ตำนานของพระนารายณ์

พระนารายณ์

นารายณ์, พระ
นาหราย นารายณ์
ถ้าใครดูหนังแขกพากย์ไทย เราก็จะได้ยินคำนี้อยู่เสมอละ
พระนารายณ์ หรือพระวิษณุ เป็นหนึ่งในพระเป็นเจ้าทั้งสมม อันได้แก่ พระพรหมา พระศิวะ และพระวิษณุ แต่เทพองค์ใดจะเป็นใหญ่กว่ากันนั้นสับสนจริงๆ ครับ พลอยทำให้เรื่องอื่นๆ เช่นเรื่องกำเนิดของพระเป็นเจ้าทั้งสามแตกกอไปเยอะ เรื่องนี้ผมจะขอนำไปกล่าวไว้ในเรื่อง พระพรหมา นะครับ แต่ก็เล่ายาวหน่อยละ ให้สมกับความสำคัญของพระเป็นเจ้าทั้งสาม คุณต่วยคงอนุญาตนะครับ ถ้าเขียนสั้นๆ สรุปเอาก็ไม่สมกับหนังสอื ต่วย’ตูน เท่านั้น แล้วก็เรื่องนี้เป็นเรื่องน่ารู้ น่าศรัทธา ทั้งในวรรณคดีไทยก็นำมากล่าวถึงบ่อยด้วยนะ
“โอมสิทธิสรวงศรีแกล้ว แผ้วมฤตยู เอางูเป็นแท่น แกว่นกลืนฟ้ากลืนดิน บินเอาครุฑมาขี่ สี่มือถือสังข์จักรคทาธรณี ภิรุกอวตาร อสูรแลงบาญทัก ททัคนีจรนาย”

เป็นบทสรรเสริญพระนารายณ์ ผมคัดมาจากลิลิตโอบการแช่งน้ำ ใจความบอกบุคลิกลักษณะของพระนารายณ์ได้ชัดเจนทีเดียวละ
ในหนังสือรำพันพิลาป ของสุนทรภู่ ก็มีว่า
“ขอเดชะพระนารายณ์อยู่สายสมุทร     พระโพกภุชงค์เฉลิมเสริมพระเศียร
มังกรสอดประสานสังวาลย์เวียน    สถิตเสถียรแท่นมหาวาสุกรี
ทรงจักรสังข์ทั้งคทาเทพาวุธ        เหยียบบ่าครุฑเที่ยวทวาทศราศี
ขอมหาอานุภาพปราบไพรี        อย่าให้มีมารขวางระคางระคาย”

ครับ ก็พรรณาถึงองค์พระนารายณ์เช่นเดียวกัน

คำว่า “นารายณ์” ท่านว่ามาจาก “นร” แปลว่า น้ำ “อายน” แปลว่า กระดิก สนิกันเป็นนารายณ์แปลว่า ผู้กระดิกในน้ำ ที่ได้ชื่อเช่นนี้ก็เพราะว่าพระนารายณ์เวลาทรงสร้างโลกก็สร้างในน้ำ บรรทมก็บรรทมในน้ำ ที่ว่าสร้างโลกนั้นที่จริงก็ยังเป็นปัญหาอยู่ ผมจะกล่าวในเรื่องพระพรหมาอีกทีครับ เพราะเทพทั้ง ๓ องค์นั่นแหละ ไม่ทราบแน่ชัดหรอกว่าเทพองค์ใดเป็นผู้สร้างโลกกันแน่

ถึงแม้ผมคิดจะเล่าเรื่องความเป็นเลิศ ของพระเป็นเจ้าทั้ง ๓ ไว้ในเรื่องพระพรหมา แต่จำเป็นต้องเอ่ยถึงตรงนี้สักนิด บรรดาผู้ที่นับถือพระนารายณ์เป็นใหญ่นั้น เรียกว่า ไวษณพนิกาย และถ้าจะว่าไปพระนารายณ์เป็นที่นับถือว่าเป็นใหญ่ในหมู่ชาวอินเดียกันมาก จะเห็นว่าที่ประเทศอินเดีย เทวสถานอันเป็นที่บูชาพระนารายณ์นั้นมีมากกว่าเทวสถานที่บูชาเทพองค์อื่นๆ ผู้ที่ศรัทธาแห่งองค์พระนารายณ์จะได้กุศลสำคัญอย่างหนึ่งดังข้อความในลิลิตโองการแช่งน้ำที่ผมคัดไว้ตอนต้น คือ “แผ้วมฤตยู” ก็หมายถึงผู้ที่มีความศรัทธามั่นอยู่ในพระนารายณ์นั้น จะพ้นจากอำนาจของพระยม คือรอดพ้นจากความตาย ก็มีใครอยากตายบ้างล่ะครับ ผมเองเขียนเรื่องนี้ก็พยายามเลี่ยงภาษาที่จะเป็นกันเองกับผู้อ่านอยู่เหมือนกัน กลัวเหมือนกันนี่นา

หน้าที่ของพระนารายณ์คือพิทักษ์โลก สงวนโลกปราบทรชนเหมือนรัฐมนตรีมหาดไทย เมื่อโลกเกิดยุคเข็ญพระนารายณ์ก็จะเสด็จลงมาปราบ ซึ่งเรียกว่า “อวตาร” อย่างที่เราทราบก็เรื่องรามเกียรติ์ ก็เป็นเรื่องพระนารายณ์อวตารลงเป็นพระรามปราบทศกัณฐ์ละ การอวตารแต่ละครั้งเรียกว่า “ปาง” ส่วนจำนวนปางในคัมภีร์ปุราณะต่างๆ ก็ไม่แน่นอน บ้างก็ว่า ๑๐ ปาง บ้างก็ว่า ๒๔ ปาง บ้างก็ว่านับไม่ถ้วน แต่ที่สำคัญๆ ก็มี ๑๐ ปางที่เราเรียกว่า “นารายณ์สิบปาง” เทียบกับพุทธศาสนาก็เห็นจะตรงกับคำว่า “ชาดก” ซึ่งก็หมายถึงเรื่องราวของพระพุทธองค์ในพระชาติต่างๆ ที่ทรงบำเพ็ญเพียรบารมีต่างๆ ก่อนที่จะทรงตรัสรู้ ชาดกนั้นก็มีอยู่ด้วยกันหลายร้อยเรื่อง แต่เรื่องที่สำคัญก็มี ๑๐ เรื่อง เรียกว่า “ทศชาติชาดก” ใน ๑๐ ปางของพระนารายณ์นั้น ปางที่สำคัญก็คือปางที่อวตารเป็นพระราม ส่วนใน ๑๐ ชาดกของพระพุทธเจ้านั้น ชาดกที่สำคัญที่สุดก็ตอนที่เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร
นารายยณ์ ๑๐ ปาง จะขอกล่าวเฉพาะปางต่างๆ ไว้เท่านั้น
๑. มัตสยาวตาร เป็นปลา
๒. กูรมาวตาร เป็นเต่า
๓. วราหาวตาร เป็นหมู
๔. นรสิงหาวตาร เป็นนรสิงห์ (ครึ่งคนครึ่งสิงห์)
๕. วามนาวตาร เป็นพราหมณ์เตี้ย
๖. ปรศุรามาวตาร  เป็นพราหมณ์ถือขวาน
๗.  รามาจันทราวตาร  เป็นพระราม
๘.  กฤษณาวตาร  เป็นท้าวกฤษณะ
๙. พุทธาวตาร  เป็นพระพุทธเจ้า
๑๐. กัลกยาวตาร  เป็นพระกัลกิ (ซึ่งจะมาในตอนปลายกลียุค)

พระนามของพระนารายณ์กล่าวกันว่ามีถึงพัน ในที่นี้ขอนำมากล่าวเฉพาะที่หาได้
ไวกูณฐนาถ แปลว่า จอมไวกูณฐ์
เกศวะ  แปลว่า มีผมอันงาม
มัธวะ  แปลว่า ประกอบด้วยน้ำผึ้ง หรือเกิดแต่มธุ
สวยยมภู แปลว่า เกิดเอง
ปิตามวร, ปิตามพร แปลว่า นุ่งเหลือง
ชนรรทนะ แปลว่า ผู้ทำให้คนไหว้
วิษวัมวร, วิษวัมพร  แปลว่า ผู้คุ้มครองโลก
หริ แปลว่า ผู้สงวน
อนันตะ แปลว่า ผู้ไม่มีที่สุด
มุกุนทะ แปลว่า ผู้ช่วย
บุรุษ แปลว่า ชาย
บุรุโษตตม, บุรุโษตม แปลว่า ยอดชาย
ยัญเญศวร  แปลว่า เป็นใหญ่เหนือการบูชา
อัจยฺต, อจุตตะ  แปลว่า ไม่มีเสื่อม
อนันตะไศยนะ แปลว่า นอนบนหลังอนันตนาค
จัตุรภุช  แปลว่า สี่แขน
ชลไศยิน  แปลว่า นอนในน้ำ
ลักษมีปติ  แปลว่า สามีพระลักษมี
มธุสูธน  แปลว่า  ผู้สังหารมธุ (อสูร)
ปัญจายุธ, ปัญจาวุธ  แปลว่า  ผู้ถืออาวุธ ๕ อย่าง
ปัทมนาภ  แปลว่า  สะดือบัว
ศารนคิน, ศารนคิปาณี  แปลว่า  ผู้ถือศรศารนาคะ
จักรปาณี  แปลว่า  ถือจักร
นระ  แปลว่า  คน

พระนารายณ์มี ๔ กร ทรงถือสิ่งต่างๆ ๕ อย่าง จึงได้นามว่า “ปัญจาวุธ” ดังที่ลิลิตโองการแช่งน้ำว่า “สี่มือถือสังข์จักรคทาธรณี” ซึ่งนับได้ก็มี ๕ อย่าง คือ
๑. สังข์ สังข์นี้ชื่อว่า “ปาญจะชันยะ”
๒. จักร มีชื่อว่า สุทรรศนะ หรือ วัชรนาภ
๓. คทา มีชื่อว่า เกโมทที
๔. ธรณี มักทำเป็นดอกบัว เพราะพราหมณ์มักเปรียบแผ่นดินดังดอกบัวหลวง

นอกจากอาวุธ ๔ อย่างนี้แล้ว พระนารายณ์ยังมีธนูและพระขรรค์อีก ธนูชื่อ ศารนคะ (แปลว่าทำด้วยเขาสัตว์) พระขรรค์ชื่อว่า นนทกะ (แปลว่าชื่นใจ)

พาหนะของพระนารายณ์ก็คือครุฑ เรื่องนี้มีประวัติครับ แล้วก็สนุกด้วย ขอเก็บมาเล่าย่อๆ ก็แล้วกันนะ

ครั้งหนึ่งนางกัทรุซึ่งเป็นแม่นางนาค กับนางวินตาซึ่งเป็นแม่ของครุฑ ทั้งสองนี้เป็นชายาของพระกัศยปเทพบิดร นางทั้งสองได้พนันกันในเรื่องสีของม้าของพระอาทิตย์ว่าเป็นสีอะไรแน่ นางกัทรุว่าสีดำ นางวินตาว่าสีขาว (บางตำนานว่าสีแดง และบางตำนานก็ว่าพนันกันในเรื่องสีของม้าที่ผุดขึ้นจากเกษียรสมุทร เมื่อครั้งเทวดากวนน้ำอมฤต) นัยว่านางกัทรุใช้เล่ห์กลให้นาค บุตรของตนไปพ่นพิษใส่ม้าพระอาทิตย์จนเป็นสีดำ นางวินตาจึงตกเป็นทาสของนางกัทรุตามกติกาที่พนันกัน ครุฑต้องการช่วยเหลือแม่ของตนก็ต้องไปเอาน้ำอมฤตที่อยู่ในพระจันทร์ ระหว่างทางที่ครุฑบินไปยังพระจันทร์นั้นมีเรื่องฝอยไปอีก แต่จะเก็บมาย่อเฉพาะตอนเดียวเพื่อให้เห็นว่าครุฑนี่เก่งจริงๆ คือ ครุฑเห็นเต่ากับช้างต่อสู้กัน เต่าตัวยาว ๘๐ โยชน์ ช้างยาว ๑๖๐ โยชน์ ครุฑใช้เท้าคีบช้างและเต่าไปกินได้อย่างสบาย

เอาเป็นว่าในที่สุดครุฑก็ได้น้ำอมฤตสมใจ แต่ว่าตอนกลับนี่สิ ครุฑต้องต่อสู้กับเทวดาอีก แต่ก็เอาชนะได้จนในที่สุดต่อสู้กับพระนารายณ์ เสมอกันครับ มีข้อตกลงกันว่า เมื่อพระนารายณ์เสด็จไปไหน ครุฑจะต้องให้ขี่ไป เมื่อพระนารายณ์เสด็จประทับที่ใด ครุฑจะต้องเกาะอยู่ใกล้ๆ

นี่ละครับ ประวัติพาหนะของพระนารายณ์ละ

ตรงนี้ แทรกความรู้รอบตัวสักนิด อดไม่ได้ครับ ตามคติพราหมณ์นั้นถือว่าพระนารายณ์อวตารลงมาเป็นกษัตริย์ เพื่อปราบยุคเข็ญแผ่นดิน บำรุงสุขประชากร เป็นอย่างไตรภูมิพระร่วงซึ่งเป็นคติทางศาสนา ก็แบ่งเทพเป็นสามคือ
๑. สมมุติเทพ ได้แก่ พระมหากษัตริย์
๒. วิสุทธิเทพ ได้แก่ พระอรหันต์
๓. อุบัติเทพ ได้แก่ เทวดาทั้งหลาย

ฉะนั้นเราจะเห็นว่า เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปที่ใดหรือประทับที่ใด ก็ต้องอัญเชิญธงมหาราช และธงมหาราชนี่ก็มีรูปครุฑอยู่ด้วย

ในข้อสัญญาระหว่างครุฑกับพระนารายณ์นั้น คือพระนารายณ์ประทานน้ำอมฤตให้ และประทานพรให้จับนาคกินเป็นอาหารได้ ในวรรณคดีไทยหลายเรื่องละครับ พรรณนาถึงครุฑจับนาคอยู่เสมอ

“เรือครุฑยุดนาคหิ้ว ลิ่วลอยมาพาผันผยอง”

จากกาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้ากุ้ง ซึ่งเป็นแบบเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ก็เลยขอฝอยเรื่องนี้ให้สนุกกันหน่อยละ เพราะวิธีครุฑจับนาคกินมีเชิงไหวเชิงพริบดีแท้ คือครุฑน่ะตัวใหญ่ออก ในไตรภูมิพระร่วงบอกว่าตัวหัวหน้า ตัวโต ๕๐ โยชน์ แผ่หางกางปีกวัดได้ข้างละ ๕๐ โยชน์ ปากยาว ๙ โยชน์ ตีนยาว ๑๒ โยชน์ แรงลมจากปีกก็เหมือนพายุเข้าไปแล้ว น้ำจึงเป็นรอยบุ๋ม ข้างๆ นูนขึ้น ครุฑก็เห็นนาคลอยอยู่ ครุฑก็ใช้เท้าจับหัวนาคไปกิน นาคก็เกือบจะสูญพันธุ์ ก็ต้องพากันสัมมนากันเรื่องมหาภัยนี้ มีมติว่า เมื่อจะไปไหนก็ให้คาบก้อนหินโตๆ ไว้ เมื่อครุฑกระพือปีก แล้วจับหัวนาค ตอนนี้หัวนาคก็หนักซิครับ ครุฑก็ไม่สามารถที่จะพานาคบินสู่เบื้องบนนภากาศได้ทันท่วงที น้ำที่ไหลนูนอยู่ช้าๆ ก็ไหลกลับมาตามเดิม ครุฑว่ายน้ำไม่เป็นก็จมน้ำตาย ครุฑก็ทำท่าจะสูญพันธุ์ ก็จัดให้มีการสัมมนากันบ้าง แก้ปัญหาได้ครับ คือแทนที่จะใช้เท้าจับหัวนาคก็มาจับที่หางนาค ก็นาคตัวออกยาวนี่ แม้น้ำจะไหลกลับ ครุฑก็อยู่พ้นน้ำแล้วนี่ นาคเองก็กลายเป็นลำบากเพราะแรงดึงแรงถ่วง แรงดึงจากครุฑแรงถ่วงจากก้อนหินที่หัวห้อยคาบอยู่ สายตัวแทบขาดละ ในที่สุดก็ต้องปล่อยก้อนหิน ครุฑจึงจับนาคไปกินได้อย่างสบาย ในเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่จึงให้นาคไปอยู่ในทะเลไกลพู้น

“ทะเลนี้มิใช่แคว้นแดนมนุษย์ ปรอทแร่แม่เหล็กก็มีมาก ชื่อว่า นาควารินสินธุ์สมุทร ฝูงนาคมาอาศัยด้วยไกลครุฑ”

ส่วนครุฑได้น้ำอมฤตไปนั้น นาคก็ไม่ได้กินหรอกครับ คือครุฑ พระอินทร์และพระแม่ธรณีนัดแนะวางอุบายกัน คือครุฑเอาน้ำอมฤตไปวางไว้บนหญ้าคา แล้วรับแม่ของตนไป บรรดานาคก็เลื้อยไปหวังจะดื่มน้ำอมฤต พระอินทร์ซึ่งหายตัวอยู่ก็ปัดน้ำอมฤติหก แม่พระธรณีก็รีบดูดจนหมด ฝูงนาคยังเสียดาย ก็เลยใช้ลิ้นเลียหญ้าคา หญ้าคาก็บาดลิ้นจนกลายเป็นลิ้นสองแฉก ฉะนั้นบรรดางูซึ่งถือกันว่ามีบรรพบุรุษเป็นนาคก็เลยมีลิ้นเป็น ๒ แฉก อย่างที่เราเห็นๆ กันอยู่นี่ละครับ

เป็นอันว่าพระนารายณ์มีครุฑเป็นพาหนะ มีพระยาอนันตนาคราชเป็นบัลลังก์ มีที่สถิตเรียกว่า ไวกูณฐ์ (ซึ่งโดยปกติพระวิษณุทรงบรรทม ณ ที่ประทับนี้อยู่เป็นนิจ) ณ เกษียรสมุทร (ทะเลน้ำนม) รูปพระนารายณ์เขียนกันเป็นบุรุษหนุ่ม พระวรกายเป็นสีดำ (เรื่องสีเดี๋ยวจะกล่าวต่อครับ) เครื่องประดับอย่างกษัตริย์ เสื้อทรงสีเหลืองมีสี่กร ทรงศัตราวุธต่างๆ ดังที่กล่าวแล้ว มีแก้วทับทรวงชื่อ เกาสตุ๊ก มีวลัยแก้วชื่อ สยมันตก

พระยาอนันตนาคราชเป็นใหญ่ในแคว้นบาดาล มีศีรษะ ๑ พัน ท่านว่าเป็นผู้หนุนโลกไว้ เมื่อพลิกตัวหรือกระดิกหางจะทำให้แผ่นดินไหว (บางตำนานว่าปลาอนนต์หนุนโลก และพลิกตัวทำให้แผ่นดินไหว) ส่วนไวกูณฐ์นั้นเป็นทองทั้งแผ่น กว้างแปดหมื่นโยชน์ วิมานล้วนแล้วไปด้วยรัตนะ เสาและช่อฟ้าใบระกาเป็นเพชรพลอย ส่วนพังพานแห่งพระยาอนันตนาคราชนั้นเรียกว่า มณีทวีป กล่าวกันว่าเมื่อสิ้นกัปสิ้นกัลป์ พระยาอนันตนาคราชนี่แหละที่พ่นไฟล้างโลก

พระลักษมีชายาแห่งพระนารายณ์นั้น ประทับอยู่เบื้องขวาแห่งวิมานไวกูณฐ์ นัยว่าพระกายของพระลักษมีนั้นมีกลิ่นหอมดังดอกบังหลวง และหอมฟุ้งไปไกลได้ถึงแปดร้อยโยชน์

สีพระกายของพระนารายณ์นั้นเปลี่ยนไปตามยุคครับ เรื่องยุคนี่ผมเห็นจะต้องเล่าอีกแล้วละครับ เพราะศัพท์นี้ปรากฎในวรรณคดีไทยหลายต่อหลายเรื่องรู้ไว้บ้างจะเป็นไรไป เผื่อผู้อ่านเป็นนักเรียนจะได้พลอยเข้าถึงวรรณคดีที่ต้องอดทนเรียนอยู่

กำหนดยุคของโลกตามลัทธิพราหมณ์นั้นมี ๔ ยุค ในยุคหนึ่งๆ มีเวลาซึ่งเรียกว่า “สนธยา” (พลบ) กับ “สนธยางศะ” (ส่วนแห่งพลบ) ยุคทั้ง ๔ มีดังนี้
๑. กฤตยุค      ๔,๐๐๐ ปีสวรรค์
สนธยา                ๔๐๐ ปีสวรรค์
สนธยางศ์            ๔๐๐ ปีสวรรค์
รวม                 ๔,๘๐๐ ปีสวรรค์

๒. ไตรดายุค (หรือเตรดายุค)
สนธยา            ๓,๐๐๐ ปีสวรรค์
สนธยางศ์           ๓๐๐  ปีสวรรค์
รวม                ๓,๖๐๐ ปีสวรรค์

๓.  ทวาปรยุค    ๒,๐๐๐ ปีสวรรค์
สนธยา                  ๒๐๐ ปีสวรรค์
สนธยางศ์              ๒๐๐ ปีสวรรค์
รวม                    ๒,๔๐๐ ปีสวรรค์

๔.  กลียุค           ๑,๐๐๐ ปีสวรรค์
สนธยา                   ๑๐๐ ปีสวรรค์
สนธยางศ์               ๑๐๐ ปีสวรรค์
รวม                     ๑,๒๐๐ ปีสวรรค์

ปีสวรรค์กับปีมนุษย์ต่างกันนะครับ เห็นจะต้องใช้มาตราแล้วเทียบบัญญัติไตรยางศืตามวิชาเลขคณิตแล้วละครับ

มาตราส่วนนั้นมีดังนี้ครับ
๑ ปีมนุษย์ = ๑ วันวรรค์
๑ ปีมนุษย์นั้นมี ๓๖๐ วัน นี่นับทางจันทรคตินะครับ โบราณเขานับทางจันทรคติกันมาก ฉะนั้นอย่าไปถือว่า ๑ ปีมี ๓๖๕ วัน อย่างที่นักเรียนท่องๆ กันอยู่ เพราะนี่เป็นการนับทางสุริยคติ

ทีนี้ลองคิดเลขกันเองก็แล้วกัน ผมจะสรุปเลยว่า
กฤตยุค มี ๔,๘๐๐ ปีสวรรค์ = ๑,๗๒๘,๐๐๐ ปีมนุษย์
ไตรดายุค มี ๓๖,๐๐๐ ปีสวรรค์ = ๑,๒๙๖,๐๐๐ ปีมนุษย์
ทวาปรยุค มี ๒,๔๐๐ ปีสวรรค์ = ๘๖๔,๐๐๐ ปีมนุษย์
กลียุค มี ๑,๒๐๐ ปีสวรรค์ = ๔๓๒,๐๐๐ ปีมนุษย์
สี่ยุครวมกันได้ ๑๒,๐๐๐ ปีสวรรค์ หรือ ๔,๓๒๐,๐๐๐ ปีมนุษย์ เรียกว่า ๑ มหายุค

๑,๐๐๐ มหายุค เป็น ๑ วันของพระพรหมา หรือคืนหนึ่งของพระพรหมา คือกลางวันและกลางคืนนานเท่ากัน

๑ วันของพระพรหมา เรียกว่า ๑ กัลป์ หรือ ๑ กัป ซึ่งหมายความว่า พระพรหมาสร้างโลก แล้วก็บรรทมหลับไปคืนหนึ่งของพระพรหมา แล้วก็ตื่นซึ่งก็เป็นเวลาที่ดลกสิ้นสลาย พระพรหมาก็สร้างอีกนั่นแหละ

ก็เห็นแล้วนะครับ ว่า ๑ กัลป์นานเท่าไร สองคูณกันเองเถอะ
เรื่องนี้ก็มีในพุทธศาสนา ซึ่งมีอยู่ในเรื่อง ไตรภูมิพระร่วง ซึ่งแน่นอนเนื้อเรื่องออกจะมีคติทางพราหมณ์เข้าไปเคล้าด้วย แล้วก็เรื่องไตรภูมิพระร่วงนี้ อ่านเข้าใจยากชะมัด ภาษาสำนวนลีลาเก๋ากึ๊กจริงๆ ผมต้องอาศัยเล่าเรื่องไตรภูมิพระร่วงของเสถียรโกเศศช่วย พอจะจับเค้าได้อยู่หรอก

เริ่มกันตั้งแต่คำว่า มหากัป ซึ่งถือว่ามีความนานเหลือที่จะนั่งนับหรือนอนนับได้ ถือเป็นระยะเวลาระหว่างที่ดลกธาตุหรือสากลจักรวาลเกิดและทำลายไปคราวหนึ่งๆ นี่ก็เหมือนคติทางพราหมณ์ ทีนี้มหากัปนั่นแหละ แบ่งออกเป็น ๔ อสงไขย (แปลว่าเหลือที่จะนับ) อสงไขยที่ ๑ คือระยะเวลาตอนที่โลกถึงแก่ความประลัยไปเพราะไฟน้ำลมมาล้างให้หมดสิ้นไป อสงไขยที่ ๒ ถึงระยะเวลาที่โลกธาตุทลายพินาศแล้ว ยังมีแต่ความว่างเปล่าอยู่ อสงไขยที่ ๓ เป็นระยะเวลาที่โลกธาตุเกิดใหม่ อสงไขยที่ ๔ คือ ระยะเวลาที่โลกธาตุมีขึ้นจนกว่าจะถึงเวลาทลายอีก

