ทางนิพพาน

เมื่อทราบทางมนุษย์ ทางสุคติ ทางทุคติ ทางสวรรค์ ทางนรกแล้ว ก็ควรทราบทางไปนิพพานต่อไป

ทางนิพพาน
บางคนมีธุลีในนัยน์ตาน้อย คือมีกิเลสบาง มีอุปนิสัยน้อมไปเพื่อความต้องการหลุดพ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย จากชาติภพสังสารวัฏ เวียนว่ายตายเกิด ย่อมเบื่อหน่ายในมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ ต้องการแต่นิพพานสมบัติ อันเป็นไปเพื่อความสิ้นความต้องการ สิ้นกิเลส ที่เป็นเหตุให้ไม่ต้องเกิดอีก เป็นบรมสุข ในพระพุทธศาสนาได้แสดงทางแห่งนิพพานไว้มากกว่าทางอื่น เพื่อสนองความต้องการของผู้ต้องการไป(แม้ว่าทางแห่งพระนิพพาน พระพุทธองค์จะทรงแสดงไว้มาก แต่กลับปรากฏว่ามีผู้เดินไปทางนี้น้อยเต็มที คนส่วนมากยังไม่ยอมเดินทางสายนี้ บางคนไม่ชอบ กลัว บางคนไม่เห็นคุณค่า เพราะเข้าไม่ถึงคุณค่า บางคนกลับพูดตำหนิเสียอีก หนทางมีอยู่ แต่หาผู้เดินยาก)

ทางไปนิพพาน พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ เช่น มรรคมีองค์ ๘ คือ

ความเห็นถูก ได้แก่ เห็นว่าความเกิดเป็นทุกข์ เป็นต้น

ความดำริถูก คือ ดำริออกจากกาม ดำริเพื่อไม่พยาบาทเบียดเบียนเขา

เจรจาดี คือ พูดจริง ไม่พูดหยาบคาย ไม่พูดยุยง ไม่พูดเหลวไหล

มีการงานดี คือเว้นการฆ่า การลัก การทำผิดทางเพศ(เฉพาะฆราวาส) หรือประพฤติพรหมจรรย์(เฉพาะบรรพชิต)

เลี้ยงชีพดี คือ เว้นมิจฉาชีพ เช่น ขายอาวุธ ขายคน เป็นต้น

ทำสัมมาชีพเพียงพยายามถูกต้อง คือ เพียรไม่ให้อกุศลเกิด เพียรละอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว เพียรให้กุศลเกิด เพียรให้กุศลที่เกิดแล้วเจริญยิ่งขึ้น

มีความระลึกถูกต้อง คือ มีสติระลึกพิจารณากาย เวทนา จิตธรรม

มีความตั้งใจมั่นถูกต้อง คือ ได้ฌาน

สัมมัตตะ คือ ความถูกต้อง ๑๐ ประการ ได้แก่ ๑-๘ เหมือนมรรค ๘ กับรู้เข้าใจถูกต้อง คือ รู้ว่าสังขารไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ธรรมเป็นอนัตตา เรียกว่า สัมมาญาณ ๑ และหลุดพ้นดีแล้ว คือ พ้นจากกิเลสทั้งปวง เรียกว่า สัมมาวิมุติ๑

โพชฌงค์
คือ องค์คุณเป็นเหตุให้รู้ ๗ ประการ ได้แก่ สติ๑ ธรรมวิจัย๑ เพียร๑ ปีติ๑ ความสงบ๑ สมาธิ๑ ความวางเฉยอันเป็นผลจากการปฏิบัติธรรม ๖ ข้อแรก๑

สัมมัปปธาน
คือ ความพากเพียรถูกต้อง ๔ ได้แก่ ระวังมิให้ความชั่วเกิด๑ เพียรละความชั่วที่เกิดแล้ว๑ เพียรให้ความดีเกิด๑ และเพียรรักษาความดีที่เกิดมีแล้วมิให้เสื่อม๑

สติปัฏฐาน ๔
คือ สติกำหนดพิจารณากาย ที่กายเป็นอารมณ์๑ พิจารณาความรู้สึกสุขทุกข์เป็นอารมณ์๑ พิจารณาใจเป็นอารมณ์๑ พิจารณาธรรมเป็นอารมณ์๑ ว่า กายสักแต่ว่าเป็นกาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ของเราของเขา

อิทธิบาท
คือ ธรรมเป็นเหตุให้ประสบความสำเร็จ ๔ ได้แก่ ความพอในเรื่องที่จะบำเพ็ญ๑ พากเพียรบำเพ็ญในสิ่งนั้น๑ เอาใจใส่ในสิ่งนั้นมาก๑ และหมั่นค้นคว้าพิจารณาความจริงในสิ่งนั้น๑

อินทรีย์
คือ ธรรมที่เป็นใหญ่ และมีความสำคัญ ๕ ได้แก่ ความเชื่ออย่างมีเหตุผล๑ ความเพียร๑

พละ
คือ ธรรมเป็นกำลัง ๕ เหมือนอินทรีย์๕
รวมเป็นโพธิปักขิยธรรม ธรรมเป็นฝ่ายแห่งความรู้ ๓๗ ประการ เป็นต้น

อริยสัจจะ
คือ ความจริงอย่างประเสริฐ ทำให้ผู้รู้จริงถึงความดับกิเลส ดับทุกข์ได้ เจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้อริยสัจจะนี้ จึงสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

อริยสัจจะมี ๔ คือ
ทุกข์ ได้แก่ ความเกิด แก่ ตาย ความทุกข์กาย-ใจ เป็นต้น รู้ความจริงว่าสิ่งเหล่านี้เป็นทุกข์ ชื่อว่ารู้ทุกข์

สมุทัย ได้แก่ เหตุให้เกิดทุกข์ คือ ความทะยานอยากในกาม(กามตัณหา) ความทะยานอยากเป็นนั่นเป็นนี่(ภวตัณหา) และความทะยานอยากไม่เป็นนั่นเป็นนี่(วิภวตัณหา) รู้ความจริงว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเหตุเกิดทุกข์ ชื่อว่ารู้สมุทัย(ความอยากที่ได้ชื่อว่าตัณหานั้น ต้องเป็นความอยากมีอีกเป็นอีกเกิดใหม่อีก ประกอบด้วยความติดด้วยอำนาจ ความยินดีพอใจ และยินดียิ่งนักในสิ่งที่ต้องใจนั้นๆ ความอยากถึงพระนิพพาน ไม่มีลักษณะเป็นอย่างนี้ และเป็นความอยากเพื่อสิ้นอยาก จึงไม่เป็นตัณหา)

นิโรธ ได้แก่ ความดับความอยากนั้นโดยสิ้นเชิง รู้ความจริงว่า ความดับความอยากได้เป็นความดับทุกข์ ชื่อว่ารู้นิโรธ

มรรค หรือ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ได้แก่ หนทางให้ถึงนิโรธมี ๘ มีความเห็นถูกว่า ความเกิดเป็นทุกข์(สัมมาทิฏฐิ) เป็นต้น รู้ความจริงว่าหนทางมีองค์ประกอบ ๘ อย่าง เป็นหนทางให้ถึงนิโรธ ชื่อว่ารู้มรรค หรือรู้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา รู้ความจริงแท้เหล่านี้ด้วยญาณ ย่อมทำให้ถึงพระนิพพานได้ในที่สุด(ความรู้อริยสัจจะ ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้พระสาวกสำเร็จเป็นพระอริยเจ้า เช่น เป็นพระโสดาบัน เราก็รู้แต่ไม่สำเร็จ ทั้งนี้เพราะเรายังรู้จำ ยังไม่รู้จริงอย่างพระอริยเจ้าเหล่านั้น)

แต่ธรรมทั้งหมดนั้น เมื่อกล่าวโดยสรุป ได้แก่ ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เมื่อปฏิบัติได้บริบูรณ์ถึงขีดแล้ว พระนิพพานก็เป็นสิ่งที่หวังได้

ไตรสิกขา
ศีล
เป็นเรื่องการรักษากาย วาจา ให้ดีไม่ให้เป็นทุจริต มีเว้นการฆ่า เป็นต้น

สมาธิ
คือการตั้งใจมั่น ทำใจให้เป็นหนึ่ง สงบ มีอารมณ์รวมเป็นจุดเดียวจนปราศจากนิวรณธรรม ๕ ประการ(คือความพอใจหรือรักในสิ่งที่ชอบใจ เรียกว่า กามฉันท์ การปองร้ายผู้อื่น เรียกว่า พยาบาท ความมีใจหดหู่เคลิบเคลิ้ม ซึมง่วง เรียกว่า ถีนมิทธะ ความมีใจฟุ้งซ่านรำคาญ คิดพล่าน เรียกว่า อุทธัจจกุกกุจจะ และความลังเลสงสัย เรียกว่า วิจิกิจฉา) เป็นอย่างต่ำจนถึงได้ฌานสมาบัติ

ปัญญา
คือ รู้แจ้งสภาพต่างๆ ตามความเป็นจริง เป็นเครื่องทำให้ทิฏฐิ คือ ความเห็นถูกต้อง

ธรรมทั้ง ๓ อย่างนี้ ย่อมเกี่ยวข้องกันจะขาดเสียมิได้ ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในมหาปรินิพพานสูตร ในมหาวรรค ทีฆนิกาย ความไทยว่า ศีลอบรมดีแล้ว สมาธิย่อมมีผลานิสงส์มาก สมาธิอบรมดีแล้ว ปัญญาย่อมมีผลานิสงส์มาก ปัญญาอบรมดีแล้ว จิตย่อมหลุดพ้นจากอาสวกิเลส

ธรรมทั้ง ๓ มีความเกี่ยวข้องกันอย่างนี้ ดังนั้น ก่อนจะบำเพ็ญชั้นปัญญา ใจต้องเป็นสมาธิก่อน และก่อนที่ใจจะเป็นสมาธิ กาย-วาจา ต้องเรียบร้อยด้วยศีลก่อน ดังนั้น ผู้ปฏิบัติเพื่อโมกขธรรม หรือเพื่อพระนิพพานจึงต้องมีศีลก่อน ด้วยการสมาทานรักษาศีล จะเป็นศีล๕ หรือศีล๘ ก็ได้ ส่วนศีล๑๐ และศีลนอกนั้นเป็นศีลของบรรพชิต เมื่อมีศีลบริสุทธิ์บริบูรณ์ คือ มีกาย วาจา เรียบร้อยดีแล้ว การบำเพ็ญสมาธิก็สะดวก เมื่อใจเป็นสมาธิปราศจากนิวรณ์แล้ว การบำเพ็ญปัญญาก็สะดวก เพราะพิจารณาเห็นได้แจ่มแจ้งชัดเจน ในความเป็นจริงของสิ่งต่างๆ เช่น ตัวเรา เป็นต้น อันเป็นเหตุให้ใจพ้นจากกิเลส พ้นจากการยึดถือว่าเราของเรา เขา ของเขา

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

ทางไปสู่สุคติ ทุคติ

คนที่เข้าใจว่าตายแล้ว เมื่อยังมีเหตุคือ กิเลสอยู่ ย่อมต้องไปเกิดอีก จึงวิตกว่าตายแล้วจะไปเกิดในทุคติ จะไม่ได้เกิดในสุคติ สวรรค์ จะได้รับความลำบากเหมือนที่ตนได้รับอยู่ในชาตินี้ หรือเกรงจะไม่ได้รับความสุขเหมือนที่ตนได้รับอยู่ในชาตินี้ เพื่อแก้ไขปัญหานี้ พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงทางไปสุคติโลกสวรรค์ หรือไปเกิดเป็นคนอีกก็ไม่ลำบาก ทางนี้มีมากเป็นต้นว่า

๑. สมบูรณ์ด้วยความเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่ออย่างมีเหตุผล เช่น เชื่อเรื่องการทำดีทำชั่ว และผลของการกระทำนั้น

๒. สมบูรณ์ด้วยศีล คือ มีความเรียบร้อยทางกาย ทางคำพูด มีศีล ๕ ข้อ เช่น เว้นการฆ่าเขา เบียดเบียนเขา เป็นต้น

๓. สมบูรณ์ด้วยความเสียสละของที่เป็นของตน เป็นการเฉลี่ยความสุขให้ผู้อื่น คือ ให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์จากของของตน และช่วยให้เขาช่วยตัวเองได้

๔. สมบูรณ์ด้วยปัญญา รู้จักว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรมีประโยชน์ไร้ประโยชน์ เป็นต้น แล้วละสิ่งที่ชั่ว ทำสิ่งที่ดี

เมื่อปฏิบัติตามหลักดังกล่าวดีแล้ว ย่อมแก้ปัญหาได้ หรือไม่ก็ให้แก้ด้วยวิธีนี้คือ

๑. ไม่ฆ่า ไม่เบียดเบียน ไม่ลัก ไม่โกง ไม่ประพฤติผิดทางเพศ

๒. ไม่ปด ไม่พูดหยาบคาย ไม่พูดยุให้เขาแตกกัน ไม่พูดเหลวไหล

๓. ไม่อยากได้ของเขามาเป็นของตน ไม่ปองร้ายใคร และมีความเห็นถูกต้องตาม หรือ
-ไม่ทำชั่วทางกาย มีฆ่าเขา เป็นต้น
-ไม่ทำชั่วทางวาจา มีพูดปด เป็นต้น
-ไม่ทำชั่วทางใจ มีอยากได้ของเขามาเป็นของตน เป็นต้น
-สรรเสริญพระอริยเจ้า
-มีความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง
-ทำกิจการต่างๆ ด้วยอำนาจความเห็นถูกต้องนั้น

หรือรักษาศีล ๕ อย่างเคร่งครัด หรือ
๑. เชื่ออย่างมีเหตุผล เชื่อในเรื่องที่ควรเชื่อ
๒. มีหิริ คือ ละอายตนเองไม่กล้าทำชั่ว
๓. มีโอตตัปปะ คือ เกรงตนเอง โดยเกรงผลของการทำชั่ว
๔. ไม่โกรธง่าย โกรธแล้วก็ไม่ผูกโกรธไว้ โกรธแล้วก็แล้วกันไป
๕. มีปัญญา รอบรู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว อย่างมีเหตุผล

หรือว่า
๑. ไม่โกรธง่าย โกรธแล้วก็ไม่ผูกโกรธไว้
๒. ไม่ลบหลู่ผู้มีบุญคุณ และผู้ใหญ่
๓. ไม่หนักในลาภในผล
๔. ไม่ติดในสักการะ
เมื่อดำเนินตามทางดังกล่าว ก็ย่อมไปสู่สุคติ โลกสวรรค์ได้ เมื่อตายไปแล้ว และเมื่อไปเกิดเป็นคนอีกก็ไม่ลำบาก

ทางไปสุคติมีมาก แต่ก็ยังมีคนไม่น้อยที่เดินทางไปทุคติ

ทางไปทุคติ ในพระพุทธศาสนา เป็นต้นว่า ละเมิดศีล ๕ เพียงข้อใดข้อหนึ่งเป็นประจำ หรือ
๑. ทำชั่วทางกาย เช่น ฆ่าเขา ทางวาจา เช่น ปดเขา ทางใจ เช่น ละโมบอยากได้ของเขา
๒. ติเตียนพระอริยเจ้า
๓. เห็นผิดเป็นชอบ เช่น เห็นว่าฆ่าเขา ข่มเหงเขา เป็นของดี แสดงว่าตนเป็นคนเก่ง โกงเขา เป็นของดีเพราะรวยเร็ว เป็นต้น
๔. ทำการต่างๆ ตามความเห็นผิดนั้น

หรือว่า
๑. ฆ่าเขา เบียดเบียนเขา ลัก-โกงเขา ประพฤติผิดทางเพศ เช่น เป็นชู้ เป็นต้น เพียงข้อใดข้อหนึ่ง
๒. พูดปด พูดหยาบคาย ด่าว่า พูดยุให้เขาแตกกัน พูดเลอะเทอะ เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง
๓. อยากได้ของเขา คิดปองร้ายเขา เห็นผิดเป็นชอบ เห็นชอบเป็นผิด เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง

หรือ
๑. โกรธง่าย โกรธแล้วผูกโกรธไว้
๒. มักลบหลู่บุญคุณคน ไม่มีกตัญญูกตเวทีใคร
๓. หนักในลาภผลมาก ไม่ยอมให้อะไรแก่ใคร อยากได้แต่ของผู้อื่น
๔. หนักในสักการะยกย่อง ชอบติดในสิ่งนั้น ถ้าใครไม่สักการะ ก็ไม่ชอบใจ

หรือ
๑. เชื่ออย่างงมงาย ไม่เชื่ออย่างมีเหตุผล เรื่องที่ควรเชื่อกลับไม่เชื่อ กลับไปเชื่ออย่างไร้เหตุผลเป็นนิตย์
๒. ไร้หิริ คือความละอายตนเอง อยากจะทำชั่วอย่างไรก็ทำ
๓. ไร้โอตตัปปะ คือความเกรงต่อผลของการกระทำชั่วของตน
๔. โกรธง่าย โกรธแล้วก็ผูกใจโกรธไว้
๕. ทรามปัญญา ไม่รู้ผิดรู้ถูก
อาการแต่ละอย่างนั้น ย่อมเป็นทางแห่งทุคติได้ทั้งสิ้น ถ้าทำเป็นประจำ และคนชนิดนี้มักมีใจขุ่นมัวอยู่เสมอ เมื่อตายในขณะใจขุ่นมัวก็ไปทุคติ แต่บางอย่างแม้ทำเพียงอย่างเดียวและครั้งเดียว ตายไปแล้วก็ไปทุคติแน่นอน การกระทำนี้คือ อนันตริยกรรม ๕ ประการ ได้แก่

๑. ฆ่าพ่อ
๒. ฆ่าแม่
๓. ฆ่าพระอรหันต์
๔. ประทุษร้ายพระพุทธเจ้าแม้เพียงห้อพระโลหิต
๕. ทำลายสงฆ์ผู้สามัคคีให้แตกกัน

และทางทุคติที่เกี่ยวกับหญิงโดยเฉพาะก็มี คือ หญิงรีดลูก๑ ดูหมิ่นสามี๑ ดูหมิ่นญาติของสามี๑ ย่อมไปทุคติ

การดำเนินตามทางเช่นนี้ย่อมไปอบาย ทุคติ วินิบาต นรกได้ เมื่อตายไปแล้ว แม้จะไปเกิดเป็นคนอีก ก็ต้องได้รับความลำบาก

มีพระพุทธภาษิตสรุปรวมได้อีกมาก เป็นต้นว่า ธรรมกับอธรรมไม่เหมือนกัน มีผลต่างกัน อธรรมย่อมนำไปสู่นรก ธรรมย่อมนำไปสู่สุคติ

ทางดำเนินชีวิต เพื่อความสุขความทุกข์ของมนุษย์ และทางที่จะไปสู่สุคติ ทุคติเป็นอย่างไรก็ได้ทราบดังที่กล่าวแล้ว

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

สุคติ สวรรค์ ทุคติ นรก

คนยุคใหม่ทุกวันนี้พอพูดถึงเรื่องนรกสวรรค์ สุคติ ทุคติ กรรม ก็ยิ้มอย่างเย้ยหยัน ทั้งๆ ที่ตนเองยังไม่เข้าใจ แต่ตนเองนึกว่าตนเข้าใจ นักเผยแพร่บางท่านก็ไม่กล้าพูด เพราะตนเองก็ไม่แน่ใจ หรือเกรงผู้ฟังจะหาว่าพูดเรื่องเหลวไหลไม่ทันสมัย นำเรื่องที่มองไม่เห็นมาพูด แล้วผลเป็นอย่างไร ผลก็คือคนยุคนี้ เกรงบาป กลังผลของการทำชั่วน้อยเต็มที แต่กลับดูหมิ่นเรื่องความดีความชั่ว พูดจาบจ้วงเรื่องสุคติ ทุคติ มากกว่าแต่ก่อน เป็นผลให้สังคมทุกระดับปั่นป่วน ปกครองยาก พูดยาก ว่ากล่าวตักเตือนยาก มีความเห็นชั่วเป็นดี เช่น เห็นว่าข่มเหงเขาได้ ทำร้ายเขาได้เป็นของดี แสดงว่าตัวเป็นคนเก่ง ลักเขา จี้เขา โกงเขาได้เป็นของดี เพราะรวยทางลัด ประพฤติผิดทางเพศเป็นของดี เพราะแสดงว่าตัวเป็นคนมีเสน่ห์ดี ปดหลอกลวงเขาเป็นของดี เพราะแสดงว่าตัวมีวาทศิลป์เยี่ยม การดื่มเครื่องดองของเมามากเป็นของดี เพราะแสดงว่าตัวคอแข็ง มีเงิน รวย คนบางพวกหากินจากความชั่วอย่างสง่าผ่าเผย สังคมปัจจุบันนี้มักให้ความสำคัญแก่คนร่ำรวน ต้อนรับคนร่ำรวนโดยไม่คำนึงว่าจะร่ำรวยมาจากพฤติกรรมเลวดีอย่างไร ขอให้รวยก็ใช้ได้ ผิดกว่าแต่ก่อนซึ่งสังคมครั้งนั้นรังเกียจคนโกง ไม่ต้อนรับคนรวยเพราะทุจริตกรรม คนยุคก่อนได้ยินหรือเห็นรูป เรื่องสุคติ ทุคติ นรก สวรรค์ อยู่เสมอตั้งแต่เล็ก ขอโตขึ้นแม้ตนจะไม่เชื่อ แต่ก็เกิดความหวาดเกรงผลของความชั่วฝังอยู่ในใจ ไม่ค่อยกล้าทำความชั่วเต็มที่ จะทำก็ทำอย่างมีการยั้งมือ และพอใจในการทำความดี เผื่อเอาไว้ ผลก็คือสังคมทุกระดับมีความเรียบร้อยสงบสุขกว่าทุกวันนี้ สันดานคนนั้นลำพังกฎหมายอย่างเดียวยังไม่พอให้คนเกรงกลัวได้มาก คนเกรงกลัวสิ่งลี้ลับมากกว่า บางท่านอาจกล่าวว่าที่สังคมยุคนี้เป็นอย่างนั้นเป็นเพราะเหตุ คือ คนเกิดมากและปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ เป็นต้น นั่นก็เป็นความเห็นที่มีเหตุผลดีอย่างหนึ่ง

แต่ความเห็นที่กล่าวมานี้ก็เป็นความเห็นอย่างหนึ่ง ใครจะเห็นด้วยหรือไม่ นั่นเป็นสิทธิ์ของแต่ละคน แต่ความจริงก็คือคนยุคก่อนเกรงผลของความชั่ว เกรงนรก สังคมครั้งนั้นมีความยุ่งยากน้อย พูดกันง่าย แต่ยุคนี้ซึ่งเป็นยุคที่ถือว่าเรื่อง นรก สวรรค์ เป็นเรื่องเหลวไหล มองไม่เห็น ไม่น่าเชื่อ เป็นเรื่องโง่เง่างมงาย เลยไม่หวั่นเกรงผลของความชั่ว และสังคมในยุคนี้เป็นอย่างไรบ้าง

สิ่งที่เรามองไม่เห็นจะว่าไม่มี หรือจะว่าเป็นเรื่องเหลวไหลไปทั้งหมดนั้นย่อมไม่ได้ บางอย่างมีแต่มองไม่เห็น และก็รู้ว่ามี

บางท่านอาจนึกว่า ถ้าเกิดศึกสงคราม ชาวพุทธจะไม่สามารถทำการสู้รบป้องกันเอกราชได้ เพราะการฆ่าเป็นบาปเป็นความชั่ว

ข้อนี้ขอชี้แจงว่า เรื่องชั่ว เรื่องดีนั้น เมื่อทำดีแล้วก็ต้องเป็นความดี เมื่อทำชั่วก็ต้องเป็นความชั่ว ผู้ใหญ่ในครั้งก่อนนั้นที่ท่านเป็นนักรบ เป็นแม่ทัพ สั่งให้ทหารฆ่าข้าศึก ตนเองก็ฆ่าด้วย ท่านก็รู้ว่าเป็นการทำบาป และยอมรับ แต่คิดว่าเป็นการทำเพื่อแผ่นดิน เพื่อความสุขของผู้อื่นในแผ่นดินไทย เป็นหน้าที่ เป็นการรักษาชาติบ้านเมือง พระศาสนา และพระมหากษัตริย์ ถ้าชาติสิ้น ศาสนาก็อยู่ไม่ได้ บาปก็บาป ยอมรับว่าเป็นบาป แต่ในศีล ๔ ข้อนั้นท่านละเมิดบางข้อ ส่วนบางข้อท่านรักษาอย่างเคร่งครัด เช่นข้อ ๔ ท่านจึงมีศีลเหมือนกัน นอกจากนั้น ท่านยังบำเพ็ญธรรม เช่น บริจาคทานแก่ผู้อื่นด้วย และเมื่อกลับจากการทำสงครามแล้ว ก็บำเพ็ญบุญกุศลเป็นการเป็นงาน เพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้ที่ตายที่เป็นคนของตนบ้าง ให้ข้าศึกที่ถูกฆ่าบ้าง เช่น ท่านเจ้าพระยาบดินทร์ฯ(สิงห์) บูรณะวัดจักวรรดิ์ฯ

ที่กล่าวมานี้เป็นแต่ข้อคิดเห็นเท่านั้น ใครไม่สนใจก็ผ่านไปหาเรื่องที่น่าสนใจอื่น ซึ่งยังมีอีกมาก

ในพระไตรปิฎก เช่น ในอังคุตตรนิกาย เมื่อกล่าวถึงคนทำความดีความชั่วอย่างนั้นๆ แล้ว ก็มีข้อความว่า กายสฺส เภทา ปรํ มรณา สุคติ สคฺคํ โลกํ อุปปชฺชติ แปลว่า ตายไปแล้วย่อมเข้าถึง สุคติโลกสวรรค์(สคฺค เป็นภาษามคธ สวรฺค เป็นภาษาสันสกฤต ซึ่งไทยนำมาใช้ว่าสวรรค์)

และว่า กายสฺส เภทา ปรํ มรณา อปายํ ทุคฺคติ วินิปาตํ นิรยํ อุปปชฺชติ แปลว่า ตายแล้วย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ในพระไตรปิฎกมีข้อความอย่างนี้เสมอเมื่อกล่าวถึงผู้ทำดีทำชั่ว

สวรรค์ แปลว่า แดนที่มีอารมณ์ดีเลิศ สุคติ แปลว่า ภูมิเป็นที่ไปดี

นิรย แปลว่า แดนที่ไร้ความเจริญ(ใจ) ในภาษาไทยหมายถึง นรก ทุคติ แปลว่า ภูมิเป็นที่ไปเลว

ในสฬายตนวรรค สังยุตตนิกาย พระพุทธองค์ทรงแสดงว่า การที่ได้เห็นรูปที่พอตา ฟังเสียงที่พอหู ดมกลิ่นที่พอจมูก ลิ้มรสที่ต้องลิ้น และสัมผัสที่สบายกาย อารมณ์ที่ต้องใจ นั่นคือสวรรค์ เพราะมีสิ่งที่พอหรือถูก หรือต้องตาเป็นต้น ทำให้เกิดสุขใจ และโดยนัยตรงกันข้าม นรกย่อมเป็นอีกอย่างหนึ่ง สวรรค์ในที่นี้หมายถึงแดนมีอารมณ์ดีเลิศ ที่เห็นที่รู้ได้ง่ายสำหรับคนทั่วไป

ดังนั้น จึงอาจสรุปได้ว่า สวรรค์ นรก อาจมีได้ ๓ ระดับ คือ อย่างใกล้ที่สุด ได้แก่ ที่ตัวเรา กล่าวคือ เมื่อเราได้เห็นรูปเป็นที่ต้องตาต้องใจแล้ว รู้สึกเป็นสุขใจ เมื่อนั้นก็เท่ากับว่าขึ้นสวรรค์ ส่วนนรกย่อมเป็นไปโดยนัยตรงกันข้าม

ระดับสอง ห่างออกจากตัว แต่ยังอยู่ในโลกนี้ คือ ให้ดูคนในระดับต่างๆ เช่น พระมหากษัตริย์ ซึ่งเท่ากับชาวสวรรค์ในโลกนี้ คนที่ถูกจองจำอยู่ในคุกตะราง ได้รับความทุกข์ทรมาน หรือคนเจ็บไข้เป็นโรคภัยร้องครวญคราง เป็นต้น ซึ่งเท่ากับเป็นชาวนรกในโลกนี้เหมือนกัน คือที่ไหนมีภาวะที่ไม่น่าเจริญตาเจริญใจ มีแต่ความทุกข์ทรมาน ที่นั่นก็เป็นดุจนรก ส่วนสวรรค์ก็เป็นไปโดยนัยตรงกันข้าม

ระดับสาม ทางพระพุทธศาสนากล่าวว่า จักรวาลนั้นมีมากเหลือคณานับ ทางภูมิศาสตร์ก็บอกว่าจักรวาลมีมากเหลือจะนับ และจักรวาลหนึ่งๆ ประกอบด้วยขุมแห่งความร้อน ซึ่งสมมติเรียกว่า ดวงอาทิตย์อันเป็นจุดรวม มีดาวฤกษ์ซึ่งยังไม่ดับ กับดาวนพเคราะห์ซึ่งเป็นดาวที่ดับแล้ว รวมเป็นจักรวาลหนึ่ง โลกเราก็เป็นดาวนพเคราะห์ดวงหนึ่งรวมอยู่ในสุริยจักรวาลนี้ และมนุษย์มิใช่มีแต่ในโลกเรานี้เท่านั้น อาจมีที่ดวงดาวอื่นๆ ที่จักรวาลอื่นอีก และที่นั้นอาจมีความเจริญสูงกว่าโลกเรา หรือทุกข์ยากกว่า ร้อนกว่า เย็นกว่าโลกเราก็คงมี ถ้าเราไปเกิดที่โลกร้อนก็เท่ากับว่าตกนรกร้อน ถ้าเราไปเกิดที่โลกซึ่งมีการปกครองด้อย มีการบีบบังคับรุนแรงเต็มไปด้วยการลงโทษรุนแรงในรูปต่างๆ หรือมีความเป็นอยู่ลำบากยิ่งกว่าสัตว์ เมื่อเราไปเกิดที่นั่นก็เท่ากับเราตกนรกขุมนั้นๆ ถ้าเราไปเกิดที่โลกซึ่งมีความเจริญมาก เวลาเกิดก็โตทันที โดยออกมาจากหลอดแก้ว เพราะเกิดจากการผสมและเลี้ยงในหลอดแก้วจนโต แล้วกินอาหารทิพย์ คือแค็ปซูลเพียงครั้งเดียวก็พอไปจนตายหรือจุติ(เช่นเดียวกับคนเดินทางไปโลกพระจันทร์ กินแค็ปซูลเป็นอาหารแล้วไม่ต้องกินอาหารอย่างคนทั่วไป) เมื่อไม่มีปัญหาเรื่องอาหาร ครัว ห้องน้ำ ก็ไม่ต้องมี เศษอาหารที่เป็นขุมแห่งความสกปรกเน่าเหม็นก็ไม่มี กลิ่นตัวก็ไม่มี บ้านเมืองสวยงามสะอาด หอมไปด้วยกลิ่นดอกไม้ เมื่อหมดเรื่องอาหาร ปัญหาอื่นก็ไม่ค่อยมี ไม่มีขโมย เพราะต้องการอะไรก็มีทุกคน มีความรู้จักพอ โรคภัยก็ไม่มีเพราะการแพทย์เจริญมาก คนที่นั้นจะตายก็เพราะความเจ็บไข้ที่เยียวยาไม่ได้ คือเพราะโรคหัวใจ และโรคทางเส้นเลือด เวลาตายก็ปุบปับตาย ก่อนตายมีอาการผิดปกตินิดหน่อย ดุจเทวดาจะจุติก็มีอาการผิดปกตินิดหน่อย เช่น เหงื่อออก การปกครองในที่นั้นก็เป็นไปแบบพ่อปกครองลูก มีแต่ความเมตตา กรุณา (ไม่มีการบีบบังคับลงโทษ) ดุจเป็นเทพบุตร เทพธิดา เราไปเกิดในที่นั่นก็เท่ากับว่า เกิดในสวรรค์นั่นเอง

