มลทินที่ทำให้หมองและสิ่งที่ใจต้องระวัง

พระพุทธองค์ทรงนำเรื่องที่เรารู้ๆ มาตรัสสอน เพราะจะได้ทำให้ผู้ฟัง ฟังง่าย เข้าใจง่าย พระองค์ไม่ทรงสนพระทัยว่า คนฟังเขาจะว่านำเรื่องที่รู้อยู่แล้วมาสอน แล้วเขาจะไม่สนใจฟัง เพราะทรงมุ่งประโยชน์คือ เขาจะได้เข้าใจง่าย เพราะทรงรู้อยู่แล้วว่า เขาได้แต่รู้ แต่รู้ไม่จริง หรือไม่ได้คิด ดังนั้นเรื่องที่ทรงนำมาสอน บางครั้งก็เป็นเรื่องธรรมดาจริงๆ เช่น เรื่องฝน หนู งู ม้า ช้าง น้ำ ดิน ไฟ ลม เป็นต้น ทรงนำมาเป็นเครื่องประกอบกับธรรมแล้วทรงสอน โดยที่สุดมลทินของร่างกาย(เหงื่อไคล) ก็ทรงนำมาประกอบในการสอนได้ เช่น ตรัสไว้ในธรรมบท ขุททกนิกาย ความไทยว่า

๑. การไม่ท่อง ไม่ทบทวน เป็นมลทินของความรู้(มนต์)
๒. การไม่ขยันเช็ดถูดูแล เป็นมลทินของเรือน
๓. ความเกียจคร้าน(ชำระ) เป็นมลทินของผิวพรรณ
๔. ความประมาท เป็นมลทินของผู้รักษา
๕. ความนอกใจ เป็นมลทินของหญิง
๖. ความตระหนี่ เป็นมลทินของผู้ให้
๗. บาปธรรม เป็นมลทินของสัตว์
๘. อวิชชา เป็นบรมมลทิน

ไสยา
แม้แต่การนอนที่เป็นเรื่องใครๆ ก็ต้องรู้ พระองค์ก็ทรงนำมาสอนไว้ว่า การนอนมี ๔ อย่างคือ

๑. เปตไสยา นอนอย่างเปรต หรือคนตาย คือนอนหงาย

๒. กามโภคีไสยา นอนอย่างชาวบ้านทั่วไป คือนอนตะแคงซ้าย และนอนคว่ำ

๓. สีหไสยา นอนอย่างราชสีห์ คือนอนตะแคงขวา

๔. ตถาคตไสยา นอนอย่างพระตถาคต คือนอนตะแคงขวา ซ้อนเท้า มือขวาหนุนศีรษะ

สิ่งที่ใจต้องระวัง
สิ่งที่ต้องใช้สติสัมปชัญญะคอยกำกับใจอยู่เสมอมีอยู่มากมาย สิ่งเหล่านี้เป็นอารมณ์ของใจ ถ้าไม่ใช้สติสัมปชัญญะกำกับ หรือมีสติไม่ทันอารมณ์เหล่านี้แล้ว ก็จะทำให้เกิดเรื่องราวใหญ่โตได้ หรืออย่างน้อยก็ทำให้เศร้าหมอง ดังนั้น จึงต้องใช้สติสำรวจดูใจว่า มีอารมณ์เหล่านี้อยู่ในใจหรือเปล่าอยู่เสมอๆ เพื่อความปลอดโปร่งทางใจ สิ่งที่ควรระวังเหล่านั้น ทางพระพุทธศาสนาได้แสดงไว้จำนวนหนึ่งเรียกว่า อุปกิเลส ดังปรากฏในมูลปัณณาสก์ มัชฌิมนิกาย ความไทยมีดังนี้

๑. อยากได้ของเขา
๒. คิดร้ายต่อเขา
๓. โกรธ
๔. ผูกใจเจ็บ
๕. ลบหลู่คุณท่าน
๖. ตีเสมอ
๗. ริษยา เห็นคนอื่นดี ทนอยู่ไม่ได้
๘. ตระหนี่
๙. เจ้าเล่ห์
๑๐. โอ้อวด
๑๑. ดื้อด้าน ดึงดัน
๑๒. แข่งดี
๑๓. ถือตัว
๑๔. ดูหมิ่นความสามารถของตน และดูหมิ่นผู้อื่น
๑๕. มัวเมา งมงาย
๑๖. เลินเล่อ ลืมตัว

สิ่งเหล่านี้ควรระหวังอย่าให้เกิดกับใจ จะทำให้เสียงานเสียการ ผู้มีอารมณ์ร้ายเหล่านี้ ถ้าเป็นฆราวาสก็เข้ากับใครเขาได้ยาก เมื่อเข้ากับใครเขายาก ก็หาพวกพ้องได้ยาก ทำให้ลำบากต่อการดำเนินชีวิต ถ้าเป็นบรรพชิตก็จะเป็นคนมีใจห่างเหินจากความเป็นบรรพชิต สิ่งเหล่านี้จะเป็นเครื่องกั้นคุณงามความดีทางใจ และดึงใจให้ตกต่ำ เครื่องกั้นสิ่งเหล่านี้ คือ สติ สัมปชัญญะ ดังนั้น จึงต้องใช้สติสัมปชัญญะคอยระวังสำรวจดูใจอยู่เสมอ

วิธีแก้ง่วง
ความง่วงจัดเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการทำงาน ความง่วงอาจเกิดขึ้นเพราะเหตุหลายประการ เช่น เพราะร่างกายอ่อนเพลีย กินมากเกินไป กินยาง่วง เป็นต้น สำหรับผู้ที่ต้องการไม่ให้ง่วงแล้วเกิดง่วงขึ้น ทางพระพุทธศาสนาสอนวิธีแก้ง่วงไว้ดังนี้

๑. เมื่อคิดสิ่งใดในขณะง่วง ให้สนใจในสิ่งนั้นให้มากยิ่งขึ้น

๒. ถ้ายังง่วงอยู่ ก็พิจารณา ตรึกตรอง สิ่งที่ตนเคยฟังเคยเรียนมาให้มากๆ

๓. ถ้ายังง่วงอยู่ ก็ให้ท่องเรื่องที่ตนได้ยิน หรือเรียนมา

๔. ถ้ายังง่วงอยู่ พึงยอนหูทั้งสองข้าง ตาก็จะสว่าง

๕. ถ้ายังง่วงอยู่ ให้ลุกขึ้นยืน ใช้น้ำลูบหน้า มองดูทิศดูดาว

๖. ถ้ายังง่วงอยู่ พึงทำใจว่าสว่างไสว

๗. ถ้ายังง่วงอยู่ จงอธิษฐานเดินจงกรมกลับไปกลับมา

พระพุทธศาสนากับความเป็นทาส
ในประเทศไทยได้ประกาศเลิกทาสเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๘ แต่ในพระพุทธศาสนาไม่เห็นด้วยกับความเป็นทาสมานานกว่า ๒๕๐๐ ปีมาแล้ว ดังมีข้อความปรากฏในจุลวรรคแห่งวินัย ความไทยว่า ทรงห้ามมิให้ภิกษุมีทาสไว้ใช้สอย

ในระเบียบของการบรรพชาอุปสมบทก็ทรงห้ามมิให้รับคนเป็นทาสเข้ามาบวชเป็นภิกษุ ดังมีคำถามว่า ภุชิสฺโสสิ แปลว่า เจ้าเป็นไทมิใช่ทาสหรือ

ใจของ ๕ อย่าง ที่พระพุทธองค์ทรงห้ามมิให้ผู้นับถือพระพุทธศาสนาขาย ก็มีอยู่ข้อหนึ่งคือ ห้ามมิให้ขายคน(ทาส)

ในมูลปัณณาสก์ มัชฌิมนิกาย และในทสกนิบาตรอังคุตตรนิกาย พระพุทธองค์ทรงแสดงว่านักบวชคือ บรรพชิต ต้องไม่รับทาสหญิง-ชาย ที่มีผู้มอบให้

พระพุทธองค์ทรงขัดขวางการนำบุคคลมาเป็นทาสด้วยวิธีการเท่าที่พระองค์จะทรงทำได้ในขอบเขตแห่งพุทธจักรดังนี้ และที่สำคัญยิ่งคือ ทรงสอนให้คนอย่าเป็นทาสของกิเลส

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

ที่พึ่งและสิ่งที่เป็นมงคลสำหรับชีวิต

สิ่งที่เป็นที่พึ่งที่อาศัยมีหลายอย่าง เช่น พระรัตนตรัย และที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้อีกอย่างหนึ่ง ที่ปรากฏในทสกนิบาติ อังคุตตรนิกาย ความไทยว่า

๑. ความประพฤติดี ไม่ฆ่า ไม่ลักเขา เป็นต้น
๒. ความเป็นผู้มีความรู้ดี
๓. ความมีเพื่อนดี
๔. ความเป็นผู้ว่าง่าย เป็นที่น่าเมตตาของผู้ใหญ่
๕. ความเป็นคนขยันในการทำธุรกิจทั้งของตน ทั้งของผู้อื่น
๖. ความเป็นผู้พอใจในกุศลธรรม
๗. ความพากเพียรละความชั่ว สร้างความดี
๘. พอใจในสิ่งที่ได้มาโดยชอบธรรม ไม่โลภอยากได้ของใคร รู้จักพอ
๙. มีสติ สัมปชัญญะ
๑๐. ฉลาดรอบรู้ในสิ่งต่างๆ

เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่าแต่ละอย่างๆ ใช้เป็นที่พึ่งที่อาศัย เพื่อความสุขในชีวิตได้ทั้งนั้น เช่น มีความประพฤติดี ไม่ฆ่าเขา ไม่ลักเขา เป็นต้น เมื่อเป็นคนดีอย่างนั้นก็ไม่เป็นอาชญากร เมื่อไม่เป็นอาชญากร ก็ไม่ต้องเดือดร้อน เพราะไม่มีความผิดติดตัว หรือไม่ต้องถูกทำโทษ และเป็นคนมีอิสระ ที่จะทำมาหาเลี้ยงชีพได้อย่างสบาย มีคนไว้ใจในความประพฤติ ทำให้ครองชีพสะดวก ความประพฤติดี จึงนับว่าเป็นที่พึ่งของชีวิตได้อย่างหนึ่ง

สิ่งที่เป็นมงคลสำหรับชีวิต
ทุกคนย่อมต้องการสิ่งที่เป็นสิริมงคลต่อชีวิตของตน และพวกพ้องของตนทั้งนั้น สิ่งที่เป็นมงคลนั้น พระพุทธองค์ตรัสไว้ในมงคลสูตร ในขุททกปาฐะ ขุททกนิกาย ซึ่งมีอยู่ ๓๘ ประการ ความไทยมีดังนี้

๑. ไม่คบคนชั่ว
๒. คบคนดีเป็นเพื่อน
๓. ยกยอ่งบูชาผู้ที่ควรยกย่องบูชา
๔. อยู่ในที่ที่ดีมีผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีการศึกษาดี ที่เลี้ยงชีพสะดวก ที่มีคนดีอาศัยอยู่มาก
๕. มีปุพเพกตปุญญตา คือ มีคุณความดีทำไว้แต่ปางก่อน
๖. การตั้งตัวไว้ดี ไม่ประพฤติเสียหาย ไม่เห็นผิดเป็นชอบ
๗. ความเป็นผู้คงแก่เรียน
๘. ความเป็นผู้มีศิลปะในการทำงาน
๙. ความมีระเบียบวินัย คือ ศีล หรือเป็นคนมีความประพฤติดี
๑๐. มีวาจาเป็นสุภาษิต
๑๑. เลี้ยงดูพ่อแม่
๑๒. สงเคราะห์ลูกเมีย
๑๓. มีงานไม่อากูล คือไม่ปล่อยงานให้คั่งค้าง
๑๔. ให้สิ่งที่ควรให้แก่ผู้อื่นเป็นการอนุเคราะห์เขา
๑๕. ประพฤติกุศลธรรม เช่น กาย วจี มโนสุจริต มีไม่ฆ่าใคร เป็นต้น
๑๖. สงเคราะห์ญาติ และผู้เกี่ยวข้อง
๑๗. ทำการงานที่ไร้โทษ คือ ที่เป็นสุจริตกรรม ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน
๑๘. งดการกระทำชั่ว
๑๙. เว้นจากการทำความชั่ว เช่น กาย วจี มโนทุจริต
๒๐. เว้นขาดจากการดื่ม และเสพของเสพติด
๒๑. มีความไม่ประมาทในการปฏิบัติธรรม
๒๒. เคารพนับถือผู้ที่ควรเคารพนับถือ
๒๓. ไม่เบ่ง ไม่เย่อหยิ่ง
๒๔. สันโดษ พอใจในสิ่งที่ได้มาโดยสุจริต ไม่โลภ อยากได้ของใคร รู้จักพอ
๒๕. มีความกตัญญูกตเวที
๒๖. ฟังธรรมตามกาลอันสมควร
๒๗. อดทน
๒๘. ว่าง่าย ไม่ดื้อดึงดันด้วยอารมณ์เอาชนะ
๒๙. การได้พบเห็นสมณะผู้สงบ ผู้เป็นบุคคลตัวอย่างแห่งความดี
๓๐. การสนทนาธรรม หรือเรื่องที่มีสารประโยชน์ตามกาลอันควร
๓๑. มีความเพียร
๓๒. การประพฤติพรหมจรรย์
๓๓. การเห็นแจ้งอริยสัจ ๔
๓๔. การทำพระนิพพานให้แจ่มแจ้งแก่ตน
๓๕. ความมีใจไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรม ๘ มีนินทา สรรเสริญ ได้ เสีย ยกย่อง ไม่ยกย่อง สุข ทุกข์ อันเป็นสิ่งประจำโลก
๓๖. ความไม่เศร้าโศกแห้งใจ
๓๗. ความมีใจปราศจากกิเลสธุลี
๓๘. ความมีใจพ้นจากกิเลส

ใน ๓๘ ประการนี้ คุณธรรมแต่ละอย่างล้วนเป็นมงคลชีวิตของผู้ปฏิบัติทั้งนั้น ผู้ต้องการมงคลในชีวิตต้องปฏิบัติเอาเอง ถ้าไม่ปฏิบัติก็ไม่ได้ การที่จะให้มงคลเหล่านี้เข้ามาสู่ตัวเองโดยมิได้ปฏิบัติ แต่อ้อนวอนให้มาสู่ตัวอย่างนี้ มิใช่ทางที่จะเป็นไปได้

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

การกลับตัวกลับใจและการรู้จักโทษตัวเอง

คนทั่วไปมักประสบความพลาดหวัง หรือผิดพลาดในชีวิตอย่างน้อยก็ครั้งหนึ่ง ด้วยมีเจตนาหรือไม่ก็ตาม บางคนยอมเสียคนไปเลย เพราะคิดว่า ไหนๆ ก็เสียคนไปแล้วก็ปล่อยเลยตามเลย ดุจคนตกส้วม นึกว่าไหนก็ตกลงมาแล้วก็ยอมตายคาส้วม อย่าตะกายขึ้นมาจากส้วมเลย การกระทำอย่างนี้เรียกว่า ตอบแทนความผิดด้วยความผิด แต่บางคนคิดกลับตัว โดยถือเอาความผิดพลาดครั้งนั้นๆ เป็นบทเรียน แล้วเริ่มชีวิตใหม่ในทางที่ดี คนอย่างนี้ย่อมประสบความสำเร็จในชีวิต เมื่อประสบความสำเร็จอย่างนี้แล้ว ก็ไม่มีใครเขามาคอยจ้องจับผิดว่าคนนี้เคยเสียคนมาแล้วอย่างนั้นๆ เพราะเขาลืมแล้ว แต่เจ้าตัวกลับนึกอยู่เสมอว่าเขาจะยังนึกรังเกียจอยู่ แต่บางคนกลับชมคนผู้กลับตัวได้เสียอีกว่า เป็นคนมีใจเข้มแข็งกลับตัวได้

ในกรณีอย่างนี้ พระพุทธองค์ก็เคยทรงประสบความผิดพลาดมาแล้ว ด้วยการบำเพ็ญทุกรกิริยาทรมานตน เพื่อหาโมกขธรรม เมื่อไม่ทรงประสบความสำเร็จด้วยวิธีนั้น ก็ทรงเลิกวิธีนั้นและกลับมาทรงปฏิบัติด้วยวิธีการใหม่ โดยถือเอาวิธีการเก่าเป็นบทเรียนว่า ไม่เป็นไปเพื่อให้ถึงความพ้นกิเลสได้ เมื่อทรงทราบว่าพลาดแล้วก็กลับปฏิบัติด้วยวิธีการใหม่อีก แล้วในที่สุดก็ทรงประสบความสำเร็จ ในเรื่องอย่างนี้พระพุทธองค์ตรัสสรรเสริญไว้ดังในธรรมบท ขุททกนิกาย ความไทยว่า ผู้ใดเคยผิดพลาดประมาทมาก่อน ภายหลังกลับตัวได้ ผู้นั้นย่อมทำชีวิต(โลก) ให้สว่างเหมือนพระจันทร์พ้นจากเมฆหมอก ดังนั้นผู้ที่เคยประสบความผิดพลาดในชีวิตมาก่อนก็ไม่ควรท้อใจ ควรกลับตัวกลับใจต่อสู้กับชีวิตใหม่ด้วยสุจริตกรรม ก็จะพบความสำเร็จในชีวิต

การรู้จักโทษตัวเอง
คนโดยมากมักคอยโทษผู้อื่น มักเห็นแต่โทษของผู้อื่น มักเข้าข้างตัว อย่างที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ ดังมีปรากฏในพระธรรมบท ขุททกนิกาย ความไทยว่า โทษของคนอื่นเห็นง่าย โทษของตนเองเห็นยาก

และตรัสว่า อาสวะย่อมเจริญสำหรับคนที่เห็นแต่โทษของผู้อื่น คอยเพ่งโทษเขาเป็นนิตย์ คนอย่างนี้ย่อมห่างไกลจากธรรมที่จะให้สิ้นอาสวะ

พระพุทธองค์ทรงสอนให้พิจารณาตนเอง ท้วงติงตนเองด้วยพุทธภาษิตว่า ควรท้วงติงตนเอง ควรพิจารณาดูความผิดความถูกด้วยตนเอง

แม้เรื่องหลักกรรมก็เป็นเรื่องพิจารณาตัวเอง หรือให้รู้จักตัวเอง ไม่เข้าข้างตัวเอง แล้วจะได้แก้ไขปรับปรุงความเสียของตนให้ดี และส่งเสริมความดีของตนให้ดียิ่งๆ ขึ้น ทรงสอนไม่ให้ลืมตัว เมื่อตัวมีฐานะสูงขึ้น เพราะเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนอะไร(เมื่อสิ่งนั้นยังไม่เป็นอริยมรรค อริยผล) ดังที่ตรัสไว้ ความไทยว่า คนไม่ควรลืมตน และว่า สักการะ ลาภยศ ย่อมทำลายบุรุษเลว

เมื่อรู้จักโทษตัวเอง เรื่องที่จะยืดยาวก็จะสั้น และทำให้เป็นผลดีแก่ตน ข้อนี้เป็นวิธีหนึ่งสำหรับปรับปรุงตัวเอง

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

การต่อสู้และความชนะ

การต่อสู้
คนเกิดมาต้องต่อสู้กับสิ่งต่างๆ เพื่อความอยู่รอดบ้าง เพื่อความชนะแล้วได้สุขทางใจบ้าง แต่ทางพระพุทธศาสนาสอนให้ตู่สู้กับตัวเอง และต่อสู้กับความจริง คือ

ตัวเอง ในที่นี้หมายถึง กิเลส หรืออารมณ์ของตน การต่อสู้เพื่อความชนะนั้น มี ๒ อย่างคือ ชนะชั่วขณะ และชนะตลอดกาล ต่อสู้เพื่อความชนะชั่วขณะ ย่อมต่อสู้ด้วยสติสัมปชัญญะ คือ ความระลึกได้และสำนึกผิดถูก และด้วยขันติ คือความอดทน แต่ถ้าจะต่อสู้ให้ชนะตลอดกาล ก็ต้องต่อสู้ด้วยปัญญา(โยเชถ มารํ ปญฺญาวุเธน พึงต่อสู้กิเลสมารด้วยอาวุธคือปัญญา)

การต่อสู้ความจริง คือ เรื่องเกิดที่ไหน ต่อสู้ที่นั่น เช่น คนกลัวแก่ เจ็บ ตาย เรื่องจึงอยู่ที่แก่ เจ็บ ตาย ซึ่งเป็นความจริงของชีวิต ท่านสอนให้สู้หน้ากับสิ่งที่กลัว คือ สิ่งที่กล่าวแล้วเหล่านี้ ด้วยทำตัวให้ใกล้ชิด โดยคิดบ่อยๆ เช่น คิดว่าเรามีความแก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นได้

หรือใช้มรณานุสสติ คือ คิดถึงความตายเสมอ เพื่อไม่ประมาทในชีวิต

เมื่อเผชิญหน้ากันบ่อยเข้าก็จะกล้าเผชิญหน้า โดยไม่ตกใจหวั่นหวาดกลัวจนเกินไป

หรือความจริงคือโลกธรรม โดยเฉพาะถูกนินทา และถูกด่าถูกว่า ความผิดหวัง เป็นต้น ท่านให้สู้ความจริงนั้นด้วยให้รู้ความจริงและด้วยขันติธรรม ข้อนี้มีเรื่องของพระพุทธองค์เป็นตัวอย่างคือ เมื่อเสด็จไปกรุงโกสัมพี เมื่อพระองค์เสด็จออกบิณฑบาตในวันแรก พระองค์ถูกคนด่ามาก จนพระอานนท์ทนไม่ไหว จึงกราบทูลให้เสด็จหนีไปเมืองอื่น ถ้าที่เมืองนั้นถูกคนด่าอีก ก็หนีไปเมืองอื่นๆ ต่อไปอีก พระพุทธองค์ตรัสว่า เรื่องเกิดที่ไหนก็อยู่สู้ที่นั่น ต้องทนเหมือนช้างเข้าสงคราม ทนต่อลูกศรที่มาจากสี่ทิศ

ความชนะ
ทุกคนต้องการความชนะ ในเรื่องความชนะนี้พระพุทธองค์ตรัสไว้มากเช่นกัน แต่สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงสอนให้เอาชนะให้ได้นั้นคือ ตัวเอง โดยชนะกิเลส หรืออารมณ์ของตน ดังที่ตรัสไว้ในที่หลายแห่ง เป็นต้นว่า ในธรรมบท ขุททกนิกาย ความไทยว่า การชนะตนเองครั้งเดียว ประเสริฐกว่าการชนะสงครามตั้งล้านครั้ง และการชนะตนเองดีที่สุด เพราะการชนะตนเองนั้น ทำให้เรื่องที่ทำท่าจะยาวกลายเป็นสั้น ทำให้เกิดสันติสุข ทั้งแก่ตนเองทั้งแก่ผู้อื่น และตรัสว่า ควรชนะคนโกรธด้วยความไม่โกรธตอบ ควรชนะความชั่วด้วยความดี ควรชนะคนตระหนี่ด้วยการให้ ควรชนะคนพูดเหลวไหลด้วยสัจจวาจา

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

พรหมลิขิต กรรมลิขิต

บางคนเข้าใจว่า คนจะดีจะเลวแล้วแต่ชะตาชีวิตที่พระพรหมลิขิต คือ เขียนไว้ ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ทุกคนก็ต้องเป็นคนดี มีสติปัญญาดี มีรูปดี มีอะไรๆ ดีทุกอย่าง จะไม่ดีบ้าง ชั่วบ้าง จนบ้าง มั่งมีบ้าง รูปงามบ้าง ขี้เหร่จนดูไม่ได้บ้าง เป็นอัมพาตบ้าง เป็นมะเร็งทนทุกข์ทรมานบ้าง อย่างที่เห็นและเป็นกันอยู่ ทั้งนี้เพราะอะไร ก็เพราะพระพรหมนั้น ตามที่พูดๆ กันว่า ท่านมีเมตตา กรุณา ปรารถนาดีต่อผู้อื่น เป็นเอกลักษณะของท่าน เมื่อท่านเป็นผู้สามารถลิขิตเองได้จริงๆ ทุกคนก็ต้องไม่ดีบ้าง เลวบ้าง อย่างที่เป็นอยู่นี้ เพราะผิดเอกลักษณะของท่าน คนที่มีเมตตากรุณานั้น มีแต่อยากให้ผู้อื่นเป็นสุข ก็เมื่อไม่ใช่พระพรหมลิขิตแล้ว ใครเล่าจะลิขิต ผู้ลิขิตนั้นในพระพุทธศาสนาแสดงว่ามนุษย์เองเป็นผู้ลิขิตด้วยการกระทำของมนุษย์เอง จึงเรียกว่า กรรมลิขิต

ข้อนี้พระองค์ได้ตรัสไว้ ความไทยว่า กรรม คือการกระทำ ย่อมจำแนกสัตว์(หมายรวมทั้งคนทั้งสัตว์) ให้ดีบ้าง เลวบ้าง เป็นต้น ดังที่กล่าวไว้ในเรื่องกรรม(ดูเรื่องกรรม)

มตินี้ใครจะเชื่อหรือไม่ก็แล้วแต่ เพราะเป็นสิทธิของแต่ละคนที่จะมีมติหรือเชื่อ พระพุทธเจ้าก็ไม่เคยทรงบังคับใครให้เชื่อพระองค์

มีผู้หนึ่งทูลพระพุทธองค์ว่า น่าจะประทับนั่งบนอาสน์ที่มีค่า พระพุทธองค์ตรัสว่า พระองค์ประทับนั่งบนทิพยอาสน์บ้าง บนพรหมอาสน์บ้าง บนอริยอาสน์บ้าง(ซึ่งวิเศษกว่าอาสน์ที่ท่านผู้นั้นกล่าว) และทรงอธิบายว่า เมื่อพระพุทธองค์ประทับบนอาสน์ใด บำเพ็ญฌาน ๔ อาสน์นั้นก็เป็นทิพยอาสน์ ประทับบนอาสน์ใด บำเพ็ญพรหมวิหาร อาสน์นั้นก็เป็นพรหมอาสน์ ประทับบนอาสน์ใด พิจารณากิเลสที่ทรงละได้แล้ว อาสน์นั้นก็เป็นอริยอาสน์

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

เสรีภาพในการนับถือศาสนา

ในพระพุทธศาสนาแสดงว่า ใครจะนับถือพระพุทธศาสนาหรือไม่ก็แล้วแต่เขา ไม่มีการบังคับ ไม่มีการใช้นรกเข้าขู่ หรือใช้สวรรค์เข้าล่อ การขึ้นสวรรค์ ลงนรก เป็นเรื่องเนื่องจากการกระทำของคนนั้นๆ คนที่นับถือพระพุทธศาสนาแต่ทำชั่ว เช่น ฆ่าเขา ลักเขา แม้ทำเพื่อพระพุทธศาสนาก็ถือว่าเป็นความชั่ว เพราะเมื่อทำชั่วก็ต้องเป็นความชั่ว เมื่อทำดีก็ต้องเป็นความดี ไม่ว่าผู้ทำจะนับถือพระพุทธศาสนาหรือศาสนาใดๆ แม้แต่ทางกฎหมายก็ยังไม่ยอมในเมื่อมีการฆ่าคนเพื่อศาสนา และเมื่อมีคนด่าว่าพระพุทธเจ้าบ้าง สรรเสริญบ้าง พระพุทธองค์กลับทรงสอนพุทธบริษัทว่า อย่าไปยินร้ายโกรธเขา หรือดีใจ ควรวางใจเป็นกลางๆ

เมื่อมีคนสำคัญ เช่น สีหเสนาบดี กับอุบาลีคฤหบดี ซึ่งนับถือศาสนาอื่นมาก่อน แล้วกลับมานับถือพระรัตนตรัย พระองค์กลับทรงท้วงเขาถึง ๓ ครั้ง ให้เขาคิดดูให้ดีก่อน ก่อนที่จะเปลี่ยนศาสนา เลิกจากศาสนาเดิมมานับถือพระรัตนตรัย

การทำความดี-การบำเพ็ญประโยชน์
ในพระพุทธศาสนาสนอให้คนทำความดี เพื่อความดีของตนเองบ้าง ของผู้อื่นบ้าง ดูพฤติกรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง หรือเป็นข้ออ้างอิง คือ พระพุทธองค์เสด็จจาริกไปสอนผู้อื่นเพื่อความดีของเขา โดยมิได้หวังอะไรเป็นเครื่องตอบแทน ไม่ว่าจะเป็นลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เพราะทรงพอแล้ว และไม่มีกิเลสอันเป็นเหตุให้หวังผลตอบแทนอย่างนั้น พระองค์ทรงสอนคนที่เลวให้เป็นคนดี สอนคนที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งๆ ขึ้น การทำดีอย่างนี้เป็นการทำเพื่อความดีของผู้อื่นทั้งนั้น เป็นการบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น โดยมิได้หวังการตอบแทนใดๆ ดังนั้นการบำเพ็ญประโยชน์ของพระองค์จึงมีลักษณะบริสุทธิ์ที่สุด มีแต่ให้ ไม่มีหวังผลตอบแทนเป็นส่วนพระองค์เลย

ผู้สร้างชาติภพ
ในพระพุทธศาสนาแสดงว่า กิเลส(กรรม วิบาก คือผลของกรรม) เป็นผู้สร้างชาติภพ เช่น ในบาลีธรรมบท ขุททกนิกาย พระพุทธองค์ตรัสไว้ ความไทยว่า เมื่อยังไม่ประสบความรู้จริง(ญาณ) เราแสวงหากิเลสตัณหา ซึ่งเป็นผู้สร้างบ้านเรือน คือ ชาติ ภาพ ได้ท่องเที่ยวไปสู่สังสารวัฏ มีอันต้องเกิดแล้วเกิดอีกครั้งแล้วครั้งเล่า

แม้ในที่อื่นอีกเป็นอันมาก เป็นต้นว่า ในมหานิทานสูตร และในมหาวรรค ทีฆนิกาย ก็ได้กล่าวถึงเรื่องหฏิจจสมุปบาท(คือเรื่องผลนั้นๆ อาศัยเหตุนั้นๆ เกิดมี เช่น ความแก่ ความตาย มีเพราะชาติ คือความเกิด ชาติมีเพราะภพ ภพมีเพราะความยึดถือ ดังนี้เป็นต้น)

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

พระพุทธเจ้าไม่ใช่เทพไม่ใช่มนุษย์

พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์มิใช่เทพ มิใช่คนธรรพ์ มิใช่ยักษ์ มิใช่มนุษย์ ข้อนี้มีหลักฐานจากบาลีในจตุกกนิบาต อังคุตตรนิกาย ความไทยโดยย่อว่า

ที่ระหว่างเมืองอุกกัฏฐะกับเมืองเสตัพยะ โทณพราหมณ์ได้พบพระพุทธเจ้า แต่ไม่รู้จัก เห็นพระพุทธองค์มีลักษณะ คือ มีรอยพระบาทอันน่าอัศจรรย์ จึงทูลถามว่า เป็นเทพหรือ เป็นคนธรรพ์หรือ เป็นยักหรือเป็นมนุษย์หรือ พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า ไม่ใช่ๆ ทุกคำถาม

พราหมณ์จึงทูลถามว่า แล้วเป็นอะไร พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า เพราะละอาสวะเหล่าใดไม่ได้ เราจึงต้องเกิดเป็นเทวดา ต้องเกิดเป็นคนธรรพ์ ต้องเกิดเป็นยักษ์ ต้องเกิดเป็นมนุษย์ ดังนี้ อาสวะเหล่านั้น เราละได้ขาดแล้ว ดอกบัวเกิดในน้ำ ขึ้นพ้นน้ำ น้ำไม่ติดมาฉันใด เราเกิดในโลก โลกไม่ติดเรา เราไม่ติดโลกฉันนั้น จงรู้ว่าเราเป็นพุทธะเถิด

ข้อนี้แสดงว่า ทางพระพุทธศาสนาถือว่า เมื่อยังมีกิเลสอยู่ ก็เรียกว่าเป็นเทวดา เป็นมนุษย์ เป็นสัตว์ เป็นต้น แล้วแต่จะเกิดเป็นอะไร พอละกิเลส ไร้กิเลสแล้ว ก็พ้นจากความเป็นเทวดา เป็นต้น

ในพระพุทธศาสนาแสดงว่า เทพเจ้านั้น คือ ผู้เป็นตัวอย่างของผู้ได้รับผลของการกระทำดี(กุศลกรรม) อย่างสูง มิใช่เป็นเทพเจ้าผู้สร้างสิ่งทุกๆ อย่าง ทั้งมีมากองค์ และยังแบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ อุปปัตติเทพ สมมติเทพ และวิสุทธิเทพ

อุปปัติเทพ คือ เทพเจ้าในสวรรค์ หรือวิมานนั้นๆ เป็นพวกอทิสสมานกาย คือ ไม่เห็นตัว(ด้วยตาธรรมดา)

สมมติเทพ คือ พระมหากษัตริย์หรือคนชั้นสูง

วิสุทธิเทพ คือ ผู้ไร้กิเลส เป็นเทพที่วิเศษที่สุด สูงกว่าเทพชนิดอื่น ข้อนี้แสดงว่า ในพระพุทธศาสนานี้ถือว่า

๑. คนมีโอกาสเป็นเทพเจ้าได้ทั้งเป็น โดยมิต้องรอให้ตายก่อนแล้วจึงไปเกิดเป็น

๒. เทพเจ้าบนสวรรค์ มิใช่จะวิเศษเสมอไป ยังสู้คนบางประเภท คือ ผู้ไร้กิเลสไม่ได้

๓. ศาสนานี้ ถือความดีเป็นสำคัญ

ความกลัว
เรื่องความกลัวนี้มีมาก แต่พระพุทธองค์ทรงสอนให้กลัวเกรงตัวเอง เพราะเมื่อกลัวเกรงตัวเองแล้ว คนอื่นสิ่งอื่นก็ไม่มีปัญหา หรือมีก็น้อย และการที่ทรงสอนเรื่องความละอายตนเอง(หิริ) เกรงกลัวตนเอง(โอตตัปปะ) ย่อมเป็นการแสดงว่า การอายตนเอง การเกรงกลัวตัวเองสำคัญกว่าการอายและเกรงกลัวคนอื่น สิ่งอื่น การเกรงเขาว่านั้น เมื่อเขาไม่รู้ไม่เห็น คนก็ทำชั่วได้ แต่ถ้าเกรงตัวเองแล้ว คนอื่นจะเห็น ไม่เห็น ตนเองก็ไม่ทำชั่ว เพราะเกรงตัวเอง

ตนเอง-ใจ
เรื่องเกี่ยวกับตนและใจนี้ เพียงในธรรมบท ขุททกนิกายเท่านั้น ก็ได้มีกล่าวไว้เป็นอันมาก ความไทยเป็นต้นว่า

๑. ตนเป็นที่พึ่งของตน
๒. สอนคนอื่นอย่างไร ต้องทำตนอย่างนั้น
๓. ก่อนจะสอนผู้อื่น ตนต้องทำตัวให้ดีก่อน
๔. พึงเตือนตนเอง พึงพิจารณาตนเอง
๕. ผู้ใดมีปัญญาทราม อาศัยมิจฉาทิฏฐิ คัดค้านคำสอนของพระอริยเจ้าผู้เป็นอรหันต์ผู้เป็นอยู่โดยธรรม ทิฏฐิของเขาย่อมให้ผลฆ่าตนเอง ดุจขุยไผ่ฆ่าต้นไผ่

เกี่ยวกับการรับผิดชอบในการกระทำของตนเองนั้น มีพระบาลีในธรรมบท ขุททกนิกาย ความไทยว่า เขาทำชั่วด้วยตนเอง เขาก็เศร้าหมองเอง เขามิได้ทำความชั่วเอง เขาก็บริสุทธิ์(จากความชั่ว)เอง ความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์เป็นของเฉพาะตน คนอื่นจะทำให้เขาบริสุทธิ์ไม่ได้

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

สาเหตุที่ทำให้อายุยืนหรือสั้น, เรื่องฤกษ์ยาม

วิธีทำให้อายุยืน อายุสั้น
คนทั่วไปมักต้องการให้มีอายุยืนกันทั้งนั้น ไม่มีใครที่ต้องการให้ตัวเองมีอายุสั้น สาเหตุที่ทำให้อายุสั้นและอายุยืน ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้มีดังนี้

เหตุทำให้อายุสั้น คือ
๑. สร้างความทุกข์กาย-ใจ แก่ตนเอง
๒. ไม่รู้จักพอในการหาความสุข
๓. กินของย่อยยากและแสลงต่อสุขภาพ
๔. เสียความประพฤติ ชอบฆ่าสัตว์ เป็นต้น
๕. ชอบเที่ยวไปในที่ไม่ควร

ถ้าทำเช่นนี้อายุก็จะสั้นแน่นอน และพระองค์ทรงแสดงเหตุที่ทำให้อายุยืนคือ
๑. ทำความสงบกาย-ใจ แก่ตน
๒. รู้จักประมาณในการหาความสุข
๓. กินของย่อยง่ายมีประโยชน์
๔. มีความประพฤติดี มีศีล ไม่ชอบการฆ่าสัตว์ เป็นต้น
๕. มีเพื่อนดีคอยแนะนำตักเตือน

ถ้าปฏิบัติได้ดังนี้ก็จะทำให้มีอายุยืนขึ้น แต่ถ้าเป็นเรื่องของกรรมเก่าก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เรื่องฤกษ์ยาม
ในพระพุทธศาสนาแสดงถึงเรื่องถือฤกษ์ยามว่า เมื่อทำดีแล้วเมื่อไร ก็เป็นความดีเมื่อนั้น เป็นฤกษ์ดี เป็นมงคล เป็นขณะดีเมื่อนั้น เมื่อทำชั่วเมื่อไร ก็เป็นความชั่วเมื่อนั้น เป็นฤกษ์เลว เป็นขณะเลว เมื่อนั้น

และแสดงว่า ประโยชน์ย่อมผ่านเลยคนโง่ ผู้มัวถือฤกษ์ถือยาม ประโยชน์เป็นตัวฤกษ์ของประโยชน์ ดาวทั้งหลายจะทำอะไรได้

แม้ในคุณสมบัติของพุทธศาสนิกชน ๕ ประการ ข้อ ๓ ก็กล่าวไว้ว่า ไม่ถือมงคล ถือฤกษ์ ถือยาม ตื่นข่าว

ฤกษ์ดีทางพระพุทธศาสนา ก็คือ ตามความสะดวก หรือตามเวลาสะดวก หรืออยู่ที่เวลาแห่งการทำความดี ฤกษ์เลวอยู่ที่เวลาแห่งการทำชั่ว จริงอยู่ พระพุทธเจ้าทรงยอมให้พระสาวกเรียนดาราศาสตร์ ก็มิใช่เพื่อดูฤกษ์ดูยาม แต่เพื่อประโยชน์แก่การดูปักขคณนา ให้รู้วันพระวันอุโบสถ และเพื่อประโยชน์แก่การสวดปาฏิโมกข์กับทำสังฆกรรมบางอย่าง

ดังนั้น จึงสรุปว่า ในพระพุทธศาสนากำหนดเอาการทำดี ทำชั่วเป็นสำคัญ ไม่ถือฤกษ์ ในฤกษ์ดี ถ้าทำชั่วทางกายก็เป็นกายทุจริต เป็นฤกษ์ชั่วไป ในฤกษ์เลวถ้าทำดีทางวาจาก็เป็นวจีสุจริต เป็นฤกษ์ดีไป อย่างนี้ เป็นต้น

เรื่องนี้ใครจะนิยมอย่างไรก็แล้วแต่ความสะดวกใจ ถ้าไม่เกิดเสียหายแล้ว ก็ให้เป็นเรื่องเสรีทางความเชื่อ

พระพุทธเจ้าไม่ทรงวิวาท และไม่ทรงสอนให้วิวาทกับใคร เพราะกาม และทิฏฐิความเห็น

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

หลักตัดสินคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา

พระพุทธเจ้าทรงทราบดีว่าต่อไปภายหน้าจะต้องมีผู้นำคำสั่งสอนภายนอกเติมเข้ามาในสัตถุศาสน์ของพระองค์แน่ ดังนั้น เพื่อให้มีเครื่องตัดสินว่าคำสอนนั้นๆ เป็นคำสอนของพระองค์ หรือเป็นคำสอนที่พระพุทธศาสนาควรยอมรับว่า ใช้ได้ หรือถูกต้องเข้ากันได้หรือไม่ พระพุทธองค์ทรงวางหลักสำหรับตัดสินไว้เป็นหลักทั่วไปก็มี เป็นหลักตัดสินเฉพาะพระวินัยก็มี เป็นหลักตัดสินสำหรับโลกุตรธรรมก็มีดังนี้

ในเภสัชชขันธกะมหาวรรคแห่งวินัย ทรงแสดงข้ออ้างอิงสำหรับเป็นหลักตัดสินทางวินัย ๔ ประการ เพื่อเป็นเครื่องวินิจฉัยว่าอะไรควร อะไรไม่ควร เช่น

สิ่งใดมิได้ทรงห้ามว่าไม่ควร แต่เข้ากับของที่ควรขัดกับของที่ไม่ควร สิ่งนั้นควร๑ สิ่งใดมิได้ทรงห้ามว่าไม่ควร แต่เข้ากับสิ่งที่ไม่ควร ขัดกับของที่ควร สิ่งนั้นไม่ควร๑ สิ่งใดมิได้ทรงอนุญาตว่าควร แต่เข้ากับของที่ควรขัดกับของที่ไม่ควร สิ่งนั้นควร๑ สิ่งใดมิได้ทรงอนุญาตว่าควร เข้ากับของที่ไม่ควร ขัดกับของที่ควร สิ่งนั้นไม่ควร๑ เช่น ฝิ่นเป็นของเสพติด ทำลายสุขภาพ มิได้ทรงห้ามว่าไม่ควร เพราะครั้งพุทธกาลไม่มี แต่เข้ากับของที่ไม่ควร คือ สุรา ขัดกับของที่ควร ฝิ่น จึงไม่ควรกับบรรพชิต เป็นต้น

ในมหาวรรค ทีฆนิกาย ทรงแสดงหลักการตัดสินธรรมวินัยทั่วไป ความไทยโดยย่อว่า

ถ้ามีผู้อ้างว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุศาสน์ อย่าพึงรับหรือปฏิเสธก่อน พึงเทียบเคียง สอบสวนตามธรรมวินัย ถ้าไม่ลงกัน พึงเข้าใจว่า นั่นมิใช่สัตถุศาสน์ ถ้าลงกันทั้งธรรมทั้งวินัย พึงเข้าใจว่า นั่นเป็นสัตถุศาสน์

ในอัฏฐกนิบาต อังคุตตรนิกาย กับใน จุลวรรค ทรงแสดงหลักตัดสินสำหรับโลกุตรธรรม ความไทยโดยย่อดังนี้

ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อราคะ เพื่อประกอบทุกข์ เพื่อสะสมกิเลส เพื่อความมักใหญ่ เพื่อความไม่รู้จักพอ เพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่ เพื่อความเกียจคร้าน เพื่อความเลี้ยงยาก ธรรมเหล่านี้ พึงรู้ว่า ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่สัตถุศาสน์

ธรรมที่เป็นไปโดยนัยตรงกันข้าม พึงรู้ว่า เป็นธรรม เป็นวินัย เป็นสัตถุศาสน์

ความเชื่อ
ตามปกติแล้วคนทุกคนย่อมมีความเชื่อ(ศรัทธา) ศาสนาสำคัญบางศาสนาถือว่า ความเชื่อเป็นพื้นฐานสำคัญของศาสนานั้น โดยให้เชื่อก่อนแล้วรู้เอง ดังนั้น จึงต้องบังคับให้เชื่อ แต่ในพระพุทธศาสนาสอนให้รู้ก่อนแล้วจึงเชื่อ และจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ไม่บังคับ ทั้งกับสอนไม่ให้เชื่อ ดังนี้คือ

๑. อย่าเชื่อโดยฟังตามๆ กันมา
๒. อย่าเชื่อโดยเชื่อสืบๆ กันมา
๓. อย่าเชื่อโดยเขาเล่าว่า
๔. อย่าเชื่อโดยอ้างตำรา
๕. อย่าเชื่อโดยตรึกเอาเอง
๖. อย่าเชื่อโดยคาดคะเนเอา
๗. อย่าเชื่อโดยตรึกเอาตามอาการของเรื่องนั้นๆ
๘. อย่าเชื่อโดยเห็นว่าตรงกับความเห็นของตน
๙. อย่าเชื่อโดยเห็นว่าควรเชื่อได้
๑๐. อย่าเชื่อโดยเห็นว่าผู้พูดเป็นสมณะ หรือเป็นครูของตน

เรื่องนี้อยู่ในกาลามสูตร
พระพุทธเจ้าทรงสอนไม่ให้เชื่อในอาการดังกล่าว แต่พระองค์ทรงสอนให้เชื่อความจริง(ตัวเองก็ยังเชื่อไม่ได้) ด้วยให้รู้ก่อนจึงเชื่อ ดังนั้น ในที่ใดที่ทรงสอนเรื่องความเชื่อ ในที่นั้นต้องมีสอนให้ใช้ปัญญาพิจารณาหาความจริงด้วยทุกแห่ง เช่น ในปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต อังคุตตรนิกาย เป็นต้น

สิ่งที่ควรทำเมื่อมีคนติหรือชมพระพุทธเจ้า
เรื่องนี้พระองค์ทรงแสดงว่า พุทธบริษัทอย่าโกรธ อย่าตื่นเต้นดีใจ เมื่อใครเขาติเตียนหรือชมเชยพระพุทธองค์

จิต-ใจ
ร่างกายของเรานี้ประกอบไปด้วย กายกับจิต หรือใจ ก่อนอื่นควรทำความเข้าใจในคำว่า จิต ใจ มโน มนัส วิญญาณก่อน

มีคำบาลีว่า “จิตฺตํ มโน มนสํ วิญฺญาณํ หทยํ มนํ นามาเนตานิ โวหารปเถ วตฺตนฺติ หายโต” แปลว่า ชื่อว่า จิต มนะ มนัส วิญญาณ หทัย เหล่านี้ ย่อมเป็นไปตามสำนวนโวหารสำหรับเรียกโดยมาก และในมหาวรรคขุททกนิกายก็แสดงว่า จิต มโน วิญญาณ เป็นต้นเป็นอย่างเดียวกันดังนี้ จิตฺตํ มโน มานสํ หทยํ ปณฺพรํ มนายตนํ มนินฺทฺริยํ วิญฺญาณํ วิญฺญาณกฺขนฺโธ มโนวิญฺญาณธาตุ เป็นต้น แปลว่า คำว่าจิต มนะ มนัส หทัย บัณฑร มนายตนะ มนินทรีย วิญญาณ วิญญาณักขันธ มโนวิญญาณธาตุ เป็นไวพจน์(เป็นชื่อเรียก) ของมนะ(ใจ) หมายความว่า เป็นอย่างเดียวกัน แต่ที่ต่างกันนั้นเพราะเรียกให้ต่างกันไปตามอาการและหน้าที่ ซึ่งแล้วแต่จะพิจารณา (แต่ไม่ควรมาขัดใจกันเพราะทิฏฐิความเห็นในเรื่องนี้ เพราะคนพ้นทุกข์ได้มิใช่เพราะมาเถียงกันว่า จิตกับวิญญาณนั้น เป็นอย่างเดียวกันหรือต่างกัน มีแต่ยิ่งเถียงกันยิ่งเกิดทุกข์)

ก็สิ่งหนึ่งเรียกว่า จิต เพราะทำหน้าที่สะสมและคิด เรียกว่า วิญญาณ เพราะทำหน้าที่รู้ เรียกว่า มโน มนัส มนะ เพราะทำหน้าที่นึกคิด และเรียกว่าหทัย คือ หัวใจ คำว่า ใจ เป็นคำไทยแท้ คำว่าจิต-มโนวิญญาณธาตุนั้นเป็นคำบาลี ที่เรานำมาใช้เป็นคำไทย เมื่อเรานับถือพระพุทธศาสนา ถ้าเป็นคำไทยแท้ดั้งเดิมแล้ว ก็ใจคำเดียว ใจทำหน้าที่อย่างไหน เช่น คิด นึก รู้ สะสม อะไรก็เรียกกันไปตามภาทางศาสนาก็แล้วกัน เพื่อตัดปัญหา ในที่นี้ขอใช้คำไทยว่า ใจ แทนจิต เป็นต้น

เรื่องใจเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ดังมีพุทธพจน์ปรากฏในธรรมบท ขุททกนิกาย ความไทยว่า อะไรๆ ก็มีใจเป็นสำคัญ ขึ้นอยู่กับใจ ใจมักดิ้นรน กวัดแกว่ง รักษายาก ห้ามยาก ไปได้ไกล การข่มใจได้ ย่อมให้สำเร็จประโยชน์ ใจที่คุ้มครองรักษาได้ ย่อมนำความสุขมาให้ ดังนี้เป็นต้น

พูดถึงความดีความร้าย ใจของเรานี้ ย่อมนำความดีความร้ายมาให้เรายิ่งกว่าผู้ดีผู้ร้ายเสียอีก ในข้อนี้พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในธรรมบท ขุททกนิกาย ความไทยว่า โจรเห็นโจร คู่เวรเห็นคู่เวร ย่อมทำความร้ายให้แก่กันเป็นอันมาก แต่ใจที่ตั้งไว้ผิด(คือความคิดเลว หรือเห็นผิดเป็นชอบ) ย่อมทำความร้ายแก่คนยิ่งกว่านั้น และว่าใจที่ตั้งไว้ถูกต้อง ย่อมทำความดีให้ ยิ่งกว่าพ่อแม่ญาติ และคนอื่นทำให้เสียอีก

พูดถึงความหลุดจากกิเลส ใจเป็นผู้หลุดพ้น ไม่ใช่กาย ดังความไทยในตอนสุดท้ายของอนัตตลักขณสูตรในมหาขันธกมหาวรรคว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระธรรมเทศนาจบ ใจของพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ก็หลุดพ้นจากอาสวกิเลส และมีในธรรมบท ขุททกนิกาย อีกความไทยว่า เมื่อใจเศร้าหมอง ย่อมหวังไปทุคติ เมื่อใจผ่องแผ้ว ย่อมหวังไปสุคติ ดังนี้เป็นต้น

พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องใจนี้ไว้มากอย่างยิ่ง ทำให้ความสำคัญของใจมีมากยิ่งขึ้น รวมความว่า คนจะดีจะชั่วจะไปสุคติ ไปทุคติ ถึงความดับกิเลส คือนิพพาน ก็อยู่ที่ใจเป็นตัวการสำคัญ ดังนั้น จึงต้องระวังใจ ควบคุมไว้ฝึกเอาไว้ ก็จะเป็นประโยชน์ยิ่งนัก

(ถ้าจะถามว่า เหตุใดในบาลีจึงกล่าวว่า จิตหลุดพ้นจากกิเลส ไม่กล่าวว่า วิญญาณหลุดพ้น ข้อนี้ขอชี้แจงว่าก็เพราะจิตทำหน้าที่สะสม เก็บรับกิเลส วิญญาณมีหน้าที่รู้ สิ่งที่พ้นจากกิเลส จึงต้องใช้คำว่า จิต และอย่าลืมว่าจิตนั้นเป็นสังขาร เมื่อเป็นสังขารก็ต้องไม่เที่ยงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ แม้เป็นนิพพานจิต พระนิพพานมิใช่จิต จิตก็ไม่ใช่พระนิพพาน ดังนั้น จิตก็คงเป็นสังขารอยู่นั่นเอง)

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

สาเหตุที่ผู้หญิงเป็นใหญ่ได้ยาก

เรื่องหญิงเป็นเรื่องใหญ่ พระพุทธเจ้าได้ตรัสเรื่องผู้หญิงไว้หลายเรื่อง จะนำมากล่าวบางเรื่องเท่านั้น เช่น ตรัสว่า หญิงเป็นใหญ่ยาก เพราะ

๑. เจ้าอารมณ์ เก็บอารมณ์ไว้ไม่อยู่
๒. มักริษยา เย่อหยิ่ง
๓. มักเห็นแก่ตัวมากกว่าส่วนรวม
๔. มีความเฉลียวฉลาดจำกัด ดังนั้นจึงเป็นใหญ่ยาก

สิ่งที่หญิงต้องการ
พระพุทธเจ้าทรงแสดงสิ่งที่หญิงต้องการไว้คือ
๑. เกิดในสกุลที่ดี มีฐานะดี มีรูปสวย
๒. ได้แต่งงานในวัยอันสมควร
๓. เป็นเมียคนเดียวของผัว
๔. ขอให้มีลูก
๕. ขอให้มีอำนาจเหนือผัว และทุกคนในบ้าน

แม้เรื่องนี้ จะเป็นเรื่องที่หญิงต้องการมาเมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว แต่บางคนก็ยังต้องการอยู่ในยุคปัจจุบัน

กำลังหญิง
กำลังหญิงในพระพุทธศาสนามีหลายอย่าง เช่น
๑. กำลังตะวัน
๒. กำลังเดือน
๓. กำลังสมณะ
๔. หญิงมีกำลังยิ่งกว่านั้น

ผัวกลัวเมีย
มีมาช้านานแล้วเกี่ยวกับเรื่องผู้ชายเกรงเมีย แม้แต่ในสมัยพุทธกาลก็มี ผู้ชายที่ต้องเกรงเมียและถูกเมียข่ม พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า เพราะเมียมี
๑. กำลัง คือ รูปสมบัติ
๒. กำลัง คือ โภคสมบัติ วิชาสมบัติ
๓. กำลัง คือ ญาติ
๔. กำลัง คือ บุตร
๕. กำลัง คือ ความประพฤติดีกว่าผัว ปฏิบัติผัวดี

และเพราะผัว
๑. ยากจน
๒. เจ็บไข้ ทุพพลภาพ
๓. แก่
๔. ติดของเสพติด
๕. โง่กว่าเมีย
๖. เฉื่อยชา เลอะเลือน
๗. คล้อยตามเมียทุกอย่าง
๘. ไม่ทำมาหากิน

เหตุนี้มักทำให้หญิงเบื่อผัว และมักนอกใจ หรือเลิกร้างกันไป

เมียกลัวผัว
พระองค์ทรงแสดงว่า ชายที่เมียไม่สามารถข่มได้นั้น เพราะเขามีกำลัง คือ ความเป็นใหญ่ ความเป็นอิสระแก่ตัว คือ ต้องเป็นผู้ชายจริงๆ ไม่ยอมอำนาจเมีย ในชาดกขุททกนิกาย ก็กล่าวไว้ แปลความได้ว่า
๑. ชายแม้เป็นนักปราชญ์ มหาชนนับถือ ถ้ากลัวเมียแล้วย่อมสิ้นคุณค่า ไร้สง่าราศี ดุจพระจันทร์ในวันจันทรุปราคา

๒. ชายกลัวเมีย ย่อมถูกติเตียนทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า ย่อมไปสู่ทุคติ

ผู้ชายกลัวเมีย มักไปช่างพูดนอกบ้าน แต่ในบ้านไม่ค่อยพูด มีใจขุ่นมัว มีปมด้อย เมื่อตายขณะมีใจขุ่นมัวจึงไปทุคติ

เมีย ๗ จำพวก
ในสมัยพุทธกาลมีเมียหลายประเภท ทรงแสดงไว้ดังนี้
๑. เมีย ดุจเป็นเพชฌฆาต
๒. เมีย ดุจเป็นโจร
๓. เมีย ดุจเป็นนาย
๔. เมีย ดุจเป็นแม่
๕. เมีย ดุจเป็นน้อง
๖. เมีย ดุจเป็นเพื่อน
๗. เมีย ดุจเป็นบ่าว

เมียที่นำความเดือดร้อนมาให้ผัว คือ
๑. ชอบไปเที่ยวตามสถานที่เริงรมย์
๒. ชอบไปเที่ยวตามสวนสาธารณะ
๓. ชอบไปเที่ยวตามท่าเรือ หรือชายทะเล
๔. ชอบไปค้างคืนที่บ้านญาติของตน
๕. ชอบไปค้างบ้านคนอื่น
๖. ชอบแต่งตัวมาก
๗. ติดของเสพติด
๘. ชอบเยี่ยมหน้าต่าง
๙. ชอบยืนที่ประตูบ้านและมองคน

เมียอย่างนี้ มักมีเรื่องทะเลาะกับผัว มักนอกใจ และมักต้องเลิกร้างกัน

เหตุที่หญิงอยู่กับผัวยืดยาว
ในพระพุทธศาสนาได้แสดงว่า ผัวเมียที่อยู่ด้วยกันยืดยาวจนตายจากกันนั้น เพราะเหตุว่าทั้งสองฝ่าย
๑. มีวัยพอกัน
๒. ปรองดองกัน
๓. มีความประพฤติพอกัน
๔. มีความพอใจในสิ่งต่างๆ พอกัน
๕. ไม่เป็นหมัน
๖. มีความประพฤติดี มีสกุล
๗. ปฏิบัติหน้าที่ในกันและกันดี

เหตุที่ผัวเมียตายแล้วได้พบกันอีกในชาติหน้า
ผัวเมียที่รักกันมากและปรารถนาจะได้พบกันอีกในชาติหน้า พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่า
๑. ต้องมีศรัทธาในความดีพอกัน
๒. มีความประพฤติดีพอกัน
๓. มีความเสียสละพอกัน
๔. มีสติปัญญาพอกัน
เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ย่อมมีหวังได้พบกันอีกในชาติหน้า

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา