หอไตรวัดระฆัง ฯ “เรือนสามหอ” ของ รัชกาลที่ ๑

วัดระฆังโฆสิตาราม แต่เดิมเรียกว่า วัดบางหว้าใหญ่ เป็นวัดโบราณมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรมหาวิหาร

พุทธศักราช ๒๓๑๐ เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าข้าศึก พระเจ้าตากสินมหาราชได้กู้อิสรภาพของไทยกลับคืนมาได้ และเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ตั้งพระนครหลวงขึ้นใหม่เรียกว่า กรุงธนบุรีในปีพุทธศักราช ๒๓๑๑

เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงครองราชย์แล้ว ทรงใฝ่พระทัยเป็นธุระในพระพุทธศาสนา พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ ยกวัดบางหว้าใหญ่ขึ้นเป็นพระอารามหลวง

พุทธศักราช ๒๓๑๒ มีพระราชปรารภว่า พระไตรปิฎกกระจัดกระจายเสียหายเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่าข้าศึก มีพระราชประสงค์จะรวบรวมชำระสอบทานพระไตรปิฎกนั้นเสียให้ถูกต้องครบถ้วนตามเดิม จึงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปอัญเชิญพระไตรปิฎก จากนครศรีธรรมราช พร้อมกันนั้นได้อาราธนาพระอาจารย์สีขึ้นมาด้วย

เดิมพระอาจารย์สีอยู่วัดพนัญเชิงอยุธยา เป็นผู้มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก ทั้งเป็นผู้ทรงคุณทางวิปัสนาธุระ เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ท่านหลบลงไปอยู่นครศรีธรรมราช

เมื่อพระอาจารย์สีมาอยู่ที่วัดบางหว้าใหญ่แล้ว จึงทรงสถาปนาพระอาจารย์สี ขึ้นเป็นสมเด็ดพระสังฆราชแล้วให้ประชุมพระเถรานุเถระทำสังคยานาพระไตรปิฎก

ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงรับราชการอยู่กับพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นพระราชวรินทร์ ตำแหน่งเจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา มีพระชนมายุได้ ๓๓ พรรษา ทรงย้ายบ้านมาจากอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม มาตั้งนิวาสสถานอยู่ใกล้พระราชวังพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อรับพระราชโองการให้เป็นแม่ทัพไปตีเมืองโคราช จึงรับสั่งให้รื้อพระตำหนักและหอประทับนั่งหลังคามุงจาก ฝาสำหรวดกั้นด้วยกระแซง มาปลูกถวายวัดบางหว้าใหญ่

หอพระไตรปิฎก

อีก ๑๔ ปีต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในพ.ศ. ๒๓๒๕ เมื่อพระชนมายุได้ ๔๖ พรรษา ได้ทรงปรารภถึงพระตำหนัก และหอประทับนั่งหลังนั้น ทรงใคร่จะปฏิสังขรณ์ให้มั่นคงสวยงามยิ่งขึ้น และมีพระราชประสงค์จะให้เป็นหอพระไตรปิฎก จึงมีพระกระแสรับสั่งให้สืบถามเรื่องระฆังของวัดบางหว้าใหญ่ซึ่งพระองค์ท่านได้ทรงทราบมาว่าขุดได้ในวัดและมีเสียงไพเราะนัก ก็ได้ความว่าขุดได้ทางทิศเหนือของพระอุโบสถ จึงรับสั่งให้ขุดสระลงในที่นั้น เป็นรูปสี่เหลี่ยมเรื่องอิฐก่อกรุไม้กั้นโดยรอบเพื่อกันทลาย แล้วรื้อพระตำหนักและหอประทับนั่งจากที่เดิมมาปลูกลงในสระ เป็นรูปเรือน ๓ หลังแฝด ห้องกลางเป็นห้องโถง เปลี่ยนหลังคามุงจากเป็นมุงกระเบื้อง ชายคามีกระเบื้องกระจังดุษรูปเทพประนม เรียงรายเป็นระยะ ๆ เปลี่ยนฝาสำหรวดและฝากั้นกระแซงเป็นฝาไม้สักลูกปกนกายในเรียบเขียนรูปภาพ บานประตูหอด้านใต้เขียนลายรดน้ำ บานประตูหอกลางโถง แกะเป็นนกวายุภักษ์ประกอบด้วยกนกเครือเถา บานประตูนอกชานแกะเป็นมังกรลายกนกดอกไม้ มีซุ้มข้างบนเป็นลายกนกดอกไม้เหมือนกัน ภายนอกติดคันทวยสวยงาม

ทรงสร้างตู้พระไตรปิฎกขนาดใหญ่เขียนลายรดน้ำ ๒ หลัง ประดิษฐานไว้ในหอด้านเหนือและหอด้านใต้ ทั้งนี้อยู่ในความควบคุมของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เป็นผู้ทรงอำนวนการสร้าง โดยเฉพาะลายรดน้ำและลายแกะ นัยว่าเป็นฝีพระหัตถ์ของพระองค์ท่านกับครูช่างที่มาจากกรุงศรีอยุธยา

เมื่อการปฏิสังขรณ์เสร็จแล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้ฯ ให้จัดพระราชพิธีมหกรรมและเสด็จพระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลด้วยพระองค์เอง แล้วได้ทรงปลูกต้นจันทร์ไว้ในทิศทั้ง ๘ พร้อมด้วยพระเจ้าลูกยาเธอกรมหลวงอิศรสุนทรและครูช่างอยุธยา เสร็จแล้วทรงประกาศพระราชอุทิศเป็นหอพระไตรปิฎก(แต่มีผู้เรียกว่า “ตำหนักต้นจันทน์” จนทุกวันนี้) กับได้ทรงขอระฆังเสียงดังดีไปไว้วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และได้ทรงสร้างระฆังมาพระราชทานแทนไว้ ๕ ลูก

เหตุนี้วัดบางหว้าใหญ่จึงได้รับพระราชทานนามว่า วัดระฆังโฆสิตารามตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  ทรงบันทึกถวายสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ สำหรับแบบอย่างฝีมือช่างในรัชกาลที่ ๑ ที่พึงชม หรือควรกำหนดใจรู้ไว้ว่าเฉพาะเรื่องหอพระไตรปิฎก ของวัดระฆังฯ ดังนี้

“….ภายในหอพระไตรปิฎก จำได้แน่ว่าทำในรัชกาลที่ ๑ ท่วงทีประหลาดกว่าหอไตรที่ไหนหมด เป็นหอฝากระดานมุงกระเบื้องสามหลังแฝด มีชานหน้า ปลูกอยู่กลางสระดูเหมือนหนึ่งว่า หลังซ้ายขวาจะเป็นที่ไว้คัมภีร์พระปริยัติธรรม หลังกลางจะเป็นที่บอกหนังสือ หรือดูหนังสือ ฝีมือที่ทำหอนี้อย่างประณีตแบบกรุงเก่า มีสิ่งที่ควรชมอยู่หลายอย่าง คือ

๑.  ชายคามีกระเบื้องกระจังเทพประนมอย่างกรุงเก่า ถ้าผู้ใดไม่เคยเห็นจะดูที่นี่ได้

๒. ประตูและซุ้ม  ซึ่งจะเข้าในชาลา สลักลายอย่างเก่า งามประหลาดตาทีเดียว

๓.  ประตูหอกลาง ก็สลักงามอีก ต่างลายกับประตูนอก

๔.  ฝาในหอกลาง เขียนเรื่องรามเกียรติ์ฝีมือพระอาจารย์นาค ผู้เขียนมารประจญในพระวิหารวัดพระเชตุพน ท่วงทีขึงขังนัก

๕.  บานประตูหอขวา เขียนรดน้ำ ลายยกโดยตั้งใจจะพลิกแพลงมากแต่ดูหาสู้ดีไม่

๖.  ฝาในหอขวา เขียนภาพเรื่องเห็นจะเป็นชาดก ฝีมือเรียบ ๆ

๗.  ตู้สำหรับไว้พระไตรปิฎกตั้งอยู่ในหอทั้งซ้ายขวามีมากมายใหญ่จนออกประตูไม่ได้ก็มี เขียนลายรดน้ำหลายฝีมือด้วยกัน แต่ล้วนดี ๆ มีฝีมือ คนที่ผูกลายบานมุกด์ ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามก็หลายใบ ผู้ใดที่รักการช่างได้ไปชมที่นั่นแล้วจะไม่อยากกลับบ้าน

การบูรณะปฏิสังขรณ์

หอพระไตรปิฎกอันล้ำค่านี้ได้ชำรุดทรุดโทรมลงโดยลำดับ เริ่มแต่เสาตอม่อขาด หลังคารั่ว กระเบื้องกระจังหล่นหาย ตัวไม้ผุ ฝาบางกร่อน จนถึงแตกร้าวและทะลุ จิตรกรรมฝาผนังลบเลือน สระตื้นเขินและสกปรก

ความเสื่อมโทรมดังกล่าวนี้เนื่องมาจากขาดการเอาใจใส่ดูแล มิหนำซ้ำถึงกับใช้เป็นที่เก็บศพก็เคย

ต่อมายังมีการสร้างกุฏีและอาคารอื่น ๆ อันเนื่องในการฌาปนกิจศพจนประชิด ทำให้บริเวณหอพระไตรปิฎกขาดความสง่างาม หากปล่อยไว้ในสภาพเช่นนี้ต่อไปก็เป็นที่น่าวิตกว่าจะถึงจุดที่จะสูญเสียจิตรกรรมฝาผนังอันมีค่าอย่างไม่อาจจะเอากลับคืนมาได้อีก

กรมศิลปากร  ได้พยายามที่จะบูรณะปฏิสังขรณ์ แต่ก็ยังหางบประมาณไม่ได้

ทางวัดเรี่ยไรมาได้ก็ไม่พอแก่การ ทั้งยังต้องการผู้รู้ผู้ชำนาญ ทั้งทางสถาปัตยกรรม จิตรกรรม และอื่นๆ เพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์ให้ถูกต้องตามหลักวิชา

ด้วยเหตุนี้ พระราชธรรมภาณี ผู้รักษาการในตำแหน่งเจ้าอาวาสจึงมีลิขิตลงวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๑๑ มายังสมาคมสถาปนิกสยามในพระราชูปถัมภ์ขอให้คณะกรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปกรรมให้ความร่วมมือกับทางวัดในการบูรณะปฏิสังขรณ์หอพระไตปิฎก เพื่อให้เป็นศิลปสถานอันงามเด่นสืบไป

คณะกรรมาธิการฯ รับสนองคำของของวัดด้วยความยินดี และเชิญผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่าง ๆ หลายท่านมาร่วมกันตั้งเป็นคณะอนุกรรมการบูรณะปฏิสังขรณ์หอพระไตรปิฎกขึ้นเมื่อวันที่  ๑๗ สิงหาคม ๒๕๑๑ โดยทูลเชิญศาสตราจารย์หม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงศ์ ทรงเป็นประธาน

คณะอนุกรรมการชุดนี้ได้ประชุมกันเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม  ๒๕๑๑ ที่วัดระฆังฯ แล้วได้เริ่มเตรียมงานและจัดหาทุนสะสมไว้จนถึงได้ทำสัญญาบูรณะปฏิสังขรณ์หอพระไตรปิฎกเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๑๓ และการบูรณะได้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๑๓

คณะกรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปกรรมได้นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถึงโครงการบูรณะปฏิสังขรณ์ศิลปสถานอาคารไม้หลังสำคัญที่สุดอันเนื่องด้วยพระบรมราชบรรพบุรุษนี้ด้วย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณา “ชมเชย” การกระทำทั้งนี้ว่า “เป็นความดำริชอบ” ทั้งยังพระราชทานพรให้การกระทำของพวกเรา “จงได้ดำเนินให้สำเร็จลุล่วงเป็นผลดีทุกสถานต่อไป” (ตามหนังสือ ของสำนักราชเลขาธิการที่ รล.๐๐๐๒/๑๒๐๙ ลงวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๑๒

ใช่แต่เท่านั้นยังพระราชทานเงินก้นถุงมาให้เป็นประเดิมสำหรับการบูรณะปฏิสังขรณ์อีกด้วย นับเป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้

คณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาแล้วลงมติว่าสถานที่ใหม่ซึ่งเหมาะสมที่สุดสำหรับชลอหอพระไตรปิฎกไปประกอบขึ้นใหม่ ได้แก่บริเวณลานพระอุโบสถในเขตพุทธาวาส ทางด้านตะวันตก ซึ่งมีกำแพงรั้วโดยรอบ สะดวกแก่การดูแลรักษา

อนึ่ง หอพระไตรปิฎกที่บูรณะขึ้นใหม่นี้มิได้มุ่งหมายที่จะใช้เป็นหอพระไตรปิฎก คงบูรณะไว้เป็นอาคารสำคัญทางศิลปะและประวัติศาสตร์เท่านั้น

ครั้นวันเสาร์ที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๑๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินทรงเททองหล่อจำลองรูปสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ณ วัดระฆังฯ

เมื่อเสร็จการนั้นแล้วพระราชธรรมภาณี รักษาการเจ้าอาวาส และศาสตราจารย์หม่อมเจ้ายาใจฯ ประธานอนุกรรมการฯ กราบบังคมทูลอัญเชิญเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรหอพระไตรปิฎก ทั้งสองพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ปลูกต้นจันทน์ในสนามหญ้า หอพระไตรปิฎกแล้วเสด็จขึ้นทอดพระเนตรภายในหอพระไตรปิฎกด้วยความสนพระทัยราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง และทรงมีพระกระแสรับสั่งไถ่ถามและแนะนำเป็นหลายประการ

ทั้งนี้คณะอนุกรรมการ ฯ รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นเกล้า หาที่สุดมิได้ ทั้งยังรู้สึกเสมือนว่าได้นิมิตรเห็นสายใยทิพย์อันเรืองรองแห่งกาลเวลาซึ่งเชื่อมโยงและย้อนหลังนับด้วยศตวรรษกลับไปยังรัชกาลที่ ๑ คือพระบรมปฐมกษัตริย์แห่งพระราชวงศ์จักรีผู้ทรงพระราชทานเรือนสามหอ ซึ่งมีอายุเท่ากับกรุงรัตนโกสินทร์พระองค์นั้นด้วย

นับเป็นมหามงคลเป็นมิ่งขวัญก่อให้เกิดความอิ่มเอมและปิติโสมนัสในดวงจิตของผู้ที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในวันมหามงคลนั้นทั่วหน้ากัน

 

ที่มา :
มสรศิลปวัฒนธรรม
สุจิตต์  วงษ์เทศ

ยักษ์วัดพระแก้ว:นายทวารบาลพิทักษ์รักษาปูชนียวัตถุและปูชนียสถาน

เจิม กมลวรรณ

เมื่อพูดถึงนายทวารบาล เผ้าประตูวัดแล้วไม่มีนายทวารบาลใด จะขึ้นชื่อลือชาเท่ากับยักษ์เป็นไม่มี

ยักษ์ที่เป็นนายทวารบาล ซึ่งมีชื่อเสียงมาก่อนยักษ์อื่นใด ก็เป็นยักษ์วัดอรุณราชวราราม(วัดแจ้ง) ต่อมาก็เป็นยักษ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม(วัดโพธิ์) แล้วก็ยักวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดรพระแก้ว)

ยักษ์วัดแจ้งกับยักษ์วัดโพธิ์นั้น ตามประวัติฉบับปากต่อปาก ก็ว่าเป็นไม้เบื่อไม้เมาซึ่งกันและกัน ทั้งที่เป็นเผ่ายักษ์เหมือนกัน เคยท้าตีท้าต่อยและเอากันจริง ๆ จนป่าไม้ชายเลนและไม้อื่น ๆ หน้าวัดโพธิ์ราบเรียบเป็นท่าเตียนไปครั้งหนึ่ง แต่บัดนี้คงมีผู้ไกล่เกลี่ยและปรับความเข้าใจกันได้แล้ว ท่าเตียนจึงเป็นท่ารก ทำลายศรีสง่าของวัดโพธิ์ ที่มองจากแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่เห็นทัศนียภาพยอดพระเจดีย์เสียดฟ้า ช่อฟ้าใบระกาของพระอุโบสถ พระวิหาร และปูชนียวัตถุอื่น ๆ ระวังท่าน้ำวัดแจ้งไว้ให้ดีอย่าให้รกรุงรัง จนบังพระปรางค์วัดแจ้ง โดยเฉพาะบังตัวยักษ์วัดแจ้งเสียเองก็แล้วกัน

ยักษ์วัดแจ้งนั้นสูง ๗ เมตร เครื่องแต่งกายประดับด้วยกระเบื้องเคลือบเป็นดอกดวงต่าง ๆ สวยงาม หน้าตา ท่าทาง ขึงขัง ยืนหันหน้าออกพระอุโบสถ(หันหลังให้โบสถ์) ลักษณะการยืนไม่ได้ยืนตรงเหมือนยักษ์วัดพระแก้ว แต่ยืนเข่ากาง หรือย่อเข่า ถือกระบอง

ประวัติการสร้างยักษ์วัดแจ้งนี้ในหนังสือ สาส์นสมเด็จฯ ฉบับคุรุสภาจัดพิมพ์เล่มที่ ๒๖ (หน้า ๑๓๔) กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า

“….ยักษ์วัดแจ้งนั้น เขาพูดถึงของเดิมว่า เป็นฝีมือหลวงเทพกัน” คำว่า “หลวงเทพ” นั้น จะเป็นหลวงเทพรจนา หรือหลวงเทพยนต์ อะไรก็ไม่ทราบ แต่คำว่า “กัน” เป็นชื่อตัวแน่ เพราะฝีมือแกดี จึงโปรดให้ปั้นรูปไว้ รูปเก่านั้น พังไปเสียแล้ว ที่ยืนอยู่บัดนี้ เป็นของใหม่ก่อนท่านเจ้านาค(เจ้าอาวาสวัดอรุณฯ ในราวปลายรัชกาลที่ ๖) ไปอยู่เป็นแน่ เข้าใจว่า ยักษ์วัดแจ้งนี้แหละ ทำให้เกิดยักษ์ในวัดพระแก้วขึ้น”

ส่วนยักษ์วัดพระแก้ว ซึ่งเป็นนายทวารบาล เหมือนทำหน้าที่พิทักษ์รักษาปูชนียวัตถุ ปูชนียสถานนั้น ในหนังสือจดหมายเหตุ เรื่องปฏิสังขรณ์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ได้กล่าวถึงประวัติการปั้นยักษ์ว่า

“….ครั้งปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม  เพื่อเตรียมงานมหกรรมฉลองกรุงเทพมหานคร จะมีอายุครบ ๑๐๐ ปี และสมโภชพระแก้วมรกตด้วย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๕ นั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงของแรงพระบรมวงศานุวงศ์ให้ทรงรับเป็นนายงานทำการปฏิสังขรณ์ทุกพระองค์ และโปรดฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าจิตรเจริญ (สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์) ทำหอพระคันธารราษฎร์ และหอพระเจดีย์ประดับกระเบื้อง และปูศิลา และทำกำแพงแก้วภายนอกและทำเพดานเขียน ปั้น ปูพื้นและทำเรือนแก้วภายนอกพระคันธารราษฎร์ ทำใหม่ทั้งสิ้น และปั้นประดับกระเบื้อง รูปยักษ์ประตูคู่หนึ่ง”

คงเป็นคู่มังกรกัณฐ์ และวิรุฬหกที่ยืนอยู่หน้าประตูหน้าหอพระคันธารราษฎร์ ซึ่งทรงเป็นนายงานนั้นเอง

อนึ่ง ยักษ์วัดพระแก้วนี้ ในหนังสือ สาส์นสมเด็จฯ ฉบับคุรุสภา เล่มที่ ๑๖ มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“…ยักษ์วัดพระแก้วนั้น คงทำขึ้นในรัชกาลที่ ๓ เป็นประเดิมเพราะจำได้ว่า คู่ทศกัณฐ์-สหัสเดชะนั้นเป็นฝีมือหลวงเทพรจนา(กัน) คือมือที่ปั้นยักษ์วัดอรุณฯ สันนิษฐานว่า เพราะเวลานั้น มีช่างฝีมือดี ๆ จึงได้ทำขึ้นไว้ เพราะทำแกนด้วยไม้  ครั้นไม้ผุก็ล้มซวนทลายไปบ้าง ถึงเมื่อซ่อมคราว ๑๐๐ ปี จึงกลับเกณฑ์กันขึ้นใหม่  นับว่าเป็นการสมควรอยู่ เพราะเวลานั้นช่างปั้นอันมีฝีมือพอดูได้ยังมีอยู่บ้าง…”

ยักษ์วัดพระแก้ว นายทวารเฝ้าประตูนี้ มีอยู่ทั้งหมด ๑๒ ตน แต่ละตนล้วนเป็นยักษ์ที่มีอิทธิฤทธิ์ อิทธิพล เป็นผู้ครองนคร เป็นลูกหลวง รัชทายาทเกือบทั้งสิ้น และเป็นที่ควรสังเกตว่ายักษ์เหล่านี้ ล้วนเป็นวงศาคณาญาติ หรือสัมพันธมิตรของทศกัณฐ์ทั้งหมด

เจตนารมณ์ของท่านผู้ดำริริเริ่มปั้นยักษ์เฝ้าประตูให้เป็นพวกเดียวกันนี้ ก็เป็นการสมควร เพราะการเฝ้าพิทักษ์รักษาปูชนียวัตถุ ปูชนียสถานอันสำคัญอย่างยิ่งนั้น ถ้าผู้เฝ้าเป็นคนละพวก คนละหมู่ ก็ยากในการดูแลรักษา และยุ่งยากในการปกครอง ฉะนั้น จึงจัดให้เป็นยักษ์พวกเดียวกัน โดยมีทศกัณฐ์เป็นประธาน และแกนกลางสำคัญ

อนึ่งการยืนเฝ้าของยักษ์ทั้ง ๑๒ ตนไม่เหมือนกับการยืนเฝ้าของทวารบาลอื่นเช่นยักษ์วัดแจ้งเป็นต้น ซึ่งยืนหันหลังให้สิ่งที่ตนเฝ้า แต่ยักษ์วัดพระแก้วยืนหันหน้าเข้าหาพระอุโบสถ

ยักษ์ทั้ง ๑๒ ตนนี้ เครื่องแต่งกายประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีต่าง ๆ ตบแต่งเป็นดอกดวงสวยงามมาก ยืนเฝ้าประตูอยู่เป็นคู่ ๆ ๖ ประตู จะนับตั้งแต่คู่ประตูทางขึ้นหอพระเทพบิดร(เข้าทางประตูสวัสดิโสภาหน้ากระทรวงกลาโหม) ไปทางหอพระคันธารราษฎร์(หน้าโบสถ์) เป็นลำดับ ดังนี้

คู่ที่ ๑.  สุริยาภพ    สีแดงซาด

อินทรชิต    สีขาว

คู่ที่ ๒.  มังกรกัณฐ์           สีเขียว

วิรุฬหก                สีม่วงแก่

คู่ที่ ๓.  ทศคีจันธร           สีหงส์ดิน

ทศคีรีวัน             สีเขียว

คู่ที่ ๔.  จักรวรรดิ์            สีเขียว

อัศกรรณมาราสูร          สีม่วงแก่

คู่ที่ ๕.  ทศกัณฐ์              สีเขียว

สหัสสเดชะ         สีขาว

คู่ที่ ๖.  ไมยราพ              สีม่วงอ่อน

วิรุฬจำบัง            สีหมอก

ขอเชิญชวนท่านไปชมศิลปของการปั้น และการประดับกระเบื้องเคลือบ ซึ่งเป็นศิลปของไทยแท้ควรชื่นชม

รูปช้างแต่งสัปคับสมัยอยุธยาตอนต้น

รูปช้างแต่งสัปคับ


ฝีมือช่างสมัยอยุธยาตอนต้น  พบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ ทำด้วยทองคำจำหลักลายประดับแก้วสี สัปคับทำเป็นช่องสำหรับบรรจุตลับ

ทวารบาล:ภาพเขียน,ภาพแกะสลักรูปเทวดา

ทวารบาล

ตามบานประตูวัดมักจะมีภาพเขียนหรือภาพแกะสลักเป็นรูปเทวดาเรียกกันว่า ทวารบาล  หรือบางทีทำเป็นรูปแบบจีนเรียกกันว่า “เสี้ยวกาง”  ซึ่งก็หมายถึงผู้เฝ้าหรือรักษาประตูเช่นเดียวกัน

ทวารบาลที่ทำแปลกกว่าที่อื่นก็คือทวารบาลที่วัดราชบพิธ  ทำเป็นรูปทหารแต่งตัวแบบใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๔

สมพงษ์ ทิมแจ่มใส


พระพุทธรูปพระประธานพุทธมณฑล ปางพุทธลีลา

พระพุทธรูปพระประธานพุทธมณฑล  ปางพุทธลีลา

พระพุทธรูปพระประธานพุทธมณฑล ปางพุทธลีลา  ลักษณะปฏิมากรรมของสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งออกแบบและปั้นหุ่นโดย  ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี  แห่งกรมศิลปากร

คณะกรรมการอำนวยการจัดสร้างพุทธมนฑล  ได้มอบหมายให้กรมศิลปากร  ดำเนินการปั้นหล่อพระพุทธรูปพระประธานพุทธมนฑล  โดยขยายแบบจากหุ่นต้นแบบของศาสตราจารย์ศิลป  พีระศรี  ให้มีความสูง ๒,๕๐๐ กระเบียด  เนื่องจากพระพุทธรูปมีขนาดใหญ่มาก กรมศิลปากรจึงต้องแบ่งส่วนขององค์พระออกเป็น ๖ ส่วน คือ ๑. พระเศียร ๒.พระอุระและพระพาหาข้างซ้าย ๓. พระนาภี ๔. พระเพลา ๕. พระชงฆ์ พระบาท และฐานบัวรองพระบาท ๖. พระพาหาข้างขวาและพระหัตถ์ข้างซ้าย  โดยการขยายแบบได้ใช้วิธีทำเส้นตัดผิวรอบหุ่น(contour) ตัดเป็นตอน  ๆ(section) แล้วนำมาต่อปรับให้เข้ากันเป็นองค์พระที่สมบูรณ์  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สยามินทราธิราช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเททองหล่อพระเกตุมาลา  เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม  พุทธศักราช ๒๕๒๔  การสร้างพระพุทธรูปพระประธานพุทธมณฑล กำหนดแล้วเสร็จทันการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ในเดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๕๒๕

พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร

พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร

ครั้นเมื่อเสด็จผ่านพิภพแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  ได้ทรงสร้างกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี  และสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารมขึ้นในพระบรมมหาราชวังสืบตามราชประเพณีการสร้างพระอารามในพระราชฐาน  สมัยกรุงศรีอยุธยา  โดยมีพระราชประสงค์จะให้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร  ซึ่งทรงพระราชศรัทธาเคารพเลื่อมใสเป็นที่ยิ่ง  ทั้งยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามพระนครใหม่ให้ต้องกับการซึ่งมีพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรพระองค์นี้เป็นศิริสำหรับพระนครว่า “กรุงรัตนโกสินทร์” อันมีความหมายว่า “เป็นที่เก็บรักษาไว้ขององค์พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร” อีกด้วย การอัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรมาประดิษฐานและผูกพัทธสีมาพระอารม ปรากฎความในจดหมายเหตุว่า “ครั้นถึงวันจันทร์ แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะโรง ฉศก จุลศักราช ๑๑๔๖ ตรงกัยวันที่ ๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๓๒๗ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรจากโรงในพระราชวังกรุงธนบุรีลงทรงเรือพระที่นั่งกิ่ง มีเรือแห่งเป็นกระบวนข้ามฟากมาเข้าพระราชวัว  อัญเชิญเข้ามาประดิษฐานในพระอุโบสถพระอารามใหม่ แล้วนิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะประชุมกระทำสังฆกรรมสวดผูกพัทธสีมาในวันนั้น  แล้วพระราชทานนามพระอารามว่า “วัดพระศรีรัตนศาสดาราม”

ภาพโดย จิรภัฏ  กิจมณีรัตน์

จักรและตรีศูล หรือจักรี:ราชศาสตราวุธ

จักรและตรีศูล หรือจักรี

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ทรงสร้างขึ้นเป็นราชศาสตราวุธ  เนื่องจากทรงพระราชดำริว่า  สมเด็จพระปฐมบรมราชชนกทรงมีตำแหน่งเป็นเจ้าพระยาจักรี เมืองพิษณุโลก  และพระบาทสมเด็ดพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็ได้รับสถาปนาเป็นเจ้าพระยาจักรีในสมัยกรุงธนบุรี จึงทรงนำมาเป็นนิมิตหมายสร้างดวงจักรและตรีศูลขึ้นเป็นสัญลักษณ์ประจำพระบรมราชวงศ์จักรี  แล้วนำเข้ามณฑลพิธีในการประกอบพระราชพิธีปราบดาภิเษกของพระองค์และพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลต่อ ๆ มา  จัดอยู่ในชุดพระแสงอัษฎาวุธ  มีพระแสงหอกเพชรรัตน์  พระแสงดาบเชลย พระแสงตรีศูล พระแสงจักร พระแสงดาบเขน(หรือดาบโล่) พระแสงธนู พระแสงของ้าวแสนพลพ่าย พระแสงปืนข้ามแม่น้ำสะโตง

จักรและตรีศูล ทำด้วยเหล็กผสม  มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๗.๕ เซนติเมตร  คร่ำทองเป็นลายจักร  ที่คมของจักรเลี่ยมทองคำโดยรอบและถอดขอบที่เลี่ยมออกได้

ตรีศูล  วัดจากปลายด้ามถึงยอดพระแสงองค์กลาง ๕๑ เซนติเมตร  ด้ามหุ้มทองคำ สลักลายตลอด ปลายด้ามฝังทับทิม  ที่คอพระแสงองค์กลางหล่อรูปพระนารายณ์ทรงครุฑคร่ำลายทองติดตรึงกับพระแสงองค์กลางทั้งสองด้าน

“พระเจ้าตนหลวง”สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดพะเยา

พระเจ้าตนหลวง


พระเจ้าตนหลวงเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่สุดของจังหวัดพะเยามีขนาดหน้าตักกว้าง ๑๔ เมตร  สูง  ๑๖ เมตร

สร้างเมื่อปีระกา  พ.ศ. ๒๐๓๔  ในรัชสมัยพญายี่ครองเมืองภูเยา(พะเยา) ตรงกับรัชสมัยพระยอดเชียงรายครองเมืองเชียงใหม่