ในเรื่องนี้มีข้อความในนิทานวรรค สังยุตตนิกายที่ควรนำมากล่าวเพื่อประกอบการพิจารณาตามควร ความไทยว่า สัตว์ทั้งหลาย ผู้ถูกความไม่รู้ปิด ถูกตัณหาผูกมัด ย่อมท่องเที่ยวไป บางครั้งไปโลกอื่นจากโลกนี้ บางครั้งก็มาโลกนี้จากโลกอื่น การเวียนว่ายตายเกิดนี้ไม่มีใครรู้ที่สุด ไม่ปรากฏเบื้องต้นเบื้องปลาย

การยอมรับเรื่องสุคติ ทุคตินี้ เป็นการดีมากกว่าเลว เพราะทำให้คนทำดีมากกว่าทำเลว ทำให้เกิดผลดีแก่ตนและแก่ส่วนรวมมากกว่า การปฏิเสธเรื่องนี้นั้น เท่ากับปฏิเสธการบำเพ็ญบารมี คือ เหตุให้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพระพุทธองค์ ปฏิเสธเรื่องกรรมในชาติก่อน ผลของกรรม เรื่องบุพเพนิวาสานุสสติญาณ และเรื่องอื่นๆ อีกมาก ขอให้พิจารณาให้ดี อย่าให้ความฉลาดและเรื่องอื่นๆ อีกมาก ขอให้พิจารณาให้ดี อย่าให้ความฉลาดมาทำลายความเฉลียว

ความเห็นนี้เป็นเรื่องเฉพาะตัว ใครจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ไม่เป็นไร ใครจะเชื่อหรือไม่ก็เป็นสิทธิของแต่ละคน ถ้าเห็นด้วยจะเห็นด้วยระดับไหนก็แล้วแต่ใจ เมื่อพอใจระดับไหนก็ไม่ควรจะไปว่าระดับอื่นว่าไม่จริง หรือเหลวไหลงมงาย เพราะการจะตัดสินว่าเรื่องนั้นจริง เรื่องนี้เท็จนั้นไม่ใชเรื่องของเราคนเดียว และแต่ละเรื่องต่างก็มีความจริงอยู่ในตัวของเรื่องนั้นเอง

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

วิธีแก้ปัญหาชีวิต

ปัญหาชีวิต ทุกคนย่อมอาจมีเหมือนกันหรือต่างกันบ้าง เช่น ปัญหาเกี่ยวกับการเล่าเรียน การเศรษฐกิจ การครอบครัว การปกครอง การค้า การไม่ได้รับความยุติธรรม การสุขภาพ ความพลัดพรากจากคนรักหรือของที่รัก ความผิดหวัง ความวิตกกังวลห่วงใย การถูกนินทาว่าร้ายและใส่ร้าย ความแก่ เจ็บ ตาย ความประสบกับสิ่งที่ไม่พอใจ ทำอย่างไรตายแล้วจะไม่ไปทุคติ นรกสวรรค์มีจริงหรือ ทำอย่างไรจะพ้นทุกข์ เป็นต้น ซึ่งเมื่อสรุปแล้ว ก็อยู่ที่ปัญหาเดียว คือความไม่ได้อย่างใจเท่านั้น

ปัญหาชีวิตเหล่านี้ ในพระพุทธศาสนามีวิธีแก้ไว้หมด เช่น

๑. ความแก่ เจ็บ ตาย
สิ่งเหล่านี้ คนทั่วไปกลัว ไม่ชอบ ดังนั้นจึงได้ชื่อว่าเป็นภัย คือสิ่งที่กลัวกันและก่อให้เกิดทุกข์

สิ่งเหล่านี้ พระพุทธเจ้าทรงสอนให้คนพิจารณาบ่อยๆ จะได้กล้า จะได้ยอมรับความจริง จะได้รู้เท่าทัน ดังที่ทรงแสดงไว้ในปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ความไทยโดยย่อว่า ควรพิจารณาบ่อยๆ ว่าสัตว์ทั้งปวง(หมายถึงทั้งคนทั้งสัตว์) มีความแก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นไปได้ เป็นต้น เป็นการเตรียมพื้นจิตใจไว้คอยรับ คือเตรียมรับสิ่งที่ตนกลัวเหล่านั้นไว้ เมื่อภัยเหล่านั้นมาถึงตัวจะได้สู้ได้อย่างมีทีท่าไม่เสียขวัญ แล้วแก้ไขไปตามควร อย่างคนเตรียมพร้อม ไม่ใช่สอนให้นึกอย่างนั้นแล้วนั่งนอนรอแก่ รอเจ็บ รอตาย ไม่ทำอะไร คนอย่างนี้เรียกว่า คนโง่ คนประมาท

พระพุทธเจ้าสอนให้รู้ความจริงของชีวิตอย่างนี้แล้ว จะได้ไม่ประมาทจะได้เตรียมพื้นของใจไว้คอยรับสิ่งเหล่านั้น จะได้สร้างความดีไว้ก่อนที่จะเจ็บจะตาย พระองค์ทรงสอนไม่ให้ประมาท ไม่ให้วางใจในเรื่องวัย ในความไม่เจ็บไข้ ในความตาย ทรงสอนว่าควรทำความพากเพียรในวันนี้ทีเดียว ใครเล่าจะรู้ว่าความตายจะมาถึงพรุ่งนี้

เมื่อยอมรับความจริงในสิ่งเหล่านี้ ด้วยความไม่ประมาทอย่างนี้ เมื่อแก่ก็เป็นคนแก่ที่ดี มีศีลธรรมมีสติ เมื่อเจ็บก็เป็นคนเจ็บที่ดี เจ็บเป็นคือ เป็นนักสู้ความเจ็บ และควบคุมความรู้สึกได้ เมื่อตายก็ตายเป็น คือ ตายดี มีสติและมีความสำนึกมั่นอยู่ในความดี คนอย่างนี้เรียกว่า แก่เป็น เจ็บเป็น ตายเป็น

ถ้าไม่อยากแก่ เจ็บ ตาย ก็ต้องไม่เกิด ถ้าจะไม่เกิดก็ต้องให้หมดเหตุคือ กิเลส ถ้าจะให้หมดกิเลส ก็ต้องบำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญาให้เต็มพิกัด แต่จะร้อยละเท่าไรที่ไม่อยากเกิด ส่วนมากมีแต่อยากเกิด แต่ไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย ซึ่งเป็นไปไม่ได้ และถ้าคนและสัตว์ไม่ตายเลย ป่านนี้โลกจะเป็นอย่างไร การตายเป็นการถ่ายเทที่เหมาะสมแล้วตามธรรมชาติ

๒. ความผิดหวัง
๒.๑ ความผิดหวังเป็นของคู่กันกับความสมหวัง
ข้อนี้ตรงกับการได้รับ และการไม่ได้รับในโลกธรรม เป็นสภาพที่เป็นจริงของโลก ซึ่งทุกคนต้องได้พบ วิธีแก้ไขความทุกข์ทางใจในเรื่องผิดหวังนี้ ควรใช้โลกธรรมกับไตรลักษณ์ รวมทั้งเรื่องหลักกรรมดังที่ได้กล่าวแล้วด้วย เป็นเครื่องประกอบในการพิจารณา

และในเรื่องอย่างนี้พระพุทธเจ้า ทรงให้พิจารณาบ่อยๆ ว่าเราต้องพรากจากของที่เป็นที่รักที่ชอบใจเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นไปได้ เป็นต้น ดังนั้น เมื่อได้อะไรมาต้องคิดถึงความจริงว่า วันหนึ่งเราจะต้องจากสิ่งนี้ไปเพราะความตาย หรือสิ่งนี้จะต้องจากเราไปเพราะแตกหรือหายไปเป็นอย่างนี้แน่ ไม่ต้องสงสัย ความจริงมีอยู่อย่างนี้ ต้องรู้ความจริง ยอมรับความจริง ต้องรู้จักคิด ความทุกข์ทางใจก็จะน้อยลง และในเรื่องนี้พระพุทธองค์ตรัสไว้ในสุตตนิบาต ขุททกนิกาย ความไทยว่า ไม่ควรเพลิดเพลินติดในของเก่า ไม่ควรทำความพอใจติดในของใหม่ เมื่อสิ่งนั้นๆ เสื่อมสิ้นไป ก็ไม่เดือดร้อนดังคนอื่น ข้อนี้เป็นวิธีแก้ปัญหาเกี่ยวกับความผิดหวังทั่วๆ ไป

๒.๒ ความผิดหวังในการเรียน
ถ้าไม่ต้องการผิดหวังในเรื่องนี้ ก็ขอให้ใช้หลักอิทธิบาท ๔ ประการ และเว้นอบายมุข ดังที่กล่าวแล้วเป็นเครื่องประกอบในการเรียน หรือใช้หลักธรรมเหล่านี้ คือ
๑. ฟังดี คือฟังเป็น
๒. ตั้งใจเรียน ตั้งใจฟัง
๓. ตั้งใจรับความรู้
๔. เอาใจใส่ในการเรียน เช่น หมั่นถาม หมั่นจด หมั่นทดลอง เป็นต้น

ถ้าทำได้อย่างนี้ จะสมหวังในการเรียน ถ้าทำแล้วยังผิดหวัง ก็นึกว่าตนเองยังทำเหตุไม่พอ ต่อไปต้องทำเหตุให้มากกว่านี้ ไม่ควรไปโทษคนอื่น เพราะไม่สำเร็จประโยชน์อะไร มีแต่จะทำให้เกิดศัตรู เกิดความผิดหวังยิ่งขึ้น

พระพุทธองค์ทรงสอนให้รู้จักพิจารณาตัวเอง รู้จักตัวเอง เตือนตัวเอง และในเรื่องนี้นั้นเพื่อน มีส่วนสำคัญอยู่มาก

๒.๓ ความผิดหวังในความรัก ในของรัก ในความจากของที่รักที่ชอบใจ
วิธีแก้ปัญหานี้ให้สบายใจ คือ ขอให้ยอมรับความจริงว่า ในชีวิตของทุกคนทั้งในอดีต ทั้งในปัจจุบัน ทั้งในอนาคต ต้องพบสิ่งเหล่านี้ แต่บางคนได้รับความทุกข์ทางใจมาก จนทำลายตนเอง บางคนเป็นทุกข์มากจนป่วย บ้างก็เป็นเพียงแต่เป็นทุกข์ใจ บางท่านเฉยๆ เช่น พระอรหันต์ ทั้งนี้สุดแต่ว่าใครยึดเอาไว้มากหรือน้อย หรือไม่ยึดเลย

แต่ถ้าเกี่ยวกับความรัก นอกจากจะพิจารณาแก้ไขดังข้อ ๒.๑ แล้ว ต้องคิดดังที่มีปรากฏในชาดกขุททกนิกาย ความไทยว่า ความรักย่อมเกิดเพราะเหตุ ๒ ประการ อันจะทำให้ได้อยู่กินด้วยกันคือ

๑. บุพเพสันนิวาส เคยเป็นเนื้อคู่มาก่อน
๒. ความเห็นอกเห็นใจเกื้อกูลกันในปัจจุบัน

เมื่อผิดหวังในความรักก็อาจเป็นเพราะขาดเหตุดังกล่าวแล้วนั้นก็ได้ เมื่อไม่ใช่คู่ของเรา ก็ไม่ควรกับเรา และควรกับคู่ของเขา อย่างนี้ก็ยุติธรรมดีแล้ว แต่การที่จะคิดทำลายคู่แข่งขันนั้น มิใช่เป็นการกระทำของคนที่เจริญแล้ว แต่เป็นการกระทำของคนป่าเถื่อน หรือของสัตว์มากกว่า สัตว์ที่จำทำลายกันก็ด้วยเหตุคือ แย่งตัวเมีย แย่งอาหาร แย่งความเป็นใหญ่ คนป่าก็เหมือนกัน

๒.๔ ความผิดหวังในคนภายใน เช่น ลูก พี่น้อง เป็นต้น
บางคนมีปัญหาเกี่ยวกับลูกบ้าง พี่น้องบ้าง ที่เรียนไม่ดี หรือเสียความประพฤติ เรื่องนี้มีวิธีแก้อย่างนี้

เกี่ยวกับการเรียน ควรแนะนำสอนให้ใช้หลักอิทธิบาท และวิธีการดังข้อ ๒.๒ เว้นอบายมุข โดยเฉพาะเรื่องเพื่อนนั้นสำคัญนัก

เกี่ยวกับความประพฤติ ควรแนะนำตักเตือนให้รู้ว่าทำอย่างนี้ดี ทำให้เป็นคนมีอนาคตแจ่มใส ทำอย่างนี้เลว ทำให้อนาคตมืดมน พูดให้เขาเป็นคนมีอนาคต คนมีอนาคตดีนั้นต้องละสิ่งที่ควรละคือ อบายมุข โดยเฉพาะการคบเพื่อนเลว ต้องชี้แจงลักษณะเพื่อนดีเพื่อนเลวให้เขาพิจารณา และให้เขาทำสิ่งที่ควรทำ คือวิธีตั้งตัวในชาตินี้ มีต้องขยันเล่าเรียนเพื่อหาเครื่องรับประกันอนาคต และขยันหาทรัพย์ เป็นต้น

เรื่องการแนะนำสอนคนนั้น ต้องรู้ความจริงว่า คนนั้นไม่เหมือนกัน บางคนรู้ได้เร็ว บางคนต้องแนะนำก่อนจึงรู้ บางคนต้องแนะนำชี้แจงหลายครั้งจึงรู้ บางคนเหลือที่จะแนะนำ เพราะดื้อเกินไปหรือโง่เกินไป บุคคลประเภทสุดท้ายนั้น แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ต้องทรงชักสะพานคือไม่สอน ถ้าไปถูกคนชนิดนี้เข้าก็ต้องปลงใจว่า เราทำหน้าที่ของตนอย่างดีที่สุดแล้ว แต่ไม่ไหวก็ต้องปล่อย แม้พระพุทธองค์เองก็ยังทรงปล่อยคนประเภทนี้ นับประสาอะไรกับคนขนาดเรา นึกเสียว่าเป็นกรรมของเขาด้วยของเราด้วยที่ต้องมาเกี่ยวข้องกับเขา ต้องใช้หลักกรรมมาช่วย อย่างนี้ก็จะทำให้ค่อยสบายใจขึ้น

๒.๕ ผิดหวังเพราะสู้เขาไม่ได้
เรื่องที่สู้เขาไม่ได้นั้นมีมาก เช่น สู้เขาไม่ได้ทางการเรียน ทางการทำงานต่างๆ ทางความงาม ทางแต่งตัว ทางการพูด เป็นต้น

ในเรื่องนี้ เราต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งก่อนว่า คนนั้นมีปัญญา มีความสามารถ มีปฏิภาณไม่เท่ากัน แม้สำเร็จการศึกษาพร้อมกันจากสำนักเดียวกันก็ไม่เท่ากัน บางคนเก่งแต่พูด ทำไม่เก่ง บางคนเก่งคิด แต่ทำไม่เก่ง

เฉพาะในเรื่องเรียน หรือทำงานควรจะได้คิดอย่างนี้คือ
๑. เรียน หรือทำลำบาก ต้องขยันมาก ต้องทำงานหนักมาก แต่ได้ผลช้า คือรู้ช้า หรือประสบผลช้า อย่างนี้ก็มี

๒. เรียน หรือทำลำบาก แต่รู้เร็ว หรือได้ผลเร็วอย่างนี้ก็มี

๓. เรียน หรือทำง่าย ไม่ต้องอาศัยความขยันขันแข็ง ทำงานหนักมาก แต่ได้ผลช้า คือรู้ช้า หรือประสบผลช้า อย่างนี้ก็มี

๔. เรียน หรือทำง่าย แต่ได้ผลเร็ว คือรู้เร็ว หรือได้ประสบผลเร็ว อย่างนี้ก็มี

หรือคิดว่าตนยังทำเหตุไม่สมผลยังทำเหตุน้อยไป จึงยังสู้เขาไม่ได้ หรือจึงยังไม่พบความสำเร็จ เมื่อคิดได้อย่างนี้ จะได้ไม่ท้อใจ เมื่อยังไม่ประสบความสำเร็จจะได้ขยันยิ่งขึ้น

การแข่งขันนั้น ท่านว่า แข่งรถแข่งเรือแข่งได้ แต่แข่งบุญวาสนานั้นแข่งกันไม่ได้ ข้อนี้ก็เป็นคติอีกอย่างหนึ่ง สำหรับให้คิดเพื่อผ่อนคลายความไม่สบายใจ จะได้คิดสร้างความดี และข้อนี้ เป็นเรื่องของหลักกรรมอีกเช่นเดียวกัน ดังที่ว่ากรรมคือ การกระทำ ย่อมทำให้สัตว์(หมายถึงคนด้วย) ดีบ้าง เลวบ้าง แล้วแต่กรรม(การกระทำนั้นๆ) และขอให้นำหลักในข้อ ๒.๒ พร้อมทั้งหลักสำหรับการตั้งตัวมาพิจารณาประกอบเพื่อแก้ปัญหานี้ด้วย

ส่วนเรื่องความงามนั้น ศัตรูของความงาม คือความแก่และใครๆ ก็แก่ พอแก่ตัวอายุ ๖๐-๗๐ แล้ว คนสวยคนไม่สวยก็อยู่ในสภาพเดียวกัน คือ แก่ดูไม่ได้ด้วยกันทั้งนั้น ดังนั้น ความงามรูปจึงสู้งามคุณธรรมไม่ได้ เพราะงามคุณธรรมยั่งยืนกว่า มีคุณค่ากว่างามรูป ดังนั้น อย่าไปทุกข์ใจว่างามสู้เขาไม่ได้ เพราะพอแก่แล้วก็เหมือนกัน คือดูไม่ได้เท่าๆ กัน

๓. ปัญหาทางการเมือง
ประเทศต่างๆ ย่อมมีปัญหาทางการเมืองทั้งในและนอกประเทศ ปัญหาเหล่านี้ ในประเทศก็ย่อมมีวิธีแก้ด้วย
ความสามัคคี
เศรษฐกิจ
การบริหาร
การศึกษา
การพระศาสนา
ให้ประชาชนรู้จักหน้าที่ของตน
ภายนอกประเทศแก้ด้วย
วิธีการทูต
มนุษยธรรม

ความสามัคคี
กลุ่มคนตั้งแต่ครอบครัวจนถึงประเทศชาติ จะยังคงอยู่ได้ไม่แตกสลายไป เพราะภายในมีความสามัคคี ข้อนี้เป็นความจริงของทุกยุคทุกสมัย และเหตุให้เกิดความสามัคคีนั้น ทางพระพุทธศาสนาได้แสดงไว้ เช่น สาราณียธรรม ๖ ประการ อปริหานิยธรรม ๗ ประการ สังคหวัตถุเรื่องการช่วยเหลือกัน ๔ ประการ ผู้ใหญ่มีพรหมวิหารธรรม ไม่มีอคติ คือลำเอียงด้วยความรัก โกรธ กลัว และหลง และผู้น้อยมีธรรมของผู้น้อย เช่นเป็นผู้มีความเคารพผู้ควรเคารพ ไม่เบ่งอวดดีจองหอง มีความกตัญญูกตเวที ว่าง่าย พูดกันรู้เรื่อง เป็นต้น

และคนทั้งหลายควรระลึกถึงกัน ทำความรักในกันและกัน เคารพในกันและกัน สงเคราะห์กันไม่วิวาททะเลากัน มีความพร้อมเพรียงกลมเกลียวกัน เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

เศรษฐกิจ
ข้อนี้มีหลักอยู่ว่า ถ้าประชาชนมีฐานะดีแล้ว เศรษฐกิจของบ้านเมืองก็ดีไปด้วย

ประชาชนจะมีฐานะดีนั้นทางพระพุทธศาสนาสอนไว้ว่า ต้องเว้นอบายมุข คือทางแห่งความเสื่อม หรือตั้งตัวไม่ได้ และต้องบำเพ็ญเหตุตั้งตัวได้ในปัจจุบันชาตินี้ มีขยันเรียน ขยันทำงาน ขยันหาทรัพย์ เป็นต้น

เมื่อปฏิบัติได้อย่างนี้ ประชาชนก็จะมีฐานะดี อยู่ดีกินดี มีความสุข โจรผู้ร้ายก็มีน้อย ประชาชนทำงานเพิ่มผลิตผลให้เกิดแก่ชาติ ภาษีอากรก็ได้เพิ่มขึ้น รายได้ของชาติมีมากขึ้น

และในพระพุทธศาสนา ยังแสดงคุณสมบัติของบุคคลผู้มีหน้าที่เป็นรัฐมนตรีพาณิชย์อีก ดังนี้ คือ จกฺขุมา เห็นกาลไกล เห็นว่าอะไรตลาดต้องการ ไม่ต้องการ ฉลาดวิธุรา เอาใจใส่ติดตามงานติดต่อตลาด นิสฺสยสมุปนฺนา มีหัวทางนี้

เมื่อเป็นเช่นนี้ ชาติย่อมมีรายได้มาก เมื่อมีรายได้มาก เศรษฐกิจของชาติย่อมดีขึ้นเป็นธรรมดา การที่เกิดปัญหาเศรษฐกิจทั้งส่วนย่อยคือ ในครอบครัว หรือในส่วนใหญ่คือ ในชาตินั้น ถ้าจะพิจารณาแล้วจะเห็นว่าเป็นเพราะขาดหลักธรรมดังกล่าว

การบริหารบ้านเมือง
เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ทางพระพุทธศาสนาได้แสดงหลักธรรมสำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารบ้านเมือง และหลักธรรมสำหรับผู้บริหารไว้เป็นอันมาก เป็นต้นว่า

ก. หลักบริหาร เช่น
๑. ทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการ
๒. จักรวรรดิวัตร ๑๐ ประการ
๓. ราชสังคหวัตถุธรรม ๔ ประการ
๔. หลักข่มผู้ที่ควรข่ม ยกย่องผู้ที่ควรยกย่อง
๕. สังคหวัตถุ ๔ ประการ
๖. สัปปุริสธรรม ๗ ประการ

ธรรมเหล่านี้เป็นหลักบริหารที่ทางพระพุทธศาสนาได้แสดงไว้ สำหรับผู้บริหารบ้านเมืองได้ใช้ปฏิบัติ

ผู้บริหาร
ในพระพุทธศาสนาได้แสดงคุณสมบัติของผู้บริหารไว้เป็นอันมาก เช่น

ข. หลักของผู้นำ เช่น
๑. ตั้งอยู่ในพรหมวิหารธรรม ๔ ประการ เว้นอคติธรรม ๔ ประการ

๒. หลักของผู้นำ ๖ ประการ มีอดทน เป็นต้น ในเรื่องผู้นำ

๓. หลักของผู้นำ ๕ ประการ มีช่วยเหลือผู้อื่น เป็นต้น ในเรื่องผู้นำ

๔. อีก ๒ ประการ มีความสามารถในการค้นปัญหาเป็นข้อต้น ในเรื่องผู้นำ

๕. และอีก ๗ ประการ มีองอาจ ฉลาดเป็นข้อต้น ในเรื่องผู้นำ

๖. และอีก ๕ ประการ มี ๑. ฉลาด ๒. กล้า ๓. เป็นพหูสูต ๔. ทรงธรรมประจำใจไร้อคติ ๕. ประพฤติสุจริต

ค. หลักของข้าราชการอื่นๆ ฝ่ายพลเรือน เช่น
๑. หลัก ๔ ประการ มีขยันเป็นข้อต้น ในเรื่องข้าราชการ

๒. หลัก ๙ ประการ มีเป็นผู้นำที่ดีของประชาชนเป็นข้อต้น ในเรื่องข้าราชการ

๓. หลักอีก ๔ ประการ มีเป็นผู้พูดให้เขาฟังเป็นข้อต้น ในเรื่องข้าราชการ

๔. อีก ๔ ประการ มีความประพฤติดีเป็นข้อต้น ในเรื่องข้าราชการ

๕. อีก ๔ ประการ มีนับถือผู้เจริญด้วยคุณวุฒิ และวัยวุฒิเป็นข้อต้น ในเรื่องข้าราชการ

๖. อีก ๕ ประการ มีฉลาดรอบรู้เป็นข้อต้น ในเรื่องข้าราชการ

๗. และอีก ๙ ข้อ ซึ่งแสดงหลักการใช้วาจาของข้าราชการ มีไม่พูดมากเกินไปเป็นข้อต้น ในเรื่องข้าราชการ

๘. กับหลักทั่วไปอีก ๗ ประการ มี ๑. ขยันทำงาน ๒. ทำงานด้วยมีสติสัมปชัญญะเสมอเป็นข้อต้น ในเรื่องข้าราชการ

๙. และหลักเป็นเครื่องประกอบอีก ๔ ประการ คือ ๑. รู้ราชกิจ ๒. ปฏิบัติราชการไม่บกพร่อง ๓. ไม่ทะเลาะกับผู้ใหญ่ ๔. ไม่ฉ้อราษฎร์บังหลวง

๑๐. และอีก ๔ ประการ คือ ๑. มีความกตัญญูกตเวที ๒. ถ่อมตนไม่จองหอง ๓. พูดดีไม่ดุร้ายหยาบคาย ๔. พูดมีประโยชน์ ไม่พูดเลว

ฆ. ข้าราชการฝ่ายปราบปราม หรือฝ่ายทหารหรือตำรวจ มีหลักธรรมเช่น
๑. หลักธรรม ๓ ประการ มีความขยันปฏิบัติการเป็นข้อต้น ในเรื่องนักรบ

๒. อีก ๖ ประการ มีเป็นคนแกล้วกล้าเป็นข้อต้น ในเรื่องนักรบ

๓. และอีก ๔ ประการ มีเป็นคนฉลาดรอบรู้เป็นข้อต้น ในเรื่องนักรบ

๔. และมีอีก ๔ ประการ มีเก่งในการตั้งทัพหรือกองทัพเป็นข้อต้น ในเรื่องนักรบ

เมื่อผู้บริหารบ้านเมืองทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายหัวหน้า ฝ่ายบำรุง ฝ่ายปราบปราม มีคุณสมบัติเพื่อการบริหารตามหลักธรรมดังกล่าวแล้ว ก็จะทำให้บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง มีความสุข ทำให้เกิดความมั่นคงแก่ประเทศชาติ

การศึกษา
ประชาชนมีความรู้ดีย่อมเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้บ้านเมืองเจริญ พูดกันรู้เรื่อง และเข้าใจ ในการที่จะรับผิดชอบร่วมกันในการช่วยกันสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศชาติ และประชาชนจะมีความรู้ดีก็ต้องศึกษาดี(ส่วนความประพฤติดีนั้น ย่อมมีเพราะการอบรมทางบ้าน และความคิดดีย่อมได้จากทางวัด หรือทางศาสนา) และหลักการศึกษามีดังนี้

หลักการศึกษา
ทางพระพุทธศาสนาได้แสดงไว้มาก เป็นต้นว่า

๑. ครูต้องใช้หลัก ๔ ประการ มีแนะนำสอนนักเรียนดีเป็นข้อต้น ในเรื่องหน้าที่ครูอาจารย์

๒. นักเรียนต้องปฏิบัติตามหน้าที่ของนักเรียน ๔ ประการ มีเชื่อฟังครูเป็นข้อต้น ในเรื่องหน้าที่ของนักเรียน

๓. และนักเรียนต้องใช้หลักอิทธิบาท คือ เหตุให้ประสบความสำเร็จ ๔ ประการ มีความพอใจในการเรียนเป็นข้อต้น ในเรื่องหลักความสำเร็จ

๔. และนักเรียนต้อง
๔.๑ ฟังดี คือ ฟังได้เรื่องได้ราว
๔.๒ ตั้งใจฟัง
๔.๓ ตั้งใจรับรู้
๔.๔ ตั้งใจศึกษา
เมื่อเป็นอย่างนี้ประชาชนย่อมมีการศึกษาดีโดยทั่วไป และอำนวยให้เกิดความมั่นคงแก่ประเทศชาติ

พระศาสนา
ความรู้ดีย่อมได้จากครู หรือโรงเรียน ความประพฤติดีย่อมได้จากผู้ใหญ่ หรือทางบ้าน ส่วนความคิดดีย่อมได้จากทางวัด หรือทางพระศาสนา คือทางภิกษุสามเณร ดังนั้น ภิกษุสามเณรจึงมีความสำคัญต่อบ้านเมือง ในการที่จะทำให้ประชาชนเป็นคนคิดดี โดยสอนเขา ทำตนให้เป็นตัวอย่างแห่งความดี และเป็นที่พึ่งทางใจของเขา เป็นต้น และภิกษุสามเณรจะทำได้ก็ต้องเป็นภิกษุสามเณรอย่างนี้ คือ

สุกตกมฺมการี=ทำดี
สุภาสิตภาสี=พูดดี
สุจินฺติตจินฺตี=คิดดี
สุวิชาโน=รู้ดี และ

๑. มีความประพฤติดี เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของประชาชน
๒. มีความรู้ดี
๓. มีความเสียสละ
๔. มีความสามัคคี
๕. รู้จักหน้าที่ และทำตามหน้าที่ไม่ละเลย

๑. มีความประพฤติดี
ภิกษุที่ประพฤติดีคือ

๑.๑ สำรวมในพระปาฏิโมกข์ สำรวมในศีล เว้นข้อที่พระพุทธเจ้าห้าม ทำตามข้อที่ทรงอนุญาต

๑.๒ สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ระวังไม่ให้ถูกความยินดี ยินร้ายครอบงำได้เมื่อเห็นรูป เป็นต้น

๑.๓ ไม่เป็นคนเอิกเกริก เฮฮา เป็นคนเรียบร้อย

๑.๔ อยู่ในที่อยู่อันเงียบสงบ

๑.๕ มีความเห็นถูกต้อง

เกี่ยวกับความประพฤติของภิกษุนั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้มาก ดังในบรรพชิตธรรม แต่นำมากล่าวเพิ่มเพียงเท่านี้ก็พอสมควรแล้ว

๒. มีความรู้ดี
คือเป็นพหูสูต โดยมีความรู้ในวิชาหลัก คือทางธรรม และวิชาประกอบคือ ทางโลก เพื่อประโยชน์ในการบำเพ็ญอัตตัตถจริยา และโลกัตถจริยา คือประโยชน์ตน เช่น การอบรมใจของตน และประโยชน์ต่อผู้อื่น เช่น สั่งสอนและอบรมแนะนำผู้อื่นตามหน้าที่ของตน(มโนรถปูรณี) ความรู้ดีย่อมมีได้ด้วยวิธีแห่งการศึกษาดังกล่าวแล้ว ในเรื่องการศึกษา และการศึกษานี้ย่อมเป็นธุระหรือหน้าที่ของภิกษุอย่างหนึ่ง เรียกว่า คันถธุระ หรือปริยัติธรรม

