เจ้าจอมมารดาทับทิม

พระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

เจ้าจอมมารดาทับทิมเป็นธิดาของพระยาอัพภันตริกามาตย์ (ดิศ โรจนดิศ) กับขรัวยายอิ่ม เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๐๐ ชีวิตในวัยเยาว์นั้น ด้วยเหตุที่บิดาเป็นข้าหลวงเดิมในพระบาท
สมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ประกอบกับพี่สาวต่างมารดา คือ เจ้าจอมมารดาเที่ยง ดำรงตำแหน่งเป็นพระสนมเอกอยู่ในราชสำนัก เจ้าจอมมารดาทับทิมจึงได้มีโอกาสถวายตัวเป็นข้าราชสำนักตั้งแต่อายุ เพียง ๖ ขวบ เป็นผลให้ท่านได้รับการศึกษาอบรมวิชาความรู้ต่างๆ รวมทั้งฝึกหัดกิริยามารยาทตามแบบอย่างกุลสตรีชาววังเป็นอย่างดีเจ้าจอมมารดาทับทิม

ในเวลาต่อมา เจ้าจอมมารดาเที่ยง ผู้เป็นพี่สาวได้ฝากเจ้าจอมมารดาทับทิมเข้าเป็นศิษย์ในสำนัก คุณท้าววรคณานันท์ (หุ่น) เจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ซึ่งขณะนั้นถือว่า เป็นเจ้าสำนักฝ่ายในที่มีชื่อเสียงเป็นเอกทางด้านละคร ครั้งนั้นคุณท้าววรคณานันท์ (หุ่น) ให้ความเมตตาเจ้าจอมมารดาทับทิมเป็นพิเศษ โดยรับเป็นผู้อุปการะเสมือนบุตรหลานของท่านคนหนึ่ง เนื่องจากท่าน เล็งเห็นว่า เจ้าจอมมารดาทับทิมเป็นศิษย์ที่มีความอุตสาหะพากเพียรในการศึกษาหาความรู้อย่างจริงจัง จึงมีความเอ็นดูรักใคร่มากกว่าศิษย์อื่นๆ ในรุ่นราวคราวเดียวกัน

นอกจากนี้ เจ้าจอมมารดาทับทิมยังเป็นสตรีที่มีใจรักในด้านการศึกษา และใฝ่เรียนรู้อยู่เป็นนิจ จึงสามารถหัดเรียนเขียนอ่านหนังสือได้อย่างแตกฉาน ปรากฏแววเฉลียวฉลาดตั้งแต่อายุยังน้อย ประจวบกับในเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ที่จะฝึกหัดละครใน หรือละครหลวงรุ่นเล็กขึ้นใหม่ ครั้งนั้นเจ้าจอมมารดาทับทิมก็เป็นท่านหนึ่งที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับราชการฝ่ายในและ เริ่มฝึกหัดวิชาการละครในอย่างจริงจัง นับแต่นั้นเป็นต้นมา ท่านได้รับการคัดเลือกให้ฝึกหัดเป็น “ตัวนาง” โดยขึ้นครูกับเจ้าจอมมารดาลูกจันท์ในรัชกาลที่ ๒ และเจ้าจอมอรุ่นบุษบาในรัชกาลที่ ๔ ซึ่งมีศักดิ์เป็น หลานของคุณท้าววรคณานันท์ (หุ่น) ครั้งนั้น เจ้าจอมมารดาทับทิมได้รับการถ่ายทอดฝึกหัดวิชาการละครใน จากครูทั้งสองท่าน จนกระทั่งมีความชำนิชำนาญขึ้นโดยลำดับ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายถึงคุณสมบัติพิเศษของผู้ที่ได้รับการคัดเลือกฝึกหัดวิชาการละครใน จากหนังสือประวัติเจ้าจอมมารดาทับทิม ความตอนหนึ่งว่า
“ระบำและละครผู้หญิงซึ่งเรียกกันว่า “ละครใน” นั้น หัดแต่ลูกผู้ดีที่ถวายตัวอยู่ในพระราชวังมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา สำหรับเล่นในการพระราชพิธี เช่น บวงสรวง และสมโภชเป็นต้น…มักเลือกที่มีแววฉลาดแต่อายุยังเยาว์ เพราะเป็นการยากต้องฝึกหัดนานจึงจะทำได้..”

ในตอนปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อละครหลวงชั้นเล็กเริ่มออกแสดง เจ้าจอมมารดาทับทิมได้มีโอกาสแสดงความสามารถให้เป็นที่ปรากฏเป็นครั้งแรก ครั้งนั้นท่านได้รับคำชมเชย จากบุคคลในราชสำนักโดยทั่วไปว่า ท่านรำได้งดงามอ่อนช้อยกว่าคนอื่นๆ

ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เวลานั้นเจ้าจอมมารดาทับทิม อายุเพียง ๑๑ ขวบ ยังคงรับราชการเป็นละครหลวงอยู่เช่นเดิม แต่มีฝีมือรำละครเป็นเอก ตลอดจนความงามของท่านนั้น เป็นที่เลื่องลือกันทั่วไปในราชสำนัก

ในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าจอมมารดาทับทิมเข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณในตำแหน่งเจ้าจอม ครั้งนั้นเจ้าจอมมารดาเที่ยงผู้เป็นพี่สาว ดำริให้พระธิดาองค์ใหญ่ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นพระองศ์เจ้าหญิงโสมาวดี เสด็จฯ มารับเจ้าจอมมารดาทับทิมจากสำนักคุณท้าววรคณานันท์ (หุ่น) มา อยู่ที่เรือน ในบริเวณพระตำหนักของพระองค์ พร้อมทั้งทรงมอบบริวารไว้ให้ใช้สอยเหมาะสมกับฐานะของท่านในเวลานั้น

พ.ศ. ๒๔๑๙ เจ้าจอมมารดาทับทิมตั้งครรภ์พระเจ้าลูกยาเธอ ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ลาออกจากการเล่นละครใน พร้อมทั้งพระราชทานตำหนักเจ้านายหมู่หนึ่งให้อยู่เป็นอิสระ เจ้าจอมมารดาทับทิมมีพระราชโอรสและพระราชธิดา รวม ๓ พระองค์ คือ

๑. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้า จิรประวัติวรเดช (จอมพล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช) ประสูติเมื่อวันอังคาร ที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๙ สำเร็จการศึกษาวิชาทหารบกจากประเทศเดนมาร์ก ขณะที่ทรงประทับอยู่ยุโรป ทรงดำรงตำแหน่งเป็นราชทูตพิ เศษต่างพระองค์ด้วย ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นทรงกรม เป็นกรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นนายพลเอกราชองครักษ์ ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ พ.ศ. ๒๔๕๓ ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. ๒๔๕๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นจอมพลทหารบก ตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๖ พระชันษา ๓๗ ปี ทรงเป็นต้นราชสกุล “จิรประวัติ”

๒. พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าประเวศวรสมัย ประสูติเมื่อวันอังคารที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๒๒ และสิ้นพระชนม์ ในรัชกาลที่ ๘ เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ พระชันษา ๖๔ ปี

๓. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ (พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร) ประสูติเมื่อวันพุธที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๒๖ สำเร็จการศึกษาวิชาทหารเรือจากประเทศอังกฤษ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายพลเรือ ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือชายทะเล ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นกรมหมื่นสิงหวิกรมเกรียงไกร ตำแหน่งราชองครักษ์ พ.ศ. ๒๔๕๕ เลื่อนเป็น นายพลเรือโทราชองครักษ์ ตำแหน่งเลขาธิการทหารเรือ แล้วเป็นจเรทหารเรือ เลื่อนเป็นกรมขุนสิงหวิกรมเกรียงไกร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ แล้วเลื่อนเป็นนายพลเรือเอกเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ต่อมาทรงสถาปนาเป็นกรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลปัจจุบัน เมื่อ วันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ พระชันษา ๖๔ปี ทรงเป็นต้นราชสกุล “วุฒิชัย”

เจ้าจอมมารดาทับทิมเป็นผู้ที่ยึดถือการดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย ประพฤติปฏิบัติตนอย่างเสมอต้นเสมอปลาย มิได้ทะนงตนว่าเป็นที่โปรดปรานมากกว่าผู้อื่นแต่ประการใด แม้ว่าท่านจะได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องยศ ยกขึ้นเป็นชั้นพระสนมเอกก็ตาม ท่านยังคงยึดมื่นในอัธยาศัยอันสุภาพ อ่อนโยนละมุนละม่อม ตลอดจนมีความอ่อนน้อมถ่อมตนอยู่เป็นนิจ จึงเป็นที่ชื่นชมรักใคร่ของบุคคลทั่วไปในราชสำนัก

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวสรรเสริญในลักษณะนิสัยของเจ้าจอมมารดาทับทิม ความตอนหนึ่งว่า

“…ได้ยินแต่คนชมอยู่เสมอ ว่าท่านเป็นผู้มีอัธยาสัยดี ไม่มีใครเกลียดชัง มีแต่คนชอบทั้งวัง และว่าท่านทำราชการด้วยมีความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทมาก ข้อนี้มีหลักฐานด้วย ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานเครื่องยศยกขึ้นเป็นชั้นพระสนมเอกอันสูงศักดิ์กว่าเจ้าจอมมารดาสามัญ…”

ในฐานะพระมารดา เจ้าจอมมารดาทับทิมได้อภิบาลพระราชโอรสและพระราชธิดาด้วยความรัก และเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดทุกพระองค์ ขณะเดียวกันท่านก็ต้องถวายงานสนองเบื้องพระยุคลบาทในพระบรม มหาราชวังด้วย ครั้นต่อมาเมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไยยศรีสุรเดช พระราชโอรสองค์ใหญ่ทรงสำเร็จการศึกษาและเสด็จกลับพระนคร ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระชนกนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวังพระราชทาน ณ บริเวณริมคลองผดุงกรุงเกษมตอนต่อกับปากคลองมหานาค และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เจ้าจอมมารดาทับทิมออกไปช่วยดูแลเป็นธุระในวังของพระราชโอรสเป็นครั้งคราว จนต่อมาเมื่อโปรดให้มีการย้ายสถานที่ประทับจากพระบรมมหาราชวัง ไปประทับที่พระราชวังดุสิต ครั้งนั้นเจ้าจอมมารดาทับทิมจึงได้ขอพระบรมราชานุญาตไปพำนักที่วังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช นับแต่นั้นมา

ต่อมาเมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร พระราชโอรสองค์เล็กทรงสำเร็จการศึกษาและเสด็จกลับมาถึงพระนครอีกพระองค์หนึ่ง ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวังพระราชทานพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร เพิ่มอีกวังหนึ่ง ในบริเวณพื้นที่ติดกันกับวังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช ด้วยเหตุนี้ เจ้าจอมมารดาทับทิมจึงสามารถรับเป็นธุระดูแลความเป็นอยู่ให้แก่พระราชโอรสทั้งสองพระองค์ได้โดยสะดวก จนกระทั่งเมื่อพระราชโอรสทั้งสองพระองค์ทรงเสกสมรส มีพระชายารับภาระในวังแล้ว ท่านจึงค่อยคลายความห่วงใย ปล่อยให้เป็นเรื่องภายในครอบครัว มิได้เข้าไปเกี่ยวข้องก้าวก่ายแต่ประการใด

อย่างไรก็ตาม เจ้าจอมมารดาทับทิมยังคงทำหน้าที่พระมารดาไปมาหาสู่ดูแลทุกข์สุขของลูกหลาน พร้อมทั้งช่วยเหลือในยามจำเป็น โดยเฉพาะการไปช่วยดูแลพระอาการประชวรของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช เนื่องจากพระองค์ทรงมุ่งมั่นคร่ำเคร่งกับพระภารกิจในราชการ จนกระทั่งทรงละเลยต่อพระสุขภาพ ครั้งนั้นแม้ว่าเจ้าจอมมารดาทับทิม พระมารดาจะว่ากล่าวตักเตือนก็ไม่เป็นผล ดังนั้นในเวลาต่อมา เจ้าจอมมารดาทับทิม ซึ่งมิเคยจะกราบทูลร้องขอสิ่งใด แต่ด้วยความรักและห่วงใยในพระสุขภาพของพระราชโอรส จึงได้กราบทูลร้องทุกข์ต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อขอ พระเมตตาให้ทรงว่ากล่าวตักเตือนพระราชโอรสให้ทรงคำนึงถึงพระสุขภาพบ้าง แต่พระอาการประชวรทรุดลงโดยลำดับ จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. ๒๔๕๖

ครั้งนั้นนับเป็นช่วงเวลาที่เจ้าจอมมารดาทับทิมได้รับความเศร้าโศกที่สุดในชีวิตอีกครั้งหนึ่ง นอกเหนือจากเหตุการณ์ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ แต่ด้วย
เหตุที่ท่านเป็นผู้ที่ดำเนินชีวิตมาอย่างเรียบง่าย ยึดมั่นในพระบวรพุทธศาสนาอย่างมั่นคง ท่านจึงหันมาแสวงหาความสุขในการบำเพ็ญวัตรปฏิบัติธรรม สงเคราะห์คนยากไร้ และเกื้อกูลต่อญาติมิตรทั้งหลายตามกำลัง ที่สำคัญคือท่านยึดมั่นดำรงตนตามหลักธรรมคำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในเรื่อง “พรหมวิหาร ๔” อันประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา หลักธรรมดังกล่าวนี้ ท่านได้ยึดถือปฏิบัติอย่างมั่นคงสืบมาตลอดชีวิตของท่าน

นอกจากเจ้าจอมมารดาทับทิมจะมีจิตกุศลมุ่งมั่นศรัทธาในการช่วยเหลือทำนุบำรุงวัดวาอาราม ถือศีล ฟังธรรมและบริจาคบุญทานอยู่เป็นนิจแล้ว ท่านยังรับอุปการะช่วยเหลือผู้ที่มีความประสงค์จะ อุปสมบท แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ปัจจัย ความเลื่อมใสในการบำเพ็ญบุญกุศลของเจ้าจอมมารดาทับทิม อีกประการหนึ่งคือ การสร้างกุฏิถวายพระสงฆ์ตามหัวเมืองต่างๆ เฉพาะที่กรุงเทพมหานครนั้น ท่านมีจิตศรัทธาต่อพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์) เจ้าอาวาสวัดบรมนิวาสเป็นอย่างยิ่ง จึงได้สร้างกุฏิถวาย ๑ หลัง นามว่า “กุฏิปัทมราช” นอกจากนี้ ท่านยังนิยมถวายหนังสือเทศนาเกี่ยวกับหลักธรรมเรื่อง “พรหมวิหาร ๔” ให้แก่พระอารามต่างๆ เพื่อประโยชน์ต่อพระสงฆ์ในการศึกษาหาความรู้และเทศนาสั่งสอนแก่บรรดาพุทธศาสนิกชนสืบไป

อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่บุคคลทั่วไปล้วนประทับใจในตัวท่าน ได้แก่ ฝีมือการทำอาหารที่เลิศรส โดยเฉพาะฝีมือการทำขนมปั้นสิบ ซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญเลื่องลือว่า มีรสชาติอร่อย ยากที่จะมีผู้ใดเทียบเทียมฝีมือได้

ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าจอมมารดาทับทิมกับบรรดาญาติมิตรและบริวารทั้งหลายนั้น เป็นที่ประจักษ์กันดีว่า ท่านเป็นผู้ใหญ่ที่มีอุปนิสัยกอปรด้วยนํ้าใจ มีความเมตตาอารี ชอบช่วยเหลือเกื้อกูลผู้ตกทุกข์ได้ยากและมีไมตรีจิตแก่ผู้อื่นโดยทั่วไป สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวถึงความมีนํ้าใจของท่านในหนังสือประวัติเจ้าจอมมารดาทับทิม ความตอนหนึ่งว่า

“…ท่านชอบเกื้อกูลญาติและมิตรด้วยประการต่างๆ แม้จนผู้เป็นแขก เมื่อมีใครไปหาท่าน หรือแม้ข้าราชการที่มีกิจธุระไปเฝ้าพระโอรสของท่านๆ พบปะก็ทักทายปราสัย แสดงไมตรีจิตต์โดยฐานที่เป็นผู้ใหญ่ แม้ใครไปใกล้เวลากินอาหาร ท่านก็ชอบหาอาหารเลี้ยง เพราะฉะนั้น คนทั้งหลายที่รู้จักกับท่าน โดยเฉพาะพวกข้าราชการ ทั้งทหารและพลเรือน จึงพากันเคารพนับถือ บางคนก็พาครอบครัวไปหาให้ท่านรู้จัก และเวลามีงานการอย่างใด ที่วังก็พร้อมใจกันไปช่วยข้างฝ่ายตัวท่าน ถ้าเขามีการงานก็ช่วยเหลือตอบแทนตามกำลัง ไม่เอาเปรียบผู้อื่นแต่ฝ่ายเดียว…’’

ในบั้นปลายชีวิตของเจ้าจอมมารดาทับทิม นอกจากการบำเพ็ญบุญกุศลแล้ว ท่านมักใช้เวลาส่วนใหญ่ท่องเที่ยวไปตามหัวเมือง เพื่อพักผ่อนและรักษาสุขภาพพลานามัย ทั้งนี้ การเดินทางท่องเที่ยวของ ท่านแต่ละครั้งจะเป็นไปอย่างเรียบง่าย ไม่เอิกเกริก เนื่องจากท่านไม่ประสงค์จะให้ผู้ใดรับรองอย่างเป็นทางการ เพราะตระหนักดีว่า การไปมาของท่านแต่ละครั้ง อาจสร้างความลำบากให้แก่ผู้อื่น ดังปรากฏหลักฐานความตอนหนึ่งว่า

“…ลักษณะการเที่ยวของท่านนั้น ถ้ามิใช่ทางไกลเช่นไปไทรโยค ถึงที่ไหนที่ท่านเห็นสบาย เช่น ที่บางปะอินก็มักจอดพักอยู่ที่นั้นนานๆ ลงเรือเล็กไปตามทุ่ง เที่ยวเก็บผักนํ้าต่างๆ หรือมิฉะนั้นไปเที่ยวซื้อหาเครื่องอาหารตามบ้านราษฎรมาทำครัวเลี้ยงพวกบริวาร เวลาพักอยู่ใกล้วัดก็ชอบไปทำบุญและฟังเทศน์ ไม่ยอมให้ใครรับรองอย่างเป็นทางราชการ… ”

เจ้าจอมมารดาทับทิมล้มป่วย และพักรักษาตัวอยู่ ณ บางปะอิน จนกระทั่งถึงอสัญกรรม เมื่อวัน อังคารที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ รวมอายุได้ ๘๒ ปี ครั้งนั้นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรม เกรียงไกร พระราชโอรสพระองค์เล็กเชิญศพมาตั้งบำเพ็ญกุศลที่วังของพระองค์ ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโกศประกอบลองไม้สิบสองเป็นเกียรติยศพิเศษ พร้อมกับพระราชทานเครื่องศพเสมออย่างเจ้าจอมมารดาชั้นพระสนมเอก และพระราชทานเพลิงศพ ณ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ (นับตามปีสากลปัจจุบัน คือ พ.ศ. ๒๔๘๒ เนื่องจากเดิมปีใหม่ไทย เริ่มต้นในเดือนเมษายน ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๘๓ จึงเริ่มปีใหม่ในเดือนมกราคม ตามแบบสากลนิยม)

ส่วนหนังสือที่ระลึกเพื่อเป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ คือ เรื่อง “สุภาสิตทุคคตะสอนบุตร” ซึ่งเป็นหนังสือกลอนสุภาษิตที่เจ้าจอมมารดาทับทิมชื่นชอบเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นเรื่องที่แสดงถึงหลักธรรม พรหมวิหาร ๔ อันเป็นหลักธรรมที่ท่านได้ยึดมั่น และถือปฏิบัติมาตลอดชีวิต ทั้งยังเคยปรารภไว้ล่วงหน้าว่า เมื่อท่านสิ้นแล้ว ขอให้พิมพ์หนังสือเล่มนี้แจกเป็นที่ระลึกในงานศพของท่าน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายถึงเหตุผลที่เจ้าจอมมารดาทับทิมศรัทธาเลื่อมใสในหลักธรรมพรหมวิหาร ๔ เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติแก่พุทธศาสนิกชนว่า

“…การที่เจ้าจอมมารดาทับทิมเลื่อมใสในพรหมวิหารธรรมสังวร ความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นวิหารธรรมของท่านนั้น พิเคราะห์ดูเหมือนจะมีในอุปนิสัยของท่านมาแต่เดิม จึงปรากฏว่าเมื่อท่านอยู่ในวัง หามีใครเกลียดชังไม่ ครั้นออกมาอยู่นอกวัง มีโอกาสได้ฟังพระธรรมเทศนาเนืองๆ ก็เกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระธรรมหมวดพรหมวิหาร จน ถึงถือเป็นหลักในวัตรปฏิบัติของท่าน ข้อนี้เองเป็นเหตุให้มีคนเคารพนับถือท่านมากมาตลอดอายุ แม้จนเมื่อถึงอสัญกรรมแล้ว ข้าพเจ้าอยู่ไกลได้ยินว่า มีคนที่ระลึกถึงคุณและที่เคารพนับถือท่านพากันไปช่วยงานศพเป็นอันมาก ทั้งเมื่อทำบุญ ๗ วัน ๕๐ วัน และ ๑๐๐ วัน อันนี้เป็นผลของพรหมวิหารที่ท่านสังวรมาแต่หนหลัง ควรนับว่าท่านเป็นตัวอย่างดีในธรรมจารินีด้วยอีกสถาน ๑…”

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: อรวรรณ ทรัพย์พลอย

เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (แพ)

เป็นพระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรง ยกย่องให้สูงศักดิ์กว่าพระสนมคนอื่นๆ ทั้งปวง ด้วยเป็นคู่ทุกข์คู่ยากมาตั้งแต่ครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ กรมขุนพินิตประชานาถ แม้การตรัสเรียกนามเจ้าคุณพระประยูรวงศ์นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ตรัสเรียกแตกต่างจากเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (แพ)เจ้าจอมคนอื่นๆ ซึ่งทรงเรียกว่า “นาง” นำหน้าชื่อ แต่ทรงเรียกเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ว่า “แม่แพ” ถ้าตรัสเรียกแก่ผู้อื่นทรงเรียกว่า “คุณแพ” เหมือนเช่นครั้งยังมิได้เสวยราชย์ นอกจากนี้ยังพระราชทานสิทธิ์พิเศษกับเจ้าคุณพระประยูรวงศ์เหนือพระสนมคนอื่นๆ เสมอ เช่น ได้รับใช้ใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสวยราชย์แล้วเหมือนครั้งที่ยังมิได้เสวยราชย์ เป็นคนเดียวในหมู่พระสนมที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ตักบาตรถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงผนวช ได้รับตรา เหรียญ สายสะพาย เครื่องยศ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุกตระกูลตามฐานันดรศักดิ์พระสนมเอก เป็นต้น เจ้าคุณพระประยูรวงศ์จึงได้รับยกย่องว่าเป็นหัวหน้าของพระสนมทั้งปวง ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระ นิพนธ์ไว้ในประวัติเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ตอนหนึ่งว่า

“เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (แพ) ป.จ. ม.ว.ม. รัตนาภรณ์ ป.ป.ร. ชั้นที่ ๒ ว.ป.ร. ชั้นที่ ๑ ปปร. ชั้นที่ ๒ เป็นเจ้าคุณจอมมารดา หัวหน้าพระสนมทั้งปวงโนรัชกาลที่ ๕’’

เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (แพ) เกิดในสกุล “บุนนาค” เป็นธิดาของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร) กับท่านผู้หญิงอิ่ม ซึ่งเป็นน้องท่านผู้หญิงอ่วม ภรรยาอีกคนหนึ่งของเจ้าพระยาสุรวงศไวยวัฒน์ มีพี่น้องร่วมบิดาและมารดา ดังนี้

พี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน ซึ่งเกิดกับท่านผู้หญิงอ่วม ผู้เป็นป้า จำนวน ๓ คน คือ
๑. พระยาประภากรวงศ์วรวุฒิภักดี
๒. เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์
๓. พระยาราชานุวงศ์

พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันจำนวน ๙ คนคือ
๑. เล็ก (ต่อมาได้เป็นภรรยาพระยาศรีศรราชภักดี : หนูเล็ก โกมารกุล ณ นคร)
๒. ฉาง
๓. เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (แพ)
๔. หลวงจักรยานานุพิจารณ์ (เหมา)
๕. จ่ายวดยศสถิตย์ (หมิว)
๖. โหมด (ต่อมาได้เป็นเจ้าจอมมารดา พระสนมในรัชกาลที่ ๕)
๗. แม้น (ต่อมาได้เป็นหม่อม สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภานุพันธุวงศ์วรเดช)
๘. เมี้ยน
๙. มิด

เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (แพ) เกิดเมื่อวันเสาร์ ขึ้น๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีขาล ตรงกับวันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๙๗ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ประวัติเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ถึงมูลเหตุที่ท่านได้ชื่อว่า “แพ’’ ดังนี้

“ฉันเคยถามเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ว่า ฉันได้ยินเขาว่า ท่านชื่อม่วงอยู่ก่อน ต่อเมื่อจะเข้าไปอยู่ในวังจึงเปลี่ยนชื่อว่า แพ จริงหรือ ท่านตอบว่าความจริงไม่ใช่เช่นนั้น แล้วเลยเล่าถึงถิ่นฐานของท่านต่อไปว่า เดิมพวกสกุลของท่านตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่นํ้าทางฝั่งธนบุรีด้วยกันทั้งนั้น สร้างบ้านปลูกเรือนอยู่ต่อๆ กันลงมาตั้งแต่คลองใต้บ้านฝรั่งกุฎีจีนจนคลอง ขนอนทางเข้าไปวัดพิชัยญาติทั้ง ๒ ฟาก ข้างหลังบ้านขึ้นไปบนบกก็ทำเป็นสวน เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสวยราชย์ ทรงสถาปนาเจ้าพระยาพระคลัง ปู่ทวดของท่านเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (เรียกกันว่า สมเด็จองค์ใหญ่) ทรงสถาปนาพระยาศรีพิพัฒน์ ปูทวดน้อยของท่านเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (เรียกกันว่า สมเด็จองค์น้อย) และทรงสถาปนาพระยาศรีสุริยวงศ์ จางวางมหาดเล็ก ปู่ของท่านเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เสนาบดีที่สมุหพระกลาโหม ทรงพระราชดำริว่า บ้านปู่ของท่านที่อยู่ต่อกับจวนสมเด็จองค์ใหญ่ทางข้างเหนือคับแคบนัก ไม่สมกับเป็นจวนของเสนาบดี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานจวนของเจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงหเสนี) สมุหนายก อันอยู่ทางฟากพระนครที่ริมคลองสะพานหัน (ตรงเวิ้งนาครเกษมบัดนี้) ซึ่งตกเป็นของหลวงเมื่อเจ้าของถึงอสัญกรรมในตอนปลายรัชกาลที่ ๓ ให้เป็นจวนที่อยู่ของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เวลานั้นบิดาของท่านเป็นที่เจ้าหมื่นไวยวรนาถ ก็อพยพครอบครัวไป อยู่กับบิดาที่บ้านนั้น แต่เหย้าเรือนไม่พอกัน เพราะเรือนที่เจ้าพระยาบดินทร์เดชาสร้างไว้ชำรุดทรุดโทรมอยู่โดยมาก เมื่อแรกไปอยู่ครอบครัวของปู่และบิดาของท่าน ต้องเที่ยวหาที่อาศัยตามแต่จะอยู่ได้ บิดาของท่านไปอาศัยอยู่ที่ฉางข้าว พี่หญิงของท่านคลอดที่นั่นจึงได้ชื่อว่า “ฉาง” ต่อมาเมื่อซ่อมแซมเรือนแพที่ริมคลองแล้วย้ายมาอยู่ที่เรือนแพ ตัวท่านมาคลอดที่นั่นจึงได้ชื่อว่า “แพ”…ข้อที่กล่าวกันว่าท่านชื่อ “ม่วง” นั้น มีเรื่องเมื่อท่านเติบใหญ่ขึ้นจนวิ่งได้แล้ว มียายม่วงคนหนึ่งไปขายขนมที่บ้านเสมอ ท่านชอบกินขนมของยายม่วง จนเห็นว่าแกเป็นช่างทำขนมอย่างวิเศษ อยู่มาวันหนึ่งเวลานั่งเล่นอยู่ด้วยกันในพวกเด็กๆ เกิดถามกันขึ้นว่าใครอยากเป็นอะไร คนนั้นก็ว่าอยากเป็นนั่น คนนี้ก็ว่าอยากเป็นนี่ไปต่างๆ เมื่อถามมาถึงตัวท่าน ท่านตอบว่าอยากเป็นยายม่วง พวกเด็กๆ พี่น้องเห็นขันก็เลยเรียกท่านว่า “ม่วง” ล้อเล่นอยู่คราวหนึ่งหาใช่ชื่อจริงของท่านไม่”

พ.ศ. ๒๔๐๙ เมื่อเจ้าคุณพระประยูรวงศ์อายุได้ ๑๓ ปี สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ผู้เป็นปู่ ได้พาเข้าถวายตัวรับราชการฝ่ายใน โดยพาไปฝากกับเจ้าจอมมารดา เที่ยง พระสนมเอกในรัชกาลที่ ๔ เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ได้ไปอยู่กับพระเจ้าลูกเธอพระองศ์เจ้าโสมาวดีศรีรัตนราชธิดา ซึ่งต่อมาได้รับสถาปนาเป็นกรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ์ การเข้าไปอยู่ในวังครั้งนี้เป็นเพราะโชควาสนาบันดาลหรือที่ภาษา ชาวบ้านเรียกกันว่าบุพเพสันนิวาส ทำให้เจ้าคุณพระประยูรวงศ์พบรักกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราซานุภาพ ทรงบรรยายไว้ในประวัติเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ว่า

“เรื่องประวัติของเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ผิดกับนักสนมนารีคนอื่นๆ ในรัชกาลที่ ๕ ด้วยตัวท่านกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้รักใคร่ติดพันกันเองอยู่แล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงตรัสขอมาเป็นสะใภ้หลวง พระราชทานพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่ยังเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ แล้วอยู่ด้วยกันมาจนเสด็จเสวยราชย์ เรื่องประวัติตอนนี้ท่านจำไว้มั่นคงราวกับฝังอยู่ในใจท่านเป็นนิจ”

และอีกตอนหนึ่งว่า

“ฉันถามท่านว่า ฉันได้ยินเขาว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ แรกทอดพระเนตรเห็นท่าน เมื่อออกไปดูงานพระเมรุที่ท้องสนามหลวง โปรดติดพระหฤทัยตั้งแต่ยังไม่ทรงรู้จักว่าใคร แล้วจึงสืบรู้ชื่อและสกุลของท่านเมื่อภายหลัง จริงหรืออย่างไร ท่านว่า ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เรื่องที่จริงนั้น ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นไป ประทับอยู่วังหน้า ดำรัสสั่งให้ละครวังหลวงขึ้นไปเล่นให้พวกชาววังหน้าดู (ฉันสันนิษฐานว่า เห็นจะเป็นเมื่อเดือน ๕ ปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๑๐) เวลานั้นท่านออกไปอยู่บ้าน พระองค์ใหญ่โสมมีรับสั่งให้คนไปรับท่านเข้ามาดูละคร วันนั้นเป็นครั้งแรกที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทอดพระเนตรเห็นท่านเมื่อถือหีบหมากเสวยตามพระองค์ใหญ่โสมไปวังหน้า เวลาดูละครตัวท่านนั่งอยู่ใกล้ๆ กับคนบอกบทตรงหน้าพลับพลา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ประทับอยู่บนพลับพลาเห็นมักทอดพระเนตรมาทางตัวท่านบ่อยๆ แต่ท่านก็ไม่รู้ว่าทรงมุ่งหมายที่ตรงตัวท่าน ดูละครแล้วก็กลับออกไปบ้านในเย็นวันนั้น แต่ประหลาด อยู่ที่ในค่ำวันนั้นจะเป็นด้วยบุรพนิมิตสังหรณ์หรืออย่างไรไม่ทราบ พอนอนหลับก็ฝันไปว่า มีงูตัวหนึ่งโตใหญ่หัวเหมือนพระยานาคที่เขาเขียนไว้ตัวมีเกล็ดสีเหลืองทั้งตัวตรงเข้ามาคาบที่กลางตัวท่าน แล้วเลื้อยพาไปทิ้งไว้ตรงหน้าเรือนเก่าที่ท่านเคยอยู่ ความฝันนั้นยังจำได้มั่นคง แต่เวลานั้นตัวท่านยังไม่รู้เรื่องบุรพนิมิตที่เขาถือกัน พอเช้าขึ้นไปที่บ้านคุณเล็กพี่สาว ซึ่งแต่งงานใหม่ ไปเล่าความฝันให้พวกผู้ใหญ่ฟังตามซื่อ ด้วยเห็นว่าแปลกประหลาดไม่เคยฝันเช่นนั้นมาแต่ก่อน พวกผู้ใหญ่ที่ได้ฟังเขาแลดูกันแล้วหัวเราะขึ้นฮาใหญ่ ท่านก็ยังไม่เข้าใจว่าเขาเห็นขันอย่างไรจึงหัวเราะฮากันเช่นนั้น

ท่านทราบเมื่อภายหลังว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทอดพระเนตรเห็น ท่านก็โปรด แต่ไม่ทรงทราบว่าเป็นใคร เข้าพระทัยแต่ว่าอยู่กับพระองค์ใหญ่โสม วันรุ่งขึ้น ตรัสถามพระองค์ใหญ่โสม จึงทรงทราบ แล้วตรัสขอให้พระองค์ใหญ่โสม ทรงคิดอ่านให้ได้ ทอดพระเนตรอีกครั้งหนึ่ง ครั้นวันกลางเดือนหก ปีเถาะนั้น พระองค์ใหญ่โสมตรัสชวนท่านให้ไปดูงานพิธีวิสาขะบูชา ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตัวท่านไม่รู้เรื่องอะไรก็ยินดีที่จะไป พระองค์ใหญ่โสมตรัสสั่งให้พี่เลี้ยงพาท่านไปนั่งดูเดินเทียนที่ตรงบันไดข้างหลังพระอุโบสถ เวลาเดินเทียนค่ำวันนั้น ท่านเห็นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงเดินเทียนถึงที่ท่านนั่งอยู่ทีไร ก็ทรงเพ่งพิศแต่ที่ตัวท่านทุกรอบจนผิดสังเกต จึงเริ่มรู้สึกว่าชรอยจะโปรดตัวท่านมาแต่ค่ำวันนั้น ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ พอเสด็จงานวิสาขะบูชาแล้ว ตรัสกระซิบขอเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ต่อพระองค์ใหญ่โสมฯ ก็ยอมถวายไม่ขัดขวาง แล้วตรัสบอกให้ท่านรู้ตัวด้วยว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ โปรดจะใคร่ได้เป็นหม่อมห้าม ตรงนี้คิดดูชอบกล ถ้าหากเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ไม่รักพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ
เมื่อพระองค์ใหญ่โสมตรัสบอกให้รู้ตัว ก็คงจะบอกแก่ผู้ใหญ่ในสกุลให้มารับไปบ้านเสียให้พ้นภัย ทื่รู้แล้วนิ่งอยู่ชวนให้เห็นว่า ฝ่ายท่านก็เกิดรักใคร่ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ตั้งแต่วันเดินเทียนวิสาขะบูชาเหมือนกัน จึงเริ่มเรื่องติดพันกันมา”

ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ใน พ.ศ. ๒๔๑๐ และประทับอยู่ที่พระตำหนักสวนกุหลาบในพระบรมมหาราชวังนั้น หลังจากอภิเษกได้ ๓ เดือน เจ้าคุณพระประยูรวงศ์เริ่มตั้งครรภ์ จึงต้องหาสถานที่ที่จะคลอดเนื่องจากธรรมเนียมราชประเพณีสามัญชน จะคลอดในพระราชวังไม่ได้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานวังอันเป็นที่เสด็จประพาส ณ สวนนันทอุทยาน ริมคลองมอญฝั่งธนบุรีให้เป็นทประทับ จนกระทั่งเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ครรภ์แก่ได้ ๗ เดือน จึงประสูติพระธิดา นับเป็นพระราชธิดาที่เกิดก่อนเสวยราชย์

พ.ศ. ๒๔๑๑ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตด้วยประชวรพระโรคไข้ป่า หลังจากเสด็จทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติในเวลาต่อมา เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ก็เปลี่ยนฐานะจากหม่อมห้าม เป็นเจ้าจอมมารดา จึงได้ย้ายจากพระตำหนักสวนกุหลาบเข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวัง

จากการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเสวยราชสมบัติในครั้งนี้ เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ในฐานะที่เป็นคู่ทุกข์คู่ยากมาแต่เดิมจึงต้องเปลี่ยนฐานะและการวางตนใหม่ ซึ่งท่านทราบดีว่าในฐานะพระมหากษัตริย์คงจะต้องมีพระสนมคนอื่นๆ แวดล้อมอีกมาก เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ก็ปฏิบัติตนได้อย่างดี แม้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเกรงใจ และยังเป็นที่เคารพนับถือเป็นที่ยำเกรงแก่พระบรมวงศานุวงศ์และบุคคลทั่วไปตลอดรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลต่อๆ มาอีกด้วย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าว่า

“ตรงนี้จะพรรณนาว่าแต่ด้วยประวัติของเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ก่อน พิเคราะห์ดูเหมือนเมื่อแรกท่านได้เป็นพระสนมเอก แทนที่จะอิ่มใจกลับได้พบความลำบากใจมิใช่น้อย เริ่มต้นแต่ในการบรมราชาภิเษกก็ถวายนักสนมนารีสำหรับปฏิบัติบำเรอพระเจ้าอยู่หัวเป็นหมู่ใหญ่ ตัวท่านติดพระองค์มาเหมือนอย่างพระจันทร์ที่โคจรอยู่รอบมนุษย์โลกแต่ดวงเดียว มากลายเป็นดาวดวงหนึ่งในจักรวาลอันรายล้อมดวงพระจันทร์อยู่ในท้องฟ้า นอกจากนั้น ยังมีท้าวนางบังคับบัญชาฝึกหัดให้เข้าแบบแผนนางในครั้งรัชกาลที่ ๓ ตัวท่านเองเคยฝึกหัดอบรมแต่ตามแบบแผนรัชกาลที่ ๔ และไม่เคยอยู่ในบังคับท้าวนางเหล่านั้นมาแต่ก่อน คงรังเกียจและเกิดลำบากใจเป็นธรรมดา ตัวท่านมีแต่พระเจ้าอยู่หัวเป็นที่พึ่งก็ได้แต่กราบทูลปรับทุกข์ร้อน ถ้าหากว่าเรื่องตามที่ฉันเคยได้ยินมาตรงตามความจริง น่าสรรเสริญเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ที่ท่านสามารถแก้ไขให้พ้นความลำบากด้วยสติปัญญาของท่านในครั้งนั้น เขาเล่าว่า ท่านกราบทูลพระเจ้าอยู่หัวว่าพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์จะมีพระสนมกำนัลมากสักเท่าใด ท่านก็ไม่เคียดขึ้งหึงหวงและไม่ปรารถนาจะมีอำนาจว่ากล่าวบังคับบัญชาผู้หนึ่งผู้ใด ขอแต่ให้ได้สนองพระเดชพระคุณเหมือนอย่างเมื่อเสด็จอยู่พระตำหนักสวนกุหลาบเท่านั้นก็พอใจ พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพรดังท่านประสงค์ ตรัสห้ามมิให้ท้าวนางไปว่ากล่าวรบกวนเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ แล้วทรงสร้างพระที่นั่งเย็น เป็นที่สำราญพระราชอิริยาบถขึ้นหลังหนึ่งทางด้านตะวันออกพระมหามณเฑียร ให้แต่เจ้าคุณพระประยูรวงศ์คนเดียวเป็นผู้ปฏิบัติเมื่อเสด็จอยู่พระที่นั่งเย็นนั้น ท่านเล่าว่ามีแต่ตัวท่านคนเดียวที่นุ่งโจงขึ้นเฝ้าได้เสมอมิต้องเปลี่ยนนุ่งจีบตามแบบรัชกาลที่ ๓ นอกจากนั้นทรงพระกรุณาโปรดให้สร้างตำหนักหมู่ใหญ่พระราชทานเจ้าคุณพระประยูรวงศ์อีกแห่งหนึ่งข้างหลังพระมหามณเฑียรตรงที่เคยเป็นตำหนักพระสนมเอกครั้งรัชกาลที่ ๑ และที่ ๒ ผู้ที่เป็นนางในทันได้รู้เห็นเขาเล่าว่า ตั้งแต่เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ได้พระราชทานพรดังกล่าวมาแล้ว ท่านก็ถือว่าเป็นหน้าที่ของท่านที่จะปฏิบัติพระเจ้าอยู่หัวในบางเวลา คือเวลาเช้าตื่นบรรทม ท่านถวายเครื่องสำอางค์อย่างหนึ่ง ตั้งเครื่องพระกระยาหารต้มอย่างหนึ่ง เมื่อ เสวยเสร็จเสด็จออกจากห้องบรรทม ก็เป็นสิ้นหน้าที่ของท่านในตอนเช้า กลับลงไปตำหนักเสียครั้งหนึ่ง ถึงเวลากลางวันเมื่อนักสนมตั้งเครื่องถวายพระเจ้าอยู่หัวเสวยเสร็จแล้ว สิ้นเวลาคนเฝ้าแหน ท่านจึงขึ้นไปคอยรับใช้ในเวลาทรงพักพระราชอิริยาบถอีกเวลาหนึ่ง เมื่อเสด็จออกตอนบ่ายท่านก็กลับตำหนัก ไม่ขึ้นไปพระมหามณเฑียร จนเวลากลางคืนเมื่อพระเจ้าอยู่หัวเข้าที่บรรทมแล้ว ท่านจึงเข้าไปนอนในห้องที่บรรทมอยู่จนเช้า ตั้งเครื่องพระสำอางค์เหมือนวันหลัง นอกจากกินตามเวลาที่กล่าวมา เขาว่าท่านไม่เข้าไปเกี่ยวข้องในหน้าที่ของผู้อื่น ใครจะเฝ้าแหนหรือพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปประทับที่ไหน ท่านก็ไม่เข้าไปกีดขวาง เล่ากันมาอย่างนี้”

เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ มีพระราชธิดาทั้งสิ้น ๓ พระองค์ ได้แก่

๑. พระองค์เจ้าศรีวิลัยลักษณ์สุนทรศักดิ์กัลยาวดี (กรมขุนสุพรรณภาควดี) ประสูติ ณ สวนนันทอุทยาน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๑ (ประสูติในขณะที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ)

๒. พระองค์เจ้าสุวพักตร์วิไลพรรณ ประสูติ ณ พระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖

๓. พระองค์เจ้าบัณฑรวรรณวโรกาส ประสูติ ณ พระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๘

เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ได้รับพระราชทานเครื่องยศเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันพระสนมเอกจะพึงได้ทุกตระกูล นอกจากนี้ยังได้สิทธิพิเศษเหนือพระสนมคนอื่นๆ อีกด้วย แม้ในรัชกาลต่อๆ มาก็ได้รับพระราชทานเหรียญ เครื่องยศ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันนางในจะพึงได้ทุกประการอีกด้วย ดังนี้

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
๑. ได้รับพระราชทานเครื่องยศนักสนมชั้นที่ ๑ ที่เรียกว่า “พระสนมเอก” เป็นพานทองและหีบหมากลงยา ซึ่งเป็นพานหมากมีเครื่องในทองคำกับกระโถนทองคำใบหนึ่ง ตามแบบเครื่องยศในรัชกาลที่ ๔ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าว่า มีแต่ท่านคนเดียวที่ได้รับพระราชทานเครื่องยศพระสนมเอกตามแบบรัชกาลที่ ๔ ทั้งพานทองและหีบหมากลงยาหลังประดับเพชร และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังโปรดให้ทำหีบหมากขึ้นใหม่ เขื่องกว่าใบเก่าประดับเพชรทั้งที่ขอบฝาและเป็นตราพระเกี้ยวยอดอยู่บนพานสองชั้นกับฉัตรสองข้างบนหลังหีบ พระราชทานเพิ่มอีกใบหนึ่ง

๒. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เปลี่ยนเครื่องในพานทองเป็นลงยาราชาวดี ซึ่งถือว่ามียศสูงกว่าพระสนมกำนัลทั้งปวง

๓. พ.ศ. ๒๔๑๖ ได้รับพระราชทานกล่องหมากเครื่องยศชั้นปฐมจุลจอมเกล้า ซึ่งเป็นเครื่องยศที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระราชทานแก่เจ้านายและข้าราชการฝ่ายใน

๔. พ.ศ. ๒๔๓๖ ได้รับพระราชทานดวงดารากับสายสะพายชั้นปฐมจุลจอมเกล้า

๕. พ.ศ. ๒๔๔๔ ได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ชั้นที่ ๒ อันประดับเพชรรอบขอบเหรียญ

๖. พ.ศ. ๒๔๔๗ ได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๔ ชั้นที่ ๔

นอกจากนี้ยังได้รับพระราชทานตลับสิบปี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๐ กล่องหมากยี่สิบปี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๐ และหีบหมากสามสิบปี ชั้นที่ ๑ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ มาโดยลำดับ สิ่งดังกล่าวเหล่านี้จะพระราชทานให้แก่เจ้าจอมผู้รับราชการสนองพระเดชพระคุณได้ถึง ๑๐, ๒๐ และ ๓๐ ปี ตามลำดับ ดังนี้

-รับราชการ ๑๐ ปี ได้รับพระราชทานตลับเครื่องในกล่องหมากชุดหนึ่ง ๓ ใบ

-รับราชการ ๒๐ ปี ได้รับพระราชทานกล่องหมากสำหรับใช้กับเครื่องในที่ได้พระราชทานแล้ว

-รับราชการ ๓๐ ปี ได้รับพระราชทานหีบหมากซึ่งสร้างขึ้นโดยเฉพาะพร้อมด้วยตลับเครื่องใน สำหรับหีบนั้นอีก ๓ ใบ แบ่งเป็น ๒ ชั้น
ชั้นที่ ๑ ทำด้วยทองคำลงยาประดับเพชร ชั้นที่ ๒ ทำด้วยเงินกาไหล่ทอง

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
๑. พ.ศ. ๒๔๕๓ได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๖ ชั้นที่ ๒ และ พ.ศ. ๒๔๕๗ ได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๖ ชั้นที่ ๑

๒. พ.ศ. ๒๔๖๑ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาวชิรมงกุฎประดับเพชร

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
พ.ศ. ๒๔๖๘ ได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๗ ชั้นที่ ๒

เจ้าคุณพระประยูรวงศ์เป็นบุคคลที่ได้รับความเคารพนับถือจากบุคคลทั้งในพระราชวงศ์และบุคคลทั่วไปมาโดยตลอด ทั้งยังเป็นผู้ทำหน้าที่เบิกพระโอษฐ์ให้แก่พระเจ้าลูกยาเธอ (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าฟ้าหญิงเพชรรัตนราชสุดาสิริโสภาพัณณวดี) กล่าวคือถวายนมให้ทรงประเดิมดูดเมื่อแรกประสูติ และประสิทธิ์สิริมงคลต่างๆ ให้แก่พระราชวงศ์ เมื่อเจ้าคุณพระประยูรวงศ์มีอายุครบรอบ ๖๐ และ ๗๐ ปี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปร่วมในงานฉลองด้วย แม้กระทั่งเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้วก็ตาม เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ก็ยังได้รับเชิญให้เป็นประธานมอบรางวัลต่างๆ จากรัฐบาล และสมาคมต่างๆ อยู่เสมอ

คำประกาศเลื่อนเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ จากเจ้าคุณจอมมารดาแพเป็นเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ย่อมเป็นประจักษ์พยานอย่างดีถึงคุณความดีที่ท่านบำเพ็ญไว้นานาประการ ตั้งแต่เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ดำรงตำแหน่งหม่อมห้าม ใน พ.ศ. ๒๔๑๐ เจ้าจอมมารดา ใน พ.ศ. ๒๔๑๑ เจ้าคุณจอมมารดา ใน พ.ศ. ๒๔๔๗ และในที่สุดพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการให้เลื่อนเจ้าคุณจอมมารดาแพเป็น เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ใน พ.ศ. ๒๔๖๔ ดังคำประกาศในราชกิจจานุเบกษา ดังนี้

“คำประกาศ”
เลื่อนเจ้าคุณจอมมารดาแพขึ้นเป็นเจ้าคุณพระประยูรวงศ์

มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่าเจ้าคุณจอมมารดาแพ เป็นผู้ที่ได้มีความดีความชอบมาเป็นอันมาก เริ่มต้นแต่สมเด็จพระบรมไอยยิการราชได้ดำรัสขอมาพระราชทาน เป็นบริจาริกในสมเด็จพระบรมชนกนาถเมื่อดำรงอยู่ในพระอิสริยยศสมเด็จเจ้าฟ้า กรมขุน พินิตประชานาถ ได้เป็นผู้ร่วมทุกข์ร่วมสุขตลอดมาแต่ในรัชกาลที่ ๔ ครั้นเมื่อได้เถลิงถวัลย์ราชสมบัติแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ชุบเลี้ยงไว้ในตำแหน่งพระสนมเอกเป็นเจ้าจอมมารดาผู้ใหญ่ ได้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณด้วยความซื่อตรงจงรักภักดีสุจริต เป็นที่ ไว้วางพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่งยั่งยืนตลอดมา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกย่องให้มียศบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าคุณจอมมารดา เมื่อวันที่ ๒๑เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๗ มีความดีความชอบแจ้งอยู่ในกระแสพระบรมราชโองการนั้นแล้ว เจ้าคุณจอมมารดาแพเป็นผู้มีหฤทัยสัตย์ซื่อ มั่นคงอยู่ในความกตัญญูกตเวที ต่อพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสมอมาตลอดจนสิ้นรัชกาลที่ ๕

แต่ส่วนความดีความชอบของเจ้าคุณจอมมารดาแพ ซึ่งได้มีมาแล้วเฉพาะในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เริ่มแต่พระบรมราชสมภพได้เป็นผู้เบิกพระโอษฐ์ปฐมฤกษ์แห่งความเจริญพระราชศิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลเป็นเบื้องต้นสืบมา และทั้งเจ้าคุณจอมมารดาแพ มีความจงรักภักดีเฉพาะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ตั้งแต่ทรงพระเยาว์มาเป็นอย่างยิ่ง จนได้ทรงคุ้นเคยสนิทแต่ดั้งเดิมมา ครั้นได้เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติแล้วทรงประจักษ์แก่พระราชหฤทัยว่าเจ้าคุณจอมมารดาแพ มีความจงรักสวามีภักดิ์ต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทยั่งยืนเสมอ มีกมลจิตร์ ซื่อสัตย์สุจริตนับถือพระบรมราชวงศ์และโอบอ้อมอารีย์แก่ญาติวงศ์ ตลอดจนข้าทูลละอองธุลีพระบาททั่วไป ประกอบทั้งมีอัธยาศัยและมารยาทเรียบร้อยเป็นอันดี สมกับที่เป็นผู้ได้เนื่องอยู่ในราชินิกุลอันมีศักดิ์เป็นที่ทรงเคารพนับถือนัก สมควรจะเลื่อนยศบรรดาศักดิ์เพิ่มเกียรติยศให้ยิ่งขึ้น

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้เลื่อนบรรดาศักดิ์เจ้าคุณจอมมารดาแพขึ้นเป็น “เจ้าคุณพระประยูรวงศ์” จงเจริญชนมายุพรรณสุข พล ศิริ สวัสดิ์พิพัฒนมงคลธนสารสมบัติบริวารสมบูรณ์ทุกประการเทอญ

พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ดำรัสสั่ง ณ วันที่ ๒๖ กันยายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๔ เป็นปีที่ ๑๒ ในรัชกาลปัจจุบัน”

นอกจากนี้เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ยังเป็นบุคคลที่นำสมัย และเป็นผู้นำการแต่งกายสมัยใหม่ ในขณะที่บ้านเมืองกำลังอยู่ในยุคของการเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมประเพณี เพื่อให้ชาติตะวันตกเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอารยธรรม และความเจริญแล้วเช่นกัน

ประการแรก เลิกไว้ผมปีก ซึ่งเป็นที่นิยมกันในยุคนั้นมาไว้ผมยาวแทน

ประการที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เปลี่ยนเครื่องแต่งกายของผู้หญิงใหม่ เลิกนุ่งจีบเปลี่ยนเป็นนุ่งโจงกระเบนและใส่เสื้อแขนยาวชายเสื้อเพียงบั้นเอว ห่มแพรสไบเฉียงบ่านอกเสื้อ สวมรองเท้าบู๊ทและถุงเท้าหุ้มตลอดน่อง ต่อมาโปรดให้นางในขี่ม้าตามเสด็จ ตรัสสั่งให้เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ นำนางในขี่ม้า การขี่ม้าจึงต้องเปลี่ยนแปลงเครื่องแต่งกาย โดยห่มแพรแทนห่มสไบเฉียงและใส่หมวก “เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ จึงออกหน้านำใช้แบบแต่งตัวสะพายแพรเหมือนเช่นเคยนำเลิกตัดผมปีกอีกครั้งหนึ่ง แล้วเลยปล่อยปลายผมให้ยาวลงมาถึงชายบ่า ด้วยสมัยนั้นเจ้าคุณพระประยูรวงศ์จึงได้เป็นผู้นำแบบแต่งตัว Leader of Fashion ของนางในอยู่นาน”

แม้กระทั่งในสมัยหลังเมื่อครั้งจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขวัฒนธรรมของไทย (พ.ศ. ๒๔๘๔) โดยการชักชวนให้สตรีไทยเปลี่ยนจากตัดผมสั้นเป็นไว้ผมยาว จากนุ่งผ้าโจงกระเบนเป็นนุ่งผ้าถุงและใส่หมวก ใส่รองเท้า เป็นต้น เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ก็ได้รับการทาบทามให้เป็นผู้นำในการแต่งกายอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมีผลให้มีผู้อื่นปฏิบัติตามอย่างแพร่หลายเหมือนอย่างครั้งสมัยรัชกาลที่ ๕

จะเห็นได้ว่าเจ้าคุณพระประยูรวงศ์เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองในฐานะผู้สนับสนุนช่วยเหลือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการแก้ไขขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ เพื่อให้ทัดเทียมกับชาติตะวันตก นับเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศในยุคที่ชาติตะวันตกกำลังล่าอาณานิคม และแม้แต่ในยุคที่ เปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วก็ตาม ท่านก็ยังมีส่วนช่วยส่งเสริมชาติบ้านเมืองในด้านวัฒนธรรมอีกครั้งหนึ่ง และแม้แต่ในด้านสุขอนามัยเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ได้บริจาคเงินสร้างสุขศาลาขึ้นหลังหนึ่ง พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ไฟฟ้า นํ้าประปา รั้ว และถนน ตลอดจนเรือนพนักงาน ภารโรง เป็นอนุสรณ์ในขณะที่ท่านมีอายุครบ ๘๐ ปี จากการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ในครั้งนี้ เป็นผลให้ราษฎรได้รับการบรรเทาทุกข์จากการเจ็บไข้ได้ป่วยสมดังเจตนารมณ์ของผู้สร้างสุขศาลาแห่งนี้ได้รับการขนานนามว่า “ศาลาเจ้าคุณพระประยูรวงศ์” เปิดทำการเมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๘ (ตั้งอยู่ข้างโรงเรียนศึกษานารี ปัจจุบันรื้อแล้ว)

โดยอุปนิสัยส่วนตัวท่านเป็นบุคคลที่มีจิตใจเข้มแข็งและกล้าหาญแม้จะชราภาพแล้วก็ตามก็ยังรักษาสุขภาพด้วยการไปเที่ยวพักผ่อนในต่างจังหวัดและต่างประเทศเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เคยขึ้นเครื่องบินกลับจากบันดุงประเทศอินโดนีเซีย แม้ขณะนั้นจะมีอายุ ๘๐ ปีแล้วก็ตาม และแม้กระทั่งครั้งสุดท้ายก่อนที่ท่านจะถึงแก่พิราลัยท่านก็ล่องเรือแปรสถานไปที่วัดเสาธงทอง จังหวัดนนทบุรี ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ และเริ่มมีอาการป่วยในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๘๖ รักษาพยาบาลจนหายป่วยในเดือนกุมภาพันธ์ และเริ่มมีอาการอ่อนเพลียอีกในเดือนมีนาคม จึงล่องเรือกลับกรุงเทพฯ จอดเรือ ณ บ้านหม่อมหลวงอนิรุทธเทวา จนกระทั่งวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ ก็สิ้นใจด้วยมีไข้สูงถึง ๑๐๓ องศา และอ่อนเพลียมาก อัญเชิญพระศพกลับไปที่ตำหนักสวนสุพรรณ ซึ่งเป็นที่พำนักของท่านครั้งรัชกาลที่ ๕ ทรงสร้างไว้ให้แก่เจ้าจอมมารดาที่ไม่มีพระโอรส (พ.ศ. ๒๔๔๗)

เจ้าคุณพระประยูรวงศ์มีอายุได้ ๘๙ ปี ๔ เดือน พระราชทานเพลิงที่พระเมรุในสุสานหลวง วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๖

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: เบญจมาส แพทอง

พระราชชายาเจ้าดารารัศมี

พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จ พระปิยมหาราช เป็นขัตติยนารี ผู้เป็นศรีสง่าแห่งนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ทรงเป็นบุคคลสำคัญในการประสานสัมพันธ์พระราชไมตรีระหว่างพระราชอาณาจักรสยามกับอาณาจักรล้านนาให้มีความสมานฉันท์กันอย่างแนบแน่นเป็นแผ่นดินเดียวกัน นั่นหมายถึงการดำรงคงไว้ซึ่งเอกราชพระราชชายา เจ้าดารารัศมีของชาติในท่ามกลางวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่กำลังถูกก้าวลํ้ารุกราน จากมหาอำนาจตะวันตก และทรงได้รับยกย่องว่ามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างภาค ได้ทรงอนุรักษ์ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมล้านนาที่เกือบจะเสื่อมสูญให้กลายเป็นเอกลักษณ์เชิดหน้าชูตาของชาวเหนือจนทุกวันนี้

พระราชชายา เจ้าดารารัศมี มีพระนามเรียกขานในพระประยูรญาติว่า “เจ้าอึ่ง” และเรียกขานกัน ภายในพระบรมมหาราชวังว่า “เจ้าน้อย” ซึ่งหมายถึง เจ้านายฝ่ายเหนือที่ยังเยาว์วัย เป็นพระธิดาองค์สุดท้าย ลำดับที่ ๑๑ ของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ พระเจ้าเชียงใหม่องค์ที่ ๗ กับพระเทวีแม่เจ้าเทพไกรสร ประสูติเมื่อวันอังคาร ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๘ ปีระกา เวลา ๐๓.๐๐ น.เศษ ตรงกับวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๖ ณ คุ้มหลวงนครเชียงใหม่ (ที่ตั้งโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยปัจจุบัน) มีพระเชษฐภคินีร่วมพระมารดาเดียวกัน คือ เจ้านางจันทรโสภา ซึ่งสิ้นพระชนม์แต่ยังเยาว์ และเป็นพระขนิษฐภคินีต่างพระมารดากับเจ้าอินทวโรรส สุริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๘ และเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๙ การที่เป็นพระธิดาพระองค์เล็ก จึงทรงเป็นดวงพระหทัยของพระบิดาและพระมารดามักจะตรัสเรียกว่า “อึ่งเอ๋ย” เสมอ เมื่อทรงพระเยาว์ได้รับการศึกษาอักษรไทยเหนือควบคู่ไปกับอักษรไทยกลาง จนนับได้ว่าทรงเป็นกุลสตรีที่ได้รับการศึกษาอย่างดียิ่งในสมัยนั้น จากการที่ทรงเจริญพระชันษาในครอบครัวที่ยึดมั่นศรัทธาต่อการทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา ทำให้ได้รับการอบรมปฏิบัติเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ทางด้านพระศาสนาเสมอและได้ทรงยึดมั่นปฏิบัติสืบต่อมาจนตลอดพระชนมชีพ อีกทั้งในฐานะที่เป็นพระธิดาพระเจ้าเชียงใหม่ การประทับภายในคุ้มหลวง ซึ่งแวดล้อมด้วยความหรูหราสง่างามดุจจะเทียบได้กับบรรยากาศแห่งพระบรมมหาราชวัง การที่ทรงมีโอกาสได้พบปะกับเจ้านายข้าราชการชั้นสูงจากกรุงเทพฯ และการได้ทรงสดับรับฟังข่าวสารต่างๆ จากราชสำนักสยามมาบ้าง สิ่งเหล่านี้ช่วยให้ทรงคุ้นเคยกับราชประเพณีและ พิธีการต่างๆ ที่เกี่ยวกับกรุงเทพฯ ราวกับเป็นการเตรียมพระองค์ไว้เพื่อเสด็จมาดำรงพระอิสริยยศอันสูงส่ง โดยมิได้ทรงคาดคิดมาก่อน

ช่วงระยะเวลาที่ประสูติและทรงพระเยาว์อยู่นั้น นครเชียงใหม่มีฐานะเป็นประเทศราชของราชอาณาจักรสยาม หากแต่เจ้าผู้ครองนครมีสถานะค่อนข้างจะเป็นอิสระในการปกครองตนเอง ในขณะนั้นเป็น เวลาที่มหาอำนาจตะวันตก คืออังกฤษขยายอาณานิคมเข้าครอบครองพม่าและมีทีท่าแผ่ขยายอิทธิพลคืบคลานมาสู่อาณาจักรล้านนา ในรูปของการติดต่อทำการค้าและกิจการป่าไม้กับเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ แม้ว่าทางกรุงเทพฯ จะมีนโยบายไม่ยุ่งเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของทางล้านนา หากแต่ปัญหาการขัดแย้งกันในกิจการป่าไม้อาจก่อให้เกิดปัญหาทางการเมืองตามมา ด้วยอังกฤษจะถือโอกาสแทรกแซงเข้าควบคุมกิจการ และครอบครองอาณาจักรล้านนาโดยปริยาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงภัยทางการเมืองดังกล่าวจึงทรงดำเนินวิเทโศบายเร่งการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเพื่อรวบรวมบ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่น เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยเร็วที่สุด ผลกระทบทางการเมืองเหล่านี้น่าจะมีผลสะท้อนให้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแก่วิถีชีวิตของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี อย่างใหญ่หลวงในกาลต่อมา ด้วยปรากฏว่า ในปี พ.ศ. ๒๔๒๖ ขณะมีพระชนมายุย่างเข้า ๑๑ ชันษาเศษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าอินทวิชยานนท์ จัดพิธีโสกันต์พระธิดาเจ้าดารารัศมี ตามแบบอย่างราชประเพณีของเจ้านายในมหาจักรีบรมราชวงศ์ พร้อมกับพระราชทานเครื่องโสกันต์ระดับเจ้าฟ้าให้เป็นเครื่องทรง ซึ่งมิเคยมีปรากฏในประวัติศาสตร์หรือราชประเพณีของเจ้านายฝ่ายเหนือมาก่อนเลย และในวาระดังกล่าวนี้ได้ โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร ขณะดำรงตำแหน่งเทียบได้กับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในภาคพายัพ อัญเชิญตุ้มพระกรรณระย้าเพชรและพระธำมรงค์เพชรไปพระราชทานทำขวัญ เป็นการส่วนพระองค์ ของพระราชทานเหล่านี้ได้ถึงเมืองเชียงใหม่ใน พ.ศ. ๒๔๒๗ พระเจ้าอินทวิชยานนท์ โปรดให้มีงานฉลองเป็นพิธีใหญ่ โดยแห่แหนรอบเมือง พร้อมกันนี้ยังได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานตำแหน่งพระพี่เลี้ยงหญิงชาย คือ ตำแหน่งแม่นางกัลยารัตน์ และตำแหน่งพญาพิทักษ์เทวีให้อีกด้วย

ครั้นถึงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ ๒๔๒๙ หลังจากพิธีโสกันต์ผ่านไปเป็นเวลา ๓ ปี ได้มีพระราชพิธี สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ขึ้นดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เป็นประเพณีแต่โบราณที่เจ้าเมืองประเทศราช และเจ้านายบุตรหลานต้องเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในวโรกาสที่มีการพระราชพิธีสำคัญต่างๆ พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ได้เสด็จนำพระ ราชธิดาเจ้าดารารัศมีมาจากเชียงใหม่เพื่อเข้าเฝ้าถวายของสมโภชแด่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราซฯ สยามมกุฎราชกุมาร และในวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๒๙ ก็ทรงนำพระธิดาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อฉลองพระเดชพระคุณรับราชการฝ่ายใน ครั้งนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการสมโภชอย่างสมพระเกียรติพระธิดาเจ้าประเทศราช พร้อมกับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าแก่พระเจ้าอินทวิชยานนท์ จึงทรงเป็นเจ้าประเทศราชพระองค์แรก และพระองค์เดียวที่ทรงได้รับ ในชั้นแรกโปรดเกล้าฯ ให้พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ประทับ ณ ห้องผักกาด บนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ภายในพระบรมราชินูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ต่อมามีพระราชดำริที่จะสร้างที่ประทับพระราชทานให้ใหม่ เมื่อพระเจ้าอินทวิชยานนท์ทราบกระแสพระราชดำริจึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต สร้างพระตำหนักน้อมเกล้าฯ ถวาย โดยมีพระบรมราชานุญาตให้สร้างขึ้นภายในเขตพระราชฐานชั้นใน พระบรมมหาราชวัง พระตำหนักใหม่หลังนี้สร้างตามรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก ขนาดใหญ่โอ่โถงสง่างามสูงสามชั้น เพียงพอแก่การอยู่อาศัยของข้าราช บริพารฝ่ายเหนือที่ตามเสด็จจากเชียงใหม่

ตลอดระยะเวลาที่พระราชชายา เจ้าดารารัศมีรับราชการในพระบรมมหาราชวัง ทรงดำรงรักษาวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์แห่งเมืองเหนือไว้อย่างเคร่งครัด และไม่เคยทอดทิ้งเลยตลอดพระชนมชีพ พระตำหนักของพระองค์จึงแตกต่างไปจากตำหนักอื่นๆ กล่าวคือ บรรดาข้าหลวงทั้งปวงจะนุ่งซิ่น กินเมี่ยง เกล้ามวย พูดคำเมืองที่อ่อนหวาน นุ่มนวล และยังมีชื่อเสียงว่าเป็นสำนักดนตรีที่ดีแห่งหนึ่งในสมัยนั้น เนื่องจากทรงสนพระทัยในการเรียนรู้วัฒนธรรมภาคกลางโดยเฉพาะดนตรีไทย จึงทรงสนับสนุนพระญาติและข้าราชบริพารฝึกหัดดนตรีไทยกันอย่างจริงจัง จนสามารถตั้งเป็นวงเครื่องสายได้ พระองค์เองก็ทรงเชี่ยวชาญการเล่นจะเข้ ซอด้วง ซออู้ แม้ดนตรีสากล เช่น เปียโน แมนโดลิน ก็ทรงเล่นได้เป็นอย่างดี เมื่อมีวิทยาการสมัยใหม่จากตะวันตกเข้ามา เช่นการถ่ายภาพก็ทรงสนพระทัยมากเช่นกัน การที่มีพระทัยใฝ่เรียนรู้สิ่งแปลกใหม่อย่างกว้างขวางล้วนเป็นคุณประโยชน์ที่จะทรงนำไปสู่บ้านเกิดเมืองนอนได้ภายภาคหน้า จนทรงได้รับยกย่องว่าเป็นผู้ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างภาคขึ้น

พระราชชายา เจ้าดารารัศมี เป็นเจ้าจอมอยู่ประมาณปีเศษ ได้ประสูติพระราชธิดาเมื่อวันพุธ เดือน ๑๑ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีฉลู ตรงกับวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ได้รับพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสี ซึ่งข้าราชบริพารชาวเหนือเรียกขานพระนามว่า เสด็จเจ้าน้อย การประสูติพระราชธิดาอันเนื่องจากองค์พระมหากษัตริย์ทำให้ทรงได้รับพระเกียรติยศสูงขึ้นตามราชประเพณีเป็นเจ้าจอมมารดา งานพระราชพิธีสมโภชเดือนสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ จัดละครเรื่องขุนช้างขุนแผนพระราชทานให้ เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอมีพระชนมายุเพียง ๓ พรรษาเศษก็ประชวรสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๕ ทรงประจักษ์ชัดในพระทัยถึงความทุกข์โทมนัสของมารดาผู้สูญเสียบุตรว่าหนักหนาแสนสาหัสเพียงใด ดังต่อมาภายหลังเมื่อทรงทราบข่าวการสิ้นพระชนม์ของพระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภชแล้ว ได้มีพระโทรเลขกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ ๒๕ กันยายน ร.ศ. ๑๒๘ (พ.ศ. ๒๔๕๒) แสดงความเห็นใจเจ้าจอมมารดาเลื่อนที่สูญเสียพระโอรสว่า “มีความเศร้าโศกมาก นึกเห็นใจแม่เลื่อนความทุกข์เช่นนี้เคยรู้จักมาแล้ว” เหตุการณ์สิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสีครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสแก่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า “ฉันผิดเอง ลูกเขาควรเป็นเจ้าฟ้า แต่ฉันลืมตั้งจึงตาย” หากพิเคราะห์ความหมายอย่างลึกซึ้งถึงกระแสพระราชดำรัสนี้ อาจจะทรงตระหนักในพระราชหฤทัยตลอดเวลา ถึงพระฐานะของพระราชชายา เจ้าดารารัศมีว่า มิได้เป็นบุคคลในชั้นสามัญชน หากทรงยกย่องว่าเป็นเจ้าด้วยเป็นพระธิดาของพระเจ้าแผ่นดินแห่งอาณาจักรล้านนา นับตั้งแต่นั้นมามิได้มีพระราชโอรสพระราชธิดาอีกเลย แต่ยังคงรับราชการฝ่ายในสนองพระมหากรุณาธิคุณ ด้วยความจงรักภักดีเป็นที่โปรดปราน จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๓๖ เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตราปฐมจุลจอมเกล้าฝ่ายในขึ้นเป็นครั้งแรกนั้น มีผู้ที่ได้รับพระราชทานเป็นพิเศษเพียงสองท่าน ซึ่งมิได้เป็นพระภรรยาเจ้าคือ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี และเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ งานสำคัญงานหนึ่งที่ทรงมีโอกาสรับสนองพระมหากรุณาธิคุณ คือ การร่วมเสด็จพระราชดำเนินออกรับแขกเมือง เจ้าหญิงแห่งแคว้นแสนหวี ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เนื่องจากแคว้นแสนหวีมีเขตแดนใกล้ชิดกับล้านนา จึงมีสำเนียงภาษาและวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน ในวันนั้นทรงฉลองพระองค์ในชุดเจ้านายฝ่ายเหนืออย่างเต็มพระยศ

พ.ศ. ๒๔๔๙ ขณะมีพระชนมายุ ๓๓ พรรษา เริ่มประชวรด้วยพระโรคปอดในระยะเริ่มแรก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แพทย์หลวงถวายการรักษาพยาบาลโดยรีบด่วน ทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จไปประทับรับอากาศบริสุทธิ์ที่อ่างศิลา จังหวัดชลบุรี อันเป็นกรณีพิเศษสำหรับฝ่ายใน พร้อมทั้งโปรดเกล้าฯ ส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นตามไปถวายการรักษา

พ.ศ. ๒๔๕๑ เมื่อเจ้าอินทวโรรส เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๘ เสด็จเข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ได้ตัดสินพระทัยกราบถวายบังคมลากลับไปเยี่ยมพระประยูรญาติพร้อมพระเชษฐา เพราะนับแต่เสด็จประทับอยู่ ณ กรุงเทพฯ เป็นเวลาถึง ๒๒ ปีแล้ว ก็ยังมิเคยเสด็จกลับอีกเลย แม้แต่เมื่อพระบิดาถึงแก่พิราลัยในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ ก็ตาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตพร้อมกับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศเป็นพระราชชายา เจ้าดารารัศมี โดยมีพระฐานะเป็นพระภรรยาเจ้า อันเป็นพระอิสริยยศที่ทรงสถาปนาเป็นครั้งแรกในรัชกาล ครั้นถึงวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๑ จึงกราบถวายบังคมลาเสด็จสู่นครเชียงใหม่ทางรถไฟเพื่อลงเรือที่ปากนํ้าโพ มีพระมหากรุณาธิคุณส่งเสด็จที่สถานีรถไฟสามเสน ตลอดระยะเสด็จพระดำเนินทรงได้รับการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติเสมอพระอัครชายา จนกระทั่งถึงนครเชียงใหม่ ในวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๒ รวมระยะเวลาเดินทางทั้งสิ้น ๓ เดือน ข้าราชการตลอดจนประชาชนชาวเชียงใหม่พร้อมใจกันจัดขบวนกองเกียรติยศถวายการต้อนรับอย่างมโหฬารยิ่ง

ตลอดระยะเวลาที่ประทับอยู่ ณ นครเชียงใหม่เป็นเวลา ๗ เดือนเศษนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระมหากรุณาธิคุณส่งพระราชหัตถเลขาและพระราชโทรเลขหลายสิบฉบับ มีข้อความแสดงถึงนํ้าพระทัยที่ทรงมีความรักความห่วงใยและความระลึกถึง มีพระทัยใส่ในการธุระต่างๆ ให้แก่พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ตลอดจนทรงแสดงไมตรีจิตต่อพระประยูรญาติทางเชียงใหม่อีกด้วย นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯ พระราชทานสิ่งของต่างๆ ส่งขึ้นไปยังเมืองเหนือเสมอ ดังเช่น ได้พระราชทานหีบพระศรีทองคำลงยาประดับเพชรจารึกพระปรมาภิไธย จปร. ที่หลังหีบ ส่วนฝาหีบมีคำจารึกว่า

“หีบบรรจุคำอำนวยพรแลความ
คิดถึงของจุฬาลงกรณ์ ส่งไปให้
แก่ดารารัศมีผู้เป็นที่รัก เมื่อ
อายุครบสามรอบบริบูรณ์”

พร้อมกับหีบพระศรีใบนั้น ได้มีพระราชหัตถเลขาที่พระราชทานปรากฏข้อความดังนี้

วันที่ ๖ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๗

ดารา

ด้วยนึกถึงอายุเจ้าเต็มสามรอบ ได้คิดไว้แล้วว่าจะให้ของขวัญเผอิญประจวบเวลาไม่อยู่จะให้ก่อนขึ้นไป ทำไม่ทัน จึงได้จัดของส่งขึ้นมาด้วยหวังว่าจะได้รับที่เชียงใหม่ไม่ช้ากว่าวันไปถึงเท่าใด ขออำนวยพรให้มีอายุยืนยาวหายเจ็บไข้ กลับลงมาโดยความสุขสบาย ทุกประการ ขอให้ดูหนังสือที่เขียนไว้ข้างในหลังหีบหน่อย เผลอไปจะไม่ได้อ่าน ขอบอก ความคิดถึงอยู่เสมอไม่ขาด ตัวไปเที่ยวเองทิ้งอยู่ข้างหลังไม่ห่วง แต่ครั้นเวลาเจ้าจากไป รู้สึกเป็นห่วงมากจริงๆ

(พระบรมนามาภิธัย) จุฬาลงกรณ์ ปร.

พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ได้ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจที่เป็นการเสริมสร้างพระบารมีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้แผ่ไพศาลทั่วมณฑลพายัพ ก่อให้เกิดคุณประโยชน์นานัปการ อาทิเช่น เสด็จเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นอำเภอที่ทุรกันดาร ทรงเป็นผู้แทนพระองค์เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับเจ้านายฝ่ายเหนือและเหล่าข้าราชการทั้งปวง และทรงนำศิลปวัฒนธรรมของภาคกลางไปเผยแพร่ให้ชาวเหนือได้ชื่นชม เมื่อประทับอยู่จนสมควรแก่เวลาแล้ว จึงกำหนดเสด็จจากนครเชียงใหม่ ในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๒ โดยกระบวนเรือราว ๑๐๐ ลำ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิน โดยเรือยนต์พระที่นั่งไปรับที่จังหวัดอ่างทอง จากนั้น เสด็จฯ ไปประทับพักผ่อน ณ พระราชวังบางปะอิน พระนครศรีอยุธยา เป็นเวลา ๒ คืน ในครั้งนี้ทรงได้รับพระราชทานสร้อยพระกรประดับเพชรเป็นของขวัญ ครั้นเสด็จถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จไปประทับ ณ พระตำหนักสวนฝรั่งกังไส ซึ่งสร้างขึ้นพระราชทานพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ในพระราชวังดุสิต แต่หลังจากเสด็จฯ ประทับที่กรุงเทพฯ เพียง ๑๑ เดือน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ได้ประทับ ณ พระตำหนักแห่งใหม่ต่อมาอีก เป็นเวลาหลายปี การดำเนินพระชนมชีพในช่วงระยะเวลานี้แม้จะมีความผาสุกและสะดวกสบายภายใต้ พระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ แต่ก็คงจะไม่ทรงสำราญพระหฤทัยนัก ดังนั้น ใน พ.ศ. ๒๔๕๗ เมื่อเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ ๙ เสด็จลงมากรุงเทพฯ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท จึงทรงตัดสินพระทัยกราบถวายบังคมลาเพื่อเสด็จกลับนครเชียงใหม่พร้อมกับพระเชษฐา ดังทรงมีหนังสือกราบบังคมทูล มีใจความสะท้อนถึงความรู้สึกส่วนลึกในพระหฤทัยและเหตุผลส่วนพระองค์ ดังนี้

วันที่ ๓ ธันวาคม พระพุทธศักราช ๒๔๕๗

ขอพระราชทานกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท

ด้วยข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระราชทานพระราชวโรกาสกราบบังคมทูลตามความจริงใจชีวิตอยู่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท พระราชอาญาไม่พ้นเกล้าฯ ข้าพระพุทธเจ้าไม่มีที่จะแลเห็นแลที่หวังที่ไหน นอกจากพระมหากรุณาธิคุณใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ตามที่ได้ทรงพระกรุณาชุบเกล้าชุบกระหม่อมให้คงยศถาบรรดาศักดิ์ความสุขสำราญพร้อม ไม่มีสิ่งใด บกพร่อง เป็นพระเดชพระคุณอย่างรู้สึกซึ้ง ไม่มีคำใดที่จะกราบบังคมทูลให้พอกับความรู้สึกในใจได้ แต่ความเป็นไปในชีวิตของข้าพระพุทธเจ้าทุกวันนี้ไม่มีอะไรเลย นอกจากรับประทานแล้วนั่งๆ นอนๆ คอยท่าความตาย เวลาสบายร่างกายเป็นปรกติ ก็ได้รับความสุข ไม่มีสิ่งใดจะเดือดร้อน ถ้าเวลาไหนไม่สบายโรคภัยเบียดเบียนทำให้คับใจแลทรุดโทรมมากกว่าที่ควรโทรม ตัวข้าพระพุทธเจ้าต้องนับว่าตัวคนเดียวแท้ๆ ลูกก็ไม่มี พี่น้องที่พอจะอาศัยได้ก็อยู่ห่างไกลกัน เวลากลุ้มขึ้นมาคิดไปไหนก็ไม่สำเร็จ ที่สวนที่บ้านซึ่งพอจะได้ไปยืดเส้นยืดสายแก้รำคาญก็ไม่มี ครั้นจะไปตากอากาศตามที่ต่างๆ ก็ไม่มีผู้รับรองแลพาหนะกำลังพอที่จะไปเองได้ นอกจากจะต้องอาศัยของหลวง ทำให้เปลืองพระราชทรัพย์แลทั้งส่วนตัวด้วยโดยไม่จำเป็น โดยความขัดข้องตามที่ได้กราบบังคมทูลมานี้เวลานี้ก็เป็นโอกาสอันดีที่เจ้า
แก้วนวรัฐลงมา ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานกราบถวายบังคมลาขึ้นไปเชียงใหม่พร้อมกับเจ้าแก้วนวรัฐชั่วคราว พอจะได้เปลี่ยนอิริยาบถเสียอีกสักครั้งหนึ่ง การที่จะขึ้นไปนี้เจ้าแก้วนวรัฐก็รับรอง

ข้าพระพุทธเจ้าได้ลงมาอยู่เป็นข้าตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจนตลอดมาถึงใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเกือบ ๓๐ ปีแล้ว ยังไม่เคยได้ทำความเสื่อมเสียเกียรติยศ ซึ่งได้ทรงพระมหากรุณาชุบย้อมมาเลย แลทั้งแน่ใจแลเชื่อใจตนเองว่าคงจะไม่ประพฤติในสิ่งที่เสื่อมเสียให้ขุ่นเคืองมาถึงใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเป็นอันขาด

การที่ข้าพระพุทธเจ้ากราบบังคมทูลมานี้ ก็โดยหวังในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เป็นร่มโพธิร่มไทร และเชื่อในพระมหากรุณาธิคุณว่าทรงหวังดีต่อพวกข้าพระพุทธเจ้าทั่วไป ชีวิตจิตใจความสุขแลทุกข์โดยพระมหากรุณา

ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า
ดารา

พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ได้เสด็จฯ จากกรุงเทพฯ ในวันที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๗ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดขบวนเสด็จอย่างสมพระเกียรติดังเช่นครั้งก่อน หากแต่พระราชชายาฯ ทรงขอพระราชทานให้งดเสีย เนื่องจากมีพระประยูรญาติฝ่ายเหนือรับผิดชอบอยู่แล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพญาพิทักษ์เทวีคนใหม่เพื่อเป็นพระเกียรติยศ สืบแทนพญาพิทักษ์เทวีคนเดิมซึ่งถึงแก่กรรม การเดินทางโดยขบวนรถไฟทรงแวะพิษณุโลก แพร่ ลำปาง ลำพูน จนกระทั่งถึงเขียงใหม่ ในวันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๗ เสด็จประทับ ณ คุ้มท่าเจดีย์กิ่ว ริมแม่น้ำปิง

การเสด็จกลับสู่ปิตุภูมิครั้งนี้ ทรงได้รับการยกย่องว่าเสด็จมาเป็นศรีแห่งเมืองเชียงใหม่โดยแท้ ด้วยทรงสละความสุขสบายส่วนพระองค์ออกบำเพ็ญพระกรณียกิจอันเป็นคุณประโยชน์นานัปการ คือ

ด้านพระศาสนา

การที่ทรงเลื่อมใสศรัทธาต่อพระพุทธศาสนามาแต่ทรงพระเยาว์ ดังนั้นเมื่อทรงดำรงพระฐานะที่จะประกอบพระกรณียกิจทางด้านนี้ได้อย่างเต็มที่แล้ว จึงทรงมุ่งทะนุบำรุงกิจการในพระศาสนาเป็นจำนวนมาก เช่น ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ รวมทั้งสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ถวายเป็นพระศาสนสมบัติแก่พระอารามต่างๆ นอกจากนี้ยังทรงถวายปวารณาช่วยเหลือพระภิกษุชาวเหนือให้ได้ลงไปศึกษา พระปริยัติธรรมทางใต้ และทรงอุปสมบทพระภิกษุสามเณรอยู่เสมอมิได้ขาด

ด้านการศึกษา
ทรงเล็งเห็นความสำคัญด้านการศึกษาของเยาวชน จึงประทานที่ดินสร้างโรงเรียน คือ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ทรงสละเวลาส่วนพระองค์ประทานคำปรึกษา แนะนำ รับเป็นกรรมการจัดตั้งโรงเรียนต่างๆ ในเชียงใหม่ ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์โรงเรียนดาราวิทยาลัย โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ ประทานทุนทรัพย์เป็นทุนการศึกษาแก่นักเรียน ทรงรับภาระส่งเด็กเข้าศึกษาที่โรงเรียนฝึกหัดกสิกรรม ที่อำเภอทับกวาง จังหวัดสระบุรี และทรงเป็นประธานจัดตั้งหอสมุดประจำจังหวัดเชียงใหม่

ด้านการเกษตร
ทรงสนพระทัยในการปลูกต้นไม้แต่งสวนตั้งแต่ประทับภายในพระบรมมหาราชวัง เมื่อเสด็จมาประทับยังเชียงใหม่ทรงริเริ่ม บุกเบิก และพัฒนาการเกษตรภาคเหนือให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น โดยทรงซื้อที่ดินบริเวณอำเภอแม่ริม สร้างเป็นสวนทดลองเกษตรกรรมประทานนามว่าสวนเจ้าสบาย และปลูกพระตำหนักดาราภิรมย์ ณ ที่นั้น ทรงริเริ่มโครงการปลูกพืชผักเมืองหนาว เช่น แคนตาลูป เชอรี่ แอปเปิล บิทรูท แครอท กะหลํ่าปลีสีม่วง ข้าวโพดพันธุ์ต่างประเทศ และไม้ดอกประดับ ไม้ดอกกลิ่นหอมนานาพันธุ์ ประสบผลสำเร็จเผยแพร่ไปสู่ชาวเมือง กลายเป็นสินค้าสำคัญของเชียงใหม่ การทรงเป็นสมาชิกสมาคมกุหลาบแห่งประเทศไทยจึงทรงได้รับกิ่งพันธุ์จากต่างประเทศหลายพันธุ์ มีพันธุ์ที่โปรดที่สุดเนื่องจากมีดอกใหญ่ สีชมพูสวยสด กลิ่นหอมเย็น จึงทรงตั้งชื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ว่า “จุฬาลงกรณ์”

ด้านศิลปวัฒนธรรม
ในด้านนาฏศิลป์ ดนตรี และละคร ทรงสนพระทัยยิ่งด้วยโปรดการฟ้อนรำมาแต่ทรงพระเยาว์ เนื่องจากทรงได้รับการถ่ายทอดจากพระบิดา ซึ่งเชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ และเป็นผู้ริเริ่มแบบแผนนาฏศิลป์ของเชียงใหม่ พระองค์เองก็ได้ทรงคิดประดิษฐ์การฟ้อนพื้นเมืองเหนือเป็นที่นิยมจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ การฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน ฟ้อนม่านเม่เล้ ฟ้อนมอญหรือฟ้อนผีมด ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา ที่ทรงดัดแปลงจากการฟ้อนในราชสำนักพม่า ทรงเอาพระทัยใส่จนแทบจะยึดถือเป็นกิจวัตรประจำวันในการฝึกหัด ลูกหลานเจ้านายฝ่ายเหนือเป็นช่างฟ้อนประจำวังเพื่อแสดงในวันเฉลิมฉลองต่างๆ และยังโปรดให้จัดส่งครูสอนการฟ้อนไปถ่ายทอดให้แก่นักเรียนในโรงเรียนสตรีของเชียงใหม่ ด้านการละคร ทรงสนพระทัยมาแต่ครั้งประทับที่กรุงเทพฯ มีพระอุตสาหะจัดละครรำจากบทพระราชนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ นราธิปประพันธ์พงศ์ เช่น เรื่องอิเหนา พระลอ สาวเครือฟ้า ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่งขึ้นไปพระราชทานมาฝึกซ้อมให้คณะละครรำของเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ ๘ แสดงให้ชาวเชียงใหม่ชม ด้านดนตรีก็ทรงสนับสนุนพระญาติวงศ์ฝ่ายเหนือรํ่าเรียนวิชาดนตรีไทยและการขับร้องเพลงไทยจากครูผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน และท่านเหล่านี้เมื่อตามเสด็จกลับเชียงใหม่แล้วได้มีส่วนในการถ่ายทอดวิชาดนตรีไทยให้แพร่หลายในภาคเหนือ นอกจากนี้ยังโปรดให้จัดหาครูดนตรีไทยขึ้นไปประจำวังหลายท่านเพื่อสอนด้านมโหรีและปี่พาทย์อีกด้วย

ด้านวรรณกรรม
มีพระปรีชาในด้านการแต่งบทประพันธ์ทั้งโคลง กลอน สักวา ทรงมีผลงานพระนิพนธ์บทขับร้องเพลงซอที่ไพเราะถวายพระราชสดุดีพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลภาคพายัพ ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ และพระนิพนธ์บทระบำซอสมโภชช้างพลายสำคัญ ซึ่งทางเชียงใหม่น้อมเกล้าฯ ถวายในวาระนี้ ทรงสนับสนุนศิลปะพื้นบ้านคือค่าวซอ ด้วยการฝึกหัดช่างซอ หรือนักร้องเพลงพื้นเมือง และทรงให้ความอุปถัมภ์แก่กวีล้านนาผู้มีความสามารถในการแต่งบทค่าวซอ

ด้านหัตถกรรม
การที่เคยเสด็จประทับ ณ พระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นศูนย์รวมของศิลปหัตถกรรมชั้นเลิศหลายแขนง จึงเกิดความสนพระทัย ประกอบกับมีฝีพระหัตถ์ในเรื่องการเย็บปกถักร้อย เช่น การปักสดึง การถักนิตติ้ง อยู่แล้ว จึงมีพระดำริที่จะทำการอุปถัมภ์ฟื้นฟูงานด้านศิลปหัตถกรรม โดยเฉพาะศิลปะพื้นบ้าน การทอซิ่นยกดอก ซิ่นตีนจกของล้านนา ได้ทรงนำซิ่นยกดอกจกด้วยมือใช้ไหมทอง พระมรดกจากพระมารดา ซึ่งมีเพียงผืนเดียวเป็นตัวอย่างในการเก็บลายและประดิษฐ์ลายด้วยพระองค์เอง ทรงรวบรวมผู้ชำนาญในการทอซิ่นจากหมู่บ้านวัดดวงดีมาสอนการทอกี่ ในบริเวณพระตำหนักที่ประทับประทานโอกาสให้บุคคลต่างๆ ที่สนใจสามารถเข้ามาเรียนการทอผ้าแบบนี้ได้ เป็นผลให้ศิลปะการทอซิ่นยกดอกจกแบบโบราณ ที่เกือบจะสูญหายได้กลับแพร่หลายเป็นที่นิยมไปยังจังหวัดอื่นๆ ในภาคเหนือ แม้งานด้านฝีมือเย็บใบตอง และดอกไม้สด เช่น การทำบายศรี ร้อยมาลัย จัดพุ่ม ร้อยตาข่าย ก็ทรงรวบรวมผู้มีฝีมือมาฝึกสอนที่พระตำหนักเช่นกัน โดยใช้ดอกไม้สดที่ปลูกไว้ในสวนของพระองค์เอง ทรงฝึกหัดข้าหลวงให้ชำนาญด้านการแกะสลักผัก ปอกผลไม้ เคี่ยวขี้ผึ้งทำเทียน เป็นต้น พระตำหนักของพระองค์จึงเป็นเสมือนศูนย์การฝึกศิลปาชีพ อันก่อให้เกิดช่างฝีมือและผลงานสืบสานมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่เป็นสิ่งเชิดหน้าชูตาแก่ทาง เชียงใหม่ต่อไป

ด้านสาธารณประโยชน์อื่นๆ
ได้ทรงบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างตึกที่โรงพยาบาลแมคคอมิค และซื้อรถยนต์ประทานสถานีอนามัย เป็นต้น

ด้านโบราณคดี
พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ทรงมีสุขภาพพลานามัยแข็งแรง พระทัยกล้าหาญ โปรดที่จะทรงช้างหรือม้า เสด็จประพาสตามอำเภอท้องถิ่นต่างๆ เพื่อทอดพระเนตรภูมิประเทศชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร และมีโอกาสชมโบราณสถาน นมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ บางครั้งต้องประทับแรมในป่า ได้เคยทรงม้าเสด็จถึงยอดดอยอ่างกาหลวง ซึ่งสูงที่สุดในประเทศไทย และได้นำพระอัฐิเจ้าอินทวิชยานนท์พระบิดา ขึ้นไปประดิษฐานในพระสถูปบนยอดดอยแห่งนี้ ด้วยเหตุนี้ชื่ออ่างกาหลวงจึงเปลี่ยนเป็นดอยอินทนนท์จนทุกวันนี้ จากการที่สนพระทัยใฝ่ศึกษาเรื่องราวต่างๆ อยู่เสมอ จึงทรงรอบรู้และเชี่ยวชาญวิชาการด้านโบราณคดี โดยเฉพาะเรื่องเงินตราโบราณของทางเหนือ ทรงได้รับยกย่องจากสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า มีความชำนาญเกี่ยวกับพงศาวดารเมืองเหนือ และโบราณคดีในภาคเหนือดีกว่าใครๆ ในมณฑลพายัพ ทรงเป็นผู้มีชื่อเสียงและได้รับการเคารพยกย่องจากนักโบราณคดี ตลอดจนชาวต่างประเทศที่ทำการศึกษา ค้นคว้าวิจัยเรื่องราวของภาคเหนือเป็นอย่างยิ่ง

พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ทรงมีความจงรักภักดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกพระองค์ ตลอดจนเจ้านายในพระราชวงศ์จักรีอย่างไม่เสื่อมคลาย ทรงพร้อมที่จะอุทิศพระองค์เพื่อรับใช้เมื่อมีโอกาส ดังเช่นเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี เสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ พ.ศ. ๒๔๖๙ พระราชชายาฯ ก็ทรงเป็นองค์ประธานและที่ปรึกษาในการจัดเตรียมงานรับเสด็จอย่างสมพระเกียรติแห่งพระมหากษัตริยาธิราช ด้วยทรงรอบรู้ในขนบธรรมเนียมทั้งฝ่ายเหนือ และฝ่ายใต้เป็นอย่างดี การจัดริ้วกระบวนถวายการรับเสด็จนั้นดำเนินในรูปแบบอันเป็นเอกลักษณ์ของล้านนาโดยเฉพาะ อาทิ ขบวนแห่บายศรีทูลพระขวัญ ขบวนรำฟ้อน และการโปรยข้าวตอกดอกไม้ ของเจ้านายฝ่ายเหนือ ขบวนแห่ช้างแต่งเครื่องอย่างโบราณ ขบวนชาวเขาเผ่าต่างๆ กล่าวกันว่า เป็นงานที่งดงามเป็นที่ประทับใจ ซึ่งการวางรูปแบบการจัดงานในครั้งนั้นได้กลายเป็นแบบแผนแก่ชาวเชียงใหม่ได้ใช้ในการจัดเตรียมงานรับเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งพระราชอาคันตุกะที่มาเยือนเชียงใหม่ในปัจจุบัน ในส่วนพระอัธยาศัยทรงวางพระองค์ได้เหมาะสมกับกาลเทศะ สงบเสงี่ยมและสง่างามอยู่เสมอ ทรงได้รับพระเมตตาปรานีจากพระบรมวงศานุวงศ์แห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์หลายพระองค์ ซึ่งได้ทรงติดต่ออย่างใกล้ชิดเสมอมา แม้เสด็จกลับยังนครเชียงใหม่แล้วก็ตาม นํ้าพระทัยที่โอบอ้อมอารี เอื้อเฟ้อเผื่อแผ่ ช่างรับสั่งโอภาปราศรัย ทำให้ทรงเป็นที่รักใคร่นับถือของบรรดาพระสนมกำนัลใหญ่น้อยตลอดจนข้าราชบริพารทุกระดับ แม้จะเสด็จประทับอยู่ ณ กรุงเทพฯ เกือบจะกึ่งพระชนมชีพ แต่ก็ไม่ทรงลืมบ้านเกิดเมืองนอน ทรงให้การอุปการะแก่พระญาติวงศ์ทางฝ่ายเหนือตลอดเวลา และจากการที่ทรงมีความสามารถพิเศษในการเป็นผู้นำ จึงทรงได้รับความนิยมยกย่องจากประชาชน พ่อค้าคฤหบดี ตลอดจนชาวต่างประเทศที่พากันมาเฝ้าแหนด้วยความเคารพอยู่เสมอ ในด้านกิจการงานบ้านเมืองก็มีพระกรณียกิจ ประทานคำปรึกษาแก่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มารับราชการมณฑลพายัพอย่างเต็มพระทัย

เกี่ยวกับพระจริยวัตรและพระอัธยาศัยอันประเสริฐนั้น หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า

“ทุกคนที่เคยได้เฝ้าพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ที่ในพระบรมมหาราชวัง ในเวลาที่ประทับอยู่ในหมู่เจ้าจอมมารดาผู้ใหญ่ด้วยกันก็ดี ได้เฝ้าในเวลาเสด็จประทับเป็นประธาน อยู่ในหมู่ข้าราชการทั้งใต้และเหนือ ในเมืองเชียงใหม่ก็ดี ถ้าไม่ดูให้ดีก็จะรู้ไม่ได้เลยว่า พระราชชายาฯ ในที่ ๒ แห่งนั้นพระองค์เดียวกัน ทั้งนี้เพราะทรงสามารถแยกกาลเทศะได้เป็นยอดเยี่ยม พระราชชายาฯ ในพระบรมมหาราชวัง ไม่ทรงมียศมีศักดิ์ ไม่มีความสำคัญอันใด สมกับคำที่พวกเจ้าจอมด้วยกันเรียกว่า เจ้าน้อย เจ้าน้อยไม่มีความรู้อะไร เจ้าน้อยนั่งนิ่งๆ อมยิ้มในสิ่งที่ไม่มีสาระรอบๆ ตัวเองได้อย่างสบาย ทุกคนในที่นั้นก็ไม่มีใคร รู้จักพระองค์ท่านได้ นอกจากคำว่า เจ้าน้อย แต่ถ้าผู้ใดขึ้นไปเฝ้าที่เมืองเชียงใหม่ ผู้นั้นจะได้เฝ้าเจ้าหญิงผู้เป็นหลักของบ้านเมือง ประทับอยู่ในระหว่างข้าราชการทั้งฝ่ายใต้และเหนือ เวลาตรัสกับพวกใต้ก็ตรัสภาษาใต้อย่างชัดเจน ถ้าหันไปตรัสทางฝ่ายเหนือก็ชัดเป็นฝ่ายเหนือไม่มีแปร่ง ตรัสไต่ถามทุกข์สุขและแนะนำทั้งในทางราชการและส่วนตัวด้วยความ เหมาะสมแก่พระเกียรติยศ ทรงชนะใจผู้ที่ได้เฝ้าแล้วได้เกือบหมดไม่เว้นตัวข้าราชการฝ่ายใต้ถวายความเคารพและใช้คำเพ็ดทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าใต้ฝ่าพระบาท และพ่ะย่ะค่ะ เช่นเดียวกับทูลเจ้านายฝ่ายใต้ในพระราชวงศ์จักรี แม้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ตรัสสั่งพระธิดาว่า “กราบเจ้าป้าลงกับพื้นเถิดลูก เพราะไม่มีสิ่งใดที่ควรจะรังเกียจ แม้กำเนิดท่านก็เกิดมาในเศวตฉัตรเหมือนกัน”

พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ทรงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ดังนี้คือ

ปฐมจุลจอมเกล้าฯ พร้อมด้วยดาราจุลจอมเกล้าฯ
มหาวชิรมงกุฎ
ปถมาภรณ์มงกุฎสยาม
เหรียญรัตนาภรณ์ จ.ป.ร. ลงยากรอบประดับเพชรรัชกาลที่ ๕
เหรียญรัตนาภรณ์ ว.ป.ร. ลงยากรอบประดับเพชรรัชกาลที่ ๖
เหรียญรัตนาภรณ์ ป.ป.ร. ลงยากรอบประดับเพชรรัชกาลที่ ๗
เข็มพระปรมาภิไธย รัชกาลที่ ๖ ประดับเพชรล้วน

นอกจากนี้ ในครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระอิสริยยศพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ขึ้นเป็นที่พระอัครชายาเธอ แต่ทรงกราบบังคมทูลขอรับพระราชทานพระอิสริยยศเพียงเท่าเดิม ด้วยเกรงว่าจะทรงรักษาพระเกียรติยศที่สูงยิ่งขึ้นไปไม่ได้งดงามพอ

ในบั้นปลายพระชนมชีพได้ประทับอย่างสงบสุขตลอดมา ณ พระตำหนักดาราภิรมย์ สวนเจ้าสบาย อำเภอแม่ริม มีพระวรกายสูงโปร่ง พระฉวีค่อนข้างขาวนวล พระเนตรดุแต่ก็แฝงไปด้วยความเมตตาปรานี มักจะแต่งองค์ด้วยซิ่นลายขวางตามแบบชาวเหนือ และทรงเสื้อสีขาว แขนยาว เกล้าพระเกศาทรงสูง มักมีหวีสับหรือปิ่นทองปักพระเกศา มีพระพลานามัยแข็งแรง จนกระทั่งวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖ พระโรคปับผาสะพิการ ซึ่งเคยเป็นอยู่เดิมกำเริบขึ้น แพทย์ทั้งชาวไทยและต่างประเทศถวายการรักษาอย่างเต็มความสามารถ พระอาการไม่ทุเลา เจ้าแก้วนวรัฐพระเชษฐา เชิญเสด็จประทับที่คุ้มรินแก้วเพื่อสะดวกต่อการถวายการดูแลรักษา พร้อมทั้งสั่งซื้อเครื่องเอกซเรย์จากชวามาช่วยตรวจการรักษา แต่ไม่เกิดผลดีประการใด จนถึงวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้สิ้นพระชนม์เมื่อเวลา ๑๕.๑๔ น. ท่ามกลางความเศร้าสลดพระทัย และความเศร้าโศกเสียใจอาลัยรักของบุคคลทุกฐานันดรที่เฝ้าห่วงใยในพระอาการตลอดมา จนถึงวาระสุดท้ายแห่งพระชนมชีพ สิริรวมพระชนมายุ ๖๐ พรรษา ๓ เดือน ๑๓ วัน รวมระยะเวลาที่ประทับที่นครเชียงใหม่ครั้งสุดท้าย ๑๘ ปี ๑๑ เดือนเศษ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระศพเป็นงานหลวง พระราชทานเครื่องประกอบพระเกียรติยศ อันได้แก่ นํ้าพระสุคนธ์สรงพระศพ พระโกศอัฐิทองคำ กระบวนแห่ เครื่องสูงประกอบพระเกียรติยศ สร้างพระเมรุพระราชทานเพลิงที่วัดสวนดอก นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้มีการไว้ทุกข์ในพระราชสำนักถวายเป็นเวลา ๗ วัน พระอัฐิภายหลังจากพระราชทานเพลิงส่วนหนึ่งบรรจุไว้ที่พระกู่สุสานหลวงของราชวงศ์เชียงใหม่ อีกส่วนหนึ่งนำมาบรรจุไว้ในอาคารเดียวกันกับที่บรรจุพระอัฐิพระราชธิดา ณ สุสานหลวงวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ได้ทรงปฏิบัติพระราชภาระหน้าที่ในฐานะพระธิดาพระเจ้าแผ่นดินแห่งอาณาจักรล้านนาได้อย่างสมพระเกียรติยศ ด้วยพระทัยเด็ดเดี่ยว มั่นคง การที่ทรงเสียสละละจากบ้านเกิดเมืองนอนไปประทับในถิ่นฐานที่ต่างด้วยผู้คน ระเบียบแบบแผน วัฒนธรรม ประเพณี ที่มิได้ทรงคุ้นเคย เป็นเวลานานเกือบจะกึ่งหนึ่งของพระชนมชีพ เป็นเครื่องแสดงว่ามีพระขันติบารมีอันเปี่ยมล้นอุดม ด้วยพระสติปัญญาอันแสดงด้วยพระอัจฉริยภาพอันสูงส่ง ตราบจนทุกวันนี้แม้จะสิ้นพระชนม์นานกว่า ๕๐ ปี แล้วก็ตาม พระนามของพระองค์ยังคงเป็นที่กล่าวขานยกย่องและเคารพเทิดทูนจากอาณาประชาราษฎร์ ทั้งปวงมิเฉพาะแต่ชาวเชียงใหม่ ได้มีการก่อตั้งอนุสรณ์ต่างๆ เพื่อรำลึกถึงอยู่เสมอ ได้แก่

-พระอนุสาวรีย์ประทับนั่งเต็มพระองค์ ประดิษฐานหน้าตำหนักดาราภิรมย์ ค่ายดารารัศมี อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๕

-ค่ายดารารัศมี กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๕ ซึ่งตั้งอยู่ที่บริเวณตำหนัก ดาราภิรมย์ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ อัญเชิญพระนามมาตั้งเป็นชื่อค่ายเพื่อเทิดพระเกียรติ

-โรงเรียนดาราวิทยาลัย โรงเรียนสตรีขนาดใหญ่ของเชียงใหม่ ซึ่งพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์มาจนตลอดพระชนม์ชีพ ทางโรงเรียนจะจัดวันดารารัศมีเพื่อน้อมระลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ทุกวันที่ ๙ ธันวาคม ของทุกปี นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งมูลนิธิดารารัศมี เป็นทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนของโรงเรียน

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: ฤดีรัตน์ กายราศ

พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา

เป็นที่ประจักษ์ว่า ในรัชสมัยแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ บ้านเมืองมีความเปลี่ยนแปลงเจริญรุดหน้าในทุกด้าน ซึ่งมีผลเป็นความมั่นคงและเป็น พื้นฐานในการพัฒนาประเทศสืบมาจนทุกวันนี้พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา

และก็เป็นที่ยอมรับกันว่าพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ทั้งปวง ซึ่งสำเร็จลุล่วงด้วยดีนั้นก็เพราะพระอัจฉริยภาพ และพระปรีชาญาณอันลึกซึ้งในการดำเนินวิเทโศบายด้วยประการต่างๆ และที่สำคัญทรงมีผู้ช่วยอย่างที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า แขน ขา ซึ่งได้แก่ พระเจ้าน้องยาเธอ พระราชโอรส พระบรมวงศานุวงศ์ และแม้แต่ “ฝ่ายใน” อันได้แก่ พระอัครมเหสี พระมเหสี พระอัครชายา เจ้าจอม พระราชธิดา และเหล่าข้าราชบริพารทั้งปวง ที่พร้อมใจกันทำราชการสนองพระเดชพระคุณอย่างเต็มความสามารถ ทำให้แผ่นดินแห่งพระพุทธเจ้าหลวงเป็นช่วงระยะเวลาที่พสกนิกรอาณาประชาราษฎร์ทั้งปวง อยู่เย็นเป็นสุขตลอดทั่วทั้ง ขอบขัณฑสีมา

เมื่อกล่าวถึง “ฝ่ายใน” อันมีความหมายรวมตั้งแต่ พระอัครมเหสี พระมเหสี พระอัครชายา เจ้าจอม พระราชธิดา จนถึงข้าราชสำนักผู้ปฏิบัติราชการในเขตพระราชฐานชั้นใน ซึ่งปฏิบัติกิจถวายในส่วนพระองค์ ให้ทรงพระเกษมสำราญ และรับผิดชอบดูแลการทั้งปวง ให้เป็นไปตามโบราณราชประเพณี ตามที่มีกำหนดไว้ในกฎมณเฑียรบาลนั้น ราชสำนักในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นราชสำนักที่มีเหตุการณ์เรื่องราวน่าสนใจ น่าศึกษา ดังที่มีผู้นำมาเขียน นำมาเล่ากันไว้เป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์อีกด้านหนึ่งของรัชกาลนี้ และแน่นอนว่าเรื่องราวที่กล่าวขานกันสืบมานี้ย่อมมีเรื่องราวอันเกี่ยวเนื่องถึงพระคุณลักษณะและพระจริยวัตรในพระอัครชายาพระองค์หนึ่ง ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณปกเกล้าปกกระหม่อมให้รับราชการ สนองพระเดชพระคุณ ทรงได้รับการยกย่องทั้งในความดีความชอบ และในพระบรมราชสัมพันธ์อันสนิทตราบจนสิ้นรัชกาล พระอัครชายาพระองค์นี้ ได้รับพระราชทานอิสริยยศสูงสุด ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา

พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ทรงมีฐานันดรศักด์เมื่อแรกประสูติว่า หม่อมเจ้าสาย เป็นพระธิดาในพระองค์เจ้าลดาวัลย์ กรมหมื่นภูมินทรภักดี และหม่อมจีนเป็นพระมารดา (หม่อมจีนนี้ต่อมาได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นเจ้าจอมมารดาจีนด้วยมีหลานดำรงพระอิสริยยศพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า) ประสูติเมื่อวันศุกร์ที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๐๖ เป็นพระธิดาองค์เล็กมี พระเชษฐภคินีร่วมพระมารดาอีก ๒ พระองค์ คือ หม่อมเจ้าบัว และหม่อมเจ้าปิ๋ว ซึ่ง ๓ พระองค์นี้ ผู้ที่คุ้นเคยออกพระนามเรียกว่า ท่านองค์ใหญ่ ท่านองค์กลาง และท่านองค์เล็ก ตามลำดับ

พระวิมาดาเธอฯ และพระเชษฐภคินีทั้ง ๒ พระองค์นี้ พระบิดาได้นำถวายตัวให้เป็นข้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ยังมิได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ด้วยเหตุนี้ เมื่อพระบิดาสิ้นพระชนม์ จึงต้องเข้ามาอยู่ในวังหลวง และได้อยู่ในพระอุปถัมภ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสุดารัตนราชประยูร (ภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร) จนกระทั่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการสนองพระเดชพระคุณสถาปนาขึ้นเป็นพระอรรคชายาเธอ หม่อมเจ้าสาย ส่วนพระเชษฐภคินีอีก ๒ พระองค์ ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระ อรรคชายาเธอ หม่อมเจ้าอุบลรัตนนารีนาค และพระอรรคชายาเธอ หม่อมเจ้าเสาวภาคนารีรัตน์ และในปี พ.ศ. ๒๔๓๐ พระอรรคชายาเธอ หม่อมเจ้าเสาวภาคนารีรัตน์ สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำริถึงพระจริยวัตรที่ทรงรับราชการฉลองพระเดชพระคุณมาด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ประพฤติพระองค์โดยความเรียบร้อยตราบจนสิ้นพระชนม์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้า มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์ ส่วนพระวิมาดาเธอฯ นั้น ในปีต่อมาคือใน พ.ศ. ๒๔๓๑ ก็ได้รับพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้ดำรงพระอิสริยยศสูงขึ้นเช่นกัน ดังปรากฏความในคำประกาศ ดังนี้

“ศุภมัศดุ พระพุทธสาสนกาล เป็นอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๓๑ พรรษาปัตยุบันกาล มุสิกสังวัจฉรพิสาขมาส กาฬปักษ์ทศมีดิถี โสรวาร ปริเฉทกาลกำหนด พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ฯลฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริห์ว่า พระอรรคชายาเธอ หม่อมเจ้าสาย ได้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณมาช้านาน โดยความซื่อสัตย์สุจริตจงรักภักดีเปนอันมาก มิได้มีระแวงผิดให้เปนที่ขุ่นเคืองพระราชหฤไทย แลเสื่อมเสียพระเกียรติยศแต่สักครั้งหนึ่งเลย ได้ดำรงพระยศเปนพระอรรคชายา มีพระเจ้าลูกเธอหลายพระองค์ ก็มิได้มีความกำเริบวุ่นวายด้วยยศศักดิ์ ประพฤติพระองค์เปนสุภาพเรียบร้อย เหมือนพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์ ซึ่งสิ้นพระชนม์ไปแล้วนั้น เพราะเหตุทั้งปวงอันได้กล่าวไว้ในคำประกาศเลื่อนพระนามพระอรรคชายาพระองค์ก่อนก็เหมือนกับพระอรรคชายาพระองค์นี้ จึงเปนการสมควรที่จะทรงยกย่องพระเกียรติยศไว้ ให้ตั้งอยู่ในตำแหน่งอันสูงศักดิ์ตามที่สมควรนั้นฯ จึงมีพระบรมราชโองการมา ณ พระบัณฑูรสรสิงหนาทดำรัสสั่งให้สฐาปนาพระอรรคชายาเธอ หม่อมเจ้าสาย ขึ้นเปนพระองค์เจ้า มีพระนามตามจาฤกในพระสุพรรณบัตรว่า พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ ให้ทรงศักดินา ๒๐๐๐๐ ตามตำแหน่งพระอรรคชายามีกรมในพระราชกำหนดใหม่ จงทรงเจริญพระชนมายุพรรณศุขพลปฏิภาณ คุณสารสมบัติ สรรพสิริสวัสดิพิพัฒมงคล วิบุลยศุภผล อดุลยเกียรติยศ มโหฬารทุกประการ”

และในศุภวาระเดียวกันนับที่พระวิมาดาเธอฯ ได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระอิสริยยศนั้น พระราชโอรสและพระราชธิดา ๔ พระองค์ ก็ได้รับการเลื่อนพระยศเป็นเจ้าฟ้าตามโบราณราชประเพณี และทุกพระองค์ต่างได้รับการเฉลิมพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้า และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า ต่อมาในภายหลังทั้งสิ้น

พระราชโอรสพระราชธิดาในพระวิมาดาเธอฯ ทุกพระองค์ทรงเป็นที่สนิทเสน่หาในพระบรมชนกนาถเป็นที่ยิ่ง ทั้งนี้ส่วนหนึ่งย่อมเป็นผลจากการอบรมดูแลและวางพื้นฐานทั้งในส่วนของพระจริยวัตรและการ ศึกษาจากผู้เป็นพระมารดามาแต่ทรงพระเยาว์นั่นเอง

พระราชโอรส พระราชธิดาในพระวิมาดาเธอฯ ทั้ง ๔ พระองค์ คือ

๑. พลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ ทรง สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ เสด็จกลับมารับราชการได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ทรงดำรงตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช และเมื่อสิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ในรัชกาลต่อมาทรงได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระยศเป็นนายพลโท ราชองครักษ์สมุหมนตรี ตำแหน่งอุปราชมณฑลปักษ์ใต้ จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยและอภิรัฐมนตรี

พระราชปิโยรสพระองค์เดียวในพระวิมาดาเธอฯ พระองค์นี้ทรงมีวังที่ประทับชื่อว่า “วังลดาวัลย์” ซึ่งพิจารณาจากพระภารกิจแล้วจะเห็นว่าต้องเสด็จประทับ ณ หัวเมืองปักษ์ใต้ ที่จังหวัดสงขลาตลอดมา เมื่อสิ้นรัชกาลพระพุทธเจ้าหลวง พระวิมาดาเธอฯ ได้เสด็จออกจากพระราชวังสวนดุสิตไปประทับกับพระราชโอรสพระองค์นี้ ณ วังลดาวัลย์อยู่ระยะหนึ่ง ก่อนที่จะขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปประทับ ณ สวนสุนันทาตามพระราชประสงค์เดิมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

๒. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านภาจรจำรัสศรี พระราชธิดาพระองค์แรก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้เมื่อแรกประสูติมีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าเขจรจำรัส แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสมเด็จพระชนกนาถไม่โปรด ดังปรากฏในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันความว่า

“อนึ่ง วันนี้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนพระนามพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าเขจรจำรัสเสียใหม่ ด้วยพระนามเดิมไม่โปรด โปรดให้คิดใหม่ว่าพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้านภาจรจำรัสศรี มีเวียนเทียนสมโภชเหมือนสมโภชสามวัน…”

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้านภาจรจำรัสศรี เจริญพระชันษาได้เพียง ๖ ปี ก็ประชวรสิ้นพระชนม์ นำความสลดพระราชหฤทัยแก่สมเด็จพระบรมชนกนาถ และพระมารดายิ่งนัก แต่พระวิมาดาเธอฯ ก็มิได้ทรง ปล่อยให้ความเศร้าโศกครอบงำพระหฤทัย หรือกัดกร่อนให้เกิดความทดท้อ หากแต่ทรงแปรความสูญเสียให้บังเกิดเป็นการสร้างสรรค์อันจะเป็นพระราชกุศลแต่สมเด็จพระลูกเธอพระองค์นั้น พระองค์ได้ทรงหวนคิดไปถึงบรรดาทารกของบิดามารดา ซึ่งมีฐานะลำบากขัดสนว่า หากมีความเจ็บป่วยไข้แสนสาหัสแล้วก็คงจะยิ่งมีความลำบากมากกว่านัก จนถึงอาจทอดทิ้งบุตรเสียแต่เยาว์ให้เป็นกำพร้า หรือปล่อยให้เติบโตตามยถากรรม โดยมิได้รับการบำรุงสุขภาพหรือให้การศึกษามีวิชาสำหรับเลี้ยงชีพต่อไปได้ ด้วยพระดำริอันเป็นพระกุศลดังกล่าว พระวิมาดาเธอฯ ได้นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต จัดสร้างโรงเลี้ยงเด็ก โดยทรงบริจาคทรัพย์ซื้อที่ดิน ตึกโรงเรือนต่างๆ ซ่อมแซม ก่อสร้างบริเวณ และเครื่องใช้เครื่องแต่ง ณ ที่ตำบลสวนมะลิ ริมถนนบำรุงเมือง เพื่อจัดการบำรุงเลี้ยงทารกและเด็กชายหญิงบุตรคนยากจน พระดำริอันกอปรด้วยพระจริยวัตรอันเป็นกุศลยิ่งนี้เป็นที่ทรงพระโสมนัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างยิ่ง ทรงอนุโมทนาและเป็นพระราชธุระ ช่วยอุปการะบำรุงด้วยพระบรมเดชานุภาพ จนการจัดสร้างโรงเลี้ยงเด็กแห่งแรกแล้วเสร็จตามพระประสงค์ ในพระวิมาดาเธอฯ ทุกประการ และได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ประกอบพระราชพิธีเปิดเป็นพระฤกษ์เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๐๘ (พุทธศักราช ๒๔๓๒) และทรงพระกรุณาโปรดให้เรียกชื่อว่า “โรงเลี้ยงเด็กของพระอัครชายาเธอ” อันเป็นพระอนุสรณ์รำลึกในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านภาจรจำรัสศรี พระราชธิดาพระองค์แรก พระจริยวัตรในพระวิมาดาเธอฯ ดังกล่าวนี้ นับได้ว่า ทรงเป็นผู้ริเริ่มงานสังคมสงเคราะห์ในสมัยเริ่มแรกของไทย

๓. พระราชธิดาพระองค์ที่สองคือ สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามาลินีนพดารา กรมขุนศรีสัชนาลัย สุรกัญญา ทรงได้รับการเฉลิมพระยศเป็นเจ้าฟ้าเมื่อพระมารดาได้รับการสถาปนาเป็นพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้า ในปีพุทธศักราช ๒๔๓๑ และได้รับพระมหากรุณาให้เพิ่มพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า ในพุทธศักราช ๒๔๓๙ เมื่อสิ้นรัชกาลสมเด็จพระบรมชนกนาถแล้วยังคงประทับ ณ พระราชวังสวนดุสิตกับพระมารดาอยู่ระยะหนึ่งจึงตามเสด็จไปประทับ ณ วังลดาวัลย์และเมื่อพระวิมาดาเธอฯ พระมารดาเสด็จมาประทับในสวนสุนันทาก็ได้มีพระตำหนักอยู่เคียงข้างกับพระตำหนักในพระวิมาดาเธอฯ ด้วย แต่ได้เสด็จประทับได้เพียงระยะเวลาอันแสนสั้นก็ด่วนสิ้นพระชนม์ ขณะมีพระชันษาเพียง ๔๑ ปี

๔. พระราชธิดาพระองศ์เล็กมีพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี พระราชธิดาพระองค์นี้ทรงเป็นที่สนิทเสน่หา และเป็นที่โปรดปรานให้ได้รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถ ในตำแหน่งราชเลขาธิการฝ่ายใน ซึ่งพระราชกระแสหรือกระแสพระราชดำริสำคัญๆ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันเป็นหลักฐานลำคัญทางประวัติศาสตร์ ซึ่งตกทอดมาจนปัจจุบันนั้น มีจำนวนไม่น้อยที่เป็นฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้ได้ทรงรับสนองพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงบันทึกไว้ เป็นต้นว่า พระราชบันทึกคราวเสด็จประพาสหัวเมืองใหญ่น้อยในพระราชอาณาเขต ที่รู้จักกันดีก็ได้แก่จดหมายเหตุเสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๒ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ โดยดำรัสให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้ทรงเขียนไว้ และได้ทรงรวบรวมจัดพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรกตามพระราชปรารภในพระวิมาดาเธอฯ เพื่อประทานตอบแทนผู้ถวายรดนํ้าสงกรานต์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ นอกจากนี้ก็มีหนังสือพระราชนิพนธ์เล่มสำคัญที่ประมวลพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งพระราชทานมายังสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล ผู้ทรงเรียกด้วยความรักว่า “ลูกหญิงน้อย” เมื่อคราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่สองในพุทธศักราช ๒๔๔๙ –๒๔๕๐ หนังสือพระราชนิพนธ์เล่มนี้คือ พระราชนิพนธ์เรื่องไกลบ้าน ซึ่งทรงพระกรุณาให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นผู้อำนวยการจัดพิมพ์เป็นครั้งแรกในงานไหว้พระประจำปี ณ วัดเบญจมบพิตร ในปีที่เสด็จฯ กลับจากยุโรปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ นั้นเอง พระราชนิพนธ์เรื่องไกลบ้านนี้ ได้พระราชทานกรรมสิทธิ์ไว้แก่ “ลูกหญิงน้อย” คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล และเมื่อถึงอภิลักขิตสมัยที่พระวิมาดาเธอฯ พระมารดาจะมีงานฉลองพระชันษาครบ ๖๐ ปี ใน พ.ศ. ๒๔๖๖ จึงมีรับสั่งให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งดำรงตำแหน่งสภานายกหอพระสมุดวชิรญาณ เป็นธุระจัดพิมพ์ตามพระประสงค์อีกครั้งหนึ่ง

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดลมีพระชนมชีพอยู่จนทันได้ทอดพระเนตรการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้วจึงได้ตามเสด็จไปประทับกับพระเชษฐา คือ จอมพลเรือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ณ ประเทศชวา และสิ้นพระชนม์ ณ ต่างแดนใน พ.ศ. ๒๔๗๘

นอกเหนือจากการเป็นพระมารดาในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอที่มีพระคุณลักษณะและมีพระปรีชาสามารถปฏิบัติราชการอันเป็นคุณแก่แผ่นดินนับเป็นอภิชาตบุตรถึง ๔ พระองค์ ดังกล่าวแล้ว ในส่วนของพระจริยวัตรของพระวิมาดาเธอฯ เองก็เป็นที่ประจักษ์และทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ทรงสนองพระเดชพระคุณในเรื่องสำคัญจนตลอดรัชกาล นั่นคือ ได้ทรงเป็นผู้กำกับห้อง เครื่องต้น ซึ่งทรงเชี่ยวชาญเป็นพิเศษทั้งคาวและหวาน และได้ทรงยึดถือพระภาระหน้าที่อันหนักนี้เป็นความรับผิดชอบโดยเต็มความสามารถ ดังนั้น ไม่ว่าจะเสด็จประพาส ณ ที่ใดก็จะโปรดให้พระวิมาดาเธอฯ ตามเสด็จ เพื่อประกอบพระกระยาหารถวายด้วยแทบทุกครั้ง

คำเลื่องลือในเรื่องความเป็นเลิศในการประกอบการครัวทั้งคาวและหวานดังกล่าวนี้ ทำให้พระตำหนักพระวิมาดาเธอฯ ได้รับการยกย่องเป็นประดุจสำนัก ซึ่งประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้สำหรับกุลสตรีชาววังในเรื่องสำรับคาวหวาน บรรดาข้าหลวงในสำนักนี้ได้ชื่อว่ามีความเชี่ยวชาญและฝีมือเป็นเลิศ ผู้ใดผ่านการอบรมในสำนักนี้แล้วย่อมเป็นที่ยกย่องกันว่า “ยอดเยี่ยม” ทุกคน ตัวอย่างเช่น หม่อมเจ้าหญิง คอยท่า ปราโมช ซึ่งเข้ามารับราชการทำเครื่องต้นอยู่กับพระวิมาดาเธอฯ ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงเป็นผู้อำนวยการ ห้องเครื่องต้นสืบต่อมาอีกรัชกาลหนึ่ง

พระเกียรติคุณในพระวิมาดาเธอฯ ซึ่งทรงกำกับห้องเครื่องต้นอีกด้านหนึ่งนอกเหนือจากพระปรีชาสามารถในการประกอบเครื่องคาวหวานให้มีรสอันเป็นที่พอพระราชหฤทัยและสบอัธยาศัยแก่ผู้ลิ้มรสแล้ว ในส่วนที่เป็นพระภาระ และนํ้าพระทัยที่เปี่ยมด้วยความเสียสละก็ควรนำมากล่าวไว้ให้เป็นที่ปรากฏด้วย ดังที่เจ้าจอม ม.ร.ว. สดับ ได้บันทึกไว้มีความว่า

“เรื่องห้องเครื่องต้นที่จริงเป็นงานหนักสำหรับพระวิมาดาเธอฯ มาก เงินหลวงพระราชทานปีละเก้าพันบาท เลี้ยงพร้อมทั้งองครักษ์เวร มหาดเล็ก กรมวังเวร และแขกพิเศษเป็นการจร เงินหลวงจ่ายจึงไม่พอ พระวิมาดาเธอฯ ก็ทรงเอาเงินจ่ายเพิ่มเติม เพราะผู้คนของพระวิมาดาเธอฯ เองก็รวมกินอยู่ในห้องเครื่องต้นด้วย แยกจ่ายต่างหากไม่ออก
เมื่อท่านจ่ายเพิ่มส่วนพระองค์เท่าไรๆ ก็ต้องนิ่ง จะขอพระราชทานเพิ่มเติมอีกก็เห็นว่าจะเป็นโลภไป เพราะเหตุที่แยกบัญชีไม่ออกเช่นนี้ ท่านจึงตัดสินพระทัยไม่กราบบังคมทูล เมื่อเงินส่วนพระองค์ของท่านเอามาจ่ายเพิ่มทางห้องเครื่องเสียแล้ว เงินใช้จ่ายส่วนพระองค์ก็ไม่พอใช้จ่าย ต้องทรงขอยืมเงินลูกหลานหนักเข้าท่านป้าสารภี (ม.จ. หญิงสารภี ลดาวัลย์) ที่เป็นผู้ฉลาด สบโอกาสอันควรประการใดไม่ทราบ ท่านก็ไปเอ่ยเล่าขึ้นกับเจ้านาย พระเจ้าน้องยาเธอหลายพระองค์มีสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งขณะนั้นยังดำรงพระยศเป็นกรมหลวงเป็นต้น จึงได้ทรงเป็นตัวตั้งตัวตีเป็นพระธุระกราบบังคมทูลให้ทรงทราบความจริง พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงพระราชทานเงินเพิ่มค่าเครื่องต้นให้อีก…

นี่แหละคือนํ้าพระทัยพระวิมาดาเธอฯ ผู้ทรงมีพระทัยสมแก่ความเป็นขัตติยกัลยาณี… ”

สำนักพระวิมาดาเธอฯ นั้น นอกจากจะมีชื่อเสียงในเรื่องเครื่องคาวหวานแล้ว ในส่วนของการอบรมสั่งสอนวิชาการความรู้ก็มิได้ทรงละเลย แต่ “…การเรียนหนังสือพระวิมาดาเธอฯ ไม่โปรดให้เด็กผู้หญิงไป โรงเรียน โปรดหาครูมาสอนที่ตำหนักผลัดเปลี่ยนกัน วิชาที่เรียนก็มีทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ว่ายนํ้า จักรยาน ตลอดถึงวิชาที่ทันสมัยเช่นกอล์ฟ และที่สำคัญ ได้ทรงปลูกฝังในเรื่องศิลปวัฒนธรรมไทยได้โปรดให้มีครูสอนการขับร้องและดนตรีไทย ซึ่งข้าหลวงในสำนักนี้ได้รับหน้าที่ให้กล่อมพระบรรทมและมีวงมโหรีหรือวงเครื่องสายบรรเลงถวาย โดยเฉพาะเมื่อได้ตามเสด็จมาประทับ ณ พระราชวังสวนดุสิตแล้ว พระวิมาดาเธอฯ ได้ทรงเริ่มงานดนตรีขึ้นอย่างจริงจัง โดย…” ทรงจัดให้บรรดาข้าหลวงของท่านฝึกหัดเด็กผู้หญิงทั้งที่เป็นพระญาติและสามัญชนขับร้องบรรเลงเพลง โดยเชิญครูผู้ชายเข้ามาสอนในเวลากลางวัน ที่ควรกล่าวนามท่านไว้ ได้แก่ ครูพระประดิษฐไพเราะ (ดาด) ซึ่งเคยประจำการกรมมหรสพที่วังบ้านหม้อมาก่อนเป็นครูใหญ่ พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) ครูเหลือ (ไม่ทราบนามสกุล) มาเป็นผู้สอนดนตรี ส่วนการขับร้องนั้นเดิมให้คุณเฒ่าแก่จีบ หม่อมส้มจีน บุนนาค เป็นผู้หัด ต่อมาได้หม่อมนักร้องของเจ้าพระยาเทเวศร์ วงศวิวัฒน์จากวังบ้านหม้อมาต่อทางร้องเป็นครั้งคราว หรือบางทีพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) ช่วยต่อทางร้องให้ ครูดนตรีและครูร้องจึงเข้ากันได้ดี เพราะมาจากสำนักเดียวกัน “…วงเครื่องสายของพระวิมาดาเธอฯ วงนี้ได้หยุดชะงักล้มเลิกไประยะหนึ่ง เมื่อพระผู้อุปถัมภ์คือ พระวิมาดาเธอฯ เสด็จไปประทับ ณ วังลดาวัลย์ เมื่อสิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนกระทั่งเมื่อเสด็จออกมาประทับที่สวนสุนันทา… ระยะนี้ข้าหลวงเก่าๆ ก็กลับมาเฝ้าหรือมาอยู่กับท่านที่พระตำหนักในสวนสุนันทา ดนตรีของพระวิมาดาเธอฯ ก็ได้จับกลุ่มขึ้นใหม่ นักร้องที่ถูกตามตัวให้กลับมาร้องเพลงในชุดหลังนี้มีครูท้วม ประสิทธิกุล ซึ่งเคยร้องในวงนี้มาตั้งแต่สมัยสวนดุสิตในรัชกาลที่๕…” การบรรเลงสืบมาตราบจนสิ้นพระผู้อุปถัมภ์ในวาระสุดท้าย เมื่อพุทธศักราซ ๒๔๗๒

ตลอดรัชสมัยแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น พระวิมาดาเธอฯ ทรงได้รับพระมหากรุณายกย่องทั้งด้วยฐานันดรศักดิ์ และด้วยการพระราชทานความไว้วางพระราชหฤทัยให้ทรงอยู่ในฐานะ พระมเหสีที่ยิ่งด้วยพระอิสริยศักดิ์ และได้รับพระราชทานเครื่องประกอบพระอิสริยยศอย่างครบถ้วน เช่น ในส่วนของพระตำหนักที่ประทับ พระ วิมาดาเธอฯ จะทรงได้รับพระมหากรุณาให้มีพระตำหนักที่ประทับ ทั้ง ในพระบรมมหาราชวัง และพระราชวังที่สร้างสำหรับเสด็จแปรพระราชฐาน ไปประทับเป็นครั้งคราว เช่นที่พระราชวังบางปะอิน หรือ พระราชวังใหม่ที่สวนดุสิต และที่สวนสุนันทา ซึ่งทรงเตรียมไว้เมื่อสิ้นรัชกาล นอกจากนี้ในส่วนของเครื่องประกอบพระอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือสิ่งของพระราชทานอื่นๆ ตามโอกาสสำคัญๆ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนั้น พระวิมาดาเธอฯ ก็ทรงได้รับพระราชทานตามควรแก่พระจริยวัตรทั้งสิ้น เช่น เครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลจุลจอมเกล้าฝ่ายใน ซึ่งทรงพระราชดำริให้สร้างเพิ่มเติม ครั้งมีพระราชพิธีสมโภชสิริราชสมบัติครบ ๒๕ ปี เมื่อพุทธศักราช ๒๔๓๖ หรือคราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่สอง พระวิมาดาเธอฯ ทรงได้รับพระราชทานเข็มทองอักษรเสด็จพระราชดำเนินยุโรปในฐานะผู้รักษาพระนครฝ่ายในด้วย เป็นต้น

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปครั้งที่สอง ระหว่างพุทธศักราช ๒๔๔๙ – ๒๔๕๐ นั้น มีประจักษ์พยานของพระบรมราชสัมพันธ์ ซึ่งทรงห่วงใยต่อพระวิมาดาเธอฯ ที่น่าประทับใจยิ่งในพระราชหัตถเลขา ที่ทรงมีมาพระราชทานสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดยทรงพระราชปรารภถึงพระอาการประชวร และทรงฝากฝังให้เป็นธุระช่วยดูแลต่างพระเนตรพระกรรณ มีความตอนหนึ่งว่า

“ได้รับจดหมายตอบเรื่องหมอปัวซ์ รับจะเป็นธุระนั้น ฉันมีความยินดีขอบใจเป็นมาก ผู้ซึ่งได้ออกชื่อทั้ง ๕ คนนั้นไม่ใช่คนดีเลย เจ็บมากบ้างน้อยบ้างทุกคน กล่าวคือ เจ้าสาย ตั้งแต่เปนสุกใสครั้งนี้ เปนฝีเดินไม่ได้ตลอดมา เลยซูบผอมทรุดโทรม เดินไม่ค่อยจะได้นอนไม่ใคร่หลับ…

เรื่องอาการเจ้าสายนั้น ฉันให้วิตกกลัวจะตาบอดอย่างกรมภูมินทร์ ขอให้ระวังจงมาก…”

และเมื่อทรงทราบว่ามีพระพลานามัยดีขึ้นก็ทรงคลายพระวิตก มีพระราชหัตถเลขามาว่า

“มีความยินดีที่ได้ทราบว่า เจ้าสายค่อยอ้วนขึ้น เปนข่าวดีซึ่งฉันเปนที่พอใจมาก”

การเสด็จพระราชดำเนินยุโรปครั้งหลังนี้เมื่อเสด็จนิวัตคืนพระนคร ได้มีกำหนดการจะเสด็จแวะเมืองตราด และจันทบุรี จึงทรงพระราชดำริว่าจะให้มีกระบวนฝ่ายในไปในกระบวนเสด็จเหมือนอย่างเคย เสด็จประพาสหัวเมืองชายทะเลแต่ก่อนมาในครั้งนั้น ได้เชิญเสด็จพระวิมาดาเธอฯ ให้เป็นประธานเสด็จไปพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนสวรรคโลกลักษณาวดี เจ้าฟ้ามาลินีนพดารา เจ้าฟ้านิภานภดล และข้าราชการพนักงานผู้ใหญ่ผู้น้อยตามตำแหน่ง ซึ่งพระวิมาดาเธอฯ ได้ทรงรับสนองพระราชดำริให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ทุกประการ ซึ่งหลังจากเสด็จประพาสยุโรปกลับคืนพระนครครั้งนั้นแล้วล่วงมาอีกเพียง ๓ ปีก็เสด็จสู่สวรรคาลัย

เมื่อสิ้นแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวงแล้ว พระวิมาดาเธอฯ ทรงดำรงพระองค์โดยปกติและเหมาะสมแก่พระอิสริยยศสืบมา ในชั้นแรกได้เสด็จไปประทับถวายการปฏิบัติพระราชโอรส ณ วังลดาวัลย์ระยะหนึ่ง ต่อมาภายหลังทรงพระประชวรจึงเสด็จมาประทับรักษาพระองค์ ณ สวนสุนันทา พร้อมด้วยพระราชธิดาทั้งสองพระองค์ ซึ่งในเบื้องปลายแห่งพระชนมชีพนั้น ก็ยังได้ทรงบำเพ็ญพระกุศลอันเป็นประโยชน์แก่วงการศึกษาไว้ประการหนึ่งนั่นคือ โปรดให้จัดพิมพ์หนังสือที่ดีมีคุณค่าแก่การศึกษาค้นคว้าประทานเป็นมิตรพลีทุกปี ในวาระที่ทรงบำเพ็ญพระกุศลในงานฉลองพระชันษาครบรอบวันประสูติ ในงานวันขึ้นปีใหม่และในงานรดนํ้าสงกรานต์ ได้แก่

พระราชนิพนธ์เรื่องไกลบ้าน และจดหมายเหตุประกอบเรื่องไกลบ้าน พิมพ์ในงานฉลองพระชันษาครบ ๖๐ ปี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖

เสด็จประพานต้นครั้งที่ ๒ ในรัชกาลที่ ๕ พิมพ์ในงานรดนํ้าสงกรานต์ ๒๔๖๗

ประชุมเพลงยาวสุภาพ พิมพ์ประทานเมื่อปีฉลู ๒๔๖๘

บทเห่กล่อมพระบรรทมประชุมลำนำของสุนทรภู่ พิมพ์ประทานเมื่อปีขาล ๒๔๖๙

จารึกวัดอัษฎางคนฤมิต พิมพ์ประทานเมื่อปีมะโรง ๒๔๗๑

จารึกเรื่องสร้างวัดนิเวศธรรมประวัติ พิมพ์เป็นมิตรพลีในวันขึ้นปีใหม่ พ.ศ. ๒๔๗๒

ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชดำริในพระเกียรติคุณแห่งพระวิมาดาเธอฯ ซึ่งขณะนั้นยังดำรงพระอิสริยยศเป็นพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็น “พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา” ดังปรากฏคำประกาศมีความดังนี้

“อนึ่ง ทรงพระราชดำริว่า พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ เป็นที่นับถือของพระบรมวงศานุวงศืและคนทั้งหลายอื่นโดยมากมา ตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๕ ด้วยปรากฏพระคุณความกตัญญูกตเวทีในการที่ทรงปฏิบัติวัฏฐาก สนองพระเดชพระคุณพระพุทธเจ้าหลวง และทรงพระเมตตาอารีแก่บรรดาพระราชโอรส ธิดามิได้มีที่จะรังเกียจ แม้พระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงพระเยาว์ พระอัครชายาเธอฯ ก็ได้ทรงรับเป็นผู้เลี้ยงดูอุปการะอยู่คราวหนึ่ง ครั้นถึงเวลาเสด็จออกไปศึกษาวิชชาการประทับอยู่ต่างประเทศ พระอัครชายาเธอฯ ก็อุตสาห์ทรงฝากสิ่งของ เครื่องบริโภคไปถวายเป็นเนืองนิจ เห็นได้ว่ายังผูกพระหฤทัยอยู่ในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิรู้วาย ในส่วนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ยังระลึกถึงพระคุณของพระอัครชายาเธอฯ อยู่ไม่ขาด ครั้นเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงพระราชดำริว่าสมควรจะเลื่อนพระเกียรติยศพระอัครชายาเธอฯ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ ให้ยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน สนองพระคุณที่ได้มาแต่หนหลัง จึงมีพระบรมราชโองการมา ณ พระบัณฑูรสุรสิงหนาท ดำรัสสั่งให้เลื่อนกรมพระอัครชายาเธอฯ กรมขุนสุทธาสินีนาฏขึ้นเป็นกรมพระมีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา วรรคบริวาร ทรงศักดินา ๒๐๐๐๐ ตามตำแหน่งพระอัครชายา มีกรมในพระราชกำหนดใหม่ จงทรงพระเจริญพระชนมายุ พรรณ สุข พล ปฏิภาณ คุณสารสมบัติ สรรพสิริสวัสดิพิพัฒนมงคล วิบุลยศุภผล สกลเกียรติยศ อิสริยศักดิ์มโหฬาร ทุกประการเทอญ”

พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ประชวรด้วยพระโรคมะเร็ง สิ้นพระชนม์ ณ พระตำหนักที่ประทับในสวนสุนันทาจนวาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๒ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานเชิญพระศพไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งนงคราญสโมสรใน บริเวณสวนสุนันทา พระราชวังดุสิต และพระราชทานพระโกศทองน้อยทรงพระศพ เมื่อถึงกำหนดพระราชทานเพลิงศพก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงพระโกศทองใหญ่ในการออกพระเมรุ เป็นการถวายพระเกียรติยศสูงสุดแก่พระวิมาดาเธอฯ เป็นวาระสุดท้าย

อนึ่ง ด้วยพระอัธยาศัยที่โปรดให้พิมพ์หนังสือประทานเป็นมิตรพลีเช่นนี้ เมื่อสิ้นพระชนม์จึงได้มีบุคคลต่างๆ ที่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ดำเนินรอยตามจัดพิมพ์หนังสือดีถวายเป็นพระกุศลอีกหลายเล่มในงานพระศพเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ ดังนี้

ตำนานโรงเลี้ยงเด็กของพระอัครชายาเธอและบทดอกสร้อยสุภาษิต สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงรวบรวม

ตำนานเรื่องวัตถุสถานต่างๆ ซึ่งรัชกาลที่ ๓ ทรงสถาปนา

ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน เล่ม ๑, ๒ ความเรียงและบทกลอน

ประชุมพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

อธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยาและคำวินิจฉัย

จดหมายเหตุเรื่องพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต

พระประวัติและพระจริยวัตรอันเปี่ยมด้วยพระเกียรติคุณในพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา นั้นกล่าวได้ว่า ทรงเป็นราชนารีที่ประเสริฐยิ่ง ควรคู่แก่พระเจ้าแผ่นดินผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งพสกนิกรชาวไทยพร้อมใจกันถวายพระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระปิยมหาราช” ด้วยประการทั้งปวง

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: บุหลง ศรีกนก

สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระอัครราชเทวี

เป็นพระมเหสีอีกพระองค์หนึ่งในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงได้รับการยกย่องพระเกียรติอย่างยิ่ง ดังปรากฏในความตอนหนึ่งของคำประกาศสถาปนาพระอิสริยยศในรัชกาลที่ ๗ ว่าสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระอัครราชเทวี

“…พระปรีชาญาณรอบรู้ราชกิจน้อยใหญ่ มีพระอัธยาศัยเป็นสัจธรรมมั่นคงกอปรด้วยพระขันตีคุณ และทรงพระเมตตาอารีแก่ผู้น้อยทั่วไปมีได้เลือกหน้า เป็นที่เคารพนับถืออย่างยิ่ง ตั้งแต่พระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ตลอดไป จนคนทั้งหลายอื่นโดยมาก…”

ดังนั้นจึงสมควรทราบพระราชประวัติของพระองค์ต่อไป

สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติจากเจ้าคุณจอมมารดาสำลี(เจ้าคุณจอมมารดาสำลี เป็นธิดาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัด บุนนาค) และหม่อมคล้าย เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๘ ในรัชกาลที่ ๓ ได้เป็นเจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ ๔ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคุณในรัชกาลที่ ๕ ถึงแก่กรรมใน พ.ศ. ๒๔๔๓ อายุ ๖๔ ปี) เมื่อวันพุธ เดือน ๗ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีระกา ตรีศก จ.ศ. ๑๒๒๓ ตรงกับวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๐๔

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล่าถึงพระประสูติกาลของพระราชธิดาไว้ในพระราชหัตถเลขา ที่ทรงมีถึงพระยาศรีพิพัฒน์ และนายสรรพวิไชย คณะราชทูตไทย ซึ่งเดินทางไปราชการ ณ ประเทศฝรั่งเศส พระราชหัตถเลขาลงวันอังคาร ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๗ ปีระกา จุลศักราช ๑๒๒๓ ว่า

“…สำลีคลอดบุตรหญิง ณ วันศุกร์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๗ เวลาเที่ยงแล้ว แต่แรกออกมาไม่ร้องไม่ลืมตา ต้องแก้ไขกันอยู่นานจึงได้อาบน้ำ แล้วไม่กินนมไป ๑๒ ชั่วโมง แต่บัดนี้เป็นปกติแล้ว หญิงนั้นข้าพเจ้าให้ชื่อสุขุมาลมารศรี สำลีกับบุตรหญิงทั้งสอง บัดนี้ก็อยู่ดีเป็นปกติ เมื่อคลอดและทำขวัญนั้น พระยาวรพงศ์พิพัฒน์มาดูแลจัดการ”

อีกฉบับหนึ่ง ทรงเมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๘ บอกข่าวเกี่ยวกับพระราชธิดาอีกครั้งว่า

“…บุตรหญิงของข้าพเจ้าที่เป็นหลานของท่านทั้งสอง คือ บุษบงเบิกบาน และสุขุมาลมารศรี กับทั้งมารดาสำลี อยู่ดีกินดีเป็นสุขสบายอยู่ ไม่ได้ป่วยเป็นไข้อะไร…”
พระนามที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่พระราชธิดานั้น เข้าใจว่าทรงพิจารณาจากลักษณะเมื่อประสูติไม่ร้องดังเด็กอื่นๆ จึงพระราชทานพระนามอันเป็นมงคลถึงความสุขุม คือ การคิดพิจารณาก่อนกระทำการใดๆ ซึ่งตรงกับพระอุปนิสัยในกาลต่อมา ดังนี้

“สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม ขอตั้งนามบุตรหญิงที่เกิดจากสำลี ประสูติวัน silapa-0137 - Copy1 ค่ำ ปีระกา ตรีศกนั้นว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองศ์เจ้า สุขุมาลมารศรี วรรคบริวารเป็นอาทิ และอันตอักษร จงเจริญอายุ วรรณ สุข พลปฏิภาณ สรรพศฤงคารสมบัติพัสดุบริบูรณ์ทุกประการเทอญ

ตั้งนามไว้ ณ วัน silapa-0137 - Copy2 ค่ำ ปีระกา ตรีศก เป็นวันที่ ๓๖๘๐ ในรัชกาลปัจจุบันนี้”

นอกจากนี้มีคาถาพระราชทานนามเป็นภาษาบาลี มีคำแปลดังนี้

“ธิดาของเราผู้บังเกิดแต่สำลีนี้ จงปรากฏโดยนามว่า สุขุมาลมารศรี จงทรงนามนั้นไว้มีสุขเสมอ อนึ่ง จงมั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีบริวาร งดงาม ไม่มีโรค ไม่ลำบาก เจริญโดยลำดับ จงได้ซึ่งที่พึ่งอันบริบูรณ์ด้วยกำลังเป็นที่ต้องใจ”

สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี มีพระประยูรญาติร่วมพระชนนี ดังนี้

๑. พระองค์เจ้าหญิงเขียว
๒. พระองค์เจ้าหญิงบุษบงเบิกบาน
๓. สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี
๔. พระองค์เจ้าหญิงนภาพรประภา (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี)

การศึกษาขณะทรงพระเยาว์นั้น สันนิษฐานว่า ได้ทรงศึกษาเช่นเดียวกับเจ้านายฝ่ายในสมัยนั้น คือ ศึกษาทั้งด้านอักขรวิธี และวิชาความรู้ขั้นต้น จากตำหนักของเจ้านายฝ่ายในชั้นผู้ใหญ่ในพระบรมมหาราชวัง ส่วนการเรียนภาษาชั้นสูง หรือภาษามคธนั้น อาจ เรียนในสำนักเดิมหรืออาจเรียนกับอาลักษณ์และราชบัณฑิต นอกจากนี้ก็ทรงศึกษาวิชาการอันสมควรแก่กุลสตรี เช่น ศาสนา วรรณคดี ขนบธรรมเนียม ประเพณี หัตถกรรม และคหกรรมต่างๆ ส่วนอื่นนอกเหนือจากนี้คงจะทรงศึกษาด้วยพระองค์เองจากหนังสือ ตำราเพิ่มเติม แล้วแต่พระอัธยาศัยว่าจะโปรดทางใด ปรากฏว่า สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี ทรงสนพระทัยด้านวรรณคดี การประพันธ์ โบราณคดี และราชประเพณีอย่างยิ่ง ประกอบกับในกาลต่อมาได้ทรง รับราชการเป็นราชเลขาธิการฝ่ายในในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นโอกาสให้ได้ทรงใกล้ชิดกับภาษาและหนังสืออยู่เสมอ จึงทรงเชี่ยวชาญด้านการประพันธ์มาก ปรากฏว่า ทรงพระนิพนธ์คำประพันธ์ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองหลายชิ้น แต่เป็นบทสั้นๆ ซึ่งทรงพระนิพนธ์เล่นบ้าง ทรงแต่งทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวบ้าง หรือประทานแก่ผู้ที่ทรงชอบพระอัธยาศัย ฝีพระหัตถ์ด้านร้อยกรองนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวไว้ในคำนำหนังสือ สุขุมาลนิพนธ์ ว่า

“..ได้รับความนิยมยอมทั่วกันหมดว่า พระองค์ทรงเชี่ยวชาญวรรณคดี และเป็นกวี แต่งดีสู้ผู้ชายได้

ในส่วนสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯ นั้น แต่เดิมนอกจากผู้ที่อยู่ใกล้ชิดก็มิใคร่มีใครทราบว่าทรงสามารถในวรรณคดีดังกล่าวมา จนเมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๓๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสชวนสมาชิกหอพระสมุดวชิรญาณ ให้แต่งสุภาษิตคนละบท สำหรับรวมเข้าเป็น “หนังสือวชิรญาณสุภาษิต” พิมพ์พระราชทานแจกเป็นที่ระลึกในงานฉลองหอพระสมุดวชิรญาณ ในปีฉลู พ.ศ. ๒๔๓๒ สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯ ทรงพระนิพนธ์สุภาษิตเป็นโคลงดั้น ๒ บท ส่งมาลงพิมพ์ พอปรากฏก็มีเสียงสรรเสริญแลยอมทั่วกันหมดในทันทีว่า ทรงสามารถแต่งสู้กวีผู้ชายได้ แลโคลงดั้น ๒ บทนี้ก็มีผู้ชอบจนจำกันได้มาก..”

งานพระนิพนธ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระอัครราชเทวี นั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กราบทูลแนะนำจอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรม พระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระนางเจ้าฯ ให้ทรงรวบรวมจัดพิมพ์ขึ้น และได้พิมพ์แจกครั้งแรกเป็นที่ระลึกเนื่องในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลปัญญาสมวาร พระศพสมเด็จพระนางเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี วันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ ให้ชื่อว่า สุขุมาลนิพนธ์ บทพระนิพนธ์เหล่านี้ นอกจากจะแสดงถึงพระปรีชาสามารถแล้ว ยังแสดงให้เห็นพระอุปนิสัยขององค์ผู้ประพันธ์ด้วย กล่าวคือ ทรงใฝ่การศึกษาหาความรู้ ซื่อสัตย์ อดทน มั่นคงอยู่ในความยุติธรรม ไม่ถือพระองค์ มีพระวิริยะ อุตสาหะและประหยัด

พระราชอิสริยยศสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี เมื่อแรกรับราชการในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ประมาณ พ.ศ. ๒๔๑๙) ยังคงเรียกเป็นทางการว่า พระองค์เจ้าสุขุมาล
มารศรี แม้เมื่อประสูติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ และพระราชธิดาองค์แรก เมื่อพ.ศ. ๒๔๒๐ นั้น ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ทรงได้รับพระราชทานเครื่องยศ ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างขึ้นใหม่ด้วยทองคำที่พระคลังข้างที่จัดซื้อ ได้แก่ พานพระศรีทองคำลายบัวลงยาราชาวดี ๑ เครื่องผอบลงยาราชาวดี ปริกประดับเพชร ๓ จอกหมากลงยาราชาวดี ๒ มีดพับด้ามลงยาราชาวดี ๑ ซองพลูลงยาราชาวดี ๑ ตลับขี้ผึ้งเป็นลูกลิ้นจี่ฝังทับทิม มีลายสร้อยห้อยไม้ควักหูเป็นต้น ประดับเพชรบ้างเล็กน้อย ๑ พานรองและหีบหมากลงยาฝังเพชร ทับทิม มรกต ด้านบนเป็นรูปสระบัว ๑ ตลับเครื่องในฝังมรกตมงคลเพชรสามใบเถา ๑ ขันครอบลงยาราชาวดีสำรับ ๑ ขันสรงพระพักตร์ทองคำลงยาราชาวดีพร้อมพานรอง ๑ กานํ้าร้อนหูหิ้วมีถาดรองทำด้วยทองคำลงยาราชาวดีสำรับ ๑ บ้วนพระโอษฐ์ทองคำลงยาราชาวดี ๑ ได้รับพระราชทาน เงินเดือน ๗ ตำลึง

พ.ศ. ๒๔๒๓ เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี สวรรคตลงด้วยอุบัติเหตุ เรือพระประเทียบล่ม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนาพระราชอิสริยยศพระมเหสี อีก ๓ พระองค์ขึ้น ดังนี้ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา เป็น สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระองค์เจ้า ศรีพัชรินทร์และพระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี เป็น พระนางเธอ ทรงได้รับพระราชทานเงินเดือนเพิ่มเป็นเดือนละ ๑๐ ตำลึง หลังจากประสูติพระราชโอรสคือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ ในวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๔ แล้วทรงได้รับสถาปนาเป็น พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ และในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงได้รับการ เฉลิมพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ใน พ.ศ. ๒๔๗๗ ซึ่งเป็นการสถาปนาหลังสิ้นพระชนม์แล้ว

สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี มีพระราชโอรสและพระราชธิดารวม ๒ พระองค์ และเนื่องจากสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระอัครราชเทวี ทรงมีฐานะเป็นพระราชธิดา หรือลูกหลวงในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังนั้น พระราชโอรสพระราชธิดาของพระองค์จึงดำรงเป็นเจ้าฟ้าตั้งแต่ประสูติ คือ ดำรงพระยศเท่ากับเจ้าฟ้าที่มีพระราชชนนีเป็นเจ้าฟ้า ซึ่งในรัชกาลที่ ๕ นิยมเรียกเจ้าฟ้าชั้นนี้ว่า “ทูลกระหม่อม” คือ

๑. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ สุขุมขัตติยกัลยาณี ต่อมาได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์

๒. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ ในรัชกาลที่ ๗ ได้รับสถาปนาเป็นจอมพล สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงเป็นต้นราชสกุล บริพัตร

การอบรมพระราชโอรสพระราชธิดาของสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี อาจเรียกได้ว่าทรงเข้มงวดกวดขันด้านความประพฤติและอุปนิสัยเป็นพิเศษ เนื่องจากมีความสำนึกในส่วนพระองค์อยู่ลึกๆ ว่าทรงเป็นเชื้อสายสกุลบุนนาค (ทางเจ้าคุณจอมมารดาสำลี) หรือเรียกเป็นสามัญในขณะนั้นว่า “พวกฟากข้างโน้น” ซึ่งบรรพบุรุษบางท่านอาจกระทำสิ่งใดเป็นที่ขัดเคืองใต้เบื้องพระยุคลบาท  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะให้พระราชโอรสพระราชธิดาเป็นที่พอใจ เป็นที่ยกย่องของคนทั่วไป จึงทรงอบรมให้มีความจงรักภักดีในสมเด็จพระชนกนาถ มีพระวิริยะอุตสาหะในการศึกษาและกิจการทั้งปวง เคารพผู้มีอาวุโส ถ่อมพระองค์ ผูกมิตรกับเจ้านาย ตลอดจนข้าราชการทั่วไปทุกระดับ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ตั้งอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต ยุติธรรม ละเว้นจากอบายมุข และมัธยัสถ์ พระโอวาทของพระองค์ปรากฏอยู่ในลายพระหัตถ์ที่ทรงมีถึงจอมพลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระราชโอรส ขณะที่เสด็จไปทรงศึกษา ณ ประเทศอังกฤษและเยอรมนี ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๓๗ – ๒๔๔๖ และลายพระหัตถ์อื่นๆ ในกาลต่อมา ซึ่งการอบรมของพระองค์นับว่าสัมฤทธิผลอย่างดียิ่ง เพราะทั้งพระราชโอรสพระราชธิดาล้วนปฏิบัติพระองค์ได้ตามพระราชประสงค์ เป็นที่รักใคร่ ไว้วางพระราชหฤทัยของสมเด็จพระชนกนาถ เป็นที่เคารพยกย่องของพระประยูรญาติ พระราชวงศ์ และข้าราชการทั้งปวง ทรงประสบความสำเร็จในหน้าที่ราชการ โดยเฉพาะจอมพล สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรศ์วรพินิต พระราชโอรสนั้น ได้ทรงเป็นกำลังสำคัญในการบริหารราชการในกระทรวงทหารเรือ กระทรวงกลาโหม และกระทรวงมหาดไทย ในช่วงรัชกาลที่ ๕ – ๗

ด้านความใกล้ชิดในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ปรากฏว่า สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระอัครราชเทวี เป็นพระอัครมเหสีพระองศ์หนึ่งที่โปรดให้ประทับ และรับราชการใกล้ชิดพระองค์เสมอ คือ โปรดให้ทำหน้าที่เป็นราชเลขานุการฝ่ายใน ได้รับพระราชทานเงินเดือนในตำแหน่งนี้เป็นพิเศษ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองก็โดยเสด็จด้วยเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ เมื่อทรงสร้าง พระราชวังที่สวนดุสิต ได้โปรดให้แบ่งที่ดินพระราชทานแด่พระอัครมเหสี เจ้าจอมมารดา และพระเจ้าลูกเธอ เป็นส่วนๆ เรียกว่าสวน มีคลอง ประตู ถนน เรียกชื่อตามเครื่องลายครามที่นิยมเล่นกันขณะนั้น ส่วนของสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระอัครราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์ เรียกว่า “สวนนกไม้” เมื่อแรกสร้างพระราชวังดุสิต ขณะยังไม่ได้สร้างพระที่นั่งวิมานเมฆ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างพลับพลาเป็นที่ประทับแรม ได้เสด็จไปประทับบ่อยครั้ง สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระอัครราชเทวี และพระราชธิดาก็ตามเสด็จ และได้ประทับบนพลับพลา ซึ่งเป็นที่ประทับส่วนพระองค์นั้นด้วย เมื่อสร้างพระที่นั่งวิมานเมฆเสร็จใน พ.ศ. ๒๔๔๔ แล้ว โปรดเกล้าฯ ให้จัดชั้นที่ ๒ ของพระที่นั่งส่วนที่เป็นแปดเหลี่ยมเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระอัครราชเทวี และพระราชธิดา

พ.ศ. ๒๔๔๙ พระที่นั่งอัมพรสถานที่ประทับแห่งใหม่สร้างเสร็จ สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระอัครราชเทวี และพระราชธิดาได้ประทับที่พระที่นั่งอุดร และเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรหนักในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระอัครราชเทวี ก็ทรงเฝ้าอย่างใกล้ชิด เนื่องจากต้องจัดเครื่องเสวยถวาย และได้เสด็จขึ้นถวายการพยาบาลประจำตั้งแต่วัน พฤหัสบดีที่ ๒๐ ตุลาคม จนถึงวันอาทิตย์ที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ซึ่งเป็นวันสวรรคต ขณะที่ถวายการพยาบาลตลอด ๔ วันนั้นไม่ได้พักบรรทมเลย

สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระอัครราชเทวี ทรงพระปรีชาสามารถหลายด้าน นอกจากการประพันธ์ที่กล่าวมาแล้วในตอนต้น ยังทรงพระปรีชาด้านอาหารและงานประณีตศิลป์ต่างๆ ทั้งทรงฝึกหัดให้
พระราชธิดา เจ้านาย หรือบุคคลในปกครองในพระตำหนักเชี่ยวชาญทางด้านนี้ด้วย ปรากฏว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้จัดงานเลี้ยงขึ้นในพระราชวังครั้งใด สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระอัครราชเทวี มักทรงได้รับเกณฑ์เรื่องเครื่องคาวหวานเสมอ หรือเมื่อต้องพระราชประสงค์สิ่งใดเป็นพิเศษ สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระอัครราชเทวี มักทรงรับหน้าที่จัดหาเครื่องเสวยเสมอ ส่วนเรื่องการฝีมือและการจัดดอกไม้นั้น เป็นงานที่ทรงเป็นประจำ ซึ่งพระปรีชาสามารถต่างๆ นี้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์ พระราชธิดาทรงได้รับถ่ายทอดมา และเป็นที่กล่าวขวัญกันว่า นอกจากทรงพระสิริโฉมงดงามแล้ว ยังทรงฉลาดหลักแหลมทันสมัย มีฝีมือทั้งด้านการประกอบอาหาร การฝีมือและการถ่ายรูป อีกสิ่งหนึ่งที่สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระอัครราชเทวี โปรดคือโคเกต์ ซึ่งเป็นกีฬาที่เจ้านายในรัชกาลที่ ๕ นิยมกันอย่างยิ่ง ปรากฏว่าเป็นกีฬาที่มักจะทรงเสมอ เช่น ขณะประทับ ณ พระราชวัง บางปะอิน แม้เมื่อย้ายไปประทับที่วังบางขุนพรหมกับพระราชโอรสแล้ว ก็ได้จัดสร้างสนามโครเกต์ไว้ มีพระบรมวงศานุวงศ์ หรือพระญาติสนิท เสด็จมาทรงเล่นด้วยเนืองๆ

หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ยังคงประทับอยู่ในพระราชวังดุสิตกับพระราชธิดาระยะหนึ่ง ต่อมาเมื่อประชวร จึงขอ พระราชทานพระบรมราชานุญาตพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกไปประทับรักษาพระองค์ ณ วังบางขุนพรหมของพระราชโอรส ประมาณ พ.ศ. ๒๔๕๖ จึงสร้างพระตำหนักขึ้นอีกหลังหนึ่งในบริเวณวังบางขุนพรหม อยู่ด้านหลังตำหนักใหญ่ มีสะพานชั้นบนเชื่อมถึงกัน และเสด็จประทับประจำตั้งแต่นั้นมา เรียกกันว่า “ตำหนักสมเด็จ” ต่อมาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์ ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ออกมาประทับด้วยกัน เมื่อประทับ ณ วังบางขุนพรหมเป็นการถาวรแล้ว ภายหลังได้ทรงคืนพระตำหนักในพระบรมมหาราชวัง พระญาติและผู้ดูแลพระตำหนักต่างก็ย้ายเข้ามาอยู่ที่วังบางขุนพรหมทั้งหมด(วังบางขุนพรหม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงซื้อที่ดินริมแม่นํ้าเจ้าพระยา ที่บางขุนพรหม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ พระราชทานให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เพื่อเป็นที่สร้างวังประทับ หลังจากสำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ เริ่มก่อสร้างประมาณ พ.ศ. ๒๔๔๔ เข้าประทับใน พ.ศ. ๒๔๔๖)

เมื่อประทับ ณ วังบางขุนพรหม ได้ทรงอบรมดูแลพระนัดดา คือ พระโอรสพระธิดาของจอมพล สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตอย่างใกล้ชิด และทรงอุปถัมภ์เจ้านายน้อยๆ จากวังอื่นๆ หลายพระองค์ เช่น หม่อมเจ้ามารยาตรกัญญา ดิศกุล หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล หม่อมเจ้าผจงรจิต กฤดากร และหม่อมเจ้าสรรพางค์พิมล วรวรรณ เป็นต้น ทรงเลือกสรรค์จ้างครูมาสอนหนังสือที่วัง ตั้งแต่ ภาษาไทยจนถึงภาษาอังกฤษและฝรั่งเสสโดยใช้ห้องโถงที่พระตำหนักเป็นที่เรียนทรงควบคุมการศึกษาเล่าเรียนด้วยพระองค์เองอย่างใกล้ชิด การศึกษาในวังบางขุนพรหมเป็นที่เลื่องลือในสมัยนั้นมาก ผู้ที่คุ้นเคยจึงเรียกล้อเลียนกันว่า “บางขุนพรหมยูนิเวอร์ซิตี้” และเป็นเหตุหนึ่งให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเรียกบรรดาพระธิดาในจอมพลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตว่า “พวกยูนิเวอร์ซิตี้” หรือ “ยูนิเวอร์ซิตี้”

พ.ศ. ๒๔๖๔ สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี เจริญพระชนมพรรษาครบ ๖๐ พรรษา จอมพล สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงจัดงานฉลองพระชนมายุถวาย ที่วังบางขุนพรหม ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเสวยพระกระยาหารค่ำพร้อมด้วยพระนางเธอลักษมีลาวัณ และได้พระราชทานหีบหมากทองขอบลงยา มีอักษรพระปรมาภิไธยย่อ วปร. ฝังเพชรภายใต้พระมหามงกุฎ และมีลายพระหัตถ์ลงยาสีนํ้าเงินเป็นข้อความว่า

“ถวายเสด็จป้าสุขุมาล ในการฉลองพระชนมายุ ๖๐ ทัศ
ในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๔
วชิราวุธ ป.ร.”

พ.ศ. ๒๔๖๕ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์ สิ้นพระชนม์ สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระอัครราชเทวี ทรงเศร้าเสียพระทัยมาก เพราะมีพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียว เคยอยู่ใกล้ชิดกันตลอดเวลา ดังนั้น เมื่อเสร็จงานพระราชทานเพลิงพระศพแล้ว พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุสินี พระขนิษฐภคินี จึงทรงย้ายจากพระตำหนักในสวนสุนันทา มาประทับที่พระตำหนักในวังบางขุนพรหมด้วย เพื่อให้ทรงคลายความคิดถึงพระราชธิดา อย่างไรก็ตาม การประทับ ณ วังบางขุนพรหมก็มิได้ทรงเงียบเหงามากนัก เนื่องจากนํ้าพระทัยเมตตาเอื้ออารีแก่พระญาติและบุคคลทั่วไป สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระอัครราชเทวี จึงยังเป็นที่เคารพรักนับถือของพระบรมวงศานุวงศ์ และคนทั่วไป มีผู้มาเฝ้าเยี่ยมเยียนอยู่เสมอ เช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองศ์เจ้าเหมวดี พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองศ์เจ้าแขไขดวง พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าพวงสร้อยสอาง พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏมหาราชปดิวรัดา และพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี เป็นต้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี ก็ทรงเคารพและสนิทสนมกับสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระอัครราชเทวีอย่างยิ่ง ได้เสด็จพระราชดำเนินมาถวายนํ้าสงกรานต์ แด่สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีฯ ทุกปี และเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเฉลิมพระเกียรติเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระอัครราชเทวี ดังกล่าวมาแล้ว

พ.ศ. ๒๔๖๙ สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระอัครราชเทวี ประชวรด้วยพระโรควัณโรคที่ พระปับผาสะ เมื่อมีพระอาการมาก จอมพลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต โปรดให้ย้ายพระแท่นบรรทมจากพระตำหนักสมเด็จ มาไว้ที่ห้องเสวยส่วนพระองค์บนชั้น ๒ ของพระตำหนักใหญ่ วังบางขุนพรหม เพื่อที่จะได้ทรงพยาบาลพระราชชนนีอย่างใกล้ชิด ดังนั้นจึงประทับอยู่ที่นี่ จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ในวันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๙ มีพระชนมพรรษา ๖๖ พรรษา นับเป็นเจ้านายในพระบรมราชจักรีวงศ์อีกพระองค์หนึ่งที่มีพระชนมพรรษายืน ระหว่างที่กำลังประชวรหนักนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี ได้เสด็จมาทรงเยี่ยมพระอาการหลายครั้ง และโปรดเกล้าฯ ให้มหาดเล็กหลวงผลัดเวรกันมาประจำที่วังบางขุนพรหม คอยเชิญพระอาการ ครั้นเมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว โปรดให้อัญเชิญพระโกศพระศพจากวังบางขุนพรหม โดยเรือพระที่นั่งอเนกซาติภุชงค์ มีขบวนเรือนำเรือตาม อัญเชิญพระโกศขึ้นที่ท่าราชวรดิฐ นำขึ้นประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และโปรดให้ไว้ทุกข์เป็นพิเศษมีกำหนด ๑๐๐ วัน บำเพ็ญพระราชกุศลพระศพทุก ๗ วัน จนถึงงานออกพระเมรุ และเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๐

สิ่งที่สร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระอัครราชเทวี มีดังนี้

๑. พระสาทิสลักษณ์สีนํ้ามัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ช่างเขียนขึ้นในขณะที่ยังดำรงพระอิสริยยศ พระนางเธอสุขุมาลมารศรี ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่ผนังห้องโถงมุขกระสัน ด้านตะวันตก ชั้นกลางของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

๒. ใน พ.ศ. ๒๔๔๐ สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ได้สร้างอาคารเรียนหลังหนึ่งที่วัดพิชัยญาติการาม ซึ่งเป็นวัดของบรรพบุรุษ ด้วยเงิน ๑๒๕ ชั่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานชื่อว่า “สุขุมาลัย” เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๐ พระราชโอรสพระราชธิดาและพระญาติจัดหาวัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอนและเครื่องใช้ในอาคาร

๓. สุสานในวัดราชบพิธ ในบริเวณสุสานหลวงทางทิศตะวันตกของวัดราชบพิธ มีอาคารประดิษฐานพระสรีรางคารของสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระอัครราชเทวี และพระประยูรญาติในราชสกุลบริพัตร มีชื่อจารึกไว้ที่อาคารว่า “สุขุมาลนฤมิต” ลักษณะเป็นอาคารทรงไทยก่ออิฐถือปูนขนาดย่อม แบบตรีมุข มีส่วนยอดเป็นเจดีย์ทรงกลมสีทอง

๔. ตึก “สุขุมาลมารศรี” อยู่ในบริเวณโรงพยาบาลสระบุรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศิริรัตนบุษบง กรมหลวงทิพยรัตกิริฏกุลินี ผู้เป็นพระขนิษฐภคินี ประทานเงิน ๕ ล้านบาท ให้สร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์ แด่สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระอัครราชเทวี

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: ฉวีงาม มาเจริญ

สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ

เป็นพระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นที่สนิทเสน่หาและไว้วางพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง ทรงเรียกขานว่า “แม่เล็ก” ทรงบำเพ็ญคุณประโยชน์ให้แก่ชาติบ้านเมืองนานัปการ ทรงเป็นผู้ริเริ่มและพัฒนาความก้าวหน้าให้แก่สตรีเพศ โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา การพยาบาลและผดุงครรภ์สมัยใหม่ แม้พระราชภารกิจที่ไม่เคยทรงปฏิบัติมาก่อนก็ทรงพระปรีชาสามารถยิ่ง การดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะเสด็จประพาสทวีปยุโรป เป็นเวลา ๙ เดือน ย่อมเป็นประจักษ์พยานถึงพระปรีชาสามารถของพระองค์เป็นอย่างดี และยังเป็นราชนารีพระองค์แรกของไทยที่ได้รับสถาปนาให้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระบรมราชินีนาถ

สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ ๖๖ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่ ที่ ๕ ในเจ้าจอมมารดาเปี่ยม ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น เจ้าคุณจอมมารดาในรัชกาลที่ ๕ และสมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ในรัชกาลที่ ๖ พระราชสมภพในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันศุกร์ เดือนอ้าย แรม ๗ ค่ำ ปีกุน เบญจศก จ.ศ. ๑๒๒๕ ตรงกับวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๐๖ เมื่อมีพระชนมายุครบ 9 เดือน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระนามว่า “พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี” ปรากฏสำเนาพระราชหัตถเลขาพระราชทานนามพระราชธิดา ดังนี้

“ศุภมัสดุ สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม ผู้บิดาขอตั้งนามบุตรี ซึ่งประสูติ แต่เปี่ยม เป็นมารดา ในวันศุกร์ เดือนอ้าย แรม ๗ ค่ำ ปีกุน เบญจศก นั้นว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี วัคบริวาร นามเดิมเป็นอาทิ และ อันตอักษร ขอพระคุณพระรัตนตรัยและพรเทวดารักษาพระนครแลพระราชวัง จงได้โปรดให้เจริญชนมายุ พรรณ สุข พล ปฏิภาณ สารศิริสมบัติ ศรีสวัสดิพิพัฒนมงคล ศุภผลวิบูลย ทุกประการ เทอญ

ตั้งนามมา ณ วันอังคาร เดือนยี่ แรมสิบค่ำ ปีกุน เบญจศก เป็นวันที่ ๔๖๔๗ ในราชการปัจจุบันนี้”

พร้อมด้วยคาถาพระราชทานพรเป็นภาษามคธ ว่า

“โสภาสุทฺธสิริมตี อิติ นาเมน วิสฺสุตา
โทตุ มยฺหํ อยํ ธีตา ปิยมาย สุปุตฺติกา
สุขินี จ อโรคา จ โหตุ เสฏฺฐา ยสสฺสิมี
สพฺพทาเยว นิทฺโทสา อุปฺปสยฺหาว เกนจิ
อทฺฒา มหทฺธนา โภค วดี พหูหิ เอฌฺชิตา
ปิตุโน มาตุยาจาปิ สพฺพทา รกฺขตํ ยสํ
สุหิตา โหตุ ภาตูนํ ภคินีนญฺจ สาธุกํ
พุทฺธาทิวตฺถฺวานุภาโว สทาตํ อภิรกฺขตุ”

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงแปลเป็นภาษาไทยมี ใจความว่า

“ขอธิดาของเรา ซึ่งเป็นบุตรีอันดี ของเปี่ยมคนนี้ จงปรากฏโดยนามว่า โสภา สุทธสิริมตี (เสาวภาผ่องศรี) เถิด ขอเธอจงมีสุขและไม่มีโรค มีอิสริยยศประเสริฐสุด ปราศจากโทษ อันใครๆ อย่าข่มเหงได้ทุกเมื่อ จงเป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์ใหญ่ มีโภคสมบัติมาก อันคนเป็นอันมากนิยมนับถือ ขอเธอจงรักษาเกียรติยศของบิดามารดาไว้จงทุกเมื่อ จงทำนุบำรุงพี่น้องชายหญิงอันดี ขออานุภาพพระรัตนตรัยมีพระพุทธเจ้า เป็นต้น จงรักษาเธอทุกเมื่อ เทอญ”

สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ทรงศึกษาเล่าเรียนในราชสำนัก อันสมควรแก่ขัตติยนารี ที่พึงมีในสมัยนั้น พระองค์มีพระสติปัญญาเฉียบแหลม มีพระปฏิภาณไหวพริบเป็นเลิศมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ แม้เมื่อเจริญพระชนม์ขึ้นและได้ดำรงตำแหน่งพระอัครมเหสี ทรงปกครองเหล่าข้าราชบริพารที่อยู่ใต้การปกครองของพระองค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเมื่อครั้งทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทรงตัดสินพระทัย ปฏิบัติพระราชกิจต่างๆ ได้อย่างสมบูรณ์ และลุล่วงไปด้วยดี

ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ทรงกล่าวไว้ในหนังสือพระราชประวัติว่า

“ในปลายรัชกาลที่ ๔ นั้น ยังหาได้มีที่จะศึกษาเล่าเรียนได้ดีเสมอเหมือนอย่างทุกวันนี้ไม่ และพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน ซึ่งทรงชำนาญในการอักษร เคยเป็นที่ศึกษาเล่าเรียนของเจ้านายชั้นหลังนั้น ก็สิ้นพระชนม์ไปเสียหมดแล้ว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ จึงมีโอกาสที่จะทรงศึกษาเล่าเรียนได้น้อยนัก แต่หากว่าทรงมีพระวิริยพระปัญญามาก ตั้งแต่ประสูติมาเดิมแล้ว และพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงเมตตากรุณาใช้สอย ติดตามเสด็จมาแต่ยังทรงพระเยาว์ ได้ทรงเห็นทรงฟังพระกระแสรับสั่งและการงานในพระราชสำนักมาก อีกทั้งได้ทรงพระอุตสาหะหมั่นฟังหมั่นถามเล่าเรียน หมั่นเขียนหมั่นตริตรองตามวิสัยบัณทิตยชาติ จึงได้ทรงทราบสรรพวิชาอันควรจะทราบได้ถ้าแม้จะไม่ดีกว่า ก็เสมอเหมือนผู้ที่มีความรู้และศึกษาเล่าเรียนอย่างดีแล้วได้

ความข้อนี้มีพยานที่จะให้เห็นปรากฏชัดในลายพระหัตถ์ที่ทรงไว้เป็นอันมาก กับทั้งในราชการบ้านเมืองอันสำคัญที่สุด ซึ่งได้ทรงสำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ ในเวลาซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปโน พ.ศ. ๒๔๔๐ ย่อมปรากฏชัดเจนแก่คนทั้งปวงทั่วหน้ากันแล้ว ทรงพระปัญญาสามารถที่จะวินิจฉัย ราชการได้ทั่วไป แม้ที่สุดในข้อสำคัญๆ ซึ่งเกิดมีความเห็นแตกต่างกันในระหว่างเจ้ากระทรวงทบวงการนั้นๆ ก็ยังทรงพระราชวินิจฉัยได้แต่โดยสำนึกพระองค์ให้เป็นที่พอใจกันได้ทั่วหน้าแล้ว และมิให้เป็นที่เสียประโยชน์ราชการอย่างหนึ่งอย่างใดได้เลย”

เมื่อพระชันษา ๑๕ ปี ทรงดำรงตำแหน่งพระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่นเดียวกับพระพี่นางทั้ง ๒ พระองค์ คือ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา (สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี) ทรงรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นที่โปรดปรานยิ่งนักถึงกับให้ทรงประทับอยู่ใกล้ๆ บนพระราชมณเฑียร จนได้ รับการขนานพระนามว่า “สมเด็จที่บน” มีพระอิสริยยศตามลำดับ ดังนี้

พระนางเธอเสาวภาผ่องศรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๑
พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓
สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗
สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระศรีพัซรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ และทรงมอบการปกครองภายในพระบรมมหาราชวังถวายเป็นสิทธิ์ขาดแก่พระองศ์ ต่อมายังถวายพระเกียรติในทางทหาร ทรงเป็นพันโทผู้บังคับการพิเศษ กองพันที่ ๒ กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว และพันเอกพิเศษแห่งกรมทหารม้าที่ ๕ นครราชสีมา

สมเด็จพระศรีพัชรนทรา บรมราชินีนาถ ทรงได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ฝ่ายใน ชั้นที่ ๑ ทุกตระกูล ตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ แล้ว ทั้งทรงดำรงตำแหน่งมหาสวามินี แห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ในฐานันดรศักดิ์คณาธิปตานีของฝ่ายในทั้งปวง ตำแหน่งนี้มีหน้าที่กำหนดตัวผู้ที่สมควรได้รับพระราชทานตราขึ้นถวายเพื่อพิจารณา ในรัชกาลที่ ๕ ทรงได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎสยามชั้นสูงสุดคือ มหาวชิรมงกุฎ ซึ่งได้ถวายแด่พระองค์เป็นปฐมสำหรับสตรี และเป็นการถวายเพื่อเฉลิมพระเกียรติ เมื่อเสด็จสวรรคตแล้ว นอกจากนี้ยังทรงได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ฝ่ายในชั้นสูงของต่างประเทศอีกหลายประเทศด้วย

สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ มีพระราชโอรสและพระราชธิดารวมทั้งสิ้น ๑๔ พระองค์ ตกเสีย ๕ พระองค์ ทรงเจริญพระชันษา ๙ พระองค์ คือ

๑. สมเด็จเจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์
๒. สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ
๓. สมเด็จเจ้าฟ้าตรีเพ็ชรุตม์ธำรง
๔. สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงศภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
๕. สมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์
๖. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง สิ้นพระชนม์ในวันประสูติ
๗. สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา
๘. สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ซรบูรณ์อินทราชัย
๙. สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์

ในจำนวนพระราชโอรสดังกล่าว ได้เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งมหาจักรี บรมราชวงศ์ถึง ๒ พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ทรงเพียบพร้อมไปด้วยพระปรีชาสามารถในด้านต่างๆ ทรงมองเห็นการณ์ไกลในการพัฒนาชาติให้เจริญทัดเทียมนานาอารยประเทศ นอกเหนือไปจากพระราชภาระในฐานะอัครมเหสีของพระประมุขของชาติไทยแล้ว พระราชกรณียกิจต่างๆ ที่ปรากฏแก่สายตาคนทั่วไปนั้นล้วนแล้วแต่ทรงคุณประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองอย่างใหญ่หลวงในหลายๆ ประการ อาทิ ด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุขและการอนามัย ด้านสาธารณประโยชน์ ด้านการช่างฝีมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารราชการแผ่นดิน ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสทวีปยุโรป สิ่งต่างๆ ดังกล่าวได้ยึดถือปฏิบัติเป็นแบบอย่างต่อมาหลายประการ พระเกียรติคุณอันยิ่งใหญ่ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ มีดังนี้

การบริหารราชการแผ่นดิน ใน พ.ศ. ๒๔๔๐ การดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน อันเป็นตำแหน่งสำคัญยิ่งนั้น ย่อมแสดงให้เห็นถึงการไว้วางพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีต่อสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ดังพระราชดำรัสในที่ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดีมุขมาตย์ และข้าราชการทั้งปวงในพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เป็นผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร ความตอนหนึ่งว่า

“… เราได้สั่งให้พระอัครราชเทวี รักษาราชการในหน้าที่อันสำคัญยิ่งนี้ ด้วยการปฏิบัติอธิษฐานนํ้าใจ ให้ตั้งอยู่ในความสัตย์ธรรมอันประเสริฐ ซึ่งเป็นธรรมอันพระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์ทรงปฏิบัติอธิษฐานในพระราชหฤทัย มิให้อคติทั้งหลายสี่ประการมาครอบงำในสันดานได้ ให้มีความกรุณาปรานีและตั้งใจทำนุบำรุงทั่วไปในพระบรมวงศา¬นุวงศ์ และข้าราชการผ่ายหน้าผ่ายใน และสมณพราหมณาจารย์ประชาราษฎรทั่วพระราชอาณาจักร และอารีตั้งใจเป็นธรรมต่อชนทั้งหลายอันจะมายังพระนครนี้ และรักษาสัญญ ทั้งปวงอันได้ทำไว้แล้ว ดุจเราได้ประพฤติปฏิบัติต่อท่านทั้งหลาย ๒๙ ปีมาแล้ว

เราหวังใจว่า ด้วยความสุจริตอันมีอยู่แล้วในสันดานแห่งพระอัครราชเทวี และด้วยความจงรักภักดีที่เธอมีต่อตัวเรา คงจะประพฤติตามที่เราหวังใจและที่ได้แนะนำนี้ทุกประการ”

ตลอดเวลาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปเป็นเวลายาวนานนั้น เป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นชัดแล้วว่า สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจได้อย่างสมบูรณ์ แม้จะเป็นพระราชภาระอันหนัก และมิได้เคยทรงปฏิบัติมาก่อนก็ตาม แต่ด้วยพระปรีชาสามารถและความรอบคอบสุขุมคัมภีรภาพ การงานต่างๆ จึงสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีปราศจากข้อบกพร่องใดๆ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสชมเชยมาในพระราชหัตถเลขาว่า

“หนังสือราชการของแม่เล็กที่เป็นผู้สำเร็จราชการ มีมาเก่งเต็มที”
หม่อมเจ้าสิบพันพารเสนอ โสณกุล ทรงกล่าวไว้ในหนังสือเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ตอนพระราชประวัติว่า

“สมเด็จฯ ก็ต้องทรงสละเวลาและความสุขสำราญส่วนพระองค์ให้แก่ราชการเป็นอันมาก จริงอยู่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงตั้งคณะที่ปรึกษาของผู้สำเร็จราชการไว้ด้วย (มีสมาชิก ๕ ท่าน) แต่ภาระหนักก็ตกอยู่แก่พระองค์เป็นส่วนมาก ซึ่งภาระทั้งนี้ พระองค์มิได้เคยทรงศึกษาหรือฝึกหัดให้ทำมาก่อนเลย นอกจากจะทราบเรื่องอยู่บ้างโดยที่เป็นผู้ไว้วางพระราชหฤทัยใกล้ชิดสนิทสนมในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ราชการที่ต้องทรงวินิจฉัยและสั่งก็มีอยู่มาก ไหนยังงานในด้านสังคมอีกเล่า พระองค์เสด็จประทับในที่ประชุมคณะเสนาบดี เสด็จออกให้ผู้มีราชการเฝ้า เสด็จเป็นประธานในพระราชพิธีต่างๆ ซึ่งมีอยู่มากกว่าในปัจจุบันนี้มาก ถึงเทศกาลกฐินก็ต้องเสด็จไปพระราชทานพระกฐินหลวง แม้จนกระทั่งเมื่อเกิดเพลิงไหม้ในพระนครก็ได้เสด็จไปเป็นประธานในการดับเพลิงด้วย ทุกๆ วันในเวลาเย็น เสด็จลงสวนศิวาลัย เพื่อร่วมทรงสนทนาเล่นหัวกับพระราชวงศ์และข้าราชการฝ่ายใน บางทีก็สรงนํ้ากันในสระ โปรดให้ช่างสตรีเข้าไปฉายรูปในการเสด็จลง เวลาเย็นๆ นี้ส่งไปถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้เป็นที่ประจักษ์ในพระราชหฤทัยว่า ทางนี้มีความสุขสำราญดีอยู่ทั่วกัน ครั้นค่ำลงก็ทรงพระอักษรอยู่จนดึก เพราะนอกจากหนังสือราชการที่ต้องทรงวินิจฉัยโดยลำพังแล้ว ยังมีลายพระราชหัตถ์ส่งไปทูลเกล้าฯ ถวาย อยู่แทบจะทุกวัน ในระหว่างที่แทนพระองค์อยู่นี้ได้ทรงจัดการต่างๆ ขึ้นใหม่ก็มาก เช่น วางระเบียบในพระบรมมหาราชวัง”

พระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติ มีอาทิ การเสด็จออกรับแขกเมืองต่างประเทศ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน และญี่ปุ่น รวมตลอดทั้งแขกเมืองประเทศราช ซึ่งนำเครื่องราชบรรณการ ต้นไม้เงิน ทอง มาถวาย การออกพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพิกัดภาษีภายใน ร.ศ. ๑๑๖ พระราชบัญญัติปกครองท้องที่ การประกาศแก้พระธรรมนูญศาลหัวเมือง ประกาศพระราชทานนามถนนสุริวงศ์และถนนเดโช ประกาศ กระทรวงมหาดไทยว่าด้วยแบบแผนบังคับบัญชาการเมืองไทรบุรี เมืองปลิศ เมืองสตูล ประกาศตั้งมณฑลกรุงเก่า ร.ศ. ๑๑๖ ประกาศจัดการป้องกันกาฬโรคเพิ่มเติม พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล และตั้งรัฐมนตรี พระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัล เป็นต้น

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัตสู่พระนครแล้ว สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานเหรียญพระราชินีให้แก่บรรดาผู้ตามเสด็จ แสดงความขอบใจที่ได้ปกปัก อภิบาลรักษา และปฏิบัติหน้าที่เรียบร้อยควรแก่การยกย่องสรรเสริญ เป็นเหรียญที่ทำด้วยเงินห้อยแถบสีฟ้า มีอักษรพระนามย่อ ส.ผ. ด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งมีอักษรบรรทัดบนว่า พระราชทาน บรรทัดล่างว่า ร.ศ. ๑๑๖ เหรียญนี้ใช้ประดับเช่นเดียวกับเหรียญที่ระลึกงานพระราชพิธีต่างๆ ของหลวง

ด้านการศึกษา
สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาของชาติ โดยเฉพาะในหมู่กุลสตรี ในสมัยก่อนการศึกษาในหมู่กุลสตรียังไม่กว้างขวาง กุลสตรีไม่มีโอกาสที่จะได้รับสิทธิให้ได้ศึกษาเช่นบุรุษเพศ การศึกษามักเน้นในทางวิชาการบ้านการเรือน มารยาทสำหรับกุลสตรี การเย็บปักถักร้อย เป็นต้น สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดตั้งโรงเรียนสตรีขึ้นหลายแห่ง ทั้งในกรุงและต่างจังหวัด ได้แก่ โรงเรียนราชินี โรงเรียนเสาวภากรุงเทพมหานคร โรงเรียนวิเชียรมาตุ โรงเรียนสภาราชินีจังหวัดตรัง โรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โรงเรียนราชินีบูรณะจังหวัดนครปฐม โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนราชินี ทรงมีอุปการคุณเป็นพิเศษ ทรงเป็นพระธุระในทุกสิ่งทุกอย่างอย่างใกล้ชิด พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นเงินเดือนครู ค่าใช้จ่ายของโรงเรียน เพื่อให้เกิดความนิยมแก่คนทั้งหลาย พระองค์ได้ส่งพระราชวงศ์และเด็กหญิงในราชสำนักของพระองค์ให้เข้าเรียน ทรงจัดรางวัลอันมีค่าพระราชทานแก่นักเรียนที่มีความประพฤติและเล่าเรียนดี ผู้ที่เรียนจบหลักสูตรของโรงเรียนทุกคนจะได้รับพระราชทานเข็มกลัดอักษรพระนาม “เสาวภา” ตลอดทั้งครูและเจ้าหน้าที่กระทรวงธรรมการที่เกี่ยวข้องในขณะนั้น ก็ได้รับ พระราชทานเข็มกลัดอักษรพระนาม “เสาวภาผ่องศรี” ในที่สุดโรงเรียนนี้มีผู้นิยมเข้าเรียนอย่างแพร่หลาย

จะเห็นได้ว่าโรงเรียนต่างๆ เหล่านี้ได้เป็นแหล่งสรรพวิชาการเพื่อผลิตอนาคตของชาติ เป็นประโยชน์ในการพัฒนาชาติบ้านเมืองมาจนทุกวันนี้

ด้านการสาธารณสุข
ในสมัยนั้นการแพทย์สมัยใหม่ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงเห็นว่าวิชาแพทย์และผดุงครรภ์มีความจำเป็นแก่ชีวิตและอำนวยคุณประโยชน์อย่างมาก ทรงจัดตั้งโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์ขึ้น ในโรงพยาบาลศิริราช สำหรับเป็นสถานศึกษาวิชาพยาบาลและผดุงครรภ์ของสตรี เริ่มเปิดทำการสอนเมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๙ ทรงริเริ่มและเป็นผู้นำผดุงครรภ์สมัยใหม่ด้วยการเลิกบรรทมเพลิง (อยู่ไฟ) ซึ่งใช้กันมาแต่โบราณ ต่อมาคนชั้นสูงเกิดความนิยมและค่อยๆ เลิกตาม นอกจากนี้ยังทรงประกาศชักชวนให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการแพทย์สมัยใหม่ โดยวิธีการเชิญชวนให้หญิงคลอดบุตรด้วยวิธีการแพทย์สมัยใหม่ และเมื่อหญิงคนใดคลอดบุตรในโรงพยาบาล จะพระราชทานเงินทำขวัญ ๔ บาท พร้อมเบาะและผ้าอ้อมแก่ทารก ๑ ชุด

ในการที่ทรงส่งเสริมให้ขยายสถาบันการแพทย์ และการพยาบาลผดุงครรภ์นี้ พระองค์ต้องสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นจำนวนมากในการจ่ายเป็นเงินเดือนนายแพทย์ มิชชันนารี รวมทั้งบรรดานักเรียนแพทย์ ผดุงครรภ์ ซึ่งได้รับพระราชทานเงินเดือนเป็นค่าใช้จ่ายอีกด้วย

นอกจากนี้ยังเป็นพระธุระจัดตั้งสภาอุณาโลมแดง เพื่อเป็นศูนย์กลางบรรเทาทุกข์ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บเมื่อครั้งเกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ร.ศ. ๑๑๒ เป็นองค์สภานายิกา ต่อมาสภาอุณาโลมแดงเปลี่ยนชื่อเป็น สภากาชาด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาทุกข์แก่มนุษยชาติทั่วไปโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ เพศ วัย หรือศาสนา สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงดำรงตำแหน่งองค์สภานายิกามาตลอดพระชนมชีพ เป็นเวลาถึง ๒๖ ปี นับได้ว่าทรงเป็นผู้วางรากฐานการแพทย์ผดุงครรภ์สมัยใหม่ และตลอดพระชนมชีพของพระองค์ ทรงอุปถัมภ์บำรุงการแพทย์และการผดุงครรภ์มาตลอด ทรงแผ่พระเมตตาบารมีไปสู่อาณาประชาราษฎร์ทั้งในกรุงและต่างจังหวัด ด้วยโปรดให้สร้างโรงพยาบาลขึ้นอีกแห่งหนึ่งที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระราชทานนามว่า โรงพยาบาลปัญจมาธิราชอุทิศ เพื่อเป็นพระราชกุศลถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ด้านศาสนา
นอกจากมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาเยี่ยงพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไปแล้ว ยังทรงบริจาคพระราชทรัพย์ในการปฏิสังขรณ์ พระอารามทั้งในกรุงและต่างจังหวัด สร้างเจดียวัตถุ พระพุทธรูป พระธรรมคัมภีร์ สร้างพระวิหารสมเด็จที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ทรงปฏิสังขรณ์วัดวัดหนึ่งในอำเภอหัวหิน และสถาปนาเป็นพระอารามหลวง พระราชทานนามว่า วัดอัมพาราม แม้พุทธเจดีย์นอกพระราช อาณาจักรก็ทรงปฏิสังขรณ์ด้วย นอกจากนี้ยังทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายนิตยภัต ถวายข้าวสารเป็นอาหารบิณฑบาตแก่ภิกษุสามเณรทั้งพระอารามอีกหลายพระอาราม รวมทั้งค่านํ้าประปา กระแสไฟฟ้า และ ค่าชำระปัดกวาด รักษาพระอารามบางแห่งอีกด้วย

ด้านสาธารณประโยชน์
ทรงสร้างสะพานเสาวนีย์ ซึ่งเป็นสะพานข้ามคลองริมทางรถไฟสายเหนือ เชื่อมถนนศรีอยุธยาให้ติดต่อกันตลอด เมื่อคราวเฉลิมพระชนมพรรษา ๔๘ พรรษา พ.ศ. ๒๔๕๔ กรมโยธา¬ธิการได้ออกแบบและสร้างถวายตามพระราชเสาวนีย์ เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กแทนสะพานไม้ที่มีอยู่เดิม ต่อมาโปรดให้สร้างรูปพระนางธรณีบีบมวยผมให้นํ้าเป็นอุทกทานให้ประชาชนได้บริโภคนํ้าบริสุทธิ์ ที่หัวมุมถนนใกล้สะพานผ่านพิภพลีลา ในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา ๕๔พรรษา พ.ศ. ๒๔๖๐ นอกจากนี้ยังทรงสร้างบ่อนํ้าสาธารณะที่อำเภอหัวหินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เนื่องในคราวเสด็จพระราชดำเนินประทับแรมฤดูร้อน

การช่างฝีมือ
การช่างเป็นวิชาการอีกแขนงหนึ่งที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงสนพระทัย นอกจากมีฝีพระหัตถ์ยอดเยี่ยม และพระปรีชาสามารถในด้านการประดิษฐ์ดอกไม้สดแล้ว ยังทรงอุปถัมภ์ผู้มีฝีมือในด้านต่างๆ เช่น งานเย็บปักถักร้อยทุกชนิด การปักสะดึง กลึงไหม หักทองแล่ง ทองขวาง การประดิษฐ์จัดแต่งดอกไม้สดนานาชนิด การพับจีบ อบ ร่ำ ปรุงเครื่องหอม ตลอดจนการแกะสลักผลไม้ ไว้ในราชสำนัก เป็นที่ปรากฏว่าตำหนักที่บนของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ จะได้รับความนิยมยกย่องว่ามีฝีมือเป็นเยี่ยม นอกจากบรรดาข้าหลวงพนักงานช่างฝีมือที่ทรงชุบเลี้ยงเป็นจำนวนมากแล้ว ยังทรงอุปถัมภ์ช่างฝีมือชาวญวนไว้ด้วย โดยพระราชทานเบี้ยหวัดเงินปีให้ นับได้ว่าทรงทำนุบำรุงงานช่างฝีมือ เพื่อให้สืบทอดศิลปวัฒนธรรมด้านนี้ต่อมา

ในตอนปลายรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างทุ่งพญาไทขึ้น เป็นที่เพาะปลูกอย่างแบบฝรั่ง รวมทั้งเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ดกของฝรั่ง สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงพระสำราญยิ่งกับสถานที่แห่งนี้ ทั้งได้ทรงดำนาด้วยพระองค์เอง ต่อมาพระราชวังพญาไทนี้ได้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ จนกระทั่งเสด็จสวรรคต นอกจากพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่ กล่าวมาแล้ว ยังทรงเป็นที่พึ่งของอาณาประชาราษฎร์ ด้วยการเสด็จประพาสตามหัวเมืองและทรงเยี่ยมราษฎร พระราชทานพระราชานุเคราะห์ เช่น การศึกษาเล่าเรียน การบำบัดโรค บำรุงวัดวาอาราม อุปถัมภ์บำรุงภิกษุสามเณร บำรุงถนนหนทาง พระราชทานแจกข้าวสาร ผ้าห่ม ยารักษาโรค แก่ประชาราษฎร์ในท้องถิ่นทุรกันดาร เป็นต้น แม้ข้าราชการในพระองค์ บุตรหลานข้าราชการ ตลอดจนพระราชนัดดา พระบรมวงศานุวงศ์ ทรงอุปถัมภ์คํ้าจุนให้การศึกษาเล่าเรียน การอยู่ดีกินดี และอื่นๆ ผู้ใดขาดแคลนก็พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ทดรองให้ปัน และกู้ยืมตามปรารถนาเป็นทุนรอน ทรงห่วงใยในทุกข์ สุขของทหารอันเป็นรั้วของชาติ ด้วยการเสด็จประทับทอดพระเนตรการซ้อมรบอยู่เนืองๆ พร้อมทั้งพระราชทานอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ตลอดจนการส่งแพทย์หลวงรักษาเยียวยาทหารผู้บาดเจ็บอีกด้วย ยังความปลื้มปิติแก่ทหารทุกหมู่เหล่าเป็นอย่างยิ่ง

ในบั้นปลายแห่งพระชนมชี ทรงเริ่มมีพระโรคาพาธบ้างเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรงประสบความวิปโยคอย่างแสนสาหัส ครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ทำให้กำลังพระหทัยอ่อนลง ส่งผลสำคัญแก่พระวรกาย แพทย์ต้องถวายการรักษาอย่างใกล้ชิด และแนะนำให้พระองศ์เสด็จประพาส เพื่อให้ทรงสำราญพระราชหฤทัย เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐาน ประพาสหัวเมืองต่างๆ รวมทั้งเสด็จประพาสต่างประเทศอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ก็มีพระโรคาพาธมารบกวนบ่อยๆ ทั้งมีพระโรคประจำพระองค์ คือ ประชวรด้วยพระวักกะไม่ปรกติ พระบังคนเบามีไข่ขาว พระอาการมีแต่ทรงกับทรุดเป็นเหตุให้พระกำลังลดถอยลง ในระยะหลังถึงกับทรงพระดำเนินโดยลำพังพระองค์ไม่ได้ ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ ประชวรไข้อันเกิดจากพิษในพระอันตะ กำลังพระหทัยทนพิษไข้ไม่ได้ เสด็จสวรรคตที่พระตำหนักพญาไท เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ ตรงกับวันจันทร์ แรมสิบเอ็ดค่ำ เดือนสิบ ปีมะแม เอกศก จ.ศ. ๑๒๘๑ และได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๓

พระราชจริยาวัตร และพระราชกรณียกิจที่ทรงบำเพ็ญได้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่บ้านเมืองอย่างมาก กิจการหลายสิ่งหลายอย่างเป็นรากฐานแห่งความเจริญก้าวหน้าในปัจจุบัน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยทั้งในขณะที่พระองค์ทรงดำรงพระชนมชีพ และในปัจจุบันอย่างทั่วหน้ากัน สมดังที่เป็นพระบรมราชินีคู่พระบารมีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้เป็นสมเด็จพระปิยมหาราชของชาวไทยอย่างแท้จริง

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: เบญจมาส แพทอง

สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

เป็นพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ ๕๐ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ ๔ ในเจ้าจอมมารดาเปี่ยม ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นเจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม ในรัชกาลที่ ๕ และสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้ามาตา ในรัชกาลที่ ๖ เสด็จพระราชสมภพในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๐๕ สมเด็จพระราชชนก พระราชทานนามว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา มีพระบรมวงศ์ร่วมเจ้าจอมมารดาเดียวกัน คือ

๑. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองศ์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย (พ.ศ. ๒๓๙๙ – ๒๔๑๖)

๒. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ (พ.ศ. ๒๔๐๑ – ๒๔๙๘) ต้นราชสกุล เทวกุล

๓. สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี (พ.ศ. ๒๔๐๓ – ๒๔๒๓)

๔. สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (พ.ศ. ๒๔๐๕ – ๒๔๙๘)

๕. สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ (พ.ศ. ๒๔๐๖ – ๒๔๖๒)

๖. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ (พ.ศ. ๒๔๐๘ – ๒๔๗๘) ต้นราชสกุล สวัสดิวัตน์

เมื่อยังทรงพระเยาว์ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา ประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวังและทรงได้รับการศึกษาตามแบบราชประเพณีของขัตติยนารีเช่นเดียวกับพระเจ้าลูกเธอพระองค์อื่น หลังจากที่สมเด็จพระราชชนกเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. ๒๔๑๑ ได้ทรงตามเจ้าจอมมารดาออกไปประทับที่วังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย ครั้นพระชันษาครบ ๑๒ พรรษา พ.ศ. ๒๔๑๗ พระบาท สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานพระราชพิธีโสกันต์ เวลาต่อมา พระเจ้าน้องนางเธอ พระองศ์เจ้าสว่างวัฒนา ทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น พระนางเธอ เช่นเดียวกับพระพี่นางและพระน้องนาง คือ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี และพระพี่นางต่างพระชนนี ๑ พระองค์ คือ พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี พระภรรยาเจ้าฟ้า ๔ พระองค์นี้เมื่อแรกรับราชการสนองพระเดชพระคุณในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ทรงยกย่องไว้ในที่เสมอกัน ส่วนพระเกียรติยศที่จะเพิ่มพูนนั้น ขึ้นอยู่กับการมีพระเจ้าลูกเธอเป็นสำคัญ ภายหลังเมื่อพระภรรยาเจ้าทั้ง ๔ แต่ละพระองค์ได้มีพระประสูติกาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์แรก กล่าวคือ พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี มีพระประสูติกาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงสุทธาทิพยรัตน์ฯ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนามีพระประสูติกาล สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ มีพระประสูติกาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ และพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี มีพระประสูติกาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงพาหุรัดมณีมัย จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นเงินเดือนเท่ากันทุกพระองค์

ครั้นใน พ.ศ. ๒๔๒๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้จัดระเบียบภายในราชสำนักในเรื่องที่เกี่ยวกับตำแหน่งพระภรรยาเจ้าให้เป็นที่เรียบร้อย ในการนี้โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระองค์เจ้าสว่างวัฒนาขึ้นเป็นพระอัครมเหสี พระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี เนื่องจากเป็นพระชนนีสมเด็จเจ้าฟ้าชายพระองค์ใหญ่ซึ่งเป็นรัชทายาทตามกฎมณเฑียรบาล

สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี มีพระราชโอรสและพระราชธิดา รวม ๘ พระองค์ คือ
๑. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร (๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๑ – ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๗) (สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์แรก)

๒. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์ฯ (๔ – ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๒๒)

๓. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงวิจิตรจิรประภา อดุลยาดิเรกรัตน์ ขัตติยราชกุมารี (๒๑ เมษายน – ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๔)

๔. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัยฯ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์) (๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๕ – ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๒)

๕. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงวไลยอลงกรณ์ นรินทรเทพยกุมารี (สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร) (๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๒๗ – ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑)

๖. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงศิราภรณ์โสภณ พิมลรัตนวดี (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ) (๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๑ – ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๑)

๗. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดชฯ (๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๔ – ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๒) (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน)

๘. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิง (สิ้นพระชนม์เมื่อพระชันษาได้ ๔ วัน) (๙ – ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๖)

สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจในฐานะพระราชินี พระอัครมเหสีแห่งพระมหากษัตริย์ราชอาณาจักรสยามได้เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย โปรดเกล้าฯ ให้เสด็จ แทนพระองค์ปฏิบัติพระราชกิจสำคัญต่างๆ อาทิ พระราชพิธีแรกนาขวัญ และโปรดเกล้าฯ ให้ตามเสด็จประพาสหลายครั้ง เช่น คราวเสด็จประพาสหัวเมืองชายทะเลตะวันออก พ.ศ. ๒๔๓๐ เสด็จประพาสแหลมมลายู พ.ศ. ๒๔๓๑

ใน พ.ศ. ๒๔๓๖ ได้เกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ที่เรียกว่า “เหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒” ซึ่งทำให้ไทยต้องปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสหลายประการ ที่สำคัญคือ ไทยต้องเสียดินแดนทางฝั่งซ้ายของแม่นํ้าโขงให้แก่ฝรั่งเศสและต้องใช้เงินค่าเสียหายแก่ฝรั่งเศสเป็นจำนวนถึง ๓ ล้าน วิกฤตการณ์ครั้งนั้น ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวร เนื่องจากตรอมพระราชหฤทัย สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาพระบรมราชเทวี ได้ถวายการดูแลอย่างใกล้ชิด และได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ร่วมสมทบเป็นเงินชดใช้แก่ฝรั่งเศสด้วย

สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ทรงต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตแห่งพระชนมชีพ ทรงโทมนัสอย่างใหญ่หลวงจากการสูญเสียพระราชโอรส พระราชธิดาในระยะเวลาใกล้ๆ กัน นับตั้งแต่ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์ฯ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงวิจิตรจิรประภาฯ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิง พระราชธิดาพระองค์เล็กสิ้นพระชนม์หลังจากประสูติได้เพียง ๔ วัน โดยเฉพาะเหตุการณ์สะเทือนพระทัยครั้งรุนแรงที่สุด ก็คือ การที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร สวรรคต เมื่อวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๗ ด้วยพระโรคไข้รากสาดน้อย ทรงเสียพระทัยเป็นอันมากจนถึงกับประชวร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ตามเสด็จประพาสที่ต่างๆ เช่น ประพาสชวา พ.ศ. ๒๔๓๙ ด้วยมีพระราชดำริว่า การได้เปลี่ยนภูมิอากาศและภูมิประเทศจะทำให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงพระสำราญขึ้น หายจากพระอาการประชวรและคลายความทุกข์โศกได้บ้าง แต่ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๔๑ และ ๒๔๔๒ ก็ต้องทรงสูญเสียพระราชโอรสและพระราชธิดา อีก ๒ พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงศิราภรณ์โสภณฯ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัยฯ ตามลำดับ พระอาการประชวรที่ทุเลาแล้วกลับทรุดตามเดิม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำรัสสั่งให้สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับรักษาพระองค์ที่บางพระ จังหวัดชลบุรี เมื่อเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) อดีตแม่ทัพผู้มีชื่อเสียงซึ่งได้กราบถวายบังคมลาออกจากราชการ และไป อำนวยการบริษัทป่าไม้ที่ศรีราชา ได้จัดสร้างพระตำหนักไม้องค์หนึ่งที่ศรีราชาแล้วเสร็จ จึงได้เชิญเสด็จประทับ ต่อมาได้มีการปลูกสร้างพระตำหนักแห่งใหม่บนเนินเขา แล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๔๔๓ เนื่องจากพระตำหนักเก่าคับแคบและไม่แข็งแรง สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ ได้เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับยังพระตำหนักใหม่นี้หลายครั้ง อนึ่ง ในช่วงเวลาที่ได้เสด็จแปรพระราชฐานประทับที่ศรีราชาได้มีข้าราชบริพารที่ตามเสด็จและเจ้าหน้าที่ประจำการรักษาพระองค์เกิดเจ็บป่วยอยู่เนืองๆ ประกอบกับศรีราชาในสมัยนั้นเป็นที่ห่างไกลแพทย์ จึงมีพระดำริจัดสร้างโรงพยาบาลเพื่ออำนวยประโยชน์โดยทั่วไป ทั้งนี้โปรดให้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวีศิษฎ์ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี และพระบำบัดสรรพโรค (หมอเอช อดัมสัน) ดำเนินการวางผังโดยเลือกทำเลไม่ไกลจากพระตำหนักนํ้า เริ่มปลูกสร้างใน พ.ศ. ๒๔๔๔ แล้วเสร็จและเสด็จฯ ประกอบพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามว่า “โรงพยาบาลสมเด็จ” ปัจจุบันมีชื่อที่ใช้อย่างเป็นทางการว่า “โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา”

ครั้นพระตำหนักสวนหงส์ ซึ่งเป็นพระตำหนักใหม่ในพระราชวังดุสิตที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ สร้างพระราชทานแล้วเสร็จ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ ได้ทรงย้ายกลับมาประทับ ทรงสำราญพระทัยมากขึ้น ทรงเข้าร่วมในงานรื่นเริงต่างๆ และกิจกรรมอันเป็นที่นิยมในหมู่เจ้านายขณะนั้น เช่น การเล่นตลับงา เป็นต้น นอกจากนี้ยังทรงดำเนินกิจการทอผ้าในพระตำหนักอย่างเต็มรูปแบบ ต่อมา พ.ศ. ๒๔๕๓ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ ต้องทรงประสบกับความทุกข์อย่างใหญ่หลวงอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในวันที่ ๒๓ ตุลาคม

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ได้เสด็จ เถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ต่อจากสมเด็จพระบรมราชชนก สมเด็จพระนาง เจ้าสว่างวัฒนาฯ ได้ทรงสถิตในที่สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ครั้นใน พ.ศ. ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระอิสริยยศเฉลิมพระนามาภิไธยว่า สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า ความตามคำประกาศสถาปนาในหนังสือจดหมายเหตุ เรื่อง ทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์กรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๒ ตอนหนึ่งดังนี้

“พระราชดำริห์ว่า สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ได้ทรงเปนประธานราชการฝ่ายในตั้งแต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวงเสด็จสวรรคตมาจนบัดนี้ เปนที่เคารพนับถือของพระบรมวงศานุวงศและคนทั้งหลายทุกชั้นบันดาศักดิ์ ทั้งทรงคุณแก่บ้านเมืองปรากฏเปนเอนกปริยาย ดังเช่นทรงอำนวยการสภากาชาดสยาม เปนต้น ในส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าก็ได้ทรงประคับประคองโดยทรงพระเมตตากรุณามาเปนนิจ ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ไวย มีพระคุณควรนับเปนอย่างยิ่ง ทุกวันนี้ก็เปนที่ทรงเคารพนับถือเหมือนดังเช่นสมเด็จพระบรมราชชนนี สมควรจะเฉลิมพระเกียรติยศให้ใหญ่ยิ่ง เพื่อเปนที่ทรงปฏิบัติบูชาต่อไป

จึงมีพระบรมราชโองการ มาณ พระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสสั่งให้สถาปนาสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ขึ้นเปนสมเด็จพระพันวัสสา มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระศรีสวรินทรา บรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า”

ถึงรัชกาลที่ ๘ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ได้โปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระนามาภิไธยเป็นสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มีพระราชหฤทัยเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นประจำ ทั้งได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ บำรุงพระอารามต่างๆ นอกจากนี้ยังทรงปฏิบัติพระกรณียกิจอันเป็นคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองมาตลอดพระชนมชีพ ที่สำคัญได้แก่ทรงเป็นผู้ก่อตั้งสภาอุณาโลมแดงขึ้น เมื่อพ.ศ.๒๔๓๖ เพื่อบรรเทาทุกข์แก่ทหารป่วยเจ็บ โดยทรงรับตำแหน่งสภาชนนี พร้อมทั้งได้พระราชทานทุนทรัพย์จำนวนมาก พ.ศ. ๒๔๖๑ ได้พระราชทานทุนทรัพย์อีกจำนวนหนึ่งแก่สภากาชาดไทยที่รับช่วงกิจการของสภาอุณาโลมแดง และทรงรับ ตำแหน่งสมาชิกพิเศษ ต่อมาทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกา แห่งสภากาชาดไทย ตั้งแต่วันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ จนถึงวันเสด็จสวรรคต

ในช่วงปัจฉิมวัย สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า นับว่ามีพระสุขภาพอยู่ในเกณฑ์ปกติ อย่างไรก็ดี มีพระอาการประชวรบ้างเป็นบางช่วง กล่าวคือ ใน พ.ศ. ๒๔๘๑ ทรงประชวร ด้วยไข้หวัดใหญ่ ต้องใช้เวลารักษาพระวรกายนานถึง ๓ เดือน ถึง พ.ศ. ๒๔๙๓ ทรงประสบอุบัติเหตุทำให้พระอัฐิคอต้นพระเพลาหัก ทรงพระดำเนินไม่ได้ราว ๓ เดือน และอีก ๕ ปีต่อมา เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ ได้มีพระอาการประชวรไข้ คณะแพทย์ได้ถวายการตรวจรักษาโดยละเอียด ปรากฏว่ามีการอักเสบที่พระปัปผาสะ พระอาการมีแต่ทรงกับทรุด ในที่สุดได้เสด็จสวรรคต ณ พระตำหนักวังสระปทุม ด้วยพระหทัยปเทสวายด้วยพระอาการสงบ ในวันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ สิริรวมพระชนมายุได้ ๙๓ พรรษา ๓ เดือน ๗ วัน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน ทรงอาลัยและรำลึกถึงพระคุณูปการที่ได้ทรงอุปถัมภ์บำรุงพระองค์ และสมเด็จพระเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล มาแต่ยังทรงพระเยาว์ นับว่าทรงมีพระคุณเป็นอเนกปริยาย เนื่องด้วยเป็นพระอัยยิกาบรมราชบุพการิณีโดยตรง และมีพระจริยวัตรตั้งอยู่ในสัจธรรมและขันติธรรม ตลอดจนเป็นที่เคารพสักการะอย่างยิ่ง ของพระองค์ และบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สำนักพระราชวัง จัดการพระบรมศพ ถวายพระเกียรติยศตามราชประเพณี และในวันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้จัดการพระเมรุ ถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง แล้วอัญเชิญพระบรมอัฐิกลับสู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เมื่อบำเพ็ญพระราชกุศลเสร็จจึงอัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนพระวิมานพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ส่วนพระบรมราชสรีรังคารนั้นได้อัญเชิญไปบรรจุ ณ พุทธบัลลังก์พระสัมพุทธวัฒโนภาส ณ พระอุโบสถวัดราชาธิวาส

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: อิสรีย์ ธีรเดช

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์พระบรมราชเทวี

เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาเปี่ยม ซึ่งต่อมาได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา ทรงพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีวอก โทศก จ.ศ. ๑๒๒๒ ตรงกับวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๓ เมื่อแรกพระราชสมภพพระนางเรือล่มพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมชนกนาถ ทรงโสมนัสมาก ได้มีพระราชหัตถเลขาส่งข่าวให้พระองค์เจ้าปัทมราช ซึ่งประทับอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช ทรงทราบว่า

“…ปีนี้กระหม่อมฉันมีบุตรชายอีก ๒ คน บุตรหญิง ๑ คน…
… หญิงคนหนึ่งนั้นชื่อสุนันทากุมารีรัตน์ เป็นน้องมารดาเดียวกับชายอุณากรรณ และชายเทวัญอุทัยวงศ์ ออกเมื่อเดือน ๑๒”

พระนาม “สุนันทากุมารีรัตน์” นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระราชทานแด่พระราชธิดาด้วยพระองค์เอง โดยพระราชนิพนธ์เป็นคาถาภาษาบาลี มีคำแปลเป็นภาษาไทย ความว่า

“พระองค์เจ้าหญิงองค์นี้ ทรงนามว่า สุนันทากุมารีรัตน์ อย่างนี้ดังนี้ จงอย่ามีโรค จงมีความสุข ปราศจากทุกข์และความวุ่นวายเถิด พระองค์เจ้าหญิงนั้นจงมั่นคงด้วยทรัพย์มาก มีโภคมาก มียศและบริวารไม่แปรผัน ขอพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ กับทั้งอารักขเทพดา จงช่วยอภิบาลรักษาพระองค์เจ้าหญิงสุนันทากุมารีรัตน์นั้น ให้พ้นไปจาก
อันตรายเป็นนิตย์ ขอความสัมฤทธิ์จงมีแก่พระองค์เจ้าหญิงสุนันทากุมารีรัตน์เทอญ”

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชทรัพย์จำนวนหนึ่งไว้สำหรับพระองค์ เป็นทุนสำหรับประกอบกิจการเป็นผลประโยชน์เมื่อเจริญพระชนมายุ เนื่องจากทรงพระราชดำริว่า ขณะเมื่อพระราชธิดาประสูตินั้น พระองค์เจริญพระชนมพรรษามากแล้ว หากเสด็จสวรรคตในขณะที่พระราชธิดายังทรงพระเยาว์ พระราชธิดาจะทรงลำบาก จึงพระราชทานเงินพร้อมทั้งมีพระราชหัตถเลขาเป็นหลักฐานกำกับไว้ ตลอดจนพระราชทานพระบรมราโชวาทให้พระราชธิดาประพฤติแต่การอันสมควร ซึ่งนับว่าได้ทรงเตรียมการไว้อย่างรอบคอบ เพราะหลังจากพระราชธิดาประสูติได้ ๘ ปี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสวรรคตลงในปี พ.ศ. ๒๔๑๑ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี มีพระประยูรญาติร่วมพระชนนีดังนี้

๑. พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย

๒. พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ ภายหลังได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เป็นต้นราชสกุล เทวกุล

๓. สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี

๔. พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา ภายหลังได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

๕. พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี ในรัชกาลที่ ๖ ทรงสถาปนาเป็น สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง

๖. พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ ภายหลังได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฏ์ เป็นต้นราชสกุล สวัสดิวัตน์

การศึกษาของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี นั้น สันนิษฐานว่าคงจะทรงศึกษาอักขรวิธี ภาษา สรรพวิชาต่างๆ จารีตประเพณี ตลอดจนวิชาการต่างๆ อันสมควรแก่ขัตติยราชกุมารี จากพระตำหนักพระบรมวงศ์ฝ่ายใน ในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาเมื่อเจริญพระชนมายุขึ้นจึงได้เป็นพระอัครมเหสี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

กล่าวกันว่าสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี มีพระสิริโฉมงดงาม พระอัธยาศัยอ่อนโยน เรียบร้อย เป็นที่รักใคร่ของเจ้านายทั่วไป และเป็นที่สนิทสนมของพระราชสวามีอย่างยิ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่างพระราชกิจ มักเสด็จประทับสำราญพระราชอิริยาบถ ณ พระตำหนักของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวีเสมอ และโปรดเกล้าฯ ให้ตามเสด็จ เมื่อเสด็จประพาสเนืองๆ

ใน พ.ศ. ๒๔๒๑ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี มีพระสูติกาลพระราชธิดาพระองค์แรก คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ ปรากฏหลักฐานในจดหมายเหตุพระราชกิจ รายวันในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังนี้

“วันอาทิตย์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๙ ปีขาล สัมฤทธิศก ๑๒๔๐…
เวลา ๔ ทุ่ม พระองค์เจ้าสุนันทาประชวรครรภ์ เสด็จลงประทับอยู่ที่ตำหนักจันทร รุ่งยังไม่ประสูติ

วันจันทร์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๙ ปีขาล สัมฤทธิศก ๑๒๔๐
ประทับอยู่ที่ตำหนักพระองค์เจ้าสุนันทา ไม่เข้าที่เมื่อจวนรุ่งจนเช้า ๕ โมง

เวลาบ่าย ๔ โมง มิสเตอร์ริชแมนกับภรรยาเข้ามาเฝ้า ท่านกาพย์เป็นผู้พาเข้ามา สมเด็จพระองค์น้อยทูลไว้แต่วานนี้ เสด็จกลับมาจากพระที่รับเขา แล้วประทับตรัสอยู่กับเราเรื่องประชวรพระครรภ์หน่อยหนึ่ง แล้วเสด็จลงอีก

เวลา ๕ ทุ่ม ๑๑ นาที กับ ๒๕ วินาที พระองค์เจ้าสุนันทาประสูติพระราชบุตรี รกติดอยู่ประมาณ ๑๕ นาทีจึงออก เรา อยู่ที่วังสมเด็จกรมพระๆ กับเราเข้าไป รับสั่งให้เราแขวนกระโจมอย่างคราวก่อน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงนั้น มีติ่งที่พระกรรณข้างขวา หน้าออกมาตรงพระปราง ติ่งนั้นยาวประมาณ ๓ กระเบียดน้อย เมื่อเรากลับออกมากับสมเด็จกรมพระนั้นฝนตก เวลา ๗ ทุ่ม ๔๕ มินิตถึงบ้าน”

ในการประสูติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์นี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานสายนาฬิกาเพชรราคา ๑๕ ชั่ง และแหวน ๒ วง ราคา ๓๘ ชั่ง เป็นของขวัญ แก่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ต่อมาเมื่อมีพระราชพิธีสมโภชเดือนพระราชธิดา ตามราชประเพณี ได้พระราชทานทองคำจากเมืองกบินทร์บุรี เป็นของขวัญแด่พระราชธิดา ดังความใน จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันว่า

“โปรดเกล้าฯ ให้เราเขียนหนังสือปิดทองคำแท่งเมืองกบินทร์บุรี ๒ แท่ง ความว่า ทองคำบ่อเมืองกบินทร์ เนื้อ ๘ หนัก พระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ โสภางค์ทัศนิยลักษณ อรรควรราชกุมารี ในการสมโภชเดือนวัน ๖ ๒ ๑๐ ค่ำ ปีขาล สัมฤทธิศก ศักราช ๑๒๔๐ ดังนี้ ๒ แท่งๆ หนึ่งที่ ๓๑ หนัก silapa-0115 - Copy1 แท่งหนึ่งที่ ๑๓ หนัก silapa-0115 - Copy2 รวมหนัก silapa-0115 - Copy3 ขาดจำนวนไม่เท่าสมเด็จเจ้าฟ้าสุทธา
ทิพยรัตนอยู่ silapa-0115 - Copy4 โปรดเกล้าฯ พระราชทานทองใบให้มาเติมลง กับมีทองใบจำนวนพระราชทานอีกส่วนหนึ่งหนัก silapa-0115 - Copy5 รวมทองใบ silapa-0115 - Copy6 รวมทองทั้งสิ้น silapa-0115 - Copy7

จากหลักฐานต่างๆ ดังกล่าวมาแล้ว แสดงให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนิทเสน่หาในพระบรมราชเทวีและสมเด็จพระเจ้าลูกเธออย่างลึกซึ้ง ดังนั้น ๒ ปีต่อมา เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ทำให้สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ซึ่งกำลังทรงพระครรภ์ได้ ๕ เดือน ต้องสวรรคตลงพร้อมกับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ จึงทรงเศร้าเสียพระทัยอย่างยิ่ง ทรงใช้เวลานานกว่าจะตัดพระทัยได้

อุบัติเหตุอันเศร้าสลดนี้ เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๒๓ ในเดือนพฤษภาคมอันเป็นเวลาเสด็จพระราชดำเนินจากกรุงเทพฯ แปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในปีนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ ได้เสด็จด้วย โดยประทับในเรือพระประเทียบเก๋ง มีเรือปานมารุตจูง นอกจากนี้ยังมีพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน เสด็จในเรือพระประเทียบอื่นๆ มีเรือยนต์จูงเป็นกระบวน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ขบวนเรือพระประเทียบล่วงหน้าขึ้นไปบางปะอินก่อนเมื่อเวลาประมาณ ๘ นาฬิกา ของเช้าวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๒๓ เนื่องจากมีพระราชภารกิจ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ปรากฏว่าเมื่อขบวนเรือพระประเทียบแล่นไปถึงตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ได้เกิดอุบัติเหตุ เรือพระประเทียบของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ชนกับเรือโสรวาร ซึ่งจูงเรือพระประเทียบของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เรือพระประเทียบล่มลง สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ และคุณแก้ว พระพี่เลี้ยงติดอยู่ภายในเก๋งเรือ กว่าจะกู้เรือขึ้นได้ก็สวรรคตและสิ้นพระชนม์แล้วทั้ง ๒ พระองค์ รวมทั้งพระพี่เลี้ยงก็ถึงแก่กรรมด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโทมนัสอย่างยิ่ง มีพระบรมราชโองการให้สอบสวนพระยามหามนตรีผู้ควบคุมเรือโสรวาร ตลอดจนผู้ร่วมเหตุการณ์ทั้งหมด และเชิญพระศพพระบรมราชเทวีพร้อมทั้งพระราชธิดาขึ้นเรือพระที่นั่งเวสาตรี กลับกรุงเทพมหานครในวันนั้น ส่วนพระบรมวงศานุวงศ์ที่ล่วงหน้าไปบางปะอินก่อนหน้าเรือพระที่นั่งนั้น โปรดให้ตามเสด็จกลับลงมาทั้งหมด ขณะเมื่อประสบอุบัติเหตุจนถึงแก่พระชนมชีพนั้น สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี มีพระซนมายุ ๑๙ ปี ๖ เดือน ๒๐ วัน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ มีพระชนมายุ ๑ ปี ๙ เดือน ๒๐ วัน

เรือพระที่นั่งออกจากตำบลบางพูดเวลา ๒๒ นาฬิกา ล่องลงมาถึงตำหนักแพกรุงเทพฯ เวลา ๒ นาฬิกา ครั้นย่ำรุ่งของวันอังคารที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๒๓ จึงสรงนํ้าพระศพและเชิญเข้าพระโกศ จาก นั้นตั้งกระบวนแห่เชิญไปประดิษฐานบนแว่นฟ้า ณ หอธรรมสังเวช เช่นเดียวกับพระบรมศพสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระโกศสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ประกอบพระลองทองน้อย พระโกศสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ ทรงพระฉลองมณฑปเล็ก ประดับเฟื่องดอกไม้ที่ฝาและเอวเต็มที่ทั้งสองพระโกศ ตั้งเครื่องสูงเครื่อง ๕ ชุมสาย และข้างพานพระภูษาโยงตั้งเหมเข้าปักแว่นด้วย โปรดให้ยกพระแท่นประสูติของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ มาตั้งสำหรับพระสวดอภิธรรม และโปรดให้ไว้ทุกข์แก่พระศพ โดยเจ้านายทรงดำ ข้าราชการพันแขน ในระหว่างที่เศร้าเสียพระทัยนี้ ไม่เสด็จเข้าประทับในพระที่ แต่ประทับ ณ พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ ซึ่งเรียกกันว่า ห้องเขียว ไม่ค่อยทรงสบายนัก โปรดให้มีเจ้าพนักงานประจำเพียงไม่กี่คน ได้แก่ แพทย์หลวง และมหาดเล็ก คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ พระยานรรัตนราชมานิต หลวงราโชแพทย์ เจ้าหมื่นไวยวรนารถ และนายเล่ห์อาวุธ อย่างไรก็ตาม ยังทรงปฏิบัติพระราชกิจต่างๆ ตามปกติ

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี นั้น ทรงมีฐานะเป็นพระอัครมเหสีที่เป็นลูกหลวงเอก คือเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้า เมื่อมีพระราชธิดากับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชธิดาจึงทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้า แต่ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังมิได้สถาปนาพระอิสริยยศแก่พระอัครมเหสี ยังเรียกพระนามว่า พระองศ์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ เมื่อสวรรคตแล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระนามเป็นพระเกียรติว่า สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี และพระราชทานเงินเดือนเพิ่มจากเดิมเดือนละ ๗ ตำลึง เป็นเดือนละ ๑ ชั่ง ไปจนกว่าพระราชทานเพลิง ซึ่งเงินนี้ต่อมาได้สมทบใช้ในงานพระศพและการสร้างสุนันทาลัยด้วย

นอกจากบำเพ็ญพระราชกุศลพระศพตามราชประเพณีแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองศ์เจ้าประดิษฐวรการ สร้างพระพุทธรูป นาคปรกประจำวันสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี พระพุทธรูปห้ามสมุทรประจำวัน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ กับพระพุทธรูปฉลองพระองค์ของทั้งสองพระองค์ด้วย ในส่วนที่เกี่ยวกับการพระศพนั้น ได้เสด็จพระราชดำเนินไปบำเพ็ญพระราชกุศล ณ หอธรรมสังเวชทุกวัน ทรงพระราชวินิจฉัยเกี่ยวกับการจัดสร้างพระเมรุ การจัดทำของพระราชทานเป็นที่ระลึกในการพระเมรุ การจัดทำสังเค็ต การจัดสร้างพระโกศพระอัฐิ และอื่นๆ ด้วยพระองค์เองทุกเรื่อง เนื่องจากมีพระราชประสงค์จะให้ปรากฏพระเกียรติยศแก่พระอัครมเหสี พระเมรุเป็นพระเมรุขนาดใหญ่ เสาสูง ๑๕ วา เสด็จพระราชดำเนินในพิธียกเสาพระเมรุ ณ ท้องสนามหลวง ในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๒๔ และเสด็จทอดพระเนตรการก่อสร้างแทบทุกวัน

ถึงวันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๓ ได้อัญเชิญพระโกศพระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี และพระโกศพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ จากพระบรมมหาราชวัง ขึ้นสู่พระเมรุท้องสนามหลวง โปรดให้บำเพ็ญพระราชกุศลและมีมหรสพสมโภช ๓ วัน และพระราชทานเพลิงพระศพในวันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๓ ปรากฏความในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน พ.ศ. ๒๔๒๓ ดังนี้

“เวลาเที่ยง เชิญพระศพสมเด็จพระนางเจ้าและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอจากพระเบญจา มาตั้งในห้องซึ่งกันรักแร้ เมรุ มุขตะวันตกและใต้ต่อกัน เจ้าพนักงานภูษามาลาชำระพระศพเสร็จแล้ว เวลาเกือบค่ำจึงได้เชิญพระศพขึ้นตั้งบนที่พระราชทานเพลิง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์ สมเด็จเจ้าพระยา ท่านเสนาบดี กงสุลต่างประเทศ เฝ้าพร้อมกันอยู่ด้วยด้านตะวันออก ครั้นเรียบร้อยแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปพระราชทานเพลิงพระศพทั้ง ๒ และพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการฝ่ายหน้าและกงสุลต่างประเทศพร้อมกันขึ้นไปถวายพระเพลิง และสมเด็จพระนางเจ้า พระนางเธอ พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายในและคนอื่นๆ ก็ขึ้นไปถวายพระเพลิงเป็นอันมาก เสียงร้องไห้กึกก้องไปทั้งนั้น”

วันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา สมเด็จพระนางเธอเสาวภาผ่องศรี เสด็จพระราชดำเนินทรงเก็บพระอัฐิ เจ้าพนักงานเชิญลงพระลองโมรา แล้วลองพระมณฑปทองคำลงยาประดับเนาวรัตน์ ตั้งบนพานทองคำ ๒ ชั้น ประดิษฐานในบุษบกทองคำ และเชิญขึ้นตั้งบนพระเบญจา ๓ ชั้น บำเพ็ญพระราชกุศลและมีงานมหรสพสมโภชพระอัฐิ ๓ วัน ส่วนพระอังคารนั้น เจ้าพนักงานเชิญขึ้นพระยานมาศ มีกระบวนเทวดาแห่เครื่องสูงกลองชนะ ไปลงเรือชัย ๒ ลำที่ท่าพระ มีเรือแห่ไปลอยที่หน้าวัดปทุมคงคาตามโบราณราชประเพณี

วันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๓ เชิญพระโกศพระอัฐิสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ ขึ้นบุษบกประดิษฐานบนพระยานมาศ สามลำคาน มีเครื่องสูงกลองชนะคู่แห่ดังเช่นแห่พระธาตุ กลับเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง

ด้วยความอาลัยในสมเด็จพระบรมราชเทวีและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้สร้างอนุสาวรีย์และอนุสรณ์สถานไว้หลายแห่ง บางแห่งได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงคัดเลือกสถานที่และทอดพระเนตรการก่อสร้างด้วยพระองค์เอง คือเป็นสถานที่ซึ่งสมเด็จพระบรมราชเทวีเคยโปรดเมื่อเสด็จประพาสบ้าง หรือสถานที่ที่พระองค์ทรงเห็นว่าเหมาะสมบ้าง แต่ทุกแห่งนั้น ได้ทรงพระ

๑. สุนันทานุสาวรีย์
ตั้งอยู่ในบริเวณสุสานหลวง ทิศตะวันตกของวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นอาคารขนาดเล็ก ยอดเป็นปรางค์ ภายในบรรจุพระสรีรางคารลมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์

๒. สุนันทาลัย
ใน พ.ศ. ๒๔๒๓ เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี สวรรคตลง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริจะสร้างอนุสรณ์สถานให้แก่พระบรมราชเทวี เรียกว่า “สุนันทาลัย” และสถานที่นั้น จะให้เป็นที่ตั้งโรงเรียนด้วย ได้ทรงเลือกสถานที่ริมแม่นํ้าเจ้าพระยา ตำบลปากคลองตลาด แขวงพระบรมมหาราชวัง ตรงข้ามวัดกัลยาณมิตร เป็นสถานที่ก่อสร้าง บริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งวัง ๒ วัง คือ วังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมวงศ์ ซึ่งต่อมาเป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูบดีราชหฤทัย แล้วเป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ อยู่ระยะหนึ่ง จึงทรงย้ายไปประทับวังใหม่ที่สะพานถ่าน อีกวังหนึ่งเป็นวังเดิมของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์หลังจากสิ้นพระชนม์แล้ว เป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอุดมรัตนราษี เมื่อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสุนันทาลัยขึ้นนั้น วังทั้งสองว่างอยู่

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงใช้เงินส่วนพระองค์ส่วนหนึ่งของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ที่ทรงแบ่งจากค่าใช้จ่ายในงานพระศพและจัดทำของแจกในงานพระเมรุ มาสมทบเป็นค่าก่อสร้างสุนันทาลัย โปรดให้สร้างเป็นตึกใหญ่ ๒ ชั้น ๒ หลัง ตามสถาปัตยกรรมแบบยุโรป ตึกหลังที่อยู่ริมแม่นํ้ามีตราแผ่นดินที่หน้าจั่ว และมีข้อความจารึกถัดลงมาว่า “ROYAL SEMINARY” สุนันทาลัยที่แม่นํ้า สมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปีมะโรง โทศก ๑๒๔๒”

พ.ศ. ๒๔๒๙ เมื่อสร้างเสร็จโปรดให้ย้ายโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษที่วังนันทอุทยาน จากฝั่งธนบุรีมาตั้งที่สุนันทาลัย และระหว่าง พ.ศ. ๒๔๔๔ – ๒๔๔๙ ใช้เป็นที่ทำการกระทรวงธรรมการระยะหนึ่ง พ.ศ. ๒๔๔๙ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ได้กราบบังคมทูล พระกรุณา ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ย้ายโรงเรียนราชินี จากตึกแถวมุมถนนอัษฎางค์ และจักรเพชรมาตั้งที่สุนันทาลัย จากนั้นได้เป็นโรงเรียนราชินีสืบมา ปัจจุบันอาคารสุนันทาลัย ของเดิมเหลืออยู่เพียงริมนํ้าหลังเดียว ส่วนตึกหลังในสภาพทรุดโทรมเกินกว่าจะบูรณะได้ ทางโรงเรียนจึงรื้อลงเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๖

๓. พระอนุสาวรีย์ที่พระราชวังบางปะอิน
พระอนุสาวรีย์ตั้งอยู่ในพระราชอุทยาน สร้างด้วยหินอ่อนสีขาว ลักษณะส่วนยอดเป็นเสาเหลี่ยม ปลายเรียวแหลม ส่วนกลางเป็นสี่เหลี่ยม มีคำจารึก ๒ ด้าน ด้านหนึ่งเป็นภาษาไทย ด้านหนึ่งเป็นภาษา อังกฤษ แสดงถึงความอาลัยรัก ส่วนอีก ๒ ด้าน เป็นอักษรพระนามาภิไธยย่อของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทา กุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๔

๔. พระอนุสาวรีย์ที่นํ้าตกพริ้ว อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๔ เพื่อเป็นอนุสรณ์ แด่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี เนื่องจากเคยเสด็จประพาสนํ้าตกพริ้วใน พ.ศ. ๒๔๑๗ และโปรดสถานที่นี้มาก ลักษณะอนุสาวรีย์ก่อด้วยศิลาเป็นรูปพีระมิดขนาดย่อม ภายในบรรจุพระสรีรางคาร มีแผ่นจารึกบอกประวัติการสร้าง

๕. พระอนุสาวรีย์ในพระราชอุทยาน สราญรมย์
ประดิษฐานอยู่กึ่งกลางพระราชอุทยาน สร้างด้วยหินอ่อนสีขาว ทรงสี่เหลี่ยมย่อมุม ยอดเป็นปรางค์ มีคำจารึกไว้อาลัยที่ฐานทั้ง ๔ ด้าน ด้านทิศเหนือเป็นคำไว้อาลัยภาษาไทย ทิศใต้เป็นภาษาอังกฤษ ทิศตะวันออกเป็นคำฉันท์ไว้อาลัยแด่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ทิศตะวันตกเป็นคำฉันท์ไว้อาลัยแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ พระนิพนธ์ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จแทนพระองค์ไปทรงเปิดพระอนุสาวรีย์ เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๖

๖. สวนสุนันทาในพระราชวังดุสิต
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างขึ้นทางทิศตะวันตกของพระราชวังดุสิต เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ เพื่อเป็นที่สำราญพระอิริยาบถ มีลักษณะเป็นสวนป่าคล้ายสวนของพระราชวังเบินสตอป ประเทศเดนมาร์ก มีเนื้อที่ ๑๑๒ ไร่ พระราชทานชื่อว่า “สวนสุนันทา” เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่สมเด็จพระนางเจ้า สุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จสวรรคตลงก่อนที่การสร้างจะแล้วเสร็จ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นผู้อำนวยการสร้างตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๔ – ๒๔๖๒ และจัดเป็นที่ประทับของพระมเหสี พระราชธิดา และบาทบริจาริกา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สภาพพื้นที่ประกอบด้วยสระ คูคลอง เกาะแก่ง และเนินดิน มีพระตำหนักใหญ่น้อยสร้างตามสถาปัตยกรรมแบบ Italian Renaissance รวม ๓๒ หลัง ตั้งอยู่ริมนํ้า บนเนิน หรือที่ราบ และต่างก็ปลูกไม้ดอกไม้ประดับอย่างงดงาม

พ.ศ. ๒๔๗๕ หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน เจ้านายฝ่ายในและเจ้าจอมทั้งหลาย ต่างก็ย้ายไปสร้างที่ประทับและที่อยู่ภายนอกพระราชวัง สวนสุนันทาจึงร้างมีแต่โขลนจ่าเฝ้าดูแล พ.ศ. ๒๔๘๐ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้มอบสวนสุนันทาให้แก่นายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของนายกรัฐมนตรีและผู้แทนราษฎร แต่สภาผู้แทนราษฎร ชี้แจงว่ายังไม่พร้อมที่จะใช้สถานที่ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้เป็นที่ตั้งสถานศึกษาของชาติ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จึงมอบสวนสุนันทาให้กระทรวงธรรมการ ปัจจุบันบริเวณสวนสุนันทาเป็นที่ตั้งของสถาบันราชภัฏสวนดุสิต สถาบันราชภัฏสวนสุนันทา โรงเรียนอนุบาลลอออุทิศ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นกระทรวงมหาดไทย

สถาบันราชภัฏสวนสุนันทาได้จัดสร้างพระอนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ประดิษฐานไว้บนเนินภายในบริเวณสถาบัน มีลักษณะเป็นพระรูปเหมือนหล่อด้วยโลหะ ขนาดเท่าพระองค์จริง ประทับบนพระแท่น มีจารึกหินอ่อนบอกพระนาม วันพระราชสมภพและสวรรคต ตลอดจนการเปิดพระอนุสาวรีย์อยู่ด้านล่างของเนิน พระอนุสาวรีย์นี้ออกแบบปั้นหล่อโดยกรมศิลปากร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระอนุสาวรีย์เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๕

นอกจากพระอนุสาวรีย์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างขึ้น ยังมีที่ประชาชนร่วมใจกันสร้างขึ้นด้วย คือ

๗. ศาลที่วัดกู้ ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
เมื่อเรือพระประเทียบของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์พระบรมราชเทวีประสบอุบัติเหตุล่ม ณ ตำบลบางพูด ใน พ.ศ. ๒๔๒๓ นั้น ได้กู้เรือและอัญเชิญพระศพขึ้นที่วัดนี้ ทางวัดจึงเปลี่ยนชื่อจาก วัดท่าสอน เป็น วัดกู้ และสร้างศาลขึ้นริมฝั่งแม่นํ้าเจ้าพระยา ต่อมาเมื่อพระครูนันทาภิวัฒน์เป็นเจ้าอาวาส ได้สร้างศาลใหม่ใกล้ต้นโพธิ์ ณ บริเวณศาลาท่านํ้าเดิม โดยจำลองลงมาจากศาลาของพระราชวังบางปะอิน และได้ให้กรมศิลปากรหล่อพระรูปยืนของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ขนาดเท่าพระองค์จริง ประดิษฐานไว้ภายใน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวิชราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงพระสุหร่ายและทรงเจิม เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ ศาลนี้ประชาชนทั่วไปเรียกว่า “ศาลพระนางเรือล่ม” เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนทั้งในท้องถิ่นและผู้มาเยือน

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี นับว่าเป็นพระอัครมเหสีที่มีพระอนุสาวรีย์ และอนุสรณ์สถานที่พระราชสวามีทรงสร้างเป็นที่ระลึกแห่งความรักความอาลัยมากกว่าพระองค์ใด นอกจากนี้ ที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทยังมีพระสาทิสลักษณ์สีนํ้ามัน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ช่างเขียนขึ้น ประดิษฐานอยู่ที่ผนังห้องโถง มุขกระสันด้านตะวันตกด้วย

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: ฉวีงาม มาเจริญ

สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี

เป็นพระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็น สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช แม้ว่าจะสวรรคตตั้งแต่
พระชนมพรรษายังน้อย แต่ก็เป็นสมเด็จพระอัครมเหสีที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า เจ้าอยู่หัวทรงสนิทเสน่หาอย่างยิ่ง เนื่องจากมีพระอุปนิสัยสงบเสงี่ยม เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติของกุลสตรี ทรงปฏิบัติหน้าที่ของพระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระราชมารดาในพระราชโอรส พระราชธิดาอย่างสมบูรณ์ ไม่บกพร่องตลอดพระชนม์ชีพสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี

สมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี เป็นพระธิดาในสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่น มาตยาพิทักษ์ (พระองค์เจ้าศิริวงศ์ ต้นราชสกุล ศิริวงศ์ ณ อยุธยา) พระชนนีน้อยเป็นพระมารดา พระราชสมภพเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๘ อุตราสาฒ ปีมะเมีย จ.ศ. ๑๑๙๖ ตรงกับวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๘๘ ทรงเป็นกำพร้าทั้งพระชนกและพระชนนีตั้งแต่พระชนมายุเพียง ๔ ปี ๑๑ เดือน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระอัยกาธิราช (ปู่)จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงละม่อม ในรัชกาลที่ ๓ ซึ่งทรงเป็นพระปิตุจฉา (อา) รับพระองค์เข้ามาอภิบาล ณ พระตำหนักตึก ซึ่งเป็นพระตำหนักเดิมของสมเด็จพระศรีสุลาลัย ในพระบรมมหาราชวัง ขณะนั้นยังไม่มีพระนามเป็นทางการ เนื่องจากตามโบราณราชประเพณี เจ้านายในราชสกุลจะทรงเรียกพระนามเล่นๆ กันไปก่อน เมื่อเจริญพระชันษาใกล้จะโสกันต์หรือเกศากันต์ จึงจะพระราชทาน หรือประทานพระนามจริงให้ สมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี จะมีพระนามที่พระชนก พระชนนี ทรงเรียกขานอย่างไรนั้น ไม่ปรากฏหลักฐาน ปรากฏว่าเมื่อเสด็จเข้ามาประทับในพระ อภิบาลของเสด็จอาแล้ว ได้เสด็จขึ้นเฝ้าสมเด็จพระบรมอัยกาธิราชเป็นนิจ และได้ทรงรับการฝึกสอนให้ทรงรู้จักวิธีถวายอยู่งานพัด ทรงปฏิบัติได้อย่างดีถูกแบบแผนเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระบรมอัยกาธิราช อย่างยิ่ง จนถึงกับพระราชทานพระนามว่า “หม่อมเจ้าหญิงรำเพย” อันหมายถึงการพัด อย่างโชยๆ

เมื่อเจริญพระชนมายุขึ้น ได้ทรงศึกษาทั้งอักขรวิธี ราชประเพณี และวิชาการต่างๆ อันเป็นคุณสมบัติของเจ้านายฝ่ายใน ในพระบรมมหาราชวัง โดยย้ายไปประทับชั่วคราว ณ พระตำหนักต้นจำปี กับพระเจ้าอัยยิกาเธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา เมื่อยังดำรงพระยศเป็นพระองค์เจ้าหญิงบุตรี หลังจากนั้นได้เสด็จกลับมาประทับ ณ พระตำหนักตึก ของสมเด็จพระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร ดังเดิม

ในรัชกาลที่ ๔ หม่อมเจ้าหญิงรำเพยได้รับราชการเป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นถึง พ.ศ. ๒๓๙๕ สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี ซึ่งเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานสมมตยาภิเษก หม่อมเจ้าหญิงรำเพยขึ้นเป็น พระราชเทวีมีพระนามว่า “พระนางเธอ พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์” หมายถึง บุปผาอันเป็นที่ยินดี และเป็นที่พักพิงของหมู่ภมร และหลังจากสถาปนาพระราชเทวีพระองค์นี้แล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงสถาปนาเจ้านายพระองค์ใดขึ้นเป็นพระมเหสีอีกไม่ว่าตำแหน่งใด นับได้ว่าทรงเป็น “สมเด็จพระอัครมเหสี” ในรัชกาลนี้ จนแม้เสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มิได้ทรงสถาปนาผู้ใดดำรงตำแหน่งพระมเหสีอีก

ระหว่างทรงดำรงตำแหน่งพระราชเทวีในรัชกาลที่ ๔ นั้น ได้สนองพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จ พระบรมราชสวามีอย่างใกล้ชิด เป็นที่สนิทเสน่หายิ่ง สมเด็จพระบรมราชสวามีประทับที่ใดก็โปรดให้พระองค์
ประทับร่วมพระราชมณเฑียรสถานนั้นทุกแห่ง คือ เมื่อประทับ ณ พระที่นั่งในหมู่พระมหามณเฑียร ก็โปรดให้สมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี ประทับ ณ ห้องพระเฉลียงพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ต่อมาเมื่อทรงสร้างที่ประทับใกล้พระตำหนักตึก เรียกว่า “พระตำหนักหอ” เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี ก็โปรดให้สร้างพระที่นั่งสีตลาภิรมย์อีกองค์หนึ่งเป็นที่ประทับในบริเวณใกล้กัน และเมื่อทรงสร้างพระอภิเนาวนิเวศน์เป็นพระราชมณเฑียรใหม่ทางกำแพงพระบรมมหาราชวังด้านตะวันออกก็เสด็จทรงย้ายไปประทับ ณ พระที่นั่งจันทรทิพโยภาศ ในหมู่พระราชมณเฑียรนั้นด้วยกัน แต่เมื่อทรงพระประชวร สมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี ได้แยกไปประทับ ณ พระตำหนักหอ จนกระทั่งสวรรคตลง ณ พระตำหนักนั้น

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยกย่องสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี แม้แต่การเรียกขานพระนามทั้งต่อหน้าและลับหลัง ตรัสเรียก “รำเพย” บ้าง “แม่รำเพย” บ้าง และ “แม่เพย” บ้าง ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าจอมมารดาผึ้ง เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินโดยชลมารคไป พระราชทานผ้าพระกฐิน ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในพุทธศักราช ๒๓๙๘ ดังนี้

“…ลูกเมียและคนทั้งปวงที่มาด้วยก็สบายอยู่หมดทุกคน ทูลพวะองค์ลม่อม ให้ทราบด้วยว่า ชายฟ้าหญิงฟ้ากับรำเพยก็สบายดี แม่พาลูกทั้งเล็กทั้งใหญ่ไปเที่ยวหลายแห่ง ก็ไม่เจ็บไข้อะไรดอก…”

สมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี มีพระราชโอรสและพระราชธิดารวม ๔ พระองค์ คือ

๑. สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ ต่อมาได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

๒. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงจันทรมณฑล โสภณภควดี ต่อมาทรงได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าต่างกรม มีพระนามกรมว่า กรมหลวงวิสุทธิกระษัตรีย์

๓. สมเด็จเจ้าฟ้าชายจาตุรนตรัศมี ทรงได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าต่างกรม มีพระนามกรมว่า กรมพระจักรพรรดิพงศ์ ต้นราชสกุลจักรพันธุ์

๔. สมเด็จเจ้าฟ้าชายภาณุรังษีสว่างวงศ์ ต่อมาในรัชกาลที่ ๗ ทรงได้รับสถาปนาเป็นจอมพล สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงศักดินา ๑๐๐,๐๐๐ เสมอ สมเด็จพระบวรราชเจ้าแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงเป็นต้นราชสกุลภาณุพันธุ์

สมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี มีพระพลานามัยไม่ค่อยแข็งแรง ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๙๙ เมื่อประสูติสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ พระราชโอรสองศ์ที่ ๔ ใน พ.ศ. ๒๔๐๔ แล้วจึงปรากฏอาการประชวรให้เห็นชัด ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๐๓ ถึงพระองค์เจ้าปัทมราชว่า

“กระหม่อมฉันกับทั้งญาติพี่น้องบุตรภรรยาอยู่ดีเป็นศุขสบายอยู่หมด แต่แม่เพย ตั้งแต่คลอดบุตรชายภาณุรังษีสว่างวงศ์มาแล้ว ป่วยให้ไอแลซูบผอมมากไป กลัวจะตั้งวรรณโรคภายใน…”

พระราชหัตถเลขาถึงพระองค์เจ้าปัทมราช อีกฉบับหนึ่งในปีเดียวกัน ไม่ปรากฏวันที่ ทรงเล่าพระอาการว่า

“…แม่เพยป่วยอาการก็คงอยู่อย่างเดิม จะปรากฏชัดว่าคลายขึ้นแท้ก็หาไม่ ยังไอเสียงแห้งอยู่เสมอ บัดนี้เจ้าอธิการวัดบางกะสอมารักษาให้ยาอยู่ และรับจะรักษาให้หาย กระหม่อมฉันว่าตามจริงว่าโรคนี้ลึกซึ้ง จะแก้ไขให้คลายเป็นอันยาก…”

สมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี ประชวรติดต่อกันมาเป็นเวลานาน ประจวบกับการสิ้นพระชนม์ของพระองค์เจ้ามงคลเลิศ ซึ่งเป็นพระเชษฐาพระองค์เดียวของพระองค์ ทำให้เสียพระทัยอย่างยิ่ง อาการ ประชวรทรุดลง มีไข้แทรกเนืองๆ แม้กระนั้น เมื่อพระอาการคลายลงก็ทรงดูแลพระราชโอรสพระราชธิดาตามโอกาส พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีถึงพระองค์เจ้าปัทมราช เมื่อ วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๔ เล่าพระอาการอย่างละเอียดว่า

“…ครั้นวันพฤหัสบดี ขึ้นหนึ่งค่ำ เดือนสิบ เวลาเช้า แม่เพยไออาเจียรเป็นโลหิตออกมามาก ออกทางจมูกออกทางปาก ได้ตัวสัตว์ออกมากับทั้งโลหิตตัวหนึ่ง มีอาการคล้ายตัวหนอนเล็ก หางเป็นสามแฉก แต่หมอยังแก้ไขก็ค่อยคลายมา โลหิตออกบ้างเล็กน้อยจางไปแล้ว ครั้น ณ วันอาทิตย์ ขึ้นสี่คํ่า เดือนสิบ เวลากลางคืน เธอว่าค่อยสบายไอ ห่างไปนอนหลับได้มาก ตั้งแต่สามยามไปจนสามโมงเช้า ครั้น ณ วันจันทร์ ขึ้นห้าค่ำ เดือนสิบ ตื่นขึ้นอีกเวลาสามโมงเช้ารับประทานอาหารได้ถ้วยฝาขนาดใหญ่ แล้วนั่งเล่นกับบุตรคนเล็ก ไอเป็นโลหิตออกมา แล้วก็เกิดเป็นโลหิตพลุ่งพล่านมากเป็นที่สุด ออกทั้งทางจมูกทางปากหลายถ้วยแก้วกระบอก ไม่มีขณะหายใจพอโลหิตมากแล้วชีพจรทั้งตัวก็หยุด ทีเดียว ไม่ฟื้นเลย ได้รับประทานจัดการไว้ศพในโกษฐ์ ตั้งไว้ที่ตึกต้นสน แต่ตกแต่งตึกเสียใหม่ให้งามดี เพดาน ประตู บานน่าต่าง ปิดลายเงิน ฝาผนังปิดกระดาษลายแลตกแต่งสิ่งอื่นมากพอสมควร ครั้นจะยกขึ้นไปไว้บนพระมหาปราสาท เห็นว่าจะกีดขวางการพระราชพิธีไม่พอที่ แต่เท่านั้นก็ดีอยู่แล้ว ศพจะเอาไว้นานต่อเดือนสี่ เดือนห้า จึ่งจะได้เผา เดี๋ยวนี้ก็รับประทานทำบุญต่างๆ มีเทศนาแลบังสกุลอยู่เนืองๆ เมื่อวันพุธ แรมสิบสามค่ำ เดือนสิบ เจ้านายแลคุณหม่อมต่างวังมาถือนํ้า แล้วแวะไปเยี่ยมศพ ได้นิมนต์พระบังสกุล คนละเล็กละน้อย เป็นพระสงฆ์ถึงหมื่นเศษ เจ้านายแลข้าราชการในกรุงแลหัวเมือง แลเจ้าภาษี นายอากร ก็นำผ้าขาวแลสิ่งของ และเงินสลึง เงินเฟืองมาช่วยในการศพก็เป็นอันมาก ที่ให้เป็นอนุเคราะห์แก่ชายจุฬาลงกรณ์ หญิงจันทรมณฑล ชายจาตุรนตรัศมี ชายภาณุรังษีสว่างวงศ์ บุตรแม่เพยทั้งสี่ก็มีบ้าง กระหม่อมฉันคิดขอบบุญขอบคุณท่านทั้งปวงครั้งนี้นั้นนักหนา แม่เพยตายลงครั้งนี้ เมื่อดูอาการก็ควรตายอยู่แล้ว ด้วยป่วยโรคนี้ มาตั้งแต่เสาะแสะมาถึงห้าปี ตั้งแต่ปีมะเส็งมา รักษาก็หลายหมอหลายยาแล้วไม่หาย จึงเห็นว่าถึงคราวที่จะสิ้นอายุตายอยู่แล้ว อายุนับเท่ากรมหมื่นมาตยาพิทักษ์บิดานั้น เหมือนกับชายมงคลเลิศซึ่งเป็นพี่ชาย ว่าโดยละเอียดไปกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์มีอายุนับวันตั้งแต่เกิดจนวันตายได้ ๙๖๓๖ วัน ชายมงคลเลิศนับอายุตั้งแต่วันเกิดจนวันตายได้ ๙๙๐๓ วัน แม่เพยนับอายุตั้งแต่วันเกิดจนวันตายได้ ๙๙๒๓ วัน มากกว่ากรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ๒๘๔ วัน มากกว่าชายมงคลเลิศ ๒๐ วัน…”

พระราชหัตถเลขาอีกฉบับหนึ่ง ลงวันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๐๔ ถึงคณะทูตซึ่งเดินทางไปประเทศฝรั่งเศส ประกอบด้วย พระยาศรีพิพัฒน์ ราชทูต เจ้าหมื่นไวยวรนารถ อุปทูต และพระณรงค์วิชิตตรีทูต เล่าถึงอาการประชวรและสวรรคตของสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี มีข้อความแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย ดังนี้

“จดหมายมายัง พระยาศรีพิพัฒนราชทูต เจ้าหมื่นไวยวรนารถอุปทูต พระณรงค์วิชิต ให้ทราบอาการแม่เพอย ด้วยมีความเสียใจที่พระองค์เจ้ามงคลเลิศถึงชีพตักษัยนั้น ดูเป็นอันทรุดไป จับไข้เนืองๆ ติดกันไปหลายวันจึงสงบไปบ้าง แต่ก็ไม่สู้กระไรนักดอก เมื่อพ้นเวลาจับแล้วก็ลุกนั่ง เดินไปเดินมาได้อยู่ เป็นแต่ให้หาหมอมาเปลี่ยนตัวหมอไปบ้าง เปลี่ยนยาไปบ้าง ครั้นเห็นว่าไม่ชอบโรคแล้วก็เปลี่ยนต่อไป ครั้นมาเมื่อวัน ๕ ๑ ฯ ๑๐ ค่ำ เวลา ๔ โมงเช้า กินข้าวแล้วไอเป็นโลหิตออกมา ออกทางปากด้วยทางจมูกด้วย มากกว่าเป็นครั้งก่อน หมอได้แก้ไขอาการก็สงบ แต่โลหิตยังออกอยู่ทุกคราวไอเล็กๆ น้อย เมื่อโลหิตออกอยู่อาการจับไข้ก็หาเป็นไม่ เมื่อไอคราวแรกโลหิตออกมานั้น มีตัวสัตว์ออกมากับโลหิตตัวหนึ่งเป็นสัตว์ประหลาดไม่เคยเห็น ตัวเป็นปล้องๆ คล้ายหนอน มีหางเป็นแฉกปากก็เป็นง่าม ครั้นมาเมื่อวัน ๑ ๔ ฯ ๑๐ ค่ำ ไอโลหิตก็จางเป็นสีเหลืองๆ อาการที่ครั่นที่จับมีมา ครั้นเวลากลางคืนดึกก็กลับสบายไปไอห่างๆ นอนหลับสนิทแต่เวลา ๑๐ ทุ่มมาจนสามโมงเช้าตื่นขึ้น บอกว่าอาการวันนั้นสบายกว่าทุกวัน เรียกเอาอาหารมากิน กินข้าวได้ค่อนถ้วยฝาขนาดใหญ่ บอกว่าสบาย เรียกเอาลูกคนแรกมาป้อนขนมด้วง นั่งเล่นอยู่ด้วย ครั้นเวลา ๔ โมงเช้ามีเศษก็ไอขึ้นมา มีโลหิตออกอาการกำเริบมาก จึงให้พาลูกไปเสียกลัวจะเห็นโลหิต แล้วให้เรียกหมอมาแก้ หมอเข้ามาจะวางยาก็ร้องบอกว่า โลหิตแดกดันแน่นหน้าอก และลำคอยิ่งนัก จะจิบยากลืนไม่ได้แล้ว พอว่าเท่านั้นก็ทะลึ่งโลหิตพลุ่งออกทางปากทางจมูกไม่หยุด เป็นโลหิตค่นประมาณสองถ้วยกระบอก พอโลหิตสงบชีวิตก็ดับทีเดียว ชีพจรไม่เดินเลย จักษุสองข้างก็หลับสนิทเอง เหมือนคนนอนหลับไม่ต้องเอามือช่วยให้หลับอย่างคนตายตามธรรมเนียม ปากก็เผยออยู่หน่อยหนึ่งไม่ปรากฏเป็นอ้า แต่โลหิตนั้นยังเดินทางปากเสมออยู่น้อยๆ ไม่หยุด เมื่อสิ้นแล้วโลหิตนั้นก็ดำไป เมื่อเวลาเป็นขึ้นมานั้นข้าพเจ้ากับชายใหญ่ปฏิบัติพระสงฆ์อยู่ที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ท้าววรจันทร์วิ่งมาบอกข้าพเจ้าก็ไป เมื่อข้าพเจ้าไปถึงนั้นหมอก็ยังนวดแก้กันอยู่ ข้าพเจ้าไปจับชีพจรดูเห็นว่าหยุดสนิทแล้วจึงได้เลิก แก้กัน ศพก็ได้อาบนํ้าเข้าโกศในวันนั้น ข้าพเจ้าให้ยกไปตั้งไว้ที่ตึกริมกำแพงด้านตะวันตก พระมหาปราสาท ซึ่งทำไว้เป็นที่ไว้ศพเจ้านาย เป็นแต่ตกแต่งให้ดีขึ้นกว่าแต่เดิม ครั้นจะเอาขึ้นไว้บนพระมหาปราสาทที่นั้นก็จะทำพิธีตรุษสารท และจะโกนจุกยิ่งเยาวลักษณ์ในปีนี้ ก็จะกีดขวางไป ไหนๆ ก็ตายแล้วคิดไว้ว่าการศพจะทำต่อถึงกาลฤดูแล้ง เมรุเดียวกันกับกรมหลวงมหิศวรินทรามเรศวร

แม่เพอยนี้ ถึงในกรุงเทพฯ ท่านทั้งปวงรู้ว่าเป็นแต่เจ้าเล็กนายน้อยก็ดี ในเมืองที่มาทำสัญญาไมตรี และลูกค้าพาณิชต่างประเทศเป็นอันมาก เขานับถือว่าเป็นคนโต คนใหญ่ ตั้งแต่วันสิ้นชีวิตลงแล้ว กงสุลต่างประเทศบรรดาที่มีธง เขาก็ลดธงครึ่งเสาให้สามวัน เรือกำปั่นที่ทอดอยู่ในแม่นํ้าทุกลำ กงสุลก็ป่าวร้องให้ลดธงและไขว้เชือกสำแดงความให้รู้ว่าเศร้าโศกสามวัน

ก็หนังสือนี้จะมาถึงท่านทั้งปวงเมื่อใดที่ตำบลใดก็ยังไม่ทราบ ถ้าได้หนังสือนี้ที่เรือ หรือที่บก ควรจะยกธงกึ่งเสาเป็นคำนับสามวันหรือเจ็ดวันอย่างไร ก็จงคิดเป็นเกียรติยศแก่ข้าพเจ้าด้วย หรืออย่างหนึ่งเมื่อข่าวว่ามารดากวีนวิกตอเรียสิ้นชีพแล้วเข้ามาถึงกรุงเทพฯ พวกกงสุลอังกฤษเขายกธงกึ่งเสาสิบสี่วัน แล้วเขาแต่งเครื่องดำด้วยสิบสี่วัน แต่รายนี้จะ ทำแต่สามวันหรือเจ็ดวันก็ควรอยู่แล้ว พวกทูตถ้ามีเครื่องดำแต่ง จะแต่งเครื่องดำด้วยก็ตาม พอให้เป็นเกียรติยศ แต่ถ้าจะสำแดงการอย่างนี้จงประกาศการให้ปรากฏก่อน อย่าให้กิตติศัพท์ลือผิด กลายเป็นตัวข้าพเจ้าเองไปได้.. ”

สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี สวรรคตเมื่อวันจันทร์ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีระกา ตรีศก จ.ศ. ๑๒๒๓ ตรงกับวันที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๐๔ พระชนมายุ ๒๘ พรรษา เชิญพระศพเข้าสถิตในพระโกศทองใหญ่ประดิษฐาน ณ หอธรรมสังเวช ริมกำแพงด้านตะวันตกของพระบรมมหาราชวัง เนื่องจากใกล้จะถึงกำหนดพระราชพิธีตรุษ และจะได้จัดพระราชพิธีโสกันต์พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ อรรคราชสุดา ในเวลาต่อไป จึงมิได้ประดิษฐานพระศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แต่ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตกแต่งหอธรรมสังเวชใหม่ให้งดงามสมควรแก่พระราชอิสริยยศ ระหว่างประดิษฐานพระศพในพระบรมมหาราชวังนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บำเพ็ญพระราชกุศลพระศพตามราชประเพณี จนกระทั่งถึงเวลาออกพระเมรุในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๐๕

งานพระเมรุของสมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินีนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มิได้โปรดให้จัดเป็นงานยิ่งใหญ่เช่นพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑ – ๓ แต่จัดในฐานะเป็นสมเด็จพระบรมราชินี โดยถือว่าพระองค์ซึ่งเป็นพระราชสวามีเป็นเจ้าภาพเพียงพระองค์เดียว จึงไม่มีพลับพลาที่ประทับสำหรับพระบวรราชวัง และฝ่ายพระบวรราชวังไม่ต้องจัดงานต่างๆ สมทบดังที่เรียกว่า สองสนาม เช่นงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อย่างไรก็ตาม งานพระศพครั้งนี้ก็ได้จัดเป็นงานใหญ่อย่างสมพระเกียรติ พระเมรุท้องสนามหลวงมีลักษณะยกพื้นสูง ทำเป็นภูเขาประกอบรอบเชิงพระเมรุ ส่วนที่เป็นสามสร้างแปลงเป็นศาลาราย มีพระที่นั่งทรงธรรมอยู่ด้านหนึ่งติดแท่นสามสร้าง สิ่งของเครื่องประดับ ผ้าดาดหลังคา ในบริเวณพระเมรุใช้ผ้าดำล้วน และโปรดให้มีพระราชาคณะตั้งประโคมประกวดประชันกัน มีบรรพชิตญวนสวดกงเต๊กทั้งกลางวันกลางคืน เป็นการเพิ่มเติมจากธรรมเนียมที่เคยจัดมา งานพระเมรุ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๐ – ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๐๔ รวมเป็นเวลา ๑๒ วัน ดังนี้

วันที่ ๑๐ เมษายน เวลา ๑๔.๐๐ น. อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ พระบรมอัฐิ แห่ออกจากพระบรมมหาราชวังทางประตูวิเศษไชยศรี เลี้ยวไปทางป้อมเผด็จดัสกร เข้าสู่พระเมรุท้องสนามหลวงทางประตูทิศตะวันออก กลางคืนมีงานสมโภช

วันที่ ๑๑ เมษายน มีการถวายไทยทานแก่พระสงฆ์ มีพระธรรมเทศนาและงานสมโภช เวลาบ่ายทรงโปรยทาน กลางคืนมีหนังและจุดดอกไม้เพลิง

วันที่ ๑๒ เมษายน พระสงฆ์รับพระราชทานฉันภัตตาหารเช้า แล้วแห่พระบรมสารีริกธาตุและพระบรมอัฐิกลับ

วันที่ ๑๓ – ๑๔ เมษายน ตรงกับวันสงกรานต์งดการพิธี ณ พระเมรุท้องสนามหลวง

วันที่ ๑๕ เมษายน เวลาเช้า เชิญพระศพออกทางประตูศรีสุนทรทวาร แห่ไปทางท้ายสนม เข้าขบวนใหญ่ที่หอกลอง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะนั้นพระชนมพรรษาได้ ๙ พรรษา) ทรงรถพระภูษาโยง สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี (สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระจักรพรรดิพงศ์ พระชนมายุ ๖ พรรษา) ทรงพระยานุมาศทรงโปรยข้าวตอก ให้ทรงฉลองพระบาทอย่างงานพระราชพิธีโสกันต์ แห่พระศพไปยังพระเมรุท้องสนามหลวง มีการบำเพ็ญพระราชกุศลและงานสมโภช ๔ วัน ๔ คืน

วันที่ ๑๘ เมษายน เวลาบ่ายพระราชทานเพลิงศพ

วันที่ ๑๙ เมษายน เก็บพระอัฐิ ลอยพระอังคาร แล้วแห่พระบรมอัฐิและพระอํฐิในสมเด็จพระวรวงศ์เธอ ออกสู่พระเมรุท้องสนามหลวง มีงานสมโภชพร้อมกับพระอะฐิสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ๒ วัน

วันที่ ๒๑ เมษายน เชิญพระบรมอัฐิ และพระอัฐิแห่กลับคืนสู่พระบรมมหาราชวัง

ใน พ.ศ. ๒๔๑๑ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศสถาปนาเฉลิมพระนามพระอัฐิ สนองพระเดชพระคุณในฐานะสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็น “กรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์” ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ยกเลิกพระยศขั้น “กรมสมเด็จพระ” เปลี่ยนเฉลิมพระนามเป็น “สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี”

นอกจากสถาปนาเฉลิมพระนามพระอัฐิแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอารามเพื่ออุทิศพระราชกุศล และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีขึ้น โดยพระราชทานนามว่า “วัดเทพศิรินทราวาส” ตามพระนามสมเด็จพระบรมราชชนนี การก่อสร้างพระอารามแห่งนี้ สันนิษฐานว่าเริ่มสร้างประมาณ พ.ศ. ๒๔๑๙ มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนเจริญผลพูลสวัสดิ์ เป็นแม่กองอำนวยการสร้าง พระศิริสมบัติ (กร) และพระวิจิตรรจนา เป็นนายด้าน ปัจจุบันมีฐานะเป็นพระอารามหลวงฝ่ายธรรมยุต ชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ในแขวงยศเส เขต ป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปฉลองพระองค์สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เป็นพระพุทธรูปยืนทรงเครื่องปางห้ามสมุทร สูง ๑.๗๓ เมตร ฐานสูง ๔๔ เซนติเมตร

สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เป็นสมเด็จพระบรมราชินีของไทยที่สวรรคตตั้งแต่พระชนมายุยังน้อย ทรงรับราชการในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพียง ๑๐ ปี อย่างไรก็ตาม พระราชโอรสทุกพระองค์ ได้ทรงบำเพ็ญคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ และอาณาประชาราษฎร์อเนกประการ โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระมหากรุณาธิคุณตรึงตราอยู่ในความสำนึกของปวงชนชาวไทยอยู่ตลอดมา

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: ฉวีงาม มาเจริญ

สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี บรมราชินี

เป็นสมเด็จพระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าหลานเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนามเดิมหม่อมเจ้าหญิงโสมนัส พระธิดาพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ หม่อมงิ้วเป็นพระมารดา พระราชสมภพเมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๗๗สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี

เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี บรมราชินี พระชนมายุ ๖ เดือน พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ พระบิดาก็สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระอัยกา ทรงพระเมตตาว่าทรงกำพร้าแต่ยังทรงพระเยาว์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้รับจากวังของพระบิดามาทรงอุปถัมภ์ในพระบรมมหาราชวัง โดยโปรดเกล้าฯให้พระองค์เจ้าวิลัยศรีพระมาตุจฉาเป็นผู้อภิบาล ต่อมาเมื่อสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี บรมราชินี พระชนมายุ ๑๒ พรรษา พระองค์เจ้าวิลัยศรีก็สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระเมตตาพระเจ้าหลานเธอยิ่งขึ้น ทรงสถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเสมอพระราชธิดาเป็นพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี

ครั้นถึง พ.ศ. ๒๓๘๙ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพิธีโสกันต์อย่างพิธีของเจ้าฟ้า ดังปรากฏความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ว่า

“ลุศักราช ๑๒๘๐ (พ.ศ. ๒๓๘๙) เป็นปีที่ ๒๓ ในเดือน ๕ นั้น ตั้งการโสกันต์พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี ซึ่งเป็นพระธิดาของพระองค์เจ้าลักขณา เป็นกำพร้ามาแต่ยังทรงพระเยาว์ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้รับเลี้ยงไว้ในพระราชวัง ครั้นทรงจำเริญขึ้นก็ทรงพระเมตตาว่าเป็นเจ้ากำพร้า เมื่อจะโสกันต์นั้น ให้มีการแห่และการเล่น เหมือนอย่างสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี แต่ไม่มีเขาไกรลาศและมยุรฉัตร”

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยังโปรดให้สร้างวัดเพื่อเป็นเกียรติยศแก่สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี
บรมราชินี พระราชทานนามว่า วัดราชนัดดาราม แสดงถึงความสนิทเสน่หายิ่ง เมื่อแรกสร้างวัด สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี บรมราชินี เสด็จทรงวางศิลาฤกษ์และยกขื่อพระอุโบสถ

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระอัครมเหสี ประกอบพระราชพิธีราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๓๙๕ ต่อมา สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี บรมราชินี ประสูติพระราชโอรสพระองค์หนึ่งแต่สิ้นพระชนม์ ในวันประสูติ สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี บรมราชินี ซึ่งทรงพระประชวรมาก่อนจะมีพระประสูติกาลแล้วพระอาการทรุดลง แม้
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้รักษาพยาบาลทั้งทางแพทย์ไทย คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท และแพทย์ชาวอเมริกัน เช่น หมอบรัดเล แต่พระอาการหนักมาก สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี บรมราชินี สวรรคตเมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๙๖ รวมพระชนมายุ ๑๙ พรรษา

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอาลัยในสมเด็จพระอัครมเหสีเป็นอย่างยิ่ง จึงโปรดให้สร้างวัดพระราชทานเป็นอนุสรณ์คือ วัดโสมนัสวิหาร โดยใช้ทุนทรัพย์จากพระราชมรดกของสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี บรมราชินี

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: ธีระ แก้วประจันทร์