เวลานานของ ๑ มหากัป ท่านเล่นวิธีอุปมาให้เรานึกเอาเอง คือกล่าวว่าภูเขาลูกหนึ่งสูงได้โยชน์หนึ่ง วัดโดยรอบได้ ๓ โยชน์ “ถึงร้อยปีเอาผ้าทิพย์อันอ่อนบางดังควันมากวาดภูเขาแต่ละคาบ เมื่อใดภูเขานั้นราบดังแผ่นดินจึงเรียกว่ามหากัปหนึ่งแล” เรื่องเล่นเทียบกันเชิงให้นึกเอาเองนี่ของฝรั่งก็มี เช่นกล่าวว่า “สูงไกลไปทางทิศเหนือ ในแดนแห่ง Svithjod มีภูเขาหินอยู่เขาหนึ่ง สูงได้ ๑ ร้อยไมล์ กว้างได้ ๑๐๐ ไมล์ ทุกระยะพันปีมีนกน้อยตัวหนึ่งเอาจงอยปากมาลับที่เขานี่ครั้งหนึ่ง ถ้าหินนั้นสึกหรอไปจนหมดสิ้น ก็เท่ากับวันหนึ่งของกัปหนึ่ง (single day of eternity)”

แต่ก็มีนักบรมปราชญ์ช่างเล่น มานั่งคิดเป็นจำนวนปีเหมือนกัน นัยว่าได้ ๑ อสงไขยกัป = เลขหนึ่ง ๑ ตัว มีเลขศูนย์ตาม ๑๗ ตัว แต่ก็ยังมีคนอุตส่าห์ไม่เห็นด้วยอีกแน่ะ บอกว่าต้องตามด้วยเลขศูนย์อีก ๙๗ ตัว และบางคนก็ว่าตามด้วย ๑๖๘ ตัว จึงจะถูกต้องถ่องแท้ ส่วนในปทานุกรม ภาษาบาลี-อังกฤษของชิลเดอร์ว่า มีเลขศูนย์พ่วงถึง ๑๔๐ ตัว

ก็แปลกันดื้อๆ ว่า นานเหลือคณานับกันเท่านั้นเอง เมื่อมีใครกระซิบเสียงกระเส่าว่า ฉันรักเธอชั่วกัปชั่วกัลป์ จะเชื่อไหวหรือ หมอนั่นตายแล้วเกิดไม่รู้กี่ชาติกันละ

นอกจากนี้ ในทางพุทธศาสนาตามไตรภูมิพระร่วงน่ะ ยังว่าแปลกไปอีกวิธีหนึ่ง คือมี
สุญกัป คือ กัปว่างไม่มีพระพุทธเจ้ามาตรัส และ พุทธกัป คือกัปที่มีพระพุทธเจ้ามาตรัส และในพุทธกัปนี่เองมีดังนี้
สารกัป มีพระพุทธเจ้ามาตรัส ๑ องค์ คือ พระพุทธโกณฑัญญ
มัณฑกัป มีพระพุทธเจ้ามาตรัส ๒ องค์ คือ พระติสสสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระพุทธปุสส
วรกัป  มีพระพุทธเจ้ามาตรัส ๓ องค์ คือ พระพุทธอโนมทัสสี พระธรรมทัสสี และพระปิยทัสสี
สารมณฑกัป  มีพระพุทธเจ้ามาตรัส ๔ องค์ คือ พระตัณหังกร พระเมธังกร พระสรณังกร และพระทีปังกร
ภัทรกัป  มีพระพุทธเจ้ามาตรัส ๕ องค์ มีพระพุทธเจ้ามาตรัสแล้ว ๔ องค์ คือ พระกกุสันโธ พระโกนาคมน์ พระกัสสป พระสมณโคดม (คือในปัจจุบันนี้) และจะมาตรัสภายหน้าคือ พระศรีอาริยเมตตรัย

ภัทรกัปน่ะ มีความนานถึง ๒๓๖ ล้านปี แต่นี่ก็ล่วงมาแล้ว ๑๕๑ ล้านปี (ภัทรกัปก็ต้องหมายถึงระยะเวลาของพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์นะ เฉพาะพระสมณโคดม ทางคัมภีร์ว่ามีระยะเวลา ๕,๐๐๐ ปีเท่านั้น)

ว่าถึงลัทธิพราหมณ์ต่อไป เทียบกันไปเทียบกันมาด้วยตัวเลขให้หัวหมุนเล่นดู ตอนนี้เป็นตอนภัทรกัป และเป็นสมัยพระสมณโคดมตามพุทธศาสนา ซึ่งตรงกับกลียุคในลัทธิศาสนาพราหมณ์ กลียุคนี้ ท่านว่าเริ่มตั้งแต่ ๒๕๖๐ ปีก่อนพุทธศักราชแล้ว ปีพุทธศักราชนี้ คือ พ.ศ. ๒๕๒๙ ก็แปลว่ากลียุคล่วงไปแล้ว ๒,๕๖๐+๒,๕๒๙=๕,๐๘๙ ปี กลียุคมี ๔๓๒,๐๐๐ ปี เพราะฉะนั้นก็เหลือเวลาอีก ๔๓๒,๐๐๐-๕,๐๘๙=๔๒๖,๙๑๑ ปี ซึ่งก็เป็นเวลาสิ้นโลกละครับ พระพรหมาก็สร้างโลกใหม่ ก็เหลือเวลาอีกหลายปีละครับ ประเทศไทยก็ยังคงอยู่ อย่าได้ห่วงกันนักเลยครับ

ที่ผมกล่าวถึงเรื่องยุคน่ะ ที่จริงก็มุ่งแทรกเกร็ดไว้เพราะในวรรณคดีไทยหลายสิบเรื่องพรรณนาเรื่องนี้แทรกอยู่เสมอ ผู้ที่เป็นนักเรียนอ่านเรื่องนี้จะได้ร้อง “อ๋อ” หรือ “โอย” ก็ไม่รู้ละ แต่ก็เกี่ยวข้องกับพระนารายณ์ครับ เพราะฉวีวรรณของพระนารายณ์เปลี่ยนไปตามยุคครับ คือเป็นดังนี้
๑. ยุคที่ ๑ กฤตยุค คนทำความดี มีศีลธรรม ถือความสัตย์ พระวรกายของพระนารายณ์มีสีขาวเพราะความบริสุทธิ์ย่อมจับพระฉวีวรรณ
๒. ยุคที่ ๒ ไตรดายุค ความดีของมนุษย์ลดลงไป ๑ ใน ๔ สีพระกายของพระนารายณ์จึงเป็นสีแดง
๓. ยุคที่ ๓ ทวาปรยุค ความดีของมนุษย์ลดไป ๒ ใน ๔ สีพระกายของพระนารายณ์จึงเป็นสีเหลือง
๔. ยุคที่ ๔ กลียุค ความดีของมนุษย์จะเหลือ ¼ สีพระกายของพระนารายณ์จึงเป็นสีดำ หรือสีดอกอัญชัน
ก็ปัจจุบันนี้ อยู่ในกลียุค สีพระกายของพระนารายณ์จึงมีสีดำอย่างที่ว่าไว้ละครับ
เป็นอันว่าก็ขอจบเรื่องเทพพระนารายณ์ละ

ที่มา:รองศาสตราจารย์ประจักษ์  ประภาพิทยากร

เรื่องราวของพระทักษะ

พระทักษะทักษะ, พระ
เทวดาองค์นี้ เราๆ ไม่ค่อยได้เห็น เอ๊ย ได้ยิน ได้อ่านพบกันนักหรอกครับ ในวรรณคดีไทยก็เห็นแต่ในลิลิตนารายณ์สิบปางของ ร.๖ เท่านั้น แต่คำ “ทักษะ” นี่สิถูกกรอกหูบ่อยนักละ โดยเฉพาะในหมู่ครูนักเรียน ได้ยินบ่อยจนเอียนละ เช่น

วิชาทักษสัมพันธ์
นักเรียนจะต้องมีทักษะในการฟัง พูด อ่าน เขียน
คำว่า “ทักษะ” นี้แปลว่าความเชี่ยวชาญ ฉลาด และเทพพระทักษะก็มีความตามนัยนี้เหมือนกัน ท่านจัดเป็นเทพกลุ่มอาทิตย์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นลักษณะของตะวันในแง่สร้างสรรค์ ว่างั้น

ส่วนอัตชีวประวัติของพระทักษะมีน้อยจังครับ ถึงงั้นก็เถอะพระองค์ออกจะมีความสำคัญ ในความสำคัญๆ นั้น พอจะสรุปเป็นความสำคัญที่สำคัญก็คือเป็นพ่อตาของเทพใหญ่ๆ หลายองค์ทีเดียว

พระทักษะเป็นเทวบุตรของพระพรหม บ้างก็ว่าพระทักษะเป็นบุตรพระอทิติ แต่บางแห่งกลับกัน พระอทิติเป็นบุตรพระทักษะ บ้างก็ว่าพระทักษะเป็นบุตรของพระอาทิตย์ ก็เลยสับสนเรื่องพระบิดามาก ส่วนพระมารดาจึงไม่ต้องรู้กันละ

พระทักษะมีพระธิดาถึง ๕๒ องค์ด้วยกัน บางคัมภีร์จัดพระธิดาของพระทักษะเป็นชุดๆ

ในหนังสือเทวกำเนิด ของพระยาสัจจาภิรมย์ ให้คำแปลบรรดาพระธิดาไว้ด้วย ก็เลยจดๆ มาเล่าให้อีกต่อละครับ เพราะเทพพระทักษะนี้แหล่งที่ค้นหายากจังเลย

พระทักษะมีชายาชื่อนางประสูติ และมีพระธิดากับนางประสูติ ๒๔ องค์ ดังนี้
๑. นางศรัทธา (เชื่อ)
๒. นางลักษมี (สมบัติ)
๓. นางธฤติ (หนักแน่น)
๔. นางดุษฎี (ยินยอม)
๕. นางปุษฎี (จำเริญ)
๖. นางเมธา (เชาวน์ไว)
๗. นางกิริยา (ทำ,จงรัก)
๘. นางพุทธิ (ฉลาด)
๙. นางสิชชา (เสน่หา)
๑๐. นางวปุ (ตัว)
๑๑. นางศานติ (สงบ)
๑๒. นางสิทธิ (สำเร็จ)
๑๓. นางเกียรติ (ชมเชย)

บรรดาพระธิดาทั้ง ๑๓ องค์นี้ ๑๐ ใน ๑๓ เป็นชายาของพระยม แต่จะเป็นใครบ้างหนังสือเค้าไม่ได้บอกไว้ผมก็เลยไม่รู้
๑๔. นางชยาติ (เลื่องลือ) เป็นชายาของมนุภฤคุ
๑๕. นางสตี (จริง) เป็นชายาของพระอิศวร
๑๖. นางสภูติ (เหมาะมั่น) เป็นชายาของมุนีมรีจิ
๑๗. นางสมฤดี (สติ) เป็นชายาของมุนีอังคีรส
๑๘. นางปรีติ (อิ่มใจ) เป็นชายาของมุนีปุลัสตยะ
๑๙. นางกษมา (อดทน) เป็นชายาของมุนีปุลหะ
๒๐. นางสันติ (ถ่อม) เป็นชายาของมุนีกรตะ
๒๑. นางอนสูยา (กรุณา) เป็นชายาของมุนีอัตริ
๒๒. นางอูรชา (ซาบซ่าน) เป็นชายาของมุนีวสิษฐ์
๒๓. นางสวาหา (บูชา) เป็นชายาของมุนีวหนิ
๒๔. นางสวธา (พลี) เป็นชายาของมุนีปิตฤ
ทั้ง ๒๔ นางหรือองค์นี้ เป็นพระธิดา ๑ ชุดแล้วนะครับ แล้วพระทักษะยังมีพระธิดาอีก ๑ ชุดครับ แต่ไม่ทราบว่าเกิดจากพระชายาองค์ไหน ซึ่งพระธิดาองค์นี้ชื่อเป็นดาวนักษัตรทั้งนั้น และล้วนเป็นพระชายาของพระจันทร์ดังที่ผมเล่าไว้ในเรื่องพระจันทร์แล้ว เป็นแต่ตอนนั้นไม่ได้วงเล็บคำแปลไว้ด้วย คราวนี้ขอไล่ตามลำดับ ใส่คำแปลไว้ด้วย ก็จากหนังสือเล่มเดียวกันนั่นแหละ คือ
๑. อัสยุชหรืออัศวินี (ดาวม้า หรือดาวหางหนู)
๒. ภรณี (ดาวแม่ไก่)
๓. กฤตติกา (ดาวลูกไก่ หรือดาวธง)
๔. โรหิณี (ดาวจมูกม้า หรือดาวคางหมู)
๕. มิคสิร (ดาวหัวเนื้อ)
๖. อัททา หรืออารทรา (ดาวฉัตร)
๗. ปุนัพพสุ (ดาวเรือ)
๘. ปุษย (ดาวปุยฝ้าย)
๙. อสิลัส (ดาวพ้อม หรือดาวเรือน)
๑๐. มาฆะ (ดาววานร)
๑๑. บุพผัคคุณีหรือบุพพผลคุณ (ดาวเพดานหน้า หรือดาวแรดตัวผู้)
๑๒. อุตตรผัคคุณีหรืออุตตรผลคุณ (ดาวเพดานหลัง หรือดาวแรดตัวเมีย)
๑๓. หัตถะ (ดาวฝ่ามือ)
๑๔. จิตติ (ดาวตาจระเข้ หรือดาวต่อมน้ำ)
๑๕. สาติหรือสวาศิ (ดาวกะออม หรือดาวดวงแก้ว)
๑๖. วิสาขะ (ดาวหนองลาด หรือดาวเหมือง หรือดาวฆ้อง)
๑๗. อนุราช (ดาวหงอนนาค หรือดาวธนู)
๑๘. เชฐฐะ (ดาวงาช้าง หรือดาวคอช้าง)
๑๙. มูละ (ดาวช้างน้อย หรือดาวสะดือนาค)
๒๐. บุพพาสาทา (ดาวปากนก ดาวช้างตัวผู้ หรือสัปคับ)
๒๑. อุตตราสาทา หรืออุตตราษาฒะ (ดาวครุฑ หรือดาวช้างตัวเมีย หรือดาวแตรงอน)
๒๒. สวนะหรือศราพนะ (ดาวหลักชัย ดาวหามผี ดาวโลง
๒๓. ธนิฏฐ (ดาวกา หรือดาวไซ)
๒๔. ศตภิษก (ดาวมังกร หรือดาวทิมทอง)
๒๕. ปูรวภัทร (ดาวราชสีห์ตัวผู้ หรือดาวตัวทราย)
๒๖. อุตตรภัทร (ดาวราชสีห์ตัวเมีย หรือดาวไม้เท้า)
๒๗. เรวดี (ดาวปลาตะเพียน หรือดาวหญิงมีครรภ์)

มีเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพระทักษะเรื่องเดียวเท่านั้น ก็คือท่านมีหัวเป็นแพะ สาเหตุก็เพราะท่านมีลูกเขยเป็นถึงพระอิศวรนั่นแหละ ครั้งหนึ่งท่านทำพิธียัญญกรรม เชิญเทวดาทั้งหมดเว้นแต่พระอิศวร ด้วยเห็นว่าพระอิศวรนั้นชอบแต่งกายไม่มีบุคลิก ชอบคบหากับปีศาจ เอาหัวกะโหลกคนมาเป็นสังวาล ก็เป็นเรื่องพ่อตาและลูกเขยนั่นแหละ แต่ผู้ที่เดือดร้อนก็คือพระสตีซึ่งเป็นชายาของพระอิศวร พระสตีไปขอร้องพ่อ พ่อก็กลับหมิ่นประมาทพระอิศวรอีก พระสตีเสียใจจึงกลั้นใจตาย พระอิศวรก็กริ้วสิครับ เสด็จไปในงานนั้น ทรงพระแสงธนูศรยิงพระทักษะหัวขาดและยิงเทวดาบาดเจ็บไปมาก

ตอนที่พระอิศวรเสด็จไปในงานพิธีนี้ บางตำนานก็ว่าท่านแบ่งภาคไป คือแบ่งภาคเป็น พระวีรภัทร มีรูปร่างน่ากลัว ดุร้ายยิ่ง แล้วก็ไปยิงด้วยธนูนั่นแหละ แต่บางตำนานก็ว่าไม่ได้ยิงด้วยธนูหรอก ตัดศีรษะพระทักษะกันเลยแล้วโยนลงไปในไฟ พิธีนั้นไฟก็ไหม้ศีรษะพระทักษะหมด เหล่าเทวดาชั้นผู้ใหญ่พากันทูลขอร้อง พระอิศวรก็ประทานพรให้เทวดาที่บาดเจ็บกลับคืนดีตามเดิม ส่วนพระทักษณะนั้นกลับเอาหัวแพะมาต่อแทน พระทักาะจึงมีหัวเป็นแพะไป ที่พระอิศวรเอาหัวแพะมาต่อนั้น นัยว่าเป็นการประจานพ่อตาว่าโงเหมือนแพะ

นี่ละครับ ที่ผมงงอยู่ “ทักษะ” นั้นแปลว่าฉลาดอย่างที่กล่าวไว้ตอนต้น แล้ว ไงกลายเป็นโง่เหมือนแพะไปก็ไม่รู้ได้

ส่วนเรื่องพระสตีที่ตายไปนั้น พระอิศวรก็ต้องทรงเสียพระทัยเป็นธรรมดาละครับ แต่ไม่ต้องห่วงหรอกครับ พระสตีต่อมาเกิดใหม่เป็นธิดาท้าวหิมวัต (คือเขาหิมาลัย) มีนามว่าพระอุมา และก็ได้กับพระอิศวรอีกนั่นแหละ
เรื่องของพระทักษะก็เห็นจะเล่ากันได้เพียงเท่านี้เองครับ

ที่มา:รองศาสตราจารย์ประจักษ์  ประภาพิทยากร

เรื่องเล่าเกี่ยวกับพระจันทร์

พระจันทร์เทวา

จันทร์, พระ
“ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นต้นอโศกที่ไหนใหญ่โตงามเหมือนกับที่อยู่บนลานนั้น ใบซึ่งคอยสั่นไหวอยู่เสมอ เห็นเป็นเลื่อมพรายเงินเมื่อต้องแสงจันทร์ เมื่อลมโชยมาก็มีเสียงปานว่าหนุ่มสาวกระซิบกัน” (กามนิต)

ฮันนั่นแน่  ผมขึ้นไตเติ้ลได้เซ็กซี่สมกับเรื่องพระจันทร์ เอาให้หนักแน่นอีกก็ได้ครับ กวีชายสีแห่งอินเดียได้ประพันธ์โศลกเป็นภาษาฮินดีไว้ตอนหนึ่งว่า

คห ทมฺเช อนฺเทเศ มาเห ชนี
คห พ ผลกฺ ทีนิโอ อาเห ชนี
“บางครั้งเจ้าก็นั่งมองดูหญิงยอดพิศวาสของเจ้า ผู้มีใบหน้าเปรียบดังดวงจันทร์ แล้วก็แหงนหน้ามองดูดวงจันทร์ พลางถอนใจใหญ่”

แต่อย่าผิดหวังนะครับ ถึงแม้ผมจะขึ้นต้นหวานซึ้งยังงี้ก็เถอะ ตามคติของอินเดีย พระจันทร์เป็นเทวดาผู้ชายครับ ไม่ใช่เพศหญิงหรอกน่า

พระจันทร์เป็นโอรสของพระอัตริมุนี กับพระนางอนสูยา และพระจันทร์นี่เจ้าชู้ไม่ใช่เล่น มีชายาถึง ๒๗ องค์แน่ะ และชื่อชายาพระจันทร์ล้วนเป็นชื่อดาวนักษัตรทั้งสิ้น คือ อัสสยุชะ ภรณี กัตติกา โรหิณี มิคสิระ อัททา ปนัพพสุ ผุสสะ อลิเลสะ มหะ ปุพพผัคคุณี อุตตรผัคคุณี หัตถุ จิตตะ สาติ วิสาขะ อนุราฮะ เชกฐะ มูละ ปุพพาสาฬหะ อุตตราสาฬหะ สาวณะ ธนิฏฐะ สตภิสชะ ปุพพภัททปทะ อุตตรภัททปทะ และเรวดี

บรรดาชายาทั้ง ๒๗ องค์ของพระจันทร์ล้วนเป็นพระธิดาของพระทักษาทั้งสิ้น ว่าถึงพระทักษะนี้ก็แปลก มีลูกผู้หญิงมากจังเลย คือมีถึง ๕๒ องค์ แล้วก็คงสวยๆ ทั้งนั้น เทพเจ้าองค์ใหญ่ๆ ต่างก้ได้ธิดาพระทักษา อย่างพระอิศวรนั่นก็เถอะก่อนที่จะได้พระอุมานั้น เคยได้กับพระสตีมาหนหนึ่งแล้ว และพระสตีนี่แหละเป็นธิดาพระทักษะเหมือนกัน

เรื่องกำเนิดพระจันทร์มีเล่ากันต่างๆ ตามธรรมเนียมศาสนาพราหมณ์ละครับ ในนารายณ์สิบปาง ปางกูรมาวตาร พระจันทร์นั้นเกิดจากการกวนน้ำอมฤต สาเหตุแห่งการกวนน้ำอย่างว่านั้น เป็นเพราะพระอินทร์ถูกฤษีทุรวาสสาป ฤทธิ์อำนาจจึงถอยลงจึงต้องจัดพิธีกวนเกษียรสมุทรตามคำแนะนำของพระนารายณ์ โดยเริ่มจากผูกมิตรกับยักษ์ก่อนแล้วช่วยกันเก็บตัวยาจากที่ต่างๆ โยนลงในทะเลน้ำนม เอาภูเขามันทรเป็นที่กวน เอาพญานาคพัน ให้ยักษ์ดึงหัวนาค เทวดาดังหางนาค จนในที่สุดเกิดสิ่งต่างๆ มากมายครับ ที่สำคัญๆ ก็มี
๑. โค ชื่อว่าสุรภี เป็นโคสารพัดนึก นึกอะไรก็ได้
๒. สุรา ชื่อว่าวารุณี เป็นเทพีแห่งเหล้า
๓. ปาริชาติ เป็นไม้วิเศษ พระอินทร์เอาไปปลูกไว้ในสวนนันทวัน เป็นต้นไม้ที่ใครดมแล้วทำให้ระลึกชาติได้ และถ้าใครเอามาประดับผมก็จะเป็นเสน่ห์
๔. อัปสร  นางฟ้า ไม่มีเทวดาองค์ใดรับไปโดยเฉพาะเลยเป็นนางที่บรรดาเทวดาใช้ฝีปากเกี้ยวเล่น
๕. ดวงจันทร์ พระอิศวรเอาไปทำปิ่นปักผม แต่เรื่องนี้ก็ยุ่งๆ อีก…เดี๋ยวจะเล่าต่อไป
๖. พิษ ฝูงนาคสูบเอาไว้ นาคเป็นบรรพบุรุษของงู งูจึงมีพิษอยู่ทุกวันนี้ไงล่ะ
๗. พระลักษมี สวยงามมากครับ พระนารายณ์เลยเอาไปเป็นมเหสีตามระเบียบ
๘. ธันวันตี ทูนผอบน้ำอมฤต ซึ่งเป็นยอดปรารถนาที่ตั้งใจกันกวนนั่นละ

นารายณ์ปางนี้ ดูๆ ไปก็เห็นว่าเทวดาขี้โกงชะมัด หลอกยักษ์ทั้งเรื่อง เช่น ให้ยักษ์ดึงหัวนาค นาคเจ็บคายพิษใส่ยักษ์ พอได้น้ำอมฤตมา ก็ไม่ได้ดื่มอีก ซึ่งจะเล่าต่อไป

มีตำนานนพเคราะห์ทางโหราศาสตร์กล่าวว่า พระอิศวรได้สร้างพระจันทร์ขึ้นโดยใช้นางฟ้า ๑๕ นางร่ายพระเวทให้นางฟ้านั้นละเอียดลง แล้วห่อด้วยผ้าสีนวล ประพรมด้วยน้ำอมฤต ก็บังเกิดเทพบุตรขึ้น มีนามกรว่าพระจันทร์

ทางฝ่ายจีน (ขออนุญาตแทรกชาติอื่นบ้างเถอะ จะได้เปรียบเทียบกันว่าใครจะมีความคิดลึกล้ำอย่างไร) มีเรื่องเล่าว่าปันกู๋ซึ่งเป็นมนุษย์ ได้เป็นผู้เอาสิ่งสลักก้อนหินให้เป็นรูปต่างๆ โขดหินที่ปันกู๋สลักนั้นกลายเป็นพระอาทิตย์ พระจันทร์ และดวงดาวต่างๆ

ส่วนคัมภีร์ศาสนาคริสต์เล่าว่า พระเจ้าได้สร้างสรรพสิ่งต่างๆ ขึ้น ในวันแรกสร้างวัน วันที่สองสร้างฟ้าอากาศ วันที่สามสร้างแผ่นดินและพืชพันธุ์ ธัญญาหาร วันที่ ๔ สร้างพระอาทิตย์ พระจันทร์ วันที่ ๕ สร้างนก สร้างปลา วันที่ ๖ สร้างมนุษย์คนแรก วันที่ ๗ หยุดพัก

พระเจ้าตรัสว่า “จงมีดวงสว่างบนพื้นอากาศ เพื่อแยกวันออกจากคืน ให้ดวงสว่างเป็นหมายกำหนดฤดู วัน ปี และให้ดวงสว่างบนพื้นฟ้าอากาศ เพื่อส่องสว่างบนแผ่นดิน” และอีกตอน “พระเจ้าได้ทรงสร้างดวงสว่างขนาดใหญ่สองดวง ให้ดวงใหญ่ครองวัน ดวงเล็กครองคืน พระองค์ทรงสร้างดวงดาวต่างๆ ด้วย พระเจ้าทรงตั้งดวงสว่างเหล่านี้ไว้บนฟ้าอากาศ ให้ส่องสว่างบนแผ่นดิน ให้ครองวันและคืน และให้แยกความสว่างออกจากความมืด พระเจ้าทรงเห็นว่าดี มีเวลาเย็น เวลาเช้า คือวันที่”

ส่วนลัทธิชินโตของญี่ปุ่นว่า เทพบุตร อิสานะยิ โนมิกิโตะ ได้สร้างพระจันทร์ขึ้นด้วยวิธีเอาน้ำล้างพระบาทเบื้องขวา เป็นผลให้เกิดเทพธิดาองค์หนึ่งมีนามว่า ซูกิโยมิโนโกโตะ ซึ่งก็คือเจ้าแม่ดวงจันทร์ ญี่ปุ่นถือว่าพระจันทร์เป็นเพศหญิงนะครับ ของกรีกก็ว่าเป็นเพศหญิง โดยเล่าว่า เทพซิวส์ (zeus) บางท่านอ่านออกเสียง ซุส ซึ่งเป็นเทพสูงสุด ได้มีอนุภรรยาชื่อว่า ลาโตนา นางฮีรา มเหสีเอกหึง เลยขับไล่เธอไป นางลาโตนาได้ไปคลอดบุตรที่เกาะดีโลส บุตรที่คลอดเป็นฝาแฝด คือพระอาทิตย์กับพระจันทร์ พระอาทิตย์เป็นเทพบุตร พระจันทร์เป็นเทพธิดา

เรื่องพระจันทร์มีข้างขึ้นข้างแรมนี่ ทางฮินดูมีตำนานเล่าว่า พระจันทร์ก็เหมือนคนเรา คือมีความลำเอียง บรรดาชายาของพระจันทร์ทั้งหลายนั้น พระจันทร์รักนางโรหิณีมากที่สุด ชายาอีกเยอะก็ย่อมหึงเป็นเหมือนกัน เข้าทำนอง “อันโศกอื่นหมื่นแสนในแดนโลก มันไม่โศกลึกซึ้งเหมือนหึงผัว ถึงเสียทองของรักสักเท่าตัว ค่อยยังชั่วไม่เสียดายเท่าชายเชือน” จึงเดินขบวนไปฟ้องพ่อคือพระทักษะ พระทักษะกริ้วลูกเขย เลยสาปให้พระจันทร์เป็นฝีในท้อง (ก็วัณโรคนั่นแหละ) พระจันทร์ก็เลยผอมลงๆ ไม่มีเรี่ยวไม่มีแรง ชายาทั้งหลายก็ใจอ่อนสิครับ เลยไปขอร้องพ่อให้ถอนคำสาป พระทักษาว่าผิดเหลี่ยมเทวดา เอาเถอะผ่อนผันให้ คือให้มีอ้วนผอมสลับกัน หมายความว่าบางวันก็มีเรี่ยว บางวันก็ไม่มีแรง พวกชาวโลกก็เห็นพระจันทร์มีกลม มีเสี้ยวเป็นข้างขึ้นข้างแรมนั่นแหละครับ

แต่นั่นแหละ อีกคัมภีร์ปุราณะหนึ่ง เล่าเรื่องนี้ต่างออกไป คือเกี่ยวกับพระคเณศที่เล่าไว้แล้ว ตอนพระคเณศเสวยขนมต้มเป็นเหตุให้ท้องแตก แล้วจับขนมต้มยัดใส่พุงนั้น พระจันทร์เห็นการกระทำนี้ก็อดหัวเราะไม่ได้ พระคเณสโกรธ เอางาขว้างไปติดพระจันทร์แน่น ก็เลยเกิดความมืดแก่โลก พระอินทร์และเทวดาจอมวุ่นก็ไปขอโทษให้ พระคเณศจึงยอมถอนงาออก แต่ก็ต้องรับโทษแหว่งไป ตลอดทุกครึ่งเดือน ก็ข้างแรมนั่นแหละครับ

มีอีกเรื่องหนึ่ง แปลกแฮะ ถึงแม้จะถือว่าพระจันทร์เป็นของสวยของงามแต่ของพราหมณ์ห้ามดูพระจันทร์ในวันที่เรียกว่า คเณศจตุรถี หรือเรียกว่า วินายกจตุรถี ตกวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๐ เป็นวันที่บูชาพระคเณศ วันนี้ห้ามชาวอินเดียมองพระจันทร์ ถ้าใครมองจะได้รับความซวย และต้องแก้ความซวยด้วยการด่าพ่อด่าแม่ผู้อื่นเล่นให้สำราญความซวยก็จะกลายเป็นความเฮงซวย ก็เรื่องนี้แหละ กล่าวว่าพระจันทร์พลอยถูกพระคเณศลงโทษด้วย เลยกลายเป็นแหว่งเป็นเสี้ยวอย่างข้างต้นที่เล่าแล้ว

มีเกร็ดๆ น่ารู้อีกเรื่องครับ คือพระจันทร์ทำพิธีราชสูยะแล้ว ทำให้มีฤทธิ์เก่งขึ้นอีก ทีนี้ก็กำเริบไปลักพานางดาราผู้เป็นพระมเหสีพระพฤหัสบดี พระพฤหัสบดีเป็นดาวครูใจดีไปขอด้วยสันติวิธีก็ไม่ยอมคืน พระพรหมไปช่วยตักเตือนพระจันทร์ก็มิเชื่ออีก ตอนนี้สิครับถึงได้เกิดรบกันขึ้น พระศุกร์นั้นไม่ชอบกับพระพฤหัสบดีอยู่แล้ว คือแตกแยกเป็นพรรคเป็นหมู่อย่างมนุษย์เราๆ ละ พระศุกร์ก็เข้าข้างพระจันทร์ บรรดาพวกทานพ แทตย์ อสูร ซึ่งเป็นศิษย์ของพระศุกร์ ก็เข้าข้างพระจันทร์ พระอินทร์และเทวดาอื่นๆ เข้าข้างพระพฤหัสบดี สงครามเทวดาครั้งนั้นสะเทือนไปทั้งไตรภพ พระอิศวรต้องไปช่วยพระพฤหัสบดี พระอิศวรเอาตรีฟันพระจันทร์ ในที่สุดแห่งเรื่องพระพรหมได้ไปห้ามทัพ และบังคับให้พระจันทร์ส่งนางดาราคืนให้พระพฤหัสบดี แต่ว่าตอนนี้นางดารามีครรภ์กับพระจันทร์บ้างแล้วละ ต่อมาก็เกิดกุมารมีนามว่าพระพุธ ส่วนพระจันทร์ก็เกิดความว้าเหว่เอ้กา จึงไปอ้อนวอนพระอิศาวร พระอิศวรสงสารเอาพระจันทร์มาเป็นปิ่นปักผม (เห็นไหมครับ ผิดกับตอนกวนน้ำอมฤตที่เล่าไว้แล้ว) เข้าไปในหมู่สังคมเทวดา พระอิศวรจึงได้นามว่า จันทรเศขร แปลว่าทัดพระจันทร์เป็นปิ่น ส่วนพระจันทร์ได้นามกรว่า ศิวเศขร แปลว่าเป็นปิ่นพระศิวะ

นามกรของพระจันทร์นั้นมีมากละครับ เป็นต้นว่าศศิ (ลายเหมือนกระต่าย) ศศิธร (ทรงไว้ซึ่งรูปกระต่าย) นิศากร รัชนิกร รัชนิกฤต (ผู้สร้างกลางคืน) นักษัตรนาถ (เป็นใหญ่ในนักษัตร) ศีตนารีจ (มีแสงเย็น) สิตางศุ (มีสีขาว) มฤคางกะ (ลายเหมือนกวาง) กุมุทบดี (เป็นใหญ่ในดอกบัว) เศวตวาชี (มีม้าขาว)

ตำนานเกี่ยวกับเกิดจันทรคราสสุริยคราสก็น่ารู้ครับ ที่เราเรียกว่าราหูอมจันทร์นั่นแล ผมคัดจากไตรภูมิพระร่วงให้ขลังเล่นดีกว่านะครับ

“เมืองอุตรกุรุทวีป พระอสูรสองตนๆ หนึ่งชื่อพรหมทัต ตนหนึ่งชื่อราหู เป็นพระญาแก่หมู่อสูรทั้งหลายอันอยู่ในเมืองอุตรกุรุทวีปนั้นแล พระญาอสูรผู้ชื่อว่าราหูนั้นมีอำนาจและมีกำลังกล้าหาญกว่าพระญาอสูรทั้งหลายในสวรรค์ โดยสูงได้ ๙๘,๐๐๐ โยชน์ แลอ้อมรอบหัวโดยใหญ่ ๘๐๐ โยชน์ แลหัวเขากว้างได้ ๑,๒๐๐ โยชน์ แต่ข้างแลข้างได้ ๒,๖๐๐ โยชน์ แลอ้อมรอบหัวโดยใหญ่ ๓๐๐ โยชน์ แลจมูกโดยยาวได้ ๓๐๐ โยชน์ แต่หว่างคิ้วก็ดีหว่างตาก็ดี ได้ ๙๐ โยชน์ แต่หัวคิ้วมาถึงหางคิ้วได้ ๒๐๐ โยชน์ แต่ปากโดยกว้างได้ ๒๐๐ โยชน์ โดยลึกได้ ๓๐๐ โยชน์ โดยกว้างฝ่ามือได้ ๒๐๐ โยชน์ ขนตีน ขนมือ ขนนั้นแลยาวได้ ๓ โยชน์ ครั้นเมื่อวันเดือนค้างแลตะวันงามแล ราหูนั้นมีหน้าที่จะมักเห็นพระอาทิตย์ และพระจันทร์อันงามดังนั้น แลมักมีใจหึง มันจึงขึ้นเหนือเขายุคนธรนั้นแล ก็นั่งท่าพระอาทิตย์อันอยู่ในปราสาทอันสถิตย์อยู่ในเกวียนทองพานทองแลประดับที่ท้ายแก้วอันชื่อว่า อินทนิล แลมีรัศมีได้พัน ๑ อันงามนักแล มีม้าสินธพชาติอัน ๑ เข็นเกวียนทองนั้นไปล่องอากาศเลียบรอบขอบพระสิเนรุราชได้ด้วยปลายเขายุคนธร แลพระจันทร์อยู่ในปราสาทอันมีเกวียนมณีรัตน แลมีม้าสินธพชาติ ๕๐๐ เข็นไปล่วงอากาศต่ำกว่าทางพระอาทิตย์นั้น โยชน์หนึ่ง ครั้นไปราหูอยู่นั้น ลางคาบราหูอ้าปากออกเอาพระอาทิตย์ และพระจันทร์จับเข้าไปในปาก ลางคาบเอานิ้วมือบังไว้ ลางคาบเอาไว้ใต้รักแร้ กระทำดังนั้น อันว่ารัศมีพระอาทิตย์ก็ดี พระจันทร์ก็ดีเศร้าหมอง มิงามได้เลย และคนทั้งหลายว่าคราสแล”

ครับ สำนวนไตรภูมิขลังดีจังเลย และเรื่องนี้ทางคติพุทธท่านก็ว่าไว้เหมือนกัน เป็นทำนองว่าพระจันทร์ได้รำลึกถึงพระพุทธองค์ พระพุทธองค์มีพุทธบัณฑูรแก่ราหูว่า

“ตถาคตํ อรหนฺตํ จนฺทิมา สรณํ คโต ราหุ
จนุทํ ปมุญฺจสฺสุ พุทธโลกานุกมฺ ปกาติ”

ความว่า ขอให้พระราหูจงปล่อยพระจันทร์ มิฉะนั้นศีรษะจะแตกเป็น ๗ ภาค ทุกวันนี้คาถาดังกล่าวนี้พระสงฆ์ไทยยังใช้สวดเมื่อมีจันทรคราส เรียกว่า สวด “จันทรปริต”

ส่วนสาเหตุที่ต้องเกิดจัทรคราสสุริยคราสนั้นบางคัมภีร์เล่าว่า ก็เรื่องเดียวกับ ตอนกวนน้ำอมฤตที่เล่ามาข้างต้นนั่นแหละครับ นัยว่าตอนที่พระนารายณ์แปลงเป็นผู้หญิงหลอกยักษ์นั้น ราหูเป็นอสูรเหมือนกัน แต่ตะแกออกจะฉลาดไม่ใช่เล่น ได้แปลงเป็นเทวดาเข้าไปดื่มนํ้าอมฤตด้วย พระอาทิตย์กับพระจันทร์ขี้ฟ้องอยู่สักหน่อย ได้ไปฟ้ององค์วิษณุหรือนารายณ์นั่นเอง พระวิษณุก็ขว้างจักรเสี่ยงทายไป โดนราหูขาดครึ่งท่อน แต่เพราะเหตุดื่มน้ำอมฤตแล้วจึงไม่ตาย ราหูจึงโกรธพระอาทิตย์พระจันทร์มาก เห็นที่ไหนเป็นต้องทำให้เกิดคราส โดยการจับมาหนีบใต้รักแกร้ให้ฉุนเล่น หรือไม่ก็อมเล่นอย่างที่เราเห็นภาพราหูครึ่งท่อนอมอาทิตย์หรือจันทร์อยู่นั่นแล

มีนิยายทำนองนี้อยู่ในหนังสือเฉลิมไตรภพ ซึ่งเป็นหนังสือหาอ่านยากมากครับเข้าใจว่าเป็นนิยายพื้นเมืองของเราเอง หนังสือเรื่องนี้แต่งเป็นกาพย์ เป็นสำนวนเก่ามาก จะเล่าเฉพาะเรื่องคราสเท่านั้น คือในอดีตกาลมีเศรษฐีท่านหนึ่งชื่อ หัสวิสัย มีภรรยาชื่อว่าสุนทรา มีบุตร ๓ คน

“บุตรชายสามคน อาทิตย์เป็นต้น ที่สองจันทรา ที่สามราหู เด็กอยู่นักหนา กับญาติกา ทาสาหลายคน”

ต่อมาท่านเศรษฐีตายไป ฝ่ายบุตรทั้งสามได้ทำบุญตักบาตร พระอาทิตย์ใช้ขันทอง พระจันทร์ใช้ขันเงิน และต่างก็อธิษฐานขอให้เกิดเป็นพระอาทิตย์และพระจันทร์ พระราหูโกรธมากที่พี่ๆ เอาภาชนะดีๆ ไปใช้ และก็อธิษฐานดีๆ ไว้ทั้งนั้น เลยคว้ากระทายมาเป็นภาชนะตักบาตร และอธิษฐานว่าให้มีร่างกายใหญ่โตมโหฬาร บดบังรัศมีอาทิตย์จันทร์ได้ และเมื่อตายไป พี่น้องทั้งสามได้เป็นดังที่อธิษฐาน ราหูนั้นยังมีใจเจ็บแค้นอยู่ เมื่อเห็นพระอาทิตย์พระจันทร์เป็นต้องทำให้เกิดคราสให้คนตกใจเล่น

คติชาวบ้านฝรั่งเล่าต่างไป  และไม่เห็นจะสนุกเลย คือเล่ามีสุนัขป่าตัวมหึมาสองตัว คอยไล่จับอาทิตย์และจันทร์ เมื่อทันก็จับอมเล่น เลยเกิดคราส

ส่วนตามคติจีน  ค่อนข้างเซ็กซี่น่ารักครับ มีปรากฎอยู่ในเรื่อง ไคเก็ค อันเป็นพงศาวดารการสร้างโลกของจีนเขา มีเรื่องเล่าว่า พระอาทิตย์นั้นชื่อคัย แซ่ซึง ส่วนพระจันทร์ชื่อบี้  แซ่ถัง เป็นสามีภรรยากัน พระจันทร์ของจีนเป็นเพศหญิงนะครับ สามีภรรยาคู่นี้รักกันมาก ไม่ค่อยยอมจากกันหรอก อ้อ ทั้งคู่เป็นเทวดาเพศชายเพศหญิงนั่นแหละ ไม่ใช่คนอย่างเราๆ หรอก เมื่อไม่ยอมจากก็ไม่ค่อยยอมทำหน้าที่ให้แสงสว่างแก่มนุษย์เรา แต่เกรงบารมีของคุณต่อเป็งชาน้าติอ่องสีฮ่องเต้ จึงต้องจำใจจากกันไปทำหน้าที่ให้แสงสว่างแก่มนุษย์ ก็ทำหน้าที่ต่างเวลากันนี่นาถึงรักกัมากก็ไม่เจอกันหรอก เหมือนผัวเมียทำงานกะเช้ากะกลางคืนในโลกมนุษย์ ทีนี้ถ้าพระอาทิตย์โคจรเร็วหน่อยเจอพระจันทร์เข้า ด้วยความรักก็ต้องจู๋จี๋ฉอเลาะคลอเคลียกันบ้างละ ก็ทำให้เกิดจันทรคราส แต่ถ้าพระจันทร์โคจรเดินเร็วทันพระอาทิตย์ก็ทำให้เกิดสุริยคราส มนุษย์เมืองจีนก็ต้องจุดประทัด ตีม้าฬ่อให้เกิดการตกใจ จากกันไปทำหน้าที่ของตน

ความเชื่อของจีนเล่าอีกแง่หนึ่งว่า พระจันทร์นั้นเป็นผู้หญิง เดิมทีก็เป็นมนุษย์รูปงามนามเพราะ ชื่อนางเสี้ยงหงอ หรือ จังออ เป็นภริยาของเฮาหงี ขุนนางฝ่ายทหารของพระเจ้าเงี้ยมเต้ (ในเรื่องไคเภ็คชื่อว่าเพ่งหงี) ภายหลังนางได้ไปลักเอาน้ำอมฤตของแม่เจ้าไซ้อ่วงบ๊อ เทพมาตาเอามากิน นางจึงไม่ตาย ไม่แก่เฒ่า คงมีความงามอยู่เสมอเลยเหาะไปอยู่บนพระจันทร์ เมื่อถึงฤดูทำนาทุกปี นางก้เอาน้ำอมฤตประพรมลงมาในมนุษย์โลก ต้นข้าวได้น้ำอมฤตก็งอกงาม ออกดอก ออกรวง เป็นผลนำความอุดมสมบูรณ์มาให้ มนุษย์ให้เมืองจีนจึงนำข้าวมาทำเป็นขนมโก๋ แล้วทำพิธีขอบคุณพระจันทร์ เรียกว่า ประเพณีไหว้พระจันทร์ ของจีนละครับ เขาเรียกวันนี้ว่า โป้ยง่วย ตองชิว ตรงกับเพ็ญเดือน ๘ ของเขา เทียบกับเราก็ราวเดือน ๑๐ พิธีนี้ถือกันว่าเป็นเรื่องของผู้หญิง เพราะต้องการให้สวยเหมือนพระจันทร์ หรือถ้ามีลูกก็ให้สวยเหมือนพระจันทร์ แต่เดี๋ยวนี้ก็รู้กันแล้วว่าดวงจันทร์เป็นหลุมเป็นบ่อ จะอยากให้สวยเหมือนพระจันทร์อยู่อีกหรือเปล่าหนอ

มีเรื่องน่ารู้อีกละครับ  ผมอดแถมไม่ได้สักที ก็ที่เรามองดูพระจันทร์แล้วเห็นเป็นอะไรต่อมิอะไรอยู่ในดวงจันทร์นั่นแหละ ของเรานั้นเป็นเป็นรูปกระต่ายเป็นส่วนมาก แต่ก็เยอะที่เป็นเป็นกวาง เป็นยายตำข้าว เป็นดอกบัว เป็นแม่ชีกำลังกลั่นเหล้า การกลั่นเหล้าทำไมเกณฑ์ให้แม่ชีก็ไม่รู้ นี่ผมว่าต่างภาคก็เห็นผิดกันไปนะครับ

การที่เราเห็นพระจันทร์เป็นรูปกระต่ายนั้น มีนิยายชาดกทำนองคติชาวบ้านเล่าว่า ในอดีตกาลสมัยที่สัตว์พูดได้ ณ ป่าแห่งหนึ่งมีสัตว์ที่เป็นเพื่อนกัน ๔ ตัว คือ กระต่าย ลิง สุนัขจิ้งจอก และนาค สัตว์ทั้ง ๔ นี้ลงคะแนนกันให้กระต่ายเป็นหัวหน้า ครั้นวันหนึ่งซึ่งเป็นวันใกล้วันอุโบสถ กระต่ายชักชวนเพื่อนบริจาคทานก่อนกินอาหารเช้า ต่างก็เห็นด้วย ครั้นได้วันพระสัตว์ทั้งหลายก็เตรียมอาหารกันเพื่อบริจาคทาน กระต่ายก็ให้รู้สึกวิตก เพราะอาหารของตนเป็นหญ้าแล้วใครเล่าจะรับทานนี้ กระต่ายก็ตั้งปณิธานว่า ถ้าใครต้องการเนื้อของตนก็ยินยอมจะให้เรื่องก็ร้อนถึงพระอินทร์ พระอินทร์ได้แปลงกายเป็นพราหมณ์เที่ยวภิกขาจาร พระอินทร์ผ่านการทดลองน้ำใจสัตว์ต่างๆ แล้ว ก็มาถึงกระต่ายละ พราหมณ์ก็บอกว่าหญ้าไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ต้องการเนื้อว่ะ กระต่ายก็กระโดดเข้ากองไฟทันที แต่ไฟนั้นหาร้อนไม่ พระอินทร์ก็เล่าความจริงให้ฟังพร้อมกับเหาะไปบนท้องฟ้า สกัดแท่งหินนิมิตเป็นรูปกระต่ายไว้ในดวงจันทร์เพื่อเป็นอนุสรณ์ความดีของกระต่าย เราจึงเห็นกระต่ายในวงจันทร์นั่นแหละ กวีไทยถึงได้กล่าวถึงเรื่องกระต่ายในวงจันทร์กันนัก

“อันเณรน้องเหมือนกระต่ายหมายชมจันทร์     อยู่ดินหรือจะดั้นขึ้นไปได้
แต่ตรอมตรอมผอมร่างก็บางไป                     ด้วยทางไกลกลางหาวคราวปอง
ได้องค์อินทร์แลจะสิ้นสำเร็จตรม                  จะได้ชมกระต่ายสวรรค์จันทร์ผยอง
อินทราอุปมาเหมือนสายทอง                       พิมน้องเหมือนกระต่ายในวงจันทร์”
(ขุนช้าง-ขุนแผน)

ชาวอินเดียบางแคว้น  เห็นพระจันทร์ไปอีกลักษณะหนึ่ง มีนิยายเล่ากันว่าครั้งหนึ่ง ณ แคว้นแห่งหนึ่งของอินเดีย มีเจ้าหญิงผู้ทรงโฉมงดงามมาก แม้จะมีเจ้าชายแคว้นต่างๆ มาสู่ขอ เจ้าหญิงผู้มีนามกรว่าราหะก็ไม่ยอม ครั้งเสด็จปู่ถามเหตุผลพระนางราหะก็ทูลว่าต้องการชายที่รูปงามเหมือนพระจันทร์ ทั้งๆ ที่เสด็จปู่ก็ทรงรู้ดีว่าจะไปหาที่ไหนเล่า แต่ก็มิบังคับ ฝ่ายเจ้าหญิงราหะก็เฝ้าชมภาพความงามของดวงจันทร์ในบ่อน้ำอยู่เรื่อย คืนหนึ่งมีแสงเฮ้ากวงพวยพุ่งจากบ่อน้ำไปสู่พระจันทร์ และทันใดก็มีชายแคระวิ่งตามแสงนั้นลงมา เจ้าหญิงก็เรียกเสด็จปู่ให้มาดูแต่ท่านก็ทรงชรา หูตามัว หาเห็นอะไรไม่ จนในที่สุดชายแคระมาถึงที่เจ้าหญิงและเสด็จปู่ประทับอยู่ ชายแคระก็บอกว่าเป็นตัวแทนของพระจันทร์ มาเชิญเจ้าหญิงไปแต่งงานด้วย เสด็จปู่ไม่เชื่อ ชายแคระโกรธจึงพาทั้งเจ้าหญิงและเสด็จปู่ไปสู่โลกพระจันทร์ทันที เจ้าหญิงได้แต่งงานกับพระจันทร์สมความปรารถนา ส่วนเสด็จปู่ก็หาความสุขด้วยการทะเลาะกับชายแคระ เมื่อทะเลาะกันแล้วเสด็จปู่ก็จะมีความสุข หัวเราะเบิกบาน แต่ชายแคระไม่ยอมสนุกด้วย เข้าบ้านปิดประตูหมด ด้วยเหตุนี้ละครับ จึงเข้าใจกันว่าที่เดือดมืดนั้นเป็นเพราะชายแคระปิดประตูหมด และเวลาที่พระจันทร์กระจ่าง ชาวอินเดียบางแคว้นเขาจะเห็นพระจันทร์เป็นรูปชายเฒ่ากำลังหัวเราะก๊ากๆ อยู่ยังกะกำลังอ่าน ต่วย’ตูน อยู่งั้นแหละ ชายเฒ่าก็คือ เสด็จปู่ละ

ส่วนอียิปต์ไอยคุปต์นั่น เห็นพระจันทร์เป็นรูปเทพธิดากำลังให้ลูกกินนม ที่เห็นดังนี้ก็มีเทพนิยายสนุกๆ อีกนั่นแหละ เขาถือว่าพระจันทร์เป็นเพศหญิงครับ และเป็นมเหสีของพระอาทิตย์ แต่ว่าพระอาทิตย์ของอียิปต์นี่ประหลาด มีเทพประจำหลายองค์ครับ คือ โฮรุส (Horus) เป็นเทพเจ้าแห่งอาทิตย์อุทัย รา (Ra) เป็นเทพเจ้าแห่งอาทิตย์ทรงกลด โอสิริส (Osiris) เป็นเทพเจ้าแห่งอาทิตย์อัสดง ฮาเตอร์ (Hater) เป็นเทพเจ้าแห่งความสวยงามและองค์นี้เป็นเพศหญิงครับ และถือว่าเป็นเจ้าแม่แห่งศิลปวิทยาการด้วย ส่วนเทพเจ้าแห่งอาทิตย์ที่ครองประเทศอียิปต์นั้น ชื่อ อัมมอน (Ammon)

ครับ เทพเจ้าฮาเตอร์ซึ่งเป็นเทพแห่งอาทิตย์อัสดงนี่แหละ ออกจะสำคัญอยู่ เพราะเป็นเทพเจ้าแห่งความตายด้วยคือมีหน้าที่พิพากษาคนที่ตายว่าจะต้องรับเวรรับกรรม รับบุญรับบาปตกนรกขึ้นสวรรค์กันอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่มีเวลาที่ได้อยู่กับลูกกับเมียสิครับ อ่อ ชายาของพระอาทิตย์องค์นี้มีชื่อว่า อิสิส (Isis) บุตรชายชื่อโอริส (Oris) อิสิสนี้แหละคือพระจันทร์อียิปต์ละ เธอว้าเหว่มาก โดยเฉพาะในเวลาค่ำคืนที่ฮาเตอร์ต้องไปพิพากษาคนตายเธอก็กอดลูกให้กินนม คนอียิปต์จึงเห็นพระจันทร์เป็นรูปอย่างที่ว่าละครับ

ส่วนชาวจีน เห็นพระจันทร์มีรูปต่างๆ กันอยู่เช่นเห็นเป็นชายกำลังตัดฟืนบ้าง เห็นเป็นรูปกระต่ายเหมือนของเราบ้าง และเชื่อหนักเข้าไปอีกว่ากระต่ายบนโลกมีแต่ตัวเมียทั้งนั้น ที่มันมีลูกได้ก็เพราะกระต่ายตัวผู้ในวงจันทร์นั่นแหละ ผสมพันธุ์กันได้อย่างกะปลากัดแน่ะ แต่ก็มีบางพวกเห็นเป็นกบ ก็สืบมาจากนิยายไหว้พระจันทร์อย่างที่เล่าไว้ละครับ นางจังออที่ขโมยน้ำอมฤตินั่นแหละ นัยว่าถูกเจ้าแม่ตะวันตกสาปให้เป็นกบ ก็เลยทำให้มนุษย์ในเมืองจีนเห็นกบในวงจันทร์ละครับ

พวกไทยใหญ่ ก็เห็นพระจันทร์เป็นรูปกระต่ายเหมือนกันมา แต่ว่ามีเรื่องพิสดารออกไปอีก เขาว่ากระต่ายตัวนี้คลุมตัวด้วยเงินอยู่ในเรือนแก้ว ซึ่งมีหน้าต่าง ๑๕ บาน กระต่ายตัวนี้เก่งครับ มันจะเปิดหน้าต่างวันละบาน ซึ่งทำให้พระจันทร์ส่องแสงอย่างวันขึ้น ๑ ค่ำละครับ และจะเปิดวันละบานจนครบ ๑๕ บาน ก็ตรงกับวันเพ็ญละ จากนั้นกระต่ายก็ปิดวันละบานอีกแหละ ทีนี้ก็เป็นข้างแรมละ

ส่วนฝรั่งบางพวก เห็นพระจันทร์เป็นรูปเด็กสองคนถือถังน้ำอยู่ เหตุที่เห็นเช่นนี้ก็ต้องมีนายประกอบจนได้ซิน่า คือเล่ากันว่าคืนหนึ่งมนิ (Mani) ผู้เป็นสารถีของพระจันทร์กำลังขับรถอยู่นั้น ได้เห็นเด็กสองคนบนโลก เด็กสองคนนี้มีนามว่า ฮิวกิ และ ฟิลล์ กำลังถูกพ่อแม่บังคับให้ตักน้ำ โถ น่าสงสารนะ สารถีพระจันทร์จึงทรงรถเอาเด็กสองคนนั้นไปอยู่ในดวงจันทร์ซะเลย เรื่องจึงทำให้ฝรั่งเขาเห็นเด็กสองคนนั่นถือถังน้ำอยู่ในดวงจันทร์ เด็กนั่นคงเมื่อยแย่ ไม่รู้จักวางถังน้ำหรือโยนถังน้ำทิ้งเลยนิ

ครับ ผมเล่าเรื่องพระจันทร์แขก ไงแตกกอไปถึงอะไรต่อมิอะไรก็ไม่รู้ ผมเป็นเป็นนิยายสนุกนี่นา ก็คนเราก็ขึ้นไปบนดวงจันทร์กันแล้ว ตำนานเหล่านี้กำลังจะสูญผมก็เลยบันทึกไว้ใน ต่วย’ตูน ไงล่ะ ต่วย’ตูฯ นี้ยั่งยืนนะครับ อีก ๑๐๐ ปีฉลอง ๓๐๐ ปีกรุงเทพฯ ก็ยังอยู่ได้ เมื่อถึงร้อยปีข้างหน้าคนเราก็ไปสร้างบ้านสร้างเรือนบนพระจันทร์กันแล้ว ก็จะได้ซื้อ ต่วย’ตูนไปอ่านเพื่อรู้ประวัติศาสตร์เก๋ากึ๊กของโลกพระจันทร์ไงล่ะ เรียกว่าชาวโลกพระจันทร์ก็ยังเป็นแฟนต่วย’ตูนก็ยังไหว

ผมต้องหันกลับมาเทวดานุกรมแขกอีกนิดครับ จะได้จบเรื่องเสียที ตามคัมภีร์ปุราณะ พระจันทร์ทรงรถมีล้อ ๓ ล้อ เทียมด้วยม้าสีขาวดังดอกมะลิ ๑๐ ม้าด้วยกัน พระจันทร์เป็นบุรุษงามผิวขาว มีรัศมีกายสีขาว ร่างของท่านสะโอดสะอง ทรงอาภรณ์แก้วประพาสอย่างกษัตริย์ อ้อบางเกร็ดหรือบางตำนานว่ากันว่าพระจันทร์เป็นเทพเจ้ารักษาโลกประจำทิศที่เรียกว่าโลกบาล (ดังที่เล่าไปแล้ว) พระจันทร์นั้นรักษาทิศอีสานครับ นามของโลกบาลที่รักษาทิศนี้นั้นมีชื่อว่า พระโสม พระอีสาน ซึ่งก็หมายถึงพระจันทร์นี่แหละ

ตอนต้นผมขึ้นต้นด้วยคำกวี ตอนจบก็ต้องลงด้วยคำคมอีกแหละ กล่าวกันว่าความสัมพันธ์ระหว่างพระจันทร์กับบรรดากวีนั้น เป็นความสัมพันธ์ที่กระชับแน่น จะแยกจากกันเสียมิได้ อุปมาดังผ้าสไบย่อมพันอยู่บนทรวงอกของสตรีเพศฉะนั้น (ฮั่นนั่นแน่ คมซะด้วย) ด้วยเหตุนี้ท่านเชคสเปียร์จึงได้แสดงวาทะว่า

“กวี ๑ เปรมี (ผู้ที่ตกอยู่ห้วงรัก) ๑ และจันทรปิติสิตา (ผู้ที่ถูกบีบคั้นด้วยแสงจันทร์) ๑ จิตใจและสมองของชนเหล่านี้ย่อมเต็มไปด้วยความเพ้อฝันและมีมโนถวิลนานัปการ”
กวีอินเดีย ชื่อโลจัน ได้แสดงวาทะอีกว่า
อคฺร จนฺม มร ยาตา กรเต เยธมฺ กวิ
“ถ้าพระจันทร์มาตายลง พวกกวีทั้งหมดจะทำอย่างไรกันหว่า”       

ที่มา:รองศาสตราจารย์ประจักษ์  ประภาพิทยากร

เรื่องราวเกี่ยวกับท้าวจตุโลกบาล

Digital Camera
จตุโลกบาล บางทีก็เขียนเป็น จัตุโลกบาล ก็ได้ครับ และบางแห่งเขียนเป็น จาตุโลกบาลก็ได้อีก บางทีก็เรียกเป็น จตุรมหาราชก็มี จาตุมหาราชก็มีอีกนั่นแหละ ความหมายก็อย่างเดียวกันทั้งนั้น คือหมายถึงผู้รักษาโลกทั้ง ๔ ทิศละ

ตามลัทธิพราหมณ์นั้นเขาเชื่อว่า โลกเราแบนๆ ครับไม่ใช่กลมๆ เบี้ยวๆ อย่างที่เรารู้กันอยู่เดี๋ยวนี้หรอก ทีนี้ก็ต้องมีผู้มีฤทธิ์มีอำนาจคุ้มครองโลก อำนวยความสุขแก่มนุษย์ที่ทำความดีละครับ การรักษาโลกก็ต้องรักาทั้ง ๔ ทิศละ ซึ่งก็มีดังนี้
๑. ท้าวกุเวร บางทีก็เรียกเป็นท้าวเวสสุวัณหรือเวสวัณ มีหน้าที่พิทักษืรักษาโลกทางทิศอุดร(เหนือ) ท้าวกุเวรนี้มียักษ์เป็นบริวารคอยรับใช้ในกิจการต่างๆ มีช้างพลายชื่อหิมปาณฑระเป็นพาหนะ

๒. ท้าวธตรฐ มีหน้าที่รักษาโลกทางทิศบูรพา (ตะวันออก) ท้าวธตรฐ นี้เป็นใหญ่ในหมู่คนธรรพ์ เรียกว่ามีคนธรรพ์เป็นบริวารคอยรับใช้ว่างั้นเถอะ จะให้เล่นดนตรีขับร้องให้สำเริงอารมณ์อย่างไรก็ได้ เพราะนัยว่าเรื่องนี้คนธรรพ์เก่งมากครับ ท้าวธตรฐมีช้างพลายชื่อวิรูปากษ์เป็นพาหนะ

๓. ท้าววิรุฬหก  มีหน้าที่รักษาโลกทางทิศทักษิณ (ใต้) เป็นใหญ่ในหมู่เทวดาและกุมภัณฑ์ มีช้างพลายชื่อมหาปทมเป็นพาหนะ

๔. ท้าววิรูปักษ์ บางทีก็เขียนเป็น วิรุฬปักษ์ นี่รักษาโลกทางทิศประจิม(ตะวันตก) เป็นใหญ่ในหมู่นาค มีฝูงนาคคอยรับใช้ปรนนิบัติ มีช้างพลายชื่อโสมนัสเป็นพาหนะ

ส่วนที่สถิตของเหล่าจตุโลกบาลนั้น มีแตกต่างกันตามคัมภีร์ต่างๆ อันเป็นธรรมเนียมของลัทธิพราหมณ์ ซึ่งเป็นศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดละครับ ท่านว่าก็อยู่บนภูเขายุคนธรนั่นแหละ โดยอยู่ตามทิศต่างๆ ตามที่ท่านมีหน้าที่รักษาประจำทิศนั้นๆ คือ ท้าวกุเวรก็อยู่ทางทิศเหนือ ท้าวธตรฐอยู่ทางทิศตะวันออก ท้าววิรุฬหกอยู่ทางทิศใต้ ท้าววิรูปักษ์อยู่ทางทิศตะวันตก อ้อ ภูเขายุคนธรก็คงเป็นที่รู้ๆ กันอยู่นะครับ ก็เทือกเขา ๗ ลูกที่เรียกกันว่า สัตภัณฑคิรี เขาเจ็ดทิวล้อมรอบเขาพระสุเมรุเป็นชั้นๆ ได้แก่ยุคนธร อิสินธร กรวิก ทัส เนมินธร วินตก และอัสกัณ

บางตำนานก็ว่า เหล่าจตุโลกบาลนี้สถิตอยู่สวรรค์ชั้นจตุมหาราชิกา โดยอยู่ตามทิศต่างๆ ที่จะต้องพิทักษ์รักษาละครับ เป็นสวรรค์ชั้นหนึ่งในจำนวน ๖ ชั้น ที่เรียกว่า ฉกามาพจร มีจตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามะ ดุสิต นิมมานรดี ปรินิมมิตวสวัตดี

ในเรื่องศกุลตลา พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวตอนเท้าทุษยันต์ ราชาแห่งนครหัสดินยกทัพเทวดาไปปราบกาลเนมี มีบรรยายถึงจตุโลกบาลไว้ ทำให้จำง่ายดีครับ
“งามทรงองค์ท้าวทุษยันต์    เหมือนจอมเทวัญ
ผู้ทรงมหิทธิ์ฤทธา
ทรงรถวิมานรัตนา               มาตุลีเทวา
ขึ้นขับละลิ่วปลิวไป
ทัพหน้าคนธรรพ์ชาญชัย     ธตรฐยศไกร
พระขรรค์ทะนงคงกร
ปีกขวาวิรุฬหกเริงรอน         คุมหมู่อมร
ผู้ฤทธิรุทธยุทธนา
ปีกซ้ายกุเวรราชา               คมยักขะเสนา
กำแหงด้วยแรงเริงรณ
วิรูปักษ์ทัพหลังยังพล         นาคนาคานนต์
กระเหิมประยุทธราวี”

กล่าวกันว่า ในเรื่องจตุโลกบาลนี้ คติทางพุทธศาสนาก็ได้รับเข้ามาเหมือนกัน เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนา ท้าวจตุโลกบาลก็มาเฝ้า มีคาถาบาลีว่า

“ปุริสทิสํ    ธตรฏโฐ    ทกฺขิเณน    วิรุฬฺหโก
ปจฺฉิเมน    วิรูปํกฺโข    กุเวโร        อตฺตรํ ทิสํ”

ท้าวธตรฐอยู่ทิศตะวันออก ท้าววิรุฬหกอยู่ทิศใต้ ท้าววิรูปักษ์อยู่ทิศตะวันตก ท้าวกุเวรอยู่ทิศเหนือ

เรื่องโลกบาลของดั้งเดิมไม่ใช่ท้าวต่างๆ ที่ผมเอ่ยพระนามมาหรอกครับ แล้วต่อมาน่ะก็ไม่ใช่มีเพียง ๔ ทิศ กลายเป็น ๘ ทิศ ผมจำเป็นต้องคัดพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมาประกอบให้ข้อเขียนของผมบ้างละครับ แต่ก่อนอื่นผมขอปูพื้นนิดหนึ่ง ชาวอินเดียดั้งเดิมน่ะเรียกกันว่า มิลักขะหรือทัสยุ พวกนี้มีลัทธิความเชื่อเกี่ยวกับเทวดาอยู่ก่อนแล้ว ต่อมามีชนชาติอริยกะบุกรุกเข้าไปครอบครองครับ ผมจะเล่ารายละเอียดกันอีกเมื่อเกล่าวถึงเทพองค์อื่นๆ นะครับ ตอนนี้ว่าเฉพาะที่เกี่ยวกับความเชื่อเรื่องโลกบาลกันเท่านั้น ในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎฯ มีตอนหนึ่งดังนี้ครับ

“พวกอริยกะที่เข้าไปนั้น นับถือพระอาทิตย์ ซึ่งเรียกว่า “สาวิตรี” หรือ “สวิตะระ” และพวกอริยกะ นำความนับถืออันนั้นเข้าไปในอินเดียด้วย พวกอริยกะนี้เป็นชั้นสูงชั้นหนึ่งแล้ว คือสังเกตเห็นได้แล้วว่าถ้าฤดูไหนมีแสงแดด มีฝน มีตะวัน ต้นไม้ก็ได้รับความงอกงามดี ต้นไม้ย่อมหันไปหาทางตะวันเสมอ จึงนับถือตะวัน เรียกว่าสาวิตรี นับถือฝนหรือน้ำทั้งหลาย เรียกว่า วรุณะ นับถือผู้ที่บันดาลให้สิ่งทั้งปวงเป็นไปในโลก เรียกว่า “อินท์” นับถือผู้ซึ่งทำลายชีวิตมนุษย์และสัตว์ อันจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ เรียกว่า “มฤตยู” หรือ “ยม” จึงเกิดท่านทั้ง ๔ นี้ เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์รักษาทิศทั้ง ๔ เรียกว่าโลกบาล พวกอริยกะเหล่านี้จึงมีวิธีบูชา วิธีทำให้โลกบาลชอบ”

ครับ ข้างบนเป็นข้อความที่ผมคัดมา ก็เพื่อแสดงว่าดั้งเดิมนั้นท้าวจตุโลกบาลมีชื่อไม่เหมือนกันกับที่ผมเล่าข้างต้นหรอก เรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องธรรมดาๆ ครับ และในสมัยหลังๆ ลัทธิอะไรต่อมิอะไรปนกัน จึงกลายเป็น ๘ ทิศไป ก็เลยเก็บมาเพิ่มเติมละครับ แต่ก็ผิดเพี้ยนกับที่เล่าข้างต้น ถ้าถามผมว่ายึดหลักนับถืออะไรแน่ว่าถูก ก็ขอตอบว่านับถือจตุโลกบาลตอนที่ผมเล่าข้างต้นนั้นไว้ก่อนเถอะ

๑.ทิศอุดร(เหนือ) ท้าวกุเวรทำหน้าที่รักษาทิศนี้ (จะเหมือนกับที่เล่าข้างต้นก็คือทิศนี้ละครับ)

๒. ทิศอีสาน (ตะวันออกเฉียงเหนือ) พระจันทร์หรือมีชื่ออีกว่าโสมและอีสาน เป็นผู้รักษาทิศนี้ ทิศเฉียงๆ นี้นัยว่าตั้งชื่อตามชื่อเทพที่เป็นใหญ่อยู่ละ อย่างอีสานหรือเอสาน ก็มีมูลมาจากอีศานซึ่งแปลว่าทิศของพระอีศาน

๓. ทิศบูรพา (ตะวันออก) พระอินทร์เป็นใหญ่ประจำทิศนี้

๔. ทิศอาคเณย์ (ตะวันออกเฉียงใต้) พระอัคนี (พระเพลิง) เป็นใหญ่ประจำทิศนี้ คำว่าอาคเณย์ มีมูลศัพท์มาจาก อัคนี แปลว่าทิศของพระอัคนี

๕. ทิศทักษิณ (ใต้) พระยมเป็นใหญ่ประจำทิศนี้

๖. ทิศหรวดี (ตะวันตกเฉียงใต้) พระอาทิตย์เป็นใหญ่ประจำทิศนี้ แต่พระอาทิตย์มีอีกนามหนึ่งว่า พระเนรติ พระเนรดี พระนิรฤดี คำว่า เนรดี มีมูลศัพท์มาจากนิรฤดี แปลว่าทิศของพระนิรฤดี ทิศนี้ของเดิมภาษาสันสกฤตใช้ว่า “ไนรฤติ” เมื่อใช้เป็นไทยก็ควรใช้ว่าทิศเนรดี แต่เรามาใช้เป็น หรดี ครับ

๗. ทิศปัจจิม (ตะวันตก) พระวรุณ (ฝน,น้ำ) เป็นเทพประจำทิศนี้

๘. ทิศพายัพ (ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ) พระพาย (ลม) หรือพระวายุเป็นเทพประจำทิศนี้ พายัพมีมูลมาจากพายุ แปลว่าทิศของพระพาย

เอาความว่า ชื่อทิศที่เพิ่มอีกสี่ ที่มีคำว่าเฉียงในภาษาไทย เช่น อีสาน (ตะวันออกเฉียงเหนือ) อาคเณย์ (ตะวันออกเฉียงใต้) หรดี (ตะวันตกเฉียงใต้) พายัพ (ตะวันตกเฉียงเหนือ) ได้นามชื่อทิศตามชื่อเทพที่เป็นใหญ่ประจำรักษาอยู่ละครับ

แต่ก็อย่างที่กล่าวแล้วว่า เทพประจำทิศออกจะผิดกับตอนที่เล่าถึง ๔ ทิศ ไงๆ ก็ถือชื่อเทพสี่ทิศไว้ก่อนนะครับ เพราะในวรรณคดีไทยเราหมายถึงเทพที่กล่าวข้างต้น

แต่นั่นแหละครับ ประตูที่สวนจิตรลดา ๔ ด้านมีชื่อว่า “พระอินทร์อยู่ชม พระยมอยู่คุ้ม พระวรุณอยู่เจน พระกุเวรอยู่เฝ้า” ซึ่งก็คือนามโลกบาลที่ผมเล่าตอนหลังนั้น เมื่อต่างกันอย่างนี้ก็แล้วแต่ศรัทธากันเองเถอะ

ครับ เทพแต่ละองค์ที่เอ่ยมานั้น ก็ต้องดูประวัติของท่านในหมวดนั้นๆ ละ

ที่มา:รองศาสตราจารย์ประจักษ์  ประภาพิทยากร

ประวัติของพระคเณศ

พระคเณศ

คเณศ, พระ
“คเณศาย นมะ” ขอนบแด่พระคเณศ
“หฺริ โอม ศรีคณปตาย นมะ” หริ โอม ข้าพเจ้าขอนบพระคณบดีผู้มีศรี
ครับ ผมขอขึ้นต้นเพื่อให้เกิดความขลัง สมกับนามพระคเณศผู้เป็นเทพแห่งศิลปวิทยา และเทพแห่งอุปสรรคทั้งปวง เพื่อดลให้ผมเขียนเรื่องนี้ได้จนจบ

ชาวฮินดูจะกล่าวคำไหว้พระคเณศอย่างข้างต้นเมื่อจะแต่งหรือเรียนหนังสือ โดยเฉพาะวรรณคดีของอินเดีย มักจะไหว้พระคเณศด้วยโศลกบทแรก เพราะพระคเณศเป็นเทพแห่งศิลปะและความขัดข้องนั่นเอง

ไทยเราวรรณคดีจำพวกคำฉันท์ซึ่งถือกันว่าจะต้องเริ่มด้วยบทไหว้ครูหรือบทประณามพจน์ ในชั้นหลังจะต้องไหว้พระคเณศด้วย เช่น

โอมบังคมพระคเณศเทวะศิวบุตร
ฆ่าพิฆนะสิ้นสุด        ประลัย
อ้างามกายะพะพรายประหนึ่งระวิอุทัย
ก้องโกญจนาทให้     สหรรษื
เป็นเจ้าสิปปะประสิทธิ์วิวิธวรรณ
วิทยาวิเศษสรร-        พะสอน
ยามข้ากอบกรณีย์พิธีมยะบวร
จงโปรดประทานพร    ประสาท
(มัทธะพารา พระราชนิพนธ์ ร. ๖)

พระคเณศเป็นเทพอีกองค์หนึ่งที่เรารู้จักกันดีและเห็นบ่อยๆ ก็ที่หน้าปกหนังสือที่ผลิตจากกรมศิลปากรนั่นแหละครับ ตรานี้ใช้กันเมื่อครั้งมีวรรณคดีสโมสรในรัชกาลที่ ๖ ครับ และใช้กันมาจนทุกวันนี้ก่อนหน้ารัชกาลที่ ๖ คือในรัชกาลที่ ๕ มีโบราณคดีสโมสร หนังสือที่ผลิตออกมาจากสโมสรที่ว่านี้เป็นตราเหมือนกัน เรียกกันว่า มังกรคาบแก้ว อย่างที่เราเห็นจากหน้าปกหนังสือเก่าๆ ละครับ กรมศิลปากร ในปัจจุบันก็ใช้รูปพระคเณศเป็นดวงตราประจำกรม มีวงกลมล้อมรูปพระคเณศอยู่ ๗ วง วง ๗ วงนี้มีความหมายนะครับ ไม่ใช่ทำเล่นโก้ๆ หรอกจะบอกให้ ท่านหมายถึงแก้วเจ็ดดวง แล้วแก้วนี่แหละครับมีความหมายซ่อนอีก คือหมายถึงศิลปะเจ็ดอย่าง ได้แก่ ช่างปั้น จิตรกรรม ดุริยางคศิลป์ นาฏศิลป์ วาทศิลป์ สถาปัตยกรรม และอักษรศาสตร์

เถอะน่า แม้เรารู้จักเทพองค์นี้ดี แต่เรื่องราวอัตชีวประวัติของท่านซิครับสับสนยุ่งยากเหลือเกิน (เขียน) ละ ที่จะเอากันเผงๆ ก็คือท่านมีพระวรกายเป็นคน มีเศียรเป็นช้าง ทรงมุสิกะ (หนู) เป็นพาหนะ ส่วนเรื่องอื่นๆ ของท่านสับสนชวนปวดเฮดทั้งนั้น อันที่จริงพระคเณศท่านมีเศียรเป็นช้างก็แสดงว่าต้องใหญ่โตไม่ใช่เล่นแล้วไงถึงเกณฑ์ให้ท่านขี่หนูก็ไม่รู้ หนูจะสู้น้ำหนักไหวหรือ จะหาพาหนะอะไรที่โตๆ ให้ท่านก็ไม่ได้ นี่แหละหนา เรื่องราวของท่านจึงพิลึกพิลั่น

เอาแค่เรื่องเกิดแล้วก็มีหัวเป็นช้างก็สนุกเหลือรับประทานแล้ว

พระบิดามารดาของพระคเณศไม่สับสน คือพระอิศวรกับพระอุมาแน่นอน แต่จะร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่ก็ยังงงๆ อยู่ละครับ

ผมเล่าเรื่องกำเนิดของพระคเณศก่อนนะ แต่บอกก่อนมีหลายกระแสนัก ผมจะพยายามเล่าเป็นเกร็ดๆ หรือเป็นหัวข้อ ผู้อ่านจะได้ไม่สับสน ไม่ให้ท่านปวดหมองอย่างที่ผมกำลังเป็นอยู่นี่หรอก

ท่านว่า (ท่านในที่นี้ก็คือพราหมณ์นั่นแหละ ศาสนาฮินดูไม่มีศาสดาองค์เดียวอย่างศาสนาอื่นๆ แล้วก็ไม่มีการสังคายนาด้วย เรื่องของเรื่องจึงถึงได้มีเรื่องหลายเรื่องและเป็นเรื่องๆ) อันว่าพระอิศวรกับพระอุมาก็อยู่ด้วยกันหลายปี แต่ไม่มีโอรส พระอิศวรจึงแนะนำให้พระน้องนางอุมาทำพิธีบูชาพระนารายณ์ (นั่นแน่ ตอนนี้แสดงว่าพระนารายณ์ใหญ่กว่าพระอิศวรซิครับ เรื่องนี้ค่อยเล่าถึงเรื่องเทพองค์นั้นๆ เถิด แม้แต่คำว่า “โอม” ในตอนต้นที่ผมยกมาก็น่าเล่าเหมือนกัน) อันที่จริงผมก็แปลกใจแฮะ เพราะพระอิศวรประทานพรคนเก่งจะตาย จะประทานพรให้พระอุมามีลูกไปก็หมดเรื่องกัน แต่กลับให้ทำพิธีบูชาพระนารายณ์ การบูชานั้นต้องเริ่มทำวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๓ เรื่อยไปจนกว่าจะครบ ๑ ปี พระอุมาก็ทำจนเกือบๆ จะท้อก็พอดีมีเสียงจากไหนก็ไม่รู้แว่วมาในอากาศว่า จงกลับเข้าไปเถิด แล้วจะพบโอรส พระอุมาก็ได้พระกุมารจริง ๆ พระกุมารนี่อันที่จริงพระกฤษณะลงไปเกิดเป็นพระโอรส พระอุมาก็ไม่ต้องตั้งครรภ์ให้เหนื่อยยากอะไรเลย ได้พระกุมารสมใจ เรื่องของเทวดาก็ต้องเป็นอย่างงี้แหละ อย่าสงสัยไปเลย ผมถึงว่าจะเป็นโอรสของพระอิศวรกับพระอุมาร้อยเปอร์เซ็นต์เต็มจริงหรือเปล่าไงล่ะครับ

เมื่อพระอิศวรกับพระอุมาได้โอรสทั้งที ก็ต้องถือเป็นเรื่องใหญ่เป็นที่แตกตื่นบนสวรรค์ละครับ บรรดาทวยเทพต่างก็เหาะเหินมาแสดงความยินดี หนึ่งในบรรดาทวยเทพนั้นมีพระศนิ (พระเสาร์) อยู่ด้วย เทพองค์นี้ไม่กล้ามองดูพระกุมารหรอก เอาแต่ก้มหน้าท่าเดียว พระอุมาหรืออีกนามหนึ่งว่าพระบารพตีแปลกใจ จึงได้ถามว่า ไหงไม่ชื่นชมพระกุมารบ้าง พระเสาร์อึกอักพูดไม่ออกอยู่พักหนึ่ง แล้วก็จำใจเล่าเรื่องความกลัวเมียของท่านเองให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งตัวมัวเพลินภาวนา รำลึกถึงองค์พระวิษณุ(นารายณ์) เสียเพลิน จนละเลยหน้าที่สามีที่ดีที่จะคอยปรนนิบัติภรรยา ภรรยาของท่านเลยสาปเข้าให้ว่า ถ้าพระเสาร์ไปมองใคร ก็ให้ผู้นั้นถึงแก่ความวิบัติ (แหม ผมนึกแล้วอดหัวเราะไม่ได้ เพราะช่างเหมือนบรรดาพลพรรค ต่วย’ตูน จริงๆ….แฮะ พับผ่าซิเอ้า นี่ถ้าเหล่าเมียๆ ของใครเก่งเหมือนเทวนารีแขก ไม่ใครก็ใครคงโดนเข้าให้บ้างละ คุณต่วยของผมคงโดนก่อนเพื่อน แต่คำสาปคงจำกัดเฉพาะห้ามมองผู้หญิงเท่านั้น) พระเสาร์บ่นออดๆ ว่าไม่กล้ามองใครหรอก กลัวผู้นั้นจะพินาศ พระอุมาได้ฟังกลับไม่ยอมเชื่อ เพราะถือคติว่าสิ่งใดพึงจะเกิด สิ่งนั้นก็ต้องเกิด (แน่ะ ถือคติเหมือนคุณสัญญาเปี๊ยบเลย What ever will be will be) พระอุมาจึงอนุญาตให้มอง พระเสาร์ให้พระยมเป็นพยานว่าได้รับอนุญาตแล้วนะ แล้วก็มองพระกุมาร ทันใดนั้นเศียรพระกุมารก็กระเด็นไปแหล่งเดิม คือเศียรพระกฤษณะที่แบ่งภาคมาเกิด (พระกฤษณะนี่ก็เป็นปางหนึ่งของพระนารายณ์) เหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ก็เกิดการโศกาจาบัลย์กันยกใหญ่ ร้อนถึงพระนารายณ์ต้องทรงครุฑไปยังแม่น้ำบุษปภัทร เห็นช้างตัวหนึ่งนอนหลับหันหัวไปทางทิศเหนือ (บางตำนานช้างตัวนี้มีงาข้างเดียวแต่แรกเลย ตอนนี้จำไว้หน่อยนะครับ ช้างนอนหันหัวไปทางทิศเหนือ) พระนารายณ์ก็ตัดหัวช้างมาต่อพระกุมาร พระกุมารหรือพระคเณศจึงมีหัวเป็นช้าง ส่วนเทพที่ซวยที่สุดและนับเป็นตัว(องค์) การก็คือพระเสาร์ ถูกเมียสาปยังไม่พอ คราวนี้ถูกพระอุมาสาปให้เดินขาเป๋เข้าไปอีก พระเสาร์คงจะต้องรำพึงว่าตูหนอตู อุตส่าห์บอกแล้วเชียวนา ว่ากลัวเมียๆ ก็ยังไม่เชื่อ ให้พระยมเป็นพยานก็แล้ว  ก็ไม่เชื่ออีก จะให้ตูขาเป๋ไปนานสักเท่าใดหนอ

เรื่องกำเนิดพระคเณศมีอีกตำนานหนึ่ง ท่านว่าพระอิศวรชอบเข้าไปหาพระอุมาตอนกำลังอาบน้ำ โดยไม่รู้ล่วงหน้า (เทพก็เทพเถอะ เหมือนคนเหมือนกันนิ) พระอุมาก็อายเป็นเหมือนกันนี่นา ถึงแม้จะสามีภรรยากันก็เถอะ พระอุมาจึงเอาไคลขมิ้นที่ทาพระกายมาปั้น และเนรมิตเป็นชายรูปงามสำหรับเฝ้าประตู นี่ก็นับว่าเป็นลูกพระอุมาข้างเดียว ไม่เกี่ยวกับพระอิศวร วันหนึ่งพระอิศาวรเสด็จมาในเวลาที่ว่านั้นตามเคยชายเนรมิตไม่ยอมให้เข้าไป เรื่องก็ต้องรบกันเท่านั้น นัยว่าแม้ทวยเทพและพระนารายณ์มาช่วยพระอิศวร ก็ยังสู้ชายเนรมิตนั้นไม่ได้ พระอิศวรยังถูกหวายเฆี่ยนเป็นการสั่งสอนเสียหลายขวับ พระนารายณ์จึงต้องใช้อุบายเนรมิตรเป็นหญิงงาม ชายหนุ่มเนรมิตนั้นก็ตะลึงงันไปเท่านั้น จ้องเสียเพลิน พระนารายณ์ได้ทีก็ตัดหัวฉับเข้าให้ เป็นเหตุให้พระอุมาฉุนโกรธ พระอิศวรเกรงใจภรรยาใช้ให้เทพไปตัดหัวสัตว์ที่นอนทางทิศเหนือมา ในที่สุดก็ได้หัวช้างมาต่อ ชายรูปงามที่กลายเป็นไม่งามนี่แหละคือพระคเณศ ละ

ตอนรบกันนี่ก็ฝอยย่อยไปอีก เป็นทำนองว่าพระอุมาให้นางฟ้ามาช่วยรบ พระอิศวรทำแกล้งแพ้ นางฟ้าเลยไป พระอิศวรจึงตัดเศียรพระคเณศได้ ต้องเอาหัวช้างมาต่อ บางตำนานว่าพระอิศวรลืมไปว่าเศียรพระคเณศเดิมน่ะเป็นอย่างไร เลยตัดหัวช้างมาต่อเรียกว่าตัดส่งเดช เรื่องก็ต้องปล่อยเลยตามเลย

เรื่องกำเนิดพระคเณศมีอีกนั่นแหละ ท่านเอาไปปนกับพระขันธกุมาร โดยเหมาเอาว่าเป็นเทพองค์เดียวกัน แต่เรื่องนี้ท่านผู้รู้จริงยืนยันว่าไม่ใช่หรอก พระคเณศเป็นลูกคนหัวปีนะ พระขันธกุมารองค์ชายสอง

แต่ตอนหัวขาดนี่ ก็ต้องเล่ากันหน่อยละ คือ ตอนทำพิธีโสกันต์ (โกนจุก) พระคเณศ ซึ่งตอนนี้แหละบางตำนานว่าเดิมคือพระขันธกุมาร บรรดาทวยเทพก็มากันพร้อม ขาดแต่พระนารายณ์ ซึ่งบรรทมเพลินอยู่เหนืออนันตนาคราชในเกษียรสมุทรโน่น พระอิศวรมีเทวบัญชาในพระอินทร์เอาสังข์ไปเป่าปลุก พระอินทร์ก็ไปเป่าสังข์ จนพระนารายณ์ทรงตื่น ครั้นทรงทราบเรื่องราวก็พลั้งปากไปว่า “ลูกหัวหาย ข้าจะนอนให้สบายหน่อยก็ไม่ได้” เท่านั้นละครับ ด้วยเดชแห่งพระวาจา พระกุมารหัวก็ขาดไปทันที เรื่องก็เป็นว่าพระวิษณุกรรมต้องไปหาหัวคนที่ตายในวันนั้นมาต่อให้ได้ แต่แปลกแฮะวันนั้นไม่มีคนตายเลย พระวิษณุกรรมเห็นช้างตัวหนึ่งนอนทางทิศตะวันตก (คราวนี้ทิศตะวันตกนะครับ ผิดกับตอนต้นที่เป็นทิศเหนือ) ก็เลยตัดหัวช้างมาต่อให้ แล้วพระขันธกุมารก็เป็นพระคเณศ อย่างที่บอกไว้แล้วว่าสับสนปนกัน แต่อย่าไปเชื่อนะ พระคเณศไม่ใช่องค์เดียวกับพระขันธกุมาร บางตำนานก็ว่าพระคเณศเป็นโอรสของพระอิศวรแต่ลำพังไม่เกี่ยวกับพระอุมา ท่านเล่าว่า พระอิศวรเคยประทานพรมนุษย์ในเมืองอินเดียว่า ถ้าใครหมั่นบูชาพระอิศวร ณ เทวาลัยโสมนาถ ก็จะได้ขึ้นสวรรค์ มนุษย์ก็เลยได้ไปสวรรค์กันเยอะ เทวดาต่างก็กลัวว่าจะไม่มีที่อยู่ เลยเดินขบวนไปฟ้องพระอิศวร พระอิศวรก็ต้องตกภาวะจำยอมหาทางแก้ โดยประทับเข้าญาณทันใดนั้นก็เกิดบุรุษรูปงามขึ้น พระอุมารู้เรื่องซึ่งที่จริงน่าจะเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อย แต่พระอุมาก็โกรธพาลหาเรื่องว่าพระอิศวรสร้างพระโอรสโดยลำพัง ไม่ให้พระนางมีส่วนร่วมด้วย ก็เลยสาปชายงามนั้นให้มีหัวเป็นช้าง และท้องพลุ้ย พระอิศวรท่านก็เกรงใจภรรยาเป็นเหมือนกัน ยอมรับคำสาปนั้นโดยไม่ต่อปากคำและได้ให้นามชายหัวช้างนั้นว่า คเณศ และวิฆเนศ (วิฆนะ แปลว่า อุปสรรค, ความขัดข้อง) แล้วก็ให้เป็นเทพแห่งอุปสรรค ให้ได้รับการบูชาจากมนุษย์ก่อนเทพองค์อื่นๆ ความสำเร็จหรือไม่สำเร็จในความปรารถนาของมนุษย์ขึ้นอยู่กับพระคเณศ

ตอนนี้ก็สนุกอีก บางตำนานก็ว่าพระอิศวรทรงเขินในเรื่องประทานพรให้มนุษย์แล้ว จึงแนะนำเทวดาให้ไปหาพระอุมา พระอุมาก็ลูบกายเบาๆ ก็เกิดเป็นบุรุษสี่กรหัวเป็นช้างให้ไปคอยขัดขวางมนุษย์ที่จะหาทางเรียนลัดขึ้นสวรรค์ โดยเอาผู้หญิงและทรัพย์สมบัติเป็นเครื่องล่อให้เกิดกิเลศ แหม แปลกตรงที่ว่าเทวดาก็กลัวจะไม่มีที่อยู่เหมือนมนุษย์งั้นแหละ

เรื่องกำเนิดพระคเณศมีอีกปุราณะหนึ่ง และถือได้ว่าเป็นโอรสของทั้งสองพระองค์เลยเชียว ไม่ใช่องค์ใดองค์หนึ่งสร้างเอาเองตามลำพัง ตามตำนานน่ะกล่าวว่าพระอิศวรเป็นผู้เล่าให้พระคเณศผู้เป็นบุตรฟังเลย เรื่องเข้าทำนองว่า “ครั้งหนึ่ง เราพร้อมบารพตีไปสู่ป่าแถวหิมาลัยบรรพต เพื่อความสำราญ ขณะนั้นได้เป็นนางช้างสมสู่อยู่ด้วยช้างพลาย เราทั้งสองก็เกิดความใคร่ เราจึงแปลงเป็นช้างพลาย ส่วนบารพตีแปลงเป็นช้างพังและร่วมสโมสรตามความพอใจ จึงได้เกิดตัวเจ้ามา เศียรของเจ้าจึงได้เป็นเศียรช้าง”

เรื่องทำนองนี้เป็นเรื่องแตกกอกันไป เพราะลัทธิพราหมณ์เป็นลัทธิที่เก่าแก่มานาน และแตกเป็นหลายคัมภีร์ สุดแต่ใครจะนับถือเรื่องใดและเทพองค์ใด

เรื่องหัวเป็นช้างนี่ยังแปลกไปอีก มีคติพุทธศาสนาเข้าไปปนด้วย คือท่านว่าตอนต่อศีรษะช้างอย่างที่เล่าในตอนต้นโน้นนั้น ศีรษะไม่เชื่อมกันสนิท ต้องให้พระวิษณุกรรมลงไปเมืองมนุษย์ อาราธนาพระคิริมานนท์อรหันต์ มาสวดพระคาถา ศีรษะจึงได้เชื่อมกันสนิทคืนชีพขึ้นมา

ยิ่งไปกว่านั้นอีก คือตอนทำพิธีโสกันต์พระกุมารหรือพระคเณศอย่างที่เล่าไว้แล้วน่ะ พระอิศวรตรัสให้เทวดาโหรหาฤกษ์ แต่พระราหูทูลว่า เวลาโสกันต์จะเกิดเหตุขอให้นิมนต์พระพุทธเจ้าขึ้นไปบนสวรรค์ ประทับเป็นมงคล เจริญพระพุทธมนต์ พระอิศวรกริ้ว ตรัสว่า “เราก็เป็นจอมมิ่งโมลีสุราลัย จะนิมนต์พระพุทธเจ้ามาไยไม่ต้องการ” แล้วพระอิศวรก็เชิญเทวดามาทั้งหมด แล้วลืมเชิญพระอังคารเข้า พระอังคารเลยน้อยใจจนกลายเป็นโกรธ กำบังตนเข้าในโรงพิธี ลอบตัดศีรษะพระกุมารไปโยนทิ้งในทะเล เรื่องก็เป็นว่าพระวิษณุกรรมต้องไปเอาหัวช้างมาต่อ และนิมนต์พระพุทธเจ้าขึ้นไปสวดจึงต่อเศียรกันได้สนิท พระอิศวรก็เลยทรงนับถือพระพุทธเจ้าตั้งแต่บัดนั้นมา

เรื่องกำเนิดพระคเณศมีอีกแยะครับ ผมเล่าเพียงเท่านี้ท่านผู้อ่านก็คงจะนึกว่าเอ แล้วจะเชื่อเรื่องไหนดี ถ้าว่ากันตามวิชาการก็อธิบายกันยืดละครับ เอาเป็นว่าลัทธิพราหมณ์ ท่านเป็นลัทธิที่ดีที่สุด ใครจะเชื่อหรือนับถือเรื่องใดท่านไม่ว่าทั้งนั้น ขอแต่ให้เชื่อจริงๆ เท่านั้นแหละ

ผมขออนุญาตแวะตรงช้างเจ้ากรรมที่ถูกตัดหัวนอนทิศไหนกันแน่ดีกว่า เพราะเป็นเกร็ดน่ารู้ดีออก ตำนานที่เล่าน่ะบางแห่งก็ว่าช้างนอนเอาหัวไปทางทิศเหนือ บางแห่งก็ว่าเอาหัวไปทางทิศตะวันตก ตรงนี้เราก็จับความได้ว่า การนอนเอาหัวไปทางทิศเหนือหรือไม่ก็ทิศตะวันตกเป็นของไม่ดี  แต่ตามคติของอินเดียโบราณ นะ ถือว่าทิศเหนือเป็นทิศหลายตีน (ต้องเอาตีนไปทางทิศนี้ ว่างั้นเถอะ) ส่วนทิศใต้เป็นทิศหัวนอนซึ่งก็ตรงกันกับความในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง

“เบื้องตีนนอนเมืองสุโขทัยนี้ มีตลาดปสาน…..”
“เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัยนี้ มีกุฏิพิหาร…..”

ความในศิลาจารึกน่ะ เบื้องตีนนอนหมายถึงทิศเหนือ หัวนอนหมายถึงทิศใต้ แม้ภาษาจะเก๋ากึ๊กอย่างงี้ก็ตามภาษาปักษ์ใต้ก็ยังใช้พูดกันอยู่ทุกวันนี้ครับ แต่แปลกแฮะ ความเชื่อของเราโดยเฉพาะภาคกลางอาจจะภาคอื่นด้วยก็ได้ เชื่อว่านอนเอาหัวไปทางทิศตะวันตกไม่ดี ทั้งนี้เป็นเพราะคติพุทธศาสนาฝ่ายมหายานถือว่าทิศตะวันตกเป็นทางไปสวรรค์แดนสุขาวดี เมื่อคนตายก็จะหันศีรษะไปทางทิศตะวันตก จะได้ไปสวรรค์โดยสบาย แต่ถ้ายังเป็นๆ อยู่ถึงแม้อยากจะไปสวรรค์ก็ยังไม่อยากตาย เราจึงไม่นอนเอาหัวไปทางทิศตะวันตก(และทิศใต้ด้วย) ฉะนั้นก็พอจะเดาได้ว่า เรื่องตัดหัวช้างที่นอนทางทิศไหนน่ะ ของเดิมคงเป็นทิศเหนือ ตกเข้ามาเมืองไทยกลายเป็นทิศตะวันตกให้เรื่องเป็นบรรยากาศไทยๆ ว่างั้นเถอะ

เรื่องพุงพลุ้ยของพระคเณศก็เหมือนกัน มีเรื่องเล่าออกจะน่ารู้อีกเหมือนกัน ท่านว่าพระคเณศชอบเสวยขนมโมทก (ขนมต้ม) ครั้งหนึ่งเสวยจนพุงกาง แล้วก็ทรงหนูไปในเวลาราตรีกาล หนูพบงู หนูตกใจหลบวูบ พระคเณศเลยตกจากหลังหนูทำให้ท้องแตก ขนมต้มทะลักออกมาหมด พระคเณศรีบโกยใส่พุงแล้วก็ฆ่างูตัวนั้น เอางูมารัดท้องเสียเลย รูปพระคเณศจึงมีงูรัดเอวคล้ายเข็มขัด แต่นั่นแหละครับ เรื่องพุงพลุ้ยนี้ก็มีนักปราชญ์กล่าวว่า พระคเณศท่านเป็นเทพแห่งสรรวิชาทั้งปวง ท่านคงจะบรรจุวิชานั้นไว้ในพุงแบบเดียวกับชาดกเรื่องหนึ่งกล่าวถึงสัจกนิครนถ์เที่ยวโม้ว่าความรู้ของตนอยู่ในพุง ต้องเอาเหล็กพืดรัดพุงไว้ กลัวความรู้จะไหลหลั่งออกมา

ต่อไปนี้ก็เป็นเรื่องพระคเณศเสียงาไปกิ่งหนึ่งละครับ ท่านว่าเป็นเพราะปรศุราม ซึ่งเป็นพระนารายณ์อวตารปางหนึ่ง วันหนึ่งปรศุรามจะเข้าเฝ้าพระอิศวร พระคเณศเป็นนายทวารไม่ยอมให้เข้าเฝ้าเพราะเห็นว่าพระอิศวรบรรทมอยู่ ปรศุรามไม่ยอม เกิดวิวาทจนกลายเป็นรบกัน ตอนแรกพระคเณศเอางวงรัดปรศุรามแล้วปั่นให้หมุน ปรศุรามเวียนหัวจนสลบไปครั้นฟื้นขึ้นมาปรศุรามฉุนโกรธ เอาขวานขว้างไปทันที พระคเณสเห็นขวานก็ทราบว่าเป็นอาวุธของพระศิวะที่ประทานให้ปรศุราม ความที่เคารพพ่อจึงไม่คิดต่อสู้

“ยอมหัวคอยอยู่หร้อ        รอมรับ
ปรศุรามขว้างฉับ            ฉาดต้อง
งาซ้ายมลายยับ            เยินย่อย
ขวานร่อนกระด่อนก้อง    กึงก้องโรงธาร”
(โคลงพระคเณศเสียงา)

แปลว่าพระคเณศก็เสียงาข้างซ้ายไป เหลือแต่งาข้างขวากิ่งเดียว (เรื่องงาซ้าย งาขวาก็ออกจะยุ่งๆ อีกละครับ) พระคเณศจึงได้นามกรตอนนี้ว่า เอกทนต์ แปลว่า งาช้างข้างเดียว และก็ถืองาที่หักนั้นเป็นอาวุธประจำองค์เสียเลย

แต่ก็มีเรื่องเกร็ดอีกแหละครับ คือมีเรื่องว่าอสูรตนหนึ่งชื่อคชมุขาสูร มีหน้าเป็นช้าง ก็ชื่อก็ประจานตัวเองอยู่แล้ว อสูรตนนี้มีความประพฤติไม่ค่อยจะเรียบร้อยนัก แต่เก่งชมัด เทวดาสู้ก็แพ้ พระคเณศต้องไปปราบ สู้กันหลายเพลง อสูรได้ท่าจับงาข้างขวา (คราวนี้เป็นข้างขวาแล้วนะครับ) หักออก พระคเณศโดดเข้าชิงงาข้างนั้นมาได้แล้วเอางาขว้างไปที่อสูรตนนั้นเลยกลายเป็นหนู พระคเณศก็ใช้หนูตัวนี้เป็นพาหนะไป (เห็นไหมครับ แม้แต่หนูของพระคเณศก็มีภูมิหลังอยู่เหมือนกัน ผมเล่าไม่เว้นละ) ส่วนงาก็เป็นอาวุธอย่างที่ว่าไว้แล้ว

เรื่องพระคเณศเสียงานี้ รูปปั้นพระคเณศในอินเดียส่วนมากทำงาข้างขวาหัก แต่ที่ทำงาข้างซ้ายหักก็มีอยู่บ้างแต่น้อย ผมแทรกวรรณคดีหน่อยละครับ แต่ไม่บอกหรอกว่างาข้างไหนคงอยู่ ก็ในเรื่องพระคเณศเสียงา พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวครับ มีดังนี้

“แถลงเรื่องพระคเณศวิเศษศักดิ์    ถูกพระจอมไตรจักรมหาศาล
เรืองอิทธิฤทธิไกรวิชัยชาญ          ชำนิชำนาญเจนจิตวิทยา
เศียรเธอเป็นเศียรกะรีสีแดงชาด    แสนประหลาดน่าดูเป็นนักหนา
แต่เยาวัยเธอไซร้ได้เสียงา            เพราะแกล้วกล้าสามิภักดิ์พระปิตุรงค์
ด้วยรามปรศุรามาไกรลาศ            จะเฝ้าพระปิตุราชดังประสงค์
จะเข้าไปในวิมานบรรยงก์             พระคชพักตร์จึงตรงเข้าห้ามปราม
จึงได้โกรธขึ้งถึงวิวาท                  ต่างคนต่างอาจไม่เกรงขาม
พระคณาธิบดีเสียทีพราหมณ์        ปรศุรามขว้างขวานไปรานรอน
คเณศเห็นขวานเพชรระเห็ดมา      ก็รู้ว่าพระบิดามหิศร
ประทานพราหมณ์รามรงค์ให้คงกร จะสู้ขวานพระบิดรไม่ควรกัน
จึงก้มเศียรคอยรับให้มั่นเหมาะ       ขวานจำเพาะถูกงาข้างหนึ่งสะบั้น
แต่คงงาข้างเดียวแต่ปางนั้น          เลยมีนามว่าเอกทันต์บันลือแรง
กายาเธอจ้ำม่ำและล่ำสัน              ผิวโรหิตะพรรณกั่นกำแหง
ทรงเครื่องเรืองรามอร่ามแดง         แสงกายจับแสงวราภรณ์
เป็นใหญ่ในปวงวิทยา                  สง่าทรงซึ่งวินัยสโมสร
เนืองนิตย์ประสิทธิ์ประสาทพร      สถาวรสวัสดิ์วัฒนา
ชนใดหวังข้ามอุปสรรค               พึงพำนักพิฆเนศนาถา
สำเร็จเสร็จสมดังจินดา               พระองค์พาข้ามพิฆนะจัญไร”

ตอนนี้ก็เห็นจะสรุปพรรณาพระวรกายของพระคเณศโดยทั่วๆ ไปได้แล้วนะครับ พระคเณศเป็นร่างเหมือนคน มีเศียรเป็นช้าง มีงาเดียว ส่วนมากจะเป็นงาข้างซ้าย เตี้ย พุงพลุ้ย หูยาน สีกายแดง (บางทีสีก็ออกเป็นเหลืองแดง หรือไม่ก็เหลืองขาวได้เหมือนกัน) ทรงหนูเป็นพาหนะ ตามปกติมี ๔ กร แต่ก็ไม่แน่อีกนั่นแหละ บางตำนานก็ว่ามี ๒ หรือ ๖ หรือ ๘ ก็มี ส่วนกรต่างๆ นั้นทรงถืออะไรบ้างก็เอาแน่ไม่ได้อีก บ้างก็ว่า ถือขอช้าง บ่วงบาศก์ งาที่หักและขนมต้ม บางแห่งก็ว่าถืออะไรมากมาย เช่น ชาม ขนมต้ม หม้อน้ำ ดอกบัว ผลส้ม สังข์ จักร หลาว ธนู ลูกธนู คทา ขวาน ลูกประคำ งู ผลทับทิม หัวผักกาด เหล็กจารและสมุดหนังสือ บ้างก็ว่ามี ๔ กร โดยถือบ่วงบาศก์ ขอช้าง ฆ้อนเหล็ก และก้อนเหล็กแดง และยังมีเกร็ดเล่าว่าถืออะไรต่อมิอะไรอีกผมขี้เกียจจำแล้วละครับ

แต่เกร็ดน่ารู้ก็คือที่ถือเหล็กจารและสมุดหนังสือนี่แหละ เพราะมีประวัติภูมิหลังน่ารู้ออก มีเรื่องเล่า พระวาลมิกิฤษีผู้แต่งคัมภีร์รามายณะ (ก็รามเกียรติ์ของเราละครับ) พบกับพระวยาสฤษีผู้แต่งคัมภีร์มหาภารตะ คัมภีร์ทั้งสองนี้สำคัญมากครับ คือกันว่าเป็นมหากาพย์ โดยเฉพาะมหากาพย์ภารตะสำคัญและขาวที่สุดเชียวละ ทีนี้เมื่อพบกันก็ต้องถามถึงเรื่องงานเรื่องการกันบ้างละ วาลมิกิปราศรัยว่าแต่งเสร็จหรือยังวยาสฤษีก็บอกว่าเสร็จแล้ว ทำไมเสร็จเร็วนักล่ะ อ้าวได้พระคเณศเป็นเลขานุการนะซีเล่า ตอนที่ได้พระคเณศมาเป็นเลขานี่ซิ มีเรื่องน่ารู้ละ คือพระวยาสหาคนที่จะคอยเขียนตามคำบอกไม่ได้ จึงไปขอร้องพระคเณส พระคเณศตั้งเงื่อนไขฉับเข้าให้ว่า ต้องบอกเรื่องไปจนจบจะหยุดไม่ได้ พระวยาสก็ฉลาดพอ มีข้อแม้ว่าถ้าพระคเณศไม่เข้าใจความในคำใด ก็ห้ามไม่ให้จดจนว่าจะตีความได้ ด้วยข้อแม้ข้อนี้แหละฤษีวยาสจึงมีเวลาพัก บางตอนฤษีท่านบอกคำที่ต้องใช้บันไดปีนถึงจะเข้าใจ พระคเณศซึ่งเป็นเทพแห่งปัญญาก็เถอะก็ยังจนต้องไตร่ตรองเรื่องมหากาพย์จึงจบได้เร็ว พระคเณศจึงได้ถือเหล็กจารและสมุดหนังสือไงล่ะครับ (ใครอยากรู้เรื่องราวของมหากาพย์เรื่องนี้ อ่านมหาภารตยุทธคำกลอนของพระยาอุปกิตฯ)

อ้าว พระคเณศก็มีชายาเหมือนกันนา (แต่นั้นแหละ บางคัมภีร์เกณฑ์ให้ท่านถือพรหมจรรย์ก็มี) ประวัติมีดังนี้ครับ เมื่อพระคเณศและพระสุพรหมัณห์ (พระขันธกุมาร) มีวันที่จะแต่งงานได้แล้ว แต่พระอิศาวรยังทรงตัดสินไม่ถูกว่าควรจะให้ใครแต่งงานก่อนก็เลยตั้งกติกาว่า ใครเดินทางได้รอบโลกก่อนก็จะได้แต่งงานก่อน ก็ต้องแข่งขันกันซิครับ พระสุพรหมัณห์ทรงนกยูงวิ่งปร๋อไปเลย พระคเณศกลับเฉยเสีย จนลับตาไปแล้ว พระคเณศก็ตรงไปกระทำประทักษิณเวียนประศิวะกับพระอุมา ๗ รอบแล้วกล่าวพระเวทเป็นใจความว่า ถ้าบุตรประทักษิณได้เจ็ดรอบ ขอให้ได้กุศลเท่ากับไปรอบโลก พระอิศาวรและพระอุมาทรงพอพระทัยในความฉลาดของพระคเณศ ตัดสินให้เป็นผู้ชนะ แล้วก็จัดการแต่งงานให้คราวเดียวได้ชายาสององค์เลย คือนางพุทธิ และนางสิทธิ กาลต่อมาพระนางสิทธิได้โอรสมีนามว่า ลาภ ส่วนพระนางพุทธิได้โอรสมีนามว่า เกษม เห็นไหมล่ะครับ นามของพระชายาและโอรสของพระคเณศล้วนเป็นมงคลนามทั้งนั้น จึงสมควรบูชาเพื่อความเจริญและความสิริมงคล อ้อพระสุพรหมัณห์ที่แพ้นั้นยอมตัดกิเลสไปบำเพ็ญตบะครองตัวเป็นโสดเลย

พระคเณศมีพระนามมากมายละครับ เหตุที่พระอิศวรทรงตั้งให้เป็นใหญ่ในหมู่เทพที่รับใช้ จึงได้นามว่าพระคเณศ พระคณบดี ทั้งสองนามนี้ก็แปลว่าเป็นใหญ่ในคณะ ส่วนนามอื่นๆ พอจะเก็บมารวมได้ ดังนี้ สิทธิบดี (ผู้เป็นใหญ่ในความสำเร็จ) สิทธิธาดา (ผู้อำนวนความสำเร็จ) พิฆเนศวร (เจ้าแห่งความขัดข้องหรืออุปสรรค) คชมุขฒ กรีมุข (หน้าช้าง) เอกทนต์ (งาเดียว) ลัมโพทร (ท้องยุ้ย) ลัมพกรรณ (หูยาน) อาขรถ (ทรงหนูเป็นพาหนะ) เหรัมพ (ผู้ป้องกัน) ธูมราภ (มีผิวดำแดง) รักตตุนท (มีงวงแดง) ทวิเทหก (มีกายสองลอน) วิกัฎ (พิการ)

ที่มา:รองศาสตราจารย์ประจักษ์  ประภาพิทยากร

ความเป็นมาของพระคงคาเทวี

พระแม่คงคา
คงคาเทวีก็คือแม่น้ำคงคานั่นแหละ อ้าว เป็นแม่น้ำแล้วเกี่ยวกับ “เทวดานุกรม” ได้อย่างไรเล่า เกี่ยวซิครับ เพราะแม่น้ำคงคานี่แหละ เป็นเทวดาเหมือนกัน จะต่างกันก็แต่เพียงเป็นเทวนารี (อย่าไปเรียกผิดๆ เป็นเทวดีเข้าล่ะ เข้าทำนอง ยักษา-ยักษี พยัคฆา-พยัคฆี หัวปลา-หัวปลี กระเป๋า-กระปี๋)

เพื่อเป็นการยืนยันก็ขอพรรณนาพระวรกายของพระนางเสียเลย คือมีพระวรกายเหมือนนางฟ้าที่งดงาม แต่มี ๓ เศียร มีพระกร ๖ กร ถือคัมภีร์และดอกบัว มีพระวรกายสีขาว รัศมีเทวนารีที่เรืองรองอยู่ก็สีขาว ทรงประทับอยู่บนหลังปลาสีขาว แต่เรื่องพระวรกายของพระแม่คงคานี่ก็ต่างกันตามตำนานต่างๆ บ้างก็ว่าพระนางมี ๔ กรเท่านั้น กรข้างขวาทั้งสองนั้นทรงถือดิน ส่วนกรข้างซ้ายสองข้าง ข้างหนึ่งทรงถือใบไม้อีกข้างทรงถือหม้อน้ำ เรื่องตำนานเกี่ยวกับเทวดาของอินเดียนั่นน่ะ สับสนอย่างนี้ทุกพระองค์ แล้วผมจะวิเคราะห์ตอนกล่าวถึงเทพอื่นๆ

ตามคัมภีร์พระเวทน่ะ ถือว่าพระแม่คงคานี้เป็นพระธิดาองค์หัวปีของพระหิมวัตหรือหิมพานต์ กับพระนางเมนา และเป็นเชษฐภคินีของพระอุมา ส่วนพระสวามีของพระแม่คงคาคือพระอิศวร แต่นั่นแหละครับ แปลว่าพระอิศวรได้ทั้งพี่และน้อง ว่างั้นเถอะ บางตำนานก็ว่าพระแม่คงคาน่ะ เดิมทีเป็นพระมเหสีของพระนารายณ์ แล้วต่อมามีเรื่องจิ๊บจ๊อยกัน พระนารายณ์ก็เลยประทานให้พระอิศวรไป-ก็เท่านั้น

เดิมทีน่ะ พระแม่คงคา หรือพระคงคามาตาสถิตอยู่บนสรวงสวรรค์ทีเดียวก่อนที่จะไหลลงมาสู่เมืองมนุษย์น่ะมีอัตชีวประวัติยาวทีเดียว จะเล่าอย่างย่อชนิดยาวนะครับ

ก่อนสมัยพุทธกาลหลายพันปี ในชมพูทวีป หรือก็คืออินเดียนั่นแหละ มีราชาครองแคว้นใหญ่แคว้นหนึ่ง มีพระนามตามท้องเรื่องว่า “สัคระ” มีมเหสีเพียง ๒ องค์เท่านั้น มีนามว่า เกศินี และสุมดี พระมเหสีทั้งสองไม่มีโอรสสืบราชสมบัติ เรื่องก็ต้องรบกวนเทวดา จัดพิธีขอลูกกัน พระนางเกศินีทรงขอโอรสเพียงองค์เดียว คงจะมักน้อยอยู่สักหน่อย ส่วนพระนางสุมดีทรงขอถึงหกหมื่น ทุกอย่างก็สำเร็จกิจตามเทวพร พระนางเกศินีมีโอรสองค์เดียวตามที่ขอมีพระนามว่า อสมัญชะ พระนางสุมดีก็มีโอรสถึงหกหมื่น แต่จะให้บรรยายพระนามของโอรสทั้งหกหมื่นเห็นจะไม่ไหวละครับ ตำนานเองก็ไม่ได้บอกไว้ด้วย เข้าใจว่าพระบิดานั่นแหละไม่มีเวลาคิดตั้งชื่อลูกหรอก ต่อมาบรรดาโอรสทั้งหลายเจริญวัยขึ้น ก็ลูกมากออกเป็นหมื่นอย่างนั้น พ่อแม่ที่ไหนจะมีเวลาอบรมกันเล่า บรรดาโอรสก็เลยกลายเป็น “เด็กฮาร์ท” ที่ประพฤติตนแผลงๆ แม้แต่บรรดาเทวดาก็ระอากันตามๆ กันก็ไปฟ้องพระนารายณ์ตามธรรมเนียม พระนารายณ์ก็ทรงรับที่จะทรงกำจัดให้ แต่ทรงรอจังหวะก่อน

ต่อมาท้าวสัคระทรงกระทำพิธี “อัศวเมธ” พิธีนี้จะเล่าก็จะยาวไปครับ เอาเป็นว่าผู้ที่จะกระทำพิธีนี้ได้ต้องมีฐานกำลังหนุนมาก พิธีใช้ม้าปล่อยไปยังเมืองต่างๆ เมืองใดไม่ต้อนรับม้า ทหารที่ตามไปจะเข้าตีทันที เมื่อครบปีม้ากลับมา ก็จับม้าบูชายัญเสียนี่

ครั้นตระเตรียมม้าตัวเก่งได้แล้วก็ทรงมอบให้บรรดาโอรสช่วยคอยดูแล พระอินทร์ทรงแปลงเป็นรากษส ลักเอาม้าไปไว้ในเมืองบาดาลโน่น บรรดาโอรสทั้งหมดก็ติดตามไปถึงเมืองบาดาล ทรงพบพระกบิลดาบส ซึ่งที่แท้ก็คือพระนารายณ์แปลงนั่นแหละ กำลังบำเพ็ญฌานอยู่ที่ใกล้ๆ กันนั้นมีม้าตัวที่หายกำลังเล็มหญ้ากิน บรรดาโอรสก็แผลงฤทธิ์ พระนารายณ์แปลงก็บันดาลให้เกิดเพลิงไหม้ บรรดาโอรสหกหมื่นบวกกับหนึ่งก็สิ้นพระชนม์หมด ต่อมาท้าวสัคระทรงให้พระนัดดาคือพระอังศุมานไปตาม พระอังศุมานนี้ทรงมีพระนิสัยดีนะครับ เมื่อลงไปตามอย่างนี้ก็มีผู้หวังดีแนะนำซิครับ พระยาครุฑที่เป็นพาหนะของพระนารายณ์นั่นแหละกระซิบบอกหมดว่าเป็นแผนของพระนารายณ์ที่จะทรงกำจัดคนชั่วละ เมื่อพระอังศุมานเสด็จไปพบพระกบิลดาบสก็ทรงแสดงความคารวะอย่างอ่อนน้อม พระนารายณ์ทรงชอบสิครับ คืนม้าให้ ทั้งยังรับสั่งว่าขอพระอะไรก็ได้ พระอังศุมานก็ขอให้บรรดาโอรสทั้งหลายทั้งปวงนั้นแหละพ้นบาป พระนารายณ์แปลงก็บอกว่า จะต้องบำเพ็ญตบะกิจขอพร เพื่อให้พระคงคาเทวีปล่อยน้ำลงจากสวรรค์ แม่น้ำนี้จะไหลผ่านกองพระอังคารของบรรดาโอรสก็จะพ้นบาปได้

เรื่องของเรื่องก็ต้องกระทำพิธีขอพรกันละ เริ่มจากท้าวสัคระนั่นแหละ แต่ไม่สำเร็จ สวรรคตก่อนพระอังศุมานครองราช แล้วก็ทำพิธีต่อ ไม่สำเร็จอีกสืบกันเรื่อยๆ ละครับ จนถึงท้าวภคีรถ พระองค์นี้ทรงตั้งพระทัยจริง ถึงกับเสด็จออกป่าละเพศคฤหัสถ์คราวนี้สำเร็จ พระพรหมเสด็จลงมาก่อน ตรัสให้ขอพร ท้าวภคีรถทรงขอให้พระแม่คงคาไหลลงสู่เมืองมนุษย์ พระพรหมตรัสว่า หน้าที่นี้ต้องเป็นเรื่องของพระแม่คงคา แต่พื้นดินจะต้านกำลังน้ำไม่ไหว เขื่อนพังแน่ เอ๊ย ไม่ใช่หรอก ลืมไป มีทางเดียวขอร้องพระอิศวรเถอะ

ท้าวภคีรถก็บำเพ็ยพิธีต่อไปโดยไม่ท้อถอยพระอิศวรจึงทรงช่วย โดยให้พระแม่คงคาที่พระแม่ประทานให้นั้นตกลงมาที่พระเศียรพระอิศวรก่อน แล้วค่อยไหลลงสู่พื้น พระอิศวรจึงมีพระนามใหม่อีกว่า พระธำรงคงคา และพระคงคาธร ก็แปลว่าผู้ทรงไว้ซึ่งพระคงคานั่นแหละ

ครับ เป็นอันว่าพระแม่คงคาไหลลงสู่เมืองมนุษย์ได้ แต่ก็ยังไม่เรียบร้อยหรอกครับ แม่น้ำคงคาไปไหลผ่านบริเวณที่ของพระดาบสชื่อ ชาหนุ (บางตำนานว่าชื่อชันหุ) พระดาบสตนนี้ออกจะโมโหโกรธาเก่งอยู่สักหน่อย เลยแผลงเดชกลืนน้ำคงคาหมด ร้อนถึงท้าวภคีรถต้องเสด็จมาอ้อนวอน พระดาบสยอมให้น้ำไหลออกจากช่องหู แม่น้ำคงคาตอนนี้จึงได้นามแฝงอีกว่า ชาหนวี แปลว่าเกิดจากพระดาบสชื่อชันหุ เป็นอันว่าแม่น้ำคงคาก็ไหลผ่านพระอังคารพระโอรสหกหมื่นบวกหนึ่งนั่นแหละ เลยพ้นบาปกลายเป็นเทพบุตรไปอยู่สวรรค์กันหมด

อันว่าแม่น้ำคงคานี้ มีนามปากกาเยอะนะครับ เช่น ชาหนวี อย่างที่ว่าไว้แล้วและสาคร แปลว่าเกิดแต่ท้าวสัคระ ก็ท้าวสัคระเป็นองค์แรกที่ทรงเริ่มพิธีขอน้ำนี่ครับ มีชื่ออีกว่า ภาคีรถี แปลว่าเกิดแต่พระภคีรถ ก็เป็นองค์ที่ทำให้แม่น้ำคงคาลงมาจากสวรรค์ได้สำเร็จนั่นแหละ

แม่น้ำคงคาที่ไหลมาจากสวรรค์แล้วตกลงที่พระเศียรพระอิศาวรนั้น แตกแยกออกเป็นหลายสาขารวมทั้งสิ้นก็เป็นแม่น้ำเจ็ดสาย เรียกว่า “สัป
ตนที” แปลว่าแม่น้ำเจ็ดสาย แม่น้ำที่แยกไปทางทิศตะวันออกมีชื่อว่า นลินี หลาทินี ปาวนี ที่แยกไปทางทิศตะวันตก มีแม่น้ำจักษุ สีตา และสินธุ ส่วนแม่น้ำคงคานั้นอยู่สายกลาง

แม่น้ำคงคานี้ ชาวอินเดียถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก ผู้ที่อยู่ไกลจากแม่น้ำนี้ถึง ๓๐๐ โยชน์ ถ้ากล่าวว่า “พระแม่คงคา พระแม่คงคา” ก็สามารถชำระบาปได้ถึง ๓ คน ผู้ใดได้อาบได้ดื่มก็พ้นบาป ศพที่เผากันข้างฝั่งแม่น้ำ จะเผาหมดหรือไม่หมดก็ตาม โยนลงในแม่น้ำ ก็ชำระบาปได้อีก สามารถขึ้นสวรรค์ได้ ชาวฮินดูมีพิธีที่เรียกว่า “ศิวราตรี” จะพร้อมใจกันลงอาบน้ำในแม่น้ำคงคานี้ด้วยถือกันว่าเป็นการล้างบาป บาปลอยเป็นแพทีเดียว ถ้าอยู่ไกลนัก นึกเอาก็ได้

มาในวรรณคดีไทยเรา สุนทรภู่รำพันไว้ในเรื่องรำพันพิลาปตอนหนึ่งว่า
“เดชะพระคงคารักษาถนอม        อย่าให้มอมมีระคายเท่าปลายผม
ให้เย็นเรื่อยเฉื่อยฉ่ำเช่นน้ำลม    กล่อมประทุมโสมนัสสวัสดี”

นี่ผมก็คิดว่าคงหมายถึงแม่น้ำคงคานั่นแหละ ในเรื่องพระอภัยมณี ตอนที่นางเสาวคนธ์หนีออกจากเมืองการเวก ไม่ยอมแต่งงานกับสุดสาคร ก็ล่องเรือไปมีกลอนพรรณนาว่า

“นางอ่านดูรู้โฉลกโลกเชษฐ์        ที่เขาเขตขวาแควกระแสสินธุ์
ว่าไหลมาแต่สวรรค์ชั้นพระอินทร์    ผู้ใดกินแก้บาปอาบก็ดี
ตายจะได้ไปกำเนิดเกิดสวรรค์    ลำน้ำนั้นมาแต่หน้าพาราณสี
พวกถือไสยในจังหวัดปฐพี        เอาซากผีมาทิ้งทั้งหญิงชาย
ด้วยเชื่อฟังหนังสือตามถือไสย    จะให้ไปเกิดสวรรค์เหมือนมั่นหมาย”

นี่แหละครับ แสดงว่าสุนทรภู่รู้เรื่องแม่น้ำคงคาดีละครับ
ในเรื่องวาสิฏฐีหรือกามนิตที่เคยเรียนๆ กันอยู่น่ะ มีกล่าวถึงแม่น้ำคงคาหลายแห่งทีเดียว ตัดมาตอนเดียวพอนะ ก็ตอนกามนิตอาบน้ำในแม่น้ำคงคาละ “รู้สึกเบิกบานใจ ไม่ทราบอธิบายได้อย่างไร เพราะได้มีโอกาสมาสนานกายในน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมิใช่จะชำระล้างฝุ่นธุลีที่ติดตัวเพราะไปเดินทางมาเท่านั้น ยังเป็นน้ำที่สามารถชำระบาปมลทินให้หมดสิ้นไปได้ด้วย”

ส่วนแม่น้ำคงคาที่อยู่บนสวรรค์นั่นน่ะ บางโอกาสเราจะเป็นเป็นทางขาวที่เราเรียกว่า ทางช้างเผือก หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Milky-Way (ทางน้ำนม) ก็คือสายแม่น้ำคงคาที่อยู่บนเบื้องสวรรค์ละ ในทางดาราศาสตร์ทางช้างเผือกนี่ก็คือกลุ่มดาวนั่นเอง ในทางโหราศาสตร์เรียกทางช้างเผือกว่า อากาศคงคาบ้าง พโยมคงคาบ้าง คอลช้างบ้าง ในคัมภีร์ปุราณะกล่าวว่า ตามปกติตอนดึกสงัดมักจะเห็นกลุ่มดาวธง ดาวรถ ดาวลูกไก่ ดาวเต่า และทางช้างเผือกอยู่ใกล้ๆ กัน ดาวธงเป็นกลุ่มดาว ๗ ดวง ถ้าโยงกันก็มีลักษณะคล้ายธง ดาวรถซึ่งบางทีก็เรียกว่าดาวอาชาไนย ชาวบ้านเรียกันต่างๆ บ้างก็ว่า ดาวม้า ดาวจมูกม้า ดาวคางทูม ดาวไม้ค้ำเกวียน ทางไสยศาสตร์เรียกว่า ดาวโรหิณี ดาวเหล่านี้เป็นกลุ่มดาว ๗ ดวง เห็นเป็นรูปศีรษะม้า มีผมชี้ออกมาอีก ๒ ดวง แต่ชาวอินเดียเป็นเป็นรูปรถ ส่วนดาวลูกไก่ เป็นกลุ่มดาว ๘ ดวง อยู่เหนือดาวรถขึ้นไป ดาวเต่านั้นเรียกกันต่างๆ เช่นดาวมฤคเศียร ดาวหัวเต่า ดาวหัวเนื้อ เป็นกลุ่มดาว ๓ ดวง

ครับ ทางช้างเผือกที่ชาวฮินดูเชื่อกันว่าคือแม่น้ำคงคาในสวรรค์นั้น ไทยเราเรียกกันต่างๆ ดังที่เล่าแล้ว อย่างในขุนช้างขุนแผนมีบรรยายหลายตอนเช่น
“ครานั้นขุนแผนแสนประเสริฐ    เลื่องชื่อลือเลิศตลอดหล้า
กับลูกชายหงายแหงนดูดารา    พอเพลาดาวธงเข้าตรงรถ
ดูอากาศแผ้วผ่องเป็นคลองช้าง    แจ่มกระจ่างเด่นดาวดวงสะกด”

และม่านปักของวันทอง ก็มีกล่าวถึงอากาศคงคาหรือทางช้างเผือก หรือก็คือแม่น้ำคงคาบนสวรรค์นั่นแหละ

“ปักเป็นหิมพานต์ตระหง่านงาม        อร่ามรูปพระสุเมรุภูผา
วินันตกหัสกันเป็นหลั่นมา        การวิกอิสินธรยุคนธร
อากาศคงคาชลาสินธุ์            มุจลินท์ห้าแถวแนวสลอน”

เอาเข้าจริงหรือครับ แม่น้ำคงคาก็เกิดจากธารน้ำแข็งซึ่งอยู่ที่เขาหิมาลัยในแคว้นคารหวัล แล้วก็ไหลไปจนตกอ่าวเบงกอล แม่น้ำนี้ยาวประมาณ ๑,๕๐๐ ไมล์ นับว่า มีความสำคัญแก่ชาวอินเดียในด้านเกษตรกรรมมากทีเดียวครับ ตำนานถึงได้เกิดเป็นเรื่องเป็นราวอย่างนี้ละครับ

ที่มา:รองศาสตราจารย์ประจักษ์  ประภาพิทยากร

ตำนานของพระขันทกุมาร

พระขันทกุมาร

ขันทกุมาร, พระ
พระขันทกุมาร บางทีก็เขียนเป็น ขันธกุมาร คือเขียนได้ทั้งสองอย่างนั่นแหละ

พระขันทกุมาร นัยว่าเป็นชื่อหนึ่งของ พระการตติเกยะ เป็นเทพแห่งสงคราม ในมหากาพย์ภารตะและมหากาพย์รามายณะว่า เป็นโอรสของพระศิวะ หรือรุทระ (เล่าไว้ในเรื่องอิศวร) และเกิดขึ้นโดยไม่ต้องมีแม่ คือพระศิวะหรือพระอิศาวรทรงขว้างเชื้อของท่านลงไปในไฟ แล้วพระคงคาเทวีรับเอาไปเลี้ยงไว้เป็นลูก ได้นามว่า พระการตติยะ หรือพระขันทกุมาร ซ้ำยังมีอีกชื่อหนึ่งว่า อัคนิภู (เกิดแต่ไฟ) หรืออีกชื่อว่า คงคาชา (เกิดจากคงคา) ต่อมานัยว่านางกฤติกาทั้ง ๖ (เทวีประจำดาวลูกไก่) เอาไปเลี้ยงไว้ พระขันทกุมารจึงได้ชื่อว่า การตติยะ คือ (เนื่องด้วยนางกฤติกา) และพระขันทกุมารพลอยมีหกเศียรตามจำนวนนางกฤติกาซึ่งเป็นผู้เลี้ยงดู บางคัมภีร์ว่ามารดาของพระขันทกุมารคือพระอุมา บางทีว่าบิดาของพระขันทกุมารคือพระอัคนีก็มี ยุ่งสับสนไปหมด

บางทีก็ว่าพระขันทกุมารนั้นเกิดจาก พระอิศวรลืมตาดวงที่สามที่อยู่บนหน้าผากซึ่งลืมขึ้นทีไรเกิดเป็นไฟเมื่อนั้น พระองค์ลืมตาดูไปในสระซึ่งชื่อว่า สรวัน ทันทีนั้นก็เกิดเป็นกุมาร ๖ คน ธิดาฤาษี ๖ คนเก็บเอาไปเลี้ยงไว้ ภายหลังนางอุมากอดกุมารทั้งหกแรงไปหน่อย ร่างของกุมารทั้งหกก็รวมเป็นร่างเดียวกัน แต่มีหกหัว

เรื่องกำเนิดพระขันทกุมารยังไม่ยอมจบ ยังมีฝอยอีก เช่นมีเรื่องเล่าว่าทวยเทพได้รับความเดือดร้อน เพราะท้าวตารกาสูร ผู้ครองนครตรีปุระ บำเพ็ยตบะจนมีฤทธิ์มีเดชมาก บรรดาเทวดาเกรงว่าจะเที่ยวรังแกเทวดาและมนุษย์ เทวดาเหล่านั้นลงมติว่าผู้ที่จะปราบได้ต้องเป็นเทือกเถาเหล่ากอของพระศิวะกับพระอุมาเท่านั้น แต่ในขณะนั้นพระศิวะกำลังบำเพ็ญตบกิจอยู่ เพราะเสียใจที่พระสตีสิ้นชนม์ไป แต่พวกเทวดาก็รู้ว่ากลับชาติมาเป็นพระอุมาแล้ว จึงให้กามเทพช่วย ดังที่ได้เล่าไว้ในเรื่องกามเทพแล้ว ในที่สุดก็เกิดโอรส คือพระขันทกุมาร ซึ่งต่อมาก็สามารถปราบตารกาสูรได้สำเร็จ บรรดาเทวดาและมนุษย์ก็พากันดีใจโดยทั่วกัน

บ้างก็ว่า พระขันทกุมารกับพระคเณศเป็นเทพองค์เดียวกัน (ซึ่งผมจะเล่าไว้ในเรื่องพระคเณศแยกแยะให้ละเอียดอีกที)

นามที่เรียกพระขันทกุมารมีหลายนาม เช่น มหาเสนา (คือเทพเจ้าแห่งสงคราม) สิทธิเสน (ผู้นำสิทธา) ยุทธรงค์ (รบเก่ง) มยุรอาสน์ หรือ มยุรรถ (ขี่นกยูง) มยุรเกตุ (นกยูงเป็นธง) ศักดิธร (พระผู้ทรงหอก) คงคาบุตร (บุตรพระคงคา) ศรภู (เกิดในรถ) ตารกชิต (ผู้ชนะตารกะ) ทวาทศกร (๑๒ แขน) ทวาทศกษะ (๑๒ ตา) ฤชุกาย (มีกายตรง) มีชายาชื่อว่า เกาเมารี หรือ เสนา

รูปเขียนของพระขันทกุมาร เป็นเด็กขี่นกยูง (นกยูงนี้ชื่อว่า ปรวาณิ และรูปที่เขียนมักจะเป็นนกยูงคาบงู) มีร่างกายงดงาม สีกายเป็นสีนวลขาวมี ๖ เศียรสิบสองมือ มีอาวุธประจำคือ หอก ธนู และศร บางทีก็ว่าถือพระวชิระคู่พระขรรค์และตรีศูล

ที่มา:รองศาสตราจารย์ประจักษ์  ประภาพิทยากร

เรื่องราวของท้าวกุเวร

ท้าวกุเวร

กุเวร, พระ
เรื่องของท้าวกุเวรนี้ออกจะสับสน เรียบเรียงยากแท้ ยิ่งใช้หนังสือหลายเล่ม ก็ยิ่งชวนให้ปวดเกล้าจริงๆ

ท้าวกุเวรเป็นโอรสของพระวิศรวัสมุนี กับนางอิทาวิฑา ในมหาภารตะว่าเป็นโอรสของพระปุลัสต์ ซึ่งเป็นบิดาของพระวิศรวัสอีกชั้นหนึ่ง กล่าวกันว่ามีเรื่องเป็นทำนองว่า ท้าวกุเวรใฝ่ใจกับท้าวพรหมา เป็นเหตุให้บิดาโกรธ จึงได้แบ่งภาคเป็นพระวิศรวัส และพระวิศรวัสเกิดแต่ปุลัสตย์ จึงได้นามอีกว่า เปาลัสตยัม ซึ่งรามเกียรติ์ไทยเรียกว่า ลัสเตียน ท้าวลัสเตียนได้กับนางนิกษา บุตรีท้าวสุมาลีรากษสเป็นชายาเกิดโอรสด้วยกัน คือ ทศกัณฐ์ กุมภกรรณ พิเภก และสำมะนักขา ดังนั้นท้าวกุเวรกับทศกัณฐ์จึงเป็นลูกร่วมบิดาเดียวกัน

ท้าวกุเวรนี้ชาวบ้านเรียกกันว่าท้าวเวสสุวัณ เป็นใหญ่ในหมู่ยักษ์ รากษสและภูตผี คนแต่ก่อนมักแขวนรูปเขียนเป็นพระยายักษ์ ซึ่งก็คือท้าวกุเวรหรือเวสสุวัณนั่นเอง ทั้งนี้เพื่อป้องกันอันตรายจากผีหรือยักษ์ เพราะเวสสุวัณเป็นใหญ่ในหมู่ยักษ์และผี และเพื่อป้องกันดูแลเด็ก และท้าวกุเวรหรือท้าวเวสสุวัณมีคนเป็นพาหนะ คนจึงเป็นบริวารของท้าวกุเวรด้วย จึงมีนามอีกว่า นรราช(เป็นเจ้าแห่งคน) และเป็นเจ้าแห่งทรัพทย์ และคุยหกะ (พวกคุยหกะ เป็นอสูรจำพวกหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เฝ้าทรัพย์ในแผ่นดินอย่างปู่โสมของไทยละครับ)

เขาเล่าว่า เดิมทีท้าวกุเวรครองนครลงกา ซึ่งพระวิศวกรรมเป็นผู้สร้างให้ แต่นางนิกษา ได้ยุแหย่ให้ทศกัณฐ์ผู้เป็นบุตร ให้มีความริษยาท้าวกุเวร ก็ได้ผลครับ ทศกัณฐ์ก็ไปแย่งชิงเอานครลงกาจากท้าวกุเวรได้ ทั้งยังเอาบุษบกที่พระพรหมประทานให้ด้วย บุษบกนี้ลอยไปไหนมาไหนได้ดังใจนึก แต่มีกติกาว่าห้ามหญิงที่ถูกสมพาสจากชาย ๓ คนนั่ง ต่อมาบุษบกนี้ก็ลอยไม่ได้ เพราะนางมณโฑนั่ง นางมณโฑนะเดิมนี่ก็เป็นเมียพาลี ต่อมาก็เป็นของทศกัณฐ์ แล้วหนุมานปลอมเป็นทศกัณฐ์ไปร่วมอีก ครบ ๓ พอดี บุษบกนั้นจึงขัดข้องทางเทคนิคที่จะลอยไปไหนมาไหนได้

อันที่จริง บุษบกนี้เข้าทีดี ในรามเกียรติ์เมื่อตอนพระลักษณ์ต้องศรพรหมาสน์ของอินทรชิต พระรามสำคัญว่าอนุชาสิ้นชีวิตเศร้าโศกจนสลบไป ทศกัณฐ์ให้สีดาขึ้นบุษบกมาดู บุษบกนั้นลอยได้ ลักษณะของบุษบกในรามเกียรติ์ว่าไว้ดังนี้

“บุษบกเอยบุษบกแก้ว            สีแววแสงวับฉายฉาน
ห้ายอดเห็นเยี่ยมเทียมวิมาน    แก้วประพาสกาบเพชรสลับกัน
ชั้นเหมช่อห้อยล้วนพลอยบุษย์    บัลลังก์ครุฑลายเครือกระหนกคั่น
พะพรายฟื้นรูปเทวัญ              คนธรรพ์คั่นเทพกินนค
เลื่อนเมฆลอยมาในอากาศ        อำไพโอภาสประภัสสร
ไขแสงแข่งศศิธร                   อัมพรเยี่ยมพื้นโพยมพราย
ดั่งพระจันทร์เดินจรส่องดวง    แลเฉิดลอยช่วงจำรัสแย
ดาวลาดดาษเกลื่อนเรียงราย   เริงคล้ายรีบเคลื่อนเลื่อนลอยมา
ครั้นถึงสนามรณรงค์              ก็ร่อนลงมาจากเวหา
หยุดอยู่กับพื้นพสุธา              ดั่งว่ามีจิตวิญญาณ”

ข้างฝ่ายท้าวกุเวรนั้น แม้เสียลงกาไปก็ไม่เป็นไร เพราะนัยว่าเป็นที่รักของพระพรหมา จึงได้สร้างนครให้ใหม่ ชื่อ อลกา หรือบางทีก็เรียกว่า ประภา บ้าง วสุธรา บ้าง วสุ สถลี บ้าง อยู่ที่เขาหิมาลัย มีสวนชื่อ เจตรรถ อยู่ที่เขามันทรคีรี อันเป็นกึ่งแห่งเขาพระสุเมรุ บางทีก็ว่าที่อยู่ของท้าวกุเวรนะ อยู่ที่เขาไกรลาศ และพระวิศวกรรมเป็นผู้สร้างวิมานให้ในเรื่องรามายณะและมหาภารตะเล่าว่า ท้าวกุเวรบำเพ็ยตบะหลายพันปี เป็นที่โปรดปรานของพระพรหมา จึงประทานพรให้ท้าวกุเวรเป็นอมฤต (ไม่มีตาย) ให้เป็นโลกบาล และเป็นเจ้าแห่งทรัพย์ ด้วยอำนาจนั้น จึงได้เป็นผู้รักษาทิศเหนือ และได้เป็นเจ้าของทองและเงินแก้วต่างๆ และทรัพย์แผ่นดินทั่วไป มีกินนรและคนธรรพ์เป็นผู้รับใช้

นามที่ใช้เรียกท้าวกุเวรมีอยู่เป็นอันมาก เช่น กตนุ (ตัวขี้ริ้ว) ธนัท (ผู้ให้ทรัพย์) ธนบดี (เป็นใหญ่ในทรัพย์) ธเนศวร (เจ้าแห่งทรัพย์) อุจฉาวส (มั่งมีได้ตามใจ) ยักษราช (ขุนแห่งยักษ์) มยุราช (ขุนแห่งกินนี) รากษเสนทร (เป็นใหญ่ในหมู่รากษส) รัตนครรภ (พุงแก้ว) ราชราช (ขุนแห่งขุน) นรราช (ขุนแห่งคน) เปาลัสตน์ (ลูกปุลัสตย์) ไอฑาวิฑะ (ลูกอิฑาวฑา)

รูปเขียนท้าวกุเวรนั้นหน้าเป็นยักษ์ กายพิการถือคฑา (บางทีเขียนให้ถือตะบองยาว) มีขา ๓ ขา บางแห่งว่าขาพิการ มีฟัน ๘ ซี่ สีกายขาวมีอาภรณ์ทรงมงกุฎอย่างงาม รูปเขียนเมื่อนั่งบุษบกมี ๔ กร และมีม้าขาวเป็นพาหนะด้วย

ส่วนเมียของท้าวกุเวรเป็นยักษิณีชื่อ จารวี หรือ ฤทธี ลูกของ มุราสูร มีลูกชาย ๒ คือ มณีครีพ หรือ วรรณกวี และ นลกุพร หรือ มยุราช มีลูกสาว ๑ คือ มีนากษี

ที่มา:รองศาสตราจารย์ประจักษ์  ประภาพิทยากร

เรื่องเล่าเกี่ยวกับกามเทพ

กามเทพ

กามเทพ, พระ
กามเทพรูปกายชายหนุ่ม     ชวยชุมชุ่มชิดสนิทสนม
รูปงามทรามรักนิยม        น่าชมสมศักดิ์ลักขณา
พาหนะนกแก้วแพรวขน    ขี่ขับสับสนในหล้า
คอยชุมหนุ่มสาวคราวครา    สมรสเสน่หาปรานี
มั่นมือถือธนูต้นอ้อย        อร่อยรสหวานซ่านศรี
ตัวผึ้งขึงต่อพอตดี        ยิงใครได้มีโอชา
ศรนั้นดอกไม้แทนคม        ยิงใครได้สมปรารถนา
ถูกศรกามเทพเทวา        ปลาบปลื้มลืมสารทุกข์พลัน
อัปสรร้อยหนึ่งเป็นบริวาร    ตามเสด็จขนานขมีขมัน
ธงแดงรูปมังกรพลัน        ตามเสด็จเทวัญกามทัย

(จากเรื่องนางกุนตี ของขุนสุนทรภาษิต “ถนอม เกยานันท์”)

กามเทพ ดูๆ จะเป็นเทวดาที่เรารู้จักกันดี แต่ทว่าเทวประวัติซิครับออกจะสับสนเอาการ ก็เป็นธรรมเนียมของเทวดาละครับ แม้แต่เรื่องของคนธรรมดายังยุ่งเหยิงนี่ครับ

เอาเฉพาะเป็นลูกของใคร ก็ชวนปวดหมองแล้วละ บ้างก็ว่าเป็นโอรสของพระธรรมราช (พระยม) กับนางศรัทธาผู้เป็นชายา บ้างก็ว่าเป็นลูกของพระลักษมี ผู้เป็นมเหสีของพระนารายณ์ บ้างก็ว่าเกิดจากพระหทัยของพระพรหม (พระผู้สร้าง) บ้างก็ว่าเกิดมาจากน้ำ บ้างก็ว่าเป็น อาตมภู (คือเป็นขึ้นเอง) จึงมีนามว่า อชะ (ไม่มีกำเนิด) บ้าง อนันยชะ (มิได้เกิดแต่ใคร) บ้าง

ในตำนานปุราณะ กล่าวว่า กามเทพ มีชายาชื่อ รติ หรือ เรวา และมีเพื่อนสนิทชื่อ วสันต์ (วสันต์แปลว่าฤดูดอกไม้ผลิ)

คำว่า “กาม” แปลตามศัพท์ว่า “ความใคร่” คือใคร่ในกิจทั่วๆ ไป ไม่เฉพาะแต่ใคร่ในการเสพเมถุนเท่านั้น หรือกล่าวกว้างๆ ก็คืออะไรก็ตามที่ทำให้ใจเพลิดเพลินยินดี ลุ่มหลง จัดว่าเป็น “กาม” ทั้งสิ้น รูปที่สวยงาม เสียงที่ไพเราะ กลิ่นที่หอมชื่นใจ รสที่อร่อย เครื่องสัมผัสที่อ่อน ทั้ง ๕ ประการนี้เรียกว่า เบญจกามารมณ์

อาวุธของกามเทพก็คือธนู คันธนูทำด้วยต้นอ้อย สายธนูใช้ตัวผึ้งขึง ลูกธนูใช้ดอกไม้ คิดๆ ดูแล้วก็เป็นอาวุธที่หวานซึ้งนัก สมกับเป็นเทพแห่งความรัก โดยเฉพาะอ้อยเปรียบได้สมจริงแฮะ เพราะอ้อยได้รับรสหวานก็จริง แต่ก็จืดชืดได้ เหมือนความรักก็มีโอกาสจางได้เหมือนกันแหละ อย่างที่กวีเขาว่า

“เหมือนเขาเปรียบเทียบความเมื่อยามรัก    แต่น้ำผักต้มขมชมว่าหวาน
ถึงยามฝืดจืดกร่อยทั้งอ้อยตาล            เคยโปรดปรานเปรี้ยวเค็มรู้เต็มใจ”
(อิเหนา-ร.๒)

“เขาย่อมเปรียบเทียบความว่ายามรัก    แต่น้ำผักต้มขมชมว่าหวาน
ครั้นจืดจางห่างเหินไปเนิ่นนาน        แต่น้ำตาลก็ว่าเปรี้ยวไม่เหลียวแล”
(พระอภัยมณี-สุนทรภู่)

กวีแขกก็กล่าวไว้ว่า
“กานฺโตสิ นิตฺยมธุโรสิ รสากุโลสิ
กิญฺจาสิ ปญฺจศรการฺมกมทฺวีตียมฺ
อิกฺโษ ตวาสฺติ สกลํ ปรเมกมูนํ
ยตฺ เสวิโต ราชสิ นีรสตำ กฺเรมณ”

“ดูกรอ้อย ตัวเจ้าเป็นของที่เขารักใคร่ เต็มไปด้วยรสหวานอยู่เสมอ อนึ่งก็เป็นธนูของพระกามเทพไม่มีอะไรเสมอ อะไรๆ ของเจ้าดีทุกสิ่ง ขาดอย่างเดียวแต่เคี้ยวๆ ไปก็จืด”

ส่วนลูกธนูนั้นทำด้วยดอกไม้ เรียกว่า บุษปศร ดอกไม้ที่ใช้นี้มี ๕ ชนิด คือ ดอกบัวหลวง นีลุบล ดอกมะม่วง ดอกมะลิวัลย์ ดอกอโศก

ที่ใช้ดอกบัวเป็นลูกศรนั้น กล่าวกันว่า ชาวอินเดียแต่ก่อนนานมาแล้วถือกันว่า ดอกบัวเป็นพันธุ์ไม้กอแรกที่เกิดขึ้นในโลก และนิยมกันว่าดอกบัวเป็นเครื่องหมายแห่งความบริสุทธิ์ผุดผ่อง มีกลิ่นหอมเย็น เกสรเป็นกลุ่ม กลีบอ่อนละมุนละไม สีสดใส ไม่ฉูดแด เทพเจ้าที่สำคัญของพราหมณ์มักเกิดในดอกบัวบ้าง มีที่ประทับเป็นดอกบัวบ้าง เช่นเรียกพระพรหมว่า กมลาสน์ (มีดอกบัวเป็นที่นั่ง) พระลักษณมีที่ถือกันว่าเป็นเทพนารีผู้อำนวยโชค เป็นเทวนารีที่งดงาม มีวาจาอันไพเราะ ก็นั่งหรือยืนอยู่บนดอกบัว ส่วนมือก็ถือดอกบัวด้วย ส่วนดอกมะม่วงและใบมะม่วง ชาวอินเดียถือว่าเป็นไม้มงคล ในพิธีแต่งงาน ถึงคราวรดน้ำ นิยมใช้ใบหรือดอกมะม่วงซึ่งถือกันว่าเป็นไม้ของกามเทพ จุ่มน้ำมนตร์ประพรมคู่บ่าวสาว บางที่ก็ใช้ดอกอโศกหรือใบอโศกแทน เพราะต้นอโศกเป็นเครื่องหมายของความรักอย่างหนึ่ง ที่นี้หนุ่มสาวนิยมพลอดรักกันที่ใต้ต้นอโศก ในเรื่องกามนิต กามนิตกับวาสิฏฐีก็พลอดรักให้สัญญากันที่ใต้ต้นอโศกไงละ ส่วนดอกมะลิวัลย์ชาวภารตะเรียกกันว่า กามลดา หรือ มาฮวีลดา ก็เป็นเครื่องหมายของความรักเหมือนกันแหละ ก็อย่างบทละคร เรื่องรัตนาวดี ของ พระเจ้าศรีหรรษวรรธนะ ตอนที่นาง สาคริกา สิ้นหวังในความรักที่มีต่อพระเจ้าอุทัยน์ ได้พยายามฆ่าตัวตาย ก็ใช้เถามะลิวัลย์ผูกคอกับกิ่งอโศก ก็ไม้เหล่านี้เป็นเครื่องแสดงความรักไงละครับ

อ้อย้อยไปต้นนิด เรื่องกามเทพเป็นลูกของใครนะ บางปุราณะ ว่าเป็นโอรสของพระพรหมที่เกิดจากนางมนะ พระพรหมรักบุตรองค์นี้มาก ถึงกับให้พรว่า “ลูกรักเอย ข้าจะให้เจ้าเป็นเครื่องเชื่อมความชื่นฉ่ำระหว่างหญิงกับชายด้วยกฤดาภินิหารแห่งทิพยมนตร์นี้ เจ้าจงเข้าไปสิงสถิตอยู่ในดวงใจของคนทุกคน ข้าจะมอบธนูให้เจ้า ๕ เล่ม คือ ตปานี ทพาณี วิสวโมหินี วิสุวมารทินี และ มาทินี เจ้าจงใช้ธนูวิเศษเหล่านี้เป็นเครื่องยั่วยวนชวนให้หญิงชายเคลิบเคลิ้มหลงใหลไฝ่ฝันถึงกันและกัน พรของพ่อนี้หามีใครบังอาจลบล้างหรือขัดขืนได้ไม่” นี่แหละครับที่เป็นอำนาจทำให้คนรักกันละครับ

กล่าวกันอีกว่า เมื่อครั้งพระอิศวรไม่กินเส้นกับพระทักษะพ่อตา จนเป็นเหตุให้พระสตีฆ่าตัวตาย และพระอิศวรต้องออกบำเพ็ญตบะกิจนั้น (ดูเรื่องพระอิศวรและพระอุมาประกอบ) ไม่เอาใจใส่โลก ในที่สุดบรรดาเทวดาก็เดือดร้อน สัมมนากัน ได้ผลว่า พระสตีได้มีกำเนิดใหม่เป็นบุตรีท้าวหิมาลัย มีนามว่า อุมาเหมวดี หรือ บรรพตี เทวดาเห็นว่าพระอุมาควรเป็นมเหสีของพระอิศวร จึงตกลงกันให้กามเทพเป็นผู้ดำเนินการ กามเทพจึงให้วสันต์ผู้เป็นเพื่อนเนรมิตสวนดอกไม้นานาพันธุ์ ก็เป็นธรรมดาครับ ไม่ว่าคนหรือเทวดา ความรักจะเกิดความชุ่มฉ่ำต้องอาศัยบรรยากาศอยู่เหมือนกัน แล้วกามเทพก็เชิญพระอุมาไปคอยอยู่ ณ ที่อันควร กามเทพก็ยิงพระอิศวรด้วยบุษปศร พระอิศวรคงจะเกิดความสยิว ลืมองค์ลืมตาที่สามขึ้น ทำให้เกิดเป็นเพลิงไหม้กามเทพให้สลายไป กามเทพจึงได้นามว่า อนงค์ หรือ อนังค์ (ไม่มีตัวตน) แต่ต่อมาคำว่า อนงค์ หมายถึงสตรี นัยว่าพระกามเทพนั้นเป็นผู้ครองความงามเป็นเจ้าของความสวยงามทั้งสิ้น ไม่มีใครเทียบเสมอ แต่เรายกความงามให้สตรีเป็นเจ้าของ ดังนั้นจึงนำคำว่าอนงค์ อันเป็นชื่อของผู้ชายคือกามเทพ มาเรียกสตรี หรือหมายถึงผู้หญิง แต่ต่อมาพระอิศวรเกิดความรัก เลิกประพฤติเป็น สันยาสี (ในมานวธรรมศาสตร์ จัดพราหมณ์เป็น 4 ชั้น คือ พรหมจารี=นักเรีย คฤหัสถ์=ผู้ครองเรือน วานปรัสถ์=ผู้อยู่ป่า สันยาสี=เที่ยวภิกขาจาร เลี้ยงชีพด้วยการขอเขากิน) จึงหายโกรธกามเทพโปรดให้กามเทพได้เกิดใหม่เป็น พระประทยุมน์ โอรสของพระกฤษณะกับนางรุกมินีหรือมายา และประทยุมน์นี้เป็นพระบิดาของพระอนิรุทธิ์ (อุณรุท)

มีเกร็ดต่างไปนิด เรื่องมีอยู่ว่าพระสตี ซึ่งเป็นพระธิดาของพระทักษะ ได้เลือกพระอิศวรเป็นคู่ครองตามที่พระทักษะจัดพิธีสยุมพรให้ แต่พระทักษะรังเกียจลูกเขยคราวหนึ่งจัดงานพิธีอัศวเมธ ได้เชิญทวยเทพต่างๆ ไปในพิธีพลีกรรมนี้ แต่ไม่เชิญพระอิศวร พระสตีเสียใจ ได้ขออนุญาตพระอิศวรไปในงานนี้ พระอิศวรก็อนุญาต เธอไปในงานนี้ แต่ไม่ได้รับการต้อนรับด้วยดี ทั้งยังถูกพ่อดูถูกสามีอีก เป็นเหตุให้นางสตีฆ่าตนเองตาย พระนารถฤาษีได้นำเหตุการณ์ไปเล่าให้พระอิศวรฟัง พระอิศวรโกรธมาก ทิ้งผมมาปอยหนึ่งแล้วขว้างลงยังพื้นดิน ในบัดดลก็บังเกิดเป็นอสูรร้ายชื่อว่า วีรภัทร มีร่างกายสูงใหญ่ยันฟากฟ้า สีกายดำมะเมื่อม มีแขนพันแขน มีสามตา เส้นผมสีแดงดังเปลวไฟ ที่คอคล้องพวงมาลาอันทำด้วยหัวคน อสูรตนนี้ก้มลงกราบ พระอิศวรตรัสว่า “เจ้าจงคุมทัพคณะเทพของข้าไปยังสำนักพระทักษะ และทำลายพิธีกรรมให้สิ้นซาก อย่าได้ประหวั่นต่อพวกพราหมณ์ เพราะเจ้าเป็นภาคหนึ่งของข้า” อสูรตนนั้นตรงไปทำลายพิธี และได้ตัดคอพระทักษะขาดกระเด็น เหยียบพระอินทร์เสียงอม กระหน่ำคณะของพระยมจนป่นปี้ และขับไล่ทวยเทพกระเจิงไป เสร็จแล้วก็กลับไปยังเขาไกรลาศ ณ ที่นั้น พระศิวะกำลังประทับสำรวมอิริยาบถ มั่นอยู่ในฌานอันอุกฤษฎ์ ลืมเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้วโดยสิ้นเชิง

ส่วนพวกเทวดาที่พ่ายแพ้พากันไปเฝ้าพระพรหมขอให้ช่วย พระพรหมกับพระนารายณ์นะมิได้เสด็จไปในงานพิธีด้วย เพราะรู้เรื่องว่าจะเกิดอะไรขึ้น พระพรหมแนะนำให้เป็นมิตรกับพระศิวะไว้ เพราะพระศิวะเป็นผู้ทำลายโลกได้เมื่อต้องการ แล้วพระพรหมก็ไปยังเขาไกลลาศพร้อมกับพวกเทวดาเหล่านั้น พระอิศวรเข้าฌานอยู่ในสวนกินนร ณ เขาคันธมาทน์ ใต้ต้นกัลปพฤกษ์ซึ่งสูงถึง ๑๐๐ โยชน์ มีกิ่งก้านแผ่ออกไปด้านละ ๔๐ โยชน์ พระพรหมวิงวอนให้ยกโทษแก่พระทักษะ และช่วยบำบัดแขนขาของเทวดาฤาษีที่หักเดาะไป แล้วทูลว่า “อันพลีกรรมทั้งนั้นจะเป็นของพระองค์ ขอจงรับไว้และโปรดให้การพิธีได้ดำเนินไปจนสำเร็จเถิด” พระศิวะตรัสตอบว่า “พระทักษะเป็นเพียงเด็กเล็ก ข้าพระองค์มิได้ถือเธอเยี่ยงผู้ได้ทำบาปเลย แต่เศียรของเธอนั้นไม่มีทางแก้ไข เพราะได้เผามอดไปเสียแล้ว ข้าพระองค์จะเอาหัวแพะมาต่อให้แทนที่ ส่วนแขนขาของเทวดา และฤาษีต่างๆ ที่ได้รับอันตราย ก็จะจัดการบำบัดให้ทั้งสิ้น”

ทวยเทพและฤาษีต่างพาชื่นชมยินดีในความเมตตาของพระศิวะ และอัญเชิญพระองค์ให้เสด็จไปสู่สถานพิธี ณ ที่นั้น พระทักษะก็ต้อนรับด้วยความเคารพ แล้วเริ่มทำพิธีต่อไป พระนารายณ์ได้ทรงครุฑเสด็จมา ณ ที่ประชุมนั้นด้วย และตรัสกะพระทักษะว่า “ผู้ที่มิได้รับการศึกษาเท่านั้น ซึ่งถือว่าเรากับพระศิวะแยกกันเป็นคนละองค์ที่แท้นั้น พระศิวะ พระพรหม และเราคือมหาเทพองค์เดียวกัน แต่แยกออกทรงนามต่างกัน ในฐานะเป็นผู้สร้าง ผู้บริหาร และผู้ทำลาย เราทั้งสามคือพระเป็นเจ้า ๓ ภาค สถิตย์อยู่ในสรรพสัตว์ทั่วไป ดังนั้น ผู้ฉลาดจึงนับถือสิ่งใดๆ อื่นเสมอด้วยตนเอง” บรรดาทวยเทพและฤาษีต่างกระทำคารวะ แด่พระศิวะ พระพรหม แล้วพากันกลับไปยังที่อยู่ของตน พระศิวะก็เสด็จกลับไปยังเขาไกรลาศเข้าฌานสงบสืบไป

ฝ่ายพระสตี เมื่อทำลายตนสิ้นชีพแล้ว ก็ไปอุบัติเป็นธิดาของพระมหาบรรพตหิมาลัย มีนามว่า พระอุมา หรือ ไหมวดี หรือ ปารวดี เป็นกนิษฐภคินีของพระคงคา ตั้งแต่เด็กๆ พระอุมาก็มีความจงรักภักดีเฉพาะแต่องค์พระศิวะเท่านั้น ในเวลาราตรีเธอมักจะลอบหลบไปบูชาพระศิวลึงค์ด้วยดอกไม้ ผลไม้ และอัคนีโหมอยู่เสมอ วันหนึ่งมีเทพเจ้าองค์หนึ่งได้ทำนายไว้ว่า เธอจะได้เป็นชายาของพระศิวะ ซึ่งทำให้บิดาภูมิใจยิ่ง แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะพระศิวะกำลังบำเพ็ญฌานขั้นสูงอยู่ สงบสำรวมโดยให้จิตแน่วไม่ให้พัวพันในสรรพสิ่งใดๆ ทั้งหมด แม้พระอุมาจะปฏิบัติพระศิวะด้วยประการต่างๆ แต่พระมหาเทพก็หาได้ละทิ้งฌานหรือหันเหมารักเธอไม่

อยู่ๆ มามีอสูรตนหนึ่งชื่อว่า ตารกะ มาทำความเดือดร้อนให้แก่ทวยเทพและมนุษย์ เช่นแผลงฤทธิ์ให้ฤดูกาลปรวนแปรไป เพียรทำลายยัญพิธีพลีบูชาต่างๆ ไม่มีใครสามารถจะปราบได้ เพราะอสูรตนนี้บำเพ็ญตบะจนได้รับพรจากพระพรหม ทวยเทพจึงพากันไปหาพระพรหมขอร้องให้ช่วย พระพรหมตรัสว่า การที่จะให้พระองค์ไปปราบอสูรตนนั้นย่อมไม่เหมาะ เพราะเป็นผู้ประทานพรให้เอง แต่ทรงสัญญาว่าจะให้บังเกิดโอรสแก่พระศิวะกับนางอุมาองค์หนึ่ง ซึ่งจะเป็นผู้ปราบตารกะอสูรได้ พระอินทร์และทวยเทพพากันไปขอร้องพระกามเทพให้ช่วย กามเทพได้โอกาสเหมาะ ขณะที่พระศิวะพักผ่อนการเข้าฌาน และนางอุมากำลังบูชาพระศิวะอยู่ จึงยิงศรรักไปยังพระศิวะ แต่พระศิวะเหลือบเห็นเข้า ก็เบิกพระเนตรดวงที่สาม ทำให้กามเทพไหม้เป็นจุลแล้วพระองค์ก็เสด็จไปทันที นางตรีชายากามเทพสลบไป ครั้นฟื้นขึ้นก็ร้องไห้แล้วก็มีเสียงจากฟ้าว่า “อันชู้รักของนางมิได้สูญสิ้นไปหรอก เมื่อใดพระศิวะได้อภิเษกสมรสกับพระอุมา เมื่อนั้นแหละพระองค์จะทรงชุบร่างของเธอให้มีวิญญาณขึ้นอีก ทั้งนี้เพื่อเป็นของขวัญแก่เจ้าสาวของพระองค์”

ฝ่ายพระอุมา ตั้งแต่นั้นก็ไม่สนใจในเรื่องความสวยงาม เพราะความสวยงามไม่ช่วยให้พระศิวะรักได้ นางหันไปถือพรต ละทิ้งบรรดาเครื่องอาภรณ์ เพชรนิลจินดาทั้งสิ้น ปล่อยผมให้รุงรังไม่หวีสาง นุ่งแต่เปลือกไม้อย่างฤาษีชีไพร เข้าไปตั้งสำนักอยู่ในแดนภูเขาแห่งหนึ่งในที่เปลี่ยวแต่ผู้เดียว บำเพ็ญชีวิตแต่ในการเข้าฌาณสมาบัติถวายเฉพาะพระศิวะ

วันหนึ่ง มีพราหมณ์วัยหนุ่มคนหนึ่งมาหานาง แสดงความชื่นชมในความพากเพียรที่ได้กระทำมา แล้วถามถึงต้นเหตุว่าทำไมถึงสละความสุข นางก็เล่าให้ฟังตลอดและว่าเมื่อพระกามเทพสูญสิ้นไปเสียแล้ว นางก็ไม่มีทางใดที่จะให้พระศิวะโปรดปรานได้ พราหมณ์หนุ่มชักนำจะให้นางเกลียดพระศิวะด้วยประการต่างๆ โดยกล่าวเรื่องน่าเกลียดน่ากลัวอันเป็นการกระทำที่ไม่น่านับถือ เช่น ใช้งูพิษเป็นเครื่องประดับ ใช้หนังสดเลอะด้วยเลือดต่างภูษา เพียรสัญจรไปตามป่าช้า นางอุมาได้ฟังก็โกรธ กล่าวแก้แทนพระศิวะ ในที่สุดกล่าวย้ำว่าความรักของนางจะไม่เปลี่ยนแปรไปได้เลย พราหมณ์หนุ่มผู้นั้นจึงสำแดงกายจริง ซึ่งก็คือพระศิวะ แล้วมอบความรักให้แก่นาง นางก็กลับคืนยังที่อยู่เดิมของนางเล่าให้บิดาฟัง แล้วเริ่มเตรียมการอภิเษกไว้ ครั้นถึงกำหนดวันวิวะหะ พระศิวะเสด็จมาพร้อมด้วยพระพรหม พระวิษณุ แวดล้อมด้วยกระบวนแห่อย่างมโหฬาร เข้าไปยังนครหิมาลัย เมื่อเสร็จพิธีแล้ว พระศิวะก็พานางอุมาไปยังเขาไกรลาศ หลังจากนั้นได้ชุบกามเทพคืนให้แก่นางรตี

พระศิวะกับพระอุมาอยู่ด้วยกันนานปี แต่หามีโอรสไม่ ในที่สุดพระอัคนีก็เป็นทูตของทวยเทพไปเฝ้า และทูลว่าพระองค์ยังหาได้ประทานโอรสอันจะช่วยความทุกข์เดือดร้อนของทวยเทพได้ พระศิวะจึงประทานเชื้อกำเนิดให้แก่พระอัคนี พระอัคนีนำไปฝากพระคงคา ให้เป็นผู้ประคบประหงมไว้ จนกระทั่งเวลารุ่งสาง ขณะที่หมู่ดาวจระเข้ลับฟ้า สัปตฤาษีลงมาอาบน้ำในแม่น้ำ ก็เอาหญ้าคามาทำเป็นรังแล้วเอาเชื้อกำเนิดของพระศิวะใส่ไว้ มินานก็เกิดเป็นโอรสมีนามว่า สกันทกุมาร ผู้เป็นเทพสงครามในอนาคต ครั้นแล้วพระศิวะกับพระอุมาก็เสด็จมานำกุมารไปสู่เขาไกรลาศ ทรงเลี้ยงดูจนเติบใหญ่ และในที่สุดก็ปราบตารกาสูรได้

กามเทพเป็นอธิบดีในหมู่นางอัปสร นางอัปสรนี้แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กระดิกในน้ำ” เกิดขึ้นคราวเทวดาและยักษ์ช่วยกันกวนน้ำอมฤต ครั้งนั้นเกิดสิ่งต่างๆ หลายชนิด คือเกิด ๑) โค ชื่อ สุรภี หรือ กามะเธนุ โคนี้เทวดาพร้อมใจกันมอบให้พระวสิษฐมุนี ๒) เหล้า คือ วารุณี เทวีแห่งเหล้า ๓) ต้นปาริชาติ มีกลิ่นหอมทั้งสามโลก เทวดายกให้พระอินทร์เอาไปปลูกไว้ในสวนนันทนอุทยาน ๔) นางอัปสร ๕) พระจันทร์ พระอิศวรเอาไปเป็นปิ่นปักผม ๖) พิษ ฝูงนาคดูดพิษไว้ งูจึงมีพิษตราบทุกวันนี้ ๗) พระศรี หรือ พระลักษมี พระนารายณ์รับไปเป็นมเหสี ๘) ธันวันตรี แพทย์แห่งสวรรค์ผุดขึ้นชูผอบน้ำอมฤตไว้เหนือหัว ว่าแต่เฉพาะนางอัปสรนั้นผุดขึ้นเป็นหมื่นเป็นแสนล้วนเป็นหญิงรูปงามๆ แต่เทวดาและอสูรไม่รับเป็นคู่ครองโดยเฉพาะ ดังนั้นพวกอัปสรจึงตกเป็นของกลาง และได้นามว่า สุรางคนา (เมียเทวดาทั่วๆ ไป) และสมุทาตมชา (สตรีผู้เต็มไปด้วยความมัวเมาหรือในความเพลิดเพลิน) รวมความว่า นางอัปสรเป็นนางฟ้าจำพวกหนึ่ง มีรูปงามน่าพึงใจและช่างยั่วยวน แต่ความประพฤติไม่ดีนัก ช่างมารยา แปลงตัวได้หลายอย่าง ไม่รักใคร่ยั่งยืน มีเสน่ห์ทำให้ชายหลง ภายหลังต่อมาต้องมีมนตร์ไว้กันแก้เสน่ห์นางอัปสร

เรื่องกามเทพปรากฎในวรรณคดีไทยหลายเรื่อง เช่นในเรื่อง ศกุนตลา พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ

“โฉมนางแน่งน้อยช้อยชด        งามหมดหาที่ติมิได้
ฤทธิ์รักจู่จอดยอดใจ            คือไฟเผาดวงหัทยา
กามเทพทะนงองอาจ            ผาดแผลงศรแกมบุปผา
ศรศักดิ์ปักอยู่แทบอุรา            หอมชื่นนาสาน่ายินดี”

กามเทพเป็นเรื่องของความรัก นักปราชญ์อินเดียท่านว่าบุรุษเมื่อมีความรักในสตรี มีการเปลี่ยนแปลงเป็น ๑๐ ขั้น กล่าวกว้างๆ ว่าผลที่เกิดจากความรัก เรียกว่า สมรทศ ย่อมเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ดังนี้
๑. เมื่อผู้รักมีความปั่นป่วนใจ สิ้นปัญญาไม่ทราบว่าจะทำอะไร นอกจากจะได้เห็นหน้าหญิงที่ตนรักเท่านั้น (ยินดีด้วยตา)
๒. เมื่อจิตใจเผลอ ดูเหมือนว่าจะเสียสติ (รันทด)
๓. เมื่อคิดแล้วคิดเล่าว่าทำไฉน จึงจะได้หญิงที่ตนรักมา แต่ก็คิดอะไรไม่ออก (ปรารถนา)
๔. เมื่อนอนกระสับกระส่ายไม่หลับอยู่ตลอดคืน (นอนไม่หลับ)
๕. เมื่อหน้าตาซูบซีด ร่างกายเหี่ยวแห้ง (ตรอมใจ)
๖. เมื่อรู้สึกตนว่า หน้าด้านเข้าทุกที ไม่สามารถจะข่มความรู้สึกของตน (ไม่มีแก่ใจนึกถึงอารมณ์อื่นๆ )
๗. เมื่อตกลงใจยอมสละเงินทอง ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายให้หมดไปเสีย(หมดละอาย)
๘. เมื่อจิตใจฟุ้งซ่านจวนจะเป็นบ้า (ลุ่มหลง)
๙. เมื่อเกิดเป็นลมวิงเวียนหน้ามืด (สยบ)
๑๐. เมื่อรู้สึกว่าตนอยู่ใกล้ประตูมฤตยูแล้ว (ตายเลย)

ทีนี้หันมาดูคำคมของนักปราชญ์อินเดียสักหน่อยเป็นไรไป
เจโตภุวศฺจาหลาตาปฺรสงฺเค
กา วา กถา มานุษโลกภาชามฺ
ยทฺทาหศีลสฺย ปุโร วิเชตุสฺ
ตถาวิธํ กามวิเจษฺฐิตํ โภ

“พระอิศวรมีตาที่ ๓ เป็นไฟ พระกามเทพยังกล้วไปแผลงศรได้ นับประสาอะไรกับมนุษย์เดินดิน ซึ่งพระกามเทพจะไม่แผลงศร”

เอโก ราคิษุ ราชเต ปฺริยตมาเทหารฺธหารี หโร
นีราเคษุ ชโน วิมุกฺตลลนาสํโค น ยสฺมาตฺปร:
ทุรวารสฺมรพาณปนฺนควิษวฺยาวิทฺธมฺคฺโธ ชน:
เศษ: กามวิฑํพิตานฺน วิษยานฺ โภกฺตํ น โมกฺตํ กฺษม:
“บรรดาผู้มีราคะด้วยกัน พระหรเจ้า(ศิวะ) ผู้มีกึ่งแห่งพระองค์เป็นพระชายาย่อมบันเทิงแต่องค์เดียว บรรดาผู้ปราศจากราคะด้วยกัน ชนผู้ไม่กอดสตรีแล้วก็ไม่ดีไปกว่าท่าน ชนนอกนี้ ผู้ถูกกามารมณ์ดุจศรงูแห่งพระกามเทพซึ่งไม่มีใครป้องกันได้ ทิ่มแทงทำให้เป็นบ้าเลย ไม่อาจมีแก่ใจเสพ ทั้งไม่ล่วงเสียซึ่งวิสัย (กามารมณ์) ที่พระกามเทพแสดงออกมา”

ตฺฤษา ศุษฺยตฺยาสฺเย ปิพติ สลิลํ ศีตมธุรํ
กฺษธารฺต: ศาลฺยนฺนํ กวลยติ มำสาทิกลิตมฺ
ปฺรการํ วฺยาเธ: สุขมิติ วิปรฺยสฺยติ ชน:
เมื่อปากแห้งผาก เพราะกระหาย คนก็ดื่มน้ำเย็นหรือน้ำหวานแก้เสีย เมื่อหิวโหยก็กินข้าวกับเนื้อหรือผักอื่นๆ แก้เสีย เมื่อไฟแห่งพระกามเทพโชติช่วง ก็กอดนางสาวอย่างเต็มเครียดแก้เสีย คนเรามักวิปลาสไปว่าทุกข์ที่เกิดจากหิวกระหายและกำหนัด แก้เสียได้ย่อมเป็นสุข”

อาปูรฺยมาณมจลา-ปฺรติษฐํ
สมุทรมาป : ปฺรวิศนฺติ ยทฺวตฺ
ตทฺวตฺกามา ยํ ปฺรวิศนฺติ สรฺเว
ส ศานฺติมาปโนติ น กามกามี
“การทั้งหลายไหลเข้าไปยังท่านผู้รู้ แต่ท่านย่อมได้รับศานติเหมือนน้ำที่ไหลเข้าสู่ทะเล แต่ทะเลคงเต็มเปี่ยมด้วยน้ำ และไม่หวั่นไหวอยู่นั่นเอง ส่วนผู้ใคร่ต่อกามย่อมไม่ได้รับศานติ”

ตรงนี้ท่านผู้รู้เปรียบกามเทพของศาสนาพรหมณ์ เหมือนกับมารในศาสนาพุทธ มารทางพุทธศาสนาถือว่าเป็นสภาพผู้ล้าง มีบ่วง คือ ราคะ โทษะ โมหะ สำหรับคล้องสัตว์ให้อยู่ในอำนาจแห่งตน ศาสนาพรหมณ์นั้นมีกามเทพซึ่งมีศรบุษปมาลย์ (ศรดอกไม้) ยิงผู้ใด ผู้นั้นเกิดราคะคือความรัก เอาความก็ได้ว่า ทางพราหมณ์มีศรบุษปมาลย์เป็นราคะ มารทางพุทธมีบ่วงเป็นราคะเหมือนกัน จึงกล่าวกันว่าคัมภีร์ศาสนาพุทธมีมารชื่อ เทวบุตตมาร ส่วนพระพุทธองค์นั้นทรงพ้นจากบ่วงแขนของมารด้วยอำนาจตบะและทรงยังเวไนยสัตว์ให้พ้นจากบ่วงมารด้วย ดังนั้นในสทุทโฆษคำฉันท์จึงกล่าวว่า

“พระศรีศรีสรศาสดา        มีพระมหิมา
นุภาพพ้นตยาคี
เนื่องนาคอสูรกษัตริย์            โอ่อ่อนเมาลี
บำบวงในบาทโกมล

ตยาคี มาจาก ติ+ อัคคี คือไฟสามกอง ได้แก่ ราคะ โทษะ และโมหะ พระอิศวรผู้ครองไตรโลก ยังถูกมารคือกามเทพยิงด้วยศรทำให้ตบะแตก แต่พระพุทธองค์เสด็จข้ามดลกพ้นอำนาจมาร พ้นจากอำนาจของไฟสามกอง

นามกามเทพมีมาก เช่น อิษม กันชนะ มัทรรมณื มีฉายาว่า ภวัช และมาโนช (เกิดแต่ใจหรือมโน) ในส่วนที่เป็นพระประทยุมน์นั้น มีฉายาว่า กรรษณี (เกิดแต่กฤษณะ) กรรษณสุต (ลูกกฤษณะ) (นามนี้เลือนๆ กันจนกลายเป็น “ไกรสุต” ในเรื่องอุณรุท) ส่วนที่เป็นลูกของนางมายา ได้ฉายาว่า มายี หรือ มายาสุต และส่วนที่เป็นลูกพระลักษมี มีฉายาว่า ศรีนันท์ (เป็นที่โปรดปรานของพระศรีหรือพระลักษมี) นอกจากนี้ยังมีนามแฝงอีกมาก เช่น อภิรูป (งาม) ทรรปกะ การะ ทีปกะ (ผู้จุดไฟ) คัทยิตนุ คฤธุ และ คฤตส (มักมากหรือแหลมคมป กามน และขรุ (กำหนัด) กันตุ (สบาย) กลาเกลี (สนุกและวุ่นมาก) มาร (ผู้ผลาญ) มายี (ผู้ลวง) มธุทีป (ตะเกียงน้ำผึ้ง หรือตะเกียงวสันต์) มหิระ (ผู้ทำให้ฉงน) มูรมูร (ไฟลั่นเปรี้ยะๆ ) ราคาพฤนต์ (ก้านแห่งราคะ) รูปัสตร์ (เครื่องประหารของความงาม) รัตนารีจ (มักมากในราคะ) ศะมานตก (ผู้ล้างความสงบ) สังสารคุรุ (ผู้เป็นครูของโลก) สมร (ความจำได้) ศฤงคารโยนี (บ่อเกิดแห่งความรัก) ติถ (ไฟ) วาม (งาม) และโดยเหตุที่ถือศรเป็นดอกไม้ จึงได้นามว่า กุสุมาวุธ ปูษยธนู (ธนูดอกไม้) ปุษปศร (ศรดอกไม้) มีธงเป็นมังกร จึงได้นามว่า มกรเกตุ และเพราะที่มักถือดอกไม้อยู่ในมือ จึงได้ชื่อว่า ปุษปเกตน์

รูปกามเทพเขียนเป็นชายหนุ่มรูปงาม ขี่นกแก้ว มีธงพื้นแดงลายรูปมังกร และถือธนูดอกไม้ มีนางอัปษรเป็นบริวาร (กามเทพกรีกโรมัน เรียกว่า Cupid มีความหมายว่า ความอยาก ความปรารถนา เป็นเทพเจ้าแห่งความรัก เป็นบุตรของเทพ ชื่อ มาร์ส มักเขียนเป็นรูปเด็กเปลือยกาย มีปีก มือถือศร มีหน้าที่ให้ชายหญิงรักกัน)

ที่มา:รองศาสตราจารย์ประจักษ์  ประภาพิทยากร