๓. มีความเสียสละ
คือเสียสละความสุขส่วนตัว โดยการบำเพ็ญโลกัตถจริยา ตามอย่างที่พระบรมศาสดาทรงบำเพ็ญมาแล้ว พระพุทธองค์ทรงเป็นกษัตริย์ผู้สุขุมาลชาติ เมื่อตรัสรู้แล้วแทนที่จะเสวยวิมุติสุขส่วนพระองค์ กลับเสด็จไปโปรดผู้อื่นโดยมิได้เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย และลำบากเป็นเวลาถึง ๔๕ ปี พระสาวกทั้งหลายของพระองค์ได้เที่ยวไปเผยแผ่พุทธธรรม เที่ยวไปช่วยผู้อื่นถึงจะสิ้นชีวิตก็ยอม และสาวกที่ยังอยู่ก็ช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป ด้วยความเสียสละกำลังกาย กำลังความรู้ กำลังความคิดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และของพระสาวกอย่างนี้ พระพุทธศาสนาจึงได้แพร่หลายไปยังส่วนต่างๆ ของโลกจนถึงปัจจุบันนี้ ทำให้คนมีความคิดดี ดำเนินชีวิตอย่างมีหลักใจ และพ้นทุกข์ ก็จาคะ หรือความเสียสละนี้ย่อมเป็นความดีอย่างหนึ่ง

๔. มีความสามัคคี
เรื่องนี้มีความสำคัญมาก จึงมีพระบาลีกล่าวไว้มาก เช่น ความพร้อมเพรียงของหมู่คณะย่อมให้เกิดความสุข และความพร้อมเพรียงของหมู่คณะย่อมให้สำเร็จความเจริญ ภิกษุเป็นผู้สอนเขาให้มีความสามัคคี ถ้าจะมาแตกความสามัคคีเองก็เป็นเรื่องที่น่าตำหนิอย่างยิ่ง ทำให้เกิดผลเสียแก่ทุกฝ่าย ดังนั้นความสามัคคีจึงเป็นสิ่งจำเป็นของหมู่คณะ และความสามัคคีนั้นย่อมเกิดได้ และตั้งมั่นยืนนานก็โดยอาศัยหลักธรรมดังกล่าวแล้ว ในเรื่องเกี่ยวกับสังคม และสามัคคี เช่น หลักสังคหวัตถุ ๔ ประการ และสาราณียธรรม ๖ ประการ เป็นต้น

๕. หน้าที่ หน้าที่ของภิกษุมี

๕.๑ เล่าเรียน ได้แก่ คันถธุระ หรือเรียนปริยัติธรรม

๕.๒ ปฏิบัติ ได้แก่ วิปัสสนาธุระ หรือปฏิบัติเพื่อปฏิเวธ

๕.๓ บำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่น และรักษาพระศาสนา

ข้อ ๕.๑, ๕.๒ เป็นอัตตัตถจริยา คือ ทำเพื่อประโยชน์ตน ข้อ ๕.๓ เป็นโลกัตถจริยา คือ ทำเพื่อประโยชน์คนอื่น เมื่อภิกษุมีความประพฤติดี มีความรู้ดี ปฏิบัติหน้าที่ดีอย่างนี้ ย่อมเป็นที่พึ่งทางใจของประชาชน ย่อมสามารถสอนชี้แจง และอบรมให้ประชาชนมีความคิดดีได้ โดยให้เขารู้จักคิด รู้จักตัดสินใจ ข้อนี้ย่อมอำนวยผลเป็นความมั่นคงของชาติบ้านเมืองด้วย และเป็นการแก้ปัญหาทางด้านการเมืองภายในได้อีกอย่างหนึ่ง

ให้ประชาชนรู้จักหน้าที่ของตน และปฏิบัติหน้าที่ของตน
ประชาชนแบ่งเป็น ๒ ฝ่ายคือ ฝ่ายบริหาร กับฝ่ายพลเมืองทั่วไป และประชาชนทั้ง ๒ ประเภทนี้ มักไม่ค่อยถูกกัน คือ ฝ่ายบริหารก็ว่าฝ่ายพลเมืองไม่ให้ความร่วมมือ คอยประพฤติผิดกฎหมาย ไม่เสียภาษีอะไร เป็นต้น ฝ่ายพลเมืองก็ว่าฝ่ายบริหารออกกฎหมายมากดขี่พลเมือง และใช้อภิสิทธิ์ แต่ทั้ง ๒ ฝ่าย ต่างก็มีหน้าที่ทั้งส่วนย่อย คือส่วนตัว และครอบครัว ทั้งส่วนใหญ่คือ ส่วนกลางหรือส่วนรวม แต่ที่สำคัญยิ่งก็คือ หน้าที่ส่วนกลางที่ทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน กล่าวคือ ในส่วนความมั่นคงของประเทศชาติบ้านเมือง เรื่องนี้ทุกฝ่ายจะต้องรับรู้ไม่ใช่เป็นเรื่องของบุคคล ในเรื่องนี้ทางพระพุทธศาสนาสอนให้ใช้หลักสัปปุริสธรรม ๗ ประการ มีรู้เหตุ รู้ผล รู้หน้าที่ของตน เป็นต้น ใช้หลักสาราณียธรรม หลักอปริหานิยธรรม และหลักสังคหวัตถุ หลักพรหมวิหารธรรม เป็นต้น คนเมื่อพูดกันรู้เรื่องเข้าใจเหตุผล มีความสามัคคี มีความดีแล้ว ก็จะไม่มีปัญหาอะไรในการที่จะรับผิดชอบร่วมกันในเรื่องสำคัญคือ บ้านเมือง จริงอยู่บางคนอาจจะเห็นแก่ตัวไม่ยอมรับรู้อะไร จะพูดจะชี้แจงอย่างไรก็ไม่ได้ผล เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ขอให้นึกถึงบุคคล ๔ ประเภท คือ

๑. รู้เรื่องเร็ว
๒. ต้องแนะนำจึงรู้
๓. เป็นคนพอแนะนำได้
๔. เหลือที่จะแนะนำ

บุคคลชนิดที่ ๔ นี้ แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ทรงแนะนำไม่ไหว เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องปล่อยไป เป็นคนเหมือนกันแต่ไม่เหมือนกัน หากปฏิบัติได้เช่นนี้จะทำให้ฝ่ายปกครอง

๑. ทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่ประชาชนทั่วไป บริหารบ้านเมืองได้สะดวกด้วยกุศลจิต

๒. ทำตนเป็นที่พึ่งของประชาชนทั่วไปดุจเป็นญาติ เป็นเพื่อน

๓. ทำตนให้เป็นที่รัก เคารพยำเกรงของประชาชนทั่วไป ไม่ทำตัวเป็นนายผู้บังคับกดขี่

๔. ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต ด้วยความภาคภูมิใจ ส่วนประชาชนทั่วไปย่อมจะ

-รู้จักหน้าที่ของตน เช่น เสียภาษีอากร และรู้จักรับผิดชอบร่วมกันในความมั่นคงของบ้านเมือง

-รู้จักตนว่ามีฐานะภาวะเช่นไร แล้วปฏิบัติให้ถูกต้องตามฐานะกับภาวะนั้น

-รู้จักเสียสละเพื่อชาติบ้านเมือง

-มีความสามัคคี มีศาสนาเป็นที่พึ่งทางใจ มีพระมหากษัตริย์เป็นที่รวมแห่งใจ

ส่วนปัญหาการเมืองภายนอกประเทศนั้น แก้ได้ด้วยวิธีการทูต ดังนี้

ทูตเป็นผู้แทนประเทศ ต้องมีคุณสมบัติประจำตัว และคุณสมบัติประจำตัวทูตนั้น ทางพระพุทธศาสนาได้แสดงไว้ เช่น
๑. คุณสมบัติของทูต ๘ ประการ มีเป็นคนฟังเป็น เป็นข้อต้น ในเรื่องทูต

๒. และมีหลักเหล่านี้คือ ฉลาด กล้า เป็นพหูสูต เป็นคนมีธรรมประจำใจ และประพฤติแต่สุจริต

๓. กับมีหลักอีก ๕ ประการ คือ ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ผูกมิตร รู้จักพูด ใจกว้าง เป็นผู้นำ

เมื่อทูตมีคุณสมบัติอย่างนี้ ย่อมสามารถแก้ไขปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศหรือนอกประเทศได้ อย่างน้อยก็ผ่อนหนักให้เป็นเบาได้

นอกจากนี้ ควรใช้ มนุษยธรรม เป็นเครื่องประกอบการแก้ปัญหาทางการเมืองภายนอกประเทศด้วย แสดงความเห็นใจในความทุกข์ยากของคนนอกประเทศผู้ลำบาก โดยใช้หลักเมตตาธรรม ทางพระพุทธศาสนาแสดงว่า พึงทำเมตตาจิตในหมู่มนุษย์ พึงเจริญเมตตาจิตอย่างกว้างขวางแก่ชาวโลกทั่วไป เมตตาเป็นเครื่องอุปถัมภ์ชาวโลก นอกจากเมตตาธรรมแล้ว สังคหวัตถุ ๔ ประการ มีการให้เป็นข้อต้นดังกล่าวแล้ว ก็ใช้เพื่อมนุษยธรรมได้

ความประหม่า
เกิดจากความกลัว เช่น กลัวผิด กลัวผู้ฟังจะว่า และจากตนนึกดูถูกตัวเองว่า สู้ผู้ฟัง ผู้ดูไม่ได้ จะพูดจะทำอะไรก็เกรงว่าจะผิด ข้อนี้นับว่าเป็นปัญหาชีวิตอย่างหนึ่ง

ปัญหานี้พระพุทธองค์ทรงแสดงวิธีแก้ไว้ดังนี้ คือ
๑. มีความเชื่อมั่น เช่น เชื่อมั่นในตัวเอง
๒. มีความประพฤติดี
๓. มีความรู้ดี
๔. มีความขยันในการทำหน้าที่การงาน
๕. มีความฉลาดรอบรู้

เมื่อมีความประพฤติดี ใครก็ไม่สามารถติเตียนความประพฤติได้ มีความรู้ดี ใครจะมาด้านไหนเป็นสู้ได้ทั้งนั้น มีความขยัน ปฏิบัติหน้าที่เรียบร้อย ไม่บกพร่อง ไม่เปิดช่องให้เขาติเตียน มีความฉลาด มีปฏิญญา และมีความเชื่อมั่นในตัวเอง อย่างนี้ย่อมแก้ความประหม่าได้แน่นอน

เครื่องค้ำจุนโลก
เมตตาเป็นเครื่องค้ำจุนโลก มิให้ตกไปสู่ความยุ่งยาก เมตตา คือ ความปรารถนาดีต่อผู้อื่น การแผ่เมตตานั้นคือ ตั้งใจว่า ขอสรรพสัตว์(หมายถึงสิ่งมีวิญญาณทั้งหมด)
๑. จงอย่ามีเวรมีภัยต่อกันเลย
๒. จงอย่าเบียดเบียนกันเลย
๓. จงอย่ามีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย
๔. จงมีความสุขกาย-ใจ บริหารตนให้พ้นจากทุกภัยเถิด

ถ้าคนทุกคนหรือส่วนมากมีเมตตาจิตต่อกันแล้ว สังคมทุกระดับตลอดจนโลกก็จะมีแต่ความสงบ อานิสงส์ของการเจริญเมตตาจิตมากๆ นั้นมี ๑๑ ประการ มีหลับ-ตื่นเป็นสุขเป็นข้อต้น มีไปสู่พรหมโลกเป็นข้อสุด

ข้อความดังกล่าวนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของทางมนุษย์ ส่วนทางทุคติ คือ ทางไปสู่ที่เลว ที่ไม่ดี ที่มีความทุกข์ ตลอดจนทางไปอบายนรกภูมิแห่งเดรัจฉาน และทางไปสุคติสวรรค์ในปรโลกนั้น ย่อมแล้วแต่ว่าใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ความจริงก็เป็นความจริงอยู่ในตัวเอง ความจริงไม่ใช่ความเชื่อ ความเชื่อก็ไม่ใช่ความจริง แต่ถ้าเป็นเชื่อความจริง อย่างนี้ย่อมใช้ได้ ใครจะไปทางไหนก็สุดแล้วแต่จะเลือก

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

โลกธรรมและไตรลักษณะ

โลกธรรม
ในโลกนี้มีสิ่งหนึ่ง คือ ความได้(ลาภ) ความเสีย(อลาภ) ความยกย่อง(ยศ) ความไม่ยกย่อง(อยศ) ความถูกนินทาว่าร้าย ความสรรเสริญ ความทุกข์ ความสุข ๘ อย่างนี้ เป็นของประจำโลก คนทุกคนย่อมประสบในฐานะเป็นผู้รับบ้าง เป็นผู้ทำบ้าง(เช่นเคยนินทาหรือสรรเสริญเขา) ดังนั้น สิ่งนี้จึงเป็นของธรรมดา เป็นของประจำโลก เป็นความจริงที่ทุกคนต้องได้ประสบ แม้แต่พระพุทธเจ้าเอง และก็ไม่เที่ยงแท้แน่นอนอะไร เป็นของเปลี่ยนแปรได้ พระพุทธองค์ทรงสอนให้คนยอมรับความจริงในสิ่งนี้ และสอนไม่ให้ยินดีกับสิ่งที่ชอบ ยินร้ายกับสิ่งที่ไม่ชอบ ให้คิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา เป็นสัจธรรมอย่างหนึ่งในชีวิตของทุกคนหมด แล้วทำใจให้เป็นปกติ ปลงใจยอมรับสิ่งนั้นๆ เสียในเมื่อแก้ไม่ตกหรือแก้ไปก็ยิ่งเสีย เรื่องนี้เป็นเครื่องมือแก้ความผิดหวัง แก้ความที่ถูกเขานินทาได้เป็นอย่างดี และทำเรื่องที่ทำท่าว่าจะยาวให้สั้นเข้า และยุติ

ไตรลักษณะ
คือ ลักษณะ ๓ หรือสามัญลักษณะ คือ ลักษณะที่มีทั่วไปแก่สิ่งต่างๆ ที่อยู่ในภาวะที่มีใบเบื้องต้น แปรเปลี่ยนไปในตอนกลาง และสลายทลายไปในที่สุด คือมีเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด

ลักษณะทั้ง ๓ มี

อนิจจัง คือความไม่เที่ยง

ทุกขัง คือคงที่อยู่ไม่ได้

อนัตตา คือหาสิ่งที่เรียกว่าตัวไม่ได้ หรือบังคับอ้อนวอนขอร้องไม่ได้ ไม่อยู่ในอำนาจ

ลักษณะหรืออาหารทั้ง ๓ นี้เป็นของธรรมดา เกิดแก่สิ่งทั้งที่มีชีวิตทั้งไร้ชีวิต ถ้าจะมีผู้สงสัยว่า เรื่องไตรลักษณะนี้มิขัดกับเรื่องกรรม การทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วหรือ ข้อนี้มีอธิบายดังนี้

เรื่องกรรมนั้นเป็นเรื่องอยู่ในกรอบแห่งเหตุผล เป็นเรื่องของคนและสัตว์เท่านั้น แต่เรื่องไตรลักษณะเป็นเรื่องของสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต เป็นเรื่องพิจารณาความจริงของสิ่งเหล่านั้น เช่น คน สัตว์ ต้นไม้ และสิ่งก่อสร้าง เป็นต้น เรื่องกรรมเป็นเรื่องการกระทำ และผลของการกระทำ เช่น คิด(เป็นมโนกรรม) ว่าที่เราแก่นี้ก็เป็นเรื่องไม่เที่ยงของร่างกาย เราบังคับไม่ให้แก่ก็ไม่ได้ คิดอย่างนี้แล้วเกิดสบายใจ ความสบายใจเป็นผลของความคิด คือทำทางใจ(มโนกรรม) อย่างนี้เป็นเรื่องกรรม และเรื่องกรรมเป็นเรื่องการกระทำ ส่วนเรื่องไตรลักษณะเป็นเรื่องประกอบของการกระทำ เป็นเรื่องสำหรับคิดพิจารณาตามความเป็นจริง

