ชาวญี่ปุ่นใช้ลิงสอนลูกหลาน

ลิงนั้นคงจะเป็นสัตว์แพร่หลายไปทั่วโลก แม้ตามเกาะแก่งต่างๆ ก็ยังมีลิงอยู่ ชาวญี่ปุ่นเป็นชาติที่เคร่งครัดในเรื่องศีลธรรมและวัฒนธรรมมาแต่เดิม เขามีวิธีการที่จะปลูกฝังศีลธรรมให้เยาวชนหลายอย่าง มีอยู่วิธีหนึ่งที่ใช้ลิงเป็นเครื่องมือ คือทำเป็นรูปลิง ๓ ตัว เขาเรียกลิง ๓ ตัวนี้ว่าลิงฉลาด ลิง ๓ ตัวนั้นคือลิงสามตัว

ตัวที่ ๑ ชื่อ มีซารุ ทำเป็นรูปลิงเอามือปิดตา มีความหมายว่าไม่ต้องการเห็นสิ่งชั่วร้ายต่างๆ

ตัวที่ ๒ ชื่อ มิกาซารุ  ทำเป็นรูปลิงเอามือปิดหู มีความหมายว่า ไม่ต้องฟังสิ่งชั่วร้ายต่างๆ

ตัวที่ ๓ ชื่อ มาซารุ  ทำเป็นรูปลิงเอามือปิดปาก มีความหมายว่าไม่ต้องการพูดสิ่งชั่วร้ายต่างๆ

ความมุ่งหมายที่ทำเป็นรูปลิงสามตัว เพื่อจะสั่งสอนประชาชนของชาติญี่ปุ่นนี้นับว่าเป็นความคิดที่ดีเหลือเกิน เพราะสิ่งชั่วร้ายต่างๆ ที่จะเข้าไปสู่จิตใจของคนเรานั้น ก็มาทางตาหู และปากของเรานี่เอง ใครก็ตามถ้าสามารถที่จะปิดหูปิดตาปิดปาก โดยไม่ให้ความชั่วร้ายต่างๆ เข้าไปแล้ว นับว่าเป็นคนที่ดีได้

จากคติของญี่ปุ่นเรื่องลิงปิดตาหูปากนี้ ทำให้คิดถึงพระเครื่องรางอย่างหนึ่งของเราที่เรียกว่าพระภควัมหรือพระปิดทวารทั้งเก้า ว่ากันว่ามีคุณในทางป้องกันศัสตราวุธทุกชนิด แต่น่าคิดว่าท่านโบราณาจารย์น่าจะคิดทำพระเครื่องรางแบบนี้ขึ้นเพื่อเป็นเครื่องสั่งสอนหรือเตือนสติศาสนิกชนให้ปิดทวารคือทางเข้าทั้งเก้าแห่งเสียเพื่อมิให้ความชั่วร้ายเข้าสู่จิตใจของเราก็เป็นได้ ถ้าเรานับถือพระภควัมในแง่นี้ ก็น่าจะเป็นผลดีมากกว่าที่จะนับถือท่านในทางอยู่ยงคงกระพันกระมัง

ก่อนจะจบเรื่องของลิง ขอให้ท่านสังเกตว่าเคยเห็นลิงหลับบ้างไหม คนที่พูดกล่อมใจคนเก่งกล่าวกันว่าสามารถกล่อมให้ลิงหลับก็ได้ จึงพูดกันว่าคนนั้นพูดจนลิงหลับ แต่ฟังไปในทำนองไม่ค่อยจะเป็นมงคลแก่ผู้ถูกกล่าวขวัญถึงนัก ไหนๆ ก็พูดถึงเรื่องลิงหลับต่อไปอีกสักนิดคราวนี้เกี่ยวกับลมด้วย เรื่องมีอยู่ว่า ลมสลาตัน ซึ่งเป็นเจ้าแห่งความเร็วและความแรง สามารถพัดพาอะไรๆ ให้ล่องลอยไปได้ง่าย ไปพบลมพัทธยาซึ่งพัดเอื่อยๆ เข้า ลมสลาตันหัวเราะเยาะว่าลมพัทธยาพัดแบบนั้น ไม่สามารถทำอะไรได้เลย ลมพัทธยาจึงว่า ท่านถือว่าท่านมีกำลังแรง ลองมาพนันกับเราก็ได้ ถ้าท่านมีกำลังจริงลองพัดลิงที่เกาะอยู่ตามต้นไม้นั้นให้หล่นดูซิ ลมสลาตันมองดูลิงที่ไต่ยั้วเยี้ยอยู่บนต้นไม้แล้วหัวเราะ บอกว่าไม่ถึงอึดใจจะพัดให้ร่วงหมด ว่าแล้วก็แผลงฤทธิ์พัดไปโดยเร็วและแรง ฝ่ายเหล่าวานรทั้งหลายพอพายุพัดมาแรงก็พากันกอดแนบนิ่งอยู่กับกิ่งไม้ ลมสลาตันพัดเท่าไรก็ไม่สามารถทำให้ลิงตกได้แม้แต่ตัวเดียว ต้องยอมให้ลมพัทธยาพัดต่อไป ฝ่ายลมพัทธยานั้นคือลมที่พัดเอื่อยๆ และมีการกรรโชกแรงเป็นบางครั้ง เมื่อพัดเอื่อยๆ พวกลิงก็พากันง่วง พอเห็นลิงง่วง ลมก็กรรโชกแรง ลิงเผลอตัวก็ร่วงหล่นลงมาจากต้นไม้เป็นแถว ลมสลาตันต้องยอมแพ้

ท่านได้ข้อคิดอะไรจากเรื่องของลม ๒ ชนิดนี้บ้างไหม

ลิงนั้น แม้ว่าสามารถฝึกสอนให้มันทำอะไรได้หลายอย่างก็ตาม แต่ลิงก็คงเป็นลิงอยู่นั่นนเอง เล่ากันว่ามีเจ้าของละครลิงคณะหนึ่ง ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ให้นำละครลิงของตนเข้าไปแสดงถวาย ละครลิงคณะนั้น แสดงได้ดีเป็นที่สพพระราชหฤทัย จึงโปรดพระราชทานรางวัลเป็นเงิน ๒๐ บาท พระองค์ทรงยื่นธนบัตรใบละ ๒๐ บาท พระราชทานให้ลิงตัวเอกในเรื่อง ขณะนั้นพระองค์ทรงพระโอสถซิการ์อยู่ แทนที่พระเอกลิงจะรับพระราชทานเงิน มันกลับจะเอาซิการ์ ซึ่งกำลังทรงอยู่นั้นตกลง พระองค์ต้องพระราชทานซิการ์ไป ลิงพระเอกรับพระราชทานแล้วไปสูบพ่นควันโขมง พอออกมาจากที่แสดงพ้นเขตพระราชฐาน พระเอกลิงถูกเจ้าของเฆี่ยนเสียเจียนตาย เพราะอดได้เงินตั้ง ๕ ตำลึง ซึ่งเป็นเงินมิใช่น้อยในสมัยนั้น

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

ลิงชนิดต่างๆ

ลิงนั้น ตามพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายไว้ว่า “สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีปกติอยู่บนต้นไม้ มีหางบ้าง ไม่มีบ้าง มีหลายชนิด เช่นลิงลม ลิงแสม” และแสดงกิริยาของลิงไว้ว่า “ชอบกระโดดโลดเต้น”ลิง

เรามีคำที่เรียกลิงอีก ๒-๓ คำ คือ กระบี่ วานร วอก คำว่าลิงนั้นดูจะเป็นคำไม่สุภาพ เราจึงใช้คำสุภาพว่ากระบี่หรือวานร อย่างครั้งรัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านกุดลิงขึ้นเป็นเมือง เรียกว่าเมืองวานรนิวาส ถ้าจะแปลกลับไปก็ยังเป็นกุดลิงอยู่ตามเดิมนั่นแหละ แต่ก็ฟังไพเราะสมกับเป็นเมืองมากกว่าคำว่ากุดลิง และถ้าเป็นเรื่องหนังสือแล้วคำว่า ลิงดูจะเป็นลิงชั้นเลว ทำเป็นลิงชั้นดีก็เรียกว่ากระบี่หรือวานร เช่นหนุมานพญาวานรทหารเอกของพระรามเป็นต้น เราไม่เคยเรียกหนุมานว่าลิงเลย

ลิงนั้นมีตั้งแต่ตัวเล็ก เช่น ลิงแสม ที่ชอบอยู่ตามต้นแสมชายเลน หาปูหาปลากิน ลิงชนิดนี้เล่ากันว่ามันมีวิธีจับปูทะเลมากินโดยวิธีเอาหางแหย่ลงไปในรูปู พอปูหนีบหาง มันจะดึงหางขึ้นมาปูก็ติดขึ้นมาด้วย มันก็จะฉีกปูกินเป็นอาหาร แต่บางคราวโชคไม่ดี ถูกปูตัวใหญ่ที่ฉลาดเข้า ลิงก็ดึงปูขึ้นจากรูไม่ได้ พอน้ำขึ้นมากท่วมลิงตาย ลิงก็กลายเป็นภักษาหารของปูไปเหมือนกัน

สุนทรภู่ได้พรรณนาถึงความเป็นอยู่ของลิงแสมไว้ในนิราศเมืองเพชรของท่านว่า

“ถึงบ้านขอมลอมฟืนดูดื่นดาษ      มีอาวาสวัดวาที่อาศัย
ออกชะวากปากชลามหาชัย        อโณทัยแย้มเยี่ยมเหลี่ยมพระเมรุ
ข้างฝั่งซ้ายชายทะเลเป็นลมคลื่น    นภางค์พื้นเผือดแดงดังแสงเสน
แม่น้ำกว้างว้างเวิ้งเป็นเชิงเลน    ลำภูเอนอ่อนทอดยอดระย้า
หยุดประทับยับยั้งอยู่ฝั่งซ้าย        แสนสบายบังลมร่มรุกขา
บรรดาเรือเหนือใต้ทั้งไปมา        คอยคงคาเกลื่อนกลาดไม่ขาดคราว
บ้างหุงต้มงมงายทั้งชายหญิง    บ้างแกงปิ้งปากเรียกกันเพรียกฉาว
เสียงแต่ตำน้ำพริกอยู่กริกกราว    เหมือนเสียงส้าวเกราะโกร่งที่โรงงาน
เห็นฝูงลิงวิ่งตามกันสอสอ        มาคอยขอโภชนากระยาหาร
คนทั้งหลายชายหญิงทิ้งให้ทาน    ต่างลนลานแย่งได้เอาไพล่พลิ้ว
เวทนาวานรอ่อนน้อยน้อย        กระจ้อยร่อยกระจิดริดจิดจีดจิ๋ว
บางเกาะแม่แลโลดกระโดดปลิง    ดูหอบหิ้วมิให้ถูกตัวลูกเลย
โอ้พ่อแม่แต่ชั้นลิงไม่ทิ้งบุตร        เพราะแสนสุดเสน่หานิจจาเอ๋ย
ที่ลูกอ่อนป้อนนมน่าชมเชย        กระไรเลยแลเห็นน่าเอ็นดู
ต่ลิงใหญ่โอ้ทะโมนมันโลนเหลือ    จนชาวเรือเมินหมดด้วยอดสู
ทั้งลิงเผือกเทือกเถามันเจ้าชู้        ใครแลดูมันนักมักยักคิ้ว
บ้างกระโดดโลดหาแต่อาหาร        ได้สมานยอดแสมพอแก้หิว
เขาโห่เกรียวประเดี๋ยวใจก็ไพล่พลิ้ว    กลับชี้นิ้วให้ดูอดสูตา”

และท่านยังได้กล่าวไว้ในที่นี้อีกแห่งหนึ่งว่า

“เขาว่าลิงจองหองมันพองขน”

อย่างไรก็ตามลิงนั้นมีอีกหลายชนิด บางชนิดก็น่ารัก บางชนิดก็น่ากลัว แต่ประโยชน์ของลิงก็มีอยู่มาก ชาวสวนเอาลิงกังมาฝึกหัดใช้งานเช่นให้ขึ้นต้นมะพร้าว เป็นต้น นับว่าช่วยแรงคนได้มาก ชาวเกาะสมุย ซึ่งมีอาชีพส่วนใหญ่คือการทำสวนมะพร้าว เขาฝึกหัดลิงให้ขึ้นมะพร้าว ใช้งานได้น่าอัศจรรย์ ราคาลิงที่ฝึกแล้วตัวละหลายพันบาท

ท่านที่เคยดูละครลิง คงจะเห็นว่าลิงนั้น เขาสามารถนำมาฝึกให้ทำอะไรได้หลายอย่าง เพราะลักษณะท่าทางของลิงใกล้คนมากที่สุด โดยเฉพาะมีลิงอยู่ชนิดหนึ่ง เรียกว่าเอ๊ป หรือลิงชิมแปนซี ซึ่งสวนสัตว์ของเราในกรุงเทพฯ มีอยู่ตัวหนึ่ง หรือสองตัวก็จำไม่ได้เสียแล้ว เขาฝึกหัดให้ลิงชิมแปนซีนี้ ถีบจักรยานก็ได้ เวลากินอาหารจัดให้มันนั่งโต๊ะกินด้วยช้อนส้อม ปรากฏว่ามันทำได้เหมือนเด็กเล็กๆ กินก็เรียบร้อย เด็กๆ ที่รับประทานอาหารมูมมามหรือไม่ค่อยเรียบร้อย ไปเห็นลิงชิมแปนซีกินอาหารสักครั้งรับรองว่าต้องอายลิงเป็นแน่

ลิงในประเทศของเรานั้น ขนาดใหญ่ที่สุดเห็นจะเป็นพวกลิงกังหางสั้น ลิงกังนั้น ว่ากันว่าโตขนาดเด็กอายุเกือบขวบที่เดียว และเป็นลิงที่ดุแต่ก็อาศัยอยู่ตามป่าสูง ไม่ใช่ป่าชายเลนอย่างลิงแสมหรือลิงเสน

สิ่งที่มีชื่อของเมืองไทยอีกแห่งหนึ่ง ก็เห็นจะเป็นลิงที่ศาลพระกาฬ ที่จังหวัดลพบุรี ลิงพวกนี้อาศัยอยู่ที่ศาลพระกาฬนานมาแล้ว ไม่มีใครกล้าทำอะไร เพราะถือว่าเป็นลิงของเจ้าพ่อ สมัยก่อนนี้มีมาก เล่ากันว่าตอนเช้ามันจะพากันขึ้นรถไฟไปหากินทางเหนือ พอตกเย็นก็พากันขึ้นรถไฟกลับมาที่เดิม คนที่ไปไหว้เจ้าพ่อที่ศาลพระกาฬมักจะซื้อกล้วยอ้อยให้ลิงพวกนี้กินเสมอ แต่พอเผลอลิงจะแย่งสิ่งของเช่นกระเป๋าถือของพวกผู้หญิง เป็นต้น แล้วพาขึ้นต้นไม้หายไปเลยก็มี ใครไปเที่ยวต้องระวังไว้

สมัยก่อนป่ามีมาก ลิงก็คงจะมากตามป่าไม้ โดยเฉพาะสมัยอยุธยาลิงคงจะมีมากที่เดียว ลิงอยุธยาได้ทำให้เกิดนักปราชญ์ราชสำนักขึ้นท่านหนึ่ง นั่นคือศรีปราชญ์ มีเรื่องเล่าว่า เมื่อศรีปราชญ์เป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น ได้ตามเสด็จสมเด็จพระนารายณ์ซึ่งเสด็จไปประพาสอุทยานป่าแก้วด้วย ขณะกำลังประทับอยู่ที่นั่น ได้ทรงสดับเสียงลิงเกรียวกราว เพราะลิงกำลังผสมพันธุ์กันอยู่ สมเด็จพระนารายณ์รับสั่งถามว่านั่นเสียงอะไร ก็ไม่มีใครจะกราบบังคมทูลได้ ทั้งๆ ที่รู้ว่าลิงมันทำอะไรกัน แต่การที่จะกราบทูลให้ไพเราะไม่ระคายโสตนั้น คนที่ไม่ได้เตรียมตัวก็คงพูดไม่ออก สมเด็จพระนารายณ์จึงหันไปถามศรีปราชญ์ว่า นั่นลิงมันทำอะไร ศรีปราชญ์กราบทูลว่า “ไม่ควรกราบบังคมทูลหามิได้ มันทำสมัครสังวาสผิดประหลาดกว่าสัตว์ธรรมดา” สมเด็จพระนารายณ์ทรงโปรดปรานมาก จึงตรัสว่า “ศรีเอ๋ย เจ้าจงเป็นศรีปราชญ์แต่บัดนี้เถิด”

เรื่องการเลี้ยงลิง ลำบากเพียงไรใครๆ ก็รู้ เพราะลิงมันอยู่ไม่สุข ชอบซุกซน แต่ความซนของลิงก็ดูจะมีประโยชน์อยู่บ้าง แต่ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับศรีปราชญ์อีก เรื่องมีอยู่ว่า มีพระสังฆราชองค์หนึ่ง ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ ทูลเรื่องว่าเวลานี้ราษฎรพากันเดือดร้อน และไม่พอใจในข้อที่สมเด็จพระนารายณ์ ทรงตรากำหนดกฎหมายต่างๆ ออกมาบังคับราษฎร สมเด็จพระ,นารายณ์จึงตรัสปรึกษาเรื่องนี้กับข้าราชการ ศรีปราชญ์ซึ่งเฝ้าอยู่ ณ ที่นั้นด้วยได้กราบทูลสมเด็จพระนารายณ์ว่า ขอให้พระองค์โปรดประทานลิงไปให้พระสังฆราชองค์นั้น เลี้ยงดูสักตัวหนึ่ง แต่ขอให้ปล่อยลิงตัวนั้นไว้อย่าไปผูกมัน ให้มันอยู่ตามใจชอบ สมเด็จพระนารายณ์ทรงเข้าใจความคิดของศรีปราชญ์ จึงประทานลิงให้พระสังฆราชเอาไปเลี้ยง เจ้าลิงนั้นพอถึงกุฏิสังฆราชก็เริ่มอาละวาดตามสัญชาตญาณของมัน รื้อข้าวของหลังคากุฏิเปิงไปหมด สมเด็จพระสังฆราชทนไม่ไหว ก็นำลิงไปถวายคืนสมเด็จพระนารายณ์ๆ ตรัสว่า การปกครองคนที่จะให้เรียบร้อยได้ต้องมีกฎข้อบังคับ หาไม่แล้วก็เหมือนลิงซึ่งเลี้ยงไว้โดยไม่ผูกนั่นแล

ในบรรดาสัตว์ทั้งหลาย ลิงเป็นสัตว์ที่มีรูปร่างอวัยวะคล้ายคลึงกับคนมากทีเดียว ลิงขนาดใหญ่ เช่น ลิงอุรงอุตัง หรือลิงกอลิลลา มีโครงสร้างของกระดูกมือเท้าคล้ายกับคนมาก ก็เพราะลิงมีรูปร่างคล้ายคนนี่เอง ปราชญ์บางท่าน เช่น ชาร์ล ดาร์วิน จึงลงความเห็นว่า มนุษย์นั้นวิวัฒนาการมาจากลิง ตามความเห็นของชาร์ล ดาร์วินนี้มีผู้คัดค้านกันมาก โดยเฉพาะพวกแพทย์ลงความเห็นเด็ดขาดว่าไม่มีทางเป็นไปได้เลย เพราะเชื้อสืบพันธุ์ของคนและลิงเป็นคนละชนิดคนละพวกกันทีเดียว ถ้าคนวิวัฒนาการมาจากลิงจริงแล้วเชื้อสืบพันธุ์จะต้องเป็นชนิดเดียวกันแน่นอน เรื่องของคนกับลิงจึงยุติได้ว่าไม่ได้มาจากเผ่าเดียวกันแน่

อย่างไรก็ตามลิงกับคนคงจะใกล้ชิดกันมานานทีเดียว อย่างเช่นในเรื่องรามเกียรติ์ของเราซึ่งได้มาจากอินเดียนั้น ทหารของพระรามทั้งหมดทั้งนายทั้งพลทหารล้วนแต่เป็นวานรทั้งนั้น โดยเฉพาะหนุมานนั้น เป็นลิงเผือกที่มีอิทธิฤทธิ์มาก และชาวอินเดียบางพวกยังนับถือหนุมานก็มีอยู่ นายเขียน ยิ้มศิริ ได้กล่าวไว้ในหนังสือศิลปพื้นบ้านของไทยโดยท้าวความถึงหนังสือ “The Wonder that was India ของ A.L. Basham” ได้กล่าวถึงประเพณีของชาวอินเดียที่นับถือหนุมานไว้ว่า

“หนุมานเป็นเทพเจ้าองค์หนึ่ง เป็นโอรสของพระพาย เป็นทั้ง พระสหายและข้าช่วงใช้ของพระรามนั้น ชาวอินเดียก็ยังนับถือหนุมานว่าเป็นเทพเจ้าประจำตำบลซึ่งปรากฏอยู่ในรูปของวานร ที่มีร่างเป็นมนุษย์ ตามศาลเทพารักษ์ต่างๆ หนุมานเป็นเทพเจ้าที่มีความเมตตากรุณา และพิทักษ์รักษาชาวบ้าน ดังนั้นชาวอินเดียจึงนับถือลิงว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ด้วย”

นายเขียน ยิ้มศิริ กล่าวไว้ต่อไปว่า “ชาวอินเดียนับถือหนุมานจะไม่ยอมให้ใครทำร้ายลิง เคยปรากฏว่ามีฝรั่งนักท่องเที่ยวไปยิงลิงในหมู่บ้านที่ชาวบ้านนับถือลิงตายเข้าสองสามตัว เลยถูกประชาทัณฑ์ถึงตาย”

ในพุทธประวัติของเราก็มีลิงเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ด้วย เรื่องมีอยู่ว่าเมื่อพวกภิกษุชาวเมืองโกสัมพีวิวาทกัน ไม่สามารถปรองดองกัน แม้ว่าพระพุทธองค์จะทรงวิงวอนอย่างไรก็ไม่สำเร็จ พระพุทธเจ้าจึงหลีกเร้นเข้าไปประทับอยู่ในป่า มีช้างและลิงเป็นผู้อุปถาก โดยลิงเก็บผลไม้และนํ้าผึ้งมาถวาย จนตลอดพรรษา นี่ก็แสดงให้เห็นว่าลิงนั้นใกล้ชิดกับคนมากเพียงไร ในชาดกทางพุทธศาสนาของเรา มีเรื่องเกี่ยวกับลิงมากมายสุดที่จะนำมาพรรณนาในที่นี้ได้หมด พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนให้คนเรารู้จักบังคับใจตนเองให้อยู่กับที่  เพราะว่าธรรมดาของจิตใจนั้น เคลื่อนไปได้รวดเร็วไม่อยู่กับที่ พระองค์เปรียบจิตใจของคนว่ามีลักษณะเช่นเดียวกับลิงที่ไม่ชอบอยู่เป็นสุข

ลิงทุกชนิดมีผลไม้เป็นอาหาร ที่เราเอามาเลี้ยงให้กินข้าวมันก็ชอบเหมือนกัน แต่สิ่งที่ลิงเกลียดที่สุดก็คือกะปิ ใครเอากะปิไปทามือลิงแล้วลิงจะเช็ดจนเลือดไหลทีเดียว เช็ดแล้วดมเช็ดแล้วดม จนกว่ากลิ่นจะหมด ลิงจะอาฆาตคนที่ทำเช่นนั้นไม่มีลืม

ที่อยู่ของลิงคือต้นไม้ เว้นแต่ลิงขนาดใหญ่ เช่น พวกกอลิลลามันจะทำที่อยู่ตามโคนไม้ที่พื้นดิน เพราะมันขึ้นต้นไม้ไม่สะดวก

ลิงทำรังหรือที่อยู่กันฝนเหมือนกัน โดยหักกิ่งไม้มาสุมๆ กันไว้บนต้นไม้ ทำจนมองไม่เห็นแสงตะวัน แต่แทนที่มันจะอยู่ภายใต้หลังคาที่มันสร้างขึ้นมา มันกลับขึ้นไปนั่งบนหลังคาหนาวสั่นอยู่บนนั้นเอง บางท่านว่าลิงมันกลัวหางจะเปียก มันจะเอาหางห้อยลงมาใต้หลังคาที่มันทำนั้น อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ไม่มีใครรู้ได้ว่าทำไมลิงมันไปทำอย่างนั้น ทำเหมือนคนโง่ๆ

เพราะลิงเป็นสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายคนนี่เอง คนส่วนใหญ่จึงไม่นิยมฆ่าลิงเอามาทำเป็นอาหาร แต่ก็มีคนพวกที่ชอบกินอาหารแปลกๆ อ้างว่าทำให้มีพละกำลังทางเพศ นิยมกินสมองของลิง วิธีกินสมองลิงก็พิศดารทรมานสัตว์ดีนัก คือเขามีโต๊ะจัดไว้เป็นพิเศษ คือเจาะรูไว้ตรงกลางโต๊ะ เมื่อต้องการจะกินสมองลิง (ผมใช้กริยาว่ากิน เพราะเหมาะกันการกินวิตถารนี้) ก็เอาลิงเข้าไว้ใต้โต๊ะให้ศีรษะโผล่พ้นโต๊ะขึ้นมา ใช้มีดเฉาะตรงกะโหลกศีรษะเปิดสมอง พวกที่นั่งคอยอยู่ก็เอาช้อนตักกิน ทั้งๆที่เจ้าของสมองกำลังดิ้นกระแด่วๆ อยู่ ว่ากินแล้วทำให้มีกำลังดีนัก เป็นอาหารเสวยของฮ่องเต้ทีเดียว คนชนิดนี้เผลอๆ ก็จะถูกคนอื่นฉะสมองไปกินเสียบ้างก็ได้

การเลี้ยงลิงคงจะวุ่นวายน่าดูกว่าจะฝึกลิงให้เชื่องได้ เพราะลิงชอบซุกซน เราจึงมีคำพังเพยอยู่บทหนึ่งเกี่ยวกับลิงว่า ฤาษีเลี้ยงลิง ใช้ในเมื่อหัวหน้าของหมู่คณะไม่สามารถจะควบคุมบริวารให้อยู่ในระเบียบวินัยได้ วิธีฝึกลิงโดยใช้อุบายอีกอย่างหนึ่งคือทรมานสัตว์อื่น หรือฆ่าสัตว์อื่นให้ลิงดู เช่นเชือดคอไก่ให้ลิงดู เป็นต้น เพื่อจะขู่ให้ลิงกลัวว่าถ้าขืนซุกซนหรือดื้อไม่ทำตามที่สั่งแล้ว ตัวมันเองจะถูกฆ่าอย่างไก่นั่นด้วย คำนี้เราใช้ในกรณีที่ต้องการจะลงโทษคนหนึ่งเพื่อให้อีกคนหนึ่งเกรงกลัวด้วย ว่าเชือดคอไก่ให้ลิงดู

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

อมนุษย์พวกต่างๆ

ในวรรณคดีสันสกฤตได้กล่าวถึงอมนุษย์ว่ามีอยู่หลายพวกด้วยกัน

อมนุษย์  พวกแรกที่จะกล่าวถึงก็คือ กินนร คำว่ากินนรนี้ ตามรูปศัพท์แปลว่า คนอะไร ถ้าเป็นเพศเมียก็เรียกว่ากินกินนรีนรี กินนรและกินนรีของไทยนั้น เป็นสัตว์ครึ่งคนครึ่งนก คือท่อนบนเป็นคนแต่ท่อนล่างเป็นนก บางแห่งว่ากินนรนั้นหน้าเป็นม้าตัวเป็นคน อย่างนางแก้วหน้าม้าของเราก็น่าจะเป็นพวกกินนรได้ ตามวรรณคดีของอินเดียว่ากินนรนั้นเป็นนักดนตรี และนักขับร้องของเทวดาอยู่บนสวรรค์ เป็นบริวารของท้าวกุเวร แต่ในที่บางแห่งคำว่ากินนรหมายถึงคนชั่วช้าเลวทรามก็ได้ ท่านเสถียรโกเศศเล่าว่าไทยอาหมเรียกคนเลวว่า “คมม้า” ทำให้นึกถึงคำไทยคำหนึ่งคือคำว่าหน้าม้า หมายถึงคนที่ชักจูงให้คนอื่นหลงกลให้พวกของตัวหลอกลวงเอาได้ เช่นที่เรียกกันว่าพวกต้มหมู เป็นต้น ทำไมจึงเรียกคนพวกนี้ว่าหน้าม้าก็ไม่ทราบ อาจจะหมายความถึงคนชั่วช้าเลวทรามอย่างภาไทยอาหมก็ได้ ซึ่งของเรากลายความหมายเป็นอย่างอื่นเสียแล้ว แต่คนไทยอาหมยังรักษาความหมายเดิมไว้ได้ก็เป็นได้

อมนุษย์อีกพวกหนึ่ง ก็คือ คนธรรพ์ ว่ากันว่าเป็นพวกขับร้อง เช่นเดียวกับกินนร บางแห่งก็หาว่าเป็นพวกเดียวกับกินนรนั่นเอง แต่พูดถึงความประพฤติของพวกคนธรรพ์ในทางชู้สาวแล้วดูเหมือนพวกคนธรรพ์จะสำส่อนชอบสนุกในทางนี้ โดยรักใคร่สู่สมกันด้วยตนเอง แล้วพากันไปอยู่ตามอำเภอใจ จนเราเรียกคนที่หนีตามกันไปว่า แต่งงานแบบคนธรรพ์ หรือคันธรรพ์วิวาห์

วิทยาธร  หมายถึงชนเผ่าหนึ่งว่ากันว่ามีวิชาความรู้แสดงกลได้หลายอย่าง แต่เวลานี้จะหมายเอาชนเผ่าไหนก็ยังค้นไม่พบ

อีกพวกหนึ่งคือ รากษสนั้น ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายไว้ว่ายักษ์ร้าย ยักษ์เลว ผีเสื้อยักษ์ รากษสจึงเป็นยักษ์พวกหนึ่งนั่นเอง บางแห่งว่ารากษสนั้นพระพรหมได้สร้างขึ้นเพื่อให้รักษาท้องน้ำ ในลิลิตนารายณ์สิบปาง พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงอธิบายเรื่องรากษสไว้ว่า “เกศินี รากษสี ผู้เป็นมเหสีพระวิศระวัส และเป็นมารดาของทศกัณฐ์” และทรงอธิบายต่อไปว่า นครลงกาของทศกัณฐ์นั้นแต่เดิมมาพระวิศวกรรมเป็นผู้สร้างให้พวกรากษสอยู่ ภายหลังพวกรากษสได้ทิ้งร้างไป พวกต้นตระกูลของทศกัณฐ์จึงได้เข้าไปยึดครองแทน พวกรากษสได้ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่อื่น นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเดิมพวกรากษสก็คือพวกที่อยู่ตามน้ำนั่นเอง อย่างนางผีเสื้อสมุทรตัวละครตัวหนึ่งของสุนทรภู่ ในเรื่องพระอภัยมณีก็คงเป็นรากษสนั่นเอง เพราะท่านพรรณนาไว้ว่า

“จะกล่าวถึงอสุรีผีเสื้อน้ำ    อยู่ท้องน้ำวังวนชลสาย
ได้เป็นใหญ่ในพวกปีศาจพราย    สกนธ์กายโตใหญ่เท่าไอยรา”

ในชาดกทางพุทธศาสนาของเรามีอยู่หลายเรื่องที่กล่าวถึงรากษสว่าเป็นยักษ์อาศัยอยู่ในน้ำ เช่น สระเป็นต้น ใครเผลอลงไปก็ถูกพวกรากษสจับกินเสีย

ท่าน น.ม.ส. ได้ทรงอธิบายเรื่องรากษสไว้ในหนังสือเรื่องกนกนคร ว่า “รากษสนั้นอ่านในหนังสือสังเกตว่า มีพวกดุเข้ารบเข้าฆ่าซึ่งๆ หน้าอย่างกล้าๆ พวกหนึ่ง อีกพวกหนึ่งไม่กล้าสู้ซึ่งๆ หน้า มักจะลวงด้วยมายาต่างๆ ให้คนเสียทีเพลี่ยงพล้ำก่อนจะเข้าทำร้าย มีคำกล่าวว่า เวลาโพล้เพล้เป็นเวลารากษสออกหากิน แขกจึงห้ามกันว่า ไม่ให้คนนอนหลับเวลานั้น เพราะกลัวว่าถ้ารากษสมาพบกำลังหลับก็จะทำร้ายได้ถนัด การห้ามไม่ให้นอนหลับในเวลาโพล้เพล้ ไทยเราก็ยังห้ามอยู่จนบัดนี้ แต่ไม่เคยได้ยินคำอธิบายว่าทำไมจึงห้าม จะเป็นด้วยแขกมาสอนให้กลัวรากษส จนเดี๋ยวนี้เลิกกลัวรากษส แต่ยังไม่เลิกกลัวนอนเวลาโพล้เพล้ จึงไม่มีคำอธิบายก็เป็นได้ หรือถ้ามีข้าพเจ้าไม่เคยได้ยิน”

เรื่องนี้ผมเองได้ยินผู้ใหญ่ให้เหตุผลที่ห้ามนอนตอนโพล้เพล้ว่า นอนตอนนี้จะทำให้ไม่สบาย เคยเผลอนอนถึงตอนโพล้เพล้ รู้สึกไม่สบายครั่นเนื้อครั่นตัวจริงๆ

ท่าน น.ม.ส. ทรงอธิบายเรื่องรากษสต่อไปว่า “ถ้าจะกล่าวตามโปรเฟซเวอร์เดาซัน รากษสมีสามจำพวก พวกหนึ่งทำนองเดียวกับยักษ์ คือเป็นอสูรชนิดไม่ดุร้าย ไม่สู้เป็นภัยกับใครนัก รากษสอีกจำพวกหนึ่ง เป็นศัตรูของเทวดา และจำพวกที่สามเป็นพวกที่เที่ยวอยู่ตามป่าช้าเที่ยวทำลายพิธีบูชา กวนคนจำพรต สิงซากศพ กินคน แลทำการลามก และเป็นภัยแก่มนุษย์ด้วยประการต่างๆ…..” เรื่องของรากษสกับยักษ์เห็นจะแยกกันยาก

อมนุษย์อีกพวกหนึ่งคือพวก คุหยัก แปลตามตัวผู้ซ่อนตัว บางทีจะเป็นพวกขุดหาแก่ก็ได้ บางแห่งว่าเป็นบริวารของท้าวกุเวรมีหน้าที่เฝ้าทรัพย์อยู่ใต้ดิน

ปีศาจ เป็นมนุษย์พวกหนึ่ง ซึ่งตามความเข้าใจของเราว่าเป็นพวกเดียวกับภูตผี เรียกรวมว่าภูตผีปีศาจ แต่ความจริงแล้วคำว่าปีศาจ เป็นชื่อของคนเผ่าหนึ่งซึ่งอยู่ในอินเดีย คือพวกที่อยู่ในแคว้นทรทิศสถาน เหนือแคว้นกัษมีระหรือแคชเมียร์ มีภาษาพูดต่างหากเรียกกันว่าภาษาปีศาจ แต่ภายหลังคงจะเหยียดคนพวกนี้เป็นคนเลว สกปรก ชอบกินเนื้อดิบๆหรือซากศพ ก็เลยสงเคราะห์ให้อยู่ในจำพวกภูตผีเสียเลย อย่างเราเรียกมนุษย์เผ่าหนึ่งว่า ผีตองเหลืองนั่นเอง

ยักษ์นั้นมิใช่ร้ายแต่ส่วนเดียวหรือมิใช่ร้ายไปทั้งหมด ยักษ์ที่มีคุณธรรมความดีก็มีเช่นท้าวกุเวร ซึ่งเป็นโลกบาลประจำทิศเหนือ นับถือกันว่าเป็นผู้คุ้มครองป้องกันภัยให้แก่มนุษย์ ท่านเสถียรโกเศศอธิบายเรื่องกุเวรไว้สั้นๆ ในหนังสือสารานุกรมไทยว่า “กุเวร ท้าวพระยายักษ์ผู้เป็นเจ้าแห่งขุมทรัพย์ มียักษ์และคุหยกะ (ยักผู้เฝ้าขุมทรัพย์) เป็นบริวารท้าวกุเวรนั้นบางทีก็เรียกท้าวไวศรวัน (เวสสุวัณ) ทมิฬเรียกกุเวรว่า กุเปรัน ซึ่งมีเรื่องอยู่ในรามเกียรติ์ว่าเป็นพี่ต่างมารดาของทศกัณฐ์ และทศกัณฐ์ไปแย่งบุษบกของท้าวกุเวรไป ท้าวกุเวรมีรูปร่างพิการ ผิวขาว มีฟัน ๘ ซี่ และมีขาสามขา (ภาพท้าวเวสสุวัณจึงมักเขียนท่ายืนแยงถือไม้ตะบองยาวยันอยู่หว่างขา) เมืองท้าวกุเวรชื่อ อลกา อยู่บนเขาหิมาลัย มีสวนอุทยานอยู่บนไหล่เขาแห่งหนึ่งของเขาพระสุเมรุ ชื่อว่าสวนไจตรตหรือมนทร มีพวกกินนรและคนธรรพ์เป็นผู้รับใช้…..จีนเรียกโต้แหวนหรือโต้บุ๋น ญี่ปุ่นเรียก พิศมอน ตามคติไทยมักเขียนภาพท้าวกุเวรซึ่งเรียกว่า เวสสุวัณ แขวนไว้ที่แปลเด็กเป็นเครื่องคุ้มกันภัย เพราะท้าวเวสสุวัณมีคนเป็นพาหนะสำหรับพระองค์ขี่….ดังนั้นที่เรานิยมทำรูปยักษ์ไว้ตามประตูโบสถ์วิหารก็เพื่อจะให้ยักษ์คุ้มครองภัยหรือช่วยรักษาทรัพย์นั่นเอง เพราะยักษ์ที่มีคุณความดีก็มีดังกล่าวแล้ว

ในสมัยก่อนมีพระราชพิธีอยู่อย่างหนึ่ง คือพิธีสัพพัจฉรฉินท์คือ พิธีตรุษสิ้นปี ในพิธีนี้มีการสวดอาฏาณาฏิยสูตร และภาณยักษ์ภาณพระที่ในพระบรมมหาราชวัง ว่าเป็นการขับพวกปีศาจให้ออกไปจากเมือง ให้ประชาชนพลเมืองอยู่ดีมีความสุข พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเล่าเรื่องนี้ไว้ในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน ตอนพิธีประจำเดือนสี่ว่า

“การที่มุ่งหมายในเรื่องทำพระราชพิธีตรุษสุดปีนี้ มีการสวดอาฏาณาฏิยสูตรซ้ำๆ กันไปตลอดคืนยันรุ่งนี้ ด้วยประสงค์จะให้เป็นการระงับภัยอันตรายแก่มนุษย์ทั้งปวงทั่วพระราชอาณาเขต ตามพระบรมพุทธานุญาต แต่ตามที่เข้าใจกันโดยมากว่า ซึ่งพระสงฆ์สวดภาณยักษ์หรือภาณพระนั้น เป็นการขู่ตวาดให้ผีตกใจกลัว แล้วยิงปืนกระหน่ำสำหรับให้วิ่งจนถึงคนแก่คนเฒ่าต้องหาขมิ้นกับปูนตั้งไว้ตามข้างที่หลับที่นอนในเหย้าในเรือน สำหรับผีญาติพี่น้องและผีเหย้าผีเรือน จะตกใจปืนเที่ยววิ่งปากแตกสีข้างหัก จะได้เอาขมิ้นกับปูนทาแล้วทำต้นไม้ผูกของกินเล็กๆ น้อยๆ มีกระบอกเล็กๆ กรอกน้ำแขวนกิ่งไม้ผูกไว้ที่บันไดเรือนเรียกว่าข้าวผอกกระบอกน้ำ สำหรับเจ้าพวกผีที่วิ่งตามถนนจะต้องวิ่งไปวิ่งมาเหน็ดเหนื่อยหิวโหยโรยแรง จะได้หยิบกินไปพลาง ห้ามไม่ให้ปัสสาวะลงทางร่อง ด้วยเข้าใจว่าผีนั้นวิ่งชุลมุนอยู่ตามใต้ถุนรุนช่องจะไปเปียกไปเปื้อน บางที่ที่เป็นโคมใบโตๆ (คำว่าโคมเป็นสำนวนหมายความว่าเชื่ออย่างงมงาย) จึงร้องไห้ร้องห่มสงสารคนนั้นคนนี้ที่ตัวรักตัวใคร่ก็มี การซึ่งว่าขับผีเช่นนี้ ในตัวอาฏานาฏิยสูตรเองก็ไม่ได้ว่าพระสงฆ์ก็ไม่ได้ขู่ตวาดขับไล่ผี ตามความที่คาดคะเนไป มีความจริงอยู่อย่างหนึ่งแต่ในคำประกาศเทวดาเวลาค่ำขับผีซึ่งมิได้นับถือพระพุทธศาสนาเป็นมิจฉาทิฐิ มิอาจที่จะรักษาพระเจ้าแผ่นดิน และพระบรมวงศานุวงศ์และราษฎร์ได้ ให้ออกไปเสียนอกขอบเขาจักรวาล ชะรอยจะได้ยินคำประกาศอันนี้ ส่อให้เข้าใจภาณยักษ์ภาณพระว่าเป็นขู่ตวาดไล่ผี”

ท่านที่เคยได้ยินพระท่านสวดภาณยักษ์เป็นทำนองแล้ว ก็คงจะเข้าใจทำนองเดียวกับคนไทยสมัยก่อนเข้าใจว่าไล่ผีนั่นเอง เพราะมีคำว่ายักโข วา ยักขิณี วา และพอถึงคำว่ายักษ์พระท่านก็ขึ้นเสียงเหมือนตวาดจริงๆ สมัยผมเป็นเด็กยังถูกเขาบอกเล่าว่าเวลาพระสวดภาณยักษ์นั้นระวังอย่าไปยืนอยู่ตรงทาง ให้หลีกๆ ไปอยู่ในบ้านในเรือนเสีย เพราะผีตกใจพระสวดวิ่งพลวดพลาดมาชนเอาหกล้มไปได้ กว่าจะรู้ว่าเป็นเรื่องเหลวไหลก็เชื่อไปเสียนานแล้ว

เรื่องของยักษ์แล้วต้องกินเนื้อคนหรือเนื้อสัตว์เป็นอาหาร มีแทบทุกชาติทุกภาษา และเรื่องของคนกินเนื้อคนด้วยกันนี้ เห็นจะมีในอินเดียมาก เพราะพระพุทธองค์ทรงห้ามมิให้พระภิกษุฉันเนื้อมนุษย์อยู่ด้วยอย่างหนึ่ง ถ้าคนไม่นิยมกินกันแล้ว คงไม่ต้องห้ามเป็นแน่ ในเรื่องโปริสาทชาดกยังได้กล่าวถึงว่าพระเจ้าโปริสาทถูกคนครัวหลอกให้เสวยเนื้อมนุษย์ครั้งเดียวก็ติดใจ ไม่ยอมเสวยเนื้ออื่นนอกจากเนื้อมนุษย์ จนยอมสละราชบัลลังก์เพียงเพื่อจะได้เสวยเนื้อมนุษย์ตามพระราชหฤทัย ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่ายักษ์ที่กินเนื้อมนุษย์นั้นมีจริงๆ ไม่ใช่เรื่องที่แต่งขึ้นเล่นเฉยๆ มนุษย์กินคนยังมีอยู่ทั่วไปในป่าหลายแห่ง

ยักษ์ร้ายนั้นยกไว้เถิด แต่มนุษย์เราใจทมิฬหินชาติยิ่งกว่ายักษ์ทุกวันนี้ก็ยังมีมากท่านควรระวังมนุษย์พวกนี้ยิ่งกว่ายักษ์

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

พิธีอัศวเมธของชาวอินเดีย

ในอินเดียโบราณมีพิธีประกาศความเป็นใหญ่เป็นโตของพระราชาอยู่พิธีหนึ่งเรียกว่าพิธี “อัศวเมธ” คือการฆ่าม้าบูชายัญ

พิธีนี้ คุณสุชีพ  ปุญญานุภาพ เล่าไว้ในหนังสือคุณลักษณะพิเศษแห่งศาสนาพุทธว่า “ได้มีการเลือกม้าตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เมื่อคลอดออกมาแล้วก็ต้องดูแลประคบประหงมเป็นพิเศษตลอดเวลาสามปี มีการบูชาเทวดา ๓ องค์ คือพระอินทร์ เพื่อให้ดูแลลูกม้าตัวนั้น พระยมเพื่อให้ป้องกันม้านั้นจากความตายและอุบัติเหตุต่างๆ พระวรุณเทพเจ้าแห่งฝนเพื่อให้ฝนตกลงมายังความชุ่มชื้นให้แก่พื้นดิน เพื่อจะได้มีหญ้าดีๆ ให้ลูกม้านั้นกิน”

“ภายหลังที่ลูกม้านั้นอายุเกิน ๓ ปีแล้ว ก็มีการปล่อยให้เที่ยวไปตามชอบใจ มีผู้คนติดตามไปเป็นอันมากและมีกองทัพยกตามไปด้วย เข้าบ้านเมืองไหนถ้าเขายอมแพ้ก็แล้วไป ถ้าไม่ยอมแพ้ก็รบกัน คราวนี้มีผู้ใดต้องการทำลายพิธีนี้ ผู้นั้นก็ยกทัพมาไล่จับม้า ถ้าจับได้ก็ทำลายพิธีสำเร็จ แต่โดยมากผู้ที่จะทำพิธีนี้มักแน่ใจในชัยชนะ คือได้เตรียมการรุกรานไว้แล้ว”  และมีเรื่องเล่าเพิ่มเติมในหนังสือเล่มอื่นว่า “เจ้าชายแห่งประเทศต่างๆ ที่ม้านี้ผ่านไป ถ้ายอมแพ้ก็ต้องร่วมไปในขบวนทัพที่ติดตามม้านี้ด้วย เมื่อครบปีแล้วจึงพาม้ากลับเมืองแล้วฆ่าม้านั้นบูชายัญ” พูดง่ายๆ ก็ว่าพิธีอัศวเมธนี้เป็นวิธีการล่าเมืองขึ้นชนิดหนึ่งของจักรพรรดิ์โบราณหาเหตุอะไรไม่ได้แล้ว ก็หาเหตุปล่อยม้ายกทัพผ่านเมืองชาวบ้านเล่นอย่างนั้นแหละ

พระยาสัจจาภิรมย์เล่าไว้ในหนังสือเทวกำเนิดของท่านว่า “พิธีอัศวเมธทำได้แต่เฉพาะผู้เป็นราชาธิบดี การที่ทำก็มุ่งหมายเพื่อขอพรพระผู้เป็นเจ้า ในสมัยโบราณกาลนิยมว่าเป็นพิธีสำหรับขอลูก ต่อมาภายหลังจึงถือกันว่าเป็นพิธีแผ่อำนาจ แรกลงมือทำจะต้องกระทำการบูชาไฟ (อัคนิษโฏม) และสมโภชม้าตัวรัก แล้วก็ปล่อยม้าเที่ยวไปตามใจ มีกองทัพตามไปด้วย เมื่อผ่านเข้าไปในแว่นแคว้นใด ผู้ครองแว่นแคว้นนั้นยอมอ่อนน้อมก็ต้องรับรองม้าด้วยความเคารพ ถ้าไม่ยอมก็ต้องรบกับกองทัพที่ตามมานั้นไป เมื่อม้านี้เที่ยวไปได้หนึ่งปี โดยไม่มีอุปสรรคอย่างใดแล้วก็นำม้านั้นกลับมา แล้วสมโภชฉลองกันเป็นครั้งใหญ่ จึงฆ่าม้าตัวนั้นบูชายัญ (เผาไฟ) โดยปกติ นัยว่า ผู้ฆ่าม้าจะต้องเป็นพระอัครมเหสี”

ม้าที่ใช้ในการประกอบพิธีอัศวเมธนี้ต้องใช้ม้าที่ดี ส่วนมากจะเป็นม้าทรงของพระราชาและม้าเช่นนี้เรียกว่าม้าอุปการ อย่างที่เรียกกันว่าปล่อยม้าอุปการ ก็คือการทำพิธีอัศวเมธนี่เอง เรื่องของพิธีอัศวเมธมีในวรรณคดีของเราหลายเรื่อง เช่น เรื่องรามเกียรติ์ เรื่องอิลราชคำฉันท์ เป็นต้น ผู้สนใจโปรดค้นคว้าเอาจากหนังสือนั้นๆ เถิด

เมื่อพูดถึงเรื่องม้าในวรรณคดีแล้ว ถ้าไม่พูดถึงม้าอีกตัวหนึ่งในเรื่องพระอภัยมณีของท่านสุนทรภู่ก็ดูจะไม่สมบูรณ์นัก ม้านั้นคือม้านิลมังกร ซึ่งเป็นม้าทรงของสุดสาคร ท่านสุนทรภู่พรรณนาลักษณะของม้านิลมังกรไว้ว่า วันหนึ่งสุดสาครลงไปเล่นน้ำปล้ำกับปลาแล้วขี่ปลาไปเที่ยวเล่น

“พอพบม้าหน้าเหมือนมังกรร้าย        แต่กีบกายนั้นเป็นม้าน่าฉงน
หางเหมือนอย่างหางนาคปากคำรณ    กายพิกลกำยำดูดำนิล”

และฤาษีเกาะแก้พิสดารได้ทราบกำเนิดของม้าตัวนี้ โดยการเข้าฌาณว่า
“พระทรงศิลยินสุดสาครบอก    นึกไม่ออกอะไรกัดเหมือนมัจฉา
จึงเล็งญาณฌานชิดด้วยฤทธา    ก็รู้ว่าม้ามังกรสมจรกัน
ครั้นลูกมีศีรษะมันเหมือนพ่อ    ตัวตีนต่อจะเหมือนแม่ช่างแปรผัน
หางเป็นนาคมาข้างพ่อมันต่อพันธุ์    พระนักธรรม์แจ้งกระจ่างด้วยทางฌาน”

ม้านิลมังกรเป็นม้าที่แปลกเพราะพ่อเป็นมังกรแต่แม่เป็นม้า และอาหารที่มันกินก็แปลกเพราะ

“กินคนผู้ปูปลาหญ้าใบไม้        มันทำได้หลายเล่ห์อ้ายเดระฉาน
เขี้ยวเป็นเพชรเกล็ดเป็นนิลลิ้นเป็นปาน    ถึงเอาขวานฟันฟาดไม่ขาดรอน”

รวมความแล้วม้ามังกรของสุดสาครนั้นมีฤทธิ์เดชมากก็แล้วกัน

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

เครื่องประดับม้า

เมื่อพูดถึงม้าซึ่งใช้เป็นพาหนะแล้ว ก็ควรจะพูดถึงอัสสาภรณ์คือเครื่องประดับม้าเสียด้วย ม้าทรงนั้นประกอบด้วยเครื่องประดับต่างๆ ดังนี้เครื่องประดับม้า

๑. ตาบและพู่  เป็นเครื่องประดับให้สวยงาม ตาบเป็นรูปใบโพธิ์ใช้ติดห้อยลงทางด้านหน้า ส่วนพู่จะใช้ห้อยคอหรือหัวหรือท้ายอานก็ได้

๒. พานหน้าและพานท้าย  เป็นเครื่องรัดผมม้าทั้งสองอย่าง คือพานหน้าใช้รัดผมหน้าม้า ส่วนพานท้ายใช้รัดผมม้าด้านหลังหรือผมนกเอี้ยง ทั้งพานหน้าพานท้ายทำด้วยด้ายถักหรือใช้หนังก็ได้ มีดาวเล็กๆ หรือลูกพรวนประดับ เวลาวิ่งดังกริ๊งๆ เพราะดีเหมือนกัน

๓. ขลุม  เป็นสายเชือกถักติดกับบังเหียน แล้วรัดพาดปากม้า โยงติดกับพานหน้าและพานท้าย

๔. อาน  คือที่รองนั่งบนหลังม้า ทำด้วยหนังหรือผ้าก็ได้ ส่วนมากจะมีนวมบุข้างในเพื่อให้นั่งสบายๆ

๕. สายง่อง  คือสายเชือกที่โยงจากสายรัดอกม้ามายังขลุมตรงคางม้า เพื่อกันมิให้ม้าเงยหน้ามากเกินไป มีประโยชน์มากในเวลาขึ้นที่สูงหรือที่ชัน คอม้าก็จะไม่เงยหงายมิฉะนั้นจะทำให้คนขี่ตกได้ง่ายๆ สายง่องจะช่วยให้คอม้าโก่งอยู่เสมอ

๖. สายเหา  คือเครื่องรัดท้ายม้าจากอานไปยังโคนหาง

๗. สายถือคือสายบังเหียน  จะเป็นสายหนังหรือเชือกก็ได้ ใช้สำหรับบังคับม้าให้หันเลี้ยงไปตามทิศทางที่ประสงค์

๘. โกลน  คือเหล็กที่รองเหยียบมีสายห้อยติดอยู่ข้างอาน

๙. พะนัง  หรือแผงข้าง ทำด้วยแผ่นผ้าหรือแผ่นหนังก็ได้ ใช้รองอานม้าและลาดปกลงมาสองข้างม้า เป็นเครื่องป้องกันไม่ใช้ขาของผู้ขับขี่เสียดสีกับข้างม้า และเป็นเครื่องป้องกันมิให้เหงื่อม้าเปื้อนผู้ขับขี่ด้วย

เรื่องเครื่องประดับม้านี้ ส.พลายน้อยได้เล่าเป็นประวัติไว้ในหนังสือสัตว์นิยายว่า “ม้านั้นเดิมเป็นสัตว์ที่เหาะได้ คราวหนึ่งม้าได้บุกเข้าไปในสวนของพระอิศวร เพื่อเข้าไปหานางม้าอัศวราช ๒ ตัว ซึ่งพระพายได้ถวายไว้เป็นม้าเทียมรถของพระอุมา ม้าทั้ง ๔ ได้กินหญ้าและพืชพันธุ์ต่างๆ ในสวนนั้นอย่างเพลิดเพลิน อสูรนนทกาลผู้เฝ้าสวนเห็นเช่นนั้นก็สำแดงอานุภาพทำให้กายใหญ่เข้ารวบรัดจับม้าทั้ง ๔ ไว้ แล้วนำไปถวายพระผู้เป็นเจ้า กล่าวโทษที่ม้าทั้ง ๔ มาทำลายเหยียบย่ำสวนจนยับเยินไปหมด พระอิศวรจึงมีเทวโองการสั่งให้อสูรนนทกาลตัดเอ็นเหาะที่เท้าม้าทั้ง ๔ นั้นเสีย อย่าให้ม้านั้นเหาะเหินเดินอากาศได้สืบไป แล้วให้เอาเหล็กบิดเป็นเกลียวมีห่วงใส่วงกระวินข้างหนึ่งมีปลายขดเป็นข้อ มีขนาดยาวสี่นิ้วสองอัน เอาข้อต่อข้อเกี่ยวกันให้มั่น แล้วเอาเชือกถักเป็นขลุมเงื่อนผูกกับห่วงกระวินทั้งสอง เหล็กนั้นผ่าปากม้าให้คาบขลุมนั้นสวมศีรษะม้าครอบหูแล้วเอาเชือกผูกขลุมข้างขวา อ้อมใต้คางมาผูกขลุมข้างซ้ายเรียกว่ารัดคางบังเหียน ม้าจะบริโภคอันใดให้ลำบาก แล้วเอาเชือกยาว ๔ ศอกผูกระหว่างกระวินทั้งสอง ชักซ้ายไปขวา ชักสองสายให้ยืนนิ่งอยู่ แล้วให้เอากระดูกตะโพกก้นกระบือตายวางครอบลงบนหลังม้าเรียกว่า อาน เอาเชือกผูกอ้อมรัดอานไว้กับอกเรียกว่ารัดอก เชือกสายหนึ่งอ้อมคอผูกไว้กับหัวอานทั้งสองเรียกว่า รั้งหน้า เชือกสายหนึ่งอ้อมโคนหางมาผูกท้ายอานทั้งสองเรียกว่า รั้งท้าย เชือกสายหนึ่งที่ผูกกระวินขลุมทั้งสองสอดมาหว่างเท้าหน้ามาผูกที่สายรัดอกเรียกว่า สายง่อง

ครั้นแต่งเครื่องประจานเสร็จแล้ว พระอิศวรให้พาม้าเดินตระเวนรอบสวนสามรอบ ประกาศให้สัตว์ทั้งหลายอย่าได้เอาเยี่ยงอย่าง แล้วเอาไปปล่อยยังโลกมนุษย์ และตั้งแต่นั้นมา ม้าก็เป็นพาหนะของมนุษย์ได้ใช้สืบมาจนทุกวันนี้”

ม้านั้นนอกจากใช้ขี่เป็นพาหนะไปไหนมาไหนได้รวดเร็วแล้วคนเรายังใช้เป็นพาหนะสำหรับรบด้วย การขี่ม้ารบกันหรือที่เรียกว่าทหารม้านั้นนิยมกันมานานแล้ว นอกจากนี้ในสมัยโบราณยังนิยมเอาม้าเทียมรถด้วย รถม้านี้นอกจากเป็นยานที่ขับขี่ตามธรรมดาแล้วยังใช้เป็นรถรบด้วย ซึ่งเราเคยทราบกันอยู่แล้ว ผู้ที่จะขับขี่รถม้าจะต้องมีความชำนาญในการขับขี่ม้าหรือบังคับม้าได้เป็นอย่างดีด้วย คนพวกนี้ภาษาบาลีเรียกว่าสารถี ซึ่งเรานำมาใช้เรียกคนขับรถยนต์ทุกวันนี้ก็มี

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

ม้าสีหมอกของขุนแผน

ม้าในวรรณคดีอันเลื่องชื่อของเราอีกตัวหนึ่ง ก็คือม้าสีหมอก ซึ่งเป็นม้าพาหนะคู่ขาของขุนแผนยอดนักรักและนักรบในเรื่องขุนช้างขุนแผนของเรา ม้าสีหมอกนั้นตามประวัติกล่าวไว้ว่าม้าสีหมอก

“จะกล่าวถึงหลวงทรงพลกับพันภาณ    พระโองการตรัสใช้ไปตะนาวศรี
ไปตั้งอยู่มฤทเป็นครึ่งปี            กับไพร่สามสิบสี่ที่ตามไป
ด้วยหลวงศรีวรข่านไปซื้อม้า            ถึงเมืองเทศยังช้าหามาไม่
ต้องรออยู่จนฤดูลมแล่นใบ            เรือที่ไปเมืองเทศจึงกลับมา
หลวงศรีได้ม้ามามอบให้            ทั้งม้าเทศม้าไทยหกสิบห้า
อีเหลืองเมืองมฤทพลอยติดมา        ผัวมันท่านว่าเป็นม้าน้ำ
มีลูกตัวหนึ่งชื่อสีหมอก            มันออกวันเสาร์ขึ้นเก้าค่ำ
ร้ายกาจหนักหนานัยน์ตาดำ            เห็นม้าหลวงข้ามน้ำก็ตามมา”

ม้าสีหมอกเป็นม้าที่เก่งกาจเที่ยวไล่กัดม้าหลวงจนพวกที่ไปรับม้าเหลือระอา พอดีขุนแผนซึ่งวางแผนจะหาเครื่องมือสามอย่าง ว่าถ้าได้ตามกำหนดแล้วจะไม่ต้องกลัวใครอีก เครื่องมือทั้งสามนั้นก็คือ ดาบ กุมารทอง และม้า เมื่อขุนแผนเห็นม้าสีหมอกออกลำพองสมปองปรารถนาที่นึกไว้

“ลักษณะถูกต้องตามตำราสิ้น      ดังองค์อินทร์เทวราชประสารทให้”

ขุนแผนจึงขอซื้อม้าตัวนี้จากหลวงศรี หลวงศรีดีใจที่ม้าตัวนี้จะได้พ้นภาระของตนเสียที เพราะเป็นม้าที่ก่อความลำบากให้ และมิใช่เป็นม้าหลวง จึงตกลงขายให้ขุนแผนในราคาสิบห้าตำลึง ขุนแผนซื้อแล้วก็ขึ้นขี่กลับบ้านเขา ม้าสีหมอกเป็นม้าฝีเท้าไว วิ่งจนลมออกหูรับใช้ขุนแผนอยู่หลายปีจนที่สุดขุนแผนติดคุกต้องฝากม้าสีหมอกไว้ที่เมืองพิจิต ถ้าท่านไปจังหวัดพิจิตรแล้วลองสอบถามชาวพิจิตรดูก็ได้ว่าคอกม้าสีหมอกของขุนแผนนั้นอยู่ตรงไหน คนพิจิตรเขาจะบอกท่านเอง

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

ม้าเซ็กเธาว์ของกวนอู

ในหนังสือเรื่องสามก๊กของเราได้กล่าวถึงม้าของกวนอูไว้ว่าชื่อม้าเซ็กเธาว์ ความจริงคำว่าเซ็กเธาว์ก็เคลื่อนมาจากคำว่า สินธพนั่นเอง ม้าเซ็กเธาว์นั้นหนังสือสามก๊กได้พรรณนาคุณภาพไว้ว่า “มีฝีเท้าเดินทางได้วันละหมื่นเส้น ถ้าขึ้นเขาและข้ามน้ำก็เหมือนกับเดินที่ราบ” และม้าเซ็กเธาว์บอกลักษณะม้าเซ็กเธาว์ไว้ว่า “ขนนั้นแดงดังถ่านเพลิงทั่วทั้งตัว มิได้มีสิ่งใดแกมสูงสี่ศอกเศษ ได้ลักษณะเป็นม้าศึกเข้มแข็งกล้าหาญ” แต่บริวิตต์ เทเลอร์ ได้ทำเป็นคำโคลงกล่าวถึงม้าเซ็กเธาว์ไว้ ดังคำแปลที่มีผู้แปลไว้ว่า

“เจ้าม้าศึกผู้ระแวดระไวและมิรู้เหน็ดเหนื่อย

พึงดูจากฝุ่นที่ฟุ้งตลบเป็นกลุ่มเมฆด้วยแรงควบทะยานของมัน มันทั้งว่ายน้ำและบางครั้งก็ควบตะลุยขึ้นเนิน

วิ่งฝ่าไปในกลุ่มหมอกสีม่วง มันวิ่งลิ่วอย่างผยองมิพักต้องมีบังเหียนใช้บังคับ

คงเห็นแต่สายบังเหียนวามวาวสะบัดขึ้นลงอยู่แทบสองข้างหัว ช่างดูราวกับมังกรไฟที่ล่องลอยลงมาจากสวรรค์สูงสุดนั้นเทียว”

ม้าอีกตระกูลหนึ่งคือม้าอัศดร  ว่ากันว่าม้าอัศดรนี้เวลาจะคลอดต้องแหกท้องแม่ออกมา แม่ของม้าอัศดรนั้นเมื่อคลอดลูกออกมาแล้วก็ต้องตาย แต่ม้าอัศดรจะมีรูปร่างอย่างไรก็ไม่ทราบเหมือนกัน

เมื่อพูดถึงตระกูลของม้าแล้ว ก็อดที่จะนึกถึงม้าอีกตระกูลหนึ่งไม่ได้ นั้นคือม้าแกลบ ซึ่งเป็นม้าไทยตระกูลหนึ่ง เป็นม้าขนาดเล็ก พวกข้าราชการที่ไม่จบจากเมืองนอกมักจะเรียกตัวเองว่า พวกม้าแกลบ มันจะสู้พวกม้าเทศคือพวกนักเรียนนอกไม่ได้ เพราะนักเรียนนอกก้าวหน้ากว่านักเรียนใน เหมือนม้าเทศวิ่งเร็วกว่าม้าแกลบฉะนั้น แต่อย่างไรก็ตามจะเป็นม้าเทศหรือม้าไทยก็เป็นม้าเหมือนกันทั้งนั้น ม้าไทยนั้นถึงจะวิ่งช้าแต่ก็อดทนวิ่งจนถึงจุดหมายเหมือนกัน เว้นแต่บางตัวถ้าคนขี่ไม่ชำนาญม้าไทยหรือม้าแกลบก็พากลับหลังอยู่ท่าเดียว

เมื่อพูดถึงม้า เราผู้เป็นพุทธศาสนิกชน ก็อดนึกถึงม้าในพุทธประวัติไม่ได้นั้นคือ ม้ากัณฐกะ ซึ่งเป็นม้าทรงของสิทธัตถะกุมาร เมื่อคราวออกผนวช หรือเป็นม้าทรงของพระพุทธเจ้านั้นเอง หนังสือปฐมสมโพธิกถา ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสทรงพระนิพนธ์ เรียกม้ากัณฐกะว่า “พญาม้ากัณฐกะอัศวราช” และพรรณนารูปร่างลักษณะของพญาม้าไว้ว่าใหญ่โต ล่ำสัน แข็งแรง วัดจากส่วนคอถึงท้ายมีความยาวถึง ๑๘ ศอก สูงเหมาะสมกับส่วนยาวของร่างกาย มีลักษณะที่สวยงามเป็นพิเศษคือ “สีขาวบริสุทธิ์ดุจสังข์อันขัดใหม่ ศีรษะนั้นดำดุจสีแห่งกามีเกศาในประมุขประเทศขาวผ่องดุจไส้หญ้าปล้องอันงามสะอาด” และม้ากัณฐกะนี้เกิดในวันที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ จึงเป็นสหชาติและเป็นราชพาหนะคู่พระบารมี

ในหนังสือเรื่องประวัติพระพุทธเจ้า ซึ่งนาง แอล อดัมส์ เบ็คก์ ชาวอังกฤษแต่งไว้ และอาษาขอจิตต์เมตต์ แปล ก็ได้พรรณนาลักษณะของม้ากัณฐกะไว้ว่า “ม้ากัณฐกะตัวนี้เป็นม้าตระกูลสูงเยี่ยม รูปร่างสง่างาม หางเป็นพวงพลิ้ว หลังกว้าง หน้าผากใหญ่ รูจมูกกลม และมีลักษณะคล้ายคลึงกับเล็บของมัน”

ม้ากัณฐกะคงเป็นม้าที่แสนรู้ เพราะเมื่อพระโพธิสัตว์จะขึ้นประทับบนหลังม้าตอนที่จะออกมหาพิเนษกรมณ์ หรือออกผนวช พระโพธิสัตว์ได้ตรัสว่า “ดูก่อนพ่อกัณฐกะมโนมัย ท่านจงพาอาตมาไปให้ตลอดในราตรีเดี๋ยวนี้ อาตมาจะได้ตรัสรู้เป็นองค์สรรเพ็ชญ์พุทธเจ้า จะได้ขนข้ามเวไนยสัตว์ทั้งมนุษย์โลกกับทั้งเทวโลก ให้พ้นจากจตุโอฆสงสารบรรลุถึงฝั่งปรินิพพานในครั้งนี้” แล้วพระองค์ก็เสด็จประทับบนหลังม้าพระที่นั่ง มีนายฉันนะมหาดเล็กคนสนิทยึดหางม้าตามไปด้วย ราตรีเดียวก็ผ่านกรุงกบิลพัสดุ์ เมืองสาวัตถี และเมืองเวลาลี นับเป็นระยะทางถึง ๓๐ โยชน์ ถึงฝั่งแม่น้ำอโนมา ณ ที่นี้ พระโพธิสัตว์ได้เปลื้องเครื่องทรงสำหรับกษัตริย์ออกมอบให้นายฉันนะ พระองค์ตัดพระเมาลีถือเพศเป็นนักบวช ฝ่ายฉันนะนำเครื่องทรงและจูงม้ากัณฐกะกลับ แต่ม้ากัณฐกะตายเสียเพราะความเศร้าโศกเสียใจ ด้วยพลัดพรากจากเจ้าของ หนังสือปฐมโพธิกถาพรรณนาความตอนนี้ไว้ว่า “ม้านั้นก็หันหน้ากลับมาดูพระพักตร์เพ่งพิศจนลับเนตรพ้นเขตทัศนวิสัย มิได้วายอาลัยในพระมหาบุรุษราช มีศออันเหือดแห้งขาดเขฬะความโศกปะทะปิดทางอัสสาสะ เดินไปหน่อยหนึ่งดวงหฤทัยก็ทำลายออกเป็น ๗ ภาค กระทำกาลกิริยาล้มลงในมัคคันตรวิถี” นี้เป็นประวัติของม้าทรงของพระพุทธเจ้า เมื่อช่างจะสร้างพระพุทธรูปตอนพระพุทธองค์ออกผนวช เขาจะเขียนเป็นพระพุทธรูป มีม้ากัณฐกะอยู่ข้างหนึ่ง มีนายฉันนะอยู่ข้างหนึ่ง เป็นเครื่องหมายว่าออกผนวช ยิ่งกว่านั้น ผู้ที่จะบวชสมัยนี้ยังนิยมขี่ม้าแห่นาคจากบ้านไปวัดด้วย ทำคล้ายกับว่าประวัติตอนพระพุทธเจ้าออกผนวชฉะนั้น

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

ยาทาแก้ปวดและบวมเมื่อโดนผึ้งต่อย

ปัญหาของผู้เลี้ยงผึ้งก็คือ กลัวผึ้งต่อย ทำให้เจ็บปวด บางคนแพ้เป็นไข้ไปเลยก็มี บางรายถูกผึ้งต่อยบริเวณใกล้ตา ตาจะปิด ต่อยแก้มๆ จะบวมอูม ฯลฯ แต่อย่างไรก็ตามสำหรับผู้เลี้ยงผึ้งส่วนมากมีเครื่องป้องกันดีอยู่แล้ว หรือเมื่อเลี้ยงไปนานๆ อาจมีความเคยชินกับผึ้งมากขึ้น จะถูกผึ้งต่อยน้อยลง ในกรณีที่มีผึ้งต่อยและแพ้มากๆ ควรใช้ยาดังนี้

๑. ยาแก้ปวดทุกชนิด ใช้รับประทานตามอัตรา แก้ปวด
๒. ลินซิดอน แคปซูล ใช้รับประทานแก้แพ้
๓. แอนตี้ ซานครีม ทาแก้อักเสบบริเวณที่ถูกต่อย และดับกลิ่นสาบนางพญา
๔. หัวหอม หอมแดง ใช้มีดฝานทาแก้ปวดและบวมได้ดี
๕. ยาหม่อง ใช้ทาแก้ปวดและบวมได้ แต่ไม่เป็นที่นิยม เพราะทำให้ร้อนและทาใกล้ตาไม่ได้

เมื่อพูดถึงผึ้งแล้ว มีผู้ยกย่องว่าผึ้งเป็นสัตว์ที่จัดระเบียบความเป็นอยู่ดีที่สุด เพราะผึ้งส่วนมากมีนิสัยขยันขันแข็ง ชอบอยู่รวมกันเป็นหมวดหมู่ จัดระเบียบการงานในสังคมของมันดีไม่ก้าวก่ายหน้าที่ของกันและกัน ไม่เหมือนอย่างมนุษย์ทุกวันนี้ ที่ต่างคนต่างอ้างว่าตนมีความรู้ความสามารถวิเศษยิ่งกว่าคนอื่น เลยทำให้บ้านเมืองยุ่งเหยิงอยู่ทั่วไปในทุกวันนี้ ผึ้งมีความสามัคคีกลมเกลียว ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน มีความมุ่งหวังที่จะทำนุบำรุงรังของมันแต่ละรังให้ได้ประโยชน์มากที่สุด มีความกล้าหาญ ไม่ใช่เพียงแต่ทำท่าว่าเก่งกล้า แต่ใครไปรังแกมันมันจะสู้จนสุดใจขาดดิ้นทีเดียว

ผึ้งนั้นมีระเบียบในการจัดสังคมดีมาก มันแบ่งหน้าที่กันทำไม่ก้าวก่ายหน้าที่ของกันและกัน แต่การที่จะแบ่งหน้าที่กันนี้ ผึ้งได้แบ่งพลพรรคผึ้งหรือพลเมืองผึ้งออกเป็น ๓ ประเภท คือ

๑. แม่รังหรือราชินีผึ้ง (Queen) หรือนางพญาผึ้ง
๒. พ่อรัง (Drone)
๓. พลรังหรือผึ้งทหารเรือพลรบ (Worker) หรือผึ้งงาน
ผึ้งทั้งสามประเภทนี้แบ่งหน้าที่กันทำไม่ได้ก้าวก่ายกันตลอดชีวิตของผึ้ง มันแบ่งหน้าที่กันดังนี้คือ

ผึ้งแม่รังหรือนางพญาผึ้ง  มีหน้าที่เพาะพันธุ์หรือวางไข่ตลอดจนชีวิต ผึ้งนางพญานี้ในรังหนึ่งจะมีอยู่เพียงตัวเดียวเท่านั้น (ถ้ามีตั้งแต่สองตัวจะกัดกันตาย) สังเกตได้ง่าย คือมีตัวโตมาก ลำตัวยาว แต่ปีกสั้น สีน้ำตาลเหลือง เอวคอด ก้นแหลม ไม่มีเหล็กใน ไต่ไปอย่างเชื่องช้า คล้ายตัวแตนหรือแมลงหมาล่า และที่สังเกตได้ง่ายก็คือไม่ว่านางพญาผึ้งนี้จะบินไปทางไหน ผึ้งตัวอื่นๆ ทั้งผึ้งพ่อรัง และผึ้งทหารจะบินตามไปเป็นพรวน ถ้าเป็นคนก็เห็นจะพอๆ กับนางสาวไทยเดินไปไหนมีคนเดินตามเป็นพรวนนั่นแหละ

ส่วนผึ้งพ่อรังนั้น มีหน้าที่อย่างเดียวในชีวิตก็คือ คอยผสมพันธุ์กับนางพญาผึ้งให้ได้ ผึ้งพ่อรังหรือผึ้งตัวผู้นี้ในรังหนึ่งมีอยู่หลายร้อยตัว แต่วิธีที่จะผสมพันธุ์นั้น ผึ้งตัวผู้หรือผึ้งพ่อรังตัวเดียวเท่านั้นที่จะผสมพันธุ์ได้ แต่ต้องเป็นผึ้งที่แข็งแรงที่สุด จึงจะผสมพันธุ์กับนางพญาผึ้งได้ ตอนที่ผึ้งจะผสมพันธุ์กันนี้ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์  ปราโมช เล่าไว้ในหนังสือเรื่องห้วงมหรรณพของท่านว่า “ผึ้งเมื่อถึงคราวที่จะผสมพันธุ์กันนั้น นางพญาผึ้งหรือผึ้งตัวเมียที่ยังเป็นสาวบริสุทธิ์จะบินด้วยความเร็วสูงขึ้นไปบนฟ้า ขณะนั้นผึ้งตัวผู้จำนวนร้อนจำนวนพันที่อยู่ในละแวกนั้น ก็จะบินตามขึ้นไปด้วยความปรารถนาที่จะเสพเมถุนกับนางพญาผึ้ง แต่ตราบใด ที่ยังมีผึ้งตัวผู้บินตามมากกว่าหนึ่งตัว นางพญาผึ้งจะไม่หยุดบิน แต่จะบินสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ผึ้งตัวผู้ที่แก่ไปเรี่ยวแรงไม่มีก็ดี หรือผอมกะหร่องบินไม่ทันก็ดี หรือร่างกายไม่สมบูรณ์ เป็นโรคไต โรคตับแข็ง ความดันโลหิตสูง หรือหัวใจรั่วก็ดี ผึ้งเหล่านี้จะหมดแรงร่วงหล่นตายไปทีละตัวสองตัวจนหมด จะเหลือแต่ผึ้งตัวผู้ตัวสุดท้ายซึ่งบริบูรณ์ล่ำสันแข็งแรงกว่าใครทั้งหมด ถึงตอนนี้นางพญาผึ้งจะยอมให้ผึ้งตัวผู้ตัวสุดท้ายนั้นผสมพันธุ์ เพื่อให้ผึ้งที่จะเกิดต่อไปนั้น สมบูรณ์ที่สุด แข็งแรงผึ้งต่อยที่สุดเพราะมีพ่อที่ได้คัดความสมบูรณ์ความแข็งแรงชนะเลิศแล้ว แต่ผึ้งตัวสุดท้ายที่ชนะเลิศได้ผสมพันธุ์กับนางพญาผึ้งนี้ ก็มิใช่จะรอดตายเสียเมื่อไร เพราะเมื่อผึ้งตัวผู้ใส่องค์เพศเข้าไปในตัวนางพญาๆ ก็จะสลัดตัวหลุด ดังเอาองค์เพศ และอัณฑโคตรของผึ้งตัวผู้นั้นเข้าไปไว้ในท้องของตนจนหมดสิ้น ผึ้งตัวผู้ก็ถึงแก่ความตายในทันที ส่วนอวัยวะเพศที่ติดเข้าไปอยู่ในตัวของนางพญาผึ้งนั้นจะไม่ตาย และจะทำหน้าที่ผสมน้ำเชื้อชีวิตให้แก่ไข่ของนางพญาผึ้งตลอดไป เพราะนางพญาผึ้งนั้น จะออกจากรังผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียวในชีวิต เมื่อกลับทำรังหลังจากนั้นแล้ว ก็จะไม่ออกจากรังอีก”

ผึ้งจะทำการขยายพันธุ์ได้รวดเร็วมาก นางพญาผึ้งจะออกไข่ได้ถึงวันละ ๑,๐๐๐ ถึง ๒,๐๐๐ ฟอง และจะฟักออกเป็นตัวผึ้งภายใน ๒๑ วัน ถึง ๒๕ วัน

ส่วนผึ้งพ่อรังที่ไม่ได้ผสมพันธุ์หรือที่ไม่ตายเสียก่อนตอนบินขึ้นผสมพันธุ์นั้น เมื่อกลับมารังแล้ว ก็จะได้รับการเลี้ยงดูอย่างเสียไม่ได้จากพลรัง เพราะถือว่าพ่อรังนี้ไม่มีประโยชน์อะไรแล้ว จะใช้ผสมพันธุ์ต่อไปก็ไม่ได้ เพราะรังหนึ่งมีนางพญาผึ้งเพียงตัวเดียว และนางพญาผึ้งจะไม่ต้องผสมพันธุ์อีกต่อไป ดูแล้วพ่อผึ้งพ่อรัง เห็นจะอาภัพมากที่สุดในบรรดาพลเมืองผึ้ง

ส่วนผึ้งงานหรือผึ้งทหารนั้น เป็นผึ้งตัวเมียเช่นเดียวกับนางพญา แต่ตัวเล็กกว่ามาก ก้นแหลม ลำตัวลายแต่มีอวัยวะสืบพันธุ์ไม่สมบูรณ์ มีรังไข่เล็กมากใช้ผสมพันธุ์ไม่ได้ มีเหล็กในแหลมที่ปลายมีง่ามแหลมเป็นจักรๆ สำหรับต่อย ที่ขาหลังมีถุงสำหรับเก็บละอองเกสรติดอยู่ด้วย มีต่อมสำหรับทำขี้ผึ้งอยู่ที่ใต้ท้องสำหรับสร้างรัง

ผึ้งงานต้องทำงานหนักมาก มีหน้าที่สร้างรัง ทำความสะอาดรัง หาน้ำหวาน หาอาหารให้นางพญาและพ่อรังกิน ป้องกันศัตรู อายุของผึ้งงานจึงสั้นมาก มักจะมีอายุเพียง ๖ เดือนก็ตาย นอกจากนี้เมื่อต่อยอะไรเข้าเหล็กในจะติดอยู่กับสิ่งนั้น แล้วตัวมันก็ตายด้วย จะงอยปากของผึ้งงานยืดหดได้ ดังนั้นมันจึงดูดน้ำหวานได้สะดวก

ผึ้งในรังหนึ่งๆ นั้น นางพญาผึ้งจะผลิตตัวผึ้งออกมา ๓ ชนิดคือ เป็นผึ้งงาน ๑ นางพญาผึ้ง ๑ และผึ้งตัวผู้หรือผึ้งพ่อรัง ๑ นางพญาผึ้งนั้น ในรังหนึ่งจะมีนางพญาผึ้งเพิ่มขึ้นหนึ่งตัว

วิธีการเลี้ยงผึ้งนั้น เขาให้ทำรังผึ้งขึ้นก่อน รังผึ้งนั้นทำด้วยลังไม้ขนาดกว้างสัก ๑ ฟุต ยาวสัก ๑ ฟุต ๔ นิ้ว ลึก ๑ ฟุต แล้วหานางพญาผึ้งมาผูกไว้ในรังนี้ โดยใช้เชือกด้ายหรือเส้นผมคนก็ได้ผูกไว้ให้ติดกับรัง เมื่อผึ้งอื่นๆ เห็นนางพญาผึ้งที่ไหน มันก็จะมาอยู่ที่นั่นแล้วผึ้งงานจะมาทำรัง หาน้ำหวานมาเลี้ยงนางพญาผึ้งและผึ้งพ่อรังต่อไป

สถานที่เลี้ยงผึ้งควรจะเป็นที่ใกล้เคียงกับที่ผึ้งจะไปหาเกสรดอกไม้มาทำน้ำหวานได้สะดวก พวกชาวไร่จึงปลูกดอกไม้เช่นทานตะวันไว้ด้วย เพื่อให้ผึ้งไปหาน้ำหวานได้ง่าย ว่ากันว่าดอกทานตะวันนั้น ส่วนใหญ่มักจะลีบไม่มีเมล็ด ถ้าได้เลี้ยงผึ้งไว้ด้วย ผึ้งจะช่วยผสมให้ดอกทานตะวันมีเมล็ดมากขึ้น เรื่องและวิธีการเลี้ยงผึ้งยังมีรายละเอียดอีกมาก ท่านที่สนใจจะเลี้ยงผึ้งโปรดถามนักวิชาการเกษตรหรือถามผู้ชำนาญดูเถิด คงหาไม่ยากนัก

หลวงสมานวนกิจ เล่าว่าที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีการเลี้ยงผึ้งกันเป็นอาชีพได้ กสิกรคนหนึ่งเลี้ยงผึ้งไว้ราว ๒๐๐ รัง ๒ เดือน เก็บน้ำผึ้งได้ครั้งหึ่ง ได้น้ำผึ้งครั้งละ ๑ ขวดแม่โขงต่อ ๑ รัง ครั้งหนึ่งได้น้ำผึ้ง ๒๐๐ ขวด ราคาขวดละ ๓๐ บาท(สมัยก่อน) เก็บครั้งหนึ่ง ได้เงินเท่าไรก็ลองคิดดู น่าเลี้ยงผึ้งเหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม คนไทยโบราณถือว่าสัตว์ที่อยู่ป่านั้น หากบังเอิญเข้าไปในบ้านใครถือว่าเป็นอุบาทว์จัญไร ต้องปัดเป่าสะเดาะเคราะห์กันให้วุ่นไปเหมือนกัน ผึ้งถือเป็นสัตว์หรือแมลงที่อยู่ป่า ถ้าผึ้งไปจับบ้านเรือนใครก็เป็นอุบาทว์เหมือนกันแต่อีกตำราหนึ่งกล่าวว่า แล้วแต่ทิศที่สัตว์เหล่านั้นเข้าไป บางทิศก็ร้ายบางทิศก็ดี ดังในคัมภีร์อธิไทโพธิบาทว์กล่าวว่า “แร้งก็ดี สัปปชาติงูป่าทั้งปวงก็ดี นกเค้านกยางก็ดี เหี้ยจังกวดสุนัขจิ้งจอกและปลวกรุ้งกินน้ำและเนื้อและผึ้ง เต่า ขวานฟ้าและสัตว์ป่าทั้งปวงก็ดี มาจับเรือนขึ้นเรือนเข้าบ้านและตกในบ้านในเรือน ในทิศบูรพา ทรัพย์สมบัติและบุตรจะฉิบหาย ทิศอาคเนย์ไฟจะไหม้เรือน ทิศทักษิณตัวจะตาย มิฉะนั้นจะได้ทุกข์ไข้เจ็บแทบปางตาย ทิศหรดีโจรจะลักและปล้นทรัพย์สมบัติ ทิศปัจฉิม (คือทิศตะวันตก) จะได้ลาภคือภรรยาสามีอันพึงพอใจ ทิศพายัพจะจำเริญสุข ทิศอุดรจะได้ลาภ ทิศอิสานท้าวพระยาจะบูชาและยกย่องแล” เป็นอย่างไรบ้างครับเรื่องความเชื่อถือของคนโบราณ ถ้าคนเราทุกวันนี้ขืนเชื่อถืออย่างนี้ ก็เห็นจะเดินไม่ทันเพื่อนฝูงเป็นแน่ เพราะอุบาทว์มันมากมายเหลือเกิน

กวีโบราณของเรา เปรียบเทียบผู้หญิงเหมือนดอกไม้ซึ่งมีน้ำหวานอยู่ในเกสร และเปรียบผู้ชายเหมือนหมู่ภมรคือตัวผึ้ง ว่าเป็นของคู่กัน ผู้ชายบางคนว่านัยน์ตาของผู้หญิงที่ตนหลงรักนั้นยิ่งกว่าน้ำผึ้งทีเดียว หารู้ไม่ว่าตาหวานๆ นั้น พอมาอยู่กับเรานานๆ เข้า ดุยิ่งกว่าตาเสือเสียอีก

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

โคลงกลอนเกี่ยวกับปลา

ปลานั้นมีชื่อต่างๆ กัน ตามลักษณะที่คนเรามองเห็น เช่นปลาแก้มช้ำ ก็เพราะตรงแก้มของมันเป็นสีดำเหมือนแก้มช้ำ กวีของเราชมปลาแล้วเปรียบเทียบกับคนรักไว้หลายท่านเหมือนกัน ท่านหนึ่งคือเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ กวีสมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งทรงนิพนธ์เห่ชมปลาไว้ว่าปลาตะเพียน

พิศพรรณปลาว่ายเคล้า        คลึงกัน
ถวิลสุดาดวงจันทร์            แจ่มหน้า
มัศยายังพัวพัน                พิศวาส
ควรฤพรากน้องข้า        ชวนเคล้าคลึงชม

พิศพรรณปลาว่ายเคล้า    คิดถึงเจ้าเศร้าอารมณ์
มัศยายังรู้ชม            สมสาใจไม่พามา
นวลจันทร์เป็นนวลจริง     เจ้างามพริ้งยิ่งนวลปลา
คางเบือนเบือนหน้ามา    ไม่งามเท่าเจ้าเบือนชาย

เพียนทองงามดั่งทอง        ไม่เหมือนน้องห่มตาดพราย
กระแหแหห่างชาย        ดังสายสวาสดิ์คลาดจากสม

แก้มช้ำช้ำใครต้อง        อันแก้มน้องช้ำเพราะชม
ปลาทุกทุกข์อกตรม        เหมือนทุกข์พี่ที่จากนาง

น้ำเงินคือน้ำยวง            ขาวพรายช่วงสีสำอาง
ไม่เทียบเปรียบโฉมนาง        งามเรืองเรื่อเนื้อสองสี

ปลากรายว่ายเคียงคู่            เคล้ากันอยู่ดูงามดี
แต่นางห่างเหินพี่                เห็นปลาเคล้าเศร้าใจจร

ทีนี้มาลองฟังสำนวนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ดูบ้างซิครับว่าคารมไพเราะพอๆ กันหรือไม่

หางไก่ว่ายแหวกว่าย        หางไก่คล้ายไม่มีหงอน
คิดอนงค์องค์เอวอร        ผมประบ่าอ่าเอี่ยมไร

ปลาสร้อยลอยล่องชล        ว่ายเวียนวนปนกันไป
เหมือนสร้อยทรงทรามวัย    ไม่เห็นเจ้าเศร้าบ่วาย

เนื้ออ่อนอ่อนแต่ชื่อ        เนื้อน้องฤาอ่อนทั้งกาย
ใครต้องข้องจิตชาย        ไม่วายนึกตรึกตรึงทรวง

ปลาเสือเหลือที่ตา        เลื่อมแหลมกว่าปลาทั้งปวง
เหมือนตาสุดาดวง        ดูแหลมล้ำขำเพราคม

แมลงภู่คู่เคียงว่าย        เห็นคล้ายคล้ายน่าเชยชม
คิดความยามเมื่อสม        สนิทเคล้าเจ้าเอวบาง

หวีเกศเพศชื่อปลา        คิดสุดาอ่าองค์นาง
หวีเกล้าเจ้าสระสาง        เส้นเกศาสลวยรวยกลิ่นหอม

ชะแวงแฝงฝั่งแนบ        ชะวาดแอบแปบปนปลอม
เหมือนพี่แนบแอบถนอม    จอมสวาทดินาฎบังอร

พิศดูหมู่มัจฉา            ว่ายแหวกมาในสาคร
คะนึงนุชสุดสายสมร        มาด้วยพี่จะดีใจ

เห่ชมปลาตอนหลังนี้เข้าใจกันว่าเป็นพระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

นี้ด้วยด้วยปลาในทัศนของกวี ทีนี้มาดูปลาในทัศนของนักปราชญ์บ้าง เรื่องนี้ก็เห็นจะหนีไม่พ้นคำพังเพยที่เกี่ยวกับปลาซึ่งก็มีอยู่ ๒-๓ คำ

“ปลากระดี่ได้น้ำ” –คำนี้หมายความว่า แสดงกิริยาท่าทางดีใจดีดดิ้นร่าเริงเหมือนฝนตกน้ำไหลใหม่ๆ พวกปลากระดี่พากันดีใจแหวกว่ายทวนน้ำอย่างร่าเริง

“ปลาข้องเดียวกัน” –มีความหมายว่า ปลาซึ่งเก็บไว้ในที่เดียวกัน ถ้าเน่าเสียตัวหนึ่งก็พลอยทำให้ปลาตัวอื่นเน่าไปด้วย เหมือนคนทำงานอยู่ในที่แห่งเดียวกัน คนหนึ่งทำความชั่วคนก็เหมาเอาว่าคนในที่ทำงานนั้นชั่วเหมือนกันหมด

“ปลาหมอตายเพราะปาก” –มีความหมายว่า พูดพล่อยๆ ไปจนตัวเองต้องเป็นอันตราย ทำไมจึงว่าปลาหมอตายเพราะปาก ก็เพราะว่าธรรมดาปลาหมอนั้น ชอบขึ้นมาหายใจทำปากปะหงับๆ ให้คนเห็นว่าอยู่ที่ไหน คนก็เอาแหเหวี่ยงลงไปจับมาเป็นอาหารเสียนั่นเอง

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี

พระนารายณ์กวนเกษียรสมุทร

ความศักดิ์สิทธิ์ของเต่า เห็นจะเนื่องมาจากศาสนาพราหมณ์ เพราะในเรื่องนารายณ์สิบปางนั้น พระนารายณ์ได้อวตารมาเป็นเต่าอยู่ปางหนึ่งด้วย เรียกว่า กูรมาวตาร

เหตุที่พระนารายณ์จะอวตารเป็นเต่าก็เพราะว่า พระอินทร์กูรมาวตารถูกดาบสชื่อทุรวาสสาปแช่งให้เสื่อมศักดิ์ และปราศจากพละกำลัง รวมทั้งหมู่เทวดาทั้งหลายด้วย หากรบกับพวกอสูร ก็ขอให้พ่ายแพ้ สาเหตุที่ดาบสตนนี้จะสาปก็เพราะว่าดาบสนี้ไปรับพวงมาลัยจากนางฟ้าตนหนึ่ง มาลัยนั้นทำด้วยดอกไม้สวรรค์ พอดาบสได้กลิ่นดอกไม้สติก็วิปลาสคล้ายคนบ้า เต้นรำทำเพลงไปท่ามกลางอากาศไปพบพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณมาก็มอบพวงมาลัยนั้นให้ พระอินทร์รับไว้วางบนเศียรช้าง ช้างได้กลิ่นดอกไม้ก็อาละวาดกระชากพวงมาลัยทิ้งและเหยียบเสียป่นปี้ ดาบสหาว่าพระอินทร์ดูถูกก็สาปเอาให้เสื่อมฤทธิ์ พวกดาบสนี้ก็แปลกไม่พอใจอะไรก็ชอบแช่งชอบสาปผู้อื่น ดังปรากฏอยู่ในวรรณคดีของอินเดียหลายเรื่อง ทำไมจึงใจร้ายอย่างนั้นก็ไม่ทราบ เมื่อพระอินทร์เสื่อมฤทธิ์ก็เกิดความเดือดร้อน เพราะรบกับอสูรกายครั้งไรก็แพ้ทุกที จึงต้องไปเฝ้าพระนารายณ์ขอให้ทรงช่วยเหลือ พระนารายณ์จึงสั่งให้จัดพิธีกวนเกษียรสมุทรขึ้น โดยเอาเขามันทรเป็นเครื่องกวน เอาพระยานาคเป็นเชือกพันไว้ ให้พวกอสูรชักทางหัวนาค พวกเทวดาชักทางหางนาค แล้วพระนารายณ์อวตารแบ่งภาคเป็นเต่าใหญ่ไปหนุนภูเขาไว้เพื่อจะให้ภูเขาตรงกวนสมุทรได้สะดวก การกวนเกษียรสมุทรคราวนั้นมีของขึ้นมาหลายอย่าง คือ

๑. โค ๒. สุราซึ่งเรียกว่า วรุณี ๓. ต้นปาริชาต คือต้นไม้สวรรค์ ๔. หมู่นางอัปสร ๕ พระจันทร์ ๖. พิษ ๗. ดอกบัวมีพระศรีซึ่งเป็นชายาพระ
นารายณ์ ๘. น้ำอมฤต ซึ่งเป็นอันดับสุดท้าย การกวนเกษียรสมุทรคราวนี้จุดมุ่งหมายก็เพื่อจะเอาน้ำอมฤตมาให้พวกเทวดาดื่มเพื่อให้มีฤทธิ์มีกำลังเหมือนเดิมนั่นเอง แต่เมื่อพวกอสูรกวนอยู่ด้วยพวกอสูรก็ควรจะได้ดื่มด้วยพระนารายณ์จึงแปลงองค์เป็นผู้หญิงสวยงาม ล่อพวกอสูร ไปให้ห่างน้ำอมฤตเสีย พวกอสูรเห็นผู้หญิงสวยก็พากันตามไปลืมนึกถึงนํ้าอมฤต กว่าจะนึกได้ก็เมื่อพวกเทวดาดื่มน้ำอมฤตไปหมดแล้ว และกลับมีฤทธิ์มีแรงแข็งขันตามเดิมคราวนี้เวลารบกัน พวกอสูรก็แพ้เสมอมา

ด้วยเหตุที่พระนารายณ์เคยอวตารเป็นเต่านี่เอง พวกพราหมณ์จึงนับถือว่าเต่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ชนิดหนึ่งเหมือนกัน ยิ่งกว่านั้น พวกอินเดียโบราณหรือพวกขอมโบราณยังสร้างเครื่องประดับทำเป็นรูปเต่าคล้ายกับจะเป็นเครื่องรางของขลังอย่างหนึ่งนั่นเอง

เต่านั้นคงจะเป็นสัตว์ยุคดึกดำบรรพ์ที่ยังหลงเหลือยู่ทุกวันนี้ เต่ามีหลายสิบชนิดอยู่อาศัยทั้งในน้ำจืดและน้ำเค็ม เรียกกันเป็นสามัญว่า เต่านา ซึ่งอยู่ในน้ำจืด และที่อยู่ในน้ำเค็มเรียกว่าเต่าทะเล เต่านาส่วนมากเล็ก ส่วนเต่าทะเลนั้นมีขนาดใหญ่น้ำหนักเป็นร้อยๆ ปอนด์ก็มี สมัยผมเป็นเด็กเคยเห็นผู้ใหญ่เขาไปพบเตาริมทะเลแล้วพากันนั่งบนหลังเต่า มันสามารถคลานลงทะเลไปได้ทั้งๆ ที่คนนั่งอยู่บนหลังของมัน แสดงว่าเต่ามีกำลังไม่ใช่น้อยทีเดียว พูดถึงลักษณะพิเศษของเต่าก็คือ เต่ามีกระดองผิดกับสัตว์อื่นๆ กระดองนี้หุ้มลำตัวทั้งด้านบนและด้านล่าง กระดองนี้เป็นแผ่นโตๆ คล้ายเกล็ดซ้อนเชื่อมต่อกันสนิท เต่านั้นไม่มีฟันแต่มีอวัยวะรูปกรายและทู่ทำหน้าที่บดอาหาร เพราะปากเต่าเป็นอย่างนี้เอง ผู้ใหญ่จึงบอกเด็กว่าอย่าเอามือแหย่เข้าไปในปากเต่า ถ้าถูกเต่ากัดแล้วต้องฟ้าร้องเสียก่อนเต่าจึงจะวางหรือปล่อยนิ้วมือเรา ก็ฟ้านั้นถ้าไม่ใช่หน้าฝนจะร้องเสียเมื่อไร เด็กๆ ก็เลยกลัวไม่กล้าแหย่มือเข้าปากเต่า ถ้าแหย่เข้าไปคงนิ้วขาดเสียก่อนฟ้าจะร้องเสียอีก

ดังได้กล่าวว่า เต่านั้นมีทั้งชนิดที่อยู่บนบกและชนิดที่อยู่ในน้ำ กระดองของเต่าทั้งสองชนิดนี้ไม่เหมือนกัน คือกระดองของเต่าที่อยู่ในน้ำมักจะเป็นทรงค่อนข้างแบนและเล็ก แต่กระดองของเต่าที่อยู่บนบกส่วนมากมักจะเป็นทรงสูงงองุ้มและขนาดใหญ่และเท้าทั้งสี่ของเต่าที่อยู่บนบกรวมทั้งหัวหางจะหดเข้าในกระดองได้หมดเมื่อมีอันตรายมา ส่วนเต่าที่อยู่ในน้ำนั้นเท้ามักจะหดเข้าในกระดองไม่หมด ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าธรรมชาติช่วยป้องกันมิให้เต่าสูญพันธุ์นั่นเอง เพราะเต่าเป็นสัตว์ที่ไม่มีเขี้ยวเล็บทั้งวิ่งหนีก็ช้าไม่ทันเพื่อน จึงถูกกระต่ายท้าวิ่งแข่งเสมอ ธรรมชาติจึงสร้างให้เต่าหลบภัยอยู่ในกระดอง โดยไม่ต้องวิ่งให้เหนื่อยแรง ว่ากันว่าเสือจะกินเต่าปลุกปล้ำเท่าไรก็กินไม่ได้ เพราะพอเข้าแหย่ทางหางหางก็หด พอหันไปทางหัวหัวก็หด สุดท้ายเสือเลยต้องเผ่นหนี ส่วนเต่าทะเลหรือเต่าที่อยู่ในน้ำอันตรายมีน้อยมาก

ลักษณะที่เต่าหดหัวเข้าออกนี้เอง ปราชญ์ท่านจึงเปรียบเทียบคนที่พูดไม่อยู่กะร่องกระรอยว่า พูดเหมือนหัวเต่าหดเข้าโผล่ออกไม่แน่นอน

เนื้อเต่าเป็นเนื้อสัตว์ที่คนไม่นิยมรับประทาน โดยเฉพาะคนไทย ไม่ทราบว่าเพราะเหตุใด อาจจะเป็นเพราะว่าเต่าเป็นสัตว์ที่ต่ำเตี้ยอุ้ยอ้ายไปไหนก็ไม่แคล่วคล่องว่องไว มีลักษณะที่น่าสงสารมากกว่าจะชวนให้รับประทาน นอกจากไม่รับประทานแล้ว คนยังช่วยอุปถัมภ์ค้ำชูเสียอีก สมัยก่อนวัดมีสระไว้เกือบทุกวัด และชาวบ้านก็มักจะเอาเต่าไปปล่อยไว้ในสระวัดมากมายเหลือเกิน อย่างสระในวัดเบญจมบพิตรในกรุงเทพ ฯ มีเต่าเป็นร้อยๆ เป็นเหตุให้น้ำเสียเต่าตายเป็นเบือ

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี