บทเชื่อมที่ไม่เกี่ยวกับประโยค

บทเชื่อมต่างๆ  บทเชื่อมย่อมทำหน้าที่เชื่อมคำ เชื่อมวลี เชื่อมประโยคต่างๆ หรือเชื่อมระคนกัน แม้ที่สุดเชื่อมความตอนหนึ่งกับอีกตอนหนึ่งให้ติดต่อกันก็ได้ ข้อสำคัญที่นำเรื่องบทเชื่อมมาแสดงนี้ก็เพื่อให้ผู้ศึกษาได้สังเกตได้ว่า บทเชื่อมชนิดไรเกี่ยวกับประโยคและบทเชื่อมชนิดไรไม่เกี่ยวกับประโยค แต่บทเชื่อมที่เกี่ยวกับประโยคนั้นได้อธิบายไว้พร้อมกับชนิดประโยคต่างๆ ข้างต้นแล้ว  ดังนั้นในที่นี้จะได้อธิบายเฉพาะบทเชื่อมที่ไม่เกี่ยวกับประโยคเท่านั้น ดังต่อไปนี้

ตารางบอกสัมพันธ์ประโยคช่อง บทเชื่อม นั้น หาได้กรอกบทเชื่อมทุกชนิดลงในช่องนี้เท่านั้นไม่ และบทเชื่อมที่กรอกลงในช่องนี้ก็ไม่เฉพาะแต่คำสันธานชนิดเดียวเท่านั้นด้วย คือหมายถึงบทต่างๆ ที่ใช้เป็นบทเชื่อมหรือบทปรับปรุงข้อความหรือประโยค ซึ่งไม่เกี่ยวกับส่วนของประโยคตามที่ตีตารางแบ่งไว้แล้วนั้นด้วย จะต้องกรอกลงในช่องบทเชื่อมนี้ทั้งสิ้น ตัวอย่าง-วลี หรือ คำ ที่เป็นพวกอุทาน เช่น อนิจจาเอ๋ย! โอ! ฯลฯ ก็ดี เป็นพวกอาลปน์ (คำร้องเรียก) เช่น คุณพ่อขอรับ! แดง! ฯลฯ ก็ดี เป็นพวกเชื่อมหรือปรับปรุงประโยค เช่น เพราะฉะนั้น จึง แต่ และ ก็ ฯลฯ ก็ดี เหล่านี้ต้องกรอกลงในช่องบทเชื่อมนี้ทั้งนั้น แต่ถ้าบทเชื่อมคำหรือวลีที่เชื่อมกันเข้าเป็นวลี กลุ่มหนึ่งๆ ซึ่งเป็นส่วนย่อยของประโยคก็ต้องกรอกลงในช่องส่วนย่อยของประโยคนั้นๆ หาได้กรอกลงในช่องบทเชื่อมนี้ไม่ เช่นตัวอย่าง “เขาไม่นอนเหนือเตียงหรือฟูก” บท เหนือเตียงหรือฟูก นี้เป็นวลีกลุ่มหนึ่งซึ่งต้องกรอกลงในช่องบทขยายกริยาทั้งหมด ถึงแม้ว่าคำ หรือ จะเป็นสันธาน ก็ไม่ต้องแยกเอามากรอก ในช่องบทเชื่อมนั้น ดังนี้เป็นต้น ดังจะแยกอธิบายเพื่อเป็นที่สังเกตต่อไปนี้

บทเชื่อมคำหรือวลี  ต่อไปนี้จะขอรวบรวมบทเชื่อมต่างๆ ที่ไม่ใช้เชื่อมประโยคมาไว้แห่งเดียวกัน  เพื่อเป็นที่สังเกตในการพิจารณาบทต่างๆ ที่เป็นส่วนของประโยคเป็นข้อใหญ่ เพราะส่วนของประโยคก็มีบทเชื่อมเป็นคำสันธาน เช่น และ กับ หรือ ฯลฯ เชื่อมอยู่เหมือนกัน แต่บางคำก็เอากรอกไว้ในช่องส่วนของประโยค ดังได้อธิบายไว้แล้ว ต่อไปนี้จะได้อธิบายให้ถี่ถ้วนออกไปอีก ดังนี้

(๑) บทเชื่อมที่เป็นบุพบท  ข้อที่มีบุพบทอยู่หน้าคำนาม สรรพนามหรือ กริยาสภาวมาลานั้น ก็เพื่อจะทำหน้าที่เชื่อมกับคำที่อยู่หน้าบุพบทอีกทีหนึ่งเช่นตัวอย่าง เขานอนบนเตียง หรือ เสื้อของฉัน นี้ คือคำ บน เชื่อมคำ นอนกับคำ เตียง ให้ติดต่อกัน และคำ ของ ก็เชื่อมคำ เสื้อ และ ฉัน ให้ติดต่อกัน เป็นต้น แต่บทที่มีบุพบทนำหน้านี้ท่านรวมเรียกว่า บุพบทวลี ซึ่งเชื่อมกับคำใดก็เป็นบทขยายของคำนั้น ถึงคำบุพบทวลีจะนำหน้าวลี เช่น ปีกของนกยางกรอก ดังนี้ บทว่า ของนกยางกรอก ก็เป็นบุพบทวลีขยายคำ ปีก เช่นเดียวกัน  ดังนั้นคำบุพบททั้งสิ้นถึงจะทำหน้าที่เชื่อมคำ หรือ วลีก็จริง แต่ก็ไม่ต้องกรอกไว้ในช่องตารางบทเชื่อม ถ้าเป็นบทขยายของส่วนใด ก็กรอกลงไว้ในช่องบทขยายของส่วนนั้นๆ แต่ถ้าบุพบทวลีซึ่งรวมอยู่ในบทปรับปรุงประโยค  เป็นพวกอุทานหรืออาลปน์ เช่น “อกของกูเอ๋ย!” หรือ “แน่ะ! ลูกรักของพ่อ” ฯลฯ เหล่านี้ไม่เกี่ยวกับส่วนของประโยค ต้องรวมเป็นวลีกรอกลงในช่องบทเชื่อมอย่างวลีอื่นๆ เหมือนกัน

(๒) บทเชื่อมที่เป็นสันธาน  คำสันธานโดยมากมักทำหน้าที่เชื่อมประโยค แต่ที่จริงสันธานไม่เชื่อมประโยคก็มีมากเหมือนกัน ย่อมทำให้เป็นที่สงสัยอยู่มาก จึงควรสังเกตดังต่อไปนี้

คำสันธานซึ่งเชื่อมส่วนสำคัญของประโยค คือเชื่อมบทประธานก็ดี เชื่อมบทกริยา หรือบทวิกัติการกช่วยวิกตรรถกริยา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญแห่งภาคแสดงของประโยคก็ดี ทั้งนี้นับว่าเป็นบทเชื่อมประโยครวม ดังกล่าวแล้ว

ส่วนคำสันธานที่เชื่อมอยู่ในบทอื่นๆ ของประโยค นอกจากบทสำคัญที่กล่าวแล้วนี้ คือ บทขยายประธาน บทขยายกริยา (ยกเว้นบทวิกัติการกช่วยวิกตรรถกริยา) บทกรรมและบทขยายกรรม ทั้งหมดนี้ไม่นับว่าเป็นบทเชื่อมของประโยค แต่นับเพียงว่าเป็นบทเชื่อม ซึ่งทำให้คำนำหน้ากับคำหลังติดต่อกันเข้าเป็นวลีกลุ่มหนึ่งๆ อยู่ในบทนั้นๆ เอง หาได้แยกเอาคำสันธานนั้นมากรอกในตารางบทเชื่อม แล้วแยกบทที่เชื่อมนั้นๆ ออกเป็นประโยคย่อย ดังประโยคที่มีคำสันธานเชื่อมส่วนสำคัญดังกล่าวแล้วนั้นไม่ ดังจะชักตัวอย่างมาให้สังเกตต่อไปนี้

ก. สันธานที่เชื่อมอยู่ในบทขยายประธาน เช่น
“คน สูงและผอม ไม่สวย” ดังนี้ บทว่า สูงและผอม เป็นวิเศษณ์วลีกลุ่มหนึ่งอย่างเดียวกับกล่าวว่า ทั้งสูงทั้งผอม หรือ สูงด้วยผอมด้วย รวมกันเป็นบทขยายประธาน ไม่ใช่เป็นประโยครวมซึ่งแยกเป็น คนสูงไม่สวย และคนผอมไม่สวย อย่างสันธานเชื่อมบทสำคัญ ดังกล่าวแล้ว

ถึงสันธานอื่นๆ ที่เชื่อมอยู่ในบทขยายประธานทำนองนี้ เช่น
“คน อ้วนแต่อ่อนแอ ไม่ดี”
“คน สวยหรือไม่สวย ไม่สำคัญ”
“คน สวยเพราะแต่ง ไม่ดี” ดังนี้เป็นต้นก็ดี หรือจะเป็นรูปอื่นๆ เช่น บุพบทวลี ดังตัวอย่าง
“บุตร ของตาสีและยายมี ตายเสียแล้ว” ดังนี้เป็นต้นก็ดี หรือเป็นบทวิกัติการก เช่น
“คุณสี สามีหรือเพื่อนร่วมชีพของฉัน ได้ตายเสียแล้ว” ดังนี้เป็นต้นก็ดี
นับว่าเป็นกลุ่มวลีขยายประธานเช่นเดียวกันทั้งนั้น

ข. สันธานที่เชื่อมอยู่ในบทขยายกริยา  บทนี้ยกเว้นเฉพาะบทวิกัติการกช่วยวิกตรรถกริยา  ซึ่งต้องแยกเป็นคนละประโยค ดังกล่าวมาแล้ว นอกนั้นก็เป็นทำนองเดียวกับบทขยายประธานเหมือนกัน ดังตัวอย่าง
“ท่านผู้นี้ทำงาน แข็งแรงและอดทน”
“เขาไม่ประพฤติ ตามประเพณีและศีลธรรมเลย” ดังนี้เป็นต้น

ค. สันธานเชื่อมอยู่ในบทกรรมและบทขยายกรรม ที่จริงบทกรรมนี้ก็มีหน้าที่ช่วยบทกริยา คล้ายกับบทวิกัติการกช่วยวิกตรรถกริยาเหมือนกัน ต่างกันที่ว่าใจความของวิกตรรถกริยานั้นมาอยู่ที่บทช่วย แต่ใจความของสกรรมกริยาอยู่ที่ตัวกริยานั้นเอง เช่นประโยคว่า “เขากิน ดังนี้บทกริยา “กิน” ก็ได้ความอยู่แล้ว ว่าเขาทำอะไร แต่ยังไม่ครบทีเดียวว่า เขากินอะไร เท่านั้น จึงต้องมี บทกรรมเข้ามาประกอบให้ได้ความครบ ดังนั้นบทกรรมจึงมีหน้าที่คล้ายกับบทขยายของบทสกรรมกริยา ถึงจะมีบทเชื่อมอยู่ในบทกรรมก็ไม่นับว่าเป็นบทเชื่อมของประโยค เพราะไม่ใช่ส่วนสำคัญของประโยค เช่นตัวอย่าง
“ตาสีด่า ลูกและเมีย เสมอ” หรือ
“ตาสีด่า ลูก เมีย และใครๆ เสมอ” หรือ
“เขาต้องกิน กาแฟหรือน้ำชา เวลาเช้าเสมอ” ดังนี้เป็นต้น

บทกรรมที่มีสันธานเชื่อมข้างบนนี้ คือ ลูกและเมีย ก็ดี ลูกเมียและใครๆ ก็ดี กาแฟหรือน้ำชา ก็ดี จึงเป็นเพียงนามวลีทำหน้าที่เป็นบทกรรมของกริยา ด่าและ ต้องกิน โดยลำดับเท่านั้น ไม่ต้องเอาสันธานไปเป็นบทเชื่อมของประโยค และไม่ต้องแยกประโยคเช่น ตาสีด่าลูกและเมีย ออกเป็นประโยคย่อยว่า ตาสีด่าลูก และตาสีด่าเมีย อย่างประโยครวมที่กล่าวมาแล้ว ในการบอกสัมพันธ์ก็คงบอกว่า ลูกและเมีย เป็นนามวลี บทกรรมของกริยา ด่า เท่านั้น ดังนี้เป็นตัวอย่าง

และสันธานที่เชื่อมอยู่ในบทขยายกรรมนั้นก็เป็นอย่างเดียวกับสันธานที่เชื่อมอยู่ในบทขยายประธาน ดังกล่าวแล้ว จึงไม่ต้องกล่าวอีก

ข้อสังเกต  ในเรื่องสันธานที่เป็นบทเชื่อมดังกล่าวแล้ว เราจะต้องไม่ลืมคำ หรือ ที่เชื่อมความเป็นคำถาม เพราะคำ “หรือ” ที่เป็นคำถามไม่ว่าจะเชื่อมอยู่ในบทใด ต้องกรอกลงในตารางบทเชื่อมทั้งนั้น และต้องแยกประโยคนั้นอย่างประโยครวมอื่นๆ ด้วย เช่น ท่านเห็นคนดำหรือคนขาว? จะต้องแยกเป็น ท่านเห็นคนดำหรือท่านเห็นคนขาว? ดังนี้เป็นต้น ซึ่งเป็นข้อยกเว้นจากข้อข้างบนนี้

ฆ. สันธานที่เชื่อมอยู่ในบทเชื่อมด้วยกัน บทเชื่อมที่เป็นวลี บางบทก็มีสันธานเชื่อมอยู่ด้วย เช่น บทว่า ลูกและเมียเอ๋ย! หรือบทว่า โอ้!เมียและมิตรที่ดีของข้าเอ๋ย! ดังนี้เป็นต้น

คำสันธาน และ ก็ดี หรือ ก็ดี ข้างบนนี้นับว่าเป็นบทเชื่อมคำ หรือวลีให้ติดต่อเป็นวลีกลุ่มเดียวกัน อย่างสันธานที่เชื่อมอยู่ในบทกรรม หรือบทขยายกรรม ข้อ ค. ข้างต้นนี้ ดังนั้นสันธานที่เชื่อมอยู่ในบทเชื่อมเหล่านี้ ก็มีหน้าที่ทำให้คำหรือวลีติดต่อกันเป็นวลีหรือเป็นวลีกลุ่มใหญ่ขึ้น แต่ก็ต้องรวมอยู่ในช่องบทเชื่อมนั้นเอง

บทเชื่อมข้อความ  บทเชื่อมชนิดนี้มีลักษณะเป็นอย่างเดียวกับบทเชื่อมประโยคเหมือนกัน กล่าวคือเป็นคำสันธานหรือเป็นสันธานวลีคล้ายคลึงกัน ดังนั้นบทเชื่อมข้อความที่กล่าวนี้ จึงต้องกรอกไว้ในตารางช่องบทเชื่อมประโยคอย่างเดียวกัน แต่หน้าที่ของบทเชื่อมทั้ง ๒ นี้ต่างกัน คือบทเชื่อมประโยคนั้นย่อมทำหน้าที่เชื่อมประโยคต่อประโยคให้ติดต่อเป็นอเนกรรถประโยค หรือเป็นสังกรประโยค ดังกล่าวมาแล้วโดยพิสดาร แต่บทเชื่อมข้อความนั้นมีหน้าที่เชื่อมข้อความให้ติดต่อเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งมีลักษณะเป็นสองประเภทดังต่อไปนี้

(๑) เชื่อมข้อความให้ติดต่อเป็นเรื่องเดียวกัน  วิธีเชื่อมข้อความตอนหนึ่งกับอีกตอนหนึ่งให้ติดต่อกันนี้ จะใช้ประโยคก็ได้ เช่นเราจะเล่าประวัติของนายดำ กับ นายแดง ความตอนต้นเราเล่าประวัติของนายดำก่อนจนจบ จะเป็นข้อความมากน้อยเท่าไรก็แล้วแต่เรื่อง ถ้าเราไม่ต้องการที่จะให้เรื่องของนายแดงติดต่อกับเรื่องนายดำที่เล่ามาแล้ว เราก็หยุดเสียเฉยๆ หรือกล่าวเป็นประโยคลงท้ายว่า เรื่องของนายดำจบเท่านี้ แล้วเราก็เริ่มกล่าวเรื่องนายแดงต่อไป ดังนี้นับว่าไม่ต้องการบทเชื่อม

ถ้าเราต้องการให้เรียงติดต่อกัน ในข้อความมากๆ เช่นนี้ เราจะใช้บทเชื่อมเป็นประโยคก็ได้ เช่นกล่าวว่า เรื่องนายดำจบเท่านี้ โปรดฟังเรื่องนายแดงต่อไป ดังนี้ หรือประโยคอื่นๆ ทำนองนี้ ทั้งนี้ถึงจะเป็นบทเชื่อมข้อความก็จริง แต่เราต้องกรอกประโยคเหล่านี้ลงในช่องตารางประโยค แล้วก็บอกหมายเหตุว่า เป็นประโยคชนิดนั้น ซึ่งทำหน้าที่เชื่อมความตอนต้นกับตอนท้ายให้ติดต่อกัน

ถ้าบทเชื่อมดังว่านี้เป็นเพียงวลีหรือคำ เราจึงกรอกลงในช่องตารางบทเชื่อมดังกล่าวแล้ว และบทเชื่อมข้อความชนิดนี้ก็คล้ายคลึงกับบทเชื่อมอเนกรรถประโยคเหมือนกัน กล่าวคือความตอนบนเรื่อง นายดำ กับตอนล่าง เรื่อง นายแดง ตามกัน เป็นทำนองอันวยาเนกรรถประโยค ก็ใช้บทเชื่อมว่า ส่วนนายแดง………….หรือ ส่วนว่านายแดง…………หรือ และนายแดง………………ฯลฯ ความแย้งกัน ทำนองพยติเรกาเนกรรถประโยค ก็ใช้บทเชื่อมว่า แต่นายแดง………….หรือ แต่ส่วนนายแดง……….ฯลฯ  ถ้าความจำกัดให้เลือกเอาทางหนึ่งทำนองวิกัลป์ปาเนกรรถประโยค ก็ใช้บทเชื่อมว่า หรือส่วนนายแดง……………ฯลฯ  ถ้าเป็นเหตุผลต่อกัน ก็ใช้บทเชื่อมว่า ทั้งนี้เพราะว่านายแดง………………หรือ ดังนั้นนายแดงจึง………………..ฯลฯ  ซึ่งแล้วแต่จะเหมาะกับข้อความตอนบน

ข้อสังเกต  คำสันธานที่เป็นบทเชื่อมข้อความนั้นใช้คำ ส่วน ส่วนว่า ฝ่าย ฝ่ายว่า (โบราณใช้ว่า เบื้อง เบื้องว่า บั้น บั้นว่า ก็มี) อันเป็นสันธานเชื่อมข้อความฝ่ายอื่นให้ติดต่อกัน ถ้าข้อความตอนบนกับตอนล่างมีเนื้อความตามกันหรือแย้งกัน ฯลฯ ก็ใช้สันธานนั้นๆ ประสมเข้ากันกับสันธานพวกนี้ เช่น และฝ่าย……….และส่วน……………แต่ส่วนว่า…………ฯลฯ ดังนี้ก็ได้แล้ว แต่จะเหมาะกับเนื้อความ

ถ้าเป็นข้อความเปรียบเทียบมักใช้คำวิเศษณ์ ฉันใด ขึ้นต้นในความตอนต้น แล้วใช้คำวิเศษณ์ ฉันนั้น ไว้ในตอนท้ายหรือละไว้ในที่เข้าใจ ดังนี้ คำวิเศษณ์ว่า ฉันใด ตอนต้น กับ ฉันนั้น ตอนท้าย นอกจากทำหน้าที่วิเศษณ์แล้ว ยังทำหน้าที่เป็นบทเชื่อมข้อความด้วย

(๒) เชื่อมข้อความปรุงสำนวน  ในการเรียงเรื่องราวนั้นต้องมีวิธีปรับปรุงถ้อยคำ ให้ครบสำนวนตามที่เขานิยมกันด้วย ถึงจะบรรจุเนื้อความลงไปถูกต้องตามไวยากรณ์แล้วก็ดี แต่สำนวนยังขัดเขินอยู่ก็ใช้ไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องมีบทเชื่อมข้อความใช้ปรุงสำนวนที่จะกล่าวนี้อีกด้วย สำหรับใช้สอดแซมให้เรื่องราวนั้นๆ ครบสำนวนฟังถูกต้องตามนิยมของภาษา

เพราะบทเชื่อมพวกนี้ มีลักษณะคล้ายคลึงกับบทเชื่อมข้อความให้ติดต่อกัน ดังนั้นเมื่อเวลาบอกสัมพันธ์จึงรวมบอกไว้ในตารางบทเชื่อมเช่นเดียวกันด้วยจะต่างกันก็เพียงบอกหมายเหตุไว้ ว่าเป็นบทเชื่อมชนิดนั้นๆ เท่านั้น

และบทเชื่อมที่ปรับปรุงสำนวนที่กล่าวนี้ มีลักษณะควรสังเกตดังต่อไปนี้

ก. สันธาน ได้แก่สันธานที่ใช้ปรับปรุงให้ครบสำนวนที่เรียกว่า สันธานชนิดเชื่อมเพื่อให้ความสละสลวย ที่ใช้ขึ้นต้นข้อความ เช่น อันว่า ตัวอย่าง อันว่า อรรถคดีอันโบราณกษัตราธิราช ได้ทรงบัญญัติไว้…..เป็นต้น และที่ใช้แทรกไว้ระหว่างข้อความ เช่นคำ ก็ ดังตัวอย่างว่า “เรา ก็ เป็นมนุษย์คนหนึ่งนี่นา” ฯลฯ และวลีต่างๆ ที่นำมาใช้เป็นสันธานชนิดเชื่อมเพื่อให้ความสละสลวย ดังกล่าวแล้วในวจีวิภาค ก็นับเข้าในบทเชื่อมในพวกนี้เหมือนกัน

ข. บทอาลปน์ (คำร้องเรียกที่ใช้ว่า กรรตุสัญญา) ก็นับเข้าในบทเชื่อมปรุงสำนวนด้วย เช่นตัวอย่าง คำอาลปน์-แดง เธอไปไหน? และบทวลีอาลปน์ เช่น ลูกเอ๋ย ท่านทั้งหลาย ข้าแต่ท่านผู้ดีทั้งหลาย ฯลฯ ที่ใช้ขึ้นต้นข้อความก็ดี แทรกไว้ในระหว่างข้อความก็ดี หรือลงท้ายข้อความ เช่น “โปรดทำดังนี้นะ ท่านเอ๋ย” ก็ดี ดังนี้เป็นต้น

ค. บทอุทาน หรือบทอุทานวลี ที่ใช้ขึ้นต้นข้อความเช่น “โอ! ฉันลืมไป”  เป็นต้นก็ดี แทรกอยู่ระหว่างข้อความ เช่น “ทรัพย์ของเราหมดสิ้นแล้ว โอ้อกเอ๋ย จะทำอย่างไรดี” เป็นต้นก็ดี ที่ใช้ลงท้าย เช่น “เราจะทำไฉนดี โอ้อกเอ๋ย” ดังนี้เป็นต้นก็ดี หรือคำอุทานที่ใช้ในคำประพันธ์ เช่น เฮย เอย แฮ ดอกเอ๋ย วันเอ๋ย เป็นต้นก็ดี ย่อมนับเข้าในบทเชื่อมชนิดนี้ทั้งนั้น

ข้อสังเกต  ควรวินิจฉัยว่า บทเชื่อมใดๆ ถ้าไม่ใช่บทเชื่อมคำหรือ วลีก็ดี ไม่ใช่บทเชื่อมประโยคก็ดี และไม่ใช่บทเชื่อมข้อความให้ติดต่อกันดังกล่าวแล้วก็ดี ก็ไม่นับว่าเป็น บทเชื่อมข้อความปรุงสำนวน นี้ทั้งนั้น

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร

ประโยคระคน

ประโยคทั้ง ๓ ชนิด คือเอกรรถประโยค และอเนกรรถประโยค และสังกรประโยคที่ได้แสดงมาแล้วโดยลำดับนี้ มิใช่ว่าจะมีในข้อความเรียงกันเป็นลำดับดังแสดงไว้เช่นนั้นเมื่อไร ที่จริงข้อความตอนหนึ่งๆ จะมีประโยคใดๆ สักเท่าไรก็ได้ และไม่จำกัดว่าจะต้องมีประโยคชนิดนั้นชนิดนี้ และอาจจะมีอเนกรรถประโยค และสังกรประโยคเข้าระคนกันเป็นประโยคซับซ้อนกันมากมายก็ได้ นอกจากประโยคที่กล่าวนี้แล้ว ก็มีบทเชื่อมให้ข้อความติดต่อกัน และมิใช่ว่าจะมีบทเชื่อมระหว่างประโยคเท่านั้น แต่อาจจะมีบทเชื่อมระหว่างคำต่อคำ หรือระหว่างวลีต่อวลี ให้ติดต่อกันก็ได้ หรือเชื่อมระคนกันก็ได้ แม้ที่สุดเชื่อมระหว่างข้อความตอนหนึ่งกับอีกตอนหนึ่งก็ได้ ข้อสำคัญของบทเชื่อมเหล่านี้ก็คือทำให้คำก็ดี วลีก็ดี ประโยคต่างๆ ก็ดี ติดต่อเป็นเรื่องเกี่ยวพันกันไปตามนิยมของภาษาที่ใช้กัน แต่การที่เราจะรู้ว่าประโยคต่างๆ ติดต่อกันเป็นประโยคชนิดใดบ้างนั้น เราก็ต้องอาศัยสังเกตบทเชื่อมเป็นหลักสำคัญอยู่ด้วยเหมือนกัน ซึ่งจะอธิบายต่อไป แต่ในที่นี้จะขอรวบรวมประโยคที่ซับซ้อนกันมาอธิบายไว้พอเป็นหลักเสียก่อน ดังต่อไปนี้

ประโยคระคน  ตามที่กล่าวมาแล้วในเรื่องอเนกรรถประโยคก็ดี สังกรประโยคก็ดี ซึ่งต่างก็มีเฉพาะแต่เอกรรถประโยคเป็นประโยคย่อยรวมอยู่ในประโยคใหญ่นั้นๆ อย่างเดียวเท่านั้น แต่ความจริงหาเป็นเช่นนี้เสมอไปไม่ กล่าวคือประโยคใหญ่ทั้ง ๒ นี้ จะเป็นประโยคย่อยของประโยคอื่นก็ได้ ดังจะอธิบายต่อไปนี้

(๑) อเนกรรถประโยคระคน  หมายถึงอเนกรรถประโยคที่มีส่วนย่อยเป็นอเนกรรถประโยคด้วยกัน และมีส่วนย่อยเป็นสังกรประโยค ดังจะยกตัวอย่างมาให้ดูต่อไปนี้

ก. ส่วนย่อยของอเนกรรถประโยคด้วยกัน คือ
“ถ้าเขาพูดดีต่อเราแต่ไม่ไว้ใจเรา เราก็ควรพูดดีต่อเขา แต่ไม่ควรไว้ใจเขาดุจกัน”

ประโยคนี้มีอันวยาเนกรรถประโยคเป็นประโยครวมยอด และมีประโยคย่อยเป็นพยติเรกาเนกรรถประโยคทั้งคู่ ดังบอกสัมพันธ์ชนิดประโยคต่อไปนี้
silapa-0275 - Copy
“ตาและยายทำนา แต่ลูกและหลานทำสวน”

ประโยคชนิดนี้มีพยติเรกาเนกรรถประโยคเป็นประโยคใหญ่ และมีประโยคย่อยเป็นอันวยาเนกรรถประโยคทั้งคู่ ดังบอกสัมพันธ์ชนิดประโยคต่อไปนี้
silapa-0275 - Copy1
“ท่านจะให้ผัวเขาทำงานและเลี้ยงเมียเขาด้วย หรือจะให้ผัวเขาทำงาน แต่ไม่เลี้ยงเมียเขา”

ประโยคนี้มีวิกัลป์ปาเนกรรถประโยคเป็นประโยคใหญ่ ประโยคย่อยข้างหน้าเป็นอันวยาเนกรรถประโยค ข้างหลังเป็นพยติเรกาเนกรรถประโยค ดังบอกสัมพันธ์ชนิดประโยค ต่อไปนี้
silapa-0276 - Copy
“เขาเป็นพ่อบ้านดี ทั้งปกครองก็ดีด้วย เพราะฉะนั้นลูกและเมียจึงได้รับความสุข”

ประโยคนี้มีเหตวาเนกรรถประโยคเป็นประโยคใหญ่ และประโยคย่อยเป็นอันวยาเนกรรถประโยคทั้งนั้น ดังบอกสัมพันธ์ชนิดประโยคต่อไปนี้
silapa-0276 - Copy1
ตัวอย่างข้างบนนี้ ได้ยกมาให้ดูจนครบชนิดของอเนกรรถประโยคทั้งสี่ เพื่อให้ผู้ศึกษาได้จำไว้เป็นหลักโดยครบถ้วน และต่อไปจะยกมาไว้เพียงประโยคสองประโยคเท่านั้น ให้ผู้ศึกษาเข้าใจเอาเองตามตัวอย่างข้างบนนี้

ข. ส่วนย่อยเป็นสังกรประโยค คือ
“สามีรักเพื่อนชายที่สอพลอ และภรรยาก็รักเพื่อนชายที่สอพลอตามกัน” ประโยคนี้มีอันวยาเนกรรถประโยคเป็นประโยคใหญ่ และมีสังกรประโยคเป็นส่วนย่อย ดังบอกสัมพันธ์ชนิดประโยคต่อไปนี้
silapa-0277 - Copy
“ท่านเป็นคนพาลฉันไม่ชอบ แต่ชอบคำสัตย์ที่ท่านกล่าวโดยกล้าหาญ” ประโยคนี้มีพยติเรกาเนกรรถประโยค เป็นประโยคใหญ่ และมีสังกรประโยคเป็นส่วนย่อย แต่เป็นสังกรประโยคที่มีอนุประโยคต่างชนิดกัน ดังบอกสัมพันธ์ชนิดประโยคย่อยต่อไปนี้
silapa-0277 - Copy1
“เขาป่วยจนเราตกใจบ่อยๆ เพราะฉะนั้นเมื่อเราไม่อยู่ จึงควรให้หมอดูแลเขา” ประโยคนี้มีเหตวาเนกรรถประโยคเป็นประโยคใหญ่ และมีประโยคย่อยเป็นสังกรประโยคทั้งคู่ ดังบอกสัมพันธ์ชนิดประโยคดังต่อไปนี้
silapa-0277 - Copy2
ค. ส่วนย่อยเป็นประโยคระคนซับซ้อนกัน คือ หมายความว่า อเนกรรถประโยคที่มีส่วนย่อยเป็นประโยคระคนต่างๆ คือเป็นอเนกรรถประโยคเชื่อมกับอเนกรรถประโยคบ้าง หรือเชื่อมกับสังกรประโยคบ้าง หรือเป็นอเนกรรถประโยคเชื่อมกับสังกรประโยคบ้าง หรือเป็นประโยคย่อยชนิดต่างๆ เชื่อมระคนกันบ้าง ซึ่งรวมอยู่ในอเนกรรถประโยคเดียวกัน ดังจะยกตัวอย่างพร้อมกับบอกสัมพันธ์ชนิดประโยคมาไว้ พอเป็นตัวอย่างที่สังเกตต่อไปนี้

ประโยคย่อยเป็นเอกรรถ เชื่อมกับอเนกรรถ เช่น
“ตาสีเป็นคนขี้เหนียว เพราะฉะนั้นมิตรและญาติเขาจึงไม่คบแก”
บอกสัมพันธ์ชนิดประโยค ดังนี้
silapa-0278 - Copy
ประโยคย่อยเป็นเอกรรถ เชื่อมกับสังกร เช่น
“พระราชาองค์นี้ทรงทศพิธราชธรรมดียิ่ง ดังนั้นราษฎรจึงรักพระองค์จนเขาสละชีพเพื่อพระองค์ได้” บอกสัมพันธ์ชนิดประโยคดังนี้
silapa-0278 - Copy1
ประโยคย่อยเป็นอเนกรรถ เชื่อมกับสังกร เช่น
“ยายและตามีความดีโดยมาก แต่แกก็ยังมีไม่ดีซึ่งเราควรติอยู่บ้าง”
silapa-0279 - Copy
ประโยคย่อยเป็นชนิดต่างๆ ระคนกัน เช่น
“เขาทำการซึ่งเขาเห็นว่าเป็นประโยชน์แก่ชาติ อันเป็นที่รักของเขา แต่ไม่เป็นประโยชน์แก่เขา เช่นนี้เราจึงควรยกย่องเขายิ่งกว่าคนที่ทำการ เพราะเห็นแก่ตนด้วย และเห็นแก่ชาติด้วย” ประโยคนี้มีประโยคใหญ่ “เขาทำการ…เช่นนี้เราจึงควรยกย่องเขา” ประโยคนอกจากนั้นเป็นส่วนย่อยทั้งนั้น ดังบอกสัมพันธ์ต่อไปนี้

silapa-0280

silapa-0281

๑การฝึกหัดวิธีบอกสัมพันธ์ชนิดอเนกรรถประโยคระคนที่ยุ่งยากเช่นนี้ ควรแนะนำให้เขียนประโยคทั้งหมด แล้วให้ทำวงเล็บประดยคแต่งลงไปเป็นชั้นๆ อย่างวงเล็บเลขคณิตหรือพีชคณิต และให้ชื่อวงเล็บชั้นในก่อน แล้วจึงให้ชื่อวงเล็บถัดออกมาข้างนอกเป็นลำดับ และไม่ควรจะตั้งต้นสอนประโยคซับซ้อนมากมายเช่นนี้ก่อน ควรจะเพิ่มสอนให้ซับซ้อนขึ้นทีละน้อยๆ เพื่อให้ชำนาญขึ้นเป็นลำดับ

อเนกรรถประโยคที่มีส่วนย่อยซับซ้อนกันอยู่เช่นนี้  ย่อมมีรูปต่างๆ กันแล้วแต่โวหารของผู้แต่ง ให้ผู้ศึกษาสังเกตตัวอย่างข้างต้นนี้เป็นหลัก

๒. สังกรประโยคระคน  สังกรประโยคก็มีส่วนย่อย คือ อนุประโยคเป็นชนิดต่างๆ ซับซ้อนกันได้อย่างเดียวกับอเนกรรถประโยคเหมือนกัน ดังจะชักตัวอย่าง และบอกสัมพันธ์ชนิดประโยคไว้ให้เห็นพอเป็นที่สังเกตต่อไปนี้

ก. นามานุประโยค  นอกจากจะเป็นเอกรรถประโยคดังกล่าวแล้วนั้น ย่อมเป็นอเนกรรถประโยค หรือสังกรประโยคก็ได้ เช่น

“เขาด่าท่านและท่านด่าตอบเขา เช่นนี้ไม่ดีเลย” บอกสัมพันธ์ดังนี้
silapa-0282 - Copy
“ฉันไม่ชอบเด็กที่เป็นนักเรียนประพฤติเช่นนี้”
silapa-0282 - Copy1
ข. คุณานุประโยค  ก็เป็นอเนกรรถประโยค หรือสังกรประโยคได้เช่น
“คน ที่รักดีแต่ไม่ประพฤติดี นั้น ย่อมมีมาก”
silapa-0282 - Copy2
“คน ที่ตายเพราะปากไม่ดีนั้น มีมาก”

silapa-0283 - Copy

ค. วิเศษณานุประโยค ก็เป็นอเนกรรถประโยค หรือสังกรประโยคได้ดุจกัน เช่น
“เขามา เมื่อฉันนอนแล้ว แต่ยังไม่หลับ”
silapa-0283 - Copy1
“ขโมยเข้ามาในบ้านเราได้ เพราะคนยามที่เฝ้าประตูเผลอ”
silapa-0283 - Copy2
ฆ. สังกรประโยคที่ซับซ้อนกัน  ตัวอย่างข้างบนนี้คัดมาให้ดูเป็นอย่างๆ พอเป็นหลักเท่านั้น ที่จริงสังกรประโยคย่อมมีอนุประโยคระคนกันซับซ้อนเช่นเดียวกันกับอเนกรรถประโยคที่แสดงมาแล้วเหมือนกัน  ดังจะทำตัวอย่างและบอกสัมพันธ์ชนิดประโยคไว้ให้ดูพอเป็นที่สังเกตต่อไปนี้

“ผู้ใหญ่ ที่พูดแต่ปากแต่เขาทำตามคำที่พูดไม่ได้นั้นย่อมเลวกว่าเด็ก ซึ่งพูดว่าทำไม่ได้แต่เขาทำได้มาก”

สังกรประโยคนี้มีสังกรประโยคใหญ่ชนิดต่างๆ ประกอบซับซ้อนกัน ดังได้บอกสัมพันธ์ชนิดประโยคไว้ให้ดูต่อไปนี้
silapa-0284 - Copy
และยังมีรูปอื่นๆ อีกมาก ควรสังเกตตัวอย่างนี้เป็นหลัก

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร

สังกรประโยค

สังกรประโยค ๑  แปลว่าประโยคแต่ง ประโยคปรุง ซึ่งหมายความว่า เอกรรถประโยคที่ใช้เอกรรถประโยคด้วยกันทำหน้าที่เป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของเอกรรถประโยคหน้า ซ้อนขึ้นอีกชั้นหนึ่ง เช่น ตัวอย่างเอกรรถประโยคว่า นายมีตาย นี้ ถ้าเอาคำหรือวลีมาแต่งเพิ่มเข้าเป็น “นายมี แก่ ตาย เมื่อวานนี้” ก็ยังนับว่าเป็นเอกรรถประโยคอยู่ แต่ถ้าเอาประโยคด้วยกันมาแต่งเข้าเป็น “นายมี ซึ่งเป็นเสมียน ตาย เมื่อฝนตก” ดังนี้ เอกรรถประโยคเดิมซึ่งเป็นประโยคเดียว ย่อมมีประโยคเล็กๆ มาแทรกเข้าอีก เป็นหลายประโยคขึ้น คือ นายมีตาย ประโยคเดิม และมีประโยค ซึ่งเป็นเสมียน ประโยคหนึ่ง และ เมื่อฝนตก อีกประโยคหนึ่ง แทรกเข้ามา จึงรวมความได้ว่า เอกรรถประโยคที่มีประโยคน้อยๆ เข้ามาแทรกอยู่ด้วย เป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของประโยคเดิมดังตัวอย่างข้างบนนี้ เรียกว่า สังกรประโยค แต่ส่วนของสังกรประโยคนี้มีลักษณะอย่างเดียวกับส่วนของเอกรรถประโยคทุกประการ ต่างกันอยู่ก็แต่มีประโยคเล็กแทรกเข้ามาอย่างน้อยอีกประโยคหนึ่ง ดังจะอธิบายพิสดารต่อไปนี้

ส่วนของสังกรประโยค  สังกรประโยคที่กล่าวแล้วนี้จะต้องมี
(๑) มีประโยคใหญ่อยู่ประโยคหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า มุขยประโยค แปลว่า ประโยคหัวหน้า
(๒) และจะต้องมีประโยคน้อยแทรกเข้ามาเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของประโยคใหญ่นั้นอย่างน้อยประโยคหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า อนุประโยค (ประโยคน้อย) เช่นตัวอย่างข้างบนนี้ นายมีซึ่งเป็นเสมียนตายเมื่อฝนตก ดังนี้ประโยคเดิม คือ นายมีตาย นั้นเรียกว่า มุขยประโยค และประโยคเล็กที่แทรกเข้ามา เช่น ซึ่งเป็นเสมียน ก็ดี เมื่อฝนตก ก็ดี รวมเรียกว่า อนุประโยค ทั้งนั้น
………………………………………………………………………………………….
๑ สังกรประโยค อ่านว่า “สัง-กอ-ระ-ประโยค” คำ “สังกร” นี้เป็นแบบเดียวกับคำ “สังกร สังขรณ์” เช่นปฏิสังขรณ์ และ “สังขาร” ซึ่งแปลว่า แต่งหรือปรุง เช่นเดียวกัน ที่เห็นต่างกัน ก็เป็นด้วยนำไปใช้ในที่ต่างกันเท่านั้น
………………………………………………………………………………………….
ในสังกรประโยค ประโยคหนึ่งๆ ต้องมี มุขยประโยค เป็นหัวหน้าประโยคหนึ่ง ต่อไปก็มี อนุประโยค เป็นส่วนประกอบของมุขยประโยคนั้นมากหรือน้อยตามรูปความ และอนุประโยคนี้ ท่านแบ่งออกเป็น ๓ ประเภทตามหน้าที่ของมันคือ นามานุประโยค, คุณานุประโยค และ วิเศษณานุประโยค ซึ่งจะอธิบายโดยพิสดารต่อไปนี้

นามานุประโยค  คืออนุประโยคที่ใช้แทนนาม คำนามในที่นี้กินความไปถึงสรรพนาม หรือกริยาสภาวมาลา  ซึ่งมีหน้าที่ใช้แทนนามด้วย

ก่อนที่เราจะรู้ว่า นามานุประโยคเป็นอย่างไร เราจะต้องรู้หน้าที่ของนามดังกล่าวแล้วว่า นำมาใช้ในประโยคอย่างไรบ้างเสียก่อนดังนี้

คำนามมีหน้าที่ใช้ในประโยค เป็น ๔ ตำแหน่งคือ
(๑) ใช้เป็นบทประธาน เช่น “นักเรียน นอน”
(๒) ใช้เป็นบทกรรม เช่น “ฉัน เห็น นักเรียน”
(๓) ใช้เป็นบทวิกัติการกขยายนามด้วยกันอีกต่อหนึ่ง เช่น
ก. วิกัติการกขยายประธาน- “นาย ก. นักเรียน นอน”
ข. วิกัติการกขยายกรรม-“ฉันเห็นนาย ก. นักเรียน”
ค. วิกัติการกขยายนามอื่นๆ-“เสื้อของนาย ก. นักเรียน ขาด”
ฆ. ใช้เป็นบทวิกัติการกช่วยวิกตรรถกริยา (เป็น ฯลฯ) เช่น “เขาเป็น นักเรียน”

(๔) และยังมีนามที่ใช้ตามหลังบุพบท ซึ่งรวมเรียกว่าวิเศษณการกอีกพวกหนึ่งสำหรับขยายส่วนต่างๆ ของประโยค  แต่ประโยคที่ทำหน้าที่แทนวิเศษณการกเหล่านี้ ไม่เรียกว่า นามานุประโยค ดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า

อนุประโยคที่มีหน้าที่แทนนามตามตำแหน่ง ๓ ข้างต้นข้างบนนี้ ย่อมนับเป็นามานุประโยคได้ทั้งนั้น เว้นแต่ข้อ (๔) ที่ทำหน้าที่วิเศษณการกเท่านั้น ดังจะอธิบายทีละตำแหน่งดังต่อไปนี้

(๑) นามานุประโยคแทนบทประธาน  คือหมายความว่าเอาอนุประโยคมาใช้เป็นนามบทประธาน เช่นตัวอย่าง
ก. “เธอแสดงกิริยาเช่นนี้ เป็นการไม่ดี”
ข. “เหี้ยเข้าบ้าน เป็นลางร้าย”
ค. “คนกินข้าว เป็นประโยค”

หรือจะมีประพันธ์วิเศษณ์เชื่อมก็ได้ เช่นตัวอย่าง “ที่เธอแสดงกิริยาเช่นนี้ เป็นการไม่ดี” หรือจะเอาไว้ท้ายประโยคก็ได้ เช่น “เป็นการไม่ดี ที่เธอแสดงกิริยาเช่นนี้” และ คำ ซึ่ง อัน ก็ใช้ทำนองเดียวกัน เช่น “อันเหี้ยเข้าบ้าน เป็นการไม่ดี” ดังนี้เป็นต้น

หมายเหตุ  บทประธานย่อมมีคำวิกัติการกหรือคำวิเศษณ์เป็นบทขยายได้เช่น “เด็ก มัน ไม่ดี” หรือ “เด็ก นั้น ไม่ดี” เป็นต้น ดังนี้ฉันใด นามานุประโยคที่เป็นบทประธาน ก็มีคำวิกัติการกหรือคำวิเศษณ์เป็นบทขยายได้ฉันนั้น เช่นตัวอย่าง “ที่เธอแสดงกิริยาเช่นนี้ มัน เป็นการไม่ดี” “ที่เหี้ยเข้าบ้าน นั้น เป็นการไม่ดี” หรือ “มัน เป็นการไม่ดี ที่เหี้ยเข้าบ้าน” ดังนี้เป็นต้น

(๒) นามานุประโยคแทนบทกรรม  คือหมายความว่าเอาอนุประโยคมาใช้แทนกรรม เช่นตัวอย่าง

“ฉันไม่ชอบ เธอทำเช่นนี้” หรือเอาไว้ข้างหน้าว่า “เธอทำเช่นนี้ ฉันไม่ชอบ” ก็ได้ หรือจะใช้ประพันธวิเศษณ์เป็นบทเชื่อม อย่างในบทประธานว่า “ฉันไม่ชอบ ที่เธอทำเช่นนี้” หรือ “ที่เธอทำเช่นนี้ ฉันไม่ชอบ” หรือจะละประธานของประโยคเสียว่า “ห้าม คนเดิน” หรือ “ห้าม ซึ่งคนเดิน” (คือ “เขาห้าม คนเดิน”) เป็นต้นก็ได้

ข้อสังเกต  ถ้าประโยคเหล่านี้มีคำประพันธสรรพนามเชื่อมอยู่ข้างหน้า เช่น “การ ที่เธอทำเช่นนี้ ไม่ดี” หรือ “ฉันไม่ชอบการ ที่เธอทำเช่นนี้” เป็นต้น เช่นนี้ไม่ใช่เป็นนามานุประโยค แต่เป็นคุณานุประโยค เพราะ ที่เธอทำเช่นนี้ แต่ง คำ การ ดังจะแสดงต่อไปนี้ข้างหน้า

(๓) นามานุประโยคที่กรรมมี “ให้” และ “ว่า” เป็นบทเชื่อม

อีกประการหนึ่ง อนุประโยคที่มีคำ ให้ หรือ ว่า เป็นบทเชื่อมซึ่งอยู่ท้ายสกรรมกริยา เช่น “ฉันไม่ชอบ ให้เขาตาย” หรือ “ฉันไม่รู้ ว่าตามีตาย” ก็นับว่าเป็นนามานุประโยคแทนบทกรรมเหมือนกัน เพราะประโยคเหล่านั้น ทำหน้าที่แทนนามเช่นเดียวกับประโยคว่า “ฉันไม่ชอบ เรื่องนี้” หรือ “ฉันไม่รู้เรื่องนี้” เหมือนกัน

ข้อสังเกต  อนุประโยคที่มีบทเชื่อม ว่า หรือ ให้ ที่เป็นนามานุประโยคนี้ ก็มีเฉพาะที่อยู่ท้ายสกรรมกริยา  จึงทำหน้าที่เป็นนามกรรมการก แต่ถ้าอยู่ท้ายอกรรมกริยา หรือสกรรมกริยาที่มีการรมการกอยู่แล้ว ก็เป็นวิเศษณานุประโยค

(๔) นามานุประโยคแทนบทวิกัติการกต่างๆ คือ หมายความว่า เอาอนุประโยคมาทำหน้าที่เป็นบทวิกัติการกต่างๆ แทนนาม เช่น

ก. ขยายประธาน “ข่าว คือตามีตาย ไม่จริง”
หรือ “ข่าว ว่าตามีตาย ไม่จริง”
หรือ “ข่าว ที่ว่าตามีตาย ไม่จริง” เป็นต้น

คำ คือ ว่า ที่ว่า นับว่าเป็นบทเชื่อมทั้งนั้น และประโยคว่า ตามีตาย ย่อมทำหน้าที่นามวิกัติการกของคำ ข่าว เช่นเดียวกับประโยคว่า “ข่าว การตายไม่จริง” เหมือนกัน

และประโยคเช่นนี้ จะใช้แทนนามวิกัติการก และประกอบคำอื่นๆ ก็ได้เช่นเดียวกัน คือ

ข. ขยายกรรม-“ฉันไม่ทราบข่าว ว่าตามีตาย”
ค. ขยายนามอื่นๆ-“หลักฐานของข่าว ว่าตามีตาย ยังมั่นคงอยู่”
ฆ. ช่วยกริยาเป็น-“ความเชื่อของเขาเป็น ว่าโลกนี้กลม”
หรือ “ความเชื่อของเขาเป็น อันว่าโลกนี้กลม”
หรือ “คำตัดสินเด็ดขาดเป็น อันให้จำเลยแพ้” ดังนี้เป็นต้น

หมายเหตุ  อนุประโยคที่ใช้แทนนาม ซึ่งเป็นวิเศษณการกนั้น โดยมากมักตามหลังบุพบท เพื่อ หรือ สำหรับ เป็นพื้น เช่น “เขาพูด เพื่อให้เราเสีย” หรือ “เขาเลี้ยงลูก เพื่อว่าลูกจะได้เลี้ยงเขา” ดังนี้คำ เพื่อ ซึ่งเคยเป็นบุพบทนั้น เมื่อมาทำหน้าที่เชื่อมประโยครวมกับคำ ให้ หรือ ว่า เป็น เพื่อให้ เพื่อว่า ก็กลายเป็นประพันธวิเศษณ์ไป และประโยคที่อยู่ท้ายประพันธวิเศษณ์นก็กลายเป็นวิเศษณานุประโยค ซึ่งจะกล่าวข้างหน้าต่อไป หาใช่เป็น นามานุประโยคดังกล่าวแล้วไม่ และถึงแม้จะละคำ เพื่อ เสียว่า เขาพูด ให้ เราเสีย ฯลฯ ก็ได้ นับว่าเป็นวิเศษณานุประโยคเช่นเดียวกัน

ข้อสังเกต คำ “ให้ ว่า ที่ว่า” คือที่เป็นบทเชื่อมนามานุประโยคข้างบนนี้ก็นับเป็นประพันธวิเศษณ์ ซึ่งทำหน้าที่เชื่อมวิเศษณานุประโยค ซึ่งจะกล่าวต่อไปเหมือนกัน ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าอนุประโยคที่อยู่หลังบทเชื่อมเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นนามก็เป็นนามานุประโยค แต่ถ้าทำหน้าที่แทนวิเศษณ์แล้วก็ต้องเป็นวิเศษณานุประโยคได้เหมือนกัน ขอให้สังเกตต่อไปข้างหน้าอีก

คุณานุประโยค คือ อนุประโยคซึ่งทำหน้าที่แทนบทวิเศษณ์ สำหรับประกอบนามหรือสรรพนามที่มีอยู่ในมุขยประโยคอีกทีหนึ่ง ประโยคชนิดนี้มีประพันธสรรพนาม ที่ ซึ่ง อัน เป็นบทเชื่อม คู่กันกับวิเศษณานุประโยคที่มีประพันธวิเศษณ์เป็นบทเชื่อม ดังตัวอย่างต่อไปนี้

“คน ที่เกียจคร้าน ย่อมลำบาก”
“ฉันไม่ชอบคน ซึ่งเกียจคร้าน”
“ผลของการ อันเหลวไหล ย่อมไม่แน่นอน”

หมายเหตุ คุณานุประโยคที่อยู่ท้ายลักษณนามวิกัติการก บางทีก็ละประพันธสรรพนามเสียบ้าง เช่น

“ม้าตัว ที่ท่านชอบ ตายเสียแล้ว” หรือบทเชื่อมว่า
“ม้าตัว ท่านชอบ ตายเสียแล้ว” ดังนี้เป็นต้น

อีกอย่างหนึ่ง บุพบทวลีของเรา มักละบุพบทเสียโดยมาก เช่น เขาเกิดในปีจอ ก็ละว่า เขาเกิดปีจอ เป็นต้น และคุณานุประโยคที่แต่งบุพบทวลีเหล่านี้ บางทีก็ละบทเชื่อมเสียด้วยดุจกัน เช่น เขาเกิดในปีที่ฉันเข้ารับราชการก็ใช้พูดสั้นๆ ว่า เขาเกิดปีฉันเข้ารับราชการ ดังนี้เป็นต้น นับว่าคล้ายคลึงกับข้างบนนี้

ข้อสังเกต  คุณานุประโยคจะต้องมีประพันธสรรพนามเป็นบทเชื่อมแทบทั้งนั้น จะมีละบทเชื่อมอยู่บ้างก็มีเล็กน้อยดังตัวอย่างข้างบนนี้ และบทเชื่อมของคุณานุประโยคต้องติดอยู่กับนาม หรือสรรพนามเสมอ แต่ถ้าบทเชื่อมอยู่กับคำ คือ ก็ดี หรือมีบทเชื่อมขึ้นก่อนลอยๆ ไม่มีนามหรือสรรพนามนำหน้าก็ดี ย่อมเป็นอนุประโยคชนิดอื่น หาใช่เป็นคุณานุประโยคไม่ ดังตัวอย่างที่อ้างไว้ในข้ออธิบายนามานุประโยคว่า “ฉันไม่ชอบ ที่ท่านทำเช่นนี้” หรือว่า “ที่ท่านทำเช่นนี้ ฉันไม่ชอบ” ประโยคที่ว่า ที่ท่านทำเช่นนี้ ข้างบนนี้ เป็นนามานุประโยคทั้งนั้น ถ้าจะให้เป็นคุณานุประโยคต้องเติมคำนามหรือสรรพนามต่อเข้าข้างหน้า เช่น “ฉันไม่ชอบ การ ที่ท่านทำเช่นนี้” หรือว่า “การ ที่ท่านทำเช่นนี้ฉันไม่ชอบ” เพราะประโยค ที่ท่านทำเช่นนี้ ทำหน้าที่เป็นบทขยายนาม คือ การ หาใช่เป็นประโยคทำหน้าที่กรรมดังก่อนไม่

วิเศษณานุประโยค  คืออนุประโยคซึ่งทำหน้าที่เป็นวิเศษณ์สำหรับประกอบกริยา หรือคำวิเศษณ์ด้วยกัน อันเป็นส่วนหนึ่งของประโยคสำคัญคือ มุขยประโยค ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ก. “ฉันมา เมื่อเธอหลับ” เมื่อเธอหลับ แต่ง กริยา มา
ข. “คนอ้วน จนเขาเดินไม่ไหว ไม่ดี” จนเขาเดินไม่ไหว แต่งวิเศษณ์ อ้วน
ค. “เขาพูดเร็ว จนฉันฟังไม่ทัน” จนฉันฟังไม่ทัน แต่งวิเศษณ์ เร็ว

บทเชื่อมของวิเศษณานุประโยคนี้ ก็คือคำ เมื่อ จน เพราะ ทาง ตาม ฯลฯ ซึ่งเมื่อนำหน้านาม เช่น เมื่อเช้า จนเย็น เพราะ ธุระ ทาง บ้าน ตามถนน ฯลฯ ก็นับว่าเป็นบุพบท แต่เมื่อได้เชื่อมวิเศษณานุประโยคก็กลายเป็นประพันธวิเศษณ์  ซึ่งทำหน้าที่เป็นบทเชื่อมไปอย่างเดียวกับคำประพันธสรรพนาม ที่ ซึ่ง อัน ซึ่งเชื่อมคุณานุประโยคฉะนั้น เช่น

ก. “เขามา เมื่อ เช้า” เมื่อ เป็นบุพบท
“เขามา เมื่อ เธอหลับ” เมื่อ เป็นประพันธวิเศษณ์

ข. “ปลาหมอตาย เพราะ ปาก” เพราะ เป็นบุพบท
“ปลาหมอตาย เพราะ ปากไม่ดี” เพราะ เป็นประพันธวิเศษณ์

ค. “เขาอยู่ ทาง บ้าน” ทาง เป็นบุพบท
“เขาไป ทาง เราเดิน” ทาง เป็นประพันธวิเศษณ์ดังนี้เป็นต้น

ข้อสังเกต  ให้ผู้ศึกษาสังเกตไว้เป็นหลักว่า คำภาษาไทยย่อมไม่คงที่ ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามหน้าที่ ที่นำมาใช้ เช่น คำ เมื่อ และ ทาง แต่เดิมก็เป็นนาม เช่น “เขาสบายทุก เมื่อ” หรือ “ข้าศึกมาทุก ทาง” แต่ถ้านำมาใช้นำหน้านาม เช่น “เขามาเมื่อเช้า” หรือ “เขาอยู่ทางบ้าน” ก็เป็นบุพบทไป และถ้านำไปใช้เป็นบทเชื่อมวิเศษณานุประโยค เช่น “เขามา เมื่อ ฝนตก” หรือ “เขามา ทาง เราเดิน” ก็กลายเป็นประพันธวิเศษณ์ไป แล้วแต่หน้าที่ใช้ประกอบ และไม่ควรลืมด้วยว่า คำประพันธวิเศษณ์นั้น มีหน้าที่ใช้เชื่อมวิเศษณานุประโยค

ลักษณะของวิเศษณานุประโยค  ตามที่กล่าวมาแล้วว่า วิเศษณานุประโยคย่อมมีหน้าที่เหมือนคำวิเศษณ์นั้น ที่จริงหามีลักษณะเหมือนกันทีเดียวไม่ คือวิเศษณานุประดยคย่อมบอกหน้าที่ตามลักษณะดังต่อไปนี้

ก. บอกลักษณะ เช่น “เขาทำเลขคณิต ตามฉันสอนเขา” หรือ “เขาทำได้ ตามครูทำ” “เขาแสดงตน ให้คนนับถือเขา” “เขารู้ใจฉันดี ว่าฉันไม่กลัวเขา” “เขาอนุญาต ให้ฉันไปบ้าน” “เขาห้ามฉัน ไม่ให้ฉันไปบ้าน” เป็นต้น

ข. บอกกาล เช่น “เขามา เมื่อฝนตก” เป็นต้น

ค. บอกสถาน เช่น “กระเบื้องตก ตรงฉันนอน” หรือ “เขาทะเลาะกัน ใกล้ฉันนั่งอยู่” เป็นต้น

ฆ. บอกเหตุ เช่น “ยุงชุม เพราะน้ำเน่า” หรือ “เด็กร้องไห้ เพราะหิวนม” เป็นต้น

ง. บอกผล เช่น “น้ำเน่า จนยุงชุม” หรือ “เด็กหิวนม จนร้องไห้”

จ. บอกความเปรียบ คือ
(ก) เท่ากัน เช่น “เรือแล่น เหมือนลมพัด” หรือละว่า “เรือแล่นเหมือนลม” “เขาทำได้ อย่างฉันทำ” หรือละว่า “เขาทำได้ อย่างฉัน” “เขารู้หนังสือ เท่าฉันรู้หนังสือ” หรือละว่า “เขารู้หนังสือ เท่าฉัน” “ดาวล้อมเดือนในท้องฟ้า ดังนางสนมล้อมเรียมในปราสาท” เป็นต้น

(ข) ไม่เท่ากัน เช่น “เขารักเมียมาก กว่าเขารักน้อง” หรือละว่า “เขารักเมียมาก กว่าน้อง” “เขาสูง กว่าฉันสูง” หรือละว่า “เขาสูง กว่าฉัน” “เขากินข้าวจุ กว่าฉันกินข้าวจุ” หรือละว่า “เขากินข้าวจุ กว่าฉัน” เป็นต้น

วิธีบอกสัมพันธ์สังกรประโยค  การบอกสัมพันธ์สังกรประโยคนั้น ทำอย่างเดียวกันกับอเนกรรถประโยค

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร

อเนกรรถประโยค

อเนกรรถประโยค  ก่อนจะอธิบายถึงอเนกรรถประโยค จะขออธิบายถึงเอกรรถประโยคอีกเล็กน้อย พอให้เข้าใจความติดต่อกัน คือเอกรรถประโยคนั้น หมายถึงข้อความอย่างหนึ่งๆ เช่น คนกินข้าว  ซึ่งมีภาคประธาน คือ คน และภาคแสดง คือ กินข้าว ครบเป็นข้อความอย่างหนึ่ง แต่อเนกรรถประโยคที่จะอธิบายต่อไปนี้ ต่างกับเอกรรถประโยคคือเป็นประโยคที่มีข้อความเป็นเอกรรถประโยคนั้นหลายประโยคเกี่ยวเนื่องรวมอยู่ด้วยกันเป็นประโยคเดียว ดังนั้นท่านจึงเรียกประโยคชนิดนี้ว่า อเนกรรถประโยค ซึ่งแปลว่า ประโยค ที่มีเนื้อความไม่ใช่อย่างเดียว คือ มีเนื้อความหลายอย่าง (อน+เอก+อรรถ=อเนกรรถ)

ในตำราเก่าท่านจัดประโยคที่มีเอกกรรถประโยครวมอยู่หลายประโยคนี้ว่าประโยคใหญ่ เป็นคู่กับ ประโยคเล็ก หรือ ประโยคสามัญ ดังกล่าวแล้ว และท่านแบ่งประโยคใหญ่นี้ออกเป็น ๒ พวก คือ ประโยคความรวม  ซึ่งได้แก่ อเนกรรถประโยคที่จะกล่าวนี้พวกหนึ่ง และประโยคแต่ง คือ สังกรประโยคอีกพวกหนึ่ง ซึ่งจะกล่าวต่อไปข้างหน้า

แต่ที่นี้จะแบ่งออกเป็น ๓ พวก คือ เอกรรถประโยค ที่แสดงมาแล้วพวกหนึ่ง อเนกรรถประโยค ที่จะแสดงนี้พวกหนึ่ง และ สังกรประโยคที่จะแสดงต่อไปอีกพวกหนึ่ง เพื่อให้เข้าระเบียบกันเป็นพวกๆ เป็นการง่ายแก่ผู้ศึกษายิ่งขึ้น

รูปของอเนกรรถประโยค  อเนกรรถประโยคมีลักษณะรูปร่างที่จะสังเกตได้ทั่วไป ก็คือ มีเอกรรถประโยค ตั้งแต่ ๒ ประโยคขึ้นไปเรียงกัน และมีสันธานเป็นเครื่องเกี่ยวเชื่อมอยู่ในระหว่างเอกรรถประโยคนั้นๆ ให้ความติดต่อเป็นประโยคเดียวกัน เช่นตัวอย่าง น้ำขึ้นแต่ลมลง ดังนี้จะเห็นได้ว่า เอกรรถประโยค คือ น้ำขึ้น ประโยคหนึ่ง กับ ลมลง อีกประโยคหนึ่ง มีสันธาน แต่ เข้ามาเชื่อมให้ติดกันเป็น น้ำขึ้นแต่ลมลง ทำให้เป็นอเนกรรถประโยคขึ้น เพราะสังเกตสันธาน แต่ เป็นบทเชื่อม และอเนกรรถประโยคนี้จะมีเอกรรถประโยคมากกว่า ๒ ประโยคขึ้นไปเท่าไรก็ได้ แล้วแต่ข้อความที่ใช้พูดจากัน เช่นตัวอย่าง ฉันจะไปเที่ยว แต่ท่านจะอยู่บ้าน หรือท่านจะไปไหน? ทั้งหมดนี้นับว่าเป็นอเนกรรถประโยคเดียว เพราะมีสันธานเชื่อมให้ติดต่อกัน ถ้าประโยคใดมีประธานซ้ำกันจะละเสียบ้างก็ได้ เช่น ประโยกข้างบนนี้จะกล่าวว่า ฉันจะไปเที่ยว แต่ท่านจะอยู่บ้าน-หรือจะไปไหน? ดังนี้เป็นต้น และบางทีก็เอาบทเชื่อมไปไว้ผิดที่ เช่นตัวอย่าง เขาโกรธท่านเขาจึงไม่ไปบ้านท่าน ดังนี้ก็ได้ ดังจะอธิบายต่อไปข้างหน้า

อเนกรรถประโยคที่มีรูปดังตัวอย่างข้างบนนี้ นับว่าเป็นอเนกรรถประโยคธรรมดา ถึงจะละบทบางบทเช่นประธาน หรือเอาบทเชื่อมไปไว้ผิดที่บ้างก็ยังสังเกตได้ง่าย เมื่อได้เรียนเป็นลำดับไปแล้วก็จะเข้าใจได้แจ่มแจ้ง จึงไม่จำเป็นต้องอธิบายให้พิสดารในที่นี้

อเนกรรถประโยครวม ประโยคชนิดนี้ก็เป็นอเนกรรถประโยคเหมือนกัน แต่มีรูปผิดกัน เช่นเอา บทสำคัญ ของเอกรรถประโยคนั้นๆ มาเรียงให้ติดต่อกัน โคยเอาบทเชื่อมคั่นเข้าไว้และใช้บทกริยาบทเดียวกัน เช่นตัวอย่าง ตาและยายนั่งอยู่ที่บ้าน ซึ่งถ้าจะเรียงเป็นอเนกรรถประโยคธรรมดา ดังข้างบนนี้ จะต้องเรียงว่า ตานั่งอยู่ที่บ้าน และยายนั่งอยู่ที่บ้าน ดังนี้อย่างหนึ่ง และยังมีอเนกรรถประโยครวมอย่างอื่นอีก จึงควรจะอธิบายให้พิสดารยิ่งกว่านี้ เพื่อผู้ศึกษาจะได้ยึดถือเป็นหลักต่อไป และอเนกรรถประโยครวมที่จะกล่าวนี้ โดยมากมักใช้คำสันธาน-และ เป็นบทเชื่อมอย่างหนึ่ง และใช้คำสันธาน-หรือ เป็นบทเชื่อมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งนับว่ามีดาษดื่นทั่วไปในภาษาไทย นอกจากนี้ก็มีบทเชื่อมอื่นอีกบ้าง แต่ไม่สำคัญเท่าบททั้ง ๒ ที่กล่าวแล้วนั้น ดังจะอธิบายให้พิสดารต่อไปนี้

(๑) อเนกรรถประโยครวมที่ใช้คำ “และ” เป็นบทเชื่อม ประโยครวมชนิดนี้บางทีก็เอาภาคประธานของเอกรรถประโยคที่ต่างกันมาไว้กลุ่มเดียวกัน และมีสันธาน และคั่นภาคประธานเหล่านั้น และบางทีก็เอาภาคแสดงมารวมกันแล้วเอาคำ และ คั่นดุจเดียวกัน และส่วนใดที่ซ้ำกันในทุกเอกรรถประโยคก็ละเสีย เรียงไว้แต่เพียงบทเดียว เช่นบท นั่งอยู่ที่บ้าน ข้างบนนี้ถ้าเป็นประโยครวมสั้นๆ บางทีก็ละบทเชื่อมไว้ในที่เข้าใจด้วย ซึ่งผู้ศึกษาอาจจะทราบได้ในตัวอย่าง ต่อไปนี้

ก. รวมภาคประธานละภาคแสดง
เอกรรถประโยคเรียงกัน – ยายทำนา ตาทำนา
อเนกรรถประโยคธรรมดา-ยายทำนา และตาทำนา
อเนกรรถประโยครวม – ยายและตาทำนา
อเนกรรถประโยคละบทเชื่อม-ยาย ตา ทำนา

ข. รวมภาคแสดงละภาคประธาน:-
เอกรรถประโยคเรียงกัน- ตาสีไปที่โรงนา ตาสีนั่งที่โรงนา
อเนกรรถประโยคธรรมดา-ตาสีไปที่โรงนา และตาสีนั่งที่โรงนา
อเนกรรถประโยครวม-ตาสีไปและนั่งที่โรงนา
อเนกรรถประโยคละบทเชื่อม – ตาสีไปนั่งที่โรงนา

ข้อสังเกต ๑ ในเรื่อง บทสำคัญ ที่ใช้ในอเนกรรถประโยกข้างบนนี้ ควร สังเกตไว้เป็นหลัก คือ

ก. บทสำคัญของภาคประธานได้แก่ บทประธาน
ข. บทสำคัญของภาคแสดงได้แก่

๑. บทกริยาต่างๆ (นอกจากวิกตรรถกริยาซึ่งจะกล่าวต่อไป) คือ
อกรรมกริยาต่างๆ ทั้งที่เป็นอกรรมกริยาแท้ เช่น นั่ง นอน ยืน , เดิน ฯลฯ ทั้งที่เอาคำวิเศษณ์ เช่น สวย งาม ดี ชั่ว ฯลฯ มาทำหน้าที่แทนกริยา และสกรรมกริยา เช่น กิน ทุบ ตี ฯลฯ

๒. วิกตรรถกริยากับบทวิกัตการกช่วยวิกตรรถกริยา คำวิกตรรถกริยา ทั้งหลายเช่นคำ เป็น เป็นต้น นี้สักว่าเป็นกริยาเท่านั้น ไม่มีความหมาย อย่างไรเลย ส่วนความหมายนั้นไปอยู่ที่ บทวิกัติการก ช่วยกริยาพวกนี้อีกทีหนึ่ง เพราะฉะนั้นผู้ศึกษาจะต้องสังเกตไว้เป็นพิเศษว่า บทสำคัญ ของภาคแสดงที่มีบทกริยาเป็นวิกตรรถกริยานั้น ต้องรวมบทวิกัติการก ช่วยวิกตรรถกริยาเข้าด้วย เช่น บุตรของฉันเป็นนายอำเภอ บทสำคัญในภาคประธาน คือ บุตร และบทสำคัญในภาคแสดงนั่นคือ เป็นนายอำเภอ และในอเนกรรถประโยครวมก็ต้องถือเอาบทวิกตรรถกริยา พร้อมด้วยบทวิกัติการกช่วยกริยานั้น เป็นบทสำคัญของภาคแสดงเช่นเดียวกันด้วย ดังตัวอย่างต่อไปนี้

อเนกรรถประโยคธรรมดา -เขาเป็นภรรยาดี และเขาเป็นมิตรดี
อเนกรรถประโยครวมคงกริยาไว้-เขาเป็นภรรยา และเป็นมิตรดี
อเนกรรถประโยครวมละกริยา-เขาเป็นภรรยา และมิตรดี

(๒) อเนกรรถประโยครวมที่ใช้ “หรือ” เป็นบทเชื่อม อเนกรรถประโยค
รวมที่มีสันธาน หรือเป็นบทเชื่อมนั้นก็มีลักษณะคล้ายกับประโยคที่มีสันธาน และเป็นบทเชื่อมโดยมาก แต่บางประโยคก็มีรูปแปลกออกไปบ้าง ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ก. รวมภาคประธานละภาคแสดง
เอกรรถประโยครวมกัน-นายแดงอยู่บ้าน นายดำอยู่บ้าน
อเนกรรถประโยคธรรมดา-นายแดงอยู่บ้าน หรือนายดำอยู่บ้าน
อเนกรรถประโยครวม-นายแดง หรือนายดำอยู่บ้าน

ข. รวมภาคแสดง ละภาคประธาน
เอกรรถประโยคเรียงกัน-นายดำนั่ง นายดำนอน
อเนกรรถประโยคธรรมดา –นายดำนั่ง หรือนายดำนอน
อเนกรรถประโยครวม-นายดำนั่งหรือนอน

หมายเหตุ ประโยคชนิดนี้ถ้ามีเนื้อความรับกับเนื้อความปฏิเสธเป็นคู่กันแล้ว มักจะละประโยคท้ายเสีย คงไว้แต่คำ หรือไม่ เท่านั้น บางทีก็ละคำ ไม่ ออกเสีย คงไว้แต่คำสันธาน หรือคำเดียวเท่านั้น เช่นนี้ย่อมมีโดยมาก เช่นตัวอย่าง
เอกรรถประโยคเรียงกัน-ท่านจะนอน ท่านจะไม่นอน
อเนกรรถประโยคธรรมดา-ท่านจะนอน หรือท่านจะไม่นอน?
อเนกรรถประโยครวม-ท่านจะนอน หรือไม่ ?
อเนกรรถประโยครวมคงไว้แต่คำ หรือ – ท่านจะนอนหรือ ?

ถ้าประโยคขื่างท้ายมีวิเศษณ์บอกความโต้ตอบกัน เช่น เปล่า หามิได้ ก็ดี หรือกริยานุเคราะห์ ยัง ก็ดี ก็ละประโยคท้ายเสีย เหลือไว้แต่คำสันธาน หรือกับคำวิเศษณ์และกริยานุเคราะห์ ยัง ว่า หรือเปล่า หรือหามิได้ หรือยัง ดังตัวอย่างต่อไปนี้

อเนกรรถประโยคธรรมดา-เขาจะมา หรือเปล่า-เขาจะไม่มา, เขา จะมา หรือ หามิได้-เขาจะไม่มา เขาจะมา หรือ เขายังไม่มา

อเนกรรถประโยครวม-เขาจะมาหรือเปล่า, เขาจะมาหรือ หามิได้ เขาจะมาหรือยัง ดังนี้เป็นต้น

แต่ถ้าประโยคหน้ามีความปฏิเสธ และประโยคหลังมีเนื้อความรับ เช่นนี้ มักละประโยคหลังทั้งหมด เหลือแต่สันธาน หรือ เท่านั้น เช่น ตัวอย่าง

อเนกรรถประโยคธรรมดา – เจ้าจะไม่ไปหรือ เจ้าจะไป
อเนกรรถประโยครวม – เจ้าจะ ไม่ไปหรือ ?
ดังนี้เป็นต้น

ข้อสังเกต ๒ ในการละประโยคท้ายนี้ อยู่ที่ความมุ่งหมายของผู้พูด คือ ถ้าผู้พูดต้องการคำใดให้เป็นคำสำคัญก็เหลือคำนั้นไว้เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจแจ่มแจ้ง เช่นตัวอย่าง

อเนกรรถประโยคธรรมดา-ฉันไม่ต้องทำงานดึกหรือฉันต้องทำงานดึก อเนกรรถประโยครวม-ฉันไม่ต้องทำงานดึกหรือ แต่ถ้าผู้พูดประสงค์จะให้คำ ต้อง เป็นคำสำคัญ ก็เอาคำ ต้อง คงไว้ว่า ฉันไม่ต้องทำงานดึก หรือต้อง ดังนี้เป็นต้น

หมายเหตุ อเนกรรถประโยคที่มีบทเชื่อมเป็นอย่างอื่นนอกจากคำ และ กับคำ หรือ ดังแสดงมาแล้ว ยังมีอีกมาก แต่มักจะไม่ใช่อเนกรรถประโยครวม ดังที่แสดงมาแล้ว คือเป็นอเนกรรถประโยคธรรมดา ซึ่งโดยมากมักจะละบางส่วนที่ซ้ำกันเสีย อันเป็นไปตามระเบียบของประโยคคำพูด ดังได้อธิบายมาแล้ว ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องอธิบายในที่นี้๑

ข้อสังเกต ๓  อเนกรรถประโยครวมข้างบนนี้ อาจจะเป็นเอกรรถประโยคได้ในลักษณะต่อไปนี้

ก. ถ้าย่อคำ หรือ กับคำ ไม่ เข้าเป็นคำ ไหม คำเดียว เช่น เขาจะนอนไหม? เขาจะกินข้าวไหม? เป็นต้น ประโยคเหล่านี้ก็เป็นเอกรรถประโยคไปและคำ ไหม ก็เป็นวิเศษณ์ขยายกริยาบอกความถามไป

ข. ถ้าคำ หรือ ข้างท้ายประโยคนั้น มีความหมายเพียงเป็นคำวิเศษณ์บอกความถาม ไม่ใช่ใช้เป็นบทเชื่อมประโยคข้างท้าย เช่น ประโยคว่า “อ้อ! ท่านต้องการเท่านี้ แหละหรือ?” และว่า “ฉันสู้ท่านไม่ได้ฉะนั้น หรือ? เป็นต้น ประโยคเช่นนี้นับว่าเป็นเอกรรถประโยค และคำว่า แหละหรือ กับ หรือ ข้างท้ายประโยคนั้นนับว่าเป็นวิเศษณ์บอกความถาม หาใช่เป็นสันธานไม่ เพราะคำ หรือ ในที่นี้มีความหมายบอกให้ทราบว่าเป็นคำถามเท่านั้น หาได้เชื่อมความต่อไปอีกอย่างอเนกรรถประโยครวมข้างบนนั้นไม่

ค. อเนกรรถประโยคที่รวมภาคแสดงนั้น มีที่สังเกตต่างกับเอกรรถประโยคที่มี กริยา หรือ กริยาวลี เป็นบทขยายกริยาของประโยคดังนี้ คือ อเนกรรถประโยครวมภาคแสดงนั้น จะเอาสันธานแทรกลงในระหว่างกริยาที่เขาเรียงกันอยู่ก็ได้ความเช่นกัน เช่นตัวอย่างอเนกรรถประโยคว่า เขาไปนั่งสูบบุหรี่ที่นา และอเนกรรถประโยคว่า ใครจะนั่งนอนก็ได้ ดังนี้ ถ้าเอาคำสันธาน และแทรกระหว่างกริยาของประโยคต้นเข้าเป็น เขาไป และนั่งสูบบุหรี่ที่นา
………………………………………………………………………………………….
๑ ตำราเก่าท่านจัด อเนกรรถประโยค ที่ย่อส่วนต่างๆ รวมกันเข้าเป็นประโยคเดียวที่เรียกว่าประโยครวมในตำรานี้ เป็นประโยคพวกหนึ่งเรียกว่า สังเขปาเนกรรถประโยค และจัดประโยคทีละส่วนไว้ในที่เข้าใจเป็นอีกพวกหนึ่ง ให้ชื่อว่า บูรยาลาเนกรรถประโยค และ ให้บอกชื่อประโยคเหล่านี้ในการบอกสัมพันธ์ด้วย เป็นการยุ่งเหยิงเกินจำเป็น ในที่นี้ จะอธิบายให้ทราบว่า รูปประโยคของภาษาไทยย่อมเป็นประโยครวมกัน และบางส่วนที่ซ้ำกันดังที่กล่าวข้างบนนี้เท่านั้น และไม่ต้องบอกสัมพันธ์ถึงรูปประโยคว่าเป็นสังเขปฯ หรือ บูรยาลาฯ ให้ยุ่งเหยิงใช่เหตุ เพราะประโยคในภาษาไทยย่อมเป็นเช่นนี้เป็นพื้นอยู่แล้วแทบทั้งหมด
………………………………………………………………………………………….
และเอาสันธาน หรือ แทรกกริยาประโยคท้ายเข้าเป็น ใครจะนั่งหรือนอนก็ได้ ดังนี้เป็นต้น ก็ยังคงได้ความอยู่เช่นเดิม จึงนับว่าประโยคทั้ง ๒ นี้เป็นอเนกรรถประโยครวม

แต่อเนกรรถประโยคที่มี กริยา หรือ กริยาวลี เป็นบทขยายกริยาของ ประโยคนั้น ถ้าเอาสันธาน และ ก็ดี สันธาน หรือ ก็ดี มาแทรกเข้าระหว่าง กริยา ของประโยค กับ กริยา หรือ กริยาวลี ที่ขยายกริยาของประโยคนั้นแล้ว ความหมายก็จะผิดไปจากเดิม เช่น ตัวอย่างประโยคว่า ฉันฝันเห็นช้าง ดังนี้ก็ดี หรือประโยคว่า เขาบอกขายเรือ ดังนี้ก็ดี จะเห็นได้ว่าบทกริยาของประโยค ทั้ง ๒ นี้อยู่ที่คำ ฝัน และคำ บอก ส่วนบทว่า เห็นช้าง ก็ดี หรือ ขายเรือ ก็ดี เป็นเพียง บทกริยาวลี ขยายกริยาของประโยคคือ ฝัน และ บอก เท่านั้น หาใช่เป็น บทกริยารวม ของอเนกรรถประโยคดังข้างบนนั้นไม่ เพราะถ้าจะเอาสันธานแทรกเข้าเป็น –ฉันฝัน และ ฉันเห็นช้าง ก็ดี เป็น-เขาบอก และ เขาขายเรือ ก็ดี ความหมายก็ผิดไปจากเดิม ดังนั้นประโยคทั้ง ๒ นี้ จึงนับว่าเป็นเอกรรถประโยค ถึงจะเปลี่ยนรูปประโยคเป็นประโยคกรรม คือเอา ช้าง และ เรือ มาเป็นประธานดังนี้ ช้าง ถูกฉันฝันเห็น และ เรือ ถูกเขาบอกขาย คำว่า เห็น และ ขาย ก็ต้องเป็นบทแต่งกริยาของประโยก ซึ่งรวมกันเป็น บทกริยาวลี ว่า ฝันเห็น และ บอกขาย อยู่นั่นเอง จะแยกออกเป็นกริยา ๒ บทอย่างอเนกรรรถประโยครวมหาได้ไม่

แต่ถึงกระนั้นก็ดี ขอให้ผู้ศึกษาสำเหนียกไว้เสมอว่า ประโยคภาษาไทย ต้องอาศัยความ คือความมุ่งหมายของผู้พูดเป็นใหญ่ ดังนั้นประโยคข้างบนนี้อาจจะเป็นอเนกรรถประโยครวมไปบ้างก็ได้ เช่น นาย ก. เดินเตะกระโถนเล่น ซึ่งผู้พูดหมายความว่า นายก.เดินไปด้วย และเตะกระโถนเล่นด้วย ดังนี้เป็นต้น แต่ถ้าบท เตะกระโถน นั้น ผู้พูดต้องการจะให้เป็นบท กริยาวลีแต่งกริยา เพื่อแสดงความซุ่มซ่ามของผู้เดินแล้ว ประโยคนั้นก็ต้องนับว่าเป็นเอกรรถประโยคดังชี้แจงมาแล้ว

ลักษณะคำ “กับ ”คำ “ และ” คำ กับ นี้เราเคยใช้เป็นสันธานเหมือนคำ และ อย่างเดียวกับคำ แอนด์ (and) ของอังกฤษ แต่คำ กับ ของเรายังมีหน้าที่ใช้เป็นบุพบทได้ด้วย ซึ่งมีความหมายว่า ร่วมด้วย หรือ ด้วย ซึ่งตรงกับบุพบท วิถ (with) ของอังกฤษ ดังในประโยคว่า “ฉันเห็น กับตา (ฉันเห็น ด้วยตา) หรือ เขาไป กับครู (เขาไป ร่วมด้วยครู) ดังนี้เป็นต้น
แต่ตามหลักภาษาไทยเราคำ กับ ที่ใช้เป็นสันธาน แทนคำ และ ก็มีบ้างแต่น้อยแห่ง ดังจะอธิบายต่อไปข้างหน้า นอกนั้นคำ กับ ย่อมเป็นบุพบทแทบทุกแห่ง ซึ่งจำเป็นจะต้องอธิบายให้พิสดารในที่นี้ คือ:-
ก. คำ และ ใช้ในที่มีความหมาย-พ้องกันอย่างกว้างๆ เช่น ยายและตาทำนา หมายความว่า ยายทำนาและตาก็ทำนาเหมือนกัน กล่าวคือ ยายก็ทำนาของยาย ตาก็ทำนาของตา เอาความว่า ภาคแสดง -ทำนา นั้นเป็นของยายต่างหาก และเป็นของตาก็ต่างหาก ไม่รวมกันมีความหมายเพียงว่าทำนาเหมือนกันเท่านั้น

แต่คำ กับ นั้นไม่ใช่เป็นสันธานเชื่อมประโยค ซึ่งจะแยกออกเป็นคนละ ประโยคได้ ย่อมมีหน้าที่เป็นบุพบทนำหน้าคำที่เรียกว่าบุพบทวลีทำหน้าที่เป็นวิเศษณการก แสดงความร่วมกิจการด้วยกันกับบทหน้า เช่น “ ยาย กับ ตา ทำนา” ก็หมายความว่า “ยาย ร่วมด้วยตา ทำนา” คำ กับตา เป็นบุพบทวลีวิเศษณการกแต่งคำ ยาย อย่างเดียวกับบุพบทวลีอื่นๆ เช่น “เสื้อ-ของตา” “เงิน-ที่ตา” เป็นต้น ฉะนั้น ถ้าจะแยก ยายกับตา ทำนา ออกเป็น ยายทำนา กับตาทำนา ดังเคยแยก ก็จะผิดอย่างเดียวกับแยก ยายของตาทำนา เป็นยายทำนา ของ ตาทำนา ฉะนั้น เพราะภาคแสดง ทำนา นี้เป็นของยาย ที่เป็นประธานบทเดียวเท่านั้น ส่วน กับตา นั้นเป็นบทประกอบคำ ยาย หมายความว่าร่วมกับ ตา เท่านั้น หาได้เป็นประธานด้วยไม่

ประโยค ยายกีบตาทำนา มีเนื้อความกว้าง พิสูจน์ให้เห็นชัดยาก จึงขอชักประโยคเช่นเดียวกันที่มีความแคบเข้ากว่านี้มาให้ดูอีกเพื่อให้เห็นว่าแยกออกเป็น ๒ ประโยคไม่ได้ เช่น สองกับสามเป็นห้า ควรเห็นว่า กับสาม เป็นบทแต่ง สอง อย่างเดียวกับบท กับตา แต่ง ยาย เหมือนกัน จะแยกเป็น ๒ ประโยคว่า สองเป็นห้า กับสามเป็นห้า ก็ไม่ได้เช่นกัน

ดังที่อธิบายมานี้ ประโยคเช่น ยายฉับตาทำนา จึงนับว่าเป็นเอกรรถประโยคอย่างเดียวกับประโยคว่า ยายทำนาร่วมฉับตา ฉะนั้น๑

หมายเหตุ ประโยคชนิดนี้มักใช้บุพบทวลี ด้วยกัน ประกอบ เข้าด้วย โดยมาก เช่น ยายฉับตาไถนาด้วยกัน กับตา เป็นบุพบทวลีวิเศษณการกแต่งคำ ยาย และบท ด้วยกัน ก็เป็นบุพบทวลีวิเศษณการกแต่งกริยา ไถ หรือ ยายไถนา ด้วยกันกับตา ดังนี้ บท ด้วยกัน ก็ดี กับตา ก็ดี ต่างเป็นบุพบทวลี วิเศษณการก แต่งกริยา ไถ ด้วยกันทั้งคู่

ข้อสังเกต ส่วนคำ กับ ที่ใช้เป็นสันธานแทนคำ และ นั้นก็มีเหมือนกัน ให้ผู้ศึกษาสังเกตดังนี้

คำ กับ ที่เป็นบุพบท จะต้องนำหน้าบทอื่น ซึ่งรวมกันเป็นบุพบทวลีอย่างเดียวกับบุพบทวลีอื่นๆ ซึ่งทำหน้าที่เป็นเครื่องใช้ เช่น “ฉันเห็น กับตา” และทำหน้าที่ร่วมด้วย เช่น ยายนั่ง กับตา (คือ ยายนั่งร่วมด้วยตา) หรือ ประโยคว่า “เขามา เพื่อนอนกับฉัน” บท นอนกับฉัน เป็นกริยาสภาวมาลาวลีซึ่งมีทำบุพบท เพื่อ นำหน้าเป็นบุพบทวลี และมีบุพบทวลี กับฉัน ประกอบท้าย หมายความว่า เพื่อนอนร่วมด้วยฉัน ที่นำมากล่าวซ้ำอีกนี้ก็เพื่อเทียบกันให้เห็นชัดขึ้น

แต่ยังมีคำ กับ ที่ใช้เชื่อมบทกริยาของภาคแสดง ซึ่งไม่ใช่ทำหน้าที่บุพบท อยู่บ้างในที่บางแห่ง เช่นตัวอย่างประโยคว่า เขาเขียนกับอ่านหนังสือเสมอ ดังนี้ย่อมสังเกตได้ว่า เขียน เป็นบทกริยาของประโยคและคำ หนังสือ ข้างท้ายเป็นกรรมการก ดังนั้น คำ อ่าน ก็ต้องเป็นบทกริยาของประโยค และมีหนังสือ เป็นกรรมการกร่วมกัน ในที่นี้คำ กับ ต้องทำหน้าที่สันธานอย่างเดียว กับคำ และ เพราะถ้า กับ เป็นบุพบทก็ใช้นำหน้ากริยาของประโยคไม่ได้ ดังนั้น ประโยคนี้จึงต้องเป็นอเนกรรถประโยค ซึ่งเป็นทำนองเดียวกับประโยคที่ใช้สันธาน และ ว่า เขาเขียนและอ่านหนังสือเสมอ และ คำ กับ ในที่นี้ต้องเป็นสันธานอย่างเดียวกับคำ และ และแยกประโยคออกเป็นดังนี้
………………………………………………………………………………………….
๑ ขอให้ผู้ข้องใจข้อนี้ ทราบด้วยว่า การที่แก้ไขข้อนี้ ย่อมเสียเวลาตรึกตรองทบทวนและสอบสวน ผู้ชำนาญทางนี้มากมายแล้วจึงได้ตกลงตั้งเป็นแบบได้ดังข้างบนนี้
………………………………………………………………………………………….
ก. สันธาน กับ-เขาเขียนหนังสือเสมอ กับ เขาอ่านหนังสือเสมอ
ข. สันธาน และ-เขาเขียนหนังสือเสมอ และ เขาอ่านหนังสือเสมอ

ทั้ง ๒ ประโยคนี้มีความหมายต่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น คือ ประโยคสันธาน กับ หมายความว่า เขาเขียนกับอ่านร่วมกันไปเสมอ แต่ประโยคสันธาน และ หมายความห่างออกไป คือบางครั้งเขาก็เขียน บางครั้งก็อ่าน ไม่จำเป็นเขียนแล้วต้องอ่านร่วมกันไปอย่างประโยคต้น ที่จริงผู้พูดย่อมพูดไปตามเคยชินทั้งนั้น หาพิเคราะห์ถึงความแตกต่างกันดังกล่าวนี้นักไม่

ข้อสำคัญที่จะสังเกตก็คือ กับ ที่เป็นบุพบทจะต้องนำหน้า นาม สรรพนาม และกริยาสภาวมาลา อย่างบุพบทอื่นๆ

ตำแหน่งสันธานทเชื่อมอเนกรรถประโยค สันธานที่ทำหน้าที่เชื่อมอเนกรรถประโยคนั้น มีตำแหน่งเรียงไว้ไม่เหมือนกัน คงจะจำแนกไว้เพื่อเป็นที่สังเกตดังนี้

ก. สันธานที่เรียงไว้ในระหว่างประโยค ซึ่งนับว่าถูกต้องตามหน้าที่ของบทเชื่อม เช่นตัวอย่าง:-

“น้ำขึ้น แต่ ลมลง”
“เขามีทรัพย์ และ เขามีปัญญา”
“เขานอน หรือ เขานั่ง” ดังนี้เป็นต้น

ข. สันธานที่เรียงไว้ผิดที่ คือไม่เรียงไว้ระหว่างประโยค มักเอาไปเรียง แทรกไว้ในประโยคท้าย เช่นตัวอย่าง
“เขาโกรธท่าน เขา จึง ด่าท่าน”
“เขาจะนอน เขา ก็ ไม่นอน”
“เขาทำคุณแก่ท่าน ท่าน ก็ ควรสนองคุณแก่เขา” ดังนี้เป็นต้น

ค. สันธานรวม ได้แก่สันธานหลายคำที่เชื่อมอเนกรรถประโยคเดียวกัน
ซึ่งเรียงไว้ห่างกันบ้าง ติดกันบ้าง ดังจะจำแนกต่อไปนี้

(๑) สันธานคาบ คือสันธานหลายคำเรียงอยู่ห่างกัน มีคำอื่นคั่นอยู่ใน ระหว่างกลาง แต่ความหมายของสันธานเหล่านั้นต่อกัน เช่นตัวอย่าง “เขาอยากได้ดี แต่ เขา ก็ ไม่ได้ดี”

ดังนี้สันธาน แต่-ก็ ย่อมคาบคำ เขา ซึ่งเรียงอยู่กลางไว้จึงเรียกว่า สันธานคาบ และสันธาน ๒ คำนี้ทำหน้าที่เชื่อมประโยคให้ติดต่อกันและยังมีตัวอย่างอื่นๆ อีกมาก

(๒) สันธานควบ คือสันธานหลายคำที่เรียงติดต่อกันเป็นกลุ่มเดียว ได้แก่ตัวอย่างประโยคข้างบนนี้ แต่เอามาย่อให้สั้นเข้าเป็นประโยคคำพูด คือ ละส่วนที่ซ้ำกันออกเสีย เหลือไว้แต่คำสันธานติดต่อกัน จึงนับว่าเป็น สันธานควบ ดังตัวอย่างประโยคข้างบนนี้ คือ:-

อเนกรรถประโยกธรรมดา-“เขาอยากได้ดี แต่ เขา ก็ ไม่ได้ดี”
ย่อเข้าเป็นประโยคคำพูด-“เขาอยากได้ดี แต่ ก็ ไม่ได้ดี”

ดังนี้ คำสันธาน แต่-ก็ ในประโยคข้างบนนั้นเป็น สันธานคาบ เพราะอยู่ห่างกันและคาบคำ เขา ไว้ และสันธาน แต่-ก็ ในประโยคล่างนั้นเป็น สันธานควบ เพราะรวมกันเข้าสองคำ ทำหน้าที่เป็นบทเชื่อมประโยค คล้ายกับวลีต่างๆ ที่ทำหน้าที่เป็นบทเชื่อมประโยคฉะนั้น ดังนี้เป็นต้น และยังมีตัวอย่างอื่นๆ ซึ่งจะแสดงต่อไปข้างหน้าอีก

ฆ. ละสันธานไว้ในที่เข้าใจ ในข้อนี้จะเห็นได้ในตัวอย่างประโยครวมที่ ละบทเชื่อมดังแสดงมาแล้ว เช่น-ยายตาทำนา หรือ ตาสีไปนั่งที่โรงนา ซึ่งละสันธาน และ ไว้ในที่เข้าใจ ซึ่งประโยคเต็มต้องมี และ คือ ยายและตา ทำนา หรือ ตาสีไปและนั่งที่โรงนา ดังนี้เป็นต้น

หรือบางทีมีคำวิเศษณ์บางพวกประกอบอยู่ ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นประโยครวม เช่น เขานั่งบ้าง และนอนบ้างตลอดคืน ดังนี้คำวิเศษณ์ บ้าง ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นประโยครวม ถึงจะละคำสันธาน และ ออกเสีย กล่าวเพียงว่า เขานั่งบ้างนอนบ้างตลอดคืน ก็ได้ ดังนี้เป็นต้น ประโยคที่ละสันธานโดยมี คำวิเศษณ์ประกอบทำหน้าที่คล้ายบทเชื่อมเช่นว่านี้ มีอยู่มากดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า

ชนิดของอเนกรรถประโยค อเนกรรถประโยคที่แสดงมานี้ ท่านแบ่งเป็น ๔ ชนิด และเรียกชื่อต่างกันโดยสังเกตเนื้อความของประโยคนั้นๆ เป็นสำคัญ ดังจะแยกอธิบายต่อไปนี้

ก. อันวยาเนกรรถประโยค คืออเนกรรถประโยคที่มีเนื้อความคล้อยไป ตามกัน อันวย (อนุ+อย) แปลว่าไปตามกัน คือหมายความว่าเอกรรถประโยคทุกๆ ประโยคที่รวมกันเข้าเป็นอเนกรรถประโยคนั้น ย่อมมีเนื้อความคล้อยตามกันทั้งนั้น ไม่มีเนื้อความขัดกันหรือแย้งกันเลย และประโยคชนิดนี้ย่อมสังเกตได้ด้วยมีคำสันธานดังต่อไปนี้ เช่น ก็ และ กับ (บางแห่ง) จึง เชื่อมอยู่ระหว่างประโยคบ้าง ปนอยู่ในประโยคท้ายบ้าง จำแนกออกได้เป็นพวกๆ ดังนี้

(๑) มีเนื้อความตามกันตามเวลา ประโยคพวกนี้มักมีกริยานุเคราะห์ แล้ว หรือคำวิเศษณ์-ครั้น พอ เมื่อ ประกอบอยู่ในประโยคหน้า เป็นเครื่องช่วยสันธาน เพื่อแสดงเวลาต่อเนื่องกัน หรือร่วมกัน ดังตัวอย่าง:- …“แล้ว-ก็” เช่น “เขาอาบนา แล้ว เขา ก็ นอน”
…“แล้ว-จึง” เช่น “เขากินข้าว แล้ว เขา จึง ไปโรงเรียน”
“ครั้น…ก็” เช่น “ครั้น เขาทำการแล้ว เขา ก็ กลับบ้าน”
“ครั้น…จึง” เช่น “ครั้น แขกไปแล้ว เขา จึง นึกได้” เป็นต้น

คำวิเศษณ์นอกจากนี้ เช่น พอ เมื่อ ฯลฯ ก็ช่วยคำสันธานทำนองนี้เหมือนกัน หรือจะใช้กริยานุเคราะห์และวิเศษณ์หลายคำก็ได้ เช่น ตัวอย่าง:-
“ครั้น-แล้ว-ก็” เช่น “ครั้น เขานอน แล้ว ฝน ก็ ตก”
“พอ-แล้ว-จึง” เช่น “พอ เขาหลับ แล้ว ไม่ช้า ฉัน จึงได้ไป”

(๒) มีเนื้อความตามกันหรือร่วมกันตามอาการ ประโยคพวกนี้ได้แก่อเนกรรถประโยครวมที่มีคำ และ เป็นสันธาน ดังแสดงมาแล้วนั่นเอง เช่น ยายและตาทำนา ก็แสดงว่ายายและตาแสดงอาการตามกันหรือร่วมกัน คือ ทำนา เช่นเดียวกัน หรือประโยคว่า ตาสีทุบและตีเมีย ก็แสดงว่า อาการทุบ ก็ดี อาการตีก็ดี ของตาสีนั้นนับว่าเป็นอาการคล้อยตามกัน คืออยู่ในอาการทำร้ายเขาเช่นกัน

(๓) มีเนื้อความตามกันโดยสังเกตคำวิเศษณ์ ประโยคพวกนี้ได้แก่อเนกรรถประโยครวมที่ละสันธาน และ ดังแสดงไว้ข้างต้น ซึ่งถึงแม้ว่าละสันธาน และ เสียแล้ว ก็ยังรู้ได้ว่าเป็นอันวยาเนกรรถประโยค
มีเนื้อความตามกันไค้ ก็เพราะมีคำวิเศษณ์ให้รู้ได้ว่าแสดงเนื้อความตามกันในที่นี้จะยกตัวอย่างมารวมเพิ่มเติมไว้ให้มากอย่าง เพื่อให้ได้สังเกตมากขึ้นดังนี้

เขานั่งบ้างนอนบ้าง คือ “เขานั่งบ้าง และ นอนบ้าง”

ทั้งคนทั้งสัตว์ต้องตาย คือ “ทั้งคน ก็ ต้องตาย และ ทั้งสัตว์ ก็ต้องตาย”

สัตว์ด้วย พืชด้วยย่อมมีชีวิต คือ “สัตว์ด้วยย่อมมีชีวิต และ พืชด้วย ย่อมมีชีวิต”

ทั้งนี้จะละคำวิเศษณ์เสียทั้งหมด และเอาสันธาน และ ใส่ไว้แทนก็คงได้ความเช่นเดียวกัน

หมายเหตุ ตัวอย่างอันวยาเนกรรถประโยคข้างต้นนี้ มีเพียง ๒ ประโยคเท่านั้น ที่จริงจะมีมากกว่านั้นขึ้นไปสักกี่ประโยคก็ได้ เช่น ตัวอย่างประโยครวมภาคประธานว่ นายดำ และ นายแดง นายดี นายสี เป็นคนไทย  ซึ่งแยกเป็น ๔ ประโยค คือ นายดำ เป็นคนไทย และนายแดงเป็นคนไทย และนายดีเป็นคนไทย และนายสีเป็นคนไทย และประโยครวมภาคแสดงว่า ตาสีทุบและตีด่าเมีย ดังนี้ ก็แยกเป็น ๓ ประโยคคือ ตาสีทุบเมีย และตาสีตีเมีย และตาสีด่าเมีย ดังนี้เป็นต้น

ถึงจะไม่ใช่ประโยครวม แต่มีสันธานเป็นบทเชื่อมติดต่อกันไปสักกี่ประโยคก็ตาม ซึ่งมีเนื้อความคล้อยตามกันทั้งนั้น ก็นับว่าเป็นอันวยาเนกรรถประโยคเดียวกันเหมือนกัน เช่นตัวอย่าง ตาสีมาถึงบ้านแล้วก็อาบน้ำ และ ซักผ้า รดต้นไม้ แล้วจึงกินข้าว ซึ่งแยกออกเป็นประโยคไวยากรณ์ได้ ๕ ประโยคดังนี้ “ตาสีมาถึงบ้านแล้ว (แก) ก็อาบนํ้าและ (แก) ซักผ้า และ (แก) รดต้นไม้แล้ว (แก) จึงกินข้าว” ดังนี้เอกรรถประโยคทั้ง ๕ ซึ่งมีสันธานเชื่อมให้ติดต่อกัน และมีเนื้อความคล้อยตามกันเช่นนี้ นับว่าเป็นอันวยาเนกรรถประโยคเดียวเท่านั้น ดังนี้เป็นต้น

(๔) มีเนื้อความตามกินเท่าที่แบ่งรับไว้ ข้อนี้ได้แก่อันวยาเนกรรถประโยค ที่ใช้บทเชื่อมแบ่งรับ เช่น-ถ้า ถ้าว่า ผิ ผิว่า แม้ แม้ว่า ฯลฯ รวมกันกับสันธาน-และ ก็ หรือ โดยใช้ควบกันบ้าง คาบกันบ้าง แล้วแต่จะเหมาะแก่ภา ดังตัวอย่าง

“ถ้าและ ฝนไม่ตกฉันจะไป” หรือ “ถ้า ฝนไม่ตก ฉัน ก็ จะไป”
และ สันธานอื่นก็เชื่อมกันทำนองนี้ได้ หรือจะให้ประโยคแบ่งรับนั้นมีมากขึ้นเท่าไรก็ได้ เช่นตัวอย่าง:-

ถ้าฉันสบาย และเมียฉันสบาย และฝนไม่ตก ฉันก็จะไป ทั้งนี้แล้วแต่ผู้พูดจะให้มีประโยคแบ่งรับอย่างไรบ้าง๑

ประโยคชนิดนี้โดยมากมักใช้พูดกันย่อๆ โดยละสันธานอื่นๆ เสียเหลือ ไว้แต่บทเชื่อมที่แสดงแบ่งรับเช่น ถ้า ผิ ฯลฯ ตัวอย่าง:- “ถ้า ฝนไม่ตก ฉันจะไป” หรือ “ผิ เขามีปัญญาดี เขาคงรู้” (โบราณใช้)

ประโยคแบ่งรับนี้เรามักใช้นำหน้า ถ้าจะเอาไว้ข้างหลังก็ได้ แต่ต้องเอา และ หรือ ว่า เติมบทเชื่อมเข้าเป็น ถ้าและ ผิและ เช่น ฉันจะไป ถ้าและ ฝนไม่ตก๒ ดังนี้เป็นต้น

ข้อสังเกต คำสันธาน และที่ใช้เชื่อมบทหลายบทนั้น เราหาได้เชื่อมทุกบทตามแบบไวยากรณ์ไม่ แต่เราเชื่อมเพียงบทเดียวเท่านั้น บทนอกนั้น ก็ละ คำ และ ไว้ในที่เข้าใจทั้งนั้น ถ้ามีหลายบทด้วยกันกลัวจะยุ่ง ก็เว้นวรรคไว้เป็นบทๆ พอเป็นที่สังเกตเท่านั้น วิธีสอดคำ และที่ใช้กันอยู่บัดนี้มี ๓ วิธีดังนี้

ก. วิธีโบราณ ใช้สอดคำ และ ลงหน้าบทที่สอง ดังนี้
“นายดำ และ นายแดง นายสี นายสา เป็นคนไทย”
“ตาสี ด่า และ ตบ ต่อย เตะ ถีบคนใช้”
………………………………………………………………………………………….
๑ ข้อความในประโยคแบ่งรับนี้ ในสำนวนกฎหมายใช้ ว่า ข้อไข บ้าง ข้อแม้ บ้าง  ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า คอนดิชั่น (Condition)

๒ ประโยคแบ่งรับชนิดนี้ ในภาษาอังกฤษเขาใช้เป็นสังกรประโยค เพราะบทเชื่อมคำ “ถ้า” (if) ของเขาเป็นวิเศษณ์ ผิดกับของเรา และเขาเอาไว้ท้ายประโยค อย่างประโยควิเศษณ์อื่นๆ จะเปรียบกับของเราไม่ได้ เพราะรูปประโยคของเราเป็นอเนกรรถประโยคโดยแท้ เพราะสันธาน “และ” “ก็” เชื่อมเป็นเครื่องหมายอยู่ ถึงบางแห่งไม่มี  “และ” “ก็” ก็รู้ได้ว่าละไว้ในที่เข้าใจ และต้องเรียงตามรูปประโยคของเราดังที่ชักมาไว้ข้างบนนี้ จึงจะเป็นภาษาไทยที่แท้จริง
………………………………………………………………………………………….
ข. วิธีใหม่ซึ่งใช้ตามแบบอังกฤษ แต่นับว่าใช้ทั่วไปจนเป็นภาษาไทยแล้วคือสอดคำ และ ลงหน้าบทสุดท้าย ดังนี้

“นายดำ นายแดง นายสี และ นายสา เป็นคนไทย”
“ตาสี ด่า ตบ ต่อย เตะ และ ถีบ คนใช้”

ค. มีบทเรียงกันหลายบท และบทหนึ่งๆ ก็ยาวยืดยาด ซึ่งจะใช้ตาม ๒ ข้อข้างบนนี้ไม่สะดวก ท่านมักเอาสันธานทำนองเดียวกับ และ เช่น กับ บ้าง ทั้ง บ้าง เข้าสอดสลับกันไปแล้วแต่จะสะดวกแก่ผู้อ่าน เช่นตัวอย่าง
“ตาสีเป็นคนขี้หึง และ ตระหนี่ทรัพย์ถือเงินเป็นพระเจ้า กับ ตระหนี่ตัวไม่อยากไปหาใคร ทั้ง ใครๆ เขาก็ไม่อยากมาหาแกด้วย”

ที่จริงประโยคข้างบนนี้จะใช้ และ เชื่อมทุกแห่งก็ได้ แต่ความไม่ใคร่สละสลวยอย่างที่ใช้คำอื่นสลับกันเช่นในตัวอย่างนั้น ดังนั้นขอให้ผู้ศึกษาสังเกตไว้เป็นพิเศษด้วยว่า ภาษาไทยไม่นิยมใช้คำคำเดียวกันซ้อนอยู่ในที่ใกล้ๆ กัน เช่น และ-และ-และ ดังกล่าวแล้ว ถึงคำอื่นๆ เช่น ของ-ของ ที่อยู่ใกล้กันก็นิยมใช้คำ แห่ง สลับกันเสียบ้าง หรือละคำ ของ เสียบ้าง เช่น ภรรยาของบุตรฉันเป็นหลานแห่งนาย ก. เป็นต้น เพื่อให้ผู้อ่านผู้ฟังเข้าใจสะดวกเป็นข้อใหญ่

ข. พยติเรกาเนกรรถประโยค คำ พยติเรก ออกจากศัพท์ วิ กับ อติเรก รวมแปลว่า มากขึ้นอย่างผิดปกติ ซึ่งหมายความถึงประโยคที่เอามาพ่วงเข้าตนั้นทำให้ความมากขึ้นโดยผิดปกติ คือไม่ตามกันอย่าง อันวยาเนกรรถประโยคที่อธิบายมาแล้ว เอาความในภาษาไทยเราว่า อเนกรรถประโยคซึ่งมีเนื้อความแย้งกัน หมายถึงเนื้อความของประโยคท้ายแย้งกับเนื้อความของประโยคหน้า ข้อสังเกตของประโยคชนิดนี้ อยู่ที่มีสันธาน แต่ หรือสันธานประสมที่เกี่ยวกับคำ แต่ เช่น แต่ว่า แต่-ก็ แต่ทว่า ฯลฯ เช่นตัวอย่าง
“น้ำขึ้น แต่ ลมลง”
“เขานอน แต่ว่า เขายังไม่หลับ หรือ แต่ทว่า ยังไม่หลับ”
“เขาอยากนอน แต่ เขา ก็ นอนไม่ได้”
“กายเขาสบาย แต่ทว่า ใจเขาไม่สบาย” ดังนี้เป็นต้น

ประโยคชนิดนี้ย่อมละบางส่วนที่ซ้ำกันออกเสียได้อย่างอเนกรรถประโยคอื่นๆ แต่บางทีก็ละสันธาน แต่ ไว้ในที่เข้าใจก็ได้ ข้อสำคัญนั้นอยู่ที่เนื้อความแย้งกัน และถึงจะเติมคำ แต่ ลงไปก็ได้ความดี เช่น ตัวอย่าง
ละ แต่- “ถึง เขาจะชมฉัน ฉัน ก็ ไม่ยินดี”
เติม แต่- “ถึง เขาจะชมฉัน แต่ ฉันก็ ไม่ยินดี”
ละ แต่- “กว่า ถั่วจะสุก งา ก็ ไหม้หมด”
เติม แต่- “กว่า ถั่วจะสุก แต่ งา ก็ ไหม้หมด” ดังนี้เป็นต้น

ข้อสังเกต ในประโยคที่ละสันธาน แต่ ตามตัวอย่างข้างบนนี้ให้ผู้ศึกษาสังเกตเนื้อความเป็นข้อใหญ่ ถ้าเห็นว่าแย้งกันจึงใช้สันธาน แต่ เติมลงได้ ถ้าเนื้อความคล้อยตามกันก็ไม่ควรเติมสันธาน แต่ ลงไปและประโยคนั้นต้องนับว่าเป็น อันวยาเนกรรถประโยค ดังกล่าวแล้ว ดังตัวอย่างคล้ายข้างบนนี้คือ
“ถึง เขาจะชมฉัน ฉัน ก็ ยินดี”
“กว่า ถั่วเขียวจะสุก ถั่วดำ ก็ สุกพอดี”

เช่นนี้ไม่ควรเติมสันธาน แต่ เพราะเนื้อความตามกันนับว่าเป็น อันวยาเนกรรถประโยค ทั้งนี้เพราะคำสันธานและวิเศษณ์ เช่น ถึง หรือ กว่า ที่ประกอบอยู่นั้น ไม่บอกเนื้อความแน่นอนจึงต้องอาศัยสันธาน แต่ หรือ ก็ ในประโยคท้ายเป็นเครื่องหมายบอกเนื้อความแย้งกันอีกชั้นหนึ่ง

ค. วิกัลป์ปาเนกรรถประโยค คำว่า วิกัลป แปลว่า กำหนด ดังนั้นวิกัลปาเนกรรถประโยคจึงหมายความว่า อเนกรรถประโยคที่มีเนื้อความกำหนดเอาข้อใดข้อหนึ่ง หรือเลือกเอาข้อใดข้อหนึ่งซึงหมายความง่ายๆ ว่า อเนกรรถประโยคที่มีเนื้อความให้เลือกเอาทางหนึ่ง ตัวอย่างเช่น นาย ก. หรือนาย ข. ต้องทำงาน ดังนี้หมายความว่า นาย ก. ทำงานก็ได้ หรือนาย ข. จะทำงานก็ได้ เลือกทำแต่คนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่ทำทั้ง ๒ คน

ประโยคชนิดนี้มีสันธาน หรือ เชื่อมอยู่ในระหว่างเป็นพื้น และบางทีก็ใช้คำวิเศษณ์วลีบอกความปฏิเสธ เช่น ไม่เช่นนั้น, ไม่อย่างนั้น, มิเช่นนั้น, มิฉะนั้น ฯลฯ เข้ามาช่วยประกอบบ้าง ใช้สันธาน ก็ เข้ามาช่วยประกอบบ้าง บางทีก็ละสันธาน หรือ ที่เป็นบทเชื่อมสำคัญออกเสียบ้าง แล้วแต่ภาษานิยม อนึ่ง วิกัลป์ปาเนกรรถประโยคนี้มีสันธาน หรือ เป็นบทเชื่อมทั่วไป ดังนั้นตัวอย่างของประโยคชนิดนี้ จึงเป็นอเนกรรถประโยครวม เช่นเดียวกับอันวยาเนกรรถประโยคเหมือนกัน ดังต่อไปนี้

วิกัลป์ปาเนกรรถประโยคธรรมดา-นาย ก. มา หรือ นาย ข. มา
วิกัลป์ปาเนกรรถประโยครวม-นาย ก. หรือ นาย ข. มา
ใช้บทวิเศษณ์วลีประติเษธ กับ ก็-นาย ก. หรือ ไม่ก็ นาย ข. มา
หรือรวมว่า – นาย ก. หรือไม่ก็ นาย ข. มา
ใช้บทวิเศษณ์วลีประติเษธ กับ ก็-นาย ก. หรือไม่เช่นนั้นก็ นาย ข. มา
หรือรวมว่า-นาย ก. หรือไม่เช่นนั้นก็ นาย ข. มา
ละสันธาน หรือ  ออกเสีย- นาย ก. ไม่เช่นนั้นก็ นาย ข. เป็นคนร้าย
ละสันธานทั้ง หรือ และ ก็-นาย ก. ไม่เช่นนั้น นาย ข. เป็นคนร้าย

หมายเหตุ ประโยคข้างบนนี้เป็นได้ทั้งคำถามและไม่ใช่คำถามแล้วแต่ผู้พูด คือถ้าจะให้เป็นคำถามก็ใส่เครื่องหมายปรัศนีไว้ท้ายประโยคดังต่อไปนี้

รวม-นาย ก. หรือนาย ข. เป็นนายอำเภอ?
แยก-นาย ก. เป็นนายอำเภอ หรือนาย ข. เป็นนายอำเภอ?
รวม-ท่านจะอยู่ หรือ จะไป?
แยก-ท่านจะอยู่ หรือ ท่านจะไป? เป็นต้น

ประโยกคำถามนี้มีใช้ชุกชุมในความรับ กับ ประติเษธ และโดยมากใช้เป็นประโยครวม เช่น ตัวอย่าง

เขาเป็นขโมยหรือเขาไม่? แยก-เป็นขโมย หรือ เขาไม่เป็นขโมย?
เขาอยู่หรือไม่? แยก-เขาอยู่ หรือ เขาไม่อยู่?
ท่านจะรักเมียหรือญาติ? แยก-ท่านจะรักเมีย หรือ ท่านจะรักญาติ? ท่านชอบคนขาวหรือดำ? แยก-ท่านชอบคนขาว หรือ ท่านชอบคนดำ?

อนึ่ง การใช้วิกัลปาเนกรรถประโยคนี้เป็นประโยครวมก็ดี หรือแยกออก เป็นอเนกรรถประโยคธรรมดาก็ดี หรือละบางส่วนเสียบ้างก็ดี ทั้งนี้แล้วแต่ผู้พูดจะเห็นเหมาะที่จะพูดในที่นั้น หาได้มีกฎเกณฑ์ไม่

ข้อสังเกต ตัวอย่างประโยคข้างบนนี้ ใช้คำ หรือ เป็นสันธาน ซึ่งบ่ง
ความว่าจะต้องเชื่อมกับความต่อไปอีก จึงนับว่าเป็นวิกัลปาเนกรรถประโยค แต่ถ้าประโยคที่ใช้คำ หรือ ที่เป็นกริยาวิเศษณ์บอกคำถามเหมือนกัน แต่ไม่บ่งความว่าจะเชื่อมความต่อไปอีก เช่นตัวอย่าง ท่านจะนอนหรือ? ท่านจะโกรธฉันเจียวหรือ? ดังนี้เป็นต้นก็ดี และประโยคที่ย่อคำ หรือไม่ เข้าเป็นคำวิเศษณ์ ไหม เช่นตัวอย่างว่า ท่านจะนอนไหม? ดังนี้เป็นต้นก็ดี ย่อมเป็นเอกรรถประโยคดังแสดงมาแล้วข้างต้น หาใช่เป็นวิกัลปาเนกรรถประโยคที่กล่าวนี้ไม่

หมายเหตุ  ประโยคที่มีสันธาน หรือ เชื่อมอยู่ ถ้าไม่ใช้เป็นคำถามแล้วจะต้องมีลักษณะคล้ายกับประโยคที่มีสันธาน และ หรือ กับ เชื่อมอยู่ คือ จะต้องเชื่อมเฉพาะบทประธาน บทกริยา หรือบทกริยารวมกับบทวิกัติการก ช่วยกริยาเท่านั้น จึงจะเป็นอเนกรรถประโยคได้ แต่ถ้าเชื่อมบทอื่นนอกจากนี้ก็นับว่าเป็นเอกรรถประโยคทั้งนั้น จงสังเกตตัวอย่างต่อไปนี้

นาย ก. หรือ นาย ข. ต้องนอน ก็ดี นาย ก. ต้องนอนหรือนั่ง ก็ดี เขาต้องเป็นนายอำเภอหรือครู ก็ดี เหล่านี้เป็นอเนกรรถประโยคทั้งนั้น แต่ถ้าเชื่อมบทอื่น เช่น เขาคิดถึงลูกหรือเมียเขา ก็ดี เขาคงซื้อม้าดำหรือขาว เป็นเอกรรถประโยค ไม่ต้องแยกออกเป็น เขาคิดถึงลูกเขาหรือเขาคิดถึงเมียเขา ฯลฯ ดังกล่าวแล้ว เว้นแต่ประโยคที่เชื่อมสันธาน หรือที่เป็นคำถาม จะต้องแยกเป็นวิกัลป์ปาเนกรรถประโยคทั้งนั้น ไม่ว่า หรือ จะเชื่อมกับบทไรๆ เช่น เขาจะซื้อม้าดำหรือขาว? ก็ต้องแยกเป็น เขาจะซื้อม้าดำ หรือเขาจะซื้อม้าขาว? เป็นต้น นอกจากจะมีคำถามกำกับอยู่ข้างหลังแล้วอีกชั้นหนึ่ง เช่น เขาจะซื้อม้าดำหรือม้าขาวไหม? ดังนี้ คำ ไหม เป็นคำถามอยู่แล้ว ดำหรือขาว พ้นหน้าที่เป็นคำถามจึงไม่ต้องแยก

ฆ. เหตวาเนกรรถประโยค (จากศัพท์ เหตุ-อเนกรรถประโยค) ซึ่งแปลเอาความว่า อเนกรรถประโยคที่เกี่ยวกับเหตุ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับอันวยากรรถประโยค ในข้อที่ว่ามีเนื้อความคล้อยตามเหมือนกัน ต่างกันก็แต่เหตวาเนกรรถประโยคนี้มีเนื้อความตามกันในทางเป็นเหตุผลแก่กัน กล่าวคือ ประโยคหน้าเป็นเหตุ ประโยคหลังเป็นผล และมีสันธาน จึง เชื่อมติดต่อกัน เช่น

“น้ำเน่า จึง ยุงชุม” คือประโยค น้ำเน่า เป็นเหตุ และประโยค ยุงชุม เป็นผล ประโยคชนิดนี้ ถ้าไม่คล้อยตามกันทางเหตุผล เช่น ครั้นถึง (วัง) จึง (ท่าน) เปลื้องเครื่องทรง ดังนี้เป็นต้น ก็นับว่าเป็นอันวยาเนกรรถประโยคดังกล่าวแล้ว

และเหตวาเนกรรถประโยคนี้ มักจะเอาบทวิเศษณ์หรือบทวลีทำหน้าที่ วิเศษณ์ เช่น ฉะนั้น ดังนั้น เพราะฉะนั้น ฯลฯ มาช่วยสันธาน จึง หรือ บางทีก็ละสันธาน จึง ไว้ในที่เข้าใจ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ใช้บทวิเศษณ์ช่วย- “น้ำเน่า ฉะนั้น ยุง จึง ชุม”
ใช้บทวลีทำหน้าที่วิเศษณ์ช่วย— “น้ำเน่า เพราะฉะนั้น ยุง จึง ชุม”
ดังนี้เป็นต้น

หมายเหตุ เหตวาเนกรรถประโยคต้องมีคำสันธาน จึง หรือมีบทวิเศษณ์ ช่วยดังกล่าวแล้วนั้น เป็นบทเชื่อมช่วยสันธาน จึง ซึ่งล้วนแต่เป็นบทเชื่อมประโยคผลอยู่ข้างท้ายทั้งสิ้น จึงจะนับว่าเป็นอเนกรรถประโยคดังตัวอย่างข้างบนนี้

แต่ถ้าประดยคเหตุผลเหล่านั้นมีประโยคเหตุอยู่ข้างท้าย และมีบทเชื่อม เช่น-เพราะ, เพราะว่า, ด้วยว่า, เหตุว่า ฯลฯ อยู่หน้าประโยคเหตุ เช่นตัวอย่าง-ยุงชุมเพราะน้ำเน่า ก็ดี  ดังนี้ไม่ใช่เหตวาเนกรรถประโยค แต่เป็นสังกรประโยค  และประโยคข้างท้ายนั้นเป็นวิเศษณานุประโยค บอกเหตุของประโยคสังกร ดังจะแสดงต่อไปข้างหน้า

ข้อสังเกต เหตวาเนกรรถประโยคจะต้องมีประโยคเหตุอยู่ข้างหน้าและมีประโยคผลอยู่ท้าย จะมีบทเชื่อมดังกล่าวแล้วก็ได้ หรือจะมีบทเชื่อมอยู่หน้าประโยคเหตุด้วยก็ได้ แล้วแต่จะเหมาะกับสำนวน เช่นตัวอย่าง เพราะน้ำเน่ายุงจึงชุมนัก หรือ ด้วยเหตุว่าน้ำเน่า ดังนั้นยุงจึงชุม  ดังนี้เป็นต้น จึงจะนับว่าเป็นเหตวาเนกรรถประโยคดังกล่าวแล้ว

วิธีบอกสัมพันธ์อเนกรรถประโยค มีต่างออกไปอีก ๒ ข้อ คือต้องบอกบทเชื่อมความและบอกชื่อชนิดของประโยคด้วย ถ้ามีเล็กน้อยจะไม่ต้องใช้ตีตารางก็ได้ ดังตัวอย่าง

ก. ตัวอย่างเขียนบอกสัมพันธ์
ประโยคว่า-หนูเอ๋ย ! จงดูเยี่ยงกาไว้ แต่อย่าจำอย่างกาเลยพ่อคุณ ประโยคไวยากรณ์-หนูเอ๋ย (เจ้า) จงดูเยี่ยงกาไว้ แต่ (เจ้า) อย่าจำอย่างกาเลยพ่อคุณ

แบบบอกสัมพันธ์
silapa-0256 - Copy
ถ้ามีมากหลายประโยคด้วยกัน ควรตีตารางบอกสัมพันธ์ดีกว่าและบทที่เติมเข้ามาเพื่อให้ครบรูปประโยคไวยากรณ์ก็ให้เขียนในวงเล็บ กรอกลงไว้ในตารางบอกสัมพันธ์ทีเดียวเพื่อทุ่นเวลา

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร

เอกรรถประโยค

เอกรรถประโยค คำพูดในภาษาไทยเราที่พูดออกมาตอนหนึ่งๆ นั้น บางทีก็ใช้พูดออกมาคำหนึ่งก็มี หรือบางทีพูดออกมาเป็นวลีเท่านั้นก็มี การที่ผู้ฟังได้ฟังเพียงคำหนึ่งก็ดี หรือ วลี บทหนึ่งก็ดี ย่อมเข้าใจความหมายของผู้พูดบริบูรณ์ได้ ก็เพราะเป็นด้วยความเคยชินกัน เช่นตัวอย่างมีผู้เห็นช้าง ก็พูดออกมาว่า ช้าง คำเดียวเท่านั้น ก็ทำให้ผู้ฟังเข้าใจได้ว่า เขาเห็นช้าง หรือ ช้างมา เป็นต้น ซึ่งเป็นการรู้ความหมายกันในใจ

ความหมายที่ครบบริบูรณ์ จะต้องพูดเป็นประโยค ดังจะกล่าวต่อไปนี้ แต่ประโยคนั้นมีหลายชนิดด้วยกัน ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะเอกรรถประโยคก่อนดังนี้

ที่เรียกว่า เอกรรถประโยค นั้น หมายถึงประโยคเล็กๆ ที่มีความหมาย อย่างเดียว คำ เอกรรถ (เอก+อรรถ) แปลว่า มีเนื้อความอย่างเดียว เอา ความว่ามีความหมายเฉพาะอย่างหนึ่งๆ เอกรรถประโยคนี้เรียกว่า ประโยคเล็กก็ได้ หรือเรียกว่า ประโยคสามัญ ก็ได้ แต่ในที่นี้จะใช้ว่า เอกรรถประโยคชื่อเดียวเท่านั้น

จริงอยู่ คำพูดในภาษาไทยเรามักใช้คำกริยาซ้อนกันได้ เช่น ตาสีไปนอน สูบบุหรี่ ซึ่งมีเนื้อความเป็น ๓ อย่างคือ ตาสีไป อย่างหนึ่ง ตาสีนอน อย่างหนึ่ง และ ตาสีสูบบุหรี่ อย่างหนึ่ง เป็นต้น เช่นนี้ชื่อว่าประโยคที่มีเนื้อความรวมกันหลายอย่าง จะอธิบายในภายหลัง ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะประโยคที่มีเนื้อความอย่างเดียว เช่น ตาสีไป เป็นต้น ที่เรียกว่าเอกรรถประโยกก่อน ดังต่อไปนี้

ภาคของประโยค แปลว่าส่วนของประโยค เอกรรถประโยคย่อมแบ่งเป็นภาคสำคัญได้ ๒ ภาค คือ

(๑) ภาคประธานของประโยค หมายถึงส่วนเบื้องต้นที่กล่าวขึ้นก่อน เช่น คน, บ้าน, สัตว์, ความคิด, ผู้ร้าย, ขนม, ฉัน เป็นต้น ซึ่งผู้พูดต้องการจะกล่าวอะไร ก็กล่าวขึ้นเป็นสำคัญก่อน และต่อไปก็คือ:-

(๒) ภาคแสดงของประโยค หมายถึงส่วนที่แสดงของกิริยาอาการของ ประธานข้างบนนี้ ว่ามันแสดงกิริยาอาการอย่างไร เช่น คำเส้นหนา ท้ายภาคประธานต่อไปนี้ “คน นอน” “บ้าน พัง” “สัตว์ กินนํ้า” “ความคิด เฉียบแหลม” “ผู้ร้าย ถูกตำรวจจับ” “ขนม ขายดี” “ฉัน ถูกหมอให้กินยา” เป็นต้น

เมื่อถ้อยคำมีครบ ๒ ภาคดังกล่าวนี้แล้ว จึงจะได้ความเต็มว่า ใคร-ทำอะไร สิ่งไร-เป็นอย่างไร หรือ ใคร-ถูกทำอะไร อันได้ชื่อว่าเป็นเอกรรถประโยคที่กล่าวนี้ได้ และภาคของเอกรรถประโยคทั้ง ๒ ภาคนี้ ถ้าใช้พูดจากัน จนเคยชินผู้พูดมักจะละภาคใดภาคหนึ่งไว้ในฐานะที่เข้าใจกันก็ได้ เช่นตัวอย่างในการตอบคำถามต่อไปนี้

ก. ถาม-ใครมา?        ตอบ-ผม (ผม มา)
ข. ถาม-เธอทำอะไร?    ตอบ-กินข้าว (ผม กินข้าว)
ดังนี้เป็นต้น ซึ่งมีชุกชุมในภาษาไทยเรา

ในภาคทั้ง ๒ ของประโยคข้างบนนี้ในภาคหนึ่งๆ ยัง-จำแนกเป็นส่วนย่อย ซึ่งเรียกว่า บท ออกไปอีก ดังนี้

(๑) ภาคประธาน จำแนกเป็น ๒ ส่วน คือ
ก. บทประธาน คือส่วนสำคัญของภาคประธาน
ข. บทขยายประธาน คือ ส่วนขยายประธานให้พิสดารออก

(๒) ภาคแสดง จำแนกเป็น ๔ ส่วน คือ:-
ก. บทกริยา คือส่วนสำคัญของภาคแสดง
ข. บทขยายกริยา คือส่วนขยายกริยาให้พิสดารออกไป
ค. บทกรรม คือส่วนที่ถูกกริยาทำ
ฆ. บทขยายกรรม คือส่วนที่ขยายกรรมให้พิสดารออกไป

ดังนั้น เอกรรถประโยค จึงแบ่งเป็นภาคได้ ๒ ภาค และแบ่งเป็นส่วนย่อยได้ ๖ บท ดังจะได้ทำตารางแบ่งภาคและบทไว้ให้ดูเป็นตัวอย่างต่อไปนี้

เอกรรถประโยค-สามีดีย่อมนับถือ ซึ่งภรรยาดีเป็นอย่างดี

silapa-0211 - Copy

รูปประโยคภาษาไทย ตารางที่แบ่งส่วนของเอกรรถประโยคข้างต้นนี้มีรูปโครงทั่วๆ ไป แต่รูปประโยคในภาษาไทยเรา หามีระเบียบเรียงลำดับส่วนของประโยคเช่นนี้เสมอไปไม่ ตัวอย่างที่ทำไว้ให้ดูนั้น ทำไว้เพียงให้เข้าได้กับรูปโครงเท่านั้น ข้อสำคัญของไวยากรณ์ไทยเรา อยู่ที่การเรียง ลำดับคำพูดเป็นหลักวินิจฉัยชนิดของคำ และหน้าที่ต่างๆ ของคำในการบอกสัมพันธ์ของประโยคด้วย ฉะนั้นผู้ศึกษาจึงควรสังเกตรูปประโยคที่ใช้ในภาษาให้แม่นยำเสียก่อน ซึ่งมี ๔ รูปด้วยกัน ดังต่อไปนี้

(๑) ประโยคกรรตุ ส่วนสำคัญของประโยคที่จะยกขึ้นพูดมีอยู่ ๓ ส่วน กรรตุการก(ผู้ทำ) กริยา และกรรมการก (ผู้ถูกทำ) ถ้าเราต้องการจะให้ กรรตุการก เด่น เราก็เรียงเอากรรตุการกขึ้นเป็นประธานคือ เรียงไว้ข้างหน้า เช่น ประโยกว่า เสือกินตามี เร่าอยากจะพูดให้เสือเด่น เราก็ยกเสือขึ้นพูดก่อนว่า เสื้อตัวนั้น ตัวนี้ กินตามี เป็นต้น ประโยคที่พูดถึงกรรตุการกก่อนเช่นนี้ เรียกว่าประโยคกรรตุและกริยา กิน ก็เป็นกรรตุวาจก คือแสดงว่ากรรตุการก เป็นประธาน

(๒) ประโยคกรรม บางคราวเราต้องการจะให้กรรมการก คือผู้ถูก เด่น เช่นประโยค เสือกินตามี นั้น เราต้องการจะให้เขารู้เรื่องกรรมคือ ตามี ก่อน เราก็เอาคำ ตามี ขึ้นพูดก่อนว่า ตามีถูกเสือกิน หรือพูดว่า ตามีผู้ใหญ่บ้านของเรา เสือ กิน เสีย แล้ว ดังนี้เป็นต้น ประโยคที่เอากรรมเป็นประธาน คือพูดขึ้นก่อนเช่นนี้เรียกว่า ประโยคกรรม และกริยา ถูกกิน หรือ กิน (เปล่าๆ) ในประโยคเช่นนี้เป็นกรรมวาจก คือแสดงว่ากรรมการกเป็นประธาน กริยากรรมวาจกเช่นนี้ บางทีก็มีคำ ถูก นำหน้า เช่น ถูกตี ถูกด่า ฯลฯ บางทีก็มีกริยาเปล่าๆ ดังอธิบายมาแล้ว แต่ข้อที่สังเกตนั้น อยู่ที่มีกรรมการกเป็นประธาน คือเรียงอยู่ข้างหน้า

(๓) ประโยคกริยา  ในข้อความบางแห่ง ผู้กล่าวต้องการจะให้กริยาเด่น จึงพูดกริยาขึ้นก่อนแทนบทประธาน แล้วเอาบทประธานมาไว้ข้างหลัง เช่น เกิดอหิวาตกโรค ขึ้นที่เชียงใหม่ ซึ่งในภาษาบาลีเรียกว่า ประโยคภาพ กริยาที่ใช้เรียงไว้หน้าประโยคชนิดนี้ มีกำหนดเฉพาะกริยาที่มีความหมายดังนี้ คือ เกิด มี ปรากฏ โดยมากเช่น เกิดตีกันขึ้นที่นี่ มีโรคติดต่อขึ้นที่นี้ ปรากฏการโกงขึ้นที่นี่ เป็นต้น

ประโยคกริยานี้ ผู้พูดต้องการจะให้กริยาเด่นกว่าประธานเท่านั้น ส่วนวิธีสัมพันธ์ก็บอกทำนองเดียวกับประโยคกรรตุ คือกลับเอาประธานมาไว้หน้าเป็น ตีกัน เกิดขึ้นที่นี่, โรคติดต่อ มีขึ้นที่นี่ และ การโกงปรากฏขึ้นที่นี่ และกริยาก็เป็นกรรตุวาจกเช่นเดียวกัน ประโยคชนิดนี้ยังต้องการบทประธานอยู่จึงเรียงไว้หลังกริยา ผิดกับประโยคกรรตุที่ละประธานไว้ในที่เข้าใจ เช่น ห้ามการเดินรถ จงระวังรถไฟ ซึ่งเมื่อเวลาบอกสัมพันธ์ก็จะต้องหาประธานเติมลงไปให้ครบ เป็น (เขา) ห้ามการเดินรถ (ท่าน) จงระวังรถไฟ ดังนี้เป็นต้น

(๔) ประโยคการิต ประโยคชนิดนี้ก็เป็นทำนองเดียวกับประโยคกรรตุ หรือ ประโยคกรรมนั่นเอง แต่มีผู้รับใช้ ซึ่งเรียกว่า การิตการก แทรกเข้ามา เช่นตัวอย่าง ครูให้ศิษย์อ่านหนังสือ ดังนี้ ครู เป็นกรรตุการกของกริยา ให้-อ่าน ศิษย์ เป็นการิตการกของกริยา ให้-อ่าน (ตามบาลีเรียก การิตกรรม เพราะรูปคำของเขาเหมือนกรรมการก) และ หนังสือ เป็นกรรมการกของกริยา ให้-อ่าน ตามปกติ และกริยา ให้-อ่าน ก็คงเป็นกรรตุวาจกของประธาน คือ ครู อย่างประโยคกรรตุธรรมดานั่นเอง เพราะประธานเป็นกรรตุการก แต่ถ้าเอาการิตการก คือ ศิษย์ เป็นประธาน เช่น ประโยคว่า ศิษย์ถูกครูให้อ่านหนังสือ เป็นต้นแล้ว บทกริยา ถูกให้อ่าน ก็เป็น การิตวาจก ตามประธานไป เพราะวาจกต้องตามประธาน

ข้อสังเกต  ประโยคการิตนี้ จะสังเกตแต่เพียงมีการิตการกเป็นประธานเท่านั้นไม่ได้ เพราะการกอื่นก็เป็นประธานได้ ดังนี้

ก. กรรตุการก-ครูให้ศิษย์อ่านหนังสือ หรือ ครูยังศิษย์ให้อ่านหนังสือ ก็ได้ (ยังศิษย์ เป็นบุพบทวลีการิตการก)

ข. การิตการก-ศิษย์ถูกครูให้อ่านหนังสือ หรือ ศิษย์ถูกให้อ่านหนังสือ ก็ได้

ค. กรรมการก-หนังสือถูกครูให้ศิษย์อ่าน หรือ หนังสือถูกครูให้อ่าน หรือ หนังสือถูกให้อ่าน หรือจะละคำ “ถูก” เสีย เหลือไว้แต่ “ให้อ่าน” เช่นกล่าวว่า หนังสือนี้ให้อ่านเสมอๆ ก็ได้  ดังนั้นจึงควรถือเอากริยาซึ่งมีคำ “ให้” นำหน้าเป็นหลักสังเกต

อีกประการหนึ่ง ส่วนขยายของประโยคเหล่านี้ก็ไม่ตรงตามช่องตารางที่ จัดไว้เสมอไป ส่วนที่จะต้องวินิจฉัยมากนั้นก็คือบทขยายกริยา เพราะบทนี้เอาไว้หน้าประโยคก็ได้ เช่นตัวอย่าง – “ เขาไป พรุ่งนี้ ” หรือจะพูดว่า “ พรุ่งนี้ เขาไป” ก็ได้ ถ้าเป็นประโยคมีบทกรรม บทขยายกริยาก็ต้องไปอยู่ท้ายประโยคทีเดียว ซึ่งทำให้พ้องกับบทกรรมหรือบทขยายกรรมก็ได้ เช่นตัวอย่าง “จีน หาบน้ำแข็ง” คำ แข็ง อาจเป็นบทขยายกริยา หาบ หมายถึงหาบ เก่ง ก็ได้ ดังนี้เป็นต้น

เพราะฉะนั้น ในการที่จะวินิจฉัยชนิดของคำและหน้าที่ของคำตลอดจน เพื่อประโยคในไวยากรณ์ไทยเรา นอกจากจะสังเกตลำดับที่เรียงหน้าหลังแล้ว ยังต้องสังเกต ใจความ ของประโยคเป็นข้อสำคัญอีกส่วนหนึ่งด้วย จึงขอให้ผู้ศึกษาสำเหนียกไว้

ต่อไปนี้จะอธิบายถึงส่วนของเอกรรถประโยคเป็นลำดับไป แต่จะยก ตัวอย่างเฉพาะประโยคกรรตุเท่านั้นขึ้นเป็นหลัก ถ้าบทใดเกี่ยวกับรูปประโยค จะแสดงเพิ่มเติมไว้ในบทนั้นๆ ให้พิสดารต่อไป

บทประธาน  ในภาคทั้ง ๒ ของประโยคที่แบ่งเป็นส่วนย่อยออกไป ๖ บทด้วยกันนั้น บทประธานนับว่าเป็นส่วนสำคัญของประโยค ซึ่งผู้พูดต้องการจะให้เด่น จึงได้ยกขึ้นมากล่าวก่อน ดังนั้นบทประธานของประโยค จึงต้องเป็นคำนาม หรือสรรพนาม หรือบทอื่นๆ ที่ทำหน้าที่เช่นเดียวกับ มีประเภทดังจะรวบรวมมาไว้เพื่อให้สังเกตพร้อมด้วยตัวอย่างต่อไปนี้:-

(๑) คำนาม ย่อมใช้เป็นประธานได้ทั้ง ๕ พวก ดังตัวอย่างต่อไปนี้
ก. สามานยนาม    เช่น-“คน-นอน”
ข. วิสามานยนาม เช่น-“เชียงใหม่-เจริญ”
ค. สมุหนาม  เช่น -“สงฆ์-ทำสังฆกรรม”
ฆ. ลักษณนาม    เช่น-“ลำ๑ นี้ (เรือ)-แล่นเร็ว”
ง. อาการนาม    เช่น – “การนอน -เป็นของจำเป็น” “ความตาย – เป็นของเที่ยง ”

(๒) คำสรรพนาม คำพวกนี้มีหน้าที่ใช้แทนคำนามอยู่แล้ว ดังนั้นจึงใช้เป็นบทประธานได้เช่นเดียวกับนาม ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ก. บุรุษสรรพนาม    เช่น-“เขา-ทำดี”
ข. ประพันธสรรพนาม เช่น-“ที่๒-ทำดี”
ค. วิภาคสรรพนาม เช่น-“ต่าง-ยินดี”
ฆ. นิยมสรรพนาม เช่น-“นี่-ไม่ดี”
ง. อนิยมสรรพนาม เช่น “ใคร-มาก็ได้”
จ. ปฤจฉาสรรพนาม เช่น “ใคร-มา? ”
………………………………………………………………………………………….
๑ คำ ลำ เป็นลักษณนาม บอกลักษณะของเรือ ดังนั้นจึงต้องมีคำ เรือ กล่าวอยู่ข้างหน้าก่อน จึงจะกล่าวลักษณนามของเรือได้ เช่น“เรือ”ลำนี้, เรือสอง ลำ เป็นต้น ตัวอย่างข้างบนนี้ก็ต้องมีคำเรืออยู่ในประโยคหน้าก่อน เช่น ฉันมีเรือ ๕ ลำ ลำนี้แล่นเร็ว ดังนั้นจึงควรสังเกตว่า ลักษณะนามทั้งหมดต้องกล่าวนามที่เป็นเจ้าของลักษณะเช่นคำ เรือ ขึ้นก่อนทั้งสิ้น

๒ คำประพันธสรรพนาม จะต้องอยู่ติดกับนามข้างหน้า ดังนั้นคำ ที่ ในตัวอย่างข้างบนนี้ ต้องอยู่ท้ายคำคนหรือคำใดๆ ในประโยคข้างหน้า เช่น “เขาชมคน ที่ ทำดี” ดังนี้เป็นต้น จึงควรสังเกตว่าประโยคที่ใช้สรรพนามเป็นประธานจะต้องเป็นประโยคขยายของประโยคอื่นอีกทีหนึ่ง ซึ่งอยู่ข้างหน้า
………………………………………………………………………………………….

(๓) บทกริยาสภาวมาลา กริยาพวกนี้ได้อธิบายไว้ในวจีวิภาคแล้วว่า “ไมใช่เป็นกริยาของประโยคอย่างมาลาอื่นๆ เป็นแต่ส่วนของประโยค” ดังนั้นพวกกริยาสภาวมาลานี้จึงใช้เป็นบทประธานได้เช่นเดียวกับนามเหมือนกัน ดังจะอธิบายพอเป็นที่สังเกตต่อไปนี้

ในจำพวกกริยาทั้ง ๔ นั้น เป็นกริยาสภาวมาลาได้เพียง ๓ พวกเท่านั้น คือ อกรรมกริยา สกรรมกริยา และ วิกตรรถกริยา ส่วนกริยานุเคราะห์มิด้ใช้ เป็นกริยาโดยลำพังตัว มีหน้าที่ช่วยกริยาพวกอื่นเพื่อบอก มาลา กาล วาจก เท่านั้น จึงมิได้แยกออกทำหน้าที่ใดๆ อย่างกริยาพวกอื่น ดังอธิบายแล้วใน วจีวิภาค ส่วนกริยาอื่นที่เป็นสภาวมาลาได้นั้น ย่อมมีหน้าที่เป็นประธานได้ทั้ง ๓ พวก ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ก. อกรรมกริยา เช่น “นอน-เป็นประโยชน์”’
ข. สกรรมกริยา เช่น “กินข้าว-ดี”
ค. วิกตรรถกริยา เช่น “เป็นพาล-ไม่ดี”

ข้อสังเกต ตามตัวอย่างข้างบนนี้ ถ้าใช้คำกริยาสภาวมาลาโดดๆ เช่น นอน ในข้อ ก. ก็นับว่า คำกริยาสภาวมาลา เป็นบทประธาน แต่ถ้ามีคำอื่น เข้ามาประกอบ เช่นบท กินข้าว และ เป็นพาล ในข้อ ข. และ ค. ก็นับว่า เป็นบทกริยาวลีสภาวมาลา อย่างเดียวกับข้อ (๕) ค. ข้างหน้า ถึงคำกริยา สภาวมาลาเช่นคำ นอน ในข้อ ก. ถ้าหากว่าจะมีผู้พูดใช้กริยานุเคราะห์ประกอบหน้ากริยาว่า ต้องนอน-ไม่ดี หรือหน้าวิเศษณ์ที่ทำหน้าที่กริยาว่า ต้องโง่-ไม่ดี เช่นนี้เป็นต้น ก็ต้องนับว่าเป็นบทกริยาวลีสภาวมาลา เช่นข้อ ข. และ ค. เหมือนกัน

และคำกริยา หรือ กริยาวลี ที่เป็นสภาวมาลานี้ ถ้ามีคำอื่นนำหน้าก็ต้อง เรียกชื่อเป็นอย่างอื่นไป เช่นคำข้างบนนี้มีคำ การ และ ความ นำหน้าเป็น การนอน ความโง่ ก็กลายเป็นคำนามไป ถ้ามีบุพบทนำหน้าเป็น เพื่อจะนอน สำหรับนั่ง ก็กลายเป็นบุพบทวลีไป ให้ผู้ศึกษาสังเกตไว้

(๔) คำวิเศษณ์ คำวิเศษณ์โดดๆ ก็ใช้เป็นบทประธานได้ อย่างกริยาสภาวมาลาเหมือนกัน เช่น ฉลาด-ดี หรือ โง่-ไม่ดี เป็นต้น

ข้อสังเกต ถ้ามีคำอื่นมาประกอบหน้าคำวิเศษณ์เหล่านี้ เช่น ผู้ฉลาด หรือ ความโง่ เป็นต้น ก็เป็นคำนามไป และถ้ามีคำกริยานุเคราะห์ประกอบหน้า เช่น พูดว่า “ต้องโง่ตลอดชาติ เป็นผลแห่งบาป” เป็นต้น ดังนี้ บท ต้องโง่ตลอดชาติ ก็เป็นบทกริยาวลีไป อย่างเดียวกับคำกริยาที่กล่าวแล้วเหมือนกัน

(๕) บทวลีต่างๆ บทวลีต่างๆ ที่ใช้เป็นประธานนั้น มีตัวอย่างดังนี้:-
ก. นามวลี
ที่มีนามชนิดย่อยพ่วง เช่น “นกเขาชวา-ขันเพราะ”
“กระทรวงศึกษาธิการ-ดี” ฯลฯ

ที่มีวิสามานยนามพ่วง เช่น “นายสด รักธรรม-พูดดี”
“จังหวัดนนทบุรี-เจริญขึ้น” ฯลฯ

ที่มีคำช่วยพ่วง เช่น “ความเป็นโรค-ไม่ดี” ฯลฯ

ที่มีบทกรรมพ่วง เช่น “การเกี่ยวหญ้าช้าง-ไม่ดี” ฯลฯ

ข. สรรพนามวลี ที่ใช้เป็นบทประธาน โดยมากมักเป็นคำประพันธ์ เช่น-ข้าใต้บาทบงกช-ประณตบาทยุคล ฯลฯ

ค. กริยาวลี ที่เป็นบทประธานนี้ก็เหมือนกับกริยาสภาวมาลา เป็นประธาน ดังอธิบายให้ตัวอย่างไว้ในข้อ (๓) ข้างต้นนี้แล้ว

(๖) บทพิเศษต่างๆ ในข้อนี้จะได้รวบรวมบทพิเศษต่างๆ ซึ่งมิได้ใช้ทั่วไปในภาษาไทย แต่ถ้ามีขึ้นก็นับว่าเป็นคำประธานของประโยคได้ ดังต่อไปนี้

ก. รูปเครื่องหมายต่างๆ
รูปพยัญชนะ เช่น ก เป็นพยัญชนะ ฯลฯ
รูปสระ เช่น ะ เป็นรูปสระ ฯลฯ
๑ เป็นเครื่องหมายการนับ ฯลฯ
= เรียกว่า สมพล ฯลฯ
△ เรียกว่า รูปสามเหลี่ยม ฯลฯ

ข้อสังเกต เมื่อเอาเครื่องหมายเหล่านั้นไปใช้แทนคำพูดชนิดใด หรือ ส่วนใดของประโยค ก็ให้พิจารณาเหมือนอย่างที่ใช้เป็นตัวหนังสือ เช่น ตัวอย่าง

△ นี้มีพื้นที่ ๕ ตารางเซนติเมตร ใช้อย่างเดียวกับตัวหนังสือว่า รูปสาม เหลี่ยมนี้ มีพื้นที่ห้าตารางเซนติเมตร ดังนี้เป็นต้น

ข. คำและวลีชนิดต่างๆ ที่ว่านี่เฉพาะคำชนิดต่างๆ และวลี ชนิดต่างๆ อาจจะเป็นประธานของประโยคได้ทั้งนั้น ดังตัวอย่างต่อไปนี้:-

คำชนิดต่างๆ คือ
จะ  เป็นกริยานุเคราะห์
ด้วย เป็นคำบุพบท ฯลฯ

วลีชนิดต่างๆ คือ:-
ยาวห้าวาสองศอก เป็นวิเศษณ์วลี
ในเมืองสวรรค์ เป็นบุพบทวลี ฯลฯ

หมายเหตุ ตัวอย่างบทประธานที่แสดงข้างบนนี้ ล้วนแต่บทประธานที่ เป็นกรรตุการกของประโยคกรรตุทั้งนั้น ส่วนบทประธานที่เป็น กรรมการก ก็ดี เป็น การิตการก ก็ดี ให้สังเกตอนุโลมตามตัวอย่างข้างบนนี้

บทขยายประธาน บทขยายประธานนี้ คือบทที่ใช้ประกอบประธานให้ได้ความชัดเจนยิ่งขึ้น มีได้ทั้ง คำ วลี และประโยค แต่ประโยคนั้น  จะได้กล่าวต่อไปในข้อที่ว่าด้วยสังกรประโยค ในที่นี่จะกล่าวเพียงบทขยาย ประธานของเอกรรถประโยค ดังต่อไปนี้

(๑) คำวิเศษณ์ คำวิเศษณ์ต่างๆ ทั้งแผนกขยายนามและสรรพนาม และพวกขยายกริยาและวิเศษณ์ด้วยกัน ย่อมเป็นบทขยายประธานได้ทั้งนั้น ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ลักษณวิเศษณ์:-
‘‘คน ชั่ว ไม่ดี”
“ปลา ตาย ไม่ดี”
“ม้า เร็ว ใช้ในการส่งข่าว”
“ความคิด ว่องไว เป็นประโยชน์”
“ปัญญา เชื่อมซึม เกิดแต่โรค”
“นอน มาก ไมดี” ฯลฯ

กาลวิเศษณ์– “คน ภายหลัง จะนินทา”
“ชาติ หน้า ไม่แน่นอน” ฯลฯ

สถานวิเศษณ์– “บ้าน ใต้ เงียบเหงา”
“คน นอก เข้าไม่ได้” ฯลฯ

ประมาณวิเศษณ์– “คน มาก มีกำลังมาก”
“คน เดียว ไปเที่ยวไม่สนุก”
“คน ที่หนึ่ง ดี” ฯลฯ

นิยมวิเศษณ์– “คน นั้น ทำไม่ดี”

อนิยมวิเศษณ์– “คน ใด จะโง่เช่นนี้”

ปฤจฉาวิเศษณ์ “คนไหนทำผิด?” ดังนี้เป็นต้น

(๒) บทวิกัติการก ภาษาไทยนิยมใช้คำนาม หรือสรรพนามประกอบข้างท้ายกันต่อๆ ไป ซึ่งเรียกว่า บทวิกัติการก และมักใช้เป็นบทช่วยนาม หรือสรรพนามที่อยู่ข้างหน้านั้นเป็นพื้นของภาษาทีเดียว และบทวิกัติการกของบทประธานบางบทก็รวมเป็นวลีอยู่ในบทประธาน แต่บางบทก็แยกออกไปเป็นบทขยายประธาน ทั้งนี้ย่อมเป็นด้วยบทวิกัติการกนั้นๆ บางบทก็มีเนื้อความสนิทสนมกับบทประธาน บางบทก็มีเนื้อความแยกออกเป็นหน้าที่บทขยายประธาน ดังจะสังเกตได้ตามตัวอย่างต่อไปนี้

ก. นก ขุนทอง๑ สัตว์เลี้ยง๒ ของฉันดีมาก
ข. มิตร สหาย๑ เพื่อนตาย๒ จริงๆ มีน้อย
ค. สามเณร จ้อย รักเกียรติ๑ นักธรรมโท๒ เทศน์ดี

ขอให้สังเกตบทที่พิมพ์ด้วยอักษรตัวหนาในประโยคทั้ง ๓ นี้ ล้วนเป็นวิกัติการกทั้งนั้น แต่บทที่หมายเลข ๑ มีเนื้อความกลมเกลียวกับบทประธาน จึงนับว่าเป็นวลีรวมอยู่ในบทประธาน แต่บทที่หมายเลข ๒ มีเนื้อความบอกหน้าที่อีกส่วนหนึ่งต่างหาก จึงเป็นบทขยายประธาน ดังตัวอย่างคำที่พิมพ์ด้วยตัวอักษรตัวหนาต่อไปนี้

ก. นาม-“นายสี กำนัน เป็นคนดี”
“นางคำ ภรรยา ของนายสี เป็นคนดี”
“กรุงเทพฯ เมืองหลวง ของไทยมีอากาศร้อน”
“ เขา คนใช้ ประพฤติไม่ดี ”
“ท่าน ชาวนา ควรประพฤติดี’’ ฯลฯ

ข. สรรพนาม-“นายสีสงวนทรัพย์ เขา เป็นคนดี”
“พระภิกษุพงศ์ เผ่าพ่อค้า เธอ เทศน์ดี”
“รัฐมนตรี ท่าน สั่งสอนดี”
“พระนเรศวร พระองค์ เป็นนักรบเลิศ”
“แม่ครัว แก ทำกับข้าวดี’’ ฯลฯ

ข้อสำคัญที่ไทยเราใช้สรรพนาม เป็นบทวิกัติการกนั้น เพื่อแสดงชั้นสูงต่ำ ของนามหรือสรรพนาม ที่อยู่ข้างหน้า ซึ่งเป็นระเบียบของภาษาไทยเราส่วนหนึ่ง

ค. ส่วนวลีที่เป็นบทวิกัติการกด้วยนั้น ดูต่อไปในข้อ ๓ ที่ว่าด้วยบทวลี

(๓) บทวลี บทวลีที่ใช้เป็นบทขยายประธานนั้น มีได้ทั้งวลี วิกัติการก และวลีอื่นๆ ดังนี้

นามวลี บทนามวลีที่ใช้เป็นบทขยายประธานนั้น โดยมากก็เป็นนามวิกัติการกนั่นเอง แต่มีคำอื่นประกอบมากออกไปกลายเป็นนามวลีวิกัติการกขึ้น ตัวอย่าง
“นายสี กำนันหนุ่ม เป็นคนดี”
“ท่าน ชาวนาสำคัญ ควรประพฤติดี’’ ฯลฯ

สรรพนามวลี ก็คือบทสรรพนามวลีเช่นเดียวกัน ตัวอย่าง
“หลวงพ่อ ท่านสมภารใหญ่ มาโน่นแน่”
“พระนเรศวร พระองค์ผู้วีรบุรุษ เป็นกษัตริย์ผู้ทรงเกียรติ” ฯลฯ

วิเศษณ์วลี บทวิเศษณ์วลีก็เป็นทำนองเดียวกันกับนามวลีที่กล่าวแล้ว ตัวอย่าง
“นางสลวย ธรรมรัต งามสมชื่อ เดินมาโน่น”
“ความเร็ว ๑ ชั่วโมง เป็นเวลาเหมาะแล้ว”
“การกินข้าว-จุ ตั้ง ๒- ๓ ชาม ไม่ดี”

กริยาวลี บทกริยาที่เป็นบทขยายประธานนั้นก็เป็นทำนองเดียวกับวิเศษณ์วลีนั่นเอง ต่างกันเฉพาะที่มีคำกริยาขึ้นต้นเป็นแม่บทเท่านั้น ดังตัวอย่าง:-
“คน สวมเสื้อรุงรัง ไม่ดี”
“การเที่ยว คนหาความรู้ ดี” ฯลฯ

ข้อสังเกต บทกริยาวลีในที่นี้ หมายถึงกริยาที่ใช้เป็นสภาวมาลานำหน้า พวกเดียวเท่านั้น ถ้ามีคำอื่นนำหน้ากริยาเหล่านี้เข้า ก็กลายเป็นรูปอื่น หาใช่ กริยาวลีไม่ ดังตัวอย่าง

“คน ผู้สวมเสื้อรุงรัง ไม่ดี” คำ ผู้สวม เป็นนาม จึงกลายเป็นนามวลีไป

“การเที่ยว เพื่อหาความรู้ ดี” คำ เพื่อ เป็นบุพบท จึงกลายเป็นบุพบทวลีไป

“คน ที่สวมเสื้อรุงรัง ไม่ดี” คำ ที่ เป็นสรรพนาม เลยเป็นประธานของ กริยา สวม จึงกลายเป็นประโยคเล็กขึ้นอีกประโยคหนึ่ง ซึ่งจะกล่าวต่อไปข้างหน้า ดังนี้เป็นต้น

บุพบทวลี บุพบทวลีทุกประเภทย่อมเป็นบทขยายประธานได้ทั้งนั้น และ
คำที่มีบุพบทนำหน้าที่เรียกว่าบุพบทวลีนั้น ก็มี นาม สรรพนาม และกริยาสภาวมาลาเท่านั้น ตัวอย่าง
“ คน ในบ้าน กินข้าว ”
“คน ของฉัน กินข้าว”
“การเที่ยว เพื่อหาความรู้ ดี” ฯลฯ

บทขยายประธานนอกจากนี้ก็มีแต่ประโยค ซึ่งจะกล่าวต่อไปข้างหน้า

ข้อสังเกตเรื่องคำประสมบางพวกกับวลี มีคำประสมที่เป็นคำสมาสใน ภาษาบาลีและสันสกฤต ซึ่งมีคำติดต่อกันยืดยาวชวนให้เห็นเป็นวลีไปก็ได้ เช่น คำราชาศัพท์ที่มี พระ นำหน้า เช่น พระหัตถ์ พระบาท ฯลฯ ทั้งนี้ให้ถือว่าเป็นคำประสม คือคำสมาสอย่างเดียวกับ วรหัตถ์ วรบาท ไม่ใช่วลี คือ พระคำหนึ่ง หัตถ์ และ บาท อีกคำหนึ่ง ถึงจะมีคำบาลี หรือสันสันสกฤตติดต่อกันยืดยาวออกไปในทำนองนี้ เช่น พระบรมโอรสาธิราช พระบรมสารีริกธาตุ เป็นต้นก็ดี ให้ถือว่าเป็นคำสมาสคำเดียวเท่านั้นไม่ใช่วลี

คำ พระ ที่นำหน้าศัพท์ชนิดนี้เป็นคำนำหน้าสมาส เช่นเดียวกับคำ วร บรม บวร ฯลฯ ซึ่งต่างกับคำ พระ นามตำแหน่งบรรดาศักดิ์ (พระ เสนานุรักษ์) พระ ภิกษุ (พระ ก. พระ ข.) และ พระ สรรพนาม เช่น “พระ เสด็จโดยแดนชล” เป็นต้น

บทกริยา  ได้กล่าวแล้วว่าภาคแสดงของประโยคย่อมจำแนกเป็นส่วนย่อยออกไปอีก ๔ บท คือ บทกริยา บทขยายกริยา บทกรรม และบทขยายกรรม ต่อไปนี้จะได้นำเอาบททั้ง ๔ นี้มาอธิบายทีละบท แต่จะอธิบายเฉพาะที่ใช้ในเอกรรถประโยคก่อน

ในที่นี้จะยกบทกริยาขึ้นอธิบายก่อน เพราะเป็นส่วนสำคัญของภาคแสดงที่บอกอาการของบทประธานให้ได้ความครบเป็นเอกรรถประโยค และเพื่อให้ผู้ศึกษาเข้าใจแจ่มแจ้ง จึงควรแยกบทกริยาออกเป็นประเภทๆ ต่างกันดังนี้

(๑) คำกริยา  ได้แก่กริยาที่ใช้เป็นบทกริยาได้ คือ
ก. อกรรมกริยา  หมายถึง คำที่เป็นอกรรมกริยาแท้ ตัวอย่าง “คน นอน” “นก บิน” และ “น้ำ ไหล” ฯลฯ และคำวิเศษณ์ที่ทำหน้าที่เป็นอกรรมกริยา ตัวอย่าง “คนนี้ ฉลาด” “ม้านี้ งาม” และ “หญิงนี้ แก่” ฯลฯ

ข. สกรรมกริยา ตัวอย่าง- “คน กิน ข้าว” “เด็ก ชัก ว่าว” และ “คน ตี กัน” ฯลฯ

ค. วิกตรรถกริยา ตัวอย่าง “คนนี้ เป็น ครู” “หญิงนั้น เป็น ใบ้ และ“คนนี้ เหมือน ฉัน’’ ฯลฯ

หมายเหตุ กริยานุเคราะห์ใช้เป็นบทกริยาของประโยคไม่ได้ เพราะมี หน้าที่ช่วยกริยาอื่นๆ เพื่อแสดง มาลา กาล วาจก ของกริยาอื่นๆ จึงนับเป็นบทช่วยกริยาเท่านั้น ไม่ใช่เป็นบทกริยาของประโยค

(๒) กริยาวลี ที่ใช้เป็นบทกริยาของประโยคนั้น ก็คือกริยาต่างๆ ที่เอา กริยานุเคราะห์ก็ดี  คำอื่นก็ดี เข้ามาช่วย จึงรวมกันเป็น กริยาวลี ขึ้น เพื่อแสดง มาลา กาล วาจก ดังกล่าวแล้ว ตัวอย่าง

ก. กริยาวลีบอกมาลา เช่น
“เขา ควรยินดี” “เขา ชะรอยจะไม่อยู่” และ “เจ้า ต้องไป” ฯลฯ

ข. กริยาวลีบอกกาล เช่น- “เขา กำลังนอนอยู่” “เขา ได้มา ที่บ้าน” และ “เขา จะไป พรุ่งนี้” ฯลฯ

ค. กริยาวลีบอกวาจก เช่น-“บิดายังบุตร ให้นอน” (ให้นอน เป็น กรรตุวาจก) “นายสี ถูกใส่ความ (ถูกใส่ความเป็นกรรมวาจก) และ “ตามี ถูกให้เฝ้า บ้าน” (ถูกให้เฝ้า เป็นการิตวาจก) ฯลฯ

กริยาวลีบอกวาจกนี้ ควรศึกษาต่อไปอีก

บทกริยาของเอกรรถประโยครูปต่างๆ บทกริยาทั้งที่เป็นคำ และเป็นกริยาวลีที่บอกวาจก ซึ่งอ้างตัวอย่างไว้นั้นเกี่ยวกับบทกริยาของเอกรรถประโยครูปต่างๆ จึงขออธิบายเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย ดังนี้

(๑) บทกริยาของประโยคกรรตุ บทกริยารูปนี้ได้แสดงไว้ในตัวอย่าง
ทั่วไปแล้วเช่น “คน นอน” “คน กิน ข้าว” ฯลฯ และบทกริยา เช่น กิน นอน ในรูปนี้บอกสัมพันธ์ว่าเป็นกริยากรรตุวาจก จึงไม่ต้องอธิบายต่อไปอีก

(๒) บทกริยาของประโยคกรรม บทกริยาของประโยคกรรมทั้งหลาย บอกสัมพันธ์ว่าเป็น กรรมวาจก ทั้งนั้น มี ๒ ประเภทด้วยกันดังนี้

ก. คือเป็นกริยาวลีที่มีคำกริยานุเคราะห์ ถูก นำหน้า เช่น “ลูก ถูก แม่ ตี” ดังนี้คำ ลูก เป็นบทประธานแต่เป็นกรรมการก

และคำ แม่ เป็นกรรตุการกช่วยกริยาวลี ถูก-ตี และกริยาวลี ถูก-ตี เป็นกรรมวาจกของคำ ลูก หรือจะกล่าวย่อๆ ว่า “ลูก ถูกตี” ก็ได้

หมายเหตุ กริยาวลีมีคำ ถูก นำหน้านี้ เป็นประเพณีนิยมใช้เฉพาะในข้อความที่ไม่ดี ซึ่งผู้ถูกไม่พอใจ เช่น ถูกจองจำ ถูกตี ถูกตรากตรำ ถูกบังคับ เป็นต้น ไม่นิยมในข้อความที่ดีซึ่งผู้ถูกพอใจ เช่นจะใช้ว่า ถูกชม ถูกยกย่อง ถูกเชิญ ฯลฯ ไม่ได้ นอกจากผู้ถูกไม่พอใจที่จะถูกเช่นนั้น ดังตัวอย่างกล่าวว่า ฉันเบื่อจะตายไปแล้ว ไปไหนก็ถูกเชิญให้กินข้าวร่ำไป ดังนี้เป็นต้น และในความอื่น ไม่ใช้คำ ถูก นำหน้าเลย ดูต่อไป

ข. ไม่ต้องใช้คำ “ถูก” นำหน้า บทกริยาของประโยคกรรมในภาษาไทยที่ไม่เป็นวลี คือใช้คำกริยาโดดๆ โดยไม่ใช้คำ “ถูก” นำหน้า ก็มีเป็นอันมาก คือ เป็นแต่เราเอาบทกรรมการกมาเป็นประธานและเอาเรียงไว้หน้าบทกริยาเท่านั้นก็ได้ เช่นตัวอย่าง “วัดนี้ สร้าง แต่ ครั้งไหน?” “ขนมนี้กิน ดี’’ “ของนี้ ขาย ยาก” ฯลฯ คำกริยา สร้าง กิน ขาย ในที่นี้เป็นกรรม วาจก เช่นเดียวกับวลีว่า “ถูกสร้าง ถูกกิน ถูกขาย” โดยยึดเอาการเรียงบทกรรมการกไว้หน้ากริยาเป็นหลัก

(๓) บทกริยาของประโยคกริยา ประโยคกริยานี้ได้กล่าวแล้วว่ามีวิธี บอกสัมพันธ์เป็นอย่างเดียวกับประโยคกรรตุทั้งนั้น ต่างกันเพียงเรียงบทกริยาไว้หน้าบทประธาน เพื่อต้องการให้กริยาเด่นชัดเท่านั้น และบทกริยาก็ใช้เฉพาะที่ มีความว่า เกิด มี ปรากฏ เท่านั้น

หมายเหตุ ประโยคกริยานี้มีลักษณะคล้ายกับ “ประโยคภาพ” ในภาษา บาลี ซึ่งของเขามีแต่บทกริยา เอาบทประธานไปเป็นบทช่วยกริยาเสียจึงไม่มีบทประธาน

(๔) บทกริยาของประโยคการิต บทกริยานี้ต้องใช้กริยานุเคราะห์ ให้ นำหน้าเป็นวลีมี ๓ ประเภทดังนี้

ก. กรรตุวาจก เช่น-ให้อ่าน หรือ ให้-อ่าน ตัวอย่างประโยคว่า
“ครูยังศิษย์ ให้อ่าน หนังสือ” “ครู ให้ ศิษย์ อ่าน หนังสือ” หรือว่า “ครู ให้อ่าน หนังสือ ” เป็นต้น

ข. กรรมวาจก เช่น-ถูก-ให้-อ่าน ถูกให้อ่าน หรือ ให้อ่าน ตัวอย่าง ประโยคว่า “หนังสือ ถูก ครู ให้ ศิษย์ อ่าน” หรือ “หนังสือนี้ ถูกให้อ่านเสมอๆ” หรือ “หนังสือนี้ ให้อ่าน เสมอๆ” เป็นต้น

ค. การิตวาจก เช่น-“ถูก-ให้อ่าน” หรือ “ถูกให้อ่าน” ตัวอย่างประโยคว่า “ศิษย์ ถูก ครู ให้อ่าน หนังสือ” หรือ “ศิษย์ ถูกให้อ่าน หนังสือ” เป็นต้น

หมายเหตุ รูปกริยาวลีที่เป็นการิตวาจกนี้ ใช้กริยานุเคราะห์อื่น ประกอบ เป็นมาลาและกาลได้อย่างกริยากรรตุวาจกและกรรมวาจกเหมือนกัน

บทขยายกริยา คือ คำวิเศษณ์หรือวลีที่ใช้ขยายบทกริยาให้ได้ความชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ไม่ใช่คำช่วยประกอบกริยาให้เป็นกริยาวลี เช่นคำกริยา นุเคราะห์ดังกล่าวแล้ว บทขยายกริยานี้มีประเภทดังต่อไปนี้

(๑) บทขยายกริยาที่แต่งเนื้อความ ข้อนี้หมายถึงบทที่ทำหน้าที่แต่งบทกริยาให้มีเนื้อความพิสดารยิ่งขึ้น มีอยู่ ๒ ประเภทด้วยกันคือ:-

ก. คำวิเศษณ์ คำวิเศษณ์ย่อมมีหน้าที่แต่งคำอื่นให้มีความหมายแปลกไปจากคำเดิมได้ ดังนั้นจึงมีหน้าที่ขยายบทกริยาได้ทั้งหมด เพื่อให้มีเนื้อความพิสดารไปต่างๆ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

“เขาเดิน ไว”     ไว วิเศษณ์บอกลักษณะของกริยา เดิน
“เขามา ก่อน”     ก่อน วิเศษณ์บอกกาลของกริยา มา
“ฉันนอน กลาง”     กลาง วิเศษณ์บอกสถานของกริยา นอน
“เขากินขาว จุ”     จุ วิเศษณ์บอกประมาณของกริยา กิน
“ ผมอยู่ ขอรับ ”     ขอรับ วิเศษณ์บอกความรับรองของกริยา อยู่
“เขา ไม่ ทำงาน” ไม่ วิเศษณ์บอกปฏิเสธของกริยา ทำ ดังนี้เป็นต้น

ข. วลีต่างๆ ที่ทำหน้าที่วิเศษณ์ นอกจากคำวิเศษณ์ดังกล่าวแล้ว ยังมี บทวลีต่างๆ ที่ทำหน้าที่แต่งบทกริยาให้พิสดารขึ้นไปกว่าคำวิเศษณ์อีก ซึ่งมีชื่อต่างกันแล้วแต่คำชนิดใดนำหน้า แต่ก็รวมความว่าทำหน้าที่อย่างเดียวกับคำวิเศษณ์ทั้งนั้น ดังตัวอย่างบทที่มีตัวเส้นหนาต่อไปนี้

“เขาวิ่ง เร็วมากทีเดียว ” (วิเศษณ์วลีบอกลักษณะ)
“เขาเดิน เตะกระโถนหก” (วิเศษณ์บอกวลีลักษณะ)
“เขานอน สิบชั่วโมงเต็ม” (วิเศษณ์วลีบอกประมาณ)
“เขามา ช้า ๕ นาที” (วิเศษณ์วลีบอกกาล) ดังนี้เป็นต้น

หมายเหตุ วลีที่ทำหน้าที่ วิเศษณ์ ขยายบทกริยานี้ ย่อมเป็นวิเศษณ์วลี กับกริยาวลีเป็นพื้น เพราะถ้าเป็นนามวลีหรือบุพบทวลีก็จะต้องเป็นการกช่วยกริยา ดังจะแสดงต่อไปข้างหน้า

(๒) บทขยายกริยาที่เป็นการช่วยกริยาต่างๆ ได้แก่บทการกต่างๆ ที่ช่วยกริยาให้มีเนื้อความครบบริบูรณ์ก็ดี หรือให้มีเนื้อความพิสดารออกไปก็ดี มี ๔ ประเภทด้วยกันดังนี้

ก. บทวิกัติการกช่วยกริยา หมายถึงนาม สรรพนาม หรือ วลีทำหน้าที่ วิกัติการก ช่วยวิกตรรถกริยาให้ได้ความครบ ตัวอย่าง
“เขาเป็น ครู” (ครู เป็นวิกัติการกช่วยกริยา เป็น)
“เขาคล้าย ฉัน” (ฉัน เป็นวิกัติการกช่วยกริยา คล้าย)
“ท่านเป็น กรรมการศาลฎีกา” (กรรมการศาลฎีกา เป็นวลีวิกัติการก ช่วยกริยา เป็น) ดังนี้เป็นต้น

ข. บทกรรตุการก ช่วยกริยากรรมวาจกหรือกริยาการิตวาจก เช่น ตัวอย่าง:- “บุตรถูก บิดา ทำโทษ” บิดา เป็นกรรตุการกช่วยกริยา ถูกทำ โทษ “วัดนี้ ใคร สร้าง” ใคร เป็นกรรตุการกช่วยกริยา สร้าง “ศิษย์ถูก ครู ให้อ่านหนังสือ” ครู เป็นกรรตุการกช่วยกริยา ถูกให้อ่าน ดังนี้เป็นต้น

ค. บทการิตการก ที่ช่วยกริยาในประโยคการิตการก เช่นตัวอย่าง  “ครู ยังศิษย์ ให้อ่านหนังสือ” ยังศิษย์ เป็นบุพบทวลีการิตการกช่วยกริยา ให้อ่าน “ครู ให้ศิษย์ อ่านหนังสือ” ศิษย์ เป็นการิตการกช่วยกริยา ให้อ่าน
“หนังสือถูกครูให้ ศิษย์ อ่าน” ศิษย์ เป็นการิตการกช่วยกริยา ถูกให้อ่าน ดังนี้เป็นต้น

ฆ. วิเศษณการกต่างๆ ได้แก่วิเศษณการกที่ช่วยกริยาโดยบอกหน้าที่ต่างๆ ให้มีเนื้อความพิสดารออกไป เช่นตัวอย่าง

“เขาไป โดยเร็ว” โดยเร็ว บุพบทวลีวิเศษณการกช่วยกริยา ไป เพื่อ บอกลักษณะ

“เขาไป เมื่อเช้า” เมื่อเช้า บุพบทวลีวิเศษณการกช่วยกริยา ไป เพื่อ บอกกาล

“เขาอยู่ ที่บ้าน” ที่บ้าน บุพบทวลีวิเศษณการกช่วยกริยา อยู่ เพื่อบอกสถาน

“เขานอน ตลอดคืน” ตลอดคืน บุพบทวลีวิเศษณการกช่วยกริยา นอน เพื่อบอกประมาณ

“ฉันเห็น กับตา” กับตา บุพบทวลีวิเศษณการกช่วยกริยา เห็น เพื่อบอกเครื่องใช้

หมายเหตุ  วิเศษณการกนี้โดยมากมีบุพบทนำหน้า จึงเรียกบุพบทวลี แต่บางบทไม่นิยมใช้บุพบทนำหน้า ใช้แต่คำวิเศษณการกโดดๆ ต่อท้ายบทกริยาก็มี เช่นตัวอย่าง

“เขากิน ตะเกียบ เป็น” ตะเกียบ คำวิเศษณ์การกช่วยกริยา กิน เพื่อ บอกเครื่องใช้

“เด็กจม นํ้า ตาย” นํ้า คำวิเศษณการกช่วยกริยา จม เพื่อบอกสถาน เป็นต้น วิเศษณการกเช่นนี้มีมาก

ข้อสังเกต บทการกช่วยกริยาทั้ง ๔ ประเภทนี้ เป็นคำนามก็ได้ สรรพนามก็ได้ กริยาสภาวมาลาก็ได้ และเป็นวลีก็ได้ แล้วแต่รูปความจะเป็นไป ให้สังเกตตามตัวอย่างที่แสดงไว้ข้างต้นนี้

บทกรรม  บทกรรมนหมายความว่าบทที่ทำหน้าที่ผู้ถูกของสกรรมกริยา ได้กล่าวไว้แล้วว่า บทกริยาของภาคแสดงที่เป็นสกรรมกริยา จะต้องมีบทกรรมต่อท้ายจึงจะมีเนื้อความครบบริบูรณ์ ดังนั้น บทกรรมที่กล่าวนี้
ก็มีหน้าที่ช่วยสกรรมกริยา อย่างเดียวกับบทการกต่างๆ ที่ช่วยบทกริยาดังกล่าวแล้วนั่นเอง แต่ที่ท่านจัดไว้เป็นอีกแผนกหนึ่ง ไม่รวมไว้ในบทขยายกริยา อย่างบทการกช่วยกริยาต่างๆ เหล่านั้น ก็เพราะเป็นบทสำคัญยิ่งกว่ากัน อาจจะนำมาเป็นบทประธานของประโยคก็ได้ นับว่าเป็นบทสำคัญคล้ายคลึงกับบทประธานเหมือนกัน

บทกรรมมีลักษณะคล้ายคลึงกับบทประธานทุกอย่าง ต่างกันก็ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ถูกของสกรรมกริยาเท่านั้น บทใดที่เป็นประธานได้ก็ต้องเป็นบทกรรมได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นในที่นี้จะไม่อธิบายให้พิสดารอีก จะยกตัวอย่างมาแสดงไว้เพียงประเภทละประโยคพอเป็นเค้า ให้ผู้ศึกษาสังเกตและอนุโลมตามบทประธานเอาเอง ดังต่อไปนี้

(๑) คำนาม-“ฉันเห็น คน”
(๒) คำสรรพนาม – “ เขารัก ฉัน ”
(๓) บทกริยาสภาวมาลา-“เขาชอบ นอน”
(๔) คำวิเศษณ์-“เขาไม่รัก ดี”
(๕) บทวลีต่างๆ-นามวลี-“ฉันชอบ นกเขาชวา”
สรรพนามวลี-“พระองค์ทรงชุบเลี้ยง ข้าเบื้องบทมาลย์ ปานฉะนี้” (มักเป็นคำประพันธ์)

กริยาวลี-มีกริยานุเคราะห์ช่วย “ฉันไม่ชอบ ถูกบังคับ”

มีนามช่วย-“ฉันชอบ พายเรือ”
“ ฉันไม่ชอบ เป็นนักโทษ ”

มีกรรมช่วย-“เขาชอบ เล่นการพนัน”

(๖) บทพิเศษต่างๆ เช่น-เขาเขียน O ไม่ดี “O” อ่านว่ารูปวงกลม เป็นบทกรรมการกของกริยา เขียน “เขาแปล ‘ในเมืองสวรรค์’ ไม่ถูก” ในเมืองสวรรค์ เป็นบุพบทวลี กรรมการกของกริยา แปล

หมายเหตุ ในบทพิเศษนี้ หาได้ใช้ในภาษาไทยไม่ ที่นำมาแสดงไว้ใน ที่นี้ก็เพื่อจะให้ทราบไว้เป็นหลักแห่งความรู้เท่านั้น ส่วนบทกรรมที่เป็นประโยคนั้น จะแสดงต่อไปในสังกรประโยค

บทกรรมการกที่ช่วยบทกริยาในภาคแสดงนั้น ถ้าเอาไปเรียงไว้หน้าบท กริยา ก็ต้องนับว่าเป็นบทประธานกรรมการก และบทกริยาก็ต้องเป็นกริยาวาจก

บทขยายกรรม ได้กล่าวแล้วว่าบทกรรมคล้ายคลึงกับบทประธาน ฉะนั้นบทขยายกรรมก็คล้ายคลึงกับบทขยายประธานดุจกัน หรือจะว่าเป็นอย่างเดียวกันก็ได้ ต่างกันเพียงทำหน้าที่ขยายบทกรรมเท่านั้น จึงแสดงตัวอย่างไว้ ให้ดูประเภทละประโยค เพื่อทบทวนความสังเกตดังนี้

(๑) คำวิเศษณ์ แต่งนาม-“เขาจบช้าง ป่า”
แต่งกริยา-“เขาไม่ชอบเดิน เร็ว”

(๒) บทวิกัติการก นาม-“ฉันนับถือนายมี นายอำเภอ”
สรรพนาม- “ในข้อนี้ฉันต้องเชื่อลูก มัน”

(๓) บทวลี วลีวิกัติการก-“ฉันนับถือภิกษุดี สมภารหนุ่ม”
วลีอื่นๆ – “ฉันเห็นคน หนวดยาวรุ่มร่าม”
“ ตาสีกินข้าว สามชามกว่า ”
“ ฉันพบตามี สวมเสื้อรุงรัง ”
“ฉันรักคน ในบ้าน”

ทั้งนี้ให้ดูคำอธิบายในบทขยายประธานเป็นหลักอนุโลมตาม

วิธีบอกสัมพันธ์เอกรรถประโยค ได้กล่าวมาแล้วว่า ประโยคคำพูดย่อมต่างกับประโยคไวยากรณ์ เพราะประโยคคำพูดย่อมละส่วนต่างๆ ไว้ในที่เช้าใจ ฉะนั้น เมื่อเราจะบอกสัมพันธ์ประโยคคำพูด จึงต้องแปลงรูปเป็นประโยคไวยากรณ์เสียก่อน คือยกเอาส่วนที่ละไว้ที่เข้าใจมาใส่ไว้ในวงเล็บ ให้เต็มตามประโยคไวยากรณ์เสียก่อน แล้วจึงบอกสัมพันธ์ทีหลัง ดังตัวอย่างต่อไปนี้
silapa-0231 - Copy
เมื่อจะบอกสัมพันธ์ต้องบอกตามประโยคไวยากรณ์ ดังนี้
ประโยก ก. ภาคประธาน-เวลา
บทประธาน -เวลา
ภาคแสดง -กี่นาฬิกาแล้ว
บทกริยา -กี่นาฬิกาแล้ว (วิเศษณ์วลีทำหน้าที่เป็นบทกริยา) ดังนี้เป็นต้น

การเขียนอธิบายบอกสัมพันธ์ เช่นข้างบนนี้ ให้เฉพาะข้อความเล็กน้อย ดังตัวอย่างข้างบนนี้เท่านั้น ถ้ามีข้อความมากหรือมีหลายประโยคด้วยกัน ควรตีตารางบอกสัมพันธ์สะดวกกว่า ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ตัวอย่างตารางบอกสัมพันธ์
silapa-0232
บทเชื่อมความ เอกรรถประโยคนี้ ยังมีถ้อยคำที่ไม่ใช่ประโยคเข้ามาเชื่อมหน้าประโยคก็มี หรือหลังประโยคก็มี โดยมากเป็นบทอาลปน์ หรือบทอุทาน เช่น เออ! โอ๊ย! ตายละซี! เหล่านี้เป็นต้น เช่น ตัวอย่าง “นายแดงโว๊ย! ไฟไหม้บ้าน” หรือ “ตายละซี! เกิดขโมยขึ้นในบ้านเราแล้ว โว๊ย! นายแดง” เหล่านี้เป็นต้น

ในบทเชื่อมความนี้ ถ้าเป็นประโยคใหญ่ ก็มีคำสันธานสำหรับเชื่อมประโยคอยู่ด้วยดังจะแสดงต่อไปข้างหน้า ถ้ามีในเอกรรถประโยค ดังตัวอย่างข้างบนนี้ ก็ตีตารางไว้ถัดช่องประโยคเข้าไปดังนี้
silapa-0234

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร

ระเบียบภาษาไทยและประเภทวลี

ระเบียบภาษาไทยที่เป็นหลัก

(๑) ตำราไวยากรณ์ไทยเรา ตั้งขึ้นตามรูปโครงไวยากรณ์ภาษาอังกฤษบ้าง ภาษาบาลีและสันสกฤตบ้าง เพราะในสมัยนั้นไทยเราเริ่มนิยมภาษาอังกฤษเป็นส่วนมาก ส่วนศัพท์ที่ใช้ในทางไวยากรณ์นั้น เราใช้ตามบาลีและสันสกฤต ซึ่งแพร่หลายอยู่ในหมู่ผู้เรียนภาษาบาลีทางศาสนามาก่อนแล้ว เราจึงเรียกตามนั้น เพื่อความสะดวก แต่ระเบียบของภาษาไทยเรานั้นหาได้ตรงกับภาษาที่เราถ่ายรูปโครงมานั้นไม่ กล่าวคือ ภาษาไทยเราเป็นภาษาพวกเดียวกับภาษาจีน ซึ่งมีระเบียบใช้คำโดดๆ ไม่นิยมชนิดของคำมากนัก เช่นตัวอย่าง คำ ดี ของเราใช้ เป็นนามก็ได้ เช่น “เขาไม่รัก ดี ก็ตามใจ” ใช้เป็นวิเศษณ์ก็ได้ เช่น “ของ ดี มีราคา” เป็นกริยาก็ได้เช่น “เด็กนี้ต่อไปจัก ดี” เป็นต้น ไม่เหมือนกับระเบียบของภาษาอังกฤษ ฯลฯ ซึ่งมีรูปต่างกันตามชนิดของคำ เช่น คำ ดี ของเขา ถ้าเป็นคุณศัพท์เขาใช้ กู๊ด (good) เป็นนามเขาใช้ กู๊ดเนส (goodness) เป็นกริยาวิเศษณ์เขาใช้ เว็ลลฺ (well) เป็นต้น ถึงภาษาบาลีและสันสกฤตก็เป็นทำนองนี้เหมือนกัน และเพราะเหตุว่าภาษาไทยเราไม่มีที่สังเกตว่าเป็นคำชนิดไร และซ้ำไม่มีที่สังเกตว่ารูปไหนเป็น กรรตุ (ผู้ทำ) รูปไหนเป็น กรรม (ผู้ถูก) เป็นต้นด้วย เราจึงยึดเอาตำแหน่งที่เรียงคำก่อนหลังเป็นสำคัญ เช่น ประธานอยู่หน้า กริยาอยู่กลาง กรรมอยู่หลัง เช่น เสือกินคน ถ้าเราเปลี่ยนตำแหน่งเสีย เป็น คนกินเสือ ความหมายก็ผิดไปด้วย หรือบางทีก็ไม่ได้ความเลย เช่น กินคนเสือ หรือ เสือคนกิน เป็นต้น แต่ในภาษาบาลีเขามีรูปเฉพาะชนิดและเฉพาะหน้าที่ คือ กรรตุ รูปหนึ่ง กรรม รูปหนึ่ง เป็นต้น ถึงเขาจะเปลี่ยนลำดับกัน เช่น ตามปรกติ เสือกินคน เขาพูดว่า พฺยคฺโฆ นรํ ภุณฺชติ, และจะเปลี่ยน

silapa-0197 - Copyเพราะฉะนั้น ขอให้ผู้ศึกษาจงสังเกตระเบียบของภาษาไทยเราดังแสดงมานี้ไว้ เพื่อเป็นหลักในการวินิจฉัยชนิดของคำและหน้าที่ของคำ เช่น กรรตุการก หรือกรรมการก เป็นต้นต่อไป

(๒) นอกจากเราจะใช้ตำแหน่งเรียงหน้าหลัง เพื่อบอกชนิด หน้าที่ ฯลฯ ของคำแล้ว เรายังมีระเบียบเอาคำอื่นมาประกอบกันเพื่อบอกชนิดและหน้าที่ ฯลฯ ของคำอีก ตัวอย่างเครื่องหมายบอกเพศ เช่น บาลี-ทารโก(เด็กชาย) ทาริกา (เด็กหญิง) ฯลฯ ซึ่งเป็นคำเดียวกัน แต่เปลี่ยนรูปเล็กน้อย แต่ภาษาไทยใช้เอาคำอื่นมาประกอบเข้าเป็นสองคำว่า เด็ก-ชาย, เด็ก-หญิง หรือจะใช้เป็นพจน์อะไรก็เอาคำมาประกอบเข้าอีกเป็น เด็ก-ชาย-คน-เดียว, เด็ก-หญิง-สอง-คน ดังนี้เป็นต้น ดังนั้นภาษาไทยเราจึงเป็นกลุ่มๆ ที่เรียกว่า วลี โดยมาก ซึ่งผิดกับภาษาอังกฤษ บาลี และสันสกฤตอยู่เป็นพื้น ดังจะชักตัวอย่างมาให้สังเกตต่อไปนี้

อชฺช บาลีคำเดียว ไทยใช้เป็นวลีว่า วัน-นี้
สาลิกา บาลีคำเดียว ไทยใช้เป็นวลีว่า นก-ขุนทอง
สฺวิม อังกฤษคำเดียว ไทยใช้เป็นวลีว่า ว่าย-น้ำ
เวอรฺก อังกฤษคำเดียว ไทยใช้เป็น วลี ว่า ทำ-การ ดังนี้เป็นต้น

เมื่อระเบียบใช้คำแตกต่างกันเช่นนี้ เราจะยึดเอาภาษาอังกฤษ หรือบาลีสันสกฤต มาเป็นแบบเปรียบเทียบใช้ในภาษาไทยเราหาได้ไม่ ดังนั้นไวยากรณ์ภาษาไทย ก็ต้องยึดระเบียบในภาษาไทยเป็นหลักสำคัญ จริงอยู่ ไวยากรณ์ของภาษาไทยเราตั้งขึ้นตามรูปโครงของภาษาอังกฤษ บาลี และสันสกฤตดังกล่าวแล้ว แต่ที่จะถือภาษาอังกฤษและภาษาอื่นเป็นหลัก ก็ได้เพียงรูปโครงหยาบๆ เท่านั้น จะยึดเอาเป็นแบบเปรียบเทียบเคียงให้ละเอียดหาได้ไม่ เพราะภาษาไทยของเราต่างระเบียบแบบแผน (ตระกูลภาษา) กับเขา ขอให้ผู้ศึกษาสังเกตข้อนี้ไว้เป็นแบบอีกหลักหนึ่ง

ชื่อของวลี เมื่อภาษาไทยเราใช้ วลี มากดังกล่าวแล้ว เราจึงจำเป็นจะต้องรู้ประเภทวลีที่ใช้อยู่ในภาษาไทยเราให้ละเอียดจึงจะควร และวลีที่ใช้อยู่ในภาษาไทยนั้น มีประเภทต่างกันตามชื่ออย่างหนึ่ง และตามหน้าที่ ซึ่งหมายความว่าเรานำเอาวลีเหล่านั้นไปใช้ในหน้าที่เช่นไรอีกอย่างหนึ่ง ต่อไปนี้จะอธิบายชื่อของวลีก่อน ดังนี้

ตามที่ได้อธิบายมาแล้ว วลี นั้นได้แก่กลุ่มคำหมู่หนึ่งๆ มีจำนวนคำตั้งแต่ ๒ คำขึ้นไป และไม่มีความครบที่จะเป็นประโยคได้ จะขึ้นต้นด้วยคำชนิดไรก่อนก็ได้ และมีคำพ่วงท้ายออกไปอีกำหนึ่ง หรือมากกว่าก็ได้ เรียกว่า วลี ทั้งสิ้น ข้อสำคัญที่จะสังเกตก็คือ ไม่ใช่คำประสม คือเป็นคำต่อคำที่ใช้ติดต่อกัน และมีเนื้อความเกี่ยวเนื่องกันด้วย เพื่อสะดวกแก่การจดจำ ท่านจึงตั้งชื่อตามชนิดของคำที่อยู่ข้างหน้า ตัวอย่าง-วลีที่มีนามอยู่หน้า เช่น นก-ขุนทอง ก็เรียก นามวลี สรรพนามอยู่หน้า ข้าพระบาท-ยุคล ก็เรียก สรรพนามวลี เป็นต้น ดังจะจำแนกชื่อวลีต่างๆ ไว้พอเป็นที่สังเกตต่อไปนี้

ก. นามวลี มีลักษณะต่างกันดังนี้
(๑) นามวลี  ซึ่งมีสามานยนามชนิดย่อยตามหลัง เช่น:
ไก่-แจ้, นก-เขา, นก-เขา-ชวา, นก-ยาง-โทน ฯลฯ

(๒) นามวลีซึ่งมีวิสามานยนามตามหลัง เช่น:-
นาย-ยง, นาง-ละออ, นางสาว-ละออ, พระ-ยง, สามเณร-ยง, เศรษฐี-โชดึก, เมือง-ตรัง, อำเภอ-บางรัก, เรือ-เสือคำรนสินธุ์, ทะเล-จีน ฯลฯ

(๓) นามวลี ซึ่งมีลักษณะนามนำหน้าสังขยา เช่น:
รูป -เดียว, รูป-ที่ ๑, ลำ-หนึ่ง, ลำที่ ๘ ฯลฯ (ถ้ามีสังขยาขึ้นหน้า เช่น สองลำ เรียกวิเศษณ์วลี ซึ่งจะกล่าวต่อไป)

(๔) นามวลี ซึ่งมีคำประกอบส่วนท้ายของคำประสม เช่น:-
ชาวนา-ข้าวสาลี, ชาวเมือง-ระยอง, ผู้ทำ-ความดี, ความบ้า-ตัณหา, ผู้นอน-สาย, การกิน-ข้าว-จุ ฯลฯ

ข. สรรพนามวลี คำสรรพนามในภาษาไทย นอกจากเป็นคำเดียวโดดๆ เช่น ท่าน เขา เธอ ข้า เอ็ง พัน เป็นต้น แล้วยังมีคำประสมซึ่งโดยมากใช้ตามยศอีก เช่น

บุรุษที่ ๑ ข้าพเจ้า, ข้าพระเจ้า, ข้าพระบาท, ข้าพระพุทธเจ้า ฯลฯ
บุรุษที่ ๒ ใต้เท้า, ใต้เท้ากรุณา, ฝ่าพระบาท, ใต้ฝ่าพระบาท, ใต้ฝ่าละอองพระบาท, ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ฯลฯ
บุรุษที่ ๓ ท้าวพระกรุณา, พระองค์, ท้าวเธอ ฯลฯ

แต่ถ้าเอาคำอื่นมาแต่งต่อสรรพนามเหล่านี้ออกไปก็ดี หรือเอาคำอื่นมา แทนส่วนท้ายของสรรพนามเหล่านี้ให้ยืดยาวออกไปก็ดี จัดว่าเป็นสรรพนามวลีทั้งนั้น ดังตัวอย่าง
ข้าพระบาท -ยุคล,     ข้าพระบาท – บงกชมาศ,
ข้า – เบื้องบทมาลย์,     ข้า – เบื้องยุคลบาท ฯลฯ

ข้อสังเกต  คำสรรพนามที่เป็นคำประสมนั้น คือ คำสรรพนามที่ใช้กันอยู่ตามธรรมดา แต่สรรพนามวลีนั้น คือคำที่นักประพันธ์แต่งประดิษฐ์ขึ้นแทนสรรพนามที่ใช้กัน เพื่อให้เหมาะกับคำประพันธ์ จะเป็นรูปผิดเพี้ยนไปอย่างไรก็ตาม นับว่าเป็น สรรพนามวลี ทั้งนั้น

ค. กริยาวลี ได้แก่วลี ซึ่งมีกริยานำหน้า ซึ่งมีความหมายเป็นเรื่องเดียวกัน มีลักษณะดังต่อไปนี้

(๑) กริยาวลี ที่เป็นภาคแสดง ซึ่งบางทีมีคำกริยานุเคราะห์ประกอบข้างหน้าบ้างข้างหลังบ้าง เพื่อแสดง มาลา กาล และ วาจก ของภาคแสดงนี้ ดังนี้

มาลา เช่น:- คง-กิน, ต้อง-กิน, จง-กิน, อย่า-กิน, กิน-เถอะ, กิน-เถิด ฯลฯ

กาล เช่น:- กำลัง-กิน, กิน-อยู่, จัก-กิน, จะ-กิน, กิน-แล้ว คง-กิน-แล้ว, ได้-กิน, ได้-กิน-แล้ว, จัก-ได้-กิน-แล้ว ฯลฯ

วาจก เช่น:- ถูก-ตี, ให้-ตี, ให้-ถูก-ตี ฯลฯ

หมายเหตุ กริยาวลีพวกนี้บางทีไม่อยู่ติดต่อกัน คือ มีคำอื่นมาคั่นอยู่ในระหว่าง เช่น:- ถูก-ตี, กิน-เถิด และ ให้-ตี ฯลฯ ซึ่งมีคำอื่นคั่นอยู่ในระหว่างดังนี้ “ถูก พ่อ ตี” “กิน ข้าว เถิด” “ให้ คน ตี” เป็นต้น กริยาวลีซึ่งมีคำอื่นมาแทรกกลางเช่นนี้ เรียกว่า กริยาวลีคาบ

(๒) กริยาวลี ที่เป็นภาคแสดงติดต่อกันของประโยครวม เช่น “เขา อุตส่าห์เดิน” หรือ “เขา นั่งร้องเพลง” ฯลฯ ดังนี้ บท อุตส่าห์เดิน ก็ดี และ นั่งร้องเพลง ก็ดี เป็นกริยาติดต่อกัน นับว่าเป็นกริยาวลี เพราะกริยาหลัง คือ เดิน และ ร้องเพลง ต่างก็ขยายกริยาข้างหน้า คือ อุตส่าห์ และ นั่ง ซึ่งรวมกันเป็นภาคแสดงของประโยครวม

(๓) กริยาวลี ที่เนื่องมาจากคำประสม ซึ่งมักจะเป็นกริยาเกี่ยวด้วยยศ เช่น กริยาเป็นคำประสมว่า ถึงแก่กรรม, สวรรคต, สิ้นพระชนม์ ฯลฯ

คำประสมเหล่านี้ ถ้าเกี่ยวกับคำประพันธ์ ท่านกวีแต่งต่อให้ยืดยาวออก ไปอีกก็ดี เอาคำอื่นมาใช้แทนก็ดี ทำให้รูปคำไม่คงที่อย่างที่ใช้กัน ตามธรรมดาก็รวมเรียกว่า กริยาวลีทั้งนั้น อย่างเดียวกับสรรพนามวลีที่กล่าวมาแล้ว เช่น:- ถึงแก่กรรมวิบากบันดาล, เสด็จสวรรคาลัยสุรโลก, สิ้นพระชนมายุสังขาร ซึ่งเอาความว่าตายทั้งนั้น ดังนี้เป็นตัวอย่าง

(๔) กริยาวลี ที่เกี่ยวกับกริยาสภาวมาลา ตามธรรมดากริยาสภาวมาลา ย่อมใช้เป็นส่วนใดๆ ของประโยคได้ อย่างเดียวกับคำนาม หรือสรรพนาม ดังกล่าวแล้วในวจีวิภาค ถ้ากริยาสภาวมาลานี้มีคำประกอบยืดยาวออกไปก็เรียกว่า กริยาวลี เหมือนกัน เช่นตัวอย่าง

ภาคประธาน “ทำงานหนัก ไม่ดี”
เป็นหนังหน้าไฟ ไม่ดี”

ภาคกรรม “ฉันไม่ชอบ ทำงานหนัก
“ฉันไม่ชอบ เป็นหนังหน้าไฟ

ภาคขยาย “คน ทำงานหนัก ไม่ดี”
“คน เป็นหนังหน้าไฟ ไม่ดี”

กลุ่มแห่งกริยาสภาวมาลา ว่า ทำงานหนัก ก็ดี ว่า เป็นหนังหน้าไฟ ก็ดี ข้างบนนี้เรียกว่า กริยาวลี ทั้งนั้น

ข้อสังเกต คำกริยาทั้งหลาย ถ้ามีคำ การ หรือ ความ นำหน้าก็กลายเป็นอาการนามไป ดังนั้น กริยาวลีที่ว่านี้ ถ้ามีคำ การ หรือ ความ นำหน้าเป็น การทำ-งานหนัก ก็ดี ความเป็น-หนังหน้าไฟ ก็ดี หรือมีคำอื่น เช่น ผู้ที่เครื่อง ฯลฯ ประกอบข้างหน้า ทำให้กริยานั้นๆ เป็นนามคำประสม เช่น ผู้ทำ-งานหนัก ที่ทำ-งานหนัก เป็นต้นก็ดี วลีเหล่านี้ก็กลายเป็นนามวลีไปตามรูปคำประสมข้างหน้า ให้ผู้ศึกษาสังเกตไว้ด้วย

ฆ. วิเศษณ์วลี คือ วลีที่มีคำวิเศษณ์นำหน้า ซึ่งมีหน้าที่ประกอบ คำอื่น อย่างเดียวกับคำวิเศษณ์ธรรมดา จึงใช้เป็นภาคขยายของประโยคได้อย่างเดียวกับคำวิเศษณ์ทั้งหลาย จะจำแนกไว้พอเป็นตัวอย่างให้สังเกตดังต่อไปนี้

(๑) วิเศษณ์วลีที่ประกอบนาม ซึ่งเคยเรียกกันว่า คุณวลี ตัวอย่าง
“หญิง งามเลิศเหลือประมาณ เดินมาโน่น”
“คน โง่บัดซบ ทำงานไม่ได้ดี ”
“นายหาญ เป็นเด็กกล้าสมชื่อ”
“คน ตาบอดทั้งสองข้าง ไปไหนไม่สะดวก” เป็นต้น

(๒) วิเศษณ์วลี ที่ประกอบคำกริยา ตัวอย่าง:-
“เขากินข้าว จุเหลือประมาณ”
“ เขามา สายสามนาที ”
“เขาดูแลเด็ก ดีเหลือเกิน”
“เขาพูด ดังลั่นไปทั้งบ้าน” เป็นต้น

(๓) วิเศษณ์วลี ที่ประกอบคำกริยาวิเศษณ์ด้วยกัน ซึ่งมีหน้าที่เป็นกริยาในภาคแสดงของประโยค ข้อนี้รูปร่างก็คล้ายกับข้อ (๑) แต่ต้องแบ่งเอาคำวิเศษณ์ข้างหน้ามาเป็นกริยาของประโยคเสีย บทต่อไปถ้าเป็นวิเศษณ์วลีก็ต้องนับว่าเป็นวิเศษณ์วลีอย่างข้อ (๒) แต่ถ้าเหลือคำวิเศษณ์อยู่คำเดียวก็ไม่ใช่วลีให้ดูตัวอย่างต่อไปนี้เทียบกับข้อ (๑)

“เขา คงงาม เลิศเหลือประมาณ” (วิเศษณ์วลี)
“เขา จักโง่ บัดซบ” (ไม่ใช่วิเศษณ์วลี)
“เขา คงตาบอด ทั้งสองข้าง” (วิเศษณ์วลี)
“หล่อนจักสวย นักหนา” (ไม่ใช่วิเศษณ์วลี) เป็นต้น

(๔) วิเศษณ์วลี ที่มีประมาณวิเศษณ์บอกจำนวนนับนำหน้าลักษณนาม วลีพวกนี้ก็เป็นอย่างเดียวกับวิเศษณ์วลีข้อ (๑) นั่นเอง ที่แยกมากล่าวไว้อีกแผนกหนึ่ง ก็เพื่อจะให้เข้าใจเป็นพิเศษว่าภาษาไทยเรา ใช้ประมาณวิเศษณ์ บอกจำนวนนับต่างกับภาษาอื่นๆ โดยมาก แต่ละม้ายกับภาษาจีน กล่าวคือ ใช้เป็นวลีมีสังขยานำหน้าลักษณนามเป็นพื้นเช่น:-“ภิกษุ สามรูป, เรือห้าลำ,ม้า หกตัว ฯลฯ ซึ่งต่างกับภาษาอื่นๆ ซึ่งมีแต่สังขยานำหน้านามเท่านั้น เช่น:- “สาม ภิกษุ, ห้า เรือ, หก ม้า” ฯลฯ

วิเศษณ์วลี ที่มีประมาณวิเศษณ์บอกจำนวนนับนำหน้าลักษณนาม เช่น สามรูป, ห้าลำ, หกตัว ฯลฯ นี้ท่านเรียก สังขยาวลี ก็มี และลักษณนาม เหล่านี้ ท่านเรียกว่า ‘นาม’ ท้ายสังขยา ก็มี อย่างไรก็ตาม วลีพวกนี้ก็เป็นอย่างเดียวกับวิเศษณ์วลีอื่นๆ เช่นเดียวกัน ดังจะชักตัวอย่างย่อๆ มาให้ดูต่อไปนี้

ประกอบนามหรือสรรพนาม เช่น:- คน สามคน, ช้าง สามเชือก, กรรม การ สามชุด, ลูกเสือ สามกอง, เขา สามคน, เรา สามคน, ท่าน สามคน ฯลฯ

ประกอบกริยา เช่น:- กินข้าว สามหน, นอน สามพัก, ต่อยกัน สามยก, ตี สามที ฯลฯ

ประกอบวิเศษณ์ด้วยกัน อย่างข้อ (๓) เช่น:- เขาจักชั่ว เจ็ดที เขาจักดี เจ็ดหน เป็นต้น

หมายเหตุ ตามแบบแผนภาษาไทย สังขยา หนึ่ง หรือเดียว ก็ดี คำปุรณสังขยา เช่นที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ฯลฯ ก็ดี ต้องใช้ลักษณนามนำหน้า เช่น  พระรูปหนึ่ง, ช้าง เชือกเดียว, เรือ ลำที่ ๑, รถ คันที่ ๕ ฯลฯ วลีเหล่านี้มีนามอยู่ข้างหน้า ต้องเรียกว่า นามวลี ดังกล่าวแล้วในข้อ ก. (๓)

ง. บุพบทวลี ได้แก่วลีที่มีคำบุพบทอยู่ข้างหน้า กล่าวคือคำนามก็ดี คำสรรพนามก็ดี หรือคำกริยาสภาวมาลาก็ดี ถ้ามีบุพบทนำหน้า ก็ได้ชื่อว่า บุพบทวลีทั้งนั้น เช่นตัวอย่าง :-

(๑) บุพบทนำหน้านาม เช่น:- ข้าแต่-สมาชิกทั้งหลาย, ดูกร-สาธุชนทั้งหลาย, ของ-คน, ด้วย-ความรู้, จาก-ที่อยู่, ใน-บ้าน ฯลฯ

(๒) บุพบทนำหน้าสรรพนาม เช่น:- ข้าแต่-ท่านทั้งหลาย, ดูกร-ท่านทั้งหลาย, ของ-ฉัน, ซึ่ง-กันและกัน, จาก-ฉัน, ใน-เราทั้งหลาย ฯลฯ

(๓) บุพบทนำหน้าสภาวมาลา เช่น:- เพื่อ-ชมเล่น, สำหรับดูเล่นเป็นขวัญตา, เพื่อ-จะเห็นสะดวกๆ ดังนี้เป็นต้น

หมายเหตุ คำพูดในภาษาไทยเรามักนิยมทิ้งบุพบทเสีย ซึ่งเป็นพื้นเดิมของภาษาไทยเรา ตัวอย่างเช่น

นอนเตียง    คือ “นอน บนเตียง”
นั่งเก้าอี้    คือ “นั่ง บนเก้าอี้”
นกเกาะต้นไม้ คือ “นกเกาะบนต้นไม้”

ยังมีคำพูดที่ไม่ใช้บุพบทเลยก็มี เช่น ว่ายน้ำ ว่ายฟ้า (คำประพันธ์) กินตะเกียบ กินช้อนส้อม ฯลฯ คำนามที่อยู่ท้ายกริยาข้างบนนี้มีหน้าที่ประกอบกริยาข้างหน้า อย่างคำที่มีบุพบทนำหน้าเหมือนกัน คือ นํ้า ฟ้า มีหน้าที่แสดงเครื่องใช้ (ในน้ำ บนฟ้า) และ ตะเกียบ กับ ช้อนส้อม ก็มีหน้าที่แสดงสถานที่ (ด้วยตะเกียบ ด้วยช้อนส้อม) เป็นต้น เมื่อนามเหล่านี้ไม่มีบุพบทนำหน้า ก็ไม่ต้องเรียกว่าบุพบทวลี ให้เป็นการลำบาก ควรเรียกว่า นามวิเศษณ์การกดังแสดงไว้ในวจีวิภาคเท่านั้นก็พอ

จ. สันธานวลี หมายถึง คำสันธานที่คำประกอบให้ยืดยาวออกไป แต่ไม่ใช่เป็นคำประสม ดังจะอธิบายต่อไปนี้:-

ตามปกติคำสันธาน มีหน้าที่เชื่อมคำ เชื่อมวลี เชื่อมประโยค หรือเชื่อมข้อความให้ติดต่อกัน แต่สันธานโดดๆ ที่เชื่อมประโยคตัวอย่างคำ และ เช่น:- “เขานั่ง และ เขานอน”

แต่ เช่น:- “ตานั่ง แต่ ยายนอน”
จึง เช่น:- “นาเน่ายุง จึง ชุม”

ดังนี้เป็นต้นก็ดี หรือสันธานเชื่อมข้อความ ที่ขึ้นต้นด้วยคำสันธาน และ
หรือ แต่ ฯลฯ แล้วก็กล่าวข้อความต่อไปอีกก็ดี คำสันธานโดดๆ เช่นนี้ นับว่าเป็นสันธานเชื่อมประโยค หรือเชื่อมข้อความ

ส่วนสันธานวลี หมายถึงคำสันธานที่เชื่อมกับคำอื่นให้ยืดยาวออกไป จะเป็นเชื่อมกับสันธานด้วยกันก็ได้ เชื่อมกับคำอื่นหรือวลีก็ได้เพื่อใช้ในหน้าที่สันธานเช่นเดิม จำแนกเป็น ๒ ประเภทด้วยกัน ดังนี้

(๑) สันธานวลีที่มีคำ หรือ วลีเชื่อมท้าย แต่ส่วนท้ายนั้นไม่ใช่ประโยค เป็นแต่บทขยายของบทข้างหน้าเท่านั้น ตัวอย่าง:- “เขามีความรักในลูกและ เมีย” ซึ่งคำ เมีย ที่นี้ ไม่เป็นประโยค เป็นแต่บทขยายคำ ลูก สันธานวลีที่สันธานประกอบหน้าบทเช่นนี้ เป็นทำนองเดียวกับบุพบทวลีเหมือนกัน

(๒) สันธานวลีที่เอาวลีต่างๆ มาใช้เป็นสันธาน ซึ่งบางทีก็มีสันธานอยู่ ด้วย บางทีก็ไม่มีคำสันธานอยู่ด้วย ดังตัวอย่างต่อไปนี้

แต่กระนี้ก็ดี, ถึงกระนั้นก็ดี, หรืออย่างไรก็ดี, เพราะอย่างไรก็ตาม, แต่จะอย่างไรก็ตาม เป็นต้น

สันธานวลีพวกนี้ ใช้เชื่อมประโยคและข้อความเป็นพื้น

(๓) สันธานวลีคาบ สันธานวลีที่กล่าวนี้ ถึงจะมีความติดต่อเป็นกลุ่ม เดียวกันก็จริง แต่โดยปกติมักอยู่ห่างกัน คือมีคำอื่นเขาแทรกอยู่ระหว่างกลางโดยมาก มีทั้งเชื่อมประโยคและไม่ใช่ประโยค ดังนี้:-
“ถึง – – ก็” ตัวอย่าง “ถึง ฝนตก ก็ จะไป”
“พอ- -ก็” ตัวอย่าง “พอ ฝนตก ฉัน ก็ นอน”
‘‘ทั้ง – – และ” ตัวอย่าง “ทั้ง แม่ และ ลูก”
“ถึง – – ก็ตาม – – ก็” ตัวอย่าง – “ถึง เขาจะว่า ก็ตาม ฉัน ก็ จะทำ” “ฉะนั้น – – จึง” ตัวอย่าง “ฉะนั้น ฉัน จึง ทำตามเขา” ฯลฯ

สันธานวลีพวกนี้ บางทีก็ใช้สันธานด้วยกัน บางทีก็ใช้คำวิเศษณ์เข้าช่วย แต่อยู่ห่างกัน ถ้าย่อเข้าแล้วก็อยู่ติดกันได้

ฉ. อุทานวลี หมายถึงคำอุทานที่มีคำอื่นประกอบท้ายให้เป็นวลียืดยาว ออกไป เช่นตัวอย่าง
โอ้ อกเอ๋ย! โอ๊ย ตายแล้ว! ฯลฯ

หรือเอาบทวลีต่างๆ มาเป็นอุทาน เช่น
อกเอ๋ยอกกู! ลูกรักเจ้าแม่เอ๋ย! เป็นต้น
ไม่ลืมตา ลืมหู, ผู้หญิง ริงเรือ, แม่หม้าย ไร้ทาน ฯลฯ บทว่า ลืมหู  ริงเรือ ไร้ทาน ข้างบนนี้ ได้ชื่อว่า อุทานวลีเสริมบท เพราะไม่ต้องการความหมาย

ข้อ ๓. หน้าที่ของวลี ตามที่แสดงมาแล้วว่า ภาษาไทยเรานิยมใช้วลีแทนคำเป็นพื้น ดังนั้นคำมีหน้าที่อย่างไร วลีก็มีหน้าที่อย่างเดียวกับคำเหมือนกัน ดังจะเห็นได้ตามตัวอย่างต่อไปนี้

ก. “นกเขาชวา บิน” นก-เขา-ชวา เป็น นามวลี บทประธาน
ข. “ฉันพบสามเณร-ยง” สามเณร-ยง เป็น นามวลี บทกรรม
ค. “ข้าเบื้องยุคลบาท ขอถวายชีวิต” ข้า-เบื้องยุคลบาท เป็น สรรพ นามวลี บทประธาน
ฆ. “เขา จักได้กิน ข้าวร้อน” จัก-ได้-กิน เป็น กริยาวลี ในภาคแสดง
ง. “ฉันไม่ชอบ ทำงานหนัก” ทำ-งาน-หนัก เป็น กริยาวลี บทกรรม
จ. “เขาสร้างถนน ยาวสามกิโลเมตรเศษ” ยาว-สามกิโลเมตร- เศษ เป็น วิเศษณ์วลี ขยายบทกรรม
ฉ. “คน ในบ้าน หลับแล้ว” ใน-บ้าน เป็น บุพบทวลี ขยายบทประธาน
ช. “ถึง ฝนตก ฉัน ก็ จักไป” ถึง-ก็ เป็น สันธานวลี (คาบ) เชื่อมประโยค

ตัวอย่างข้างบนนี้ ชักมาไว้พอเป็นที่สังเกตย่อๆ ขอให้ผู้ศึกษาดูต่อไปในข้อที่ว่าด้วยภาคของประโยค ซึ่งจะกล่าวข้างหน้า

หมายเหตุ:- ความหมายของคำว่า “บท” คำ บท นี้ในภาษาบาลี
(๑) หมายถึงคำที่ใช้ในวจีวิภาคก็ได้ เช่น เรานำมาใช้ว่า ปทานุกรม แปลว่า ลำดับแห่งบท ก็หมายถึงลำดับแห่งคำนั้นเอง และ

(๒) หมายถึงความข้อหนึ่งๆ ก็ได้ เช่น ธรรมบท แปลว่า บทแห่งธรรม หมายถึงข้อความแห่งธรรม

ดังนั้น จะขอให้คำว่า บท ให้มีความหมายกว้างๆ สำหรับ เรียกคำพูดว่า บท ก็ได้ เรียก วลี ว่า บท ก็ได้ หรือเรียกประโยคว่า บท ก็ได้ ดังตัวอย่างที่ใช้ต่อไปนี้

ก. บทว่า กิน เป็นคำกริยา
ข. บทว่า ของเขา เป็นบุพบทวลี
ค. บทว่า วัวกินหญ้า เป็นประโยค

ขอให้ผู้ศึกษาสังเกตตามความหมายข้างบนนี้ต่อไป

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร

วากยสัมพันธ์

เมื่อเราเรียนเรื่องคำในภาษาไทยรู้ถี่ถ้วนตามตำราไวยากรณ์ไทยวจีวิภาคแล้ว ก็ควรจะรู้ลักษณะการเกี่ยวข้องของคำต่างๆ ที่เรียนมาแล้วนั้นต่อไป

ตำราไวยากรณ์ไทยวากยสัมพันธ์นี้ เป็นตำราที่บรรยายลักษณะการเกี่ยวข้องของคำต่างๆ ต่อจากตำราไวยากรณ์ไทยวจีวิภาคขึ้นไป นับว่าเป็นขั้นที่ ๓ ของตำราไวยากรณ์ไทย

วากยสัมพันธ์ ในที่นี้เป็นภาษาบาลี แปลเอาความว่า ความเกี่ยวข้องของคำพูดต่างๆ ในภาษาไทยเรา เพราะข้อความที่เราใช้พูดจากันก็ดี หรือเขียนเป็น เรื่องราวก็ดี ย่อมต้องเอาคำต่างๆ มาเรียงติดต่อกันไป จนได้ความอย่างหนึ่งๆ และคำต่างๆ ที่เรานำมาเรียงเป็นข้อความนั้น ล้วนมีความสัมพันธ์คือมีความเกี่ยวข้องกันทั้งนั้น เปรียบเหมือนคนในครอบครัวหนึ่งๆ ย่อมมีความสัมพันธ์กัน ซึ่งเรียกว่า กุลสัมพันธ์ คือมีผู้หนึ่งเป็นสามี ย่อมเป็นประธานของครอบครัว และมีหญิงผู้เป็นภรรยา และมีบุตรชายหญิง หรือมีคนใช้อยู่ด้วยกันมากน้อยแล้วแต่จะเป็นครอบครัวใหญ่หรือเล็ก คนในครอบครัวนี้ล้วนมีสัมพันธ์กัน คือ ฝ่ายหนึ่งเป็นพ่อเรือน คือเป็นประธาน ฝ่ายหนึ่งเป็นภรรยาของพ่อเรือน ฝ่ายหนึ่งเป็นบุตรธิดา และเป็นคนใช้ของพ่อเรือนดังนี้เป็นต้น คำพูดตอนหนึ่งๆ ก็มีความสัมพันธ์เช่นเดียวกัน เช่น คำพูดว่า ตามี นอน คำ ตามี ย่อมแสดง อาการนอน นับว่าเป็นประธานของคำ นอน และคำ นอน ก็เกี่ยวข้องเป็นอาการของ ตามี ดังนี้เป็นต้น

ความเกี่ยวข้องของคำต่างๆ ในถ้อยคำตอนหนึ่งๆ เช่นนี้ เรียกว่า วากยสัมพันธ์ ซึ่งคล้ายกับ กุลสัมพันธ์ ความเกี่ยวข้องของตระกูลหรือครอบครัว ดังกล่าวแล้วฉันนั้น

ถ้อยคำ หรือ ข้อความ หมายถึงคำพูดที่ผู้พูดตั้งใจจะกล่าวออกมาครั้งหนึ่งๆ จะน้อยคำหรือมากคำไม่มีกำหนด แต่กำหนดเอาความต้องการของผู้พูดเป็นเกณฑ์ ซึ่งจัดไว้เป็น ๓ อย่าง คือ:-

(๑) กล่าวเป็นคำ คือ ผู้พูดต้องการให้รู้เฉพาะคำ เช่น กล่าวอุทานโดย เปล่งเสียงว่า วู้ๆ! เป็นต้นก็ดี หรือกล่าวถึงชื่อต่างๆ เช่น กล่าวร้องเรียกว่า ตำรวจ เป็นต้นก็ดี หรือจะกล่าวเป็นตัวหนังสือว่า ก ข ค ฯลฯ ก็นับว่ากล่าวเป็นคำ คือเป็นชื่อของตัวหนังสือก็ดี ทั้งนี้นับว่ากล่าวเป็นคำประการหนึ่ง

(๒) กล่าวเป็นวลี คือกล่าวคำหลายคำติดต่อกัน แต่ยังไม่ได้ความครบ เช่น ร้องขายของว่า ข้าวมันร้อนๆ จ้ะ! เป็นต้น หรือกล่าวรำพึงต่างต่างๆเช่น ความรักบ้าๆ เอ๋ย! เป็นต้นก็ดี ซึ่งยังไม่มีข้อความครบว่า ข้าวมันร้อนๆ เป็นอย่างไร หรือความรักบ้าๆ เป็นอย่างไร เช่นนี้ย่อมเป็นการกล่าวบอกความเพียงกลุ่มเดียวตอนเดียวเท่านั้น จึงนับว่ากล่าวเป็นวลี คือยังไม่มีเนื้อความครบถ้วน

(๓) กล่าวเป็นประโยค คือกล่าวข้อความครบถ้วน เช่น
กล่าวรำพึงว่า เราโง่มาก ก็ดี
กล่าวถามว่า ท่านไปไหน? ก็ดี
กล่าวบอกเล่าว่า ฉันไปเที่ยว ก็ดี
กล่าวบังคับว่า ท่านอย่าไปเที่ยวเลย ก็ดี

ทั้งนี้นับว่ากล่าวเป็นประโยค เพราะได้ความครบถ้วน ให้ดูคำอธิบายต่อไปข้างหน้า

วลีกับประโยค ในการที่จะอธิบายถึงวลีกับประโยคว่าต่างกันอย่างไรนั้น จำต้องอธิบายเรื่องประโยคก่อน จึงจะเข้าใจง่ายดังนี้:-

(๑) ประโยค คือ ถ้อยคำที่มีเนื้อความครบบริบูรณ์ ประโยคหนึ่งๆ แบ่งออกเป็นสองภาคดังนี้
(ก) ภาคประธาน หมายความว่าส่วนที่ผู้กล่าวอ้างขึ้นก่อน เมื่อผู้ฟังรู้ว่าอะไรเป็นข้อสำคัญของข้อความ ภาคนี้โดยมากมักเป็นคำนาม หรือสรรพนามเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งผู้พูดหรือผู้เขียนกล่าวขึ้นก่อน เช่น ตาสี บ้าน ฉัน เขา เป็นต้น ซึ่งทราบได้แต่เพียงว่าเป็นใคร หรืออะไรเท่านั้น

(ข) ภาคแสดง หมายถึงคำที่แสดงอาการของภาคประธานให้ได้ความครบว่า แสดงอาการอย่างนั้นอย่างนี้ เช่น ตาสี-นอน บ้าน-งาม ฉัน-
กินข้าว เขา-เป็นนายอำเภอ ฯลฯ ภาคที่อยู่ท้ายประธาน เช่นคำ นอน งาม กินข้าว เป็นนายอำเภอ นี้เรียกว่า ภาคแสดง

ข้อความใดๆ ถ้ามีความหมายครบ ๒ ภาคบริบูรณ์เช่นนี้แล้ว ก็ได้ชื่อว่า ประโยค

ในภาคแสดงนี้ มีบทช่วยกริยาอยู่ ๒ ประเภท คือ:
(ก) บทกรรม ที่ช่วยกริยาชนิดที่ไม่มีความเต็มในตัว ซึ่งเรียกว่า สกรรมกริยา (แปลว่า กริยาที่ต้องมีกรรมรับ) ดังตัวอย่างที่อ้างไว้ข้างต้นว่า ฉันกินข้าว คือคำ กิน เป็นสกรรมกริยา มีใจความไม่ครบต้องอาศัยบทกรรม คือคำ ข้าว ช่วยพ่วงท้าย จึงจะได้ความครบเป็นประโยค

(ข) บทวิกัติการก ที่ช่วยบทกริยาชนิดที่เรียกว่า วิกตรรถกริยา ซึ่งไม่มีเนื้อความในตัว ต้องอาศัยบทวิกัติการกพวกนี้เข้าช่วย จึงจะได้ความครบภาคแสดง ดังตัวอย่างข้างต้นว่า “เขาเป็นนายอำเภอ” คือคำ เป็น เป็นวิกตรรถกริยา ต้องอาศัยคำ นายอำเภอ เป็นวิกัติการกช่วยพ่วงท้าย จึงจะได้ความครบเป็นประโยคบริบูรณ์

รวมความว่า ข้อความที่เรียกว่าประโยคนั้นต้องมีภาคประธาน และภาค แสดงครบริบูรณ์ และใน ๒ ภาคนี้ ย่อมมีส่วนสำคัญ ที่เป็นใจความอยู่คือ:-
ก. ในภาคประธาน ก็มีบทประธาน เช่น ตาสี บ้าน ฉัน ฯลฯ ดังกล่าวแล้วเป็นส่วนสำคัญ

ข. ในภาคแสดง ก็มีบทอกรรมกริยา หรือถ้าเป็นสกรรมกริยา ก็มีบท กรรมช่วยด้วย ถ้าเป็น  วิกตรรถกริยา ก็มีบทวิกัติการกช่วยด้วยดังกล่าวแล้ว เป็นส่วนใจความสำคัญ ซึ่งจะอธิบายโดยพิสดารต่อไปข้างหน้า

(๒) วลี คือ คำที่ติดต่อกันตั้งแต่ ๒ คำขึ้นไป ซึ่งมีความหมายติดต่อเป็นเรื่องเดียวกัน แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งๆ ของประโยค และไม่มีเนื้อความครบถ้วน เป็นประโยคดังกล่าวแล้ว ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ก. “นกเขาชวา บินเร็ว” เป็นประโยค แต่ นกเขาชวา เป็นวลีที่มี สามายนามติดต่อกัน ๓ คำ คือ นก เขา และ ชวา

ข. “สมภาร วัดบางประทุนใน เทศน์ดี” เป็นประโยค แต่ วัดบางประทุนใน เป็นวลี

ค. “ข้าว ในหม้อทองเหลือง นั้นกินไม่ดี” เป็นประโยค แต่ ในหม้อ ทองเหลือง เป็นวลี

ฆ. “การนอนกลางวันบ่อยๆ ไม่ดี” เป็นประโยค แต่ การนอน กลางวันบ่อยๆ เป็นวลี ดังนี้เป็นต้น

ข้อสังเกต มีคำประสมบางพวกที่มีลักษณะคล้ายวลี เช่น คำประสม ในวจีวิภาค คือ:- “คน ขาหัก, เขา ร้อนใจ ฯลฯ” คำ ขาหัก และ ร้อนใจ เป็นคำประสมซึ่งแยกออกจากกันไม่ได้ เพราะทำให้เสียความ จึงจัดว่าเป็นคำเดียวเท่านั้น ส่วนวลีนั้น ถึงจะแยกออกเป็นคำๆ ก็ได้ความเท่าเดิม
ดังตัวอย่างข้างบนนี้ ธรรมเนียมในภาษาไทย เรามักนิยมพูดเป็นวลีโดยมาก

ส่วนปรุงข้อความ ข้อความที่เราใช้พูดจากันโดยมากเป็นประโยค ซึ่งแบ่งเป็น ๒ ภาค และมีบทประธานกับบทกริยา หรือบทช่วยกริยาบางบท เบป็ส่วนสำคัญดังกล่าวแล้วนั้น และในภาคทั้ง ๒ นั้น นอกจากส่วนสำคัญดังกล่าวนี้ ยังมีคำบางวลีบ้าง หรือมีประโยคด้วยกันบ้าง เข้ามาแทรกประสม เป็นส่วนปรุงข้อความให้ได้ความชัดเจนขึ้นบ้าง ให้ติดต่อเป็นเรื่องเดียวกันบ้าง ดังจะจำแนกไว้พอเป็นที่สังเกตต่อไปนี้:-

(๑) บทขยายข้อความ ได้แก่คำก็ดี วลีก็ดี ประโยคก็ดี ที่นำมาใช้เป็น
บทขยายส่วนสำคัญแห่งภาคทั้ง ๒ ของประโยค ดังกล่าวแล้วนั้น ให้ได้ความชัดเจนขึ้น เช่นตัวอย่างประโยคว่า “เสือ-กัด-เด็ก” นี้ เราจะเอาบทขยายมาต่อคำ “เสือ” ซึ่งเป็นบทประธานให้ได้ความชัดเจนขึ้นก็ได้ดังนี้:-

ก. “เสือ ใหญ่ กัดเด็ก” คำ ใหญ่ เป็นบทขยาย เสือ
ข. “เสือ ในป่าใหญ่ กัดเด็ก” วลี ในป่าใหญ่ เป็นบทขยาย เสือ
ค. “เสือ ตัวกินไก่ กัดเด็ก” ประโยคว่า ตัวกินไก่ เป็นบทขยาย เสือ และภาคแสดงก็มีบทขยายได้เช่นเดียวกัน  ซึ่งจะจำแนกและอธิบายโดยละเอียดต่อไปข้างหน้า

(๒) บทเชื่อมข้อความ ในส่วนปรับปรุงข้อความนั้น นอกจากบทขยายข้อความดังกล่าวแล้ว ยังมีบทเชื่อมข้อความสำหรับเติมลงหน้าประโยคบ้าง ท้ายประโยคบ้าง และในระหว่างประโยคบ้างเพื่อให้ข้อความติดต่อเป็นเรื่องเดียวกัน และบทเชื่อมข้อความนี้จำแนกออกได้เป็น ๒ ประเภทคือ:-

ก. ประเภทเครื่องเกี่ยว ที่เชื่อมประโยคให้ติดต่อเป็นเรื่องเดียวกัน เช่น “น้ำขึ้น แต่ ลมลง ” หรือ “ เขาพูด ให้ ฉันเสียใจ ” คำ แต่ กับ ให้ เป็นเครื่องเกี่ยวให้ประโยคติดต่อกัน ซึ่งจะอธิบายโดยพิสดารต่อไปข้างหน้านี้ประเภทหนึ่ง

ข. ประเภทเบ็ดเตล็ดอื่นๆ ยังมีคำอื่นๆ อีกที่ปรับปรุงข้อความให้เชื่อมติดต่อกันคือ:-

บทอาลปน์ คือคำเรียกร้องชื่อของผู้ที่พูดด้วย เช่น นายสี ดังตัวอย่างว่า “นายสี เธอไปไหน” ก็ดี หรือบทอาลปน์ที่มีบุพบทนำหน้า เช่น ดูก่อน นายสี ข้าแต่ท่านทั้งหลาย ดังตัวอย่างว่า “ดูก่อน นายสี เธอไปไหน” เป็นต้น ก็ดี บทว่า นายสี หรือ ดูก่อนนายสี ฯลฯ ก็นับเข้าใน บทเชื่อมข้อความ เหมือนกัน

บทอุทานต่างๆ ก็อยู่ในพวกเชื่อมข้อความเหมือนกัน ตัวอย่าง “เหม่ๆ! เจ้านี่จองหองนัก เฮ้ย! ไม่ช้าเจ้าจะรู้สำนึกตัว” คำอุทาน เหม่ๆ! ก็ดี คำเฮ้ย! ก็ดี นับว่าอยู่ใน บทเชื่อมข้อความ ทั้งนั้นดังนี้เป็นต้น

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร

วิธีกระจายคำ

วิธีกระจายคำ คือ วิธีแยกเนื้อความออกเป็นคำๆ แล้วบอกชนิด บอกระเบียบต่างๆ เช่น บุรุษ ลึงค์ พจน์ ฯลฯ และบอกหน้าที่เกี่ยวข้องของคำนั้นๆ ตามที่เรียนมาแล้ว วิธีนี้เป็นประโยชน์ในการฝึกหัดความสังเกตให้แม่นยำยิ่งขึ้น และบำรุงความคิดที่จะพิจารณาหาหลักฐานวินิจฉัยถ้อยคำดีมาก เพราะฉะนั้นครูควรจะฝึกหัดให้นักเรียนกระจายคำให้มากๆ ถึงแม้จะเรียนยังไม่จบ ก็ผ่อนให้กระจายเฉพาะแต่ข้อที่ได้เรียนแล้ว หรือจะเลือกให้กระจายเฉพาะเป็นคำๆ ก็ได้ เบื้องต้นต้องระวังอย่างให้ยากเกินไป ค่อยผ่อนให้ยากและละเอียดขึ้นเป็นลำดับ ต่อเมื่อนักเรียนได้เรียนจบบริบูรณ์ จึงให้ฝึกหัดกระจายละเอียดเต็มที่ตามตัวอย่างต่อไปนี้ ข้อสำคัญเมื่อก่อนกระจาย ควรให้นักเรียนสังเกตหน้าที่เกี่ยวข้องของคำนั้นๆ เสียก่อน แล้วจึงลงมือกระจาย

ตัวอย่างที่ ๑
“นกน้อยทำรังแต่พอตัว”
นก เป็น สามานยนาม บุรุษที่ ๓ อลึงค์ อพจน์ เป็นกรรตุการกของกริยา “ทำ”

น้อย เป็น ลักษณวิเศษณ์ ประกอบคำ “นก”

ทำ เป็น สกรรมกริยา นิเทศมาลา อนุตกาล เป็น กรรตุวาจกของ “นก”

รัง เป็น สามานยนาม บุรุษที่ ๓ นปุงสกลึงค์ อพจน์ เป็นกรรมการกของกริยา “ทำ”

แต่ เป็น นิยมวิเศษณ์ทำหน้าที่บุพบทนำหน้าคำ “พอ” ประกอบกริยา “ทำ”

พอ เป็น ประมาณวิเศษณ์ ทำหน้าที่อกรรมกริยา สภาวมาลาประกอบ “รัง”

(กับ) ตัว เป็น สามานยนาม บุรุษที่ ๓ นปุงสกลึงค์ อพจน์ เป็นวิเศษณการก ประกอบ “พอ”

ตัวอย่างที่ ๒
“ชาววังนั่งในห้อง ชักจ้องหน่องดังโหนงเหน่ง”
ชาววัง เป็น สามานยนาม บุรุษที่ ๓ อลึงค์ อพจน์ เป็น กรรตุการกของกริยา “นั่ง”

นั่ง เป็น อกรรมกริยา นิเทศมาลา อนุตกาล เป็น กรรตุวาจกของ “ชาววัง”

ใน เป็น บุพบท นำหน้า “ห้อง” บอกสถานที่

ห้อง เป็น สามานยนาม บุรุษที่ ๓ นปุงสกลึงค์ อพจน์ เป็น วิเศษณการก บอกสถานที่ของกริยา “นั่ง”

ชัก เป็น สกรรมกริยา นิเทศมาลา อนุตกาล เป็น กรรตุวาจกของ “ชาววัง” เป็นกริยารองของกริยา “นั่ง”

จ้องหน่อง เป็น สามานยนาม บุรุษที่ ๓ นปุงสกลึงค์ อพจน์ เป็น กรรมการกของกริยา “ชัก”

ดัง เป็น ลักษณะวิเศษณ์ ประกอบกริยา “ชัก”

โหน่งเหน่ง เป็น อุทานบอกอาการ

ตัวอย่างที่ ๓
“ตาสีผู้ใหญ่บ้าน กำลังนั่งทำกรงนกสีชมพูให้หลานแกเล่น”
ตา เป็น สามานยนาม บุรุษที่ ๓ ปุลลึงค์ เอกพจน์ เป็น กรรตุการกของกริยา “กำลังนั่ง”

สี เป็น วิสามานยนาม บุรุษที่ ๓ ปุลลึงค์ เอกพจน์ เป็น วิกัติการกของคำ “ตา” บอกชื่อเฉพาะ

ผู้ใหญ่บ้าน เป็น สามานยนาม บุรุษที่ ๓ ปุลลึงค์ เอกพจน์ เป็น วิกัติการกของ “ตาสี” บอกตำแหน่ง

กำลัง เป็น กริยานุเคราะห์ ช่วยกริยา “นั่ง” บอกปรัตยุบันกาล

นั่ง เป็น อกรรมกริยา นิเทศมาลา ปรัตยุบันกาล เป็น กรรตุวาจก ของ “ตาสี”

ทำ เป็น สกรรมกริยา นิเทศมาลา ปรัตยุบันกาล เป็น กรรตุวาจก ของ “ตาสี” เป็นกริยารองของกริยา “นั่ง”

กรง เป็น สามานยนาม บุรุษที่ ๓ นปุงสกลึงค์ อพจน์ เป็น กรรมการกของกริยา “ทำ”

นก เป็น สามานยนาม บุรุษที่ ๓ อลึงค์ อพจน์ เป็น วิเศษณการก บอกความเป็นเจ้าของ

สีชมพู เป็น สามานยนาม บุรุษที่ ๓ อลึงค์ อพจน์ เป็น วิกัติการกของ “นก” บอกชนิดย่อย

ให้ เป็น กริยานุเคราะห์ ช่วยกริยา “เล่น” ให้เป็น การิตกรรตุวาจก

หลาน เป็น สามานยนาม บุรุษที่  ๓ อลึงค์ อพจน์ เป็น การิตการกของกริยา “ให้-เล่น”

แก่ เป็น บุรุษสรรพนาม บุรุษที่ ๓ ปุลลึงค์ เอกพจน์ เป็น วิเศษณการก บอกความเป็นเจ้าของ

เล่า (กรง) เป็น สกรรมกริยา นิเทศมาลา อนุตกาล เป็น กรรตุวาจกของ “หลาน”

ตัวอย่างที่ ๔
“พระเสด็จโดยแดนชล ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย”
พระ เป็น บุรุษสรรพนาม บุรุษที่ ๓ ปุลลึงค์ อพจน์ เป็น กรรตุการกของกริยา “เสด็จ” เป็นราชาศัพท์ แทนชื่อพระราชา

เสด็จ เป็น อกรรมกริยา นิเทศมาลา อนุตกาล เป็น กรรตุวาจกของ “พระ” เป็นราชาศัพท์สำหรับพระราชา

โดย เป็น บุพบทนำหน้าวิเศษณการก บอกสถานที่

แดน เป็น สามานยนาม บุรุษที่ ๓ นปุงสกลึงค์ อพจน์ เป็น วิเศษณการก บอกสถานที่

ชล เป็น สามานยนาม บุรุษที่ ๓ นปุงสกลึงค์ อพจน์ เป็น วิเศษณการก บอกความเป็นเจ้าของ

ทรง เป็น สกรรมกริยา นิเทศมาลา อนุตกาล เป็น กรรตุวาจกของ “พระ” เป็นกริยารองของ “เสด็จ” และเป็นราชาศัพท์สำหรับพระราชา

เรือ เป็น สามานยนาม บุรุษที่ ๓ นปุงสกลึงค์ อพจน์ กรรมการกของกริยา “ทรง”

ต้น เป็น ลักษณวิเศษณ์ ประกอบ “เรือ” เป็นราชาศัพท์สำหรับพระราชา

งาม เป็น ลักษณวิเศษณ์ ประกอบ “เรือ”

เฉิดฉาย เป็น ลักษณวิเศษณ์ ประกอบ “งาม”

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร

ราชาศัพท์-สรรพนาม

คำสรรพนามที่ใช้เป็นราชาศัพท์  คำสรรพนามที่จะต้องเปลี่ยนแปลงใช้ตามราชาศัพท์  ก็มีแต่บุรุษสรรพนามพวกเดียวเท่านั้น และคำบุรุษสรรพนามในภาษาไทยที่มีซ้ำกันหลายๆ คำนั้น  ก็เพราะมีวิธีใช้ต่างกันตามชั้นของบุคคล ดังจะรวบรวมมาไว้ต่อไปนี้

(๑) บุรุษที่ ๑
silapa-0174
(๒) บุรุษที่ ๒

silapa-0174111

silapa-0175 - Copy

(๓) บุรุษที่ ๓ สรรพนามพวกนี้ ไม่นิยมผู้พูดหรือผู้ฟัง นิยมแต่ผู้ที่อ้างอึง ว่าจะเป็นชั้นอะไรเท่านั้น
silapa-0175 - Copy1
คำกริยาที่ใช้เป็นราชาศัพท์  คำกริยาที่ใช้เป็นราชาศัพท์ โดยมากมีอยู่ ๒ ชั้น คือ พระราชากับเจ้านาย และมักจะใช้อย่างเดียวกันด้วย ที่ต่างกันก็มีบ้างแต่น้อย ส่วนคำที่มีบัญญัติใช้แยกออกเป็นหลายชั้นนั้นมีบางคำจักกล่าวทีหลัง
(๑) คำกริยาที่ใช้ร่วมกันทั้งพระราชาและเจ้านาย คือ
ก. คำกริยาที่มีรูปแปลกออกไปจากคำธรรมดา เช่น
silapa-0176 - Copy
ข. คำกริยาที่ใช้คำ “ทรง” นำหน้าคำกริยาธรรมดา เช่น ทรงฟัง ทรงยินดี ทรงรับ ทรงชุบเลี้ยง ทรงสั่งสอน เป็นต้น แต่คำกริยาที่เป็นราชาศัพท์อยู่แล้วดังข้อ ก. จะเติมคำ “ทรง” เข้าอีก เช่นกล่าวว่า ทรงตรัส ทรงเสวย ฯลฯ ดังนี้ไม่ได้  ต้องใช้เฉพาะแต่คำกริยาธรรมดา

ค. ใช้คำ “ทรง” นำหน้านามราชาศัพท์  คำพวกนี้ถ้าจะว่าทางไวยากรณ์ก็คือ คำกริยาอย่างข้อ ก. นั่นเอง คือมีคำ “ทรง” เป็นสกรรมกริยา แปลได้ต่างๆ ดังกล่าวแล้ว และมีนามราชาศัพท์เป็นกรรม แต่ที่แยกมากล่าวอีกข้อหนึ่งนี้เพราะนิยมใช้กันมาก ดังตัวอย่างต่อไปนี้
silapa-0177 - Copy
ข้อสังเกต นามที่ใช้เป็นกรรมของกริยา “ทรง” นี้ จะไม่เป็นราชาศัพท์ก็ใช้ได้อย่างข้อ ก. เช่น ทรงช้าง ทรงม้า เป็นต้น หรือนามบางคำ เช่น เมตตา กรุณา อุตสาหะ ฯลฯ ถ้าไม่ใช้คำวิเศษณ์ “พระ” นำหน้า ก็ใช้เป็นคำกริยาธรรมดาได้ หรือถ้าเอาคำ “ทรง” นำหน้าคำเหล่านี้เข้าเป็น ทรงเมตตา ทรงกรุณา ฯลฯ ก็นับว่าเป็นกริยาราชาศัพท์อย่างข้อ ข. เช่นเดียวกับ ทรงฟัง ทรงใช้ เป็นต้น ใช้ได้ถูกต้องเหมือนกัน ทั้งนี้แล้วแต่นิยมใช้

(๒) คำกริยาที่บัญญัติใช้แยกออกเป็นหลายชั้นมีบางคำ เช่น
ก. คำกริยา-ตาย
silapa-0177 - Copy1
*ปัจจุบันนี้อนุโลมใช้กับนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และประธานสภา
**ปัจจุบันนี้อนุโลมใช้กับข้าราชการชั้นพิเศษ หรือเทียบเท่า

ข. คำกริยา “มีคำสั่ง” ใช้คำ “มี” นำหน้า “คำสั่ง” (ตามชั้นของบุคคล) แล้วเติมคำว่า “สั่ง” เข้าข้างท้าย เว้นแต่คำว่า “มีรับสั่ง” “มีคำสั่ง” ไม่ต้องเติม พระราชาใช้ว่า “มีพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ สั่ง” หรือ “มีพระราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่ง” ชั้นต่อๆ ไปให้ประกอบใช้ตามอธิบายนี้

ค. คำกริยา เบ็ดเตล็ด

silapa-0178 - Copy
(๓) คำกริยาของผู้น้อยที่จะต้องใช้แก่บุคคลชั้นต่างๆ นั้น โดยมากเป็นกริยาปรกติ แต่มีบางคำที่ใช้ต่างกัน ดังตัวอย่างต่อไปนี้
silapa-0179 - Copy
(๔) ยังมีคำกริยาอีกมากที่ผู้น้อยใช้ต่อบุคคลชั้นต่างๆ ที่ลงรอยกันบ้าง แตกต่างหรือยิ่งหย่อนต่อกันบ้างตามความนิยมของผู้ใช้ จะคัดมาไว้เป็นหลักสัก ๒ คำ คือ

ก. กริยา-แจ้งความ (ที่ใช้หน้าซองหรือขึ้นต้นจดหมาย)

silapa-0180 - Copy๑ เดิมเรียกว่า “เสนาบดี”
๒ เรียกว่า “ปลัดทูลฉลอง”

ข. คำกริยา-ขอบใจ (มักใช้คำอื่นแทน)

silapa-0181 - Copyคำวิเศษณ์ที่ใช้เป็นราชาศัพท์
(๑) คำวิเศษณ์ประกอบนาม  ตามนิยมในภาษาไทย คำวิเศษณ์พวกนี้ไม่ใช้เกี่ยวข้องเป็นราชาศัพท์ เพราะใช้คำนามเป็นราชาศัพท์แล้ว คำวิเศษณ์ประกอบท้าย จึงไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วยให้รุงรัง เช่นกับ “มือสั้น” ก็ว่า “พระหัตถ์สั้น” “ผมยาว” ก็ว่า “พระเกษายาว” ดังนี้เป็นต้น ที่มีเกี่ยวข้องอยู่บ้างก็เฉพาะบางคำ ดังต่อไปนี้

ก. คำ “พระ” นี้ ท่านแผลงมาจาก “วร” ในภาษาบาลี และสันสกฤต แปลว่า ประเสริฐ ใช้นำหน้าคำนามเฉพาะที่มาจากบาลีและสันสกฤต หรือคำเขมร และคำโบราณบางคำ ให้เป็นราชาศัพท์สำหรับพระราชาและเจ้านาย เช่น พระ หัตถ์ พระ บาท พระ เขนย พระ จุไร พระ บังคม เป็นต้น แต่จะใช้นำหน้าคำไทยธรรมดาว่า พระ มือ พระ เท้า เช่นนี้ไม่ได้

ข. คำ “ต้น” และ “หลวง” ใช้ประกอบข้างท้ายคำไทยธรรมดา ให้เป็นราชาศัพท์สำหรับพระราชา เช่น ช้าง ต้น ม้า ต้น ลูก หลวง หลาน หลวง ดังนี้เป็นต้น

ค. คำ “ราช บรม บรมราช บวร บวรราช” เหล่านี้เป็นคำบาลีและสันสกฤต ราช แปลว่า พระราชาหรือหลวง บรม แปลว่า อย่างยิ่ง บวร แปลว่า ประเสริฐ มักใช้ประกอบข้างหน้าคำสมาสที่มาจากบาลีและสันสกฤตและมีคำว่า “พระ” นำหน้าอีกชั้นหนึ่ง ใช้สำหรับพระราชา เช่น พระราชทรัพย์ พระ ปรมา ภิไธย พระ บรมราช โองการ เป็นต้น คำ “บรม” นี้ เดิมใช้สำหรับวังหลวงคู่กับคำ “บวร” ซึ่งใช้สำหรับวังหน้า เช่น “พระบรมราชโองการ” ซึ่งคู่กับ “พระ บวร ราชโองการ” เป็นต้น บัดนี้คงอยู่แต่คำ “บรม” ซึ่งมักจะใช้สำหรับพระราชาเท่านั้น  ถ้าจะว่าทางไวยากรณ์แล้ว คำ “ราช” หรือ “บรม” เป็นต้นนี้ เป็นส่วนหนึ่งของคำสมาส หาได้แยกออกเป็นคำๆ ไม่

(๒) คำวิเศษณ์ประกอบกริยา  คำวิเศษณ์พวกนี้ใช้เป็นราชาศัพท์ ก็มีแต่ประติชญาวิเศษณ์ พวกเดียวเท่านั้น ใช้ต่างกันตามชั้นของบุคคล ดังนี้

silapa-0182 - Copyข้อสังเกต  คำประติชญาวิเศษณ์  ที่ผู้ใหญ่ใช้แก่ผู้น้อยนั้น ไม่ใคร่จะมีกำหนด เพราท่านเลือกใช้ตามอัธยาศัยได้ เช่น เจ้านายจะตรัสกับขุนนางว่า “ขอรับ” ก็ได้ หรือ “จ้ะ” ฯลฯ ก็ได้ แล้วแต่พระทัย

คำสุภาพ  คำราชาศัพท์ทั้งหลาย  นอกจากที่จะต้องเปลี่ยนแปลงใช้ตามวิธีที่กล่าวมาแล้วนี้ ยังมีคำธรรมดาที่จะต้องเปลี่ยนแปลงให้เปนคำสุภาพอีก คำสุภาพในที่นี้ มีลักษณะดังจะอธิบายต่อไปนี้

(๑) ไม่ใช้คำกระด้างอย่างไม่เคารพ  เช่น ใช้คำอุทานว่า หือ! หา! เออ! เว้ย! โว้ย! เป็นต้น หรือพูดกระชากหางเสียงห้วน! เช่น “เปล่า ไม่ใช่ ไม่มี” ดังนี้เป็นต้น หรือใช้อาการพยักหน้าแทนรับ และสั่นศีรษะแทนปฏิเสธอย่างพูดกับเพื่อนกัน เหล่านี้เป็นต้น

คำปฏิเสธว่า “เปล่า” ต้องใช้ว่า “หามิได้” หรือ “มิได้” แทน ถึงคำปฏิเสธอื่นๆ ก็ต้องเติมคำว่า “หามิได้” หรือ “มิได้” เข้าข้างต้นเพื่อกันห้วน เช่น “ไม่มีหามิได้” “ไม่อยู่มิได้” ดังนี้เป็นต้น

(๒) ไม่ใช้คำหยาบ เช่น “อ้าย อี ขี้ เยี่ยว” ฯลฯ คำเหล่านี้ถ้าปนอยู่ในที่แห่งใด ต้องเปลี่ยนแปลงหรือตัดออกเสีย ตามแต่จะเห็นควร ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ก. คำ “อ้าย” ใช้ที่นำหน้านาม เช่น อ้ายนี่ อ้ายนั้น ฯลฯ ให้เปลี่ยนเป็น สิ่งนี้ สิ่งนั้น ฯลฯ ถ้าตัดออกได้ก็ตัดออกเสีย เช่น ปลา อ้าย บ้า เรียก ปลาบ้า เป็นต้น คงไว้แต่คำ “อ้าย” ที่ใช้นำหน้านักโทษ หรือผู้ร้ายเท่านั้น(เดี๋ยวนี้ใช้ “นักโทษชาย” “นักโทษหญิง” แล้ว)

ข. คำ “อี” มักใช้คำ “นาง” แทน เช่น อี เลิ้ง เรียกนางเลิ้ง อี เห็น เรียก นางเห็น อี แอ่น เรียก นางแอ่น เป็นต้น ที่ตัดออกได้ก็ตัดออกเสีย เช่น อี แร้ง อี กา เรียกแต่เพียง แร้ง กา เป็นต้น และคงไว้แต่คำ “อี” ที่นำหน้านักโทษหรือผู้ร้ายอย่างเดียวกับคำ “อ้าย”

ค. คำ “ขี้ เยี่ยว” “ขี้” ใช้คำ “คูถ” หรือ “อุจจาระ” แทน “เยี่ยว” ใช้คำ “มูตร” หรือ “ปัสสาวะ” แทน แต่คำ “ขี้” ถ้าเป็นขี้สัตว์ หรือขี้อื่นๆ เช่น ขี้ นก ขี้ หนู ขี้ เลื่อย ขี้ กบ ฯลฯ ใช้คำว่า “มูล” แทน เช่น มูล นก มูล หนู มูล เลื่อย มูล กบ มูล ดิน มูล บุหรี่ มูล หู มูล ตา เป็นต้น บางคำก็ตัดออกเสียหรือแก้เป็นอย่างอื่นก็มี เช่น ดอก ขี้ เหล็ก เรียก ดอกเหล็ก ขี้ มูก เรียก น้ำมูก ขนม ขี้ หนู เรียก ขนมทราย เป็นต้น

(๓) ไม่ใช้คำที่นิยมใช้เปรียบเทียบกับของหยาบ เช่น คำว่า “ปลาช่อน” หรือ “สากกะเบือ” ซึ่งเคยเปรียบเทียบกับของลับชาย คำว่า “ไข่” หรือ “สองบาท” เคยใช้เปรียบเทียบกับลูกอัณฑะ คำ “ปลาสลิด” เคยเปรียบเทียบกับของลับหญิง เป็นต้น คำเหล่านี้ต้องเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น ดังนี้ ปลาช่อน เป็น ปลาหาง สากกะเบือ เป็น ไม้ตีพริก ไข่ เป็น ฟอง สองบาท เป็น กึ่งตำลึง ปลาสลิด เป็น ปลาใบไม้ ดอกสลิด เป็น ดอกขจร เป็นต้น

(๔) ไม่ใช้คำผวน  คำผวนในที่นี้หมายถึงคำที่ผวนหางเสียงกลับมาเป็นคำหยาบ เช่น “แขกตี้” ผวนเป็น “ขี้แตก” “ผักบุ้ง” ผวนเป็น “พุ่งบัก” เป็นต้น ต้องพยายามแก้ไขหรือเปลี่ยนเสีย มิให้ผวนมาเป็นคำหยาบเช่นนั้น ตัวอย่าง “ผักบุ้ง” แก้เป็น “ผักทอดยอด” “ที่ห้า ที่หก” แก้เป็น “ครบห้า ครบหก” “แปดตัว” แก้เป็น “สี่คู่” “ควรด้วย” แก้เป็น “สมควร” ดังนี้เป็นต้น

คำเหล่านี้มีอีกมาก ผู้อยากทราบพิสดารต้องดูในตำรา ราชาศัพท์ในที่นี้ชักมาพอเป็นหลักที่สังเกตเท่านั้น

วิธีเพ็ดทูล  ในการเพ็ดทูลพระราชาหรือเจ้านายก็ดี กราบเรียนขุนนางชั้นสูงก็ดี นอกจากจะใช้ราชาศัพท์ ดังแสดงมาแล้วนี้ ยังจะต้องมีวิธีใช้ถ้อยคำเป็นพิเศษต่างออกไปอีก จะอธิบายไว้พอเป็นตัวอย่างต่อไปนี้

(๑) สำหรับพระราชา เมื่อจะกราบบังคมทูลพระกรุณาขึ้นก่อน โดยไม่มีพระบรมราชโองการถาม ต้องขึ้นคำนำว่า “ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม” แล้วจึงดำเนินเนื้อเรื่อง เมื่อจบแล้วลงท้ายว่า “ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ”

ถ้ามีพระบรมราชโองการถามก่อน ขึ้นคำนำว่า “พระพุทธเจ้าข้า ขอรับ รับใส่เกล้าใส่กระหม่อม” แล้วดำเนินเนื้อเรื่อง และลงท้ายว่า “ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม” ถ้าเป็นการด่วนให้กราบทูลเนื้อเรื่องขึ้นก่อน แล้วเอาคำนำมาไว้ข้างท้าย เช่น มีพระบรมราชโองการถามว่า “ครูใหญ่อยู่ไหน” ก็กราบทูลว่า “ครูใหญ่อยู่ในโรงเรียน พระพุทธเจ้าข้าขอรับ รับใส่เกล้าใส่กระหม่อม” หรือจะใช้ย่อว่า “ครูใหญ่อยู่ในโรงเรียน ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม” ก็ได้ ถ้าจะกราบทูลซ้ำต่อไปอีก ก็ไม่ต้องใช้คำนำต่อไปอีก เป็นแต่ใช้คำลงท้ายว่า “ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม” แทนทุกคำตอบ อย่างที่ใช้คำ “ขอรับ” กับขุนนาง

(๒) เมื่อจำเป็นจะต้องกล่าวถึงของหยาบ เช่น อุจจาระ ปัสสาวะ เป็นต้น ต้องใช้คำนำขึ้นก่อน อย่างที่ใช้คำว่า “ขอโทษ” แก่คนสุภาพ ดังนี้
พระราชา “ไม่ควรจะกราบบังคมทูลพระกรุณา”
เจ้านายชั้นสูง “ไม่ควรจะกราบบังคมทูล”
เจ้านายชั้นรองลงมา “ไม่ควรจะกราบทูล”
ขุนนางชั้นสูง “ไม่ควรจะกราบเรียน”

เช่นตัวอย่างจะตอบพระบรมราชโองการว่า “นายแดงถ่ายอุจจาระเป็นโลหิต” ก็ใช้ว่า “พระพุทธเจ้าข้าขอรับ รับใส่เกล้าใส่กระหม่อม ไม่ควรจะกราบบังคมทูลพระกรุณา นายแดงถ่ายอุจจาระเป็นโลหิต ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม” ดังนี้เป็นต้น

(๓) เมื่อจะกล่าวถึงตนได้รับความสุขสบาย หรือคลาดแคล้วอันตรายต่างๆ เป็นต้น ให้ใช้คำนำว่า “เดชะพระบารมีปกเกล้าฯ” ขึ้นก่อน แล้วดำเนินเนื้อเรื่อง ส่วนคำอื่นก็ประกอบใช้อย่างเดียวกับข้างต้น ข้อนี้ใช้แต่พระราชากับเจ้านายชั้นสูงเท่านั้น ชั้นรองลงมาไม่ต้องใช้

(๔) เมื่อกล่าวถึงเรื่องที่ตนได้รับอนุเคราะห์จากท่าน เช่น ท่านทรงเอื้อเฟื้อ ถามถึงทุกข์สุข หรือทรงแนะนำอุบายอะไรให้ เป็นต้น ให้ใช้คำว่า “พระเดชะพระคุณเป็นล้นเกล้าฯ” เติมข้างท้ายเรื่อง ข้อนี้ใช้ทั้งสำหรับพระราชาและเจ้านายอย่างเดียวกันก็ได้ หรือจะใช้สำหรับพระราชาให้แปลกไปว่า “พระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นเกล้าฯ ดังนี้ก็ได้

(๕) เมื่อกล่าวถึงเรื่องที่ตนได้กระทำพลั้งพลาดลงไป ซึ่งจะต้องแสดงความเสียใจ ให้ใช้คำว่า “พระราชอาญาเป็นล้นเกล้าฯ” สำหรับ พระราชา พระราชินี พระยุพราช และใช้คำว่า “พระอาชญาเป็นล้นเกล้าฯ สำหรับเจ้านายชั้นสูง ต่อท้ายเรื่อง

(๖) คำว่า “กิน” ที่หมายความถึงตนหรือคนอื่น ตลอดจนสัตว์ กินอาหารหรือของที่ควร (คือไม่ลักเขากิน หรือกินเหล้ากินยาฝิ่น เป็นต้น) ให้ใช้ว่า “รับพระราชทาน” สำหรับพระราชา พระราชินี พระยุพราช และใช้ว่า “รับประทาน” สำหรับเจ้านายตลอดมาถึงคนสุภาพซึ่งเป็นที่นับถือ ถ้าใช้ในความว่า “กิน” ที่ไม่ควร เช่น กินเหล่า กินยาฝิ่น ลักเขากิน ฆ่าสัตว์กิน หรือ คำ “กิน” ที่หมายความเป็นอย่างอื่น เช่น กินเวลาเท่านี้ กินเนื้อที่เท่านั้น เป็นต้น ให้ใช้ “กิน” คงเดิม

ข้อสังเกต  คำ “รับพระราชทาน” หรือ “รับประทาน” ที่ใช้แทนคำ “กิน” นี้ใช้เฉพาะทูลเจ้านาย หรือพูดกับผู้ที่นับถือเท่านั้น เป็นที่ยกย่องว่า ของทุกสิ่งที่คนหรือสัตว์ได้กินนั้น ล้วนเป็นของที่ท่านให้ทาน เพราะฉะนั้น ถ้าพูดเป็นคำกลางๆ คือไม่พูดกับผู้ที่นับถือก็ดี หรือพูดถึงเรื่องกินที่ไม่ควรเป็นต้น ก็ดี จึงไม่ต้องใช้คำว่า “รับพระราชทาน” หรือ “รับประทาน” แทน

(๗) คำ “ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ใต้ฝ่าละอองพระบาท ใต้ฝ่าพระบาท” นี้เป็นบุรุษสรรพนาม บุรุษที่ ๒ ตรงกับคำว่า “ใต้เท้า” จึงได้มีคำ “ใต้” นำหน้าอยู่ แต่ไม่ควรใช้คำ “ใต้” นำหน้าคำที่หมายความว่า “รู้” คือ “ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ทราบฝ่าละอองพระบาท ทราบฝ่าพระบาท” เพราะคำเหล่านี้เป็นคำยกย่องอย่างที่ว่า “ทราบฝ่าเท้า” ไม่ใช้ “ทราบใต้เท้า”

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร

ราชาศัพท์-นาม

ราชาศัพท์ แปลว่าศัพท์สำหรับพระราชาหรือศัพท์หลวง แต่ในที่นี้ให้หมายความว่าศัพท์ที่ใช้ในราชการ เพราะในตำรานั้นบางคำไม่กล่าว เฉพาะสำหรับกษัตริย์หรือเจ้านายเท่านั้น กล่าวทั่วไปถึงคำที่ใช้สำหรับบุคคลชั้นอื่น เช่น ขุนนางและพระสงฆ์เป็นต้นด้วย เช่น คำว่า ‘ตาย’ เป็นต้น คำราชาศัพท์นี้ เป็นระเบียบของภาษาที่จะต้องใช้ให้ถูกต้อง นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของไวยากรณ์ จึงต้องนำมากล่าวในที่นี้ เฉพาะแต่ข้อที่ควรสังเกตตามลักษณะไวยากรณ์ จักไม่กล่าวให้พิสดารตามตำราราชาศัพท์ ซึ่งมีอีกแผนกหนึ่งต่างหาก

ชั้นของบุคคลที่จะต้องใช้คำราชาศัพท์นี้ ว่าโดยย่อมี ๕ ชั้น คือ:- พระราชา ๑ เจ้านาย ๑ พระสงฆ์ ๑ ขุนนาง ๑ คนสุภาพ ๑ ต่อจากนี้ไปก็เป็นชนสามัญชนที่พูดจากันตามธรรมดา หรือที่เรียกว่าปากตลาด ซึ่งไม่นิยมใช้ในราชการ และชั้นบุคคลทั้ง ๕ นี้เป็นแต่กล่าวโดยย่อที่ใช้ทั่วๆ ไป ยังมีคำ บางคำที่บัญญัติใช้แยกเป็นหลายชั้นยิ่งไปกว่านี้ แต่ที่มีแบบแผนใช้อยู่โดยมาก ก็มีเพียงชั้นพระราชาและเจ้านายเท่านั้น ชนอื่นๆ มีบัญญัติใช้เฉพาะบางคำ จักกล่าวถึงเฉพาะในคำที่มีบัญญัติใช้

คำทั้งหลายที่ต้องเปลี่ยนแปลงใช้ตามระเบียบราชาศัพท์นี้ ก็มี ๔ ชนิดอย่างเดียวกับระเบียบอื่นๆ เหมือนกัน คือ (๑) นาม (๒) สรรพนาม (๓) กริยา (๔) วิเศษณ์ จะยกอธิบายทีละชนิด ดังต่อไปนี้

คำนามที่ใช้เป็นราชาศัพท์ คำนามย่อมเปลี่ยนแปลงใช้เป็น ราชาศัพท์แทบทุกพวก เว้นแต่พวกสมุหนามเท่านั้น เพราะนามพวกนี้เป็นชื่อของหมู่คณะ ไม่เจาะจงเฉพาะตัวบุคคล จึงนิยมใช้เป็นสามัญชนผู้หนึ่ง ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงราชาศัพท์ ถึงจะเกี่ยวกับพระราชาหรือเจ้านาย ก็ใช้เช่นเดียวกัน เช่น ‘รัฐบาล ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว’ เป็นต้น

(๑) สามานยนามกับอาการนาม สองพวกนี้มีใช้มากกว่าพวกอื่น และมีวิธีใช้อย่างเดียวกันด้วย จึงนำมากล่าวในที่เดียวกันดังนี้

ก. สำหรับชั้นพระราชา นามราชาศัพท์ที่ใช้สำหรับพระราชานั้น ต้องเป็นชื่อสิ่งที่เกี่ยวเนื่องเป็นของแห่งพระราชา เป็นต้น ว่าส่วนของร่างกาย เช่น มือ เท้า แขน ขา ฯลฯ ความประพฤติต่างๆ เช่น การกิน ความคิด ความเชื่อ ฯลฯ ญาติและคนที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น พี่เลี้ยง แม่นม อาจารย์ ฯลฯ ทรัพย์และเครื่องใช้ต่างๆ เช่น เสื้อผ้า เครื่องแต่งตัว ฯลฯ สิ่งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น ชะตา ราศี เคราะห์ วันเกิด โรคต่างๆ ฯลฯ คำเหล่านี้ มีวิธีเปลี่ยนแปลงใช้เป็น ๔ วิธี ดังต่อไปนี้ :-

(ก) ใช้คำ ‘พระบรม’ หรือ ‘พระบรมราช’ นำหน้าได้แก่นามที่สำคัญ ควรจะเชิดชูให้เป็นเกียรติยศ เช่น พระบรมมหาราชวัง พระบรมนามาภิไธย หรือพระปรมาภิไธย พระบรมวงศานุวงศ์ พระบรมเดชานุภาพ พระบรมโพธิสมภาร (บุญบารมี) พระบรมราชโองการ พระบรมราโชบาย พระบรมราชูปถัมภ์ พระบรมราโชวาท พระบรมราชานุศาสน์ เหล่านี้เป็นต้น

(ข) ใช้คำ ‘พระราช’ นำหน้า ได้แก่คำที่ใช้เฉพาะพระราชา ซึ่งผู้กล่าวตั้งใจจะไม่ให้ปนกับเจ้านายอื่นๆ ทั่วไป แต่ไม่เป็นคำสำคัญอย่างข้อต้น เช่นตัวอย่าง ‘พระบรมมหาราชวัง’ ในข้อต้นนั้น หมายความว่าวังสำคัญที่สุด ที่ควรจะเชิดชู แต่ถ้าวังที่รองๆ ลงมา และไม่สู้สำคัญนัก ก็ใช้ว่า‘พระราชวัง’ เช่น พระราชวังดุสิต พระราชวังบางปะอิน เป็นต้น และนามอื่นๆ เช่น พระราชทรัพย์ พระราชลัญจกร (ตรา) พระราชพาหนะ พระราชยาน พระราชหฤทัย พระราชประวัติ พระราชกุศล เป็นต้น และคำที่เป็นอาการนาม มักใช้เช่นนี้เป็นพื้น เช่น พระราชปรารภ พระราชดำริ พระราชประสงค์ เป็นต้น

(ค) ใช้คำ ‘พระ’ นำหน้า ได้แก่นามที่เป็นสามัญทั่วไป ซึ่งไม่นับว่าเป็นของสำคัญ เป็นต้นว่าเครื่องใช้สอย เช่น พระแสง พระที่นั่ง พระเก้าอี้ พระสุพรรณราช ฯลฯ ส่วนในร่างกาย เช่น พระหัตถ์ พระบาท พระนาสิก พระศอ พระเจ้า ฯลฯ ของที่เกี่ยวกับร่างกาย เช่น พระโรค พระบังคนหนัก พระบังคนเบา พระเคราะห์ พระชะตา ฯลฯ สรุปความว่า นอกจากคำที่กล่าวในข้อ(ก) และ(ข) แล้วต้องใช้คำ ‘พระ นำหน้าทั้งสิ้น เว้นไว้แต่คำประสมที่มีคำข้างท้ายเป็นราชาศัพท์อยู่แล้ว คำข้างหน้าจึงไม่ต้องใช้คำ ‘พระ’ นำหน้าให้ซ้ำกัน เช่น ฉลองพระองศ์ ฉลองพระเนตร ฉลองพระบาท ฉลองพระหัตถ์ บ้วนพระโอษฐ์ รถพระที่นั่ง รถยนต์พระที่นั่ง ม้าพระที่นั่ง เรือพระที่นั่ง ธารพระกร พานพระศรี เหล่านี้เป็นต้น

อนึ่ง บุคคลที่เกี่ยวข้องกับพระราชา ถ้าเป็นเจ้านายก็ใช้เรียกตามชั้นของ เจ้านายซึ่งจะกล่าวข้างหน้า แต่ถ้าใช้เป็นกลางๆ สำหรับพระราชาอื่นๆ ทั่วไป ก็ใช้คำ ‘พระราช’ นำหน้า เช่น พระราชบิดา พระราชมารดา พระราชภาดา พะราชภคินี เป็นต้น ถ้าไม่ใช่เจ้านาย คือเป็นราชินิกุล หรือสามัญชน มักใช้เพียงคำ ‘พระ’ นำหน้า เช่น พระอัยกา พระอัยยกา พระปิตุลา พระพี่เลี้ยง พระนม พระอาจารย์ พระสหาย เป็นต้น

(ฆ) ใช้คำ ‘หลวง’ หรือ ‘ต้น’ ประกอบข้างท้ายคำที่ใช้ พระบรม พระบรมราช พระราช ‘พระ’ นำหน้านั้นต้องเป็นคำที่มาจากบาลีหรือสันสกฤต นอกจากนั้นก็มีคำเขมรหรือคำโบราณอยู่บ้างเล็กน้อย เช่น พระจุไร พระขนง พระขนอง พระเขนย พระปราง พระยี่ภู่ พระบังคนหนัก พระบังคนเบา เป็นต้น แต่ถ้าเป็นคำไทยสามัญแล้ว จะใช้คำเหล่านั้นนำหน้าไม่ได้ มักจะใช้ คำ ‘หลวง’ หรือ ‘ต้น’ประกอบข้างท้าย เช่น ลูกหลวง หลานหลวง ม้า¬หลวง ช้างหลวง เรือหลวง ของหลวง สวนหลวง ม้าต้น ช้างต้น เรือต้น เรือนต้น เครื่องต้น ดังนี้เป็นต้น

คำ ‘หลวง’ กับ ‘ต้น’ มีที่ใช้ต่างกันอยู่บ้าง คือคำ ‘หลวง’ ใช้กับคำสามัญทั่วไป ทั้ง คน สัตว์ และสิ่งของ แต่มียกเว้นบางคำซึ่งไม่เกี่ยวกับพระราชา เช่น เมีย หลวง เขา หลวง ทะเล หลวง เป็นต้น คำ “หลวง” ในที่นี้แปลว่า ‘ใหญ่’ หาเกี่ยวข้องเป็นราชาศัพท์ไม่ ส่วนคำ ‘ต้น’ นั้น เนื่อง มาจากตำแหน่งแห่งนามนั้นๆ ที่เจ้าพนักงานเทียบไว้เป็นชั้นต้น ชั้นที่สอง และชั้นรองต่อๆ ไป ชั้นต้นเป็นของดีสำหรับพระราชา จึงได้ใช้คำ ‘ต้น’ เป็น เครื่องหมายสำหรับพระราชาต่อมา แต่มักจะใช้เฉพาะสัตว์ ที่ทาง และสิ่งของ เท่านั้น หาได้ใช้สำหรับคนไม่

ข. สำหรับชั้นเจ้านาย ชั้นนี้บางคำก็ใช้แยกกันเป็นหลายชั้น คือ พระราชินี พระยุพราช วังหน้า (ครั้งโบราณ) เจ้านายชั้นสูง พระองค์เจ้าหม่อมเจ้า แต่ในที่นี้จะกล่าวแต่คำที่ใช้สำหรับเจ้านายทั่วไป คำที่แยกใช้นั้นจะยกไว้กล่าวทีหลัง

นามราชาศัพท์สำหรับเจ้านายนั้น ใช้อย่างเดียวกับนามราชาศัพท์ สำหรับพระราชา เว้นแต่ไม่ใช้คำ ‘พระบรม’ หรือ ‘พระบรมราช’ นำหน้าเท่านั้น นอกจากนี้ก็ใช้สำหรับเจ้านายได้ ดังนี้

(ก) ใช้คำ ‘พระราช’ นำหน้า คำนี้ใช้สำหรับพระราชินี และพระยุพราช เฉพาะคำสำคัญสำหรับพระองค์ท่าน เช่น พระราชหฤทัย พระราชศรัทธา พระราชดำริ พระราชปรารภ พระราชกุศล เป็นต้น

(ข) ใช้คำ ‘พระ’ นำหน้า นอกจากที่กล่าวแล้วในข้อ (ก) ก็ใช้คำ ‘พระ’ นำหน้าเป็นพื้นทั่วไป เว้นไว้แต่คำที่เป็นราชาศัพท์สำหรับเจ้านายอยู่แล้ว เช่น หม่อม หม่อมห้าม วัง ที่นั่ง (เช่น รถที่นั่ง ม้าที่นั่ง สำหรับ พระราชาใช้ รถพระที่นั่ง ฯลฯ) เครื่อง (อาหาร) และคำประสมที่มีคำราชาศัพท์อยู่ข้างท้ายแล้ว เช่น ฉลองพระองค์ ฉลองพระหัตถ์ เป็นต้นดังกล่าว ในข้อสำหรับพระราชา

อนึ่ง ญาติที่เป็นเจ้านายด้วยกัน มักใช้คำว่า ‘พระเจ้า’ นำหน้า เช่น พระเจ้าลุง พระเจ้าพี่ พระเจ้าอา เป็นต้น ถ้าใช้คำบาลี หรือสันสกฤต ก็ใช้ แต่คำ ‘พระ’ นำหน้า เช่น พระปิตุลา พระภาดา พระเชษฐา เป็นต้น ถึง ญาติที่ไม่ใช่เจ้านายหรือผู้ที่ทรงนับถือ ก็ใช้คำ ‘พระ’ นำหน้าอย่างเดียวกัน

(ค) อนึ่ง คนสัตว์ หรือสิ่งของ ซึ่งเป็นของเจ้านายที่ไม่สำคัญ คือ ไม่ใช่ผู้ที่ทรงนับถือก็ดี สัตว์หรือสิ่งของที่อยู่ห่างไกล ซึ่งไม่ได้ทรงใช้สอยใกล้ ชิดเป็นต้นก็ดี คำเหล่านี้ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงใช้เป็นราชาศัพท์ ใช้ตามปกติ อย่างคำสามัญ เช่น คนของเจ้านายพระองค์นั้น นาของเจ้านายพระองค์นี้ เป็นต้น

ค. สามานยนามและอาการนาม ที่เป็นราชาศัพท์ สำหรับชั้นบุคคล ต่อ จากเจ้านายลงไปก็ดี หรือที่บัญญัติใช้แยกชั้นละเอียดออกไปจากข้างบนนี้ก็ดี มีเป็นบางคำ จะยกมากล่าวพอเป็นตัวอย่างต่อไปนี้:-

(ก) คำสั่ง
silapa-0161 - Copy
(ข) จดหมาย
silapa-0162 - Copy
(ค) ภรรยา
silapa-0162 - Copy1
(ฆ) นามเบ็ดเตล็ดอื่นๆ
silapa-0163 - Copy
หมายเหตุ พระพุทธเจ้า หรือเทวดาผู้เป็นใหญ่ เช่น พระอิศวร พระอินทร์ เป็นต้น ใช้คำนามอย่างเดียวกับพระราชา แต่มีผิดกันอยู่บ้าง คือ สำหรับพระพุทธเจ้า ใช้คำว่า ‘ พระพุทธ ’ หรือ ‘ พุทธ ’ นำหน้า สำหรับเทวดา ใช้คำว่า ‘เทว’ หรือ ‘เทพ’ นำหน้า ในคำบางคำเพื่อจะให้ความเด่น เช่น พระพุทธฎีกา (คำสั่ง) พระพุทธบริขาร พุทธพยากรณ์
เทวโองการ เทพบริวาร เป็นต้น

(๒) วิสามานขนาม นามพวกนี้มีวิธีใช้ต่างกับสามานยนามหรืออาการ นาม คือต้องมีสามานยนามนำหน้าด้วย และวิสามานยนามที่ใช้ในราชการ สำหรับบุคคลทั้ง ๕ ชั้นนั้น มีต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือ นามเดิมอย่างหนึ่ง กับราชทินนามอีกอย่างหนึ่ง

ก. นามเดิม คือนามที่ได้มาแต่กำเนิด จะอธิบายวิธีใช้เป็นชั้นๆ ลงไป ดังต่อไปนี้

(ก) พระราชา การออกพระนามพระราชาทั่วไปในสมัยนี้ มักใช้คำ สามานยนามว่า ‘สมเด็จพระเจ้า’ บ้าง ‘สมเด็จพระ’ บ้าง ‘พระเจ้า’ บ้าง นำหน้าตามความนับถือมากและน้อย เช่น สมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ สมเด็จ พระเจ้ายอช (กรุงอังกฤษ) สมเด็จพระนเรศวร พระเจ้านโปเลียน พระเจ้าพิมพิสาร เป็นต้น แต่ครั้งโบราณใช้ต่างๆ กันตามสมัย เช่นตัวอย่าง ‘ขุน พ่อขุน ขุนหลวง พญา’ เป็นต้น ตามที่ว่านี้ใช้เรียกพระราชาอื่นๆ ทั่วไป

แต่ประเพณีของไทย พระราชาธิบดีเมื่อเสวยราชสมบัติต้องถวายพระนามใหม่มีสร้อยพระนามยืดยาว ซึ่งใช้ในราชาศัพท์ว่า ‘พระปรมาภิไธย’ หรือ ‘พระบรมนามาภิไธย’ และใช้เรียกตามพระปรมาภิไธยนี้ หาใช้เรียกพระนามเดิมไม่ จะมีบ้างก็มักเป็นเสียงราษฎรเรียกกันอย่างปากตลาด พอให้เข้าใจง่าย ถ้าใช้ในรัชกาลปรัตยุบัน มักจะใช้คำว่า ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว’ ซึ่งเป็นสามานยนามแทน ถ้าจำเป็นจะต้องใช้ ก็ใช้คำว่า ‘พระบาทสมเด็จพระ’ นำหน้าพระปรมาภิไธยอีกทีหนึ่ง มีวิธีใช้เป็น ๓ อย่างคือ

(๑) ใช้พระนามเต็มตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ เช่นตัวอย่าง ‘พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ ฯลฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว’ อย่างนี้มักใช้ในหนังสือ เรื่องสำคัญ เช่นประกาศพระราชบัญญัติที่สำคัญ หรือประกาศตั้งเจ้านาย เป็นต้น

(๒) ใช้อย่างกลาง คือละสร้อยพระนามเสีย เช่น ‘พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ’ อย่างนี้มักใช้ในหนังสือที่มีส่วนสำคัญรองลงมา

(๓) ใช้อย่างย่อ คือ ใช้ย่อเอาแต่ส่วนสำคัญของพระปรมาภิไธย เช่น พระบาทสมเด็จพระนเรศวร พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรถ เป็นต้น ถ้ามีพ้องกันก็เติมสังขยาที่๑ ที่ ๒ ฯลฯ ไว้ข้างท้าย เช่น ‘พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่๑’ หรือ ‘พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒’ เป็นต้น อย่างนี้ใช้ในหนังสือต่างๆ ที่กล่าวในกาลทั่วไปที่ไม่สำคัญ

(ข) ชั้นเจ้านาย เจ้านายที่จะต้องใช้พระนามเดิมนั้น คือเจ้านายที่ยังมิได้ทรงกรม หรือทรงตำแหน่งอันสูงซึ่งทรงสถาปนาพระราชทินนามใหม่ เช่น ตำแหน่งสมเด็จพระพันปีหลวง เป็นต้น คำสามานยนามที่นำหน้าพระนามเดิม เจ้านายตั้งแต่ชั้นพระองศ์เจ้าขึ้นไป มี ๒ คำ คือ คำต้นบอกเครือญาติ คำที่ ๒ บอกชั้นเจ้านาย

(๑) คำสามานยนามบอกเครือญาติ นั้น เรียกว่าตำแหน่งพระบรมวงศานุวงศ์ ตามที่ใช้อยู่ในปรัตยุบันนี้ มีดังนี้:-

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ คือเจ้านายที่เป็นพระราชโอรสพระเจ้าแผ่นดินก่อนตั้งแต่พระเจ้าอาขึ้นไป ถ้าเป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่๑ ใช้ว่า ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๑’ ในรัชกาลที่ ๒ ก็ว่าชั้น ๒ ตามลำดับ ถ้าสำหรับเจ้าฟ้า ใช้ว่า ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ’

ชั้นพระเจ้าพี่และพระเจ้าน้อง ถ้าเป็นฝ่ายหน้าใช้ว่า ‘พระเจ้าพี่ยาเธอ พระเจ้าน้องยาเธอ’ ถ้าเป็นฝ่ายใน ใช้ว่า ‘พระเจ้าพี่นางเธอ พระเจ้าน้องนางเธอ’ สำหรับเจ้าฟ้าใช้คำว่า ‘สมเด็จ’ เติมข้างหน้าอย่างเดียวกัน

(ถ้าเป็นชั้นพระราชโอรส ฝ่ายหน้าใช้ว่า ‘พระเจ้าลูกยาเธอ’ ฝ่ายใน ใช้ว่า ‘พระเจ้าลูกเธอ’ สำหรับเจ้าฟ้าใช้คำว่า ‘สมเด็จ’ เติมข้างหน้าเหมือนกัน)

ชั้นพระโอรสเจ้าฟ้าที่ดำรงพระยศเป็นพระองค์เจ้ามาแต่เดิม หรือหม่อมเจ้า ที่ทรงสถาปนาพระยศเป็นพระองค์เจ้าขึ้นเป็นพิเศษ ใช้ว่า ‘พระเจ้าวรวงค์เธอ’

พระโอรสพระราชวังบวรฯ รัชกาลที่ ๕ ใช้ว่า ‘พระราชวรวงศ์เธอ’ ถ้าพระโอรสพระราชวังบวรฯ รัชกาลที่ ๔ ใช้ว่า ‘พระเจ้าราชวรวงค์เธอ’

หม่อมเจ้าที่ทรงสถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้า ใช้ว่า ‘พระวรวงค์เธอ’

(๒) คำสามานยนามที่บอกชั้นเจ้านาย นั้นมี ๓ ชั้น คือ
เจ้าฟ้า คือพระราชโอรสพระเจ้าแผ่นดินที่พระมารดาเป็นเจ้าด้วยกัน

พระองค์เจ้า คือพระโอรสพระเจ้าแผ่นดินหรือพระราชวังบวรอย่างหนึ่ง พระโอรสของเจ้าฟ้าอย่างหนึ่ง หม่อมเจ้าที่ทรงสถาปนาเลื่อนพระยศขึ้นอย่างหนึ่ง

หม่อมเจ้า คือพระโอรสของพระองค์เจ้าที่ดำรงพระยศมาแต่เดิม
ต่อจากสามานยนามบอกชั้นนี้ไปจนถึงพระนามเดิม ดังนี้
‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า (พระนามเดิม)’
‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า (พระนามเดิม)’

แต่ถ้าสำหรับชั้นหม่อมเจ้า ไม่ต้องมีสามานยนามบอกเครือญาติมีแต่คำบอกชั้นเจ้านายเท่านั้น ดังนี้ ‘หม่อมเจ้า (พระนามเดิม)’ แต่มักใช้พระนาม พระบิดาไว้ข้างท้ายด้วย ดังนี้ ‘หม่อมเจ้า (พระนามเดิม) ในพระเจ้าพี่ยาเธอ พระองค์เจ้า (พระนามพระบิดา)’ สำหรับหม่อมเจ้าฝ่ายใน ใช้ว่า ‘หม่อมเจ้าหญิง’

(ค) พระสงฆ์ พระสงฆ์ที่ไม่มีราชทินนาม ต้องใช้นามเดิม ถ้ามีตำแหน่ง บรรดาศักดิ์ เป็น พระครู พระปลัด พระสมุห์ พระใบฎีกาหรือมีตำแหน่งเป็นเจ้าอธิการ พระอธิการ เป็นต้น ก็ใช้สามานยนามบอกตำแหน่งนั้นๆ นำหน้า นามเดิม นามสกุล แล้วใส่นามฉายา (นามที่อุปัชฌาย์ให้เป็นภาษาบาลีเมื่อเวลาบวช) วงเล็บไว้ข้างท้าย ดังนี้:-
‘พระครู ทิม ชื่นช้อย (จนฺทาโภ)’
‘พระปลัด สอน ไววุฒิ (เขมิโก)’ เป็นต้น

อนึ่ง พระที่สอบไล่ได้เป็นเปรียญ หรือเป็นนักธรรมชั้นใด ก็ลงคำว่า เปรียญหรือนักธรรมชั้นนั้นๆ เติมเข้าข้างท้าย เช่น ‘พระสอน ไววุฒิ (เขมิโก) เปรียญธรรมชั้นตรี’ หรือ ‘พระสอน  ไววุฒิ (เขมิโก) นักธรรมชั้นโท’ เป็นต้น ถ้าพระอนุจร คือไม่มีตำแหน่งอันใด ก็ใช้แต่คำ ‘พระ’ นำหน้าอย่างเดียว เช่น พระสอน ไววุฒิ (เขมิโก)  ถ้าเป็นสามเณรก็ใช้คำว่า ‘สามเณร’ นำหน้าแทนคำ ‘พระ’

อนึ่ง เจ้านายที่ต้องใช้พระนามเดิมดังกล่าวแล้วข้างต้น ถ้าทรงผนวชก็ต้องใช้อย่างกล่าวแล้วเหมือนกัน เป็นแต่เติมคำ ‘พระ’ หรือ ‘สามเณร’ ลงข้างหน้าพระนามเดิมด้วยเท่านั้น เช่น ‘พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าพระ หรือ พระองค์เจ้าสามเณร (พระนามเดิม)’ แล้วใส่พระนามฉายาวงเล็บข้างท้าย ถึงผู้เนื่องในราชตระกูลเป็นหม่อมราชวงศ์ หรือหม่อมหลวงที่บวช ก็ใช้ว่า ‘พระ’ หรือ ‘สามเณร’ เติมหน้านามเดิมดุจกัน เช่น หม่อมราชวงศ์ พระ (นามเดิม นามสกุลและนามฉายาในวงเล็บ) หม่อมหลวงสามเณร (นามเดิมนามสกุลและนามฉายาในวงเล็บ) ดังนี้เป็นต้น แต่ถ้าผู้มียศหรือบรรดาศักดิ์บวช ต้องใช้คำ ‘พระ’ หรือ ‘สามเณร’ นำหน้าตำแหน่งยศหรือบรรดาศักดิ์ เช่น พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ (ชิตาวีวํโส) หรือ พระ ร้อยโทเจริญ ไววุฒิ (วฑฺฒโน) เป็นต้น

(ฆ) ขุนนาง นามขุนนางเป็นตำแหน่งบรรดาศักดิ์มีราชทินนามจะกล่าวข้างหน้า ที่ใช้นามเดิมก็มีอยู่แต่ผู้ที่มียศอย่างเดียว หรือผู้ที่เนื่องด้วยราชตระกูล เป็นหม่อมราชวงศ์ หม่อมหลวง เหล่านี้ต้องใช้คำนามตำแหน่งเหล่านั้นนำหน้าแล้วบอกนามสกุลข้างท้าย เช่น ร้อยเอก ถม ชาญชัย หรือหม่อมราชวงศ์ (นามเดิม นามสกุล) ดังนี้เป็นต้น ถ้าเป็นหญิง ต้องใช้คำ ‘หญิง’ นำหน้านามเดิมด้วย เช่น หม่อมราชวงศ์หญิง (นามเดิม นามสกุล) เป็นต้น

อนึ่ง สตรีผู้มีบรรดาศักดิ์ที่ไม่มีราชทินนาม เช่น เป็น เจ้าจอม ขรัวยาย หม่อม คุณ เหล่านี้ ก็ต้องใช้นามตำแหน่งเหล่านี้นำหน้านามเดิม แต่นามสกุลนั้น ถ้าเป็นเจ้าจอมหรือหม่อม ไม่ต้องใช้ เพราะใช้นามรัชกาล หรือนามเจ้านายแทน เช่น เจ้าจอม (นามเดิม) ในรัชกาลที่… หรือ หม่อม (นามเดิม) ในพระเจ้าน้องยาเธอ พระองศ์เจ้า… เป็นต้น นอกจากนี้ต้องใช้นามสกุลด้วยเหมือนกัน

(ง) คนสุภาพ ถ้าเป็นชาย ใช้คำ ‘นาย’ นำหน้านามเดิมนามสกุล เช่น นายสิน เจียมตัว เป็นต้น ถ้าเป็นหญิงยังไม่มีสามี ใช้คำว่า ‘นางสาว’ นำหน้า นามเดิม นามสกุล เช่น นางสาวยี่สุ่น เจียมตัว เป็นต้น แต่ถ้ามีสามีแล้วต้องใช้คำ ‘นาง ’ นำหน้านามเดิมและใช้นามสกุลของสามี

ข. ราชทินนาม คือนามที่พระราชทานอย่างหนึ่ง หรือโปรดเกล้าฯ ให้ เจ้ากระทรวงตั้ง ซึ่งเรียกว่าประทวนอย่างหนึ่ง ราชทินนามนี้มีสามานยนาม ตำแหน่งบรรดาศักดิ์ เช่น ขุน หลวง พระ เป็นต้น นำหน้า ผู้มีราชทินนามแล้วไม่ต้องใช้นามเดิมอีก ถ้าต้องการไม่ให้ผิดตัวในเวลาข้างหน้า ก็ลงนามเดิมกับนามสกุลไว้ในวงเล็บข้างท้าย

(ก) เจ้านาย เจ้านายที่ดำรงพระเกียรติยศสูง ก็ทรงสถาปนาพระราชทินนามใหม่เหมือนกัน เช่น พระนามสมเด็จพระพันปีหลวงว่า ‘สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง’ ดังนี้เป็นต้น ถึงพระนามกรมแห่งเจ้านายต่างๆ ก็นับว่าเป็นพระราชทินนามได้เหมือนกัน เพราะเป็นพระนามที่พระราชทานใหม่ และพระนามกรมนี้แบ่งออกได้เป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนต้นเป็นสามานยนามบอกตำแหน่งชั้นกรม (ซึ่งคล้ายกับตำแหน่งบรรดาศักดิ์) มี ๕ ตำแหน่ง คือ กรมหมื่น กรมขุน กรมหลวง กรมพระ กรมพระยา และส่วนที่ ๒ เป็นวิสามานยนาม บอก นามพระกรมอีกทีหนึ่ง เจ้านายที่ทรงกรมนั้น มี ๒ ชั้น คือ เจ้าฟ้า กับ พระองค์เจ้าเท่านั้น มีวิธีใช้พระนามดังนี้

ชั้นเจ้าฟ้า ใช้พระนามกรมแทนพระนามเดิม คำสามานยนามที่ประกอบข้างหน้านั้นใช้อย่างเดียวกับคำที่ประกอบหน้าพระนามเดิม ตัวอย่างเช่น ‘สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต’ บางทีก็ใช้พระนามเดิมด้วย แล้วเติมพระนามกรมไว้ข้างท้ายเช่นตัวอย่าง ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ ‘กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช’ ดังนี้อย่างข้างต้นนั้นใช้มาก แต่อย่างข้างท้ายนี้ เห็นใช้เฉพาะบางพระองศ์

ชั้นพระองค์เจ้า ลดคำสามานยนามบอกชั้นเจ้านาย (คือ ‘พระองค์เจ้า’) กับพระนามเดิมออกเสีย ใช้พระนามกรมแทน ดังตัวอย่าง ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ’ แต่ถ้าดำรงพระยศสูงสุดคือเป็นกรมพระยา ต้องเติมคำว่า ‘สมเด็จ’ เข้าข้างหน้าด้วย เช่นตัวอย่าง ‘สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ’ ดังนี้เป็นต้น

(ข) พระสงฆ์ พระสงฆ์ที่มีสมณศักดิ์นั้นมักจะมีราชทินนามเป็นพื้น คำสามานอนามบอกตำแหน่งสมณศักดิ์ที่จะใช้นำหน้าราชทินนามนี้ มีเป็น ๕ ชั้น คือ

ชั้นสมเด็จพระราชาคณะ ชั้นที่ใช้คำว่า ‘สมเด็จพระ’ นำหน้า เช่น ‘สมเด็จพระ วันรัต’ เป็นต้น แต่เจ้านายที่ทรงผนวชดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระมหาสมณะเจ้าก็ดี หรือเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้าก็ดี ต้องใช้พระนามเจ้าเต็มที่ แล้วเติมนามตำแหน่งสมณศักดิ์ไว้ข้างท้าย ดังตัวอย่างต่อไปนี้:-
‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระมหาสมณะเจ้า’

‘พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ พระสังฆราชเจ้า’ ถ้าเป็น พระสังฆราชที่ไม่ใช่เจ้านาย ก็ใช้นามอย่างสมเด็จพระราชาคณะแล้วเติมตำแหน่งไว้ข้างท้ายดังนี้ ‘สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณพระสังฆราช’

ชั้นพระราชาคณะ ชั้นนี้มีตำแหน่งสมณศักดิ์แยกเป็นหลายชั้นด้วยกัน แต่รวมความว่าใช้คำ ‘พระ’ นำหน้าราชทินนามด้วยกันทั้งนั้น วิธีสังเกตตำแหน่งสูงต่ำนั้นต้องสังเกตอย่างอื่น ดังนี้
(๑) ชั้นเจ้าคณะรอง มีจำกัดอยู่ ๔ ชื่อ คือ พระสาสนโสภณ พระพิมลธรรม พระธรรมวโรดม พระพรหมมุนี
(๒) ชั้น ธรรม สังเกต คำ ‘ธรรม’ ขึ้นต้นราชทินนาม เช่น พระธรรมเจดีย์ เป็นต้น
(๓) ชั้นเทพ มีคำ ‘เทพ’ ขึ้นต้น เช่น พระเทพเวที เป็นต้น
(๔) ชั้นราช มีคำ ‘ราช’ เป็นต้น เช่น พระราชเวที เป็นต้น
(๕) ชั้นสามัญไม่มีที่สังเกต เป็นแต่ใช้คำ ‘พระ’ นำหน้าเท่านั้น เช่น พระญาณรักขิต เป็นต้น

ชั้นพระครู (พิเศษ) ชั้นนี้เป็นตำแหน่งรองพระราชาคณะลงมา ใช้คำว่า ‘พระครู’ นำหน้า เช่น พระครูญาณประกาศ เป็นต้น

ชั้นฐานานุกรม ชั้นนี้เห็นมีราชทินนามอยู่ก็แต่พระครูปลัด และพระครู (ที่เป็นฐานา) ๒ ตำแหน่งนี้เท่านั้นย่อมใช้นามตำแหน่งนำหน้าอย่างเดียวกัน เช่น พระครูปลัดสัมพิพัฒน์สุตาจารย์ พระครูสังฆรักษ์ เป็นต้นนอกจากนี้ไม่มีราชทินนาม ใช้ตำแหน่งนำหน้านามเดิมดังอธิบายแล้ว

(ค). ขุนนาง บรรดาผู้ที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ย่อมมีราชทินนาม ใหม่ทั้งนั้น ลำดับชั้นสูงต่ำนั้นแล้วแต่สามานยนามบอกตำแหน่งบรรดาศักดิ์ ที่ประกอบข้างหน้า โดยปรกติสำหรับฝ่ายพลเรือนทั่วไปมี ๖ ตำแหน่ง คือ:-

สมเด็จเจ้าพระยา เช่น ‘สมเด็จเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์’ เป็นต้น ตำแหน่งนี้เป็นขั้นสูงสุด นานๆ จึงจะมี
เจ้าพระยา เช่น เจ้าพระยาภูธราภัย เป็นต้น
พระยา เช่น พระยาราชสมบัติ เป็นต้น
พระ เช่น พระศรีเสนา    เป็นต้น
หลวง เช่น หลวงธรรมเสนา เป็นต้น
ขุน    เช่น ขุนศรีประชานนท์ เป็นต้น

และยังมีตำแหน่งบรรดาศักดิ์ที่ใช้บางแห่งบางกรมอีก คือ เจ้าหมื่น จมื่น หลวง (นายเวร) นาย (บรรดาศักดิ์) นายรอง นามตำแหน่งเหล่านี้
ใช้ประกอบข้างหน้าราชทินนามเช่นเดียวกัน ตัวอย่างเจ้าหมื่นศรีสรลักษณ์ จมื่นสุรพลพัลลภ หลวงศักดิ์ นายเวร นายพลพัน นายรองพลพัน เป็นต้น

หมายเหตุ ตำแหน่งบรรดาศักดิ์นี้ในปัจจุบันนี้ไม่มีการแต่งตั้งแล้ว คงมี แต่ท่านที่ได้รับมาแต่เดิม
นอกจากนี้ยังมีตำแหน่งบรรดาศักดิ์พิเศษอีก เช่น ตำแหน่งเจ้าประเทศราช เช่น พระเจ้า เจ้า เป็นต้น ใช้นำหน้าราชทินนาม ซึ่งแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน

อนึ่ง สตรีที่มีบรรดาศักดิ์นำหน้าราชทินนาม ก็ต้องใช้ตำแหน่งบรรดาศักดิ นำหน้าราชทินนามอย่างเดียวกับผู้ชายเหมือนกัน ตัวอย่าง
เจ้าคุณ เช่น ‘เจ้าคุณพระประยูรวงศ์’
ท้าว เช่น ท้าวศรีสุดาจันทร์ เป็นต้น
พระ เช่น พระสุจริตสุดา เป็นต้น

ส่วนสตรีที่เป็นภรรยาผู้มีบรรดาศักดิ์ ใช้เรียกอย่างนี้

ท่านผู้หญิง ได้แก่ภรรยาเจ้าพระยา หรือสตรีที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งขึ้นใช้ คำว่า ‘ท่านผู้หญิง’ นำหน้า ราชทินนามแห่งสามี เช่น ‘ท่านผู้หญิงพระเสด็จสุเรนทราธิบดี’ เป็นต้น

คุณหญิง ได้แก่ภรรยาเอกแห่งเจ้าพระยา หรือสตรีที่ได้รับพระราชทาน เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ใช้คำว่า ‘คุณหญิง’ นำหน้าราชทินนามแห่งสามี เช่น ‘ คุณหญิงวิจิตรธรรมปริวัติ ’ เป็นต้น

นาง ภรรยาเอกของขุนนางรองจากนี้ลงไป ใช้คำว่า ‘นาง’ นำหน้า ราชทินนามของสามี เช่น นางญาณภิรมย์ นางอุดมจินดา เป็นต้น จะเป็นภรรยา พระ หลวง หรือ ขุน ก็ใช้อย่างเดียวกัน

ส่วนอนุภรรยาของขุนนางทั้งหมด ใช้คำ ‘นาง’ นำหน้านามสกุลของสามี

ค. ยศ คือตำแหน่งฐานันดรที่สูงกว่าบรรดาศักดิ์ แต่หาได้มีราชทินนาน กำกับอย่างตำแหน่งบรรดาศักดิ์ไม่ นามตำแหน่งยศนี้ ก็นับเป็นสามานยนาม อย่างเดียวกับตำแหน่งบรรดาศักดิ์ เช่น ขุน หลวง พระ พระยา เป็นต้น แต่ที่นำมากล่าวในที่นี้ก็เพราะต้องใช้นำหน้าวิสามานยนามเหมือนกัน ตำแหน่งยศ กล่าวโดยย่อมีเป็น ๓ ฝ่าย คือ (๑) ผ่ายทหาร หรือเสนา (๒) ฝ่าย พลเรือน หรืออำมาตย์ (๓) ฝ่ายราชสำนัก หรือ เสวก ซึ่งมักเรียกรวมกัน ว่า ‘เสนามาตย์ราชเสวก’ ดังนี้ และฝ่ายหนึ่งๆ นั้นยังเรียกต่างกันออกไปอีกตามหน้าที่ ดังจะกล่าวโดยย่อต่อไปนี้ :-

(ก) ฝ่ายทหาร มี ๓ แผนก คือ ทหารบกกับทหารเรือ และทหารอากาศ ทหารบก-จอมพลเป็นชั้นสูงสุด นายพลมี ๔ ชั้น คือ พลเอก พลโท พลตรี พลจัตวา นายพันมี ๓ ชั้น คือ พันเอก-โท-ตรี นายร้อยมี ๓ ชั้น คือ ร้อยเอก-โท-ตรี

ทหารเรือ-จอมพลเรือ เป็นชั้นสูงสุด นายพลเรือมี ๔ ชั้น คือ พลเรือ เอก-โท-ตรี-จัตวา นายนาวามี ๓ ชั้น คือ นาวาเอก-โท-ตรี นายเรือมี ๓ ชั้น คือ เรือเอก-โท-ตรี

ทหารอากาศ มี จอมพลอากาศเป็นชั้นสูงสุด รองลงมาคือพลอากาศ เอก-โท -ตรี-จัตวา นาวาอากาศเอก-โท-ตรี เรืออากาศเอก-โท-ตรี

(ข) ฝ่ายพลเรือน* มหาอำมาตย์นายก เป็นชั้นสูงสุด

มหาอำมาตย์ (มี เอก-โท-ตรี) อำมาตย์ (มีเอก-โท-ตรี) รองอำมาตย์ (มีเอก-โท-ตรี)

ตำแหน่งยศตำรวจพระนครบาล และตำรวจภูธร ก็ขึ้นอยู่ในฝ่ายพลเรือนเหมือนกัน มียศเรียกดังนี้

นายพลตำรวจ (มี เอก-โท-ตรี-จัตวา) นายพันตำรวจ (มี เอก-โท-ตรี) นายร้อยตำรวจ (มี เอก-โท-ตรี)

(ค) ฝ่ายราชสำนัก มี ๓ แผนก คือ
มหาดเล็กหลวง- จางวาง (มี เอก-โท-ตรี) หัวหมื่น รองหัวหมื่น จ่าหุ้มแพร รองหุ้มแพร มหาดเล็กวิเศษ

ตำรวจวัง-สมเด็จพระตำรวจ (เป็นชั้นสูงสุด) พระตำรวจ (มี เอก-โท-ตรี) ขุนตำรวจ (มี เอก-โท-ตรี) นายตำรวจ (มี เอก-โท-ตรี) แผนกอื่นๆ-มหาเสวก (มีเอก-โท-ตรี) เสวก (มี เอก-โท- ตรี) รองเสวก (เอก-โท-ตรี)

นอกจากนี้ ยังมีตำแหน่งยศชั้นประทวน อีก เช่น ฝ่ายทหารเรียกว่า จ่านายสิบ นายสิบเอก-โท-ตรี เป็นต้น

ผู้มีฐานันดรทั้งยศและบรรดาศักดิ์ต้องใช้ตำแหน่งยศขึ้นต้น และรองจากนี้ไปถึงตำแหน่งบรรดาศักดิ์ก็ถึงนามเดิม นามสกุล ดังตัวอย่างต่อไปนี้:-

จอมพล สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวง (พระนามกรม)

นายพลเอก สมเด็จพระเจ้านองยาเธอ เจ้าฟ้า (พระนามเดิม)

มหาอำมาตย์นายก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา (พระนามกรม)

มหาอำมาตย์เอก พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่น (พระนามกรม)

มหาเสวกเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองศ์เจ้า (พระนามเดิม)

หัวหมื่น หม่อมเจ้า (พระนามเดิม)

มหาอำมาตย์นายก เจ้าพระยา (ราชทินนาม)

ร้อยโท (นามเดิม นามสกุล)

พระสงฆ์ ไม่มีตำแหน่ง ยศ มีแต่ตำแหน่งบรรดาศักดิ์ ดังอธิบายแล้ว

ข้อสังเกต ตามลักษณะเกี่ยวข้องทางไวยากรณ์ นับนามที่ขึ้นต้นเป็นนามหัวหน้า นามที่อยู่ข้างหลัง จัดเป็นนามวิกัติการก ประกอบนามข้างหน้าอีกทีหนึ่ง

๓. ลักษณนาม ที่ต้องใช้ตามราชาศัพท์มีอยู่ ๒ ชั้น คือพระราชาและ เจ้านาย สำหรับพระราชา หรือเจ้านายชั้นสูง ใช้ว่า ‘พระองค์’ เช่น พระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๒ พระองค์ พระราชโอรส ๓ พระองค์ เป็นต้น สำหรับเจ้านายชั้นรองลงมา ใช้ว่า ‘องค์’ เช่น เจ้านาย ๒ องค์ ๓ องค์ เป็นต้น

อนึ่ง ส่วนในร่างกาย เช่น พระหัตถ์ พระทนต์ เส้นพระเกศ ฯลฯ หรือของเสวย เครื่องใช้สอย ของพระราชาและเจ้านายที่สำคัญและใกล้ชิดก็ใช้ ลักษณนามว่า ‘องค์’ เช่น พระทนต์ ๒ องค์ (ซี่) พระศรี ๓ องค์ (คำ) พระที่นั่ง ๒ องค์ (หลัง) เป็นต้น

สำหรับบุคคลชั้นอื่น ใช้ตามปกติ ไม่มีเปลี่ยนแปลง

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร