บุคคลสำคัญทางศาสนา:สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20

ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2560 ได้มีการจัดพิธีสถาปนา สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 ในรัชกาลที่ 10สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่20

งานพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ได้จัดขึ้นในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 เวลา 17.00 น. ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับแจ้งการพิจารณาจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อคืนวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ว่า ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระมหามุณีวงศ์ วัดราชบพิธ ขึ้นรับตำแหน่งดังกล่าว ท่านนายกรัฐมนตรี จึงได้ชี้แจงให้สื่อมวลชนได้ทราบโดยทั่วกันในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ประวัติ สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20
ชื่อเดิมของสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) ชื่อว่า อัมพร ประสัตถพงศ์ เกิดในครอบครัวที่มีอาชีพค้าขายเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2470 ณ ต. บางป่า อ.เมือง จ.ราชบุรี มีโยมบิดาชื่อ นายนับ ประสัตถพงศ์ โยมมารดาชื่อ นางตาล ประสัตถพงศ์ เข้าเรียนจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนเทวานุเคราะห์ กองบินน้อยที่ 4 ต.โคกกระเทียม อ.เมือง จ.ลพบุรี

การบรรพชาอุปสมบท
เมื่อปี พ.ศ. 2480 ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดสัตตนารถปริวัตรวรวิหาร ต. หน้าเมือง อ. เมือง จ. ราชบุรี โดยมีพระอุปัชฌาย์คือ พระธรรมเสนานี (เงิน นนฺโท)

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2491 ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยมีพระอุปัชฌาย์ คือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) และมีพระกรรมวาจาจารย์ คือ พระจินดากรมุนี (ทองเจือ จินฺตากโร)

การศึกษาพระปริยัติธรรม
สามเณรอัมพร ประสัตถพงศ์ ไปศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมและจำพรรษาที่วัดตรีญาติ ต.พงสวาย จนสามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรีในปี พ.ศ. 2483 ปีพ.ศ. 2484 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นโท และปี พ.ศ. 2486 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอก และสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค เมื่อพ.ศ. 2488 สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค

เมื่อปี พ.ศ. 2490 พระจินดากรมุนีหรือสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร) ได้นำท่านมาฝากกับสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) สกลมหาสังฆปริณายก จึงได้จำพรรษาอยู่ที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ในขณะนั้น

ในปี พ.ศ. 2491 ได้เข้าศึกษาพระปริยัติธรรม ในสำนักเรียนวัดราชบพิธฯ จนสามารถสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค และสามารถสอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยคในปี พ.ศ. 2493

เมื่อปี พ.ศ. 2500 ได้จบศาสนศาสตรบัณฑิตรุ่นที่ 5 จากการเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และได้เดินทางไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยพาราณสี(Banaras Hindu University) ประเทศอินเดีย จนจบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีในปี พ.ศ. 2512

ในปี พ.ศ. 2552 ได้รับการถวายศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์ จากสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

ปี พ.ศ. 2553 ได้รับการถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาธรรมนิเทศ จากสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

ตำแหน่งปัจจุบัน
เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
กรรมการมหาเถรสมาคม
กรรมการคณะธรรมยุต
กรรมการเถรสมาคมคณะธรรมยุต
ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 14-15 (ธรรมยุต)
แม่กองงานพระธรรมทูต

สมณศักดิ์
พ.ศ. 2514 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระปริยัติกวี
พ.ศ. 2524 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชสารสุธี
พ.ศ. 2533 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเมธาภรณ์
พ.ศ. 2538 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมเมธาภรณ์
พ.ศ. 2543 เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองที่ พระสาสนโสภณ
พ.ศ. 2552 เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์

หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท พระอริยสงฆ์สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท หรือพระครูสุทธิธรรมรังษีแห่งวัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม ต.คลองควาย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี มีนามเดิมว่า เจี๊ยะ โพธิกิจ เกิดที่บ้านคลองน้ำเค็ม ต. คลองน้ำเค็ม อ. แหลมสิงห์ จ. จันทบุรี ตรงกับวันอังคารที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2459 ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 7 ปีมะโรง มีบิดาชื่อนายซุ่นแฉ่ โพธิกิจ ส่วนมารดาชื่อนางแฟ โพธิกิจ ซึ่งบรรพบุรุษของท่านได้อพยพเข้ามาจากประเทศจีน และท่านก็ได้เป็นกำลังสำคัญให้กับทางบ้านเมื่อเรียนจบชั้นป.4 ด้วยการช่วยพ่อแม่ทำการค้าขายหลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท

ท่านได้เข้าอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดจันทนาราม อ.เมือง จ.จันทบุรี เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 โดยมีพระครูครุนารถสมาจารเป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูพิพัฒน์พิหารการ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ท่านพ่อลี ธัมมธโร เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และได้รับฉายาในทางพระพุทธศาสนาว่า “ จุนฺโท ” ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้หมดกิเลสเครื่องร้อยรัด”

ด้วยอุปนิสัยที่ท่านเป็นคนโผงผาง พูดจาตรงไปตรงมาไม่ค่อยสนใจใคร จึงทำให้ถูกสบประมาทไว้ก่อนบวชว่า ท่านคงบวชไม่ได้ หรือบวชได้ไม่ครบพรรษา

หลวงปู่เจี๊ยะได้มาพักจำพรรษาที่วัดทรายงาม อ.เมือง จ.จันทบุรี ซึ่งมีพระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ เป็นเจ้าอาวาสอยู่ในขณะนั้น ได้ศึกษาธรรมจากอาจารย์กงมา จิรปุญโญ และท่านพ่อลี ธัมมธโร ผู้ซึ่งเป็นศิษย์เอกของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

ในพรรษาแรกของการบวชท่านมักจะหลบเข้าไปนอนด้วยความขี้เกียจ แต่ท่านก็นึกตำหนิตัวเองเมื่อมาถึงกลางพรรษาว่า ถ้าทำแบบนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับฆราวาส เป็นพระที่ไม่ควรให้ชาวบ้านกราบไหว้บูชา จึงตั้งสัจจะบารมีในพรรษาที่ 2 ด้วยการถือธุดงค์ปฏิบัติ ซึ่งจะบำเพ็ญความเพียรตลอดช่วงระยะเวลา 3 เดือน โดยจะไม่นอนในตอนกลางคืน ส่วนในตอนกลางวันจะพักผ่อนบ้างเพียงเล็กน้อย ท่านประกอบความเพียรด้วยการเดินจงกรม นั่งสมาธิเจริญภาวนา และตั้งสัจจะว่า “ ข้าพเจ้าจะถือเนสัชชิคือการไม่นอนตลอดทั้งพรรษา ในเวลาค่ำคืนไม่นอน ด้วยพุทธานุภาพ ธัมมานุภาพ สังฆานุภาพ ถ้าแม้นว่าข้าพเจ้าไม่ทำตามสัจจะนี้ ขอให้ข้าพเจ้าถูกฟ้าผ่าตาย ถูกไฟไหม้ตาย ถูกแผ่นดินสูบ ถูกน้ำท่วมตาย ” จนกระทั่งในพรรษาที่ 3 ขณะที่ท่านปฏิบัติอยู่ใต้ต้นกระบก จิตของท่านเกิดการรวมครั้งใหญ่ทำให้กายกับใจแยกออกจากกันเหลือเพียงความบริสุทธิ์ ท่านจึงอุทานในใจว่า ได้พบสิ่งที่ประเสริฐแล้ว

ต่อจากนั้น ท่านก็ได้กราบลาพระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ และท่านพ่อลี ธัมมธโร เพื่อออกเดินทางไปพบหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่จ.เชียงใหม่ เพื่อเล่าเหตุการณ์ทั้งหมดและจะได้ขอแนวทางการปฏิบัติเพื่อความเจริญก้าวหน้าต่อไป โดยการเดินทางครั้งนี้ได้มีท่านพ่อเฟื่อง โชติโก เป็นสหธรรมิกร่วมเดินทางไปด้วย

หลวงปู่เจี๊ยะได้เข้าพักที่วัดเจดีย์หลวงเมื่อถึง จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีสมเด็จพระมหาวีระวงศ์(พิมพ์ ธัมมธโร) เป็นเจ้าอาวาสอยู่ในขณะนั้น โดยให้หลวงปู่เจี๊ยะเข้าไปพักใต้เจดีย์ที่มีทางลอดแคบๆ พอนอนได้ เมื่อท่านเอนกายลงนอนก็มีผีเปรตตัวดำใหญ่มายืนคร่อมตัวท่าน เมื่อท่านบริกรรมคาถามันก็ไม่มารบกวนอีกจนสว่าง มีพระหลายๆ องค์บอกว่าหากใครเข้าไปนอนในนั้นจะต้องหนีตายออกมาทุกราย ก็มีแต่หลวงปู่เจี๊ยะนี่แหละที่อยู่ได้ นับตั้งแต่วันนั้นก็ไม่การหลอกหลอนของผีเปรตอีกต่อไป

หลวงปู่เจี๊ยะออกเดินทางต่อหลังจากพักอยู่วัดเจดีย์นานพอสมควรแล้ว โดยมุ่งหน้าไปทาง อ.พร้าว ท่านต้องเดินเท้าเปล่าข้ามป่าเขา เป็นการเดินทางที่ทุกข์ทรมานที่สุดในชีวิต ท่านได้รำพึงรำพันถึงหลวงปู่มั่นว่าขอให้ได้พบโดยเร็ว ด้วยรู้ว่าหลวงปู่มั่นเป็นผู้รู้วาระจิตได้ เมื่อสอบถามชาวบ้านแถวบ้านแม่กอย จึงได้รู้ว่าท่านพักอยู่ที่วัดร้างป่าแดง จึงรีบเดินทางไปพบ และกราบถวายตัวเป็นลูกศิษย์อยู่ที่นั่น

ในปี พ.ศ. 2482 ได้มีหนังสือนิมนต์จากท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) ขอให้หลวงปู่มั่นกลับไปภาคอีสาน หลวงปู่เจี๊ยะจึงเดินทางไปกับท่านด้วย หลวงปู่มั่นได้เข้าพักที่วัดป่าสาลวัน อ.เมือง จ.นครราชสีมา แล้วย้ายไปวัดโนนนิเวศน์ วัดป่าบ้านโคก และวัดป่าบ้านผือนาใน อ.พรรณานิคม จ. สกลนคร

เมื่อครั้งที่หลวงปู่เสาร์ป่วยหนัก ก็ได้มีจดหมายมานิมนต์อาจารย์มั่นให้ไปหาที่วัดดอนธาตุ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ซึ่งในขณะนั้นหลวงปู่มั่นได้พักอยู่ที่วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร หลวงปู่เจี๊ยะได้รับมอบหมายให้ไปแทน ได้มีโอกาสอุปัฏฐากจนหลวงปู่เสาร์มีอาการดีขึ้น หลวงปู่เสาร์เกิดป่วยหนักอีกครั้งขณะที่เดินทางไปประเทศลาวเพื่อทำบุญอุทิศให้พระอุปัชฌาย์ ซึ่งขณะนั้นเดินทางมาถึงนครจำปาศักดิ์แล้ว เมื่อหลวงปู่เจี๊ยะรู้ข่าวก็ได้ไปรับท่านมายังวัดอำมาตย์ ขณะที่หลวงปู่เสาร์กราบพระในอุโบสถ ท่านก็ได้มรณภาพลง หลวงปู่เจี๊ยะก็ได้จัดการเรื่องงานศพให้ สมกับที่เป็นตัวแทนของพระอาจารย์มั่น

ในปี พ.ศ. 2492 หลวงปู่เจี๊ยะได้ธุดงค์มาแถบเชิงเขาบายศรี อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ซึ่งเป็นป่าทึบที่ชุกชุมไปด้วยสัตว์ป่าและไข้มาลาเรีย ขณะที่ท่านเป็นไข้มาลาเรียอย่างหนักก็ได้เร่งภาวนาสละชีวิต เมื่อจิตมีอิสระจากการปล่อยวางอวิชชาก็ถูกทำลายไปสิ้น เกิดมหาสติ มหาปัญญาทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้ยินเสียงเทวบุตร เทวธิดา อนุโมทนาสาธุการไพเราะไปทั่วโลกธาตุ ประจักษ์แก่ใจอย่างแท้จริงว่าพระพุทธเจ้าอยู่ที่ใด และคำว่าพุทธสาวกก็ได้ประจักษ์ชัดขึ้นในเวลานั้น

หลวงปู่เจี๊ยะเป็นผู้ที่บริสุทธิ์หลุดพ้นไปแล้ว แต่การแสดงออกภายนอกบางอย่าง อาจทำให้ผู้พบเห็นมองว่าไม่เหมาะสม เช่น การโบกรถสิบล้อ ที่ท่านมักไปยืนห่มจีวรอยู่กลางถนน บางครั้งรีบเร่งห่มจีวรในขณะโบกรถจนต้องใช้เท้าโบกแทน พร้อมกับตะโกนให้รถหยุด หากรถไม่หยุดก็จะตะโกนด่าตามหลัง เป็นต้น

หลวงปู่เจี๊ยะ มักมีครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียงสายกรรมฐานมาเยี่ยมอยู่เสมอๆ เช่น
-หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม วัดอรัญญวิเวก อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม
-หลวงปู่หลุย จันทสาโร วัดถ้ำผาบิ้ง อ.วังสะพุง จ.เลย
-หลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดป่าสัมมานุสรณ์ อ.วังสะพุง จ.เลย
-หลวงปู่สาม อกิญจโน วัดป่าไตรวิเวก อ.เมือง จ.สุรินทร์
-หลวงพ่อพุธ ฐานิโย วัดป่าสาลวัน อ.เมือง จ.นครราชสีมา
-หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ วัดป่าเขาน้อย อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เป็นต้น
พระอาจารย์เจี๊ยะ จุนฺโท ท่านเป็นพระสำคัญที่คนส่วนใหญ่มักไม่รู้ แต่เมื่อเห็นพระองค์สำคัญๆ มาเยี่ยมก็ต้องแปลกใจตามๆ กันไป ท่านเคยฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงปู่ขาว อนาลโยด้วย เนื่องจากได้ฟังเรื่องราวมาจากหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ว่าหลวงปู่ขาว อนาลโย เป็นผู้หมดจดจากกิเลสแล้ว

หลวงตามหาบัวได้พูดถึงหลวงปู่เจี๊ยะว่า สมัยอยู่ป่าบ้านโคกด้วยกัน หลวงปู่เจี๊ยะเป็นศิษย์ที่ชอบแหย่อาจารย์ ท่านเป็นคนตรง บางครั้งเถียงกันหน้าดำหน้าแดง แต่สักพักก็นั่งคุยกันเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

มีผู้หญิงคนหนึ่งขอให้หลวงปู่เจี๊ยะเป่ากระหม่อม เพื่อให้ตัวเองหนังเหนียวฟันแทงไม่เข้า ท่านก็บอกว่าสิ่งแบบนี้มันไม่จีรังยั่งยืน แต่หญิงคนนั้นก็ยังยืนยันคำเดิม ท่านจึงเป่าให้เพื่อปัดความรำคาญ ต่อจากนั้นประมาณ 2 สัปดาห์ มีรถพยาบาลวิ่งเข้ามาจอดหน้ากุฏิท่าน ร้องขอให้ท่านถอนวิชาหนังเหนียวให้ เพราะปวดใส่ติ่งที่กำลังจะแตก แต่หมอไม่สามารถผ่าหรือฉีดยาลงไปในเนื้อได้ ท่านจึงเป่าถอนให้ แพทย์ก็นำไปรักษาได้ปกติ

วาจาสิทธิ์ของหลวงปู่เจี๊ยะ เป็นเรื่องที่อัศจรรย์มาก ซึ่งในครั้งที่ท่านเดินทางไปประเทศสิงคโปร์ ได้พาญาติโยมนั่งสมาธิคราวละ 2 ชั่วโมง จนเป็นที่แปลกใจว่าพระแก่ๆ ทำไมถึงนั่งได้นานขนาดนี้ มีวันหนึ่งที่ท่านตื่นเช้ากว่าปกติและบอกว่าวันนี้ถ้าใครเข้ามาจะอธิษฐานอะไรก็สมหวัง หลังจากแสดงธรรมจบก็บอกให้ทุกคนอธิษฐานเอาว่าอยากได้อะไร จะสมหวังกันทุกคน มีโยมคนหนึ่งอธิษฐานขอถูกรางวัลที่ 1 แล้วก็ได้จริงๆ ส่วนคนอื่นๆ ก็สมความปรารถนาไปตามๆ กัน ในบางครั้งแม้ท่านพูดว่าวันนี้ใครจะมาหาท่าน เขาก็มาจริงๆ

เส้นเกศาของหลวงปู่เจี๊ยะกลายเป็นพระธาตุสวยงาม เรื่องนี้เกิดขึ้นกับเจ้าของโรงกลึงไม้คนหนึ่งแถวหัวลำโพง เขาสงสัยว่าทำไมพระจึงนำไม้ไปจ้างกลึงด้ามขวานคราวละมากๆ เมื่อใกล้ถึงงานวันเกิดหลวงปู่เจี๊ยะ ก็ได้เข้าไปกราบไหว้ที่วัดบ้างโดยขณะนั้นไม่ได้มีความเลื่อมใสแต่อย่างใด พระจึงให้เส้นเกศาหลวงปู่มาเป็นที่ระลึก ตั้งบูชาไว้บนหิ้งพระ ในวันหนึ่งที่ทำความสะอาดหิ้งพระก็สังเกตเห็นเกศาหลวงปู่กลายเป็นพระธาตุสวยงาม จึงเกิดความเสื่อมใส่ศรัทธามากขึ้น เมื่อมีพระนำไม้ไปกลึงด้ามขวานในงานของหลวงปู่เจี๊ยะในโอกาสต่างๆ ก็จะทำให้ฟรีหมด เพราะเชื่อว่าทำให้กับพระอรหันต์

ในสมัยที่หลวงปู่เจี๊ยะอยู่กับหลวงปู่มั่นที่เชียงใหม่ หลวงปู่มั่น ได้มอบฟันที่หลุดในขณะล้างหน้าให้กับหลวงปู่เจี๊ยะเก็บไว้ ซึ่งต่อมาก็ได้กลายเป็นพระธาตุ ด้วยความรักและเคารพต่อพระอาจารย์มั่น หลวงปู่เจี๊ยะจึงได้สร้างเจดีย์บรรจุทันตธาตุของพระอาจารย์มั่นขึ้น ที่วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม โดยนิมนต์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน มาเป็นประธาน และครูบาอาจารย์สายกรรมฐานมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก พระเจดีย์สร้างด้วยหินอ่อน มีลักษณะเป็นรูปทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ในสมัยสุโขทัย ตามที่ท่านเห็นในนิมิต เจดีย์มีความสูง 37 เมตร โดยใช้งบประมาณในการสร้างไป 50 ล้านบาท

หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท ได้เคยจัดผ้าป่าถวายเงินและทองคำช่วยชาติร่วมกับโครงการของหลวงตามหาบัวหลายครั้ง ได้มอบเงินเพื่อสร้างโรงเรียน สร้างศูนย์ฝึกอาชีพ ในพื้นที่ที่ท่านเคยธุดงค์ผ่านไปอาศัยบิณฑบาต ได้สร้างและบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่างๆ ในพระพุทธศาสนาจนนับไม่ถ้วนตลอดชีวิต ซึ่งนับเป็นประโยชน์แก่โลกและพระพุทธศาสนาอย่างมากมาย

หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท ได้ละสังขารด้วยความสงบ ณ โรงพยาบาลศิริราช ท่ามกลางความอาลัยของบรรดาศิษย์ทั่วประเทศ ในวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2547 สิริรวมอายุได้ 88 ปี 68 พรรษา

ปัจจุบัน วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม มีพระอาจารย์บุญช่วย ปัญญวัณโต ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่เจี๊ยะ ทำหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสต่อ ซึ่งท่านเป็นพระสุปฏิปันโนที่น่ากราบไหว้บูชาอีกรูปหนึ่งเช่นกัน

พุทธภาษิต

ธรรมที่เป็นภาษิต ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ก็มีเช่นกัน ซึ่งนอกเหนือจากหลักปฏิบัติอื่นๆ แล้ว จะกล่าวโดยสังเขปดังนี้

ยํ เว เสวติ ตาทิโส
คบคนเช่นใดก็เป็นเช่นนั้น

ทุกฺโข พาเลหิ สงฺคโม
คบกับคนเลว นำทุกข์มาให้

ธีโร จ สุขสํวาโส
อยู่ร่วมกับคนอี นำสุขมาให้

นาสฺมเส อลิกวาทิเน
ไม่ควรไว้ใจคนพูดพล่อยๆ

วิสฺสาสา ภยมนฺเวติ
เพราะความไว้วางใจ ภัยจึงตามมา

อติจิรํ นิวาเสน ปิโย ภวติ อปฺปิโย
เพราะอยู่ด้วยกันนานเกินไป คนที่รักก็มักหน่าย

มิตฺตทุพฺโภ หิ ปาปโก
ผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนเลวจริงๆ

ปาปมิตฺโต ปาปสโข ปาปอาจารโคจโร
ผู้มีมิตรมีเพื่อนเลว ย่อมมีความประพฤติและที่เที่ยวเลวไปด้วย

ภริยา ปรมา สขา
ภรรยาเป็นยอดมิตร

ภตฺตา ปญฺญาณมิตฺถิยา
สามีเป็นสง่าของภรรยา

โย จ ปุตฺตานมสฺสโว
บุตรผู้ว่าง่ายย่อมประเสริฐกว่าบุตรทั้งหลาย

อิตฺถี ภณฺฑานมุตฺตมํ
สตรีเป็นของดีที่สุดกว่าสมบัติทางโลกทั้งหลาย

อิตฺถี มลํ พฺรหฺมจริยสฺส
สตรีเป็นมลทินของผู้ถือพรหมจรรย์

พาโล อปริณายิโก
คนโง่ไม่ควรเป็นหัวหน้า

อุชฺฌตฺติพลา พาลา
คนเลวย่อมคอยจ้องจับผิดผู้อื่น

โย พาโล มญฺญติ พาลฺยํ ปณฺฑิโต วาปิ เตน โส
คนโง่ยอมรับว่าตัวโง่จะเป็นผู้ฉลาด เพราะความรู้ตัวนั้น

โย พาโล ปณฺฑิตมานี ส เว พาโลติ วุจฺจติ
คนโง่เข้าใจว่าตนฉลาด ท่านเรียกคนนั้นว่าคนโง่แท้

สุวิชาโน ภวํ โหติ ทุวิชาโน ปราภโว
ผู้มีวิชาดีมีความเจริญ ผู้มีวิชาเลวมีความเสื่อม

ธมฺมกาโม ภวํ โหติ ธมฺมเทสฺสี ปราภโว
ผู้ชอบธรรมเป็นคนเจริญ คนชังธรรมเป็นคนเสื่อม

ยถาวาที ตถาการี
คนดีพูดอย่างใด ทำอย่างนั้น

ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ
ในหมู่คน คนที่ฝึกตนเองดีแล้ว ดีที่สุด

อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ
ตนแล เป็นที่พึ่งของตน

นตฺถิ อตฺตสมํ เปมํ
ความรักอื่น เสมอด้วยรักตนไม่มี

อตฺตนาว กตํ ปาปํ อตฺตนา สงฺกิลิสฺสติ
ตนทำชั่วเอง ก็ย่อมหม่นหมองเอง

อตฺตานญฺเจ ตถา กยิรา ยถญฺญมนุสาสติ
ถ้าสอนคนอื่นอย่างใด ตนก็ควรทำอย่างนั้น

อตฺตนา โจทยตฺตนํ ปฏิมํเส ตมตฺตนา
พึงเตือนตนเอง พึงพิจารณาตนเอง

อตฺตานญฺจ น ฆาเตสิ
ไม่ควรฆ่าตนเองเลย

อตฺตานํ นาติวตฺเตยฺย
ไม่ควรลืมตัว

ปมาโท มจฺจุโน ปทํ
ความประมาทเป็นทางของความตาย

สุกรํ สาธุนา สาธุ สาธุ ปาเปน ทุกฺกรํ
ความดีคนดีทำง่าย แต่คนชั่วทำได้ยาก

สุกรานิ อสาธูนิ อตฺตโน อหิตานิ จ
ความชั่วและไร้ประโยชน์แก่ตน เป็นของทำง่าย

ยํ เว หิตญฺจ สาธุญฺจ ตํ เว ปรมทุกฺกรํ
การใดมีประโยชน์ด้วย ดีด้วย การนั้นทำยากนัก

นิสมฺม กรณํ เสยฺโย
ใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำดีกว่า

กาลานุรูปํ ว ธุรํ นิยุญฺเช
พึงทำธุรการงานให้เหมาะแก่กาลเวลา

กมฺมํ สตฺเต วิภชติ ยทิทํ ทีนปฺปณีตตาย
กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้ทรามบ้างดีบ้าง

กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

กมฺมุนา วตฺตตี โลโก
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม(การกระทำ)

กาเมหิ โลกมฺหิ น อตฺถิ ติตฺติ
ความอิ่มความพอด้วยกามไม่มีเลยในโลก

อิจฺฉา นรํ ปริกสฺสติ
ความอยากย่อมเสือกไสนรชน(ให้ไปทำนั่นทำนี่)

อนตฺถชนโน โกโธ โกโธ จิตฺตปฺปโกปโน
ความโกรธก่อให้เกิดความพินาศ ทำใจให้ปั่นป่วน

หนฺติ กุทฺโธ สมาตรํ
คนโกรธ ย่อมฆ่าแม่ตัวได้

มา โกธสฺส วสํ คมิ
อย่าลุอำนาจความโกรธ

โกธํ ฆตฺวา สุขํ เสติ
ฆ่าความโกรธได้ ย่อมอยู่เป็นสุข

ขนฺติ สาหสวารณา
ขันติย่อมห้ามความผลุนผลันได้

ขนฺติ หิตสุขาวหา
ขันตินำมาซึ่งประโยชน์สุข

ขนฺติ ธีรสฺสลงฺกาโร
ขันติเป็นเครื่องประดับของนักปราชญ์

จิตฺเตน นียติ โลโก
ชาวโลกถูกใจนำไป

วิหญฺญติ จิตฺตานุวตฺตี
ผู้ทำตามใจชอบ ย่อมลำบาก

จิตฺตํ คุตฺตํ สุขาหํ
ใจที่ควบคุมดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้

จิตฺเต สงฺกิลิฏฺเฐ ทุคฺคติ ปาฏิกงฺขา
เมื่อใจเศร้าหมอง(เมื่อตาย) หวังไปทุคติแน่

จิตฺเต อสงฺกิลิฏฺเฐ สุคติ ปาฏิกงฺขา
เมื่อใจผ่องใส(เมื่อตาย) หวังไปสุคติแน่

ชยํ เวรํ ปสวติ ทุกฺขํ เสติ ปราชิโต
ผู้ชนะย่อมก่อเวร(แก่ผู้แพ้) ผู้แพ้ย่อมอยู่เป็นทุกข์

สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ
การให้ธรรมย่อมชนะการให้ทั้งปวง

สพฺพรสํ ธมฺมรโส ชินาติ
รสแห่งธรรมย่อมชนะรสทั้งปวง

สพฺพรติ ธมฺมรติ ชินาติ
ความพอใจธรรม ย่อมชนะความพอใจทั้งปวง

อกฺโกเธน ชิเน โกธํ
พึงชนะคนโกรธด้วยความไม่โกรธตอบ

อสาธุ สาธุนา ชิเน
พึงชนะคนเลวด้วยความดี

ชิเน กทริยํ ทาเนน
พึงชนะคนตระหนี่ด้วยการให้

สจฺเจนาลิกวาทินํ
พึงชนะคนพูดเหลาะแหละด้วยพูดจริง

น ตํ ชิตํ สาธุ ชิตํ ยํ ชิตํ อวชิยฺยติ
ความชนะที่กลับแพ้ได้ ไม่ดี

ตํ โข ชิตํ สาธุ ชิตํ ยํ ชิตํ นาวชิยฺยติ
ความชนะที่ไม่กลับแพ้นั่นแหละดี

อตฺตา หเว ชิตํ เสยฺโย
ชนะตนเองนั่นแล ประเสริฐ

ตณฺหกฺขโย สพฺพทุกฺขํ ชินาติ
ความสิ้นตัณหาคือความอยากชนะทุกข์ทั้งปวง

ททํ มิตฺตานิ คนํถติ
ผู้ให้ย่อมผูกไมตรีจิต

สุขสฺส ทาตา เมธาวี สุขํ โส อธิคจฺฉติ
ปราชญ์ให้ความสุข(แก่ผู้อื่น) ตนเองนั้นก็ได้รับความสุข

ทุราวาสา ฆรา ทุกฺขา
การครองเรือนที่จัดไม่ดีย่อมนำทุกข์มาให้

ทฬิทฺทิยํ ทุกฺขํ โลเก
ความจนเป็นทุกข์ในโลก

อิณาทานํ ทุกฺขํ โลเก
การเป็นลูกหนี้เป็นทุกข์ในโลก

สนาถา วิหรถ มา อนาถา
พวกเธอจงอยู่โดยมีที่พึ่ง อย่าอยู่โดยไร้ที่พึ่งเลย

ทุกฺขํ อนาโถ วิหรติ
คนไม่มีที่พึ่ง อยู่ยาก

สงฺขารา ปรมา ทุกฺขา
สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่ง

อกิญฺจนํ นานุปตนฺติ ทุกฺขา
ทุกข์ย่อมไม่ตกไปถึงผู้สิ้นกังวล(ในสังขาร)

สตญฺจ ธมฺโม น ชรํ อุเปติ
พระสัทธรรม(ทันสมัยเสมอ)ไม่เก่า

ธมฺมจารี สุขํ เสติ
คนพระพฤติธรรม ย่อมอยู่เป็นสุข

ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารี
ธรรมแล ย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม

อาโรคฺยา ปรมา ลาภา
ความไร้โรคเป็นบรมลาภ

สนฺตุฏฐี ปรมํ ธนํ
ความสันโดษคือรู้จักพอ เป็นบรมทรัพย์

ชิคจฺฉา ปรมา โรคา
ความหิวเป็นโรคร้าย

วิสฺสาสา ปรมา ญาตี
ความคุ้นเคยเป็นญาติสนิท

กาโล ฆสติ ภูตานิ สพฺพาเนว สหตฺตนา
กาลเวลาย่อมกินสัตว์ทั้งหมดพร้อมทั้งตัวกาลเวลาเอง

ขโณ โว มา อุปจฺจคา
ท่านทั้งหลายอย่าปล่อยขณะเวลาให้ล่วงไปเปล่าเลย

อิติ วีสฺสฏฺฐกมฺมนฺเต อตฺถา อจฺเจนฺติ มานเว
ผลประโยชน์ย่อมล่วงเลยคนหนุ่มสาว ผู้ทอดทิ้งการงาน

นกฺขตฺตํ ปาฏิมาเนนฺตํ อตฺโถ พาลํ อุปจฺจคา
ผลประโยชน์ได้ล่วงเลยคนโง่ผู้มัวถือฤกษ์อยู่

อตฺโถ อตฺถสฺส นกฺขตฺตํ กึ กริสฺสนฺติ ตารกา
ผลประโยชน์เป็นฤกษ์ของผลประโยชน์เอง ดวงดาวจักทำอะไรได้

วโส อิสฺสริยํ โลเก
อำนาจเป็นใหญ่ในโลก

สาธุ โข สิปฺปกํ นาม อปิ ยาทิสกีทิสํ
ชื่อว่าศิลปะแล้ว แม้อย่างเดียวก็ใช้ได้

มตฺตญฺญุตา สทา สาธุ
ความรู้จักพอดี ให้สำเร็จประโยชน์เสมอ

โลโกปตฺถมฺภิกา เมตฺตา
เมตตาเป็นเครื่องค้ำจุนโลก

อรติ โลกนาสิกา
ความริษยาทำให้โลกฉิบหาย

สพฺพญฺเจ ปฐวี ทชฺชา นากตญฺญุมภิราธเย
ถึงให้แผ่นดินทั้งหมดก็ทำให้คนอกตัญญูพอใจไม่ได้

สกฺกาโร กาปุริสํ หนฺติ
สักการะ ย่อมฆ่าคนชั่ว

นิมิตฺตํ สาธุรูปานํ กตญฺญูกตเวทิตา
ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี

พฺรหฺมาติ มาตาปิตโร ปุพฺพาจริยาติ วุจฺจเร
พ่อแม่ท่านว่าเป็นพระพรหมเป็นบุพพาจารย์ของลูก

สุทสฺสํ วชฺชมญฺเญสํ อตฺตโน ปน ทุทฺทสํ
โทษคนอื่นเห็นง่าย โทษของตนเองเห็นยาก

นตฺถิ โลเก อนินฺทิโต
ผู้ที่ไม่เคยถูกว่าถูกนินทาเลยไม่มีในโลก

นตฺถิ โลเก รโห นาม
ชื่ว่าความลับไม่มีในโลก

อสชฺฌายมลา มนฺตา
ความรู้มีการไม่ทบทวน เป็นมลทิน

อนุฏฐานมลา ฆรา
บ้านเรือนมีการไม่หมั่นเช็ดถู เป็นมลทิน

มลํ วณฺณสฺส โกสชฺชํ
ผิวพรรณมีความเกียจคร้านชำระ เป็นมลทิน

ปมาโท รกฺขโต มลํ
ผู้รักษามีความเลินเล่อ เป็นมลทิน

มลิตฺถิยา ทุจฺจริตํ
ความประพฤตินอกใจผัว เป็นมลทินของหญิง

สุทฺธิ อสุทฺธิ ปจฺจตฺตํ
ความบริสุทธ์ ไม่บริสุทธิ์ เป็นของเฉพาะตัว

นาญฺดญ อญฺญํ วิโสธเย
คนหนึ่งจะให้อีกคนหนึ่งบริสุทธิ์แทนกันไม่ได้

อุกฺกฏฺเฐ สูรมิจฺจนฺติ
ในคราวคับขัน ย่อมต้องการคนกล้า

มนฺตีสุ อกุตูหลํ
ในการปรึกษาย่อมต้องการคนไม่พูดพล่าม

อาปทาสุ ถาโม เวทิตพฺโพ
พึงรู้ความสามารถในคราวมีอันตราย

สมฺมุขา ยาทิสํ จิณฺณํ ปรมฺมุขาปิ ตาทิสํ
ต่อหน้าประพฤติเช่นใด ลับหลังก็ประพฤติเช่นนั้น

เยสา สภา ยตฺถ น สนฺติ สนฺโต
สภาใดไม่มีสัตบุรุษ สภานั้นไม่ชื่อว่าสภา

รูปํ ชีรติ มจฺจานํ นามโคตฺตํ น ชีรติ
ร่างกายของคนย่อมย่อยยับได้ แต่ชื่อเสียงและสกุลยังอยู่

อปฺปตฺโต โน จ อุลฺลเป
ยังไม่ได้ ไม่ควรพูดอวด

นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา
แสงสว่างเสมอด้วยปัญญา ไม่มี

ปญฺญา ว ธเนน เสยฺดย
ปัญญาประเสริฐกว่าทรัพย์สิน

ปญฺญาย มคฺคํ อลโส น วินฺทติ
คนเกียจคร้านย่อมไม่พบทางปัญญา

สุสฺสูสํ ลภเต ปญฺญํ
ฟังเป็นย่อมได้ปัญญา

สากจฺฉาย ปญฺญา เวทิตพฺพา
ปัญญาพึงรู้ได้ด้วยการสนทนา

ทุกฺโข ปาปสฺส อุจฺจโย
ความสะสมความชั่วนำทุกข์มาให้

ปาปานํ อกรณํ สุขํ
การไม่ทำความชั่ว นำสุขมาให้

ปาปานิ กมฺมานิ กโรนฺติ โมพา
คนทำความชั่วเพราะความโง่เง่า

นตฺถิ อการิยํ ปาปํ มุสาวาทิสฺส ชนฺตุโน
คนมักพูดปดที่จะไม่ทำความชั่วอื่นนั้น ไม่มี

น ฆาสเหตูปิ กเรยฺย ปาปํ
ไม่ควรทำความชั่ว เพราะเห็นแก่กิน

วนฺทโก ปฏิวนฺทนํ
ไหว้เขา ก็ย่อมได้รับไหว้ตอบ

คุณวา จาตฺตโน คุณํ
ผู้มีความดี จงรักษาความดีของตนไว้

ปุญญํ โจเรหิ ทุหรํ
ความดี อันโจรขโมยไปไม่ได้

ปุญฺญานิ ปรโลกสฺมึ ปติฏฺฐา โหนฺติ ปาณินํ
ความดีเป็นที่พึ่งของสัตว์โลกได้ถึงปรโลก

น มิยฺยมานสฺส ภวนฺติ ตาณา
เมื่อจะตาย ไม่มีใครช่วยได้

สพฺเพ มจฺจุปรายนา
ทั้งคนมีคนจนทั้งหมดล้วนมีความตายรออยู่ข้างหน้า

น มิยฺยมานํ ธนมนฺเวติ กิญฺจิ
ทรัพย์สักนิดก้ติดตามคนตายไปไม่ได้

เนกาสี ลภเตสุขํ
กินคนเดียว ไม่ได้ความสุข

ผาตึ กยิรา อวิเหฐนํ ปรํ
ควรทำความเจริญ แต่อย่าเบียดเบียนเขา

ยาจโก อปฺปิโย โหติ ยาจํ อททมปฺปิโย
ผู้ขอย่อมไม่เป็นที่พอใจ(ของผู้ถูกขอ) ผู้ถูกขอเมื่อไม่ให้ก็ไม่เป็นที่พอใจ(ของผู้ขอ)

น ตํ ยาเจ ยสฺส ปิยํ ชิคึเส
ไม่ควรขอสิ่งที่รู้ว่าเป็นของรักของเขา

สจฺจํ เว อมตา วาจา
สัจวาจา เป็นอมตะแท้

หทยสฺส สทิสี วาจา
วาจาบ่งถึงใจ

โมกฺโข กลฺยาณิยา สาธุ มุตฺวา ตปติ ปาปิกํ
พูดดีย่อมให้สำเร็จประโยชน์ พูดเลวทำให้เดือดร้อน

วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ
คนพ้นทุกข์ได้ เพราะความเพียร

ปฏิรูปการี ธุรวา อุฏฺฐาตา วินฺทเต ธนํ
นักธุรกิจ ขยันทำงานให้เหมาะ ย่อมหาทรัพย์ได้

อชฺเชว กิจฺจมาตปฺปํ
ควรรีบทำความเพียรในวันนี้

วายเมเถว ปุริโส ยาว อตฺถสฺส นิปฺปทา
พึงพยายามไปจนกว่าจะถึงความสำเร็จสิ่งที่ต้องการ

อเวเรน จ สมฺมนฺติ
เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร

สติ สพฺพตฺถ ปตฺถิยา
สติ จำเป็นในที่ทั้งปวง

สามญฺเญ สมโณ ติฏฺเฐ
สมณะพึงตั้งอยู่ในภาวะของสมณะ

กิจฺโฉ มนุสฺสปฏิลาโภ
การได้เกิดเป็นคน เป็นการยาก

กิจฺฉํ มจฺจานชีวิตํ
การมีชีวิตอยุ่ของสัตว์โลกก็เป็นการยาก

กิจฺโฉ พุทฺธานมุปฺปาโท
การเกิดของพระพุทธเจ้า ก็เป็นการยาก

กิจฺฉํ สทฺธมฺมสฺสวนํ
การได้ฟังพระสัทธรรม ก็เป็นการยาก

สุขา สงฺหสสฺส สามคฺคี
ความสามัคคีของหมู่คณะ ให้เกิดสุข

สุขํ ยาว ชรา สีลํ
ศีลนำสุขมาให้ ตลอดจนกระทั่งแก่

อพฺยาปชฺฌํ สุขํ โลเก
ความไม่เบียดเบียนกัน นำสุขมาให้ในโลก

อทสฺสเนน พาลานํ นิจฺจเมว สุขี สิยา
เพราะไม่เห็นคนพาล พึงมีความสุขเป็นนิตย์ทีเดียว

สุโข พุทฺธานมุปฺปาโท
การอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้า นำสุขมาให้

สุขา สทฺธมฺมเทสนา
การแสดงพระสัทธรรม นำสุขมาให้

สุขํ สุปติ พุทฺโธ จ เยน เมตฺตา สุภาวิตา
ผู้เจริญเมตตาดีแล้ว ย่อมหลับและตื่นเป็นสุข

สพฺพตฺถ ทุกฺขสฺส สุขํ ปหานํ
ละเหตุแห่งทุกข์(กิเลส)ได้ ย่อมเป็นสุขในที่ทั้งปวง

เตสํ วูปสโม สุโข
ความสงบแห่งสังขาร เป็นสุข

นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ
สุขยิ่งกว่าความสงบ ไม่มี

นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ
พระนิพพาน เป็นบรมสุข

พุทธภาษิตที่นำมากล่าวนี้ ได้ย่อมาจากหนังสือพุทธศาสนสุภาษิตเล่มหนึ่ง ซึ่งบรรจุพุทธภาษิตเอาไว้ ๕๐๐ ข้อ ธรรมที่ยกมาแสดงในที่นี้ เมื่อสังเกตแล้วจะเห็นว่า นำมาจากคัมภีร์อังคุตตรนิกาย เป็นส่วนมาก ส่วนพุทธภาษิตนั้นนำมาจากคัมภีร์ขุททกนิกายเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งทั้งสองนิกายนี้ เป็นแต่เพียงส่วนหนึ่งในพระสูตร ธรรมที่นำมากล่าวนี้เล็กน้อยเท่านั้นเมื่อเทียบกับจำนวนทั้ง ๘๔,๐๐๐ อย่าง

หากท่านมีความสนใจก็ให้ใช้ปัญญาพิจารณาและค้นคว้าศึกษาให้มากยิ่งขึ้นไป แล้วจะได้เห็นความมหัศจรรย์ ความยิ่งใหญ่ ความลึกซึ้ง ชวนให้ศึกษาของพระพุทธศาสนา และทำให้เกิดความประหลาดใจอย่างยิ่งในพระบรมอัจฉริยะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
ข้าพเจ้าขอถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ พระสงฆ์สาวกของพระองค์ว่าเป็นสรณะ

จิรํ ติฏฺฐตุ สทฺธมฺโม
ขอพระสัทธรรมจงตั้งอยู่ตลอดกาลนาน เทอญ

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

ผู้มุ่งเจริญสมณธรรมเพื่อโมกขธรรม

ผู้ที่มุ่งจะเจริญอย่างจริงใจต้อง
๑. มีธุรกิจน้อย เลี้ยงง่าย มักน้อย
๒. กินน้อย ไม่เห็นแก่ปากแก่ท้อง
๓. ไม่นอนมาก(ไม่หาความสุขจากการนอน) ตื่นประกอบความเพียรมากกว่านอน
๔. เป็นพหูสูต
๕. รู้จักพิจารณาใจ

หรือ
๑. เชื่อในพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
๒. มีโรคน้อย มีอาพาธน้อย
๓. ไม่โอ้อวด มายา
๔. หมั่นเพียรละอกุศลธรรม เจริญกุศลธรรม
๕. มีปัญญาเห็นความเกิดความดับ

ผู้มุ่งเจริญสมณธรรม เพื่อโมกขธรรมอย่างจริงใจ ควรมีลักษณะอย่างนี้

การมอบตัว
เพื่อเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติสมณธรรม เพื่อสร้างความมั่นคงทางใจแก่ตน เพื่อระงับความหวาดกลัวที่อาจเกิดขึ้น เมื่ออยู่ในที่สงัด หรือมีนิมิตบางอย่างเกิดขึ้นในขณะบำเพ็ญสมาธิ หรือเข้ากัมมัฏฐาน และเพื่อได้กัลยาณมิตร ดังนั้นก่อนลงมือปฏิบัติสมาธิ หรือบำเพ็ญกัมมัฏฐาน จึงควรมอบตัวแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือแด่พระรัตนตรัย หรือแด่ท่านอาจารย์ว่า ข้าพเจ้าขอมอบตนแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า หรือเพื่อบูชาพระรัตนตรัย หรือแด่ท่านอาจารย์ด้วยเหตุนี้ ศิษย์ในสำนักอาจารย์กัมมัฏฐานนั้นๆ จึงเคารพเชื่อฟังอาจารย์มาก และยอมอาจารย์ทุกอย่าง

สัปปาย
คำว่าสัปปาย ในภาษาไทย หมายถึง สบาย เป็นสุข แต่ในความหมายเดิมในภาษามคธ(ศัพท์นี้เดิมเป็นภาษามคธ) หมายถึง สะดวก ถูกกับอัธยาศัย เช่น เสนาสนสัปปาย คือ ที่อยู่อาศัยสะดวกแก่การเป็นอยู่ เงียบสงบไม่พลุกพล่านด้วยผู้คน ถูกกับอัธยาศัย บุคคลสัปปาย คือ บุคคลที่ถูกอัธยาศัย เป็นที่อาศัยได้ เป็นกัลยาณมิตร ช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ในเรื่องการเข้าสมาธิ เช่น ในเรื่องนิมิตได้ เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งผู้มุ่งบำเพ็ญสมาธิต้องมี

จริต
หมายถึงธาตุแท้ของใจ หรือปกติของใจที่โน้มเอียงไปในทางไหน เช่น โกรธง่าย เป็นต้น

ในพระพุทธศาสนาแสดงเรื่องจริตไว้ ๖ ประเภท คือ
ราคจริต  คนประเภทนี้มีราคะเป็นปกติของใจ ชอบของสวยของงาม หน้าตายิ้มแย้ม เรียบร้อย โลภ ถือตัว ลบหลู่คุณคน ชอบหวาน กินช้า

โทสจริต
คนประเภทนี้โกรธง่าย มักหงุดหงิด ทำอะไรรวดเร็ว ใจร้อน ไม่เรียบร้อย ริษยา ชอบเปรี้ยว กินเร็ว

โมหจริต
คนประเภทนี้มีโมหะเป็นปกติทางใจ มักเป็นคนเขลา งมงาย เชื่องช้า รู้ช้า ดื้อรั้น ไม่แน่ใจ ชอบรสไม่แน่ กินมาก

วิตักกจริต
คนประเภทนี้มีความดำริตริตรองเป็นปกติของใจ มักเป็นคนคิดฟุ้งซ่าน ใจอยู่นิ่งยาก คิดมากเกินไป พูดมาก ชอบมั่วสุม เกียจคร้าน มักสงสัย

สัทธาจริต
คนประเภทนี้ มีความเชื่อเป็นปกติของใจ เป็นคนซื่อ ไม่มีแง่งอน เชื่อง่ายไม่เป็นตัวของตัวเอง สอนง่าย

พุทธิจริต
คนประเภทนี้ เป็นคนเฉลียวฉลาด เชื่อยาก เจ้าความคิด กินน้อย ขยัน พูดเข้าใจง่าย

การนั่งเข้าสมาธิ
ผู้มุ่งเจริญกัมมัฏฐาน หรือบำเพ็ญสมาธิ เมื่อทุกสิ่งเรียบร้อยแล้ว เช่น มีศีล มีสัปปาย เป็นต้น พึงเตรียมตัวเริ่มแต่การนั่ง ดังนี้

๑. นั่งขัดสมาธิเพชร คือ ขัดเท้า เท้าขวาอยู่เหนือเท้าซ้าย มือขวาทับมือซ้าย วางอยู่บนตักให้หัวแม่มือทั้งสองข้างเกือบจดกัน หรือเพียงจดกัน

๒. ตั้งตัวให้ตรง อย่าให้โอนไปข้างหน้าเอนไปข้างหลัง และเอียงไปข้างๆ ต้องตั้งตัวให้ตรง

๓. ตั้งสติไว้เฉพาะหน้า เพื่อกำหนดสิ่งที่จะใช้เป็นอารมณ์สำหรับคิดหรือภาวนา โดยคิดว่าสิ่งนี้ๆ พระพุทธองค์ทรงใช้เป็นอารมณ์ในการบำเพ็ญเพียรทางใจจนได้ผลมาแล้ว จึงนำมาสอน ดังนั้น จึงเชื่อได้ว่าต้องดีแน่ ใช้ได้แน่ แล้วตั้งสติไว้ในสิ่งซึ่งใช้เป็นอารมณ์นั้นๆ ตามควรแก่ความประสงค์

การสั่งขัดสมาธิเพชรนั้น คือ นั่งอย่างพระพุทธรูปเชียงแสนเก่า หรือพระพุทธรูปอินเดีย การนั่งอย่างนี้จะไม่ค่อยรู้สึกปวดเมื่อย ถ้าเวลาสัปหงกหงายหลัง ขาจะไม่ดีดออก เพราะขัดกันไว้ แต่ถ้านั่งขัดสมาธิราบ เท้าขวาทับเท้าซ้าย แบบพระพุทธรูปลังกา หรือพระพุทธรูปแบบสุโขทัยแล้ว เวลาสัปหงกหงายหลัง เท้าจะดีดออก การนั่งตั้งท่าตั้งทางเข้าสมาธิดังกล่าวนี้ ใช้สำหรับบุคคลทั่วไปที่อยู่ในภาวะปกติที่พอจะนั่งอย่างนี้ได้ ถ้าไม่สามารถนั่งอย่างนี้ได้ก็แล้วแต่ว่าอิริยาบถไหนจะสะดวกมีคุณค่าต่อการเข้าสมาธิ ก็ใช้อิริยาบถนั้น

ผู้บำเพ็ญสมาธิ
เมื่อนั่งเรียบร้อยแล้ว สำรวจดูว่ามีศีลบริสุทธิ์แล้ว(การที่สำรวจดูศีล รู้ว่ามีศีลบริสุทธิ์จะทำให้รู้สึกโปร่งใจ มีปีติ) ต่อไปต้องทำใจให้ว่างจากเครื่องเศร้าหมองใจ และกังวลใจ ดังนี้

๑. ให้ใจว่างจากนิวรณธรรม มีความนึกถึงเรื่องกามารมณ์ เป็นต้น

๒. มีสติสัมปชัญญะ วางเฉย ไม่สนใจในความห่วงใย ความกังวลใจในสิ่งนั้นๆ เป็นต้น

๓. มีสติสัมปชัญญะคุมใจ คุมอารมณ์ไว้ทุกขณะ

๔. พิจารณาแล้ว ใช้เมื่อควรใช้ อดกลั้นเมื่อควรอดกลั้น บรรเทาเมื่อควรบรรเทา

๕. กำจัดความคิดฟุ้งซ่าน

๖. ละเลิกการคิดแสวงหากามารมณ์ และชาติภพ(ด้วยอาศัยบุญอันเป็นผลของสมาธิ)

๗. เว้นคิดเรื่องไม่ดี เช่น คิดเบียดเบียนเขา เป็นต้น

๘. มีกาย-วาจา สงบเรียบร้อยไม่ปัดนั่น เกานี่ เพราะถูกแมลงกวน เป็นต้น

๙. ทำใจให้ว่างจากกิเลส เครื่องเศร้าหมองของใจ

๑๐. กำหนดใจรู้ว่า ว่างแล้ว

และต้องทำใจให้ว่างจากความกังวลใจ ความห่วงใยในที่อยู่ ในสกุล ในลาภผล ในคณะ ในการงาน ในการเล่าเรียน เป็นต้น ตลอดจนความคิดในเรื่องกาม ข้อหลังนี้สำคัญมาก เมื่อใจว่างแล้ว ก็นึกถึงสิ่งที่จะเป็นอารมณ์สำหรับนึกหรือกำหนดหรือภาวนาแทนต่อไป โดยมีสติสัมปชัญญะกำกับ

จงกรม
การบำเพ็ญสมาธิ นอกจากจะใช้อิริยาบถนั่งแล้ว ยังใช้อิริยาบถเดินในการบำเพ็ญสมาธิด้วย โดยเจริญอารมณ์ของกัมมัฏฐานเหมือนนั่งบำเพ็ญ เปลี่ยนแต่อิริยาบถจากนั่งมาเป็นเดิน จงกรม แปลว่า เดินไปมา เดินไปประมาณ ๒๕-๓๐ ก้าว เดินกลับ ๒๕-๓๐ ก้าว (อย่าให้ต่ำกว่า ๑๐ ก้าว) แล้วหยุด หมุนตัวกลับและเดินกลับไปกลับมา จนกว่าจะรู้สึกพอ หรือตามรอบที่กำหนดไว้ การเดินนั้น เดินตัวตรง ไขว้มือทั้งสองไว้ข้างหน้า หรือข้างหลัง เดินค่อนข้างช้า กำหนดอารมณ์กัมมัฏฐานไปทุกขณะที่ก้าว บางท่านแจ้งว่าการเดินจงกรมบำเพ็ญสมาธิจิต เป็นสมาธิเร็ว การเดินจงกรมนี้ได้ประโยชน์มาก เช่น เป็นการเปลี่ยนอิริยาบถ แก้เมื่อย แก้ง่วง การที่กำหนดก้าวเดินไม่ให้มากเกินหรือน้อยเกินนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความกังวลในใจ หรือความเผลอตัว หรือเกิดความหยุดชะงักในขณะเดิน หรือเวียนศีรษะ สำหรับทางเดินที่สั้นเกินไป สิ่งที่เป็นปัญหาในการเดินจงกรมนั้น คือความกลัว เช่น กลัวว่าจะเดินเลยกำหนด หรือต่ำกว่ากำหนด กลัวผี กลัวสัตว์ร้ายเป็นต้น ซึ่งเป็นปัญหาของผู้ที่บำเพ็ญใหม่ๆ ถ้าเคยชินแล้วก็จะไม่กลัว และการกลัวว่าจะเดินผิดกำหนดตัวนั้น ย่อมแก้ได้ด้วยการกำหนดจิตเอาไว้ก่อน การกลัวผี กลัวสัตว์ร้ายนั้น ย่อมแก้ได้ด้วยการเจริญเมตตา และอุทิศร่างกายนี้เป็นเครื่องบูชารัตนตรัย(ถ้าเดินหลับตาหรือเดินกลางคืนอาจมีปัญหานี้)

อารมณ์กัมมัฏฐานหรือสมาธิ
เรื่องสำหรับคิด หรือสำหรับกำหนด หรือสำหรับภาวนาในเวลาบำเพ็ญสมาธิ เรียกว่า อารมณ์(แปลว่าเครื่องหน่วงเหนี่ยว) ในพระพุทธศาสนาได้แสดงสิ่งที่เป็นอารมณ์แห่งสมาธิไว้ ๔๐ ประการ คือ
๑. อสุภ(สิ่งที่ไม่งาม แต่เป็นของจริง) ๑๐
๒. กสิน(สิ่งที่ควรเพ่ง) ๑๐
๓. อนุสสติ(สิ่งที่ควรระลึกถึงเสมอ) ๑๐
๔. พรหมวิหาร ๔
๕. อรูป ๔
๖. สัญญาและววัฏฐาน(การกำหนด) ๒

อสุภ ๑๐
คือ ศพที่ขึ้นพอง ศพที่ขึ้นเขียว ศพที่มีน้ำเหลืองเยิ้ม ศพที่หลุดขาดเป็นท่อนเป็นชิ้น ศพที่ถูกสัตว์กัด ศพที่กระจัดกระจาย ศพที่ถูกตัดวางกระจายเรี่ยราด ศพที่เปื้อนเลือด ศพที่มีหนอนขึ้น ศพที่มีแต่กระดูก กำหนดสิ่งเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอารมณ์

กสิณ ๑๐
กสิณที่กำหนดเอาสิ่งบางสิ่งเป็นอารมณ์สำหรับเพ่งให้ใจรวมอยู่ในจุดเดียว สิ่งเหล่านั้นได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ลม สีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว แสงสว่าง ช่องว่าง

อนุสสติ ๑๐
ได้แก่ นึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ศีล การบริจาค เทวดา ความตาย ร่างกาย ลมหายใจ ความสงบระงับ (หรือพระนิพพาน) อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอารมณ์

พรหมวิหาร ๔
ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา กำหนดสิ่งเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอารมณ์

อรูป ๔
ได้แก่ สิ่งที่เป็นอารมณ์ของอรูปฌาน คือ
อากาสานัญจายตนะ กำหนดอากาศเป็นอารมณ์ว่า อากาศหาที่สุดมิได้

วิญญานัญจายตนะ กำหนดวิญญาณเป็นอารมณ์ว่า วิญญาณหาที่สิ้นสุดมิได้

อากิญจัญญายตนะ กำหนดความไม่มีอะไรแม้แต่น้อยเป็นอารมณ์

เนวสัญญานาสัญญายตนะ กำหนดความมีสัญญาก็มิใช่ หาสัญญามิได้ก็มิใช่ เป็นอารมณ์

สัญญาและววัฏฐาน
สัญญา
ในที่นี้ได้แก่ อาหาเรปฏิกูลสัญญา คือ ความสำคัญอาหารว่าเป็นของปฏิกูล กำหนดอย่างนี้เป็นอารมณ์

ววัฏฐาน
ได้แก่ จตุธาตุ ววัฏฐาน คือ กำหนดสภาพของธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เป็นอารมณ์(ในกสิณกำหนด ดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นอารมณ์ ใช้สำหรับมองดู หรือภาวนา แต่ในจตุธาตุววัฏฐานนี้ใช้สำหรับกำหนดสภาพของธาตุเป็นอารมณ์)

การเลือกสิ่งที่เป็นอารมณ์ คือ สำหรับกำหนดนึก หรือสำหรับภาวนานั้น จะต้องเลือกให้เข้ากับจริต มิฉะนั้นจะเกิดผลเสีย เช่น คนโมหจริต กลัวผี จะกำหนดอสุภะ เป็นอารมณ์ในการบำเพ็ญสมาธิย่อมไม่ควร เพราะจะทำให้กลัวผียิ่งขึ้น

บางคนอาจรู้ว่าตนเป็นคนมีอะไรเป็นจริต แต่บางคนไม่แน่ใจว่าตนมีอะไรเป็นจริต เพราะเมื่อพิจารณาใคร่ครวญแล้ว รู้สึกว่าตนมีทั้งราคะ โทสะ โมหะ วิตก เป็นจริตปนกันไป เลยไม่ทราบว่าจะใช้อะไรเป็นอารมณ์สำหรับกำหนดนึก จะได้เข้ากับจริตของตน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นอารมณ์ใน ๔๐ ประการนั้น บางอย่างใช้ได้แก่คนทุกจริต เช่น พุทธานุสสติ คือ ระลึกถึงพระพุทธคุณ เช่น ภาวนาว่า พุทโธ เป็นอารมณ์ เป็นต้น หรืออานาปานัสสติ คือกำหนดลมหายใจ เป็นอารมณ์ หรือกสิณ เช่น ปฐวีกสิณ คือ กสิณที่กำหนดดินเป็นอารมณ์สำหรับเพ่ง เป็นต้น

การบำเพ็ญกัมมัฏฐาน
ในการบำเพ็ญกัมมัฏฐาน หรือสมาธินั้น เมื่อกำหนด เช่น พุทธคุณ หรือลมหายใจเป็นอารมณ์ แม้นานใจก็ยังไม่นิ่ง ยังคงซัดส่ายอยู่ เป็นอยู่อย่างนี้วันแล้ววันเล่า บางคนเมื่อประสบอย่างนี้ก็ท้อใจ คิดว่าตนไม่มีวาสนาบารมีพอ ที่จะพบความสำเร็จ ในการบำเพ็ญกัมมัฏฐาน เพราะไม่อาจให้ใจหยุดอยู่ในอารมณ์เป็นจุดเดียวได้ เลยเลิกบำเพ็ญ ผู้ปฏิบัติผู้มุ่งความหลุดพ้นไม่ควรท้อถอย ต้องคิดว่าคนมีวาสนาบารมีสร้างมาไม่เท่ากัน บางคนเขามีมาก เขาก็ได้จิตเป็นสมาธิเร็ว บางคนมีน้อยก็ต้องได้ช้าเป็นธรรมดา และในการบำเพ็ญทุกครั้งก็ได้ชื่อว่าได้สร้างวาสนาบารมีเพิ่มเติมไปด้วย เมื่อตั้งใจบำเพ็ญแล้ว วันหนึ่งต้องได้แน่นอน เหมือนม้าแข่งเมื่อออกวิ่งแล้วถ้าไม่หยุดวิ่ง ถ้าไม่ตาย ถ้าไม่แหกสนามแล้ว ก็วิ่งถึงจุดหมายทุกตัว ต่างกันที่ช้าหรือเร็วเท่านั้น หรือเหมือนผ้าขาวเปื้อน ถ้าเปื้อนน้อยก็ซักน้อย ถ้าเปื้อนมากก็ต้องเสียเวลาซักมาก เพราะฉะนั้น อย่าท้อใจ ในการบำเพ็ญสมาธิครั้งแรก ใจก็วิ่งไปวิ่งมาก่อนจะนิ่งอย่างนี้ทุกคน ต้องใช้สติอย่างเต็มที่ พอบำเพ็ญนานเข้าๆ บังคับบ่อยเข้าในที่สุดใจก็นิ่งเอง เพราะฉะนั้น อย่าท้อใจ หรือดูหมิ่นวาสนาบารมีของตัวเอง

นิมิตเกิดและการข่มนิมิต
เมื่อบำเพ็ญกัมมัฏฐานเพ่งหรือพิจารณา หรือภาวนาสิ่งที่เป็นอารมณ์ มีรูป เช่น กสิณบ้าง ไม่มีรูป เช่น ลมหายใจบ้าง ภายในใจ แล้วเกิดเห็นนิมิตต่างๆ เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง น้อยบ้าง มากบ้าง มีสีเขียว สีแดง สีเหลือง สีขาวบ้างต่างๆ กัน เพราะอารมณ์ของกัมมัฏฐานมีมาก นิมิตก็ต้องมาก แม้เพียงบำเพ็ญอานาปานัสสติ คือ กำหนดลมหายใจอย่างเดียวยังมีนิมิตต่างๆ กัน เช่น บางคนปรากฏเป็นดุจดวงดาว บางคนปรากฏเป็นดุจเม็ดแก้วมณี บางคนปรากฏเป็นดุจพวงมาลัย ดุจเปลวควันก็มี เหล่านี้เป็นต้น

เมื่อเป็นอย่างนี้ อาจทำให้ใจฟุ้งไป หรือติดใจในนิมิตที่ปรากฏ ดังนั้นท่านจึงให้ครอบงำนิมิตนั้นเสีย ให้เป็นสักแต่ว่าเห็น แต่ไม่ติดใจ ไม่ปล่อยให้ใจฟุ้งไปตาม โดยวิธีการ ๘ ประการ เช่น

๑. สำคัญหมายรูปภายใน เห็นรูปภายนอก เล็กน้อยทั้งมีวรรณะ(สี) ดีไม่ดี ครอบงำ(ไม่สนใจ) รูปนั้นเสีย มีความสำคัญแต่เพียงว่ารู้ว่าเห็นเท่านั้น

การกระทำอย่างนี้ เรียกว่า อภิภายตนะ คือ เหตุเครื่องครอบงำสิ่งอันเป็นข้าศึกแก่สมาธิ

การที่เห็นนิมิตต่างๆ กันนั้นอาจเป็นเพราะเหตุ คือ วาสนาบารมีแต่ปางก่อน และความจำ(สัญญา) หรือเกิดจากการได้ยินได้ฟังได้เห็น แล้วจำไว้ในใจโดยไม่รู้ตัว แล้วปรากฏออกมาเมื่อใจสงบได้ที่ นิมิตนั้นอาจเป็นของจริงก็ได้ไม่จริงก็ได้ จึงไม่ควรเห็นว่าเป็นของจริงแต่ส่วนเดียว และต้องระวังเรื่องสะกดจิตตัวเองให้เห็นให้เป็นไปต่างๆ ด้วย อำนาจของความเชื่อที่ลึกที่ประกอบด้วยความจำ เช่น เห็นนรก สวรรค์ อย่างที่เขียนไว้ตามโบสถ์ไทย ของแขก ของพม่า ก็มี แต่ไม่เหมือนไทย จึงควรระวังใจไว้ นิมิตไม่ดีที่เกิดขึ้นนั้นท่านว่า เพราะอาจเป็นเพราะศีลไม่บริสุทธิ์

อุปจารสมาธิ นิวรณ์ และ อัปปนาสมาธิ
จะกล่าวถึงอุปจารสมาธิ และวาระที่จิตปราศจากนิวรณ์ก่อน ในวิสุทธิมรรคท่านกล่าวไว้ว่า

อุปฺปนฺนกาลโต จ ปนสฺส ปฏฺฐาย นิวรณานิ วิกฺขมฺภิตาเนว โหนฺติ กิเลสา สนฺนิสินฺนาว อุปจารสมาธินา จิตฺตํ สมาหิตเมว

แปลว่า
ก็ตั้งแต่กาลที่ปฏิภาคนิมิตเกิด นิวรณ์ทั้งหลายย่อมถูกสยบไว้ กิเลสทั้งหลายย่อมหยุดเฉย ใจย่อมเป็นสมาธิด้วยอุปจารสมาธิ

และว่า
อุปจารภูมิยํ นิวรณปฺปหาเนน จิตฺตํ สมาหิตํ โหติ
แปลว่า
โดยการละนิวรณ์ในอุปจารสมาธิภูมิ ใจย่อมเป็นสมาธิ

แม้ในมัชฌมิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ก็แสดงว่า นิวรณ์ระงับแล้วตั้งแต่อุปจารสมาธิ

จากข้อความดังกล่าว ย่อมแสดงว่านิวรณ์ย่อมระงับไปตั้งแต่ใจได้อุปจารสมาธิ แต่เรื่องนี้ผู้ปฏิบัติย่อมทราบด้วยตนเอง

เมื่อใจเป็นอุปจารสมาธิ เป็นเอกัคคตาจิต คือ ใจรวมอยู่ในอารมณ์เป็นจุดเดียว(ในวิสุทธิมรรค ท่านกล่าวไว้ว่า อปฺปนาปุพฺพจิตฺเตสุ เอกคฺคตา อุปจารสมาธิ แปลว่า เอกัคคตา ในใจก่อนถึงอัปปนาสมาธิย่อมเป็นอุปจารสมาธิ) เมื่อใจเป็นอย่างนี้ ย่อมเป็นใจที่มีพลังสูง(เมื่อยังไม่ใช้ พลังนี้ก็เป็นพลังศักย์เหมือนน้ำที่เก็บกักไว้ในเขื่อน) เป็นใจที่ปราศจากนิวรณ์(เครื่องกั้นใจไม่ให้บรรลุคุณธรรมชั้นสูง และเป็นเครื่องทำใจให้ขุ่นมัว พิจารณาอะไรก็เห็นไม่ชัด) ใจใสอย่างนี้จะพิจารณาอะไรก็เห็นชัด(มีพระบาลีว่า สมาหิโต ภิกฺขุ ยถาภูตํ ปชานาติ แปลว่า ภิกษุมีใจเป็นสมาธิย่อมรู้แจ้งชัด ตามความเป็นจริง ดุจกระจกใสจะส่องดูหน้าก็เห็นชัด หรือดุจผ้าสกปรก ที่ฟอกขาวสะอาดแล้ว ควรแก่การย้อมสีให้งามต่อไป ดังนั้นจึงควรบำเพ็ญขั้นวิปัสสนา คือ ปัญญาพิจารณาให้เห็นสภาพตามความเป็นจริงของสิ่งต่างๆ เริ่มตั้งแต่ตัวเราต่อไป(การใช้พลังใจอย่างนี้ ก็เป็นดั่งปล่อยกระแสน้ำให้พุ่งออกจากเขื่อนไป ทำให้เกิดพลังอย่างอื่นอีก พลังที่ใช้อย่างนี้เป็นดุจพลังจลน์)

ส่วนสมาธิขั้นอัปปนา คือ แน่นแฟ้น หรือลึกซึ้งนั้น เกิดขึ้นต่อจากอุปจารสมาธิ และต่อไปก็เป็นเรื่องของการได้ฌานชั้นต่างๆ อุปจารสมาธิเปรียบเสมือนเด็กเดินได้ แต่อัปปนาสมาธิเปรียบเหมือนเด็กวิ่งได้ สำหรับนักปฏิบัติบางท่าน อาจต้องใช้สมาธิกล้าลึกซึ้งกว่าขั้นอุปจารสมาธิ ต้องให้ใจปราศจากองค์ ๕ คือ นิวรณ์ ๕ และประกอบด้วยองค์ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา แล้ว จึงควรจะบำเพ็ญขั้นวิปัสสนาต่อไป โดยละ วิตก วิจาร ปีติ และสุข เหลือแต่เอกัคคตา ในสองพวกนั้น พวกแรกเป็นพวกปัญญาวิมุติ ใช้สมาธิพอเป็นพื้นฐาน ถึงขั้นอุปจารสมาธิ พวกหลังนี้เป็นพวกเจโตวิมุติ ต้องใช้สมาธิหนัก ต้องใช้ฌานเป็นเครื่องข่ม จิตจึงอยู่ แต่เมื่อจะบำเพ็ญวิปัสสนา ต้องออกจากฌาน คงมีแต่เอกัคคตา มาอยู่ที่อุปจารสมาธิ

ฤทธิวิธี
ฤทธิ์ หรืออิทธิ(คำแรกเป็นภาษาสันสกฤต คำหลังเป็นภาษามคธ) แปลว่า ความสำเร็จ ฤทธิ์เกิดได้หลายทาง แต่จะกล่าวโดยสังเขปตามนัยแห่งวิสุทธิมรรคดังนี้

ผู้ที่มีวาสนาบารมีแก่กล้าได้ฌานสมาบัติแล้ว เมื่อจะแสดงฤทธิ์ ย่อมเข้าฌานตั้งแต่ปฐมฌานจนถึงจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌานแล้ว อธิษฐานว่า ขอให้เป็นอย่างนั้นๆ เช่น ให้ตัวไร้น้ำหนักจะได้ลอยได้ ให้เข้ากับภาวะของอากาศ แล้วเข้าจตุตถฌานอีก ออกจากจตุตถฌานนั้นแล้ว สั่งว่าจงเป็นอย่างนั้น เช่น สั่งว่าตัวลอยไป ตัวก็จะลอยไป แต่ถ้าผู้นั้นมีวาสนาบารมีน้อย ต้องได้สมาบัติ ๘ จึงจะทำฤทธิ์ได้ ฤทธิ์นั้นมีมาก เช่น ย่นทาง ยืดทาง เดินน้ำ เป็นต้น เรื่องนี้ผู้ใคร่ศึกษาขอให้หารายละเอียดได้ในวิสุทธิมรรค

เรื่องฤทธิ์เกิดจากอำนาจฌานนี้ แม้ผู้มิได้เป็นพระอรหันต์เป็นเพียงปุถุชน เช่น พวกฤษี ก็สามารถทำได้(แต่ฌานเสื่อมได้) พระอรหันต์บางรูปสามารถทำได้(และฌานไม่เสื่อม) เช่น รูปที่ได้วิชชาและอภิญญา แต่บางรูปทำไม่ได้ เช่น รูปที่เป็นสุกขวิปัสสก สิ้นแต่กิเลส แต่ไม่ได้คุณพิเศษดังกล่าว ทั้งนี้แล้วแต่เหตุคือ วาสนาบารมีของแต่ละรูป เรื่องฤทธิ์มิใช่เป็นทางแห่งความหลุดพ้น แต่ชวนให้ติด พระพุทธองค์จึงทรงสั่งสอนไม่ให้ติดในเรื่องนี้ สำหรับพระอริยเจ้านั้น ท่านไม่ติด แต่ปุถุชนนั้นมักติด เมื่อติดอยู่เพียงขั้นนี้แล้ว โอกาสที่จะยกระดับใจให้ก้าวไปสู่ความหลุดพ้นจากกิเลสด้วยใช้วิปัสสนาปัญญาก็ไม่มี

มหาสติปัฏฐานและสามัญญลักษณะ
สิ่งที่ควรใช้ปัญญาพิจารณา ตามความเป็นจริง ให้รู้แจ้งเห็นจริง มีหลายอย่าง แต่จะกล่าวแค่ตามนัยของมหาสติปัฏฐาน และนัยแห่งไตรลักษณ์ หรือสามัญญลักษณะเท่านั้น

มหาสติปัฏฐาน
กล่าวโดยสรุปได้ดังนี้

หนทางอันเอกอันเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ เพื่อพ้นความโศก ปริเทวนาการ เพื่อความดับทุกข์ โทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำพระนิพพานให้แจ่มแจ้งแก่ตน หนทางอันเอกนั้น คือ สติปัฏฐาน อันได้แก่ การตั้งสติสัมปชัญญะพิจารณา ๔ อย่างคือ

๑. ตั้งสติสัมปชัญญะพิจารณากาย(กายย่อย เช่น ลมหายใจ) ที่กาย(กายใหญ่ คือ ร่างกาย)

๒. ตั้งสติสัมปชัญญะพิจารณาเวทนา(ความรู้สึกอารมณ์ส่วนย่อย) ที่เวทนา(ความรู้สึกอารมณ์ส่วนใหญ่)

๓. ตั้งสติสัมปชัญญะพิจารณาจิต (จิตส่วนย่อยคือ ดวงหนึ่ง) ที่จิต(จิตส่วนใหญ่คือ จิตแต่ละดวงๆ ที่เกิดดับเกิดดับ)

๔. ตั้งสติสัมปชัญญะพิจารณาธรรม(ธรรมส่วนย่อย) ที่ธรรม(ธรรมส่วนใหญ่)

พิจารณากาย
๑. พิจารณาด้วยกำหนดลมหายใจเข้า-ออก เรียกว่า อานาปานปัพพะ

๒. พิจารณาด้วยกำหนดอิริยาบถของกาย เช่น ยืน เดิน เป็นต้น เรียกว่า อิริยาบถปัพพะ

๓. พิจารณาด้วยรู้ตัวในความเคลื่อนไหว เช่น ก้าวไป เป็นต้น เรียกว่า สัมปชัญญปัพพะ

๔. พิจารณาความปฏิกูลของร่างกาย โดยแบ่งเป็นส่วนย่อย เช่น ผม ขน เป็นต้น เรียก ปฏิกูลปัพพะ

๕. พิจารณาร่างกายโดยความเป็นสักแต่ว่าธาตุ คือ ธาตุ ๔ ได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ลม และธาตุ ๖ ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ เรียกว่า ธาตุปัพพะ

๖. พิจารณากายที่เป็นศพ ที่มีลักษณะต่างๆ มีศพขึ้นอืด เป็นต้น เรียกว่า นวสีวถิกาปัพพะ

จะกล่าวตัวอย่างเพื่อเป็นแนวทางสักข้อหนึ่ง คือ การพิจารณาในอานาปานปัพพะ ซึ่งมีข้อความดังที่มีในอุปริปัณณาสก์ มัชฌิมนิกาย ดังนี้

ภิกษุ(ที่ใช้คำว่า ภิกษุ เพราะตอนที่ทรงแสดงนั้น พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่ภิกษุ แต่ธรรมนี้ก็ใช้ได้ทั่วไป แม้แก่คฤหัสถ์) ในธรรมวินัยนี้ ไปป่าก็ตาม ไปสู่โคนไม้ก็ตาม ไปสู่เรือนว่าง(ไม่มีคนอยู่) ก็ตาม นั่งขัดสมาธิ ตั้งกายตรง ตั้งสติมั่นคง เธอมีสติหายใจเข้า หายใจออก เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้าสั้น เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น ย่อมสำเหนียกว่า เราจักกำหนดตริตรองลมหายใจทั้งหมด พลางหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักกำหนดตริตรองลมหายใจทั้งหมด พลางหายใจออก เราจักระงับลมหายใจเข้า-ออก พลางหายใจเข้า เราจักระงับลมหายใจเข้า-ออก พลางหายใจออก พิจารณาเห็นกายที่กายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกายที่กายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกายที่กายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นกายมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นกายมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดาบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นกายมีความเกิดขึ้นและเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดาบ้าง เธอมีความระลึกว่า กายมีอยู่(ความระลึกนั้น) ก็เป็นเพียงสักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าพอเป็นที่อาศัยระลึกเท่านั้น เธอมิได้ติดมิได้ยึดถืออะไรเลยในโลก
นี่คือการพิจารณากาย ตามแบบ อาณาปานปัพพะ

พิจารณาเวทนา คือความรู้สึก
คือพิจารณาความรู้สึกว่า
๑. สุข
๒. ทุกข์
๓. ไม่ทุกข์ไม่สุข
๔. สุขประกอบด้วยอามิส(มีรูป เสียง เป็นต้น)
๕. สุขที่ไม่ประกอบด้วยอามิส
๖. ทุกข์ประกอบด้วยอามิส
๗. ทุกข์ที่ไม่ประกอบด้วยอามิส
๘. ไม่ทุกข์ไม่สุขประกอบด้วยอามิส
๙. ไม่ทุกข์ไม่สุขไม่ประกอบด้วยอามิส

เมื่อมีความสุข หรือมีความทุกข์ ฯลฯ หรือความไม่ทุกข์ไม่สุขประกอบด้วยอามิส ก็รู้ชัดว่าบัดนี้เราเป็นอย่างนั้นๆ ย่อมพิจารณาเห็นเวทนา(มีความรู้สึกว่าสุข เป็นต้น) ที่เวทนาภายในบ้างภายนอกบ้าง ทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาที่เวทนาบ้าง พิจารณาเห็นความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดาที่เวทนาบ้าง พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดาที่เวทนาบ้าง เธอมีความระลึกว่า เวทนามีอยู่(ความระลึกนั้น) ก็เป็นเพียงสักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเป็นที่อาศัยระลึกเท่านั้น เธอย่อมไม่ติด ไม่ยึดถืออะไรในโลก
เป็นการพิจารณาที่เวทนาโดยย่อ

พิจารณาจิต
คือ พิจารณาจิตที่๑. มีราคะ ๒. ไร้ราคะ ๓. มีโทสะ ๔. ไร้โทสะ ๕. มีโมหะ ๖. ไร้โมหะ ๗. หดหู่ ๘. ฟุ้งซ่าน ๙. จิตใหญ่(อยู่ในฌาน) ๑๐. จิตไม่ใหญ่(ยังไม่ถึงฌาน) ๑๑. จิตมีจิตอื่นเหนือกว่า(คือยังไม่ถึงอุปจารสมาธิ) ๑๒. จิตไม่มีจิตอื่นเหนือกว่า(คือถึงอุปจารสมาธิ) ๑๓. จิตเป็นสมาธิ ๑๔. จิตไม่เป็นสมาธิ ๑๕. จิตหลุดพ้น(ด้วยพ้นชั่วคราวหรือด้วยข่มไว้) ๑๖ จิตยังไม่หลุดพ้น

เมื่อจิตเป็นอย่างไร มีราคะหรือไม่ เป็นต้น ก็รู้ชัดอย่างนั้น ย่อมพิจารณาเห็นจิตภายในบ้าง ภายนอกบ้าง ทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นบ้าง ความเสื่อมสิ้นไปบ้าง ทั้งเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมสิ้นไปบ้างเป็นธรรมดา ที่จิต เธอมีความระลึกว่าจิตมีอยู่(ความระลึกนั้น) ก็สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเป็นที่อาศัยระลึกเท่านั้น เธอย่อมไม่ติด ไม่ยึดถืออะไรในโลก
เป็นการพิจารณาที่จิตโดยย่อ

พิจารณาธรรม
๑. พิจารณาธรรมที่กั้นจิตมิให้เป็นสมาธิ ได้แก่ นิวรณธรรม เรียกว่า นิวรณปัพพะ

๒. พิจารณาขันธ์ ๕ เรียกว่า ขันธปัพพะ

๓. พิจารณาอายตนะภายในมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ รวมเป็น ๖ เรียกว่า อายตนปัพพะ

๔. พิจารณาโพชฌงค์ คือ องคธรรมเป็นเหตุสำหรับให้รู้มี ๗ มีสติ เป็นต้น เรียกว่า โพชฌงคปัพพะ

๕. พิจารณาอริยสัจ ๔ เรียกว่า อริยสัจจปัพพะ

จะกล่าวเฉพาะตัวอย่างที่เป็นขันธปัพพะ ดังนี้

ภิกษุย่อมพิจารณาว่า รูปเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นอย่างนี้ เวทนาเป็นอย่างนี้ ฯลฯ วิญญาณเป็นอย่างนี้ ความเกิดแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้ ความดับไปแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้ เธอย่อมพิจารณาเห็นธรรมที่ธรรมภายในบ้างภายนอกบ้าง ทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นความเกิดบ้าง ความเสื่อมสิ้นบ้าง ทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อสิ้นบ้าง เป็นธรรมดา ที่ธรรม เธอมีความระลึกว่า ธรรมมีอยู่(ความระลึกนั้น) ก็เป็นเพียงสักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเป็นที่อาศัยระลึกเท่านั้น เธอย่อมไม่ติด ย่อมไม่ยึดถืออะไรในโลก
เป็นการพิจารณาธรรม ที่ธรรมโดยย่อ

ข้อความดังกล่าวเป็นใจความย่อในมหาสติปัฏฐานสูตร ถ้าต้องการทราบความพิสดาร ขอให้ดูจากมหาสติปัฏฐานสูตรที่มีใจความเต็ม และถ้าต้องการทราบความพิสดารยิ่งขึ้นไปอีก ก็ขอให้ดูในอภิธรรมอันว่าด้วยจิต เจตสิก รูป นิพพาน ซึ่งอาจเปรียบได้ดังนี้ ถ้าจะดูเรื่องกายให้ดูเรื่องรูป ถ้าจะดูเรื่องเวทนาให้ดูเรื่องเจตสิก ถ้าจะดูเรื่องจิตให้ดูเรื่องจิต ถ้าจะดูเรื่องธรรมให้ดูเรื่องนิพพาน

ผลแห่งการบำเพ็ญสมณธรรมอย่างเต็มที่ ตามหลักมหาสติปัฏฐานนี้ พระพุทธองค์ตรัสรับรองว่า สามารถทำให้บรรลุอริยมรรค อริยผลได้อย่างเร็ว ๗ วัน อย่างกลาง ๗ เดือน อย่างช้าไม่เกิน ๗ ปี แน่นอน

สามัญญลักษณะ หรือไตรลักษณะ
สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจาติ ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ
อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา
สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขาติ ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ
อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา
สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตาติ ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ
อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา

เมื่อใดเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เมื่อนั้นย่อมหน่ายในทุกข์ นั่นเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์

ถ้าบุคคลผู้มุ่งปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ เห็นว่าการพิจารณาปฏิบัติตามหลักแห่งมหาสติปัฏฐานนั้น พิสดารเกินไปจะพิจารณาตามหลักแห่งสามัญญลักษณะ คือ ลักษณะทั่วไปในสิ่งทั้งหลาย หรือลักษณะทั้งสามของสิ่งทั้งหลาย อันได้แก่ อนิจจ คือ ความไม่เที่ยง ทุกข คือ ทนอยู่ไม่ได้ อนัตตา คือ เป็นอนัตตาก็ได้ สิ่งทั้งหลาย่อมตกอยู่ในสภาพ คือ ภาวะที่แท้จริงอย่างนี้

สังขาร คือสภาพที่ธรรมดาแต่งขึ้น หรือสัตว์คนสร้างขึ้น หรือสิ่งที่เกิดโดยการรวมของสิ่งต่างๆ จะเป็นสิ่งที่มีชีวิต เช่น คน และสิ่งที่ไร้ชีวิต เช่น บ้านเรือน แม้สังขาร คือ ความคิดนึก สร้างอารมณ์ต่างๆ ในขันธ์ ๕ ก็รวมอยู่ในความหมายว่า สังขารด้วย

ธรรมในที่นี้หมายถึง สังขารและวิสังขาร คือ พระนิพพาน สังขารนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา พระนิพพานนั้นเที่ยง เป็นสุข แต่เป็นอนัตตา ดังนั้นสิ่งที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์นั้น จึงทรงใช้คำว่าสังขาร พอถึงเรื่องอนัตตา จึงทรงใช้เป็นธรรมทั้งหลายแทน แทนที่จะใช้คำว่าสังขารและวิสังขาร คือพระนิพพานซึ่งจะยาวไป

สังขารทั้งปวงนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อาศัยเหตุเกิดขึ้น มีความสิ้น มีความเสื่อม มีความจาง มีความดับไปเป็นธรรมดา และถ้าจะกล่าวถึงเรื่องสังขารทั่วไป ย่อมจะพิสดารมาก ดังนั้นจะกล่าวแต่เฉพาะสังขารร่างกายของคน ที่ประกอบไปด้วยขันธ์ ๕ มีรูป เวทนา เป็นต้น

การใช้ปัญญาพิจารณาสังขารร่างกาย โดยพิจารณาอนิจจลักษณะ ทุกขลักษณะ และอนัตตลักษณะ จะนำมากล่าวโดยย่อ

การพิจารณาสังขารร่างกาย โดยอนิจจลักษณะ ดังนี้
อนิจฺจา วต สงฺขารา อุปฺปาทวยธมฺมิโน
อุปฺปชฺชิตวา นิรุชัฌนฺติ….
สังขารร่างกายทั้งหลาย ไม่เที่ยงหนอ มีการเกิดและเสื่อมสิ้นเป็นธรรมดา เกิดๆ แล้วก็ดับ

สังขารร่างกาย มีเกิดในเบื้องต้น แปรไปในท่ามกลางและดับไปในที่สุด มีแล้วๆ ก็ไม่มี ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เพราะจะต้องทรุดโทรมด้วยความแก่ ความเจ็บ ความตาย เพราะต้องเปลี่ยนไปด้วยความแก่ เจ็บ ตายและโลกธรรม เพราะต้องเสื่อมโทรมด้วยต้องทำงานการด้วยความบากบั่น เพราะไม่ยั่งยืนด้วยไม่มีความมั่นคงแน่นอนและมีแต่จะตกไปสู่ความเสื่อมโทรมเป็นนิจ เพราะต้องแปรปรวนเป็นธรรมดา ด้วยแปรเปลี่ยนไปเพราะอำนาจชรา พยาธิ มรณะ เพราะหาความคงทนมิได้ด้วย เป็นสิ่งเสียง่าย ทุพพล ถูกทำลายง่าย เพราะไม่มีด้วยไร้ความมี เพราะมีเหตุปัจจัยสร้างสรรค์ด้วยเกิดจากเหตุปัจจัยคือ กิเลส กรรม และผลกรรม เพราะต้องมีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตายเป็นธรรมดา เป็นต้น สังขารร่างกายไม่เที่ยงแท้แน่นอนอย่างนี้ เป็นการพิจารณาสังขารร่างกายโดยอนิจจลักษณะโดยย่อ

การพิจารณาสังขารร่างกายโดยทุกขลักษณะนั้น ดังนี้

สังขารร่างกายเป็นทุกข์ เพราะทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ด้วยถูกความเกิดขึ้น และความเสื่อมไปเบียดเบียน ทั้งเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์กาย ทุกข์ใจ ทั้งเป็นดุจเป็นโรค เป็นนิจด้วยต้องเยียวยาบำบัดด้วยปัจจัย๔ คือ เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่ และยาร่ำไป ทั้งเป็นที่ตั้งแห่งพยาธิความเจ็บไข้ ทั้งเป็นดุจเป็นฝี โดยมีความเจ็บปวดด้วยความทุกข์ เป็นที่หลั่งไหลแห่งสิ่งที่น่าเกลียดคือ กิเลส มีอาการบวม แก่ และแตกด้วยความแก่ เจ็บ และตาย ทั้งเป็นดุจต้องศรด้วยให้เกิดความเจ็บปวดความเสียดแทงภายใน ที่ต้องคับแค้นด้วย นำมาซึ่งความคับแค้น ทั้งเป็นที่ตั้งแห่งความยุ่งยากทั้งแก้หายยาก ต้องลำบากด้วยเป็นที่เกิดแห่งความเจ็บไข้ไม่ให้เกิดความคล่องตัวในการทำอะไรๆ ทั้งเป็นดุจจัญไรด้วยนำมาซึ่งความเสียหาย ทั้งเป็นอุปัทวะด้วยนำมาซึ่งอันตรายนานาชนิด และเป็นที่เกิดแห่งอุปัทวะ ทั้งเป็นภัยอันน่ากลัวด้วยเป็นที่เกิดแห่งภัยทั้งปวง ทั้งเป็นปฏิปักษ์ต่อความเบาใจ ด้วยทำให้เกิดความหนักใจ ทั้งเป็นอุปสรรคด้วยพัวพันอยู่กับความขัดข้อง เกี่ยวข้องอยู่กับสิ่งไม่ดี ห้ามไม่ได้ ทั้งเป็นสิ่งที่ต้านทานไม่ได้ด้วยต่อต้านความแก่ ความเจ็บ ความตาย โดยไม่ให้แก่ ไม่ให้เจ็บเลย ไม่ให้ตายไม่ได้ ทั้งเป็นสิ่งที่หลบซ่อนไม่ได้ ด้วยหลบหรือเลี่ยงความแก่ ความเจ็บ ความตายไม่ได้ ทั้งเป็นที่เกิดแห่งอาสวะ ทั้งเป็นเหยื่อของมารคือ มัจจุมาร และกิเลสมาร ตอนต้นมีเกิดและมีแก่และมีเจ็บในตอนกลาง แล้วมีตายเป็นที่สุดของชีวิตร่างกาย อย่างนี้เป็นต้น นี่เป็นการพิจารณาสังขารร่างกายโดยทุกขลักษณะโดยย่อ

การพิจารณาสังขารร่างกายโดยอนัตตลักษณะนั้น สังขารร่างกายทั้งหลายเป็นอนัตตา เพราะหาคำว่าตัวตนไม่ได้ เมื่อแยกออกเป็นส่วนๆ เช่น เป็นมือ เท้า ก็เป็นเหมือนคนอื่น ไม่อยู่ในอำนาจ ไม่เชื่อฟัง เป็นเช่นของที่ยืมเขามาใช้ เป็นสิ่งว่างเปล่าจากตัวตน จากอัตภาพที่ยั่งยืน จากความงาม จากความมีความสุข จากการบังคับได้สั่งได้ ไม่มีผู้เป็นเจ้าของ และผู้อยู่ที่แท้จริง เป็นต้น

การพิจารณาอย่างนี้คือการพิจารณาสังขารร่างกายโดยอนัตตลักษณะโดยย่อ

เมื่อพิจารณาอย่างนี้ได้จนลึกซึ้งเห็นชัด รู้ชัด(ไม่ใช่รู้ด้วยความจำ) ก็จะเกิดความเบื่อหน่ายในสังขารร่างกาย ย่อมคลายความพอใจในสังขารร่างกายนี้ ใคร่จะพ้นจากภาวะที่เป็นอยู่มีอยู่ในสังขารร่างกายนี้ เพราะคลายความติดความยึดความพอใจ จึงถึงวิมุติ คือ ความหลุดพ้นจากกิเลส ได้แก่ ราคะ โทสะ โมหะ (อันเป็นอกุศลมูล คือต้นตอแห่งชั่ว) และเป็นเหตุให้ยึดถือว่า นั่นคือเรา เราคือนั่น นั่นเป็นของเรา นั้นคือเขา นั้นเป็นของเขา อันเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ และเป็นเหตุให้เกิดใหม่อีก เมื่อจิตหลุดพ้นก็เป็นอันสิ้นชาติสิ้นภพในกาลต่อไป การเกิดในชาตินี้เป็นครั้งที่สุดแล้ว ดังพระบาลีในอนัตตลักขณสูตร ในมหาวรรคว่า

นิพฺพินฺทํ วิรชฺชติ วิราคา วิมุจฺจติ วิมุตฺตสฺมึ วิมุตฺตมีติ ญาณํ โหติ ขีณา ชาติ
แปลว่า เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายความติด ความยึด ความพอใจ เพราะคลายความติด ความยึด ความพอใจ จิตย่อมพ้น เมื่อจิตพ้นแล้ว ก็เกิดญาณรู้ว่า จิตพ้นแล้ว สิ้นชาติ(ความเกิด) แล้ว

และในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ในมหาวรรคว่า
อกุปฺปาเม วิมุตฺติ อยมนฺติมา ชาติ นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว
แปลว่า เกิดความรู้ความเห็นเองว่าความหลุดพ้นของเราไม่เปลี่ยนแปลง การเกิดครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย บัดนี้ไม่มีการเกิดใหม่ภาพใหม่อีกแล้ว

คนย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา สมดังพระพุทธพจน์ว่า
ปญฺญาย ปริสุชฺฌติ แปลว่า คนบริสุทธิ์ด้วยปัญญา

เมื่อบริสุทธิ์จากกิเลส พ้นจากกิเลส ดับกิเลสได้หมด การดับนั้นคือ พระนิพพาน บุคคลผู้ดับกิเลสได้หมด ก็เป็นพระอรหันต์

สรุปแล้วการที่ใจหลุดพ้นจากกิเลสได้ ใจต้องคลายความติด ความยึด ความพอใจในสังขารร่างกายก่อน ใจจะเป็นอย่างนั้นได้ ใจก็ต้องเบื่อหน่ายในสังขารร่างกายก่อน การที่ใจจะเบื่อหน่ายได้ ก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณาความจริงของสังขารร่างกาย ด้วยวิธีดังกล่าว

มีบางท่านอาจนึกว่า ส่วนดีๆ ของสังขารร่างกายก็มี ทำไมจึงต้องพิจารณาอย่างนั้น เป็นการมองทางแง่ร้าย เรื่องนี้ขอตอบว่า ก็เพื่อให้ใจเกิดเบื่อหน่าย แล้วจะได้คลายความติด เพื่อผลคือ ความหลุดพ้นจากกิเลส ถ้าใครไม่ต้องการให้ใจเกิดเบื่อหน่าย ไม่ต้องการพ้นกิเลส ก็ไม่ต้องพิจารณาอย่างนั้น นึกแต่ส่วนดีๆ ก็ได้ ทั้งนี้แล้วแต่ผลที่ต้องการ

พระนิพพาน
เรื่องพระนิพพานนี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในที่ต่างๆ เช่น
นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ
แปลว่า พระนิพพานเป็นบรมสุข

สุขอันเกิดจากพระนิพพาน มิใช่สุขเกิดจากเวทนา(สุขเวทนา) อย่างในขันธ์ ๕ แต่เกิดจากความไร้เวทนา เรื่องนี้ท่านพระสารีบุตร ได้กล่าวกับท่านพระอุทายี ดังมีเรื่องใน นวกนิบาต อังคุตตรนิกาย ความไทยว่า

พระสารีบุตร แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายว่า พระนิพพานเป็นสุข พระอุทายีได้ฟังจึงแย้งว่าสุขจะมีอย่างไรในพระนิพพาน เพราะพระนิพพานไม่มีเวทนา คือ ความรู้สึกในอารมณ์ พระสารีบุตรจึงตอบว่า ความสุขที่ไม่มีเวทนานั้นแลเป็นตัวสุขแท้จริง สุขมีเวทนานั้นไม่ใช่สุขแท้จริง เพราะไม่เที่ยง(ดังนั้นจึงไม่ต้องเป็นห่วงว่า เมื่อพระอรหันต์ปรินิพพานแล้ว จิตดับไปด้วยแล้ว จะเอาอะไรไปเสวยนิพพานสุข)

พระนิพพานเป็นภาวะที่บริสุทธิ์ที่สุด สมบูรณ์ที่สุดแห่งใจ เป็นภาวะที่ปราศจากกิเลส จึงปราศจากความเห็นแก่ตัวอย่างสิ้นเชิง เมื่อไม่เห็นแก่ตัว ก็ไม่มีความต้องการอะไรเพื่อตนเอง ไม่มีริษยาใคร เป็นสภาพที่ไม่มีการยึดถือตัวเอง มีแต่ความปรารถนาดีต่อผู้อื่น เห็นใจผู้อื่น คนที่ถึงพระนิพพานย่อมยอมรับความจริงของชีวิต เช่น ความตาย เป็นต้น โดยไม่สะดุ้งหวาดกลัว มีความสงบทางใจอย่างสมบูรณ์ที่สุด และสุขอื่นนั้นจะยิ่งกว่าความสงบไม่มี การอยู่ของผู้ที่ถึงพระนิพพานนั้น ย่อมอยู่อย่างสงบไม่เห็นแก่ตัว แต่ไม่ใช่อยู่อย่างเกียจคร้าน และความไม่เห็นแก่ตัวนั้น จะเป็นพลังส่งให้ทำงานเพื่อผู้อื่นด้วยความปรารถนาดีต่อเขา โดยมิได้หวังลาภยศชื่อเสียง เพื่อตัวเองหรือพวกตัวเลย คนมีกิเลสย่อมทำอะไรเพื่อหวังลาภยศสรรเสริญ ชื่อเสียง เพื่อตนเองหรือเพื่อพวกตน แต่คนไร้กิเลสไม่เป็นอย่างนั้น ดังนั้นคนชนิดนี้ จึงเป็นผู้เสีนสละเพื่อผู้อื่นที่สมบูรณืที่สุด

การถึงความสำเร็จเร็วหรือช้า
การปฏิบัติตามไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นไปตามลำดับของการปฏิบัติตามปกติของผู้ปฏิบัติ ไม่ได้หมายถึงบางท่านที่ฟังพระธรรมเทศนาจบ แล้วได้อริยมรรคอริยผลสำเร็จเป็นพระอริยบุคคล ตั้งแต่พระโสดาบันจนพระอรหันต์ พระอริยเจ้า เป็นบุคคลพิเศษ ได้สร้างเหตุ คือ วาสนาบารมีแต่ปางก่อนมามาก จึงได้สำเร็จเร็ว เปรียบเหมือนคนเดินทางมาถึงประตูเมืองแล้ว พอมีคนเปิดประตูให้ก็เข้าไปได้เลย ไม่เหมือนผู้อื่น ที่เปรียบเหมือนกำลังเดินทางมาโดยลำดับจนกว่าจะถึงประตูเมือง

นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา
ท่านผู้รู้ทั้งหลายกล่าวว่า พระนิพพานยอดเยี่ยม
นี่คือคำอธิบายโดยย่อของทางพระนิพพาน

ทางแห่งพระนิพพาน เป็นเพียงนัยหนึ่งที่มีปรากฏในหนังสือต่างๆ ถ้ากล่าวโดยหลักการแล้วก็มีทางเดียวคือ ศีล สมาธิ ปัญญา(การพิจารณาตามนัยแห่งมหาสติปัฏฐาน และสามัญญลักษณะ หรือไตรลักษณะ ซึ่งเป็นเองของปัญญา) ส่วนรายละเอียดที่ใครจะรู้อย่างไรนั้น อาจเหมือนหรือแตกต่างกันไปบ้าง แล้วแต่วาสนาบารมีของผู้ปฏิบัติ(เรื่องทางพระนิพพานมีหนังสือวิสุทธิมรรค สมถ-วิปัสสนากัมมัฏฐาน มหาสติปัฏฐาน ธรรมวิจารณ์ และหนังสืออื่นอีกมากที่น่าสนใจ) แต่จุดมุ่งหมายคือให้รู้หลักของนิพพาน หรือวิมุติเช่นเดียวกัน

กถมฺภูตสฺส รตฺตินฺทิวํ วีติปตนฺติ
วันคืนล่วงไปทุกวัน บัดนี้เราทำอะไรอยู่

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

ทางนิพพาน

เมื่อทราบทางมนุษย์ ทางสุคติ ทางทุคติ ทางสวรรค์ ทางนรกแล้ว ก็ควรทราบทางไปนิพพานต่อไป

ทางนิพพาน
บางคนมีธุลีในนัยน์ตาน้อย คือมีกิเลสบาง มีอุปนิสัยน้อมไปเพื่อความต้องการหลุดพ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย จากชาติภพสังสารวัฏ เวียนว่ายตายเกิด ย่อมเบื่อหน่ายในมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ ต้องการแต่นิพพานสมบัติ อันเป็นไปเพื่อความสิ้นความต้องการ สิ้นกิเลส ที่เป็นเหตุให้ไม่ต้องเกิดอีก เป็นบรมสุข ในพระพุทธศาสนาได้แสดงทางแห่งนิพพานไว้มากกว่าทางอื่น เพื่อสนองความต้องการของผู้ต้องการไป(แม้ว่าทางแห่งพระนิพพาน พระพุทธองค์จะทรงแสดงไว้มาก แต่กลับปรากฏว่ามีผู้เดินไปทางนี้น้อยเต็มที คนส่วนมากยังไม่ยอมเดินทางสายนี้ บางคนไม่ชอบ กลัว บางคนไม่เห็นคุณค่า เพราะเข้าไม่ถึงคุณค่า บางคนกลับพูดตำหนิเสียอีก หนทางมีอยู่ แต่หาผู้เดินยาก)

ทางไปนิพพาน พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ เช่น มรรคมีองค์ ๘ คือ

ความเห็นถูก ได้แก่ เห็นว่าความเกิดเป็นทุกข์ เป็นต้น

ความดำริถูก คือ ดำริออกจากกาม ดำริเพื่อไม่พยาบาทเบียดเบียนเขา

เจรจาดี คือ พูดจริง ไม่พูดหยาบคาย ไม่พูดยุยง ไม่พูดเหลวไหล

มีการงานดี คือเว้นการฆ่า การลัก การทำผิดทางเพศ(เฉพาะฆราวาส) หรือประพฤติพรหมจรรย์(เฉพาะบรรพชิต)

เลี้ยงชีพดี คือ เว้นมิจฉาชีพ เช่น ขายอาวุธ ขายคน เป็นต้น

ทำสัมมาชีพเพียงพยายามถูกต้อง คือ เพียรไม่ให้อกุศลเกิด เพียรละอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว เพียรให้กุศลเกิด เพียรให้กุศลที่เกิดแล้วเจริญยิ่งขึ้น

มีความระลึกถูกต้อง คือ มีสติระลึกพิจารณากาย เวทนา จิตธรรม

มีความตั้งใจมั่นถูกต้อง คือ ได้ฌาน

สัมมัตตะ คือ ความถูกต้อง ๑๐ ประการ ได้แก่ ๑-๘ เหมือนมรรค ๘ กับรู้เข้าใจถูกต้อง คือ รู้ว่าสังขารไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ธรรมเป็นอนัตตา เรียกว่า สัมมาญาณ ๑ และหลุดพ้นดีแล้ว คือ พ้นจากกิเลสทั้งปวง เรียกว่า สัมมาวิมุติ๑

โพชฌงค์
คือ องค์คุณเป็นเหตุให้รู้ ๗ ประการ ได้แก่ สติ๑ ธรรมวิจัย๑ เพียร๑ ปีติ๑ ความสงบ๑ สมาธิ๑ ความวางเฉยอันเป็นผลจากการปฏิบัติธรรม ๖ ข้อแรก๑

สัมมัปปธาน
คือ ความพากเพียรถูกต้อง ๔ ได้แก่ ระวังมิให้ความชั่วเกิด๑ เพียรละความชั่วที่เกิดแล้ว๑ เพียรให้ความดีเกิด๑ และเพียรรักษาความดีที่เกิดมีแล้วมิให้เสื่อม๑

สติปัฏฐาน ๔
คือ สติกำหนดพิจารณากาย ที่กายเป็นอารมณ์๑ พิจารณาความรู้สึกสุขทุกข์เป็นอารมณ์๑ พิจารณาใจเป็นอารมณ์๑ พิจารณาธรรมเป็นอารมณ์๑ ว่า กายสักแต่ว่าเป็นกาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ของเราของเขา

อิทธิบาท
คือ ธรรมเป็นเหตุให้ประสบความสำเร็จ ๔ ได้แก่ ความพอในเรื่องที่จะบำเพ็ญ๑ พากเพียรบำเพ็ญในสิ่งนั้น๑ เอาใจใส่ในสิ่งนั้นมาก๑ และหมั่นค้นคว้าพิจารณาความจริงในสิ่งนั้น๑

อินทรีย์
คือ ธรรมที่เป็นใหญ่ และมีความสำคัญ ๕ ได้แก่ ความเชื่ออย่างมีเหตุผล๑ ความเพียร๑

พละ
คือ ธรรมเป็นกำลัง ๕ เหมือนอินทรีย์๕
รวมเป็นโพธิปักขิยธรรม ธรรมเป็นฝ่ายแห่งความรู้ ๓๗ ประการ เป็นต้น

อริยสัจจะ
คือ ความจริงอย่างประเสริฐ ทำให้ผู้รู้จริงถึงความดับกิเลส ดับทุกข์ได้ เจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้อริยสัจจะนี้ จึงสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

อริยสัจจะมี ๔ คือ
ทุกข์ ได้แก่ ความเกิด แก่ ตาย ความทุกข์กาย-ใจ เป็นต้น รู้ความจริงว่าสิ่งเหล่านี้เป็นทุกข์ ชื่อว่ารู้ทุกข์

สมุทัย ได้แก่ เหตุให้เกิดทุกข์ คือ ความทะยานอยากในกาม(กามตัณหา) ความทะยานอยากเป็นนั่นเป็นนี่(ภวตัณหา) และความทะยานอยากไม่เป็นนั่นเป็นนี่(วิภวตัณหา) รู้ความจริงว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเหตุเกิดทุกข์ ชื่อว่ารู้สมุทัย(ความอยากที่ได้ชื่อว่าตัณหานั้น ต้องเป็นความอยากมีอีกเป็นอีกเกิดใหม่อีก ประกอบด้วยความติดด้วยอำนาจ ความยินดีพอใจ และยินดียิ่งนักในสิ่งที่ต้องใจนั้นๆ ความอยากถึงพระนิพพาน ไม่มีลักษณะเป็นอย่างนี้ และเป็นความอยากเพื่อสิ้นอยาก จึงไม่เป็นตัณหา)

นิโรธ ได้แก่ ความดับความอยากนั้นโดยสิ้นเชิง รู้ความจริงว่า ความดับความอยากได้เป็นความดับทุกข์ ชื่อว่ารู้นิโรธ

มรรค หรือ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ได้แก่ หนทางให้ถึงนิโรธมี ๘ มีความเห็นถูกว่า ความเกิดเป็นทุกข์(สัมมาทิฏฐิ) เป็นต้น รู้ความจริงว่าหนทางมีองค์ประกอบ ๘ อย่าง เป็นหนทางให้ถึงนิโรธ ชื่อว่ารู้มรรค หรือรู้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา รู้ความจริงแท้เหล่านี้ด้วยญาณ ย่อมทำให้ถึงพระนิพพานได้ในที่สุด(ความรู้อริยสัจจะ ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้พระสาวกสำเร็จเป็นพระอริยเจ้า เช่น เป็นพระโสดาบัน เราก็รู้แต่ไม่สำเร็จ ทั้งนี้เพราะเรายังรู้จำ ยังไม่รู้จริงอย่างพระอริยเจ้าเหล่านั้น)

แต่ธรรมทั้งหมดนั้น เมื่อกล่าวโดยสรุป ได้แก่ ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เมื่อปฏิบัติได้บริบูรณ์ถึงขีดแล้ว พระนิพพานก็เป็นสิ่งที่หวังได้

ไตรสิกขา
ศีล
เป็นเรื่องการรักษากาย วาจา ให้ดีไม่ให้เป็นทุจริต มีเว้นการฆ่า เป็นต้น

สมาธิ
คือการตั้งใจมั่น ทำใจให้เป็นหนึ่ง สงบ มีอารมณ์รวมเป็นจุดเดียวจนปราศจากนิวรณธรรม ๕ ประการ(คือความพอใจหรือรักในสิ่งที่ชอบใจ เรียกว่า กามฉันท์ การปองร้ายผู้อื่น เรียกว่า พยาบาท ความมีใจหดหู่เคลิบเคลิ้ม ซึมง่วง เรียกว่า ถีนมิทธะ ความมีใจฟุ้งซ่านรำคาญ คิดพล่าน เรียกว่า อุทธัจจกุกกุจจะ และความลังเลสงสัย เรียกว่า วิจิกิจฉา) เป็นอย่างต่ำจนถึงได้ฌานสมาบัติ

ปัญญา
คือ รู้แจ้งสภาพต่างๆ ตามความเป็นจริง เป็นเครื่องทำให้ทิฏฐิ คือ ความเห็นถูกต้อง

ธรรมทั้ง ๓ อย่างนี้ ย่อมเกี่ยวข้องกันจะขาดเสียมิได้ ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในมหาปรินิพพานสูตร ในมหาวรรค ทีฆนิกาย ความไทยว่า ศีลอบรมดีแล้ว สมาธิย่อมมีผลานิสงส์มาก สมาธิอบรมดีแล้ว ปัญญาย่อมมีผลานิสงส์มาก ปัญญาอบรมดีแล้ว จิตย่อมหลุดพ้นจากอาสวกิเลส

ธรรมทั้ง ๓ มีความเกี่ยวข้องกันอย่างนี้ ดังนั้น ก่อนจะบำเพ็ญชั้นปัญญา ใจต้องเป็นสมาธิก่อน และก่อนที่ใจจะเป็นสมาธิ กาย-วาจา ต้องเรียบร้อยด้วยศีลก่อน ดังนั้น ผู้ปฏิบัติเพื่อโมกขธรรม หรือเพื่อพระนิพพานจึงต้องมีศีลก่อน ด้วยการสมาทานรักษาศีล จะเป็นศีล๕ หรือศีล๘ ก็ได้ ส่วนศีล๑๐ และศีลนอกนั้นเป็นศีลของบรรพชิต เมื่อมีศีลบริสุทธิ์บริบูรณ์ คือ มีกาย วาจา เรียบร้อยดีแล้ว การบำเพ็ญสมาธิก็สะดวก เมื่อใจเป็นสมาธิปราศจากนิวรณ์แล้ว การบำเพ็ญปัญญาก็สะดวก เพราะพิจารณาเห็นได้แจ่มแจ้งชัดเจน ในความเป็นจริงของสิ่งต่างๆ เช่น ตัวเรา เป็นต้น อันเป็นเหตุให้ใจพ้นจากกิเลส พ้นจากการยึดถือว่าเราของเรา เขา ของเขา

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

ทางไปสู่สุคติ ทุคติ

คนที่เข้าใจว่าตายแล้ว เมื่อยังมีเหตุคือ กิเลสอยู่ ย่อมต้องไปเกิดอีก จึงวิตกว่าตายแล้วจะไปเกิดในทุคติ จะไม่ได้เกิดในสุคติ สวรรค์ จะได้รับความลำบากเหมือนที่ตนได้รับอยู่ในชาตินี้ หรือเกรงจะไม่ได้รับความสุขเหมือนที่ตนได้รับอยู่ในชาตินี้ เพื่อแก้ไขปัญหานี้ พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงทางไปสุคติโลกสวรรค์ หรือไปเกิดเป็นคนอีกก็ไม่ลำบาก ทางนี้มีมากเป็นต้นว่า

๑. สมบูรณ์ด้วยความเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่ออย่างมีเหตุผล เช่น เชื่อเรื่องการทำดีทำชั่ว และผลของการกระทำนั้น

๒. สมบูรณ์ด้วยศีล คือ มีความเรียบร้อยทางกาย ทางคำพูด มีศีล ๕ ข้อ เช่น เว้นการฆ่าเขา เบียดเบียนเขา เป็นต้น

๓. สมบูรณ์ด้วยความเสียสละของที่เป็นของตน เป็นการเฉลี่ยความสุขให้ผู้อื่น คือ ให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์จากของของตน และช่วยให้เขาช่วยตัวเองได้

๔. สมบูรณ์ด้วยปัญญา รู้จักว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรมีประโยชน์ไร้ประโยชน์ เป็นต้น แล้วละสิ่งที่ชั่ว ทำสิ่งที่ดี

เมื่อปฏิบัติตามหลักดังกล่าวดีแล้ว ย่อมแก้ปัญหาได้ หรือไม่ก็ให้แก้ด้วยวิธีนี้คือ

๑. ไม่ฆ่า ไม่เบียดเบียน ไม่ลัก ไม่โกง ไม่ประพฤติผิดทางเพศ

๒. ไม่ปด ไม่พูดหยาบคาย ไม่พูดยุให้เขาแตกกัน ไม่พูดเหลวไหล

๓. ไม่อยากได้ของเขามาเป็นของตน ไม่ปองร้ายใคร และมีความเห็นถูกต้องตาม หรือ
-ไม่ทำชั่วทางกาย มีฆ่าเขา เป็นต้น
-ไม่ทำชั่วทางวาจา มีพูดปด เป็นต้น
-ไม่ทำชั่วทางใจ มีอยากได้ของเขามาเป็นของตน เป็นต้น
-สรรเสริญพระอริยเจ้า
-มีความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง
-ทำกิจการต่างๆ ด้วยอำนาจความเห็นถูกต้องนั้น

หรือรักษาศีล ๕ อย่างเคร่งครัด หรือ
๑. เชื่ออย่างมีเหตุผล เชื่อในเรื่องที่ควรเชื่อ
๒. มีหิริ คือ ละอายตนเองไม่กล้าทำชั่ว
๓. มีโอตตัปปะ คือ เกรงตนเอง โดยเกรงผลของการทำชั่ว
๔. ไม่โกรธง่าย โกรธแล้วก็ไม่ผูกโกรธไว้ โกรธแล้วก็แล้วกันไป
๕. มีปัญญา รอบรู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว อย่างมีเหตุผล

หรือว่า
๑. ไม่โกรธง่าย โกรธแล้วก็ไม่ผูกโกรธไว้
๒. ไม่ลบหลู่ผู้มีบุญคุณ และผู้ใหญ่
๓. ไม่หนักในลาภในผล
๔. ไม่ติดในสักการะ
เมื่อดำเนินตามทางดังกล่าว ก็ย่อมไปสู่สุคติ โลกสวรรค์ได้ เมื่อตายไปแล้ว และเมื่อไปเกิดเป็นคนอีกก็ไม่ลำบาก

ทางไปสุคติมีมาก แต่ก็ยังมีคนไม่น้อยที่เดินทางไปทุคติ

ทางไปทุคติ ในพระพุทธศาสนา เป็นต้นว่า ละเมิดศีล ๕ เพียงข้อใดข้อหนึ่งเป็นประจำ หรือ
๑. ทำชั่วทางกาย เช่น ฆ่าเขา ทางวาจา เช่น ปดเขา ทางใจ เช่น ละโมบอยากได้ของเขา
๒. ติเตียนพระอริยเจ้า
๓. เห็นผิดเป็นชอบ เช่น เห็นว่าฆ่าเขา ข่มเหงเขา เป็นของดี แสดงว่าตนเป็นคนเก่ง โกงเขา เป็นของดีเพราะรวยเร็ว เป็นต้น
๔. ทำการต่างๆ ตามความเห็นผิดนั้น

หรือว่า
๑. ฆ่าเขา เบียดเบียนเขา ลัก-โกงเขา ประพฤติผิดทางเพศ เช่น เป็นชู้ เป็นต้น เพียงข้อใดข้อหนึ่ง
๒. พูดปด พูดหยาบคาย ด่าว่า พูดยุให้เขาแตกกัน พูดเลอะเทอะ เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง
๓. อยากได้ของเขา คิดปองร้ายเขา เห็นผิดเป็นชอบ เห็นชอบเป็นผิด เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง

หรือ
๑. โกรธง่าย โกรธแล้วผูกโกรธไว้
๒. มักลบหลู่บุญคุณคน ไม่มีกตัญญูกตเวทีใคร
๓. หนักในลาภผลมาก ไม่ยอมให้อะไรแก่ใคร อยากได้แต่ของผู้อื่น
๔. หนักในสักการะยกย่อง ชอบติดในสิ่งนั้น ถ้าใครไม่สักการะ ก็ไม่ชอบใจ

หรือ
๑. เชื่ออย่างงมงาย ไม่เชื่ออย่างมีเหตุผล เรื่องที่ควรเชื่อกลับไม่เชื่อ กลับไปเชื่ออย่างไร้เหตุผลเป็นนิตย์
๒. ไร้หิริ คือความละอายตนเอง อยากจะทำชั่วอย่างไรก็ทำ
๓. ไร้โอตตัปปะ คือความเกรงต่อผลของการกระทำชั่วของตน
๔. โกรธง่าย โกรธแล้วก็ผูกใจโกรธไว้
๕. ทรามปัญญา ไม่รู้ผิดรู้ถูก
อาการแต่ละอย่างนั้น ย่อมเป็นทางแห่งทุคติได้ทั้งสิ้น ถ้าทำเป็นประจำ และคนชนิดนี้มักมีใจขุ่นมัวอยู่เสมอ เมื่อตายในขณะใจขุ่นมัวก็ไปทุคติ แต่บางอย่างแม้ทำเพียงอย่างเดียวและครั้งเดียว ตายไปแล้วก็ไปทุคติแน่นอน การกระทำนี้คือ อนันตริยกรรม ๕ ประการ ได้แก่

๑. ฆ่าพ่อ
๒. ฆ่าแม่
๓. ฆ่าพระอรหันต์
๔. ประทุษร้ายพระพุทธเจ้าแม้เพียงห้อพระโลหิต
๕. ทำลายสงฆ์ผู้สามัคคีให้แตกกัน

และทางทุคติที่เกี่ยวกับหญิงโดยเฉพาะก็มี คือ หญิงรีดลูก๑ ดูหมิ่นสามี๑ ดูหมิ่นญาติของสามี๑ ย่อมไปทุคติ

การดำเนินตามทางเช่นนี้ย่อมไปอบาย ทุคติ วินิบาต นรกได้ เมื่อตายไปแล้ว แม้จะไปเกิดเป็นคนอีก ก็ต้องได้รับความลำบาก

มีพระพุทธภาษิตสรุปรวมได้อีกมาก เป็นต้นว่า ธรรมกับอธรรมไม่เหมือนกัน มีผลต่างกัน อธรรมย่อมนำไปสู่นรก ธรรมย่อมนำไปสู่สุคติ

ทางดำเนินชีวิต เพื่อความสุขความทุกข์ของมนุษย์ และทางที่จะไปสู่สุคติ ทุคติเป็นอย่างไรก็ได้ทราบดังที่กล่าวแล้ว

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

สุคติ สวรรค์ ทุคติ นรก

คนยุคใหม่ทุกวันนี้พอพูดถึงเรื่องนรกสวรรค์ สุคติ ทุคติ กรรม ก็ยิ้มอย่างเย้ยหยัน ทั้งๆ ที่ตนเองยังไม่เข้าใจ แต่ตนเองนึกว่าตนเข้าใจ นักเผยแพร่บางท่านก็ไม่กล้าพูด เพราะตนเองก็ไม่แน่ใจ หรือเกรงผู้ฟังจะหาว่าพูดเรื่องเหลวไหลไม่ทันสมัย นำเรื่องที่มองไม่เห็นมาพูด แล้วผลเป็นอย่างไร ผลก็คือคนยุคนี้ เกรงบาป กลังผลของการทำชั่วน้อยเต็มที แต่กลับดูหมิ่นเรื่องความดีความชั่ว พูดจาบจ้วงเรื่องสุคติ ทุคติ มากกว่าแต่ก่อน เป็นผลให้สังคมทุกระดับปั่นป่วน ปกครองยาก พูดยาก ว่ากล่าวตักเตือนยาก มีความเห็นชั่วเป็นดี เช่น เห็นว่าข่มเหงเขาได้ ทำร้ายเขาได้เป็นของดี แสดงว่าตัวเป็นคนเก่ง ลักเขา จี้เขา โกงเขาได้เป็นของดี เพราะรวยทางลัด ประพฤติผิดทางเพศเป็นของดี เพราะแสดงว่าตัวเป็นคนมีเสน่ห์ดี ปดหลอกลวงเขาเป็นของดี เพราะแสดงว่าตัวมีวาทศิลป์เยี่ยม การดื่มเครื่องดองของเมามากเป็นของดี เพราะแสดงว่าตัวคอแข็ง มีเงิน รวย คนบางพวกหากินจากความชั่วอย่างสง่าผ่าเผย สังคมปัจจุบันนี้มักให้ความสำคัญแก่คนร่ำรวน ต้อนรับคนร่ำรวนโดยไม่คำนึงว่าจะร่ำรวยมาจากพฤติกรรมเลวดีอย่างไร ขอให้รวยก็ใช้ได้ ผิดกว่าแต่ก่อนซึ่งสังคมครั้งนั้นรังเกียจคนโกง ไม่ต้อนรับคนรวยเพราะทุจริตกรรม คนยุคก่อนได้ยินหรือเห็นรูป เรื่องสุคติ ทุคติ นรก สวรรค์ อยู่เสมอตั้งแต่เล็ก ขอโตขึ้นแม้ตนจะไม่เชื่อ แต่ก็เกิดความหวาดเกรงผลของความชั่วฝังอยู่ในใจ ไม่ค่อยกล้าทำความชั่วเต็มที่ จะทำก็ทำอย่างมีการยั้งมือ และพอใจในการทำความดี เผื่อเอาไว้ ผลก็คือสังคมทุกระดับมีความเรียบร้อยสงบสุขกว่าทุกวันนี้ สันดานคนนั้นลำพังกฎหมายอย่างเดียวยังไม่พอให้คนเกรงกลัวได้มาก คนเกรงกลัวสิ่งลี้ลับมากกว่า บางท่านอาจกล่าวว่าที่สังคมยุคนี้เป็นอย่างนั้นเป็นเพราะเหตุ คือ คนเกิดมากและปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ เป็นต้น นั่นก็เป็นความเห็นที่มีเหตุผลดีอย่างหนึ่ง

แต่ความเห็นที่กล่าวมานี้ก็เป็นความเห็นอย่างหนึ่ง ใครจะเห็นด้วยหรือไม่ นั่นเป็นสิทธิ์ของแต่ละคน แต่ความจริงก็คือคนยุคก่อนเกรงผลของความชั่ว เกรงนรก สังคมครั้งนั้นมีความยุ่งยากน้อย พูดกันง่าย แต่ยุคนี้ซึ่งเป็นยุคที่ถือว่าเรื่อง นรก สวรรค์ เป็นเรื่องเหลวไหล มองไม่เห็น ไม่น่าเชื่อ เป็นเรื่องโง่เง่างมงาย เลยไม่หวั่นเกรงผลของความชั่ว และสังคมในยุคนี้เป็นอย่างไรบ้าง

สิ่งที่เรามองไม่เห็นจะว่าไม่มี หรือจะว่าเป็นเรื่องเหลวไหลไปทั้งหมดนั้นย่อมไม่ได้ บางอย่างมีแต่มองไม่เห็น และก็รู้ว่ามี

บางท่านอาจนึกว่า ถ้าเกิดศึกสงคราม ชาวพุทธจะไม่สามารถทำการสู้รบป้องกันเอกราชได้ เพราะการฆ่าเป็นบาปเป็นความชั่ว

ข้อนี้ขอชี้แจงว่า เรื่องชั่ว เรื่องดีนั้น เมื่อทำดีแล้วก็ต้องเป็นความดี เมื่อทำชั่วก็ต้องเป็นความชั่ว ผู้ใหญ่ในครั้งก่อนนั้นที่ท่านเป็นนักรบ เป็นแม่ทัพ สั่งให้ทหารฆ่าข้าศึก ตนเองก็ฆ่าด้วย ท่านก็รู้ว่าเป็นการทำบาป และยอมรับ แต่คิดว่าเป็นการทำเพื่อแผ่นดิน เพื่อความสุขของผู้อื่นในแผ่นดินไทย เป็นหน้าที่ เป็นการรักษาชาติบ้านเมือง พระศาสนา และพระมหากษัตริย์ ถ้าชาติสิ้น ศาสนาก็อยู่ไม่ได้ บาปก็บาป ยอมรับว่าเป็นบาป แต่ในศีล ๔ ข้อนั้นท่านละเมิดบางข้อ ส่วนบางข้อท่านรักษาอย่างเคร่งครัด เช่นข้อ ๔ ท่านจึงมีศีลเหมือนกัน นอกจากนั้น ท่านยังบำเพ็ญธรรม เช่น บริจาคทานแก่ผู้อื่นด้วย และเมื่อกลับจากการทำสงครามแล้ว ก็บำเพ็ญบุญกุศลเป็นการเป็นงาน เพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้ที่ตายที่เป็นคนของตนบ้าง ให้ข้าศึกที่ถูกฆ่าบ้าง เช่น ท่านเจ้าพระยาบดินทร์ฯ(สิงห์) บูรณะวัดจักวรรดิ์ฯ

ที่กล่าวมานี้เป็นแต่ข้อคิดเห็นเท่านั้น ใครไม่สนใจก็ผ่านไปหาเรื่องที่น่าสนใจอื่น ซึ่งยังมีอีกมาก

ในพระไตรปิฎก เช่น ในอังคุตตรนิกาย เมื่อกล่าวถึงคนทำความดีความชั่วอย่างนั้นๆ แล้ว ก็มีข้อความว่า กายสฺส เภทา ปรํ มรณา สุคติ สคฺคํ โลกํ อุปปชฺชติ แปลว่า ตายไปแล้วย่อมเข้าถึง สุคติโลกสวรรค์(สคฺค เป็นภาษามคธ สวรฺค เป็นภาษาสันสกฤต ซึ่งไทยนำมาใช้ว่าสวรรค์)

และว่า กายสฺส เภทา ปรํ มรณา อปายํ ทุคฺคติ วินิปาตํ นิรยํ อุปปชฺชติ แปลว่า ตายแล้วย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ในพระไตรปิฎกมีข้อความอย่างนี้เสมอเมื่อกล่าวถึงผู้ทำดีทำชั่ว

สวรรค์ แปลว่า แดนที่มีอารมณ์ดีเลิศ สุคติ แปลว่า ภูมิเป็นที่ไปดี

นิรย แปลว่า แดนที่ไร้ความเจริญ(ใจ) ในภาษาไทยหมายถึง นรก ทุคติ แปลว่า ภูมิเป็นที่ไปเลว

ในสฬายตนวรรค สังยุตตนิกาย พระพุทธองค์ทรงแสดงว่า การที่ได้เห็นรูปที่พอตา ฟังเสียงที่พอหู ดมกลิ่นที่พอจมูก ลิ้มรสที่ต้องลิ้น และสัมผัสที่สบายกาย อารมณ์ที่ต้องใจ นั่นคือสวรรค์ เพราะมีสิ่งที่พอหรือถูก หรือต้องตาเป็นต้น ทำให้เกิดสุขใจ และโดยนัยตรงกันข้าม นรกย่อมเป็นอีกอย่างหนึ่ง สวรรค์ในที่นี้หมายถึงแดนมีอารมณ์ดีเลิศ ที่เห็นที่รู้ได้ง่ายสำหรับคนทั่วไป

ดังนั้น จึงอาจสรุปได้ว่า สวรรค์ นรก อาจมีได้ ๓ ระดับ คือ อย่างใกล้ที่สุด ได้แก่ ที่ตัวเรา กล่าวคือ เมื่อเราได้เห็นรูปเป็นที่ต้องตาต้องใจแล้ว รู้สึกเป็นสุขใจ เมื่อนั้นก็เท่ากับว่าขึ้นสวรรค์ ส่วนนรกย่อมเป็นไปโดยนัยตรงกันข้าม

ระดับสอง ห่างออกจากตัว แต่ยังอยู่ในโลกนี้ คือ ให้ดูคนในระดับต่างๆ เช่น พระมหากษัตริย์ ซึ่งเท่ากับชาวสวรรค์ในโลกนี้ คนที่ถูกจองจำอยู่ในคุกตะราง ได้รับความทุกข์ทรมาน หรือคนเจ็บไข้เป็นโรคภัยร้องครวญคราง เป็นต้น ซึ่งเท่ากับเป็นชาวนรกในโลกนี้เหมือนกัน คือที่ไหนมีภาวะที่ไม่น่าเจริญตาเจริญใจ มีแต่ความทุกข์ทรมาน ที่นั่นก็เป็นดุจนรก ส่วนสวรรค์ก็เป็นไปโดยนัยตรงกันข้าม

ระดับสาม ทางพระพุทธศาสนากล่าวว่า จักรวาลนั้นมีมากเหลือคณานับ ทางภูมิศาสตร์ก็บอกว่าจักรวาลมีมากเหลือจะนับ และจักรวาลหนึ่งๆ ประกอบด้วยขุมแห่งความร้อน ซึ่งสมมติเรียกว่า ดวงอาทิตย์อันเป็นจุดรวม มีดาวฤกษ์ซึ่งยังไม่ดับ กับดาวนพเคราะห์ซึ่งเป็นดาวที่ดับแล้ว รวมเป็นจักรวาลหนึ่ง โลกเราก็เป็นดาวนพเคราะห์ดวงหนึ่งรวมอยู่ในสุริยจักรวาลนี้ และมนุษย์มิใช่มีแต่ในโลกเรานี้เท่านั้น อาจมีที่ดวงดาวอื่นๆ ที่จักรวาลอื่นอีก และที่นั้นอาจมีความเจริญสูงกว่าโลกเรา หรือทุกข์ยากกว่า ร้อนกว่า เย็นกว่าโลกเราก็คงมี ถ้าเราไปเกิดที่โลกร้อนก็เท่ากับว่าตกนรกร้อน ถ้าเราไปเกิดที่โลกซึ่งมีการปกครองด้อย มีการบีบบังคับรุนแรงเต็มไปด้วยการลงโทษรุนแรงในรูปต่างๆ หรือมีความเป็นอยู่ลำบากยิ่งกว่าสัตว์ เมื่อเราไปเกิดที่นั่นก็เท่ากับเราตกนรกขุมนั้นๆ ถ้าเราไปเกิดที่โลกซึ่งมีความเจริญมาก เวลาเกิดก็โตทันที โดยออกมาจากหลอดแก้ว เพราะเกิดจากการผสมและเลี้ยงในหลอดแก้วจนโต แล้วกินอาหารทิพย์ คือแค็ปซูลเพียงครั้งเดียวก็พอไปจนตายหรือจุติ(เช่นเดียวกับคนเดินทางไปโลกพระจันทร์ กินแค็ปซูลเป็นอาหารแล้วไม่ต้องกินอาหารอย่างคนทั่วไป) เมื่อไม่มีปัญหาเรื่องอาหาร ครัว ห้องน้ำ ก็ไม่ต้องมี เศษอาหารที่เป็นขุมแห่งความสกปรกเน่าเหม็นก็ไม่มี กลิ่นตัวก็ไม่มี บ้านเมืองสวยงามสะอาด หอมไปด้วยกลิ่นดอกไม้ เมื่อหมดเรื่องอาหาร ปัญหาอื่นก็ไม่ค่อยมี ไม่มีขโมย เพราะต้องการอะไรก็มีทุกคน มีความรู้จักพอ โรคภัยก็ไม่มีเพราะการแพทย์เจริญมาก คนที่นั้นจะตายก็เพราะความเจ็บไข้ที่เยียวยาไม่ได้ คือเพราะโรคหัวใจ และโรคทางเส้นเลือด เวลาตายก็ปุบปับตาย ก่อนตายมีอาการผิดปกตินิดหน่อย ดุจเทวดาจะจุติก็มีอาการผิดปกตินิดหน่อย เช่น เหงื่อออก การปกครองในที่นั้นก็เป็นไปแบบพ่อปกครองลูก มีแต่ความเมตตา กรุณา (ไม่มีการบีบบังคับลงโทษ) ดุจเป็นเทพบุตร เทพธิดา เราไปเกิดในที่นั่นก็เท่ากับว่า เกิดในสวรรค์นั่นเอง

ในเรื่องนี้มีข้อความในนิทานวรรค สังยุตตนิกายที่ควรนำมากล่าวเพื่อประกอบการพิจารณาตามควร ความไทยว่า สัตว์ทั้งหลาย ผู้ถูกความไม่รู้ปิด ถูกตัณหาผูกมัด ย่อมท่องเที่ยวไป บางครั้งไปโลกอื่นจากโลกนี้ บางครั้งก็มาโลกนี้จากโลกอื่น การเวียนว่ายตายเกิดนี้ไม่มีใครรู้ที่สุด ไม่ปรากฏเบื้องต้นเบื้องปลาย

การยอมรับเรื่องสุคติ ทุคตินี้ เป็นการดีมากกว่าเลว เพราะทำให้คนทำดีมากกว่าทำเลว ทำให้เกิดผลดีแก่ตนและแก่ส่วนรวมมากกว่า การปฏิเสธเรื่องนี้นั้น เท่ากับปฏิเสธการบำเพ็ญบารมี คือ เหตุให้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพระพุทธองค์ ปฏิเสธเรื่องกรรมในชาติก่อน ผลของกรรม เรื่องบุพเพนิวาสานุสสติญาณ และเรื่องอื่นๆ อีกมาก ขอให้พิจารณาให้ดี อย่าให้ความฉลาดและเรื่องอื่นๆ อีกมาก ขอให้พิจารณาให้ดี อย่าให้ความฉลาดมาทำลายความเฉลียว

ความเห็นนี้เป็นเรื่องเฉพาะตัว ใครจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ไม่เป็นไร ใครจะเชื่อหรือไม่ก็เป็นสิทธิของแต่ละคน ถ้าเห็นด้วยจะเห็นด้วยระดับไหนก็แล้วแต่ใจ เมื่อพอใจระดับไหนก็ไม่ควรจะไปว่าระดับอื่นว่าไม่จริง หรือเหลวไหลงมงาย เพราะการจะตัดสินว่าเรื่องนั้นจริง เรื่องนี้เท็จนั้นไม่ใชเรื่องของเราคนเดียว และแต่ละเรื่องต่างก็มีความจริงอยู่ในตัวของเรื่องนั้นเอง

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

วิธีแก้ปัญหาชีวิต

ปัญหาชีวิต ทุกคนย่อมอาจมีเหมือนกันหรือต่างกันบ้าง เช่น ปัญหาเกี่ยวกับการเล่าเรียน การเศรษฐกิจ การครอบครัว การปกครอง การค้า การไม่ได้รับความยุติธรรม การสุขภาพ ความพลัดพรากจากคนรักหรือของที่รัก ความผิดหวัง ความวิตกกังวลห่วงใย การถูกนินทาว่าร้ายและใส่ร้าย ความแก่ เจ็บ ตาย ความประสบกับสิ่งที่ไม่พอใจ ทำอย่างไรตายแล้วจะไม่ไปทุคติ นรกสวรรค์มีจริงหรือ ทำอย่างไรจะพ้นทุกข์ เป็นต้น ซึ่งเมื่อสรุปแล้ว ก็อยู่ที่ปัญหาเดียว คือความไม่ได้อย่างใจเท่านั้น

ปัญหาชีวิตเหล่านี้ ในพระพุทธศาสนามีวิธีแก้ไว้หมด เช่น

๑. ความแก่ เจ็บ ตาย
สิ่งเหล่านี้ คนทั่วไปกลัว ไม่ชอบ ดังนั้นจึงได้ชื่อว่าเป็นภัย คือสิ่งที่กลัวกันและก่อให้เกิดทุกข์

สิ่งเหล่านี้ พระพุทธเจ้าทรงสอนให้คนพิจารณาบ่อยๆ จะได้กล้า จะได้ยอมรับความจริง จะได้รู้เท่าทัน ดังที่ทรงแสดงไว้ในปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ความไทยโดยย่อว่า ควรพิจารณาบ่อยๆ ว่าสัตว์ทั้งปวง(หมายถึงทั้งคนทั้งสัตว์) มีความแก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นไปได้ เป็นต้น เป็นการเตรียมพื้นจิตใจไว้คอยรับ คือเตรียมรับสิ่งที่ตนกลัวเหล่านั้นไว้ เมื่อภัยเหล่านั้นมาถึงตัวจะได้สู้ได้อย่างมีทีท่าไม่เสียขวัญ แล้วแก้ไขไปตามควร อย่างคนเตรียมพร้อม ไม่ใช่สอนให้นึกอย่างนั้นแล้วนั่งนอนรอแก่ รอเจ็บ รอตาย ไม่ทำอะไร คนอย่างนี้เรียกว่า คนโง่ คนประมาท

พระพุทธเจ้าสอนให้รู้ความจริงของชีวิตอย่างนี้แล้ว จะได้ไม่ประมาทจะได้เตรียมพื้นของใจไว้คอยรับสิ่งเหล่านั้น จะได้สร้างความดีไว้ก่อนที่จะเจ็บจะตาย พระองค์ทรงสอนไม่ให้ประมาท ไม่ให้วางใจในเรื่องวัย ในความไม่เจ็บไข้ ในความตาย ทรงสอนว่าควรทำความพากเพียรในวันนี้ทีเดียว ใครเล่าจะรู้ว่าความตายจะมาถึงพรุ่งนี้

เมื่อยอมรับความจริงในสิ่งเหล่านี้ ด้วยความไม่ประมาทอย่างนี้ เมื่อแก่ก็เป็นคนแก่ที่ดี มีศีลธรรมมีสติ เมื่อเจ็บก็เป็นคนเจ็บที่ดี เจ็บเป็นคือ เป็นนักสู้ความเจ็บ และควบคุมความรู้สึกได้ เมื่อตายก็ตายเป็น คือ ตายดี มีสติและมีความสำนึกมั่นอยู่ในความดี คนอย่างนี้เรียกว่า แก่เป็น เจ็บเป็น ตายเป็น

ถ้าไม่อยากแก่ เจ็บ ตาย ก็ต้องไม่เกิด ถ้าจะไม่เกิดก็ต้องให้หมดเหตุคือ กิเลส ถ้าจะให้หมดกิเลส ก็ต้องบำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญาให้เต็มพิกัด แต่จะร้อยละเท่าไรที่ไม่อยากเกิด ส่วนมากมีแต่อยากเกิด แต่ไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย ซึ่งเป็นไปไม่ได้ และถ้าคนและสัตว์ไม่ตายเลย ป่านนี้โลกจะเป็นอย่างไร การตายเป็นการถ่ายเทที่เหมาะสมแล้วตามธรรมชาติ

๒. ความผิดหวัง
๒.๑ ความผิดหวังเป็นของคู่กันกับความสมหวัง
ข้อนี้ตรงกับการได้รับ และการไม่ได้รับในโลกธรรม เป็นสภาพที่เป็นจริงของโลก ซึ่งทุกคนต้องได้พบ วิธีแก้ไขความทุกข์ทางใจในเรื่องผิดหวังนี้ ควรใช้โลกธรรมกับไตรลักษณ์ รวมทั้งเรื่องหลักกรรมดังที่ได้กล่าวแล้วด้วย เป็นเครื่องประกอบในการพิจารณา

และในเรื่องอย่างนี้พระพุทธเจ้า ทรงให้พิจารณาบ่อยๆ ว่าเราต้องพรากจากของที่เป็นที่รักที่ชอบใจเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นไปได้ เป็นต้น ดังนั้น เมื่อได้อะไรมาต้องคิดถึงความจริงว่า วันหนึ่งเราจะต้องจากสิ่งนี้ไปเพราะความตาย หรือสิ่งนี้จะต้องจากเราไปเพราะแตกหรือหายไปเป็นอย่างนี้แน่ ไม่ต้องสงสัย ความจริงมีอยู่อย่างนี้ ต้องรู้ความจริง ยอมรับความจริง ต้องรู้จักคิด ความทุกข์ทางใจก็จะน้อยลง และในเรื่องนี้พระพุทธองค์ตรัสไว้ในสุตตนิบาต ขุททกนิกาย ความไทยว่า ไม่ควรเพลิดเพลินติดในของเก่า ไม่ควรทำความพอใจติดในของใหม่ เมื่อสิ่งนั้นๆ เสื่อมสิ้นไป ก็ไม่เดือดร้อนดังคนอื่น ข้อนี้เป็นวิธีแก้ปัญหาเกี่ยวกับความผิดหวังทั่วๆ ไป

๒.๒ ความผิดหวังในการเรียน
ถ้าไม่ต้องการผิดหวังในเรื่องนี้ ก็ขอให้ใช้หลักอิทธิบาท ๔ ประการ และเว้นอบายมุข ดังที่กล่าวแล้วเป็นเครื่องประกอบในการเรียน หรือใช้หลักธรรมเหล่านี้ คือ
๑. ฟังดี คือฟังเป็น
๒. ตั้งใจเรียน ตั้งใจฟัง
๓. ตั้งใจรับความรู้
๔. เอาใจใส่ในการเรียน เช่น หมั่นถาม หมั่นจด หมั่นทดลอง เป็นต้น

ถ้าทำได้อย่างนี้ จะสมหวังในการเรียน ถ้าทำแล้วยังผิดหวัง ก็นึกว่าตนเองยังทำเหตุไม่พอ ต่อไปต้องทำเหตุให้มากกว่านี้ ไม่ควรไปโทษคนอื่น เพราะไม่สำเร็จประโยชน์อะไร มีแต่จะทำให้เกิดศัตรู เกิดความผิดหวังยิ่งขึ้น

พระพุทธองค์ทรงสอนให้รู้จักพิจารณาตัวเอง รู้จักตัวเอง เตือนตัวเอง และในเรื่องนี้นั้นเพื่อน มีส่วนสำคัญอยู่มาก

๒.๓ ความผิดหวังในความรัก ในของรัก ในความจากของที่รักที่ชอบใจ
วิธีแก้ปัญหานี้ให้สบายใจ คือ ขอให้ยอมรับความจริงว่า ในชีวิตของทุกคนทั้งในอดีต ทั้งในปัจจุบัน ทั้งในอนาคต ต้องพบสิ่งเหล่านี้ แต่บางคนได้รับความทุกข์ทางใจมาก จนทำลายตนเอง บางคนเป็นทุกข์มากจนป่วย บ้างก็เป็นเพียงแต่เป็นทุกข์ใจ บางท่านเฉยๆ เช่น พระอรหันต์ ทั้งนี้สุดแต่ว่าใครยึดเอาไว้มากหรือน้อย หรือไม่ยึดเลย

แต่ถ้าเกี่ยวกับความรัก นอกจากจะพิจารณาแก้ไขดังข้อ ๒.๑ แล้ว ต้องคิดดังที่มีปรากฏในชาดกขุททกนิกาย ความไทยว่า ความรักย่อมเกิดเพราะเหตุ ๒ ประการ อันจะทำให้ได้อยู่กินด้วยกันคือ

๑. บุพเพสันนิวาส เคยเป็นเนื้อคู่มาก่อน
๒. ความเห็นอกเห็นใจเกื้อกูลกันในปัจจุบัน

เมื่อผิดหวังในความรักก็อาจเป็นเพราะขาดเหตุดังกล่าวแล้วนั้นก็ได้ เมื่อไม่ใช่คู่ของเรา ก็ไม่ควรกับเรา และควรกับคู่ของเขา อย่างนี้ก็ยุติธรรมดีแล้ว แต่การที่จะคิดทำลายคู่แข่งขันนั้น มิใช่เป็นการกระทำของคนที่เจริญแล้ว แต่เป็นการกระทำของคนป่าเถื่อน หรือของสัตว์มากกว่า สัตว์ที่จำทำลายกันก็ด้วยเหตุคือ แย่งตัวเมีย แย่งอาหาร แย่งความเป็นใหญ่ คนป่าก็เหมือนกัน

๒.๔ ความผิดหวังในคนภายใน เช่น ลูก พี่น้อง เป็นต้น
บางคนมีปัญหาเกี่ยวกับลูกบ้าง พี่น้องบ้าง ที่เรียนไม่ดี หรือเสียความประพฤติ เรื่องนี้มีวิธีแก้อย่างนี้

เกี่ยวกับการเรียน ควรแนะนำสอนให้ใช้หลักอิทธิบาท และวิธีการดังข้อ ๒.๒ เว้นอบายมุข โดยเฉพาะเรื่องเพื่อนนั้นสำคัญนัก

เกี่ยวกับความประพฤติ ควรแนะนำตักเตือนให้รู้ว่าทำอย่างนี้ดี ทำให้เป็นคนมีอนาคตแจ่มใส ทำอย่างนี้เลว ทำให้อนาคตมืดมน พูดให้เขาเป็นคนมีอนาคต คนมีอนาคตดีนั้นต้องละสิ่งที่ควรละคือ อบายมุข โดยเฉพาะการคบเพื่อนเลว ต้องชี้แจงลักษณะเพื่อนดีเพื่อนเลวให้เขาพิจารณา และให้เขาทำสิ่งที่ควรทำ คือวิธีตั้งตัวในชาตินี้ มีต้องขยันเล่าเรียนเพื่อหาเครื่องรับประกันอนาคต และขยันหาทรัพย์ เป็นต้น

เรื่องการแนะนำสอนคนนั้น ต้องรู้ความจริงว่า คนนั้นไม่เหมือนกัน บางคนรู้ได้เร็ว บางคนต้องแนะนำก่อนจึงรู้ บางคนต้องแนะนำชี้แจงหลายครั้งจึงรู้ บางคนเหลือที่จะแนะนำ เพราะดื้อเกินไปหรือโง่เกินไป บุคคลประเภทสุดท้ายนั้น แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ต้องทรงชักสะพานคือไม่สอน ถ้าไปถูกคนชนิดนี้เข้าก็ต้องปลงใจว่า เราทำหน้าที่ของตนอย่างดีที่สุดแล้ว แต่ไม่ไหวก็ต้องปล่อย แม้พระพุทธองค์เองก็ยังทรงปล่อยคนประเภทนี้ นับประสาอะไรกับคนขนาดเรา นึกเสียว่าเป็นกรรมของเขาด้วยของเราด้วยที่ต้องมาเกี่ยวข้องกับเขา ต้องใช้หลักกรรมมาช่วย อย่างนี้ก็จะทำให้ค่อยสบายใจขึ้น

๒.๕ ผิดหวังเพราะสู้เขาไม่ได้
เรื่องที่สู้เขาไม่ได้นั้นมีมาก เช่น สู้เขาไม่ได้ทางการเรียน ทางการทำงานต่างๆ ทางความงาม ทางแต่งตัว ทางการพูด เป็นต้น

ในเรื่องนี้ เราต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งก่อนว่า คนนั้นมีปัญญา มีความสามารถ มีปฏิภาณไม่เท่ากัน แม้สำเร็จการศึกษาพร้อมกันจากสำนักเดียวกันก็ไม่เท่ากัน บางคนเก่งแต่พูด ทำไม่เก่ง บางคนเก่งคิด แต่ทำไม่เก่ง

เฉพาะในเรื่องเรียน หรือทำงานควรจะได้คิดอย่างนี้คือ
๑. เรียน หรือทำลำบาก ต้องขยันมาก ต้องทำงานหนักมาก แต่ได้ผลช้า คือรู้ช้า หรือประสบผลช้า อย่างนี้ก็มี

๒. เรียน หรือทำลำบาก แต่รู้เร็ว หรือได้ผลเร็วอย่างนี้ก็มี

๓. เรียน หรือทำง่าย ไม่ต้องอาศัยความขยันขันแข็ง ทำงานหนักมาก แต่ได้ผลช้า คือรู้ช้า หรือประสบผลช้า อย่างนี้ก็มี

๔. เรียน หรือทำง่าย แต่ได้ผลเร็ว คือรู้เร็ว หรือได้ประสบผลเร็ว อย่างนี้ก็มี

หรือคิดว่าตนยังทำเหตุไม่สมผลยังทำเหตุน้อยไป จึงยังสู้เขาไม่ได้ หรือจึงยังไม่พบความสำเร็จ เมื่อคิดได้อย่างนี้ จะได้ไม่ท้อใจ เมื่อยังไม่ประสบความสำเร็จจะได้ขยันยิ่งขึ้น

การแข่งขันนั้น ท่านว่า แข่งรถแข่งเรือแข่งได้ แต่แข่งบุญวาสนานั้นแข่งกันไม่ได้ ข้อนี้ก็เป็นคติอีกอย่างหนึ่ง สำหรับให้คิดเพื่อผ่อนคลายความไม่สบายใจ จะได้คิดสร้างความดี และข้อนี้ เป็นเรื่องของหลักกรรมอีกเช่นเดียวกัน ดังที่ว่ากรรมคือ การกระทำ ย่อมทำให้สัตว์(หมายถึงคนด้วย) ดีบ้าง เลวบ้าง แล้วแต่กรรม(การกระทำนั้นๆ) และขอให้นำหลักในข้อ ๒.๒ พร้อมทั้งหลักสำหรับการตั้งตัวมาพิจารณาประกอบเพื่อแก้ปัญหานี้ด้วย

ส่วนเรื่องความงามนั้น ศัตรูของความงาม คือความแก่และใครๆ ก็แก่ พอแก่ตัวอายุ ๖๐-๗๐ แล้ว คนสวยคนไม่สวยก็อยู่ในสภาพเดียวกัน คือ แก่ดูไม่ได้ด้วยกันทั้งนั้น ดังนั้น ความงามรูปจึงสู้งามคุณธรรมไม่ได้ เพราะงามคุณธรรมยั่งยืนกว่า มีคุณค่ากว่างามรูป ดังนั้น อย่าไปทุกข์ใจว่างามสู้เขาไม่ได้ เพราะพอแก่แล้วก็เหมือนกัน คือดูไม่ได้เท่าๆ กัน

๓. ปัญหาทางการเมือง
ประเทศต่างๆ ย่อมมีปัญหาทางการเมืองทั้งในและนอกประเทศ ปัญหาเหล่านี้ ในประเทศก็ย่อมมีวิธีแก้ด้วย
ความสามัคคี
เศรษฐกิจ
การบริหาร
การศึกษา
การพระศาสนา
ให้ประชาชนรู้จักหน้าที่ของตน
ภายนอกประเทศแก้ด้วย
วิธีการทูต
มนุษยธรรม

ความสามัคคี
กลุ่มคนตั้งแต่ครอบครัวจนถึงประเทศชาติ จะยังคงอยู่ได้ไม่แตกสลายไป เพราะภายในมีความสามัคคี ข้อนี้เป็นความจริงของทุกยุคทุกสมัย และเหตุให้เกิดความสามัคคีนั้น ทางพระพุทธศาสนาได้แสดงไว้ เช่น สาราณียธรรม ๖ ประการ อปริหานิยธรรม ๗ ประการ สังคหวัตถุเรื่องการช่วยเหลือกัน ๔ ประการ ผู้ใหญ่มีพรหมวิหารธรรม ไม่มีอคติ คือลำเอียงด้วยความรัก โกรธ กลัว และหลง และผู้น้อยมีธรรมของผู้น้อย เช่นเป็นผู้มีความเคารพผู้ควรเคารพ ไม่เบ่งอวดดีจองหอง มีความกตัญญูกตเวที ว่าง่าย พูดกันรู้เรื่อง เป็นต้น

และคนทั้งหลายควรระลึกถึงกัน ทำความรักในกันและกัน เคารพในกันและกัน สงเคราะห์กันไม่วิวาททะเลากัน มีความพร้อมเพรียงกลมเกลียวกัน เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

เศรษฐกิจ
ข้อนี้มีหลักอยู่ว่า ถ้าประชาชนมีฐานะดีแล้ว เศรษฐกิจของบ้านเมืองก็ดีไปด้วย

ประชาชนจะมีฐานะดีนั้นทางพระพุทธศาสนาสอนไว้ว่า ต้องเว้นอบายมุข คือทางแห่งความเสื่อม หรือตั้งตัวไม่ได้ และต้องบำเพ็ญเหตุตั้งตัวได้ในปัจจุบันชาตินี้ มีขยันเรียน ขยันทำงาน ขยันหาทรัพย์ เป็นต้น

เมื่อปฏิบัติได้อย่างนี้ ประชาชนก็จะมีฐานะดี อยู่ดีกินดี มีความสุข โจรผู้ร้ายก็มีน้อย ประชาชนทำงานเพิ่มผลิตผลให้เกิดแก่ชาติ ภาษีอากรก็ได้เพิ่มขึ้น รายได้ของชาติมีมากขึ้น

และในพระพุทธศาสนา ยังแสดงคุณสมบัติของบุคคลผู้มีหน้าที่เป็นรัฐมนตรีพาณิชย์อีก ดังนี้ คือ จกฺขุมา เห็นกาลไกล เห็นว่าอะไรตลาดต้องการ ไม่ต้องการ ฉลาดวิธุรา เอาใจใส่ติดตามงานติดต่อตลาด นิสฺสยสมุปนฺนา มีหัวทางนี้

เมื่อเป็นเช่นนี้ ชาติย่อมมีรายได้มาก เมื่อมีรายได้มาก เศรษฐกิจของชาติย่อมดีขึ้นเป็นธรรมดา การที่เกิดปัญหาเศรษฐกิจทั้งส่วนย่อยคือ ในครอบครัว หรือในส่วนใหญ่คือ ในชาตินั้น ถ้าจะพิจารณาแล้วจะเห็นว่าเป็นเพราะขาดหลักธรรมดังกล่าว

การบริหารบ้านเมือง
เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ทางพระพุทธศาสนาได้แสดงหลักธรรมสำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารบ้านเมือง และหลักธรรมสำหรับผู้บริหารไว้เป็นอันมาก เป็นต้นว่า

ก. หลักบริหาร เช่น
๑. ทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการ
๒. จักรวรรดิวัตร ๑๐ ประการ
๓. ราชสังคหวัตถุธรรม ๔ ประการ
๔. หลักข่มผู้ที่ควรข่ม ยกย่องผู้ที่ควรยกย่อง
๕. สังคหวัตถุ ๔ ประการ
๖. สัปปุริสธรรม ๗ ประการ

ธรรมเหล่านี้เป็นหลักบริหารที่ทางพระพุทธศาสนาได้แสดงไว้ สำหรับผู้บริหารบ้านเมืองได้ใช้ปฏิบัติ

ผู้บริหาร
ในพระพุทธศาสนาได้แสดงคุณสมบัติของผู้บริหารไว้เป็นอันมาก เช่น

ข. หลักของผู้นำ เช่น
๑. ตั้งอยู่ในพรหมวิหารธรรม ๔ ประการ เว้นอคติธรรม ๔ ประการ

๒. หลักของผู้นำ ๖ ประการ มีอดทน เป็นต้น ในเรื่องผู้นำ

๓. หลักของผู้นำ ๕ ประการ มีช่วยเหลือผู้อื่น เป็นต้น ในเรื่องผู้นำ

๔. อีก ๒ ประการ มีความสามารถในการค้นปัญหาเป็นข้อต้น ในเรื่องผู้นำ

๕. และอีก ๗ ประการ มีองอาจ ฉลาดเป็นข้อต้น ในเรื่องผู้นำ

๖. และอีก ๕ ประการ มี ๑. ฉลาด ๒. กล้า ๓. เป็นพหูสูต ๔. ทรงธรรมประจำใจไร้อคติ ๕. ประพฤติสุจริต

ค. หลักของข้าราชการอื่นๆ ฝ่ายพลเรือน เช่น
๑. หลัก ๔ ประการ มีขยันเป็นข้อต้น ในเรื่องข้าราชการ

๒. หลัก ๙ ประการ มีเป็นผู้นำที่ดีของประชาชนเป็นข้อต้น ในเรื่องข้าราชการ

๓. หลักอีก ๔ ประการ มีเป็นผู้พูดให้เขาฟังเป็นข้อต้น ในเรื่องข้าราชการ

๔. อีก ๔ ประการ มีความประพฤติดีเป็นข้อต้น ในเรื่องข้าราชการ

๕. อีก ๔ ประการ มีนับถือผู้เจริญด้วยคุณวุฒิ และวัยวุฒิเป็นข้อต้น ในเรื่องข้าราชการ

๖. อีก ๕ ประการ มีฉลาดรอบรู้เป็นข้อต้น ในเรื่องข้าราชการ

๗. และอีก ๙ ข้อ ซึ่งแสดงหลักการใช้วาจาของข้าราชการ มีไม่พูดมากเกินไปเป็นข้อต้น ในเรื่องข้าราชการ

๘. กับหลักทั่วไปอีก ๗ ประการ มี ๑. ขยันทำงาน ๒. ทำงานด้วยมีสติสัมปชัญญะเสมอเป็นข้อต้น ในเรื่องข้าราชการ

๙. และหลักเป็นเครื่องประกอบอีก ๔ ประการ คือ ๑. รู้ราชกิจ ๒. ปฏิบัติราชการไม่บกพร่อง ๓. ไม่ทะเลาะกับผู้ใหญ่ ๔. ไม่ฉ้อราษฎร์บังหลวง

๑๐. และอีก ๔ ประการ คือ ๑. มีความกตัญญูกตเวที ๒. ถ่อมตนไม่จองหอง ๓. พูดดีไม่ดุร้ายหยาบคาย ๔. พูดมีประโยชน์ ไม่พูดเลว

ฆ. ข้าราชการฝ่ายปราบปราม หรือฝ่ายทหารหรือตำรวจ มีหลักธรรมเช่น
๑. หลักธรรม ๓ ประการ มีความขยันปฏิบัติการเป็นข้อต้น ในเรื่องนักรบ

๒. อีก ๖ ประการ มีเป็นคนแกล้วกล้าเป็นข้อต้น ในเรื่องนักรบ

๓. และอีก ๔ ประการ มีเป็นคนฉลาดรอบรู้เป็นข้อต้น ในเรื่องนักรบ

๔. และมีอีก ๔ ประการ มีเก่งในการตั้งทัพหรือกองทัพเป็นข้อต้น ในเรื่องนักรบ

เมื่อผู้บริหารบ้านเมืองทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายหัวหน้า ฝ่ายบำรุง ฝ่ายปราบปราม มีคุณสมบัติเพื่อการบริหารตามหลักธรรมดังกล่าวแล้ว ก็จะทำให้บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง มีความสุข ทำให้เกิดความมั่นคงแก่ประเทศชาติ

การศึกษา
ประชาชนมีความรู้ดีย่อมเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้บ้านเมืองเจริญ พูดกันรู้เรื่อง และเข้าใจ ในการที่จะรับผิดชอบร่วมกันในการช่วยกันสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศชาติ และประชาชนจะมีความรู้ดีก็ต้องศึกษาดี(ส่วนความประพฤติดีนั้น ย่อมมีเพราะการอบรมทางบ้าน และความคิดดีย่อมได้จากทางวัด หรือทางศาสนา) และหลักการศึกษามีดังนี้

หลักการศึกษา
ทางพระพุทธศาสนาได้แสดงไว้มาก เป็นต้นว่า

๑. ครูต้องใช้หลัก ๔ ประการ มีแนะนำสอนนักเรียนดีเป็นข้อต้น ในเรื่องหน้าที่ครูอาจารย์

๒. นักเรียนต้องปฏิบัติตามหน้าที่ของนักเรียน ๔ ประการ มีเชื่อฟังครูเป็นข้อต้น ในเรื่องหน้าที่ของนักเรียน

๓. และนักเรียนต้องใช้หลักอิทธิบาท คือ เหตุให้ประสบความสำเร็จ ๔ ประการ มีความพอใจในการเรียนเป็นข้อต้น ในเรื่องหลักความสำเร็จ

๔. และนักเรียนต้อง
๔.๑ ฟังดี คือ ฟังได้เรื่องได้ราว
๔.๒ ตั้งใจฟัง
๔.๓ ตั้งใจรับรู้
๔.๔ ตั้งใจศึกษา
เมื่อเป็นอย่างนี้ประชาชนย่อมมีการศึกษาดีโดยทั่วไป และอำนวยให้เกิดความมั่นคงแก่ประเทศชาติ

พระศาสนา
ความรู้ดีย่อมได้จากครู หรือโรงเรียน ความประพฤติดีย่อมได้จากผู้ใหญ่ หรือทางบ้าน ส่วนความคิดดีย่อมได้จากทางวัด หรือทางพระศาสนา คือทางภิกษุสามเณร ดังนั้น ภิกษุสามเณรจึงมีความสำคัญต่อบ้านเมือง ในการที่จะทำให้ประชาชนเป็นคนคิดดี โดยสอนเขา ทำตนให้เป็นตัวอย่างแห่งความดี และเป็นที่พึ่งทางใจของเขา เป็นต้น และภิกษุสามเณรจะทำได้ก็ต้องเป็นภิกษุสามเณรอย่างนี้ คือ

สุกตกมฺมการี=ทำดี
สุภาสิตภาสี=พูดดี
สุจินฺติตจินฺตี=คิดดี
สุวิชาโน=รู้ดี และ

๑. มีความประพฤติดี เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของประชาชน
๒. มีความรู้ดี
๓. มีความเสียสละ
๔. มีความสามัคคี
๕. รู้จักหน้าที่ และทำตามหน้าที่ไม่ละเลย

๑. มีความประพฤติดี
ภิกษุที่ประพฤติดีคือ

๑.๑ สำรวมในพระปาฏิโมกข์ สำรวมในศีล เว้นข้อที่พระพุทธเจ้าห้าม ทำตามข้อที่ทรงอนุญาต

๑.๒ สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ระวังไม่ให้ถูกความยินดี ยินร้ายครอบงำได้เมื่อเห็นรูป เป็นต้น

๑.๓ ไม่เป็นคนเอิกเกริก เฮฮา เป็นคนเรียบร้อย

๑.๔ อยู่ในที่อยู่อันเงียบสงบ

๑.๕ มีความเห็นถูกต้อง

เกี่ยวกับความประพฤติของภิกษุนั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้มาก ดังในบรรพชิตธรรม แต่นำมากล่าวเพิ่มเพียงเท่านี้ก็พอสมควรแล้ว

๒. มีความรู้ดี
คือเป็นพหูสูต โดยมีความรู้ในวิชาหลัก คือทางธรรม และวิชาประกอบคือ ทางโลก เพื่อประโยชน์ในการบำเพ็ญอัตตัตถจริยา และโลกัตถจริยา คือประโยชน์ตน เช่น การอบรมใจของตน และประโยชน์ต่อผู้อื่น เช่น สั่งสอนและอบรมแนะนำผู้อื่นตามหน้าที่ของตน(มโนรถปูรณี) ความรู้ดีย่อมมีได้ด้วยวิธีแห่งการศึกษาดังกล่าวแล้ว ในเรื่องการศึกษา และการศึกษานี้ย่อมเป็นธุระหรือหน้าที่ของภิกษุอย่างหนึ่ง เรียกว่า คันถธุระ หรือปริยัติธรรม

๓. มีความเสียสละ
คือเสียสละความสุขส่วนตัว โดยการบำเพ็ญโลกัตถจริยา ตามอย่างที่พระบรมศาสดาทรงบำเพ็ญมาแล้ว พระพุทธองค์ทรงเป็นกษัตริย์ผู้สุขุมาลชาติ เมื่อตรัสรู้แล้วแทนที่จะเสวยวิมุติสุขส่วนพระองค์ กลับเสด็จไปโปรดผู้อื่นโดยมิได้เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย และลำบากเป็นเวลาถึง ๔๕ ปี พระสาวกทั้งหลายของพระองค์ได้เที่ยวไปเผยแผ่พุทธธรรม เที่ยวไปช่วยผู้อื่นถึงจะสิ้นชีวิตก็ยอม และสาวกที่ยังอยู่ก็ช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป ด้วยความเสียสละกำลังกาย กำลังความรู้ กำลังความคิดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และของพระสาวกอย่างนี้ พระพุทธศาสนาจึงได้แพร่หลายไปยังส่วนต่างๆ ของโลกจนถึงปัจจุบันนี้ ทำให้คนมีความคิดดี ดำเนินชีวิตอย่างมีหลักใจ และพ้นทุกข์ ก็จาคะ หรือความเสียสละนี้ย่อมเป็นความดีอย่างหนึ่ง

๔. มีความสามัคคี
เรื่องนี้มีความสำคัญมาก จึงมีพระบาลีกล่าวไว้มาก เช่น ความพร้อมเพรียงของหมู่คณะย่อมให้เกิดความสุข และความพร้อมเพรียงของหมู่คณะย่อมให้สำเร็จความเจริญ ภิกษุเป็นผู้สอนเขาให้มีความสามัคคี ถ้าจะมาแตกความสามัคคีเองก็เป็นเรื่องที่น่าตำหนิอย่างยิ่ง ทำให้เกิดผลเสียแก่ทุกฝ่าย ดังนั้นความสามัคคีจึงเป็นสิ่งจำเป็นของหมู่คณะ และความสามัคคีนั้นย่อมเกิดได้ และตั้งมั่นยืนนานก็โดยอาศัยหลักธรรมดังกล่าวแล้ว ในเรื่องเกี่ยวกับสังคม และสามัคคี เช่น หลักสังคหวัตถุ ๔ ประการ และสาราณียธรรม ๖ ประการ เป็นต้น

๕. หน้าที่ หน้าที่ของภิกษุมี

๕.๑ เล่าเรียน ได้แก่ คันถธุระ หรือเรียนปริยัติธรรม

๕.๒ ปฏิบัติ ได้แก่ วิปัสสนาธุระ หรือปฏิบัติเพื่อปฏิเวธ

๕.๓ บำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่น และรักษาพระศาสนา

ข้อ ๕.๑, ๕.๒ เป็นอัตตัตถจริยา คือ ทำเพื่อประโยชน์ตน ข้อ ๕.๓ เป็นโลกัตถจริยา คือ ทำเพื่อประโยชน์คนอื่น เมื่อภิกษุมีความประพฤติดี มีความรู้ดี ปฏิบัติหน้าที่ดีอย่างนี้ ย่อมเป็นที่พึ่งทางใจของประชาชน ย่อมสามารถสอนชี้แจง และอบรมให้ประชาชนมีความคิดดีได้ โดยให้เขารู้จักคิด รู้จักตัดสินใจ ข้อนี้ย่อมอำนวยผลเป็นความมั่นคงของชาติบ้านเมืองด้วย และเป็นการแก้ปัญหาทางด้านการเมืองภายในได้อีกอย่างหนึ่ง

ให้ประชาชนรู้จักหน้าที่ของตน และปฏิบัติหน้าที่ของตน
ประชาชนแบ่งเป็น ๒ ฝ่ายคือ ฝ่ายบริหาร กับฝ่ายพลเมืองทั่วไป และประชาชนทั้ง ๒ ประเภทนี้ มักไม่ค่อยถูกกัน คือ ฝ่ายบริหารก็ว่าฝ่ายพลเมืองไม่ให้ความร่วมมือ คอยประพฤติผิดกฎหมาย ไม่เสียภาษีอะไร เป็นต้น ฝ่ายพลเมืองก็ว่าฝ่ายบริหารออกกฎหมายมากดขี่พลเมือง และใช้อภิสิทธิ์ แต่ทั้ง ๒ ฝ่าย ต่างก็มีหน้าที่ทั้งส่วนย่อย คือส่วนตัว และครอบครัว ทั้งส่วนใหญ่คือ ส่วนกลางหรือส่วนรวม แต่ที่สำคัญยิ่งก็คือ หน้าที่ส่วนกลางที่ทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน กล่าวคือ ในส่วนความมั่นคงของประเทศชาติบ้านเมือง เรื่องนี้ทุกฝ่ายจะต้องรับรู้ไม่ใช่เป็นเรื่องของบุคคล ในเรื่องนี้ทางพระพุทธศาสนาสอนให้ใช้หลักสัปปุริสธรรม ๗ ประการ มีรู้เหตุ รู้ผล รู้หน้าที่ของตน เป็นต้น ใช้หลักสาราณียธรรม หลักอปริหานิยธรรม และหลักสังคหวัตถุ หลักพรหมวิหารธรรม เป็นต้น คนเมื่อพูดกันรู้เรื่องเข้าใจเหตุผล มีความสามัคคี มีความดีแล้ว ก็จะไม่มีปัญหาอะไรในการที่จะรับผิดชอบร่วมกันในเรื่องสำคัญคือ บ้านเมือง จริงอยู่บางคนอาจจะเห็นแก่ตัวไม่ยอมรับรู้อะไร จะพูดจะชี้แจงอย่างไรก็ไม่ได้ผล เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ขอให้นึกถึงบุคคล ๔ ประเภท คือ

๑. รู้เรื่องเร็ว
๒. ต้องแนะนำจึงรู้
๓. เป็นคนพอแนะนำได้
๔. เหลือที่จะแนะนำ

บุคคลชนิดที่ ๔ นี้ แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ทรงแนะนำไม่ไหว เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องปล่อยไป เป็นคนเหมือนกันแต่ไม่เหมือนกัน หากปฏิบัติได้เช่นนี้จะทำให้ฝ่ายปกครอง

๑. ทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่ประชาชนทั่วไป บริหารบ้านเมืองได้สะดวกด้วยกุศลจิต

๒. ทำตนเป็นที่พึ่งของประชาชนทั่วไปดุจเป็นญาติ เป็นเพื่อน

๓. ทำตนให้เป็นที่รัก เคารพยำเกรงของประชาชนทั่วไป ไม่ทำตัวเป็นนายผู้บังคับกดขี่

๔. ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต ด้วยความภาคภูมิใจ ส่วนประชาชนทั่วไปย่อมจะ

-รู้จักหน้าที่ของตน เช่น เสียภาษีอากร และรู้จักรับผิดชอบร่วมกันในความมั่นคงของบ้านเมือง

-รู้จักตนว่ามีฐานะภาวะเช่นไร แล้วปฏิบัติให้ถูกต้องตามฐานะกับภาวะนั้น

-รู้จักเสียสละเพื่อชาติบ้านเมือง

-มีความสามัคคี มีศาสนาเป็นที่พึ่งทางใจ มีพระมหากษัตริย์เป็นที่รวมแห่งใจ

ส่วนปัญหาการเมืองภายนอกประเทศนั้น แก้ได้ด้วยวิธีการทูต ดังนี้

ทูตเป็นผู้แทนประเทศ ต้องมีคุณสมบัติประจำตัว และคุณสมบัติประจำตัวทูตนั้น ทางพระพุทธศาสนาได้แสดงไว้ เช่น
๑. คุณสมบัติของทูต ๘ ประการ มีเป็นคนฟังเป็น เป็นข้อต้น ในเรื่องทูต

๒. และมีหลักเหล่านี้คือ ฉลาด กล้า เป็นพหูสูต เป็นคนมีธรรมประจำใจ และประพฤติแต่สุจริต

๓. กับมีหลักอีก ๕ ประการ คือ ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ผูกมิตร รู้จักพูด ใจกว้าง เป็นผู้นำ

เมื่อทูตมีคุณสมบัติอย่างนี้ ย่อมสามารถแก้ไขปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศหรือนอกประเทศได้ อย่างน้อยก็ผ่อนหนักให้เป็นเบาได้

นอกจากนี้ ควรใช้ มนุษยธรรม เป็นเครื่องประกอบการแก้ปัญหาทางการเมืองภายนอกประเทศด้วย แสดงความเห็นใจในความทุกข์ยากของคนนอกประเทศผู้ลำบาก โดยใช้หลักเมตตาธรรม ทางพระพุทธศาสนาแสดงว่า พึงทำเมตตาจิตในหมู่มนุษย์ พึงเจริญเมตตาจิตอย่างกว้างขวางแก่ชาวโลกทั่วไป เมตตาเป็นเครื่องอุปถัมภ์ชาวโลก นอกจากเมตตาธรรมแล้ว สังคหวัตถุ ๔ ประการ มีการให้เป็นข้อต้นดังกล่าวแล้ว ก็ใช้เพื่อมนุษยธรรมได้

ความประหม่า
เกิดจากความกลัว เช่น กลัวผิด กลัวผู้ฟังจะว่า และจากตนนึกดูถูกตัวเองว่า สู้ผู้ฟัง ผู้ดูไม่ได้ จะพูดจะทำอะไรก็เกรงว่าจะผิด ข้อนี้นับว่าเป็นปัญหาชีวิตอย่างหนึ่ง

ปัญหานี้พระพุทธองค์ทรงแสดงวิธีแก้ไว้ดังนี้ คือ
๑. มีความเชื่อมั่น เช่น เชื่อมั่นในตัวเอง
๒. มีความประพฤติดี
๓. มีความรู้ดี
๔. มีความขยันในการทำหน้าที่การงาน
๕. มีความฉลาดรอบรู้

เมื่อมีความประพฤติดี ใครก็ไม่สามารถติเตียนความประพฤติได้ มีความรู้ดี ใครจะมาด้านไหนเป็นสู้ได้ทั้งนั้น มีความขยัน ปฏิบัติหน้าที่เรียบร้อย ไม่บกพร่อง ไม่เปิดช่องให้เขาติเตียน มีความฉลาด มีปฏิญญา และมีความเชื่อมั่นในตัวเอง อย่างนี้ย่อมแก้ความประหม่าได้แน่นอน

เครื่องค้ำจุนโลก
เมตตาเป็นเครื่องค้ำจุนโลก มิให้ตกไปสู่ความยุ่งยาก เมตตา คือ ความปรารถนาดีต่อผู้อื่น การแผ่เมตตานั้นคือ ตั้งใจว่า ขอสรรพสัตว์(หมายถึงสิ่งมีวิญญาณทั้งหมด)
๑. จงอย่ามีเวรมีภัยต่อกันเลย
๒. จงอย่าเบียดเบียนกันเลย
๓. จงอย่ามีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย
๔. จงมีความสุขกาย-ใจ บริหารตนให้พ้นจากทุกภัยเถิด

ถ้าคนทุกคนหรือส่วนมากมีเมตตาจิตต่อกันแล้ว สังคมทุกระดับตลอดจนโลกก็จะมีแต่ความสงบ อานิสงส์ของการเจริญเมตตาจิตมากๆ นั้นมี ๑๑ ประการ มีหลับ-ตื่นเป็นสุขเป็นข้อต้น มีไปสู่พรหมโลกเป็นข้อสุด

ข้อความดังกล่าวนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของทางมนุษย์ ส่วนทางทุคติ คือ ทางไปสู่ที่เลว ที่ไม่ดี ที่มีความทุกข์ ตลอดจนทางไปอบายนรกภูมิแห่งเดรัจฉาน และทางไปสุคติสวรรค์ในปรโลกนั้น ย่อมแล้วแต่ว่าใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ความจริงก็เป็นความจริงอยู่ในตัวเอง ความจริงไม่ใช่ความเชื่อ ความเชื่อก็ไม่ใช่ความจริง แต่ถ้าเป็นเชื่อความจริง อย่างนี้ย่อมใช้ได้ ใครจะไปทางไหนก็สุดแล้วแต่จะเลือก

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

โลกธรรมและไตรลักษณะ

โลกธรรม
ในโลกนี้มีสิ่งหนึ่ง คือ ความได้(ลาภ) ความเสีย(อลาภ) ความยกย่อง(ยศ) ความไม่ยกย่อง(อยศ) ความถูกนินทาว่าร้าย ความสรรเสริญ ความทุกข์ ความสุข ๘ อย่างนี้ เป็นของประจำโลก คนทุกคนย่อมประสบในฐานะเป็นผู้รับบ้าง เป็นผู้ทำบ้าง(เช่นเคยนินทาหรือสรรเสริญเขา) ดังนั้น สิ่งนี้จึงเป็นของธรรมดา เป็นของประจำโลก เป็นความจริงที่ทุกคนต้องได้ประสบ แม้แต่พระพุทธเจ้าเอง และก็ไม่เที่ยงแท้แน่นอนอะไร เป็นของเปลี่ยนแปรได้ พระพุทธองค์ทรงสอนให้คนยอมรับความจริงในสิ่งนี้ และสอนไม่ให้ยินดีกับสิ่งที่ชอบ ยินร้ายกับสิ่งที่ไม่ชอบ ให้คิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา เป็นสัจธรรมอย่างหนึ่งในชีวิตของทุกคนหมด แล้วทำใจให้เป็นปกติ ปลงใจยอมรับสิ่งนั้นๆ เสียในเมื่อแก้ไม่ตกหรือแก้ไปก็ยิ่งเสีย เรื่องนี้เป็นเครื่องมือแก้ความผิดหวัง แก้ความที่ถูกเขานินทาได้เป็นอย่างดี และทำเรื่องที่ทำท่าว่าจะยาวให้สั้นเข้า และยุติ

ไตรลักษณะ
คือ ลักษณะ ๓ หรือสามัญลักษณะ คือ ลักษณะที่มีทั่วไปแก่สิ่งต่างๆ ที่อยู่ในภาวะที่มีใบเบื้องต้น แปรเปลี่ยนไปในตอนกลาง และสลายทลายไปในที่สุด คือมีเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด

ลักษณะทั้ง ๓ มี

อนิจจัง คือความไม่เที่ยง

ทุกขัง คือคงที่อยู่ไม่ได้

อนัตตา คือหาสิ่งที่เรียกว่าตัวไม่ได้ หรือบังคับอ้อนวอนขอร้องไม่ได้ ไม่อยู่ในอำนาจ

ลักษณะหรืออาหารทั้ง ๓ นี้เป็นของธรรมดา เกิดแก่สิ่งทั้งที่มีชีวิตทั้งไร้ชีวิต ถ้าจะมีผู้สงสัยว่า เรื่องไตรลักษณะนี้มิขัดกับเรื่องกรรม การทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วหรือ ข้อนี้มีอธิบายดังนี้

เรื่องกรรมนั้นเป็นเรื่องอยู่ในกรอบแห่งเหตุผล เป็นเรื่องของคนและสัตว์เท่านั้น แต่เรื่องไตรลักษณะเป็นเรื่องของสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต เป็นเรื่องพิจารณาความจริงของสิ่งเหล่านั้น เช่น คน สัตว์ ต้นไม้ และสิ่งก่อสร้าง เป็นต้น เรื่องกรรมเป็นเรื่องการกระทำ และผลของการกระทำ เช่น คิด(เป็นมโนกรรม) ว่าที่เราแก่นี้ก็เป็นเรื่องไม่เที่ยงของร่างกาย เราบังคับไม่ให้แก่ก็ไม่ได้ คิดอย่างนี้แล้วเกิดสบายใจ ความสบายใจเป็นผลของความคิด คือทำทางใจ(มโนกรรม) อย่างนี้เป็นเรื่องกรรม และเรื่องกรรมเป็นเรื่องการกระทำ ส่วนเรื่องไตรลักษณะเป็นเรื่องประกอบของการกระทำ เป็นเรื่องสำหรับคิดพิจารณาตามความเป็นจริง

เรื่องไตรลักษณะนี้ สามารถแก้ปัญหาชีวิตได้ตั้งแต่ระดับต่ำจนระดับโลกุตระ คือ สูงจนพ้นโลก เช่น ปัญหาชีวิตเกี่ยวกับความผิดหวังในการงานบ้าง ในความรักบ้าง ในการศึกษาบ้าง เป็นต้น โดยคิดเสียว่าจะไปเอาอะไรแน่นอนกับสิ่งที่ไม่แน่นอน เมื่อเป็นอย่างนั้นได้ ก็น่าจะเป็นอย่างอื่นได้ ไม่แน่นอนอะไร บังคับก็ไม่ได้ เราเองบังคับตัวเองไม่ให้แก่ยังไม่ได้ แล้วจะไปบังคับคนอื่นให้เขายอมเราทุกอย่างได้อย่างไร

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

ชีวิตดำเนินไปตามกระแสกรรม

กรรม
หลักธรรมในพระพุทธศาสนาที่สำคัญมากนั้นมีมาก และเรื่องกรรมนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งในพระพุทธศาสนา ในศาสนาอื่นถือว่า คนจะดีจะชั่ว หรือจะมีชีวิตเป็นอย่างไร อยู่ที่พระผู้เป็นเจ้าจะทรงลิขิต เช่น พรหมลิขิต เป็นต้น แต่ในพระพุทธศาสนาสอนว่า เป็นอย่างนั้นๆ เพราะกรรม ข้อนี้พระพุทธองค์ตรัสไว้มากแห่งด้วยกัน เช่นว่าเรามีกรรมเป็นของเรา เราเป็นผู้รับผลของกรรม เราเกิดมาเพราะกรรม เราพัวพันอยู่กับกรรม เรามีกรรมเป็นผู้นำ เราทำกรรมดีหรือชั่ว เราจักต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้นๆ และกรรมย่อมจำแนกสรรพสัตว์(ทั้งคนทั้งสัตว์ทั้งพวกอทิสสมานกาย) ให้มีดีบ้างเลวบ้าง ตามประเภทของกรรมของตน และคนทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว เหมือนหว่านพืชชนิดใดก็ได้พืชชนิดนั้น และสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม และสรรพสัตว์ย่อมพัวพันเนื่องอยู่กับกรรม เหมือนสลักติดรถที่แล่นไป

การรับรองหรือปฏิเสธเรื่องกรรม เป็นสิทธิของแต่ละคน ใครมีความรู้ความเห็นอย่างไรจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ย่อมขึ้นกับวิจารณญาณ และข้อเท็จจริงของเขา ทางพระพุทธศาสนาก็ไม่บังคับให้เชื่อ แต่ก็แสดงว่ากรรมเป็นสัจธรรมอย่างหนึ่ง

โดยนัยดังกล่าวแล้ว จะเห็นว่าชีวิตของคน มีส่วนดำเนินไปตามกระแสกรรม ดังนั้นจึงควรทำความเข้าใจในเรื่องกรรมก่อนโดยสังเขปตามควร

ในเรื่องกรรมมีปัญหาที่น่าพิจารณาดังนี้
๑. กรรมคืออะไร
๒. กรรมมีจริงหรือไม่ ผลของกรรมมีจริงหรือไม่
๓. กรรมเก่ามีจริงหรือไม่
๔. กรรมติดตามเราไปได้อย่างไร มองไม่เห็น
๕. ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว จริงหรือไม่
๖. หลักกรรมแก้ปัญหาชีวิตได้อย่างไร

๑. กรรมคืออะไร
กรรมคือการกระทำ เป็นคำกลางๆ ถ้าทำดีเรียกว่า กุศลกรรม ถ้าทำชั่วเรียกว่า อกุศลกรรม ถ้าทำเป็นกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่วเรียกว่า อัพยากตกรรม คำว่า กรรม หรือกัมมเป็นภาษาทางพระพุทธศาสนา ส่วนคำว่า กระทำเป็นคำไทย และเป็นคำแปลของคำว่า กรรม หรือกัมมนั้น คำว่า กรรม มาจากภาษาสันสกฤต คำว่า กัมม มาจากภาษาบาลี เรานำภาของเขามาใช้เป็นภาษาไทย

๒. กรรมมีจริงหรือไม่
ถ้าสงสัยเรื่องนี้ก็ควรคิดว่า การกระทำมีหรือไม่ เช่น การกระทำทางกาย เป็นต้นว่า การเขียนหนังสือ การกระทำทางวาคือ พูด การทำทำทางใจคือ คิด เหล่านี้มีหรือไม่ ถ้ายอมรับว่ามีก็เป็นอันยอมรับว่า กรรมนั้นมีจริง

กรรมมีผลจริงหรือไม่
ขอให้คิดดูว่าเมื่อทำเหตุแล้วผลจะมีหรือไม่ เมื่อจับไฟ(อันเป็นเหตุ) ก็ต้องร้อนมือ(อันเป็นผล) เราอ่านหนังสือออกเพราะเหตุคือ การเรียน อย่างนี้จริงหรือไม่ ถ้ายอมรับว่าจริงก็เป็นอันยอมรับว่ากรรมมีผลจริง

๓. กรรมเก่ามีจริงหรือไม่ โดยเฉพาะกรรมในชาติก่อน
ข้อนี้มีตัวอย่างให้เห็นอยู่รอบตัว แล้วแต่ว่าเราจะดูหรือไม่ก็เท่านั้น เช่น คนเกิดมาไม่เหมือนกัน บางคนเกิดมาพิการ บางคนไม่พิการ บางคนพอเกิดมาก็ตาย บางคนอยู่จนเบื่อทั้งๆ ที่อ่อนแอ บางคนเป็นใบ้ บางคนอายุ ๖ ขวบพูดได้ ๖ ภาษา บางคนปัญญาอ่อน บางคนสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พี่น้องท้องเดียวกัน พิมพ์เดียวกัน ต่อให้เป็นฝาแฝดก็ไม่เหมือนกัน ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ที่ปรากฏผลอย่างนี้ แสดงว่าต้องมีเหตุ เหตุนั้นทางพระพุทธศาสนาแสดงว่า คือ กรรมเก่าแต่ปางก่อนนั่นเองจัดสรร ถ้าทุกคนเป็นของใหม่ คนทุกคนก็ต้องเหมือนๆ หรือต่างกันไม่มาก หรือเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากันเป็นทิวแถวแล้ว พระพุทธองค์เองก็ตรัสไว้ดังในปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ความไทยว่า เราเกิดเพราะกรรม(กมฺมโยนิ) เรามีกรรมติดตัวไป(กมฺมพนฺธุ) และตรัสไว้ดังในอปาทาน ขุททกนิกาย ทรงแจ้งให้รู้ว่า การที่พระองค์ได้สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระองค์ต้องบำเพ็ญเหตุคือ บารมีมากเหลือประมาณ มาแต่ชาติก่อนๆ ตลอดจนในชาตินี้ ในอุทาน ขุททกนิกาย ก็ตรัสไว้ว่า เราท่องเที่ยวในชาติภพสังสารวัฏเป็นอเนก

ข้อนี้แสดงว่าที่เป็นอย่างนั้นๆ เริ่มตั้งแต่เกิดมานั้น เพราะเหตุคือ กรรมเก่าแต่ชาติก่อน จะว่าเป็นกรรมในชาตินี้ส่งผลก็ไม่ได้ เพราะตอนเกิดนั้นยังเล็กยังไม่ได้ก่อกรรมทำดีชั่วทางกายวาจาอะไร เราไม่ควรลืมหลักที่ว่า ผลในปัจจุบันย่อมแสดงเหตุในอดีต ข้อนี้ย่อมเป็นที่รับรองกันอยู่แล้ว พระอุโบสถวัดพระแก้วยังมั่นคงไม่พังจนปัจจุบันนี้ เราก็รู้ว่าเพราะเหตุคือ ก่อสร้างดีทั้งๆ ที่เราเกิดไม่ทันเห็นการก่อสร้างนั้น เห็นแต่ผลของเหตุคือ ความคงอยู่ของวัดพระแก้ว ผลย่อมแสดงเหตุแม้ที่มองไม่เห็นอย่างนี้ ถ้าจะว่าเป็นเพราะบังเอิญ ก็ควรคิดว่า บังเอิญนั้นควรใช้เมื่อยังหาเหตุผลยังไม่ได้ ก็นี่มีเหตุคือ กรรมแล้วก็ควรงดใช้

การกระทำในปัจจุบัน เรียกว่า กรรมในปัจจุบัน การกระทำในวินาทีที่แล้วมา นาที ชั่วโมง วัน เดือน ปี ที่แล้วมา เรียกว่า กรรมเก่า หรืออดีตกรรม และวันนี้ก็คือ พรุ่งนี้ของเมื่อวานนี้ วันซืนนี้ก็คือเมื่อวานนี้ของเมื่อวานนี้ ชาติที่แล้วมาก็เป็นชาติปางก่อนของชาตินี้ ชาตินี้ก็คือชาติหน้าของชาติที่แล้วมา การกระทำในชาติที่แล้วมาจึงเป็นการกระทำหรือกรรมแต่ปางก่อน

เรื่องกรรมเก่ากรรมใหม่นี้ อาจจำกัดความโดยกำหนดเอาชาติก่อนชาตินี้เป็นหลักดังนี้คือ กรรมที่ทำไว้ในชาติปางก่อนเป็นกรรมเก่า กรรมที่ทำในชาตินี้เป็นกรรมใหม่ กรรมทั้งสองนี้ย่อมอาศัยกันและกัน เช่น เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบวชแล้วทรงบำเพ็ญเพียร เพื่อบรรลุโมกขธรรม และทรงประสบความสำเร็จ คนอื่นออกบวชบำเพ็ญเพียรแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้เพราะกรรมเก่าคือ พระบารมีที่ทรงบำเพ็ญไว้แต่ชาติปางก่อนมีมากอย่างยิ่ง จึงทำให้ประสบความสำเร็จ กรรมเก่าคือ บารมีดังกล่าว และกรรมใหม่คือ การบำเพ็ญเพียร ต่างอาศัยกันอย่างนี้ แต่ว่าการทำกรรมใหม่โดยไม่เกี่ยวกับกรรมเก่าก็มีอยู่มากเหมือนกัน มิใช่ต้องเกี่ยวกับกรรมเก่าไปทุกอย่าง

มีเรื่องน่าคิดอยู่คือ พระพุทธองค์ตรัสไว้ในติกนิบาตร อังคุตตรนิกาย ความไทยว่า ผู้มีวาทะต่อไปนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ คือ

๑. วาทะว่า สิ่งต่างๆ มีขึ้นเป็นขึ้นเพราะมีกรรมเก่าเป็นเหตุทั้งหมดอย่างเดียว(ปุพฺเพกตเหตุกวาท)

๒. วาทะว่า สิ่งต่างๆ มีขึ้นเป็นขึ้นเพราะมีการสร้างของพระผู้ยิ่งใหญ่เป็นเหตุ(อิสฺสรนิมฺมานเหตุกวาท)

๓. วาทะว่า สิ่งต่างๆ มีขึ้นเป็นขึ้นเอง หาเหตุหาปัจจัยมิได้(อเหตุกปจฺจยวาท)

ในข้อที่๑ อาจมีคนสงสัยว่า ทำไมจึงเป็นมิจฉาทิฏฐิ ที่เป็นอย่างนั้นเพราะถือว่า ทุกอย่างมีขึ้นเพราะกรรมเก่าอย่างเดียว แต่ตามหลักของพระพุทธศาสนาถือว่า การทำกรรมใหม่นั้น เพราะกรรมเก่าส่งให้ทำก็มี ที่ทำใหม่โดยมิได้เกี่ยวกับกรรมเก่าก็มี ดังนั้นการถืออย่างข้อ ๑ จึงเป็นการเห็นผิด

ในอภิธัมมสังคณี ท่านกล่าวถึงกิเลส กรรม และผลของกรรม(วิบาก) กิเลสทำให้มีการกระทำ คือ กรรม เมื่อมีการกระทำก็มีผลของการกระทำ และผลนั้นก่อให้เกิดกิเลสอีก กิเลสก่อให้เกิดกรรมอีก วนเวียนกันอยู่อย่างนี้ กิเลสแม้หมดแล้ว แต่ถ้าคนผู้หมดกิเลสนั้นยังไม่ดับ(ตาย) ก็ยังคงมีการกระทำคือ กรรมอยู่ กรรมจึงเป็นเรื่องยืดเยื้อ เมื่อผู้นั้นดับแล้ว ทุกอย่างก็ยุติ ดังนั้น เมื่อกล่าวว่าคนเกิดเพราะกรรม หรือกิเลสจึงได้ทั้งนั้น ที่กล่าวดังนี้ เพื่อแก้ความข้องใจของบางท่านที่อาจคิดว่า คนเกิดเพราะกิเลส หรือเพราะกรรม

ในอภิธัมมัตถสังคหะ ท่านกล่าวถึง
ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม คือ กรรมให้ผลในชาตินี้ หรือให้ผลทันตา

อุปปัชชเวทนียกรรม คือกรรมให้ผลในระยะใกล้ คือชาติต่อไป

อปราปรเวทนียกรรม คือกรรมให้ผลในชาติต่อๆ ไป

และถ้าจะพูดไปแล้ว ผลของกรรมย่อมเกิดจากอดีตกรรมคือ กรรมเก่าทั้งนั้น ต่างแต่ว่าอดีตหรือเก่าระยะสั้น หรือระยะยาวเท่านั้น เมื่อระยะสั้นมีได้ ระยะยาวก็มีได้ เช่น เราจับไฟรู้สึกร้อน ความรู้สึกร้อนเป็นผลของการกระทำคือ จับไฟ และเกิดขึ้นภายหลังการจับในระยะแรก ดังนั้นการจับไฟในระยะแรกผ่านแล้วเป็นอดีตแล้ว จึงเกิดรู้สึกร้อน ด้วยเหตุดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ผลย่อมเกิดจากอดีตกรรมทั้งนั้น จะเกิดพร้อมกันไม่ได้

เมื่อพูดถึงเรื่องกรรมเก่า ก็มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องตายแล้วเกิดอีก หรือตายแล้วสูญ ซึ่งทางพระพุทธศาสนาแสดงว่า ถ้ายังมีเหตุ คือกิเลส ก็ต้องเกิด คือ มีชาติอีก ถ้าสิ้นเหตุ คือหมดกิเลส ก็สิ้นการเกิดใหม่อีก การเกิดที่สิ้นเหตุนั้น เป็นการเกิดครั้งสุดท้าย ดังในตอนท้ายของธัมมจักกัปวัตตนสูตร ในมหาขันธกมหาวรรค ความไทยว่า การเกิดครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย บัดนี้การเกิดใหม่ไม่มี(อยมฺนติมา ชาติ นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว) เรื่องนี้ในพระไตรปิฎกมีมาก แม้แต่เพียงในมหาวรรคทีฆนิกาย ซึ่งมีพระสูตรอยู่ในวรรคนี้ ๑๐ สูตร ก็มีกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้อย่างน้อย ๓ สูตรแล้ว เช่น มหาปทานสูตร อันกล่าวถึงชาติก่อนๆ ของพระพุทธเจ้าเป็นต้น มหานิทานสูตร อันว่าด้วยปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น เรื่องปฏิจจสมุปบาท เป็นเรื่องเหตุผลของการเกิดการดับ ถ้ามีเหตุคือ กิเลส ก็ยังต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ตลอดไป ถ้าสิ้นเหตุ การเกิดครั้งนั้นก็เป็นครั้งสุดท้าย อีกสูตรหนึ่งคือ ปายาสิราชัญญสูตร สูตรนี้ พูดตรงทีเดียวถึงเรื่องตายแล้วเกิด ตายแล้วสูญ มีเรื่องโต้กันระหว่างพระกุมารกัสสปเถระ กับพระเจ้าปายาสิผู้มีความเห็นว่าตายแล้วสูญไม่เกิดอีกอันเป็นมิจฉาทิฏฐิ เพียงวรรคเดียวก็ยังมีการกล่าวเรื่องนี้ไว้ถึงอย่างน้อย ๓ สูตร เพราะฉะนั้น ใครจะเชื่อ หรือไม่เชื่อก็เป็นสิทธิของแต่ละคน แต่ควรคำนึงอย่างหนึ่งว่า เมื่อจะต้องเชื่อ ระหว่างผู้มีกิเลสกับผู้ไร้กิเลส เราควรเชื่อใคร หรือระหว่างพระพุทธเจ้ากับคนอื่น ถ้าเราจะเชื่อ หรือจะถือมติควรจะเชื่อหรือถือมติของใคร เมื่อเราเองยังไม่รู้จริง

อีกอย่างหนึ่ง ถ้าคนตายแล้วศูนย์หมด ก็ไม่ต้องมีพระพุทธเจ้า เจ้าชายสิทธัตถะทรงสละพระญาติ ราชสมบัติ และฆราวาสสุข ออกบวช ต้องทนทุกข์ทนยากจนแทบจะสิ้นพระชนม์ ก็เพื่อแสวงหาธรรมเป็นเครื่องพ้นจากกิเลส อันเป็นเหตุให้เกิดอีก จนพบจนสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าทุกคนตายแล้วไม่เกิดอีก พระองค์ก็ทรงอยู่ครองเรือนเป็นพระเจ้าจักรพรรดิเสวยสุขในราชสมบัติ สิ้นพระชนม์แล้วก็แล้วกันไม่เกิดอีก อย่างนี้สบายกว่า ไม่ต้องไปบวชไปทนทุกข์ยาก ไม่ต้องไปแสวงหาธรรมเป็นเครื่องพ้นความเกิดให้ลำบาก ไม่ต้องมีพระพุทธเจ้าทรงเที่ยวสอนให้เขาพยายามบำเพ็ญธรรมเพื่อพ้นความเกิดให้ยุ่งยาก

ความเห็นนี้ ผู้ใดจะเห็นด้วยหรือไม่นั้น ย่อมเป็นสิทธิของแต่ละคน

๔. กรรมติดตามไปได้อย่างไร มองไม่เห็น
กรรมย่อมติดตามสัตว์ไปเหมือนลิ่มสลักรถติดไปกับรถ ในขณะแล่น หรือเหมือนพลังที่ติดไปกับลูกบอล และผลักดันลูกบอลให้ลอยไปในอากาศ หรือกลิ้งไปในสนาม เพราะการเตะของคน พลังนั้นเกิดจากการเตะ แต่ก็มองไม่เห็นพลังนั้น ทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าติดไปกับลูกบอล หรือดุจความร้อนที่ติดไปกับไฟ หรือดุจความผิดที่ติดตัวคนฆ่าเขาตายแล้วหนีไป โทษที่ติดตัวไปนั้นมองไม่เห็น แต่รู้ว่ามี

สิ่งที่มองไม่เห็นจะปฏิเสธว่าไม่มีเสียทั้งหมดนั้นไม่ได้ คลื่นวิทยุมีอยู่ทั่วไป แต่ก็มองไม่เห็น

๕. ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วจริงหรือไม่
ข้อนี้เป็นความจริง ความเข้าใจผิด หรือความสงสัยในเรื่องนี้ หรือในเรื่องตรงกันข้าม คือทำชั่วได้ดี ทำดีได้ชั่วนั้น ได้เกิดมีมาแล้วตั้งแต่สมัยพุทธกาล และพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงแก้ความเข้าใจผิดนี้ไว้ในมหากัมมวิภังคสูตร อุปริปัณณาสก์ มัชฌิมนิกาย และในที่นั้นได้สรุปว่า อตฺถิ กมฺมํ แปลว่า กรรมชั่วครอบงำกรรมชั่วให้ผล(ก่อน)ก็มี กรรมชั่วครอบงำกรรมดีให้ผล(ก่อน)ก็มี กรรมดีครอบงำกรรมดีให้ผล(ก่อน)ก็มี กรรมดีครอบงำกรรมชั่วให้ผล(ก่อน)ก็มี คือแล้วแต่กรรมหนักกรรมเบามากน้อย หรือแล้วแต่จังหวะ กรรมใดแรงกว่า หนักกว่า หรือได้จังหวะกว่า กรรมนั้นก็ให้ผลก่อน ดุจดังคนพายเรือ จ้ำอย่างแรงจนเรือแล่นพุ่งไปข้างหน้าอย่างไม่ถอยหลังแน่ เพราะพลังของการพายตอนแรกแรงกว่า

อีกอย่างหนึ่ง คนที่พูดว่า คนทำดีกลับได้ชั่ว คนทำชั่วกลับได้ดีนั้น เหมือนคนอ่านหนังสือไม่จบ อ่านได้ครึ่งเล่มก็นำมาพูด นำมาตัดสินแล้ว ขอให้อ่านให้จบ ให้ดูคนๆ นั้นไปให้ตลอดก็จะรู้เองว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วจริง อย่างที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ และปริมาณของกรรมดีชั่วนั้นก็ดุจเกลือกับน้ำ เกลือกำมือหนึ่ง ใส่น้ำครึ่งแก้ น้ำก็เค็ม ถ้าใส่ในน้ำสิบถัง น้ำก็ไม่เค็ม ทั้งที่เกลือก็มีเท่าเดิม

คนที่พูดว่า ทำดีไม่ได้ดีนั้น มักเป็นคนทำดี เพื่อหวังผลตอบแทนส่วนตัว มิได้ทำความดีเพื่อความดี พอไม่ได้ดังหวังก็ผิดหวัง เลยกล่าวอย่างนั้น

๖. หลักกรรมแก้ปัญหาชีวิตได้อย่างไร
คนทั่วไปย่อมมีปัญหาชีวิตที่จะต้องแก้ เมื่อแก้ไม่ตก ถ้าไม่มีหลักสำหรับคิด หรือไม่มีทางออก ถ้าเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ปล่อยๆ ไป แต่ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ ก็มักทำลายตนเองด้วยวิธีการต่างๆ อย่างน้อยก็ด้วยการดื่มเหล้า ซึ่งเป็นการทำลายสุขภาพของตนเอง หรือมักทำร้ายหรือทำลายผู้อื่น อันอาจทำให้เกิดเรื่องร้ายแรงต่อๆ ไปได้ แต่ถ้าจนปัญญา แก้ไม่ตก ก็นึกปลงใจเสียว่าเป็นกรรมของเราของเขา หรือเป็นกุศลกรรมของเขา เป็นอกุศลกรรมของเรา หรือเป็นอกุศลกรรมทั้งของเขาทั้งของเรา การใช้หลักกรรมเป็นทางออก หรือเป็นทางแก้ปัญหาชีวิตขั้นสุดท้ายอย่างนี้ย่อมทำให้เบาใจ ค่อยสบายใจขึ้น และไม่ไปทำลายตนเอง ไม่ทำร้ายและทำลายคนอื่นด้วย เรื่องร้ายทั้งหลายก็จะยุติ

คนที่ใช้หลักกรรมเป็นเครื่องแก้ปัญหาชีวิตขั้นสุดท้าย และได้ผลดีนั้น ขอให้ดูคนไทยเราก็แล้วกันเป็นตัวอย่าง

ในบางลัทธิศาสนาถือว่า คนจะดีจะชั่วอยู่ที่พรหมลิขิต กล่าวคือแล้วแต่พระเจ้า คือพระพรหมจะเป็นผู้กำหนด ใครจะแก้ไขไม่ได้ นอกจากพระพรหม ส่วนในพระพุทธศาสนาถือว่า คนจะดีจะชั่วอยู่ที่ตัวของตัวเองเป็นสำคัญ ผู้อื่นสิ่งอื่นเป็นส่วนประกอบ

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา