ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม

“ดอกเอย ดอกมะลิ                  ไร้ตำหนิขาวสะอาดชวนมาดหมาย
บริสุทธิ์ผุดผ่องละอองกาย        จวบกระจายกลิ่นโรยรารักษานวล
ระรวยรินกลิ่นออมอบหอมหวาน ตลอดกาลนานทนสุคนธ์หวน
แต่แรกแย้มกลิ่นตลบอยู่อบอวล มิผันผวนสุคนธ์รื่นทุกคืนวัน
สรรพคุณสมค่าดอกมะลิ            เมื่อแรกผลิสลับร้อยมาลัยขวัญ
ลอยอบนํ้าปรุงบุหงาสารพัน       เหี่ยวแห้งแล้วยังสรรค์สร้างความดี
เป็นกระสายแทรกยารักษาไข้    ดับร้อนในชื่นวิญญาณพาสุขี
จึงขอยกขึ้นขั้นชั้นมาลี ประดับกายหมายแม่ที่เราบูชา”

คำประพันธ์ร้อยกรองข้างต้นนี้ เป็นผลงานรังสรรค์ของท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลลงคราม ซึ่งได้เรียงร้อยด้วยถ้อยคำที่สื่อความหมายถึงพันธุ์ไม้ดอกที่มีคุณค่าหลากหลาย ควรแก่การยกย่องบูชาประดุจท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงครามเช่น “มารดา” ผู้ทรงพระคุณยิ่งใหญ่ที่บุตรธิดาต่างเคารพเทิดทูนบูชา ด้วยเหตุผลดังกล่าว “ชาวไทย” จึงนำ “ดอกมะลิ” มาเป็นสัญลักษณ์ในการจัดงาน “วันแม่” สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ผลงานร้อยกรองดังกล่าวจึง เป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งว่า “ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลลงคราม” เป็นสตรีไทยผู้เล็งเห็นความสำคัญใน “บทบาท” และ “ภาระหน้าที่” ของมารดาผู้ประเสริฐสุด ควรค่าแก่การเทิดทูนบูชา นอกจากเป็นผู้สร้างสรรค์งานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ โดยเฉพาะเล็งเห็นความสำคัญของ “สตรี” ที่จักทำประโยชน์เอื้อต่อชาติบ้านเมืองได้ ตลอดจนเป็นผู้จรรโลงและสืบสานขนบประเพณีนิยมตามครรลองแห่งวัฒนธรรมของไทยสืบไป

ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม สกุลเดิมคือ “พันธุ์กระวี” สืบสายสกุลบรรพบุรุษนับแต่ปูชวด มีนามว่า “ศรีจันทร์” ซึ่งได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “จ่าอัศวราช” ท่านผู้หญิงเกิดเมื่อปีเถาะ วันอาทิตย์ที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๖ ณ ตำบลดอนพุทรา จังหวัดนครปฐม เป็นบุตรคนโตของนายเจริญ และนางแช่ม พันธุ์กระวี มีน้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๘ คน ปรากฏนามตามลำดับดังนี้

นายโอฆบุรี                    เด็กหญิงจำรูญ (ถึงแก่กรรมในวัยเยาว์)

นางประไพ วโรจน์ศิริ       เด็กชายจำลอง (ถึงแก่กรรมในวัยเยาว์)

นายสมัย                        นาวาอากาศโท ทินกร

เด็กหญิงประภา (ถึงแก่กรรมในวัยเยาว์) และนายพจน์

ชีวิตครอบครัว ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม สมรสกับร้อยตรีแปลก ขีตตะสังคะ (จอมพลแปลก หรือจอมพล ป. พิบูลสงคราม) ณ จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๙ มีบุตรธิดารวม ๖ คน คือ

พลตรีอนันต์ พิบูลสงคราม สมรสกับหม่อมหลวงพร้อมศรี สนิทวงศ์

พลเรือโท ประสงค์ พิบูลสงคราม สมรสกับนางเรืองยศ (สกุลเดิมคือ เกตุนุติ)

นางจีรวัสส์ ปันยารชุน สมรสกับพันตรี ดร. รักษ ปันยารชุน

นางรัชนิบูล ปราณีประชาชน สมรสกับพลตำรวจโท ชูลิต ปราณีประชาชน

นางพัชรบูล เบลซ์ สมรสกับนายปีเตอร์ เบลซ์

นายนิตย์ พิบูลสงคราม สมรสกับนางพัชรินทร์ (แพทริเชีย สกุลเดิมคือออสมอนด์)

นอกจากนี้ท่านผู้หญิงยังมีหลานย่า ๗ คน หลานยาย ๘ คน และเหลน ๖ คน

ชีวิตในวัยเยาว์ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลลงคราม เติบโตจากครอบครัวที่มีฐานะปานกลาง แต่มีความเป็นอยู่สุขสบาย ไม่เดือดร้อน หรือทุกข์ใจประการใด ครั้นถึงวัยศึกษาเล่าเรียน เริ่มเรียนรู้การหัดอ่าน เขียนเองที่บ้าน มีบิดาเป็นครูอบรมสั่งสอนเบื้องต้น ตำราที่ใช้ฝึกอ่านเขียน ได้แก่ แบบเรียนเร็วเล่ม ๑ – ๒ และจินดามณี ทั้งนี้สามารถอ่านจินดามณีได้ตลอดเล่ม โดยยังอ่านหนังสือแบบเรียนเร็วเล่ม ๒ ไม่จบเล่ม

ต่อมาเมื่อถึงวัยศึกษาเล่าเรียนในสถานศึกษา ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม เข้ารับการศึกษา ณ โรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอ กรุงเทพมหานคร เป็นนักเรียนประจำระยะหนึ่ง แล้วจึงเป็นนักเรียนไป – กลับเหมือนเด็กทั่วไป พักอาศัยอยู่บ้านป้าชื่อ “อนงค์” ณ บริเวณสี่แยกคอกวัว ด้วยเหตุที่ป้าไม่มีบุตรธิดา จึงรักและเอ็นดูท่านผู้หญิงละเอียดมาก เมื่อศึกษาครบปีจึงกลับบ้าน ต่อมาเกิดเหตุการณ์ผันผวนในวงศาคณาญาติ ทำให้ท่านผู้หญิงไม่มีโอกาสศึกษาต่อในสถานศึกษาเดิม ต้องกลับไปศึกษา ณ จังหวัดพิษณุโลก คือ “โรงเรียนตัวอย่างพิทยาคม” เป็นโรงเรียนชายประจำจังหวัด จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ใน พ.ศ. ๒๔๓๕ ขณะอายุ ๑๑ ปี จึงย้ายไปศึกษาต่อ ณ “โรงเรียนผดุงนารี” เป็นสถานศึกษาหญิงแห่งแรกในจังหวัด ที่คณะมิชชันนารีอเมริกันเป็นผู้จัดตั้ง

เมื่ออายุ ๑๔ ปี ท่านผู้หญิงละเอียดพิบูลสงคราม ได้พบรักกับจอมพล ป.พิบูลสงคราม จนได้สมรสกัน จึงย้ายติดตามสามีไป – มาระหว่างกรุงเทพมหานคร และจังหวัดพิษณุโลก เนื่องจากสามีรับราชการทหาร และอยู่ระหว่างศึกษาตามหลักสูตรตามลำดับ เช่น โรงเรียนในกรมทหารปืน ๑ รักษาพระองค์ กรมทหารปืน ๗ ที่พิษณุโลก ประจำปืน ๑ ร.อ. และโรงเรียนเสนาธิการ จนกระทั่งจอมพล ป. พิบูลสงครามได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงพิบูลสงคราม” ได้รับทุนไปศึกษาต่อ ณ ประเทศฝรั่งเศส ท่านผู้หญิงจึงเป็นครูสอน ณ โรงเรียน “ผดุงนารี” เป็นเวลา ๓ ปี แล้วย้ายติดตามสามีมาอยู่กรุงเทพมหานคร ขณะที่สามีกลับจากประเทศฝรั่งเศส เข้าปฏิบัติการเป็นผู้บังคับกองตรวจอากาศในกรมจเรทหารปืนใหญ่ พ.ศ. ๒๔๗๐ ขณะนั้นดำรงยศเป็น “พันตรี หลวงพิบูลสงคราม” ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีตำแหน่งทางการเมืองสูงขึ้นตามลำดับ จนเป็นนายกรัฐมนตรี ๒ สมัย คือ ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๑ – ๒๔๘๗ และพ.ศ. ๒๔๙๐ – ๒๕๐๐ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม จึงเริ่มมีบทบาททางการเมืองในฐานะภริยานักการเมือง ต้องคอยดูแลปรนนิบัติสามีพร้อมกันไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่จอมพล ป. ถูกลอบปองร้ายระยะกระชั้นชิดถึง ๒ ครั้ง คือ ถูกลอบยิงที่สนามหลวง และในห้องนอนของบ้านพัก ทั้งยังมีผู้ลอบวางยาพิษ ณ บ้านพักกรมทหารปืนใหญ่ เป็นเหตุให้ท่านผู้หญิงต้องคอยระมัดระวังความปลอดภัยเป็นพิเศษ โดยเตรียมการทำอาหาร ให้สามีรับประทานเอง

ระหว่างที่รัฐบาลตั้งสภาวัฒนธรรมแห่งชาติเป็นกันชน มิให้ต่างชาติเข้าครอบงำประเทศไทยใน พ.ศ. ๒๔๘๕ นั้น เปิดโอกาสให้ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม มีบทบาทในสังคมไทยเป็นครั้งแรกเช่นกัน ท่านผู้หญิงจึงมีภาระหน้าที่สนองนโยบายด้านวัฒนธรรม เช่น ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นกรรมการสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๕ เป็นประธานกรรมการสาขาสงเคราะห์สตรีไทย เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๖ จัดตั้งสโมสรวัฒนธรรมฝ่ายหญิง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๖ เป็นหัวหน้าชักชวนสตรีไทยออกมากระทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะสนับสนุนให้รักเกียรติของสตรีไทย การตั้ง “โรงเรียนกำพร้าสงคราม” ณ เขาเอราวัณ จังหวัดลพบุรี เพื่อช่วยเหลือเด็กที่บิดาตายในสงคราม ให้ประจำโรงเรียนตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๗ สถานศึกษาแห่งนี้ ต่อมาเปลี่ยนนามเป็น “โรงเรียนชาติสงเคราะห์” ในบริเวณบ้านราชวิถี ตลอดจนสนับสนุนโครงการต่างๆ ของรัฐบาล และอุปถัมภ์ด้านอื่นๆ อีกหลายด้าน นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ทำตามแบบฉบับในการแต่งกายสตรีแบบตะวันตก ส่วนการปฏิบัติหน้าที่สมัยหลังนั้น ท่านผู้หญิงละเอียดได้เชิญบรรดาสตรีชั้นนำของจังหวัดจัดตั้ง “สมาคม ส่งเสริมวัฒนธรรมหญิง” ให้ภริยาผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นนายกสมาคม ครูใหญ่โรงเรียนประจำจังหวัด เป็นเลขานุการสมาคม ท่านผู้หญิงจะเดินทางไปประกอบพิธีเปิดแต่ละแห่งทุกครั้ง โดยมอบเงินให้จำนวนหนึ่ง ทั้งยังให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์อย่างสม่ำเสมอ บางครั้งสมาคมจะเลือกเป็นภาคเข้ามากรุงเทพฯ ร่วมสัมมนาเพื่อโต้ตอบข้อข้องใจในส่วนกิจกรรมของตน หรือให้ความสำคัญร่วมอภิปรายปัญหาต่างๆ พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง งานดังกล่าวจึงบังเกิดผลดีทำให้สตรีไทยมีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ในการปฏิบัติงานอันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เป็นการประสานสามัคคีภายในประเทศ

งานสำคัญด้านต่างประเทศนั้น ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ได้ส่งเสริมสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ โดยให้สโมสรวัฒนธรรมหญิงเป็นสมาชิกของสมาคมสตรีในต่างประเทศหลายสมาคม รับนโยบายของรัฐบาลเพื่อสนับสนุนกิจการในส่วนขององค์การสหประชาชาติ ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิของกระทรวงการต่างประเทศตั้ง “สมาคมสหประชาชาติแห่งประเทศไทย” เป็น “สมาชิกของสหพันธ์สมาคม สหประชาชาติแห่งโลก” ซึ่งประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพในการประชุมสหพันธ์สมาคมสหประชาชาติแห่งโลก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘ และท่านผู้หญิงได้รับเลือกเป็นประธานสหพันธ์สมาคมสหประชาชาติแห่งโลก (World Federation of United Nations Ascociations เรียกย่อว่า W F U N A) เป็นประธานในการประชุม ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ๒ วาระ ผลจากการปฏิบัติงานครั้งนั้นได้นำเกียรติภูมิอันสูงส่งสู่ประเทศไทย กระทรวงการต่างประเทศจึงทูลเกล้าฯ ขอพระราชทาน “เหรียญดุษฎีมาลาเข็มศิลปวิทยา” เพื่อเป็นเกียรติแก่ท่าน เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๙๙

ผลจากการรังสรรค์งานของท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม เป็นที่ประจักษ์ว่า ท่านได้บุกเบิกงาน เพื่อพัฒนาสตรีไทยเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน เช่น เสนอความเห็นชอบให้สตรีไทย ได้รับสิทธิเสมอภาค ในการรับราชการในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ทัดเทียมชายจนประสบความสำเร็จ ในการยกสถานภาพสตรี ดังปรากฏในปัจจุบัน ก่อตั้งสภาสตรีแห่งชาติ พ.ศ. ๒๔๙๗ เชิญสมาคมสตรีร่วมกันร่างข้อบังคับสภาสตรีแห่งชาติ แต่ยังมิทันจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย ท่านได้พ้นหน้าที่ไปก่อน (หม่อมงามจิตร บุรฉัตร เลขานุการสโมสรวัฒนธรรมหญิงได้ดำเนินการต่อจนสำเร็จ) นอกจากนั้นท่านยังส่งเสริมสถานภาพของสตรีไทยด้านการเมือง เช่น เสนอยกเลิกกฎ ก.พ. บางประการ ที่จำกัดความก้าวหน้าของสตรีผู้มีความรู้สูง ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเรื่องครอบครัว สนับสนุนการก่อตั้งศาลคติเด็กและเยาวชนกลาง เป็นต้น สนับสนุนการจัดตั้งสหพันธ์กรรมกรหญิง เพื่อช่วยเหลือกรรมกรในยามเจ็บไข้ มีครรภ์ ถึงแก่กรรม และเปิดโรงเรียนส่งเสริมอาชีพ เช่น สอนตัดเสื้อ ทำอาหาร ตัดผม ฯลฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๔ ส่งเสริมอาชีพพิเศษ เพื่อช่วยเหลือครอบครัวโดยได้รับความช่วยเหลือจากกรมประชาสงเคราะห์ กรมอาชีวศึกษา รวมทั้งก่อตั้งโรงเรียนพิบูลประชาสรรค์ ที่ถนนดินแดง เพื่อให้บุตรกรรมกรได้ศึกษาเล่าเรียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เป็นต้น

ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลลงคราม ได้ริเริ่มจัดการสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยเพื่อให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข ตั้งกรมประชาสงเคราะห์เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ตกทุกข์ได้ยากให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น โดยท่านผู้หญิงได้อบรมผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการสงเคราะห์ประชาชน และก่อตั้งสถานศึกษาการสังคมสงเคราะห์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ (ต่อมารัฐบาลได้ตั้งคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑) แล้วริเริ่มตั้งโรงพยาบาลสงเคราะห์หญิงมีครรภ์และบุตร บริบาลทารกสงเคราะห์ เพื่อให้ได้พลเมืองแข็งแรงมีคุณภาพดีเป็นกำลังของประเทศชาติ รวมทั้งตั้งโรงพยาบาลหญิง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ แล้ว ขยายไปจนถึงโรงพยาบาลเด็ก ซึ่งปัจจุบันรวมเรียกกันว่า “โรงพยาบาลราชวิถี” หลังจากนั้นจึงเริ่มระบบงานอาสาสมัครช่วยทำงานในโรงพยาบาลดังกล่าว แพร่ไปถึงโรงพยาบาลอื่นๆ เช่น โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลสงฆ์ ฯลฯ ซึ่งได้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนั้นท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ยังสงเคราะห์ให้หญิงชายที่ร่วมชีวิตกันได้ก่อสร้างตัวเป็นครอบครัวที่ดี เพื่อรักษาประเพณีอันดีงามของไทย โดยตั้งองค์การส่งเสริมการสมรสเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ จัดพิธีสมรสหมู่ ณ ทำเนียบรัฐบาล แล้วจึงจัดพร้อมกันทั่วทุกจังหวัด ในวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๗ พิธีดังกล่าวได้สืบเนื่องต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร มีสำนักวัฒนธรรมหญิงเป็นผู้จัดทุกปี

ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ยังเป็นผู้สนับสนุนการจัดกิจกรรมวันแม่สืบต่อจากกระทรวงสาธารณสุข ที่ริเริ่มไว้ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๖ แล้วยุติไประยะหนึ่ง เนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ และ รื้อฟื้นใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ โดยคณะกรรมการสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ อนุมัติให้สำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง ร่วมกับกระทรวงการสาธารณสุข จัดงานวันแม่ ณ บริเวณสวนอัมพร เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๓ ซึ่งในปีนั้น ท่านผู้หญิงได้รับคัดเลือกเป็น “แม่แห่งชาติ” ต่อมาสำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิงได้รับอนุมัติเป็นผู้จัดงานวันแม่ ที่สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ณ บ้านพิษณุโลก นับแต่ปี ๒๔๙๖ เป็นต้นไป การจัดกิจกรรมวันแม่ เป็นการปลูกฝังให้บุตรธิดาระลึกถึงพระคุณแห่งมารดา แล้วแสดงความรัก ความกตัญญูกตเวที และเทิดทูนบูชาพระคุณ รวมทั้งยังปลุกจิตสำนึกของมารดา ได้ตระหนักในหน้าที่ของความเป็น “แม่” ที่จะอบรมเลี้ยงดู บุตรธิดาให้เป็นพลเมืองที่ดีของสังคม มีสุขภาพพลานามัยแข็งแรง ปราศจากโรคภัย มีศีลธรรมและวัฒนธรรมที่ดีงาม

ปัจจุบันสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการจัดงานวันแม่ในวันที่ ๑๒ สิงหาคมของทุกปี อันเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ด้วยเหตุที่ชาวไทย ต่างพร้อมใจกันยกย่องเทิดทูนว่า พระองค์ประดุจดัง “แม่ของแผ่นดิน”

ส่วนผลงานรังสรรค์เชิงวรรณศิลป์นั้น เป็นที่ประจักษ์ว่าท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ได้สั่งสมสายเลือดสืบทอดจากบรรพบุรุษผู้สืบสายสกุล “พันธุ์กระวี” เป็นเหตุให้ท่านมีความสามารถ เชี่ยวชาญ และสนใจในการประพันธ์อย่างมาก โดยเฉพาะชื่นชอบผลงานทั้งร้อยกรอง และวรรณคดีไทย มีผลงานที่สร้างสรรค์ไว้ ระหว่างพุทธศักราช๒๔๘๕-๒๔๘๗ เป็นจำนวนมาก ใช้นามปากกาว่า “ละเอียด พิบูลสงคราม” “ปราณีต” ทั้งคำประพันธ์อวยพร เนื่องในวันคล้ายวันเกิดของผู้ที่เกี่ยวข้อง วันขึ้นปีใหม่ งานประพันธ์ที่มอบให้นิตยสารและหนังสือพิมพ์ต่างๆ ตลอดจนประพันธ์เนื้อเพลงรำวง ที่เป็นแบบอย่างมาตรฐานให้กรมศิลปากร จำนวน ๖ เพลง เช่น เพลงดอกไม้ของชาติ บูชานักรบ หญิงไทยใจงาม ดวงจันทร์วันเพ็ญ ดวงจันทร์ขวัญฟ้า และยอดชายใจหาญ เนื้อเพลงเหล่านั้นมีความไพเราะ และเรียงร้อยด้วยถ้อยคำลึกซึ้งกินใจ ซึ่งชาวไทยได้ร้องรำและนำเป็นแบบฉบับของรำวงมาตรฐานสืบทอดมาถึงปัจจุบัน

ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม เป็นสตรีไทยที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น “วุฒิสมาชิก” ครั้งแรก เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๒ ดำรงตำแหน่งกรรมาธิการเปิดเผยรายงานการ ประชุมลับระหว่าง พ.ศ. ๒๔๙๒ – ๒๔๙๔ และได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครนายก สังกัดพรรคเสรีมนังคศิลา เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๐ ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครนายก แม้เพียงระยะเวลาอันสั้นเพียงครึ่งปีเศษก็ตาม ท่านตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษา จึงให้ดำเนินการสร้างโรงเรียนรัฐบาล ๓ แห่ง คือ “โรงเรียนสตรีนครนายก” ปัจจุบันคือโรงเรียนนครนายกวิทยาคม “โรงเรียนสาริกา” เป็นโรงเรียนประถมศึกษา และ “โรงเรียนองครักษ์” เป็นอาคารไม้ ปัจจุบันได้รื้อถอนไป เนื่องจากผุพัง นอกจากนั้นยังมีโรงเรียนเอกชน เช่น โรงเรียนนายกวัฒนากร “วัดอุดมธานี” และโรงเรียน นายกวัฒนากร “วัดทองย้อย” เป็นต้น

ตลอดชีวิตของท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม นั้นได้ปฏิบัติภารกิจอันเป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองนานัปการ จึงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญอิสริยาภรณ์ตามลำดับดังนี้

เหรียญรัตนาภรณ์ อปร. ชั้น ๑
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ
เหรียญช่วยราชการเขตภายใน
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ประถมาภรณ์มงกุฎไทย
เหรียญช่วยราชการเขตภายในสงครามมหาเอเชียบูรพา เครื่องราชอิสริยาภรณ์ประถมาภรณ์ช้างเผือก
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้า
เหรียญรัตนาภรณ์ ภปร. ชั้น ๑
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ
และเหรียญดุษฎี มาลาเข็มศิลปวิทยา

ทั้งยังได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากต่างประเทศหลายประเทศ เมื่อครั้งเดินทางเยี่ยมประเทศเหล่านั้นอย่างเป็นทางการ ในฐานะภริยานายกรัฐมนตรี พ.ศ. ๒๔๙๘ เป็นต้นว่า ประเทศราชอาณาจักรเบลเยี่ยม ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ราชอาณาจักรสเปน และสาธารณสังคมนิยมสหภาพพม่า

ส่วนการปฏิบัติภารกิจด้านทหาร ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ได้รับยศ “ว่าที่ร้อยตรี” เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ และ “นายพันโท” เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ปีเดียวกัน ตลอดจนดำรงตำแหน่ง “นายพันโทเหล่าทหารปืนใหญ่” “นายทหารพิเศษประจำกองทัพบก และเป็น “ราชองครักษ์พิเศษ” ในวันเดียวกันนั้น

ต่อมาภายหลังที่จอมพล ป. พิบูลสงครามถึงแก่อสัญกรรม ณ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๗ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ได้เดินทางกลับมาตุภูมิพร้อมอัฐิของสามี และได้นำไปบรรจุที่พระเจดีย์ ณ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหารแล้ว ท่านผู้หญิงได้ดำรงชีวิตในบั้นปลายอย่างสงบ มีความสุขสมถะพร้อมบุตรหลาน นิยมเข้าวัดพังธรรม ฟังพระเทศนาอบรมในวันธรรมสวนะ ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร และวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ทั้งยังบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมและส่วนรวมอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะทางพุทธศาสนานั้น ได้เป็นกำลังสำคัญในการตั้ง “มูลนิธิวัดไทยพุทธคยา” ณ ประเทศอินเดีย บริจาคเงินตั้งทุน “มูลนิธิประชาสุขสันต์” เป็นองค์กรช่วยชาติบ้านเมืองทางศาสนา บริจาคทุนทรัพย์บำรุงพระพุทธศาสนา การศึกษา ตลอดจนตั้ง “มูลนิธิจอมพล ป. พิบูลสงคราม” เพื่อสนับสนุนการศึกษาของเยาวชนที่เรียนดี ประพฤติดีทุกประเภท เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ โดยเฉพาะงานสำคัญที่ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ได้ร่วมปฏิบัติการเพื่อสามีเป็นสิ่งสุดท้าย นั่นคือ พิธีเปิดอนุสาวรีย์จอมพล ป. พิบูลสงคราม ณ หน้าศูนย์ปืนใหญ่ ค่ายพหลโยธิน ตำบลโคกกระเทียม เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ และยังรับทราบเรื่องการสร้างอนุสาวรีย์ อีกแห่ง ณ โรงเรียนพิบูลประชาสรรค์ ซึ่งมีพิธีเปิดในเวลาต่อมา เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๗

ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ถึงแก่อนิจกรรมด้วยภาวะโรคหัวใจล้มเหลว เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ เวลา ๑๓.๓๐ นาฬิกา สิริรวมอายุได้ ๘๐ ปี ๑๙๑ วัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อม ด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร เมื่อวันอังคารที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ เวลา ๑๗.๐๐ นาฬิกา

ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม จึงเป็นสตรีไทยที่บำเพ็ญคุณประโยชน์ให้แก่ชาติบ้านเมืองนานัปการ ตลอดจนเป็นกุลสตรีที่มีวัตรปฏิบัติงดงามต่อครอบครัว ทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างแท้จริง

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย:ผกาวรรณ เดชเทวพร

หม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์

พยาบาลเป็นงานที่สตรีนิยมประกอบอาชีพมากที่สุดอาชีพหนึ่ง ซึ่งในจำนวนสตรีที่ประกอบอาชีพนี้ ถือได้ว่า หม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์ ทรงเป็นพยาบาลชั้นนำในยุคเริ่มต้นของการพยาบาลแผนปัจจุบัน เนื่องจากทรงปรับปรุงงานพยาบาลในหลายๆ ด้านให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ ด้วยเหตุนี้ จึงสมควรเผยแพร่พระประวัติและผลงานของพระองค์ เพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่สตรีไทยผู้บำเพ็ญประโยชน์แก่ประเทศชาติให้เป็นที่แพร่หลายสืบไปหม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์

หม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์ เป็นพระธิดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร กับหม่อมวาศน์ ประสูติเมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๒๕ มีพระอนุชาและพระกนิษฐาร่วมหม่อมมารดาเดียวกัน ๔ องค์ คือ หม่อมเจ้าฉลาดลบเลอสรร หม่อมเจ้าหญิงเฉลียววรรณมาลา หม่อมเจ้าศุขปรารภ และหม่อมเจ้าหญิงถวิลวิถาร

เมื่อหม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์ทรงเจริญพระชันษาได้ ๕ ปี กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสรก็ทรงจัดหาครูมาสอนวิชาความรู้เบื้องต้นแก่พระธิดา ณ วังที่ประทับนั้นเอง โดยทรงศึกษาหนังสือไทยกับครูเปลี่ยน และทรงศึกษาภาษาอังกฤษตอนต้นกับครูชาวอินเดีย ชื่อ บูรำสะมี้ ท่านโปรดการศึกษาเล่าเรียน มาก ประกอบกับกรมหมื่นราชศักดิ์สโมสรเองก็ทรงได้ชื่อว่า เป็นพระราชวงศ์ชั้นสูงพระองค์หนึ่งในขณะนั้น ที่เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาของสตรีว่า มีความสำคัญเท่าเทียมกับบุรุษ ดังนั้น เมื่อหม่อมเจ้าหญิง มัณฑารพ กมลาศน์ เกศากันต์แล้ว กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร จึงโปรดให้เข้าเป็นนักเรียนอยู่ประจำในโรงเรียน สุนันทาลัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงธรรมการ จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นสถานศึกษาสำหรับสตรีชั้นสูง

ระบบการเรียนการสอนของโรงเรียนสุนันทาลัยนั้น มีนโยบายจัดจ้างครูสตรีจากอังกฤษมาสอน เน้นการฝึกหัดในด้านภาษาและเรียนรู้การเข้าสังคมแบบตะวันตก ในขณะเดียวกันก็มีครูไทยเป็นเพียงผู้ช่วยครูฝรั่ง คอยให้คำแนะนำเรื่องการประพฤติปฏิบัติตนตามแบบอย่างวัฒนธรรมไทยที่ดีงาม ทำให้โรงเรียนสุนันทาลัย มีลักษณะใกล้ไปทางโรงเรียนของชาวอังกฤษมากกว่าคนไทย ภาษาที่อาจารย์ใช้พูดกับนักเรียน ก็ใช้ภาษาอังกฤษเป็นพื้น ประกอบกับจำนวนนักเรียนมีไม่มากนัก อาจารย์สามารถดูแลอบรมได้อย่างใกล้ชิด จึงเป็นผลให้นักเรียนของโรงเรียนนี้ซึ่งรวมทั้งหม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์ สามารถอ่าน เขียน และ พูดภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี แม้จะยังเรียนไม่ถึงชั้นหกอันเป็นชั้นสูงสุดของโรงเรียน

ในขณะที่หม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์ ทรงศึกษาอยู่ที่โรงเรียนสุนันทาลัยนี้ ทรงหาโอกาสระหว่างโรงเรียนหยุด ศึกษาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และบาลีเพิ่มเติมเสมอ กับครูสอนพิเศษ ด้วยมีพระทัย ใฝ่ในการเรียนเป็นอย่างยิ่ง ประกอบกับหม่อมวาศน์ มารดาของพระองค์ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้รักวิชาการ ได้กวดขันอบรมให้การศึกษาแก่บุตรธิดาเป็นประจำ จึงปรากฏผลว่าท่านทรงสอบไล่ได้คะแนนเป็นที่หนึ่งหลายครั้ง ครั้งที่สำคัญที่สุดคือครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักเรียนชายของโรงเรียนราชวิทยาลัยและนักเรียนหญิงของโรงเรียนสุนันทาลัยที่สอบชั้นหกแล้ว เข้าสอบชิงทุนหลวงคิงสกอลาชิพ เพื่อไปศึกษาต่อต่างประเทศ ปรากฏว่าหม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์ ทรงสอบได้ที่หนึ่ง แต่ขณะนั้นการส่งเจ้าหญิงไทยไปทรงศึกษา ณ ต่างประเทศ ยังไม่เป็นที่นิยม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานเงิน ๓๐ ชั่งเป็นรางวัลแทน

เมื่อหม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์ ทรงสำเร็จการศึกษาแล้ว สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ โปรดเกล้าฯ ให้เข้าไปถวายพระอักษรภาษาอังกฤษแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมมหาราชวัง พร้อมทั้งยังทรงมอบหมายให้รักษาการตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนราชินิชั่วคราว ในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๕๐ ด้วย ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๓ หม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์ ทรงเข้ารับหน้าที่เป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง และทรงได้รับมอบให้ดำเนินงานหนังสือพิมพ์แสงอรุณ หรือ Day Breakของโรงเรียนกุลสตรีวังหลังอีกหน้าที่หนึ่ง

ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๖๑ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ องค์อุปนายกผู้อำนวยการสภากาชาดสยาม หรือสภากาชาดไทยในปัจจุบัน มีพระดำริว่าการพยาบาลและโรงเรียนพยาบาลของสภากาชาด กำลังอยู่ในระยะเริ่มต้น ควรจะได้บุคคลผู้มีความรู้ ความสามารถ และความรับผิดชอบสูงเข้ามาช่วยทำงาน จึงทรงแนะนำให้พลตรี พระยาดำรงแพทยาคุณ (ชื่น พุทธิแพทย์) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ไปชักชวนหม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์ มาเป็นนักเรียนพยาบาล เพื่อจะได้มอบหมายหน้าที่การบริหารงานโรงเรียนพยาบาลของสภากาชาด เพื่อสร้างเสริมความเจริญก้าวหน้าให้แก่วงการพยาบาลต่อไป

ด้วยเหตุนี้หม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์ จึงทรงลาออกจากโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง มาสมัครเป็นนักเรียนนางพยาบาลของโรงเรียนนางพยาบาลสภากาชาดในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ทรงสอบไล่ได้ประกาศนียบัตรวิชาพยาบาลในปี พ.ศ. ๒๔๖๒ จากนั้นจึงทรงปฏิบัติหน้าที่ด้านงานพยาบาล ได้ทรงสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าให้แก่พยาบาลไทยในด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้

ด้านการศึกษาของพยาบาล
แม้ว่าประเทศไทยจะได้เริ่มมีการตั้งโรงพยาบาลแผนปัจจุบันแห่งแรกมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๒๓ โดยรับบำบัดเฉพาะทหารที่เจ็บป่วยเท่านั้น จนถึง พ.ศ. ๒๔๒๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงพยาบาลศิริราชขึ้น เพื่อบริการรักษาผู้ป่วยเจ็บทั่วไปแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีบุคคลใดตระหนักถึงความสำคัญของพยาบาลและวิชาการพยาบาลแผนปัจจุบันเท่าที่ควร คงใช้คนงานสามัญปราศจากความรู้ หรือให้ญาติของคนไข้มาอยู่พยาบาลกันเอง จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๔๓๙ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนนางผดุงครรภ์ขึ้นเพื่อเปิดอบรมสั่งสอนวิชาพยาบาลเฉพาะทางการคลอดบุตรเพียงอย่างเดียว

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ เมื่อโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เริ่มเปิดบริการแล้ว สภากาชาดสยามจึงเริ่มจัดตั้งสถานศึกษา เพื่อสอนวิชาการพยาบาลอย่างสมบูรณ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศ เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๗ โดยให้ชื่อว่า “โรงเรียนการพยาบาลสภากาชาดสยาม” โดยกำหนดหลักสูตรการศึกษาเพียง ๑ ปี รับหญิงผู้มีอายุระหว่าง ๑๖- ๓๐ ปี และมีพื้นความรู้อย่างต่ำชั้นมัธยม ๑ หรือ ๒ หรือเทียบเท่า อย่างไรก็ตาม การที่จะชักจูงหญิงให้มาสมัครเรียนเป็นนางพยาบาลในขณะนั้น เป็นสิ่งที่ยากยิ่ง เพราะถือกันว่าการใช้หญิงสาวไปพยาบาลคนอื่น ซึ่งไม่ใช่ญาติไม่เป็นการสมควร ทั้งเป็นงานที่พึงรังเกียจ

หลังจากหม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์ ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาพยาบาลแล้วก็ทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้ากองโรงเรียนพยาบาล โดยทรงรับหน้าที่เป็นผู้ปกครองนักเรียนพยาบาล พร้อมทั้งเป็นครูสอนวิชาพยาบาลและวิชาภาษาอังกฤษด้วย ทรงพยายามปรับปรุงการจัดการศึกษาของพยาบาล เพื่อยกระดับวิทยฐานะของพยาบาลในสมัยนั้นให้สูงขึ้น โดยทรงจัดมาตรฐานการสอนวิชาพยาบาลให้ใกล้เคียงกับของต่างประเทศ ทรงสั่งตำราการสอนจากต่างประเทศมาแปลและดัดแปลงให้เหมาะสมกับการศึกษาของนักเรียนพยาบาล และทรงปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาวิชาพยาบาลเป็นระยะๆ ตลอดมาเพื่อให้นักเรียน มีความรู้และสามารถปฏิบัติหน้าที่รักษาพยาบาลได้ดีจริงๆ กล่าวคือ ใน พ.ศ. ๒๔๖๖ ได้เพิ่มระยะเวลาเรียนเป็น ๓ ปี และกำหนดคุณวุฒิผู้สมัครเรียนพยาบาลให้มีความรู้อย่างต่ำชั้นมัธยมปีที่ ๓ เมื่อสอบไล่ได้ก็จะรับประกาศนียบัตรวิชาพยาบาลและการผดุงครรภ์ และขึ้นทะเบียนประกอบโรคศิลปะสาขาการพยาบาลชั้น ๑ ได้ตามกฎหมาย

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ได้เพิ่มระยะเวลาการเรียนเป็น ๓ ปี ๖ เดือน แบ่งการศึกษาเป็น ๒ ช่วง ช่วงแรกเรียนวิชาพยาบาล ๓ ปี สำเร็จการศึกษาได้รับประกาศนียบัตรวิชาพยาบาล และช่วงหลังเรียนวิชาผดุงครรภ์อีก ๖ เดือน สำเร็จแล้วได้รับประกาศนียบัตรวิชาผดุงครรภ์ เมื่อถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ได้ เปลี่ยนแปลงหลักสูตรการศึกษาอีกครั้งหนึ่ง โดยยังคงรักษาระยะเวลาเรียน ๓ ปี ๖ เดือน และแบ่งการศึกษาออกเป็น ๒ ช่วง ช่วงแรกเรียนวิชาพยาบาล ๓ ปีเช่นเดิม ส่วนในช่วงหลังได้เพิ่มเติมการเรียนเป็น วิชาผดุงครรภ์และอนามัย ๖ เดือน เมื่อสำเร็จแล้วได้รับประกาศนียบัตรวิชาผดุงครรภ์และอนามัย

ด้านการบริการพยาบาล
ในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ สภากาชาดไทยได้รวมงานฝ่ายการพยาบาลทั้งหมดกับฝ่ายการศึกษาเข้าไว้ด้วยกัน และได้มอบให้หม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์ เป็นหัวหน้ากองพยาบาล ทรงมีหน้าที่ควบคุม และรับผิดชอบงาน ทั้งด้านการบริการพยาบาลและโรงเรียนพยาบาลพร้อมกันไป ซึ่งในด้านงานโรงเรียนพยาบาลนั้น ทรงมีผลงานการปรับปรุงการศึกษาวิชาพยาบาลดังได้กล่าวมาแล้ว ส่วนงานด้านการบริการ พยาบาลของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ก็ได้ทรงปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง ทรงใฝ่พระทัยที่จะให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาพยาบาลเป็นอย่างดี ทรงจัดระเบียบแบบแผนการรักษาพยาบาลให้มีรูปแบบเดียวกับโรงพยาบาลในประเทศที่เจริญแล้ว โดยจัดหานางพยาบาลที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศมาเป็นผู้ช่วยปรับปรุงงานด้านนี้

นอกจากนี้แล้วหม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์ ยังทรงตระหนักถึงความสำคัญที่จะให้ประชาชนเข้าใจในวิธีปฏิบัติทางการแพทย์และการพยาบาลอย่างสมัยใหม่ ทรงทำหน้าที่ติดต่อกับหนังสือพิมพ์รายวัน บางกอกไทม์ ฉบับภาษาอังกฤษ เพื่อเผยแพร่วิชาการ และชี้แจง แก้ไขความเข้าใจผิดระหว่างคนไข้กับเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีผู้นำความไปลงเป็นทำนองติเตียนโรงพยาบาลและนางพยาบาล จากการที่ท่านมีมนุษยสัมพันธ์อันดีต่อบรรดาหนังสือพิมพ์ ดังนั้น ในเวลาต่อมา ก่อนที่บรรณาธิการจะนำเรื่องของพยาบาลไปลงก็จะสอบถามข้อเท็จจริงก่อน เป็นการช่วยเหลือสภากาชาด และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นอย่างดี ในอันที่จะป้องกันมิให้ประชาชนเข้าใจผิดในเรื่องของงานพยาบาล เป็นผลให้ความนิยมเลื่อมใสในโรงพยาบาลดีขึ้นเป็นลำดับ

ด้านการบริหารสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย
ตั้งแต่เริ่มต้นจัดการศึกษาพยาบาลในปี พ.ศ. ๒๔๓๙ จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๖๙ รวมเป็นระยะเวลา ๓๐ ปี กิจการพยาบาลได้เจริญก้าวหน้าขึ้นกว่าเดิมเป็นอันมาก มีการตั้งสถานศึกษาของพยาบาลถึง ๓ แห่ง คือ โรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาลของสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ โรงเรียนพยาบาลสภากาชาดไทย และโรงเรียนพยาบาลแมคคอร์มิค จังหวัดเชียงใหม่ จำนวนนางพยาบาล ประกาศนียบัตรที่ศึกษาจบหลักสูตรพยาบาลและผดุงครรภ์ของโรงเรียนพยาบาลทั้งสามแห่งนี้มีจำนวนหลายร้อยคน เฉพาะที่จบจากโรงเรียนพยาบาลสภากาชาดไทยมีจำนวนถึง ๒๕๗ คน พลตรีพระยาดำรงแพทยาคุณ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ในขณะนั้น จึงพิจารณาเห็นว่าพยาบาลที่จบการศึกษาไปนานๆ ไม่ได้ทำการติดต่อกับโรงพยาบาลหรือแสวงหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ความรู้ที่เคยศึกษาเล่าเรียนไป ก็ย่อมจะเสื่อมสูญ สมควรที่จะจัดตั้งสมาคมวิชาชีพนางพยาบาลขึ้น เป็นที่รวมแลกเปลี่ยนวิชาความรู้ เพื่อผดุงรักษาสถานภาพของนางพยาบาลไทยให้เจริญก้าวหน้า เหมือนดังเช่นสมาคมนางพยาบาลในประเทศญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์

ด้วยเหตุนี้ พลตรี พระยาดำรงแพทยาคุณ จึงได้เชิญนางพยาบาลชั้นหัวหน้าของไทย ทั้งฝ่ายโรงพยาบาลศิริราชและสภากาชาดไทยมาประชุมปรึกษาหารือกัน เพื่อจัดตั้ง “สมาคมนางพยาบาลแห่งกรุงสยาม” ขึ้นเมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๐ ซึ่งถือเป็นสมาคมวิชาชีพของสตรีแห่งแรกในประเทศไทย และหม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์ ทรงได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมนางพยาบาลเป็นองค์แรก เนื่องจากทรงเป็นนางพยาบาลชั้นผู้ใหญ่ที่มีความรู้เชี่ยวชาญในวิชาพยาบาล ทรงไม่ถือพระองค์ในการพบปะวิสาสะกับเพื่อนร่วมอาชีพ มีมนุษยสัมพันธ์อันดี เป็นที่ชื่นชมของบรรดาบุคคลที่มาติดต่อโดยทั่วหน้า ทรงได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่มีสมรรถภาพเข้มแข็ง มีความอุตสาหะบากบั่นในการทำงานอย่างที่ผู้หญิงน้อยคนจะทำได้ ทรงมีนํ้าพระทัยดี สัตย์ซื่อ และเข้าพระทัยที่จะวางแผนการหรือโครงการเพื่อนำความเจริญมาสู่สมาคม ซึ่งเพิ่งจะวางรากฐานในเวลานั้น

เมื่อหม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์ ทรงเข้ารับหน้าที่นายกสมาคมนางพยาบาลแล้วนั้น ได้ทรงพยายามสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่สมาคมทุกวิถีทาง โดยทรงรวบรวมพยาบาลที่มีความรู้ความสามารถ มาช่วยกิจการของสมาคม ทรงริเริ่มจัดกิจกรรมทางวิชาการ เช่น การแสดงปาฐกถาหรือบรรยายต่างๆ ให้สมาชิกได้เพิ่มพูนความรู้ใหม่ๆ จัดการอบรมฟื้นฟูวิชาแก่พยาบาลทั่วไป และสนับสนุนให้พยาบาลเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ ทรงเป็นผู้แทนของสมาคมเข้าร่วมในคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ สาขาพยาบาล และทรงริเริ่มให้มีการออกหนังสือ “จดหมายเหตุนางพยาบาลไทยของสมาคมนางพยาบาล แห่งกรุงสยาม” ขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์ข่าวคราวและเผยแพร่ความรู้ต่างๆ ให้แก่บรรดาสมาชิก โดยทรงดำรงตำแหน่งบรรณาธิการของหนังสือ นอกจากนี้ยังทรงสร้างเสริมบทบาทของพยาบาลไทยให้กว้างขวางออกไปยังต่างประเทศ ด้วยการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ กับสภาพยาบาลระหว่างประเทศ ซึ่งผลจากการที่หม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์ ทรงบริหารงานสมาคมนางพยาบาลให้เจริญก้าวหน้าทันสมัย ได้มีการเปลี่ยนแปลง แก้ไขวัตถุประสงค์ของสมาคมให้รัดกุมยิ่งขึ้น เป็นผลให้สมาคมสามารถบำเพ็ญประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง จึงนับได้ว่าสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยเป็นหนี้พระคุณท่านเป็นอันมาก

อนุสรณ์ในหม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์
เมื่อถึง พ.ศ. ๒๔๘๑ หม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์ ประชวรหนักด้วยโรคความดันโลหิตสูงและโรคพระหทัยพิการ จึงทรงลาออกจากราชการและเสด็จไปประทับรักษาพระองค์ที่วังหม่อมเจ้าสฤษดิเดช ชยางกูร ต่อมาทรงย้ายไปประทับ ณ วังหม่อมเจ้าพรปรีชา กมลาศน์ พระอาการทรงกับทรุดจนถึงวันสิ้นซีพิตักษัย เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ รวมพระชันษาได้ ๔๖ ปี และด้วยพระทัยที่ทรงผูกพันต่อพยาบาลและสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย จึงประทานที่ดินส่วนพระองค์ ให้แก่สมาคมพยาบาล เพื่อ ไปดำเนินการหาผลประโยชน์ ซึ่งสมาคมพยาบาลได้นำเงินจากการขายที่ดินดังกล่าวมาตั้งเป็นทุนเริ่มแรก ของ “มูลนิธิหม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ใช้ดอกผลเป็นทุนการศึกษาและ การวิจัยแก่พยาบาล และมอบเงินอีกส่วนหนึ่งให้แก่สภากาชาดไทย เพื่อสร้างห้องรับแขกและห้องนั่งเล่นในหอพักพยาบาล ตึกจุฬาลัย โดยจารึกพระนามและติดพระรูปไว้เป็นอนุสรณ์ในห้องนั้นด้วย ในฐานะที่ทรงเป็นหัวหน้าพยาบาลองค์แรกของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และนายกสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยองค์แรก ดังนั้น แม้ว่าหม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์ จะสิ้นชีพิตักษัยมาเป็นเวลากว่า ๗o ปีแล้วก็ตาม แต่ด้วยผลแห่งคุณความดีที่ทรงกระทำเพื่อประโยชน์แก่วงการพยาบาลไทยมาตลอดพระชนมชีพ ก็ยังคงอยู่ตลอดไป และส่งผลมาถึงพยาบาลไทยในปัจจุบันตราบนานเท่านาน

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย:อรสรา สายบัว

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี

สมเด็จนางเจ้าพระ        บรมะรา ชินีเอย
อัคระมะหิษีสมญา         เยี่ยมลํ้า
รำไพพรณีสวา              มินีนาถ อะนงค์แฮ
ปรากฏพระยศะก้ำ         เกียรติสิ้นสยามสุรางค์

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ มีพระนามเดิมว่าหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ เป็นพระธิดาพระองค์เดียวของสมเด็จพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิสิษฎ์ พระราชอนุชาในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีราชินีนาถ พระมารดาคือ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาภาพรรณี ประสูติเมื่อวันอังคารที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๗ มีพระเชษฐาและพระอนุชาร่วมพระมารดา ๔ พระองค์

เมื่อหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี หรือ “ท่านหญิงนา” มีพระชันษาครบ ๒ ปี พระบิดาได้ทรงพาไปถวายตัวอยู่ในพระบรมราชินูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ซึ่งขณะนั้นเสด็จประทับอยู่ที่สวนสี่ฤดู ในพระราชวังดุสิต และหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จสวรรคตแล้ว สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ได้เสด็จกลับไปประทับที่พระที่นั่งสุทธาศรีอภิรมย์ ในพระบรมมหาราชวัง หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ก็ได้ตามเสด็จไปประทับที่พระบรมมหาราชวังด้วย ครั้นต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้ตามเสด็จ สมเด็จฯ พระบรม ราชินีนาถ ไปประทับที่วังพญาไท ซึ่งเป็นที่ที่สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ประทับอยู่ตลอดพระชนมชีพ

หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี เป็นพระราชนัดดาพระองค์หนึ่งที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงเมตตาและเอาพระทัยใส่อย่างใกล้ชิด ในชั้นต้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ทรงศึกษาเบื้องต้นในเขตพระราชฐานที่พระตำหนักสวนสี่ฤดู ในพระราชวังดุสิต ครั้นเมื่อตามเสด็จฯ ไปประทับที่พระบรมมหาราชวัง ซึ่งขณะนั้นมีพระชันษา ๖ ปี ได้เสด็จเข้าศึกษาที่โรงเรียนราชินี และเมื่อตามเสด็จฯ ไปประทับที่วังพญาไท ต้องทรงลาออกจากโรงเรียนราชินี เนื่องจากที่ประทับและโรงเรียนอยู่ไกลกันเกินไป อย่างไรก็ตามก็ได้ทรงศึกษาวิชาการต่างๆ ที่วังพญาไท โดยมีพระอาจารย์มาถวายพระอักษร ที่พระตำหนักจนมีพระชันษาได้ ๑๑ ปี ทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการประกอบพิธีเกศากันต์ ตามโบราณราชประเพณี เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ ใน พ.ศ. ๒๔๖๑ หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ทรงอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปก ศักดิเดชน์ (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗) พระราชโอรสในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ขณะนั้นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ มีพระยศชั้นนายร้อยเอก ประจำกรมทหารบกปืนใหญ่ที่ ๑ รักษาพระองค์ ทั้งสองพระองค์ทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีอภิเษกสมรสพระราชทาน ณ พระที่นั่งวโรภาสพิมาน พระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ หลังการอภิเษกสมรส ทั้งสองพระองค์เสด็จไปประทับที่พระตำหนักวังศุโขทัย สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกฯ มีประชวรพระโรคเรื้อรังมาตั้งแต่สมัยที่ทรงผนวช แพทย์ผู้ถวายการรักษากราบทูลถวายคำแนะนำให้เสด็จฯ ไปรักษาพระองค์ในต่างประเทศ ดังนั้นในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๖๓ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ พร้อมด้วยพระชายา คือหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี จึงได้เสด็จฯ ไปยังทวีปยุโรป โดยทรงแวะประทับแรมที่ประเทศอียิปต์ก่อน ทั้งสองพระองค์เสด็จฯ ถึงทวีปยุโรปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔ หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ได้ตามเสด็จพระสวามีไปยังที่ต่างๆ และถวายการดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา โดยได้ตามเสด็จไปอิตาลี ฝรั่งเศส อังกฤษ และสวิตเซอร์แลนด์ และเมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ ทรงรักษาพระองค์แล้ว และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ศึกษาต่อทางวิชาทหารชั้นสูงที่ฝรั่งเศส หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ก็ได้เสด็จไปประทับอยู่กับพระสวามีด้วย และพระองค์เองก็ทรงศึกษาภาษาฝรั่งเศสด้วยเช่นกัน จนกระทั่งสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ ทรงสำเร็จการศึกษาเป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการ จึงตามเสด็จกลับประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๖๗ โดยผ่านทางสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น เมื่อเสด็จฯ ถึงประเทศไทย ได้เสด็จฯ ไปประทับที่วังศุโขทัยตามเดิม

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ในวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ นั้น นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงพระชนมชีพของหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีอย่างแท้จริง เนื่องด้วยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกฯ ต้องเสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อจาก สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เป็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ หม่อมเจ้าหญิง รำไพพรรณี จึงทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณสถาปนาพระอิสริยยศเป็นพระอัครมเหสี เฉลิมพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี

ในฐานะสมเด็จฯ พระบรมราชินี สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ได้อย่างเพียบพร้อมสมบูรณ์ พระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งคือ การโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปทรงเยี่ยมราษฎรตามจังหวัดต่างๆ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ และมณฑลพายัพ และใน พ.ศ. ๒๔๗๑ เสด็จเลียบมณฑลภูเก็ต นอกจากนี้ยังได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปเจริญพระราชไมตรีกับนานาประเทศ ตลอดจนทอดพระเนตรกิจการต่างๆ เพื่อทรงนำมาเป็นแนวพระราชดำริในการพัฒนาประเทศ ได้เสด็จพระราชดำเนินรวมทั้งสิ้น ๔ ครั้ง คือ พ.ศ. ๒๔๗๒ เสด็จพระราชดำเนินยังประเทศสิงคโปร์ ชวา และบาหลี พ.ศ. ๒๔๗๓ เสด็จฯ อินโดจีน พ.ศ. ๒๔๗๔ เสด็จฯ เยือนอินโดจีนบางส่วน เซี่ยงไฮ้ ฮ่องกง ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และแคนาดา และใน พ.ศ. ๒๔๗๖ เสด็จฯ เยือนบางประเทศในทวีปยุโรป ในระหว่างการเสด็จพระราชดำเนิน สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ได้ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจในฐานะพระบรมราชินีของประเทศไทยได้อย่างเหมาะสมงดงาม เป็นที่ชื่นชมของทุกคนที่ได้เฝ้าชมพระบารมี

เหตุการณ์อย่างหนึ่งที่นับว่ามีผลกระทบต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินี เป็นอย่างยิ่ง นั่นคือการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ใน พ.ศ. ๒๔๗๕ ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระบรมราชินี เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับที่พระตำหนักเปี่ยมสุข พระราชวังไกลกังวล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในท่ามกลางสถานการณ์อันไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ได้ประทับเคียงข้างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และตามเสด็จไปทุกแห่ง แม้จะเสี่ยงอันตราย ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นได้เกิดเหตุการณ์ยุ่งยากทางการเมืองหลายประการ ทำให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวตัดสินพระทัยเสด็จออกจากพระราชอาณาจักรเพื่อไปทรงรับการรักษาพระเนตรที่ประเทศอังกฤษเมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๖ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ก็ได้โดยเสด็จด้วย ในระหว่างนี้ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปก่อนจะเสด็จไปประทับที่ประเทศอังกฤษ และหลังจากนั้นไม่นาน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงสละราชสมบัติใน พ.ศ. ๒๔๗๗

เมื่อสละราชสมบัติแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินี ยังคงประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงดำเนินพระชนมชีพพร้อมด้วยพระราชสวามี อย่างสงบท่ามกลางพระญาติสนิท และข้าราชบริพารจำนวนหนึ่ง ทรงเฝ้าดูแลและถวายการรักษาพยาบาล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระพลานามัยไม่สมบูรณ์ พร้อมกับมีพระราชภาระในการดูแลพระตำหนักที่ประทับด้วย จนกระทั่งใน พ.ศ. ๒๔๘๔ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ต้องทรงประสบกับความวิปโยคอย่างยิ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตอย่างสงบ ณ พระตำหนักที่ประทับ เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม

หลังการสวรรคต สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ยังคงประทับที่ประเทศอังกฤษอย่างสงบเงียบ และเรียบง่ายกับพระญาติสนิทและข้าราชบริพาร เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ใน พ.ศ. ๒๔๘๔ นั้น สมเด็จ พระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ได้เสด็จจากพระตำหนักที่ประทับไปยังกรุงลอนดอนท่ามกลางภัยสงคราม เพื่อทรงช่วยจัดสิ่งของบรรจุหีบห่อส่งไปยังแนวหน้า อันแสดงให้เห็นถึงนํ้าพระทัยอันประเสริฐ ที่ทรงมีต่อผู้ประสบทุกข์ภัยไม่เลือกหน้า หลังจากนั้น ในพ.ศ. ๒๔๙๒ พระองค์ตัดสินพระทัยเสด็จกลับมาตุภูมิ หลังจากที่ประทับอยู่ในประเทศอังกฤษเป็นเวลานานถึง ๑๕ ปี พร้อมกันนี้ได้อัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับมาด้วย ซึ่งรัฐบาลไทยได้จัดการรับเสด็จพระบรมอัฐิ และมีพระราชพิธีถวายพระราชกุศลอย่าง สมพระเกียรติ

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เสด็จประทับ ณ วังสระปทุมเป็นเวลา ๒ ปี แล้วจึงเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับที่พระตำหนักสวนบ้านแก้ว จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ที่โปรดว่ามีอากาศดีและอยู่ไม่ไกลจากพระนคร โดยโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระราชทรัพย์จัดซื้อที่ดินและสร้างพระตำหนักขึ้น พระราชทานนามว่า “สวนบ้านแก้ว” ระหว่างที่ประทับอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี ได้ทรงเอาพระทัยใส่ในความเป็นอยู่ของราษฎรอยู่เสมอ มีพระราชดำริให้สวนบ้านแก้วเป็นไร่ตัวอย่าง โปรดเกล้าฯ ให้เลี้ยงสัตว์และปลูกพืชทดลองหลายชนิด เช่น พืชสวนครัวและผลไม้ต่างๆ ที่สำคัญคือหลังจากที่ประทับที่สวนบ้านแก้วนี้ได้ประมาณ ๕ ปี สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงพัฒนาการทอเสื่อจันทบูรณ์ ซึ่งเป็นหัตถกรรมที่สำคัญของชาวจันทบุรี โดยโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงงานทอเสื่อขึ้น แบ่งเป็นแผนกต่างๆ และยังโปรดเกล้าฯ ให้ทำผลิตภัณฑ์จากเสื่ออีกด้วย เรียกขานกันเป็นสามัญว่า “ผลิตภัณฑ์เสื่อสมเด็จ” พระมหากรุณาธิคุณต่อชาวจันทบุรีอีกอย่างหนึ่ง คือ การพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์แก่โรงพยาบาลจันทบุรี ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงพยาบาลพระปกเกล้า” และทรงรับโรงพยาบาลฯ และวิทยาลัยพยาบาลนี้ไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๙ เป็นต้นมา ต่อมา เมื่อเสด็จกลับมาประทับที่กรุงเทพมหานครแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขายที่ดินสวนบ้านแก้วให้แก่กระทรวงศึกษาธิการในราคาย่อมเยา เพื่อสร้างเป็นวิทยาลัยครูจันทบุรี ต่อมาคือสถาบันราชภัฏจันทบุรี และโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายโรงงานทอเสื่อจากสวนบ้านแก้วมาไว้ที่บริเวณพระตำหนักนํ้าวังศุโขทัย

นอกจากนี้ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ยังได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชในโอกาสต่างๆ หลายครั้ง เช่น การเสด็จออกให้บุคคลสำคัญเฝ้าฯ และงานบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ เป็นต้น นับว่าสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เป็นพระบรมราชินี ที่มีพระมหากรุณาธิคุณต่อปวงชนชาวไทยอย่างสม่ำเสมอ สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงมีมติ ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์แด่พระองค์ เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๖

โดยปกติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ มีพระพลานามัยแข็งแรงด้วยโปรดการออกพระกำลังอยู่เป็นนิจ โดยเฉพาะกีฬาเทนนิสและกอล์ฟ สมเด็จฯ ได้ทรงกอล์ฟมาตั้งแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า เจ้าอยู่หัวยังไม่ได้เสด็จสวรรคต ซึ่งนับได้ว่าทั้งสองพระองค์มีพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการกอล์ฟมาตั้งแต่แรกเริ่ม แต่เมื่อสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงเจริญพระชนมายุมากขึ้น ก็ทรงเริ่มมีพระอาการประชวร เมื่อพระชนมายุได้ ๗๑ พรรษา ใน พ.ศ. ๒๕๑๘ ทำให้ทรงต้องอยู่ในความดูแลของคณะแพทย์นับแต่บัดนั้น หลังจากนั้นพระอาการก็มิได้คืนสู่สภาวะปรกติ จนเสด็จสวรรคตด้วยอาการพระหทัยวาย เมื่อ วันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ รวมพระชนมายุได้ ๗๙ พรรษา ๕ เดือน ๑ วัน มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง เมื่อวันอังคารที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๘

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เป็นพระบรมราชินีพระองค์แรกในระบอบประชาธิปไตย และเป็นพระบรมราชินีที่มีพระจริยวัตรที่งดงามเพียบพร้อม ทรงดำรงพระชนมชีพอย่างเรียบง่าย ด้วยพระอัธยาศัย อันนุ่มนวลอ่อนโยน ในขณะเดียวกันในยามที่ทรงเผชิญวิกฤติการณ์ต่างๆ ก็มีพระทัยที่เข้มแข็งเด็ดเดี่ยว ทรงเป็น “คู่ทุกข์คู่ยาก” ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังทรงเปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณแก่พสกนิกรทั่วไปอย่างสม่ำเสมอตลอดพระชนมายุ ความดีงามแห่งพระราชอัธยาศัย เหล่านี้จึงเป็นที่ประทับใจผู้ที่เคยเฝ้าใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ตลอดจนชาวไทยทั่วไปอย่างไม่รู้ลืมเลือน

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย:นุชนารถ กิจงาม

พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี

สุภาพสตรีท่านหนึ่งผู้เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติของกุลสตรี มีความจงรักภักดีในใต้เบื้องฝ่าละอองธุลีพระบาท สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า จนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย พระราชทานพระอิสริยยศอันสูงส่ง เป็นพระวรราชเทวี แต่การดำเนินพระชนมชีพกลับต้องผันแปรไป มิได้เสวยสุขอันสมบูรณ์ เนื่องด้วยความทุกข์โทมนัสอย่างสุดแสน จากการเสด็จพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีสวรรคตอย่างกะทันหันของพระราชสวามี ในขณะที่ความปลาบปลื้มปีติจากการมีพระประสูติกาลพระราชธิดายังมีทันได้คลายลง เป็นสิ่งที่ปุถุชนที่ได้ประสบ ยากที่จะหักห้ามใจมิให้อาดูรได้โดยง่าย แต่ด้วยพระขันติบารมีอันสูงส่ง กอปรด้วยคุณสมบัติของความเป็น “แม่” อย่างเปี่ยมล้น มิได้ทรงท้อแท้ แต่กลับตั้งพระทัยอภิบาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเพียงพระองค์เดียวแห่งรัชกาล จนเจริญพระชันษา โดยมิได้บกพร่อง พร้อมกับดำรงพระองค์ให้มั่นคงอยู่ในพระเกียรติยศแห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ โดยมิด่างพร้อยตลอดพระชนม์ชีพ

พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ประสูติ เมื่อปีมะเส็ง ตรงกับวันเสาร์ที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๘ ในสกุลอภัยวงศ์ เป็นธิดาเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (เลื่อม อภัยวงศ์) กับคุณเล็ก บุนนาค มีพระนามเดิมว่า เครือแก้ว ทรงได้รับการศึกษาอบรมในพระบรมมหาราชวัง โดยอยู่ในความดูแลของท้าวศรีสุนทรนาฎ ผู้เป็นยาย จากนั้นได้ถวายตัวต่อพระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เข้าฝึกหัดดุริยางค์ไทยในราชสำนัก ตำแหน่งต้นเสียง ทรงมีความสามารถเป็นศิลปินนักแสดง มีโอกาสฉลองพระเดชพระคุณแสดงละครบทพระราชนิพนธ์ในหลายโอกาสด้วยกัน อาทิ ได้ทรงแสดงละครเรื่อง พระร่วง ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๖๗ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแสดงเป็นนายมั่นปืนยาว และพระนางเจ้าสุวัทนาฯ ทรงรับบทนางจันทน์ ด้วยทรงเป็นที่โปรดปราน ดังนั้น ในเดือนมิถุนายน ขณะที่ยังประทับอยู่ ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวันนั้นเอง ก็ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “สุวัทนา”

การอภิเษกสมรสได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๗ ณ พระที่นั่งบรมพิมานในพระบรมมหาราชวัง เหตุการณ์ในวันนั้นพระนางเจ้าสุวัทนาฯ ได้ทรงเล่าประทานถึงวันแห่งความทรงจำแก่ข้าราชบริพาร ในพระองค์ว่า

“…ในตอนบ่ายห้าโมงเศษของวันที่ ๑๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๖๗ ณ ห้องรับแขกชั้นบนพระที่นั่งบรมพิมานในพระบรมมหาราชวัง เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี เสนาบดีกระทรวงวัง ได้อ่านประกาศสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นเจ้าจอมชั้นพระสนมเอก แล้วพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานนํ้าพระสังข์ และทรงเจิมพระราชทาน ทรงสวมธำมรงค์พระราชทาน แล้วพระราชทานหีบกับกระโถนลงยา เป็นเครื่องยศ อีกทั้งพระราชทานเครื่องเพชรส่วนพระองค์ แล้วทรงลงพระปรมาภิไธยในสมุดทะเบียนสมรส โดยมีผู้ลงนามเป็นพยานหลายคน มีเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ เจ้าพระยาอภัยราชา เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี ท้าวศรีสุนทรนาฏ เจ้าพระยารามราฆพ พระยาอนิรุธเทวา พระยาอุดมราชภักดี พระยาอภัยภูเบศร เป็นต้น เสร็จพิธีแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จลงทรงคล้องพระหัตถ์นำไปนมัสการพระพุทธปฏิมา ณ พระพุทธรัตนสถาน โดยทรงลอดใต้ซุ้มกระบี่แห่งราชองครักษ์ทหารบก ตำรวจหลวง ทหารเรือ และเสือป่าหลวงรักษาพระองค์ รวม ๘๔ นาย ซึ่งร้องชโยตลอดทางเสด็จผ่าน”

ภายหลังพระราชพิธีอภิเษกสมรสแล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นเจ้าจอมสุวัทนา ขณะนั้นมีพระชันษาย่างเข้า ๑๙ ปี ส่วนพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระชนมายุ ๔๔ พรรษา และในช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม ศกนั้น ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้โดยเสด็จพระราชดำเนินประพาสสิงคโปร์และแหลมมาลายู เพื่อเจริญพระราชไมตรีเป็นเวลา ๒๓ วัน

วันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๗ เมื่อเจ้าจอมสุวัทนามีพระชันษาครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ได้เสด็จแปรพระราชฐาน ประทับแรม ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวันเป็นครั้งที่สอง และโปรดเกล้าฯ บำเพ็ญพระราชกุศล พระราชทานในโอกาสดังกล่าว มีการเลี้ยงพระกระยาหารคํ่า ได้พระราชทานหนังสือพระราชนิพนธ์ บทเสภาเรื่อง พญาราชวังสัน กับ สามัคคีเสวก เป็นที่ระลึกแก่ผู้ร่วมงาน ทรงร่วมแสดงละครดึกดำบรรพ์ เรื่องท้าวแสนปมและได้ทรงพระราชนิพนธ์ฉันท์ พระราชทานแด่เจ้าจอมสุวัทนา ดังนี้

ถึงวนิวิเศษะศุภะมัง          คะละวาระชาตา
อวยพรณแม่สวะทะนา      ปิยะยอดสุนารี

ด้วยเดชะคุณรตนะไตรย์   อุปะการะโฉมศรี
ขอจงเจริญศุภะสุขี           บ่มิเสื่อม ณ วันใด

ขออายุยงณศตะพรร         ษะและทุกข์นิราศไกล
อีกปลอดบ่พบประทุษะภัย และสราญณกายา

กิจใดประสงคะจะประดิษ   ฐะก็สิทธิเถิดหนา
การใดจำนงก็บ่มิช้า          และสำเร็จเถอะสมปอง

ขอลาภะหลั่งประดุจะธาร   นทิทันถนัดนอง
ขอยศและเกียรติคุณะผ่อง ทวินิจจะเนืองนันท์ฯ

ช่วงระยะเวลานั้น เจ้าจอมสุวัทนาทรงเป็นที่สนิทเสน่หาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยิ่งนัก ดังมีข้อความเล่าถึงพระราชจริยวัตรในครั้งนั้นมีความตอนหนึ่งว่า

“ในขณะที่ประทับแรม ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ระหว่างวันที่ ๑๒ เมษายน ถึงวันที่ ๒๐ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๑๘ เป็นเวลาสองเดือนเศษนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าจอมสุวัทนา พัก ณ พระที่นั่งพิศาลสาคร ซึ่งเป็นหมู่พระที่นั่งที่มีระเบียงสูงเสมอพื้นชั้นบนเชื่อมกับที่ประทับ ณ พระที่นั่ง สมุทรพิมาน ที่มีระเบียงต่อเนื่องกับพระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์และพระที่นั่งองค์อื่นๆ

พระราชจริยวัตรประจำวัน ณ พระราชนิเวศนมฤคทายวันนั้น กล่าวได้ว่า เมื่อบรรทมตื่นแล้วทรงมีเวลาทรงพระอักษร ณ ห้องเขียน ซึ่งเป็นห้องด้านชายทะเลติดกับห้องพระบรรทม ในหมู่พระที่นั่งสมุทรพิมาน ใกล้เวลา ๑๔ นาฬิกา จึงเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระที่นั่งพิศาลสาคร เพื่อเสวยพระกระยาหารกลางวันพร้อมกับเจ้าจอมสุวัทนา และโปรดเสวยแบบไทย กล่าวคือ ประทับราบบนพระสุจหนี่ เสวยด้วยพระหัตถ์ โดยพนักงานฝ่ายในเชิญเครื่องเสวยใส่พระสุพรรณภาชน์มาตั้งถวาย

ในตอนบ่ายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดทรงกีฬาประเภทแบดมินตัน หรือคริกเกต กับข้าราชการหรือข้าราชบริพารฝ่ายหน้า และหากเสด็จลงสรงแล้ว โปรดให้เจ้าจอมสุวัทนามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ ศาลาลงสรงฝ่ายหน้า ส่วนตอนกลางคืนเวลา ๒๑ นาฬิกา โปรดเสวยพระกระยาหารคํ่าแบบฝรั่ง ประทับโต๊ะเสวย ณ หอเสวย ในหมู่พระที่นั่งสมุทรพิมาน และเสด็จพระราชดำเนินมาทรงรับเจ้าจอมสุวัทนา ณ พระที่นั่งพิศาลสาคร เพื่อไปร่วมโต๊ะเสวยทุกคืน”

วันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ เป็นวโรกาลครบรอบการอภิเษกสมรส พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์รัตนาภรณ์ แก่เจ้าจอมสุวัทนา พร้อมทั้งโปรดเกล้าฯ จัดงานฉลองขึ้น ณ พระที่นั่งพิมานจักรี พระราชวังพญาไท จนกระทั่งถึงวันที่ ๕ ตุลาคม ศกนั้น เป็นที่ปรากฏแน่ชัดว่า เจ้าจอมสุวัทนาจะมีพระประสูติกาล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปลาบปลื้มพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง ได้ทรงจัดเตรียมงานฉลอง เพื่อถวายการสมโภช สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอที่จะประสูติใหม่ให้เป็นงานใหญ่ ถึงกับพระราชนิพนธ์บทกล่อมพระหน่อกษัตริย์ไว้ดังนี้

พระเอยพระหน่อนาถ       งามพิลาศดังดวงมณีใส
พระเสด็จจากฟ้าสุราลัย   มาเพื่อให้ฝูงชนกมลปรีดิ์

ดอกเอยดอกจำปา          หอมชื่นจิตติดนาสา
ยิ่งดมยิงพาให้ดมเอยฯ

หอมพระเดชทรงยศโอรสราช แผ่เผยผงาดในแดนไกล
พึ่งเดชพระหน่อไท               เป็นสุขสมใจไม่วางวายฯ

รูปลม้ายคล้ายพระบิตุราช      ผิวผุดผาดเพียงชนนีศรี
ขอพระจงทรงคุณวิบุลย์ทวี    เพื่อเป็นที่ร่มเกล้าข้าเฝ้าเทอญฯ

ดอกเอยดอกพุทธชาด          หอมเย็นใจใสสะอาด
หอมบ่มิขาดสุคนธเอยฯ

หอมพระคุณการุญเป็นประถม เย็นเกล้าเหมือนร่มโพธิ์ทอง
เหล่าข้าทูลละออง                ภักดีสนองพระคุณไทฯ

เมื่อพระครรภ์เจ้าจอมสุวัทนาเจริญขึ้น ใกล้จะมีพระประสูติกาล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้าจอมสุวัทนาขึ้นเป็น พระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวี เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ โดยมีพระราชดำริปรากฏอยู่ในคำประกาศสถาปนาว่า

“เจ้าจอมสุวัทนาได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณโดยความซื่อสัตย์กตเวที มีความจงรักภักดีในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย สมควรที่จะได้ทรงยกย่องให้เป็นใหญ่ เพื่อผดุงพระราชอิสริยยศแห่งพระกุมารที่จะมีพระประสูติกาลในเบื้องหน้า”

ข่าวการตระเตรียมพระประสูติกาลที่แพร่ไปนั้น ยังความปลาบปลื้มปีติยินดีในหมู่ข้าราชสำนัก และประชาชนชาวไทยถ้วนหน้า เพราะจะเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์แรกแห่งรัชกาล ระหว่างนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระอาการประชวรพระนาภีโดยกะทันหัน และมีพระอาการกำเริบรุนแรง ตั้งแต่วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ จนกระทั่งวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน เวลา ๑๒ นาฬิกา ๕๐ นาที พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ได้มีพระประสูติกาลพระราชธิดา ณ พระที่นั่งเทพสถานพิลาส พระปรัศว์ขวา พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในครั้งแรกนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้ยินเสียงปืนเที่ยงบอกเวลาเที่ยงวัน ทรงปีติยินดี ด้วยทรงเข้าพระทัยว่าเป็นการยิงสลุตเมื่อพระราชกุมารประสูติ จนเวลาล่วงเลยมาอีก ๕๐ นาที เสียงประโคมฆ้องชัย แตร สังข์ ดุริยางค์บรรเลงขึ้น จึงทรงทราบว่าเป็นพระราชกุมารี ทรงหลับพระเนตรด้วยความอ่อนเพลีย และมีพระดำรัสด้วยพระสุรเสียงแผ่วเบาว่า “ก็ดีเหมือนกัน” แล้วบรรทมต่อ จนถึงวันรุ่งขึ้น คือวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ เชิญเสด็จพระราชธิดาเข้าเฝ้าเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้าย เนื่องจากไม่มีพระราชดำรัสได้แล้ว ได้แต่ทอดพระเนตร ซึ่งคลอด้วยพระอัสสุชลมายังพระราชธิดา พร้อมกับมีพระอาการ ซึ่งทรงพยายามจะยกพระหัตถ์ขึ้นจับต้อง เจ้าพระยารามราฆพจึงยกพระหัตถ์ขึ้นวางบนพระอุระสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงเพียงครู่หนึ่ง ทรงหลับพระเนตร ถอนพระอัสสาสะ และหายพระหฤทัยเบาลงจนถึงเวลา ๑ นาฬิกา ๔๕ นาที ของวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน จึงเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง ขณะมีพระชนมพรรษาได้ ๔๖ พรรษา

เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันได้บังเกิดขึ้น ความสดชื่นยินดีปรีดากลับกลายเป็นความหม่นหมองเศร้าสลด พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงประทานเล่าถึงความทรงจำในครั้งนั้นว่า

“เวลาล้นเกล้าฯ สวรรคต ฉันจำอะไรไม่ค่อยได้ นอกจากจำได้ว่าตัวเองร้องไห้… เจ้าฟ้าประสูติที่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ใพระบรมมหาราชวัง ประสูติแล้วก็ยังไม่มีใครมาบอกข่าวว่าล้นเกล้าฯ ประชวรหนักถึงขนาดรุนแรง จึงนอนไฟอยู่ตามปกติ จำได้ว่า ดูเหมือนจะตอนค่อนรุ่งวันนั้นก็ได้ข่าวเสด็จสวรรคต…ความคิดในขณะทราบข่าวนั้น มึนอย่างไรก็บอกไม่ถูก ยังไม่ได้ร้องไห้ จนกระทั่งล่วงไปเป็นเวลานาน ความคิดของฉันมันแคบอย่างความคิดของเด็ก ที่แท้ควรจะเสียอกเสียใจ ควรจะได้ความคิดไกลไปถึงความหมดหวัง หมดร่มโพธิ์แก้วโพธิ์ทอง ใครเขาจะมารักมาคุ้มครองให้ความสุขสำราญได้ต่อไปอีก ก็หาได้คิดไกลไปถึงอย่างนั้นไม่… เพียงไม่ได้นึกอย่างนั้น ยังไม่พอ แม้เรื่องในอนาคตของเจ้าฟ้า เรื่องของลูกคนเดียวที่จะมีชีวิตอย่างไรต่อไปภายหน้าเมื่อปราศจากพ่อ ก็ช่างไม่นึกอะไรเสียเลย ดูช่างมึนงงอะไรอย่างนั้นก็ไม่รู้… อยู่จนกระทั่งวันรุ่งขึ้น จำได้ว่าเป็นเวลาก่อนเที่ยง มหาดเล็กมาทูลว่าพระเจ้าอยู่หัวเสด็จ…ก็ยังมึนอยู่เช่นเดิม ฉันยังนึกอยู่ในขณะที่เขามา บอกว่าเป็นพระเจ้าอยู่หัวของฉัน…เป็นพระเจ้าอยู่หัวของฉัน ไม่ใช่เป็นพระเจ้าอยู่หัวของใคร…มหาดเล็กเขาคงจะเห็นว่าฉันยังไม่เตรียมตัวรับเสด็จ เขาก็บอกซ้ำอีกครั้งหนึ่งว่า พระเจ้าอยู่หัวองค์ใหม่ ก็หวนนึกได้ทันทีว่าล้นเกล้าฯ เสด็จสวรรคตแน่แล้ว พอคิดได้เท่านั้น ก็จำอะไรไม่ได้อีก นอกจากเรื่องร้องไห้และร้องอยู่เป็นเวลานาน จนกระทั่งมหาดเล็กเตือนอีกครั้งหนึ่ง…จึงหยุดร้องไห้รีบจัดแจงล้างหน้าล้างตาคอยรับเสด็จ…จำไม่ได้ทั้งหมดว่า พระเจ้าอยู่หัวองค์ใหม่มีรับสั่งว่าอย่างไร แต่ที่ยังก้องอยู่ในหูมิรู้หายคือพระดำรัสที่ทรงไต่ถามถึงอนามัยของตัวเองและของลูก มีพระราชดำรัสแก่พวกมหาดเล็กให้ดูแล และทรงรับรองว่าไม่ต้องเดือดร้อนรำคาญ จะทรงเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้ความร่มเย็นเป็นผาสุก… พอพระเจ้าอยู่หัวองค์ใหม่เสด็จกลับออกไปจากห้องแล้ว ฉันก็กอดลูกร้องไห้ต่อไปอีก… ต่อจากวันนั้นมาก็ไม่เป็นอันกินอันนอน จำได้ว่าแข็งใจไปกราบถวายบังคมพระบรมศพ เพียงครั้งเดียว แล้วก็ไม่มีแก่ใจจะไปพบเห็นถึงต่างๆ ได้”

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนามพระราชธิดาพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี โปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีสมโภชเดือนขึ้นพระอู่ ณ พระที่นั่งเทพสถานพิลาศ หากแต่การพระราชพิธีที่เคยตระเตรียมให้ยิ่งใหญ่นั้น กลับต้องย่อลง ด้วยมีงานที่สำคัญอีกงานหนึ่งคืองานพระบรมศพ

ความเปลี่ยนแปลงของวิถีแห่งพระชนมชีพ ตลอดจนความผันผวนทางการเมืองที่บังเกิดขึ้นขณะนั้น เป็นผลให้ทั้งสองพระองค์ต้องเสด็จย้ายนิวาสสถานที่ประทับอยู่เสมอมา ภายใต้พระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ อาทิ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราซเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ผู้ทรงมีพระทัยเมตตาห่วงใยนับแต่ทรงพระมหากรุณาจัดการเรื่องพระประสูติกาล พระราชทานทั้งหมดและได้มีพระราชประสงค์ให้นำเสด็จสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ ไปประทับ ณ พระตำหนักสวนหงส์ พระราชวังดุสิต ซึ่งมีบรรยากาศรื่นรมย์กว่า ภายในพระบรมมหาราชวัง จนกระทั่งถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ เกิดกบฏบวรเดช ก็ได้โปรดให้ทั้งสองพระองค์เสด็จไปประทับกับพระองค์ ณ วังสระปทุม แต่เหตุการณ์ทางการเมืองก็ยังไม่สงบลง ดังนั้น สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวีฯ จึงเสด็จพระราชดำเนินนำทั้งสองพระองค์แปรพระราชฐานไปประทับที่จังหวัดสงขลา จนกระทั่งเหตุการณ์สงบจึง กลับมาประทับที่วังสระปทุมอีกระยะหนึ่ง ก่อนเสด็จกลับไปประทับที่พระตำหนักสวนหงส์ พระราชวังดุสิต จวบจนสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ เจริญพระชันษาขึ้น พระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวี จึงทรงขอพระราชทานพระราชานุญาตสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีฯ นำพระราชธิดาเสด็จไปประทับยังวังสร้างใหม่ที่สวนรื่นฤดี ถนนสุโขทัย บนที่ดินซึ่งได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เมื่อคราวอภิเษกสมรส พร้อมกับทรงตั้งพระทัยจะสร้างพระตำหนักพระราชทานให้ โดยพระราชทานนามไว้ล่วงหน้าก่อนเสด็จสวรรคตว่า วังรื่นฤดี พระตำหนักใหม่นี้ สร้างจำลองแบบมาจากพระตำหนักที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ได้โปรดเกล้าฯ กำหนดแบบพระราชทานไว้ เพื่อสร้างในที่ดินพระราชทานอีกแปลงหนึ่ง แต่มิทันได้มีโอกาสสร้าง ทั้งสองพระองค์ประทับอยู่ ณ วังรื่นฤดี จนสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ มีพระชนม์ย่างเข้า ๑๓ พรรษา ทรงสังเกตว่าพระธิดามีพระอนามัยไม่สมบูรณ์นัก หากได้รับการอภิบาลดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอาจช่วยให้ดีขึ้นได้ ดังนั้น วันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี จึงนำเสด็จ สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ ไปประทับยังประเทศอังกฤษ โดยที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ซึ่งทรงสละราชสมบัติ และเสด็จประทับอยู่ ณ ประเทศฝรั่งเศส ทรงเป็นพระธุระเอาพระทัยใส่ดูแลและจัดหาที่ประทับให้ ณ ประเทศอังกฤษ

พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ได้ทรงจัดหาพระอาจารย์ชาวอังกฤษมาถวายการศึกษาวิชาภาษาอังกฤษ และเปียโน ให้ต่อเนื่องจากที่พระธิดาทรงเคยได้รับจากกรุงเทพฯ ส่วนพระองค์เองก็ทรงศึกษา ภาษาอังกฤษไปด้วยจนสามารถอ่าน เขียน และรับสั่งสนทนาได้พอสมควร ทรงเอาพระทัยใส่ดูแลพระสุขภาพพลานามัย และทรงถวายการอบรมพระธิดาให้เป็นผู้มีความมัธยัสถ์ ละเอียดถี่ถ้วน ใช้เวลามิให้ เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ และเพื่อมิให้ทรงลืมประเทศไทยหรือคนไทย จึงทรงนำเสด็จฯ ไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี อยู่เป็นเนืองนิตย์ กับทั้งได้เสด็จไปร่วมงานพบปะสังสรรค์กับคนไทย ณ สถานเอกอัครราชทูตไทยเป็นประจำ เป็นที่ปรากฏว่า สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ มีพระอุปนิสัยอ่อนโยน มีพระเมตตา และมีพระจริยวัตรอันงดงาม สามารถประกอบพระราชกรณียกิจแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้โดยมีบกพร่อง

ขณะที่ทั้งสองพระองค์ประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ เป็นช่วงระยะที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ จึงต้องทรงประสบความทุกข์ยากลำบากเช่นเดียวกับชาวอังกฤษทั้งปวง คือต้องอพยพย้ายที่ประทับต้องขาดแคลนเครื่องอุปโภค บริโภค ตลอดจนการเงิน แต่ยังทรงมีนํ้าพระทัยอุทิศพระองค์ช่วยเหลือกิจการสภากาชาดของประเทศอังกฤษ อาทิ ทรงถักเครื่องกันหนาวประทานทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ตามหน่วยรบ ทรงม้วนผ้าพันแผล และทรงบำเพ็ญประโยชน์ในลักษณะต่างๆ อีกนานัปการ จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๐๒ จึงได้ตกลงพระทัยที่จะเสด็จกลับมาประทับยังประเทศไทยเป็นการถาวร โดยเสด็จกลับมาประทับ ณ วังรื่นฤดี ซึ่งเป็นวังที่ทรงสร้างขึ้นใหม่ที่ซอยสันติสุข สุขุมวิท ๓๘

พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ ๖ ทรงดำรงพระองค์ให้อยู่ในพระเกียรติยศแห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ไว้อย่างมั่นคงตลอดพระชนมชีพ ดังเช่นตลอดระยะเวลาอันยาวนานถึง ๒๓ ปี ที่ประทับ อยู่ ณ ประเทศอังกฤษนั้น ทรงมีข้าราชบริพารที่เป็นคนไทยตลอดจนพระอาจารย์และเจ้าหน้าที่ดูแลงานในพระตำหนัก ซึ่งเป็นชาวอังกฤษ ล้วนเป็นสุภาพสตรีทั้งสิ้น ความเป็นอยู่ในส่วนพระองค์มีพระนิสัยร่าเริงไม่ถือพระองศ์ มีเรื่องรับสั่งกับบุคคลทุกอาชีพ ทุกวัยได้เป็นอย่างดี โปรดการเลี้ยงสุนัข และการตกแต่งสวน ทรงสามารถขับร้องเพลงไทยได้อย่างไพเราะอีกด้วย แม้จะทรงได้รับเงินรายได้เป็นเงินปีจากรัฐบาลจำนวนจำกัด แต่ก็ทรงพอเพียง เนื่องจากทรงตั้งพระองค์อยู่ในความพอดี และมีความมัธยัสถ์ พระอัธยาศัยอันควรยกย่องอีกประการหนึ่งคือทรงเป็นผู้ประมาณตน และเคารพเทิดทูนพระบรมวงศานุวงศ์เป็นล้นพ้น เมื่อได้รับพระราชทานพระราชมรดกบางส่วนได้แก่อัญมณีมีค่า ก็ไม่ทรงนำมาใช้ในส่วนพระองศ์ด้วยถือว่าเป็นของสูง ตลอดพระชนมชีพทรงใฝ่พระทัยในการบำเพ็ญพระกุศลอยู่เสมอมิได้ขาด เช่น

ด้านศาสนา
โปรดการสร้างพระพุทธรูป สร้างพระอุโบสถถวายวัดต่างๆ เสด็จฯ ไปทรงถวายผ้าพระกฐิน ปีละ ๓ วัด เป็นประจำทุกปีในทุกภาคของประเทศ พร้อมกับทรงนำเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มไปประทานแก่เด็ก และนักเรียนยากจนในท้องถิ่นนั้น

ด้านสาธารณประโยชน์
ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์สมาคม องค์การต่างๆ ที่มีกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม และในโอกาสที่ทรงเจริญพระชันษาครบ ๕ รอบ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ ได้พระราชทานเงินจำนวนหนึ่งล้านบาท เป็นทุนประเดิมการก่อสร้างตึกมงกุฎเพชรรัตน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ทรงปลื้มปีติยิ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิด เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ นอกจากนี้ยังได้ประทานทรัพย์มรดกที่ดินและบ้านของท่านบิดาที่จังหวัดปราจีนบุรี โดยยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของทางราชการ อนุญาตให้จังหวัดปราจีนบุรีสร้างเป็นโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เพื่อเป็นเกียรติแก่ท่านเจ้าของเดิม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงยกย่องพระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ ๖ เสมอมาในฐานะเป็นพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ที่ทรงเคารพนับถือ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรดนํ้าสงกรานต์เป็นประจำทุกปี และถึงแม้พระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวี จะทรงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูง เช่น ปฐมจุลจอมเกล้ามาแล้วก็ตาม ก็ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ (ฝ่ายใน) อันเป็นเครื่องทรงเฉพาะพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินี และสมเด็จเจ้าฟ้าเท่านั้น สำหรับผู้ที่มิได้มีกำเนิดในราชตระกูลที่อยู่ในข่ายได้รับพระราชทาน ดังเช่นพระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวีนั้น ก็เพราะทรงเป็นผู้มีคุณงามความดีอันพิเศษสุด ที่สมควรได้รับการเทิดทูนยกย่องนั่นเอง

พระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวี ทรงพระประชวรเนื่องจากพระอาการแทรกซ้อนเกี่ยวกับพระปับผาสะอักเสบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดแพทย์หลวงถวายการรักษาพยาบาล ภายใต้พระบรมราชานุเคราะห์อย่างใกล้ชิดตลอดมา จนกระทั่งวันพฤหัสบดีที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ เวลา ๑๗ นาฬิกา ๙ นาที พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ ๖ จึงได้สิ้นพระชนม์ลง ณ โรงพยาบาลศิริราช สิริรวมพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทด้วยความเศร้าสลดพระหฤทัยยิ่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไว้ทุกข์ในพระราชสำนัก ๑๕ วัน และโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระศพโดยประดิษฐาน ณ พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม อย่างสมพระเกียติ โดยพระราชทานพระโกศทองน้อยประกอบพุ่มและเฟื่องพร้อมทรงพระศพ ประดิษฐานเหนือชั้นแว่นฟ้าลายสลักปิดทองภายใต้ฉัตรตาดทองห้าชั้น แวดล้อมด้วยฉัตรอภิรุม ๕ ชั้น พร้อมพวงมาลาพระราชทาน พวงมาลาฝ่ายราชการ และพวงมาลาข้าในพระองค์ เบื้องหน้าพระโกศทองพระศพตั้งโต๊ะหมู่ปิดทองทอดเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเครื่องประกอบพระอิสริยยศที่ทรงดำรงอยู่ครบทุกประการ คือ

๑. เครื่องขัติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ (ฝ่ายใน)
๒. เครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้า (ฝ่ายใน)
๓. เครื่องราชอิสริยาภรณ์รัตนวราภรณ์ (ฝ่ายใน)
๔. เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๖ ชั้นที่ ๑
๕. เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๗ ชั้นที่ ๒
๖. เหรียญบรมราชาภิเษกทอง รัชกาลปัจจุบัน

เครื่องประกอบพระอิสริยยศที่ทอดถวาย ได้แก่
๑. พานพระศรีทองคำลงยา
๒. กากระบอกสลักลายดอกไม้ ฝาตรามงกุฎพร้อมถาดรอง
๓. ขันนํ้าพระสุธารสเย็น พร้อมจอกลอยทองคำเกลี้ยง
๔. หีบพระศรีทองคำลงยา พร้อมพานรองลายสลัก
๕. หีบพระสุพรรณศรีสลักลายดอกไม้
๖. ขันสรงพระพักตร์ทองคำขอบสลักลายพร้อมคลุมปัก

ส่วนการพระราชทานเพลิงพระศพ ได้จัดขึ้น ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส ในวันเสาร์ที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๙

พระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวี ทรงเพียบพร้อมด้วยพระจริยสมบัติสมเป็นกัลยาณี ด้วยพระหฤทัยที่ทรงยึดมั่นในความจงรักภักดีต่อมหาจักรีบรมราชวงศ์ อย่างไม่เสื่อมคลาย กอปรด้วยกุศล บุญราศีความดีงามที่ทรงบำเพ็ญตลอดมานั้น ส่งผลให้ในบั้นปลายแห่งพระชนมชีพทรงพระเกษมสำราญ และมีพระชนมายุยืนนาน สมดังพระพรชัยซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานไว้ในวันคล้ายวันประสูติ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ อันจะขออัญเชิญมาดังนี้

ขอเดชะพระคุณแห่งตรัยรัตน์ คุ้มสุวัทนาเฉลิมศรี
โปรดบันดาลสารพัดสวัสดี      พร้อมพระพรทั้งสี่ทวีคูณ
ขออายุยืนไปและไร้โรค          เสริมโศลกโชคดีอย่ามีสูญ
ขอวรรณะเรืองรองผ่องไพบูลย์ เหมือนแสงสูรย์ส่องงามยามอุทัย
ขอสุขจงยงอยู่มิรู้วาย             โศกสลายทุกขาอย่ากรายใกล้
ขอพลังพรั่งพร้อมประนอมใน   กายและใจร่าเริงบรรเทิงดี
ยศจงมียิ่งยวดอย่าชวดยศ       ศรีสง่าปรากฏอย่าหมดศรี
เกียรติคุณเผยแผ่แพร่เกียรตี เจริญถ้วนมวลทวีเจริญเทอญ

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย:ฤดีรัตน์ กายราศ

พระนางเธอลักษมีลาวัณ

“๏ แลเห็นคุณน้องไพศาล พี่จึ่งจัดงาน เฉลิมพระยศใหญ่ถนัด
๏ ให้รับพระสุพรรณบัตร อีกเครื่องยศจัด ประจำตามแบบนิยม
๏ อิศริยาภรณอุดม จักรีบรม ราชะตระกูลพูลยศ
๏ ประกาศพระเกียรติปรากฏ ว่าพี่สมมต น้องให้เป็นมิ่งนารี
๏ ผู้จะได้เปนมเหษี ครองคู่ตูพี่ ประดับประเทศเขตพระนางเธอลักษมีลาวัณไท”

บทร้อยกรองข้างต้นนี้เป็นส่วนหนึ่งในพระราชนิพนธ์ “อาเศียรวาท” ที่สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราซทานแด่ “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองศ์เจ้าลักษมีลาวัณ” เมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๔ สตรีไทยในราชสำนักผู้เพียบพร้อมด้วยพระสิริโฉม พระปรีชาสามารถด้านการประพันธ์ การแสดงละคร มีความรักชาติ เลื่อมใสพระบวรพุทธศาสนา เทิดทูนและจงรักภักดีพระมหากษัตริย์แห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ ตลอดพระชนมชีพ พระนามเป็นที่ประจักษ์ทั่วกันว่า “พระนางเธอลักษมีลาวัณ”

พระนางเธอลักษมีลาวัณ เป็นพระมเหสีพระองค์หนึ่งในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า “หม่อมเจ้าหญิงวรรณพิมล วรวรรณ” เป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ และเป็นพระธิดาเพียงพระองค์เดียวของหม่อมหลวงตาด มนตรีกุล ประสูติเมื่อปีกุน แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๘ บุรพาสาฒ เอกศก จ.ศ. ๑๒๖๑ ตรงกับวันจันทร์ที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๒ ณ วังวรวรรณ ตำบลแพร่งนรา จังหวัดพระนคร (กรุงเทพมหานครในปัจจุบัน) มีพระนามที่กล่าวขานกันในบรรดาพระญาติและผู้ใกล้ชิดว่า “ติ๋ว”

พระนางเธอลักษมีลาวัณเป็นบุตรลำดับที่ ๑๘ แห่งราชสกุลวรวรรณ ในจำนวนพระญาติร่วมพระบิดาเดียวกันทั้งสิ้น ๓๔ พระองค์ ดังพระนามตามลำดับคือ

หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร (พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์)
หม่อมเจ้าพรรณพิมล       หม่อมเจ้าสกลวรรณากร
หม่อมเจ้าพรพิมลพรรณ   หม่อมเจ้าต่อม
หม่อมเจ้าวัลภากร           หม่อมเจ้าวรรณวิมล (พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี)
หม่อมเจ้าปริญญากร        หม่อมเจ้านิตยากร
หม่อมเจ้าวิมลวรรณ (หม่อมเจ้าวรรณีศรีสมร)
หม่อมเจ้าเต๋า                  หม่อมเจ้าอรทิพย์ประพันธ์
หม่อมเจ้าสุวิชากร            หม่อมเจ้าพิมลวรรณ (หม่อมเจ้านันทนามารศรี)
หม่อมเจ้าศิวากร              หม่อมเจ้าสิทธยากร
หม่อมเจ้าไปรมากร          หม่อมเจ้าวรรณพิมล (พระนางเธอลักษมี ลาวัณ)
หม่อมเจ้าวรวีรากร           หม่อมเจ้าไวฒยากร
หม่อมเจ้าดุลภากร           หม่อมเจ้าบรรเจิดวรรณวรางค์
หม่อมเจ้าหญิง                หม่อมเจ้าหัชชากร
หม่อมเจ้าสรรพางค์พิมล   หม่อมเจ้าวัลลีวรินทร์ (หม่อมเจ้าศรีสอางค์นฤมล เกษมสันต์)
หม่อมเจ้าอุบลพรรณี        หม่อมเจ้าฤดีวรวรรณ
หม่อมเจ้านิด                   หม่อมเจ้าบุษยากร
หม่อมเจ้าฉันทนากร         หม่อมเจ้าเจตนากร
หม่อมเจ้าอภิญญากร        หม่อมเจ้าสุนทรากร

เมื่อครั้งทรงพระเยาว์พระนางเธอลักษมีลาวัณ ทรงรับการศึกษาและการอบรมเลี้ยงดูจาก เจ้าจอมมารดาเขียน ในรัชกาลที่ ๔ ผู้เป็นพระอัยยิกา ณ วังวรวรรณ จนกระทั่งพระชันษา ๑๒ ปี พระบิดาจึงถวายพระองค์ให้อยู่ในความดูแลของสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี เมื่อครั้งทรงเป็นพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี (ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงเฉลิมพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี) ระยะหนึ่งแล้วจึงเสด็จกลับไปประทับ ณ วังวรวรรณตามเดิม

พระนางเธอลักษมีลาวัณ และพระเชษฐภคินี ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ เต็นท์เล่นไพ่บริดจ์ ในงานประกวดภาพเขียนของช่างเขียนสมัครเล่น ณ โรงละครพระราชวังพญาไท (โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าในปัจจุบัน) เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ขณะพระชันษา ๒๑ ปี

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณาธิคุณแก่ราชสกุล “วรวรรณ” เป็นพิเศษ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่แก่พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๖๓ ตามลำดับดังนี้

พระราชทานนามหม่อมเจ้าหญิงวรรณวิมลว่า “หม่อมเจ้าหญิงวัลลภาเทวี”
พระราชทานนามหม่อมเจ้าหญิงวิมลวรรณว่า “หม่อมเจ้าหญิงวรรณีศรีสมร”
พระราชทานนามหม่อมเจ้าหญิงพิมลวรรณว่า “หม่อมเจ้าหญิงนันทนามารศรี”
พระราชทานนามหม่อมเจ้าหญิงวรรณพิมลว่า “หม่อมเจ้าหญิงลักษมีลาวัณ”
พระราชทานนามหม่อมเจ้าหญิงวัลลีวรินทร์ว่า “หม่อมเจ้าหญิงศรีสอางค์นฤมล”

ด้วยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดการละคร จึงทรงชวนพระนางเธอลักษมีลาวัณ และพระเชษฐภคินี พระองค์ใหญ่ให้แสดงละครในวังหลวง และโปรดให้พระนางเธอลักษมีลาวัณ ทรงแสดงเป็นนางเอกในพระราชนิพนธ์หลายเรื่อง เป็นต้นว่า เรื่อง “วิวาหพระสมุท” เป็นละครพูดสลับลำ ทรงแสดงบทของ “เจ้าหญิงอันโดรเมดา” เรื่อง “กุศโลบาย” เป็นพระราชนิพนธ์ละครพูด ทรงแปลจากภาษาต่างประเทศเรื่อง “The Royal Family” พระนางเธอลักษมีลาวัณทรงแสดงบทของ “เจ้าหญิงแอนเจลา” นอกจากนี้ยังแสดงเรื่องอื่นๆ รวมทั้งละครสั้นอีกหลายเรื่อง

พระนางเธอลักษมีลาวัณทรงสนพระทัยงานวรรณกรรมอย่างมาก ประจวบกับทรงพระปรีชาสามารถในการประพันธ์ต่างๆ ทรงพระนิพนธ์ทั้งร้อยแก้ว โคลงกลอนด้วยพระทัยรัก จึงเป็นที่ต้องพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้พระราชทานพระราชหัตถเลขาเป็นประจำ บางครั้งทรงพระราชนิพนธ์โคลงกลอนพระราชทานเป็นพิเศษ เป็นต้นว่า

“เลือกสรรยี่สิบเค้า ขวบปี
บ่มิพบนางดี พรั่งพร้อม
จนได้พบลักษมี ผู้ยอด ใจนา
วาสนานำน้อม จิตให้รักกัน

ขวัญเนตรนเรศลํ้า เลอสรร
ควรรับมอบชีวัน พี่แล้ว
แลกกับจิตแจ่มจันทร์ มอบพี่ ไว้เทอญ
ขอพิทักษ์จิตแก้ว พี่ด้วยชีวา ฯ ”

“นั่งคำนึงถึงน้องผู้ต้องจิต แม่มิ่งมิตรยอดรักลักษมี
ความรักรุกทุกทิวาและราตรี บ่ได้มีสร่างรักลักเวลา
ในกลางวันสุริยันแจ่มกระจ่าง เห็นหน้าน้องฟ่องกลางหว่างเวหา
ยามราตรีพี่พินิจพิศนภา ก็เห็นหน้าโฉมตรูอยู่แทนจันทร์… ”

“อันตัวหล่อนกล่าวกลอนฝากชีวาตม์ ฉันรับฝากใจสวาทไว้แม่นมั่น
ขอถนอมดวงจิตสนิทกัน ด้วยชีวันยอมสละแลกหทัย
ถึงตัวไปใจอยู่เป็นคู่ชม ร่วมภิรมย์รักชิดพิสมัย
ถึงร่างกายวายวับดับชีพไป ขอฝากใจจอดจู่อยู่แทนเอย”

นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมฉายาลักษณ์และลายพระราชหัตถ์ จารึกว่า “ให้แม่ติ๋ว, พร้อมด้วยดวงจิต, และขอฝากชีวิตและความสุขไว้ด้วย” ซึ่งพระนางเธอลักษมีลาวัณ ก็ทรงพระนิพนธิ์คำกลอนถวายว่า

“อันพระองค์ทรงฝากพระชีพไว้ หม่อมฉันขอรับใส่ในดวงจิต
อีกทรงฝากความสุขทุกชนิด ขอถวายไม่คิดขัดจำนง
อะไรเป็นความสุขสราญวานรับสั่ง จะถวายได้ดังประสงค์
ขอแต่เพียงทรงเลี้ยงให้เที่ยงตรง อย่าผลักส่งเข้าขังวังหลวงเอย”

ต่อมาวันที่ ๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๖๔ พระนางเธอลักษมีลาวัณทรงได้รับการสถาปนาเฉลิมพระยศจาก หม่อมเจ้าหญิงลักษมีลาวัณเป็น “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ” ขณะมีพระชันษา ๒๒ ปี ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศถอนหมั้นพระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี ซึ่งเป็นพระเชษฐภคินีเธอ อีก ๕ เดือนต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีงานฉลองพระสุพรรณบัฏสถาปนาเป็น “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ” และทรงพระราชนิพนธ์ “อาเศียรวาท” เป็นกาพย์ กลอน และฉันท์ ว่าด้วยลักษณะของหญิงที่เป็นมิ่งมเหสี พระราชทานแต่พระนางเธอฯ พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์ ปฐมจุลจอมเกล้าฝ่ายใน และเหรียญรัตนาภรณ์ ว.ป.ร. ชั้นที่ ๑

ต่อมาวันที่ ๒๗ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๖๕ ขณะพระนางเธอลักษมีลาวัณทรงเจริญพระชันษา ๒๓ ปี ทรงได้รับการสถาปนาเฉลิมพระนามเป็น “พระนางเธอลักษมีลาวัณ”

อย่างไรก็ตามด้วยเหตุที่พระนางเธอลักษมีลาวัณ มิได้ทรงพระครรภ์เพื่อให้กำเนิดรัชทายาทถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้สมดังพระราชประสงค์ ทำให้ทั้งสองพระองค์ทรงตัดสินพระราชหฤทัยแยกกันอยู่นับแต่บัดนั้น พระนางเธอฯ ทรงแยกประทับตามลำพัง ณ ตำหนักลักษมีวิลาส มีพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงฉายคู่กับพระนางเธอฯ ในพระอิริยาบถสอดพระกรคล้องกัน ขนาดภาพ ๔๘ นิ้ว ใต้ภาพจารึกลายพระราชหัตถ์ว่า “ให้แม่ติ๋วยอดชีวิตของโต ด้วยความรักยิ่งกว่าสิ่งใดในโลก, เพื่อเปนที่ระลึกถึงวันที่ได้ชื่นใจมากที่สุดครั้งแรกในชีวิต, คือวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๓”

พระนางเธอลักษมีลาวัณทรงมีความจงรักภักดีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างลึกซึ้งตลอดมา ตราบจนเสด็จสวรรคตแล้วพระนางเธอฯ ทรงครองชีวิตอย่างสงบ ทรงมีรายได้จากเงินปีในฐานะ พระราชวงศ์ และเงินพระราชทานเลี้ยงชีพตามพระราชพินัยกรรมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ปีละ ๒,๐๐๐ บาท และทรงรับพระราชทานมรดกในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวตามส่วนที่จับสลากได้ เป็นเครื่องเพชรมูลค่าหลายสิบล้านบาท

ส่วนพระปรีชาสามารถด้านการประพันธ์นั้น พระนางเธอลักษมีลาวัณทรงพระนิพนธ์บทร้อยกรอง บทละคร นวนิยาย เป็นต้นว่า บทละครเรื่อง หาเหตุหึง เบอร์หก ปรีดาลัยออนพาเหรด นวนิยายเรื่อง เรือนใจที่ไร้ค่า ชีวิตหวาม พิมพ์เผยแพร่ ๒ ครั้ง โชคเชื่อมชีวิต ตลอดจนเรื่อง ยั่วรัก เป็นนวนิยายที่ทรงแปลจากเรื่อง His Hour ของ Elinor Glyn เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ และเรื่องอื่นๆ อีกมาก ทรงพระนิพนธ์ในพระนามแฝงว่า “ปัทมะ” “วรรณพิมล” และ “พระนางเธอลักษมีลาวัณ”
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ พระนางเธอลักษมีลาวัณทรงดำเนินการในด้านนาฏกรรม โดยเฉพาะกิจการของคณะละครชื่อ “ปรีดาลัย” สืบสนองพระเจตนารมณ์ของพระบิดา ทรงปฏิวัติการแสดงละครสมัยนั้น ผู้แสดงเป็นชายจริงหญิงแท้ มีเพลงร้องประกอบทำนองไทยและสากล ใช้เครื่องดนตรีฝรั่ง จำนวนผู้แสดงมากถึง ๔๐ คน เบิกโรงด้วยระบำฟากฟ้าต่อด้วยเรื่อง “พระอาลิสะนัม” แสดงครั้งแรก ณ ศาลาเฉลิมกรุง เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ แล้วทรงย้ายคณะละครปรีดาลัยไปแสดง ณ โรงนาครเขษม การแสดงละครของคณะปรีดาลัยครั้งนั้น (พ.ศ. ๒๔๗๗ – ๒๔๘๙) ทรงฝึกซ้อมและทรงแสดงให้ดูเป็นตัวอย่างหากผู้แสดงยังซ้อมบทไม่ถูกตามพระประสงค์ ทรงประดิษฐ์ท่าระบำบางชุดให้กลมกลืนกับเพลงสากล ทรงสร้างศิลปินให้มีชื่อเสียงจำนวนมาก เช่น มารุต ประวัติ ผิวเผือก (ทัต เอกทัต) จอก ดอกจันทน์ อุไร เกษมสุวรรณ

ต่อมา พ.ศ. ๒๔๘๖ ทรงจัดการแสดงละครร่วมกับบริษัทสหศินิมา จำกัด เรื่อยมาเป็นลำดับ ครั้งสุดท้ายจัดแสดง ณ ศาลาเฉลิมนคร นอกจากนี้ยังทรงจัดการแสดงละครเพื่อหารายได้ให้ราชการกองทัพเรือหลายครั้งระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๘ – ๒๔๘๙ และงานฉลองรัฐธรรมนูญอีกหลายคราว หลังจากนั้นพระองค์ได้เสด็จประพาสยุโรปเพื่อพักผ่อนพระอิริยาบถ เป็นอันสิ้นสุดคณะละครปรีดาลัยแต่บัดนั้น

พระนางเธอลักษมีลาวัณ ยังทรงดำรงตำแหน่งกรรมการวรรณคดีสโมสรแห่งประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕ ทั้งทรงพระนิพนธ์บทร้อยกรองต่างๆ เผยแพร่ในวรรณคดีสารเป็นจำนวนมาก ครั้นพระชันษา ๖๐ ปี พระนางเธอลักษมีลาวัณทรงจัดงานสมายุมงคลครบ ๕ รอบ ณ ตำหนักลักษมีวิลาส วันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ พระนิพนธ์ร้อยกรองที่ปรากฏในงานดังกล่าว ทำให้ซึมทราบว่าพระนางเธอลักษมีลาวัณทรงตระหนักถึงวัฏสงสารแห่งชีวิต และทรงยอมรับรู้ถึงสัจธรรมของโลกอย่างแท้จริง ทั้งนี้เพราะพระนางเธอฯ ทรงเลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนา และโปรดฟังเทศน์เป็นนิจสิน แม้ว่าในบั้นปลายแห่งพระชนมชีพ พระนางเธอฯ จะทรงดำรงพระชนม์อย่างโดดเดี่ยวตามลำพัง ไร้ผู้รับใช้ใกล้ชิด ดังพระนิพนธ์คำกลอนที่ทรงเรียงร้อยไว้ว่า

“ตัวคนเดียวโดดเดี่ยวอยู่เปลี่ยวเปล่า ไม่มีบ่าวโจษจันฉันกริ้วแหว
ขืนมีบ่าวเข้ามามันตอแย ยั่วยุแหย่ยุ่งขโมยโอยรำคาญ
บ้างเข้าทำท่าเป็นบ้างั่ง เรียกจะสั่งทำให้ไม่ขอขาน
สั่งอย่างโง้นทำอย่างงี้เลี่ยงลี้งาน ใช่ฉันพาลเป็นดังนี้ทุกวี่วัน”

พระนางเธอลักษมีลาวัณสิ้นพระชนม์ เนื่องจากคนสวนลอบปลงพระชนม์เพื่อช่วงชิงทรัพย์ ณ ตำหนักลักษมีวิลาส สี่แยกพญาไท เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๔ พระชนมายุได้ ๖๒ พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงพระศพ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๔

พระนางเธอลักษมีลาวัณจึงทรงเป็นสตรีไทยแห่งราชสกุลวรวรรณ ที่เพียบพร้อมด้วยพระสิริโฉม พระจริยวัตร พระปรีชาสามารถ มุ่งประกอบพระกรณียกิจ ที่ธำรงไว้ซึ่งชาติ พระบวรพุทธศาสนา และ พระมหากษัตริย์แห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์โดยแท้จริง

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: ผกาวรรณ เดชเทวพร

สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา

“๏ ข้าขออำนวยให้ วรราชะชายา
พระอินทระศักดิ์นา ริศะจีวิไลยวรรณ
๏ เพื่อเป็นพยานรัก ฤดีร่วมสิเนห์กัน
ยืนจนประจบพรร ษะชิวีดนูสลายฯ”

คำประพันธ์ร้อยกรองข้างต้นนี้เป็นพระราชนิพนธ์
“คำอำนวย” ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในหนังสือเรื่องละคร “โรเมโอและจูเลียต” เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ เพื่อพระราชทานแด่ “สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา” ครั้งเป็น “พระวรราชชายาเธอ พระอินทรศักดิศจี” อันเป็นประจักษ์พยานรักของพระองค์ที่ทรงแสดงต่อพระวรราชชายาคู่พระชนมชีพพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี

สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา มีพระนามเดิมว่า “ประไพ สุจริตกุล” เป็นพระธิดาของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล) และท่านผู้หญิงสุธรรมมนตรี (ไล้) พระองค์เป็นบุตรลำดับที่ ๕ ในจำนวนพระญาติทั้งสิ้น ๑๑ คน ประสูติเมื่อวันอังคารที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๕ ณ บ้านคลองด่าน อันเป็นบ้านของพระยาราชภักดี (โค สุจริตกุล) ผู้เป็นปู่ เมื่อครั้งประสูตินั้นพระบิดามีบรรดาศักดิ์ เป็น “พระอรรถการประสิทธิ์ อธิบดีศาลต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ ทรงสืบสายสกุลแห่งราชินิกูล คือ พระยาราชภักดี เป็นน้องชายของสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรามาตา ซึ่งเป็นพระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ เมื่อพระชันษา ๙ ปี ทรงศึกษาเล่าเรียน ณ โรงเรียนราชินี เป็นนักเรียนประจำ เลขประจำตัว ๓๘๗ พ.ศ. ๒๔๕๔ จนถึง พ.ศ. ๒๔๖๓ ทรงสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมบริบูรณ์ ระหว่างทรงศึกษานั้น โปรดวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ดนตรี การฝีมือ และกีฬา

เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีผู้เป็นบิดา ได้นำเข้าเฝ้าถวายตัวเพื่อเข้ารับราชการฝ่ายใน พระองค์ทรงสนพระทัยการขับร้องอย่างมาก ทรงเป็นต้นเสียงร่วมกับพระสุจริตสุดา พระสนมเอก ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการแสดงโขนสมัครเล่น เรื่อง “รามเกียรติ์” ตอนนางลอย พระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พ.ศ. ๒๔๖๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับหน้าที่บอกบทพากย์และเจรจาด้วยพระองค์ นอกจากนี้ยังทรงแสดงเป็น “อินทิรา ดุลยวัจน์” นางเอกของพระราชนิพนธ์ละครพูด ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่อง “เสือเถ้า” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแสดงเป็นเจ้าคุณปู่ของนางเอก คือ “พระยาอรรถประกาศกรณีย์”

ด้วยเหตุที่สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ ทรงมีความสามารถในการแสดง ทั้งทรงสนองงานใต้เบื้องพระยุคลบาทในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจนเป็นที่โปรดปราน จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศตามลำดับดังนี้

วันที่ ๑๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๖๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกอบพระราชพิธีอภิเษกสมรส และทรงพระกรุณาแต่งตั้งเป็น “พระอินทราณี” ตำแหน่งพระสนมเอก

วันที่ ๑๐ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๖๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น “พระวรราชชายาเธอ พระอินทรศักดิศจี”

วันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๖๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น “พระนางเจ้า อินทรศักดิศจี พระบรมราชินี” เนื่องจากทรงพระครรภ์

วันที่ ๑๕ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๖๘ โปรดให้ออกพระนามว่า “สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา” เนื่องจากพระครรภ์ไม่มีพระประสูติกาลถึงสองคราว

ขณะที่สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ ทรงรับราชการฝ่ายในนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ทั้งลิลิต นิราศ เพลงยาว และบทละครพระราชทานหลายเรื่อง ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ “คำอำนวย” พระราชทานทุกครั้ง เป็นต้นว่า

เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน – ๒๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๖๕ ทรงพระราชนิพนธ์บทละครแปลเรื่อง “โรเมโอและจูเลียต” พระราชทานคำอำนวยตอนหนึ่งว่า

“๏ ข้าเพียรประพนธ์บท วรนาฏะกากร
เพื่อเพิ่มวรักษร ณ สยามะภาษา
๏ ข้าขออำนวยให้ วรราชะชายา
พระอินทรศักดินา ริศะจีวิไลยวรรณ”

เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๖๕ ทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง “ลิลิตนารายณ์สิบปาง” และโปรดเกล้าฯ พระราชทานพิมพ์ในงานฉลองพระชนมายุ ๒๑ พรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ วันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๖ พระราชทานคำอำนวยตอนหนึ่งว่า

“๏ เรื่องนี้ข้าแต่งให้ ราชินี
อินทรศักดิ์ศจี นิ่มน้อง
โดยเธอกล่าววาที เชิญแต่ง
ซึ่งเฉพาะเหมาะต้อง จิตข้าประสงค์…
๏ อ้าน้องจงรับด้วย ใจดี
ลิลิตเปนพลี รักลํ้า
พยานรักซึ่งมี ห่อนเหือด หายเลย
จนจวบสิ้นดินนํ้า ฟากฟ้าคลาสูญฯ”

เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ ทรงพระราชนิพนธ์บทละครคำฉันท์เรื่อง “มัทนะพารา” หรือตำนาน แห่งดอกกุหลาบ โดยทรงนำเค้าเรื่องมาจากประเทศอินเดีย แล้วพระราชนิพนธ์ขึ้นใหม่ด้วยความประณีต ทั้งตัวละครและภาษาถูกต้องตามยุคสมัย พระราชทานแด่สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ ต่อมา พ.ศ. ๒๔๖๗ วรรณคดีสโมสรได้ประกาศยกย่องเรื่องมัทนะพาธาว่า เป็นหนังสือแต่งดี ดังพระราชนิพนธ์คำอำนวยตอนหนึ่งว่า

“๏ อ้าอินทรศักดิศะจีองค์ วรเอกมเหสี
ผู้คู่หทัยและวรชี- วิตะร่วมสิเนหา
๏ อันเธอสิเปรียบประดุจะกุพ- ชะกะเลิดสุมาลา
ดาลดวงฤดีสุมะทะนา วติชื่นระตีหวาน…”

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการประลองยุทธ์ ระหว่างเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๖ สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี ทรงได้รับพระราชทานพระราชนิพนธ์ “โคลงนิราศประลองยุทธ” ซึ่งพระราชทานพิมพ์พระราชนิพนธ์เป็นของชำร่วยเพื่อพระราชทานในงาน “ขึ้นพระตำหนักที่สวนราชฤดี”ณ ตำบลพระประโทน จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๖

พ.ศ. ๒๔๖๗ ทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร” เพื่อทรงอรรถาธิบายตอบ พระปุจฉาของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ ขณะทรงดำรงพระอิสสริยยศเป็นพระบรมราชินี พระราชนิพนธ์เรื่องนี้แม้มิได้ทรงออกพระนามชัดเจน แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีในหมู่ผู้ใกล้ชิด

นอกจากนั้นสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ ยังทรงได้รับพระราชทานพระราชนิพนธ์ “เพลงยาว” ซึ่งสันนิษฐานแน่ชัดว่าทรงพระราชนิพนธ์ไล่เลี่ยกับพระราชนิพนธ์เรื่อง “โคลงนิราศประลองยุทธ” เนื่องจากได้ท่องจำกันในบรรดาหมู่ข้าหลวงราชสำนัก เพลงยาวดังกล่าวมีชื่อว่า “เขียนสารามาฝากจากดวงจิต” ดังความตอนหนึ่งว่า

“…เสนาะเสียงเพียงพิณประสานศัพท์ อาจระงับเหงาใจในยามคํ่า หวานอะไรก็ไม่ปานหวานนํ้าคำ ที่หล่อนรํ่าพาทีกับพี่ยา
เสียงเจ้าซาบอาบจิตติดในหู เมื่อยามตูเลิศร้างห่างเคหา
แว่วสำเนียงเสียงเสนาะเพราะติดมา ให้พี่ยาเป็นสุขทุกข์ระคน… ”

สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ ทรงสนพระทัยส่งเสริมการศึกษาอย่างมาก ทรงเริ่มประทานเงินทุน ๓,๐๐๐ บาทแก่โรงเรียนราชินีเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๔ แล้วประทานเนื่องในวันประสูติเรื่อยมาตามลำดับ จนถึงวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๔ โรงเรียนราชินีเริ่มใช้เป็นทุนของ ปีการศึกษา ๒๔๗๔ นับแต่บัดนั้น ปัจจุบันโรงเรียนราชินียังคงให้ทุนแก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ ที่ สอบได้คะแนนเยี่ยมขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ นอกจากนั้นยังทรงส่งเสริมการศึกษาทุกระดับ ตั้งแต่ประถมศึกษาจนถึงอุดมศึกษา บางครั้งทรงสนับสนุนให้ศึกษาต่อเนื่องยังต่างประเทศ ปรากฏว่าบุคคลที่ได้รับการศึกษาเนื่องจากทุนที่ได้รับประทานดังกล่าวล้วนเป็นข้าราชการ นักธุรกิจ นักสังคมสงเคราะห์ ฯลฯ ที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติทั้งสิ้น

ส่วนเรื่องของสตรีนั้นสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ ทรงมีคุณูปการต่อสตรีในรัชสมัย โดยเฉพาะทรงสนับสนุนให้สตรีมีบทบาทในสังคม รู้จักออกสังคมมากขึ้น ทั้งนี้ข้าหลวงของพระองค์จักต้องมีความรู้ ความสามารถในการออกสังคมทุกคน ทรงสนับสนุนให้ข้าราชบริพารศึกษาหาความรู้ด้านต่างๆ เช่น ทรงจัดผู้ชำนาญมาสอน ทำให้ข้าหลวงสมัยนั้นมีความสามารถหลายด้าน เป็นต้นว่า ดนตรี ภาษา ละคร และกีฬา ด้านกีฬานี้ทรงสนับสนุนให้มีการแข่งขันทั้งในและนอกประเทศ นักกีฬาของพระองค์ที่มีชื่อเสียง คือ นางสาว สงวน สุจริตกุล ชนะเลิศการแข่งขันแบดมินตันหญิงแห่งประเทศไทย และประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ พ.ศ. ๒๔๖๕ ยังโปรดให้ข้าหลวงหัดกีฬาหลายประเภท เช่น ขี่ม้า จักรยาน และฟุตบอล

เรื่องการทหาร สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ ทรงสนพระทัยและมีส่วนร่วมในกิจการต่างๆ จนพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระยศนายพันโท ตำแหน่งผู้บังคับการพิเศษ กองพันที่ ๒ กรมทหารบกราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และกรมทหารบกราบที่ ๑ รักษาพระองค์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ ดังที่หม่อมหลวง ปิ่น มาลากุล ได้กล่าวถึงพระราชนิพนธ์ละครพูดเรื่อง “ผิดวินัย” ในหนังสือ “งานละครของสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าแผ่นดินสยาม” ว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินี ได้เสด็จทอดพระเนตรละครพระราชนิพนธ์เรื่องผิดวินัย เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ ซึ่งเป็นการแสดงถวายของนายทหารกรมมหาดเล็กรักษาพระองค์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ในโอกาสที่สมเด็จพระบรมราชินี ทรงรับตำแหน่งผู้บังคับการพิเศษกองพันที่ ๒ กรมทหารบกราบที่ ๑ และกรมทหารบกราบที่ ๑๑

ส่วนกิจการเสือป่านั้น สมเด็จพระนาง เจ้าอินทรศักดิศจีฯ ทรงได้รับพระราชทานพระยศเป็น “นายนาวาตรี ราชนาวีเสือป่า” ทรงติดตามพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไปในการซ้อมรบทุกครั้ง ยกเว้นในคราวเสด็จประลองยุทธ์ไม่ได้ตามเสด็จด้วย เนื่องจากเป็นการปฏิบัติของบุรุษโดยตรง

ต่อมาวันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้สมเด็จพระนางเจ้าอินทรคักดิศจีฯ ทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกาของวชิรพยาบาล

สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ ทรงได้รับพระมหากรุณาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ฝ่ายใน ระหว่างพุทธศักราช ๒๔๖๕- ๒๔๖๖ ตามลำดับ ดังนี้

วันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ จปร. ชั้นที่ ๑

วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๕ รับพระราชทานมหาจักรีบรมราชวงศ์ พร้อมทั้งทรงดำรงที่ภคินีของเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์นี้ และรับพระราชทานรัตนวราภรณ์ ในวันเดียวกันด้วย

วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๕ รับพระราชทานปฐมจุลจอมเกล้า พร้อมทั้งทรงดำรงที่มหาสวามินีของเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๖

วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๕ รับพระราชทานนพรัตนราชวราภรณ์

วันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ รับพระราชทานมหาวชิรมงกุฎ

ในบั้นปลายแห่งพระชนมชีพสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ ทรงดำรงพระชนม์อย่างเรียบง่าย ทรงมัธยัสถ์ในความสุขส่วนที่พึงเป็นของพระองค์ ทั้งที่มีทรัพย์สินเพียงพอในการใช้จ่ายอย่างสะดวกสบาย ทรงสนพระทัยเลี้ยงสัตว์ ปลูกต้นไม้ ทรงสนพระทัยอ่าน ฟัง และสนทนาเรื่องเกี่ยวกับธรรมะ

ในรัชกาลปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ ทรงได้รับพระมหากรุณาให้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อรับพระราชทานนํ้าพระมหาสังข์และทรงเจิม เมื่อพระชนมายุครบ ๕ รอบ ในวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๕ และทรงรับพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ในการบำเพ็ญพระกุศลฉลองพระชนมายุครบ ๖ รอบ พ.ศ. ๒๕๑๗ ณ พระอุโบสถวัดราชาธิวาสวรวิหาร รวมทั้งทรงรับพระมหากรุณาให้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลี
พระบาทเพื่อทรงเจิม และทรงรับพระราชทานนํ้าพระมหาสังข์ด้วย นอกจากนี้ยังทรงได้รับพระราชทาน พระบรมราชานุเคราะห์ในการรักษาโดยตลอดทุกครั้งเมื่อประชวร

ต่อมาสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ มีพระอาการประชวรกำเริบจึงทรงเข้ารับการรักษา ณ ศิริราชพยาบาล เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย พระอาการเริ่มทรุดลงตามลำดับ จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ ด้วยโรคพระหทัยวาย เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๘ เวลา ๐๗ นาฬิกา ๕๕ นาที สิริพระชนมายุ ๗๓ พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงพระศพ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๙

แม้จะสิ้นพระชนม์ไปแล้ว แต่พระเกียรติคุณยังปรากฏอยู่ในความทรงจำของซาวไทยที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะชาวกำแพงแสน ที่ได้รับประทานที่ดิน ๒๑ ไร่ พร้อมพระตำหนักในการจัดสร้างสถานศึกษาเพื่อชุมชน นั่นคือ “โรงเรียนอินทรศักดิ์ศึกษาลัย” ข้าราชการ พ่อค้า คหบดีชาวกำแพงแสนจึงพร้อมใจกันขอพระบรมราชานุญาตก่อสร้าง “พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” ประดิษฐาน ณ บริเวณหน้าโรงเรียนดังกล่าว ซึ่งมีพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานเปิดพระราชานุสาวรีย์ฯ แห่งนี้ เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ หลังจากนั้น ชาวกำแพงแสนจึงประกาศให้วันที่ ๓๐ พฤศจิกายนของทุกปีเป็น “วันสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ” และเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๕ เป็นวาระสำคัญครบ ๑๐๐ ปี วันประสูติของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระเกียรติคุณ และพระภารกิจของพระองค์ ชาวกำแพงแสนทุกคน จึงพร้อมใจกันจัดงาน “รวมใจภักดิ์อินทรศักดิศจี” สมโภช ๑๐๐ ปี สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ จึงเป็นสตรีไทยที่ทรงบำเพ็ญคุณประโยชน์แก่เด็กและสตรี ตลอดจนผู้ใกล้ชิดตลอดมาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าจวบจนสิ้นพระชนม์ โดยยังคงมีอนุสรณ์สถานเป็นสิ่งสำคัญ ที่ยํ้าเตือนความทรงจำของอนุชนสืบมา

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: ผกาวรรณ เดชเทวพร

ท่านผู้หญิงยมราช(ตลับ สุขุม)

สตรีไทยได้รับยกย่องว่ามีความสามารถสูง ทั้งในเรื่องการบ้านการเรือน และกิจการของบ้านเมืองทุกสมัย ประเพณีวัฒนธรรมไทยจะอบรมสั่งสอนกุลสตรีให้มีคุณสมบัติงามทุกวัย นับตั้งแต่วัยดรุณี วัยมีเรือน และวัยสูงอายุ ให้เป็นผู้รู้จักไว้ยศ รักศักดิ์ศรี มีท่านผู้หญิงยมราช(ตลับ สุขุม)จรรยามารยาทเชิดชูวงศ์ตระกูล ทั้งของตนและสามี ให้เป็นผู้มีความเมตตากรุณา รู้จักเสียสละ ทำตนให้เป็นประโยชน์ทั้งส่วนตนและส่วนรวม แบบฉบับของสตรีไทยที่ เป็นตัวอย่างอันดีในสมัยโบราณ จะเห็นประจักษ์ทั้งในวรรณคดีและประวัติศาสตร์ ส่วนในยุคที่ล่วงเข้าสู่สมัยใหม่เมื่อไทยเริ่มรับวัฒนธรรมตะวันตก โดยเฉพาะรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ปรากฏว่าสตรีไทยนั้น มีความเก่งกล้าสามารถไม่แพ้สตรีสมัยโบราณหรือชาวต่างประเทศในยุคเดียวกันเลย

ท่านผู้หญิงตลับ สุขุม กำเนิดมาในสกุล “ณ ป้อมเพ็ชร” เมื่อวันพุธ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะโรง สัมฤทธิศก จ.ศ. ๑๒๓๐ ตรงกับวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๑๑ ที่บ้านบางขุนพรหม กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรพระยาชัยวิชิตสิทธิศักดา มหานคราภิบาล (นาค ณ ป้อมเพ็ชร) ผู้รักษาพระนครศรีอยุธยา ปู่คือ พระพิทักษ์เทพธานี (ด้วง ณ ป้อมเพ็ชร) ปลัดพระนครศรีอยุธยา มารดา ชื่อ คุณหญิงนวน สกุล ณ ป้อมเพ็ชร สืบเชื้อสายมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ตั้งเคหสถานบ้านเรือนอยู่ภายในกำแพงพระนคร ใกล้กับป้อมเพชร เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุล ได้พระราชทานชื่อให้แก่สายสกุลนี้ว่า “ณ ป้อมเพ็ชร”

เมื่อยังเยาว์ท่านผู้หญิงตลับ สุขุม ได้รับการศึกษาในโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงมากในสมัยนั้น อยู่เล่าเรียนในเวลาอันสมควร แล้วจึงลาออกมาดูแลบ้านเรือนเนื่องจากคุณหญิง นวน มารดาถึงแก่กรรม เป็นเหตุให้รู้จักการปกครองภายในบ้านมาตั้งแต่เล็ก ครั้นอายุเจริญได้ ๑๙ ย่าง ๒๐ ปี เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เมื่อครั้งยังเป็นขุนวิจิตรวรสาส์น ผู้เป็นพระอภิบาลพระเจ้าลูกยาเธอ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ๔ พระองค์ คือ กรมพระจันทบุรีนฤนารถ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ กรมหลวงปราจีนกิตติบดี และกรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช เสด็จไปทรงศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ ได้ตามเสด็จกลับมาเยี่ยมเมืองไทยชั่วคราว ได้กราบทูลขอให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นกรมหมื่น และพระมารดาคือ เจ้าจอมมารดาชุ่ม ให้ทรงพระเมตตาเป็น เถ้าแก่เสด็จมาสู่ขอท่านผู้หญิงตลับ ในปี พ.ศ. ๒๔๓๑ ที่บ้านบางขุนพรหม พระยาชัยวิชิตฯ ตกลงด้วยความยินดีและปลูกเรือนหออยู่ภายในบริเวณบ้านเดิมนั้นเอง

เมื่อเสร็จพิธีแต่งงาน เป็นเวลาที่พระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์เสด็จกลับไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ เจ้าพระยายมราชรับหน้าที่พระอภิบาลเช่นเดิม จึงเตรียมออกเดินทางพร้อมกับท่านผู้หญิงด้วย

ก่อนออกเดินทางท่านผู้หญิงตลับได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เข้าเฝ้า เพื่อกราบบังคมลาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี ประเพณีการเข้าเฝ้าในสมัยก่อน ฝ่ายหน้าและฝ่ายในจะไม่ปะปนกัน ครั้งนี้คุณหญิงอภัยพิพิธ (ห่วง) ภรรยาพระยาอภัยพิพิธ (สุ่น) ตั้งแต่ครั้งยังเป็นพระยาพิพัฒนโกษา ปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้นำท่านผู้หญิงเข้าเฝ้า ทุกพระองค์ได้ทรงฝากฝังให้ช่วยดูแลพระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ รวมทั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้า มหาวชิราวุธ ซึ่งจะเสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ ใน พ.ศ. ๒๔๓๖ ด้วย นับตั้งแต่นั้นมาท่านผู้หญิงตลับก็ได้ยึดถือว่า ตนเข้ารับราชการแล้วส่วนหนึ่ง และได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างดีในเวลาต่อมา

ในระหว่างที่เจ้าพระยายมราชเป็นพระอภิบาลและทำหน้าที่พระอาจารย์สอนหนังสือไทยไปพร้อมๆ กันนั้น เป็นเวลาที่ตำแหน่งผู้ช่วยสถานทูตลอนดอนว่างลง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยา ยมราชทำหน้าที่แทนอีกตำแหน่งหนึ่ง และได้เลื่อนขึ้นเป็นเลขานุการชั้น ๑ ในเวลาต่อมา ท่านผู้หญิงตลับ จึงมีโอกาสทำหน้าที่สนองพระคุณบ้านเมืองโดยตรง โดยได้เป็นผู้แทนสตรีไทยเข้าเฝ้าสมเด็จพระนางเจ้า วิกตอเรีย พระบรมราชินีแห่งกรุงอังกฤษ ในฐานะภรรยาข้าราชการไทยคนแรก ซึ่งปรากฏว่าท่านผู้หญิง ตลับ สุขุม สามารถวางตัวให้เป็นที่ชื่นชม และเป็นที่เกรงใจของบรรดาชาวต่างประเทศได้อย่างน่าอัศจรรย์

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกไปทรงศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ ท่านผู้หญิงตลับ ได้ถวายความจงรักภักดีเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในเรื่องต่างๆ อย่างเต็มกำลังความสามารถ โปรดให้ตามเสด็จหลายครั้ง ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยมาก ท่านผู้หญิงตลับ สุขุม อยู่ประเทศอังกฤษเป็นเวลา ๖ ปี ในปี พ.ศ. ๒๔๓๗ กรมหลวงปราจิณกิติบดี ก็เสด็จกลับประเทศไทย เจ้าพระยายมราชจึงได้กลับในโอกาสนี้

ต่อมา เจ้าพระยายมราชไปรับราชการในตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช เป็นเวลานาน ๑๑ ปี จากต่างประเทศออกสู่ชนบท ทั้งเจ้าพระยาและท่านผู้หญิงเป็นวัยที่กำลังมีไฟในการ สร้างสรรค์งาน การได้พบเห็นสิ่งเจริญรุ่งเรืองในต่างถิ่นนั้นได้นำมาพัฒนาบ้านเมืองเป็นผลดีต่อไป

เจ้าพระยายมราชและท่านผู้หญิงเป็นสามีภรรยาที่ความคิดและอุปนิสัยละม้ายคล้ายคลึงกัน งานใดที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและสังคมที่เจ้าพระยายมราชต้องปฏิบัติจะได้รับความสนับสนุนส่งเสริมให้ ดำเนินไปด้วยดีจากท่านผู้หญิงตลับเสมอ เจ้าพระยายมราชเป็นผู้ฝักใฝ่ในพระบวรพุทธศาสนา เนื่องด้วยตนเองอยู่ในเพศบรรพชิตเป็นเวลานาน คุณลักษณะนี้แสดงออกในทางมีมนุษยสัมพันธ์ ที่สามารถติดต่อกับบุคคลทุกระดับได้อย่างไม่ถือตัว มีความโอบอ้อมอารี ชอบให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลบุคคลที่ต่ำกว่า ตลอดทั้งงานสารประโยชน์นานา ลักษณะเหล่านี้เป็นคุณสมบัติของท่านผู้หญิงตลับทั้งสิ้น ในระหว่างที่เจ้าพระยายมราชดำรงตำแหน่งเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ท่านผู้หญิงตลับ สุขุม ได้บำเพ็ญประโยชน์นานาประการ ในส่วนการสงเคราะห์ได้แก่ ช่วยเหลือบุตร ภรรยาข้าราชการ ที่ออกไปประจำในต่างจังหวัดที่ห่างไกล เฉพาะในยามป่วยไข้ และดูแลราษฎรด้วยความจริงใจ

เจ้าพระยายมราชได้จัดระเบียบบริหารมณฑลนครศรีธรรมราชอย่างเรียบร้อยทำนุบำรุงความเจริญทั้งในส่วนการปกครองและปรับปรุงสภาพบ้านเมืองให้มีระเบียบตามแบบแผนใหม่ เมื่อพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาตรวจหรือเสด็จผ่าน ทรงพอพระราชหฤทัยทุกครั้ง ท่านผู้หญิงตลับจะเป็นผู้ทำหน้าที่เตรียมการรับเสด็จอย่างสมพระเกียรติ โดยเฉพาะในปี พ.ศ. ๒๔๔๖ เสด็จประพาสเกาะยอที่กลางทะเลสาบสงขลา จนกระทั่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานเข็มกลัด จ.ป.ร. ประดับเพชร และเมื่อครั้งเสด็จกลับจากประเทศชวา ก็ได้รับพระราชทานกำไล สลัก จ.ป.ร. เป็นรางวัลในการตอบแทนความจงรักภักดี

ท่านผู้หญิงตลับ สุขุม เป็นสตรีที่กล้าเผชิญเหตุการณ์นานาประการที่ขวางหน้า ดังเช่นเมื่อเจ้าพระยายมราชเข้าเฝ้าสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย ในตำแหน่งเลขานุการสถานทูตไทย ท่านก็มีความกล้าหาญ พร้อมจะก้าวเข้าสู่สมาคมชั้นสูงของต่างบ้านต่างเมืองออกไปเคียงบ่าเคียงไหล่สามีอย่างมั่นใจ ทั้งๆ ที่มิได้คุ้นเคยกับธรรมเนียมประเพณีของอังกฤษมาแต่ก่อน ท่านรักษามารยาท วางตัวเหมาะสม ทั้งกิริยาวาจา อย่างถูกกาลเทศะ สามารถเชิดชูขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอันเป็นเกียรติภูมิที่ดีงามของชาติได้อย่างดียิ่ง

ท่านมีอุปนิสัยรักเรียน มีความสังเกต และไม่ชอบอยู่นิ่งเฉย เมื่ออยู่ในประเทศอังกฤษ ได้พบเห็นความเจริญก้าวหน้าอันเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อบ้านเมืองไทย และสิ่งที่ชาวไทยยังไม่ทัดเทียมกัน ก็จะจดจำไว้ และฝึกฝนขวนขวายเพิ่มพูนความรู้ให้เป็นกำไรแก่ชีวิต และปัญญาของตนเอง เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมในภายภาคหน้า ครั้นเมื่ออยู่ที่มณฑลนครศรีธรรมราช ก็ได้นำความรู้และประสบการณ์ที่พบเห็นมา เข้ามาช่วยสามีดำเนินงานในส่วนพัฒนาสตรีชาวภาคใต้ โดยเฉพาะในเรื่องของการศึกษา ได้กล้าหาญที่จะเปิดสถานสอนหนังสือให้แก่สตรีที่ใต้ถุนจวนที่พัก โดยไม่คิดค่าสอนก่อน ได้ปลูกฝังการเรียนแก่ดรุณีไว้เป็นเบื้องต้น จนต่างเห็นคุณค่าของการเรียน จากนั้นก็ได้เป็นผู้ก่อให้เกิดโรงเรียนสตรีที่ยั่งยืนสืบมาจนปัจจุบันนี้ ด้วยทุนทรัพย์ของตนเอง คือ โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดสงขลาและโรงเรียนวิเชียรมาตุประจำจังหวัดตรัง

เจ้าพระยายมราชกลับเข้ามารับราชการในกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ ดำรงตำแหน่งเสนาบดี กระทรวงโยธาริการ กระทรวงนครบาล และกระทรวงมหาดไทย ในปลายรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖ ราชการในระยะหลังเป็นงานใหญ่และยุ่งยาก ซึ่งท่านผู้หญิงตลับก็ได้เป็นกำลังสำคัญอีกเช่นเคย

ท่านผู้หญิงตลับ สุขุม เป็นผู้มีจริยวัตรอันประณีตงดงาม อ่อนโยน และสุภาพ เคารพนบนอบผู้สูงกว่าตน ซื่อตรงจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เมตตาโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ญาติมิตร ผู้อยู่ใต้ปกครองให้ความสงเคราะห์และอนุเคราะห์ตามเหตุผลและควรแก่กำลังกายและกำลังทรัพย์ จึงได้รับพระเมตตาและประทานความสนิทสนมจากบรรดาเจ้านายทั่วไป และเป็นที่เคารพรักของชนทุกชั้น กล่าวกันว่า เมื่อใครสมาคมกับท่านแล้วย่อมที่จะอดสรรเสริญไม่ได้

ในส่วนของครอบครัว ท่านผู้หญิงตลับเป็นภรรยาที่ดีมาก มีอัธยาศัยหนักแน่นประกอบการงานสิ่งใดมักจะยึดถือความชอบธรรมเป็นหลัก ไม่เอนเอียงเพราะอำนาจอคติ ชีวิตการงานของสามีระยะนี้ ล้วนเป็นตำแหน่งหน้าที่ใหญ่ยากที่จะบริหารให้ลุล่วงไปด้วยความรอบคอบและปรีชาสามารถอย่างสูง ท่านผู้หญิงในฐานะภรรยาก็รู้จักประมาณตน ไม่ทำจิตใจให้ฟูเพราะลาภยศ สรรเสริญ และกอบโกย ผลประโยชน์ตามโอกาสดังเช่นภรรยาของผู้ใหญ่บางคน ท่านจะไว้ยศศักดิ์ป้องกันมิให้มีเรื่อง “หน้าบ้าน” “หลังบ้าน” ไม่ยอมให้พ่อค้าวานิชที่ต้องการอภิสิทธิ์ต่างๆ มาเสนอให้ภรรยาใช้อำนาจทางราชการของสามี เพื่อประโยชน์ของตนเองอย่างเด็ดขาด การที่สามีเป็นใหญ่และเจริญขึ้น ภารกิจภายในครอบครัวก็ยิ่งสูงตามตัว ท่านก็จัดว่าเป็นแม่บ้านแม่เรือนที่ดี ไม่ ทำให้มีสิ่งบกพร่องเกิดขึ้น เพื่อมิให้สามีห่วงใย ปล่อยกังวลทางบ้าน เพื่อจะได้ตั้งใจฉลองพระเดชพระคุณพระเจ้าแผ่นดินให้เต็มความสามารถ และด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ทั้งสามีและภรรยา บังเกิดความเจริญรุ่งเรือง

ในรัชกาลที่ ๖ ท่านผู้หญิงตลับ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง ให้ปฏิบัติหน้าที่นางสนองพระโอษฐ์ ซึ่งในสมัยนั้น เรียกว่า นางพระกำนัล  ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนั้นได้โปรดให้ช่วยงานเกี่ยวกับการศึกษาของสตรี เนื่องด้วยในปี พ.ศ. ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จ สวรรคต ข้าราชการและประชาชนพลเมืองหลายหมู่หลายเหล่า ต่างพากันเศร้าโศกคิดที่จะสร้างอนุสาวรีย์ หรือบำเพ็ญกุศลอย่างใดอย่างหนึ่ง ถวายสนองพระเดชพระคุณด้วยความจงรักภักดี ภรรยาข้าราชการ คณะหนึ่ง รวมทั้งท่านผู้หญิงตลับได้คิดจะสร้างโรงเรียนเด็กหญิงอนาถา ท่านผู้หญิงตลับได้ช่วยทุกสิ่งทุกอย่าง รวมทั้งช่วยเป็นหัวหน้าเรี่ยไรเงินแล้วนำความขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระพันปีหลวง พระองค์ทรงโสมนัสยินดี ทรงพระอุปถัมภ์จนโรงเรียนได้เปิดในปีรุ่งขึ้น คือวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ (ร.ศ. ๑๓๐) พระราชทานนามว่า “โรงเรียนเบ็ญจมราชูทิศ” ถนนบำรุงเมือง อยู่ที่โรงเลี้ยงเด็ก ตรงข้ามกับสวนมะลิ แล้วทรงตั้งท่านผู้หญิงตลับ เป็นผู้อำนวยการ ท่านผู้หญิงตลับได้ปกครองโรงเรียนเบ็ญจมราชูทิศนี้ มาด้วยความเอาใจใส่แก่เด็ก นอกจากวิชาหนังสือ ยังหาครูมาสอนให้ทอผ้าทำครัวและอื่นๆ ซึ่งเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ตามควรแก่ฐานะของเด็ก นับเวลาที่เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนนี้มาได้ ๒๐ ปีเศษ มีนักเรียนที่ได้ออกไปจากโรงเรียนหลายร้อยคน เมื่อออกไปแล้วก็อุตส่าห์คอยสอดส่องว่าจะไปเจริญรุ่งเรืองประการใด

ส่วนการสาธารณกุศลอย่างอื่นๆ ท่านผู้หญิงตลับได้กระทำอยู่เสมอตามกำลัง ได้มีส่วนในการสร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และสถานเสาวภา ได้รับเลือกเป็นกรรมการแห่งสภากาชาดสยามเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์

นอกจากนั้นท่านผู้หญิงตลับได้ทำนุบำรุงเกี่ยวกับการพระศาสนาเนืองนิจ ได้สร้างกุฏิวัดปทุมวนาราม และเป็นผู้ปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด ชีวิตความเป็นอยู่ทั้งในครอบครัวและราชการเจริญยิ่งๆ ทุกรัชกาล เป็นที่กล่าวขวัญว่า ครอบครัวของเจ้าพระยายมราชเป็นครอบครัวที่เป็นแบบอย่างที่ดีในการครองตน ควรยึดถือเอาเป็นแบบอย่าง ดังเช่นเมื่อเวลามีบุตรหลานข้าราชการและเชื้อพระวงศ์สมรสครั้งใด มักจะขอให้เจ้าพระยายมราชและท่านผู้หญิงตลับเป็นผู้ปูที่นอน เพื่อจะได้เป็นสวัสดิมงคลแก่ชีวิตครอบครัวหลายคู่

ท่านผู้หญิงตลับมีชีวิตร่วมกับเจ้าพระยายมราช ๔๒ ปีเศษ และถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ มีอายุได้ ๖๒ ปี นับว่าการดำรงชีวิตและผลงานของท่านจะเป็นตัวอย่างแก่สตรีสมัยปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: สายไหม จบกลศึก

ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์

ในช่วงที่สยามเริ่มพัฒนาเพื่อก้าวไปสู่ความเจริญอย่างอารยประเทศนั้น มีสตรีผู้เกิดในราชินิกุล ได้รับการศึกษาอบรมตามแบบกุลสตรียุคเก่าที่มุ่งหมายให้รอบรู้ในกิจการบ้านเรือนและขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ซึ่งส่งผลให้ท่านเป็น “แม่เรือน” ที่มีท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์คุณสมบัติยอดเยี่ยมท่านหนึ่งของยุคนั้น แต่ในขณะเดียวกัน ท่านก็เป็นสตรีที่มีความริเริ่ม มีความคิดอ่านที่ทันสมัย ทันเหตุการณ์ เป็นผู้หนึ่งที่ขยายบทบาทของสตรีให้กว้างขวางมากขึ้น จากสถาบันครอบครัวไปสู่สังคมภายนอก สตรีท่านนี้คือ ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ผู้เป็นแบบอย่างของสตรียุคเก่าและยุคพัฒนาที่รวมอยู่ในบุคคลเดียวกัน

ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ หรือท่านผู้หญิงภาสกรวงศ์ (เปลี่ยน บุนนาค) เดิมอยู่ในราชินิกุล “ชูโต” เป็นธิดาของนายสุดจินดา (พลอย) บุตรจมื่นศรีสรรักษ์ (ถัด) มารดาของท่านชื่อ “นิ่ม” เป็นธิดา ของพระยาสุรเสนา (น้องจมื่นศรีสรรักษ์ (ถัด)) กับคุณเปี่ยม ซึ่งเป็นธิดาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค เรียกกันโดยทั่วไปว่าสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่) ดังนั้นท่านผู้หญิงเปลี่ยนจึงมีศักดิ์เป็นหลานของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ด้วย

ในวัยเยาว์ ท่านผู้หญิงเปลี่ยนได้รับการศึกษาอบรมตามแบบกุลธิดาสมัยก่อน ซึ่งเกี่ยวกับการดูแลกิจการบ้านเรือน และโดยเหตุที่ท่านเป็นสตรีที่ฉลาด มีอุปนิสัยรักความประณีต อีกทั้งมีความคิดริเริ่มที่ดี ท่านจึงได้พากเพียรศึกษา ฝึกฝน และปรับปรุงการประกอบอาหารหวานคาว ฝีมือการปรุงอาหารของท่าน เป็นที่เลื่องลือทั่วไปว่าเป็นหนึ่งไม่มีสอง เป็นที่ชื่นชมทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ อีกทั้งท่านยังริเริ่มการ ประดิษฐ์อาหารและขนมให้ดูน่ารับประทาน เช่น การประดิษฐ์ “ลูกชุบ” ขึ้นถวายเจ้านาย ซึ่งยังเป็นที่นิยมจนถึงขณะนี้ นอกจากนี้ท่านยังได้รวบรวมและเรียบเรียงตำราอาหารหวานคาวทั้งของไทยและของต่างชาติขึ้นไว้ คือตำรา แม่ครัวหัวป่าก์ ซึ่งนับว่าเป็นตำรากับข้าวเล่มแรกที่พิมพ์ขึ้นในประเทศไทยโดยมี เจ้าจอมพิศว์ ธิดาของท่านเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ตำราอาหารเล่มนี้ยังใช้เป็นแบบอย่างอยู่จนทุกวันนี้ นอกจากเรื่องอาหารแล้ว ท่านผู้หญิงยังมีฝีมือในการแกะสลักผักและผลไม้ รวมทั้งการประดิษฐ์ดอกไม้แห้ง ดอกไม้สด และดอกไม้ขึ้ผึ้งอบหอม ส่วนฝีมือในการเย็บปักถักร้อยของท่านก็เป็นเยี่ยมเช่นกัน งานปักชิ้นหนึ่งที่มีชื่อเสียงเลื่องลือไปถึงต่างประเทศ คือ งานปักรูปเสือ ซึ่งได้รับพระราชทานรางวัลจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และงานชิ้นสำคัญนี้ ได้ร่วมประกวดที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ปรากฏว่างานปักของท่านผู้หญิงเปลี่ยนได้รับรางวัลชนะเลิศของโลก ได้รับเงินรางวัลเป็นมูลค่าหลายพันเหรียญสหรัฐ รางวัลนี้นำเกียรติยศชื่อเสียงมาสู่ตัวท่านและวงศ์ตระกูล แต่ที่สำคัญคือเป็นเกียรติคุณอย่างยิ่งของประเทศชาติ

ท่านผู้หญิงเปลี่ยนสมรสกับเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร หรือชุมพร บุนนาค) บุตรคนสุดท้องของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ กับหม่อมอิน ตามหลักฐานที่ปรากฏทั้งสองมีบุตรธิดารวม ๒ คน คือ นายราชาณัตยานุหาร (พาสน์) และเจ้าจอมพิศว์ ในรัชกาลที่ ๕

เจ้าพระยาภาสกรวงศ์นั้น นับว่าเป็นบุคคลสำคัญของชาติไทยท่านหนึ่งที่ได้ปฏิบัติราชการด้วยความวิริยะอุตสาหะจนเกิดคุณประโยชน์มากมายแก่บ้านเมืองสืบเนื่องมาจนทุกวันนี้ อาจกล่าวได้ว่าความสำเร็จในชีวิตการงานของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ส่วนหนึ่งมาจากผู้สนับสนุนที่อยู่เบื้องหลังคือ ภริยา กล่าวคือ ท่านผู้หญิงเปลี่ยน เป็นภริยาที่มีความสามารถในการบริหารบ้านเรือน สามารถปกครองดูแลบุตรบริวาร ให้ดำรงอยู่ด้วยความสุข สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวยกย่องท่านไว้ในหนังสือ “คนดีที่ข้าพเจ้ารู้จัก” ดังนี้

“…การที่เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ได้ท่านผู้หญิงเปลี่ยนเป็นภรรยาควรนับว่าเป็นโชคสำคัญในประวัติท่าน เพราะท่านผู้หญิงเปลี่ยนเป็นนารีที่เฉลียวฉลาดและสามารถในกิจการจะหาผู้ที่เสมอเหมือน ได้โดยยาก ตรงกันกับลักษณะภริยาที่ยกย่องในพระบาลีว่า เปรียบด้วยมารดาและสหายของสามีรวมกันทั้ง ๒ สถาน ท่านผู้หญิงเปลี่ยนสามารถรับดูแลการงานบ้านเรือน ตลอดไปจนพิทักษ์รักษาโภคทรัพย์ ทั้งปวงมิให้เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ต้องอนาทรร้อนใจ และเอาเป็นธุระในการต้อนรับเลี้ยงดูผู้ที่ไปมายังบ้านเรือนสามี บางทีถึงอาจช่วยเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ตลอดไปจนในกิจราชการ ไม่มีใครที่จะประมาณได้ว่า เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ได้รับประโยชน์และความสุขเพราะได้ท่านผู้หญิงเปลี่ยนเป็นภรรยานั้นสักเท่าใด แต่ข้อนี้ก็มีทั้งฝ่ายที่น่าสงสาร โดยความที่เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ได้เคยอาศัยท่านผู้หญิงเปลี่ยน สิ้นกังวลในการกินอยู่มาเสียช้านาน เมื่อท่านผู้หญิงเปลี่ยนถึงอนิจกรรม ท่านได้ความเดือดร้อนแสนสาหัส ก็ไม่อาจจะแก้ไขให้บรรเทาได้โดยลำพังตน จนเจ้าจอมพิศว์ธิดาออกไปอยู่ปรนนิบัติแทนมารดาต่อมา ท่านจึงค่อยได้ความสุขใจในตอนเมื่อแก่ชรา มาจนถึงอสัญกรรม…”

จึงเห็นได้ว่าท่านผู้หญิงเปลี่ยนเป็นสตรีที่ทำหน้าที่แม่บ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในระหว่างที่ “บ้าน” ขาดผู้นำครอบครัวเป็นครั้งคราว เนื่องจากเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ต้องเดินทางไปปฏิบัติราชการต่างพระเนตรพระกรรณในต่างประเทศ ในระหว่างนั้นท่านผู้หญิงเปลี่ยนได้ปฏิบัติหน้าที่ปกครองดูแลบ้านเรือน บุตร บริวารให้อยู่ด้วยความสงบเรียบร้อย ซึ่งการเป็น “แม่บ้าน” ของท่าน นั้นมิได้มีความหมายเพียงเรื่องการดูแลบ้านเรือน ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นเรื่องเฉพาะครอบครัว หากยังมีความหมายสำคัญยิ่งไปกว่านั้น เพราะแม่บ้านมีหน้าที่ดังที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปพงศ์ประพันธ์ หรือท่านวรรณ ทรงนิพนธ์ไว้ในเรื่อง “การศึกษาของสตรี” ในหนังสือ “ชุมนุมพระนิพนธ์ของท่านวรรณฯ ว่าสตรีนั้น “….เป็นตัวจักรอันสำคัญยิ่งในการจรรโลงความเจริญและความก้าวหน้าของชาติ …” เพราะเหตุว่า “ครอบครัวเป็นหน่วยสาระสำคัญของสังคม คือ ชาติ ครอบครัวแน่นแฟ้น ชาติก็แน่นแฟ้น ครอบครัวเสื่อม ชาติก็เสื่อม ครอบครัวเจริญ ชาติก็เจริญ…” ดังนั้น นอกจากหน้าที่พื้นฐานโดยทั่วไปของสตรีคือ ความเป็นภริยาและมารดาที่ดีแล้ว สตรียังมีหน้าที่ที่พึงมีต่อเพื่อนมนุษย์โดยส่วนรวม ในฐานะที่ผู้หญิงก็เป็นหน่วยหนึ่งของสังคมด้วยเช่นกัน

ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ เป็นสตรีที่มีสำนึกในหน้าที่ กล่าวคือ นอกจากการบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อครอบครัวของท่านจนเป็นที่ยกย่องชื่นชมแล้ว ท่านยังมีผลงานที่ได้ปฏิบัติด้วยความตั้งใจมั่น และด้วยความเสียสละประโยชน์สุขส่วนตน เพื่อประโยชน์สุขของสังคมส่วนรวมอันนับว่าเป็นกิจกรรมที่สำคัญที่สุดในชีวิตของท่านอีกด้วย กล่าวคือในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ (ร.ศ. ๑๑๒) เกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับ ฝรั่งเศส เรื่องพรมแดนที่ฝั่งแม่นํ้าโขง ผลของการกระทบกระทั่งกลายเป็นการสู้รบ เนื่องจากฝ่ายฝรั่งเศสส่งกองทัพเรือมาปิดอ่าว ในการสู้รบครั้งนั้นปรากฏว่ามีราษฎร และทหารทั้งสองฝ่ายได้รับบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนไม่น้อย ท่านผู้หญิงเปลี่ยนได้เล็งเห็นความทุกข์ยากของทหารและราษฎรเหล่านั้น จึงได้ดำริว่า น่าจะมีองค์กรสักองค์กรหนึ่ง เพื่อช่วยบรรเทาทุกข์ ดังนั้นท่านจึงได้ชักชวนบรรดาสตรีชั้นสูงทั้งหลาย ให้มาร่วมมือกัน โดยท่านได้นำความกราบทูลสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาพระบรมราชเทวี (สมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) ขอให้ทรงรับเป็น “ชนนีผู้บำรุง” ขององค์การนี้
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบก็ทรงพอพระราชหฤทัยยิ่งนัก มีพระราชดำริว่า องค์กรนี้เป็นองค์กรการกุศล เหมือนอย่างประเทศตะวันตกที่เคยมีมาแล้ว จึงทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมีพระบรมราชานุญาต ให้กลุ่มสตรีอาสาสมัครนี้ทำการเรี่ยไรได้เงินทั้งสิ้น ๔๔๔,๗๒๘ บาท ซึ่งนับว่าเป็นมูลค่าอันมหาศาลสำหรับสมัยนั้น เงินที่ได้ทั้งหมดนี้ใช้ไปในการซื้อยาเพื่อรักษาผู้บาดเจ็บจากการสู้รบ โดยส่วนหนึ่งใช้ในการเดินทางไปเยี่ยมเยียนและช่วยเหลือครอบครัวทหารและพลเรือนที่ออกปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้ด้วย

การปฏิบัติภารกิจของกลุ่มสตรีอาสาสมัครที่มีท่านผู้หญิงเปลี่ยนเป็นผู้นำเป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชานุญาตให้ตั้งสมาคมการกุศลในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ โดยพระองค์ทรงพระกรุณาลงพระนามาภิไธยจัดตั้ง “สภาอุณาโลมแดงแห่งสยาม” อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีทรงเป็น “สภาชนนี” พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี (สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) ทรงดำรงตำแหน่ง “สภานายิกา” พระองค์แรก และท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ มีตำแหน่งเป็นเลขานุการิณี งานสำคัญของสภาอุณาโลมแดงแห่งสยามนี้คือ การจัดส่งยา อาหาร เสื้อผ้า และเครื่องใช้ต่างๆ ไปช่วยบำรุงทหารในสนามรบ ซึ่งสภาฯ ได้ดำเนินการเป็นผลดีจนกระทั่งการสู้รบได้ยุติลง นับว่าเป็นการทำประโยชน์อันยิ่งใหญ่ในการช่วยบำบัดทุกข์ให้แก่ทหารและพลเรือน เป็นการร่วมมือทั้งกำลังกาย กำลังใจและกำลังทรัพย์ในยามที่บ้านเมืองเกิดวิกฤตการณ์อย่างดียิ่ง สภาอุณาโลมแดงแห่งสยามนี้ ต่อมาคือ “สภากาชาดสยาม” และเปลี่ยนชื่อเป็น “สภากาชาดไทย” ได้เข้าเป็นสมาชิกสภากาชาดสากลเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๓

ในปี พ.ศ. ๒๔๓๙ ได้มีการเปิดโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์ขึ้นในบริเวณโรงศิริราชพยาบาล (ปัจจุบันคือ โรงพยาบาลศิริราช) สำหรับเป็นสถานศึกษาวิชาพยาบาลและผดุงครรภ์ของสตรี ซึ่งเป็นพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ที่ทรงเห็นว่าการพยาบาลและการผดุงครรภ์ในขณะนั้น ยังไม่เจริญและยังคงตั้งพระทัยที่จะให้สตรีไทยได้รับการศึกษากว้างขวางขึ้นกว่าแต่ก่อน จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งเสนาบดี กระทรวงธรรมการเป็นผู้วางหลักสูตรการอบรมพยาบาลและการผดุงครรภ์ขึ้น เพื่อช่วยในการดูแลผู้ป่วย และการทำคลอด ในขณะเดียวกันก็โปรดเกล้าฯ ให้ภริยาเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ คือท่านผู้หญิงเปลี่ยน เป็นผู้อำนวยการ มีนายแพทย์เอช อาดัมสัน เป็นครูผู้สอน (ท่านผู้นี้ภายหลังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระบำบัดสรรพโรค) ท่านผู้หญิงได้จัดการบริหาร จัดหากุลสตรีเข้ารับการอบรมโดยปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบสนองตามพระราชประสงค์ทุกประการ โรงเรียนนี้ได้รับพระราชทานนามว่า “โรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาล”

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ ขณะทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน โปรดเกล้าฯ ให้ขยายสถาบันการแพทย์และพยาบาลผดุงครรภ์ที่ศิริราชพยาบาล (ต่อมาคือ โรงเรียนราชแพทยาลัย) ปรากฏว่ามีนักเรียนแพทย์และผดุงครรภ์ที่สอบได้ตามหลักสูตรและได้รับพระราชทานประกาศนียบัตรเป็นรุ่นแรก ๑๐ คน เป็นนักเรียนที่เข้าศึกษาในสมัยที่ท่านผู้หญิงเปลี่ยนเป็นผู้อำนวยการทั้งสิ้น ซึ่งท่านผู้หญิงได้ใช้ความวิริยะ อุตสาหะ และไหวพริบในการจัดการและบริหารโรงเรียนฯ ให้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งเป็นคุณประโยชน์สำหรับการศึกษาของสตรีไทยและสำหรับประชาชนทั่วไป

ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ นับได้ว่าเป็นแบบอย่างที่ดียิ่งของสตรีไทยที่มีความเพียบพร้อมในทุกๆ ด้าน การวางตนและการปฏิบัติตนของท่านนั้นเป็นที่ภาคภูมิใจของสามี บุตร ธิดา มิตรสหาย และบริวาร รวมทั้งสตรีไทยโดยทั่วไปด้วย ท่านเป็นผู้ที่ทำงานมาตลอดช่วงชีวิตของท่าน และงานที่ทำก็ล้วนแต่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่นทั้งสิ้น นับได้ว่าท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ เป็นสตรีที่มีความสามารถสูง ในการจัดกิจการต่างๆ ทั้ง “ในบ้านและนอกบ้าน”

นารีนี้เปรียบด้วย บาทหลัง คชนา
บุรุษประดุจดัง บาทหน้า
บาทหลังไป่เก้กัง ก้าวเรียบ ตามเฮย
คชก็แล่นไป่ล้า ลุด้าวแดนประสงค์

ยิ่งอนงค์ทรงไว้ซึ่ง ความดี ด้วยเฮย
สามารถปราชญ์เปรื่องมี จิตรมั่น
นอกจากกิจจรลี เปรียบคช คระไลเฮย
ยิ่งช่วยบาทหน้ากั้น ผิดก้าวไปตรง

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: ศาสตราจารย์ พระวรเวทย์พิสิฐ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี

เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินินาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ประสูติเมื่อวันเสาร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๙ ค่ำ ปีจอ อัฐศก จ.ศ. ๑๒๔๘ ตรงกับวันที่ ๔ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารีธันวาคม พ.ศ. ๒๔๒๙ ซึ่งสายราชสกุลทางพระชนนี เป็นพระเจ้าหลานเธอในรัชกาลที่ ๓ พระธิดากรมหมื่นภูมินทรภักดี พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้นราชสกุล “ลดาวัลย์”

เมื่อยังทรงพระเยาว์ทรงมีแววฉลาดเฉลียวหลักแหลม สมเด็จพระชนกนาถ โปรดให้อยู่ใกล้ชิดพระองค์ ทรงเรียกว่า “ลูกหญิงน้อย” ทรงอบรมสั่งสอนวิชาความรู้ภาษาไทยและภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เอง เป็นที่ถูกพระราชหฤทัยที่สามารถเล่าเรียนเข้าใจ และรอบรู้ได้รวดเร็วแตกฉาน ยิ่งเมื่อเจริญวัย สมเด็จพระชนกนาถ ก็ยิ่งทรงเอาพระทัยใส่มากขึ้น ทรงสั่งสอนทั้งงานของบ้านเมืองและวิชาหนังสือ โปรดให้ทรง พระอักษรและให้ทำหน้าที่ราชเลขาธิการฝ่ายใน ดังประกาศพระเกียรติคุณของพระองค์ในหนังสือเฉลิมพระยศเจ้านาย ว่า

“…พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระเมตตากรุณามาก ด้วยพระปัญญาอุตสาหะศึกษาวิชาการตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ สมเด็จพระพุทธเจ้า หลวง ทรงสังเกตเห็นอุปนิสัยว่า ทรงพระสติปัญญาสูงมาก จึงเอาเป็นพระราชธุระทรงฝึกสอนพระราชทานเอง ต่อมาเมื่อทรงพระเจริญวัยขึ้นรอบรู้กิจและวิชาการ สามารถรับราชการตำแหน่งราชเลขาธิการฝ่ายใน ได้สนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรมชนกนาถ อยู่ใกล้ชิดติดพระองค์มาจนเสด็จสวรรคต สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระเสน่หา ไว้วางพระราชหฤทัยในสมเด็จฯ เจ้าฟ้านิภานภดลฯ เป็นยิ่งนัก…”

พระราชภาระในสมเด็จพระชนกนาถเช่นนี้ทำให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้านิภานภดลฯ ทรงพัฒนาขวนขวายพระองค์ให้มีความรู้อยู่เสมอ ไม่ว่าพระราชกิจใหญ่น้อยประการใด ก็สามารถปฏิบัติได้ลุล่วง โดยเฉพาะภาษาอังกฤษทรงศึกษาเพิ่มเติมและหมั่นฝึกฝนด้วยพระองค์เอง ทรงอ่านได้อย่างคล่องแคล่ว สมัยที่มีภาพยนตร์เงียบไม่มีคำสนทนาออกเป็นเสียง แต่จะเขียนคำบรรยายเป็นตัวหนังสือไว้ใต้ภาพเป็นตอนๆ ส่งเข้ามาเผยแพร่ในเมืองไทย พระองค์ทรงเป็นผู้พากย์ถวายพระราชวงศ์ที่ร่วมทอดพระเนตรอยู่ด้วย เป็นที่สนุกสนานและชื่นชมในพระปรีชาสามารถยิ่งนัก

เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ มีพระราชประสงค์จะให้ตามเสด็จด้วย หากแต่มีความขัดข้องจึงระงับไว้ และได้ปรากฏว่า ขณะที่เสด็จพระราชดำเนินไปถึงแห่งใด จะมีพระราชหัตถเลขาถึงพระราชธิดา เล่าเรื่องพระราชกิจนานาตลอดทั้งความเป็นไปในการเสด็จพระราชดำเนินส่งมาถึงสมเด็จฯ เจ้าฟ้านิภานภดลฯ ทุกเที่ยวเมล์ เป็นหนังสือถึง ๔๓ ฉบับ มีความยาวถึง ๑,๘๕๐ หน้า ความนั้นถ้าได้กล่าวถึงผู้ใด สมเด็จฯ เจ้าฟ้านิภานภดลฯ จะคัดลอกส่งไปถวายให้ผู้นั้นทอดพระเนตรทั้งสิ้น และต่างกราบบังคมทูลว่า เรื่องราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชหัตถเลขามานั้น มีประโยชน์มาก น่าจะได้รวมพิมพ์เป็นเล่มหนังสือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้ดำเนินงาน เรียกหนังสือเล่มนี้ว่า ไกลบ้าน ด้วยพระอุตสาหวิริยะและความเอาพระทัยใส่ของราชเลขานุการในพระองค์นี้เอง วงการหนังสือไทยจึงได้มีหนังสือจดหมายเหตุลักษณะนำเที่ยวขึ้นเป็นหลักฐานอีกเล่มหนึ่ง

ในรัชกาลที่ ๕ งานที่พระวิมาดาเธอกรมพระสุทธาสินีนาฏฯ พระชนนีสมเด็จฯ เจ้าฟ้านิภานภดลฯ ทรงปฏิบัติประจำ คือ งานห้องเครื่องเสวยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และการจัดดอกไม้เครื่องสดถวายพระศพ พระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ทุกพระองค์ตลอดเวลา บำเพ็ญกุศล ๗ วัน ซึ่งจะต้องเปลี่ยนดอกไม้ทุกวันจนครบ ๗ วัน โดยมิทรงรับค่าตอบแทน ไม่ว่าจะเป็นเงินทองหรือสิ่งใด การจัดดอกไม้ต้อง ออกแบบคิดลวดลายตกแต่งทั้งเครื่องเย็บเครื่องร้อย เครื่องตั้งเครื่องแขวน ประดับพระโกศเครื่องประกอบอิสริยศักดิ์และสถานที่ เช่น บานประตู หน้าต่าง โดยรอบที่ตั้งพระศพ ปรากฏว่าการจัดดอกไม้สดเป็นงานภายใต้ความอำนวยการของสมเด็จฯ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี ทรงเป็นแม่งานแทนพระชนนีโดยตลอด เป็นที่ยกย่องว่ามีพระอัจฉริยะในการคิดแบบออกลาย และมีฝีพระหัตถ์ที่ยอดเยี่ยมวิจิตรประณีตสวยงามเหลือประมาณ ทั้งการเขียนลายและการประดิษฐ์ ซึ่งการตกแต่งแต่ละครั้งไม่เคยปรากฏว่ามีลวดลายที่ซํ้ากันเลย ถ้าผู้ที่เคยเห็นงานฉลองพระนครครบ ๑๕๐ ปี และได้ชมการตกแต่งสะพานพระพุทธยอดฟ้า หรือได้เห็นมาลัยสดพระบรมรูปทรงม้าทุกๆ ปี สมัยเมื่อครั้งที่ยังมีพระชนมชีพอยู่แล้ว ก็จะบรรยายได้ดีว่า ฝีพระหัตถ์ของพระองค์นั้นยากที่จะมีผู้ใดทัดเทียมได้

พระจริยวัตรของสมเด็จฯ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี คือ โปรดทรงบำเพ็ญพระกุศล เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว ในรัชกาลที่ ๖ ได้ประทับ ณ ตำหนักในวังสวนสุนันทา ปัจจุบันคือวิทยาลัยครูสวนสุนันทา เมื่อทรงหมดพระภาระหน้าที่ราชการ ก็ทรงหันมาสนพระทัยที่จะบำเพ็ญพระองค์ให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นและบ้านเมือง

ด้านการศึกษา
ทรงสร้าง “โรงเรียนนิภา” ในบริเวณตำหนักวังสวนสุนันทาเพื่อชุบเลี้ยงเด็กและข้าหลวงให้มีการศึกษาอย่างดี ทรงให้ครูไทยจากโรงเรียนวัฒนาซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในเวลานั้นมาสอนทั้งภาษาไทยและอังกฤษ หาครูแหม่มมาสอนพิเศษ ได้เปิดสอนตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ นักเรียนที่เรียนชั้นมัธยม ๖ ทรงคัดเลือกผู้ที่เรียนเก่งไปสมทบสอบที่โรงเรียนสายปัญญา เมื่อนักเรียนผู้ใดสอบสำเร็จได้คะแนนดี ก็จะทรงทำเข็มกลัดทองคำลงยาประทานเป็นรางวัล ผู้ที่ทรงอุปการะชุบเลี้ยง ปรากฏว่าได้สำเร็จการศึกษาระดับสูง โดยเฉพาะได้รับปริญญาเป็นจำนวนมากมายทีเดียว

ด้านการพระศาสนา
ทรงสร้างตึกนิภาให้เป็นสถานศึกษาพระธรรมวินัย ในวัดเทพศิรินทราวาส ตัวอาคารยังปรากฏอยู่จนปัจจุบันนี้ ทรงมีศรัทธาที่จะเกื้อหนุนกุลบุตรให้บวชในพระบวรพุทธศาสนาเป็นประจำทุกปี ปีหนึ่งๆ จำนวนหลายรูป พระจริยวัตรที่ทรงยึดมั่นอย่างสม่ำเสมอเช่นนี้ ได้เป็นแบบอย่างและปลูกฝังข้าหลวงผู้ใกล้ชิดทั้งปวง พลอยเจริญรอยตามเป็นนิสัย เรียกว่าแผ่ความใจบุญไปสู่ข้าหลวง ดังเช่น ข้าหลวงของพระองค์ท่านผู้หนึ่ง มีศรัทธาจัดการบวชให้สามเณรรูปหนึ่งเป็นพระภิกษุ ซึ่งต่อมาได้เจริญรุ่งเรืองมีสมณศักดิ์สูงถึงขั้นสมเด็จพระอริยวงศาศตญาณ ข้าหลวงผู้นั้นได้ชื่นชมว่า เป็นเพราะพระบารมีใน “สมเด็จหญิงน้อย” ที่ทรงเมตตาอบรมไว้

ในการทรงปฏิบัติธรรม พระองค์ทรงเลื่อมใสและศึกษาธรรมอย่างใกล้ชิดกับสมเด็จพระสังฆราซเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ แห่งวัดราชบพิธ และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ แห่งวัดเทพศิรินทราวาส

พระจริยวัตรของสมเด็จฯ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี นั้น เป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับผู้ใฝ่หาความรู้ความชำนาญและความเจริญ ด้วยทรงมีความสามารถเฉลียวฉลาด ทั้งวิชาการทางหนังสือและวิชาทางการเรือน การช่าง การเกษตร การฝีมือ เย็บปักถักร้อย ทำขนม ปลูกต้นไม้ จัดสวนให้มีศิลปะงดงาม มีความคิดทันสมัยก้าวหน้าตามความเจริญของวัฒนธรรมสมัยใหม่ โปรดการกีฬากอล์ฟ เทนนิส และทรงจักรยาน นอกจากนั้นโปรดการถ่ายภาพ ทรงมีความสามารถในการเล่นกล้องได้อย่างดี

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นช่วงที่บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย พระราชวงศ์และพระประยูรญาติกระทบกระเทือนด้วยวิถีทางการเมืองได้ย้ายไป พำนักยังต่างประเทศหลายพระองค์ เป็นสาเหตุให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารีต้องพลัดพรากจากพระญาติสนิทที่มีความคุ้นเคยกัน ประจวบกับพระชนนีและพระเชษฐาต่างก็สิ้นพระชนม์ หมดแล้ว จึงเสด็จตามพระเชษฐาต่างพระชนนี คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์ วรพินิต ไปประทับอยู่ที่ประเทศชวา โปรดให้ปลูกตำหนักอยู่ใกล้กับพระประยูรญาติ ได้รับความอบอุ่นอยู่ในระยะเวลาประมาณ ๒ ปีเศษ จากนั้นพระโรควักกะพิการซึ่งเป็นโรคที่เป็นสาเหตุให้สมเด็จพระชนกนาถ และพระเชษฐาหลายพระองค์ต้องจากไป เริ่มคุกคามพระพลานามัยทรงต้องทุกข์ทรมานด้วยความ เจ็บปวด อาการประชวรมิได้ลดละแม้จะได้เยียวยาอย่างใกล้ชิด ในที่สุดก็สิ้นพระชนม์ที่เมืองบันดง ประเทศชวาหรืออินโดนีเซียในปัจจุบัน เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๘ พระชันษาได้เพียง ๔๙ ปี จากนั้นก็ได้เชิญพระศพกลับสู่ประเทศไทย

พระประวัติของพระองค์ แม้จะไม่แพร่หลายเพราะเนื่องด้วยทรงเป็นเจ้านายฝ่ายใน ทั้งๆ ที่ทรงพระปรีชาสามารถอย่างลํ้าลึก แต่ผลงานที่ทรงประกอบไว้ยังอยู่ในความทรงจำของผู้ใกล้ชิดทั้งปวง ความดีงามย่อมเชิดชูพระเกียรติคุณของพระองค์ให้เจิดจ้าเพื่อเป็นแบบแผนที่ดีงามแก่บุคคลรุ่นหลังต่อไป

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: สายไหม จบกลศึก

สมเด็จพระราชปิตุจฉาเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร

เป็นพระราชธิดา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เมื่อวันพุธที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๒๗ มีพระนามเดิมว่าเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ สมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ นรินทรเทพยกุมารี มีพระเชษฐภคินีร่วมพระมารดา ๘ พระองค์ คือ

๑. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร
๒. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์
๓. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา
๔. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์
๕. สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร
๖. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริภรณ์โสภณ
๗. สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
๘. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าหญิง (พระชนมายุ ๔ วัน)

สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ทรงเป็นผู้นำสตรีไทย เข้าสู่ยุคใหม่ในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการศึกษาให้แก่สตรีไทย การส่งเสริมให้สตรีไทยมี บทบาทในการพัฒนาสังคม ส่วนพระองค์เองทรงเป็นผู้รอบรู้เชี่ยวชาญการศึกษาทั้งภายในและต่างประเทศเป็นอย่างดี ทรงเป็นผู้นำที่ทันสมัยทั้งในด้านการแต่งกาย การเข้าสมาคมในระดับสากล

เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ด้วยเหตุที่พระเชษฐภคินีสิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์หลายพระองศ์ ประกอบกับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ซึ่งเป็นสมเด็จพระราชมาตุจฉา ก็ทรงสูญเสียพระราชธิดาในเวลาไล่เลี่ยกัน ๒ พระองค์ เป็นเหตุให้ทรงโทมนัสมาก เนื่องจากมีพระประสงค์อย่างแรงกล้าที่จะมีพระราชธิดา สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีจึงประทานสมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ฯ ให้เป็นพระราชธิดา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๑ และทรงอยู่ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ มาตลอด ทรงขานพระนามว่า “สมเด็จแม่” ในขณะที่ทรงเรียกสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีว่า “สมเด็จป้า” แทน

ในด้านการศึกษา ทรงได้รับการศึกษาตามแบบแผนประเพณีในพระราชสำนัก กล่าวคือทรงศึกษา กับพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) และครูสตรีท่านอื่นๆ ในวิชาการแขนงต่างๆ

เมื่อมีพระชนมายุย่าง ๑๒ พรรษา ทรงเข้าพิธีโสกันต์ เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๙ มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ นรินทรเทพยกุมารี ทรงสนพระทัยในด้านการศึกษาเป็นอย่างมาก ทรงศึกษาแตกฉานทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ สามารถตรัสภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสได้อย่างคล่องแคล่ว ทรงมีความรู้รอบตัวกว้างขวางทัน เหตุการณ์โลก นอกจากนี้ยังโปรดให้ผู้อื่นได้รับการศึกษาอย่างดีด้วย โดยเฉพาะข้าหลวงในพระองค์ ทรงส่งเสริมจนบางคนสำเร็จการศึกษาชั้นสูงจากต่างประเทศ ส่วนเยาวชนก็ทรงส่งเสริมให้ได้รับการศึกษา อย่างดีด้วยการทะนุบำรุงทั้งด้านวิชาการและสนับสนุนปัจจัยเสริม ทรงตระหนักว่าสตรีในยุคต่อไปจะต้องพึ่งพาตนเองและเป็นกำลังสำคัญเท่าเทียมกับบุรุษ ในการพัฒนาประเทศชาติ จึงได้เป็นกำลังสำคัญสนองพระราชกรณียกิจ ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในการดำเนินการโรงเรียนราชินี เมื่อโรงเรียนราชินีมีสถานที่คับแคบลง ได้ทรงสร้างโรงเรียนราชินีบนขึ้นใหม่ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ โดยทรงสนับสนุนและทะนุบำรุงทุกวิถีทาง ประทานเงินอุดหนุนโรงเรียนทุกปี นอกจากนี้ ยังได้ทรงอุปถัมภ์โรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ เพื่อจะได้ผลิตบุคลากรครูเป็นกำลังสำคัญต่อการศึกษาของชาติ

ในต่างจังหวัด ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์โรงเรียนเบญจมเทพอุทิศ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งก่อตั้งด้วยเงินบริจาคของราษฎร ได้ประทานทรัพย์ให้สร้างอาคารเรียนใหม่ รวมทั้งจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในโรงเรียน ทรงทะนุบำรุงโรงเรียนสหายหญิง จังหวัดสระบุรี โรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี จังหวัดพิษณุโลก

ทางด้านวิชาการ ทรงเป็นผู้นำแบบอย่างการเรียนการสอนที่ทันสมัยตามที่ทรงมีประสบการณ์ เมื่อครั้งเสด็จประพาสต่างประเทศ นำมาดัดแปลงใช้ในประเทศ กำหนดให้มีวิชาวิทยาศาสตร์ พลศึกษา ใน หลักสูตรการเรียนการสอน ด้วยทรงมีพระดำริว่า สุขภาพพลานามัยเป็นสิ่งสำคัญเบื้องต้นของมนุษย์ทุกคน ดังนั้น โรงเรียนในพระอุปถัมภ์จึงมีอาคารสำหรับเล่นกีฬาของสตรีโดยเฉพาะ ทรงออกแบบเครื่องแต่งกายชุดพลศึกษาของนักเรียนหญิงด้วยพระองค์เอง ส่วนวิชาวิทยาศาสตร์เป็นวิชาที่ตั้งอยู่บนรากฐานแห่งความเป็นจริง และเป็นเครื่องแสดงออกถึงสติปัญญาความสามารถของมนุษย์ จึงกำหนดให้โรงเรียนสตรีสร้างห้องทดลองวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย ให้นักเรียนสตรีมีโอกาสศึกษาค้นคว้าทดลองด้วยตนเอง

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ นรินทรเทพยกุมารี ทรงเป็นที่กล่าวขวัญในวงสังคมว่า เป็นสตรีที่นำสมัยที่สุด เริ่มตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ โปรดให้แต่งฉลอง พระองค์แบบฝรั่ง คือ สวมกระโปรง ไว้พระเกศายาว สวมพระมาลา จนได้รับสมญาจากชาววังในสมัยนั้นว่า ทูลกระหม่อมฟ้าหญิงแหม่ม เคยทรงประกวดแต่งกายแฟนซีได้ที่ ๑ ในงานวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระยศสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๖ ซึ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงจัดให้และทรงบันทึกไว้ในจดหมายเหตุรายวันว่า “วันเกิดโตเรามีปาตี้เลี้ยงข้าวกลางวันให้เจ้านายที่มาแต่งตัวแฟนซีด้วย อยู่ข้างสนุก มีรางวัลแต่งตัว ผู้ตัดสิน ๕ คน คือ อากรมดำรง อากรมขุนนริศ อาสมมต อาไชยันต พระยาเทเวคร น้องหญิงได้ที่ ๑ แต่งตัวเปนลาว”

เมื่อทรงเจริญพระชันษาขึ้น ก็นับได้ว่าทรงเป็นผู้นำด้านการแต่งกายของสตรีในราชสำนัก ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชนิยมให้สตรีในราชสำนักฝ่ายในนุ่งซิ่น ก็ทรงดัดแปลงผ้าซิ่นธรรมดาให้เป็นผ้าถุงสำเร็จ โดยทรงออกแบบตัดเย็บให้เข้ากับรูปร่าง เป็นแบบที่เก๋ทันสมัยมากในยุคนั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงเล่าไว้ใน “เกิดวังปารุสก์” ว่า

“เมื่อข้าพเจ้ายังเด็กๆ อยู่ จำได้ว่าทูลหม่อมอาหญิงนั้นท่านทั้งงามทั้งเก๋ ข้าพเจ้าชอบไปเฝ้าท่านบ่อยๆ ท่านทรงมีห้องประทับอยู่ทางอีกด้านหนึ่งของตำหนักพญาไท ท่านมีหนังสืออังกฤษประกอบรูปเป็นอันมาก ซึ่งข้าพเจ้าชอบดู และเพราะข้าพเจ้าอ่านภาษาอังกฤษไม่ออก ท่านก็ทรงแปลและอธิบายถึงรูปต่างๆ ให้ข้าพเจ้าฟังเสมอ”

แม้แต่ข้าหลวงในตำหนักของพระองค์ ก็เป็นที่กล่าวขานกันว่า ไม่มีข้าหลวงตำหนักใดจะสวยเก๋ นำสมัยเท่าข้าหลวงของ สมเด็จฯเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ฯ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้วางพระราชหฤทัยให้เข้าร่วมในงานพระราชทานเลี้ยงพระราชอาคันตุกะประเทศต่างๆ อยู่เนืองๆ ทรงทำหน้าที่กระชับสัมพันธภาพระหว่างประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น แม้จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นที่ปรึกษาเรื่องแบบฉลองพระองค์หม่อมเจ้ารำไพพรรณี ในพระราชพิธีสถาปนาเป็นสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ มีพระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาเป็นกรมหลวง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ ตามความตอนหนึ่งว่า

“อนึ่ง ทรงพระราชดำริว่าสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ นรินทรเทพยกุมารี เป็นพระขนิษฐภคินี อันมีความทรงคุ้นเคยยิ่งกว่าพระภคินีพระองค์อื่น ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์มา ประหนึ่งว่าเป็นพระราชโสทรภคินีพระองค์ ๑ ได้ทรงสังเกต เห็นพระอัธยาศัยตลอดมา จึงทรงทราบชัดว่า สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอฯ กอปไปด้วยพระปรีชาสามารถในทางศึกษา ทรงรอบรู้ในศิลบ่วิทยาต่างๆ อันสมควรแก่ขัตติยราชกุมารี ทั้งทรงมีความไหวพริบและสามารถในกิจการต่างๆ ตามแบบอย่างพระบรมราชวงศ์ฝ่ายใน มีพระหฤทัยซื่อตรงจงรักภักดี และได้ทรงอุตสาหปฏิบัติกิจการในส่วนพระองค์ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี มิได้เห็นแก่ความยากลำบากแก่พระองค์ ได้ทรงช่วยบันดาลราชการฝ่ายในพระบรมมหาราชวัง ให้ดำเนินไปโดยสะดวกเรียบร้อย นับได้ว่าทรงช่วยผ่อนพระราชภาระอันใหญ่แห่งสมเด็จพระบรมราชินีได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งทำให้เป็นที่พอพระราชหฤทัยแห่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างยิ่ง

อีกประการหนึ่งได้ทรงสังเกตว่า สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอฯ มีพระอัธยาศัยอันดี ทรงดำรงความไมตรีในระวางพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน ทรงตั้งพระองค์ไว้ในที่สมควรแก่ชนทุกชั้น ทรงมีความเคารพในที่ควรเคารพ และมีพระหฤทัยโอบอ้อมอารีแก่ผู้น้อย เป็นที่นิยมแห่งชนโดยมาก สมควรที่จะทรงพระกรุณายกย่องตั้งแต่งไว้ ให้ดำรงพระอิสสริยยศ เป็นเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายในได้พระองค์ ๑

จึงมีพระบรมราชโองการ ดำรัสสั่งให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ เป็นสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าต่างกรม มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ นรินทรเทพยกุมารี กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร… ”

และโปรดพระราชทานพระยศ นายพันเอก ตำแหน่งผู้บังคับการพิเศษกรมทหารม้าที่ ๒ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นผู้บังคับการพิเศษกองพันที่ ๒ กรมทหารม้าที่ ๑ และในโอกาสที่กองทัพบกจัดตั้งค่ายทหารขึ้นใหม่ ที่จังหวัดเพชรบุรี ได้ขอพระราชทานนามค่ายว่า ค่ายเพชรบุรีราชสิรินธรเพื่อเทิดพระเกียรติพระองค์

ต่อมา ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระเกียรติยศเป็นสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๗

ในเบื้องปลายพระชนมชีพ ประชวรพระวักกะพิการ ทรงตัดสินพระทัยเสด็จไปรับการรักษา ณ ทวีปยุโรป ๒ ครั้ง สิ้นพระชนม์ในวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดังความในหนังสือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ถึง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ลงวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ในสาส์นสมเด็จ ภาคที่ ๓๐ กราบทูลว่า

“จะกราบทูลต่อไปถึงข่าวสำคัญ อันยิ่งไปกว่านั้นอีก ซึ่งเป็นขึ้น คือ ทูลกระหม่อมหญิงสิ้นพระชนม์เสียแล้ว เมื่อวันที่ ๑๕ เวลา ๒๓.๑๕ นาฬิกา… พระอาการประชวรของทูลกระหม่อมหญิงนั้น พระวักกะพิการเรื้อรังเป็นเหตุ…แล้วมีพระอาการเพิ่มเติม ตามภาษาหมอเขาว่าหลอดลมฝอยอักเสบ ทูลตามที่เขาจดเป็นหนังสือฝรั่งไว้ว่า Broncho pneumonia จะเข้าพระทัยได้ดีกว่า ประชวรหนักมาเห็นจะตั้งแต่วันที่ ๑๓ มาโกลาหลกันเมื่อวันที่ ๑๔ ถึงวันที่ ๑๕ ก็สิ้นพระชนม์ สรงพระศพที่ตำหนักคันธวาส อันเป็นที่ประทับแล้วเชิญพระศพขึ้นรถมณฑป (คือรถจตุรมุขพิมานประกอบยอด) เข้าไปสู่พระบรมมหาราชวัง เชิญพระโกศขึ้นตั้งเหนือแว่นฟ้า ๓ ชั้น มีบัวคลุ่มฐานพระบุพโพฐานเขียง ประกอบพระลองทองใหญ่ (รัชกาลที่ ๕) ประดับประดาด้วยเบญจปฎล เศวตฉัตร และอภิรุมชุมสายทองแผ่ลวด มีผ้าไตร ๔๐ สดับปกรณ์แล้วเป็นเสร็จ…” พระชนมายุ ๕๔ พรรษา

ส่วนงานพระราชทานเพลิงพระศพ จัดขึ้นในวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: สุทธิพันธ์ ขุทรานนท์