มหาตมะคานธีผู้เผด็จการ

คานธี
ภายใต้การนำของท่านคานธี หลักการไม่ร่วมมือได้ดำเนินไปด้วยดีและแพร่หลาย ดุ๊คออฟคอนน๊อตเสด็จเยี่ยมประเทศอินเดีย ทรงเปิดสภาผู้แทนราษฎรตามกำหนด แต่ฝ่ายประชาชนอินเดียไม่มีใครต้อนรับศิลปการทอผ้าและอุตสาหกรรมอื่นๆ ทุกประเภท ได้เจริญยิ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว นิสิต-นิสิตานับหมื่นๆ ต่างได้พากันบอยค๊อตมหาวิทยาลัยและสมัครเข้ารับอาสาคณะคองเกรส การหยุดงาน หัรตาล เป็นต้น กลายเป็นเรื่องธรรมดา เกือบจะเป็นกิจวัตรประจำวัน

ตรงกับเวลาที่อินเดียกำลังตื่นตัวอยู่ดังกล่าวนี้ รัฐบาลอังกฤษเปลี่ยนตัวผู้สำเร็จราชการคนเก่า และแต่งตั้งให้ลอร์ดริดิงเข้าทำหน้าที่แทน ในเชิงการทูต ท่านผู้นี้มีชื่อเสียงมาก โดยเหตุที่ในเวลาสงครามโลกท่านเคยครองตำแหน่งราชทูตสหปาลีรัฐอเมริกา และชักชวนประเทศอเมริกาให้เข้าฝ่ายพันธมิตรจนได้ นอกจากนั้นท่านยังเคยครองตำแหน่งผู้พิพากษามาแล้วหลายปี ฉะนั้นผู้นำแห่งคณะพรรคการเมืองอื่นๆ เห็นสมควรที่จะจัดการให้มีการพบปะกันระหว่างผู้สำเร็จราชการกับท่านคานธีขึ้น ในที่สุดเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๒๑ ท่านคานธีกับผู้สำเร็จราชการได้พบปะกัน ณ เมืองสิมลาอันเป็นที่พักอาศัยสำหรับฤดูร้อนของผู้สำเร็จราชการ ประชาชนพร้อมทั้งผู้นำแห่งคณะพรรคต่างๆ ต่างมีหวังกันว่า การพบปะของท่านทั้งสองคนนี้ คงจะเป็นเหตุนำมาซึ่งความสงบและการประนีประนอม ระหว่างอินเดียกับอังกฤษ แต่ความจริงการพบปะนั้นหาได้ประสพผลสมดังประสงค์ไม่ ต่อมาท่านคานธีได้ประกาศเปิดเผยออกมาว่าการพบปะกันคราวนั้น เป็นเพียงแต่การกล่าวย้ำหลักอหิงสาเท่านั้นเอง ความไม่สงบ การขันขืนกฎหมายเป็นต้น จึงยังดำเนินเรื่อยไปตามเคย

พอดีประจวบกับเวลานี้รัฐบาลประกาศว่า ปรินส์ออฟเวลส์จะเสด็จเยี่ยมอินเดีย ในเดือนธันวาคม ค.ศ.๑๙๒๑ ในทันทีทันใดนั้นเอง คองเกรสได้ออกประกาศแก่ประชาชนทั่วไป ให้บอยค๊อตการเสด็จของปรินส์ออฟเวลส์ทั้งได้ชักชวนประชาชน ให้สมัครเป็นผู้รับอาสาดำเนินการบอยค๊อตปรินส์ออฟเวลส์ด้วย คำประกาสของคองเกรสในคราวนี้ทำให้รัฐบาลอังกฤษขุ่นเคืองมากยิ่งกว่าการบอยค๊อตสินค้าอังกฤษเสียอีก ฉะนั้นเมื่อระยะเวลาเสด็จใกล้เข้ามารัฐบาลจึงต้องออกประกาศใช้กฎอัยการศึก และทั้งประกาศประนามโทษคณะผู้รับอาสาว่าเป็นคณะนอกกฎหมาย (Outlaws)

คำประกาศนี้ ได้ประสพผลตรงกันข้ามกับความคาดหมายของรัฐบาล กล่าวคือ เมื่อรัฐบาลประกาศว่า คณะผู้รับอาสาของคองเกรส ถือว่าเป็นคณะนอกกฎหมาย ดังนั้นคองเกรสก็ลงมติท้ารัฐบาลขัดขืนคำประกาศนั้นทันที โดยออกประกาศชักชวนประชาชนให้สมัครเป็นผู้รับอาสาโดยด่วน อนึ่งการที่รัฐบาลประกาศนามดทษคณะ อันดำเนินกิจการในทางที่สงบโดยไม่คิดประทุษร้ายต่อบุคคลใดว่าเป็นคณะนอกกฎหมายนั้น เป็นเหตุให้ผู้นำแห่งพรรคอื่นๆ มองเห็นใจจริงของคองเกรสด้วย จึงได้พากันมาลงชื่อเป็นผู้รับอาสา ภายในวันเดียวเฉพาะในเมืองกัลกัตตามีคนสมัครเป็นผู้รับอาสานับจำนวนกว่า ๕,๐๐๐ คน ไม่ต้องกล่าวถึงผล การสมัครเป็นผู้รับอาสา โดยขัดขืนคำประกาศของรัฐบาลจะต้องเกิดผลร้ายแก่ผู้สมัครในภายหลังอย่างแน่นอน กล่าวคือ เมื่อคองเกรสท้ารัฐบาลว่าจะขัดขืนคำสั่งฉันใด รัฐบาลก็ท้าคองเกรสว่า จะดำเนินนโยบายอย่างปราบปรามผู้ร้ายฉันนั้น ฉะนั้นภายในไม่กี่วันเรือนจำทุกแห่ง จึงเต็มยัดเยียดไปด้วยนักโทษผู้รับอาสาถึงกับรัฐบาลต้องใช้เต็นท์เป็นเรือนจำชั่วคราวขึ้น จำนวนผู้รับอาสาที่ได้มีโอกาสเยี่ยมเรือนจำอังกฤษ ในทำนองนี้มีราว ๘๐,๐๐๐ คน แต่เป็นสุภาพสตรีเสีย ๕,๐๐๐ คน

ถึงแม้รัฐบาลจะได้ดำเนินนโยบายปราบปรามอย่างร้ายแรงเพียงไรก็ตาม กระนั้นจะถึงกับทำให้กิจการของคองเกรสหยุดชงักลงก็หาไม่ พวกผู้นำต่างๆ เช่นท่านจิตรัญชันทาส บัณฑิตมติลาลเนหรู บัณฑิตชวาหัรลาลเนหรู ถูกจำคุกในฐานะเป็นผู้นอกกฎหมายแทบทุกท่าน แต่รัฐบาลยังไม่กล้าจับมหาตมะคานธีโดยตรงทีเดียว โดยเกรงว่าถ้าท่านคานธีถูกจับความไม่สงบเท่าที่มีอยู่ จะเพิ่มพูนทวีคูณยิ่งขึ้นจนเหลือกำลังที่จะปราบปรามได้

เมื่อสถานการณ์ตกอยู่ในฐานะตรึงเครียดเช่นนี้ ผู้นำแห่งคณะพรรคอินดิเปนเดนส์ (Independence Party) ชื่อบัณฑิตมทนโมหนมาลวย กับศาสตราจารย์ฝ่ายเคมีแห่งมหาวิทยาลัยกัลกัตตา ชื่อ เซอรปรผุลล จินทรราย รวมกันจัดการให้ท่านคานธีกับผู้สำเร็จราชการได้พบปะสนทนากันคงจะวางข้อตกลงหรือทำการประนีประนอมกันได้บ้าง

เนื่องจากรัฐบาลได้ทำการปราบปรามในมณฑลเบงคอลร้ายยิ่งกว่ามณฑลอื่นๆ ทั้งคองเกรสก็ได้ตกลงกันแน่นอนที่จะทำการหัรตาล ณ เมืองกัลกัตตา เมื่อปรินส์ออฟเวลส์จะเสด็จมาที่นั้น ท่านสองคนจึงได้ไปหาลอร์ดโรนาลด์เซข้าหลวงประจำเบงคอลเสียก่อน แต่ท่านลอร์ดผู้นี้ ได้ตอบว่าสถานการณ์เบงคอลในปัจจุบันนี้ ถึงความตรึงเครียดเสมือนสถานการณ์ในยามสงครามแล้ว รัฐบาลจึงไม่สามารถที่จะผ่อนผันลงได้แม้แต่น้อย

เมื่อหมดหวังในคำตอบของข้าหลวงเบงคอล ท่าน ๒ คนก็พากันไปหาผู้สำเร็จราชการ คือ ลอร์ดริดิง ขอร้องให้ท่านเรียกประชุมโต๊ะกลม แห่งบรรดาผู้นำอินเดียทั้งหลาย เพื่อทำการประนีประนอมปรองดองกันด้วยดี แต่ท่านผู้สำเร็จราชการตอบว่า เป็นการเหลือวิสัยสำหรับรัฐบาลที่จะพิจารณาถึงการเรียกประชุม ถ้าหากการตื่นตัวและการขัดขืนกฎหมายยังทำกันอยู่โดยมีเจตนาเช่นนี้ เมื่อได้ประกาศคำตอบของท่านผู้สำเร็จราชการให้ทราบทั่วถึงกันแล้ว ท่านคานธีตอบแก่ผู้แทนฝ่ายหนังสือพิมพ์ว่า

“ฉันขอกล่าวซ้ำอีกพันครั้งว่า หลักการไม่ร่วมมือนี้ต้องไม่ถือว่าเป็นอริต่อชาติใดหรือคณะใด แต่มุ่งต่อระเบียบการดำเนินของรัฐบาลอินเดีย ดังที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบันนี้ และฉันขอปฏิญาณว่า การขู่เข็ญหรือการปราบปรามประการใด ที่ผู้สำเร็จราชการหรือคณะใดอาจกระทำได้นั้น จะทำให้การตื่นตัวนี้สงบลงไม่ได้เป็นอันขาด”

เมื่อความพยายามของท่านทั้ง ๒ คนนี้ได้ล้มลงโดยมิได้บังเกิดผลอย่างไร ก็ไม่ต้องสงสัย กิจการของคองเกรสกับการปราบปรามของรัฐบาลจำต้องดำเนินเป็นคู่เคียงกันไปเป็นธรรมดา ปรินส์ออฟเวลส์เสด็จถึงเมืองกัลกัตตา ณ วันที่ ๒๘ เดือนธันวาคม ค.ศ.๑๙๒๑ หัรตาลในเมืองกัลกัตตาได้ดำเนินไปอย่างมิเคยมีมาแต่ก่อน เมืองอันมีพลเมืองประมาณ ๑,๓๐๐,๐๐๐ คน ดูเหมือนที่เปล่าเปลี่ยวดังสุสาน ในแผ่นธงดำพาดหัวข้อต่างๆ เช่น “India does not welcome Prince of Wales” โบกสบัดอยู่บนปลายเสาเกือบทุกบ้าน รัฐบาลรู้สึกตกตะลึงในการต้อนรับอย่างแปลกประหลาดเช่นนี้ พวกฝรั่งเห็นการต้อนรับรัชทายาทอังกฤษเช่นนี้ รู้สึกขุ่นเคืองถึงกับกล่าวหารัฐบาลว่าดำเนินนโยบายการปราบปรามยังไม่พอแก่สถานการณ์สมาคมพาณิชย์อังกฤษแนะนำให้รัฐบาลดำเนินนโยบายปราบปรามให้เคร่งครัดยิ่งขึ้น แต่รัฐบาลหมดหนทางไม่รู้ว่าจะปราบปรามอย่างไร เพราะว่ากฎหมายที่รัฐบาลประกาศใช้ในการปราบปรามนั้น มีการลงโทษอย่างสูงสุด คือการประหารชีวิตอยู่แล้ว

การสำเร็จผลในการดำเนินหัรตาล ในเมืองกัลกัตตาเป็นเหตุให้ประชาชนเกิดความเลื่อมใสในนโยบายของท่านคานธี และในสมรรถภาพของท่านจิตรัญชันทาสผู้นำแห่งเบงคอลเป็นอย่างสูง ทั่วอินเดียจึงพากันเลือกท่านผู้นี้เป็นประธานของสภาคองเกรส ที่ได้นัดประชุมในปลายเดือนธันวาคม ณ เมืองอาหัมมทาวาท แต่เป็นความเสียใจสำหรับอินเดียมิใช่น้อยที่ในสมัยนั้นท่านยังพักอยู่ในเรือนจำ ฉะนั้นท่านเมาลานาฮัซ รัตโมหานิจึงทำหน้าที่วันนี้แทน

สภาคองเกรสได้เห็นผลสำเร็จแห่งนโยบายการไม่ร่วมมือของท่านคานธีอย่างไม่ได้นึกฝัน จึงตกลงมอบอำนาจบริหารให้ท่านคานธีอย่างเด็ดขาด โดยตั้งให้เป็นผู้เผด็จการแห่งคองเกรสต่อไป ตราบเท่าที่คณะกรรมการคองเกรสเห็นสมควร

ที่มา:สวามี  สัตยานันทปุรี

สถานการณ์อินเดียสมัยดำเนินนโยบายไม่ร่วมมือของคานธี

คานธี
สมัยเมื่อท่านคานีหรือสภาคองเกรส ประกาศนโยบายการไม่ร่วมมือกับรัฐบาลอังกฤษ สถานการณ์อินเดียในทางการเมือง กำลังตกอยู่ในกระแสความผันแปรอย่างสำคัญกล่าวคือ ตามที่รัฐบาลได้สัญญาไว้ว่าจะให้ Dominion Status แก่อินเดียในเมื่อสงครามโลกได้สิ้นสุดลงแล้วนั้น เมื่อถึงคราวเข้าจริงรัฐบาลให้เพียงรัฐธรรมนูญแก่อินเดียฉบับหนึ่งซึ่งได้กล่าวมาแล้วว่าไม่เป็นที่พอใจของชาติอินเดีย ทั้นี้ก็เพราะว่า ตามหลักการแห่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้แบ่งอำนาจการปกครองไว้เป็น ๒ ประเภท ประเภทที่ ๑ ได้แก่อำนาจที่โอน (Transferred Power) และอีกประเภท ๑ ได้แก่อำนาจที่สงวนไว้ (Reserved Power) อำนาจประเภทที่โอนให้นั้น หมายถึงอำนาจปกครองที่รัฐบาลได้โอนแก่ชาวอินเดีย ซึ่งมีอยู่ ๔ แผนก คืออำนาจการเทศบาล ๑ อำนาจการตั้งงบประมาณ ๑ ส่วนอำนาจที่สงวนไว้นั้นได้แก่อำนาจที่รัฐบาลอังกฤษยังสงวนไว้ ซึ่งมีอยู่ ๔ แผนกคืออำนาจการทหาร ๑ อำนาจการคลัง ๑ อำนาจตำรวจ ๑ และอำนาจกรมชลประทาน ๑

อาศัยหลักดังนี้ พอที่จะเห็นไว้ชัดว่า รัฐธรรมนูญฉบับนั้นมิได้ให้อำนาจที่แท้จริงแก่อินเดียแม้แต่น้อย เพราะว่าการให้อำนาจการตั้งงบประมาณ โดยสงวนการคลังไว้ในกำมือเปรียบเสมือนว่าการใช้สิทธิใช้เงิน แต่ไม่ออกเงินให้ใช้ ในทำนองเดียวกันนี้การให้อำนาจเกษตร โดยสงวนการชลประทานไว้ และให้อำนาจการธรรมการ โดยไม่ยอมมอบเงินให้ในการบำรุงขยายการศึกษา ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรเช่นเดียวกัน การคลังเสมือนลูกกุญแจในการดำเนินกิจการทั้งปวง ถ้ายังสงวนอำนาจการคลังไว้ในกำมือ ก็แปลว่าถึงจะโอนอำนาจอื่นๆ ให้ทั้งหมดก็นำมาใช้ในทางที่เป็นประโยชน์มิได้ มีอำนาจสำคัญอีก ๒ ประการ ซึ่งนับว่าจำเป็นอย่างยิ่ง หรือเป็นจิตใจสำคัญในการปกครองบ้านเมือง คือการตำรวจและการทหาร ตามรัฐธรรมนูญฉบับนั้น อำนาจทั้ง ๒ ประการดังกล่าวมานี้อังกฤษยังสงวนไว้ ฉะนั้นตามความเห็นของอินเดียในสมัยนั้น จึงเห็นว่ารัฐธรรมนูญที่อังกฤาให้นี้เป็นเพียงแต่เครื่องเล่นชนิดหนึ่ง สำหรับปลอบใจเด็กขี้อ้อนเท่านั้นเอง หรืออีกประการหนึ่งเป็นการโปรปะกันดาของอังกฤษเพื่อให้โลกเห็นว่า อังกฤษได้มอบอำนาจให้แก่อินเดียแล้ว

อำนาจนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีข้อจำกัดอยู่ว่า ถึงสภาจะมีอำนาจออกพระราชบัญญัติได้ก็จริง แต่ผู้สำเร็จราชการมีสิทธิพิเศษ (คือ Power of Veto) ที่จะเผด็จร่างพระราชบัญญัติทุกฉบับแม้ผ่านสภาแล้ว โดยที่ผู้สำเร็จราชการเห็นว่าไม่ควรที่จะออกเป็นกฎหมายได้อีกชั้นหนึ่งนั้นเป็นอันแสดงว่า สภาไม่มีอำนาจที่จะบังคับรัฐบาลให้ดำเนินตามมติของสภา เมื่อรูปการเป็นเช่นนั้นสภาผู้แทนราษฎรก็ต้องเปรียบเสมือนสโมสรการโต้วาที ที่มีอยู่ตามโรงเรียนต่างๆ เท่านั้น

อาศัยเหตุผลดังบรรยายมานี้ ท่านคานธีจึงได้เสนอญัตติต่อสภาคองเกรส ขอให้แนะนำประชาชนชาวอินเดียพร้อมใจร่วมมือบอยค๊อตรัฐธรรมนูญใหม่นี้โดยประการทั้งปวง

ถึงแม้อินเดียจะได้ตั้งข้อคัดค้านต่อหลักการรัฐธรรมนูญนี้อย่างแรงกล้ากันก็จริง แต่อังกฤษก็ยังดื้อดึงหายอมฟังเสียงอินเดียไม่ ในที่สุดร่างอันว่าด้วยรัฐธรรมนูญอินเดีย ก็ได้รับการยินยอมพร้อมใจของสภาปารเลียเมนต์ ทางราชการจึงได้ประกาศออกเป็นพระราชบัญญัติแล้วนำมาใช้ในอินเดียพรรคการเมืองคณะ Moderate ความจริงถึงจะไม่พอใจ ก็จำต้องยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนั้น และสมัครผู้แทนราษฎรเตรียมเข้านั่งในสภาผู้แทนตามระบอบรัฐธรรมนูญใหม่นี้ องค์จักรพรรดิ์ทรงแต่งตั้งให้ดุ๊คออฟคอนน๊อต เป็นผู้ประกอบการพิธีเปิดสภาผู้แทนขึ้นเป็นปฐมฤกษ์แทนพระองค์

คองเกรสภายใต้การแนะนำของท่านคานธี ประกาศให้ประชาชนบอยค๊อตการเสด็จของดุ๊คออฟคอนน๊อต ความตื่นเต้นจึงได้แผ่ไพศาลไปทั่วทุกด้านทุกมุมของอินเดียทำให้รัฐบาลต้องตาบอดมองไม่เห็นลู่ทางว่าจะนำความสงบกลับคืนสู่อินเดียก่อนหน้าการเสด็จของท่านดุ๊คได้อย่างไร

พร้อมๆ กับการตื่นตัวในทางการเมืองดังกล่าวนี้เกิดมีความวุ่นวายขึ้น ในทางการพาณิชย์ผสมอีกทางหนึ่งด้วย กล่าวคือเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า อำนาจอันใหญ่หลวงของชาวอังกฤษนั้นเกิดขึ้นเพราะการพาณิชย์เป็นกระดูกสันหลัง การที่ชาวอังกฤษพยายามเข้าไปในประเทศต่างๆ ของโลก ก็โดยมีความมุ่งหมายจุดสำคัญยิ่งอยู่ว่าจะขายสินค้าของตน ฉะนั้นการที่ชาวอังกฤาใคร่จะยึดอินเดียไว้ก็โดยมีความมุ่งหมายไม่แตกต่างไปจากหลักที่กล่าวมาแล้ว ดังเราจะเห็นได้ชัดจากถ้อยคำของเซอรยอนห์นสันฮิกส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสมัยเมื่อท่านบอลด์วินเป็นอัครมหาเสนาบดีครั้งแรก

“เรามิได้ชนะอินเดีย เพื่อประโยชน์ของอินเดีย ฉันรู้แก่ใจดีว่า พวกบาทหลวงมักชอบพูดกันในที่ประชุมเสมอว่า เราชนะอินเดียเพื่อจะยกฐานะของอินเดียให้สูงขึ้นนั้น เป็นคำพูดอย่างหน้าไหว้หลังหลอก เราตีอินเดียเพื่อเป็นตลาดระบายสินค้าอังกฤษออก เรารบอินเดียชนะได้ด้วยดาบฉันใด เราจะกำอินเดียไว้ด้วยดาบฉันนั้น ฉันพูดพล่อยๆ ว่าเรากำอินเดียไว้เพื่อประโยชน์ของอินเดียอย่างคนหน้าไหว้หลังหลอกพูดกันไม่ได้ เรายึดอินเดียไว้เป็นตลาดเอกสำหรับระบายสินค้าอังกฤษทั่วไป และโดยเฉพาะผ้าแลงไซรเป็นพิเศษ”

หลักสำคัญแห่งการยึดอินเดียไว้คือการขายผ้า และว่าผ้าเป็นปัจจัยจำเป็นสำหรับมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง อังกฤษมองเห็นความจำเป็นและความสำคัญแห่งการใช้ผ้านี้ จึงได้พยายามจะทำลายอุตสาหกรรมทอผ้า ซึ่งอินเดียเคยมีชื่อเสียงโด่งดังมาแล้วแต่สมัยโบราณเสีย ตั้งแต่แรกมาในการทำลายอุตสาหกรรมทอผ้า อังกฤษได้ดำเนินนโยบายหลายประการ เราอาจเห็นได้จากถ้อยคำของวิลเลียมบอลตร์ผู้เป็นพ่อค้าชาวอังกฤษผู้หนึ่ง ในสมัยต้นแห่งรัฐบาลอังกฤษในอินเดีย

“การข่มเหงรังแกพวกทอผ้า ดังที่บริษัทอิสต์อินเดียกระทำนั้น มีอยู่หลายประการด้วยกัน เช่น การปรับเงิน การจำคุก การเฆี่ยนตี การบังคับให้เซ้นชื่อในสัญญาเป็นต้น การข่มเหงคะเนงร้ายโดยวิธีเหล่านี้เป็นเหตุทำให้จำนวนพ่อค้าลดน้อยถอยลงทุกที เคยกระทำการทารุณกรรมพวกทอผ้าถึงกับจับตัดหัวแม่มือเสีย เพื่อไม่ให้กรอด้ายได้ก็มี”

เมื่ออุตสาหกรรมทอผ้าของอินเดีย ต้องล้มลงเพราะเหตุดังกล่าวนี้แล้ว อังกฤษก็เริ่มตั้งโรงทอผ้าขึ้นในบ้านเมืองของตนและนำผ้าที่ทอได้นั้นมาขายในอินเดีย ในตอนนี้อังกฤาได้ลูกค้าชาวอินเดียรับซื้อผ้าประมาณ ๓๕๐,๐๐๐,๐๐๐ คน รัศมีแห่งความเจริญวัฒนาถาวรแห่งอุตสาหกรรมทอผ้าของอังกฤา จึงค่อยๆ เริ่มแตกแสงทองขึ้นโดยลำดับกาล เงาความเสื่อมโทรมแห่งเศรษฐกิจได้เริ่มปกคลุมอินเดีย และขยายตัวแผ่ไพศาลไปทั่วทุกตำบล

มหาตมะคานธีมีความเข้าใจซาบซึ้งในข้อนี้ดีที่สุดว่าการต่อต้านกับรัฐบาลอังกฤษนั้น อินเดียจะต้องต่อสู้ในทางเศรษฐกิจ พูดสั้นๆ ก็คือ อินเดียต้องเลิกซื้อสินค้าต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือสินค้าอังกฤษทุกประการ แล้วช่วยกันตั้งต้นใช้สินค้าอินเดียกันทุกคน ส่วนสิ่งของที่อินเดียยังทำขึ้นเองไม่ได้ ให้ซื้อจากประเทศอื่น นอกจากประเทศอังกฤษ

เนื่องจากผ้าเป็นสินค้าสำคัญของอังกฤษ และทั้งเป็นสินค้าที่นำเงินอินเดียออกนอกประเทศอย่างนับจำนวนไม่ถ้วนด้วย ท่านจึงได้วางกติกาของคองเกรสว่า

๑. สมาชิกทุกคนต้องแต่งเครื่องเสื้อผ้า ที่ทำขึ้นจากโรงงานหัตถกรรมของอินเดีย ห้ามไม่ให้ใช้เสื้อผ้าที่ทำขึ้นจากโรงเครื่องจักร ทั้งนี้เพราะว่าเครื่องจักรอินเดียต้องซื้อจากต่างประเทศ แต่เนื่องจากที่โรงหัตถกรรมยังมีจำนวนน้อยจึงไม่สามารถจะทอผ้า ให้พอแก่ความต้องการของอินเดียทั่วประเทศได้ จึงได้แนะนำให้พวกที่ไม่ใช่สมาชิกของคองเกรสใช้ผ้าที่ทำจากโรงเครื่องจักรแทนได้
๒. สมาชิกทุกคนต้องทำด้ายให้ได้ปีละ ๔๐๐ หลา
๓. สมาชิกผู้ใดไม่สามารถเสียเงินค่าบำรุง ตามที่ได้กำหนดไว้ว่าปีละสลึง มีสิทธิที่จะใช้ด้ายขนาดราคานั้นแทนค่าบำรุงได้

เพื่อตักเตือนประชาชนให้ระลึกถึงอยู่เสมอว่า ผ้าเป็นสิ่งสำคัญในการต่อสู้กับรัฐบาลอังกฤษ และกู้ฐานะเศรษฐกิจของอินเดีย ท่านจึงแนะนำให้เขียนภาพเครื่องปั่นฝ้ายไว้บนธงชาติอินเดีย ยิ่งกว่านั้นเพื่อเป็นตัวอย่างให้มองเห็นได้ชัด ท่านเริ่มปั่นด้ายเองทุกวัน ประดุจเป็นกิจวัตรประจำ แม้ในขณะที่ไปแสดงสุนทรพจน์ในที่ประชุมต่างๆ ท่านก็ยังนำเครื่องปั่นฝ้ายติดตัวไปด้วย เวลาหยุดแสดงสุนทรพจน์ ท่านทำการปั่นฝ้ายเรื่อยไปโดยไม่หยุดมือ

การแนะนำให้อินเดียเริ่มทำผ้าของท่านคานธีนี้ได้ประสพผลอย่างไม่มีใครนึกฝัน ยุวชนร่วมกันตั้งสมาคมทำผ้าเกือบทั่ว ทุกถนน ทุกตำบล ทุกหมู่บ้าน ห้องพลศึกษาต่างๆ เปิดแผนกขึ้นเป็นพิเศษ พวกผู้ปกครองบังคับให้โรงเรียนเปิดสอนวิชาทำผ้าขึ้นเป็นวิชาพิเศษ เครื่องปั่นฝ้ายกลายเป็นของขวัญอันมีค่า และเกียรติยศอย่างสูง

คองเกรสจัดการรวบรวมผ้าอังกฤษตามบ้านทั่วไป แล้วนัดประชุมเผาผ้าเหล่านั้นเสีย ในงานมหรสพต่างๆ ออกข้อบังคับ ไม่ยอมให้ใครเข้าถ้าไม่นุ่งผ้าอินเดีย มีผู้รับอาสาคอยเฝ้าประตู ตรวจดูผ้าของผู้ที่จะผ่านประตูเข้าไปอย่างละเอียดว่า เป็นผ้าอินเดียหรือไม่

การบอยค๊อตผ้าอังกฤษอย่างเคร่งครัดเช่นนี้ เป็นเหตุให้โรงทำผ้า ณ เมืองแลงไซรของอังกฤษต้องหยุดงานถึงกับล้มไป ๑๐ กว่าโรง

พร้อมๆ กับขณะบอยค๊อตผ้าอังกฤษ ท่านได้แนะนำให้บอยค๊อตบุหรี่อังกฤษด้วย เป็นที่น่าชมมิใช่น้อยที่เริ่มแต่คองเกรสประกาสให้เลิกสูบบุหรี่อังกฤษ ภายในเวลาชั่ววันเดียวเท่านั้น ทำให้การขายบุหรี่ตกต่ำลงอย่างมากมายถึงกับอีกไม่กี่เดือน บริษัทเวอรยิเนีย ณเมืองกัลกัตตาต้องล้ม

โดยอาศัยแนว ๒ ประการคือบอยค๊อตการเสด็จของท่านดุ๊คออฟคอนน๊อต กับการบอยค๊อตสินค้าต่างประเทศหรือโดยเฉพาะสินค้าอังกฤษ ท่านคานธีได้แผ่หลักการไม่ร่วมมือแพร่หลายไปทั่วอินเดีย

ที่มา:สวามี  สัตยานันทปุรี

หลักการต่อสู้แบบอหิงสาของคานธี

คานธีโครงการไม่ร่วมมือ
ดังนั้นอาศัยเหตุการณ์ ๒ ประการคือ ความดื้อดึงของรัฐบาลที่ไม่ยอมฟังเสียงประชาชน ในอันที่เกี่ยวแก่กฎหมายดำ กับความเสียสัตย์ต่อชาวอิสลาม มหาตมะคานธี จึงได้วางหลักการแห่งการไม่ร่วมมือตามจุดหมายข้างต้นไว้เป็นทางปฏิบัติต่อไป ท่านได้แบ่งหลักการไม่ร่วมือไว้เป็น ๔ ขึ้น
ขั้นที่ ๑  ต้องคืนบรรดาศักดิ์ และตำแหน่งกิตติมศักดิ์
ขั้นที่ ๒  ต้องไม่ยอมรับราชการ และทั้งไม่ยอมช่วยเหลือในการบริหารราชการทุกประการ
ขั้นที่ ๓  ต้องไม่ยอมเสียภาษี
ขั้นที่ ๔  ตำรวจและทหารต้องลาออก ไม่ช่วยเหลือราชการแม้แต่ประการใด

หลักการปฏิบัติมีอยู่ว่า เมื่อได้ทำการขึ้นที่ ๑ บรรลุผลแล้ว จะลงมือทำขั้นที่ ๒ ขั้นที่ ๓ และขั้นที่ ๔ โดยลำดับไป

เพื่อเป็นตัวอย่างในการไม่ร่วมมือตามว่านี้ ท่านได้คืนเหรียญไกเซอรี-ฮินด์ ที่ท่านได้รับจากรัฐบาลมอบให้แก่ผู้สำเร็จราชการโดยเขียนจดหมายกำกับด้วยฉบับ ๑ มีข้อความต่อไปนี้

“เหตุการณ์เท่าที่ได้เกิดมีขึ้นในเดือนที่แล้วมาย่อมแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลขององค์จักรพรรดิ์ ได้ดำเนินกิจการอันเกี่ยวแก่พระเจ้าขลิฟา อย่างไม่เลือกเฟ้นความดีความชั่วอย่างผิดศีลธรรมและยุติธรรม มิหนำซ้ำยังประกอบกรรมทำความผิด เพื่อจะสนับสนุนความบกพร่องความขาดศีลธรรมของตนอยู่เรื่อยๆ ไปอีกเล่า ฉันจึงไม่สามารถที่จะแสดงความเคารพ หรือทนจงรักต่อรัฐบาลเช่นนี้อยู่ได้”

“พณฯ ท่าน ได้พิจารณาความผิดของพวกเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลอย่างไม่เห็นเป็นสำคัญ ยกโทษให้แก่เซอรไมเคล โอไดเออร์ และสิ่งที่น่าอับอายขายหน้ายิ่งกว่านั้นคือ พณฯ ท่านไม่ยอมรับรู้ในเหตุร้ายที่เกิดขึ้นในปัญจาบ มร.มันเตกูรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอินเดีย ได้ลงบันทึกความเห็นเกี่ยวแก่เรื่องนี้ไว้อย่างที่อินเดียไม่พอใจ สภาขุนนางก็ได้แสดงท่าทีไม่เอาใจใส่ในความรู้สึกของอินเดีย เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ฉันระแวงใจในอนาคตแห่งราชอาณาจักร และได้ทำลายความหลงของแน ในรัฐบาลปัจจุบันเสียโดยสิ้นเชิง ทั้งเป็นเหตุทำให้ฉันไม่ยอมร่วมมือกับรัฐบาลด้วยความจงรักภักดีที่ฉันได้เคยกระทำมาก่อนจนถึงบัดนี้ด้วย

ตามความเห็นของฉัน วิธีการธรรมดาเช่นยื่นคำร้องส่งคณะผู้แทนไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินเป็นต้นเหล่านี้ ไม่เป็นกรณีที่จะทำให้เกิดความสำนึกตัวขึ้นในใจรัฐบาล ซึ่งไม่เหลียวแลผลประโยชน์ของปวงประชาชนเสียเลย เช่น รัฐบาลอินเดียนี้ได้ ถ้าเป็นประเทศในทวีปยุโรป ผลแห่งความผิดอย่างร้ายแรง เช่นเรื่องพระเจ้าขลิฟากับเหตุร้ายในปัญจาบครั้งนี้ อาจถึงกับทำให้ประชาชนก่อการปฏิวัติขึ้นอย่างนองเลือดทีเดียว พวกเขาคงยอมเสียสละทุกอย่างเพื่อต่อต้านกับการกำจัดกำลังของชาติ อินเดียครึ่งหนึ่งยังขาดความสามารถที่จะก่อการปฏิวัติอย่างนองเลือดได้ แต่อีกครึ่งหนึ่งสามารถทำได้แต่ไม่สมัครจะทำ ฉันจึงกล้าแนะนำการไม่ร่วมมือให้เป็นทางแก้ไข ทั้งนี้ก็เพราะหวังอยู่ว่าผู้ที่ไม่ปรารถนาจะเกี่ยวข้องกับรัฐบาล จะได้ดำเนินหลักการดังนี้ไปได้อย่างเรียบร้อย โดยไม่ต้องประทุษร้ายต่อบุคคลใดๆ เลยแล้วไซร้ รัฐบาลก็จะต้องหันหลังกลับมาแก้ความผิดที่ได้กระทำมาแล้วโดยแท้ แต่ทว่า ถึงฉันจะสามารถดำเนินหลักการไม่ร่วมมือ พร้อมด้วยประชาชนเท่าที่ฉันอาจนำเขาไปได้จริง แต่ก็ยังไม่หมดหวังว่า พณฯ ท่านคงมองหาลู่ทางแสดงความยุติธรรมให้จงได้ ฉันจึงขอร้องต่อ พณฯ ท่านด้วยความเคารพว่า ขอให้ท่านเรียกประชุมบรรดาผู้นำของชาติที่ประชาชนรับรองกันจริงๆ แล้วปรึกษาหารือช่วยมองหาทางที่จะนำให้ชาวอิสลามรู้สึกพอใจและปลอบขวัญชาวปัญจาบผู้ไร้ความผาสุกให้สดชื่นขึ้น”

แต่ว่าการที่จะแนะนำหลักการไม่ร่วมมือเป็นหลักดำเนินของอินเดีย ในการสู้รบกับรัฐบาลนั้น ต้องอาศัยการยินยอมของสภาคองเกรสเสียก่อน เพราะว่าสภาคองเกรสประดุจจะดังเป็นคณะราษฎรทั่วไปของอินเดีย ฉะนั้นหลักการหรือวิธีการใด คองเกรสรับรองหรือแนะนำอินเดียส่วนมากย่อมดำเนินตามหลักการหรือวิธีการนั้น เพราะเหตุนี้ ท่านคานธีจึงเห็นเป็นการจำเป็นที่คองเกรสจะต้องเรียประชุมพิเศษโดยด่วน”

คองเกรสได้นัดประชุมพิเศษ ณ เมือง กัลกัตตา เมื่อวันที่ ๑ เดือน สิงหาคม ค.ศ.๑๙๒๐ มหาตมะคานธีเสนอญัตติขอให้คองเกรสรับรองหลักการไม่ร่วมมือโดยถ้อยคำสำคัญดังต่อไปนี้

“ด้วยรัฐบาลของพระเจ้าจักรพรรดิ์ และรัฐบาลอินเดียมิได้ดำเนินการตามหน้าที่ของอิสลาม ในอันที่เกี่ยวกับปัญหาเรื่องพระเจ้าขลิฟา อัครมหาเสนาบดีเสียสัตย์ต่อชาวอิสลาม ทั้งนี้เห็นว่าย่อมเป็นหน้าที่ของชาวอินเดียผู้ไม่นับถือศาสนาอิสลามจะต้องช่วยเหลือพี่น้องของเขาคือชาวอิสลาม ในกรกำจัดอันตรายที่กำลังครอบงำศาสนาของเขาอยู่ โดยอาศัยทางที่ชอบด้วยกฎหมาย”

“ด้วยรัฐบาลมิได้เอาใจใส่หรือป้องกันพวกไม่มีมลทิลในปัญจาบจากเหตุการณ์ที่ได้บังเกิดขึ้น ในเดือนเมษายน ค.ศ.๑๙๑๙ ทั้งมิได้ลงโทษเจ้าหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบในความประพฤติอย่างคนป่าเถื่อน และไม่สมกับเกียรติยศของทหาร มิหนำกลับทำให้เซอร์ไมเคล โอไดเออร์ ผู้ต้องรับผิดชอบในความผิดชอบของเจ้าหน้าที่ โดยทางอ้อมก็ดี ทางตรงก็ดี หรือและผู้ไม่เอาใจใส่ในความทุกข์ทรมานของประชาชนซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของเขาเหล่านั้นหลุดพ้นจากโทษไปเสีย”

“ด้วยการอภิปรายกันในสภาสามัญ และสภาขุนนางได้แสดงให้เห็นว่า สภาทั้งสองขาดความเห็นอกเห็นใจชาวอินเดีย และสนับสนุนนโยบายการประหัตประหาร (Terrorism) ดังได้ดำเนินมาแล้วในปัญจาบ”

“ด้วยคำแถลงการณ์ของผู้สำเร็จราชการ ฉบับที่ประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ แสดงว่ารัฐบาลไม่มีความรู้สึกเสียใจในเรื่องพระเจ้าขลิฟาและปัญจาบ”

“สภาคองเกรสนี้จึงเห็นว่า ตราบใดที่รัฐบาลยังไม่แก้ไขความผิดของตนและทำขวัญ ตราบนั้นจะไม่มีความสงบในอินเดีย และว่ามีอยู่ทางเดียวที่จะรักษาเกียรติยศของชาติ และป้องกันมิให้เกิดเหตุร้ายเช่นเดียวกันนี้ในอนาคตอีก ทางนั้นคือ การตั้งรัฐบาลของตนเองขึ้น สภาคองเกรสยังมีความเห็นเลยไปอีกว่า สำหรับชาวอินเดียไม่มีทางดำเนินอื่นใดเลือกอีก นอกจากที่จะรับรองและดำเนินนโยบายคือการไม่ร่วมมือตามหลักอหิงสา จนกว่าการกระทำผิดทั้ง ๒ กระทงนั้นจะได้รับการแก้ไข และจัดตั้งรัฐบาลของตนขึ้นได้”

“และเนื่องด้วยผู้ที่จะเป็นผู้นำ สำหรับโครงการนี้ต้องเป็นผู้ที่เคยได้ดัดแปลงมติของมหาชน และแทนมาแล้วจนตราบเท่าทุกวันนี้”

“และเนื่องด้วยความมั่นคงแห่งอำนาจรัฐบาลย่อมอาศัยทางคือ การใช้บรรดาศักดิ์ โรงเรียนภายใต้การดูแลของรัฐบาล ศาลและสภานิติบัญญัติ”

“และเนื่องด้วยการดำเนินหลักการต่อสู้ เพื่อบรรลุผลสำเร็จ ควรจะดำเนินไปในทางที่ประชาชนจะได้รับอันตรายน้อยที่สุด และเสียสละก็น้อยที่สุด สภาคองเกรสจึงแนะนำประชาชนทั้งหลายขอให้
ก. คืนบรรดาศักดิ์และลาออกจากตำแหน่งกิตติมศักดิ์ และสมาชิกประเภทที่ ๒ (รัฐบาลเลือกตั้งทั้งหมด)
ข. ไม่ยอมรับเชื้อเชิญในพิธีงานฉลองต่างๆ ซึ่งนับว่าเป็นพิธีทางราชการหรือกึ่งราชการ ทั้งไม่ยอมรับเชื้อเชิญไปในพิธีเฝ้าแหนทั้งหมดด้วย
ค. ค่อยๆ ถอนกุลบุตรและกุลธิดา ออกจากโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ซึ่งรัฐบาลเป็นเจ้าของ ผู้บำรุงหรือควบคุม และจัดตั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัยแห่งชาติขึ้นทุกมณฑล
ง. ค่อยๆ บอยค๊อตศาลอังกฤษ ทั้งฝ่ายทนานความและลูกความ และจัดตั้งศาลอนุญาโตตุลาการส่วนตัวขึ้นเพื่อตัดสินคดีระหว่างกันเอง
จ. ไม่ยอมรับอาสาเป็นทหาร เสมียน และกรรมกรไปสงครามเมโสโปเตเมีย
ฉ. ถอนใบสมัครเป็นสมาชิกสภา ทั้งไม่ยอมให้เสียงแก่ผู้สมัครผู้ใด ซึ่งสมัครโดยขัดขืนคำขอร้องของสภาคองเกรส
ช. ด้วยหลักการไม่ร่วมมือ ต้องอาศัยวินัยและการเสียสละ ซึ่งถ้าขาดวินัยและการเสียสละแล้วไม่มีชาติใดที่จะบรรลุถึงความเจริญรุ่งเรืองขึ้นได้
ซ. ด้วยในการต่อสู้แม้จะเป็นขั้นแรกควรจะเปิดโอกาสให้แก่ชายหญิงและเด็กทุกคน แสดงวินัยและการเสียสละได้

สภาคองเกรสจึงแนะนำให้ใช้ผ้าเฉพาะที่ทำขึ้นในอินเดียเอง

ด้วยโรงทอผ้าต่างๆ เท่าที่มีอยู่ในอินเดีย และซึ่งเป็นทุกอย่างของอินเดีย และอยู่ภายใต้การดูแลของอินเดียไม่สามารถทำด้ายและผ้าได้ พอกับจำนวนความต้องการของชาติ สภาคองเกรสนี้จึงแนะนำพวกทอผ้า (แบบทอด้ายหูก) ให้เริ่มทำการทอผ้า อันเป็นงานอาชีพที่มีการบำรุง”

เมื่อมหาตมะคานธีเสนอญัตติดังกล่าวมานี้จบลงเสียงปรบมือได้ดังสนั่นขึ้นทั่วทุกมุมห้องประชุม แต่มีข้อที่ทำให้ถึงกับเกิดการโต้เถียงขึ้นเล็กน้อย ๒ ข้อ คือ การถอนกุลบุตรกุลธิดาออกจากโรงเรียน กับการลาออกจากสมาชิกสภา แต่ข้อต้นมีการโต้แย้งกันมากกว่าข้อ ๒ ทั้งนี้ก็เพราะเหตุที่บรรดาโรงเรียนต่างๆ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลทั้งสิ้น ในฐานะเป็นเจ้าของบ้าง เป็นผู้บำรุงบ้าง เป็นผู้ดูแลบ้าง เมื่อเป็นดังนั้นถ้าถอนนักเรียนออกจากโรงเรียนเสียหมด ก็แปลว่าจะไม่มีที่เล่าเรียนต่อไป แต่เหตุผลของท่านคานธีมีอยู่ว่า หลักการไม่ร่วมมือนี้มิได้หมายความว่าจะทำกันตลอดไป เป็นเพียงวิธีดำเนินการต่อสู้ระหว่างอินเดียกับรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งเป็นการต่อสู้เพื่อกู้เกียรติยศของชาติ เพื่อกู้ประเทศให้เป็นอิสระชั่วคราวเท่านั้น ฉะนั้นการถอนนักเรียนออกจากโรงเรียน จึงนับว่าเป็นการกระทำเฉพาะชั่วคราว เมื่อยามการต่อสู้ผ่านพ้นไปแล้วนักเรียนจะได้เล่าเรียนเช่นเคยต่อไป เพราะเหตุนี้ โดยเห็นแก่ประโยชน์จำนวนใหญ่หลวงของชาติ ท่านจึงขอให้ผู้ปกครองทั้งหลายดำเนินการตามหลักนี้ชั่วคราว

ในที่สุด หลังจากการเปิดอภิปรายกันแล้ว ประธานขอให้มีการออกเสียงสำหรับญัตติของท่านคานธี สมาชิกมาประชุม ๕๘๑๔ คน ได้เสียงฝ่ายรับรอง ๓๘๒๘ เสียง ฝ่ายค้าน ๑๙๒๓ เสียง เหลืออีก ๖๓ คน ไม่ยอมออกเสีย

สภาจึงรับรองญัตติของท่านคานธี ไว้เป็นหลักการดำเนินของคองเกรสต่อไป

เมื่อท่านคานธีชนะเสียงโหวตดังนี้แล้ว ท่านผู้นำอื่นๆ ซึ่งมีความเห็นไม่ตรงกัน ก็พลอยรับหลักการของท่านคานธีเป็นทางดำเนินด้วย โดยหวังกันว่าการประชุมสภาคองเกรสคราวนี้ เป็นสมัยประชุมวิสามัญมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขหลักการใหม่ได้ เมื่อสภาคองเกรสจะประชุมในสมัยสามัญเดือนธันวาคม

พอถึงเดือนธันวาคม สมัยประชุมสามัญคองเกรสได้นัดประชุมที่เมืองนาคปุระ แต่ตรงกันข้ามกับความคาดหมายของท่านผู้นำเหล่านั้น คือในการประชุมคราวนี้มหาตมะคานธีได้ชนะคะแนนโหวตโดยไม่มีเสียงค้าน แม้แต่เสียงเดียว มิหนำซ้ำการประชุมคราวนี้ กลับทำให้วัตถุประสงค์ของคองเกรสเปลี่ยนแปลงไปจากวัตถุประสงค์เดิม ในข้อที่ว่า จะอยู่ภายในราชอาณาจักรอังกฤษ (Within the Brithish Empire) โดยมีสิทธิเท่าเทียมกันเป็น “เสรีภาพ” โดยไม่สำคัญต่อการปกครองของอังกฤษ (indifferent to British overloroship)

ท่านจิตรัญชันทาส ได้เป็นผู้นำคณะฝ่ายค้านท่านคานธีในการประชุมที่เมืองกัลกัตตา ท่านผู้นี้สำเร็จวิชากฎหมายมาจากประเทศอังกฤษ เป็นเนติบัณฑิตว่าความที่ศาลฎีกา ณ เมืองกัลกัตตา ชื่อเสียงในทางว่าความของท่านได้แผ่ไปทั่วอินเดีย ระหว่างเวลาที่มหาตมะคานธีกำลังเตรียมหลักการไม่ร่วมมือขึ้นเป็นหลักการปฏิบัติของคองเกรสนั้น รายได้ของท่านผู้นี้มีจำนวนสูงมาก ตกเดือนละ ๕๐,๐๐๐ รูปี ยิ่งกว่านั้นในขณะนั้นท่านกำลังรับจ้างรัฐบาลอินเดียเป็นทนายว่าความคดีรายหนึ่ง โดยตกลงราคาค่าจ้างเป็นงวดๆ ละ ๘๐,๐๐๐ รูปี

ในเรื่องหลักการไม่ร่วมมือ ความเห็นของท่านมีอยู่ว่า คองเกรสไม่ควรจะบอยค๊อตรัฐธรรมนูญที่เพิ่งได้รับมาใหม่ คือควรสมัครเป็นสมาชิกตามรัฐธรรมนูญใหม่นั้นแล้วเข้าควบคุมกิจการของรัฐบาล โดยอาศัยอำนาจสภาเป็นเครื่องมือ แต่สำหรับในการประชุมคองเกรส ณ เมืองนาคปุระ ท่านมหาตมะคานธีได้ขอร้องให้ท่านดำเนินตามหลักไม่ร่วมมือไปพลางก่อน ต่อเมื่อหลักการนั้นไม่บรรลุผลสำเร็จ จึงค่อยดำเนินตามหลักของท่านในภายหลัง ท่านจิตรัญชันทาสได้ยอมปฏิบัติตามคำขอร้องของท่านคานธี ญัตติของท่านจึงได้ผ่านสภาไปโดยไม่มีเสียงค้านเลย

เมื่อท่านจิตรัญชันทาสตกลงยอมรับหลักการนั้นเป็นทางดำเนิน ก็ต้องเลิกว่าความ และต้องคืนเงินค่าจ้างว่าความ ๘๐,๐๐๐ รูปี ให้แก่รัฐบาล แล้วท่านก็ยอมพลีกาย วาจาและใจ เพื่อประเทศชาติที่รักจนกระทั่งต้องถึงมรณกรรมเพราะการรับใช้ประเทศชาติของท่าน นอกจากนั้นท่านยังได้อุทิศบ้านอันกอปรด้วยลักษณะทัดเทียมปราสาทให้แก่ชาติ เพื่อตั้งเป็นโรงพยาบาลสตรีด้วย แล้วนำบุตรภรรยาไปอาศัยอยู่บ้านหลังเล็กๆ สืบไป ชาติหวนระลึกถึงความเสียสละอันใหญ่หลวงของท่านผู้นี้ จึงให้สมญาว่า “ท่านวีระแลเทศพันธ์” (เพื่อนประเทศ) จิตรัญชันทาสสืบมา

ที่มา: สวามี  สัตยานันทปุรี

มหาตมะคานธีกับเหตุการณ์ในตุรกี

คานธี
ตรงกับเวลาที่เหตุร้ายในปัญจาบกำลังก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นทั่วอินเดียนั้นเอง ได้มีการผันผวนขึ้นในทางการบ้านเมืองของตุรกีบางประการ ทำให้ชาวอิสลามในอินเดียเกิดมีความไม่พอใจในรัฐบาลอังกฤษ กล่าวคือในสมัยสงครามตุรกียังอยู่ในระบอบการปกครองแบบราชาธิปไตย ภายใต้ความร่มเย็นของพระเจ้าขลิฟา ซึ่งอิสลามศาสนิกชนนับถือกันว่า เป็นองค์อุปถัมภกของศาสนาอิสลาม เนื่องจากการปกครองในระบอบนี้มิได้เป็นไปโดยเรียบร้อย ทั้งไม่ทันสมัยและถูกใจประชาชน จึงมีข่าวเลื่องลือกันว่า มิช้ามินานคงจะเกิดการผันผวนขึ้นเป็นแน่ มิหนำซ้ำยังมีเพื่อนบ้านใกล้เคียง คือประเทศกรีซมักคอยฉวยโอกาสแผ่อำนาจเข้าครอบงำเมืองตุรกีอยู่เนืองๆ อาศัยสาเหตุ ๒ ประการนี้อาจถึงกับทำให้พระเจ้าขลิฟา องค์ศาสนูปถัมภกของชาวอิสลาม ต้องทรงสละราชบัลลังก์ก็เป็นได้

ชาวอิสลามในอินเดีย มีความจงรักภักดีต่อพระเจ้าขลิฟาเป็นอย่างสูง ฉะนั้นในยามสงครามรัฐบาลอังกฤษจึงได้ให้คำมั่นสัญญาว่า ถ้าชาวอิสลามช่วยเหลือในการสงคราม รัฐบาลอังกฤษจะช่วยเหลือพระเจ้าขลิฟาให้ทรงดำรงอยู่ในตำแหน่งองค์ศาสนูปถัมภกสืบไป ชาวอิสลามจึงได้ดำเนินตามคำขอร้องของรัฐบาลอังกฤษ ต่อมาภายหลังสงครามเหตุการณ์ต่างๆ บังคับให้พระเจ้าขลิฟาจำต้องทรงสละราชบัลลังก์ แทนที่รัฐบาลอังกฤษจะสนองคุณชาวอิสลามดังที่ได้สัญญาไว้ กลับไปรับรองรัฐบาลตุรกีที่พึ่งตั้งตัวขึ้นใหม่ หัวหน้าชาวอิสลามในอินเดีย เมื่อได้เห็นความไม่มีสัจของรัฐบาลดังนั้น ก็ก่อการวุ่นวายขึ้นในชาวอิสลามด้วยกันทั่วอินเดีย

มหาตมะคานทีมองเห็นอกชาวอิสลาม ผู้ประดุจเป็นพี่น้องของชาวอินเดียที่ต้องประสบโชคร้าย ดังนั้นจึงตกลงจะช่วยเหลือ และได้ชักชวนชาวฮินดู ให้ร่วมมือกับชาวอิสลามช่วยพระเจ้าขลิฟา

โดยอาศัยเหตุ ๒ ประการดังกล่าวนี้คือ เหตุร้ายในปัญจาบกับเหตุการณ์ในตุรกีรวมเข้ากับกรณีเดียวกัน ท่านจึงได้เขียนจดหมายถึงผู้สำเร็จราชการ แสดงนโยบายที่ท่านจะดำเนินต่อไป (เดือนมิถุนายน ๑๙๒๐)

“ข้อสนธิสัญญา และความสนับสนุนของพณะท่านเป็นเหตุให้ชาวอิสลามในอินเดียรู้สึกตกอกตกใจเป็นอย่างยิ่ง ข้อสนธิสัญญาเหล่านั้น ขัดกันกับคำสัญญาของอัครมหาเสนาบดี และขัดต่อความรู้สึกของชาวอิสลามในฐานะที่ฉันเป็นชาวฮินดูผู้เคร่งครัดคนหนึ่ง และมีความปรารถนาที่จะอยู่ด้วยไมตรีจิตกับชาวอิสลาม ผู้ร่วมประเทศ ฉันจะต้องช่วยเหลือเขา เมื่อเขาตกอยู่ในข่ายอันตรายเช่นนี้ มิฉะนั้นแล้วฉันไม่สมควรที่จะเป็นบุตรของอินเดีย ตามความเห็นของฉันเห็นว่า เหตุผลของเขาถูกต้องทีเดียว ถ้าจะเล็งเห็นน้ำใจชาวอิสลามไม่ควรจะลงโทษตุรกี ทหารอิสลามได้ช่วยอังกฤษโดยไม่คิดว่าพระเจ้าขลิฟาจะได้รับผลร้าย ถึงกับต้องพลัดพรากจากราชอาณาจักรตลอดเวลา ๕ ปีที่แล้วมา ชาวอิสลามมั่นอยู่ในข้อนี้เสมอ หน้าที่ของฉันผู้ยังมีความจงรักภักดีต่อราชอาณาจักรอังกฤษ จึงมีอยู่ว่าจะพยายามห้ามไม่ให้รัฐบาลอังกฤษขัดขืนต่อความรู้สึกของชาวอิสลาม เท่าที่ฉันทราบทั้งฮินดูและอิสลาม ไม่มีความไว้วางใจในความยุติธรรมและเกียรติยศของอังกฤษ”

“รายงานของคณะกรรมการฮันเตอรและความเห็นของพณะท่านในเรื่องรายงาน และคำบันทึกของ มร. มันเตกูทั้งสิ้นได้ช่วยเพิ่มความไม่วางใจขึ้นอีกมากหลาย ในสถานการณ์เช่นนี้มีทางเหลืออยู่ทางเดียว ที่คนเหมือนฉันจะพึงปฏิบัติได้คือ ตัดความสัมพันธ์กับอังกฤาเสียทุกประการ เพราะความหมดหวังหรือถ้ายังมีความไว้วางใจในรัฐธรรมนูญอังกฤษ ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีกว่ารัฐธรรมนูญต่างๆ ที่ใช้กันอยู่แล้วไซร้ ก็ต้องพยายามช่วยแก้ไขความผิดพลาดที่รัฐบาลได้กระทำมาแล้ว และต้องพยายามนำความไว้วางใจที่ดับหายไปนั้นกลับคืนมาอีกให้จงได้”

“การที่จะกระทำเช่นนั้นได้ด้วยเกียรติยศ และภายในขอบเขตแห่งสิทธิราษฎร คือโดยอาศัยหลักการไม่ร่วมมือเป็นกรณี เพราะว่า นับจำเดิมแต่สมัยดึกดำบรรพ์มาได้รับรองกันแล้วว่า ประชาชนมีสิทธิที่จะไม่ยอมช่วยเหลือรัฐบาลซึ่งปกครองไม่ถูก ฉันรับสารภาพว่า ถ้ามหาชนปฏิบัติตามหลักการไม่ร่วมมือ อาจมีช่องทางที่จะเกิดอันตรายได้อยู่บ้าง แต่สถานการณ์อย่างเข้าด้ายเข้าเข็มดังที่ชาวอิสลามในอินเดียตกอยู่ ณ บัดนี้ ถ้าเราไม่กล้ายึดถือหลักการอันน่าอันตราย ก็เป็นอันว่า ฐานะนั้นจะมิได้รับการแก้ไขแม้แต่น้อย ถ้าเราไม่กล้ายึดหลักการอันน่าอันตราย ในที่สุดเราจะต้องอยู่ในข่ายอันน่าอันตรายยิ่งกว่าถึงกับอาจทำลายความสงบเรียบร้อยเสียก็เป็นได้ แต่ก็ยังมีช่องทางที่ไม่จำเป็นจะต้องดำเนินตามหลักการไม่ร่วมมือก็ได้ กล่าวคือผู้แทนฝ่ายอิสลาม ได้ขอร้องพณะท่านให้เป็นผู้ทำการคัดค้านข้อสนธิสัญญา ดังที่ผู้สำเร็จราชการคนก่อนได้เคยกระทำมาในเรื่องการเสียภาษีในอาฟริกาใต้ แต่ว่าถ้าพณะท่านเห็นว่าไม่มีทางที่พณะท่านจะปฏิบัติเช่นนั้นได้และการไม่ร่วมมือกลายเป็นการจำเป็นอย่างยิ่งไป ฉันหวังว่า พณะท่านคงจะชมเชยพวกผู้ซึ่งปฏิบัติตามคำแนะนำของฉัน ทั้งตัวฉันด้วยว่าเป็นผู้กล้ายึดถือหลักการอันน่าอันตราย เพราะความเคร่งครัดต่อหน้าที่นั่นเอง”

ที่มา: สวามี  สัตยานันทปุรี

มหาตมะคานธีกับเหตุร้ายในปัญจาบ

คานธี
ไฟลุกทั่วอินเดีย
เหตุร้ายในปัญจาบ
ในเมื่อเหตุการณ์ในอินเดียกำลังตกอยู่ในอาการไม่สงบดังว่านี้ ได้มีเหตุร้ายแทรกแซงเข้ามาอีกรายหนึ่ง อันทำให้ไมตรีจิตระหว่างรัฐบาลอังกฤษกับอินเดีย จำต้องสลายลงโดยไม่หวังจะกลับคืนดีได้ กล่าวคือดังได้กล่าวมาแล้วว่า เมื่อรัฐบาลได้ตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่า จะนำร่างพระราชบัญญัติเราว์แลตต์ขึ้นเสนอต่อสภานิติบัญญัตินั้นได้มีการคัดค้านกันทั่วอินเดีย เมืองอมฤตสร เป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งในปัญจาบ ชาวอมฤตสรก็ได้ตั้งใจว่าจะประชุมคัดค้านร่างพระราชบัญบัตินั้น ดังที่เมืองอื่นๆ เขาทำกันอยู่ ที่เมืองนั้นมีสนามใหญ่อยู่แปลงหนึ่งมีกำแพงล้อมรอบแต่มีทางเข้าออกอยู่เพียงทางเดียว พลเมืองพากันไปประชุม ณ สนามนี้ มีจำนวนมากมายนับพันๆ เมื่อทางการของรัฐบาลได้รับข่าวการประชุมนั้น ข้าหลวงประจำมณฑลปัญจาบ ชื่อ เซอรไมแคล โอไดเอรก็รีบส่งกองทหารกองหนึ่งภายใต้บังคับบัญชาของนายพล ไดเอรไปท่านผู้นี้ครั้นไปถึงสนามซาเลียนวาลาวาคแล้ว ก็สั่งให้ทหารเข้ายึดประตูทางเข้าออกไว้ และไม่ยอมอนุญาตให้ใครเข้าออกอีก แล้วสั่งให้ปิดประตูเสียทันที เนื่องจากสนามนั้นมีกำแพงล้อมรอบและมีทางเข้าออกอยู่แต่ทางเดียว ฉะนั้นจึงเป็นธรรมดาอยู่เอง ถึงจะปิดประชุมแล้วก็ไม่มีใครสามารถออกจากสนามนั้นได้ แล้วนายพลไดเอรออกคำสั่งให้ทหารยิงกราดไปยังประชุมนั้น พลเมืองผู้ไร้อาวุธได้ถูกยิงล้มระเนระนาด อย่างไร้เมตตากรุณาและมนุษยธรรม กล่าวตามสำนวนของท่านลาลาลาซปัตรายว่ายิงคนเหมือนยิงกระต่ายป่า ผู้คนได้ล้มตายไปนับร้อยๆ และได้รับบาดเจ็บสาหัสเป็นพันๆ ผู้นำทั้งหลายผู้มีการศึกษาชั้นสูงผู้เป็นที่เคารพบูชาของคนทั่วประเทศ ได้ถูกบังคับให้คลานไปตามถนนจนหนังฝ่ามือและหัวเข่าถลอก แล้วยังนำไปเฆี่ยนตีตามสถานที่เปิดเผยอีกด้วย อารยประเทศทั้งหลายต่างมองดูความดุร้ายของรัฐบาลปัญจาบด้วยความตะลึงอินเดียรู้สึกสลดใจในความไร้มนุษยธรรมแห่งนโยบายของรัฐบาล ทำให้ไฟลุกโชนยิ่งขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว

แม้ท่านมหากวีรพีนทฺร นาถ ถากูร ผู้ซึ่งไม่เคยเกี่ยวข้องในเรื่องการเมืองเลย ก็ไม่สามารถที่จะทนมองดูความดุร้ายของรัฐบาลอยู่ได้ ท่านจึงเขียนหนังสือกราบบังคมทูลขอถวายบรรดาศักดิ์ตำแหน่งเซอร คืนพระมหากษัตริย์ โดยอ้างเหตุผลว่า การรับบรรดาศักดิ์ของรัฐบาลซึ่งดำเนินนโยบายอย่างไร้มนุษยธรรมเช่นนี้ไว้ รู้สึกว่าเป็นการทำลายเกียรติยศของตนเอง

ทั่วอินเดีย คัดค้านการกระทำคราวนี้ของเซอรไมเคลอย่างรุนแรง ในที่สุดรัฐบาบจำต้องตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นคณะหนึ่ง ภายใต้อำนวนการของท่านฮันเตอรให้ทำการไตสวนเหตุการณ์ในปัญจาบ อินเดียหวังว่ารัฐบาลจะต้องคณะกรรมาธิการขึ้นโดยอาศัยอำนาจอันมาจากองค์พระมหากษัตริย์โดยตรง แต่เหมือนกับทุกคราว ความหวังนั้นได้หมดสิ้นดับสูญไปโดยมิเป็นผล

เมื่อคณะกรรมาธิการฮันเตอรเข้ามาทำหน้าที่สอบสวนเหตุการณ์ในปัญจาบครั้งนั้น ได้เกิดมีความเห็นแย้งกับคองเกรส ทั้งนี้เนื่องมาแต่สาเหตุที่คณะกรรมาธิการไม่ยอมรับพยานของท่านซึ่งยังถูกกักขังอยู่ ดังนั้น คองเกรสจึงได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นคณะหนึ่ง ภายใต้ความควบคุมของท่านคานธี คณะนี้ได้ทำการไต่สวนสอบถามปากคำพยานกว่า ๑,๙๐๐ คน รายงานเรื่องนี้กินหน้ากระดาษ ๖๕๐ กว่าหน้า ทั่วประเทศรับรองรายงานนั้นว่าเป็นการสอบสวนและความเห็นอย่างยุติธรรมที่สุด

แต่ทว่ารัฐบาล จะได้ดำเนินเรื่องตามรายงานนี้ก็หาไม่ ตรงกันข้ามรัฐบาลกลับไปยึดถือรายงานของคณะกรรมาธิการ ฮันเตอร ซึ่งคองเกรส และทั่วอินเดียบอยค๊อตโดยไม่ยอมมีส่วนเกี่ยวข้อง และเห็นร่วมว่าเป็นความเห็นที่บริสุทธิ์และยุติธรรม

หลังจากการประกาศรายงาน ของคณะคองเกรสไม่กี่วันนัก รายงานคณะกรรมาธิการฮันเตอรก็ออกโฆษณาคณะนี้ได้กล่าวหาคณะสัตยาเคราะห์ ว่าเป็นต้นเหตุแห่งเรื่องร้ายที่เกิดมีขึ้นในปัญจาบ ส่วนการยิงที่นายพลไดเอรกระทำไปนั้น เห็นว่าเป็นเพราะความเข้าใจผิดเท่านั้น กระนั้นก็ดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอินเดีย คือ มร.มันเตกู ก็ยังกล้าคัดค้านการกระทำนั้นได้อย่างป่าเถื่อนภายในสภาสามัญแห่งปารเลียเมนตฺ และกลับสรรเสริญความเฉลียวฉลาดของเซอรไมเคล และผู้สำเร็จราชการซึ่งไม่รับรู้ในเหตุการณ์ในปัญจาบนั้น

ความเห็นของคณะกรรมาธิการ ฮันเตอร พร้อมทั้งความเห็นของมันเตกู เป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวายขึ้นทั่วอาณาเขตอินเดีย หนังสือพิมพ์รวมหัวกันเขียนบทนำบังคับให้ผู้สำเร็จราชการ เซอรไมเคล และนายพลไดเอร ลาออกจากตำแหน่งโดยพาดหัวว่า “Chelmsford must go” ในที่สุดเรื่องเหตุร้ายในปัญจาบ ได้ถูกนำขึ้นพิจารณาในสภาสามัญแห่งปารเลียเมนตฺ มร. แอสกวิท มร.เซอรซิลล์ได้กล่าวถึงความยุติธรรมของรัฐบาลอังกฤษ ที่ได้กระทำมาตั้งแต่สมัยกระโน้น แต่ว่าสมาชิกส่วนมากเห็นด้วยกับการกระทำของนายพลไดเอร เมื่อเรื่องนี้ผ่านสภาสามัญไปถึงสภาขุนนางสภาขุนนางได้เสนอญัตติขอให้อภัยโทษแก่นายพลไดเอร อินเดียตกตะลึงเมื่อได้ประสบชีวิตความอยุติธรรมของสภาปารเลียเมนตฺอย่างหาที่เปรียบไม่ได้เช่นนี้

ถึงแม้สภาขุนนางจะให้อภัยโทษแก่นายพลไดเอรก็ตาม แต่อินเดียไม่สามารถที่จะให้อภัยโทษได้ เพราะผู้ที่สิ้นชีวิตไปเพราะกระสุนปืน ผู้ที่หลังถลอกปอกเปิดเพราะความโหดร้ายของรัฐบาล คนเหล่านั้นเป็นเลือดเนื้อของอินเดีย เป็นพี่น้องร่วมทุกข์ของชาวอินเดีย ฉะนั้นเสียงสรรเสริญดังสนั่นขึ้นทั่วเกาะอังกฤษและหมู่ชนอังกฤษเพียงใด เสียงคัดค้านก็ยิ่งเร่งขึ้นในอินเดียเพียงนั้น ในที่สุดรัฐบาลเห็นเป็นการจำเป็นแท้ที่จะต้องปลดเซอรไมเคลและนายพลไดเอร ออกจากตำแหน่ง เสียงมหาชนสามารถบันดาลให้เสียงรัฐบาลดับมอดลงอย่างสนิทด้วยประการฉะนี้

ที่มา:สวามี  สัตยานันทปุรี

มหาตมะคานธีกับเหตุการณ์ในอินเดีย

คานธี

ไฟลุกทั่วอินเดีย
ภาษิตตะวันตก มีอยู่ว่า “เสียงมหาชนคือเสียงของพระเจ้า” ภิตข้อนี้มีความจริงหรือไม่ก็แล้วแต่ แต่เท่าที่ปรากฎอยู่ในประวัติศาสตร์ พอที่จะกล่าวได้ว่า เมื่อรัฐบาลใดก็ตามดำเนินนโยบายเป็นไปในทำนองขัดขืนหรือไม่ยอมฟังเสียงมหาชนเสียเลยแล้ว ก็เป็นอันว่า อายุกาลแห่งรัฐบาลนั้นถึงที่สุดแล้ว แม้ราชวงศ์ผู้ทรงอำนาจทั้งหลาย ที่ต้องล้มละลายหายไปจากบรรณโลก หรือพลัดจากราชบัลลังก์ ก็เพราะเหตุที่เนื่องมาแต่การขัดขืนเสียงมหาชนนั่นเอง รัฐบาลใดก็ตามที่ แม้ถึงจะทรงอำนาจอันยิ่งใหญ่สักเพียงไรก็ตาม ถ้าขาดจากความนิยมชมชอบของมหาชนแล้วไซร้ ก้หาสามารถทรงตัวอยู่ได้ไม่ มิวันใดก็วันหนึ่งจะต้องล้มละลายไปอย่างยับเยินเป็นแน่แท้ เพราะมหาชนย่อมทรงอำนาจอันยิ่งใหญ่เหนืออำนาจรัฐบาลหรืออำนาจแสนยานุภาพอีก มหาชนสำนึกตนและอำนาจของตนได้เมื่อใด เมื่อนั้นแหละ ถึงวาระขึ้นสุดท้าย ฉะนั้นรัฐจึงพยายามหาลู่ทางเพื่อไม่ให้มหาชนสำนึกตัวได้ อันสามารถกระทำขึ้นได้โดยวิธี ๒ ประการ ประการหนึ่งให้ความร่มเย็นแก่มหาชนจะไม่เอาใจใส่ในการบ้านเมือง หรือจะเอาใจใส่แต่จะเป็นไปในทางใช้อำนาจของตนเป็นหลักทางรัฐบาล ประการที่ ๒ สร้างกฎหมายเป็นเครื่องผูกมัดและตัดสิทธิมหาชน ไม่ให้กระดุกกระดิกตัวได้

นโยบายประการที่ ๑ รัฐบาลอังกฤษดำเนินอยู่ในดินแดนของเขาเอง ส่วนประการที่ ๒ เป็นนโยบายการปกครองของอินเดีย แต่ประวัติศาสตร์ได้แสดงมาแล้วหลายครั้งหลายคราวว่า นโยบายเช่นนี้ ย่อมมิเป็นผลถาวรที่จะทรงอำนาจรัฐไว้ได้ ใช่ว่ารัฐบาลอังกฤษมิรู้ประวัติศาสตร์ก็หาไม่แต่เพราะมึนเมาอยู่ในอิสริยะศักดิ์และอำนาจแสนยานุภาพ จึงไม่สามารถมองเห็นได้ว่า มหาชนแม้จะถูกผูกมัดอยู่อย่างแน่นแฟ้นเพียงไรก็ตาม แต่ก็ยังสามารถที่จะออกเสียง และพ้นจากการผูกมัดนั้นได้ไม่เร็วก็ไม่นานนัก

ฉะนั้นเมื่อรัฐบาลอังกฤษขัดขืนเสียงมหาชนออกพระราชบัญญัติกำจัดสิทธิยุวชนอินเดียดังกล่าวแล้ว ไฟคือความไม่สงบ จึงได้ลุกโชนขึ้นทั่วดินแดนอินเดีย ถึงกับคณะพรรคการเมืองต่างๆ รวมเป็นคณะเดียวกัน ทำการคัดค้านรัฐบาลอังกฤษในอินเดียอย่างแรงกล้า

ส่วนท่านคานธี เมื่อเห็นว่าการคัดค้านภายในขอบเขตแห่งรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นผลแม้แต่ประการใดจึงชักชวนประชาชนให้ดำเนินสัตยาเคราะห์ ดังท่านได้ดำเนินมาแล้วในภาคอาฟริกา

มหาชนเห็นพ้องตามความเห็นของท่านคานธี จึงพากันมารวมอยู่ภายใต้ธงชัยของท่านผู้นำผู้นี้ ฉะนั้นเพื่อดำเนินตามหลักแห่งสัตยาเคราะห์ เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ค.ศ.๑๙๑๙ ท่านจึงได้พิมพ์ใบสัตยาธิฐานแจกให้ผู้สมัครสัตยาเคราะห์ทั้งหลายเซ็นนามเป็นการแสดงปฏิญาณตนว่าจะดำเนินตามหลักสัตยาเคราะห์ ใบสัตยาธิฐานนั้น มีข้อความดังนี้

“เนื่องจากเรามีความเห็นอย่างแน่ว่าร่างพระราชบัญญัติที่เรียกว่าร่างพระราชบัญญัติกฎหมายอาญา (ฉบับแก้ไข) ฉบับที่ ๑ แห่ง ค.ศ. ๑๙๑๙ และร่างพระราชบัญญัติกฎหมายอาณา (อำนาจฉุกเฉิน) ฉบับที่ ๒ แห่ง ค.ศ. ๑๙๑๙ นั้นเป็นกฎหมายที่ไม่ยุติธรรม ขัดต่อหลักเสรีและความยุติธรรมทำลายสิทธิเดิมของบุคคล อันหนึ่งที่ตั้งความปลอดภัยแห่งสังคมและรัฐ เราจึงขอปฏิบัติตนด้วยความจริงใจว่า ถ้าร่างพระราชบัญญัติเหล่านี้ ออกเป็นกฎหมายเมื่อใดแล้วตราบใดที่กฎหมายเหล่านั้นยังไม่ยกเลิก เราจะไม่ยอมปฏิบัติตามกฎหมายนั้น และกฎหมายอื่นๆ ที่คณะกรรมการจะสร้างขึ้นภายหลังว่า เห็นว่าเป็นกฎหมายที่ไม่ควรมี ทั้งเราขอปฏิญาณว่า ในการต่อสู้คราวนี้ เราจะดำเนินตามสัจธรรมและงดเว้นเสียจากผลาญชีวิต การทำร้ายร่างกายหรือทรัพย์สมบัติของผู้ใดอื่นทั้งหลาย”

พลเมืองอินเดียนับจำนวนหมื่นๆ สมัครเข้าเป็นผู้รับอาสาเพื่อจะดำเนินการให้เป็นไปโดยราบรื่น ได้จัดตั้งคณะสัตยาเคราะห์ขึ้นเป็นคณะกลางคณะหนึ่ง มีหน้าที่ควบคุมหลักการแห่งสัตยาเคราะห์ทั่วอินเดีย ส่วนการสัตยาเคราะห์เฉพาะแคว้นๆ อยู่ภายใต้ความควบคุมของคณะกรรมการสัตยาเคราะห์ประจำแคว้น แยกออกเป็นสาขา จังหวัด อำเภอ หมู่บ้าน เป็นต้น มหาตมะคานธีได้รับเลือกตั้งเป็นประธานคณะกรรมการสัตยาเคราะห์กลาง

เมื่อประกาศสัตยาเคราะห์ ท่านมีเวลาว่างพักผ่อนร่างกายได้น้อยเต็มที ท่านได้จาริกไปทั่วจังหวัด จนแม้หมู่บ้าน เพื่อแนะนำหลักสัตยาเคราะห์ให้ประชาชนเข้าใจซาบซึ้ง แล้วจะดำเนินตาม ดังนั้นทั่วอินเดียจึงได้มารวมอยู่เบื้องหลังท่านคานธี เมื่อปรากฎว่า สัตยาเคราะห์กำลังดำเนินไปด้วยดี ท่านจึงเห็นเป็นโอกาสสมควรที่จะแสดงความสามัคคีของอินเดีย คัดค้านกฎหมายดังกล่าวแล้วให้รัฐบาลเห็นชัด ฉะนั้นท่านจึงได้กำหนด ณ วันที่ ๖ เดือน มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๙ เป็นวัน “หัรตาล”

ขออธิบายคำว่าหัรตาลสักหน่อย ในภาษาอังกฤษว่าไม่มีคำที่มีความหมายเท่ากับคำว่า หัรตาล ภาษาอังกฤาจึงได้ทับศัพท์ต่างๆ หัรตาลนับว่าเป็นนโยบายของอินเดียประการหนึ่ง ใช้ในการคัดค้านรัฐบาบ การถือหัรตาลหมายความว่าหยุดงานทั้งหมด อาทิเช่น งานในโรงงานต่างๆ การเล่าเรียน การจราจร การปิดร้าน การหุงอาหารจนกระทั่งการออกจากบ้าน แต่อนุญาตให้แพทย์ปักธงเครื่องหมายไว้บนรถ ทำการเยี่ยมและรักษาคนไข้ได้เวลากลางวันประชาชนทำพิธีสัตยาธิฐาน เพื่อให้มีกำลังใจที่จะดำเนินการต่อสู้โดยไม่ผลาญชีวิตใคร บางคราวประชาชนพากันไปยังเทวสถานตั้งสัตยาธิฐานก็มี แต่นั่นแล้วแต่คณะกรรมการจะสั่งประการใด การถือหัรตาลทำกันตั้งแต่ ๕ นาฬิกาจนถึง ๑๗ นาฬิกา ในเมื่อประชาชนพากันไปยังสนาม แล้วแสดงสุนทรพจน์คัดค้านนโยบายของรัฐบาล บางครั้งรัฐบาลใช้กำลังทหารระงับการประชุมนี้ก็มี แต่ก็หาเป็นผลประการใดไม่

อย่างไรก็ดี ตามคำสั่งของท่านคานธี อินเดียได้ถือหัรตาล เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๙ เหตุการณ์ได้ดำเนินไปโดยความเรียบร้อย เว้นไว้แต่กรุงเดลลีได้เกิดเหตุร้ายขึ้นเรื่องหนึ่ง กล่าวคือ พลเมืองนับจำนวนตั้ง ๔๐,๐๐๐ ไปประชุมกันที่เมืองเดลลี ภายใต้ความควบคุมของท่านสวามีสัทธานันท์ เกิดมีการปะทะกันขึ้นระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับมหาชน ทั้งนี้เพราะข้าหลวงประจำเดลลีออกคำสั่งห้ามประชาชนไม่ให้ประชุมในวันหัรตาล เป็นธรรมดาที่มหาชน จะต้องทำการขัดขืนคำสั่งนั้นอย่างเด็ดขาด ฉะนั้นในเวลาประชุมตำรวจจึงพยายามจะทำให้ประชาชนที่กำลังประชุมกันอยู่นั้นแตกแยก กระจัดกระจายออกไปเสีย แต่ครั้นเห็นมีจำนวนมากมายเกินคาดเช่นนั้น ก็ไม่กล้าลงมือทำแต่กำลังตน จึงได้ขอความช่วยเหลือไปยังกรมทหารให้ทหารทำหน้าที่แทนตำรวจ อาศัยคำขอร้องทางการตำรวจ ทหารยกกองมาลงมือยิงประชาชนที่กำลังประชุมอยู่นั้นทันที คนตายไปบ้าง แต่เหตุการณ์นี้ทำให้อินเดียเลือดเดือดพล่านขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าทางการรัฐบาลกล่าวห้ามมหาชนเดลลีเข้าในหลัก ๕ ข้อคือ
๑. บางคน พยายามบังคับร้านขายขนมบางร้านให้ปิดร้าน ที่ไม่ปิดในวันหัรตาล
๒. บางคน พยายามฉุดคร่าพวกที่ขึ้นรถรางในวันหัรตาลไว้ไม่ให้ขึ้น
๓. บางคนปารถรางที่กำลังแล่นอยู่ด้วยก้อนหิน
๔. ประชาชนทั้งหมด พากันไปยังสถานีรถไฟ ขู่เข็ญรัฐบาลให้ปล่อยคนที่ถูกจับ ณ วันหัรตาล
๕. ประชาชน ไม่ยอมแยกออกจากชุมนุม ในเมื่อข้าหลวงออกคำสั่งให้เลิกการจับกลุ่มกัน ท่านสวามีสัทธานันท์ ปฏิเสธข้อหา ๓ ข้อข้างต้น แต่ยอมรับข้อหลัง ๒ ข้อ อย่างไรก็ดี ท่านคานธีเห็นว่า ถ้าจะดำเนินสัตยาเคราะห์และหัรตาลในทางที่สงบเรียบร้อย จะต้องเพิ่มความรับผิดชอบให้แก่คณะบริหารและผู้อาสาทั้งหมดขึ้นอีก เพื่อจะได้มีโอกาสอบรมสั่งสอนประชาชนไม่ให้ก่อเหตุขึ้น ประการใดๆ ท่านจึงลงมือแก้ไขปรับปรุงระเบียบดำเนินการสัตยาเคราะห์และหัรตาลใหม่ และชักชวนประชาชนให้ดำเนินการสัตยาเคราะห์ในทางที่สงบโดยไม่ทำการขู่เข็ญรัฐบาล การชักชวนของท่านได้ปรากฎผลเป็นอย่างดีอย่างที่ไม่เคยมีปรากฎอยู่ในประวัติการณ์ของอินเดียแต่ก่อนๆ มา

นอกจากที่จะทำการหัรตาล และสัตยาเคราะห์แล้ว คณะกลางได้ขยายวงการดำเนินให้กว้างออกไปอีก คือ คณะกรรมการเห็นว่า ถ้าเราต้องการปลุกใจมหาชนเราจะต้องพิมพ์หนังสือแจก อย่างไม่ต้องชำเลืองแลพระราชบัญญัติว่าด้วยการพิมพ์ เพราะพระราชบัญญัติการพิมพ์ผูกมัดผู้แต่งไม่ให้เขียนเรื่องราวตามที่ผู้เขียนเห็นสมควรจะเขียน แต่ต้องเขียนตามที่รัฐบาลเห็นสมควรต่างหาก อันนับว่าเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอย่างไม่ชอบธรรม มหาตมะคานธีก็เห็นพ้องตามมติของคณะกลางดังที่ว่า มาในวันที่ ๘ เดือนมีนาคม ค.ศ.๑๙๑๙ จึงเริ่มแจกใบโฆษณาชักชวนประชาชนให้ช่วยพิมพ์ขายแล้วซื้อหนังสือต่างๆ ที่รัฐบาลริบไว้ทั้งหมด โดยที่เป็นหนังสือที่รัฐบาลเห็นว่าขัดต่อนโยบายของรัฐบาล เพื่อเป็นการนำในทางนี้ ท่านได้จัดการออกหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ชือว่า สัตยาครหิ พร้อมกับจัดการพิมพ์หนังสือเล่มอื่นๆ ที่ท่านแต่งไว้ก่อนแต่ถูกรัฐบาลริบไว้เสียด้วยคำแถลงการณ์ที่ท่านนำลงในหนังสือพิมพ์ฉบับแรกนั้นมีอยู่ดังต่อไปนี้ คือ

“บรรณาธิการคงจะถูกจับโดยกระทันหัน ตราบใดที่อินเดียยังไม่สามารถจัดหาบรรณาธิการสำรองไว้จนมีจำนวนเพียงพอ ที่จะเข้าทำงานแทนในตำแหน่งบรรณาธิการที่จะถูกจับนั้นๆ ก็เป็นอันว่าเราไม่สามารถที่จะออกหนังสือพิมพ์ต่อเนื่องกันโดยไม่ขาดสายได้ เราไม่มีความมุ่งหมายที่จะขัดขืนพระราชบัญญัติว่าด้วยการพิมพ์นี้ตลอดไป เป็นแต่ว่าหนังสือฉบับนี้ จะคงอยู่ตราบเท่าที่รัฐบาลยังไม่ยกเลิกพระราชบัญญัติเราว์แลตต์เท่านั้น”

เป็นธรรมดาการปลุกใจประชาชน เนื่องในการสัตยาเคราะห์ดังกล่าวนี้ จะต้องเป็นเหตุทำให้ท่านคานธีตกอยู่ในอำนาจตำรวจเป็นแน่ๆ ฉะนั้นต่อมา ณ วันที่ ๑๐ เดือนเมษายน ค.ศ.๑๙๑๙ เมื่อท่านกำลังเดินทางไปเมืองเดลลีและแคว้นปัญจาบ พอไปถึงสถานีรถไฟแห่งหนึ่งชื่อว่าโกสีอันตั้งอยู่ที่พรมแดนเมืองเดลลี เจ้าหน้าที่วฝ่ายตำรวจก็เข้ามาหาท่านคานธี แสดงเอกสารคำสั่งของทางการให้ท่านทราบว่าถ้าท่านเข้าไปในเมืองเดลลีหรือเขตของปัญจาบ เจ้าหน้าที่จะต้องทำการจับกุมตัวท่านไว้ไม่ให้เข้าไปในเมืองนั้นๆ แต่ท่านคานธีกลับตอบว่า เพื่อจะดำเนินหน้าที่อันชอบธรรมท่านจำเป็นแท้ที่จะต้องเข้าเมืองเดลลีให้ได้ ถ้าเจ้าหน้าที่เห็นเป็นอย่างอื่น และไม่สมควรประการใดจะจับกุมตัวท่านไว้ก็เชิญ เจ้าหน้าที่แสดงอัธยาศัยไมตรีต่อท่านคานธีเป็นอย่างดีมาก และได้วิงวอนขอให้ท่านคานธีเข้าใจถึงพฤติการณ์ว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่นั้นได้กระทำไปตามหน้าที่ มิใช่เพราะความคิดร้ายหมายขวัญประการไร แล้วคุมตัวท่านคานธีส่งกลับคืนไปยังแคว้นบอมเบอีก ณ ที่นั้นท่านได้รับคำสั่งจากรัฐบาลฉบับหนึ่งมีข้อความว่า ให้ท่านจำกัดกิจการของท่านไว้ภายในขอบเขตบอมเบ โดยเฉพาะ และนอกจากนั้นรัฐบาลได้จัดเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวท่านคานธีไม่ให้ออกนอกเขตบอมเบอีกด้วย

การกระทำของรัฐบาลต่อท่านคานธีโดยประการดังกล่าวมานี้ ได้ก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นทั่วแคว้นบอมเบอย่างร้ายแรงกล่าวคือ เป็นธรรมดาอยู่เองที่มหาชนจะมองดูการคุมตัวท่านคานธีอย่างนิ่งเฉยอยู่ไม่ได้ เพราะเหตุไรย่อมเป็นที่ทราบอยู่แล้ว ฉะนั้นประชาชนจึงได้นัดหมายมาประชุมคัดค้านการกระทำของรัฐบาล แต่ในเมืองบอมเบและอาหัมมทาวาททางการตำรวจได้พยายามที่สุด ที่จะไม่ให้ต้องไม่คิด หรือประทุษร้าย ต่อฝ่ายปราบปรามหรือรัฐบาล ซึ่งถ้าจะกล่าวตามหลักแห่งจิตวิทยา เป็นการลำบากสำหรับมหาชนที่จะดำเนินได้ เพราะว่านิสัยของคนธรรมดามีอยู่ว่าถูกตีเมื่อใดต้องตีตอบเมื่อนั้น การยกโทษให้แก่ผู้ตี ย่อมเป็นการเหลือวิสัยสำหรับคนธรรมดา มหาชนประกอบขึ้นด้วยคนธรรมดาในการปราบปรามหลักการไม่ร่วมมือ ซึ่งมหาชนมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วยนั้น รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายอย่างไร้มนุษยธรรมดังที่ท่านคานธีได้กล่าวไว้ ฉะนั้นจึงนับว่าเป็นของธรรมดาที่มหาชน อาจพลาดพลั้งจากหลักอหิงสา ตีตอบเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาลบ้างก็เป็นได้ เหตุการณ์ชนิดนี้ได้เกิดขึ้นหลายราย แต่รายที่ร้ายที่สุด เกิดขึ้นที่เมืองเจารีโจรา ณ ที่นั้นพวกมหาชนพากันไปเผาสถานีตำรวจ และตีพวกพลตำรวจจนถึงตายหลายคน

อาศัยเหตุการณ์อันผิดหลักอหิงสาเช่นนี้ ท่านจึงมีความเห็นว่า ประเทศยังไม่เตรียมพร้อมพอที่จะดำเนินตามหลักอหิงสาได้ ฉะนั้นท่านจึงตกลงใจอย่างเด็ดขาดว่า ก่อน

“ฉันจึงขอแนะนำอีกว่า ถ้าเราไม่สามารถจะดำเนินการสัตยาเคราะห์ โดยถือหลักที่ฝ่ายเราจะไม่ยอมทำร้ายแก่บุคคลใดๆ แล้วไซร้ นโยบายที่วางแล้วนี้ เราจะต้องล้มเลิกแน่ หรือมิฉะนั้น ก็ต้องปรับปรุงดัดแปลงหลักสัตยาเคราะห์ ให้เข้มแข็งเคร่งครัดมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นอาจถึงกับเราต้องดำเนินสัตยาเคราะห์ต่อตัวเราเองก็เป็นได้ ถ้าเราตายฉันไม่เห็นว่าการตายนั้นจะเสื่อมเสียเกียรติยศแม้แต่น้อย ถ้าฉันได้รับข่าวผู้ถือสัตยาเคราะห์ตายไปคนหนึ่งฉันรู้สึกเสียใจอย่างล้นเหลือ กระนั้นก็ดี ฉันยังจะถือว่าความตายของท่านผู้นั้นนับเป็นการเสียสละ สำหรับประเทศชาติอย่างเหมาะสมทีเดียว”

“ฉันยังคิดไม่ตกว่า เพราะเหตุการณ์ร้ายที่ท่านทั้งหลายเป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้นนั้น ฉันควรจะลงโทษตัวฉันเองอย่างไรดีนอกจากที่จะทำการอดอาหาร และถ้าเป็นการจำเป็นที่จะต้องความสงบเรียบร้อย และขอให้เว้นเสียจากการกระทำซึ่งอาจจะนำความเสื่อมเสียเกียรติยศมาสู่ชาวบอมเบ”

คำแถลงการณ์นี้ ท่านได้แจกให้แก่ชาวบอมเบเท่านั้น ส่วนชาวอาหัมมทาวาท ท่านได้แจกแถลงการณ์อีกฉบับหนึ่งมีข้อความดังต่อไปนี้

“พี่น้องทั้งหลาย เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้วเมื่อ ๒-๓ วันมานี้ นับว่าการกระทำเหล่านี้ ได้กระทำกันในนามของฉัน ฉันจึงรู้สึกละอายใจมิใช่น้อย ท่านทั้งหลายผู้ซึ่งนับว่าเป็นพวกก่อการจะได้แสดงเกียรติยศแก่ฉันก็หาไม่ หากกลับเป็นผู้ทำลายเกียรติยศเสียด้วยซ้ำ ถ้าท่านทั้งหลายจะเอาดาบมาแทงทลวงหัวใจของฉันเสีย ฉันคงจะรู้สึกเจ็บน้อยกว่าที่กำลังรู้สึกเจ็บอยู่เพราะกิจการของท่าน ฉันเคยกล่าวมาแล้วหลายครั้งจนแทบนับไม่ถ้วนว่าสัตยาเคราะห์ไม่มุ่งหมายไปในทางการปองร้าย การปล้นหรือการก่อความหายนะประการใด ถึงกระนั้นก็ดีในนามแห่งสัตยาเคราะห์ เราได้เผาตึก แย่งชิงอาวุธ ตัดการคมนาคมทางรถไฟ ตัดสายโทรเลขทำลายชีวิตและปล้นทรัพย์สมบัติ ถ้าการกระทำเหล่านี้จะเป็นไปเพื่อช่วยเหลือฉันให้หลุดจากคุก หรือพ้นจากการถูกประหารชีวิตแล้วไซร้ ฉันจะไม่ปรารถนาการพ้นจากคุก และทั้งไม่ต้องการแม้การพ้นจากคุกประหารชีวิตด้วย”

“บัดนี้ ทุกคนมีช่องทางที่จะพูดได้ว่า หากมิได้ดำเนินการสัตยาเคราะห์ เหตุร้ายเหล่านี้คงจะไม่บังเกิดขึ้นเป็นแน่ อาศัยเหตุร้ายเหล่านี้ ฉันจึงต้องบำเพ็ญทุกขกิริยา ซึ่งฉันเป็นเป็นทุกขกิริยาที่บำเพ็ญได้ด้วยยากยิ่ง กล่าวคือฉันได้งดการไปเยี่ยมเมืองเดลลี และทั้งได้จำกัดบริเวณสถานที่ที่เราจะดำเนินการสัตยาเคราะห์ด้วย นี่ทำให้ฉันรู้สึกเจ็บยิ่งกว่าบาดแผล ถึงกระนั้นฉันก็เห็นว่าทุกขกิริยานั้นยังไม่เพียงพอ จึงตกลงใจที่จะบำเพ็ญการอดอาหารตลอดเวลา ๓ วัน หรือ ๗๒ ชั่วโมง ฉันหวังว่าการอดอาหารของแนนี้ คงไม่เป็นเหตุให้ใครรู้สึกเสียใจเพราะฉันเชื่อว่า การอดอาหารชั่วเวลา ๗๒ ชั่วโมงสำหรับฉันนั้น รู้สึกว่าจะมีความลำบากน้อยกว่าการอดอาหารตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมงสำหรับท่าน ใช่แต่เท่านั้น การบำเพ็ญพรตเช่นนี้ ฉันสามารถอดทนได้จริงๆ”

อาศัยเหตุร้าย ณ เมืองบอมเบและอาหัมมทาวาทคราวนี้ ท่านจึงเห็นเป็นการจำเป็นแท้ ที่จะต้องระงับการดำเนินสัตยาเคราะห์ไว้ชั่วคราว ฉะนั้นต่อมาวันที่ ๒๔ เดือนเมษายน ค.ศ.๑๙๑๙ อินเดียจึงได้เลิกการดำเนินสัตยาเคราะห์โดยบัญชาของท่านคานธี แต่ก็ไม่กี่วันนักได้เกิดมีเหตุร้ายขึ้นอีกรายหนึ่ง ทำให้อินเดียต้องเริ่มดำเนินสัตยาเคราะห์ต่อไปอีกอย่างเคร่งครัดมากยิ่งกว่าคราวที่แล้วๆ มา ถึงกับทำให้สายตาแห่งสากลโลกจ้องจับอยู่ที่อินเดียด้วยความประหลาดใจ

ที่มา:สวามี  สัตยานันทปุรี

คานธีกับการชนะสงครามของอังกฤษ

คานธีวิมานทลาย
“เยอรมันพ่ายแพ้ สัมพันธมิตร” ข่าวปราชัยโคจรมาถึงอินเดียโดยรวดเร็ว ทำให้อินเดียเต็มเปี่ยมไปด้วยความปลาบปลื้มอย่างล้นเหลือ เพราะมีความมั่นใจว่าอังกฤาผู้ได้รับเกียรติยศเป็นผู้ชนะสงคราม เป็นผู้มีสมัญญาแต่สมัยกระโน้นมาว่า เป็นสุภาพบุรุษ จะต้องรักษาคำพูด โดยมอบอำนาจการปกครองให้แก่อินเดีย เป็นการตอบแทนบุญคุณและสมานไมตรีไว้

แต่ตรงกันข้ามกับความคาดหมาย รัฐบาลกลับเสนอร่างพระราชบัญญัติใหม่ขึ้นสู่สภานิติบัญญัติ ว่าด้วยการกำจัดสิทธิของยุวชน และมอบอำนาจพิเศษให้แก่ตำรวจ

สาเหตุเสนอร่างพระราชบัญญัติอันขัดกับหลักของอารยชนนั้น มีอยู่ดังต่อไปนี้ คือ

ในปี ค.ศ. ๑๙๐๕ ลอร์ด เคอร์ซัน เป็นผู้ครองตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ ในระหว่างบรรดาผู้สำเร็จราชการทั้งหลาย หาผู้เฉลียวฉลาดยิ่งไปกว่าท่านผู้นี้ได้ยากนัก ตั้งแต่แรกที่ท่านเข้ามา ท่านเคยตั้งข้อสังเกตและบันทึกไว้ว่าเนื่องจากชาวเบงคอลมีไหวพริบความรู้ความเฉลียวฉลาดยิ่งไปกว่ามณฑลอื่นๆ รัฐบาลจึงควรวางหลักการให้แตกความสามัคคีขึ้นระหว่างชาวเบงคอลด้วยกัน และทั้งควรจะย้ายเมืองหลวงไม่ให้ตกอยู่ภายในขอบเขตแห่งการกบฎ หากจะเกิดมีขึ้นในมณฑลเบงคอล ความจริงเรื่องการตื่นเต้นในทางการเมือง มณฑลเบงคอลเป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้นครั้งแรก เหตุนั้นท่านทาทาไภเนารซี ผู้นำคนหนึ่งแห่งมณฑลบอมเบจึงกล่าวไว้ว่า “สิ่งใดเบงคอลคิดขึ้นวันนี้ สิ่งนี้อินเดียคิดขึ้นพรุ่งนี้” (What Bengal thinks today INDIA thinks tomorrow)

อาศัยเหตุดังว่านี้ ลอร์ดเคอร์ซัน จึงแบ่งมณฑลเบงคอลออกเป็น ๒ มณฑล คือเบงคอลตะวันออกกับเบงคอลตะวันตกการแบ่งมณฑลซึ่งตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ รวมเป็นมณฑลเดียวกันมาแล้ว ออกเป็น ๒ มณฑลดังนี้ มิได้เป็นที่พอใจแก่ชาวเบงคอลเลย จึงเกิดการจลาจลขึ้นภายใต้ความควบคุมของท่านสุเรนทรนาถ วนฺโทยปาธฺยาย ผู้มีสมัญญาว่าเป็นบิดาแห่งการเมืองอินเดีย (Father of Indian politics) การจลาจลคราวนี้ อาศัยโครงการแต่อย่างเดียว คือการบอยค๊อตสินค้าอังกฤษ ในที่สุดมาใน ค.ศ. ๑๙๑๑ เมื่อพระเจ้ายอร์ซที่ ๕ เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ พระองค์ทรงประกาศให้มณฑลทั้ง ๒ รวมเป็นมณฑลเดียวกันแต่ให้ย้ายเมืองหลวงจากกัลกัตตาไปตั้งที่เมืองเดลลี ทั้งนี้โดยดำเนินตามคำแนะนำของลอร์ดเคอร์ซันดังได้กล่าวไว้ข้างต้นนั้น

ถึงเบงคอลจะได้รวมเป็นมณฑลเดียวกัน ตามความประสงค์เดิมแล้วก็จริง แต่ทว่าเบงคอลได้ตื่นจากความหลับเสียแล้ว ฐานะอันน่าทุเรศที่ตนอยู่ใต้บังคับของอังกฤษ เขาได้พากันตื่นตัว รู้สึกว่าเป็นการทำลายมนุษยธรรมของตน พวกยุวชนจึงรวมกันตั้งสมาคมลับขึ้นสมาคมหนึ่ง มีวัตถุประสงค์จะกู้อินเดียให้เป็นอิสระโดยใช้อาวุธเป็นกรณี สมาคมนี้มีสาขาแผ่กว้างออกไป จนกระทั่งหัวเมืองต่างๆ ของอินดีย มีนักเรียนและนิสิตสมัครเข้าเป็นสมาชิกนับจำนวนพันๆ ขั้นต่อมา สมาคมได้ขยายสาขาออกไปยังเมืองสำคัญต่างๆ ในยุโรปและอเมริกา เพื่อติดต่อกับรัฐบาลต่างๆ ที่เป็นปรปักษ์อังกฤษ ทั้งได้ทำการซื้อเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์เตรียมไว้ด้วย ในที่สุดสมาคมได้กำหนดเอาวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๑๙๑๖ เป็นวันลงมือ ก่อรัฐประหารขึ้นทั่วทุกเมืองสำคัญๆ ของอินเดียพร้อมกัน แต่ว่าเหตุการณ์บางอย่างงานนี้มิได้บรรลุผลสำเร็จ รัฐบาลทำลายสมาคมนี้เสียทันและจับสมาชิก ในฐานะผู้ก่อการกบฎไว้ได้นับจำนวนพันๆ เป็นธรรมดา ถ้าผู้ก่อรัฐประหารทำการไม่สำเร็จก็ต้องได้รับสมญาว่าเป็นผู้ก่อกบฎ ถ้าสำเร็จด้วยดีก็มีนามว่ารัฐบาลชุดใหม่ ผู้สละชีพเพื่อชาติ อันเป็นวิธีมองกันคนละด้านละมุม เพื่อจะดำเนินการสอบสวนและสืบสวนถึงเหตุการณ์นี้ รัฐบาลได้จัดการตั้งคณะกรรมการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่ง ภายใต้ความควบคุมของ มร. เราว์แลตต์ คณะกรรมการชุดนี้ได้เสนอความเหตุให้ออกพระราชบัญญัติ กำจัดสิทธิยุวชนขึ้นและมอบอำนาจพิเศษให้แก่ตำรวจ เมื่อรัฐบาลร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เสร็จแล้ว (มีชื่อ Rowlatt Bill เพราะ มร.เราว์แลตต์ เป็นผู้แนะนำ) เสียงคัดค้านได้ดังสนั่นหวั่นไหวขึ้นทั่วทุกด้านทุกมุมของอินเดีย ประชาชนนับจำนวนหมื่นๆ พากันมาประชุมคัดค้านร่างพระราชบัญญัติใหม่นี้ หนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับคัดค้านความดำริของรัฐบาล ผู้นำทั้งหลายขอร้องให้รัฐบาลหวลระลึกถึงความเสียสละของอินเดียในยามสงครามและคำสัญญาของรัฐบาลที่จะมอบอำนาจปกครองให้แก่ชาวอินเดีย แต่รัฐบาลแสดงท่าทางเหมือนคนหูหนวก หรือเป็นผู้ดื้อดึงเกินไป จึงทำให้คณะพรรคต่างๆ เข้ารวมเป็นคณะเดียวคัดค้านกิริยาท่าทางและแนวความดำริของรัฐบาล แต่ก็หาได้ประสบผลแต่ประการใดไม่ ในที่สุด แทนที่จะตอบแทนความเสียสละของอินเดีย ดังที่ประเทศอารยประเทศต่างๆ ควรจะกระทำ รัฐบาลอังกฤษตอบแทนอินเดียโดยดำริออกพระราชบัญญัติ เราว์แลตต์ กำจัดสิทธิของยุวชนที่มีอยู่แต่กำเนิด พระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้จึงได้รับสมัญญาว่ากฎหมายดำ

ดังนั้น วิมาน คืออำนาจการปกครอง ซึ่งท่านคานธีกับผู้อื่นๆ ทั้งหลาย ได้สร้างไว้บนเวหาในยามสงครามนั้นจึงได้ทลายลงในที่สุด

ที่มา:สวามี  สัตยานันทปุรี

คานธีกับการช่วยสงครามอังกฤษ

คานธี

อินเดียช่วยสงคราม
เมื่อสงครามโลกแรกเกิด อังกฤษมินึกฝันเลยว่าเยอรมันมีแสนยานุภาพพอที่จะทำให้อังกฤษตกอยู่ในฐานะคับแค้นได้ แต่ว่าภายหลังเมื่อเหตุการณ์ได้ปรากฎขึ้นเช่นนั้นจริงอังกฤารู้สึกหน้ามืด มิรู้ว่าจะหาทางช่วยเหลือได้จากไหนในการทูต การเจรจา รัฐบาลเคยได้สมรรถภาพมาแล้วหลายครั้ง ฉะนั้นอาศัยสมรรถภาพทางนี้เป็นกรณี อังกฤษจึงสามารถจูงประเทศทั้งหลายทั้งมหาอำนาจ และจูงอำนาจนับหลายประเทศเข้าเป็นฝ่ายตนจนได้ นอกจากนั้น ยังได้ยื่นมือมาขอความช่วยเหลือจากอินเดียด้วย ในสมัยนั้นอินเดียเพิ่งจะตื่นจากความหลงเชื่อในความหวังดีของอังกฤษ ฉะนั้นจึงเป็นธรรมดา ถึงอินเดียจะเคยมีความเอาใจใส่ในชัยชนะของอังกฤษก็ตาม แต่ทว่าฝ่ายอังกฤษต้องการและวิงวอนขอให้อินเดียช่วยเหลือทางกำลังทรัพย์และกำลังกาย อังกฤษผู้ซึ่งเคยออกพระราชบัญญัติริบอาวุธจากอินเดีย มา ณ บัดนี้กลับมอบปืนให้ในมืออินเดียเพื่อทำหน้าที่ให้ตน มิหนำซ้ำยังสัญญาไว้ด้วยว่าเสร็จการสงครามแล้ว จะยกฐานะของอินเดียเทียมกับเมืองอื่นๆ ของอังกฤษ จะให้สิทธิแก่ชาวอินเดียเสมอภาคกับอังกฤษ และจะมอบอำนาจการปกครองตามระบบ Dominian Status ให้ ผู้นำบางท่านไม่ไว้ใจในคำสัญญาของรัฐบาล แต่บางท่านถึงกับหลงเชื่อทันที ดังได้เห็นมาแล้ว ท่านคานธีก็เป็นผู้หนึ่ง ที่หลงเชื่อในคำสัญญาของอังกฤษ อย่างไรก็ดี เมื่อท่านเหล่านี้อ้างข้อสัญญาต่อรัฐบาลขึ้นเป็นเครื่องขอร้องอินเดียให้ช่วยสงคราม อินเดียจึงได้ยื่นมือเข้าช่วยเหลือ ยอมพลีทรัพย์สมบัติ ชีวิตร่างกาย เพื่อนำชัยชนะมาสู่รัฐบาลอังกฤษ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะได้เห็นมาตุภูมิอันเป็นที่รักของตน ตั้งอยู่ในฐานะเทียมบ่าเทียมไหล่กับประเทศอิสระทั้งหลาย มหาตมะคานธีแสดงสุนทรพจน์ ชักจูงใจมหาชนว่า

“ท่านทั้งหลาย ได้แสดงมาแล้วโดยมีผลสำเร็จว่าจะต่อต้านอำนาจรัฐบาลภายในขอบเขตแห่งสิทธิราษฎรได้ อย่างไรท่านทั้งหลายได้แสดงมาแล้วว่า จะรักษาเกียรติยศของตนโดยไม่ทำร้ายแก่คนอื่นได้อย่างไร ฉะนั้นฉันจะอำนวนโอกาสให้ท่านทั้งหลาย เพื่อแสดงให้เห็นว่า ถึงแม้ท่านได้ต่อสู้กับรัฐบาลมาแล้วก็จริง แต่ท่านไม่ถือความเป็นศัตรูกันกับรัฐบาลแม้แต่น้อย

“ท่านทั้งหลายทุกคนเป็นผู้ปรารถนา Home Rule และบางท่านก็เป็นสมาชิกสมาคม Home Rule ด้วยความหมายข้อหนึ่งแห่งคำ Home Rule คือ เราเป็นส่วนหนึ่งแห่งราชอาณาจักรอังกฤษ เราไม่มีสิทธิเท่าเทียมกับชาวอังกฤษ สมัยนี้เราเป็นชาติที่อยู่ใต้บังคับอังกฤษ เราไม่เป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรดัง คานาดา อาฟริกาใต้ และออสเตรเลีย ประเทศเราเป็นประเทศอยู่ใต้บังคับเราต้องการสิทธิเท่าเทียมกับชาวอังกฤษ เราปรารถนาที่จะเป็นส่วนหนึ่งแห่งราชอาณาจักร ดังอาณาจักรอื่นๆ เหนือทะเล เราหวังอยู่ว่า สมัยจะมาถึงในเมื่อเรามีสิทธิที่จะครองตำแหน่ง แม้จะเป็นผู้สำเร็จราชการเองด้วย เพื่อจะก่อให้เกิดสถานการณ์เช่นนี้ขึ้น เราจะต้องมีความสามารถในการจับถือและใช้อาวุธ ตราบใดเรายังต้องอาศัยอังกฤษเป็นผู้ช่วยป้องกัน ตราบใดที่เรายังไม่พ้นจากห้วงความกลัวสงครามตราบนั้นจะถือว่าเป็นผู้มีสิทธิเท่าเทียมกับอังกฤษไม่ได้ ฉะนั้นเราจึงควรรู้จักวิธีใช้อาวุธ หาความสามารถในการป้องกันตัว อาศัยเหตุดังกล่าวนี้ จึงนับว่าเป็นหลักหน้าที่ของเราแท้ที่จะต้องรับสมัครเป็นทหารอาสา

ถ้าเราไม่เตรียมพร้อมที่จะเสียสละเพื่อราชอาณาจักรและอิสรภาพของประเทศแม้เพียงเท่านี้ได้ ก็แปลว่าไม่เป็นของแปลกที่เรายังต้องเป็นชาติที่ไม่สมควรแก่อิสรภาพ ถ้าหมู่บ้านทุกตำบล พร้อมใจกันสละชายฉกรรจ์ตำบลละ ๒๐ คนและหากเขาเหล่านั้นจะมีโอกาสรอดมาจากสงครามได้ ก็ต้องกลายเป็นรั่วของหมู่บ้าน ถ้าเขาล้มนอนตายอยู่ตามสนามสงคราม ชื่อเสียงของเขา ชื่อเสียงของหมู่บ้านและประเทศของเขาจะคงอยู่ตลอดนิรันดร เพราะเขาได้พลีชีวิตเพื่อชาติ”

คำขอร้องของท่านคานธี จะได้ศูนย์สิ้นไปโดยไร้ผลก็หาไม่ ชายฉกรรจ์จากทุกมุมของอินเดียได้พากันมาสมัครเป็นทหารอาสา คนจนผู้อ่อนกำลังและน้อยทรัพย์ยอมอดอาหารเทกระเป๋าของตนช่วยเหลือรัฐบาล มารดาวิงวอนบุตรให้เข้าสมัครเป็นทหารอาสา โดยหวังว่า เลือดทุกๆ หยดของบุตรจะสร้างทางกู้ประเทศให้เป็นอิสระ ภรรยาสวมอาวุธให้สามีที่รัก จะเป็นสะพานนำอินเดียไปสู่ฐานะความเป็นอิสระ แถวทหารอาสาสวมพวงมาลัย เดินขบวนไปตามถนนหลวงของอินเดียปลุกใจยุวชนผู้ที่ยังลังเลใจอยู่ให้ตัดสินใจสมัคร

ดังนั้นรัฐบาลอังกฤษ จึงได้รับความช่วยเหลือจากอินเดียตามความประสงค์ของตนทุกๆ อย่าง สงครามได้ผ่านพ้นไปแล้ว อังกฤาได้รับเกียรติยศอย่างสูงแห่งการชนะสงครามแล้วอินเดียกำลังใฝ่ฝันถึงอิสรภาพที่รัฐบาลได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ว่าจวนจะมาถึงใกล้อยู่แล้ว แต่อนิจจาความฝันนั้นได้ดับศูนย์หายไปอย่างปราศจากร่องรอย เมื่ออินเดียตื่นจากความหลงในความฝัน กลับได้สำนึกว่า วิมานในเวหาที่เขาสร้างขึ้นด้วยความฝันนั้น ได้ทลายลงอย่างสิ้นเชิงแล้ว

ที่มา:สวามี  สัตยานันทปุรี

การประชุมปรึกษางานมหาสงครามของคานธี

คานธีการประชุมปรึกษางานมหาสงคราม ณ เมืองเดลลี
การหยุดงานในเมืองอาหัมมทาวาทได้สิ้นสุดลงในตอนปลายเดือนมีนาคม ค.ศ.๑๙๑๘ ในเดือนต่อมาคือเดือนเมษายน ๑๙๑๘ ท่านได้รับเชิญจากผู้สำเร็จราชการเพื่อเข้าประชุมปรึกษาหารือเรื่องสงครามโลก ณ กรุงเดลลี สถานการณ์ของอินเดียในสมัยนั้น…ทางการเมืองก็ดี หรือทางเศรษฐกิจก็ดี…ถึงความตึงเครียดมาก ถึงกับรัฐบาลเกือบจะหมดปัญญา วางนโยบายการปกครองอินเดียอย่างไร ความจริงในสมัยนั้นรัฐบาลอินเดียเผชิญหน้ากับเหตุการณ์อันร้ายแรงอยู่ ๒ ประการ ประการหนึ่งเพราะอำนาจมหาสงครามฐานะเศรษกิจตกต่ำลงอย่างน่ากลัว ประการที่ ๒ ประชาชนชั้นสูงผู้ได้รับการศึกษาฉวยโอกาสขณะที่รัฐบาลอังกฤษต้องแบ่งกำลังไปใช้ในงานสงครามก่อกวนให้เกิดความตื่นเต้นขึ้นทั่วอาณาจักรอินเดีย เพื่อเรียกสิทธิการปกครองตัวเองกลับคืนมาให้จงได้

ฉะนั้นจึงขอกล่าวถึงฐานะการเมืองของอินเดีย ในสมัยมหาสงครามเสียด้วย ดังได้กล่าวมาแล้ว แต่ก่อนอินเดียมีคณะพรรคการเมืองอยู่ ๒ คณะ คือ Moderate Party กับ Extremist Party ทั้ง ๒ คณะร่วมกันเคยเป็นสมาชิกของคองเกรส แต่ในกาลต่อมาอิทธิพลของพรรค Extremists มากทวีคูณขึ้นทุกที ทำให้คณะ Moderate แตกร้าวกับคองเกรส ปลีกตัวออกตั้งสมาคมของตนขึ้นอีก สมาคมหนึ่งมาใน ค.ศ. ๑๙๑๙ ภายใต้การอำนวยการของท่านอมพิกาจรนมชุมทารผู้เป็นประธานแห่งคองเกรส ทั้ง ๒ ฝ่าย ได้ทำการประนีประนอมให้เข้ามาร่วมอยู่ในคองเกรสเป็นหน่วยเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้นคองเกรสได้เปลี่ยนวัตถุประสงค์เก่า ตั้งวัตถุประสงค์ขึ้นใหม่คือการแสวงหาสิทธิในการปกครองบ้านเมือง (Home Rule) อาศัยวัตถุประสงค์ คือ Home Rule เกิดมีคณะพรรคการเมืองขึ้นอีกคณะหนึ่ง เรียกว่า Home Rule Party เป็นที่น่าแปลกใจมิใช่น้อยที่ประธานแห่งคณะนี้กลายเป็นสตรีชาวอังกฤษ ซึ่งโลกรู้จักกันในนามว่า Mrs. Annie Bessant ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งประธาน The Osophical Society ของโลกมาแล้วหลายปี อิทธิพลของคณะพรรคนี้ ได้เผยแพร่ออกไปทั่วอาณาจักรอินเดีย นโยบายสำคัญของคณะนี้ คือการขัดขวางนโยบายของรัฐบาลภายในขอบเขตของกฎหมาย จนกว่ารัฐบาลจะยอมมอบสิทธิการปกครองให้แก่ชาวยุโรป ฉะนั้นเมื่อสงครามได้ระเบิดขึ้น ณ ดินแดนยุโรป และรัฐบาลอังกฤษขอความช่วยเหลือจากอินเดีย คณะ Home Rule จึงประกาศคำแถลงการณ์ขัดขวางรัฐบาล และแนะนำประชาชนไม่ให้ช่วยเหลือรัฐบาลอังกฤษแม้แต่ประการใด รัฐบาลรู้สึกลำบากใจมิใช่น้อยที่ได้เห็นมหาชนชาวอินเดียตั้งตัวเป็นปรปักษ์กับรัฐบาล ผู้สำเร็จราชการจึงได้ให้คำสัญญาว่า ถ้าอินเดียเข้าช่วยเหลือในงานสงคราม รัฐบาลอังกฤษจะให้รัฐบาลธรรมนูญมอบอำนาจการปกครองแก่ชาวอินเดีย แล้วเชื้อเชิญบรรดาผู้นำของประเทศ ไปประชุมที่กรุงเดลลีเพื่อปรึกษาหารือ ว่าจะเผชิญหน้ากับสถานการณ์เช่นว่านี้ได้อย่างไร

การที่มหาตมะคานธีรับเชื้อเชิญเข้าประชุม ปรึกษาหารือคราวนี้นั้น มิได้เป็นที่พอใจแก่ปวงชน ทั้งนี้คงเนื่องมาจากเหตุในการประชุมคราวนี้ รัฐบาลมิได้เชื้อเชิญคณะผู้นำคณะ Home Rule เข้าร่วมในประชุมด้วยทุกๆ คนหวังว่า มหาตมะคานธีคงจะปฏิเสธไม่ยอมรับคำเชื้อเชิญ ความจริงครั้งแรกท่านก็ได้กระทำเช่นนั้น แต่ต่อมาท่านกลับใจรับคำเชิญนั้นโดยออกแถลงการณ์หลังจากการประชุมว่า

“ฉันรับรองว่า สมัยเมื่อราชอาณาจักรอังกฤษตกอยู่ในข่ายอันตราย เราจำต้องช่วยเหลือตามมีตามเกิดโดยมิปริปากบ่นแม้แต่คำเดียว เพราะว่าในอนาคตไม่ไกลนัก เราหวังจะเป็นภาคีแห่งราชอาณาจักรเหนือทะเล และมีสิทธิเท่าๆ กันทุกราชอาณาจักร แต่ทว่า การที่ว่าเราจะช่วยเหลืออังกฤษครั้งนี้ก็เพราะเราหวังจะบรรลุถึงวัตถุประสงค์ของเราโดยเร็วพลัน เพราะเหตุนี้เอง และเพราะอาศัยข้อที่ว่าดำเนินตามหน้าที่ย่อมเป็นต้นเหตุนำมาซึ่งสิทธิ ดังนั้นเมื่อรัฐบาลจะให้รัฐธรรมนูญแก่อินเดียในเร็วๆ นี้ คองเกรสจึงจะขอดัดแปลงหลักการสำคัญของตน ตามคำสัญญาของรัฐบาลที่เคยให้ไว้ฉันยังแน่ใจว่า การที่กรรมการหลายท่านในที่ประชุมตกลงรับปากที่จะช่วยเหลือรัฐบาล ก็เพราะท่านเหล่านั้นมีความไว้วางใจในคำสัญญาของรัฐบาลที่ว่าจะให้รัฐธรรมนูญแก่อินเดีย ถ้าฉันจะพึงสามารถทำให้ผู้ร่วมชาติของฉันกลับไปสู่สถานการณ์เดิมได้ ฉันจะขอร้องให้คองเกรสถอนญัตติต่างๆ และไม่ให้พูดถึง Home Rule หรือ Responsible Government ตลอดเวลามหาสงครามนี้เลย ฉันจะขอร้องให้อินเดียอุทิศเลือดเนื้อของชายฉกรรจ์ทุกคน เพื่อเป็นประโยชน์แก่ราชอาณาจักร ซึ่ง ณ บัดนี้ตกอยู่ในฐานะเข้าด้ายเข้าเข็ม อนึ่ง ฉันรู้ว่าเพราะการทำนี้ในที่สุดอินเดียคงจะเป็นประเทศที่อังกฤาเห็นใจมาก และเรื่องการถือผิวคงจะกลายเป็นเรื่องอดีตไปแต่อันที่จริงผู้ที่ได้รับการศึกษาทั้งหลายทั่วอินเดีย ตกลงใจที่จะไม่ดำเนินตามหลักการนี้ และคนเหล่านี้มีอานุภาพเหนือพลเมืองอย่างมากมาย

ฉันแน่ใจว่าอินเดียคงจะพอใจในรัฐธรรมนูญแบบใดๆ ที่มีสิทธิไม่น้อยกว่า Home Rule และนั่นจะต้องให้ภายในเวลาอันใกล้ที่สุด ฉันรู้ว่ามีชาวอินเดียเป็นจำนวนมาก ยินดีที่จะเสียสละทุกอย่างเพราะความมุ่งหมายเช่นว่านี้ ถึงแม้เขาเหล่านั้นจะรู้อยู่ว่าเสียสละสำหรับราชอาณาจักรอังกฤษ แต่อินเดียจะได้รับสิทธิเท่าเทียมกับอาณาเขตทั่วไปฉะนั้นสมัยเมื่อการรับ Home Rule เข้ามาใกล้ ถ้าเรารับช่วยเหลือราชอาณาจักรให้พ้นอันตรายแห่งสงครามได้ การกระทำนั้น จะนำ Home Rule มาให้เราเป็นแน่แท้

ฉะนั้นถึงแม้ว่า ฉันจะได้ขอร้องให้อินเดียอุทิศชายฉกรรจ์ทุกคนเพื่อป้องกันราชอาณาจักรก็จริง แต่ส่วนความช่วยเหลือทางการเงินฉันยังไม่ได้รับปาก เพราะเท่าที่ฉันเห็นมาแล้วอย่างประจักษ์ ประชาชนอินเดียได้สละเงินช่วยสงครามมาแล้วเกินกว่ากำลังตน จึงไม่สามารถที่จะสละเงินช่วยได้อีกฉันรู้ว่าคำพูดของฉันคือ คำพูดของประชาชนอินเดียส่วนมาก”

อาศัยคำแถลงการณ์ฉบับนี้ พอที่จะเห็นได้ว่ามหาตมะคานธี ยังมั่นคงอยู่ในคำสัญญาของรัฐบาลอังกฤษทั้งๆ ยังหลงฝันอยู่ด้วยว่า อินเดียคงจะได้รับสิทธิเท่าเทียมกับประเทศอังกฤษโดยประการทั้งปวง ความฝันของท่านได้สลายไปโดยไม่เหลือหลอเพราะเหตุใดนั้น เหตุการณ์ต่อมาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ให้ท่านเห็นโดยประการทั้งปวง

ที่มา:สวามี  สัตยานันทปุรี

คานธีกับการหยุดงานในโรงงานทอผ้าอาหัมมทาวาท

คานธี
การอดอาหาร
หลังจากที่เรื่องราวอันเกี่ยวแก่จัมปารันได้สงบลงแล้วอย่างเรียบร้อย กิจการของท่านคานธีได้ขยายไปในทางอื่นอีกหลายสาย เป็นต้นว่า การร้องทุกข์ต่อ มร. มอนเตกู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอินเดีย มีความมุ่งหมายที่จะเสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยรัฐธรรมนูญอินเดีย แก้ไขเพิ่มเติมต่อสภาปาร์เลียเมนต์ การจัดการบรรเทาทุกข์ของจังหวัดไกรา ซึ่งตกอยู่ในทุพภิกขภัย ดังนี้เป็นอาทิ

แต่งานสำคัญที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาก และสำคัญที่สุดนั้นคือ การประนีประนอมระหว่างนายทุนกับคณะกรรมกรแห่งโรงงานทอผ้าต่างๆ ในเมืองอาหัมมทาวาท

เมื่ออาหัมมทาวาทเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่ง ตั้งอยู่ในมณฑลบอมเบ มีชื่อเสียงในทางประดิษฐกรรมทอผ้า โรงงานทอผ้าตั้งอยู่ในเมืองนี้ นับเป็นจำนวนมากหลายมีจำนวนกรรมกรตั้งหมื่นๆ เนื่องจากเกิดขัดใจกันขึ้น เรื่องค่าจ้างระหว่างนายทุนกับพวกกรรมกร พวกกรรมกรจึงนัดหยุดงานกันแทบทุกโรงงาน (ค.ศ.๑๙๑๘)

ทั้ง ๒ ฝ่ายได้ร้องขอความช่วยเหลือจากท่านคานธีให้ทำการประนีประนอมกัน ท่านจึงได้ตั้งข้อตกลงขึ้นและได้รับความเห็นชอบด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย แต่ก่อนที่การประนีประนอมนี้ถึงที่สุด มีกรรมกรบางคนกลัวต่อสถานการณ์อันร้ายแรงที่อาจจะเกิดขึ้นเพราะหยุดงานนั้น จึงกลับเข้าทำงานตามเดิม ท่านคานธีเห็นว่าถ้ากรรมกรกลับเข้าไปทำงานทีละคนๆ ดังที่ทำกันอยู่นี้ อาจเป็นช่องทางให้คณะนายทุนเอาเปรียบไม่ยอมทำการประนีประนอมได้ ผลที่สุด พวกกรรมกรโดยทั่วไปจะไม่ได้รับประโยชน์อะไรแม้แต่น้อน ท่านกับ น.ส.อนุสูยาเทวีจึงตกลงปฏิญาณตนกันว่า จะทำการอดอาหารเป็นการลงโทษตัว เพราะขาดความสามารถในการนำพวกกรรมกรให้ตั้งมั่นอยู่ในความสามัคคี ไม่ยอมเข้าทำงานจนกว่าการประนีประนอมจะยุติลง โดยทั้ง ๒ ฝ่ายมีความพอใจแล้วเมื่อไร นั่นแหละท่านจึงจะรับอาหารดังเดิม  แต่เพื่อจะแก้ความเข้าใจผิดที่อาจเกิดขึ้นได้เพราะการอดอาหารนี้ ท่านจึงประกาศคำแถลงการณ์ว่า

“ฉันไม่มีความเสียใจที่ได้ปฏิญาณตนไว้ดังนี้ ตามคติที่ฉันยึดถืออยู่เป็นหลัก ฉันรู้สึกว่าถ้าฉันมิได้กระทำการเช่นนี้ก็เป็นอันว่า ฉันไม่เป็นผู้สมควรที่จะได้รับความไว้วางใจจากมหาชน ฉันรู้อยู่ก่อนแล้วว่า การปฏิญาณตนเช่นนี้ มีความบกพร่องอยู่มิใช่น้อย สำหรับตัวฉันเอง การปฏิญาณตน เพื่อบังคับให้นายทุนทั้งหลายทำความตกลงกันโดยเร็วนั้นนับว่าเป็นการกระทำอย่างยุติธรรมแก่เขา มิหนำซ้ำยังทำตัวฉันเอง ให้เป็นบุคคลผู้ไม่สมควรที่จะเป็นมิตรกับท่านเหล่านั้น ดังที่ฉันเคยเป็นมาแล้วแต่ก่อนด้วย ฉันรู้อยู่แก่ใจว่าการกระทำของฉันนั้น อาจจะเป็นเหตุให้เกิดความเข้าใจผิดกันขึ้นก็ได้ แต่ทว่าฉันไม่สามารถที่จะตัดการอดอาหารโดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตกลงใจของฉันได้ เหตุนี้เอง ทำให้ฉันรู้สึกตัวว่าต้องรับผิดชอบมากยิ่งขึ้นเหลือขนาด ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ฉันไม่สามารถเรียกร้องสิทธิพิเศษใดๆ สำหรับบุคคลที่กำลังต่อสู้กันอยู่อีกได้ และทั้งนี้ฉันตระหนักแน่อยู่ด้วยว่า ฉันจะต้องมีความพอใจในสิทธิน้อยที่สุด เท่าที่ฉันหาได้จากเจ้าของโรงงานทั้งหลาย และนั่นฉันจะหาได้ก็เพราะพวกกรรมกรดำเนินตามปฏิญาณของตนทุกข้อ การปฏิญาณตนของฉันมีทั้งส่วนดีและส่วนชั่ว ไม่มีการกระทำของมนุษย์ที่ปราศจากเสียซึ่งมลทินทุกประการ การกระทำของฉันก็เป็นเช่นนั้น มีมลทินเจือปนอยู่ด้วย แต่การประนีประนอมกับเจ้าของโรงงานผู้มีเสรีภาพมากยิ่งกว่ากรรมกรที่ไร้เกียรติยศด้วยอาศัยการปฏิญาณตนของฉันเป็นกรณีนั้น ดีกว่าที่จะให้คนรุ่นหลังๆ ล่วงติฉันได้ว่า คนนับจำนวนหมื่นๆ ได้พลาดจากคำปฏิญาณของตนที่เขารักษามาแล้วในนามของพระเจ้ากว่า ๒๐ วัน ฉันเชื่อแน่แก่ใจว่า บุคคลจำพวกใดที่ต้องการตั้งตัวเป็นชาติ และใคร่จะทำงานออกหน้าออกตาเป็นชิ้นเป็นอันจริง บุคคลจำพวกนั้น จะต้องมีความซื่อตรงแนบแน่นอย่างแน่วแน่ ทั้งสากลโลกก็ยอมรับว่า บุคคลจำพวกนั้นตั้งมั่นอยู่ในคำพูดคำปฏิญาณของตนเสมอ จึงจะตั้งตัวเป็นผู้นำหรือผู้แทนหรือเป็นชาติได้”

การอดอาหารของท่านคานธีคราวนี้ เป็นเหตุให้พวกกรรมกรที่กลับเข้าไปทำงานรู้สึกละอายใจตนเองกันมาก ทั้งทำให้พวกที่ยังหยุดงานอยู่ เกิดมีมานะคะคานในคำปฏิญาณของตนแรงยิ่งขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย ในที่สุดหลังจากเวลานั้นมาประมาณหนึ่งเดือน การประนีประนอมระหว่างเจ้าของโรงงานกับพวกกรรมกร ได้เกิดเป็นผลสำเร็จขึ้น โดยทำให้ทั้ง ๒ ฝ่ายมีความพอใจอย่างยิ่ง ใช่แต่เท่านั้น การหยุดงานในอาหัมมทาวาทคราวนี้ โดยประกอบด้วยการยื่นมือของท่านคานธีสนับสนุน ทำให้ฐานะการครองชีพของพวกกรรมกรทั่วอินเดียดีขึ้นกว่าเดิมเป็นเอนกนัย

ที่มา: สวามี  สัตยานันทปุรี