เรื่องไตรลักษณะนี้ สามารถแก้ปัญหาชีวิตได้ตั้งแต่ระดับต่ำจนระดับโลกุตระ คือ สูงจนพ้นโลก เช่น ปัญหาชีวิตเกี่ยวกับความผิดหวังในการงานบ้าง ในความรักบ้าง ในการศึกษาบ้าง เป็นต้น โดยคิดเสียว่าจะไปเอาอะไรแน่นอนกับสิ่งที่ไม่แน่นอน เมื่อเป็นอย่างนั้นได้ ก็น่าจะเป็นอย่างอื่นได้ ไม่แน่นอนอะไร บังคับก็ไม่ได้ เราเองบังคับตัวเองไม่ให้แก่ยังไม่ได้ แล้วจะไปบังคับคนอื่นให้เขายอมเราทุกอย่างได้อย่างไร

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

ชีวิตดำเนินไปตามกระแสกรรม

กรรม
หลักธรรมในพระพุทธศาสนาที่สำคัญมากนั้นมีมาก และเรื่องกรรมนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งในพระพุทธศาสนา ในศาสนาอื่นถือว่า คนจะดีจะชั่ว หรือจะมีชีวิตเป็นอย่างไร อยู่ที่พระผู้เป็นเจ้าจะทรงลิขิต เช่น พรหมลิขิต เป็นต้น แต่ในพระพุทธศาสนาสอนว่า เป็นอย่างนั้นๆ เพราะกรรม ข้อนี้พระพุทธองค์ตรัสไว้มากแห่งด้วยกัน เช่นว่าเรามีกรรมเป็นของเรา เราเป็นผู้รับผลของกรรม เราเกิดมาเพราะกรรม เราพัวพันอยู่กับกรรม เรามีกรรมเป็นผู้นำ เราทำกรรมดีหรือชั่ว เราจักต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้นๆ และกรรมย่อมจำแนกสรรพสัตว์(ทั้งคนทั้งสัตว์ทั้งพวกอทิสสมานกาย) ให้มีดีบ้างเลวบ้าง ตามประเภทของกรรมของตน และคนทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว เหมือนหว่านพืชชนิดใดก็ได้พืชชนิดนั้น และสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม และสรรพสัตว์ย่อมพัวพันเนื่องอยู่กับกรรม เหมือนสลักติดรถที่แล่นไป

การรับรองหรือปฏิเสธเรื่องกรรม เป็นสิทธิของแต่ละคน ใครมีความรู้ความเห็นอย่างไรจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ย่อมขึ้นกับวิจารณญาณ และข้อเท็จจริงของเขา ทางพระพุทธศาสนาก็ไม่บังคับให้เชื่อ แต่ก็แสดงว่ากรรมเป็นสัจธรรมอย่างหนึ่ง

โดยนัยดังกล่าวแล้ว จะเห็นว่าชีวิตของคน มีส่วนดำเนินไปตามกระแสกรรม ดังนั้นจึงควรทำความเข้าใจในเรื่องกรรมก่อนโดยสังเขปตามควร

ในเรื่องกรรมมีปัญหาที่น่าพิจารณาดังนี้
๑. กรรมคืออะไร
๒. กรรมมีจริงหรือไม่ ผลของกรรมมีจริงหรือไม่
๓. กรรมเก่ามีจริงหรือไม่
๔. กรรมติดตามเราไปได้อย่างไร มองไม่เห็น
๕. ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว จริงหรือไม่
๖. หลักกรรมแก้ปัญหาชีวิตได้อย่างไร

๑. กรรมคืออะไร
กรรมคือการกระทำ เป็นคำกลางๆ ถ้าทำดีเรียกว่า กุศลกรรม ถ้าทำชั่วเรียกว่า อกุศลกรรม ถ้าทำเป็นกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่วเรียกว่า อัพยากตกรรม คำว่า กรรม หรือกัมมเป็นภาษาทางพระพุทธศาสนา ส่วนคำว่า กระทำเป็นคำไทย และเป็นคำแปลของคำว่า กรรม หรือกัมมนั้น คำว่า กรรม มาจากภาษาสันสกฤต คำว่า กัมม มาจากภาษาบาลี เรานำภาของเขามาใช้เป็นภาษาไทย

๒. กรรมมีจริงหรือไม่
ถ้าสงสัยเรื่องนี้ก็ควรคิดว่า การกระทำมีหรือไม่ เช่น การกระทำทางกาย เป็นต้นว่า การเขียนหนังสือ การกระทำทางวาคือ พูด การทำทำทางใจคือ คิด เหล่านี้มีหรือไม่ ถ้ายอมรับว่ามีก็เป็นอันยอมรับว่า กรรมนั้นมีจริง

กรรมมีผลจริงหรือไม่
ขอให้คิดดูว่าเมื่อทำเหตุแล้วผลจะมีหรือไม่ เมื่อจับไฟ(อันเป็นเหตุ) ก็ต้องร้อนมือ(อันเป็นผล) เราอ่านหนังสือออกเพราะเหตุคือ การเรียน อย่างนี้จริงหรือไม่ ถ้ายอมรับว่าจริงก็เป็นอันยอมรับว่ากรรมมีผลจริง

๓. กรรมเก่ามีจริงหรือไม่ โดยเฉพาะกรรมในชาติก่อน
ข้อนี้มีตัวอย่างให้เห็นอยู่รอบตัว แล้วแต่ว่าเราจะดูหรือไม่ก็เท่านั้น เช่น คนเกิดมาไม่เหมือนกัน บางคนเกิดมาพิการ บางคนไม่พิการ บางคนพอเกิดมาก็ตาย บางคนอยู่จนเบื่อทั้งๆ ที่อ่อนแอ บางคนเป็นใบ้ บางคนอายุ ๖ ขวบพูดได้ ๖ ภาษา บางคนปัญญาอ่อน บางคนสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พี่น้องท้องเดียวกัน พิมพ์เดียวกัน ต่อให้เป็นฝาแฝดก็ไม่เหมือนกัน ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ที่ปรากฏผลอย่างนี้ แสดงว่าต้องมีเหตุ เหตุนั้นทางพระพุทธศาสนาแสดงว่า คือ กรรมเก่าแต่ปางก่อนนั่นเองจัดสรร ถ้าทุกคนเป็นของใหม่ คนทุกคนก็ต้องเหมือนๆ หรือต่างกันไม่มาก หรือเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากันเป็นทิวแถวแล้ว พระพุทธองค์เองก็ตรัสไว้ดังในปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ความไทยว่า เราเกิดเพราะกรรม(กมฺมโยนิ) เรามีกรรมติดตัวไป(กมฺมพนฺธุ) และตรัสไว้ดังในอปาทาน ขุททกนิกาย ทรงแจ้งให้รู้ว่า การที่พระองค์ได้สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระองค์ต้องบำเพ็ญเหตุคือ บารมีมากเหลือประมาณ มาแต่ชาติก่อนๆ ตลอดจนในชาตินี้ ในอุทาน ขุททกนิกาย ก็ตรัสไว้ว่า เราท่องเที่ยวในชาติภพสังสารวัฏเป็นอเนก

ข้อนี้แสดงว่าที่เป็นอย่างนั้นๆ เริ่มตั้งแต่เกิดมานั้น เพราะเหตุคือ กรรมเก่าแต่ชาติก่อน จะว่าเป็นกรรมในชาตินี้ส่งผลก็ไม่ได้ เพราะตอนเกิดนั้นยังเล็กยังไม่ได้ก่อกรรมทำดีชั่วทางกายวาจาอะไร เราไม่ควรลืมหลักที่ว่า ผลในปัจจุบันย่อมแสดงเหตุในอดีต ข้อนี้ย่อมเป็นที่รับรองกันอยู่แล้ว พระอุโบสถวัดพระแก้วยังมั่นคงไม่พังจนปัจจุบันนี้ เราก็รู้ว่าเพราะเหตุคือ ก่อสร้างดีทั้งๆ ที่เราเกิดไม่ทันเห็นการก่อสร้างนั้น เห็นแต่ผลของเหตุคือ ความคงอยู่ของวัดพระแก้ว ผลย่อมแสดงเหตุแม้ที่มองไม่เห็นอย่างนี้ ถ้าจะว่าเป็นเพราะบังเอิญ ก็ควรคิดว่า บังเอิญนั้นควรใช้เมื่อยังหาเหตุผลยังไม่ได้ ก็นี่มีเหตุคือ กรรมแล้วก็ควรงดใช้

การกระทำในปัจจุบัน เรียกว่า กรรมในปัจจุบัน การกระทำในวินาทีที่แล้วมา นาที ชั่วโมง วัน เดือน ปี ที่แล้วมา เรียกว่า กรรมเก่า หรืออดีตกรรม และวันนี้ก็คือ พรุ่งนี้ของเมื่อวานนี้ วันซืนนี้ก็คือเมื่อวานนี้ของเมื่อวานนี้ ชาติที่แล้วมาก็เป็นชาติปางก่อนของชาตินี้ ชาตินี้ก็คือชาติหน้าของชาติที่แล้วมา การกระทำในชาติที่แล้วมาจึงเป็นการกระทำหรือกรรมแต่ปางก่อน

เรื่องกรรมเก่ากรรมใหม่นี้ อาจจำกัดความโดยกำหนดเอาชาติก่อนชาตินี้เป็นหลักดังนี้คือ กรรมที่ทำไว้ในชาติปางก่อนเป็นกรรมเก่า กรรมที่ทำในชาตินี้เป็นกรรมใหม่ กรรมทั้งสองนี้ย่อมอาศัยกันและกัน เช่น เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบวชแล้วทรงบำเพ็ญเพียร เพื่อบรรลุโมกขธรรม และทรงประสบความสำเร็จ คนอื่นออกบวชบำเพ็ญเพียรแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้เพราะกรรมเก่าคือ พระบารมีที่ทรงบำเพ็ญไว้แต่ชาติปางก่อนมีมากอย่างยิ่ง จึงทำให้ประสบความสำเร็จ กรรมเก่าคือ บารมีดังกล่าว และกรรมใหม่คือ การบำเพ็ญเพียร ต่างอาศัยกันอย่างนี้ แต่ว่าการทำกรรมใหม่โดยไม่เกี่ยวกับกรรมเก่าก็มีอยู่มากเหมือนกัน มิใช่ต้องเกี่ยวกับกรรมเก่าไปทุกอย่าง

มีเรื่องน่าคิดอยู่คือ พระพุทธองค์ตรัสไว้ในติกนิบาตร อังคุตตรนิกาย ความไทยว่า ผู้มีวาทะต่อไปนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ คือ

๑. วาทะว่า สิ่งต่างๆ มีขึ้นเป็นขึ้นเพราะมีกรรมเก่าเป็นเหตุทั้งหมดอย่างเดียว(ปุพฺเพกตเหตุกวาท)

๒. วาทะว่า สิ่งต่างๆ มีขึ้นเป็นขึ้นเพราะมีการสร้างของพระผู้ยิ่งใหญ่เป็นเหตุ(อิสฺสรนิมฺมานเหตุกวาท)

๓. วาทะว่า สิ่งต่างๆ มีขึ้นเป็นขึ้นเอง หาเหตุหาปัจจัยมิได้(อเหตุกปจฺจยวาท)

ในข้อที่๑ อาจมีคนสงสัยว่า ทำไมจึงเป็นมิจฉาทิฏฐิ ที่เป็นอย่างนั้นเพราะถือว่า ทุกอย่างมีขึ้นเพราะกรรมเก่าอย่างเดียว แต่ตามหลักของพระพุทธศาสนาถือว่า การทำกรรมใหม่นั้น เพราะกรรมเก่าส่งให้ทำก็มี ที่ทำใหม่โดยมิได้เกี่ยวกับกรรมเก่าก็มี ดังนั้นการถืออย่างข้อ ๑ จึงเป็นการเห็นผิด

ในอภิธัมมสังคณี ท่านกล่าวถึงกิเลส กรรม และผลของกรรม(วิบาก) กิเลสทำให้มีการกระทำ คือ กรรม เมื่อมีการกระทำก็มีผลของการกระทำ และผลนั้นก่อให้เกิดกิเลสอีก กิเลสก่อให้เกิดกรรมอีก วนเวียนกันอยู่อย่างนี้ กิเลสแม้หมดแล้ว แต่ถ้าคนผู้หมดกิเลสนั้นยังไม่ดับ(ตาย) ก็ยังคงมีการกระทำคือ กรรมอยู่ กรรมจึงเป็นเรื่องยืดเยื้อ เมื่อผู้นั้นดับแล้ว ทุกอย่างก็ยุติ ดังนั้น เมื่อกล่าวว่าคนเกิดเพราะกรรม หรือกิเลสจึงได้ทั้งนั้น ที่กล่าวดังนี้ เพื่อแก้ความข้องใจของบางท่านที่อาจคิดว่า คนเกิดเพราะกิเลส หรือเพราะกรรม

ในอภิธัมมัตถสังคหะ ท่านกล่าวถึง
ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม คือ กรรมให้ผลในชาตินี้ หรือให้ผลทันตา

อุปปัชชเวทนียกรรม คือกรรมให้ผลในระยะใกล้ คือชาติต่อไป

อปราปรเวทนียกรรม คือกรรมให้ผลในชาติต่อๆ ไป

และถ้าจะพูดไปแล้ว ผลของกรรมย่อมเกิดจากอดีตกรรมคือ กรรมเก่าทั้งนั้น ต่างแต่ว่าอดีตหรือเก่าระยะสั้น หรือระยะยาวเท่านั้น เมื่อระยะสั้นมีได้ ระยะยาวก็มีได้ เช่น เราจับไฟรู้สึกร้อน ความรู้สึกร้อนเป็นผลของการกระทำคือ จับไฟ และเกิดขึ้นภายหลังการจับในระยะแรก ดังนั้นการจับไฟในระยะแรกผ่านแล้วเป็นอดีตแล้ว จึงเกิดรู้สึกร้อน ด้วยเหตุดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ผลย่อมเกิดจากอดีตกรรมทั้งนั้น จะเกิดพร้อมกันไม่ได้

เมื่อพูดถึงเรื่องกรรมเก่า ก็มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องตายแล้วเกิดอีก หรือตายแล้วสูญ ซึ่งทางพระพุทธศาสนาแสดงว่า ถ้ายังมีเหตุ คือกิเลส ก็ต้องเกิด คือ มีชาติอีก ถ้าสิ้นเหตุ คือหมดกิเลส ก็สิ้นการเกิดใหม่อีก การเกิดที่สิ้นเหตุนั้น เป็นการเกิดครั้งสุดท้าย ดังในตอนท้ายของธัมมจักกัปวัตตนสูตร ในมหาขันธกมหาวรรค ความไทยว่า การเกิดครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย บัดนี้การเกิดใหม่ไม่มี(อยมฺนติมา ชาติ นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว) เรื่องนี้ในพระไตรปิฎกมีมาก แม้แต่เพียงในมหาวรรคทีฆนิกาย ซึ่งมีพระสูตรอยู่ในวรรคนี้ ๑๐ สูตร ก็มีกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้อย่างน้อย ๓ สูตรแล้ว เช่น มหาปทานสูตร อันกล่าวถึงชาติก่อนๆ ของพระพุทธเจ้าเป็นต้น มหานิทานสูตร อันว่าด้วยปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น เรื่องปฏิจจสมุปบาท เป็นเรื่องเหตุผลของการเกิดการดับ ถ้ามีเหตุคือ กิเลส ก็ยังต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ตลอดไป ถ้าสิ้นเหตุ การเกิดครั้งนั้นก็เป็นครั้งสุดท้าย อีกสูตรหนึ่งคือ ปายาสิราชัญญสูตร สูตรนี้ พูดตรงทีเดียวถึงเรื่องตายแล้วเกิด ตายแล้วสูญ มีเรื่องโต้กันระหว่างพระกุมารกัสสปเถระ กับพระเจ้าปายาสิผู้มีความเห็นว่าตายแล้วสูญไม่เกิดอีกอันเป็นมิจฉาทิฏฐิ เพียงวรรคเดียวก็ยังมีการกล่าวเรื่องนี้ไว้ถึงอย่างน้อย ๓ สูตร เพราะฉะนั้น ใครจะเชื่อ หรือไม่เชื่อก็เป็นสิทธิของแต่ละคน แต่ควรคำนึงอย่างหนึ่งว่า เมื่อจะต้องเชื่อ ระหว่างผู้มีกิเลสกับผู้ไร้กิเลส เราควรเชื่อใคร หรือระหว่างพระพุทธเจ้ากับคนอื่น ถ้าเราจะเชื่อ หรือจะถือมติควรจะเชื่อหรือถือมติของใคร เมื่อเราเองยังไม่รู้จริง

อีกอย่างหนึ่ง ถ้าคนตายแล้วศูนย์หมด ก็ไม่ต้องมีพระพุทธเจ้า เจ้าชายสิทธัตถะทรงสละพระญาติ ราชสมบัติ และฆราวาสสุข ออกบวช ต้องทนทุกข์ทนยากจนแทบจะสิ้นพระชนม์ ก็เพื่อแสวงหาธรรมเป็นเครื่องพ้นจากกิเลส อันเป็นเหตุให้เกิดอีก จนพบจนสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าทุกคนตายแล้วไม่เกิดอีก พระองค์ก็ทรงอยู่ครองเรือนเป็นพระเจ้าจักรพรรดิเสวยสุขในราชสมบัติ สิ้นพระชนม์แล้วก็แล้วกันไม่เกิดอีก อย่างนี้สบายกว่า ไม่ต้องไปบวชไปทนทุกข์ยาก ไม่ต้องไปแสวงหาธรรมเป็นเครื่องพ้นความเกิดให้ลำบาก ไม่ต้องมีพระพุทธเจ้าทรงเที่ยวสอนให้เขาพยายามบำเพ็ญธรรมเพื่อพ้นความเกิดให้ยุ่งยาก

ความเห็นนี้ ผู้ใดจะเห็นด้วยหรือไม่นั้น ย่อมเป็นสิทธิของแต่ละคน

๔. กรรมติดตามไปได้อย่างไร มองไม่เห็น
กรรมย่อมติดตามสัตว์ไปเหมือนลิ่มสลักรถติดไปกับรถ ในขณะแล่น หรือเหมือนพลังที่ติดไปกับลูกบอล และผลักดันลูกบอลให้ลอยไปในอากาศ หรือกลิ้งไปในสนาม เพราะการเตะของคน พลังนั้นเกิดจากการเตะ แต่ก็มองไม่เห็นพลังนั้น ทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าติดไปกับลูกบอล หรือดุจความร้อนที่ติดไปกับไฟ หรือดุจความผิดที่ติดตัวคนฆ่าเขาตายแล้วหนีไป โทษที่ติดตัวไปนั้นมองไม่เห็น แต่รู้ว่ามี

สิ่งที่มองไม่เห็นจะปฏิเสธว่าไม่มีเสียทั้งหมดนั้นไม่ได้ คลื่นวิทยุมีอยู่ทั่วไป แต่ก็มองไม่เห็น

๕. ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วจริงหรือไม่
ข้อนี้เป็นความจริง ความเข้าใจผิด หรือความสงสัยในเรื่องนี้ หรือในเรื่องตรงกันข้าม คือทำชั่วได้ดี ทำดีได้ชั่วนั้น ได้เกิดมีมาแล้วตั้งแต่สมัยพุทธกาล และพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงแก้ความเข้าใจผิดนี้ไว้ในมหากัมมวิภังคสูตร อุปริปัณณาสก์ มัชฌิมนิกาย และในที่นั้นได้สรุปว่า อตฺถิ กมฺมํ แปลว่า กรรมชั่วครอบงำกรรมชั่วให้ผล(ก่อน)ก็มี กรรมชั่วครอบงำกรรมดีให้ผล(ก่อน)ก็มี กรรมดีครอบงำกรรมดีให้ผล(ก่อน)ก็มี กรรมดีครอบงำกรรมชั่วให้ผล(ก่อน)ก็มี คือแล้วแต่กรรมหนักกรรมเบามากน้อย หรือแล้วแต่จังหวะ กรรมใดแรงกว่า หนักกว่า หรือได้จังหวะกว่า กรรมนั้นก็ให้ผลก่อน ดุจดังคนพายเรือ จ้ำอย่างแรงจนเรือแล่นพุ่งไปข้างหน้าอย่างไม่ถอยหลังแน่ เพราะพลังของการพายตอนแรกแรงกว่า

อีกอย่างหนึ่ง คนที่พูดว่า คนทำดีกลับได้ชั่ว คนทำชั่วกลับได้ดีนั้น เหมือนคนอ่านหนังสือไม่จบ อ่านได้ครึ่งเล่มก็นำมาพูด นำมาตัดสินแล้ว ขอให้อ่านให้จบ ให้ดูคนๆ นั้นไปให้ตลอดก็จะรู้เองว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วจริง อย่างที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ และปริมาณของกรรมดีชั่วนั้นก็ดุจเกลือกับน้ำ เกลือกำมือหนึ่ง ใส่น้ำครึ่งแก้ น้ำก็เค็ม ถ้าใส่ในน้ำสิบถัง น้ำก็ไม่เค็ม ทั้งที่เกลือก็มีเท่าเดิม

คนที่พูดว่า ทำดีไม่ได้ดีนั้น มักเป็นคนทำดี เพื่อหวังผลตอบแทนส่วนตัว มิได้ทำความดีเพื่อความดี พอไม่ได้ดังหวังก็ผิดหวัง เลยกล่าวอย่างนั้น

๖. หลักกรรมแก้ปัญหาชีวิตได้อย่างไร
คนทั่วไปย่อมมีปัญหาชีวิตที่จะต้องแก้ เมื่อแก้ไม่ตก ถ้าไม่มีหลักสำหรับคิด หรือไม่มีทางออก ถ้าเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ปล่อยๆ ไป แต่ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ ก็มักทำลายตนเองด้วยวิธีการต่างๆ อย่างน้อยก็ด้วยการดื่มเหล้า ซึ่งเป็นการทำลายสุขภาพของตนเอง หรือมักทำร้ายหรือทำลายผู้อื่น อันอาจทำให้เกิดเรื่องร้ายแรงต่อๆ ไปได้ แต่ถ้าจนปัญญา แก้ไม่ตก ก็นึกปลงใจเสียว่าเป็นกรรมของเราของเขา หรือเป็นกุศลกรรมของเขา เป็นอกุศลกรรมของเรา หรือเป็นอกุศลกรรมทั้งของเขาทั้งของเรา การใช้หลักกรรมเป็นทางออก หรือเป็นทางแก้ปัญหาชีวิตขั้นสุดท้ายอย่างนี้ย่อมทำให้เบาใจ ค่อยสบายใจขึ้น และไม่ไปทำลายตนเอง ไม่ทำร้ายและทำลายคนอื่นด้วย เรื่องร้ายทั้งหลายก็จะยุติ

คนที่ใช้หลักกรรมเป็นเครื่องแก้ปัญหาชีวิตขั้นสุดท้าย และได้ผลดีนั้น ขอให้ดูคนไทยเราก็แล้วกันเป็นตัวอย่าง

ในบางลัทธิศาสนาถือว่า คนจะดีจะชั่วอยู่ที่พรหมลิขิต กล่าวคือแล้วแต่พระเจ้า คือพระพรหมจะเป็นผู้กำหนด ใครจะแก้ไขไม่ได้ นอกจากพระพรหม ส่วนในพระพุทธศาสนาถือว่า คนจะดีจะชั่วอยู่ที่ตัวของตัวเองเป็นสำคัญ ผู้อื่นสิ่งอื่นเป็นส่วนประกอบ

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

มลทินที่ทำให้หมองและสิ่งที่ใจต้องระวัง

พระพุทธองค์ทรงนำเรื่องที่เรารู้ๆ มาตรัสสอน เพราะจะได้ทำให้ผู้ฟัง ฟังง่าย เข้าใจง่าย พระองค์ไม่ทรงสนพระทัยว่า คนฟังเขาจะว่านำเรื่องที่รู้อยู่แล้วมาสอน แล้วเขาจะไม่สนใจฟัง เพราะทรงมุ่งประโยชน์คือ เขาจะได้เข้าใจง่าย เพราะทรงรู้อยู่แล้วว่า เขาได้แต่รู้ แต่รู้ไม่จริง หรือไม่ได้คิด ดังนั้นเรื่องที่ทรงนำมาสอน บางครั้งก็เป็นเรื่องธรรมดาจริงๆ เช่น เรื่องฝน หนู งู ม้า ช้าง น้ำ ดิน ไฟ ลม เป็นต้น ทรงนำมาเป็นเครื่องประกอบกับธรรมแล้วทรงสอน โดยที่สุดมลทินของร่างกาย(เหงื่อไคล) ก็ทรงนำมาประกอบในการสอนได้ เช่น ตรัสไว้ในธรรมบท ขุททกนิกาย ความไทยว่า

๑. การไม่ท่อง ไม่ทบทวน เป็นมลทินของความรู้(มนต์)
๒. การไม่ขยันเช็ดถูดูแล เป็นมลทินของเรือน
๓. ความเกียจคร้าน(ชำระ) เป็นมลทินของผิวพรรณ
๔. ความประมาท เป็นมลทินของผู้รักษา
๕. ความนอกใจ เป็นมลทินของหญิง
๖. ความตระหนี่ เป็นมลทินของผู้ให้
๗. บาปธรรม เป็นมลทินของสัตว์
๘. อวิชชา เป็นบรมมลทิน

ไสยา
แม้แต่การนอนที่เป็นเรื่องใครๆ ก็ต้องรู้ พระองค์ก็ทรงนำมาสอนไว้ว่า การนอนมี ๔ อย่างคือ

๑. เปตไสยา นอนอย่างเปรต หรือคนตาย คือนอนหงาย

๒. กามโภคีไสยา นอนอย่างชาวบ้านทั่วไป คือนอนตะแคงซ้าย และนอนคว่ำ

๓. สีหไสยา นอนอย่างราชสีห์ คือนอนตะแคงขวา

๔. ตถาคตไสยา นอนอย่างพระตถาคต คือนอนตะแคงขวา ซ้อนเท้า มือขวาหนุนศีรษะ

สิ่งที่ใจต้องระวัง
สิ่งที่ต้องใช้สติสัมปชัญญะคอยกำกับใจอยู่เสมอมีอยู่มากมาย สิ่งเหล่านี้เป็นอารมณ์ของใจ ถ้าไม่ใช้สติสัมปชัญญะกำกับ หรือมีสติไม่ทันอารมณ์เหล่านี้แล้ว ก็จะทำให้เกิดเรื่องราวใหญ่โตได้ หรืออย่างน้อยก็ทำให้เศร้าหมอง ดังนั้น จึงต้องใช้สติสำรวจดูใจว่า มีอารมณ์เหล่านี้อยู่ในใจหรือเปล่าอยู่เสมอๆ เพื่อความปลอดโปร่งทางใจ สิ่งที่ควรระวังเหล่านั้น ทางพระพุทธศาสนาได้แสดงไว้จำนวนหนึ่งเรียกว่า อุปกิเลส ดังปรากฏในมูลปัณณาสก์ มัชฌิมนิกาย ความไทยมีดังนี้

๑. อยากได้ของเขา
๒. คิดร้ายต่อเขา
๓. โกรธ
๔. ผูกใจเจ็บ
๕. ลบหลู่คุณท่าน
๖. ตีเสมอ
๗. ริษยา เห็นคนอื่นดี ทนอยู่ไม่ได้
๘. ตระหนี่
๙. เจ้าเล่ห์
๑๐. โอ้อวด
๑๑. ดื้อด้าน ดึงดัน
๑๒. แข่งดี
๑๓. ถือตัว
๑๔. ดูหมิ่นความสามารถของตน และดูหมิ่นผู้อื่น
๑๕. มัวเมา งมงาย
๑๖. เลินเล่อ ลืมตัว

สิ่งเหล่านี้ควรระหวังอย่าให้เกิดกับใจ จะทำให้เสียงานเสียการ ผู้มีอารมณ์ร้ายเหล่านี้ ถ้าเป็นฆราวาสก็เข้ากับใครเขาได้ยาก เมื่อเข้ากับใครเขายาก ก็หาพวกพ้องได้ยาก ทำให้ลำบากต่อการดำเนินชีวิต ถ้าเป็นบรรพชิตก็จะเป็นคนมีใจห่างเหินจากความเป็นบรรพชิต สิ่งเหล่านี้จะเป็นเครื่องกั้นคุณงามความดีทางใจ และดึงใจให้ตกต่ำ เครื่องกั้นสิ่งเหล่านี้ คือ สติ สัมปชัญญะ ดังนั้น จึงต้องใช้สติสัมปชัญญะคอยระวังสำรวจดูใจอยู่เสมอ

วิธีแก้ง่วง
ความง่วงจัดเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการทำงาน ความง่วงอาจเกิดขึ้นเพราะเหตุหลายประการ เช่น เพราะร่างกายอ่อนเพลีย กินมากเกินไป กินยาง่วง เป็นต้น สำหรับผู้ที่ต้องการไม่ให้ง่วงแล้วเกิดง่วงขึ้น ทางพระพุทธศาสนาสอนวิธีแก้ง่วงไว้ดังนี้

๑. เมื่อคิดสิ่งใดในขณะง่วง ให้สนใจในสิ่งนั้นให้มากยิ่งขึ้น

๒. ถ้ายังง่วงอยู่ ก็พิจารณา ตรึกตรอง สิ่งที่ตนเคยฟังเคยเรียนมาให้มากๆ

๓. ถ้ายังง่วงอยู่ ก็ให้ท่องเรื่องที่ตนได้ยิน หรือเรียนมา

๔. ถ้ายังง่วงอยู่ พึงยอนหูทั้งสองข้าง ตาก็จะสว่าง

๕. ถ้ายังง่วงอยู่ ให้ลุกขึ้นยืน ใช้น้ำลูบหน้า มองดูทิศดูดาว

๖. ถ้ายังง่วงอยู่ พึงทำใจว่าสว่างไสว

๗. ถ้ายังง่วงอยู่ จงอธิษฐานเดินจงกรมกลับไปกลับมา

พระพุทธศาสนากับความเป็นทาส
ในประเทศไทยได้ประกาศเลิกทาสเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๘ แต่ในพระพุทธศาสนาไม่เห็นด้วยกับความเป็นทาสมานานกว่า ๒๕๐๐ ปีมาแล้ว ดังมีข้อความปรากฏในจุลวรรคแห่งวินัย ความไทยว่า ทรงห้ามมิให้ภิกษุมีทาสไว้ใช้สอย

ในระเบียบของการบรรพชาอุปสมบทก็ทรงห้ามมิให้รับคนเป็นทาสเข้ามาบวชเป็นภิกษุ ดังมีคำถามว่า ภุชิสฺโสสิ แปลว่า เจ้าเป็นไทมิใช่ทาสหรือ

ใจของ ๕ อย่าง ที่พระพุทธองค์ทรงห้ามมิให้ผู้นับถือพระพุทธศาสนาขาย ก็มีอยู่ข้อหนึ่งคือ ห้ามมิให้ขายคน(ทาส)

ในมูลปัณณาสก์ มัชฌิมนิกาย และในทสกนิบาตรอังคุตตรนิกาย พระพุทธองค์ทรงแสดงว่านักบวชคือ บรรพชิต ต้องไม่รับทาสหญิง-ชาย ที่มีผู้มอบให้

พระพุทธองค์ทรงขัดขวางการนำบุคคลมาเป็นทาสด้วยวิธีการเท่าที่พระองค์จะทรงทำได้ในขอบเขตแห่งพุทธจักรดังนี้ และที่สำคัญยิ่งคือ ทรงสอนให้คนอย่าเป็นทาสของกิเลส

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

ที่พึ่งและสิ่งที่เป็นมงคลสำหรับชีวิต

สิ่งที่เป็นที่พึ่งที่อาศัยมีหลายอย่าง เช่น พระรัตนตรัย และที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้อีกอย่างหนึ่ง ที่ปรากฏในทสกนิบาติ อังคุตตรนิกาย ความไทยว่า

๑. ความประพฤติดี ไม่ฆ่า ไม่ลักเขา เป็นต้น
๒. ความเป็นผู้มีความรู้ดี
๓. ความมีเพื่อนดี
๔. ความเป็นผู้ว่าง่าย เป็นที่น่าเมตตาของผู้ใหญ่
๕. ความเป็นคนขยันในการทำธุรกิจทั้งของตน ทั้งของผู้อื่น
๖. ความเป็นผู้พอใจในกุศลธรรม
๗. ความพากเพียรละความชั่ว สร้างความดี
๘. พอใจในสิ่งที่ได้มาโดยชอบธรรม ไม่โลภอยากได้ของใคร รู้จักพอ
๙. มีสติ สัมปชัญญะ
๑๐. ฉลาดรอบรู้ในสิ่งต่างๆ

เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่าแต่ละอย่างๆ ใช้เป็นที่พึ่งที่อาศัย เพื่อความสุขในชีวิตได้ทั้งนั้น เช่น มีความประพฤติดี ไม่ฆ่าเขา ไม่ลักเขา เป็นต้น เมื่อเป็นคนดีอย่างนั้นก็ไม่เป็นอาชญากร เมื่อไม่เป็นอาชญากร ก็ไม่ต้องเดือดร้อน เพราะไม่มีความผิดติดตัว หรือไม่ต้องถูกทำโทษ และเป็นคนมีอิสระ ที่จะทำมาหาเลี้ยงชีพได้อย่างสบาย มีคนไว้ใจในความประพฤติ ทำให้ครองชีพสะดวก ความประพฤติดี จึงนับว่าเป็นที่พึ่งของชีวิตได้อย่างหนึ่ง

สิ่งที่เป็นมงคลสำหรับชีวิต
ทุกคนย่อมต้องการสิ่งที่เป็นสิริมงคลต่อชีวิตของตน และพวกพ้องของตนทั้งนั้น สิ่งที่เป็นมงคลนั้น พระพุทธองค์ตรัสไว้ในมงคลสูตร ในขุททกปาฐะ ขุททกนิกาย ซึ่งมีอยู่ ๓๘ ประการ ความไทยมีดังนี้

๑. ไม่คบคนชั่ว
๒. คบคนดีเป็นเพื่อน
๓. ยกยอ่งบูชาผู้ที่ควรยกย่องบูชา
๔. อยู่ในที่ที่ดีมีผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีการศึกษาดี ที่เลี้ยงชีพสะดวก ที่มีคนดีอาศัยอยู่มาก
๕. มีปุพเพกตปุญญตา คือ มีคุณความดีทำไว้แต่ปางก่อน
๖. การตั้งตัวไว้ดี ไม่ประพฤติเสียหาย ไม่เห็นผิดเป็นชอบ
๗. ความเป็นผู้คงแก่เรียน
๘. ความเป็นผู้มีศิลปะในการทำงาน
๙. ความมีระเบียบวินัย คือ ศีล หรือเป็นคนมีความประพฤติดี
๑๐. มีวาจาเป็นสุภาษิต
๑๑. เลี้ยงดูพ่อแม่
๑๒. สงเคราะห์ลูกเมีย
๑๓. มีงานไม่อากูล คือไม่ปล่อยงานให้คั่งค้าง
๑๔. ให้สิ่งที่ควรให้แก่ผู้อื่นเป็นการอนุเคราะห์เขา
๑๕. ประพฤติกุศลธรรม เช่น กาย วจี มโนสุจริต มีไม่ฆ่าใคร เป็นต้น
๑๖. สงเคราะห์ญาติ และผู้เกี่ยวข้อง
๑๗. ทำการงานที่ไร้โทษ คือ ที่เป็นสุจริตกรรม ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน
๑๘. งดการกระทำชั่ว
๑๙. เว้นจากการทำความชั่ว เช่น กาย วจี มโนทุจริต
๒๐. เว้นขาดจากการดื่ม และเสพของเสพติด
๒๑. มีความไม่ประมาทในการปฏิบัติธรรม
๒๒. เคารพนับถือผู้ที่ควรเคารพนับถือ
๒๓. ไม่เบ่ง ไม่เย่อหยิ่ง
๒๔. สันโดษ พอใจในสิ่งที่ได้มาโดยสุจริต ไม่โลภ อยากได้ของใคร รู้จักพอ
๒๕. มีความกตัญญูกตเวที
๒๖. ฟังธรรมตามกาลอันสมควร
๒๗. อดทน
๒๘. ว่าง่าย ไม่ดื้อดึงดันด้วยอารมณ์เอาชนะ
๒๙. การได้พบเห็นสมณะผู้สงบ ผู้เป็นบุคคลตัวอย่างแห่งความดี
๓๐. การสนทนาธรรม หรือเรื่องที่มีสารประโยชน์ตามกาลอันควร
๓๑. มีความเพียร
๓๒. การประพฤติพรหมจรรย์
๓๓. การเห็นแจ้งอริยสัจ ๔
๓๔. การทำพระนิพพานให้แจ่มแจ้งแก่ตน
๓๕. ความมีใจไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรม ๘ มีนินทา สรรเสริญ ได้ เสีย ยกย่อง ไม่ยกย่อง สุข ทุกข์ อันเป็นสิ่งประจำโลก
๓๖. ความไม่เศร้าโศกแห้งใจ
๓๗. ความมีใจปราศจากกิเลสธุลี
๓๘. ความมีใจพ้นจากกิเลส

ใน ๓๘ ประการนี้ คุณธรรมแต่ละอย่างล้วนเป็นมงคลชีวิตของผู้ปฏิบัติทั้งนั้น ผู้ต้องการมงคลในชีวิตต้องปฏิบัติเอาเอง ถ้าไม่ปฏิบัติก็ไม่ได้ การที่จะให้มงคลเหล่านี้เข้ามาสู่ตัวเองโดยมิได้ปฏิบัติ แต่อ้อนวอนให้มาสู่ตัวอย่างนี้ มิใช่ทางที่จะเป็นไปได้

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

การกลับตัวกลับใจและการรู้จักโทษตัวเอง

คนทั่วไปมักประสบความพลาดหวัง หรือผิดพลาดในชีวิตอย่างน้อยก็ครั้งหนึ่ง ด้วยมีเจตนาหรือไม่ก็ตาม บางคนยอมเสียคนไปเลย เพราะคิดว่า ไหนๆ ก็เสียคนไปแล้วก็ปล่อยเลยตามเลย ดุจคนตกส้วม นึกว่าไหนก็ตกลงมาแล้วก็ยอมตายคาส้วม อย่าตะกายขึ้นมาจากส้วมเลย การกระทำอย่างนี้เรียกว่า ตอบแทนความผิดด้วยความผิด แต่บางคนคิดกลับตัว โดยถือเอาความผิดพลาดครั้งนั้นๆ เป็นบทเรียน แล้วเริ่มชีวิตใหม่ในทางที่ดี คนอย่างนี้ย่อมประสบความสำเร็จในชีวิต เมื่อประสบความสำเร็จอย่างนี้แล้ว ก็ไม่มีใครเขามาคอยจ้องจับผิดว่าคนนี้เคยเสียคนมาแล้วอย่างนั้นๆ เพราะเขาลืมแล้ว แต่เจ้าตัวกลับนึกอยู่เสมอว่าเขาจะยังนึกรังเกียจอยู่ แต่บางคนกลับชมคนผู้กลับตัวได้เสียอีกว่า เป็นคนมีใจเข้มแข็งกลับตัวได้

ในกรณีอย่างนี้ พระพุทธองค์ก็เคยทรงประสบความผิดพลาดมาแล้ว ด้วยการบำเพ็ญทุกรกิริยาทรมานตน เพื่อหาโมกขธรรม เมื่อไม่ทรงประสบความสำเร็จด้วยวิธีนั้น ก็ทรงเลิกวิธีนั้นและกลับมาทรงปฏิบัติด้วยวิธีการใหม่ โดยถือเอาวิธีการเก่าเป็นบทเรียนว่า ไม่เป็นไปเพื่อให้ถึงความพ้นกิเลสได้ เมื่อทรงทราบว่าพลาดแล้วก็กลับปฏิบัติด้วยวิธีการใหม่อีก แล้วในที่สุดก็ทรงประสบความสำเร็จ ในเรื่องอย่างนี้พระพุทธองค์ตรัสสรรเสริญไว้ดังในธรรมบท ขุททกนิกาย ความไทยว่า ผู้ใดเคยผิดพลาดประมาทมาก่อน ภายหลังกลับตัวได้ ผู้นั้นย่อมทำชีวิต(โลก) ให้สว่างเหมือนพระจันทร์พ้นจากเมฆหมอก ดังนั้นผู้ที่เคยประสบความผิดพลาดในชีวิตมาก่อนก็ไม่ควรท้อใจ ควรกลับตัวกลับใจต่อสู้กับชีวิตใหม่ด้วยสุจริตกรรม ก็จะพบความสำเร็จในชีวิต

การรู้จักโทษตัวเอง
คนโดยมากมักคอยโทษผู้อื่น มักเห็นแต่โทษของผู้อื่น มักเข้าข้างตัว อย่างที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ ดังมีปรากฏในพระธรรมบท ขุททกนิกาย ความไทยว่า โทษของคนอื่นเห็นง่าย โทษของตนเองเห็นยาก

และตรัสว่า อาสวะย่อมเจริญสำหรับคนที่เห็นแต่โทษของผู้อื่น คอยเพ่งโทษเขาเป็นนิตย์ คนอย่างนี้ย่อมห่างไกลจากธรรมที่จะให้สิ้นอาสวะ

พระพุทธองค์ทรงสอนให้พิจารณาตนเอง ท้วงติงตนเองด้วยพุทธภาษิตว่า ควรท้วงติงตนเอง ควรพิจารณาดูความผิดความถูกด้วยตนเอง

แม้เรื่องหลักกรรมก็เป็นเรื่องพิจารณาตัวเอง หรือให้รู้จักตัวเอง ไม่เข้าข้างตัวเอง แล้วจะได้แก้ไขปรับปรุงความเสียของตนให้ดี และส่งเสริมความดีของตนให้ดียิ่งๆ ขึ้น ทรงสอนไม่ให้ลืมตัว เมื่อตัวมีฐานะสูงขึ้น เพราะเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนอะไร(เมื่อสิ่งนั้นยังไม่เป็นอริยมรรค อริยผล) ดังที่ตรัสไว้ ความไทยว่า คนไม่ควรลืมตน และว่า สักการะ ลาภยศ ย่อมทำลายบุรุษเลว

เมื่อรู้จักโทษตัวเอง เรื่องที่จะยืดยาวก็จะสั้น และทำให้เป็นผลดีแก่ตน ข้อนี้เป็นวิธีหนึ่งสำหรับปรับปรุงตัวเอง

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

การต่อสู้และความชนะ

การต่อสู้
คนเกิดมาต้องต่อสู้กับสิ่งต่างๆ เพื่อความอยู่รอดบ้าง เพื่อความชนะแล้วได้สุขทางใจบ้าง แต่ทางพระพุทธศาสนาสอนให้ตู่สู้กับตัวเอง และต่อสู้กับความจริง คือ

ตัวเอง ในที่นี้หมายถึง กิเลส หรืออารมณ์ของตน การต่อสู้เพื่อความชนะนั้น มี ๒ อย่างคือ ชนะชั่วขณะ และชนะตลอดกาล ต่อสู้เพื่อความชนะชั่วขณะ ย่อมต่อสู้ด้วยสติสัมปชัญญะ คือ ความระลึกได้และสำนึกผิดถูก และด้วยขันติ คือความอดทน แต่ถ้าจะต่อสู้ให้ชนะตลอดกาล ก็ต้องต่อสู้ด้วยปัญญา(โยเชถ มารํ ปญฺญาวุเธน พึงต่อสู้กิเลสมารด้วยอาวุธคือปัญญา)

การต่อสู้ความจริง คือ เรื่องเกิดที่ไหน ต่อสู้ที่นั่น เช่น คนกลัวแก่ เจ็บ ตาย เรื่องจึงอยู่ที่แก่ เจ็บ ตาย ซึ่งเป็นความจริงของชีวิต ท่านสอนให้สู้หน้ากับสิ่งที่กลัว คือ สิ่งที่กล่าวแล้วเหล่านี้ ด้วยทำตัวให้ใกล้ชิด โดยคิดบ่อยๆ เช่น คิดว่าเรามีความแก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นได้

หรือใช้มรณานุสสติ คือ คิดถึงความตายเสมอ เพื่อไม่ประมาทในชีวิต

เมื่อเผชิญหน้ากันบ่อยเข้าก็จะกล้าเผชิญหน้า โดยไม่ตกใจหวั่นหวาดกลัวจนเกินไป

หรือความจริงคือโลกธรรม โดยเฉพาะถูกนินทา และถูกด่าถูกว่า ความผิดหวัง เป็นต้น ท่านให้สู้ความจริงนั้นด้วยให้รู้ความจริงและด้วยขันติธรรม ข้อนี้มีเรื่องของพระพุทธองค์เป็นตัวอย่างคือ เมื่อเสด็จไปกรุงโกสัมพี เมื่อพระองค์เสด็จออกบิณฑบาตในวันแรก พระองค์ถูกคนด่ามาก จนพระอานนท์ทนไม่ไหว จึงกราบทูลให้เสด็จหนีไปเมืองอื่น ถ้าที่เมืองนั้นถูกคนด่าอีก ก็หนีไปเมืองอื่นๆ ต่อไปอีก พระพุทธองค์ตรัสว่า เรื่องเกิดที่ไหนก็อยู่สู้ที่นั่น ต้องทนเหมือนช้างเข้าสงคราม ทนต่อลูกศรที่มาจากสี่ทิศ

ความชนะ
ทุกคนต้องการความชนะ ในเรื่องความชนะนี้พระพุทธองค์ตรัสไว้มากเช่นกัน แต่สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงสอนให้เอาชนะให้ได้นั้นคือ ตัวเอง โดยชนะกิเลส หรืออารมณ์ของตน ดังที่ตรัสไว้ในที่หลายแห่ง เป็นต้นว่า ในธรรมบท ขุททกนิกาย ความไทยว่า การชนะตนเองครั้งเดียว ประเสริฐกว่าการชนะสงครามตั้งล้านครั้ง และการชนะตนเองดีที่สุด เพราะการชนะตนเองนั้น ทำให้เรื่องที่ทำท่าจะยาวกลายเป็นสั้น ทำให้เกิดสันติสุข ทั้งแก่ตนเองทั้งแก่ผู้อื่น และตรัสว่า ควรชนะคนโกรธด้วยความไม่โกรธตอบ ควรชนะความชั่วด้วยความดี ควรชนะคนตระหนี่ด้วยการให้ ควรชนะคนพูดเหลวไหลด้วยสัจจวาจา

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา