรสได้จางหายไปหมดสิ้นแล้ว เช่นเดียวกับวาสนาของท่าน สุนทรภู่ในขณะนั้น

เมื่อมองไปยังพระบรมมหาราชวัง ก็ได้พบเห็นหอพระอัฐิยังคงประดิษฐานอยู่ ท่านจึงได้ตั้งจิตอธิษฐานถวายพระราชกุศลแด่พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศและถวายพระพรแด่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาล ปัจจุบันในขณะนั้นคือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จงทรงพระเกษมสำราญ

มาถึงบางธรณีทวีโศก                ยามวิโยคยากใจไห้สะอื้น
โอ้สุธาหนาแน่นเป็นแผ่นพื้น            ถึงสี่เหมือนสองแสนทั้งแดนไตร
เมื่อเคราะห์ร้ายกายเราก็เท่านี้        ไม่มีที่พสุธาจะอาศัย
ล้วนหนามเหน็บเจ็บแสบคับแคบใจ    เหมือนนกไร้รังเร่อยู่เอกา

นักประวัติศาสตร์และวรรณคดีอันสำคัญยิ่งของประเทศไทย คือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงให้ความเห็นว่า ในบรรดานิราศทั้งหมด ๘ เรื่องของท่านสุนทรภู่ที่ปรากฎอยู่ในทุกวันนี้ นิราศภูเขาทองเป็นนิราศที่แต่งดีที่สุด ทั้งนี้เป็นเพราะท่านสุนทรภู่แต่งขณะมี อารมณ์สับสน เศร้าโศก เพราะประสบความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตของท่านมาใหม่ๆ ทั้งขณะแต่งนิราศเรื่องนี้ ท่านอยู่ในสมณเพศ ถ้อยคำพรรณนาความในใจต่างๆ จึงเต็มไปด้วยความรู้สึกซึ้ง ด้านปรัชญา สุภาษิต และเต็มไปด้วยความสงบ สำรวม ไม่โลดโผนตามวิสัยฆราวาสเหมือนในนิราศเรื่องอื่นๆ ของท่าน

เรือของท่านสุนทรภู่ผ่านสถานที่ต่างๆ เหนือพระบรมราชวังขึ้นมาตามลำดับ มีวัดประโคน ซึ่งเล่าลือกันมาแต่ก่อนว่ามีเสาหินเป็นหลักปักปันเขตแดนครั้งโบราณ วัดนี้ไม่ปราฎในปัจจุบันเลย วัดประโคนมาก็มีเรือแพค้าขาย มีสิ่งของต่างๆ อันเป็นสินค้ายุคนั้นวางขายอยู่มากมาย

จากนั้นท่านได้ผ่านสถานที่สำคัญคือโรงกลั่นสุรา อันเรียกกันว่า “โรงเหล้า” ท่านสุนทรภู่กล่าวถึงสุราว่าเป็นนํ้านรกสำหรับท่าน เพราะเคยทำให้ท่านประสบความเสียหายหลายอย่างมาเมื่อครั้งยังไม่บวช บัดนี้ท่านบวชแล้ว ขอมุ่งเอาพระนิพพานเป็นจุดหมาย จะไม่ขอข้องแวะกับน้ำนรกนี้อีกต่อไป

สถานที่ต่อจากนั้นก็มี บางจาก, บางพลู, บางพลัด, บางโพธิ์ ซึ่งยังคงมีอยู่ในทุกวันนี้ ที่บางโพธิ์นั้น ท่านสุนทรภู่กล่าวถึงหมู่บ้านพวกญวนอันอพยพมาตั้งถิ่นฐานก่อนหน้าท่านแต่งนิราศเรื่องนี้ไม่นานนัก กล่าวว่าพวกญวนเหล่านี้สร้างโรงเรียนอยู่บนฝั่งแม่นํ้า และประกอบอาชีพทางด้านประมงนํ้าจืด คือ วางโพงพางจับปลาในแม่นํ้า มีข้อความน่าสนใจอยู่ตอนหนึ่งว่า

“จะเหลียวกลับลับเขตประเทศสถาน     ทรมานหม่นไหม้ฤทัยหมอง”

อันแสดงว่าพวกญวนเหล่านั้นอพยพมาใหม่ๆ เมื่อมายืนอยู่ พากันมองไปไม่เห็นประเทศถิ่นเกิดของตน ก็ต้องโศกเศร้า

เรือของท่านสุนทรภู่ ผ่านมาถึงวัดเขมาภิรตาราม ท่านก็รำพึงว่า เมื่อรัชกาลก่อนท่านเคยได้ตามเสด็จ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาผูกพัทธสีมาที่วัดนี้ แต่การฉลองวัดซึ่งเพิ่งผ่านไปเมื่อวานซืนนี้ ท่านไม่ได้มีโอกาสตามเสด็จมาร่วมงานด้วย เพราะต้องตกตํ่าหมดหน้าที่ราชการไปแล้ว จากนั้นท่านพบกับเหตุการณ์ที่น่าตกตื่นใจ เพราะเรือติดน้ำวน เมื่อเรือผ่านมาได้ก็มาถึงสถานที่ชื่อตลาดแก้ว ซึ่งทั้งสองฝั่งแน่นขนัดไปด้วยเรือกสวน จากนั้นก็มาถึงตำบลตลาดขวัญอันเป็นที่ตั้งเมืองนนทบุรีในสมัยนั้น จากนั้นก็มาถึงบางธรณีซึ่งทำให้ท่านคิดถึงความเชื่อเรื่องของโลกเรา ตามที่เชื่อกัน ตามหนังสือไตรภูมิพระร่วงว่า โลกทั้งสามกว้างขวางถึงสองแสนสี่หมื่นโยชน์ แต่ยามยากไร้ท่านไม่มี แม้แต่แผ่นดินเพียงเพื่อเป็นที่อยู่อากัย ต้องร่อนเร่ไปด้วยความเจ็บชํ้าเหมือนนกไร้รัง

ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า        พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี
ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี        ชื่อประทุมธานีเพราะมีบัว
โอ้พระคุณสูญลับ ไม่กลับหลัง        แต่ชื่อตั้งยังอยู่เขารู้ทั่ว
โอ้เรานี้ที่สุนทรประทานตัว            ไม่รอดชั่วเช่นสามโคกยิ่งโศกใจ

ต่อมาเรือของท่านมาถึง “เกร็ดย่าน” คือ “ปากเกร็ด” ในปัจจุบันนี้คำว่า “เกร็ด” เป็นภาษา มอญ แปลว่า “แม่นํ้าอ้อม” ท่านสุนทรภู่ให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์แก่เราว่า ดินแดนแถบนี้เป็นถิ่นอาศัยของพวกมอญมานานแล้ว ก่อนนี้หญิงมอญเคยเกล้ามวย แต่งตัวตามประเพณีของตน แต่เมื่อมาถึงระยะเวลาที่ท่านเดินทางผ่านมานั้น สาวมอญทิ้งประเพณีเดิมมาแต่งตัว และใช้วัฒนธรรมประเพณีแบบไทย จากนั้นเรือของท่านผ่าน บางพูด บ้านใหม่ เชียงราก ซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่า บางหลวง เชิงราก แล้วมาถึงสามโคก ซึ่งท่านได้เน้นให้เราทราบว่า ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนฐานะตำบลสามโคกแห่งนี้ขึ้นเป็นเมืองชั้นตรี ชื่อเมือง “ปทุมธานี” ตามความเป็นไปของสถานที่ ซึ่งมีบัวอยู่มากมาย ตอนนี้ท่านได้เน้นข้อความอันน่าคิดว่าล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๒ พระราชทานนาม ปทุมธานี ว่า สามโคก ครั้นล้นเกล้าฯ เสด็จสวรรคตแล้ว นามปทุมธานียังคงใช้เรียกขานกันอยู่ แต่นาม “สุนทรโวหาร” ที่ล้นเกล้าฯ พระองค์เดียวกันทรงพระราชทานแก่ท่านไม่อาจอยู่ยั่งยืนอย่าง “ปทุมธานี” อันเป็นนามแห่งสามโคก

เลยตำบลสามโคกมาก็มาถึงบ้านงิ้ว ซึ่งท่านได้ยกเรื่องหนามงิ้วในนรกสำหรับลงโทษคนทำผิดด้านประเวณี ตายไปจะต้องปีนต้นงิ้ว ตามความเชื่อที่กล่าวไว้ในไตรภูมิ จากนั้นก็มาถึงเกาะราชคราม แถบนั้นน่ากลัว เพราะเป็นแหล่งของพวกผู้ร้าย คอยซ่อนเร้นปล้นสะดมภ์เรือแพที่ผ่าน และในนํ้าก็ชุกชุมไปด้วยจระเข้ที่ดุร้าย

ขณะนั้นท้องฟ้ามืดครึ้มเพราะเมฆฝน เรือผ่านไปถึงทางวัด จึงเลี้ยวเข้าทางลัดผ่านไปทางทุ่งนาอันมีนํ้าท่วมเวิ้งว้าง คนเรือของท่านไม่ชำนาญการถ่อเรือ จึงทำให้เรือเข้าไปเกยตื้น ถอนตัวออกไปไม่ได้ ต้องค้างอยู่กลางทุ่ง

คืนนั้นท่านคิดถึงความหลัง ครั้งยังรํ่ารวยอุดมด้วยยศศักดิ์ว่า

“สำรวลกับเพื่อนรักสะพรักพร้อม        อยู่แวดล้อมหลายคมปรนนิบัติ
ยามยากเข็ญเห็นอยู่แต่หนูพัด        ช่วยนั่งปัดยุงให้ไม่ไกลกาย”

และเมื่อเดือนขึ้นมองเห็นร่องนํ้า ท่านก็ให้คนถ่อเรือเดินทางต่อไป จนบ่ายวันรุ่งขึ้นก็มาถึงพระนครศรีอยุธยา

มาทางท่าหน้าจวนจอมอยู่รั้ง        คิดถึงครั้งก่อนมาน้ำตา ไหล
จะแวะหาถ้าท่ามเหมือมเมื่อเป็นไวย    ก็จะได้รับนิมนต์ขึ้นบนจวน
แต่ยามยากหากว่าถ้าท่านแปลก        อกมิแตกเลยหรือเราเขาจะสรวล
เหมือนเข็ญใจใฝ่สูงไม่สมควร    จะต้องม้วนหน้ากลับอัประมาณ

ท่านผู้ว่าราชการพระนครศรีอยุธยาในขณะนั้นคือ พระยาไชยวิชิตมีนามเดิมว่า เผือก เป็นมิตรสหายใกล้ชิดกับท่านสุนทรภู่ มาตั้งแต่ครั้งเป็นหนุ่ม พระยาไชยวิชิตผู้นี้เป็นกวีคนสำคัญคนหนึ่งของยุครัชกาลที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓ เป็นผู้แต่งเพลงยาวและบทกวีไว้หลายชิ้น เมื่อท่านสุนทรภู่มีบรรดาศักดิ์เป็นขุนสุนทรโวหารในรัชกาลที่ ๒ นั้น ท่านเผือกเป็นพระจมื่นไวยวรนาถ มีตำแหน่งเฝ้าคู่กัน ครั้นถึงรัชกาลที่ ๓ สุนทรภู่ถูกปลดจากตำแหน่งงานในกรมพระอาลักษณ์ แต่ท่านเผือกกลับได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนเป็นพระยาไชยวิชิต มีตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการพระนครศรีอยุธยา การที่สุนทรภู่ไม่ยอมแวะหาท่านเจ้าคุณผู้เคยเป็นเพื่อนสนิทมาเนิ่นนานครั้งนี้ แสดงถึงอัธยาศัยของท่านว่า เป็นผู้เจียมตัวรู้จักประมาณสถานะของตนเองอย่างยิ่ง

คืนนั้นท่านสุนทรภู่กับคณะจอดเรือพักค้างคืนที่ท่าวัดหน้าพระเมรุ ขณะนั้นเป็นช่วงการทอดผ้าป่า มีเรือของคณะผ้าป่าเป็นอันมากมาชุมนุมกันจอดที่ท่าวัดนี้ ท่านสุนทรภู่กับพวกต้องนอนฟังการละเล่นต่างๆ เช่น เพลงครึ่งท่อนเสภาแทบทั้งคืน และตอนดึกเมื่องานฉลองผ้าป่าเลิกแล้ว มีขโมยมาย่องเบาทรัพย์สินในเรือของท่าน แต่ท่านสุนทรภู่หูไวได้ยินเสียงกุกกัก จึงร้องตะโกนขึ้น ทำให้โจรรีบดำน้ำหนีโดยไม่ได้อะไรติดมือไป

วันรุ่งขึ้นเป็นวันพระ ท่านสุนทรภู่กับคณะพากันไปยังพระเจดีย์ภูเขาทองซึ่งตั้งอยู่กลางทุ่งนา ที่มีน้ำท่วมอยู่รอบ สถานที่ตั้งพระเจดีย์นั้นเป็นวัด มีเจดีย์อื่นๆ วิหาร ตลอดจนกำแพงกั้นเขตพระเจดีย์ภูเขาทองใหญ่โตก่อสร้างเป็นสามชั้น

ท่านสุนทรภู่กับคณะพากันถือดอกไม้ธูปเทียน เดินขึ้นไปถึงชั้นสามของพระเจดีย์ภูเขาทองเวียนประทักษิณสามรอบ แล้วเข้าไปถวายสักการะบูชาที่ห้องถํ้า จากนั้นก็เดินชมพระเจดีย์ภูเขาทองจนทั่ว

ทั้งองค์ฐานรานร้าวถึงเก้าแสก    เผยอแยกยอดทรุดก็หลุดหัก
โอ้เจดีย์ที่สร้างยังร้างรัก        เสียดายนักนึกน่านํ้าตากระเด็น
กระนี้หรือชื่อเสียงเกียรติยศ        จะมิหมดล่วงหน้าทันตาเห็น
เป็นผู้ดีมีมากแล้วยากเย็น        คิดก็เป็นอนิจจังเสียทั้งนั้น

ท่านสุนทรภู่ได้กราบไหว้ตั้งจิตอธิษฐานต่อพระเจดีย์ภูเขาทอง แสดงความปรารถนาขอไว้หลายประการ ส่วนใหญ่เป็นไปตามค่านิยมของคนไทยสมัยนั้น คือ ปรารถนาจะขอเป็นผู้สำเร็จพระโพธิญาณในอนาคต ที่แปลกไปก็คือท่านสุนทรภู่ขอให้ตนเป็นผู้มีวิชาความรู้สูงเป็นนักปราชญ์ แตกต่างกับคนยุคเดียวกัน ที่ส่วนมากมักหวังจะเป็นคนรํ่ารวยหรือมียศศักดิ์สูง

เมื่อกราบพระท่านพบพระบรมสารีริกธาตุองค์หนึ่งในเกสรดอกบัว จึงอัญเชิญมาเก็บไว้ในขวดแก้ว แต่เมื่อรุ่งขึ้นปราฎว่า พระบรมสารีริกธาตุกระทำปาฏิหาริย์หายไป ท่านจึงเศร้าโศกไม่ยอมไปเที่ยวชมแหล่งอื่นในกรุงเก่าต่อไปอีก แต่พาคณะล่องเรือกลับถึงกรุงเทพฯ โดยใช้เวลาเพียงวันเดียว ก่อนจบนิราศภูเขาทอง ท่านสุนทรภู่แสดงเรื่องประเพณีการแต่งนิราศไว้ด้วยการเปรียบเทียบอย่างน่าฟัง

ใช่จะมีที่รักสมัครมาด            แรมนิราศร้างมิตรพิสมัย
ซึ่งคราญคร่ำทำทีพีรี้พิไร        ตามวิสัยกาพย์กลอนแต่ก่อนมา
เหมือนแม่ครัวคั่วแกงพะแนงผัด    สารพัดเพียญชนังเครื่องมังสา
อันพริกไทยใบผักชีเหมือนสีกา    ได้โรยหน้าเสียสักหน่อยอร่อยใจ
จงทราบความตามจริงทุกสิ่งสิ้น    อย่านึกนินทาแกล้งแหนงไฉน
นักเลงกลอนนอนเปล่าก็เศร้าใจ    จึงร่ำไรเรื่องร้างเล่นบ้างเอย

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด

นิราศพระบาท

“แสนอาลัยใจหายไม่วายห่วง
ดังศรสักปักช้ำระกำทรวง
เสียดายดวงจันทราพะงางาม
เจ้าคุมแค้นแสนโกรธพิโรธพี่
แต่เดือนยี่จนย่างเข้าเดือนสาม
จนพระหน่อสุริยวงศ์ทรงพระนาม
จากอารามแรมร้างทางกันดาร
ด้วยเรียมรองมุลิกาเป็นข้าบาท
จำนิราศร้างนุชสุดสงสาร
ตามเสด็จโดยแดนแสนกันดาร
ไปมัสการรอยบาทพระศาสดา”

สุนทรภู่แต่งนิราศพระบาทในวัยหนุ่ม นับเป็นเรื่องที่ ๒ รองจากนิราศเมืองแกลง อาจารย์ ธนิต อยู่โพธิ์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร ได้เขียนอธิบายไว้ในคำนำหนังสือนิราศพระบาท ฉบับกรมศิลปากรพิมพ์ เนื่องในการจัดวรรณคดีสัญจรสู่พระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๓ ตอนหนึ่งว่า

“สุนทรภู่ ท่านผู้แต่งหนังสือนิราศพระบาท เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๙ บิดาเป็นชาวเมืองแกลง จังหวัดระยอง มารดาเป็นแม่นม อยู่ในพระราชวังหลัง สุนทรภู่ก็คงจะมีชีวิตเกี่ยวข้องเข้าๆ ออกๆ อยู่ในพระราชวังหลังมาตั้งแต่เด็ก และอาจเป็นข้าอยู่ในพระราชวังหลังด้วย ครั้นโตเป็นหนุ่มขึ้นก็เกิดรักใคร่กับหญิงชาววังหลังผู้หนึ่ง ชื่อจันทร์ เมื่อสุนทรภู่ไปเมือง-
แกลงในต้น พ.ศ. ๒๓๕๐ และพรรณนาไว้ในนิราศเมืองแกลงที่ท่านแต่งขึ้น แสดงว่ายังมิได้ร่วมเป็นสามีภรรยากันกับหญิงชื่อจันทร์ แต่เมื่อกลับ มาจากเมืองแกลงแล้ว จึงได้อยู่กินกันฉันท์สามีภรรยา แต่น่าจะอยู่ด้วยกันได้ไม่เท่าไร ก็เกิดเรื่องแตกร้าว และแยกกันอยู่ คงจะเนื่องจากสุนทรภู่ก็มีนิสัยเป็นคนเจ้าชู้และนางจันทร์ภรรยาก็เป็นคนขี้หึง ครั้นใน ปลายปี พ.ศ. ๒๓๕๐ นั้น สุนทรภู่ต้องตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ พระโอรสในกรมพระราชวังหลัง ซึ่งทรงผนวชอยู่วัดระฆังโฆสิตาราม ขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาทในเดือน ๓ ประจวบกับเป็นเวลาที่สุนทรภู่กับนางจันทร์อยู่ในระยะโกรธเคืองแยกกันอยู่มาแต่เดือน ๒ สุนทรภู่ตามเสด็จคราวนี้ ได้แต่งนิราศพระบาทขึ้นไว้เรื่องหนึ่ง ครวญครํ่ารำพันถึงนางจันทร์อยู่มาก นอกจากจะได้อ่านรู้เรื่องชีวิตรัก ระหว่างสุนทรภู่กับนางจันทน์แล้ว นิราศพระบาทของสุนทรภู่ยังช่วยให้เรารู้เรื่องการเดินทางไปพระพุทธบาทและสภาพของพระพุทธบาทในสมัยนั้นดีไม่น้อย
สุนทรภู่แต่งนิราศพระบาทเรื่องนื้ขึ้นเมื่อท่านมีอายุ ๒๑ ปี และแต่งกลอนดี อ่านแล้วเลื่อนไหลไปตามกลอนด้วยความไพเราะโดยตลอด จนลืมจับเนื้อความ เป็นอย่างที่สุนทรภู่เตือนไว้ว่า

“อย่าฟังเปล่าเอาแต่กลอนสุนทรเพราะ
จงพิเคราะห์คำเลิศประเสริฐศรี”

สุนทรภู่ตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ไปพระบาท เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๐ ในฐานะมหาดเล็ก การเดินทางไปโดยทางเรือจนถึงท่าเรือขึ้นเดินบกโดยขบวนช้าง สุนทรภู่ขี่ช้างตกมันนำทางไปถูกเพื่อนแกล้งเกือบตกช้าง ไปจนถึงพระพุทธบาท สุนทรภู่อธิษฐานโดยเล่าว่า

“พี่เข้าเคียงเบื้องขวาฝ่าพระบาท    อภิวาทหัตถ์ประนังขึ้นทั้งสอง
กราบกรานแล้วก็ตรึกรำลึกปอง    เดชะกองกุศลที่ตนทำ
มาคำรพพบพุทธบาทแล้ว        ขอคุณแก้วสามประการช่วยอุปถัมภ์
ฉันเกิดมาชาตินี้ก็มีกรรม        แสนระยำยุบยับด้วยอับจน
ได้เคืองแค้นยากลำบากบอบ    ไม่สมประกอบทรัพย์สินก็ขัดสน
แม้นกลับชาติเกิดใหม่เป็นกายคน   ชื่อว่าจนแล้วจงจากกำจัดไกล
สตรีหึงหนึ่งแพศยาหญิง        ทั้งสองสิ่งอย่าใกล้ชิดพิสมัย
สัญชาติชายทรชนที่คนใด        ให้หลีกไกลร้อยโยชน์อย่าร่วมทาง
ถ้ารักใครขอให้ได้คนนั้นด้วย      บุญจงช่วยปฏิบัติอย่าขัดขวาง
อย่ารู้มีโรคาในสารพางค์        ทั้งรูปร่างขอให้ราวกับองค์อินทร์
หนึ่งบิดรมารดาคณาญาติ        ให้ผุดผาดผาสุกเป็นนิจสิน
ความระยำคำใดอย่าได้ยิน        ให้สุดสิ้นสูญหายละลายเอง
ทั้งหวายตรวนล้วนเครื่องที่ลำบาก   ให้ปราศจากทั้งคนเขาข่มเหง
ใครปองร้ายขอให้กายมันเป็นเอง   ให้ครื้นเครงเกียรติยศปรากฏครัน”

ถ้าท่านสังเกตให้ดีจะปรากฏว่ากวีเอกของเรานำเอาเรื่องชีวิตของท่านมาตีแผ่แทบทั้งนั้น สุนทรภู่ได้พบ (พระองค์) เจ้าสามเณรองค์หนึ่ง (ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า คงจะเป็นกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส จอมกวีแบบฉบับของชาติอีกพระองค์หนึ่ง) กางกลดที่เขา ขาด สุนทรภู่ได้ไปลงถ้ำปทุมคีรีกับผู้หญิง มอมหน้ากันอย่างสนุก ไปเที่ยวบ่อพรานล้างเนื้อ ไปผูกชิงช้าให้ผู้หญิงเล่นที่ริมธารเกษมสนุกสนานดังเปรียบได้ว่า “สนุกคือเรื่องอิเหนาเสน่หา เมื่อใช้บนเล่นชลธารา อันเรื่องราวว่ากับเราก็เช่นกัน” หลังจากนั้นก็เดินทางกลับกรุงเทพฯ

ศิลปะการประพันธ์

สุนทรภู่มีความชำนาญมากขึ้นในศิลปะของการประพันธ์ของท่าน ในนิราศพระบาทเราจึง ได้เห็นความดีในทุกกระบวน จะว่าถึงกลอนก็บรรเจิดบรรจง ชัดเจนแจ่มใสเต็มไปด้วยสัมผัสใน บทพรรณนาและบรรยายลักษณะก็ชื่นช้อยชวนเพลิน ยิ่งเป็นโวหารทำนองพิศวาสด้วยแล้วเราจะรุ้สึกดื่มดํ่า เห็นอกเห็นใจเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อพูดถึงบทพรรณนาและบรรยายลักษณะ สุนทรภู่เจ้าแห่งนิราศได้เขียนอย่างสมเป็นแบบฉบับ พรรณนาถี่ถ้วนแทรกประวัติ ความคิดความรู้สึกของตนลงไปเปรียบเทียบด้วยคารมคมคาย เช่น

“เจ้าของตาลรักหวานขึ้นปีนต้น        ระวังตนตีนมือระมัดมั่น
เหมือนคบคนคำหวานรำคาญครัน    ถ้าพลั้งพลันเจ็บอกเหมือนตกตาล”

และได้ปลงสังเวชพระนครศรีอยุธยาด้วยโวหารที่สะท้อนใจว่า

“กำแพงรอบขอบคูก็ดูลึก        ไม่น่าศึกอ้ายพม่าจะมาได้
ยังให้มันข้ามเข้าเอาเวียงชัย    โอ้อย่างไรเหมือนบุรีไม่มีชาย’’

ในนิราศพระบาท สุนทรภู่แสดงประวัติสามเสน บางปะอิน, เขาขาด ฯลฯ อย่างอ่านไม่เบื่อ ท่านจะรู้เรื่องของมอญขาขาวที่สามโคก จังหวัดปทุมธานี แม่ค้าเสื้อตึงที่ตลาดขวัญ สาวชาววังกลัวช้าง นกตะกรุมหัวล้านประจานคน ฯลฯ

บทบรรยายลักษณะที่เด่นและแสดงภูมิ คือบทชมมณฑปที่พระทุทธบาท ขอคัดมาให้ดูดังนี้

ประณมหัตถ์ทักษิณเกษมสันต์
แต่เวียนเดินเพลินชมมาตามกัน
ตามช่องชั้นกำแพงแก้วอันแพรวพราย
ทั้งซุ้มเสามณฑปกระจกแจ่ม
กระจ่างแซมปลายเสาเป็นบัวหงาย
มีดอกจันทน์ก้านแย่งสลับลาย
กลางกระจายดอกจอกประจำทำ
พื้นผนังหลังบัวที่ฐานปัทม์
เป็นครุฑอัดยืนเหยียบภุชงค์ขยำ
ขยิกขยุ้มกุมวาสุกรีกำ
กินนรรำลายเทพประณมกร
ใบระกาหน้าบันบนชั้นมุข
สุวรรณสุกเลื่อนแก้วประภัสสร
ดูยอดเยี่ยมเทียมยอดยุคุนธร
กระจังซ้อนแซมใบระกาบัง
นาคสะดุ้งรุงรังกระดึงห้อย
ใบโพธิ์ย้อยระเรงอยู่เหง่งหงั่ง
เสียงประสานกังสดาลกระดึงดัง
วิเวกวังเวงในหัวใจครัน
บานทวารลานแลล้วนลายมุก
น่าสนุกในกนกดูผกผัน
เป็นนาคครุฑยุคเหนี่ยวในเครือวัลย์
รูปยักษ์ยันยืนกอดกระบองกุม
สิงห์โตอัดกัดก้านกนกเกี่ยว
เทพเหนี่ยวเครือกระหวัดหัตถ์ขยุ้ม
ชมพูพานกอดก้านกนรุม
สุครีพกุมขรรค์เงื้อในเครือวงศ์
รูปนารายณ์ทรงขี่ครุฑาเหิน
พรหมเจริญเสด็จยังบัลลังก์หงส์
รูปอมรกรกำพระธำมรงค์
เสด็จทรงคชสารในบานบัง
ผนังในมณฑปทั้งสี่ด้าน
โอฬาฬารทองทาฝาผนัง
จำเพาะมีสี่ด้านทวารบัง
ที่พื้นนั่งดาดด้วยแผ่นเงินงาม
มณฑปน้อยสวมรอยพระบาทนั้น
ล้วนสุวรรณแจ่มแจ้งแสขงอร่าม
เพดานดาดลาดล้วนกระจกงาม
พระเพลิงลามพร่างพร่างสว่างพราย
ตาข่ายแก้วปักกรองเป็นกรวยห้อย
ระย้าย้อยแวววามอร่ามฉาย
หอมควันธูปเทียนตลบอยูอบอาย
ฟุ้งกระจายรื่นรื่นทั้งห้องทอง”

ทีนี้ขอให้เราพิจารณาถึงศิลปะในกระบวนพิศวาสอันเป็นลักษณะสำคัญของนิราศเป็นธรรมดา การแต่งนิราศ สำนวนโวหารต้องเจือไปด้วยรสพิศวาสจึงจะมีรส เพราะผู้แต่งบางคนก็จากเมียหรือคู่รักจริง บางคนก็ไม่ได้จากจริง สุนทรภู่แต่งนิราศพระบาทโดยเอาความรู้สึกอันเกิดขึ้นในอารมณ์แท้จริงของตนมาลงไว้ในนิราศทำนองพิศวาส จึงดูดดื่มมีชีวิตชีวา เต็มไปด้วยความห่วงใยอาลัยหนักในทางหวงแหน ทะนุถนอม พร้อมไปด้วยคำอธิษฐานให้เมียรัก “เป็นใจเดียว’’ อนึ่งเมื่อสุนทรภู่ไปนิราศพระบาท คุณจันกำลังโกรธ สุนทรภู่จึงหวั่นๆ รำพึงไว้ว่า

“นี่ดูดูเขาขาดก็หวาดจิต        พี่ขาดมิตรมาไกลถึงไพรสัณฑ์
นึกเฉลียวเสียวทรวงถึงดวงจันทร์    จะขาดกันเสียเหมือนเขาพี่เศร้าใจ”

อนึ่ง น่าสังเกตในเรื่องชื่อของสุนทรภู่กับคุณจัน ชื่อทั้งสองเผอิญไปสมกันในศิลปะของการกวีเสียด้วย ภู่หมายถึงแมลงภู่ (สุนทรภู่เปรียบตัวเองเป็นภุมริน) จันทำให้หวนคะนึงถึงทั้งจันทร์และจันทน์ อมตกวีจึงเอาชื่อทั้งสองแฝงเข้าในศิลปะแห่งวรรณคดีของตนบ่อยครั้ง เช่น

“เห็นไม้จันทน์พี่ยิ่งฟั่นอารมณ์เฟือน    เหมือนจันทน์เตือนใจตัวให้ตรอมใจ
โอ้นามไม้หรือมาพ้องกับน้องพี่        ขณะนี้นึกน่านํ้าตาไหล
เจ้าอยู่เรือนชื่อเชือนมาอยู่ไพร        เหมือนเตือนใจให้พี่ทุกข์ทุกอย่างเดิน”

และอีกแห่งหนึ่ง

เห็นจันทน์สุกลูกเหลืองตลบกลิ่น       แมลงภู่บินรุมน้องประคองหวง
พฤกษาพ้องต้องนามกานดาดวง       พี่ยลพวงผลจันทน์ให้หวั่นใจ
แมลงภู่เชยเหมือนที่เคยประคองชิด    นิ่งพินิจนึกน่านํ้าตาไหล
เห็นรักร่วงผลิผลัดสลัดใบ            เหมือนรักใจขวัญเมืองที่เคืองเรา
ที่เวียนเตือนเหมือนอย่างน้ำค้างย้อย    ให้แช่มช้อยชื่อช่อเช่นกอเก่า
โอ้รักต้นเข้าระคนกับรักเขา           จงใจเจ้าโกรธไปไม่ได้นาน”

ช่างเปรียบสนิทสนมกลมกลืนและชื่นช้อยเสียจริงๆ    ตลอดนิราศท่านจะได้ชมศิลปะอันสง่างามทางวรรณคดี เป็นศิลปะที่จารึกชีวิตแท้ของมหากวีเจ้าทุกข์

“ถึงบ่อโพงถ้ามีโพงค่อยผาสุก       จะโพงทุกข์เสียให้สิ้นที่โศกศัลย์
นี่แลแลก็เห็นแต่ตลิ่งชัน           ถึงปากจันตละเตือนให้ตรอมใจ
โอ้นามน้องหรือมาพ้องกับชื่อบ้าน    ลืมรำคาญแล้วมานึกระลึกได้
ถึงบางระกำโอ้กรรมระกำใจ        เคราะห์กระไรจึงมาร้ายไม่วายเลย
ระกำกายมาลงท้ายระกำบ้าน       ระกำย่านนี้ยาวนะอกเอ๋ย
โอ้คนผู้เขาช่างอยู่อย่างไรเลย      หรืออยู่เคยความระกำทุกค่ำคืน”

ช่างเล่นคำได้อย่างงดงาม

อนึ่ง สุนทรภู่ได้อ้างวรรณคดีหลายเรื่องในบทพิศวาสของตน แสดงให้เห็นว่าวรรณคดีเหล่านั้น มีอิทธิพลในชีวิตการประพันธ์ของท่านอย่างมาก ดังได้พรรณนาไว้เมื่อเขาเห็นเขาจับคู่กันที่ธารเกษมว่า

“เห็นคู่รักเขาสมัครสมานกัน      คิดถึงวันพี่มาดสวาทนาง
แต่วอนเวียนเจียนวายชีวิตพี่      จงไค้ศรีเสาวภาคย์มาแนบข้าง
เจ้าเคืองขัดตัดสวาทขาดระวาง    จนแรมร้างออกมาราวอรัญวา
ครั้งอิเหนาสุริยวงศ์อันทรงกฤช    พระทรงฤทธิ์แรมร้างจินตะหรา
พระสุธนร้างนางมโนห์รา        พระรามร้างแรมสีดาพระทัยตรอม
องค์พระเพชรปาณีท้าวตรีเนตร    เสียพระเวทผูกทวารกรุงพาณถนอม
สุจิตราลาตาย ไม่วายตรอม      ล้วนจอมธรณีทั้งสี่องค์
แสนสุขุมรุ่มร้อนด้วยร้างรัก       ยังไม่หนักเหมือนพี่โศกสุดประสงค์
ไม่ถึงเดือนเพื่อนรักเขาทักทรง    ว่าซูบลงกว่าก่อนเป็นค่อนกาย”

นี่คือศิลปะอันไม่รู้จักตายของมหากวีไทยที่ชาติเทิดทูน

สุนทรภู่บรรยายถึงการละเล่นต่างๆ พร้อมทั้งการแสดงอย่างครึกครื้น จบตอนท้ายของนิราศพระบาทไว้ว่า
“ละคอนหยุดอุตลุดด้วยมวยปล้ำ
ยืนประจำหมายสู้เป็นคู่ขัน
มงคลใส่สวมหัวไม่กลัวกัน
ตั้งประจันจดจับกระหยับมือ
ตีเข่าปับรับโปกสองมือปิด
ประจบติดเตะผางหมัดขว้างหวือ
กระหวัดหวิดหวิวผวาเสียงฮาฮือ
คนดูอื้อเออเอาสนั่นอึง
ใครมีชัยได้เงินบำเหน็จมาก
จมูกปากบอบบวมอลึ่งฉึ่ง
แสนสนุกสุขล้ำสำมดึงษ์
พระผู้ถึงนฤพานด้วยการเพียร
แต่รอยบาทอนุญาตไว้ยอดเขา
บุญของเราได้มาเห็นก็เย็นเศียร
บังคมคัลวันละสองเวลาเวียน
แต่จำเนียรนับไว้ได้สี่วัน
จอมนรินทร์เทวราชประภาษสั่ง
จะกลับยังอาวาสเกษมสันต์
วันรุ่งแรมสามค่ำเป็นสำคัญ
อภิวันท์ลาบาทพระชินวร
ถึงท่าเรือลงเรือไม่แรมหยุด
ก็เร็วรุดตั้งหน้ามาหาสมร
แต่ตัวพี่ยังมาในสาคร
น้ำใจจรมาถึงเสียก่อนกาย
ได้วันครึ่งถึงเวียงประทับวัด
โทมนัสอาดูรค่อยสูญหาย
นิราศนี้ปีเถาะ เป็นเคราะห์ร้าย
เราจดหมายตามมีมาชี้แจง
ที่เปล่าเปล่ามิได้เอามาเสกใส่
ใครไม่ไปก็จงจำคำแถลง
ทั้งคนฟังคนอ่านสารแสดง
ฉันขอแบ่งส่วนกุศลทุกคนเอยฯ

สถานที่กล่าวถึงในนิราศพระบาท

บางจาก
ถึงคลองขวางบางจาก ยิ่งตรมจิต    ใครช่างคิดชื่อบางไว้กางกั้น
ว่าชื่อจากแล้วไม่รู้จักกัน        พิเคราะห์ครันฤามาพ้องกับคลองบาง

คลองบางจาก อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่นํ้าเจ้าพระยาใต้วัดภคินีนาถ แขวงบางพลัด เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

สามเสน
ถึงสามเสนแจ้งความตามสำเหนียก    เมื่อแรกเรียกสามแสนทั้งกรุงศรี
ประชุมฉุดพุทธรูปในวารี            ไม่เคลื่อนที่ชลธารบาดาลดิน
จึงสาปนามสามแสนเป็นชื่อคุ้ง        เออชาวกรุงกลับเรียกสามเสนสิ้น
นี่หรือรักจะมิน่าเป็นน่าคิน            แต่ชื่อดินเจียวยังกลายเป็นหลายคำ
ขอใจนุชที่ฉันสุจริตรัก              ในแน่นหนักเหมือนพุทธรูปเลขาขำ
ถึงแสนคนจะมาวอนชะอ้อนนำ        สักแสนคำอย่าให้เคลื่อนจงเหมือนใจ

บ้านสามเสน เดิมเรียกกันว่า สามแสน ปัจจุบันเป็นชื่อตำบล คือ ตำบลสามเสนนอก และตำบลสามเสนใน ขึ้นเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร มีคลองสามเสน ซึ่งแยกจากแม่นํ้าเจ้าพระยาทางฝั่งตะวันออกที่วัดขวิด เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ผ่านโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ถนนพหลโยธิน ไปออกคลองแสนแสบที่ตำบลบางกะปิ เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร

บางพลัด
ถึงบางพลัดยิ่งอนัตอนาถจิต        นิ่งพินิจนึกน่าน้ำตาไหล
พี่พลัดนางร้างรักมาแรมไกล       ประเดี๋ยวใจพบบางริมทางจร

บ้านบางพลัด แขวงบางพลัด เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

บางซื่อ
ถึงบางซื่อชื่อบางนี้สุจริต        เหมือนซื่อจิตที่พี่ตรงจำนงสมร

บ้าน บางซื่อ แขวงบางซื่อ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

บางซ่อน
ถึงบางซ่อนเหมือนเขาซ่อนสมรพี่        ซ่อนไว้นี่ดอกกระมังเห็นกว้างขวาง

บ้านบางซ่อน แขวงบางซื่อ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

ตลาดแก้ว
ถึงน้ำวนชลสายที่ท้ายย่าน        เขาเรียกบ้านวัดโบสถ์ตลาดแก้ว
จะเหลียวกลับลับวังมาลิบแล้ว    พี่ลับแก้วลับบ้านมาย่านบาง

บ้านตลาดแก้ว อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าเจ้าพระยาตรงข้ามปากคลองบางสีทอง ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี

ตลาดขวัญ
ถึงแขวงแควแพตลอดตลาดขวัญ        เป็นเมืองจันตประเทศรโหฐาน
ตลิ่งเบื้องบูรพาศาลาลาน            เรือขนานจอดโจษกันจอแจ
พินิจนางแม่ค้าก็น่าชม                ท้าคารมเร็งเร่งอยู่เซ็งแซ่
ใส่เสื้อตึงรึงรัดดูอัดแอ                พี่แลแลเครื่องเล่นเป็นเสียดาย

บ้านตลาดขวัญ อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าเจ้าพระยา ตรงข้ามกับปากคลองบางใหญ่ ขึ้นตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี คู่กับตลาดแก้ว ตัวเมืองนนทบุรีเก่า ตั้งขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๒ ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์

ต่อมาภายหลังได้ย้ายมาตั้งอยู่ที่ตลาดแก้ว คือที่ตั้งศาลากลางจังหวัดนนทบุรี ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ ในสมัยรัชกาลที่ ๗

ปากเกร็ด
ชมคณาฝูงนางมากกลางชล        สุริยนเยี่ยมฟ้าเวลาสาย
ถึงปากเกร็ดเสร็จพักผ่อนฝีพาย    หยุดสบายบริโภคอาหารพลัน

บ้านปากเกร็ด ตำบลปากเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

บางพูด
ถึงหาดขวางบางพูดเขาพูดกัน        พี่คิดฝันใจฉงนอยู่คนเดียว
เป็นพูดชื่อหรือผีภูตปีศาจหลอก        ใครช่วยบอกภูตผีมานี่ประเดี๋ยว
จะสั่งฝากขนิษฐาสุดาเดียว            ใครเกินเกี้ยวแล้วอย่าไว้กำไรเลย

บ้านบางพูด อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าเจ้าพระยา ขึ้นตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี มีวัดเกาะบางพูด ต.ปากเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี วัดบางพูดนอก ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี และคลองบางพูด เป็นสำคัญ คลองนี้ตั้งต้นที่ ต.สีกัน เขตบางเขน กรุงเทพฯ ไหลเข้าเขตจังหวัดนนทบุรี ผ่าน ต.บ้านใหม่ อ.ปากเกร็ด ไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยาที่ ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด คลองนี้กว้าง ๘ เมตร ยาว ๘ กม. มีน้ำตลอดทั้งปี ที่ปากคลองมีอนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทา-กุมารีรัตน์กับพระราชโอรส พระราชธิดา ซึ่งสิ้นพระชนม์คราวเรือล่มเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘

อนึ่ง ที่ ต.บางพูดนี้ ได้มีเหตุการณ์กล่าวไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ฉบับองค์การค้าคุรุสภาพิมพ์จำหน่าย พ.ศ. ๒๕๐๕ หน้า ๑๙๔ (เล่ม ๒) ว่า “ปีมะเมีย โทศก จุลศักราช ๑๑๗๒ (พ.ศ. ๒๓๕๓) เดือน ๓ นํ้าในแม่นํ้าเจ้าพระยาเค็มขึ้นไปถึงบางพูดเหนือปากเกร็ด”

บางพัง
ถึงบางพังน้ำพังลงตลิ่ง            โอ้ช่างจริงเหมือนเขาว่านิจจาเอ๋ย
พี่จรจากดวงใจมาไกลเชย        โอ้อกเอ๋ยแทบพังเหมือนฝั่งชล

บ้านบางพัง อยู่ในจังหวัดนนทบุรี

บางหลวง
ถึงบางหลวงทรวงร้อนดังศรปัก        พี่ร้างรักมาด้วยราชการหลวง

บ้านบางหลวง อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่นํ้าเจ้าพระยา ตำบลบางหลวง อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี มีวัดบางหลวงอยู่ปากคลองเป็นสำคัญ

บ้านกระแชง
เมื่อคิดไปใจหายเสียดายดวง        จนเรือล่วงมาถึงย่านบ้านแระแชง

บ้านกระแชง อยู่ในท้องที่อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี

สามโคก
พี่เร่งเตือนเพื่อนชายพายกระโชก        ถึงสามโคกต้องแดดยิงแผดแสง

บ้านสามโคก ปัจจุบัน คือ ตำบลสามโคก อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี

บ้านกระบือ
ถึงทุ่งขวางกลางย่านบ้านกระบือ        ที่ลมอื้อนั้นค่อยเหือดด้วยคุ้งขวาง
ถึงย่านหนึ่งน้ำเซาะเป็นเกาะกลาง        ต้องแยกทางสองแควกระแสชบ

บ้านกระบือหรือบางกระบือ เป็นชื่อตำบลบางกระบือ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี

เกาะใหญ่ราชคราม
ปางบุรำคำบุราณขนานนาม            ราชครามเกาะใหญ่เป็นไพรสณฑ์
ในแนวทางกลางย่านกันดารคน        นาราดลเดินเบื้อบูรพา
โอ้กระแสแควเดียวที่เดียวหนอ        มาเกิดก่อเกาะถนัดสกัดหน้า
ต้องแยกคลองออกเป็นสองทางคงคา    นี่หรือคนจะมิน่าเปนสองใจ

เกาะใหญ่ราชคราม คือ อำเภอราชครามเดิม ปัจจุบันคือ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนคร¬ศรีอยุธยา

เกาะเกิด
ถึงเกาะเกิดเกิดเกาะขึ้นกลางน้ำ    เหมือนเกิดกรรมเกิดราชการหลวง
จึงเกิดโศกขัดขวางขึ้นกลางทรวง    จะตักตวงไว้ก็เติบกว่าเกาะดิน

เกาะเกิด เป็นชื่อตำบล ขึ้นอำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีเกาะชื่อเกาะเกิดเป็นสำคัญ บนเกาะเกิดนี้เคยมีไร่แตงโมรสดีมีชื่อเสียง เรียกกันติดปากว่า แตงโมเกาะเกิด

บางปะอิน
สักครู่หนึ่งก็มาถึงบางปะอิน        กระแสสินธุ์สายชลเป็นวนวัง
อันเท็จจริงสิ่งนี้ไม่รู้แน่            ได้ยินแต่ยุบลแต่หนหลัง
ว่าที่เกาะบางอออินเป็นถิ่นวัง    กษัตริย์ครั้งครองศรีอยุธยา
พาสนมออกมาชมคณานก        ก็เรื้อรกรั้งร้างเป็นทางป่า
อันคำแจ้งกับเราแกล้งสังเกตตา    ก็เห็นน่าที่จะแน่กระแสความ

ประวัติเกาะบางปะอิน” เกาะบางปะอินเป็นเกาะอยู่กลางแม่นํ้าเจ้าพระยา ครั้งโบราณเรียกว่า เกาะบ้านเลนหรือเกาะบางนางอิน มีเรื่องเกร็ดเล่ามาแต่โบราณว่า เมื่อสมเด็จพระเอกาทศรถยังเป็นพระมหาอุปราชอยู่นั้น วันหนึ่งเสด็จประพาสทางลำนํ้า เมื่อเรือพระที่นั่งมาถึงเกาะบางปะอินก็ถูกพายุใหญ่ล้มลง สมเด็จพระเอกาทศรถทรงว่ายน้ำไปขึ้นที่เกาะบางปะอิน แล้วเสด็จไปอาศัยชาวบ้านอยู่ที่เกาะนี้ เป็นเหตุให้ได้หญิงสาวชาวเกาะที่มีรูปร่างหน้าตาสะสวยคนหนึ่งเป็นบาทบริจาริกา นางนั้นมีครรภ์คลอดบุตรออกมาเป็นชาย สมเด็จพระเอกาทศรถจะทรงรับเป็นพระราชโอรสก็ทรงละอายพระทัย จึงเป็นแต่รับตัวไปชุบเลี้ยงตั้งแต่ยังเยาว์ โดยทรงมอบให้พระยาศรีธรรมาธิราช ซึ่งเป็นพระญาติของพระองค์ไปเลี้ยงดู ครั้นเติบโตขึ้นก็โปรดให้รับราชการเป็นมหาดเล็ก และได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเรื่อยไป จนได้เป็นที่จมื่นศรีสรรักษ์ ตำแหน่งหัวหมื่นมหาดเล็ก

ครั้นต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม จมื่นศรีสรรักษ์ได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาศรีวรวงศ์ ตำแหน่งจางวางมหาดเล็ก และเป็นคนสนิทของพระองค์ วันวลิตซึ่งเป็นชาวฮอลันดาเข้ามาค้าขายครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เขียนจดหมายเหตุเล่าเรื่องในตอนนี้ไว้ว่า สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม คือพระองค์อินทราชา พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับภาษามคธ ซึ่งหอสมุดวชิรญาณได้ฉบับมาจากกรุงกัมพูชาก็เรียกพระนามสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมว่าพระองค์อินทราชา ดังข้อความต่อไปนี้
“ในปีจอ พระราชโอรสของสมเด็จพระราเมศวรนั้น พระนามว่าพระอินทราชา เป็นผู้มีบุญญาภิสมภารมหายศ ปรากฏด้วยอานุภาพใหญ่แผ่ไปในนานาประเทศ ข้าศึกย่อมเกรงขามคร้ามพระเดชานุภาพ พระองค์ได้เศวตรกุญชร ๓ เชือก เสวยราชสมบัติได้ ๑๙ ปี ก็สวรรคาลัยไปตามยถากรรมในกาลสิ้นพระชนม์”

พระอินทราชาเป็นโอรสของสมเด็จพระเอกาทศรถอันเกิดแต่พระสนมซึ่งเป็นชนนีของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เป็นน้องเมียพระยาศรีธรรมาธิราช ซึ่งเป็นพ่อ (พ่อเลี้ยง) จมื่นศรีสรรักษ์ และจมื่นศรีสรรักษ์นี้เรียกกันเป็นสามัญว่าพระองค์ไล เพราะฉะนั้นความสนิทสนมจึงมีในระหว่าง สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมกับจมื่นศรีสรรักษ์มาก ส่วนหนังสือพระราชพงศาวดารที่กล่าวว่า พระศรีศิลป์ คือสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมนั้นน่าจะเป็นการสำคัญผิดไปก็ได้ วันวลิตซึ่งเข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยาครั้งนั้นกล่าวว่า พระศรีศิลป์เป็นอนุชาของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม

เมื่อสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมได้ราชสมบัติแล้ว ในพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวว่า ได้ทรงตั้งจมื่นศรีสรรักษ์เป็นพระมหาอุปราชอยู่ได้ ๗ วัน พระมหาอุปราชประชวรสวรรคต ตอนนี้ไม่ทราบว่าเป็นจมื่นศรีสรรักษ์คนใด ซึ่งถ้าเป็นจมื่นศรีสรรักษ์ที่ได้เลื่อนเป็นพระยาศรีวรวงศ์ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ต่อมาได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยากลาโหม และเสด็จปราบดาภิเษกเป็นสมเด็จพระเจ้าปราสาททองแล้ว ก็ไม่น่าจะเป็นคนเดียวกันได้เลย เพราะจมื่นศรีสรรักษ์คนนั้นยังไม่ตาย แต่อยู่ต่อมาจนได้ราชสมบัติทรงพระนามว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง จึงน่าจะเป็นเรื่องเข้าใจผิดของผู้เขียนพระราชพงศาวดารสักอย่างหนึ่ง แต่ไม่ได้กล่าวถึงพระศรีศิลป์ซึ่งเป็นพระมหาอุปราชเลย จมื่นศรีสรรักษ์ ไม่ได้เป็นพระมหาอุปราช แต่ได้เลื่อนเป็นพระยาศรีวรวงศ์ ตามจดหมายเหตุวันวลิตกล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทรงตั้งพระศรีศิลป์ซึ่งเป็นพระอนุชาขึ้นเป็นพระมหาอุปราช เมื่อสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมจวนจะสวรรคตใน พ.ศ. ๒๑๗๐ ทรงปรึกษากับพระยาศรีวรวงศ์ว่าจะทรงมอบราชสมบัติแก่พระราชโอรสจะเป็นอย่างไร พระยาศรีวรวงศ์เห็นดีด้วย เนื่องจากตนมีเรื่องผิดใจกับพระมหาอุปราชในเรื่องลบหลู่พระเกียรติยศพระชายาของพระองค์ จึงได้ทูลสนับสนุนสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมว่า ควรจะมอบราชสมบัติให้พระเชษฐาธิราช ราชโอรสองค์ใหญ่ของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมๆ จึงมอบหมายให้ไปปรึกษากันกับเสนาบดีทั้งหลาย แต่เสนาบดีหลายคนมีความเห็นว่า ควรจะรักษาประเพณีของบ้านเมืองไว้ พระมหาอุปราชไม่มีความผิดอย่างใด ราชสมบัติควรจะตกอยู่แก่พระองค์ตามโบราณราชประเพณี แต่พระยาศรีวรวงศ์จะยอมตามไม่ได้ เพราะถ้ายอมตามความเห็นของข้าราชการผู้ใหญ่ส่วนมากแล้ว เมื่อพระมหาอุปราชเสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อจากสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ตนก็จะต้องถูกประหารชีวิตอย่างแน่นอน จึงทูลยุยงสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมให้ทรงตั้งพระเชษฐาธิราช ราชโอรสองค์ใหญ่เป็นผู้สืบราชสมบัติต่อจากพระองค์ทีเดียว การที่ทรงตั้งรัชทายาทซ้อนตำแหน่งที่มีผู้ครองอยู่แล้วเช่นนี้ เป็นการผิดประเพณีอย่างยิ่ง ขุนนางผู้ใหญ่หลายคนจึงไม่เห็นด้วย และผู้ที่แสดงความไม่พอใจจนออกนอกหน้ามีหลายคนเช่น เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ (คือพระมหาอำมาตย์คนที่เป็นผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่ในสมัยนั้น) พระท้ายนํ้าและพระจุฬาราชมนตรี เป็นต้น แต่พระยาศรีวรวงศ์พยายามจุกช่องล้อมวง ไม่ ให้ข้าราชการเข้าเฝ้าและทราบพระอาการของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมโดยแท้จริง และกระจายข่าวว่า อาการประชวรของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมดีขึ้นจนไม่เป็นที่น่าวิตกอย่างใดแล้ว แต่หลังจากนั้นมาไม่กี่วัน สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมก็สวรรคต พระยาศรีวรวงศ์จึงแจ้งให้ข้าราชการทราบและประกาศว่า สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทรงตั้งพระเชษฐาธิราช ซึ่งเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบแทนพระองศ์

ในตอนนี้วันวลิตกล่าวว่า พระยาศรีวรวงศ์ออกอุบายจับพระมหาอุปราชได้ และนำไปทิ้งไว้ในเหวแห่งหนึ่งในแขวงเมืองเพชรบุรี แต่ออกหลวงมงคลทหารเอกของพระองศ์ไปช่วยไว้ได้ และนำกองทัพยกเข้ามาจะชิงเอาราชสมบัติ แต่สู้กองทัพของพระเชษฐาธิราชไม่ได้ จึงถูกตีแตกกลับไป ในที่สุดพระมหาอุปราชก็ถูกจับอีกครั้งหนึ่ง และถูกนำตัวไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ตามราชประเพณี

ต่อมาพระยาศรีวรวงศ์ก็เป็นคนโปรดของพระเชษฐาธิราช และได้ครองตำแหน่งแทนเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์คนเก่า ซึ่งพระยาศรีวรวงศ์ออกอุบายจับฆ่าเสีย ในขณะที่สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม จวนจะสวรรคต แล้วต่อมาก็บำเพ็ญบารมีจนเป็นที่ยำเกรงแก่ข้าราชการทั้งปวง จะเห็นได้จากการปลงศพมารดาเจ้าพระยากลาโหม (ใหม่) ที่วัดกุฏิ ข้าราชการพากันไปช่วยจนหมด ถึงกับยอมขาดเวร เฝ้าพระเจ้าแผ่นดินประจำวัน และด้วยเหตุนี้เองเป็นชนวนที่ช่วยให้เจ้าพระยากลาโหมคิดขบถขึ้น เพราะเห็นว่าตนเป็นผู้ที่ข้าราชการกลัวเกรงยิ่งเสียกว่าพระเจ้าแผ่นดิน

เมื่อจับพระเจ้าแผ่นดินสำเร็จโทษ และให้พระอาทิตยวงศ์พระอนุชาของพระเจ้าแผ่นดินซึ่งมีพระชนมายุเพียง ๙ พรรษา ขึ้นครองราชสมบัติแทนพอเป็นพิธีแล้ว ต่อมาตนก็หาเรื่องถอดออกเสีย จากตำแหน่งและขึ้นครองราชสมบัติเสียเองเมื่อ พ.ศ. ๒๑๗๓ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

เนื่องจากสกุลวงศ์ของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองมีนิวาสถานอยู่ที่เกาะบางปะอินอย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่งสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงสมภพที่เกาะนี้ด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อพระองค์ได้เถลิงราชสมบัติใน พ.ศ. ๒๑๗๓ จึงถวายที่บ้านเดิมของพระองค์เป็นพุทธบูชา แล้วโปรดให้สร้างวัดขึ้นที่ตรงนั้น เมื่อ พ.ศ. ๒๑๗๕ พระราชทานนามว่า “วัดชุมพลนิกายาราม” ยังปรากฎอยู่จนทุกวันนี้ และโปรดให้ขุดสระใหญ่และสร้างตำหนักขึ้นที่กลางเกาะนั้น เพื่อทรงใช้เป็นที่สำหรับเสด็จประพาส พระราชวังที่เกาะบางปะอินจึงได้มีขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

เกาะบางปะอินเป็นที่สำหรับเสด็จประพาสของพระราชาธิบดี ซึ่งครองกรุงศรีอยุธยาภายหลัง สมเด็จพระเจ้าปราสาททองต่อมาทุกรัชกาล เพราะอยู่ไม่ห่างไกลพระนครเท่าใดนัก ครั้นย้ายราชธานีมาอยู่ที่กรุงเทพฯ ราชธานีอยูห่างไกลเกาะบางปะอินมาก พระราชาธิบดีจึงมิได้เสด็จประพาส เกาะนี้คงทิ้งร้างมากกว่า ๘๐ ปี จนถึงรัชกาลที่ ๔ เกิดมีเรือกลไฟเป็นพาหนะสำหรับใช้ในประเทศขึ้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเสด็จประพาสทางชลมารค และได้ไปเสด็จประพาสเมืองซึ่งอยู่ตามลำนํ้าและตามชายทะเลทุกแห่ง ครั้งหนึ่งเสด็จไปประพาสที่พระนครศรีอยุธยาขากลับทรงล่องเรือผ่านเกาะบางปะอิน ทอดพระเนตรเห็นดงมะม่วงร่มรื่นเป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงโปรดให้สร้างพระตำหนักขึ้นที่ในบริเวณวังเก่าครั้งกรุงศรีอยุธยาพระราชทานนามพระตำหนักที่ทรงสร้างใหม่นี้ว่า พระที่นั่ง ไอสวรรค์ทิพยอาสน์ ตามนามปราสาททององค์เดิมที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงสร้างไว้ริมสระ และเมื่อได้สร้างพระตำหนักขึ้นแล้วก็เสด็จไปประพาสเนืองๆ เกาะนี้จึงกลับชีวิตขึ้น เนื่องจากเป็นที่เสด็จประพาสของพระราชาธิบดีในกรุงรัตนโกสินทร์อีกครั้งหนึ่ง แต่ในรัชกาลที่ ๔ ยังหาได้สร้างพระราชวังขึ้นใหม่ คงสร้างเพียงแต่พระตำหนักเท่านั้น จนถึงรัชกาลที่ ๕ จึงโปรดให้สร้างพระราชวังขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๕ แล้วเสร็จและมีงานมหกรรมสมโภชใน พ.ศ. ๒๔๑๙ และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จไปประพาสแทบทุกปี โดยเสด็จทั้งทางเรือและทางรถไฟ จนถึงกับมีสถานีรถไฟพิเศษสำหรับพระองค์และเจ้านายที่ตามเสด็จโดยเฉพาะอีกแห่งหนึ่งที่บางปะอิน ยังปรากฏอยู่ทุกวันนี้

เกาะพระ
ถึงเกาะพระที่ระยะสำเภาล่ม    เภตราจมอยู่ในแควกระแสไหล

เกาะพระ อยู่ตรงทางแยกแม่นํ้าเจ้าพระยา มีคลองล้อมรอบเกาะ อยู่ตรงข้ามกับวัดโพธิ์ ตำบลโรงช้าง อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เกาะเรียน
ถึงเกาะเรียนโอ้เรียมยิ่งเกรียมใจ        ที่เพื่อนไปเขาก็โจษกันกลางเรือ
ว่าคุ้งหน้าท่าเสือข้ามกระแส            พี่แลแลหาเสือไม่เห็นเสือ
ถ้ามีจริงก็จะวิ่งลงจากเรือ            อุทิศเนื้อให้เป็นภักษ์พยักฆา

เกาะเรียน เป็นชื่อตำบล ขึ้นอำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นอกจากจะเป็นชื่อตำบลแล้ว ยังมีเกาะที่เกิดขึ้นกลางแม่นํ้าเจ้าพระยาเรียกว่า เกาะเรียน

วัดธรรมาราม
ถึงวัดธารมาใหม่ใจระย่อ        ของพระหน่อสุริย์วงศ์พระวังหลัง
อุตส่าห์ทรงศรัทธามาประทัง    อารามรั้งหรือมางามอร่ามทอง
สังเวชวัดธารมาที่อาศัย        ถึงสร้างใหม่ชื่อยังธาระมาหมอง
เหมือนทุกข์พี่ถึงจะมีจินดาครอง   มงกุฎทองสร้อยสะอิ้งมาใส่กาย

วัดธารมา ปัจจุบันคือ วัดธรรมาราม ตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัด พระนครศรีอยุธยา
คลองสระปทุม
พระราชวังโบราณและวังหลัง
วัดแม่นางปลื้ม
หัวรอ
ท่าศาลาเกวียน
บ่อโพง
ปากจั่น
บางระกำ
นครหลวง (อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)
แม่ลา
อรัญญิก
ตะเคียนด้วน
ศาลาลอย
วังตะไล
บ้านขวาง
นาประโคน
บางโขมด
ตำบลบ่อโศก
หนองคนที
ศาลาเจ้าสามเณร
เขาตก
สระยอ
(ลำดับการเดินทางจากท่าเรือไปพระพุทธบาทตามเส้นทางเสด็จประพาสแต่ก่อนจะมีระยะดังนี้ ๑. บ่อโศก ๒. ศาลาเจ้าสามเณร ๓. หนองคนที ๔. ศาลเจ้าพ่อเขาตก ๕. พระตำหนักและสระยอ แต่สุนทรภู่ เดินทางไม่ตรงตามนี้.)
พระพุทธบาท
ธารเกษม

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด

นิราศเมืองแกลง

โอ้สังเวชวาสนานิจจาเอ๋ย
จะมีคู่มิได้อยู่ประคองเชย
ต้องละเลยดวงใจไว้ไกลตา
ถึงทุกข์ใครในโลกที่โศกเศร้า
ไม่เหมือนเราภุมรินถวิลหา
จะพลัดพรากจากกันไม่ทันลา
ใช้แต่ตาต่างถ้อยสุนทรวอน
โอ้จำใจไกลนุชสุดสวาท
จึงนิราศเรื่องรักเป็นอักษร
ให้เห็นอกตกยากเมื่อจากจร
ไปดงดอนแดนป่าพนาวัน
กับศิษย์น้องสองนายล้วนชายหนุ่ม
น้อยกับพุ่มเพื่อนไร้ในไพรสัณฑ์
กับนายแสงแจ้งทางกลางอารัญ
จะพากันแรมทางไปต่างเมือง

ท่านผู้อ่านคงสังเกตเห็นว่ากลอนนิราศของท่านสุนทรภู่และกอลนนิราศของกวีอื่นๆ ที่แต่งตามแบบอย่างของท่านสุนทรภู่ทุกเรื่อง มีรูปแบบการแต่งที่สำคัญ คือ ขึ้นต้นด้วยกลอนวรรคหรือวรรคที่สอง และจบเรื่องด้วยคำว่า “เอย” แบบเดียวกันกับกลอนเพลงยาววรรณคดีนิราศของไทย มีประวัติกำเนินมาช้านาน คือ เกิดมีขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ตามหลักฐานที่ปรากฎแน่ชัดในสมัยปัจจุบันบ่งว่าต้นแบบของนิราศทั้งปวงของไทยก็คือ “โคลงกำสรวล” ซึ่งเชื่อกันว่าผู้ทรงพระราชนิพนธ์ก็คือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ หรือ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง แต่นิราศตามเนื้อหาของไทยอันเก่าแก่ที่สุด เรื่องนี้มีรูปแบบลักษณะการแต่งเป็นโคลงสี่ดั้นบาทกุญชร การแต่งนิราศเป็นโคลงได้ยึดถือแนวของโคลงกำสรวลเรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เช่นมี โคลงนิราศนครสวรรค์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กาพย์ห่อโคลงนิราศพระบาท ของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศ โคลงนิราศพระยาตรัง และนายนรินทร์ธิเบศ ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ก่อนท่านสุนทรภู่ ไม่มีกวีคนใดเลยแต่งนิราศด้วยคำประพันธ์ประเภทกลอนมาก่อนเลย จนสุนทรภู่ท่านโอ่ของท่านไว้อย่างภาคภูมิว่า

“อย่างหม่อมฉันอันที่ดีแลชั่ว        ถึงลับตัวก็แต่ชื่อเขาลือฉาว
เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว    เขมรลาวลือเลื่องถึงเมื่องนคร”

เป็นที่น่าสังเกตว่าเมื่อท่านสุนทรภู่มีอายุย่างเข้าวัยชราแล้วและเป็นกวีที่โด่งดังที่สุดในสมัยรัชกาลที่ ๒ นั้น ท่านกล่าวประกาศว่าท่านเป็น “นักแต่งเพลงยาว” เรื่องนี้เห็นจะไม่ใช่เป็นเรื่องกล่าวอย่างธรรมดาสามัญแต่ท่านสุนทรภู่ต้องการเน้นว่าท่านเป็น “นักแต่งเพลงยาว” โดยแท้ กลอนสุภาพซึ่งท่านได้คิดขึ้น ให้วรรคหนึ่งมีแปดคำ มีสัมผัสนอกและสัมผัสในแน่ชัดที่เป็นแบบอย่างของกวีในยุคปัจจุบันนี้ ท่านคิดขึ้นเพื่อใช้แต่งเพลงยาวเป็นเบื้องต้น และต่อมาก็ได้แต่งเพลงยาวขนาดยาวผิดกว่าเพลงยาวแต่ครั้งสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา และที่นิยมแต่งกันในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ก็คือ กลอนนิราศ นั่นเอง

กลอนเพลงยาวเฟื่องฟูมากในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย นักแต่งกลอนเพลงยาวสมัยนั้นที่ปรากฎหลักฐานมีผลงานตกทอดมาถึงทุกวันนี้ก็มี เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศ หม่อมพิมเสน ท่านหลังคือ หม่อมพิมเสนได้แต่งเพลงยาวเมืองเพชรบุรี อันนับว่าเป็นเพลงยาวที่น่าจะเป็นต้นแบบของกลอนนิราศในยุคหลัง และเพลงยาวแบบนี้ก็มีปรากฎในสมัยรัตนโกสินทร์ คือเพลงยาวรบพม่าที่ท่าดินแดง พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

ท่านสุนทรภู่เกิดเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๒๙ ในรัชการที่ ๑ ภายหลังตั้งกรุงเทพฯ แล้ว ๔ ปี เกิดก่อนการปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศส ๓ ปี และสงครามอิสรภาพของสหรัฐอเมริกาเพิ่งเสร็จลงก่อนสุนทรภู่เกิดเพียง ๓ ปี การศึกษาของท่านบ่งชัดว่าเรียนที่สำนักวัดชีปะขาว(ศรีสุดาราม) แต่ไม่อาจค้นคว้าได้ว่า อาจารย์ผู้สั่งสอนด้านวรรณคดีและกาพย์กลอนแก่ท่านเป็นใคร แต่ชวนให้สงสัยว่าน่าจะเป็นกวีกลุ่มเพลงยาวที่สืบเนื่องมาจากกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

มีหลักฐานบางแห่งบอกว่าเมื่อรุ่นหนุ่มท่านสุนทรภู่เริ่มเป็นนักแต่งกลอนเพลงยาวและบอกดอกสร้อยสักวา เมื่อท่านอายุ ๒๐ ปี ท่านได้ปรับปรุงเอากลอนสุภาพของท่านที่คิดขึ้นใช้เพื่อแต่งเพลงยาวนี้เองแต่งกลอนนิราศเรื่องแรกของท่านและนับเป็นกลอนนิราศเรื่องแรกในวรรณคดีไทย คือ นิราศเมืองแกลง

จึงนับว่าเป็นเรื่องน่ายินดียิ่งที่เราจะได้ติดตามกวีเอกของชาติครั้งยังเป็นหนุ่มแน่นไปเที่ยวเมืองแกลง เพราะนอกจากจะได้รู้เห็นสภาพบางด้านของบ้านเมืองชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกเมื่อเกือบสองร้อยปีก่อนโน้นแล้ว เราจะได้พบเห็นอัจฉริยภาพด้านกวีนิพนธ์ของกวีเอกผู้เริ่มปรับปรุงนำเอากลอนสุภาพมาใช้แต่งนิราศเป็นครั้งแรกในวรรณคดีไทย

เมื่อเริ่มต้นนิราศเมืองแกลงนั้นท่านผู้ฟังย่อมได้รับทราบว่าท่านสุนทรภู่ขณะอายุ ๒๐ ปี เท่านั้น ท่านมีชื่อเสียงและความสามารถถึงขนาดมีผู้ฝากตนเป็นศิษย์รับใช้ใกล้ชิดแสดงว่าไม่เบาทีเดียว ในการเดินทางไปเมืองแกลงครั้งนี้ ท่านมีศิษย์สองคนชื่อ น้อย กับ พุ่ม ติดตามไป และจ้างคนนำทางชื่อ นายแสง ซึ่งเป็นคนสูงอายุร่วมทางไปอีกคนหนึ่ง

ถึงสามปลื้มพี่นี้ร่ำปล้ำแต่ทุกข์
สุดจะปลุกใจปลื้มให้ลืมหลัง
ขออารักษ์หลักประเทศนิเวศน์วัง
เทพทั้งเมืองฟ้าสุราลัย
ขอฝากน้องสองรามารดาด้วย
เอ็นดูช่วยปกครองให้ผ่องใส
ตัวข้าบาทจะนิราศออกแรมไพร
ให้พ้นภัยคลาคแคล้วอย่าแผ้วพาน
ถึงสำเพ็งเก๋งตั้งริมฝั่งน้ำ
แพประจำจอดเรียงเคียงขนาน
มีซุ้มซอกตรอกนางจ้างประจาน
ยังสำราญร้องขับไม่หลับลง
โอ้ธานีศรีอยุธยาเอ๋ย
นึกจะเชยก็ได้ชมสมประสงค์
จะลำบากยากแค้นไปแดนดง
เอาพุ่มพงเพิงเขาเป็นเหย้าเรือนฯ

จากบทกลอนในนิราศเมืองแกลงชั้นต้นนี้ ทำให้ท่านผู้อ่านสามารถทราบถึงชีวประวัติในวัยเยาว์ของท่านสุนทรภู่เพิ่มขึ้น คือ ที่เกิดและที่อาศัยของท่านอยู่ที่วังหลัง คือ สถานที่ซึ่งเป็นโรงพยาบาลศิริราชและสถานีรถไฟบางกอกน้อย ในปัจจุบันนี้ เมื่อท่านแรกเกิด บิดาของท่านหย่าขาดจากมารดา และบิดาไปบวชอยู่ที่เมืองแกลง นับเป็นเวลาถึงขณะที่กล่าวนี้ นานถึง ๒๑ ปี มารดาของท่านได้ถวายตัวเป็นข้าราชใช้ในสมเด็จกรมพระราชวังหลัง ซึ่งมีพระนามว่า เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ ทำให้ท่านสุนทรภู่กลายเป็นข้า และมหาดเล็กในกรมพระราชวังหลัง ต่อมามารดาได้แต่งงานใหม่ ทำให้ท่านสุนทรภู่มีน้องสาวต่างบิดา ๒ คน ชื่อ ฉิม กับ นิ่ม และในการเดินทางครั้งนี้ ความประสงค์ของท่าน ก็คือ เพื่อไปเยี่ยมกราบเท้าบิดาซึ่งไม่ได้พบกันนานแล้วประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งน่าจะรับอาสาเจ้านายไปทำกิจธุระอย่างใดอย่างหนึ่ง รำพันไว้ว่า

“โอ้คราวยากจากเมืองแล้วลืมมุ้ง    มากรำยุงเวทนาประดาหาย
จะกรวดน้ำคว่ำขันจนวันตาย    แม้ เจ้านาย ท่านไม่ใช้ แล้วไม่มา”

พวกเราซึ่งสมมติว่า ได้ร่วมทางไปในเรือลำเดียวกับท่านได้พบกับสถานที่อันน่าตื่นเต้นของกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อแรกตั้ง คือสถานที่ที่เรียกว่า สำเพ็งในสมัยนั้น เป็นที่อยู่ของพวกผู้หญิงงามเมือง และท่านสุนทรภู่ผู้กำลังอยู่ในวัยหนุ่มคะนอง ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้อย่างน่าฟัง

ถึงปากลัดแลท่าชลาตื้น            ดูเลื่อมลื่นเลนลากลำละหาน
เขาแจวจ้องล่องแล่นแสนสำราญ        มาพบบ้านระเจ้ายิ่งเศร้าใจ
อนาถนิ่งอิงเขนยคะนึงหวน            จนจวบจวนแจ่มแจ้งปัจจุสมัย
ศศิรรอ่อนอับพยับไพร                ถึงเชิงไทรศาลพระประแดงแรง
ขออารักษ์ศักดิ์สิทธิ์ที่สิงศาล            ลือสะท้านอยู่ว่าเจ้าห้าวกำแหง
ข้าจะไปทางไกลถึงเมืองแกลง        เจ้าจงแจ้งใจภัคินีที
ฉันพลัดพรากจากจรเพราะร้อนจิต    ใช่จะคิดอายอางขนางหนี
ให้นิ่มน้องครองรักไว้สักปี            ท่านสุขีเถิดข้าขอลาไป

การรำพึงรำพันของท่านสุนทรภู่ บางตอนที่ยกมานี้ ท่านเปิดเผยถึงความรักและคนรักคนแรกของท่าน พอจะลำดับความได้ว่าขณะท่านเป็นหนุ่มวัย ๑๘-๑๙ ปี อาศัยท่านมารดาอยู่ในวังหลัง ได้เกิดผูกสมัครรักใคร่กับหญิงสาวคนหนึ่ง ชื่อ จันทร์ หรือแม่จัน เป็นหลานของพระชายาของกรมพระราชวังหลัง แม่จันน่าจะเป็นลูกขุนนางผู้ดีที่ถวายตัวเข้ามาเป็นหญิงข้างในวังหลัง ดังที่นิยมทำกันในสมัยโบราณ การนำลูกสาวไปเป็นชาววังเพื่อการศึกษา จริยธรรม ระเบียบประเพณี และวิชาการของลูกผู้หญิงเพราะสมัยนี้โรงเรียนยังไม่มี นอกจากนั้นก็เพื่อแสดงความจงรักภักดีและความเป็นใหญ่ในวงราชการอีกด้วย สุนทรภู่ได้ติดต่อรักใคร่กันมาจนกระทั่งสมเด็จกรมพระราชวังหลังทรงทราบเรื่องนี้และคงจะได้ทรงว่ากล่าวตักเตือนให้เลิกกันแต่หนุ่มสาวทั้งสองไม่ปฏิบัติตามเพราะถือความรักเป็นอมตะ จึงทำให้กริ้วจนในที่สุดจึงให้ลงพระอาญาคนทั้งสองด้วยการเฆี่ยนและจองจำ แต่ท่านสุนทรภู่พ้นโทษมาได้เพราะมารดาของท่านกราบทูลขอพระราชทานอภัยโทษ แล้วขอร้องให้สุนทรคู่เดินทางไปเสียจากกรุงเทพฯ จึงทำให้ท่านสุนทรภู่ถือโอกาสไปเมืองแกลง เพื่อเยี่ยมท่านบิดาดังกล่าวไว้แล้ว

การเดินทางเป็นไปตามเส้นทางสมัยโบราณ ซึ่งท่านผู้ฟังก็ทราบดีว่า ในสมัยโบราณกรุงเทพ¬มหานคร และภาคกลางของประเทศไทยเต็มไปด้วยแม่น้ำลำคลอง เส้นทางคมนาคมทางน้ำที่กล่าวถึง ในนิราศเมืองแกลงได้สูญหายไปเสียแทบหมดแล้วในปัจจุบันนี้ แต่เราก็พอทราบถึงหมู่บ้านตำบลที่ท่านกล่าวไว้ เช่น เมื่อผ่านสำเพ็งมาแล้วก็กล่าวถึงว่า ไปถึงย่านดาวคนอง ต่อจากนั้นไปถึงบางผึ้ง ถึงปากลัด พระประแดงต่อไป เรือก็ล่องเข้าคลองสำโรง ที่ท่านพรรณนาไว้ว่า คลองนั้นตัดผ่านทุ่งอันกว้างใหญ่ มีสถานที่ที่ท่านกล่าวถึงแห่งหนึ่ง ชื่อทับนาง ณ ที่นี้มีกระท่อมที่อยู่ของชาวนาเป็นจำนวนมาก และปรากฎข้อความเป็นบทกลอนว่า

“ลงทับนางวางเวงฤทัยวับ    เห็นแต่ทับชาวนาอยู่อาศัย
นางชาวนาก็ไม่น่าจะชื่นใจ    คราบขี้ไคลคราคร่ำดังทาคราม
อันนางในนคราถึงทาสี    ดีกว่านางทั้งนี้สักสองสาม”

ข้อความตอนนี้มีผู้นำไปวิจารณ์กันเสมอว่า ท่านสุนทรภู่มีนิสัยใจคอ นิยมชนชั้นสูง ดูหมิ่นราษฎรชาวไร่ชาวนาสามัญ ซึ่งข้อนี้น่าจะนำมาคิดดูว่าขณะท่านแต่งข้อความนี้ ท่านอยู่ในวัยหนุ่มอายุน้อยมาก และเคยใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในรั้วในวัง จึงนิยมความสวยความงามของผู้หญิงชาววัง ยิ่งกำลังมีความรักฝังใจต่อคนรักซึ่งเป็นชาววังอยู่ด้วย จึงทำให้ท่านคิดออกมาอย่างนี้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ท่านลืมตัว ไม่เห็นคุณค่าของสามัญชน เรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ทัศนะของกวีนั้น จำเป็นเหลือเกินที่พวกเราซึ่งอยู่ต่างสมัย ต่างรสนิยม ต่างความคิด ตลอดจนสภาพสิ่งแวดล้อม จะต้องคิดถึงความถูกต้องเป็นธรรมต่อกวีผู้ไม่ได้อยู่ร่วมสมัยกับพวกเราให้มากๆ

การเดินทางในระยะต่อมา เต็มไปด้วยความยากลำบากเพราะเมื่อผ่านบางพลี ลำคลองมีน้ำตื้น บางตอนต้องใช้ควายลากเรือ

ตอนเดินทางไปสุพรรณของสุนทรภู่ คลองบางกอกน้อยตื้นต้องใช้เรือลาก สุนทรภู่พรรณนาไว้

“ทุกข์ใดใน โลกล้น    ล้ำเหลือ
ไม่เท่าควายลากเรือ    รับจ้าง
หอบฮักจักขุเจือ          เจิงชุ่ม ชลเอย
มนุษย์จติดค้าง        เฆี่ยนเจ้าเอาเงิน”

สุนทรภู่มองจุดนี้อย่างละเอียด ไม่เหมือนกวีอื่น

พอมาถึงตอนนํ้าตื้น น้อยกับพุ่มลูกศิษย์ของท่าน ต้องถ่อเรืออย่างยากยิ่งไปตามลำนํ้าอันยืดยาว จนล่วงพ้นมาถึงคลองซึ่งแยกออกเป็น ๒ ทาง มีศาลาเทพารักษ์ ณ ที่นั้น ท่านสุนทรภู่ต้องตื่นเต้นที่ได้เห็นหมู่จระเข้ ลอยไล่กินปลาอยู่นับร้อย เมื่อไปถึงคลองขวาง ท่านพบว่าบนบกมีลิงแสมอยู่มากมายท่านกล่าวเป็นถ้อยคำน่าคิดว่า

“คำโบราณท่านผูกถูกทุกสิ่ง            เขาว่าลิงจองหองมันพองขน
ทำหลุกหลิกเหลือกลานพาลลุกลน    เขาด่าคนว่าลิงโลนลำพอง”

ต่อจากนั้น ก็ถึงคลองซึ่งเป็นทางแยก คือ ปากตะครอง และบางเหี้ย ซึ่งคณะของท่านได้หยุดพักรับประทานอาหารตอนกลางคืน ยุงชุมมาก ต้องทนทุกข์ทรมาน เพราะยุงกัด เมื่องเดินทางต่อมาคณะของท่านก็ผ่าน บางบ่อ บ้านระกาด บางสมัคร ตำบลบ้านมะพร้าว ซึ่งท่านกล่าวว่า มาถึงที่นี้เมื่อตอนย่ำรุ่ง ต่อจากนั้น ผ่านบางวัว และหมู่บ้านสุดท้ายก่อนออกทะเลย ก็คือ บางมังกง ซึ่งคงจะเรียกขานกันเช่นนั้นในสมัยโน้น แต่ในปัจจุบัน ก็คือ บางปะกง นั่นเอง ต่อจากนั้น เรืองของคณะท่านสุนทรภู่ก็ออกทะเล ซึ่งเมื่อแจวไปได้ไม่นาน ก็ต้องผจญภัยเพราะคลื่นใหญ่อย่างน่ากลัว เมื่อพ้นอันตรายแล้ว คณะของท่านมาถึง บางปลาสร้อยชลบุรี ก็ได้หยุดพักหุงอาหารรับประทาน และค้างคืนที่นั่น

คณะของท่านสุนทรภู่ได้มาขึ้นฝั่งที่ตำบลบางปลาสร้อยนี้เอง ท่านกล่าว่า ขณะนั้น ตำบลนี้เป็นชุมนุมใหญ่ มีตลาดร้านค้าและบ้านเรือนมากมาย และกล่าวถึง่า คณะของท่านไปพักอยู่ที่บ้านเพื่อนชื่อ ขุนจ่าเมือง อยู่ ๓ วัน ต่อจากนั้นก็เดินเท้าไปต่างทุ่งนาป่าเขาผ่านบางพระ ก็ไปพบบ้านเพื่อนชื่อนายมา พักค้างคืน แล้วเดินเลียบทะเลไปตามชายหาดไปจนถึง ศรีมหาราช ศรีราชา แล้วเดินป่าต่อไปอีก ระยะทางเหล่านี้ ท่านพรรณนาถึงความสวยงามของธรรมชาติ ป่าเขา และนกชนิดต่างๆ จนกระทั่งไปถึง บางละมุง ซึ่งที่นี้ในตอนนั้นมีฐานะเป็นเมืองมีกรมการ ท่านสุนทรภู่และลูกศิษย์ทั้ง ๒ คน เหน็ดเหนื่อยมากและร่างกายก็บอบช้ำอย่างยิ่งได้พักผ่อนอาบน้ำในลำห้วย เสร็จแล้วเดินทางต่อไปอีก โดยเดินไปตามทางลัดเลียบชายทะเลทำให้พบเห็นอาชีพประมงของคนในยุคนั้น คือ การทำโป๊ะ เดินทางต่อไปอีก ไปพักรับประทานอาหาร และค้างคืนที่บ้านนาเกลือ รุ่งเช้าก็พากันเดินทางต่อไป จนกระทั่งมาถึงสถานที่ ซึ่งมีความสำคัญเหลือเกินในสมัยนี้ คือ พัทยา

ระยะทางอันกว้างขวางของดินแดนพัทยานั้น ทำให้ท่านสุนทรภู่กับคณะได้รับความลำบากเป็นอย่างยิ่ง ต้องเดินทางท่ามกลางอากาศร้อนจัดบางตอนต้องปีนเขา ทำให้หินบาดเอาร่างกายบาดเจ็บทุลักทุเลอยู่เป็นเวลานาน จนมาถึงริมทะเล ขณะนั้นทุกคนกระหายน้ำเป็นอย่างยิ่ง เพราะร้อนจัดและร่างกายบอบช้ำ ท่านพูดถึงน้ำทะเลที่ได้พบเห็นในขณะนั้น ด้วยการเปรียบเทียบกับความจริงในสภาพชีวิตของท่านไว้อย่างน่าฟังว่า

“น้ำก็นองอยู่ในท้องชลาสินธุ์        จะกอบกินเค็มขมไม่สมหวัง
เหมือนมีคู่อยู่ข้างกำแพงวัง            จะเกี้ยวมั่งเขาก็เฆี่ยนเอาเจียนตาย”

ก็พยายามฝืนใจเดินทางกันต่อไป ค่ำวันนั้นหยุดพักค้างคืนที่บ้านห้วยขวาง รุ่งเช้าเดินทางต่อไปอีก ระยะทางตอนนี้เต็มไปด้วยป่าไม้อันมีธรรมชาติสวยงาม ซึ่งท่านพรรณนาไว้อย่างละเอียดละออยิ่ง บางตอนพูดถึงเรื่องน่าขบขัน เช่นที่ห้วยพะยูน คณะของท่านไปหยุดพักร้อน มองเห็นสัตว์ใหญ่ตัวหนึ่งนอนอยู่ในดงไม้ ก็ชวนกันเข้าไปดูเพราะไม่เคยพบเห็นมาก่อน สัตว์ตัวมหึมานั้น นอนทำตาปริบๆ นิ่งอยู่ เมื่อพวกท่านสุนทรภู่พิจารณานานเข้า ก็รู้ว่าเป็นแรด จึงเกิดความกลัว ต้องวิ่งหนีกันอุตลุด

“ถึงโตรกตรวยห้วยพะยูนจะหยุดร้อน    เห็นแรดนอนอยู่ในดงให้สงสัย
เรียกกันดูด้วยไม่รู้ว่าสัตว์ใด            เห็นหน้าใหญ่อย่างจระเข้ตะคุกตัว
มันเห็นหน้าทำตากระปริบนิ่ง        เห็นหลายสิ่งคอคางทั้งหางหัว
รู้ว่าแรดกินหนามให้คร้ามกลัว        ขยับตัววิ่งพัลวันไป”

ต่อจากนั้นต้องเดินทางผ่านป่าที่เต็มไปด้วยตัวทาก สลับกับสถานที่ที่มีธรรมชาติห้วยธาร ดงดอกไม้สวยงามผลัดเปลี่ยนกันเช่นนี้เรื่อยมา จนกระทั่งมาถึงเมืองระยองในตอนกลางคืน ก็ได้พักหลับนอนที่บ้านน้องของนายแสงคนนำทาง วันรุ่งเช้า ท่านเองและศิษย์ทั้ง ๒ คน ได้รับทุกข์ทรมานอย่างหนัก เพราะเท้าบวมทั้ง ๒ ข้าง เดินไม่ไหว จึงต้องพักอยู่ต่อไปที่ระยองอีก ๒ วัน และจะพากันเดินทางต่อไปอีก ก็ประสบโชคร้ายอย่างยิ่ง เพราะนายแสงคนนำทางที่ท่านว่าจ้างมาจากกรุงเทพฯเกิดหลบหนีสูญหายไป ท่านกับศิษย์ทั้ง ๒ ก็ต้องพากันเดินทางต่อจากระยองกันไปตามประสาผู้ไม่รู้จักหนทาง แต่ก็ได้อาศัยถามไถ่พวกชาวบ้านไปเรื่อยๆ ผ่านตำบลนาตาขวัญ บ้านแลง ผ่านป่าเขาทางกันดารและชุมชนหลายหนแห่งก็ไปถึงบ้านแกลง อันเป็นเขตที่ท่านประสงค์จะมาให้ถึงในครั้งนี้

จากนั้นท่านได้บรรยายถึงสภาพความเป็นไปต่างๆ ของผู้คนในย่านบ้านกร่ำเมืองแกลง ตลอดจนหมู่บ้านตำบลใกล้เคียง ทั้งยังได้กล่าวถึงว่า ท่านกับศิษย์ทั้งสอง มักจะพากันไปชมทะเลอันสวยงามเสมอๆ ท่านผู้ฟังที่สนใจงานของท่านสุนทรภู่ จะพบว่า ในวรรณคดีหลายเรื่องของท่าน เช่น เรื่องพระอภัยมณี ท่านสุนทรภู่ได้บรรยายฉากและเหตุการณ์เกี่ยวกับทะเลไว้อย่างดีเด่นยอดเยี่ยม ยิ่งกว่ากวีคนใดๆ คงเป็นผลมาจากที่ท่านได้มาพบความสวยงามของทะเล ณ เมืองแกลง และฝังใจท่านมาตั้งแต่วัยหนุ่มนั่นเอง

เหตุการณ์ ณ ที่นี้ ก็คือ ท่านได้ประพฤติพรหมจรรย์ ถือศีลกินเพล ตามคำแนะนำของพระภิกษุผู้เป็นบิดาของท่าน ในประวัติวรรณคดีไม่มีนักวรรณคดีคนใดค้นพบนามหรือบรรดาศักดิ์ของบิดาของท่าน รวมทั้งชื่อของมารดาของท่านด้วย แต่ในนิราศเมืองแกลงนี้ เราพบข้อความเกี่ยวกับบิดาของท่านที่กำกวมอยู่ 2 นัย คือ บิดาของท่านอาจเป็นฐานานุกรมของท่านเจ้าอาวาสที่วัดบ้านกร่ำนั้น หรือมิฉะนั้นก็อาจจะเป็นท่านเจ้าอาวาสอันมีสมณศักดิ์เป็นพระครูอารัญธรรมรังษีอย่างใดอย่างหนึ่ง

นอกจากนี้ ก็มีเหตุการณ์อื่นๆ เช่น ท่านเกิดล้มเจ็บเป็นไข้ป่า เมื่อท่านหายป่วย ท่านก็ได้กราบลาท่านบิดากลับกรุงเทพฯ รวมความว่า ท่านได้ใช้เวลาเดินทางทั้งขาไปและขากลับรวมทั้งพำนักอยู่ที่บ้านกร่ำ
เมืองแกลง เป็นเวลาประมาณ 1 ปี และได้เรียนให้ท่านผู้ฟังทราบในตอนต้นแล้วว่า ท่านสุนทรภู่เป็นกวีไทยคนแรกที่ได้คิดปรับปรุงลักษณะกลอนเพลงยาวมาแต่งเป็นกลอนนิราศ ได้รับความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ จนกวีอื่นๆ ในยุคสมัยเดียวกับท่านและสมัยต่อมาจนกระทั่งทุกวันนี้ ได้ยึดเอาแบบแผนกลอนนิราศของท่าน แต่งตามอย่างกันตลอดมา เพื่อยืนยันว่า นิราศเมืองแกลงเป็นกลอนนิราศเรื่องแรกที่ท่านได้นำเอาแบบแผนของเพลงยาวสมัยก่อนขึ้นไป มาปรับปรุงใช้แต่งเป็นกลอนนิราศ จึงขอเสนอตอนจบของนิราศเมืองแกลงนี้ ซึ่งบ่งให้เห็นว่ายังมีลักษณะเป็นกลอนเพลงยาวอย่างชัดเจน

“พี่จากไปได้แต่รักมาฝากน้อง        มากกว่าของอื่นอื่นสักหมื่นแสน
พอเป็นค่าผ้าห่มที่ชมแทน            อย่าเคืองแค้นเลยที่ฉันไม่ทันลา
ด้วยเกิดความลามถึงเพราะหึงหวง    คนทั้งปวงเขาคิดริษยา
จึงหลีกตัวกลัวบุญคุณบิดา            ไปแรมป่าปิ้มชีวันจะบรรลัย
แม่อยู่ดีปรีดิ์เปรมเกษมสวัสดิ์        หรือเคืองขัดขุกเข็ญเป็นไฉน
หรือแสนสุขทุกเวลาประสาใจ        สิ้นอาลัยลืมหมายว่าวายวาง
หรือพร้อมพรักพักตร์เพื่อนที่เยือนยิ้ม    ให้เปรมปริ่มประดิพัทธ์ไม่ขัดขวาง
จะปราบปรามห้ามหวงพวงมะปราง     ให้จืดจางจำจากกระดากใจ
นิราศเรื่องเมืองแกลงแต่งมาฝาก         เหมือนขันหมากมิ่งมิตรพิสมัย
อยู่หมางหมองข้องขัดตัดอาลัย        ให้ชื่นใจเหมือนแต่หลังมั่งเถิดเอยฯ”

สุนทรภู่รักแม่จันมาก ได้เขียนนิราศอุทิศแก่แม่จันหลายเรื่อง เช่น นิราศเมืองแกลง นิราศพระบาท แม้เมื่อแม่จันตกไปเป็นของคนอื่นแล้ว สุนทรภู่ยังเขียนไว้อาลัยไว้ในนิราศสุพรรณอีกว่า

เสียดายสายสวาทโอ้        อาวรณ์
รักพี่มีโทษกรณ์            กับน้อง
จำจากพรากพลัดสมร        เสมอชีพ เรียมเอย
เสียนุชดุจทรวงต้อง        แตกฟ้าผ่าสลาย

และอีกตอนหนึ่งว่า

เดือนดับลับโลกคง        คืนค่ำ อีกเอย
จันพี่นี้ลับหน้า            นับสิ้นดินสวรรค์

อนึ่งสุนทรภู่เดินทางไปเมืองแกลงครั้งนี้ ปรากฎว่าได้พบญาติวงศ์พงศามากมาย แต่ได้รับเคราะห์คือไปเป็นไข้เกือบตาย เดชะบุญได้หลานสาวสองคนชื่อม่วงและคำพยาบาล หลานทั้งสองนี้มีเกียรติที่สุนทรภู่ได้ฝากอนุสรณ์ไว้ในนิราศเมื่อกลับว่า

”….จงพากเพียรเขียนคำเป็นสำคัญ    ให้สองขวัญเนตรนางไว้ต่างกาย
อย่าเศร้าสร้อยคอยพี่พอปีหน้า        จงจะมาทำขวัญเหมือนมั่นหมาย
ไม่ทิ้งขว้างให้เจ้าได้อาย            จงครองกายแก้วตาอย่าอาวรณ์…”

เป็นอนุสรณ์ที่เคลือบคลุม เข้าใจยาก เป็นปริศนา ในที่สุดพอหายไข้ สุนทรภู่ก็กลับกรุงเทพฯ (ภายหลังปรากฎว่าสุนทรภู่มีเมียชื่อม่วงคนหนึ่ง ทำให้น่าคิดว่าจะได้หลานคนนี้เป็นเมีย)

ศิลปะการประพันธ์

ก่อนอื่นขอเสนอศิลปะกระบวนกลอนของสุนทรภู่ในนิราศเมืองแกลง ผู้อ่านจะเห็นว่ากลอนของสุนทรภู่เรียบร้อย ไพเราะ และมากไปด้วยสัมผัสใน เช่น

”ลำพูรายพรายพร้อยหิ่งห้อยจับ        สว่างวับแวววามอร่ามเหลือง
เสมอเม็ดเพชรรัตน์จำรัสเรือง        ค่อยประเทืองทุกข์ที่สีน่าชม”

และ

“สงัดเงียบเย็นเยียบยะเยือกอก        น้ำค้างตกหยดเปาะลงเผาะผอย
พฤกษาสูงยูงยางสล้างลอย            ดูชดช้อยชื่นชุ่มขะอุ่มใบ…. ”

สุนทรภู่ได้ดำเนินนิราศของตนตามแบบฉบับของนิราศ คือผ่านที่ใดหรือพบอะไรสะดุดตาสะดุดใจก็นำมาพรรณนาตามอารมณ์ของกวี แสดงถึงประวัติบ้าง ความคิดเห็นบ้าง และครํ่าครวญทำนองพิศวาสบ้าง ในการพิจารณาศิลปะของนิราศเมืองแกลง จะพูดถึงหลักของนิราศ ๒ ประการ คือ บทพรรณนาและบรรยายลักษณะ กับบทพิศวาส

พูดถึงบทพรรณนาและบรรยายลักษณะ สุนทรภู่ทำได้เป็นอย่างดี ชมธรรมชาติพรรณนาถึงชีวิตคนอาชีพต่างๆ ท่านจะเพลิดเพลินตลอดเรื่องเพราะศิลปะอันแจ่มใสของสุนทรภู่ ท่านจะเห็นสาวบางปลาสร้อยเที่ยวเก็บหอย ผู้หญิงทอเสื่อที่เมืองแกลง ประวัตินางตะเคียน ลิงลำพอง และแมงดา จะคัดมาให้ชมสักสองตอน ดังนี้

ก. “คำโบราณท่านผูกถูกทุกสิ่ง        เขาว่าลิงจองหองมันพองขน
ทำหลุกหลิกเหลือกลานพาลลุกลน    เขาด่าคนสมจริง (ว่า) ลิงลำพอง”
นี่คือที่มาของคำ “จองหอง พองขน”

ข. โอ้คิดเห็นเอ็นดูหมู่แมงดา            ตัวเมียพาผัวลอยเที่ยวเล็มไคล
เขาจับตัวผู้ทิ้งไว้กลางนา            ระลอกซ้ำสาดซัดให้ตักษัย
พอเมียตายฝ่ายผัวก็บรรลัย…. ”
นี่คือที่มาชายแมงดา

ทีนี้จะว่าถึงบทพิศวาสซึ่งเป็นความคลี่คลายแห่งชีวิตรักของมหากวีนั่นเอง เราทราบประวัติของคุณจันน้อยเต็มที แต่จากนิราศเมืองแกลงนี้เราจะเห็นความสัมพันธ์ของสุนทรภู่กับคุณจันดีขึ้น เพราะสุนทรภู่ได้เปิดอกไว้หลายแห่งพอที่จะให้แสงสว่างได้บ้าง แต่ถ้าตาข้าพเจ้าบอดหรือมัวแสงนั้นก็ไม่มีประโยชน์ และต้องขอโทษถ้าจะนำท่านเข้าดงวรรณคดีอย่างผิดทาง

กีฬารักของสุนทรภู่คงจะคล้ายกับเรองของหนุ่มสาวที่อาภัพทั่วไป ตัวตํ่าแต่หวังสูง ผู้หลัก ผู้ใหญ่เขาไม่นิยมชมชื่น สุนทรภู่รำพึงไว้ว่า

“ดูเดือนเหมีอนดวงสุดาแม่ กระต่ายแลเหมือนฉันคิดพิสมัย” และ “เห็นแต่หมอนอ่อนแอบอุระตน เทราะคนจนเจียวจึงจำระกำใจ”

อีกประการหนึ่ง สุนทรภู่คงจะเจ้าชู้ กรุ้มกริ่ม ติดพันผู้หญิงหลายคน ตามวิสัยคนคะนอง แต่ที่มั่นหมายดูเหมือนจะเป็นคุณจันคนเดียว ความไม่สำรวมในเรื่องรักอีกอย่างหนึ่งที่อาจทำให้เกิดมีคนอิจฉา ยุให้รำตำให้รั่ว อาจเป็นหญิงที่สุนทรภู่เกาะแกะด้วยนั่นเองที่ใส่ร้าย จนสุนทรภู่ได้นามว่าเป็นคนเหลวไหล-เจ้าชู้ นี่อย่างหนึ่งทำให้ผู้หลักผู้ใหญ่ของคุณจันไม่ชอบ ดังคำสารภาพของสุนทรภู่ว่า

“…ด้วยเกิดความลามถึงเพราะหึงหวง    คนทั้งปวงเขาคิดริษยา
จึงปลีกตัวกลัวบุญคุณบิดา            ไปแรมป่าปิ้มชีวันจะบรรลัย”

ส่วนที่ว่าสุนทรภุ่ติดผู้หญิงหลายคนก็มีหลักฐาน ได้ความว่าคุณจันไม่ชอบ หึงทั้งๆที่ยังไม่ได้เป็นผัว สุนทรภู่ได้ขอร้องไว้ว่า

“…ถึงเจ็บไข้ไม่ตายไม่คลายรัก    มีแต่ลักลอบนึกรำลึกถึง
ช่วยยิ้มแย้มแช่มชื่นอย่ามึนตึง     ให้เหือดหึงลงเสียมั่งจงฟังคำ…”

เมื่อถึงตอนนี้พอจะรวมความได้ว่าสุนทรภู่มีปมด้อย ๒ ประการคือ จนและเจ้าชู้ ถ้าสุนทรภู่จะได้ทาบทามเรื่องคุณจันกับบิดาผู้หวังสูง ก็คงจะ ถูกปฏิเสธออกมาอย่างหน้าหงาย เต็มไปด้วยความเหยียดหยามและเย้ยหยัน จนสุนทรภู่เกรงเข้าไม่ติด แต่อย่างไรก็ตาม สุนทรภู่เชื่อมั่นในคุณจันว่า คุณจันรักอย่างสัตย์ซื่อและเสียสละ ความรักในวัยหนุ่ม อันเต็มไปด้วยความพยายาม มุมานะ เร่งเร้า และร้อนแรง ขาดสติ สุนทรภู่จึงหักหาญเข้าไป “ลอบรัก” คุณจันถึงในวัง อันเป็นเหตุให้ต้องรับโทษ เวรจำดังกล่าวแล้ว

ความรักระหว่างกวีเอกกับคุณจัน เป็นความรักที่หนุ่มสาวต้องบูชาด้วยความเห็นอกเห็นใจ ช่างเป็นความรักที่มั่นคงยืดเยื้อและเห็นอกเห็นใจอะไรเช่นนั้น เมื่อพ้นโทษแล้วคงมีจิตพิศวาสกันอยู่ทั้งสองฝ่าย แม้จะถูกกีดกันและพราก ทั้งสองคนมีสายสัมพันธ์กันทางจิตใจ สุนทรภู่ได้สะไบแพรดำผืนหนึ่งไว้ดูต่างหน้าจากคนรักของท่าน ซึ่งสุนทรภู่ “ได้ห่มกรำอยู่กับกายไม่วายตรอม” ตลอดการเดินทางไปเมืองแกลง

หลายครั้งหลายหนในนิราศเมืองแกลง สุนทรภู่ได้อธิษฐาน วิงวอนครํ่าครวญให้สมรัก และบางครั้งก็ดูเหมือนจะได้แสดงความน้อยใจออกมาด้วย เช่น

‘‘เหมือน ไร้คู่อยู่ข้างกำแพงวัง    เกี้ยวมั่งก็จะเฆี่ยนเอาเจียนตาย
ทั้งนี้เพราะเคราะห์กรรมทำไว้    นึกอะไรจึงไม่สมอารมณ์หมาย,,

และอีกตอนหนึ่งว่า

“ถึงชาตินี้ไม่ได้สมอารมณ์คิด    ด้วยองค์อิศรารักษ์จะหักหาญ
ขอให้น้องครองซึ่งปฏิญญาณ    ได้พบพานภายหน้าเหมือนอารมณ์…”

จะอย่างไรก็ตาม กวีหนุ่มผู้กำลังรัก หวังและฝันเสมอ เต็มไปด้วยความพยายามที่จะเอาชนะอุปสรรค ได้ขอร้องว่า

“ให้นมน้องครองรักไว้สักปี”

ได้ขอร้องประหนึ่งว่าจะมีลู่ทางทั้งๆ ที่ตัวจนไม่มีอะไร นอกจาก “ศิลปะแห่งถ้อยคำ” และได้จบนิราศของตนด้วยโวหารว่าตัวจนจริงๆ

“นิราศเมืองแกลงแต่งมาฝาก    เหมือนขันหมากมิ่งมิตรพิสมัย
อย่าหมางหมองข้องขัดตัดอาลัย    ให้ชื่นใจเหมือนแต่หลังมั่งเถิดเอย”

สถานที่กล่ววถึงในนิราศเมืองแกลง

๑. วัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม)
๒. วัดสามปลื้ม (วัดจักรวรรดิราชาวาส)
๓. สำเพ็ง (วัดปทุมคงคาราม)
๔. ดาวคะนอง
๕. วัดดอกไม้
๖. บางผึ้ง
๗. ปากลัด
๘. บางระเจ้า (บางกระเจ้า)
๙. ศาลพระประแดง
๑๐. คลองสำใรง
๑๑. ทับนาง
๑๒. บางพลี
๑๓. บางโฉลง
๑๔. บางกระเทียม
๑๕. หัวตะเข้
๑๖. ปากตะคลอง
๑๗. คลองบางเหี้ย
๑๘. บางบ่อ
๑๙. บ้านระกาด
๒๐. บางสมัคร
๒๑. บ้านมะพร้าว
๒๒. บางวัว
๒๓. บางมังกง (บางปะกง)
๒๔. เขาสำมุก (เขาสามมุข)
๒๕. บางปลาสร้อย (จังหวัดชลบุรี)
๒๖. บ้านไร่
๒๗. บางพระ
๒๘. ศรีมหาราชา (ศรีราชา)
๒๙. บางละมุง
๓๐. พัทยา
๓๑. ศาลเจ้าริมเขาขวาง
๓๒. นาจอมเทียน (หาดจอมเทียน)
๓๓. ห้วยขวาง
๓๔. หนองชะแง้ว
๓๕. บางไผ่
๓๖. พงค้อ
๓๗. พุดร
๓๘. ห้วยอีรัก
๓๙. ห้วยพะยูน
๔๐. ชากขาม
๔๑. ห้วยโป่ง
๔๒. ห้วยพร้าว
๔๓. ระยอง
๔๔. บ้านแลง
๔๕. บ้านตะพง
๔๖. คลองกรุ่น
๔๗. ศาลเจ้าชาวสมุทร
๔๘. บ้านแกลง
๔๙. ตะพานยายเหม
๕๐. แหลมทองหลาง
๕๑. ปากลาวน
๕๒. บ้านกร่ำ
๕๓. บ้านพงค้อ
๕๔. บ้านพงอ้อ

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด

ชีวิตรักและครอบครัวของสุนทรภู่

สุนทรภู่เป็นกวีที่ได้ชื่อว่าเป็นนักเลงผู้หญิงคนหนึ่ง มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับผู้หญิงหลายคน ตั้งแต่รุ่นหนุ่มเป็นต้นมา แม้แต่เมื่อบวชเป็นพระก็ยังไม่ได้งดเว้นที่จะกล่าวถึงเรื่องความรักและผู้หญิง ได้มีผู้ตั้งเป็นข้อสังเกตว่า ข้อความหรือเรื่องราวที่สุนทรภู่กล่าวอ้างถึงความสัมพันธ์กับผู้หญิงตามที่ปรากฎในผลงานต่างๆ นั้น น่าจะเกินความเป็นจริงไปบ้างเพื่อต้องการสร้างความสะเทือนใจ แต่ก็น่าจะเชื่อได้ว่ามีเค้าความจริงอยู่มากเพราะนิสัยสุนทรภู่นั้นเจ้าชู้มากอยู่แล้ว แม้ว่าสุนทรภู่จะมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงหลายคน ปรากฎว่าใช้ชีวิตครองคู่อย่างจริงจังเพียง ๓ คนเท่านั้น คือ แม่จัน แม่นิ่ม และแม่ม่วง

ชีวิตครองคู่กับแม่จัน

แม่จันเป็นภรรยาที่สุนทรภู่นำมากล่าวไว้ในนิราศมากกว่าภรรยาคนอื่นๆ ความสัมพันธ์ระหว่างสุนทรภู่กับแม่จันเริ่มตั้งแต่ตอนที่สุนทรภู่อาศัยอยู่ที่พระราชวังหลัง และขณะนั้นแม่จันเป็นข้าในกรมพระราชวังหลัง แต่ความรักของคนทั้งสองเป็นเหตุให้กรมพระราชวังหลังทรงกริ้ว ถึงกับให้จำคุกทั้งสองคน และเมื่อกรมพระราชวังทิวงคตจึงพ้นโทษ

สุนทรภู่ได้แม่จันมาเป็นภรรยาเมื่อเป็นมหาดเล็กในพระองค์เจ้าปฐมวงศ์แล้ว เป็นเพราะพระอัครชายาในกรมพระราชวังหลัง หรือที่เรียกกันว่าเจ้าครอกข้างในประทานให้ แต่ใช้ชีวิตคู่อยู่ด้วยกันไม่นานก็มีเรื่องทะเลาะวิวาทจนต้องแยกทางกัน ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากเรื่องดื่มเหล้าจนเมามายหรือเรื่องเจ้าชู้ก็เป็นได้ เมื่อสุนทรภู่ตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ไปนมัสการพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรี ยังเป็นระยะที่ไม่ได้คืนดีกัน สุนทรภู่ได้เขียนคร่ำครวญถึงแม่จันเอาไว้ในนิราศพระบาทหลายตอน เช่น

“เห็นจันทน์สุกลูกเหลืองตลบกิ่ง        แมงภู่บินร่อนร้องประคองหวง
พฤกษาพ้องต้องนามกานดาดวง        พี่ยลพวงผลจันทน์ให้หวั่นใจ
แมงภู่เชยเหมือนพี่เคยประคองชิด        นั่งพินิจนึกน่าน้ำตาไหล
เห็นรักร่วงผลิผลัดสลัดใบ            เหมือนรักใจขวัญเมืองพี่เคืองเรา”

อีกตอนหนึ่งในนิราศพระบาท สุนทรภู่ยังกล่าวถึงแม่จันในทำนองว่าเกรงความสัมพันธ์ที่มีต่อกันจะขาดสะบั้นลง

“พี่พูดพูดเขาขาดแล้วหวาดจิต    พี่ขาดมิตรมาไกลถึงไพรสัณฑ์
นึกเฉลียวเสียวทรวงถึงดวงจันทร์    จะขาดกันเสียเหมือนเขาพี่เศร้าใจ”

เมื่อกลับจากพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรีแล้ว สุนทรภู่ก็ยังไม่ได้คืนดีกับแม่จัน อาจจะเป็นด้วยความมีนิสัยทิฐิทั้งสองคน ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วสุนทรภู่ยังรักและอาลัยแม่จันมาก ในปีพ.ศ. ๒๓๕๙ สุนทรภู่ถูกสงสัยว่าเป็นผู้ทิ้งบัตรสนเท่ห์ จึงต้องหนีไปหลบซ่อนตัวอยู่ที่ถํ้าเขาหลวง จังหวัดเพชรบุรี ในปลายปีพ.ศ. ๒๓๖๐ ในช่วงระยะเวลาก่อนหน้านี้ สุนทรภู่คงจะได้คืนดีกับแม่จันแล้ว เพราะได้พาแม่จันไปหลบซ่อนตัวที่เพชรบุรีด้วยกัน แสดงว่าสุนทรภู่โกรธกับแม่จันและแยกทางกันอยู่นานประมาณ ๙-๑๐ ปี คือตั้งแต้ปีพ.ศ. ๒๓๕๐-๒๓๕๙ หรือ ๒๓๖๐

สุนทรภู่พาแม่จันไปหลบซ่อนตัวที่จังหวัดเพชรบุรีได้ไม่นาน ถึงปีพ.ศ. ๒๓๖๓ ก็เดินทางกลับกรุงเทพฯ ต่อมาสุนทรภู่ได้รับราชการเป็นขุนสุนทรโวหารในราชสำนักพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในระหว่างที่รับราชการ สุนทรภู่ได้ภรรยาอีกคนหนึ่งชื่อนิ่ม ชาวบางกรวย จังหวัดธนบุรี ทำให้แม่จันโกรธมากถึงกับขอแยกทางกันอยู่ เมื่อสุนทรภู่ถูกจำคุกอีกครั้งหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๒ ในข้อหาทำร้ายร่างกายญาติผู้ใหญ่ แม่จันทร์เลยขอหย่าจากสุนทรภู่ และไปได้สามีใหม่แต่ก็ต้องเลิกร้างไปอีก

สุนทรภู่กับแม่จันไม่เคยประสบความราบรื่นในชีวิตครอบครัวเลย ต้องมีเหตุการณ์ต่างๆ ที่ทำให้ทั้งคู่ต้องโกรธเคืองกันและต้องหย่าร้างกันในที่สุด สุนทรภู่มีลูกกับแม่จันหนึ่งคนคือหนูพัด และได้ทิ้งไว้ให้สุนทรภู่เลี้ยงดู ถึงแม้จะเลิกร้างกันไปแล้ว แต่สุนทรภู่ก็ยังครํ่าครวญถึงแม่จันอยู่เสมอ โดยกล่าวแทรกเอาไว้ในนิราศเรื่องต่างๆ ที่แต่งขึ้น เช่น ในโคลงนิราศสุพรรณ สุนทรภู่ได้กล่าวถึงแม่จันว่า

ยนย่านบ้านบุตั้ง            ตีขัน
ขุกคิดเคยชมจรร            แจ่มฟ้า

ในนิราศพระประธมก็ได้กล่าวถึงแม่จันว่า

เห็นต้นรักหักโค่นต้นสนัด        เป็นรอยตัดรักขาดให้หวาดไหว
เหมือนตัดรักหักสวาทขาดอาลัย    ด้วยเห็นใจเจ้าเสียแล้วเจ้าแก้วตา

ชีวิตครองคู่กับแม่นิ่ม

สุนทรภู่มีความสัมพันธ์กับแม่นิ่มตั้งแต่ยังครองคู่อยู่กับแม่จัน คือได้แม่นิ่มเป็นภรรยาในปี พ.ศ. ๒๓๖๔ เมื่อสุนทรภู่ถูกจำคุกเนื่องจากทำร้ายญาติผู้ใหญ่ แม่นิ่มก็เป็นผู้ส่งเสียสุนทรภู่ แม่นิ่มคลอดบุตรชายชื่อตาบ และคลอดในระยะที่สุนทรภู่จวนจะพ้นโทษหรือพ้นโทษออกมาแล้ว เมื่อสุนทรภู่พ้นโทษก็ได้อยู่ด้วยกันจนสิ้นรัชกาลที่ ๒

เมื่อสุนทรภู่ถูกถอดบรรดาศักดิ์ และถูกให้ออกจากราชการในรัชกาลที่ ๓ แล้วออกบวช แม่นิ่มคงจะพาหนูตาบกลับไปอยู่บ้านเดิมที่คลองบางกรวยนนทบุรี จนกระทั่งปีพ.ศ. ๒๓๗๗ แม่นิ่มก็ถึงแก่กรรมหนูตาบจึงได้มาอยู่กับสุนทรภู่ที่วัดโพธิ์

“บางกรวยตรวดน้ำแบ่ง    บุญทาน
ส่งนิ่มนุชนิพพาน        ผ่องแผ้ว
จำจากพรากพลัดสถาน    ทิ้งพี่ หนีเอย
เห็นแต่คลองน้องแคล้ว    คลาดเคลื่อนเดือนปี”

เมื่อคราวสุนทรภู่ไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ปีพ.ศ. ๒๓๘๕ สุนทรภู่ได้จารึกถึงแม่นิ่มไว้ในนิราศพระประธม (พระปฐม) ว่า

“ถึงคลองขวางบางกรวยระรวยจิต        ไม่ลืมคิดนิ่มน้อยละห้อยหา
เคยร่วมสุขทุกข์ร้อนแต่ก่อนมา        โอ้สิ้นอายุเจ้า ได้เก้าปี
แต่ก่อนกรรมนำสัตว์ให้พลัดพราก        จึงจำจากนิ่มน้องให้หมองศรี
เคยไปมาหาน้องในคลองนี้            เห็นแต่ที่ท้องคลองนองน้ำตา
สงสารบุตรสุดเศร้าทุกเช้าเย็น        ด้วยเป็นกำพร้าแม่ชะแง้หา
เขม้นมองคลองบ้านดูมารดา        เช็ดน้ำตาโทรมซาบลงกราบกราน”

สุนทรภู่ได้เก็บรักษาแหวนและแพรสีของแม่นิ่มไว้เป็นที่ระลึก เก็บไว้นานถึง ๙ ปี จึงได้นำไปถวายพระปฐมเพื่ออุทิศผลบุญแด่เจ้าของผ้า ดังที่ปรากฎในนิราศพระประธมว่า

“ยังมิคุ้นอุ่นจิตไม่บิดเบือน    มาเป็นเพื่อนทุกข์ยากเมื่อจากจร
ยังเหลือแต่แพรสีที่พี่ห่ม    ขึ้นประธมจะถวายให้สายสมร”

และนิราศพระประธมอีกตอนหนึ่งว่า

“โอ้คิดไปใจหายเสียดายนัก            ที่เคยรักเคยเคียงเรียงหมอน
มาวายวางกลางชาติถึงขาดรอน        ให้ทุกข์ร้อนรนร่ำระกำตรอม
ยังเหลือแต่แพรชมพูของคู่ชื่น        ทุกค่ำคืนเคยชมได้ห่มหอม
พี่ยอมเหลืองเปลื้องปลดสู้อดออม        เอาคลุมห้อมหุ้มห่มประธมทอง
กับแหวนนางต่างหน้าบูชาพระ        สาธุสะถึงเขาผู้เจ้าของ
ได้บรรจงทรงเครื่องให้เรืองรอง        เหมือนรูปทองธรรมชาติสะอาดตา”

จะเห็นได้ว่าในนิราศพระประธม สุนทรภู่ได้กล่าวถ้อยคำแสดงความอาลัยรักแม่นิ่มตลอดทั้งเรื่อง แม้แม่นิ่มจะถึงแก่กรรมไปแล้ว สุนทรภู่ก็ยังตัดใจไม่ได้ แสดงว่าสุนทรภู่ได้มอบความรักให้แม่นิ่มมากถึงขนาดลืมไม่ลงเช่นเดียวกัน

ชีวิตครองคู่กับแม่ม่วง

สุนทรภู่มีความสัมพันธ์จนได้ครองคู่อยู่กินกับแม่ม่วงภายหลังจากสึกจากพระครั้งแรก ในต้นปีพ.ศ. ๒๓๗๘ ขณะที่สุนทรภู่อายุย่างเข้า ๕๐ ปี นับว่าแม่ม่วงเป็นคู่ทุกข์คู่ยากของสุนทรภู่ เพราะอยู่ด้วยกันในช่วงที่สุนทรภู่ถึงขนาดไม่มีบ้านเรือนอาศัย จนมีบุตรชายด้วยคนหนึ่ง

การครองคู่กับแม่ม่วงต้องหยุดชะงักลงเมื่อสุนทรภู่บวชพระครั้งที่ ๒ ในต้นปีพ.ศ. ๒๓๘๓ และเมื่อสึกจากพระครั้งที่ ๒ ก็ได้กลับมาครองคู่กับแม่ม่วงอีก เมื่อสุนทรภู่ถวายตัวแด่สมเด็จฯเจ้าฟ้า กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ก็ได้พาแม่ม่วงมาอยู่ที่พระราชวังเดิมด้วย ในงานนิราศสุนทรกู่ได้กล่าวพาดพิงถึงแม่ม่วงอยู่บ้าง แต่ไม่ได้แสดงความอาลัยอาวรณ์เหมือนที่มีความรู้สึกต่อแม่จันและแม่นิ่ม

ในโคลงนิราศสุพรรณ สุนทรภู่ได้กล่าวถึงแม่ม่วงดังนี้

“บางม่วงทรวงเศร้าคิด            เคยชวน
ม่วงเก็บมะม่วงสวน            สุกระย้า
ม่วงอื่นรื่นรันจวน            จิตไม่ ใคร่แฮ
ม่วงหม่อมหอมหวนหน้า        เสน่เนื้อ เจือจรร”

ในนิราศพระประธม ก็ได้กล่าวถึงว่า

“ถึงบางง่วงจิตคิดถึงม่วง            แต่จากทรวงเสียใจอาลัยเหลือ
มะม่วงงอมหอมหวนเหมือนนวลเนื้อ    มิรู้เบื่อบางม่วงเหมือนดวงใจ”

นอกจากภรรยาทั้งสามคนดังกล่าวแล้ว สุนทรกู่ยังมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงอื่นอีกหลายคน ตามที่ปรากฎมีดังนี้

ครั้งที่สุนทรภู่เดินทางไปหาบิดาที่เมืองแกลงแล้วไปป่วยอยู่ที่นั่น ก็ได้มีความสัมพันธ์กับม่วงและคำซึ่งสุนทรภู่อ้างว่าเป็นหลาน จนเป็นเหตุให้ม่วงกับคำโกรธเคืองกัน เพราะความหึงหวงในตัวสุนทรภู่ ดังปรากฎในคำกลอนดังนี้

“ทุกเช้าเย็นเห็นแต่หลานที่บ้านกร่ำ    ม่วง กับ คำ กลอยจิตขนิษฐา
เห็นเจ็บปวดนวดฟั้นช่วยฝนยา        ตามประสาซื่อตรงเป็นวงศ์วาน
ครั้นหายเจ็บเก็บดอกไม้มาให้บ้าง        กลับระคางเคืองข้องกันสองหลาน
จะว่ากล่าวน้าวโน้มประโลมลาน        ไม่สมานสโมสรเหมือนก่อนมา
ก็จนจิตคิดเห็นว่าเป็นเคราะห์        จงจำเพาะหึงหวงพวงบุปผา”

ในโคลงนิราศสุพรรณได้กล่าวถึงผู้หญิงที่ชื่อสร้อยและพลับ ดังที่กล่าวไว้ว่า

“สารหลวงแลสล่างล้วน    พฤกษา
เคยเสด็จวังหลังมา        เมื่อน้อย
ข้าหลวงเล่นปิดตา        ต้องอยู่ โยงเอย
เห็นแค่ พลับ กับ สร้อย    ซ่อมซุ้มคลุมโปง”

ในนิราศวัดเจ้าฟ้า สุนทรภู่ได้กล่าวถึงผู้หญิงที่ชื่องิ้วว่า

“ถึงบ้านงิ้วงิ้วต้นแต่พงหนาม    ไม่ออกงามเหมือน แม่งิ้ว ที่ผิวเหลือง
เมื่อแลพบหลบพักตร์ลักชำเลือง    ดูปลดเปลื้องเปล่งปลั่งกำลังโลม
มาลับนวลหวนให้เห็นไม่งิ้ว        เสียดายผิวพักตร์ผ่องจะหมองโฉม
เพราะเสียรักหนักหน่วงน่าทรวงโทรม    ใครจะโลมเลียมรสช่วยชดเจือ”

ในนิราศวัดเจ้าฟ้า ยังได้กล่าวถึงหญิงที่ชื่อแตง อิน และแก้ว ดังนี้

“…ถึงโพแตงคิดถึง แตง ที่แจ้งจัก        ดูน่ารักรสชาติประหลาดเหลือ
แม้นลอยฟ้ามาเดี๋ยวนี้ที่ในเรือ        จะฉีกเนื้อนั่งกลืนให้ชื่นใจ”
“…ถึงเกาะเรียงเคียงคลองเป็นสองแยก    ป่าละแวกวังราชประพาสสินธุ์
ได้นางห้ามงามพร้อมชื่อ หม่อมอิน    จึงตั้งถิ่นที่เพราะเสนาะนาม
หวังถวิลอินน้องละอองเอี่ยม            แสนเสงี่ยมงามพร้อมเหมือนหม่อมห้าม
จะหายศอุตส่าห์พยายาม            คงจะงามพักตร์พร้อมเหมือนหม่อมอิน…”
“…ตลาดแก้วแล้วแต่ล้วนสวนสล้าง        เป็นชื่ออ้างออกนามตามวิสัย
แม้นขาย แก้ว แววฟ้าที่อาลัย            จะซื่อใส่บนสำลีประชีรอง
ประดับเรือนเหมือนหนึ่งเพชรสำเร็จแล้ว        ถนอมแก้วกลอยใจมิให้หมอง
ไม่เหมือนนึกตรึกตราน้ำตานอง            เห็นแต่น้องหนูแนบแอบอุรา”

นอกจากผู้หญิงดังได้กล่าวรายชื่อข้างต้นแล้ว สุนทรภู่ยังได้กล่าวถึงผู้หญิงอื่นๆ อีกได้แก่ นกน้อย ศุข ม่วง บางคนก็เป็นแม่หม้ายเช่น ศรีสาคร

อนึ่ง สุนทรภู่ยังใฝ่รักหญิงสูงศักดิ์ เช่น มณฑาทิพ ดังปรากฏในนิราศวัดเจ้าฟ้า ดังนี้
“นารีใดไร้รักอย่าหนักหน่วง        จะโรยร่วงรกเรี้ยวแห้งเหี่ยวหาย
ที่เมตตาอยู่ก็อยากจะฝากกาย        อย่าหมิ่นชายเชิญตรึกให้ลึกซึ้ง
เหมือนภุมรินบินหาซึ่งสาโรช        ถึงร้อยโยชน์แย้มกลิ่นคงบินถึง
แต่ดอกไม้ไทท้าวในดาวดึงษ์        ไม่พ้นซึ่งพวกหมู่แมลงภู่ชม
เช่นกระต่ายกายสิทธิ์นั้นผิดเผื่อน        ขนแต้มเตือนได้จนชิดสนิทสนม
เสน่หาอาลัยใจนิยม                จะใคร่ชมเช่นกระต่ายไม่วายตรอม
แต่เกรงเหมือนเดือนแรมไม่แจ่มแจ้ง    สุดจะแฝงฝากเงาเฝ้าถนอม
ขอเดชะจะได้พึ่งให้ถึงจอม            ขอให้น้อมโน้มสวาทอย่าคลาดคลา
ไม่เคลื่อนคลายหน่ายแหนงจะแฝงเฝ้า    ให้เหมือนเงาตามติดขนิษฐา
ทุกค่ำคืนชื่นชุ่มพุ่มผกา            มิได้แก้วแววตาอนาทร
มณฑาทิพ กลีบบานตระการกลิ่น        ภุมรินหรือจะร้างห่างเกสร
จงทราบความตามใจอาลัยวอน        เดชะกลอนกล่าวปลอบให้ตอบคำ
จะคอยฟังดังคอยสอยสวาท            แม้นเหมือนมาดหมายจะชิมให้อิ่มหนำ
ถ้าครั้งนี้มิได้เยื้อนยังเอื้อนอำ        จะต้องคร่ำคร่าเปล่าแล้วเราเอย”

ในเรื่องรำพันพิลาปสุนทรภู่ได้พร่ำรำพันถึงผู้หญิงสูงศักดิ์อีกผู้หนึ่ง คือแม่เทพธิดา แม้ว่าในเรื่องนี้สุนทรภู่จะเขียนไปในทำนองความฝัน แต่ในความฝันนั้นย่อมมีความหมาย สุนทรภู่ต้องหมายถึงใครคนหนึ่งที่สูงกว่าตนอย่างสุดเอื้อม ดังที่กล่าวไว้ในรำพันพิลาปว่า
“เมื่อยามฝันนั้นว่านึกนั่งตรึกตรอง        เดือนหงายส่องสว่างดังกลางวัน
เห็นโฉมยงองค์เอกเมขลา            ชูจินดาดวงสว่างมากลางสวรรค์
รัศมีสีเปล่งดังเพ็งจันทร์            พระรำพันกรุณาด้วยปรานี
ว่านวลหงค์องค์นั้นอยู่ชั้นฟ้า            ชื่อโฉมเทพธิดามิ่งมารศรี
วิมานเรียงเคียงกันทุกวันนี้            เหมือนหนึ่งพี่น้องสนิทร่วมจิตใจ
จะให้แก้วแล้วก็ว่าไปหาเถิด            มิให้เกิดการระแวงแหนงไฉน
ที่ขัดข้องหมองหมางเป็นอย่างไร        จะผันแปรแก้ไขด้วยใกล้เคียง”

“เทพธิดา” ที่สุนทรภู่รำพันถึงนี้ สันนิษฐานกันว่าน่าจะหมายถึงกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ในเรื่องนี้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตรัสเอาไว้ในสาส์นสมเด็จฉบับวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๔๘๐ ความว่า

“เมื่อ ๒ สัปดาห์มานี้ พระยาอนุมานฯ เขาคัดสำเนาเพลงยาว “รำพันพิลาป” ของสุนทรภู่ ที่เขาเพิ่งได้มาใหม่ส่งมาให้หม่อมฉันฉบับ ๑ เขาบอกว่าไดคัดส่งไปถวายท่านด้วยฉบับ ๑ เพลงยาวบทนี้สำนวนและกระบวนกลอนควรนับว่าอยู่ในชั้นดีของสุนทรภู่อีกเรื่อง ๑ ทั้งได้รู้เรื่องประวัติของแกชัดเจนกว่าเมื่อหม่อมฉันแต่งประวัติสุนทรภู่บางข้อ คือพอพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เสวยราชย์ ก็ถอดสุนทรภู่ในปีวอก พ.ศ. ๒๓๖๗ นั้นเอง พอถูกถอดสุนทรภู่ก็บวช (คงเป็นด้วยกลัวจะติดคุก) บวชแล้วหนีไปเที่ยวเตร็ดเตร่ซ่อนตัวอยู่ทางเมืองเพชรบุรี เมืองกาญจนบุรี ไปจำพรรษาอยู่ตำบลสองพี่น้อง แขวงเมืองสุพรรณ แล้วขึ้นไปเมืองพิษณุโลก เที่ยวหาแร่แปรธาตุอยู่กว่า ๕ ปี (ครั้นเห็นถ้อยความ สงบเงียบ) จึงกลับลงมาอยู่วัดราชบูรณะ อยู่ได้ไม่ช้าก็ต้องถูกกำจัดจากวัดราชบูรณะ ครั้งขึ้นไปกรุงศรีอยุธยา (คราวแต่งนิราศภูเขาทอง) แล้วกลับลงมาอยู่วัดอรุณหน่อยหนึ่ง ผู้หญิงมีบรรดาศักดิ์คนหนึ่งชวนไปอยู่วัดเทพธิดา อยู่ได้ ๒ พรรษาก็เกิดความอะไรอีก ต้องทิ้งวัดเทพธิดาไปเมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๓๗๘ เพลงยาวรำพันพิลาปแต่งพรรณนาตอนที่มาอยู่วัดเทพธิดานี้ เล่าส่อให้เห็นเหตุที่สุนทรภู่อยู่วัดไหนไม่ได้นานนอกจากที่กล่าวกันมาว่า เรื่องที่อดสุราไม่ได้ในเวลาแต่งกลอน ยังปรากฎในเพลงยาวบทนี้ว่าไปอยู่ไหนพวกเจ้าชู้ “นักเลงเพลงยาว” มักไปมาหาสู่ทั้งผู้ชายผู้หญิง และบ่นในเพลงยาวว่า ถูกพวกผู้หญิงชาววังหลอก แกคงประพฤติเกี่ยวข้องกับการประโลมโลกทั้งเป็นพระจึงถูกไล่ทั้ง ๒ คราว จนลงปลายได้พึงพระองค์ลักษณาจึงอยู่ประจำที่แล้วสึกออกเป็นคฤหัสถ์ ในเพลงยาวแกใช้นามแฝงหลายแห่ง แต่พอทายได้ พระสิงหไตรภพคือ เจ้าฟ้าอาภรณ์ พระอภัยมณี เจ้าฟ้ากลาง ศรีสุวรรณ เจ้าฟ้าปิ๋ว นางเทพธิดา จะหมายว่ากรมหมื่นอัปสรหรือใครอื่นสงสัยอยู่” (ศิลปากร กรกฎาคม ๒๕๐๑)

ประมวลงานของสุนทรภู่

งานวรรณกรรมของสุนทรภู่ตลอดเวลาที่เขียนอยู่ราว ๕๐ ปีนั้นมีค่ามาก นับเป็นกวีที่สร้างวรรณกรรมไว้มากที่สุดคนหนึ่ง นิพนธ์ของท่านได้พิมพ์แพร่หลายในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทั้งหมดแทบทุกเรื่อง ทำให้ผู้พิมพ์จำหน่ายรํ่ารวยไปตามๆ กัน เช่นหมอสมิธเจ้าของโรงพิมพ์ที่บางคอแหลม เป็นต้น เพียงแต่พิมพ์เรื่องพระอภัยมณีจำหน่ายก็ได้กำไรสร้างตึกได้ทีเดียว ทั้งนี้แสดงว่าเรื่องของสุนทรภู่เป็นที่นิยมชมชื่นกันมาก

ในที่นี้จะขอเรียงงานของสุนทรภู่ตามลำดับเวลาแต่งก่อนแต่งหลัง คือ

๑. โคบุตร (แต่งในรัชกาลที่ ๑) เป็นวรรณกรรมประโลมโลก และเป็นเรื่องแรกในงานทั้งหมดของสุนทรภู่เท่าที่โลกวรรณกรรมประเทศไทยทราบ
๒. นิราศเมืองแกลง (พ.ศ. ๒๓๕๐) เป็นนิราศเรื่องแรกในจำนวน ๘ เรื่องที่สุนทรภู่แต่ง เป็นนิราศเรื่องยาวที่สุดของท่าน
๓. นิราศพระบาท (พ.ศ. ๒๓๕๐)
๔. พระอภัยมณี (แต่งในขณะติดคุกในรัชกาลที่ ๒ และแต่งต่อเรื่อยไปจนรัชกาลที่ ๓ รวม ๙๔ เล่มสมุดไทย แต่ตอนหลังเข้าใจกันว่ามิใช่สำนวนสุนทรภู่ทั้งหมด) รับรองกันว่าพระอภัยมณีเป็นวรรณกรรมเยี่ยมยอดของสุนทรภู่
๕. เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม (แต่งในรัชกาลที่ ๒)
๖. สวัสดิรักษา (ราว พ.ศ. ๒๓๖๔-๗) แต่งเมื่อเป็นครูเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ ๒
๗. นิราศภูเขาทอง (ราวพ.ศ. ๒๓๗๑) เป็นนิราศเยี่ยมยอดของท่าน สั้นที่สุดแต่จับใจที่สุด เพราะเอาชีวิตเศร้ามาเสนอโลก
๘. นิราศเมืองสุพรรณ (แต่งขณะบวชในรัชกาลที่ ๓ ราวพ.ศ. ๒๓๘๔) เป็นวรรณกรรมเรื่องเดียวของท่านสุนทรภู่ที่แต่งเป็นโคลง
๙. พระไชยสุริยา (น่าจะแต่งคราวเป็นครูเจ้าฟ้า) แต่งเป็นกาพย์
๑๐. นิราศวัดเจ้าฟ้า (แต่งพ.ศ. ๒๓๗๙) เป็นนิราศที่สุนทรภู่ใช้สำนวนหนูพัดแทนตนเอง
๑๑. นิราศอิเหนา (แต่งตอนพึ่งพระคุณพระองค์เจ้าลักขณานุคุณในรัชกาลที่ ๓ ราวพ.ศ. ๒๓๘๕) เป็นนิราศเรื่องเดียวที่สุนทรภู่มิได้พูดถึงตนเอง เป็นนิราศของอิเหนาดาราเอกของสมัยละครรำ
๑๒. สุภาษิตสอนหญิง (ราวพ.ศ. ๒๓๘๐-๓) เป็นตำรับรักของหญิงไทย ๑๓. ลักษณวงศ์ ประโลมโลกลือชื่ออีกเรื่องหนึ่ง สุนทรภู่แต่งเพียง ๙ เล่มสมุดไทย มีคนแต่งต่ออีก ๓๐ เล่ม
๑๔. สิงหไกรภพ เป็นนิยายประโลมโลกอีกเรื่องหนึ่ง สุนทรภู่แต่งเพียง ๙ เล่มสมุดไทยยังไม่จบ
๑๕. นิราศพระประธม (พระปฐม) พ.ศ. ๒๓๘๔
๑๖. นิราศเมืองเพชร เป็นนิราศเรื่องสุดท้ายของท่าน มีมาตรฐานดีเท่าเทียมกับนิราศภูเขาทอง (แต่งปลายรัชกาลที่ ๓ ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๘๘-๒๓๙๒)
๑๗. บทละครเรื่อง อภัยนุราช (แต่งในรัชกาลที่ ๔) เป็นบทละครเรื่องเดียวของท่าน และนับว่าเป็นวรรณกรรมที่ไม่สู้จะได้รับความนิยม ขนาด ๑ เล่มสมุดไทย
๑๘. เสภาพระราชพงศาวดาร (แต่งในรัชกาลที่ ๔) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้แต่งถวาย ขนาด ๒ เล่มสมุดไทย นับเป็นเรื่องสุดท้ายของท่านเท่าที่ปรากฎ
๑๙. รำพันพิลาป (แต่งราว พ.ศ. ๒๓๖๗) เป็นเพลงยาว
๒๐. เพลงยาวถวายโอวาท (แต่งราว พ.ศ. ๒๓๗๓)

นอกจาก ๒๐ เรื่องที่กล่าวมานี้ ยังมีเรื่องย่อยๆ อีก เช่น ราชนิติ เรื่องนี้ยังหาต้นฉบับไม่ได้ รวมทั้งนิทานคำกลอนเรื่องดาราวงศ์และจันทรวงศ์ กำลังค้นหาต้นฉบับกันอยู่ นอกจากนั้นก็มีบทกลอนย่อยอื่นๆ ของท่านคือ บทเห่กล่อมพระเจ้าลูกเธอ ๔ เรื่อง คือ เห่เรื่องจับระบำ, เห่เรื่องพระอภัยมณี, เห่เรื่องกากี และเห่เรื่องโคบุตร

หนังสือของสุนทรภู่ได้เริ่มพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๑๓ ในรัชกาลที่ ๕ และได้พิมพ์ในรัชกาลนี้หมดทุกเรื่อง เว้นเพลงยาวถวายโอวาทเพิ่งพิมพ์ในรัชกาลที่ ๖

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด

ชีวิตสุดยอดของสุนทรภู่ในรัชกาลที่ ๔

ปีพ.ศ. ๒๓๙๔ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต สิริพระชนมายุได้ ๖๔ พรรษา สมเด็จเจ้าฟ้ามงกฎได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ชะตาชีวิตของสุนทรภู่ก็พุ่งโรจน์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า คือสมเด็จเจ้าฟ้า กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ให้มีพระยศยิ่งใหญ่เทียบเท่าพระองค์ พระราชทานพระนามาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยให้เสด็จมาประทับที่พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ข้าราชบริพารทั้งหลายรวมทั้งสุนทรภู่ได้ตามเสด็จมาอยู่ที่นี่ด้วย

ในปีพ.ศ. ๒๓๙๔ นี้ สุนทรภู่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระสุนทรโวหาร ตำแหน่งเจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระบวรราชวัง ขณะนั้นมีอายุได้ ๖๖ ปี คู่กับพระสุนทรโวหาร (ฟัก) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ฝ่ายพระบรมมหาราชวัง

ชีวิตสุนทรภู่ในช่วงนี้นับเป็นระยะแห่งความรุ่งโรจน์ ไม่ตกทุกข์ได้ยากดังเช่นครั้งก่อน จึงไม่ได้แต่งนิราศอีก หนังสือที่สุนทรภู่แต่งในสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้แก่บทละครเรื่องอภัยนุราช แต่งถวายพระองค์เจ้าดวงประภาพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เสภาพระราชพงศาวดารเรื่องนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้แต่ง นอกจากนี้ยังมีบทเห่กล่อมพระบรรทม เรื่องจับระบำ เรื่องกากี เรื่องพระอภัยมณี และเรื่องโคบุตร บทเห่เหล่านี้ใช้กล่อมบรรทมเจ้านายทั่วทั้งพระราชวังในรัชกาลที่ ๔

สุนทรภู่ได้ครองตำแหน่งเจ้ากรมพระอาลักษณ์อันมีเกียรติอยู่ ๕ ปี ก็หมดวาสนา ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อพ.ศ. ๒๓๙๘ รวมอายุได้ ๗๐ ปี น่าจะถึงแก่กรรมในบ้านที่ได้รับพระราชทานให้อยู่ ณ บริเวณพระบวรราชวัง และคงจะได้รับพระราชทานเพลิงศพที่วัดสระเกศหรือวัดสุวรรณารามวัดใดวัดหนึ่ง

เมื่อสุนทรภู่ถึงแก่กรรม ปรากฎว่าบุตรของสุนทรภู่มีอายุดังนี้คือ หนูพัดอายุ ๓๖ ปี หนูตาบ อายุ ๓๔ ปี และหนูน้อยอายุ ๑๘-๑๙ ปี ส่วนภรรยาที่ชื่อม่วงไม่ทราบว่าจะอยู่ด้วยกันจนกระทั่งสุนทรภู่ถึงแก่กรรมหรือไม่ สำหรับหนูพัดและหนูน้อยไม่ทราบว่าในระยะเวลาต่อมาจะดำเนินชีวิตอย่างไร ทราบแต่เพียงว่าหนูตาบได้รับราชการในรัชกาลที่ ๕ ได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวเสด็จประพาสพระนครศรีอยุธยาราวพ.ศ. ๒๔๑๖ และได้แต่งกลอนเพลงยาวไว้เรื่องหนึ่ง
ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด

ชะตาชีวิตและผลงานของสุนทรภู่ในสมัยรัชกาลที่ ๓

ภายหลังพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคตแล้ว พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เป็นรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงพระนามว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในปีที่เสด็จขึ้นครองราชสมบัตินี่เองสันนิษฐานกันว่าสุนทรภู่คงจะถูกถอดบรรดาศักดิ์ขุนสุนทรโวหาร และถูกปลดออกจากราชการด้วย อาจจะมีสาเหตุมาจากที่สุนทรภู่เคยทำเรื่องให้เป็นที่ขุ่นเคืองพระทัยมาสองครั้งในรัชกาลที่ ๒ เมื่อออกจากราชการแล้วคนก็เรียกท่านว่า “สุนทรภู่” ตั้งแต่นั้นมา เหตุการณ์ในตอนนี้อาจจะวิเคราะห์ได้ตามคำที่สุนทรภู่กล่าวไว้ในนิราศภูเขาทอง ว่า

“ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า    พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี
ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี        ชื่อปทุมธานีเพราะมีบัว
โอ้พระคุณสูญลับไม่กลับหลัง        แต่ชื่อตั้งก็ยังอยู่เขารู้ทั่ว
แต่เรานี้ที่สุนทรประทานตัว            ไม่รอดชั่วเช่นสามโคกยิ่งโศกใจ
สิ้นแผ่นดินสิ้นนามตามเสด็จ        ต้องเที่ยวเตร็ดเตร่หาที่อาศัย”

ยังมีหลักฐานอีกอย่างหนึ่งที่นำมาอ้างเพื่อแสดงให้เห็นว่า สุนทรภู่ถูกถอดและออกจากราชการ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ คือ ในการแต่งจารึกเกี่ยวกับตำรายาและวรรณคดีที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ในรัชกาลที่ ๓ นั้น แม้แต่มหาดเล็กเลวก็มีโอกาสแต่งบทกลอนคราวนั้น แต่ไม่ปรากฏนามสุนทรภู่ ว่าแต่งจารึกอย่างใดอย่างหนึ่งเลย ทั้งๆ ที่เคยเป็นกวีที่ปรึกษาคนสำคัญ

เมื่อถูกให้ออกจากราชการแล้ว สุนทรภู่คงจะเกรงพระราชอาญามากจึงมีความคิดที่จะออกบวช ด้วยเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเคารพพระสงฆ์มาก เมื่อบวชเป็นพระแล้ว เจ้านายจะอุปถัมภ์ก็เห็นจะไม่ทรงติเตียน นอกจากนั้นสุนทรภู่คงจะมีเหตุผลทางส่วนตัวอยู่บ้างในการที่จะออกบวชครั้งนี้ เช่นว่าสุนทรภู่ยังไม่ได้บวชเรียนตามประเพณีไทยมาก่อนเลย และอีกประการหนึ่งก็คือ สุนทรภู่เป็นคนเจ้าอารมณ์ มักจะทะเลาะวิวาทกับญาติพี่น้องเสมอ มีภรรยาหลายคนก็อยู่กับใครได้ไม่นาน และเมื่อถูกปลดออกจากราชการ สุนทรภู่อาจจะมีความรู้สึกว่าตัวเองอยู่คนเดียว ไม่มีใครเหลียวแล เจ้านายและผู้มีบรรดาศักดิ์ก็ไม่กล้าอุปถัมภ์คํ้าชูเพราะเกรงจะฝืนพระราชหฤทัย แม้แต่เจ้าฟ้าอาภรณ์ซึ่งเป็นศิษย์แท้ๆ ก็ยังต้องวางพระทัยเฉยอยู่ สุนทรภู่ถึงกับเสียใจและระบายออกมาในเพลงยาวถวายโอวาทว่า

“สิ้นแผ่นดินสิ้นบุญของสุนทร    ฟ้าอาภรณ์แปลกพักตร์อาลักษณ์เดิม”

เรื่องสุนทรภู่ถูกถอดบรรดาศักดิ์และถูกปลดออกจากราชการในรัชกาลที่ ๓ นี้ นักวิชาการบางท่านไม่เชื่อว่าสุนทรภู่จะถูกถอดจริง กล่าวคือสุนทรภู่อาจจะกลัวไปเองจึงหนีราชภัยออกไปบวช เพราะหากพิจารณาถึงเหตุการณ์ในระยะต่อมาจะเห็นว่า เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีประทานเจ้าฟ้ากลางและเจ้าฟ้าปิ๋วให้มาเรียนหนังสือกับสุนทรภู่ในปีฉลู พ.ศ. ๒๓๗๒ หากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถอดสุนทรภู่จริงก็ไม่น่าจะประทานอนุญาตให้เจ้าฟ้าทั้งสองพระองค์ซึ่งยังประทับอยู่ในพระราชวังหลวงมาเป็นศิษย์สุนทรภู่ แสดงให้เห็นว่า การที่สุนทรภู่เกรงราชภัยแล้วหนีไปบวชนั้นเป็นข้อที่วิตกไปเอง นอกจากนี้หากมองถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเห็นว่า พระองค์ทรงเห็นความสำคัญต่อการพัฒนาบ้านเมืองมากกว่าในด้านวรรณคดี แม้แต่โคลง กลอน และเพลงยาว ซึ่งเคยทรงพระนิพนธ์มาก่อนก็เลิกสิ้น เว้นแต่ที่เป็นทางการเท่านั้น พระองค์ทรงหันมาทำนุบำรุงบ้านเมือง และวัดวาอารามเป็นสำคัญ เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้พอจะแสดงได้ว่าพระองค์คงจะไม่ใส่ใจกับเรื่องซึ่งได้ผ่านพ้นไปแล้ว

สุนทรภู่ออกบวชราวปีวอก พ.ศ. ๒๓๖๗ ขณะนั้นอายุได้ ๓๙ ปี เมื่อแรกบวชจะอยู่วัดไหนยังไม่แน่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่าอยู่ที่วัดราชบูรณะ แต่กรมศิลปากรซึ่งค้นคว้าภายหลังกล่าวเอาไว้ว่า เมื่อสุนทรภู่บวชแล้วคงจะได้ท่องเที่ยวไปตามหัวเมืองต่างๆ ราว ๒-๓ ปี แล้วจึงกลับมาจำพรรษาที่วัดราชบูรณะ

ระหว่างจำพรรษาที่วัดราชบูรณะ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี พระอัครชายาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จมาฝากพระโอรสคือเจ้าฟ้ากลางและเจ้าฟ้าปิ๋วเพื่อให้สุนทรภู่ถวายพระอักษร ต่อมาสุนทรภู่ต้องอธิกรณ์สันนิษฐานกันว่าคงจะเนื่องจากผู้หญิงหรือสุราจึงถูกบัพพาชนียกรรมขับไล่ให้ออกจากวัดราชบูรณะ ทำให้สุนทรภู่คิดจะไปหัวเมืองจึงได้แต่งเพลงยาวถวายโอวาทถวายแด่เจ้าฟ้ากลางและเจ้าฟ้าปิ๋ว มีเนื้อความแสดงถึงความอาลัยและความคิดถึงที่ได้ทรงอุปการะมา ดังนั้นเมื่อออกพรรษาแล้วสุนทรภู่ได้เดินทางออกจากวัดราชบูรณะไปจังหวัพระนครศรีอยุธยา เพื่อนมัสการเจดีย์ภูเขาทอง การเดินทางครั้งนี้สุนทรภู่ได้แต่งนิราศภูเขาทองขึ้น ได้ระบายความขมขื่นของตัวเองเอาไว้อย่างน่าฟัง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวว่า นิราศภูเขาทองแต่งขึ้นเมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๓๗๓ แต่กรมศิลาปากรได้ค้นคว้าปีที่สุนทรภู่เดินทางไปนมัสการภูเขาทองและแต่งนิราศว่าเป็นปีพ.ศ.๒๓๗๑

นิราศภูเขาทองถือว่าเป็นวรรณกรรมเรื่องเอกของสุนทรภู่ แต่งขึ้นในขณะที่มีความรู้สึกว่าเป็นตัวคนเดียวและไม่มีที่อยู่อาศัยแน่นอน บางตอนจึงรำพันออกมาอย่างปวดร้าวว่า

“โอ้พสุธาหนาแน่นเป็นแผ่นพื้น    ถึงสี่หมื่นสองแสนแดนไตร
เมื่อเคราะห์ร้ายกายเราก็เท่านี้        ไม่มีที่พสุธาจะอาศัย
ล้วนหนามเหน็บเจ็บแสบคับแคบใจ    เหมือนนกไร้รังเร่อยู่เอกา”

สุนทรภู่เดินทางไปนมัสการพระเจดีย์ภูเขาทองคราวนี้ บุตรชายที่ชื่อหนูพัดไปด้วย เมื่อขึ้นไปถึงกรุงศรีอยุธยา เวลานั้นพระยาไชยวิชิต (เผือก) ซึ่งเคยเป็นพระนายไวยอยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ได้เป็นผู้รักษากรุงฯ แต่สุนทรภู่กระดากใจไม่กล้าแวะไปหา เพราะเห็นว่าตัวเองกำลังตกตํ่า ซึ่งได้กล่าวเอาไว้ในนิราศภูเขาทองว่า

“มาทางท่าน่าจวนจอมผู้รั้ง        คิดถึงครั้งก่อนมาน้ำตาไหล
จะแวะหาถ้าท่านเหมือนเมื่อเป็นไวย    ก็จะได้รับนิมนต์ขึ้นบนจวน
แต่ยามยากหากว่าถ้าท่านแปลก        อกมิแตกเสียหรือเราขอจะสรวล
เหมือนเข็ญใจใฝ่สูงไม่สมควร        จะต้องม้วนหน้ากลับอัประมาณ”

เมื่อนมัสการพระเจดีย์ภูเขาทองแล้ว สุนทรภู่ล้มเลิกความคิดที่จะจำพรรษาอยู่หัวเมือง และเมื่อเดินทางกลับมากรุงเทพฯ ก็ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) แต่อยู่ได้ไม่นานก็ย้ายมาจำพรรษาที่วัดพระเชตุพน (วัดโพธิ์) การมาอยู่ที่วัดแห่งนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายว่า เพื่อมาพึ่งพระบารมีสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส และอีกนัยหนึ่งว่าพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ (โอรสพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) ซึ่งโปรดฝีปากในการแต่งกลอนของสุนทรภู่มาก ได้นิมนต์ให้มาอยู่วัดพระเชตุพนด้วยกัน เพราะพระองค์จะทรงผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในปีพ.ศ. ๒๓๗๕ และจะเสด็จมาประทับที่วัดพระเชตุพน ต่อมาแม้ว่าพระองค์เจ้าลักฃณานุคุณจะลาผนวชสุนทรภู่ก็ยังคงจำพรรษาอยู่ที่วัดพระเชตุพนต่อไป โดยเป็นครูสอนการแต่งกลอนแก่คนทั่วไป ลูกศิษย์ที่มีชื่อได้แก่ นายมีและหม่อมราโชทัย

ต่อมาสุนทรภู่ได้เดินทางไปกรุงศรีอยุธยาอีกครั้งหนึ่ง ได้พาบุตรที่ชื่อพัดซึ่งบวชเป็นเณร และหนูตาบไปด้วย การเดินทางไปคราวนี้เพื่อไปหายาอายุวัฒนะที่วัดเจ้าฟ้าอากาศ ตามปริศนาลายแทงที่ได้มาแต่เมืองเหนือและได้แต่งนิราศวัดเจ้าฟ้าขึ้น โดยแต่งให้เป็นสำนวนของเณรพัด ดังความในนิราศว่า

“เณรหนูพัดหัดประดิบฐ์คิดอักษร
เป็นเรื่องความตามติดพระบิดร
กำจรจากนิเวศน์เชตุพน”

แต่ตอนสุดท้ายก็บอกเอาไว้ว่าเป็นของที่สุนทรภู่แต่ง ดังความที่ปรากฏ

“ที่กล่าวแกล้งแต่งเล่นเพราะเป็นหม้าย    เที่ยวเร่ขายคอนเรือมะเขือเปราะ”

(กรมศิลปากรได้ตรวจสอบชำระแล้วว่า นิราศวัดเจ้าฟ้าน่าจะแต่งในปีพ.ศ. ๒๓๗๙ ซึ่งพระองค์เจ้าลักขณานุคุณสิ้นพระชนม์แล้วราวปีเศษ)

การเดินทางไปหายาอายุวัฒนะในครั้งนี้ปรากฎว่าไม่สำเร็จ สุนทรภู่ได้เล่าเอาไว้ในนิราศว่า เมื่อไปทำพิธีขุดก็เกิดกัมปนาทหวาดไหวด้วยฤทธิ์ปีศาจ ไม่อาจขุดได้ จึงพากันเดินทางกลับกรุงเทพฯ

ต่อมาพระองค์เจ้าลักขณานุคุณทรงชักชวนให้สุนทรภู่ย้ายไปอยู่ที่วัดมหาธาตุ เพื่อจะได้อยู่ใกล้กับวังที่ประทับคือวังท่าพระ และเป็นการสะดวกที่จะทรงอุปถัมภ์ สุนทรภู่จึงย้ายมาอยู่ที่วัดมหาธาตุใน ปีพ.ศ. ๒๓๗๗ เล่ากันว่าในสมัยนั้นพระองค์เจ้าลักขณานุคุณทรงโปรดสักวามาก เมื่อไปทรงสักวาครั้งใดก็มักจะนิมนต์สุนทรภู่ให้ลงเรือตามไปด้วยเสมอ ทรงให้สุนทรภู่บอกสักวาทั้งๆ ที่ยังเป็นพระอยู่ สุนทรภู่ได้แสดงกตัญญูกตเวทีต่อพระองค์เจ้าลักขณานุคุณโดยแต่งบทกลอนถวายหลายเรื่อง เช่น นิราศอิเหนา กลอนเฉลิมพระเกียรติพระองค์เจ้าลักขณานุคุณและคงจะได้แต่งพระอภัยมณีบางตอนถวายอีกด้วย

พ.ศ. ๒๓๗๘ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณทรงประชวรและสิ้นพระชนม์ ทำให้สุนทรภู่ขาดผู้อุปการะ ขาดที่พึ่งพาอาศัย แม้ว่าเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีจะยังมีพระชนม์อยู่ ก็หาได้ทรงอุปการะไม่ ส่วนเจ้าฟ้ากลาง (สมเด็จฯกรมพระยาบำราบปรปักษ์) ซึ่งเป็นศิษย์ของสุนทรภู่นั้น เมื่อสุนทรภู่ไปเฝ้าจึงจะประทานเงินให้ แต่สุนทรภู่คงจะกระดากใจหากไปเข้าเฝ้าบ่อย จึงเข้าใจว่าเมื่อสิ้นพระบารมีพระองค์เจ้าลักขณานุคุณแล้วตัวเองกลับอนาถายิ่งกว่าคราวก่อน เป็นสาเหตุที่ทำให้สุนทรภู่สึกจากสมณเพศ ในปีพ.ศ. ๒๓๗๘ ขณะมีอายุได้ ๕๐ ปี รวมเวลาที่บวชได้ ๑๐ ปี

เมื่อสึกจากพระหันไปใช้ชีวิตฆราวาสในครั้งนี้ สุนทรภู่กลับตกยากหนักลงไปอีกถึงกับไม่มีบ้านเรือนอาศัยต้องลอยเรือเที่ยวจอดอยู่ตามสวน มีความเป็นอยู่ประดุจพ่อค้าเรือเร่ที่ยากจนคนหนึ่ง หาเลี้ยงชีพด้วยการขายของเล็กๆ น้อยๆ และรับจ้างแต่งบทกลอน ขายบทกลอนที่แต่งเป็นนิทาน เช่น เรื่องพระอภัยมณี ลักษณวงศ์ สุภาษิตสอนหญิง เป็นต้น สุนทรภู่จึงนับเป็นกวีไทยคนแรกที่ยึดอาชีพกวีเป็นอาชีพเลี้ยงตัว และในระยะนี้หนูพัดและหนูตาบคงจะอาศัยอยู่กับสุนทรภู่ด้วย อาจจะช่วยบิดา โดยทำหน้าที่คัดลอกบทกลอนขาย หรือช่วยแจวเรือค้าขาย ถึงแม้ว่าจะขัดสนยากจนปานใดสุนทรภู่ก็ไม่บากหน้าไปขอความช่วยเหลือจากใคร แต่ก็ยังไม่เลิกนิสัยเจ้าชู้ไปได้ภรรยาใหม่คนหนึ่งชื่อ ม่วง มีลูกด้วยกันคือหนูน้อย

การประสบความยากลำบากในช่วงนี้ คงจะทำให้สุนทรภู่คิดเปรียบเทียบได้ว่า ความทุกข์ยาก ในขณะที่บวชเป็นพระยังดีกว่าที่ประสบเมื่อเป็นฆราวาส จึงมีความคิดที่จะบวชอีกครั้งหนึ่ง ประจวบ กับหนูพัดมีอายุครบเกณฑ์บวชพระด้วย สุนทรภู่จึงได้เข้ากราบทูลเรื่องราวถวายสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ที่วัดพระเชตุพนฯ พระองค์ทรงรับอุปการะบวชให้ทั้งสุนทรภู่และหนูพัดราวต้นปี พ.ศ. ๒๓๘๓ (รวมเวลาที่สุนทรภู่อยู่ในเพศฆาราวาสหลังจากสึกครั้งแรกได้ ๕ ปี) แล้วทรงแนะนำให้ไปอยู่กับสมเด็จพระวันรัต (เคยเป็นพระอุปัชฌาย์คราวสุนทรภู่บวชครั้งแรก)วัดราชบูรณะ ซึ่งสมเด็จพระวันรัตน์ก็ยินดีให้อยู่ด้วย

สุนทรภู่อยู่ที่วัดราชบูรณะได้ไม่ทันไรก็เกิดความไม่สบายใจขึ้นมาอีก จึงเข้าพึ่งพระบารมีสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรสเพื่อขอย้ายไปอยู่ที่วัดเทพธิดาราม และได้ย้ายไปก่อนเข้าพรรษาปี พ.ศ. ๒๓๘๓ ในปีพ.ศ. ๒๓๘๔ สุนทรภู่ได้เดินทางไปเมืองสุพรรณบุรี พาหนูพัด หนูตาบ และลูกศิษย์ ไปด้วยหลายคน การเดินทางไปสุพรรณบุรีคราวนี้สุนทรภู่ได้แต่งนิราศสุพรรณบุรีขึ้น แต่คงมิได้แต่งจบในระหว่างการเดินทาง เพราะมีความยาวถึง ๔๖๓ บท น่าจะมาแต่งต่อที่วัดเทพธิดารามภายหลัง กลับมาจากสุพรรณบุรีแล้ว

สุนทรภู่แต่งนิราศสุพรรณให้ต่างไปจากนิราศเรื่องอื่นๆ โดยแต่งเป็นโคลงและปรากฎว่ามีเพียงเรื่องเดียวเท่านั้น เหตุที่สุนทรภู่แต่งนิราศสุพรรณเป็นโคลงเพื่อต้องการลบคำประมาทที่ว่าแต่งเป็นแต่กลอนแปดเท่านั้นสุนทรภู่ต้องการจะพิสูจน์ให้ผู้อื่นเห็นว่าถ้าจะแต่งโคลงกาพย์ก็แต่งได้ จึงแต่งโคลงนิราศสุพรรณและกาพย์คำเทียบเรื่องพระไชยสุริยาขึ้น แต่ก็คงจะรู้ตัวเองดีว่า ถึงแต่งได้ก็ไม่ถนัด เหมือนกลอนเพลงยาวหรือกลอนแปด จึงไม่แต่งโคลงกาพย์เรื่องอื่นอีก

จุดประสงค์ของสุนทรภู่ในการเดินทางไปสุพรรณบุรีในปีพ.ศ. ๒๓๘๔ นั้น เพื่อไปค้นหาแร่ ทำนองจะเล่นแร่แปรธาตุเอง หรือมิฉะนั้นก็ไปหาแร่ให้ผู้อื่นที่เล่นแร่แปรธาตุ เพราะเชื่อกันว่าที่ในแขวงจังหวัดสุพรรณบุรีมีแร่อย่างใดอย่างหนึ่งทรงคุณวิเศษสำหรับใช้แปรธาตุ แต่ไม่สามารถหาได้ จึงเดินทางกลับวัดเทพธิดาราม

สุนทรภู่จะตกยากและขาดเจ้านายอุปการะอยู่นานเท่าไรไม่ปรากฏ แต่ต่อมาพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระพี่นางของพระองค์เจ้าลักขณานุคุณทรงรับอุปการะ และในระหว่างที่ยังคงจะจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม สุนทรภู่ได้แต่งเรื่องรำพันพิลาปขึ้น เนื้อความกล่าวถึงเรื่องราวที่ตนประสบอยู่ในขณะนั้น และมีที่เขียนขึ้นเป็นทำนองความฝัน

เมื่อออกพรรษาปีพ.ศ. ๒๓๘๕ สุนทรภู่ก็สึกออกจากพระ ขณะมีอายุได้ ๕๗ ปี พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพทรงแนะนำให้สุนทรภู่ถวายตัวแด่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ซึ่งโปรดดอกสร้อยสักวา แอ่วลาวและบทกลอนอื่นๆ อีกมาก พระองค์ทรงปรานีสุนทรภู่โดยรับอุปการะและโปรดให้ไปอยู่ที่พระราชวังเดิม ส่วนกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพก็ทรงเมตตาสุนทรภู่เช่นเดียวกันเพราะโปรดปรานเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรคู่มาก ทรงเห็นว่าเรื่องนี้ยังแต่งค้างอยู่ จึงมีรับสั่งให้สุนทรภู่แต่งต่อ ถวายเดือนละเล่ม สุนทรภู่แต่งเรื่องพระอภัยมณีได้ ๔๙ เล่มสมุดไทยและหมายจะจบเพียงแค่ให้พระอภัยมณีออกบวช แต่เมื่อกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพมีรับสั่งให้แต่งต่อไปอีก สุนทรภู่จึงต้องคิดเรื่องพระอภัยมณีตอนหลังๆ ตั้งแต่เล่มสมุดไทยที่ ๕๐ ขยายเรื่องออกไปจนจบ

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวว่า เมื่อพิเคราะห์ดูเรื่องพระอภัยมณีตอนหลังแล้ว สำนวนไม่ใช่ของสุนทรภู่คนเดียว เพราะมีรับสั่งให้แต่งเดือนละเล่ม สุนทรภู่จะเบื่อหรือมีกิจอย่างอื่นแต่งเองไม่ทันจึงให้ลูกศิษย์แต่ง

ในระหว่างที่พึ่งพระบารมีสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ และกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพนั้น สุนทรภู่ได้เดินทางไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ในปีพ.ศ. ๒๓๘๕ ได้พาหนูน้อยที่เกิดกับแม่ม่วงและหนูตาบไปด้วย และแต่งนิราศพระประธม เล่าเรื่องการเดินทางครั้งนี้

ต่อมากรมหมื่นอัปสรสุดาเทพทรงประชวรด้วยพระโรคกรรสะ (ไอ) เรื้อรัง และสิ้นพระชนม์ ในปีพ.ศ. ๒๓๘๘ สิริพระชนมายุ ๓๕ พรรษา สุนทรภู่ก็ยังได้พึ่งพระบารมีกรมขุนอิศเรศรังสรรค์อีกองค์หนึ่ง ต่อมาได้ทูลรับอาสาไปหาของที่เพชรบุรี จึงแต่งนิราศเมืองเพชร เป็นนิราศเรื่องสุดท้ายของสุนทรภู่

กล่าวได้ว่าตลอดรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สุนทรภู่มีชีวิตอย่างลุ่มๆ ดอนๆ บางคราวก็มีผู้อุปการะ แต่บางคราวก็ขาดที่พึ่งต้องอยู่อย่างเดียวดาย ผจญภัยความยากลำบาก ถึงขนาดต้องเร่ร่อนพเนจรไปตามที่ต่างๆ แต่ก็น่าแปลกตรงที่ว่า ในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๓ นี้ สุนทรภู่สร้างผลงานออกมามากที่สุด

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด

ชีวิตราชการในรัชกาลที่ ๒ ของสุนทรภู่

ราวปีพ.ศ. ๒๓๕๖ ปรากฎว่ามีการทิ้งบัตรสนเท่ห์กันมาก จนกรมหมื่นศรีสุเรนทร์ (พระองค์เจ้าสุคันธรสในรัชกาลที่ ๑) ถูกกล่าวหาว่าทิ้งบัตรสนเท่ห์ และต้องถูกจำขัง สุนทรภู่ก็เป็นผู้หนึ่งที่ถูกสงสัยว่าเป็นผู้ทิ้งบัตรสนเท่ห์ด้วย ด้วยความกลัวต่อพระราชอาญาสุนทรภู่จึงหนีไปเพชรบุรีพร้อมกับแม่จัน โดยไปหลบซ่อนอยู่ที่ถํ้าเขาหลวงหลายวัน ความตอนนี้มีเค้าเงื่อนอยู่ในนิราศเมืองเพชร ว่า

“โอ้ยามยากจากบุรินทร์มาถิ่นเถื่อน    ไม่มีเรือนแรมอยู่ในคูหา
เดือนสว่างต่างไต้เมื่อไสยา        แผ่นศิลาต่างฟูกกระดูกเย็น
ยังรินรินกลิ่นกลั่นจันทร์กระแจะ    เหมือนจะแนะนำจิตให้คิดเห็น
เหลือรำลึกนึกน่าน้ำตากระเด็น    โอ้จำเป็นเป็นกรรมจงจำไกล’’

ปลายปีพ.ศ. ๒๓๖๐ เมื่อเห็นว่าเรื่องสงบลงแล้ว สุนทรภู่และแม่จันได้พากันออกจากถํ้าไปพักที่บ้านขุนรองเพื่อนเก่าซึ่งเวลานั้นได้เลื่อนเป็นขุนแพ่งและมีภรรยาแล้ว ในเวลานั้นสุนทรภู่คงจะยึดอาชีพเป็นครูบ้าง แต่งหนังสือบ้าง จนมีลูกศิษย์หญิงชายหลายคน

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า บางทีพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจะได้ทอดพระเนตรเห็นสำนวนกลอนของสุนทรภู่ในเวลาสอบสำนวน หาผู้ทิ้งหนังสือสนเท่ห์คราวนั้นและงานที่สุนทรภู่แต่งขึ้น เช่น โคบุตร นิราศเมืองแกลง นิราศพระบาท คงจะปรากฎชื่อเสียงทราบถึงพระกรรณพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์คงจะพอพระราชหฤทัยในความสามารถและความรอบรู้ของสุนทรภู่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เอาตัวมารับราชการเป็นอาลักษณ์ ในขณะนั้นคงเป็นเวลาที่สุนทรภู่และแม่จันยังคงอยู่ที่เพชรบุรี และเมื่อเดินทางกลับกรุงเทพฯ ญาติผู้ใหญ่คงจะหมดความรังเกียจเพราะเห็นว่าได้รับราชการตามพระบรมราชโองการ จึงอนุญาตให้สุนทรภู่และแม่จันเข้าพักอาศัยในพระราชวังหลังตามเดิม

สุนทรภู่ได้รับราชการในกรมอาลักษณ์ ในปีพ.ศ. ๒๓๖๓ ขณะนั้นอายุได้ ๓๕ ปี และตอนต้นปีพ.ศ. ๒๓๖๓ แม่จันก็ให้กำเนิดบุตรคือหนูพัด

ในระหว่างรับราชในราชสำนักรัชกาลที่ ๒ นี้ สุนทรภู่ได้ทำความดีความชอบหลายครั้ง จนเป็นที่โปรดปรานมากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงเป็นกวีที่พอพระทัยในการพระราชนิพนธ์บทละคร ในราชสำนักของพระองค์มีกวีที่ปรึกษาหลายคน ตำแหน่งของสุนทรภู่เป็นตำแหน่งที่ต้องอยู่รับใช้อย่างใกล้ชิดในการพระราชนิพนธ์ กล่าวกันว่าสุนทรภู่ได้รับความชอบเมื่อสามารถต่อกลอนพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ได้เป็นที่พอพระราชหฤทัย กล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์บทนางสีดาว่า

“จงเอาผ้าผูกพันกระสันรัด    เกี่ยวกระหวัดกับกิ่งโศกใหญ่”

บทที่จะแต่งต่อไปเกิดขัดข้อง คือจะต้องแต่งบทของหนุมานอย่างไรให้แก้นางสีดาได้โดยเร็ว เหล่ากวีซึ่งเป็นที่ปรึกษาไม่มีใครสามารถจะแต่งบทให้พอพระราชหฤทัย จึงทรงลองดำรัสให้สุนทรภู่ แต่งต่อ สุนทรภู่ได้แต่งต่อไปว่า

“ชายหนึ่งผูกศออรไท        แล้วทอดองค์ลงไปจะให้ตาย
บัดนั้น                วายุบุตรแก้ได้ดังใจหาย”

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพอพระราชหฤทัยและยกย่องความฉลาดของสุนทรภู่ในคราวนี้มาก เพราะบทที่สุนทรภู่แต่งถวายเข้ากับกระบวนการเล่นละครได้เหมาะสมดีมาก

อีกครั้งหนึ่งเมื่อทรงพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ถึงตอนศึกสิบขุนสิบรถ บทชมรถทศกัณฐ์มีว่า

“รถที่นั่ง                บุษบกบัลลังก์ตั้งตระหง่าน
กว้างยาวใหญ่เท่าเขาจักรวาล    ยอดเยี่ยมเทียมวิมานเมืองแมน
ดุมวงกงหันเป็นควันคว้าง        เทียมสิงห์วิ่งวางข้างละแสน
สารถีขี่ขับเข้าดงแดน            พื้นแฝนดินกระเด็นไปเป็นจุณ”

ทรงพระราชนิพนธ์มาได้เพียงนี้ ทรงนึกความที่จะแต่งต่อไป โดยมีความประสงค์จะให้มีความประกอบให้สมกับเป็นรถมหึมาจริงๆ จึงโปรดให้สุนทรภู่แต่งต่อ สุนทรภู่จึงว่า

“นทีตีฟองนองระลอก        คลื่นกระฉอกกระฉ่อนชลข้นขุ่น
เขาพระสุเมรุเอนเอียงอ่อนละมุน    อนันต์หนุนดินดานสะท้านสะเทือน
ทวยหาญโห่ร้องก้องกัมปนาท    สุราวาสไหวหวั่นลั่นเลื่อน
บดบังสุริยันตะวันเลือน        คลาเคลื่อนจัตุรงค์ตรงมา”

เล่ากันว่าความที่สุนทรภู่แต่งถวายนี้เป็นที่พอพระราชหฤทัยยิ่งนัก ตั้งแต่นั้นมาก็ทรงยกย่องสุนทรภู่เป็นกวีที่ปรึกษาคนหนึ่ง และทรงตั้งให้เป็นขุนสุนทรโวหาร มีตำแหน่งในกรมพระอาลักษณ์ ได้รับพระราชทานให้ปลูกบ้านอยู่ใกล้ท่าช้าง แต่อยู่ในกำแพงวังชั้นนอก และมีตำแหน่งเข้าเฝ้าเป็นนิจ แม้เวลาเสด็จประพาสก็โปรดให้สุนทรภู่ลงเรือพระที่นั่ง เป็นพนักงานอ่านเขียนในเวลาทรงพระราชนิพนธ์บทกลอน

สุนทรภู่ได้เป็นขุนนางและมีตำแหน่งรับราชการในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ประกอบคุณความดีและได้รับความดีความชอบในฐานะทีแต่งกลอนได้ถูกพระทัยหลายครั้ง แต่กระนั้น สุนทรภู่ก็ยังมิได้ละทิ้งนิสัยเจ้าชู้และความเป็นนักเลงสุรา ครั้งหนึ่งสุนทรภู่เมาสุราอย่างเต็มที่ได้ไปหามารดา เมื่อมารดากล่าวตักเตือนก็อาละวาดขู่เข็ญต่างๆ ญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งได้เข้ามาห้ามปราม สุนทรภู่ซึ่งเป็นคนมีอารมณ์ฉุนเฉียวอยู่แล้ว และประกอบด้วยฤทธิ์ของสุราจึงเกิดโทสะมากขึ้น เข้าทำร้ายร่างกายญาติผู้ใหญ่ถึงกับบาดเจ็บสาหัส ญาติผู้นั้นได้นำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาเป็นเหตุให้กริ้วมาก จึงรับสั่งให้เอาตัวสุนทรภู่ไปจำคุก และสุนทรภู่ได้นำประสบการณ์ที่ต้องติดคุกครั้งนี้มาแทรกไว้ในเสภาเรื่องขุนช้าง- ขุนแผน ตอนเมื่อพลายงามจะขออยู่ในคุกกับขุนแผน

มีคำเล่ากันมาอีกข้อหนึ่งว่าในระหว่างที่ติดคุกนั้น สุนทรภู่ได้เริ่มแต่งหนังสือเรื่องพระอภัยมณีขึ้น เพื่อขายฝีปากเลี้ยงตัวในเวลาที่ติดคุกอยู่นั้น (แต่กรมศิลปกรสันนิษฐานว่า สุนทรภู่คงจะแต่งเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นขายจริงแต่คงไม่ใช่เรื่องพระอภัยมณี เพราะเรื่องพระอภัยมณีนั้นสุนทรภู่เริ่มแต่งในสมัยรัชกาลที่ ๓)

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวถึงความตอนนี้เอาไว้ว่า ประเพณีการแต่งหนังสือขายในสมัยเมื่อยังไม่ใช้การพิมพ์นั้น เมื่อแต่งขึ้นแล้วใครอยากจะอ่านก็มาขอลอกเอาไป ผู้แต่งคิดเอาค่าแต่งตามแต่ผู้ต้องการอ่านจะยอมให้ ผู้มีชื่อเสียงเช่นสุนทรภู่คงจะได้ค่าแต่งแรงอยู่ ประเพณีที่กล่าวมานี้เป็นทางหากินของพวกกวีที่ขัดสนมาช้านาน คุณพุ่มธิดาพระราชมนตรี (ภู่) ยังแต่งกลอนขายมาจนถึงต้นรัชกาลที่ ๕

สุนทรภู่ติดคุกได้ไม่นานก็พ้นโทษในราวปลายปีพ.ศ. ๒๓๖๔ หรือต้นปีพ.ศ. ๒๓๖๕ เหตุที่พ้นโทษนั้นเล่ากันว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์เรื่องใดเรื่องหนึ่งติดขัดไม่มีผู้ใดจะแต่งต่อให้เป็นที่พอพระราชหฤทัยได้ จึงรับสั่งให้เบิกตัวสุนทรภู่ออกมา สุนทรภู่มีโอกาสต่อกลอนต้องพระราชหฤทัยอีกครั้งหนึ่ง โปรดเกล้าฯ ให้ออกจากคุกมารับราชการตามเดิม

เมื่อตอนที่สุนทรภู่เป็นกวีที่ปรึกษาอยู่นั้นได้คุยว่า สำนวนกลอนที่จะแต่งให้เป็นคำปากตลาดนั้น ต้องเป็นไพร่เช่นตนจึงจะแต่งได้ ความข้อนี้มีนัยความหมายว่า ถ้าเป็นเจ้านายก็คงจะแต่งไม่ได้ ความนี้ทราบถึงพระกรรณพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงทรงพระราชนิพนธ์เรื่องไกรทอง เพื่อพิสูจน์ให้ปรากฏว่าเจ้านายก็ทรงแต่งกลอนให้เป็นสำนวนตลาดได้

นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่ากันว่าสุนทรภู่ได้ทำให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) ไม่พอพระทัยหลายครั้ง เรื่องมีว่า พระบาทสมเด็จพระทุทธเลิศหล้านภาลัยทรงมอบให้พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ไปแต่งบทละครเรื่องอิเหนาตอนบุษบาเล่นธาร เมื่อทรงพระนิพนธ์แล้วก็รับสั่งให้สุนทรภู่ช่วยตรวจแก้ สุนทรภู่อ่านแล้วกราบทูลว่าเห็นดีอยู่แล้ว ความบางตอนตามพระนิพนธ์ของพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ว่า

“น้ำใสไหลเย็นแลเห็นตัว    ว่าย (ปลา) แหวกกอบัวอยู่ไหวไหว”

เมื่อถึงเวลาอ่านถวายหน้าพระที่นั่ง ต่อหน้าชุมนุมกวีที่ปรึกษา สุนทรภู่กลับตีบทข้างต้นว่า ยังมีข้อบกพร่องและข้อแก้เป็น

“น้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา    ว่ายแหวกปทุมาอยู่ไหวไหว”

พระบาทสมเด็จพระทุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดและทรงรับสำนวนที่สุนทรภู่แก้ขึ้นใหม่ การกระทำดังกล่าวทำให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงละอาย เพราะเป็นการหักหน้าและมีเจตนากลั่นแกล้ง เป็นเรื่องที่ทรงขัดเคืองสุนทรภู่

ต่อมาสุนทรภู่ได้ทำเรื่องให้เป็นที่ขัดพระทัยของพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ คือ เมื่อพระบาทสมเด็จพระทุทธเลิศหล้านภาลัยรับสั่งให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ แต่งบท ละครเรื่องสังข์ทองตอนท้าวสามลให้ธิดาทั้งเจ็ดเลือกคู่ พระองค์ทรงนิพนธ์คำปรารภของท้าวสามลว่า

“จำจะปลูกฝังเสียยังแล้ว    ให้ลูกแก้วสมมาดปรารถนา”

ครั้นถึงเวลาอ่านถวาย สุนทรภู่ได้ติติงเป็นเชิงคำถามว่า “ลูกปรารถนาอะไร” พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงแก้ใหม่ว่า “ให้ลูกแก้วมีคู่เสน่หา” ทรงขัดเคืองสุนทรภู่มากยิ่งขึ้น และนับแต่นั้นมาก็ทรงมึนตึงสุนทรภู่มาตลอด

ในระหว่างรับราชการในสมัยรัชกาลที่ ๒ นี้ สุนทรภู่ได้ภรรยาอีกคนหนึ่งชื่อนิ่ม เป็นชาวบางกรวย มีบุตรด้วยกันชื่อตาบ อาจจะด้วยเหตุที่สุนทรภู่มีภรรยาใหม่หรือเป็นเพราะเหตุอย่างอื่นทำให้แม่จันหย่ากับสุนทรภู่ แล้วไปมีสามีใหม่ ส่วนภรรยาคนที่ชื่อนิ่ม พอมีบุตรได้ไม่ช้าก็ตาย เจ้าครอกข้างในจึงรับบุตรสุนทรภู่ทั้งสองคนไปเลี้ยงในพระราชวังหลัง นอกจากภรรยาที่ชื่อจันกับชื่อนิ่มแล้ว สุนทรภู่ยังมีคู่รักอีกหลายคนซึ่งระบุชื่อไว้ในนิราศ แต่ไม่ปรากฏว่าสุนทรภู่อยู่กับใครได้นาน

ตอนปลายรัชกาลที่ ๒ ราวปีพ.ศ. ๒๓๖๕-๒๓๖๗ สุนทรภู่ทำหน้าที่ถวายพระอักษรแด่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ซึ่งประสูติกับเจ้าฟ้ากุลฑลทิพยดี พระอัครชายา ในช่วงนี้สุนทรภู่ได้แต่งกลอนเรื่องสวัสดิรักษาถวายเจ้าฟ้าอาภรณ์ และกรมศิลปากรยังเข้าใจว่าสุนทรภู่คงจะได้เริ่มแต่งเรื่องสิงหไกรภพตอนต้นๆ ถวายเจ้าฟ้าอาภรณ์ด้วย

สุนทรภู่รับราชการสนองพระเดชพระคุณในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จนถึงปีวอก พ.ศ.๒๓๖๗ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็ทรงพระประชวร และได้เสด็จสวรรคตในปีเดียวกันนั้น ภายหลังประชวรอยู่ได้ ๘ วัน สิริพระชนมายุได้ ๕๘ พรรษา
ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด

ชีวประวัติของสุนทรภู่

สุนทรภู่
สุนทรภู่เป็นกวีคนสำคัญของชาติคนหนึ่ง ชีวิตของท่านอยู่ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นกวีที่มีชีวิตอยู่ถึง ๔ แผ่นดิน คือถือกำเนิดในรัชกาลที่ ๑ และถึงแก่อนิจกรรมในรัชกาลที่ ๔ ถึงแม้ในยุคสมัยของสุนทรภู่จะมีกวีที่เรืองนามอีกหลายท่าน และแต่ละท่านมีความเด่นในด้านของตนเอง พระบาท¬ศมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงเป็นจินตกวีบทละครรำที่มีพระเกียรติสูงสุด สมเด็จฯกรมพระปรมานุชิตชิโนรสทรงสันทัดในด้านลิลิตและฉันท์จนหาใครเทียบได้ยาก นายนรินทร์ธิเบศ (นรินทร์อิน) เป็นยอดในเรื่องโคลงรำพันพิศวาส สำหรับสุนทรภู่เป็นเอกเหนือกวีคนอื่นๆ ในเรื่องกลอนสุภาพและนิยายประโลมโลก

สุนทรภู่” เป็นชื่อที่เรียกกันโดยทั่วไป โดยการนำบรรดาศักดิ์มาผสมกับชื่อจริง กล่าวคือ ชื่อเดิมของท่านว่า “ภู่” และเมื่อรับราชการได้รับแต่งตั้งเป็น “ขุนสุนทรโวหาร”ในรัชกาลที่๒ และ เป็น “พระสุนทรโวหาร” เจ้ากรมพระอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่ ๔

แม้ว่าสุนทรภู่จะมีชาติกำเนิดในตระกูลสามัญชน แต่ด้วยความสามารถปราดเปรื่องในการแต่งกลอน ได้ช่วยส่งให้สุนทรภู่เป็นกวีที่ปรึกษาในราชสำนัภของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นยุคสมัยที่วรรณคดีประเภทร้อยกรองได้เจริญถึงขีดสุด อาจจะกล่าวได้ว่าสุนทรภู่เกิดมาเพื่อเขียนหนังสือโดยแท้ ท่านเขียนหนังสือได้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เขียนมาตลอด ๔ รัชกาล ประมาณ ๕๐ ปี และสามารถจะเขียนหนังสือได้ทุกสถานที่ ทั้งในบ้าน ในวัด ในวัง ในเรือ หรือในคุก ผลงานของท่านจึงให้คุณค่าอย่างสูงส่ง เป็นที่ชื่นชมของประชาชนชาวไทยมาจนทุกวันนี้และกวีรุ่นหลังได้อาศัยทัศนะงานนิพนธ์เป็นแบบอย่างสืบมา

ชีวประวัติของสุนทรภู่ประดุจความฝันหรือนวนิยายเรื่องหนึ่ง เพราะตลอดชีวิตเต็มไปด้วยเหตุการณ์ต่างๆ ที่สั่นสะเทือนใจ มีทั้งความรุ่งโรจน์ ตกยากทุกข์เข็ญจนเลือดตาแทบกระเด็น แล้วก็กลับรุ่งโรจน์ขึ้นมาอีก มีตำแหน่งเป็นกวีที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ทีเป็นจอมกวี แต่ต่อมาต้องกลายเป็นคนขี้คุก เป็นพ่อค้าเรือเร่ เป็นคนเจ้าชู้ หรือแม้แต่เป็นคนขี้เมาเมียทิ้ง

ศาสตราจารย์เจือ สตะเวทิน ได้กล่าวถึงผลงานของสุนทรภู่ไว้ว่า หากสุนทรภู่สามารถใช้สื่อภาษาที่เป็นสากล ในการสร้างสรรค์ผลงาน หรือใช้ภาษาที่คนทั่วโลกสามารถเข้าใจ หรือว่าโลกสามารถเข้าใจภาษาไทยได้ดีกว่านี้ เมื่อนั้นทั่วโลกอาจจะตะลึงในจิตตารมณ์ที่สุนทรภู่ได้สร้างขึ้น เพราะจิตใจและวิญญาณในทางศิลปะการประพันธ์ของสุนทรภู่ไม่ได้ด้อยไปกว่ากวีชาติอื่นเลย แต่ในเมื่อโลกเข้าใจภาษาไทยน้อยมาก เสียงศิลปะและความคิดของสุนทรภู่จึงก้องกังวานอยู่เฉพาะ ภายในประเทศไทยเท่านั้น ไม่สะท้อนออกไปกว้างไกลเท่าใดเลย

ถึงแม้ว่าสุนทรภู่จะถึงแก่อนิจกรรมไปนานแล้ว แต่ผลงานนิพนธ์ของท่านยังคงอยู่ ยังเป็นมรดกที่ลํ้าค่าของชาติไทย โดยเฉพาะงานนิพนธ์ที่เป็นนิราศยังเป็นที่ประทับใจมาตลอด เมื่อถึงวันนี้ ชาวไทยได้เทิดทูนท่านในฐานะอมตกวีที่ควรแก่การสดุดีเป็นอย่างยิ่ง จึงพร้อมใจกันยกย่องว่าเป็น “บรมครูทางกลอนแปด” และในปีพ.ศ. ๒๕๒๗ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้เสนอต่อองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ให้ประกาศเกียรติคุณว่า สุนทรภู่เป็นบุคคลสำคัญของชาติไทย มีผลงานทางด้านวัฒนธรรมดีเด่นและเป็นกวีของประชาชน รวมทั้งให้องค์การแห่งนี้ช่วยเผยแพร่เกียรติคุณและผลงานของสุนทรภู่ไปยังสมาชิกทั่วโลกอีกด้วย

ในการเรียบเรียงชีวประวัติของสุนทรภู่ครั้งนี้ ผู้เขียนขอน้อมถวายความเคารพแด่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้ทรงพระนิพนธ์ประวัติสุนทรภู่ขึ้นมา และคำสันนิษฐานของพระองค์ได้เป็นแนวสำหรับผู้สนใจรุ่นหลังได้ยึดถือเป็นแนวทาง นอกจากนี้ผู้เขียนยังได้อาศัยงานเขียนของผู้รู้อีกหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็นศาสตราจารย์เจือ สตะเวทิน อาจารย์ฉันท์ ขำวิไล เป็นบรรทัดฐานในการเรียบเรียงครั้งนี้ จึงกราบเรียนมาด้วยความเคารพและสำนึกในพระคุณมาตลอด

ปฐมวัยของอมตกวี

พระสุนทรโวหาร (ภู่) หรือที่คนทั่วไปเรียกกันเป็นสามัญว่า “สุนทรภู่” เกิดในรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันจันทร์ เดือนแปด ขึ้น ๑ คํ่า ปีมะเมีย จุลศักราช ๑๑๔๘ ตรงกับวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๒๙ ภายหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าได้ ๑๙ ปี และหลังจากการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีได้ ๔ ปี ในระยะนั้นเป็นเวลาที่ประเทศไทยในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระทุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชต้องทำศึกสงครามกับกองทัพพม่าที่ตำบลท่าดินแดง

สุนทรภู่เกิดในสกุลสามัญชน บิดามารดาชื่อใดไม่ปรากฎ เกี่ยวกับบรรพชนของสุนทรภู่ มีการสันนิษฐานเอาไว้หลายประเด็นตามหลักฐานที่แต่ละคนได้ศึกษามาและยังเป็นที่ถกเถียงกันจนทุกวันนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า บิดาของสุนทรภู่ เป็นชาวบ้านกรํ่า ในเขตอำเภอแกลง จังหวัดระยอง ส่วนมารดาไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นชาวเมืองใด ได้มาอยู่ด้วยกันในกรุงเทพฯ เมื่อสุนทรภู่อายุได้ประมาณ ๒ ขวบ บิดากับมารดาได้หย่ากัน ฝ่ายมารดาได้สามีใหม่ มีลูกหญิงสองคนชื่อฉิมและนิ่ม และได้เป็นนางนมพระธิดาในกรมพระราชวังหลัง สุนทรภู่ จึงได้อยู่กับมารดาที่พระราชวังหลัง และได้ถวายตัวเป็นข้าในกรมพระราชวังตั้งแต่ยังเด็ก

บางท่านได้สันนิษฐานไว้ว่า บรรพบุรุษฝ่ายบิดาและมารดาของสุนทรภู่เป็นชาวกรุงศรีอยุธยา เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ปู่ของสุนทรภู่ได้พาญาติและบิดาของสุนทรภู่ซึ่งขณะนั้นยังเล็กอยู่ พยายามลงมาตามสายของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แล้วมาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่บ้านกรํ่า อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ปู่ของสุนทรภู่คงจะรับราชการในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีด้วย และเมื่อสิ้นสมัยกรุงธนบุรีจึงได้กลับไปอยู่ที่ระยองตามเดิม ส่วนบรรพบุรุษทางฝ่ายมารดาเป็นชาวไทยที่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยาเช่นเดียวกัน และมาตั้งหลักฐานอยู่ที่กรุงธนบุรี มารดาของสุนทรภู่จึงเป็นชาวกรุงธนบุรีนั้นเอง

นายล้อม เพ็งแก้ว อาจารย์ภาษาไทยวิทยาลัยครูเพชรบุรี ได้สันนิษฐานและแสดงข้อคิดเห็นเกี่ยวกับบรรพบุรุษของสุนทรภู่ โดยพบหลักฐานที่ปรากฎท้ายเรื่องนิราศเมืองเพชรที่พบใหม่ และได้สรุปไว้ว่าบรรพชนของสุนทรภู่เป็นสกุลพราหมณ์เมืองเพชรบุรี ตอนกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าก็ได้พลัดพรากกันไป ต่อเมื่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นแล้ว บรรพชนรุ่นบิดามารดาจึงได้มาเป็นข้าอยู่ในกรมพระราชวังหลัง

การศึกษา สุนทรภู่ได้เรียนหนังสือกับพระที่วัดชีปะขาว (วัดศรีสุดาราม) ริมคลองบางกอก¬น้อย กรุงเทพฯ ดังความที่ปรากฎในโคลงนิราศสุพรรณ ตอนหนึ่งว่า

“วัดปะขาวคราวรุ่นรู้        เรียนเขียน
ทำสูตรสอนเสมียน            สมุดน้อย
เดินระวางระวังเวียน            หว่างวัด ปะขาวเอย
เคยชื่นกลืนกลิ่นสร้อย            สวาทห้างกลางสวน”

สุนทรภู่คงจะมีความเฉียวฉลาด ปราดเปรื่องในเรื่องวิชาการทางการหนังสือเป็นอย่างยิ่ง มีความรู้ในวิชาเลขและหนังสือ ต่อมาได้สอนวิชาเหล่านี้ให้แก่ผู้ที่จะทำหน้าที่เสมียน โดยสอนอยู่ที่วัดชีปะขาว นอกจากจะมีอาชีพครูแล้ว สุนทรภู่ยังได้เคยเป็นเสมียนนายระวางกรมพระคลังสวนและอาชีพ บอกดอกสร้อยสักวา ซึงเป็นการละเล่นที่นิยมสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

เป็นที่น่าเสียดายว่า บทสักวาของสุนทรภู่ไม่ได้มีการบันทึกเอาไว้ และไม่มีใครจดจำเอาไว้ จึงไม่เป็นที่ทราบกันแพร่หลาย มิฉะนั้นแล้วชาวไทยคงจะได้ชื่นชมโวหารของสุนทรภู่ทางด้านนี้ ในหนังสือของ ศาสตราจารย์เจือ สตะเวทิน ได้เขียนสักวาที่เป็นโวหารของสุนทรภู่เอาไว้บทหนึ่ง โดยกล่าวไว้ว่าทราบมาจากนายแปลก หลานสุนทรภู่ จึงขอคัดมาอีกต่อหนึงดังนี้

“สักวามาพบประสบโฉม    งามประโลมผิวสีฉวีเหลือง
เมื่อผันแปรแลพบหลบชำเลือง    ดูปลดเปลื้องเปล่งปลั่งกำลังโลม
พี่หมายรักจักถนอมใคร่กล่อมเกลี้ยง    เป็นคู่เคียงเรียงน้องประคองโฉม
ไม่สมรักหนักหน่วงเพียงทรวงโทรม    มิได้โลมน้องแก้วเสียแล้วเอย”

การเป็นเจ้าบทเจ้ากลอนมาตั้งแต่วัยรุ่นเช่นนี้ ประกอบกับการมีใจรัก ทำให้สุนทรภู่ไม่ชอบทำงานด้านอื่นจึงลาออกจากงานมาอยู่ที่พระราชวังหลังกับมารดาเช่นเดิม และหันเหวิถีชีวิตสู่การประพันธ์บทกลอนตามใจรัก ในช่วงนี้สุนทรภู่คงจะมีชื่อเสียงและเริ่มเป็นที่รู้จักกันบ้างแล้ว โดยเฉพาะในวงการสักวาและกลอนดอกสร้อยและคงจะแต่งบทกลอนเบ็ดเตล็ดต่างๆ รวมทั้งนิทานคำกลอนเรื่องโคบุตรด้วย แต่ก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าสุนทรภู่แต่งนิทานเรื่องโคบุตรเมื่อใด สันนิษฐานว่าน่าจะแต่งก่อนนิราศเมืองแกลง หรือเมื่ออายุประมาณ ๒๐ ปี

วัยหวานของท่านภู่

ด้วยวัยที่หนุ่มคะนอง ประกอบกับความเป็นอัจฉริยะในเชิงกลอน และการได้พำนักในบริเวณพระราชวังหลังทำให้สุนทรภู่ได้ไปลอบรักกับสาวชาววังชื่อจัน เมื่อความนี้ทรงทราบถึงกรมพระราชวังหลัง เป็นเหตุให้ถูกกริ้วและต้องโทษเวรจำด้วยกันทั้งคู่ แต่ถูกขังอยู่ได้ไม่นานเมื่อกรมพระราชวังหลังทิวงคตในปีพ.ศ. ๒๓๔๙ ทั้งคู่ก็พ้นโทษ

หลังจากพ้นโทษแล้วพอถึงปีพ.ศ. ๒๓๕๐ สุนทรภู่ได้ออกเดินทางไปเมืองแกลง จังหวัดระยองเพิ้อไปหาบิดาซึ่งกำลังบวชอยู่ ขณะนั้นสุนทรภู่มีอายุย่างเข้า ๒๒ ปี สาเหตุของการไปเมืองแกลงอีกประการหนึ่งคือ เพื่อต้องการจะไปบวชเป็นการสะเดาะเคราะห์กรรมที่ถูกคุมขัง หรือมีอายุครบเกณฑ์บวชแล้ว ในการเดินทางมีลูกศิษย์ช่วยแจวเรือไปให้สองคน แสดงว่าในเวลานั้นสุนทรภู่เริ่มจะมีชื่อเสียงบ้างแล้ว จึงมีผู้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ ในครั้งนี้สุนทรภู่ได้แต่งนิราศเมืองแกลงขึ้น นับเป็นนิราศเรื่องแรก

เส้นทางไปเมืองแกลงของสุนทรภู่คราวนั้น โดยออกจากกรุงเทพฯ ในเดือนเจ็ด ใช้เรือประทุนเป็นพาหนะเดินทาง นอกจากจะมีลูกศิษย์ช่วยแจวเรือให้แล้ว ยังมีคนขี้ยาชาวเมืองระยองรับนำทางอีกคนหนึ่ง ออกไปทางคลองสำโรง คลองศีรษะจระเข้ ไปออกปากนํ้าบางมังกร (บางปะกง) แล้วขึ้นบกที่บางปลาสร้อย จังหวัดชลบุรี จากนั้นเดินทางบกต่อไป เมื่อถึงเมืองระยองคนขี้ยาที่ทำหน้าที่นำทางได้หลบหนี สุนทรภู่พยายามถามชาวบ้านจนถึงวัดป่าที่บิดาบวชอยู่

เมื่อได้พบบิดาแล้วแต่ยังไม่ได้บวชสุนทรภู่ก็ป่วยเป็นไข้ป่า รักษาตัวอยู่หลายวันกว่าจะหายเป็นปกติและล้มเลิกความคิดที่จะบวช จากนั้นได้เดินทางกลับกรุงเทพฯ รวมเวลาที่สุนทรภู่ออกไปเมืองแกลงราว ๓ เดือน เมื่อกลับมาถึงกรุงเทพฯ ก็มาอยู่ที่พระราชวังหลัง ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ (พระโอรสองค์น้อยในกรมพระราชวังหลัง) ซึ่งทรงผนวชอยู่ที่วัดระฆัง และได้แม่จันมาเป็นภรรยาคนแรก ซึ่งคงจะเป็นเพราะพระอัครชายาของกรมพระราชวังหลัง หรือที่เรียกกันว่าเจ้าครอกข้างใน (ทองอยู่) ประทานให้ แต่สุนทรภู่อยู่กินกับแม่จันได้ไม่นานเท่าใดก็มีเรื่องทะเลาะโกรธกัน อาจจะมีสาเหตุมาจากนิสัยเจ้าชู้หรือนิสัยชอบดื่มเหล้าจนเมามายของสุนทรภู่ก็เป็นได้

ปีพ.ศ. ๒๓๕๐ สุนทรภู่ได้ติดตามพระองค์เจ้าปฐมวงศ์พระโอรสในกรมพระราชวังหลังไปนมัสการพระทุทธบาท จังหวัดสระบุรี กลับมาได้แต่งนิราศพระบาทขึ้น มีถ้อยคำครํ่าครวญ อาลัยความรักที่มีต่อแม่จันเป็นอย่างยิ่ง ในระยะนั้นคงจะยังโกรธกันอยู่ ดังความบางตอนในนิราศพระบาท

“นี่ดู ดู เราขาดแล้วบาดจิต    พี่ขาดมิตรมาไกลถึงไพรสัณฑ์
นึกเฉลียวเสียวทรวงถึงดวงจันทร์    จะขาดกันเสียเหมือนเขาพี่เข้าใจ”

ต่อมาแม่จันคงจะนำความเรื่องนิสัยเมาเหล้าของสุนทรภู่ไปร้องทุกข์ต่อพระองค์เจ้าปฐมวงค์ เป็นเหตุให้ทรงขุ่นเคืองพระทัย เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ สุนทรภู่รู้สึกคับแค้นใจจึงลาออกจากมหาดเล็ก โดยไปหาอาชีพใหม่ในทางเป็นผู้บอกบทละคร และน่าจะไปบอกบทให้แก่คณะของนายบุญยัง นายโรงละครนอกที่มีชื่อเสียง สุนทรภู่ได้กล่าวเอาไว้เป็นหลักฐานในโคลงนิราศสุพรรณว่า

“บางระมาดมิ่งมิตรครั้ง    คราวงาน
บอกบทบุญยังพยาน            พยักหน้า
ประทุนประดิษฐาน            แทนห้อง หอเอย
แหวนประดับกับผ้า            พี่อ้างรางวัล”

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด