ศิลาจารึกและเอกสารเนื่องในศาสนาพราหมณ์

ศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย
ในปัจจุบันนี้ได้ค้นพบจารึกที่มีอายุก่อน พ.ศ. ๑๘๒๖ ในภาคใต้จำนวน ๙ หลักโดยตัวอักษรที่พบในจารึกระยะแรก เป็นตัวอักษรอินเดียใต้ แบบคฤนถ์-ปัลลวะ และทมิฬ-ปัลลวะ มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๓ จากนั้นอักษรได้เริ่มกลายรูปไปบ้าง จนระยะสุดท้ายพบจารึกอักษรมอญโบราณในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ส่วนภาษานั้นในระยะแรก พบภาษาสันสกฤต และทมิฬตามแบบอินเดีย สำหรับภาษาพื้นเมืองที่พบคือ มอญโบราณและเขมรโบราณ
ในบรรดาจารึกเหล่านี้เป็นจารึกที่ค้นพบในนครศรีธรรมราช จำนวน ๖ หลัก (ที่เหลือพบที่ตะกั่วป่า ๑ หลัก และไชยา ๒ หลัก) ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะจารึกที่เกี่ยวเนื่องกับอิทธิพลทางศาสนาพราหมณ์โดยสังเขปดังนี้
๑. ศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย เป็นศิลาจารึกที่เพิ่งค้นพบใหม่เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๒๒ ณ หุบเขาช่องคอย บ้านคลองท้อน หมู่ที่ ๙ ตำบลควนเกย อำเภอร่อนพิบูลย์
ศิลาจารึกหลักนี้มีข้อความจารึกเป็นภาษาสันสกฤต ตัวอักษรเป็นแบบที่ใช้ในอินเดียใต้ และยังพบในชวาอีกด้วย เรียกว่าอักษรคฤนถ์-ปัลลวะ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐
บางท่านเห็นว่าเนื้อหาในศิลาจารึกหลักนี้เป็นเรื่องของ ไศวนิกายกล่าวคือ
ตอนที่ ๑ ประกาศให้ทราบว่า ศิลาจารึกหลักนี้เป็นจารึกอุทิศบูชาพระศิวะ
ตอนที่ ๒ กล่าวนอบน้อมพระศิวะ แล้วเสริมว่าผู้เคารพในพระศิวะมา (ในที่นี้) เพราะจะได้ประโยชน์ที่พระศิวะประทานให้
ตอนที่ ๓ กล่าวสรรเสริญคนดี ไม่ว่าเขาจะอยู่ในที่ไหน ก็จะทำให้เจ้าถิ่นได้รับความสุข
แต่กระนั้นก็ตาม มีบางท่านยังไม่เห็นด้วยกับคำแปลเหล่านี้บางส่วน เพราะในขณะนี้ยังสำรวจไม่พบหลักฐานทางโบราณคดีใดๆ ในบริเวณที่ค้นพบศิลาจารึก ที่จะสนับสนุนได้ว่าศิลาจารึกหลักนี้ว่าด้วยเรื่อง ไศวนิกาย
๒. ศิลาจารึกวัดมเหยงคณ์ (จารึกหลักที่ ๒๗) เป็นจารึกภาษาสันสกฤตตัวอักษรที่ใช้คล้ายกับที่พบในเขมรโบราณ (อักษรอินเดียใต้) อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓ โดยทั่วไปมักจะเข้าใจกันว่าเนื้อหาของศิลาจารึกหลักนี้ “กล่าวถึงวินัยสงฆ์ในพระพุทธศาสนา” ตามที่ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือประชุมศิลาจารึกภาคที่ ๒ แต่ผู้เขียนเห็นว่าหากพิจารณาให้ถ่องแท้เนื้อหาของจารึกหลักนี้ น่าจะไม่ได้เป็นเช่นนั้น หากแต่มีอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์อยู่ด้วย ดังคำแปลที่คัดมาจากหนังสือประชุมศิลาจารึกภาคที่ ๒ ดังต่อไปนี้
“….พระระเบียงและห้องอาหารกับอุโบสถาคาร อาหารสำหรับคณะสงฆ์และบุคคลต่างๆ….การนมัสการพระบารมี การเขียนหนังสือ การจำหน่ายน้ำหมึกกับแผ่น (สำหรับเขียน) เครื่องบูชา อาหารเครื่องบำรุงคณะพราหมณ์ ของพระอคัสติมหาตมัน….มีทั้งธรรมกถา ประกอบด้วยธูป ประทีป พวงมาลัย ธงพิดาน จามร ประดับด้วยธงจีน….บุญกุศลอื่นๆ ตามคำสอน คือ การปฏิบัติพระธรรมไม่ขาดสักเวลา การบริบาลประชาราษฎร์ การทนต่ออิฏฐารมณ์และอนิฎฐารมณ์ การชำนะอินทรีย (ให้สงบ)….ผู้ได้ทรัพย์สมบัติโดยความองอาจ….ชื่ออรรณาย…”
เป็นที่น่าเสียดายที่ศิลาจารึกหลักนี้ชำรุดมาก แต่เนื้อหาเท่าที่มีอยู่ก็นับว่ามีประโยชน์ในการศึกษาอารยธรรมของบรรพบุรุษไม่น้อยเลย ในที่นี้ผู้เขียนเห็นว่าศิลาจารึกหลักนี้ น่าจะเป็นการสรรเสริญบุคคล อันสังเกตได้จากเนื้อหาโดยรวม ที่กล่าวถึงจริยาวัตรของท่านผู้นี้และโดยเฉพาะข้อความบางตอน เช่น “ผู้ได้ทรัพย์สมบัติโดยความองอาจ” และ “ชื่ออรรณาย” เป็นต้น
ในส่วนที่เกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์นั้นจะเห็นได้ว่า ศิลาจารึกหลักนี้ได้สะท้อนออกมาอย่างชัดเจน ดังความตอนที่ว่า “….อาหารเครื่องบำรุงคณะพราหมณ์ของพระอคัสติมหาตมัน…” ทั้งนี้ เพราะคำว่า “คณะพราหมณ์” และ “พระอคัติมหาตมัน” ปรากฏชัดแจ้งอยู่แล้ว
คำว่า “พระอคัสติมหาตมัน” หมายถึง พระอดัสยะ ซึ่งเป็นปางหนึ่งของพระศิวะที่เสวยพระชาติเป็นพระเทพครู พระอคัสยะนี้เป็นผู้นำศาสนาฮินดูและอารยธรรมต่างๆ ให้แก่อินเดียภาคใต้ในชวานั้นการนับถือบูชาพระอคัสยะ จะกระทำควบคู่ไปกับการบูชาศิวลึงค์ ดังนั้น คณะพราหมณ์ในที่นี้คงจะหมายถึงคณะพราหมณ์ในลัทธิไศวนิกาย
นอกจากนี้ศิลาจารึกหลักนี้ยังได้สะท้อนให้เห็นลักษณะการผสมผสานกันเป็นอย่างดี ระหว่างพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ในชุมชนเดียวกัน เหมือนกับที่เราพบโบราณวัตถุของศาสนาทั้งสองที่มีอายุช่วงเดียวกันอยู่ในแหล่งโบราณคดีเดียวกัน ณ แหล่งโบราณคดีหลายแห่งในนครศรีธรรมราช และลักษณะการผสมกลมกลืนเช่นนี้ก็ยังคงสืบเนื่องมาจนบัดนี้
๓. ศิลาจารึกวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร (จารึก หลักที่ ๒๙) ศิลาจารึกหลักนี้มี ๒ ด้าน ด้านแรกยังไม่มีการอ่านและแปล ด้านที่ ๒ สลักด้วยอักษรและภาษาทมิฬ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ และมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องราวของศาสนาพราหมณ์โดยตรง ดังความที่อ่านแปลได้ซึ่งคัดมาจากหนังสือประชุมศิลาจารึกภาคที่ ๒ ดังนี้
“สวัสติ ศรีศก….ร้อยห้าล่วงแล้ว….วันจันทร์ ตรงกับ….
ธรรมเสนาบดี….ดังนี้ คือ พราหมณ์….โดยคำสั่งธรรม
เสนาบดี….หนึ่ง….ธรรม ..ถ้าผู้ใดทำอันตรายแก่ คงคา
….โคสีแดง ถูกฆ่าเสีย….มารดา….บาป….เตลฺลาม….
คำรบแปด…”
นอกจากศิลาจารึกที่กล่าวมาแล้วนี้ยังมีศิลาจารึกหลักอื่นๆ ในนครศรีธรรมราชที่สะท้อนให้เห็นอารยธรรมและอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ เช่น ในศิลาจารึกหลักที่ ๒๓ (วัดเสมาเมือง) ซึ่งสลักด้วยอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต เมื่อ พ.ศ. ๑๓๑๘ ได้เปรียบเทียบกษัตริย์เหมือนกับเทพบางองค์ของศาสนาพราหมณ์ และเปรียบเทียบอาคารบางแห่ง (ที่ปรากฏในศิลาจารึก) เหมือนวิมานของเทพบางองค์ และในศิลาจารึกหลักที่ ๒๔ ซึ่งพบ ณ วัดหัวเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี สลักด้วยอักษรอินเดียกลาย ภาษาสันสกฤต เมื่อ พ.ศ. ๑๗๗๓ ก็ได้เปรียบเทียบกษัตริย์จันทรภาณุศรีธรรมราช แห่งตามพรลิงค์กับเทพบางองค์ของศาสนาพราหมณ์เช่นกัน เป็นต้น
๔. ตำนานพราหมณ์เมืองนครศรธรรมราช ได้มีการค้นพบหนังสือบุด (สมุดข่อย) ว่าด้วยตำนานพราหมณ์ เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งกล่าวถึงการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมของศาสนาพราหมณ์มาสู่นครศรีธรรมราช สันนิษฐานว่าเรื่องราวนี้เกิดในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ซึ่งเสวยราชย์ในกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. ๑๘๙๓ เนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับการส่งเทวรูปมากรุงศรีอยุธยา แต่เกิดเหตุต้องประดิษฐานไว้ที่นครศรีธรรมราช รายละเอียดในการทำพิธีกรรมต่างๆ สิทธิพิเศษที่พราหมณ์ได้รับจากกษัตริย์ และการออกกฎหมายในรัชกาลต่างๆ เป็นต้น จนหนังสือเขียนจบลงเมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๕ ปีขาล พ.ศ. ๒๒๗๖ ในรัชกาลสมเด้จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
๕. ตำราเกี่ยวกับไสยศาสตร์และพิธีกรรม ในนครศรีธรรมราชได้ค้นพบหนังสือบุดที่ว่าด้วยไสยศาสตร์และพิธีกรรมเป็นจำนวนมาก ตำราเหล่านี้มีหลายประเภท เช่น ฤกษ์ยาม เวทย์มนต์ คาถา ตำราดูลักษณะสัตว์ ยันต์ และตำราโหร เป็นต้น ในบรรดาตำราโหรนั้น เนื้อหาจากมหากาพย์รามายณะ นับเป็นตำราที่สำคัญเล่มหนึ่งที่นำมาใช้ในการทำนายทายทัก โดยเรียกกันว่า “ศาสตรา”
นอกจากนี้ยังค้นพบตำราที่ว่าด้วยการประกอบพิธีกรรมต่างๆ อีกไม่น้อย เช่น การทำขวัญ การชุมนุมเทวดา การสรรเสริญเทวดา การสะเดาะเคราะห์ การบูชาเทวดา การตั้งศาลพระภูมิ และรายละเอียดในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ เป็นต้น
ตำราเหล่านี้มีอยู่โดยทั่วไปตามบ้านและตามวัด เพราะชาวบ้านยังคงใช้กันอยู่ และส่วนหนึ่งได้รับการเก็บมารักษา รวบรวมและศึกษาค้นคว้าวิจัยตามศูนย์วัฒนธรรมของสถาบันการศึกษาต่างๆ
ที่มาโดย:ปรีชา  นุ่นสุข ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้
วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช

โบราณสถานในศาสนาพราหมณ์

ขณะนี้ได้ค้นพบชุมชนโบราณขนาดใหญ่ในเขตอำเภอขนอม, สิชล, ท่าศาลา และอำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นชุมชนโบราณที่ทอดตัวไปตามแนวยาวของผืนทราย ซึ่งยาวประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร ที่ทอดตัว ในแนวเหนือ-ใต้ในเขตอำเภอดังกล่าว
อาจจะกล่าวได้ว่าในชุมชนโบราณแห่งนี้มีโบราณสถานที่เนื่องในศาสนาพราหมณ์เป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้เพราะได้ค้นพบโบราณวัตถุหรือรูปเคารพเนื่องในศาสนาพราหมณ์ ปรากฏอยู่ควบคู่กับโบราณสถานเหล่านี้ เช่น ศิวลึงก์, เทวรูป พระวิษณุ, เทวรูปพระพิฆเนศวรและโยนิ เป็นต้น
จากการสำรวจทางโบราณคดีในขณะนี้ปรากฏว่าได้พบโบราณสถานเนื่องในศาสนาพราหมณ์ในชุมชนโบราณแห่งนี้ ไม่น้อยกว่า ๕๐ แห่ง โบราณสถานส่วนใหญ่คงอยู่ริมแม่น้ำ (คลอง) ในเขตอำเภอสิชล เช่น คลองท่าทน, คลองท่าควาย คลองท่าเรือ และคลองเทพราช เป็นต้น
จากการกำหนดอายุเบื้องต้นของโบราณสถานเหล่านี้ โดยอาศัยรูปแบบทางศิลปกรรมของโบราณวัตถุที่พบร่วมกับโบราณสถานและอักษรปัลลวะบางตัวที่สลักอยู่ในชิ้นส่วนของอาคารโบราณสถานบางแห่ง เราอาจจะกล่าวได้ว่าโบราณสถานเหล่านี้มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๔ อันนับเป็นโบราณสถานรุ่นแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยัง หลงเหลืออยู่
โบราณสถานในชุมชนโบราณแห่งนี้จำนวนไม่น้อยที่ถูกรอจนโบราณวัตถุหรือรูปเคารพ และชิ้นส่วนของอาคาร ซึ่งทำด้วยหินและอิฐกระจัดกระจายโดยทั่วไป ชิ้นส่วนที่ทำด้วยหินได้แก่ ฐานเสา ธรณีประตู กรอบประตู และเสา เป็นต้น และยังมีโบราณสถานอีกไม่น้อยที่ยังคงอยู่ภายใต้เนินดินซึ่งคงจะหมายถึงว่ายังไม่ถูกขุดคุ้ยทำลาย
รอบๆ โบราณสถานที่อยู่ห่างจากลำน้ำมักจะมีสระน้ำโบราณปรากฏอยู่โดยทั่วไป สระน้ำโบราณเหล่านี้คงจะขุดขึ้นเนื่องในความเชื่อหรือพิธีกรรมทางศาสนา และการบริโภคของชุมชน แต่โบราณสถานบางแห่งแม้จะอยู่ใกล้ลำน้ำแต่ก็ปรากฏสระน้ำโบราณเช่นกัน โดยสระน้ำโบราณ มักจะอยู่ในด้านอื่นๆ ที่ตรงข้ามกับด่านที่ติดลำคลอง
ในบรรดาโบราณสถานเหล่านี้ โบราณสถานบนเขาคา นับว่าน่าสนใจมาก เพราะได้ค้นพบโบราณวัตถุ (รูปเคารพ) ของไวษณพนิกาย และไศวนิกาย ที่มีอายุอยู่ในช่วงเดียวกันอยู่ด้วยกันหลายชิ้น นอกจากนี้ยังได้พบโยนิ (หรืออาจจะเป็นฐานรูปเคารพ) ขนาดใหญ่ ลำรางนามนต์ และชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมที่ส่วนใหญ่ทำด้วยหินปูนและอิฐ เช่นเดียวกับแหล่งโบราณคดีอื่นๆ กระจายอยู่ทั่วไปทั้งภูเขาลูกนี้ แต่สิ่งเหล่านี้พบในปริมาณมากและขนาดใหญ่กว่าในแหล่งโบราณคดีอื่นๆ คงจะเป็นเพราะมีโบราณสถานหลายหลังหรือไม่ก็โบราณสถานขนาดใหญ่อยู่บนภูเขาลูกนี้ จนนักโบราณคดีบางท่านตั้งข้อสังเกตว่าโบราณสถานแห่งนี้อาจจะเป็นศูนย์กลางของชุมชนโบราณแหล่งนี้ และศูนย์กลางของโบราณสถานทั้งหลายในบริเวณนี้ก็ได้ เพราะรอบๆ โบราณสถานแห่งนี้โดยเฉพาะทางด้านเหนือห่างออกไปในรัศมีราว ๕๐๐-๑,๐๐๐ เมตร ได้พบโบราณสถานที่ชาวบ้านพบรูปเคารพในศาสนาพราหมณ์ทั้งไศวนิกาย และไวษณพนิกาย กระจายอยู่อย่างหนาแน่นเป็นพิเศษ
ด้วยเหตุนี้ ชุมชนโบราณแห่งนี้คงจะเป็นพัฒนาการของชุมชนยุคแรกๆ ต่อเนื่องมาจนถึงยุครุ่งเรืองยุคหนึ่งของรัฐตามพรลิงค์ก็เป็นได้
ยิ่งกว่านั้น ผู้เขียนคาดหมายว่า เมื่อได้ดำเนินการทางโบราณคดี ในชุมชนโบราณแห่งนี้อย่างจริงจังและถูกหลักวิชาแล้ว เราคงจะได้ข้อมูลที่มีค่ายิ่งเกี่ยวกับอารยธรรม อิทธิพลศาสนาพราหมณ์ในภูมิภาคนี้เป็นอย่างมาก เพราะหลักฐานเหล่านี้อาจจะรองรับเอกสารจีนที่กล่าวว่าในราวพุทธศตวรรษที่ ๘-๙ ในบริเวณเมือง Tun-sun ซึ่งเป็นรัฐ ทางชายฝั่งทะเล ด้านตะวันออก มีความเจริญทางการค้ามาก มีชนต่างชาติเป็นจำนวนมากอยู่ในชุมชนนี้ ดังปรากฏว่ามี พวกฮู (Hu) ตั้งหลักแหล่งอยู่ที่นี่ถึง ๕๐๐ ครอบครัวและพวกพราหมณ์ชาวอินเดียกว่าพันคน ซึ่งจำนวนหนึ่งได้ แต่งงานกับสตรีชาวพื้นเมืองก็เป็นได้
ในช่วงสมัยต่อจากบริเวณที่เราพบอารยธรรมอิทธิพล ศาสนาพราหมณ์เจริญรุ่งเรืองในชุมชนโบราณสิชล คือ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ เป็นต้นมา เราพบว่าชุมชนโบราณ อิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ได้เจริญรุ่งเรืองในเขตอำเภอเมืองนครศรีธรรมราชและเจริญสืบต่อมาทุกยุคสมัยตราบจนกระทั่งปัจจุบันนี้ เพราะได้ค้นพบโบราณวัตถุและโบราณ สถานเนื่องในศาสนาพราหมณ์หลายแห่งในชุมชนโบราณแถบนี้ เช่น โบราณสถานเนื่องในศาสนาพราหมณ์ที่มีลวดลายแบบศิลปะโจฬะ อายุราวพุทธศตวรรษที่๑๖-๑๘ (บางท่านก็ว่าราวพุทธศตวรรษที่ 20-21) ซึ่งเราค้นพบที่ตำบลท่าเรือ อันเป็นชุมชนทางการค้าที่สำคัญในสมัยโบราณ ในเขตอำเภอเมือง นอกจากนี้เทวสถานภายในเขตเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราชหลายแห่งได้รับการบูรณะมาทุกยุคทุกสมัย จนกระทั่งทุกวันนี้ เช่น หอพระอิศวร หอพระนารายณ์ และเสาชิงช้า เป็นต้น ส่วนที่ไม่ได้รับการบูรณะก็ยังคงมีอยู่ เช่น ฐานพระสยม และโบสถ์พราหมณ์ เป็นต้น เทวสถานเหล่านี้ส่วนใหญ่ประชาชนยังประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอยู่
ที่มาโดย:ปรีชา  นุ่นสุข ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้
วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช

พระพรหม

พระพรหม
พระพรหมเป็นพระผู้เป็นเจ้าของผู้สร้างโลกในศาสนาพราหมณ์ และเป็นพระผู้เป็นเจ้าองค์แรกในตรีมูรติ พระองค์คงจะกลายมาจากพระประชาบดีพระผู้สร้างในคัมภีร์พระเวท ตามคัมภีร์กล่าวว่าพระองค์ทรงมีกายเป็นสีแดง มีสี่พักตร์ ทรงถือคทา หรือช้อน หรือประคำ หรือคันศร หรือหม้อน้ำมนต์ และคัมภีร์พระเวท ชายาของพระองค์คือ พระสรัสวดี เทพีแห่งความรู้ พระองค์ทรงหงส์เป็นพาหนะ
ในจังหวัดนครศรีธรรมราชได้ค้นพบเศียรเทวรูป ปูนปั้นชิ้นหนึ่ง มี ๔ พักตร์ แต่พักตร์ที่ ๔ หักหายไป เหลือเพียง ๓ พักตร์ สันนิษฐานว่าเป็นเศียรพระพรหม เนื่องจากมีสภาพชำรุดมากจึงยากแก่การศึกษาให้ละเอียด พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช กำหนดให้มีอายุอยู่ในศิลปะทวาราวดี (พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖)

พระหริหระ
พระหริหระ
พระหริหระเป็นรูปที่รวมพระศิวะ (พระหระ) กับพระวิษณุ (พระหริ) เข้าด้วยกันคือ พระศิวะอยู่ซีกขวา พระวิษณุอยู่ซีกซ้าย ในประติมากรรมไทย เช่น สมัยสุโขทัยชอบทำรวมกัน คือ เป็นเทวดาองค์เดียว มีเนตรที่ ๓ ขวางอยู่กลาง พระนลาฏและทรงนาคเป็นสังวาล อันเป็นลักษณะของพระ ศิวะ แต่มี ๔ กร สองกรบนถือจักรและสังข์ อันเป็นลักษณะของพระวิษณุ
ได้ค้นพบพระหริหระสำริดองค์หนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช พระองค์ประทับนั่งห้อยพระบาทซ้าย พระหริหระองค์นี้ทรงมงกุฎลักษณะเดียวกันกับเทวรูปในศิลปะอินเดียภาคใต้ แบบโจฬะ ในราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ที่นลาฏมีพระเนตรที่ ๓ มีกรองศอ มีพาหุรัด ทองพระกร และยัชโญปวีต เทวรูปองค์นี้สามารถกำหนดอายุให้อยู่ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖

หงส์
หงส์
หงส์เป็นนกชนิดหนึ่ง เป็นพาหนะของพระพรหมได้ค้นพบหงส์สำริดที่สวยงามตัวหนึ่งที่โบราณสถาน โบสถ์พราหมณ์ในเมืองนครศรีธรรมราช นับเป็นหงส์ที่ยังสมบูรณ์มาก แม้ว่าบางส่วนจะถูกสนิมกัดกร่อนจนผุไปบ้าง คือ ที่บริเวณโคนปีกขวา หงส์ตัวนี้ได้รับการตกแต่งอย่างประณีตมาก ลวดลายยังคงเด่นชัดและงดงามมาก จากการที่มีลักษณะภายในลำตัวหงส์กลวง และที่บนหลังมีช่องที่หล่อขึ้นเป็นพิเศษ ทำให้สันนิษฐานได้ว่าคงสร้างขึ้นเพื่อใช้งานบางอย่างและงานที่เหมาะสมที่สุดคงจะเป็นหม้อน้ำมนต์อันศักดิ์สิทธิ์ เพราะหงส์เป็นสัตว์ที่ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อถือของพราหมณ์ จากลวดลายต่างๆ บนตัวหงส์อาจจะสันนิษฐานได้ว่าหงส์ตัวนั้นคงจะมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๑
จากหลักฐานทางโบราณคดีที่กล่าวมาชี้ให้เห็นว่าได้มีการค้นพบประติมากรรมรูปเคารพของศาสนาพราหมณ์เป็นจำนวนมากในนครศรีธรรมราช โบราณวัตถุเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของศาสนาพราหมณ์ในนครศรีธรรมราชได้เป็นอย่างดี
ที่มาโดย:ปรีชา  นุ่นสุข ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้
วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช

พระพิฆเนศวร์

พระพิฆเนศวร์
พิฆเนศวร์ แปลตามรูปศัพท์ว่าอุปสรรค ดังนั้น พระพิฆเนศวร์เป็นเทพแห่งอุปสรรคและสิ่งกีดขวางทั้งปวง สามารถกีดขวางมนุษย์ เทวดาและมารร้ายต่างๆ ได้ และในขณะเดียวกันก็สามารถกำจัดเครื่องกีดขวางทั้งปวงได้ พระองค์มีพระนามต่างๆ กันออกไปมากมายตามแต่ประวัติในแต่ละคัมภีร์ เช่น พิฆเนศวร คชานนะ เอกทันต์ คณปติ คเณศพิฆนราชะ เหรัมพะ ลัมโพทระ สุรปกรรณะ และคุหา¬ครชะ เป็นต้น พระองค์เป็นโอรสของพระศิวะและนางปารวตี (อุมา) ปัจจุบันเป็นที่นับถือของชาวฮินดูมาก เมื่อจะประกอบพิธีกรรมทางศาสนา หรือจัดงานฉลองเกี่ยวกับศาสนาทุกครั้ง จะต้องสักการะพระพิฆเนศวร์ก่อน เพื่อให้พิธีกรรมและงานดังกล่าวสำเร็จลุล่วงไปโดยปราศจากอุปสรรคใดๆ
พระพิฆเนศวร์มีเศียรเป็นช้าง เป็นเชษฐาของพระขันธกุมารเทพเจ้าแห่งการสงคราม เป็นเจ้าแห่งสติปัญญา ความเฉลียวฉลาดและเจ้าแห่งอุปสรรค ด้วยเหตุนั้นจึงมีผู้เคารพนับถือมาก ในขณะเดียวกันก็ทรงเป็นเจ้าแห่งภูตผีปีศาจและคณะ (คนแคระ) คือ ผู้รับใช้ของพระอิศวรด้วย ทรงหนูเป็นพาหนะ
ในประติมากรรมพระพิฆเนศวร์จะประทับนั่งและประทับยืน บัลลังก์ที่ประทับบางทีก็เป็นบัลลังก์ดอกบัว บางทีก็ทรงหนู เนื่องจากพุงใหญ่มากจึงนั่งขัดสมาธิไม่ได้ต้องแยกขา การยืนมักยืนตรงไม่ยืนตริภังค์หรือทวีภังค์อย่างเทพอื่นๆ เพราะพุงใหญ่ งวงมักทำห้อยลงมาทางซ้ายหรือขวา ส่วน ใหญ่ห้อยไปทางซ้าย มักจะมี ๒, ๔, ๖, ๘, ๑๐ และ ๑๖ กร แต่ส่วนใหญ่นิยมทำ ๔ กร มีงูพันรอบอกและเอวแห่งละตัว สิ่งที่ถือมักต่างกันออกไปตามแบบที่ปรากฏ ส่วนใหญ่จะเป็น ปาศะ (บ่วง) อังกุศะ (ขอสับช้าง) ลูกแอปเปิล ลูกหว้า ไม้ไผ่ มะพร้าว มะม่วง ก้อนน้ำตาล ศักติ (หอก) ลูกศร และธนู ดาบและโล่ ค้อน คทา ตรีศูล ทวน และธง
ในจังหวัดนครศรีธรรมราชเท่าที่ทราบ ในขณะนี้ได้มีการค้นพบพระพิฆเนศวร์ ๔ องค์ เป็นศิลา ๑ องค์ และที่เหลืออีก ๓ องค์เป็นสำริด
พระพิฆเนศวร์ศิลาองค์นี้ ได้ค้นพบ ณ วัดพระเพรง สถานที่เดียวกันกับที่พบพระวิษณุรุ่นเก่าที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นพระพิฆเนศวร์ที่ทรงมี ๒ กร พระกรขวาหักหายไปพร้อมทั่งปลายงวงและพระกรรณ พระหัตถ์ซ้ายถือขนมโมทกะ (ขนมต้ม) อันเป็นสัญลักษณ์ของความรู้ เหนือพระนาภีมีแนวชายผ้าคาดไว้ ทรงพาหุรัด ไม่ทรงสวมมงกุฎ ไม่ประดับพระศอ แต่ประดับเชือกศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ คือ ยัชโญปวีต อันหมายถึง การเป็นทวิชาชาติ คือ ผู้เกิดสองหน ทรงประทับนั่งสมาธิ การที่ประติมากรรมชิ้นนี้มีลักษณะเป็นธรรมชาติและไม่มีการประดับด้วยเครื่องประดับมากมาย จึงจัดได้ว่าเป็นพระพิฆเนศวร์ที่เก่าแก่ที่สุดในภาคใต้องค์หนึ่ง และมีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒
ส่วนประติมากรรมพระพิฆเนศวร์สำริดอีก ๓ องค์ ได้ค้นพบที่
เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ในอำเภอเมืองทั้งสิ้น แต่ละองค์จะมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป กล่าวคือ องค์แรก ได้แก่ พระพิฆเนศวร์ประทับยืน มี ๔ กร กรขวาหลังทรงถือสังข์ กรขวาหน้าทรงถืองาขวาของตนเองที่หักไป กรหลังซ้ายถือบ่วงบาศ และกรซ้ายหน้าถือขนมโมทากะ พระเศียรประดับด้วยกระบังหน้า มีพาหุรัดทองกร แสะกรองศอ มีสายยัชโญปวีต ทรงนุ่งผ้าสั้น มีเข็มขัดผ้าคาด และชายผ้าห้อยลงมาข้างหน้าประทับยืนบนฐานสี่เหลี่ยม ๒ ชั้น ฐานชั้นล่างมีจารึกอักษรทมิ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ ปรากฏอยู่ จึงอาจจะกำหนดได้ว่าประติมากรรมชิ้นนี้มีอายุ ในพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ และได้รับอิทธิพลทางศิลปกรรม จากอินเดียภาคใต้ แต่กระบังหน้าคล้ายกับพระคเณศจากบาสัก ศิลปะขอมแบบเกาะแกร์ (ราวพ.ศ. ๑๔๖๕-๑๔๙๐) องค์ที่สองเป็นพระพิฆเนศวร์ที่มีรูปแบบเหมือนกับองค์แรกทุกประการ จะแตกต่างกันออกไปก็เพียงแต่องค์นี้ประทับนั่งเท่านั่น สิ่งที่แปลกมากในศิลปกรรมชิ้นนี้คือ พระองค์ประทับนั่ง บนฐานสี่เหลี่ยมที่มีร่องน้ำอย่างเดียวกันกับโยนิโทรณะที่พบโดยทั่วไปในนครศรีธรรมราชใต้ฐานดังกล่าวยังมีหนูพาหนะของพระองค์หมอบอยู่ด้วย การที่มีฐานเช่นนี้ทำให้สันนิษฐานได้ว่าในการประกอบพิธีกรรมของพราหมณ์นั้น คงจะรองรับน้ำที่รดผ่านพระองค์ไปใช้ในกิจพิธีต่างๆ เพื่อสิริมงคล เทวรูปองค์นี้คงจะมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ และพระพิฆเนศวร์องค์สุดท้าย เป็นพระพิฆเนศวร์ ๒ กรหัตถ์ขวาทรงถืองาตนเองที่หัก หัตถ์ซ้ายทรงถือขนมโมทากะ ประทับนั่งสมาธิเหนือฐานสี่เหลี่ยม พระเศียร ประดับด้วยกระบังหน้าและหมวกทรงกระบอก คล้ายเทวรูปพระนารายณ์ที่พบโดยทั่วไปในภาคใต้ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะแบบปัลลวะของอินเดียภาคใต้ มีกรองศอ พาหุรัดทองพระกร สายยัญโญปวีต และผ้าคาดบั้นพระองค์ที่ตกแต่งอย่างสวยงาม นับเป็นประติมากรรมที่งดงามและประณีตมาก ด้วยเหตุที่รับอิทธิพลจากศิลปะปัลลวะดังกล่าวมาก อาจจะกำหนดอายุได้ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๖
ที่มาโดย:ปรีชา  นุ่นสุข ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้
วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช

พระอุมา

พระอุมา
พระอุมา แปลตามตัวว่า แสงสว่าง นางเป็นชายาของพระอิศวรหรือพระศิวะ และมีหลายนาม เช่น เทวี (เทพธิดา) และปารพตี (ชาวเขาเพราะเป็นธิดาแห่งท้าวหิมวัต คือ ภูเขาหิมาลัย) เป็นต้น เนื่องจากนางเป็นศักติ (กำลังแรง) ของพระอิศวร นางจึงมีลักษณะ ๒ ประการ คือ เรียบร้อยและรุนแรงโหดร้าย สำหรับลักษณะหลังทำให้มีผู้เคารพนับถือนางมาก และทำให้นางมีนามหลายนาม เช่น ทุรคา (ผู้เข้าถึงได้โดยยาก) กาลี (ผู้มีผิวดำ) และไภรวี (ผู้รุนแรง) เป็นต้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ผู้บูชานางด้วยโลหิต ในลักษณะโหดร้าย นางมี ๑๐ กร และถืออาวุธต่างๆ กัน นางมีนามว่ามหิษมรรทินี เมื่อฆ่ามหิษะ คือ อสูรในรูปควาย
คัมภีร์อุตตร-กามิกาคม กล่าวว่าเมื่อปรากฏกายเดี่ยว (ไม่มีเทพ) นางจะมี ๔ กร ๓ เนตร สวมกรัณทกุฎ และสวมผ้าไหม ถือปาศะ (บ่วง) และอังกุศะ (ขอสับช้าง) ส่วน ๒ กรหน้าเป็นปางกฏกะ (ทำมือกำดอกไม้แต่ไม่มีดอกไม้ แสดงว่าจะต้องมีดอกไม้สดมาปักเป็นประจำ) ส่วนอีกกรหนึ่ง จะปล่อยลงมาข้างลำตัว มี ๒ เนตร พระฉวีเป็นสีทองสง่างาม บางทีแม้จะประทับยืนเดี่ยวๆ ก็มี ๒ กรเท่านน โดยจะถือนกแก้วหรือกระจก ดอกบัวสีฟ้า หรือบางทีจะถือตรีศูล และปาศะ (บ่วง) หรืออาวุธอื่นๆตามแต่ศิลปินจะจัดให้ ในบางกรณีจะมีถึง ๖ กร โดย ๔ กรหลังถือปาศะ อังกุศะ สังข์และจักร ส่วน ๒ กรหน้าจะอยู่ในปางประทานพรและ ประทานอภัย และที่ปรากฏว่ามีถึง ๑๐ กร ๕ เศียรก็มีบ้าง เป็นปางที่แสดงอาการดุร้าย โดยกรทั้ง ๑๐ ถืออาวุธประจำของพระศิวะในท่ากอดรัดพระศิวะ โดยจะประทับนั่งบนพระเพลาของพระศิวะ ถ้าประทับนั่งเคียงบนแท่นเดียวกัน พระบาทข้างหนึ่งของเทพีจะเป็นซ้าย หรือขวา จะต้องห้อย ลงมาเสมอ ”
ในนครศรีธรรมราชได้ค้นพบประติมากรรมพระอุมาสำริดองค์หนึ่ง นางประทับยืนในท่าตริภังค์ (แปลว่า หักสามส่วน หมายถึงการยืนเอียงศีรษะ ไหล่และตะโพก) ทรงดอกบัวอยู่ในพระหัตถ์ขวา ทรงมกุฎรูปหม้อทรงสูง (กีรีฏะ- มกุฎ) ทรงสไบรอบพระอุระ ชายผ้าพันรอบพระโสณี (ตะโพก) ผูกเป็นโบทั้งสองข้าง ตามประเพณีแล้วนางจะประทับยืนอยู่บนฐานอีกฐานหนึ่งทางเบื้องซ้ายของนาฏราชา รูปแบบของประติมากรรมชิ้นนี้มีควานคล้ายคลึงกับนางปารวตีสำริด ที่พบที่ตำบลตันชอร์ เมืองมัทราส ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ที่แสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์รัฐบาลเมืองมัทราส ประเทศอินเดีย และนางปารวตีสำริด ศิลปะอินเดียแบบทมิฬ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ มาก ดังนั้นพระอุมาองค์นี้จึงเป็นศิลปะของกลุ่มชนภาคใต้ อิทธิพลศิลปะอินเดียภาคใต้อายุราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๓
ที่มาโดย:ปรีชา  นุ่นสุข ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้
วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช

พระศิวะ

พระศิวะเทพ
พระศิวะเป็นเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่องค์หนึ่งในบรรดาเทพผู้ยิ่งใหญ่สามองค์ของพราหมณ์ พระศิวะเป็นเทพเจ้าผู้ทำลายล้าง ในขณะที่พระพรหมเป็นผู้สร้างและพระวิษณุเป็นผู้รักษา ในคัมภีร์พระเวท (ในฤคเวทและอถรรพเวท) ได้กล่าวถึง คำว่า ศิวะ (แปลว่าฤกษ์งามยามดี) ว่าเป็นนามหนึ่งของ รุทระ ในบทสวดสรรเสริญทั้งหมดก็ใช้รุทระทั้งสิ้น รุทระ เป็นเทพที่นำความเจ็บไข้และความตายมาสู่มนุษย์ ต่อมาในยุคหลังๆ จึงได้รับการเรียกว่า “ศิวะ” ศิวะมีชื่อเรียกต่างออกไปอีกมาก เช่น มหาเทวะ รุทระ ธูรชฏิ นีลกัณฑ์ และตรีเนตร เป็นต้น ในการบูชาพระศิวะนั้นจะใช้ลึงค์เป็น สัญลักษณ์ และมีการทำรูปปั้นขนาดเท่ามนุษย์ด้วย แต่ที่นิยมกันมากที่สุด คือ ลึงค์ ในบรรดาศาสนสถานของพระศิวะนั้นจะนิยมประดิษฐานศิวลึงค์เป็นองค์ประธาน ส่วนรูปพระศิวะจะประดิษฐานไว้ตามมุมต่างๆ ในวัด เป็นส่วนประกอบเท่านั้นเอง พระศิวะเป็นเทพสูงสุดในลัทธิไศวนิกาย
วิวัฒนาการของลึงค์อาจจะเริ่มต้นมาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ อย่างการขุดค้นโมเหนโชดาโร และฮารัปปาในอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุได้ค้นพบหินเล็กๆ รูปทรงกระบอก และรูปกรวย หินรูปทรงกระบอกนี้อาจจะหมายถึงสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์และหมายถึงสัญลักษณ์ของพระศิวะเอง ในแบบของอวัยวะเพศชาย ส่วนหินรูปทรงกลมแผ่นแบนๆ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ ๑/๒ นิ้ว ถึง ๔ ฟุต ก็พบว่าอยู่ในหลุมขุดค้นเดียวกันกับหินรูปทรงกระบอก คงจะหมายถึง สัญลักษณ์ของ “โยนี”
หรืออวัยวะเพศหญิง ซึ่งเป็นเครื่องหมายของชีวิต เลือดเนื้อ และการสืบต่ออายุ หรืออีกนัยหนึ่ง คือ สัญลักษณ์ของความเป็นมารดา ผู้ประทานความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ชีวิตมนุษยชาติ หลักฐานเหล่านี้อาจจะเข้าใจได้ว่า ชาวอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุนับถือบูชาเทพหญิงและชาย ในแบบของ “ลึงค์” และ “โยนี” ต่อมาคติการนับถือแบบนี้ก็ตกทอดมาเป็นมรดกทางศาสนาให้กับชาวฮินดูในสมัยประวัติศาสตร์
ลึงค์ อาจจะแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ ลึงค์ที่เคลื่อนย้ายได้ และลึงที่เคลื่อนย้ายไม่ได้ ลึงค์ที่เคลื่อนย้ายได้ คือ บรรดาลึงค์ที่ทำด้วยดิน (ดินดิบและดินเผา) โลหะ (ทอง) เงิน ทองแดง เหล็ก ตะกั่ว หินมีค่า ไข่มุก ปะการัง หินตาแมว ผลึกหินควอร์ทซ์ หยก) และลึงค์ที่เคลื่อนย้ายไม่ได้มีอยู่ด้วยกัน ๙ ประเภท คือ สวายัมภูวะ คือ ลึงค์ที่เกิดเองตามธรรมชาติ เคลื่อนย้ายไม่ได้ ประดิษฐานอยู่ในที่ต่างๆ รวม ๖๘ แห่งทั่วอินเดีย ไควตะ คือ ลึงค์ที่มีรูปร่างเหมือนเปลวไฟ หรือเหมือนมือ ๒ มือ ในท่าเทพนม หรือเหมือนสิ่วหรือสามง่ามก็ได้ คานปัตยะ คือ ลึงค์ที่สร้างโดยพวกคานาส (พวกคนแคระ) มีรูปร่างเหมือนผลแตงกวา มะนาว หรือ แอปเปิล อรรษะ คือ ลึงค์ที่พวกฤษีใช้บูชา มีรูปร่างเหมือนผลมะพร้าวที่ยังไม่ปอกเปลือก มานุษ คือ ลึงค์ที่ต้องสร้างโดยมือมนุษย์ สร้างตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้ ในอาคม มนุษย์ลึงค์มี ๓ ส่วน ส่วนล่างสุดเป็นรูปสามเหลี่ยม เรียกว่า พรหมภาค ตอนกลางเป็นรูปหกเหลี่ยมเรียกว่าวิษณุ ภาคตอนยอดสุดเป็นรูปกลมเรียกว่า รุทรภาค ขนาดสูงต่ำของแต่ละภาคหรือแต่ละส่วนขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ที่วางไว้
ศาสตราจารย์ ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล ได้ทรงกล่าวถึง ศิวลึงค์ว่า “… คือ องค์กำเนิดของเพศชาย ใช้เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระอิศวรหรือศิวะ หมายถึงการสร้างสรรค์ความมั่งคั่ง ความเจริญรุ่งเรือง ในขณะเดียวกันก็หมายถึงตรีมูรติ (พระผู้เป็นเจ้าสามองค์ในศาสนาพราหมณ์) ด้วย คือ ส่วนสี่เหลี่ยมเบื้องล่างเรียกว่า พรหมภาค (พระพรหม) ส่วนกลาง แปดเหลี่ยมเรียกว่า วิษณุภาค (พระวิษณุ) ส่วนยอดรูปทรงกระบอกเรียกว่า รุทรภาค (พระอิศวร) โดยทั่วไปทั้งสามส่วนมักจะมีความสูงเท่ากัน มีฐานรองรับซึ่งมีร่องให้น้ำมนต์ไหลเรียกว่า “โยนี” และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พิริยะ ไกรฤกษ์ กล่าวว่า ลุงค์คือ สัญลักษณ์เพศชาย ใช้แทนองค์พระอิศวร วิษณุภาค คือ ส่วนที่เป็นรูปแปดเหลี่ยม และ รุทรภาค คือ ส่วนยอดรูปกลมของศิวลึงค์
ในบรรดามนุษย์ลึงค์นั้นมุขลึงค์นับว่าน่าสนใจเพราะมีหน้าคนสลักอยู่ อาจจะหน้าเดียวหรือหลายหน้าก็ได้
ในรูปของเทพนั้นพระศิวะทรงเป็นมหาโยคี ทรงมุ่นมวยผมเป็นชฎา (อย่างน้อยก็ในระยะแรก) ทรงนุ่งหนังเสือ และถือตรีศูล ทรงมีเนตรที่ ๓ ขวางอยู่กลางพระนลาฏ ซึ่งถ้าลืมขึ้นเมื่อใดก็จะเกิดเป็นไฟบรรลัยกัลป์เผาผลาญโลก ทรงทัดจันทร์เสี้ยวเป็นปิ่น และสวมนาคเป็นสังวาล ประติมา- กรรมที่สำคัญของพระองค์คือพระอิศวร ทรงฟ้อนรำ หรือ พระศิวะนาฏราช เพราะผู้ที่นับถือศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย ซึ่งยกย่องพระองค์เป็นใหญ่จะถือว่าจังหวะการฟ้อนรำของพระองค์อาจบันดาลเหตุร้ายให้เกิดแก่โลกได้ พระศิวะปางโกรธเรียกว่า พระศิวะโภท คือ ผู้ทำลายที่น่ากลัว นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเป็นภูเตศวร คือ เจ้าแห่งภูตผีปีศาจด้วย ชายาของพระองค์ คือ พระอุมา (ปารพตี) และพาหนะ คือ โคนนทิ

ศิวนาฏราช
(๑) ศิวนาฏราช
ในที่นี้จะกล่าวถึงรูปเคารพของพระศิวะที่ค้นพบในจังหวัดนครศรีธรรมราชในรูปของเทพก่อน ซึ่งมีอยู่เพียงชิ้นเดียวเท่านั้น คือ พระศิวนาฏราช หรือนาฏราชา ซึ่งค้นพบที่โบสถ์พราหมณ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง ภาพนี้เป็นศิลปะของกลุ่มชนภาคใต้ อิทธิพลของศิลปะอินเดียภาคใต้ อายุราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๓ แต่ลักษณะทางประมาณวิทยาของศิลปกรรมชิ้นนี้ มีความคล้ายคลึงกับพระศิวนาฏราชสำริด ศิลปะอินเดียแบบ ทมิฬ สมัยราชวงศ์โจฬะ ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ซึ่งปัจจุบันจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์วิคตอเรีย แอนด์ อัลเบอร์ด กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษมาก ดังนั้นประติมากรรมซึ่งค้นพบ ณ นครศรีธรรมราช จึงอาจจะกำหนดอายุให้สูงขึ้นไปได้อีกหลายศตวรรษ
ประติมากรรมสำริดชิ้นนี้ แสดงจักรวาลของลัทธิไศว¬นิกายโดยวงโค้งรูปเกือกม้าที่มีเปลวไฟพวยพุ่งโดยรอบ การเคลื่อนไหวทั้งหมดเกิดขึ้นได้จากจังหวะนาฏลีลาของพระศิวะ บทบาทของสัญลักษณ์ที่แสดงถึงหน้าที่ของพระศิวะ คือ กลองที่ทรงไว้ในพระหัตถ์ขวาด้านหลังในภาวะที่เป็นพระผู้รักษา พระหัตถ์ขวาด้านหน้าอยู่ในท่าปางประทานอภัย พระหัตถ์ซ้ายด้านหลังทรงอัคนีสัญลักษณ์ของการทำลาย ด้วย พระอังคุส (นิ้วหัวแม่มือ) กับพระดรรชนี (นิ้วชี้) ในขณะที่พระหัตถ์ซ้ายด้านหน้าชี้ยังพระบาทที่ยกขึ้น อันเป็นที่พำนักแห่งวิญญาณ พระองค์ทรงอยู่ในท่าภุชงคตราสิต เป็นหนึ่งใน ๑๐๘ ท่า ของนาฏลีลาและนาฏราชาในแบบของอินเดียใต้ ที่นิยมกันทั่วไป พระเกศาที่มุ่นเป็นเกลียวประดับด้วยขน นกยูง ดอกไม้และงูพิษ มีสัญลักษณ์ของพระองค์อีกสองอย่างประดับอยู่ คือ กปาละ และพระจันทร์เสี้ยวที่พระกรรณข้างขวาทรงกุณฑลรูปมกร ส่วนพระกรรณข้างซ้ายทรงกุณฑลรูปจักร กุณฑลแบบแรกแสดงถึงครึ่งเพศชาย และกุณฑลแบบหลัง แสดงถึงครึ่งเพศหญิง พระบาทขวาทรง เหยียบอปัสมารปุรุษ ชื่อ มุยลก ซึ่งถืองูเห่าอยู่ในมือซ้าย

ศิวลึงค์
(๒) ศิวลึงค์
รูปเคารพที่สำคัญมากในลัทธิไศวนิกายที่ค้นพบมาก ในนครศรีธรรมราชอีกอย่างหนึ่ง คือ ศิวลึงค์ ซึ่งส่วนใหญ่สลักด้วยศิลาและพบกระจัดกระจายโดยทั่วไปในชุมชนโบราณ แทบทุกแห่งของนครศรีธรรมราช ศิวลึงค์เหล่านี้มีหลายรูปแบบและหลายขนาด โดยพอจะจัดได้ว่าลึงค์เหล่านี้ส่วนใหญ่มีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ และในขณะนี้ยังไม่มีการค้นพบมุขลึงค์ในนครศรีธรรมราช ในที่นี้จะแบ่งศิวลึงค์ ที่ค้นพบในนครศรีธรรมราชออกเป็นกลุ่มๆ ดังนี้ คือ
กลุ่มที่ ๑ ศิวลึงค์ที่สลักอยู่กับโยนิโทรณะ
ขณะนี้ได้ค้นพบประติมากรรมศิวลึงค์ขนาดเล็กสลักติดอยู่กับฐาน (หรือโยนีหรือโยนิโทรณะ) เพียงสองชั้นเท่านั้น ลักษณะของศิวลึงค์เหล่านี้คล้ายคลึงกับที่ค้นพบ ณ ดงศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี และปัจจุบันย้ายมาจัดแสดง ณ พิพิธภณฑสถานแห่งชาติพระนคร
กลุ่มที่ ๒ ศิวลึงค์ยุคหัวเลี้ยวหัวต่อ
ดังได้กล่าวมาแล้วว่าลึงค์แบ่งออกได้เป็นสามส่วน คือ ส่วนยอดรูปทรงกลม เรียกว่า รุทรภาค ถัดลงมาเป็นรูปแปดเหลี่ยมเรียกว่า วิษณุภาค และส่วนรูปสี่เหลี่ยมเรียกว่า พรหมภาค โดยทั่วไปลึงค์ที่สร้างให้มีลักษณะใกล้เคียงกับธรรมชาดิอย่างมาก จะมีอายุเก่ากว่าลึงก์ที่ทำขึ้นตามแบบแผนคตินิยม คือ ลึงค์ที่สร้างให้ส่วนทั้งสามมีขนาดไล่เลี่ยเท่ากัน โดยตลอด ลึงค์ในกลุ่มนี้จัดว่าเป็นตัวอย่างของลึงค์ในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อ เพราะว่าส่วนมากรูปทรงกลม (รุทรภาค) จะมีขนาดใหญ่กว่าส่วนรูปแปดเหลี่ยม (วิษณุภาค) และส่วนรูปสี่เหลี่ยม (พรหมภาค) รวมกัน จึงจัดได้ว่ามีอายุอยู่ในต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๒
กลุ่มที่ ๓ ศิวลึงค์ยุคตามแบบแผนคตินิยม
ศิวลึงค์ในยุคนี้นิยมสลักตามคตินิยมทุกประการ คือ สลักให้ความสูงของส่วนยอด (รุทรภาค) ส่วนแปดเหลี่ยม (วิษณุภาค) และส่วนฐานสี่เหลี่ยม (พรหมภาค) เท่ากันหมด หรือไล่เลี่ยกัน ศิวลึงค์ในกลุ่มนี้มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔
กลุ่มที่ ๔ ศิวลึงค์ที่ไม่ทราบรูปแบบที่แน่นอน 

ได้ค้นพบศิวลึงค์บางองค์ที่ชำรุดมาก จนไม่สามารถสังเกตรูปแบบที่แน่ชัดได้ และศิวลึงค์บางองค์ยังฝังอยู่ในดินและเป็นที่เคารพของประชาชนโดยทั่วไปอยู่ในเทวสถาน ไม่สามารถขุดขึ้นมาพิสูจน์ได้ว่าเป็นรูปทรงใดแน่

โยนิโทรณะ
(๓) โยนิโทรณะ
โยนิโทรณะ คือ ฐานที่ประดิษฐานศิวลึงค์ มักจะมีร่องเพื่อให้น้ำไปลงตามพิธีกรรมและความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ ได้มีการค้นพบโยนิโทรณะเป็นจำนวนมากในนครศรีธรรมราช โยนิโทรณะเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นศิลาทั้งสิ้น ในที่นี้อาจจะแบ่งรูปแบบของ โยนิโทรณะ ดังกล่าวออกเป็นกลุ่มๆ ได้ดังนี้ คือ
กลุ่มที่ ๑ โยนิโทรณะที่ไม่มีร่องรอยการสลัก
นับเป็นโยนิโทรณะแบบดั้งเดิม เพราะเป็นเพียงหินที่เจาะรูเท่านั้น ไม่มีร่องรอยการประดับตกแต่งแต่อย่างใดเลย อาจจะกำหนดให้มีอายุใกล้ เคียงกับศิวลึงค์รุ่นแรกที่พบในนครศรีธรรมราช คือ ราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๒ สำหรับรูนั้นอาจจะเป็นสัญลักษณ์ของเพศหญิง หรือใช้สำหรับเสียบ ศิวลึงค์ก็ได้
กลุ่มที่ ๒ โยนิโทรณะที่ไม่ได้เจาะรู
เป็นโยนิโทรณะที่มีร่องรอยการสลักและตกแต่งให้มีรูปร่างและขนาดที่สวยงามรวมทั้งมีร่องน้ำด้วย แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าไม่ได้มีการสลักเป็นรูลงไปในแผ่นศิลาดังกล่าวนี้เลย ดังนั้นการประดิษฐาน ศิวลึงค์บน โยนิโทรณะแบบนี้จึงอาจจะวางฐานศิวลึงค์ไปบนแผ่นโยนิโทรณะโดยไม่ต้องมีการเสียบด้วยเดือยแต่อย่างใด อาจจะกำหนดให้โยนิโทรณะแบบนี้มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ นับเป็นแบบที่พบน้อยมาก
กลุ่มที่ ๓ โยนิโทรณะที่เจาะรูไม่ทะลุ
มีโยนิโทรณะแบบหนึ่ง มีการตกแต่งองค์ประกอบทั้ง ภายนอก และภายในเช่นเดียวกับโยนิโทรณะโดยทั่วไปทุกประการ มีร่องน้ำ และมีการเจาะรูที่ตรงกลางแผ่นศิลาด้วย หากแต่รูที่เจาะนั้นไม่ได้เจาะให้ผ่านทะลุแผ่นศิลา อาจจะเจาะให้ลึกเพียงครึ่งหนึ่งของแผ่นศิลาเท่านั้น กำหนดให้มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ เช่นเดียวกัน
กลุ่มที่ ๔ โยนิโทรณะที่เจาะรูทะลุตลอด

โยนิโทรณะแบบนี้มีรูปแบบเหมือนกับแบบที่สามทุกประการ หากต่างกันเพียงว่าโยนิโทรณะแบบนี้มีการเจาะรูที่ตรงกลางแผ่นศิลา โดยเจาะให้รูดังกล่าวทะลุผ่านแผ่นศิลาลงไปโดยตลอด กำหนดให้มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ เช่นกัน
กลุ่มที่ ๕ โยนิโทรณะที่ฐานสูงมาก และมีลวดลายประดับ
ในบรรดาโยนิโทรณะที่ค้นพบในนครศรีธรรมราช มักจะสลักด้วยศิลาที่ไม่หนามากนัก คือไม่เกิน ๖ นิ้ว แต่กระนั้นก็ตามได้มีการค้นพบโยนิโทรณะแบ่งชิ้น ซึ่งมีความสูงมาก คือ ราว ๑ เมตรเศษ ลักษณะด้านบนมีการตกแต่ง ให้มีร่องน้ำ และรูที่เจาะไม่ทะลุผ่านตลอด เช่นเดียวกับโยนิ- โทรณะแบบที่สาม แต่ลักษณะที่พิเศษไปจากแบบอื่นๆ คือ เป็นโยนิโทรณะที่มีฐานสูงมาก และมีลวดลายสลักประดับทุกด้านของฐานนี้ มีการสลักฐานเป็นลวดบัวขึ้นไปเป็นชั้นๆ และมีเสาด้วย เหมือนกับการสลักภาพจำลองอาคาร อาจจะกำหนดให้มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔
ที่มาโดย:ปรีชา  นุ่นสุข ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้
วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช

พระวิษณุ

ประติมากรรมรูปเคารพของศาสนาพราหมณ์ที่ค้นพบในนครศรีธรรมราช
ด้วยเหตุที่นครศรีธรรมราชมีความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรมกับอินเดียอย่างใกล้ชิดมาตั้งแต่โบราณกาลที่กล่าวมา ทำให้มรดกทางวัฒนธรรมของศาสนาพราหมณ์อันเป็นศาสนาที่สำคัญของชาวอินเดีย ปรากฏอยู่อย่างกระจัดกระจายโดยทั่วไป ในนครศรีธรรมราช ซึ่งในที่นี้ขอกล่าวเฉพาะประติมากรรมรูปเคารพของศาสนาพราหมณ์ที่ค้นพบในนคร ศรีธรรมราชเท่านั้น

พระวิษณุ
พระวิษณุ
พระวิษณุเป็นเทพองค์หนึ่งในสามองค์ของเทพตรีมูรติของพราหมณ์ (พระพรหม พระศิวะ และพระวิษณุ) มีหน้าที่ปกปักรักษาความสงบสุขของจักรวาล ส่วนพระพรหม และพระศิวะ มีหน้าที่สร้างและทำลายตามลำดับ พระวิษณุ เป็นเทพที่เก่าแก่ปรากฏมาตั้งแต่ยุคพระเวท เพราะปรากฏในพระเวททั้งสี่ (ฤคเวท ยชุรเวท สามเวท และอถรรพเวท) แต่ไม่ได้ เป็นเทพสูงสุด เป็นเพียงเทพแห่งพระอาทิตย์ มหาภารตะกล่าวว่า พระวิษณุเป็นโอรสองค์สุดท้ายของพระอาทิตย์ (ในบรรดาโอรส ๑๒ องค์) มีอำนาจและพลังเหนือโอรสองค์อื่นๆ การถือกำเนิดจากพระอาทิตย์ของวิษณุ ช่วยส่งให้วิษณุกลายเป็นเทพผู้ยิ่งใหญ่ในยุคต่อมา ในคัมภีร์พระเวทตอนหลังๆ (ในพราหมณะ) ได้บรรยายถึงพระอัคนี พระวายุและพระสุริยะ ว่าเป็นเจ้าแห่งดิน ฟ้า และสวรรค์อันเป็นการจัดให้เทพทั้งสามมีความสัมพันธ์กัน อันเป็นทางนำไปสู่การรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหรือตรีมูรติของเทพทั้งสาม โดยพระอาทิตย์เป็นเทพผู้สร้างส่วนหน้าที่ทำลายล้างเป็นหน้าที่ของพระอัคนี (อันเป็นหน้าที่โดยตรงของพระศิวะ ในยุคต่อมา) ส่วนพระวายุหรือเทพเจ้าแห่งลมมีความสัมพันธ์กับพระอินทร์ เทพเจ้าแห่งแสงสว่างและมีความสัมพันธ์กับ พระวิษณุเทพแห่งแสงอาทิตย์อีกด้วย ส่วนชื่อนารายณะ วสุเทวะ รามะ และกฤษณะ เป็นชื่อที่เกิดขึ้นทีหลัง ครั้นในยุคปุราณะพระวิษณุได้รับยกย่องว่าเป็นเทพสูงสุดองค์หนึ่ง ในเทพสูงสุดสามองค์ของศาสนาพราหมณ์เป็นเทพสูงสุดของศาสนาพราหมณ์ลัทธิไวษณพนิกาย
พระวิษณุทรงมีผิวคล้ำา มีสี่กร ทรงถือสังฃ์ จักร คทา และดอกบัว (หมายถึงธรณี) ตามลำดับ ทรงมีมเหสีนามว่า พระลักษมีหรือพระศรี เทพีแห่งโชกลาภ และทรงครุฑเป็นพาหนะ
ประติมากรรมพระวิษณุที่ประดิษฐานอยู่เป็นองค์ประธานในโบสถ์มักมี ๓ ท่านด้วยกัน คือ ท่ายืน นั่ง และนอน ท่ายืนเรียกว่า สทนกะ-มูรติ ท่านั่งเรียกว่า อาสนะ-มูรติ และท่านอนเรียกว่า สยนะ-มูรติ ท่าทั้งสามนี้แต่ละท่ายังแบ่งออกเป็น ๔ แบบย่อย คือ แบบโยคะ แบบโภคะ แบบวีระ และแบบอาภิจาริกะ แบบต่างๆ นี้แตกต่างกันออกไปเพื่อให้สอดคล้องกับความปรารถนาของผู้บูชา
ในจังหวัดนครศรีธรรมราชได้ค้นพบประติมากรรม รูปเคารพพระวิษณุหลายองค์กล่าวคือ ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ค้นพบประติมากรรมพระวิษณุ ศิลาซึ่งจัดเป็นเทวรูปที่เก่าที่สุดในประเทศไทยหรือในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ๒ องค์ คือ พระวิษณุซึ่งค้นพบ ณ หอพระนารายณ์ ตำบลในเมือง ปัจจุบันย้ายไปจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราชองค์หนึ่ง และอีกองค์หนึ่ง คือพระวิศณุซึ่งได้ค้นพบ ณ วัดพระเพรง ตำบลนาสาร ปัจจุบันย้ายไปจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช
ศาสตราจารย์ ม.จ. สุภัทร ดิสกุล ได้ทรงกล่าวถึงเทวรูปทั้งสององค์นี้ว่า “เทวรูปที่เก่าที่สุดในประเทศไทย หรือภาคเอเชียอาคเนย์ คงเป็นเทว รูป ที่ค้นพบทางภาคใต้ของประเทศไทย เช่น เทวรูปพระนารายณ์ศิลา ซึ่งค้นพบที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี สูง ๖๙ ซม. และปัจจุบันรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เทวรูปองค์นี้คงมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๙-๑๐ เพราะเหตุว่าแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศิลปะอินเดียสมัยมถุรา และอมราวดีตอนปลาย (พุทธศตวรรษที่ ๘-๙) โดยเฉพาะการถือสังข์ในหัตถ์ซ้ายล่าง และหัตถ์ขวาล่างแสดงปางประทานอภัย ยังได้ค้น พบเทวรูปแบบนี้ในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราชอีก ๒ องค์ แต่คงสลักขึ้นหลังเทวรูปองค์ที่กล่าวมานี้เล็กน้อย เพราะหัตถ์ขวาล่างได้เปลี่ยนเป็นถือดอกบัวแล้ว”
ส่วนผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พิริยะ ไกรฤกษ์ มีความเห็นเกี่ยวกับเทวรูปกลุ่มดังกล่าวนี้ว่า “ประติมากรรมที่แสดงอิทธิพลอินเดียที่เก่าที่สุดที่ได้พบในคาบสมุทรของประเทศไทยก็คือ พระวิษณุ ซึ่งพบที่วัดศาลาทึง อำเภอไชยา ประติมากรรมชิ้นนี้มีรูปแบบอยู่ในกลุ่มพระวิษณุที่เก่าที่สุดของอินเดีย สมัยกุษาณะที่มถุรา (พ.ศ. ๖๒๑-๗๔๓) พระวิษณุในรุ่นนี้พระหัตถ์ซ้ายหลังทรงจักร อย่างไรก็ดีประ¬ติมากรรมรูปพระวิษณุนี้คงได้รับ อิทธิพล ศิลปะอินเดียที่ใกล้ที่สุดจากพระวิษณุที่พบในลุ่มแม่น้ำกฤษณา ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีอายุอยู่ในราชวงศ์อีกษวากุ แห่งเมืองนครชุนนะโกณฑะ (พ.ศ. ๗๑๘-๗๙๓) เพราะรูปแบบมีลักษณะร่วมทางประติมาณวิทยา ได้แก่ ลักษณะผ้านุ่งและกติสุตรา (เข็มขัดผ้ารัดตะโพก) ซึ่งม้วนห้อยลงมาทางด้านหน้า รวมทั้งตุ้มหูซึ่งตกแต่งด้วยพู่ ทำนองเดียวกันจากลักษณะรูปแบบที่ใกล้เคียงกันมากของประติมากรรมรูปพระวิษณุนี้เป็นสิ่งที่ยืนยันว่าได้มีการติดต่อกันโดยตรงระหว่างอินเดียภาคตะวันออกเฉียงใต้กับชุมชนผู้ซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณคอคอคกระของคาบสมุทร ความละม้ายคล้ายคลึงนี้ยังเป็นหลักฐานยืนยันถึงความรวดเร็วที่ศาสนาและการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของศิลปะจากอินเดียมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สอดคล้องกับจดหมายเหตุของราชวงศ์จีน ซึ่งกล่าวถึงความเจริญของศูนย์กลางการค้าในคาบสมุทร พร้อมด้วยชาวอินเดียที่อพยพมาสร้างถิ่นฐานอยู่เป็นจำนวนมากในกลางพุทธศตวรรษที่ ๘ นอกจากประติมากรรมที่ผุกร่อน ซึ่งพบที่ถ้ำสิงขร อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานีแล้ว ยัง ได้พบพระวิษณุที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันอีก ๒ องค์ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช”
ดังนั้น สรุปได้ว่าพระวิษณุที่ค้นพบ ณ หอพระนารายณ์ มีลักษณะทางประติมาณวิทยาเช่นเดียวกันกับองค์ที่ค้นพบที่วัดศาลาทึง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีรูปแบบเป็นรูปแบบของพระวิษณุที่เก่าที่สุดในศิลปะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ประติมากรรมชิ้นนี้มีรูปลักษณะที่แตกต่างไปจากรูปแบบของศิลปะอินเดียมากกว่าพระวิษณุจากไชยา ส่วนพระวิษณุที่ค้นพบ ณ วัดพระเพรงนั้น ถึงแม้ว่าพระหัตถ์ซ้ายจะทรงถือสังข์อยู่ข้างพระโสณี ส่วนพระหัตถ์ขวาหน้าทรงถือสัญลักษณ์ซึ่งถ้าไม่เป็นดอกบัวก็เป็นก้อนดิน ซึ่งคล้ายกับพระวิษณุองค์อื่นๆ สมัยต่อมา แต่ ประมาณวิทยาแสดงให้เห็นว่ามีอายุอยู่ในระยะหลังกว่าพระวิษณุที่ทรงแสดงปางประทานอภัยด้วยพระหัตถ์ขวา พระวิษณุ ที่ค้นพบ ณ หอพระนารายณ์จึงควรมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐ และพระวิษณุที่พบ ณ วัดพระเพรงควรมีอายุราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ถึงราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๑
ในระยะต่อมาประติมากรรมพระวิษณุที่ค้นพบในภาคใต้ซึ่งมีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ ลงมา ส่วนใหญ่เป็นพระวิษณุ ๔ กร ทรงถือจักร (ในพระหัตถ์ขวาบน) สังข์ในพระหัตถ์ซ้ายบน คทา (ในพระหัตถ์ซ้ายล่าง) และธรณีหรือดอกบัว (ในพระหัตถ์ขวาล่าง) สวมหมวกทรงกระบอก นุ่ง ผ้ายาวคล้ายผ้าโสร่ง มีจีบอยู่ทางด้านหน้า เทวรูปเหล่านี้แบ่งออกได้เป็น ๒ หมู่ คือ หมู่หนึ่งคาดผ้าเฉียง และอีกหมู่หนึ่งคาดผ้าตรง ผูกเป็นปมอยู่ทางด้านขวา หมู่คาดผ้าเฉียงนั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกับเทวรูปในศิลปะสมัยหลังคุปตะ คือ สมัยราชวงศ์ปัลลวะทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ของประเทศอินเดีย ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นอันมาก เทวรูปเหล่านี้คงอยู่ในระยะเวลาอันสั้น ส่วนหมู่ที่คาดผ้าตรงนั้นคงอยู่นานกว่า เพราะแสดงวิวัฒนาการให้เห็นได้ คือ จากหมวก และขอบผมที่เป็นเส้นตรงคู่กันทางด้านหน้าของศีรษะเปลี่ยนเป็นขอบหมวกยังคงเป็นเส้นตรง แต่ขอบผมเป็นเส้นโค้งลงตรงหน้าผาก และต่อมาได้รวบขอบหมวกและขอบเส้นผม เป็นเส้นเดียวกัน วาดเป็นมุมแหลมบนหน้าผาก และยังมีเทวรูปอีกหมู่หนึ่งซึ่งค้นพบทางภาคใต้โดยเฉพาะเป็นเทวรูป พระวิษณุ ๔ กร เช่นเดียวกัน แต่ไม่คาดผ้าคงมีแต่เข็มขัดคาดอยู่บนส่วนบนของผ้าทรงแบบโสร่ง พระอุระผึ่งผาย และพระหัตถ์ก็ไม่ติดกับลำพระองศ์ หมู่นี้ศาสตราจารย์ โอ’ คอนเนอร์ นักประวัติศาสตร์ศิลปะชาวอเมริกันจัดว่าคงจะเป็นแบบที่คิดขึ้นเองในภาคใต้ของประเทศไทย และมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔
ในจังหวัดนครศรีธรรมราชได้มีการค้นพบ ประติมากรรมพระวิษณุศิลาในกลุ่มสุดท้ายตามที่ศาสตราจารย์ โอ- คอนเนอร์กล่าว ๒ องค์ และพระวิษณุทั้งสององค์นั้นมีสภาพชำรุด และค้นพบในสถานที่เดียวกัน คือ วัดพระนารายณ์ อำเภอท่าศาลา องค์แรกพบเพียงส่วนพระองค์ แต่แสดงให้เห็นว่าเป็นประติมากรรมที่มีความงดงามมาก มีความประณีตในการสลัก แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จทางด้านงานศิลปกรรมชั้นสูงของท้องถิ่นนี้ เป็นผลงานที่แสดงให้เห็นถึงความเชี้ยวชาญและความมั่นใจของช่างที่สลัก ซึ่งแตกต่างจากประติมากรรมรุ่นก่อน ซึ่งช่างผู้สลักยังขาดประสบการณ์และความมั่นใจอยู่ มีการสลักให้กรแยกออกจากพระองค์ ไม่มีการใช้กรเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวกับพระองค์ อย่างที่นิยมทำกันในภูมิภาคอื่นๆ เช่น ในเขมร เป็นต้น นอกจากนี้ยังไม่นิยมใช้เครื่องยึดเหนี่ยวอื่นๆ เช่น วงโค้ง อีกด้วย ในด้านกายวิภาคนั้นมีความละเอียดอ่อนใกล้เคียงกับธรรมชาติมาก พระวิษณุองค์นี้มีอายุราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ส่วนพระวิษณุองค์ที่สอง ก็พบเฉพาะส่วนองค์เช่นเดียวกัน มีลักษณะพระอังสากว้าง ปั้นพระองค์คอดเล็ก พระอุระค่อนข้างสูง ส่วนองค์นี้เป็นส่วนองค์ของพระวิษณุ ๔ กร ที่มีรูปแบบใกล้เคียงกับพระวิษณุองค์แรก
กระนั้นก็ตาม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พิริยะ ไกรฤกษ์ มีความเห็นว่าพระวิษณุองค์นี้ มีรูปแบบใกล้เคียงกับศิลปะฟูนัน แบบพนมดา และกำหนดให้มีอายุอยู่ในราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๓
ที่กล่าวมานั้นล้วนแต่เป็นพระวิษณุลอยตัวทั้งสิ้น ในที่นี้จะกล่าวถึงภาพสลักนูนสูงของพระวิษณุบ้าง ได้มีการค้นพบพระวิษณุสลักบนแผ่นศิลาทรายที่วัดเทพราช(ร้าง)ตำบล เทพราช อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน ๑ องค์ พระวิษณุองค์นี้มี ๔ กร แม้ว่าแผ่นศิลาที่สลักจะสึกกร่อนลบเลือนมากแล้ว แต่ยังมองเห็นรูปแบบทรงศิลปกรรมได้พอควร พระวิษณุนี้นับว่าแปลกกว่าองค์อื่นๆ ที่ค้นพบในภาคใต้ เพราะโดยทั่วไปที่ผ่านมาล้วนพบประติมากรรมลอยตัวทั้งสิ้น ประติมากรรมองค์นี้อาจกำหนดอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒- ๑๔
ส่วนรูปเคารพพระวิษณุสำริดได้ค้นพบในนครศรีธรรมราช จำนวน ๒ องค์ค้นพบ ณ เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ตำบลในเมือง อำเภอเมือง (ซึ่งบัดนี้อาคารได้พังทลายไปหมดแล้ว เหลือเพียงร่องรอยฐานรากที่ฝังอยู่ในดินเท่านั้น) ทั้งสององค์ รูปเคารพของศาสนาพราหมณ์เป็นจำนวนมาก ค้นพบที่เทวสถานแห่งนี้
พระวิษณุสำริดองค์แรกมีลักษณะคล้ายกับศิลปะขอมหลายอย่าง โดยเฉพาะในศิลปะแบบนครวัดและบายนมาก เป็นพระวิษณุ ๔ กร หัตถ์ขวาหลังทรงจักร หัตถ์ขวาหน้าทรงถือธรณี หัตถ์ซ้ายหลังทรงสังข์ และหัตถ์ซ้ายหน้าทรงคทา พระพักตร์ยิ้มแย้มเป็นพิเศษ สวมกระบังหน้าหรือ มงกุฎมีพระมัสสุเหนือริมพระโอษฐ์บน ทรงผ้านุ่งสั้นมีเข็มขัด และชายผ้าด้านหน้ามีลักษณะเหมือนหางปลาย้อยลงมาเลย ผ้านุ่งทรงกำไลทั้งพระหัตถ์และพระบาท มีพาหุรัด และมีกรองศออาจจะกำหนดอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๙
ส่วนพระวิษณุสำริด ๔ กร องค์สุดท้ายดูเหมือนจะ เป็นต้นเค้าของเทวรูปสำริดที่พบเป็นจำนวนมากในศิลปะแบบสุโขทัย อันจะเห็นได้ว่าในศิลปะแบบนั้นพบเทวรูปสำริดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับเทวรูปองค์นี้มาก ตั้งแต่วิวัฒนาการของมงกุฎไปกลายเป็นยอดแหลมหรือลักษณะของผ้านุ่งที่ไปเพิ่มการประดับประดาให้วิจิตรพิเศษยิ่งขึ้น รวมทั้งเข็มขัดก็ได้วิวัฒนาการไปเช่นเดียวกัน พระวิษณุองค์นี้หัตถ์ขวาซ้ายหน้าแสดงปางประทานพร อาจจะกำหนดอายุของเทวรูปองค์นี้ให้อยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๙
ที่มาโดย:ปรีชา  นุ่นสุข ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้
วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช

ประติมากรรมรูปเคารพในบางลัทธิของพราหมณ์

พระกฤษณะ
ไวษณพนิกาย
ลัทธินี้ชื่อลัทธิดัดแปลงมาจาก ชื่อพระวิษณุซึ่งแต่เดิมเป็นชื่อเทพแห่งสวรรค์ในศาสนายุคพระเวท (เทพแห่งพระอาทิตย์ คำว่า “ไวษณพ” ปรากฏในคัมภีร์มหาภารตะว่า หมายถึงชื่อลัทธิที่เป็นที่รู้จักกันในนามต่างๆ เหล่านี้ คือ สูริ สุหฤต ภควตะ สัตตวตะ ปัญจกาลวิท เอกานติกะ ตันมายะ และปาญจราตริกะ แต่ที่นิยมใช้มากคือ ภควตา
คำว่า “ภควตา” นี้แต่เดิมเป็นชื่อลัทธิที่บูชาเทพวสุเทวะ-กฤษณะ ต่อมาเทพวสุเทวะ-กฤษณะ ได้กลายเป็นอวตารปางหนึ่งของพระวิษณุ คือ กฤษณวตาร ภควตาเป็นลัทธิของพวกสัตตวะ (ชาวท้องถิ่นในมถุรา) วสุเทวะ-กฤษณะ นี้แต่เดิมเป็นชื่อของกษัตริย์ผู้ปรีชาสามารถเป็นวีรบุรุษ ต่อมาเมื่อประชาชนนับถือมากก็กลายเป็นเทพเจ้า ลัทธิภควตา ซึ่งนับถือสุทวะ-กฤษณะ เป็นเทพสูงสุดได้รับความนิยมมาก ในต้นคริสตกาล และต่อมาก็ได้ผสมกลมกลืนเข้ากับบุคลิกลักษณะของเทพวิษณุและนารายณะ ของศาสนายุคพระเวท หลักฐานทางใบราณคดีที่เก่าแก่ที่สุดที่กล่าวถึงลัทธินี้ คือ จารึกอักษรพราหมี (อายุราว ๒๐๐ ปีก่อนคริสตกาล) บนเสาหินที่เมืองเบสนคร (ใกล้สาญจี ในมัธยมประเทศปัจจุบัน คือ เมืองภวิสะ (จารึกนี้บอกถึงการสร้างเทวสถานและรูปเคารพในลัทธินี้ ถัดจากนั้นก็มีหลักฐานทางเอกสารกล่าวถึงลัทธินี้มากมาย จารึกก่อนคริสตกาลหลายแห่งกล่าวถึงความเกี่ยวข้องกันระหว่างพระวสุเทวะ กับครุฑ วิษณุ กฤษณะ นารายณะ และก้อนหินศักดิ์สิทธิ์ แสดงถึงการขยายตัวของ ลัทธินี้จากลัทธิของชนกลุ่มเล็กๆ เป็นลัทธิใหญ่ ในราวพุทธศตวรรษที่ ๘ ลัทธิภควตา ได้แผ่ขยายลงไปทางใต้ ถึงอาณาจักรของพวกปาณฑยะ ซึ่งอยู่ตอนใต้สุด เกี่ยวกับอวตารของพระวิษณุนั้นมีมากมายบางคัมภีร์กล่าวว่ามี ๓๙ อวตาร และบางคัมภีร์ก็ว่ามี ๙ อวตาร เพราะอวตารที่ ๑๐ คือพุทธะนั้นเพิ่มเข้าภายหลัง ส่วนชื่อลัทธิว่า “ภควตา” ยังคงเป็นที่นิยมใช้กันจนถึงสมัยคุปตะ (พ.ศ. ๑๑๐๐-๑๓๐๐) แม้คำว่า “ไวษณวะ” จะเป็นที่รู้จักกันแล้วตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๑ แต่เพิ่งจะนิยมใช้ในพุทธศตวรรษที่ ๑๔ เมื่อลัทธิภควตา กลายเป็นไวษณพนิกายนั้นได้เน้นหนักไปในทางความสำคัญของอวตาร และที่นิยมที่สุด คือ ปางวราหะ นรสิงห์และ วามนะตรีวิกรม ส่วนพระนางลักษมี ชายาของพระวิษณุนั้นเริ่มรู้จักกันมากในสมัยคุปตะและหลังคุปตะ

พระศิวะ
ไศวนิกาย
ลัทธินี้มีความเก่าแก่กว่าไวษณพนิกาย กล่าวคือ มีร่องรอยที่ สามารถสืบสาวได้ว่าเก่าแก่ถึงยุคกึ่งก่อนประวัติศาสตร์ เพราะการขุดค้นอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ (๓,๐๐๐- ๑,๕๐๐ ปีก่อนคริสตกาล) ได้พบรูปเทพนั่งขัดสมาธิอยู่ท่ามกลางสัตว์ป่า (บนที่ประทับตรา) สันนิษฐานว่าเป็นต้นแบบของรูปพระศิวะ นอกจากนี้ยังพบลึงค์ทำด้วยหินและในยุค ประวัติศาสตร์ลึงค์นี้ได้มีความสัมพันธ์กับการบูชาพระศิวะ โดยกลายเป็นสัญลักษณ์ของพระศิวะ คือ ศิวลึงค์ เหรียญต่างๆ ที่ทำขึ้นเมื่อ ๒๕๐-๓๐๐ ปีก่อนคริสตกาลก็ปรากฏรูปพระศิวะและศิวลึงค์ มีวัดจำนวนมากสร้างไว้ประดิษฐานพระศิวะ และศิวลึงค์ ส่วนใหญ่ศิวลึงค์มักจะได้รับการประดิษฐานไว้ในวัดเป็นองค์ประธานของวัด ส่วนรูปปั้นของพระศิวะปางต่างๆ จะประดิษฐานอยู่ตามส่วนต่างๆ ของวัด กลายเป็นเครื่องประดับวัดไป ศิวลึงก์ที่เก่าแก่และสำคัญที่สุด คือศิวลึงค์ที่ประดิษฐานอยู่ในวัดในหมู่ บ้านคุฑิมัลลัมในมัทราส เป็นลึงค์ที่มีลักษณะเหมือนธรรมชาติมาก สูง ประมาณ ๕ ฟุต ยอดเป็นรูปพระศิวะ มี ๒ กร แบกแกะ และหม้อน้ำไว้ในพระกรข้างขวา ส่วนพระกรซ้ายถือขวาน ประทับยืนอยู่บนบ่าของคนแคระ สวมเครื่องประดับ มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๔ การสลักรูปพระศิวะกับคิวลึงค์ติดเป็นชิ้นเดียวกันนับเป็นที่นิยมมาก และมีการดัดแปลงไป ในแบบต่างๆ หลายแบบด้วยกัน แบบที่ปรากฏมาก คือ แบบที่เรียกว่า มุขลึงค์ คือ ศิวลึงค์ที่มียอดเป็นพระพักตร์ของพระศิวะ ที่พบมากมีพระพักตร์เดียว เรียกว่า เอกมุขลึงค์ (พักตร์เดียว) หรือมี ๔ พักตร์เรียกว่า จตรมุขลึงค์ (๔ พักตร์) (โดยสลักพระพักตร์รอบลึงค์ทั้ง ๔ ด้าน ด้านละ ๑ พักตร์)

พระแม่ธรณี

ศักติ
ลัทธิศักติเจริญขึ้นในยุคกลาง แต่เป็นลัทธิที่เก่าแก่ไม่แพ้ลัทธิไศวนิกายเพราะพัฒนามาจากการบูชาอิตถีพละ (Female energy) ในรูปของพระแม่ธรณี เป็นลัทธิที่เก่าแก่มากของชนชาวพื้นเมือง ก่อนหน้าที่อารยธรรมพระเวทจะปรากฏในอินเดีย การขุดค้นอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุก็ได้ พบหลักฐานทางโบราณคดียืนยันถึงกวามเก่าแก่ของลัทธินี้ เพราะพบ รูปสตรีดินเผาที่มีลักษณะเป็นพระแม่ (Mother Goddess) หรือแม่พระธรณี (Earth-Mother) ผู้มีอำนาจประสาทความอุดมสมบูรณ์แก่พืชพันธุ์ธัญญาหาร นอกจากพบรูปพระแม่จำนวนมากแล้วการขุดค้นดังกล่าวยังได้พบหินเจาะรูซึ่งมีลักษณะอวัยวะเพศหญิง (โยนี) การบูชาอิตถีพละ อัน เป็นลัทธิเก่าแก่ที่ปรากฏ ในกลุ่มชนที่มีอาชีพหลักในการกสิกรรมได้วิวัฒนาการมาเป็นลัทธิศักติและแพร่หลายในยุคกลาง แม้ในสมัยพระเวทลัทธินี้ก็ยังแพร่หลายโดยทั่วไปในชนพื้นเมือง เพราะได้พบหลักฐานของลัทธินี้กระจัดกระจายทั่วไป เช่น ในอุตตร ประเทศมถุรา ตักษิลา และภิตา เป็นต้น
พระแม่มีชื่อเรียกต่างๆ กัน เช่น เทวี ศักติ ทุรคา ปารวตี อุมา อัมพิกา อปรรณา กาลี และเคารี เป็นต้น ซึ่งเทพีทั้งหมดนี้ได้รับยกย่องให้เป็นชายาของพระศิวะทั้งสิ้น ชื่อต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นชื่อที่บูชาในชนเผ่าต่างๆ กัน เทพีเหล่านี้จึงกลายเป็นภาคหนึ่งของชายาของพระศิวะ อันเป็นเทพสูงสุด ของลัทธิไศวนิกาย ชื่อต่างๆ มีความหมายดังนี้
เทวี หมายถึง เทวีผู้ประเสริฐ
ศักติ หมายถึง พลัง คือ พลังก่อให้เกิดการสร้าง และพลังควบคุมและจัดระเบียบจักรวาล บางทีคำว่า ศักติ ใช้เรียกอวัยวะเพศหญิงที่บูชาโดยพวกที่นับถือลัทธิศักติ
ทุรคา และ ปารวตี แสดงถึงความสัมพันธ์กับภูเขาหิมาลัย ซึ่งตามความเชื่อของชาวอินเดียถือว่า พระแม่ของพวกตนถือกำเนิดมาจากภูเขาหิมาลัย และแสดงว่าชื่อทั้งสองนี้ เป็นชื่อของเทพีผู้ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของชนชาวเขา (เพราะชื่อศิวะมีชื่อหนึ่งที่ว่าศิริศะ ก็หมายถึงผู้อาศัยอยู่บนเขา)
อุมา และอัมพิกา มาจากภาษาดราวิเดียน โดยมาจากคำว่า อัมมา (แม่) แปลว่า แม่ ในความหมายของแม่แห่งจักรวาล
อปรรณา หมายถึง เทพีผู้เปลือยกาย ไม่สวมเสื้อผ้า อันเป็นลักษณะพิเศษของพระแม่ (เปลือยกาย)
กาลี เป็นเทพีที่มีผิวดำ น่าจะเป็นเทพีของพวกชนพื้นเมืองที่มีผิวสีดำ แต่ชื่อกาลีอาจจะมีความหมายว่า กาล (เวลา หรือ ความตาย) ซึ่งเป็นคุณลักษณะของพระศิวะ
เคารี เป็นเทพีที่มีผิวขาว เป็นเทพีของชนชาวมงโกลอยด์แห่งภูเขาหิมาลัย
จากหลักฐานที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า การบูชาพระแม่ เป็นลัทธิพื้นเมือง และถูกดูดกลืนเข้าผสมกับศาสนาฮินดูในยุคหลัง เมื่อลัทธิศักติเข้ามามีบทบาทในศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไวษณพนิกาย และไศวนิกายแล้ว ศาสนาพราหมณ์จึงมีแนวโน้มในการบูชาเทพี เทพีมีอำนาจมาก และเป็นพละกำลังของเทพ เทพจะสร้างโลกได้ก็ต่อเมื่อเทพีช่วย หากขาด เทพีอันเป็นส่วนพลังและอำนาจของเทพเสียแล้ว เทพจะไม่สามารถทำอะไรได้เลย อย่างไรก็ตามจุดมุ่งหมายสำคัญของลัทธิ ศักติก็คือการรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพรหมัน เช่นเดียวกับลัทธิอื่นๆ ในศาสนาพราหมณ์ วิธีการที่จะนำไปสู่จุดหมายปลายทางดังกล่าวคือ การทำสมาธิจิต หากทำ ไม่ได้ก็สวดมนต์สรรเสริญ หรือบูชาเทพอันเป็นตัวแทนของพรหมัน
ที่มาโดย:ปรีชา  นุ่นสุข ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้
วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช

ความเป็นมาของรูปเคารพในศาสนาพราหมณ์

มรดกทางวัฒนธรรมของศาสนาพราหมณ์ในนครศรีธรรมราช
ในนครศรีธรรมราชได้มีการค้นพบมรดกทางวัฒน-ธรรมของศาสนาพราหมณ์อยู่ในหลายรูปแบบ เช่น ประติมากรรมรูปเคารพของศาสนาพราหมณ์ โบราณสถาน ศิลาจารึก และพิธีกรรมต่างๆ เป็นต้น ในที่นี้จะกล่าวถึงมรดกทางวัฒนธรรมของศาสนาพราหมณ์ในนครศรีธรรมราชโดย สังเขปดังนี้ คือ
ปฏิมากรรมรูปเคารพอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์
ความเป็นมาของปฏิมากรรมรูปเคารพของศาสนาพราหมณ์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ผาสุข อินทราวุธ ได้กล่าวถึงความเป็นมาของปฏิมากรรมรูปเคารพไว้อย่างละเอียด ในที่นี้จะสรุปมาลงไว้ดังนี้ คือ
นักปราชญ์หลายท่านมีความเห็นว่า ศิลปกรรมที่ผลิตขึ้นโดยมนุษย์ยุคแรกเริ่มนั้นจะเกี่ยวพันกับศาสนาเป็นส่วนใหญ่ และมีความเกี่ยวพันลึกซึ้งมากในกรณีของศิลปะอินเดีย เนื่องจากความเชื่อทางศาสนาฝังรากลึกเข้าไปในจิตใจประชาชนชาวอินเดีย ความเชื่อมั่นนั้นจึงสืบต่อไปยัง ศิลปกรรมของชาวอินเดียด้วย
ในประเทศอินเดียก่อนจะมีรูปเคารพนั้นได้มีการสร้างสัญลักษณ์ต่างๆ ขึ้นแทนรูปเคารพดังที่ปรากฏในศิลปกรรมทางพุทธศาสนาในยุคแรกๆ ที่สถูปที่ภารหุต และสาญจี ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่บรรจุพระอัฐิของพระพุทธเจ้า แต่ไม่ปรากฏว่ามีรูปปั้นของพระพุทธองค์อยู่เลย (พระพุทธรูปที่ปรากฏในปัจจุบันเป็นการนำมาต่อเติมขึ้นภายหลัง) กลับปรากฏเป็นภาพสลักเล่าเรื่อง และมีสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น สถูปแท่นมีฉัตร ปักอยู่ เป็นต้น สัญลักษณ์เหล่านี้เป็นตัวแทนของสิ่งต่างๆ เช่น ต้นไม้ที่มีรั้วรอบ มีแท่นที่ประทับรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าอยู่ใต้ต้นไม้ แท่นดังล่าวมักจะประดับตกแต่งด้วยพวงดอกไม้ และมีฉัตรปักอยู่เหนือแท่น แสดงว่าเป็นสัญลักษณ์ของพระศาสดาในพุทธศาสนา ส่วนภาพต้นไม้ที่ปราศจากเครื่องประกอบอันทรงเกียรติดังกล่าวและมีเพียงต้นไม้ธรรมดา แสดงว่าเป็นรุกขะ-เจติยะ หรือที่สิ่งสถิตย์ของรุกขเทวดา ส่วนภาพสถูปเป็นเนินดินหลุมศพย่อมเป็นสัญลักษณ์ของมหาปรินิพพานของพระพุทธองค์ (แต่เดิมเป็นสัญลักษณ์ของบรรดามหาบุรุษของอินเดีย) และภาพนาค ยักษา ยักษิณีและอื่นๆ ที่ปรากฏในภาพสลักนั้นแต่เดิมก็เป็นเทพที่เคารพบูชา ของประชาชนมาก่อน แต่ต่อมาเมื่อพุทธศาสนาเจริญเทพเหล่านั้นก็ลดฐานะลงมากลายเป็นบริวารของพระพุทธเจ้า ในยุคพระเวท (๑,๐๐๐ ปีก่อนพุทธกาล) ไม่ปรากฏว่ามีวัดหรืออาคารอันป็นที่สถิตของเทพเลย มีแต่กล่าวถึงไฟที่จุดในสภา แสดงว่ามีสภาที่ประดิษฐานกองไฟเพื่อประชาชน มาชุมนุมกันประกอบพิธีกรรมในบางโอกาสเท่านั้น ส่วนรูปปั้นนั้นไม่มีหลักฐานว่ามีการทำในยุคต้นๆ แต่ยุคหลังๆ มีบ้าง พิธีกรรมในศาสนาพระเวทส่วนใหญ่เป็นพิธีกรรมที่บ้านส่วนบุคคล ไม่ค่อยมีการประกอบที่สาธารณะ
ครั้นในยุคกาวยะ (๖๐๐ ปีก่อนคริสตกาลถึงคริสตศตวรรษที่ ๒) อันเป็นยุคที่มีวรรณกรรมที่จัดเป็นกาวยะหลายเรื่องด้วยกัน แต่ที่สำคัญ คือ รามายณะ และมหาภารตะนั้น ศาสนาพราหมณ์ เริ่มพัฒนาจากศาสนาพระเวทมาสู่ศาสนาพราหมณ์ยุคใหม่ คือ เป็นศาสนาที่ผสมผสานระหว่างศาสนาพระเวทและศาสนาของชาวท้องถิ่นเข้าด้วยกัน ในยุคนี้มีการทำรูปเคารพโดยเลียนแบบรูปมนุษย์ มีวัดสำหรับประดิษฐานรูปเคารพ ลัทธิศาสนาที่สำคัญในยุคนี้ คือ ลัทธิบูชานางทุรคา (เป็นต้นกำเนิดของลัทธิการบูชาศักติ และต่อมากลายเป็นชายาพระศิวะ คือ พระอุมา) ลัทธิบูชาปาศุปตะ (พระนามหนึ่งของพระศิวะ) และลัทธิบูชาวสุเทวะ-กฤษณะ (ต่อมากลายเป็นไวษณพนิกาย อันนับถือพระวิษณุเป็นเทพสูงสุด)
ในยุคปุราณะ และตันตระ (ยุคปุราณะ ราวคริสศตวรรษที่ ๒-๖ และยุคตันตระราวคริสศตวรรษที่ ๗-๑๒) วรรณกรรมในสมัยคุปตะอันเป็นยุคที่ศาสนาในยุคปุราณะ และตันตระเจริญนั้น ได้กล่าวถึงลัทธิต่างๆ ที่เจริญ ควบคู่กันไป คือ มีทั้งลัทธิการบูชาเทพยุคพระเวท เช่น พระอินทร์ และพระอัคนี เป็นต้น และมีการบูชาเทพในลัทธิศาสนาอื่นๆ เช่น การบูชาพระวิษณุ สุริย ศิวะ พุทธะ และชินะ เป็นต้น และยังกล่าวถึงการประกอบพิธีบูชาบรรดารูปเคารพดังกล่าวด้วย ดังนั้น ลัทธิต่างๆ ที่เจริญควบคู่กันในระยะนี้ คือ ลัทธิไวษณพนิกาย (ภควตา) ลัทธิบูชาพระอาทิตย์ (ได้รับอิทธิพลมาจากอิหร่าน) ลัทธิปาศุปตะ (ไศวนิกาย) ลัทธิศักติ (วิวัฒนาการจากการบูชาพระแม่ผู้ให้กำเนิด) ศาสนาชิน และพุทธศาสนา ในยุคตันตระ เน้นการบูชาเทพต่างๆ เช่น วิษณุ ศิวะ และพรหม เทพีได้รับยกย่องมีอำนาจเทียบเท่าเทพ มีลัทธิเป็นของตนเอง คือ ศักติ ซึ่งเป็นลัทธิที่นับถือเทพีว่าเป็นเทพเจ้าสูงสุด และมีการประกอบพิธีกรรมพิเศษแตกต่างไปจากยุคก่อนๆ ลัทธินี้เจริญมากในอินเดียในพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๘ นักปราชญ์ เห็นว่าลัทธินี้เก่าแก่มากนับถือกันมาตั้งแต่ยุคอารยธรรมลุ่มแม่นาสินธุ (ราว ๓,๐๐๐ ปีก่อนคริสตกาล) โดยสังเกตได้จากหลักฐานที่พบที่ประทับตรารูปคนนั่งขัดสมาธิ โยนิ และเครื่องรางของขลังต่างๆ ระยะแรกนับถือในกลุ่มคนน้อยๆ และมีพิธีกรรมลึกลับ แต่ต่อมาค่อยๆ ขยายออกไป ชาวฮินดูถือว่าสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของลัทธิตันตระมีอยู่ ๕๑ แห่ง เช่น บริเวณที่มีภูเขา หุบเขา ก้อนหิน บ่อน้ำ ที่มีรูปร่างคล้ายเครื่องเพศชาย หรือเครื่องเพศหญิง เป็นต้น ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๙ เป็นต้นมาจนปัจจุบันลัทธิตันตระมีอิทธิพลต่อศาสนาพราหมณ์ และพุทธศาสนามาก ทั้งในอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่รับอิทธิพลทางอารยธรรมจากอินเดีย บรรดารูปเคารพต่างๆ ในโบราณสถานของพราหมณ์ในยุคหลังๆ เกี่ยวพันกับหลักปฏิบัติของลัทธิ ตันตระเป็นส่วนมาก
จากหลักฐานทางโบราณคดี ปรากฏว่าศาสนาภควตา ซึ่งได้กลาย เป็นลัทธิไวษณพนิกายของศาสนาพราหมณ์ นั้น เป็นลัทธิแรกที่ได้นำเอาคติการบูชารูปเคารพมาให้ประชาชนวรรณะสูงผู้เคร่งครัดในศาสนาพราหมณ์ ตามคติความเชื่อในนิกายนี้เชื่อว่าพระเป็นเจ้าจะปรากฏกายลงมาให้มนุษย์เห็นในแบบต่างๆ กัน ดังนั้น เพื่อความสะดวกในการสักการะ บูชาซึ่งนิยมทำรูปแทนองค์เทพขึ้น จะเป็นรูปวาดหรือสลักขึ้นก็ได้ จารึกระบุว่าได้มีการสร้างวัดเป็นที่ประดิษฐานเทพเหล่านั้นนับตั้งแต่ก่อนคริสตกาล ในส่วนต่างๆ ของอินเดีย ตั้งแต่มถุราลงไป ถึงอินเดียตอนใต้แต่ รูปเคารพ ในระยะแรกๆ ไม่ค่อยพบอันอาจจะเป็นเพราะสร้างด้วยวัตถุไม่ถาวร ในตอนต้นคริสตกาลพบรูปเคารพที่สลักบนเหรียญ และที่ประทับตรา ส่วนใหญ่อยู่ในสมัยพระเจ้าหุวิษกะ แห่งราชวงศ์ กุษาณะ เป็นรูปพระวิษณุมี ๔ กร ถือ จักร สังฃ์ คทา และ รูปวงแหวน (แทนดอกบัว)
ที่มาโดย:ปรีชา  นุ่นสุข ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้ วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช

ตุ๊กตาเสียกบาลศิลปะกับความเชื่อ

งานสะเดาะเคราะห์ที่เป็นอุตสาหกรรมศิลป์

“ตุ๊กตาเสียกบาล”

ชื่อนี้อาจไม่คุ้นหู..ภาพอาจไม่คุ้นตาเท่าเครื่องถ้วยชามสังคโลกที่ใคร ๆ รู้จัก

แต่คุณค่าของตุ๊กตาเสียกบาลจากศรีสัชนาลัย ไม่เพียงแต่เป็นงานสะสมที่นักสะสมศิลปโปรดปาน พอ ๆ กับสังคโลก

หากสะท้อนภาพขนบธรรมเนียมยุคเก่า ซึ่งชายหญิงใช้โอนอันตรายทั้งปวงซึ่งจะเกิดกับตนเองไปให้กับตุ๊กตานั้น ตุ๊กตาเหล่านี้ เคลือบด้วยน้ำยา

จากเตาเผาตามแหล่งต่าง ๆ โดยเฉพาะในเขตศรีสัชนาลัย พบตุ๊กตาที่ปั้นเป็นเพศหญิงชาย ในอิริยาบถต่าง ๆ กัน มากมาย เช่น

หากเป็นหญิงจะเกล้าผมมวย มีจุก เปลือยอก นั่งตัวตรง มืออุ้มเด็กทารกหรือเด็กอ่อนแนบอก พนมมือทั้งสองข้างถือดอกไม้ หรือพัด

ส่วนชาย หัวจะแบน แก้มตุ่ยคล้ายอมหรือเคี้ยวหมากหรือเมี่ยงข้างใดข้างหนึ่ง มืออุ้มไก่ชน หรือปลากัด เป็นต้น

ที่เรียกว่า “ตุ๊กตาเสียกบาล” ก็เพราะเป็นตุ๊กตาที่ทำขึ้นเพื่อนำไปตัดศีรษะ การตัดศีรษะก็เพื่อสะเดาะเคราะห์หรือต่ออายุของบุคคลที่นำมาปั้นเป็นตุ๊กตา ทั้งชายและหญิง

เช่นผู้หญิงไทยสมัยก่อนกลัวอันตรายจากการคลอด เพราะการทำคลอดสมัยโบราณอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตของทั้งแม่และเด็ก

สตรีใกล้คลอดจึงมีการทำตุ๊กตาเป็นรูปนางและบุตร แล้วไปตัดศีรษะ โอนอันตรายไปให้ตุ๊กตานั้นแทน

ตุ๊กตาที่คอไม่ขาด…ยังพอหลงเหลืออยู่ให้เห็นเป็นคุณค่าทางงานศิลปะ ที่สะท้อนชีวิต..ความอยู่รอด..ความเชื่อถือของคนสมัยโบราณ

โดยเฉพาะ พบได้ที่เตาเผาเก่าที่ศรีสัชนาลัย ผลิตทั้งเครื่องถ้วยชาม วัสดุทางสถาปัตยกรรม ตุ๊กตาคน ตุ๊กตาสัตว์ ที่นี่คือแหล่งเตาเผามูลค่ามหาศาล แม้สักห้าพันโกฏิ…ก็มิอาจประเมินได้

“ตุ๊กตาเสียกบาล” หนึ่งในศิลปอุตสาหกรรมไทย สมัยศรีสัชนาลัย